"โทษละเมิดพระวินัย" โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (ตอนที่ 1 - 6 )
webmaster - 12/2/11 at 14:36

ตอนที่ 2 ►



โทษละเมิดพระวินัย
แผ่นที่ ๓

โดย...พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)


(ฉบับอินเทอร์เน็ต : จัดพิมพ์โดย..คุณทวีทรัพย์ ศรีขวัญ )
(ลิขสิทธิ์เป็นของ "วัดท่าซุง")


เนื้อหาของสารบัญ

1.
(แผ่น ๑ ตอน สุวรรณมัจฉา )
2. (แผ่น ๑ ตอน สุวรรณมัจฉา (ต่อ) )
3. (แผ่น ๒ หน้า ๑ )
ความสำคัญของการบวช
หลวงพ่อแนะนำการปลงอาบัติ
สิกขาบทที่ละเว้นได้
โทษของการด่าพระ
ข้อสำคัญในเรื่องระเบียบวินัย
4. (แผ่น ๒ หน้า ๒ )
จรณะ ๑๕
อนุศาสน์ ๘ ประการ
กิจที่บรรดาพระที่ต้องศึกษา
ข้ออ้างของการปลงอาบัติ
การต้องอาบัติของพระภิกษุ
ประเภทของอาบัติ
สิกขาบท ปาราชิก
สิกขาบท สังฆาทิเสส
5. (แผ่น ๓ หน้า A )
อาบัติอนิยต
เรื่องของโลกวัชชะ
อาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์
จีวรวรรค ว่าด้วยจีวร
โกสิยวรรค ว่าด้วยเรื่องสันถัต
6. (แผ่น ๓ หน้า B )
การแสดงอาบัติ
วรรคที่สอง โกสิยวรรค(ต่อ)
อธิบายสิกขาบทที่ ๘
วรรคที่สาม ปัตตวรรคว่าด้วยเรื่องบาตร

คำนำ


ก่อนอื่นต้องขออนุโมทนา คุณทวีทรัพย์ ศรีขวัญ ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย ที่ช่วยถอดเทปเรื่อง "โทษละเมิดพระวินัย" จากคำแนะนำของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน ในแผ่นซีดีของวัด จำนวน ๖ แผ่น การที่ได้นำเรื่องนี้มาลงในเว็บไซด์แห่งนี้ เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติ สำหรับผู้ที่อุปสมบทในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะฆราวาสก็ควรศึกษาเรื่องพระวินัยของพระด้วย ตามที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ เคยแนะนำไว้

ด้วยเหตุนี้ ทางทีมงานฯ จึงได้นำเรื่องนี้มาให้อ่านกัน เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านทั่วไป แต่ผู้ที่บวชหลวงพ่อท่านก็แนะนำให้อ่าน "หนังสือวินัยมุข" ไปด้วย เดิมท่านได้สอนพระไว้หลายชุด โดยเปิดเสียงตามสายภายในวัดอยู่เป็นประจำ เพื่อให้ศีกษาพระวินัยบัญญัติในเวลาเย็น โดยท่านได้นำหัวข้อมาจาก หนังสือนวโกวาท แล้วได้อธิบายประกอบไปด้วย

 อ่านหนังสือ "นวโกวาท" (ไฟล์ PDF)
 อ่านหนังสือ "อุปกรณ์วินัยมุข" (ไฟล์ zip)

ฉะนั้น ถ้าใครได้ฟังหรือได้อ่าน จะเห็นว่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ท่านอธิบายให้ง่ายขึ้น และทำความเข้าใจในแง่ของการนำไปปฏิบัติ หมายความไม่ใช่เพื่อแค่ศึกษาเท่านั้น โดยเฉพาะการต้องอาบัติ ท่านจะอธิบายไว้ชัดเจนว่า การปลงอาบัติบางทีก็ไม่หมดโทษ หรือว่าเรื่องพระที่จับเงินจับทอง เป็นต้น ท่านจะทำความเข้าใจในเหตุผลเป็นอย่างดี ว่าสมัยนี้ทำไมพระจึงต้องรับเงินรับทองเป็นของตนเอง

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การศึกษาคำสอนของท่านนี้ มิได้ให้นำมาเป็นประเด็นเปรียบเทียบกับสำนักอื่น เพราะข้อวัตรปฏิบัติของพระวินัย เป็นไปตามกาลสมัยและตามจารีตประเพณีของแต่ละท้องถิ่น เพื่อให้ผู้รักษาพระวินัยนั้น จะไม่เป็นขี้ปากของชาวบ้าน หมายถึงไม่เป็นโลกวัชชะ คือทำแล้วชาวบ้านติเตียน แต่ชาวบ้านก็ต้องรู้พระวินัยของพระด้วย ไม่ใช่ทำตามใจของตนเอง โดยไม่รู้ว่าพระก็ต้องรักษาพระวินัยไปด้วย

เป็นอันว่า พระวินัยที่องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงสั่งสอน ต้องรักษาไว้ด้วยดีคือ คือรักษาพระวินัยไว้ให้อยู่ในขอบเขต และเป็นไปตามกาลสมัย ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย หรือรักษาแล้วมีแต่ความเร่าร้อน ต้องรักษาไว้ด้วยความพอดี คือมีความเข้าใจตามสายพระโบราณาจารย์ ที่ท่านสั่งสอนไว้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ได้รับการอบรมสั่งสอนไว้ตั้งแต่สมัยหลวงปูปาน วัดบางนมโค

ฉะนั้นความรู้ในข้อขอวัตรปฏิบัติเหล่านี้ บางข้ออาจจะแตกต่างจากตำราที่เรียนกันบ้าง ต่อไปถ้าคัดลอกเสร็จ อาจพิมพ์รวมเป็นเล่มเล็กๆ บางๆ สำหรับแจกให้แก่ผู้บวชธุดงค์ของวัดก็เป็นได้ เพื่อให้สามารถเล่าเรียนทัน ในเวลาก่อนบวชอันน้อยนิดแค่นั้น



1

โทษละเมิดพระวินัย (แผ่นที่ ๑)

ตอนที่ ๑ สุวรรณมัจฉา


สำหรับตอนนี้ ...ก็ขอได้โปรดฟัง "โทษที่ละเมิดวินัย" ทว่าตามธรรมดาที่การประพฤติปฏิบัติพระวินัย หรือพระที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา มักจะได้รับการอบรมจากครูบาอาจารย์ที่มีอาการเต็มไปด้วยมิจฉาทิฐิ สั่งสอนกันให้ประพฤติชั่วอยู่เสมอ

โดยที่แนะนำกันว่าอาบัติเล็กน้อย เช่น อาบัตินิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ก็ดี อาบัติปาจิตตีย์ก็ดี อาบัติทุกกฏ อาบัติทุพภาษิต ก็ดี เป็นอาบัติเล็กน้อย เมื่อต้องแล้วก็แสดงอาบัติได้ หมายความถึงหมดโทษ

แต่ความจริงการแสดงอาบัตินี้ไม่ได้มีประโยชน์สำหรับพระที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่ายังต้องมีอาบัติสำหรับแสดง ก็แสดงว่ายังมีความชั่วอยู่มาก สำหรับคนชั่ว ลองไปถามชาวบ้านเขาดูทีซิ ว่าเขาอยากให้ข้าว ให้น้ำกินไหม การบูชา เขาบูชาความดีกัน เขาไม่ได้บูชาความชั่ว

ที่เขาเห็นว่าเรานุ่งผ้าเหลือง โกนหัว ถือหม้อคอรุ่นบิณฑบาต เขาคิดว่าเราดี เขาถึงได้ให้กิน ทั้งนี้ถ้าเราประพฤติชั่วจะเป็นยังไง ก็ขอนำเรื่องราวที่องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงตรัสไว้ใน พระธรรมบทขุททกนิกาย ความมีอยู่ว่า

เมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเสด็จประทับยับยั้งอยู่ที่เมืองสาวัตถี องค์สมเด็จพระมหามุนีทรงปรารถเรื่องของ กปิลมัจฉา ขอโทษ สุวรรณมัจฉา คือปลาทองให้เป็นเหตุ องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์จึงได้นำพระสูตรนิทานนี้มา

คือเรื่องราวที่ปรากฏมาแล้วเฉพาะพระองค์ ท่านกล่าวว่าในการแห่งศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่าพระพุทธกัสสป ยังทรงพระชนม์อยู่ สมัยนั้นองค์สมเด็จพระบรมครู แต่ว่าองค์สมเด็จพระบรมครูแก้วดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว

ก็มีมานพสองคนพี่น้อง นี่หมายความว่า พระพุทธกัสสป เป็นศาสนาของท่าน แต่ว่าท่านนิพพานไปแล้ว มีมานพสองคนพี่น้อง ออกบวชในพระพุทธศาสนา ประกาศตนว่าเป็นพระ เวลาที่ออกบวชจริงๆ ออกบวชด้วยศรัทธา มีความเลื่อมใสจริง ๆ อยากจะเป็นพระกับเขา อยากจะประพฤติดี อยากจะประพฤติชอบ แต่เหมือนๆ กับพระของเราเวลานี้

เวลาบวชก็อยากจะประพฤติดี อยากจะประพฤติชอบ แต่ทว่า บางทีบวชเข้ามาแล้ว ไม่ได้มองดูตัวเองเป็นสำคัญ เข้าใจว่าความประพฤติชั่วเป็นการประพฤติดี ยังตินั่น ยังตินี่ ยังติโน่น คนมักติ นี่คนเลว ไม่ใช่คนดี การจะติของอื่น จงอย่าติ ถ้าจะติก็ติตนเอง ตามพระบาลี ที่ว่า อัตตนา โจทยัตตานัง จงกล่าวโทษโจทความผิดของตนเองไว้เสมอ

อารมณ์ที่ต้องการติก็เพราะว่าใจเราเลว เราจึงต้องการติ ความเรื่องนี้มีอยู่ว่า ในบรรดามานพที่ออกบวชสองพี่น้องเป็นพระนี้ สำหรับท่านผู้เป็นพี่มีนามว่า ท่านโสธนะภิกขุ ส่วนท่านผู้น้อง มีนามว่า กปิลภิกขุ พระกปิลนั่นเอง เมื่อภิกษุทั้งสองออกบวชแล้วไม่นานนัก

ท่านมารดาของท่านมีนามว่า นางสาธนี และน้องสาวของท่านซึ่งมีนามว่า นางสาวตาปนา ก็พากันออกบวชเป็นภิกษุณี ในพระพุทธศาสนา เวลาที่จะออกบวชก็ออกบวชด้วยศรัทธา เลื่อมใสจริงๆ เหมือนกัน นี่เป็นอารมณ์แรกที่ออกบวช เขาออกบวชด้วยศรัทธา

ในขณะที่บวชเข้ามาแล้ว บรรดาภิกษุสองพี่น้อง ทั้งสองท่าน ครั้นบวชแล้วอุตส่าห์ปฏิบัติทำวัตร แก่พระอุปัชฌายะ และครูบาอาจารย์ ตามธรรมเนียมของภิกษุเป็นอย่างดียิ่ง ถือว่าปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบทุกอย่าง วันหนึ่งหลังจากที่ได้ทำวัตรปฏิบัติแล้ว

ก็ได้กราบเรียนกับพระอุปัชฌายะว่า ท่านขอรับ ธุระในพระศาสนามีอะไรเป็นที่สำคัญบ้างขอรับ
ท่านอุปัชฌาย์ได้รับฟัง ก็จึงได้ถามว่า นี่คุณ คุณยังไม่รู้หรือ เมื่อคุณยังไม่รู้ ผมก็จะบอกให้ฟัง เป็นถ้อยคำของพระอุปัชฌาย์กล่าวขึ้น
แล้วท่านก็สั่งสอนต่อไปว่า ธุระสำคัญในพระพุทธศาสนา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้มีอยู่สองอย่าง
คือ คันถธุระ 1 ได้แก่ การเล่าเรียนพระพุทธพจน์บทพระบาลี คือ พระธรรมวินัย ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งสอนไว้นี่หนึ่ง หรือว่าขุททกนิกายอย่างหนึ่ง เขาว่าขุททกนิกายหมายความว่าทำงานทุกอย่าง ที่เป็นงานส่วนกลางระหว่างของสงฆ์ต้องทำ อย่างนี้ชื่อว่า เป็นคันถธุระ เป็นกิจที่พระจำจะต้องทำ

และก็ประการที่สองวิปัสสนาธุระ ได้แก่ การพิจารณาสังขาร คือ ขันธ์ 5 ได้แก่ พิจารณาว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นปัจจัยของความทุกข์ และก็รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา อย่ายึดถือมัน อย่ายึดถือร่างกายของเราด้วย อย่ายึดถือร่างกายของบุคคลอื่นด้วย อย่ายึดถือสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทุกอย่างในโลกนี้ด้วย วางภาระทั้งหมด จัดว่าเป็นสังขารุเบกขาญาณ ทำจิตให้สงบ มุ่งพระนิพพานเป็นอารมณ์ ทั้งนี้ก็เพื่อความหลุดพ้นจากกองกิเลส อันนี้เป็นประการหนึ่ง จัดว่าเป็น วิปัสสนาธุระ

ทั้งนี้กล่าวต่อไปว่า ธุระทั้งสองประการนี้มีความสำคัญมาก เป็นหน้าที่โดยตรงของบรรดาภิกษุ สามเณรที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา จะต้องปฏิบัติอย่างยิ่ง เมื่อท่านทั้งสองได้รับฟังคำของพระอุปัชฌาย์แล้ว

สำหรับท่านผู้เป็นพี่ ก็คิดว่า คือท่านโสธนะภิกขุ จึงได้มีความคิดในใจว่า เรานี่อายุมากแล้ว ควรที่จะบำเพ็ญวิปัสสนา วิปัสสนาธุระดีกว่า แล้วก็อุตส่าห์ปฏิบัติพระอุปัชฌายะ ครูบาอาจารย์จนครบห้าพรรษา ความจริงห้าพรรษา นี่ก็เป็น นิสัยมุตตกะ พ้นจากการที่รับคำสั่งสอนได้แล้ว อยู่เป็นอิสระได้

แต่ทว่าเมื่อบวชครบห้าพรรษาแล้ว ยังไม่ประพฤติดี ไม่ประพฤติชอบ ยังต้องอยู่ในโอวาทอยู่ เขาเรียกว่าเลี้ยงไม่โต บวชถึงห้าพรรษาแต่มีความรู้ไม่ครบ มีความประพฤติไม่ดี อย่างนี้ก็คนเลี้ยงไม่โต ตายแล้วลงอเวจีมหานรกกันแน่นอน เพราะว่าพระลงอเวจีมหานรกเป็นของไม่ยาก พอที่ท่านกล่าวว่าเมื่อครบห้าพรรษาแล้ว

พอที่จะอยู่แต่รูปเดียวได้ หมายความว่า ศึกษาปริยัติ ปฏิบัติ ครบถ้วน อยู่ครบห้าพรรษาแล้วต้องศึกษาดีด้วยนะ ไม่ใช่แค่อยู่ ปัดกวาด พ้นบาทาครูบาอาจารย์อย่างนี้ไม่คิด ใช้ไม่ได้ ต้องครบถ้วนพระธรรมวินัย ทั้งปริยัติ ทั้งปฏิบัติ ต้องมีความรู้ครบถ้วน เมื่อท่านมีความรู้ครบถ้วนพอที่จะเลี้ยงตัวรอด ครบห้าพรรษา

จึงได้รับ จึงได้เรียน เข้าไปเรียนพระกรรมฐานในสำนักของพระอุปัชฌายะ ขออุปัชฌายะสั่งสอนวิธีปฏิบัติสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา ให้ครบถ้วน ถึงขั้นอรหัตผล อย่างในสำนักของเรานี่ ในสำนักของเรานี่ ไม่ต้องถึงห้าพรรษาแล้ว เพียงแค่อาทิตย์เดียวแค่สองอาทิตย์ก็เรียนกันจบ ถึงอรหัตผลแล้ว

ทว่าน่ากลัวจะเรียนมากไปนะ เรียนมากไปพระบางองค์ รู้สึกว่า ไม่มีความรู้สึกตัว มีความเข้าใจว่า ตัวดีและมีมานะอยู่ ยังมีอะไร อะไร อยู่บางอย่าง ก็ขอให้ท่านพิจารณาตัวกันเองนะ ถ้าท่านพิจารณาไม่ไหว สักวันหนึ่งข้างหน้าเวลาสมควร ผมจะเป็นผู้พิจารณาเอง และก็ไม่มีการอุทธรณ์ ฏีกา ใด ๆ ทั้งหมด

อย่าเอาใครเข้ามาอ้างว่า ลูกคนนั้น หลานคนนี้ ทำประโยชน์อะไรไว้บ้าง อันนี้ผมไม่คิดหรอก เรื่องความดีเป็นเรื่องของความดี เรื่องความชั่ว เป็นเรื่องของความชั่ว พระพุทธเจ้าทรงมีพระพุทธบัญญัติ มีจริยาสองอย่าง คือ นิคหะ ปัคคหะ ใครดีพระองค์ก็ทรงยกย่องสรรเสริญ ใครชั่วพระองค์ก็ทรงขับออกจากสถานที่

(นี่วันนี้ถ้ามีเสียงอะไรก้องเข้ามาก็โปรดทราบ ว่าเขามีบวชนาคกัน เขามีกลองยาว มีมโหรี เสียงจะเข้ามาในห้องบันทึกหรือเปล่าก็ไม่ทราบ เป็นการกันไว้)

เป็นอันว่า เมื่อท่านเข้าไปหาพระอุปัชฌายะ แล้วขอศึกษาจนครบ แล้วก็กราบลาพระครูอุปัชฌายะเข้าไปสู่ป่า ความจริงคำว่าป่า เขาว่าไม่จำเป็นนัก อยู่ที่ไหนก็ตาม ถ้าจิตใจของบรรดาท่านทั้งหลายครบไปด้วยบารมีสิบประการ ระมัดระวังไว้ทุกลมหายใจเข้าออก เรื่องความเป็นพระอริยะ ผมว่าประเดี๋ยวเดียวก็เจอ

เมื่อเข้าไปสู่อยู่ป่า ก็พยายามบำเพ็ญวิปัสสนาธุระอย่างอุกฤษฏ์ คำว่าอย่างอุกฤษฏ์ คือไม่ละในอารมณ์ของท่าน ไม่ละ ทรงอารมณ์ภาวนา พิจารณาไว้ตลอดเวลา ไม่ยอมให้นิวรณ์ห้าประการเข้ามายุ่งกับจิต แล้วก็กล่าวโทษตำหนิติตัวเองอยู่เสมอ มีสติสัมปชัญญะ ครบถ้วน ว่าอะไรมันผิด อะไรมันถูก จำให้ดีนะ

ฟังแล้วก็จำ อย่าทำตาเป็นตากระทู้ อย่าทำหูเป็นหูกระทะ ไอ้ตากระทู้นะมองอะไรไม่เห็น หูกระทะฟังอะไรไม่ได้ยิน หูคนฟังได้ยินแล้วไม่สนใจ คนแบบนี้ควรจะอยู่ในอเวจีมหานรกเป็นที่อยู่แน่นอน เพราะว่าไม่มีสวรรค์ชั้นไหนเขาต้องการ และวัดนี้ก็ไม่ต้องการ วัดอื่นก็ไม่ต้องการ

ทั้งนี้เมื่อท่านเรียนอย่างอุกฤษฏ์แล้ว ก็ไม่ช้า ไม่มีความอาลัยในชีวิตและร่างกาย จำไว้ให้ดีนะ ท่านไม่มีความอาลัยในชีวิตและร่างกาย ว่าชีวิตและร่างกายนี้มันไม่จีรังยั่งยืน มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันจะตายเมื่อไหร่ก็เชิญ เมื่อมันจะตาย มันจะพัง เมื่อไหร่ นิพพานย่อมเป็นที่ไปของเรา พวกเราจำได้ไหม ฟังกันทุกวัน จำได้ไหม

หรือเคยคิดหรือเปล่า อารมณ์จิตยังตำหนิสิ่งภายนอก ก็แสดงว่าอารมณ์จิตของเราเลว ลืมติตน ถ้ารู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมดาเสียแล้ว ความอาลัยในชีวิตมันก็ไม่มี เราศึกษาพระธรรมวินัยกัน ปฏิบัติทั้งวิปัสสนาธุระกัน ก็เพื่อความดับไม่มีเชื้อ คือการตัดอาลัยในชีวิตเท่านั้น

อารมณ์ที่จะตัดอาลัยในชีวิตได้ คืออารมณ์รับธรรมดา คือยอมรับนับถือกฎของธรรมดา อย่าไปสนใจเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้มากนัก ไอ้เรื่องที่จะทำให้ถูกใจเราทุกอย่างมันไม่มี ถ้าใจเราเลว ถ้าใจเราดีซะอย่างเดียว ทุกอย่างในโลกมันไม่มีอะไรถูกใจเรา เพราะว่าเราทราบว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา

เป็นอันว่าต่อมาท่านก็ได้บรรลุอรหัตผล คือว่าจบกิจในพรหมจรรย์ ท่านได้บรรลุอรหัตผลภายในไม่ช้า นี่เขาเรียนกันเดี๋ยวเดียว แล้วเขาก็ไปปฏิบัติกัน และเป็นอรหัตผลภายในไม่ช้า เราเรียนกันมากี่วัน พระเรวัตรท่านปฏิบัติเท่าไหร่ พระนางปฏาจาราเถรี ท่านปฏิบัติเท่าไหร่ ท่านมีทุกข์ขนาดไหน ท่านยังมีกำลังใจสามารถทำตนให้เป็นพระอรหันต์ได้

และพวกเราที่เข้ามาอยู่ในสำนักนี้ รับฟังกันแล้วเท่าไหร่ มีความรู้ขนาดไหน ดีบ้างแล้วหรือยัง อัตนาโจทยัตถานัง เตือนตนด้วยตนเองไว้เสมอ ๆ อย่าต้องให้ผมใช้ปากเตือนอีก ถ้าผมต้องเตือนใคร ท่านผู้นั้นก็ทราบว่า ท่านเลวเกินไปสำหรับที่จะอยู่เป็นคน เพราะว่าคำสั่งก็ดี คำสอนก็ดี มีแล้วทุกวัน

เมื่อท่านเป็นอรหันต์ ได้เป็นพระอริยบุคคลสูงสุดในพระพุทธศาสนา ท่านกล่าวว่า มีทุกคนบูชาเคารพ สรรเสริญท่านมาก แต่ว่าท่านไม่ติดในการบูชา ผมก็ว่าควรแก่การสรรเสริญอย่างยิ่ง พระองค์นี้ผมไม่รู้จักตัวก็ยังกราบท่านอยู่เสมอเป็นปกติ เพราะว่าในฐานะที่เป็นพระอริยสงฆ์อยู่ที่ไหน ผมไม่สนใจ สนใจอย่างเดียว เอาใจของผมไปจับที่ท่าน นึกถึงท่าน ไหว้เมื่อไหร่ก็ถึงท่าน

ไอ้ที่ไหว้...ไม่ได้ไหว้ขันธ์ห้า คือไหว้ความดี ไหว้ปฏิปทาที่ท่านปฏิบัติ ก็รู้สึกว่า การปฏิบัติอุกฤษฏ์ ๆ แบบนี้ ควรจะมารอยเดียวกัน แต่ทั้งนี้ผมไม่ได้พยากรณ์ตัวผมว่า ผมเป็นพระอรหันต์ เป็นแต่เพียงว่า ปฏิบัติคล้ายคลึงกัน ผมก็ชอบแบบนี้

คำว่า "อุกฤษฏ์" คือทรงสติยิ่ง ทรงสัมปชัญญะยิ่ง ใช้ปัญญายิ่ง คลุมศีลยิ่ง ระมัดระวังจริยา ไม่มีจิตกังวล ไม่เกลือกกลั้วกับเดรัจฉานคถา คือว่าไม่ยอมคุยกับใคร ไม่ยอมเข้าห้องใคร ผมบวชในพระพุทธศาสนามาสี่สิบปีเศษ การเข้าห้องไปธุระเฉย ๆ การไปนั่งคุย นอกจากธุระสำคัญแล้วไม่เคยเข้าห้องใครเลย การไม่ให้ท่านเข้าห้องคนอื่น ผมถือว่าเป็นเรื่องปกติ นี้คุยกันต่อไป

สำหรับพระน้องชายที่ชื่อว่า กปิลภิกขุ เมื่อพระอุปัชฌายะอบรม บอกธุระ สองประการในพระพุทธศาสนาแล้ว เธอจึงคิดว่า ตัวเรายังเป็นคนหนุ่ม นี่ความประมาทเกิดขึ้นแล้ว คิดว่าคนหนุ่มมันไม่ตาย ควรที่จะเรียนคันถธุระ คือเล่าเรียนพระพุทธวจนะ คำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ก่อนดีกว่า เรื่องวิปัสสนาต่อไปเมื่อแก่แล้วจึงค่อยทำ

เมื่อคิดถึงตอนนี้ ก็คิดถึงเรื่องนางปฏาจารา ที่เธอราดน้ำลงไป ครั้งหนึ่ง..หยุด ครั้งที่สอง...เลยไปอีกนิดหนึ่ง..หยุด ครั้งที่สาม..เลยไปอีกนิดหยุด เธอพิจารณาน้ำเพียงเท่านี้ได้บรรลุอรหัตผล สำหรับท่านกปิละนี้มีความประมาทมาก คิดว่าเราหนุ่ม ยังไกลต่อความตาย พอแก่ซะก่อนจึงค่อยเรียนวิปัสสนาธุระ

เมื่อคิดดังนี้แล้วจึงได้เรียนคันถธุระ หมายถึงว่าศึกษาพระธรรมวินัย จนจบพระไตรปิฎก ในไม่ช้าก็มีชื่อเสียงปรากฏเลื่องลือ ว่าพระองค์นี้จบพระไตรปิฎก อย่างสมัยนี้ก็เรียนจบเปรียญเก้าประโยคบ้าง เป็นปริญญาอะไร เอ็ม เอ เอ็มแซด อะไรพวกนี้น่ะ พวก เอ็ม เอ็ม นะแซดกันไปหมด เวลานี้มีกันหลายเอ็ม

คำว่าแซดนี่ ผมไม่ได้ตำหนิท่าน หมายความว่าเมื่อก่อนเราไม่เคยมีกัน เวลานี้มีพระจบปริญญาทางพระศาสนาเยอะ ผมก็โมทนา จบเปรียญเก้าประโยคก็เยอะ ผมก็โมทนา ทว่าท่านมีวิริยะ อุตสาหะดี ทว่าการปฏิบัติในเขตพระพุทธศาสนา ถ้าเราขาดปริยัติปฏิบัติ ก็แย่ สำหรับของเรามีทั้งปฏิบัติและปริยัติ ท่านได้ดีแล้วหรือยัง

ในการต่อมาก็มีภิกษุ สามเณรมาสมัครเป็นลูกศิษย์ ลูกหามากมาย มีศิษย์มาก ลาภ สักการะ ก็ย่อมเกิดขึ้นมากเป็นของธรรมดา นี่ทำท่าจะเป็นสัญชัยปริพาชกแล้ว ฟังให้ดีต่อไปนะ เมื่อท่านจะว่า จะกล่าวสิ่งใด ก็ไม่มีใครเขาคัดค้าน ถือว่าท่านเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก

ถามว่าทรงพระไตรปิฎก คือจำพระไตรปิฎกได้ เขาเรียกว่า เสือกระดาษ เขาถือว่าเป็นผู้มีความรู้ ไม่มีใครเขาคัดค้าน ภายในไม่ช้า ท่านกปิลภิกขุ ก็ถูกโลกธรรมเข้าครอบงำ ทำให้กลายเป็นคนผู้เมาในความรู้

โลกธรรมมีอะไรบ้างรู้ไหม คือ
หนึ่ง ลาภเกิดขึ้นมาก ติดใจในลาภ
สอง ยศถาบรรดาศักดิ์ เขายกย่องให้เป็นผู้ใหญ่ ติดในความเป็นใหญ่
สาม คำสรรเสริญเยินยอเกิดขึ้น ติดในคำสรรเสริญ คิดว่าตนเป็นผู้เลิศ
และก็สี่ ความสุขเนื่องจากการสรรเสริญเยินยอลาภสักการะการยกย่องเกิดขึ้น

นี่เป็นโลกธรรมในส่วนที่ได้มาเป็นปัจจัยให้ลืมตัว ท่านก็เลยเมา เพราะใจมันชอบเมาอยู่แล้ว เมาในความรู้ หนักยิ่งขึ้น ท่านมีความสำคัญตนว่าเป็นอติบัณฑิต คือบัณฑิตชั้นยอด ถือว่าใครหนอที่จะมีความรู้ ใครจะวิเศษกว่าฉัน นั้นไม่มีแล้ว ในโลกนี้จะมีอีกไหม ฉันคนเดียวเท่านั้นที่เป็นผู้มีความรู้ชั้นยอด มีความรู้เลิศ เวลาที่จะพูด จะสั่ง จะสอนบุคคลใด บุคคลหนึ่ง หรือบุคคลทั้งคณะ

อีตอนนี้ลืมแล้วซินะ ระบบเทวทัตเข้ามาแล้ว ก็ชักจะไม่คำนึงถึงบาลี หลักฐาน สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทั้งหมด เรื่องคำสอน พระพุทธเจ้าถือว่าไม่สำคัญ ของฉันนี่แน่ ตีความในพระธรรมวินัยเอาเอง ด้วยปัญญาที่เป็นปุถุชน คือเป็นคนที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส เรื่องพระธรรมวินัย ท่านทั้งหลายต้องระวังขอรับ

ถ้ากำลังจิตของเราเป็นปุถุชน มันตีความหมายไม่ถูก ถึงแม้ว่าจะมีความรู้ด้านปริยัติ ขั้นใดก็ตาม มันยัดไม่เต็มหรอก เพราะปริยัติเป็นด้านของวัตถุ และข้อวัตรปฏิบัติเป็นนามธรรม อันนี้ต้องมีความเข้าใจ หนังสือเล่มเดียวกัน ถ้าจิตเรายังหยาบ อ่านแล้วมีความรู้สึกอย่างหนึ่ง ถ้าจิตเราละเอียด อ่านแล้วมีความรู้สึกอย่างหนึ่ง

อันนี้ต้องสนใจให้ดี ท่านใช้ปัญญาที่เป็นปุถุชนของท่าน ท่านบอกว่าก็เป็นธรรมดา เพราะว่า พระพุทธพจน์ บทพระบาลี คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ย่อมทรงไว้ซึ่งภาวะอัศจรรย์ และลึกซึ้งหนักหนา ตามพระบาลีท่านกล่าวอย่างนี้ ยากที่ปัญญาของคน ยากที่ปัญญาของคนธรรมดาหรือปุถุชนธรรมดา จะตีความเอาได้ด้วย

ปัญญา ๓


สุตมยปัญญา หมายความว่า ฟังมาแล้ว ใช้ปัญญาพิจารณาให้เข้าถึงนั้นยาก แล้ว
จินตามยปัญญา หมายความว่า เอามาคิดด้วยอารมณ์ที่เกลือกกลั้วไปด้วยกิเลสนี่เข้าใจยาก ใช้ให้ถูกต้องไม่ได้ ดังนั้นเมื่อท่านกปิลภิกขุ ผู้ซึ่งแม้จะเล่าเรียนจบพระไตรปิฎกมาแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงว่า

มีปัญญาแค่ สุตมยปัญญา คือปัญญาเกิดจากการฟัง ซึ่งเราเรียกว่า สัญญา จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการจำ ซึ่งเรียกกันว่า สัญญา มันไม่ใช่เป็นปัญญา แต่มันเป็นสัญญา ไม่ใช่ปัญญา เท่านั้น

หาได้ขึ้นถึงขั้นภาวนามยปัญญาไม่ เรื่องภาวนามยปัญญา คือการใคร่ครวญภาวนาเป็นเรื่องใหญ่ จำเป็นจริง ๆ ที่จะต้องปฏิบัติให้ได้ อันเป็นปัญหาที่แท้จริงเด็ดขาด ซึ่งไม่สามารถเข้าใจปัญหาที่แท้จริงเด็ดขาดได้

ก็ได้กล่าว เวลาสอนก็สอนตามชอบใจของตน ตีความหมายอื่น บางคราวก็ตีความในพระธรรมวินัยผิดพลาด เวลานี้แถมหลอกลวงด้วย ในการใดเมื่อท่านตีความหมายพระวินัยผิดพลาด ย่อมจะถูกพระภิกษุสงฆ์ผู้มีความฉลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสมัยนั้น ทักท้วง

ท่านทั้งหลายสำหรับวันนี้ ดูเวลาก็หมดแล้วนะขอรับ สำหรับวันพรุ่งฟังต่อกันใหม่ จะได้ทราบโทษสำหรับการละเมิดพระวินัย แสดงอาบัติตก ผมได้บอกแล้วว่าแสดงแล้วมันตกนรก อย่าแสดงกันต่อไป สำหรับวันนี้ขอยุติกันเพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนพล จงมีแก่ทุกท่าน ที่ประพฤติดี ประพฤติชอบ ตามระบอบพระธรรมวินัย
สวัสดี


ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 21/2/11 at 16:01

2

โทษละเมิดพระวินัย แผ่นที่ 1 ตอนที่ 2


สุวรรณมัจฉา (ต่อ)


สำหรับเรื่องท่านกปิลภิกขุนี่ ในตอนก่อนก็มายับยั้งอยู่ที่แค่ว่า บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายที่ทรงคุณความดี อาจจะเป็นนักปริยัติที่มีความเข้าใจดีก็ได้ อาจจะเป็นพระอรหันต์ก็ได้ สมัยโน้นพระอรหันต์มีมาก ท่านแนะนำท่านกปิลภิกขุ ท่านก็ไม่ยอมรับฟัง แถมกล่าวโทษ ติเตียน ด่าว่าบรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายเหล่านั้น เพราะความเมาในลาภ

ขอย้อนนิดว่า ท่านกล่าวว่า ดูก่อน อาวุโสกปิละ ท่านกล่าวอย่างนั้นมันก็ไม่ถูก มันไม่ถูกตามพระธรรมวินัย ท่านกล่าวคลาดเคลื่อนจากพระธรรมวินัยไปเสียแล้ว พระพุทธเจ้ากล่าวอย่างนี้ อย่าบิดเบือน อย่าส่งเสริม อย่าต่อเติม เพราะว่าพระธรรมวินัยที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสอนมาดีครบถ้วนทุกอย่าง

สำหรับท่านกปิลภิกขุ หรือท่านกปิล ท่านเมาอยู่ในความรู้ ถือว่าตัวรู้มาก วิเศษมาก ทรงพระไตรปิฎก ก็เกิดอารมณ์พลุ่งพล่าน โมโหขึ้นหน้า จึงกล่าว กล่าวขู่ตะคอกบรรดาพระภิกษุทั้งหลายผู้ทักท้วงเหล่านั้นว่า “พวกท่านจะไปรู้ประสีประสาอะไร เพราะว่าพวกท่านเป็นคนเหมือนกับคนมือเปล่า ไม่ได้เล่าเรียนอะไร อย่ามานั่งเถียงผมนะ ผมจบพระไตรปิฎก ความจริงจบพระไตรปิฎกนี่

เขาเรียกกันว่า เสือกระดาษ ไม่มีความหมาย เรื่องของท่านพูดต่อไป ท่านก็พูดว่า ท่านพูดต่อไปด้วยอำนาจทิฐิมานะว่า ใครๆ ไม่วิเศษไปกว่าผมได้ ลูกศิษย์ลูกหา ผมเยอะแยะไป เป็นอันว่าท่านเมาทั้งในลาภ เมาทั้งในยศ เมาทั้งสรรเสริญ เมาทั้งสุข เมื่อมีลูกศิษย์ลูกหามาก ก็มีลาภมาก เขายกย่อง ก็ถือว่ามียศใหญ่ คำสรรเสริญเยินยอก็นึกว่าตัวเป็นผู้วิเศษ

สุขก็สุขจากกามารมณ์ คืออารมณ์ของโลกโลกีย์วิสัย เป็นอารมณ์เลว ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ละ แต่ท่านผู้นี้กลับทะเยอทะยานเข้าใจว่าเป็นความดี นี่ปัจจัยแห่งอเวจีก็ย่อมปรากฏ เวลานี้มีหรือเปล่า ผมไม่ทราบนะ พวกเสือกระดาษ อย่างพวกท่านกปิลนี่ มีปัญญามันทรามมาก

เล่ากันต่อไป เมื่อไม่มีใครเถียงท่าน ท่านก็สั่งสอนพระธรรมวินัย ที่ผิดพลาดต่อไป ผิดบ้าง พลาดบ้าง ต่อบ้าง เติมบ้าง เลิกถอนพระธรรมวินัยเสียบ้าง ว่าพระพุทธเจ้าเทศน์อย่างนี้ไม่ถูก ควรจะเป็นอย่างนั้น ในพระไตรปิฎก อย่างนี้ไม่ถูก ควรจะเป็นอย่างนั้น แก้ไขเพิ่มเติมเรื่อยไป ไปทางแนวทางที่เสีย

อันนี้พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า เดียรถีย์ เมื่อไม่มีใครมาทักท้วง หรือว่าบางคราวมีใครมาทักท้วงเข้า ท่านก็ขู่ตะคอกไปอีก บางทีถือ ก็ด่าเสียมั่งก็มี ท่านกล่าวว่า คราวนั้น บรรดาพระภิกษุสงฆ์ ผู้มีความหวังดี จึงพากันไปกราบเรียนท่านโสธนะภิกขุ องค์อรหันต์ ผู้เป็นพี่ชายที่อยู่ในป่า

กล่าวว่า บัดนี้ กปิลภิกขุ มีการกระทำที่ไม่สมควรใหญ่เสียแล้วขอรับ เพราะว่ากำเริบเมาในความรู้
องค์อรหันต์ผู้เป็นพี่ชาย จึงได้ออกไปจากป่า มุ่งมาสู่สำนักของน้องชาย แล้วให้โอวาทว่า ดูก่อนอาวุโสกปิล ผู้มีความรู้เช่นตัวเธอ ถ้าหากว่า มีการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ก็จะเป็นผู้สืบอายุพระพุทธศาสนาได้ดี เป็นกำลังใหญ่ของพระศาสนา เพราะฉะนั้น ขอเธอจงอย่าละสัมมาปฏิบัติ

คือ ประพฤติดี ประพฤติชอบ มีจรณะ 15 เป็นต้น มีบารมี 10 อย่างนี้เป็นต้น มีอิทธิบาท 4 มีพรหมวิหาร 4 ที่ว่ามาตอนต้น มีให้มันครบถ้วนเสีย ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ อย่าด่าภิกษุสงฆ์ผู้ตักเตือนเธอ เพราะว่าท่านทั้งหลายเหล่านั้น เป็นผู้หวังดี

ท่านกปิลท่านว่ายังไง พอได้รับฟังคำแนะนำของพี่ชายซึ่งเป็นพระอรหันต์ เท่านี้ เธอได้มีจิตยินดีรับคำนั้นก็หาไม่ ก็เกิดความทะนง นึกในใจว่า พี่ชายของเรา เป็นผู้ไม่มีความรู้อะไรเลย บวชแล้วปฏิบัติอาจาระคือ ปฏิบัติอุปัชฌาอาจารย์พอสมควร ศึกษาวิปัสสนาธุระแล้วเข้าไปอยู่ในป่า จะมีความรู้อะไร

จึงบอกพี่ชายว่า หลวงพี่นิมนต์เข้าป่าไปเถอะ พระป่าอย่าเสือกเข้ามาในบ้าน ท่านไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยอะไร พระไตรปิฎกผมจบ ท่านไม่มีความรู้ ได้แต่ภาวนาอย่างเดียว นิมนต์เข้าป่า พี่ชายเห็นท่าไม่ดี ก็ไป

ต่อมาเมื่อเกิดเรื่องขึ้นอีก พระก็ไปแจ้งให้ท่านทราบ พระโสธนะองค์อรหันต์ ก็มาสู่ ก็อุตส่าห์ออกมาจากป่า มาว่ากล่าวตักเตือนอีกสองสามครั้ง เป็นอันว่าถึงวาระที่สามด้วยความกรุณาในน้องชาย ในที่สุดเมื่อเห็นว่าพระน้องชายไม่เอาถ่านด้วย ก็ยกเลิก นี่เป็นปฏิปทาที่แท้จริงของพระอรหันต์ เพราะว่าพระอรหันต์ท่านไม่ยุ่ง ถ้าพูดกับใครสามคราวแล้วไม่เอา ท่านก็เลิกเตือน

สำหรับพวกเราเป็นอย่างไร นี่พูดกันอยู่ทุกวัน มันเกิดสามคราว ปีหนึ่งสามร้อยหกสิบห้าวัน วันหนึ่งสี่วาระ เอาสี่คูณ ดีกันมั่งหรือยัง มีไหม ที่มีทิฐิมานะ ทะนงตนว่าเป็นผู้วิเศษ ถ้าไม่เห็นว่าท่านมี ผมจะบอกให้ว่ามี มีอยู่และก็ยังต้องให้ผมบอกคุณ ผมบอกคุณเมื่อไหร่ คุณต้องออกจากวัดนี้ทันที อย่าไปเอาใครมาอ้าง

และอย่าไปประจบฆราวาส ที่ไปประจบฆราวาสไปแล้วก็มี เป็นการป้องกันตัว อันนี้ผมรู้นะ ว่าทำดีอย่างโน้น ทำดีอย่างนี้ บางทีความดี ผลไม่ได้เกิดกับวัดหรอก ดีของท่านแต่มันผิดธรรมวินัย ดีแต่ว่าผลไปเกิดที่อื่น แล้วให้คนอื่นมาอ้างว่า ผลนี่มันอยู่ที่นั่น ท่านคิดว่าถูกหรือ มันเป็นความเลวมหาศาล

มีอะไรเพื่อทำเพื่อประโยชน์ภายในต้องแจ้งให้ผมทราบ และผลนั่นมันต้องอยู่ที่วัด มันไม่ใช่ไปอยู่ที่อื่น นั่นไปเอาผลไปที่อื่น ไปกำนัลคนอื่น เป็นเกราะป้องกันตน ไม่มีประโยชน์สำหรับผม หรือผลนั่นสำหรับคนอื่นจะมาพูด ท่านอย่าคิดว่าผมจะไปเกรงใจคนอื่น เมื่อดีจงดีจริง ๆ อย่าดีอย่างกปิลภิกขุ อย่าทำตนให้นอกเหนือพระธรรมวินัย

อย่าสร้างอามิส เข้าไปบูชาคนอื่น แล้วให้คนอื่นเข้ามารับรอง ยืนยันว่าท่านเป็นคนดี นั่นมันเป็นความผิดมหาศาล ไม่ใช่ความผิดเล็กน้อย ถ้าจะดีจริงๆ ทำอะไรแจ้งให้ผมทราบ ให้ผลประโยชน์มันเกิดขึ้นกับหมู่คณะ แล้วบอกว่านี่เป็นน้ำพักน้ำแรง อันนี่ใช่ รับรอง แต่ที่ทำไปมันไม่ใช่อย่างนั้นก็มี บางคนประพฤติอย่างอื่นก็มี

อย่านึกว่าไม่รู้นะ จงจำไว้ว่าพระอรหันต์นะ พูดสามวาระ ที่วัดเราพูดกันวันละสี่วาระ พูดให้ดีถ้ายังเลวอยู่ พยายามเอาตัวปลีกออกไปซะ ถ้าไม่ปลีกออกไป เมื่อถึงวาระ ผมจะจัดการให้ท่านไป ถ้าหากว่าท่านไม่ไปก็แสดงว่าต้องถูกบังคับเอาผ้ากาสาวพัตร์ออกกัน ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าบวชเข้ามาแล้วต้องทำดีให้มันถูกดี

อย่าทะนงตนว่าเป็นผู้วิเศษ ผมไม่ชอบคนเลว ไอ้เลว ๆ แบบนี้มันเลวจริงๆ ผมไม่ชอบหรอก ที่ยังไม่พูด ยังไม่ทำ จะให้ผมเตือนว่านั่นเลว นี่เลว ผมจะไปเตือนอะไร ก็เตือนกันอยู่ทุกวันอย่างนี่ ยังไม่รู้ตัวว่าดี ต่อไปจะต้องถูกลงพรหมทัณฑ์

อย่าทะนงตนว่าเป็นผู้มีความสามารถด้านใดด้านหนึ่งนะ เราต้องการอย่างเดียวถ้ามีความสามารถในการทรงญาณ มีความสามารถในการตัดสังโยชน์ อันนี้สรรเสริญ สำหรับคันถธุระทำกิจการงานเป็นส่วนกลาง อันนี้โมทนา แต่อย่าประพฤติผิดพระธรรมวินัย

ท่านกล่าวต่อไปว่า ดูก่อนอาวุโส ท่านกลับมาใหม่ เมื่อเธอไม่เชื่อฟังคำของเรา ตัวเธอจะปรากฏด้วยกรรมแห่งที่เธอกระทำเอง เมื่อองค์อรหันต์กล่าวอย่างนี้แล้ว ก็หลีกไปตามอัธยาศัย
ฝ่ายว่าพระกปิลเมื่อไม่เห็นพระสงฆ์ผู้ใดผู้หนึ่งมากล้าว่ากล่าว ก็เห็นว่าท่านบ้า อย่าไปถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา แต่ว่านี้บ้าทำลายพระศาสนาจึงต้องพูด พูดไม่ฟังเขาก็เลิก พระพวกนั้นผมเข้าใจว่าเป็นพระอริยะเจ้า พระอริยะท่านเตือนสามครั้งแล้วไม่เชื่อแล้วก็แล้วกันไป

ก็เป็นอันว่า พระกปิลก็แสดงตนเป็นผู้มีความรู้ดัดแปลงคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหนักยิ่งขึ้น ถึงกับขั้นรื้อพระธรรมวินัยบางอย่างออก เอาของอื่นๆ มาเสริมเข้าไว้ เมื่อพระสงฆ์ทั้งหลายพยายามคัดค้าน ท่านก็พยายามขู่ตะคอกเอาบ้าง ในที่สุดก็ด่าว่าซะบ้าง คัดค้านบ่อยๆ ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายเหล่านั้นก็นิ่ง

แม้มารดากับน้องสาวที่เข้ามาบวชเป็นภิกษุณีก็ยินดีด้วย แล้วก็พลอยด่าว่าบรรดาพระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นไปด้วย เหมือนกับพ่อกับแม่พระ พาลูกเข้ามาบวชแล้ว ครูบาอาจารย์ตักเตือนแล้วว่ากล่าว เวลาลูกเข้ามาบ้านก็มาแจ้ง พ่อแม่ก็โกรธครูบาอาจารย์ ก็ชวนพี่น้องญาติโกรธครูบาอาจารย์ ชวนเพื่อนหมู่คณะโกรธครูบาอาจารย์ ด่าว่าครูบาอาจารย์ ด่าว่าพระ

ผลก็ไปอย่างเดียวกันกับแบบนี้แหล่ะ ดูตัวอย่างถมเถไป เดี๋ยวก็เจอะเขาไปไหนกัน จึงเป็นอันว่าท่านกปิลภิกขุ ก็ยังทำพระปริยัติในพระศาสนาให้คลาดเคลื่อนต่อไป โดยทำลายพระศาสนาให้เศร้าหมอง เพราะความที่เมาในลาภยศ สรรเสริญ สุข และเมาในทิฐิมานะว่าตัวเป็นผู้วิเศษ

เมื่อถึงกาลที่ภิกษุณี พี่น้องเหล่านั้น สิ้นชีพสังขารตาย อย่างนี้ผมอยากจะบอกว่าตายโหงไปเสียแล้ว ต่างก็เป็นไปตามยถากรรมคือผลของกรรม คือ

ท่านพระโสธนะเถระผู้เป็นพี่ชาย ได้ดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน พี่ชายที่เป็นอรหันต์ไปนิพพาน สำหรับพระอรหันต์ผู้ประเสริฐไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารต่อไป
ฝ่ายท่านกปิลภิกขุผู้มีความสำคัญตัวว่าเป็นอติบัณฑิต ถือว่าเป็นผู้รู้อย่างยิ่ง พระนางภิกษุณีทั้งสองผู้เป็นมารดาและน้องสาวเมื่อตายไปแล้ว ก็พากันไปเกิดในมหานรกขุมใหญ่ที่เรียกกันว่า อเวจีมหานรก ต้องหมกไหม้อยู่เสวยทุกขเวทนาอย่างสาหัส เพราะอำนาจอกุศลกรรมที่ด่าว่าภิกษุทั้งหลายที่มาตักเตือน

นี่ดีไหมล่ะ การด่าพระที่ดีและก็ชวนกันด่าเป็นหมู่เป็นคณะ เขาเสวยผลกันแบบนี้ นี่ในท้องเรื่องท่านมีเรื่องอะไรคั่นอยู่นิดหนึ่ง เป็นอันว่าขอลัดตัดมาเรื่องคั่นดังกล่าว กล่าวว่า

ท่านกล่าวว่าขอย้อนไปนิดหนึ่งว่า การจะกล่าวถึงสัตว์นรกที่มาจากพระที่เรียกว่า กปิล พร้อมด้วยมารดาและน้องสาวผู้เป็นภิกษุณี ตั้งแต่ต้องทุกข์ถูกไฟไหม้ในอเวจีมหานรกนี่ เขามีหอกตรึงขยับเขยื้อนไม่ได้ ไฟเผาจนกระดูกแดงฉาน คำว่าตายไม่มี คำว่าไม่รู้สึกไม่มี สิ้นระยะกาลนาน เขาว่าอย่างนั้น มาช้ากาลนาน

ระหว่างพุทธันดรหนึ่ง คือช่วงพระพุทธเจ้าองค์นี้ แล้วก็โผล่มาอีกองค์หนึ่ง คือในช่วงพระพุทธศาสนาพระพุทธกัสสป จนถึงพระศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ เรียกว่าหนึ่งพุทธันดร หนึ่งพุทธันดรท่านบอกว่าแผ่นดินหนาขึ้นโยชน์หนึ่ง

สำหรับท่านกปิลหมดกรรมก่อนที่ต้องลงนรก เพราะว่าท่านเป็นพระตอนต้นดี มีความประพฤติดี ประพฤติชอบ เรียนพระธรรมวินัยดี ประพฤติดี แต่ว่าไม่ได้เป็นอรหันต์ เป็นที่ถือว่าปกติพระ เป็นพระปถุชน ตอนหลังเลวจึงได้ลงอเวจี ความดีช่วยไว้จึงได้หมดกรรมก่อนแม่และน้องสาว

แต่ว่าอาศัยเศษกรรมที่ยังมีอยู่ จึงได้มาถือกำเนิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน คือเป็นปลาที่มีเกล็ดเป็นสีทอง เหมือนสีทองคำ สวยงามมาก มาว่ายเวียนไปเวียนมาอยู่ในแม่น้ำที่ชื่อว่า อจิรวดี มีชีวิตเป็นสัตว์เดรัจฉานอยู่ด้วยความแสนเศร้า คืออารมณ์นะเป็นอารมณ์คน แต่ว่าตัวเป็นสัตว์ก็มีอารมณ์เศร้า

เช้าวันหนึ่งเหล่าลูกชายคือเด็กๆ ลูกชายชาวประมง เด็กๆ มั่งลูกชายมั่งลูกสาวมั่งเหล่านั้น หลังจากที่เล่นกันตามประสาเด็กสนุกสนานแล้ว บรรดาเด็กทั้งหลายเหล่านั้น จึงได้กล่าวชวนพรรคพวกว่า นี่พวกเราไปจับปลากันดีกว่า ไปจับปลาในแม่น้ำที่ชื่อว่า อจิรวดี อยู่หน้าบ้าน จึงได้พากันถือเครื่องจับปลา มีอวนและแห เป็นต้น มุ่งหน้าไปยังแม่น้ำ

ครั้นถึงแล้วก็ทอดแหลงไปในแม่น้ำ บังเอิญปลาทองผู้มีกรรมมาติดร่างแหของเด็กทั้งหลายเหล่านั้นพอดี บรรดาพวกพ่อแม่พี่น้องของเด็ก เห็นพวกเด็ก ๆ ของตนทอดแหครั้งแรกได้ปลาทองก็ดีใจ คิดว่าบรรดาเด็กๆ พวกนี้ต่อไปจะเฮงมาก เพราะออกหาปลาครั้งแรกก็ได้ปลาทอง นี่เป็นบุญใหญ่ เป็นปฐมฤกษ์

ต่อไปการเป็นชาวประมงก็จะได้เป็นชาวประมงชั้นเลิศต่อไปในภายหน้า เป็นอันว่าต่อไปจึงดำริว่า ปลานี่ถ้าเราจะกินก็แค่นั้นแหละ ถ้าเราจะขายก็แค่นั้นแหละ ราคาไม่เท่าไหร่ ทางที่ดีควรจะไปถวายพระราชาผู้ครองพระนคร ชื่อว่า พระเจ้าแผ่นดินมคธ นี่มันก็จะนึกไม่ออก ที่เขาแปลไว้ก็ไม่ได้เขียนชื่อพระราชา ช่างเถอะนึกไม่ออกก็ว่าไป

พระราชาคงจะพระราชทานรางวัลให้แก่เราเป็นอย่างมาก พระเจ้าพิมพิสาร แหมจะเขียนซักหน่อยก็ไม่ได้ คนแปลไว้ก็เหลือเกิน ก็ควรจะบอกพระราชาเป็นหลักฐาน นี่ไม่เขียนไว้ซะด้วย จึงได้นำเด็กทั้งหลายเหล่านั้น ให้พากันเอาปลาทองของตนไปถวายพระเจ้าพิมพิสารบรมกษัตริย์

เด็กทั้งหลายเหล่านั้นก็นำปลาลงเรือและช่วยกันพาไป บ่ายหน้าไปสู่พระบรมมหาราชวัง และเข้าเฝ้าทูลพระราชาถวายปลา สมเด็จพระราชาเมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นปลาทองประหลาดเช่นนั้น จึงมีพระดำริว่า ปลาทองใหญ่ตัวนี้ ไม่มีใครรู้จักชื่อว่าเป็นปลาอะไร นับว่าเป็นปลาที่แปลกประหลาดอยู่ทำไมจึงมีสีคล้ายทอง ชะรอยจะมีเหตุลึกลับ

ยากที่มนุษย์ธรรมดาสามัญจะรู้ได้ ถ้ากระไรเราจะไปทูลถามสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้พระองค์ทรงทอดพระเนตรและก็ทรงพยากรณ์ ครั้นทรงดำริอย่างนั้นแล้ว จึงได้รับสั่งให้นำปลาสีทองนั้น ไปยังสำนักแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระองค์ก็พร้อมด้วยเสวกาอำมาตย์ ข้าราชบริพาร บรรดาเด็กทั้งหลาย ได้ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา เพื่อถามข้อสงสัย

เมื่อนำปลาทองนั้นไปถึงพระเชตุวันมหาวิหาร อ๋อ ขอประทานอภัย พระเชตุวันนี่ไม่ใช่พระเจ้าพิมพิสารแล้ว ต้องเป็นพระเจ้าปเสนทิโกศล ขออภัยด้วยนะขอรับ เพราะผู้แปลมานี่ท่านไม่ได้บอกชื่อ พระเชตุวันนี่ พระเจ้าปเสนทิโกศลนะขอรับไม่ใช่พระเจ้าพิมพิสาร

ถามเรื่องราวปลาทอง เวลานั้นปรากฏปลาทองอ้าปากขึ้น ขณะที่ปลาอ้าปากขึ้นนั่นเอง ก็ปรากฏว่าบริเวณพระเชตุวันมหาวิหาร ก็ปรากฏว่ามีกลิ่นเหม็นฟุ้งไปหมด ซึ่งทำความประหลาดใจให้เกิดแก่คนทั้งหลายเป็นอันมาก

พระเจ้าปเสนทิโกศล บรมกษัตริย์ พระบาทท้าวเธอจึงได้ทูลถามองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ภันเต ภควา ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ พระเจ้าค่ะ เพราะเหตุใดปลาตัวนี้จึงมีสีกายเป็นทองคำ ผิดจากปลาทั้งหลาย เพราะเหตุใด ปลาตัวนี้จึงมีกลิ่นปากเหม็นร้ายกาจนักพระพุทธเจ้าข้า

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสถึงบุพกรรมของปลานั้นว่า ขอถวายพระพร พระมหาบพิตร ปลานี้เดิมทีเป็นภิกษุนามชื่อว่า กปิล ในศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระนามว่า พระพุทธกัสสป เมื่อพระพุทธกัสสปล่วงไปแล้ว คือนิพพานไปก่อน พระศาสนายังคงอยู่ เหมือนกับสมัยที่เราคงอยู่นี่

เธอเป็นพหูสูต คือเรียนพระไตรปิฎกจบมีลูกศิษย์ลูกหามาก หากแต่ว่าถูกลาภ ยศ เข้ามาครอบงำ และก็ได้ด่าบรรดาพระภิกษุทั้งหลายผู้มีศีล ทำให้พระศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านามว่าพระพุทธกัสสป เสื่อมถอยเศร้าหมองลงไป เมื่อเธอตายไปแล้วก็ต้องไปเกิดในอเวจีมหานรก บัดนี้สิ้นกรรมแล้ว แต่ว่าเศษกรรมบาปยังมีอยู่ จึงต้องมาเกิดเป็นปลา

แต่ทว่าเพราะตนเรียนพระพุทธวจนะ สอนพระพุทธวจนะ กล่าวคำสรรเสริญคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามานาน เกิดเป็นปลาจึงมีกายสีเหมือนสีทองคำสวยงามมาก แต่เพราะตนได้ด่าพระภิกษุผู้ทรงศีล จึงมีกลิ่นปากเหม็นร้ายกาจในบัดนี้

นี่ท่านกล่าวว่า ขอถวายพระพร อาตมาภาพจะถามปลานี้ให้ประจักษ์ต่อไป นี่เวลามันก็จะหมดซะแล้ว เอากันหน่อย เป็นอันว่าองค์สมเด็จพระจอมไตร เมื่อทรงตรัสอย่างนั้นแล้ว อาศัยพระมหากรุณาธิคุณ จึงได้ตรัสถามปลานะขอรับ

จึงได้ตรัสถามปลาว่า เจ้าชื่อ กปิล ใช่ไหม
ปลาก็ตอบว่า ใช่พระเจ้าข้า
อันนี้บังเกิดอัศจรรย์แก่คนทั้งหลายเหล่านั้น เพราะได้ยินเสียงปลาทองทูลตอบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ภาษาไทยเป็นภาษาแขก

ท่านก็ตรัสถามว่า ต่อนี้ว่าอย่างไง ตามบาลี เพราะได้ยินเสียงปลานั้นทูลตอบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า อามะ ภันเต อาหัง กปิลโล
ท่านถามว่า เจ้าชื่อกปิลใช่ไหม
ปลาตอบว่า อาหัง ภันเต อามะภันเต อาหัง กปิลโล ใช่พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าชื่อกปิล

สมเด็จพระพุทธองค์จึงได้ทรงตรัสถามขึ้นอีกว่า เจ้ามาจากไหน
ปลาจึงตอบว่า อเวจิ มหานิรยโต ภันเต ข้าพระองค์มาจากอเวจีมหานรกพระเจ้าข้า
ท่านถามต่อว่า ท่านโสธนะพี่ชายของเจ้าไปไหน
เขาตอบว่า ปรินิพพุทโธ ภันเต ท่านดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานไปแล้วพระเจ้าข้า

พระองค์จึงได้ตรัสถามต่อไปว่า นางสาธนีมารดาของเจ้าไปไหน
ท่านบอกว่า มหานิตเย นิพพัตตา ภันเต กำลังอยู่ในมหานรกพระเจ้าข้า
ทรงถามต่อไปว่า นางตาปนา น้องสาวของเจ้าไปไหน
เขาตอบว่า มหานิตเย นิพพัตตา ภันเต นางกำลังอยู่ในมหานรกพระเจ้าข้า

ครั้นเมื่อสุวรรณมัจฉาปลาทองผู้มีกรรม ทูลตอบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในวาสนาของตนเป็นยิ่งนัก จึงระลึกถึงกรรมชั่วของตนที่ทำในอดีตให้แค้นใจตัวเองเป็นสำคัญ เพราะไม่น่าจะทำ

ท่านกล่าวว่า แค้นใจตัวเองเป็นสำคัญ ไม่น่าจะกระทำเลย เขาคิดเสียใจ ถูกโทสะคือความโกรธเข้ามาครอบงำจิต ว่าเขาไม่ควรจะเป็นอย่างนี้จึงเอาศรีษะฟาดเรือโดยแรง แล้วขาดใจตายบัดนั้น เมื่อตายจากสัตว์เดรัจฉานก็กลับไปเกิดในอเวจีมหานรกตามเดิมเพราะกรรมแห่งโทสะ

ทั้งนี้ก็เพราะว่า เขาเกิดเป็น ทั้งนี้ก็เพราะเดรัจฉานกปิลนั้น เวลาที่ทำกาลกริยาตาย ขณะที่มีโทสะจริต ในจิตมีโทสะก็โกรธตัวเอง เลยถูกโทสะชักนำไปเกิดในอเวจีมหานรกใหม่ เมื่อพ้นจากนรกมาครั้งหนึ่งแล้ว เวลา เอาง่าย ๆ บาลีท่านกล่าวยุ่งจัง ก่อนจะตายก็เป็นคนมีโทโสร้าย ตายไปอเวจี มาเกิดเป็นปลา กรรมที่โมโหตัวเองหัวฟาดเรือ เลยก็ตายก็ไปจากโทสะก็ลงอเวจีใหม่

สำหรับเรื่องนี้ก็เล่ากันไป มันก็มีได้อีกนาน ก็ขอจบตัวอย่างไว้แต่เพียงเท่านี้ แล้วก็อธิบายอะไรไม่ได้ด้วย เวลาจบพอดี ขอท่านทั้งหลายฟังแล้ว จงอย่าฟังทิ้งนะ จดด้วย จำด้วย และประพฤติ ปฏิบัติตาม ถ้าปฏิบัติตามอย่างพระกปิลแล้วก็ไม่ต้อง ลงอเวจีกันตามสบาย สำหรับวันนี้จบเวลาเพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนพล จงมีแด่ทุกท่านที่ประพฤติดี ประพฤติชอบ

สวัสดี


◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 2/3/11 at 15:58

3

โทษละเมิดพระวินัย แผ่นที่ ๒ ตอนที่ ๑




ความสำคัญของการบวช

ลำดับต่อนี้ไป ก็จะขอนำโทษการละเมิดพระวินัยมาพูดกับบรรดาเพื่อนบรรพชิตทั้งหลาย แต่ว่าก่อนจะพูดเรื่องโทษทางวินัย ก็ขอเตือนว่าที่ท่านทั้งหลายบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา มีพระบาลีบทหนึ่งว่า นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คเหตวา ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ข้าพเจ้าขอรับผ้ากาสาวพัสตร์เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

ขอรับผ้ากาสาวพัสตร์เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานนี้ การจะทำเพื่อนิพพานให้แจ้งได้นั้น ต้อง
มี ๑.จรณะ ๑๕ สมบูรณ์แบบ
มี ๒.บารมี ๑๐ สมบูรณ์แบบ
มี ๓.พรหมวิหาร ๔ สมบูรณ์แบบ
และก็มี ๔.อิทธิบาท ๔ สมบูรณ์แบบ

การจะสมบูรณ์แบบหรือไม่สมบูรณ์แบบเพียงใด ท่านไปหาข้อศึกษาเอาเพราะคาสเซทมีไว้แล้ว ไปรับมาหรือไปซื้อเค้ามา แล้วมาฟังหรือซื้อหนังสือมาดูก็ได้ สำหรับโทษการละเมิดพระวินัยนี่ ความจริงมีโทษหนัก แต่ทว่าครูบาอาจารย์ท่านไม่สอน ผมก็ไม่โทษครูบาอาจารย์เพราะว่าครูบาอาจารย์ท่านอาจจะบอกว่าท่านไม่รู้

เพราะว่าครูท่านไม่สอนมา การที่มีโทษทางพระวินัยก็หมายถึง ตกนรกบ้าง เกิดเป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง ความจริงเรื่องนี้มีมาในพระไตรปิฎก คือ ในพระวินัยปิฎกนั่นเอง เป็นของไม่ยาก ทำไมถึงไม่มีใครค้นคว้ามาสอนกัน

หลวงพ่อแนะนำการปลงอาบัติ

และก็มักจะสอนกันบอกว่า อาบัติเล็กน้อยปลงตก คำว่า “ ปลงอาบัติ.”นั้นมันเป็นการยับยั้งการกระทำความชั่วต่อไปเท่านั้น ส่วนที่ชั่วไปแล้วมันก็ชั่วแล้ว มันจะกลับคืนดีมาอีกไม่ได้

สมมติว่าถ้าเราไปลักไปขโมยของของบุคคลอื่นเขา และวันต่อมาเราก็เลิกลักเลิกขโมย โทษที่ลักที่ขโมยของของเขาน่ะ มันหมดโทษแล้วหรือยัง ทางกฎหมายเค้าให้มั้ย เค้ายกโทษให้หรือเปล่า ความจริงมันก็เปล่า

ข้อนี้มีอุปมาฉันใด การละเมิดโทษในทางพระวินัยก็เหมือนกัน ละเมิดแล้วก็แสดงอาบัติ แสดงอาบัติก็ไม่ได้รู้ภาษาอะไรเลย ว่ากันส่งเดชไป อย่าลืมว่าแสดงแล้ว ถึงแม้ว่าถ้าแสดงแล้วทำถูก ส่วนที่เสียมันก็เสียไป ดูตัวอย่างท่านพระกปิลเป็นต้น นั่นเป็น “หน่วยหนึ่ง”

นี่จะกล่าวอีกหน่วยหนึ่งซึ่งมาในพระวินัยปิฎก ท่านกล่าวว่าเป็นเปรตบรรพชิต คือเปรตพระ เป็นอันว่าพระมหาโมคคัลลานะท่านจำพรรษาอยู่บนยอดหุบเขาคิชฌกูฏ พวกเราก็รู้แล้วนี่ว่า ท่านองค์นี้มีทิพยจักขุญาณเป็นพิเศษ เป็นผู้เลิศในทางฤทธิ์

มีวันหนึ่งท่านลงมาบิณฑบาตกับพระลักขณา เดี๋ยว ท่านเห็นเปรตเข้าท่านก็มีอาการยิ้ม ตามเรื่องราวในพระวินัย ตอนนี้ท่านเจ้าคุณ ท่านได้กล่าวไว้ว่าอย่างไร ท่านลอกพระวินัยมา ผมยังไม่ได้อ่านสำนวนของท่าน ดูสำนวนของท่านก่อน

ท่านบอกว่าสมัยต่อมา ท่านพระมหาโมคคัลลานะองค์พระอรหันต์ ผู้มีทิพยจักษุ ได้เห็นเปรตซึ่งมีรูปร่างเป็นพระ เปรตมีรูปร่างเป็นพระภิกษุณี เปรตมีรูปร่างเป็นสักสิกขมานา เปรตมีรูปร่างเป็นสามเณรี เปรตที่มีรูปร่างเป็นสามเณร เปรตทั้งหลายเหล่านี้ล่องลอยอยู่ในเวหาส แล้วก็แถมมีบาตร มีจีวร มีประคดเอว ของเปรตทั้งหลายเหล่านั้น

อาภรณ์ทั้งหลายเหล่านี้ทั้งหมด หรืออุปกรณ์ทั้งหลายเหล่านี้ทั้งหมดเป็นไฟลุกโชติช่วง เผาตัวอยู่ตลอดเวลา ขึ้นชื่อว่าไฟของสภาพเปรตไม่มีอาการดับ เปรตเหล่านั้นก็ได้แต่ส่งเสียงร้องครวญครางดิ้นกลิ้งเกลือกตัวอยู่บนอากาศ

ไอ้คำว่ากลิ้งเกลือกอยู่บนอากาศ เค้าอยู่ในบนอากาศได้ เค้ากลิ้งตัวอยู่ในอากาศได้ มีทุกขเวทนาอย่างสาหัส ท่านได้กล่าว ตอนนี้ตามพระสูตร เมื่อพระโมคคัลลานะแย้ม (ยิ้ม) นิดๆ เพราะว่าพระที่ท่านทรงคุณธรรมวิเศษ เวลาคุยกันยิ้มก็ยิ้มอีกอย่างหนึ่ง เวลาเดินไปเฉยๆ เกิดยิ้มขึ้นมา

บางทีพวกเราจะคิดว่าองค์นี้น่ากลัวจะสติสตังไม่ดี อยู่ๆ แล้วก็ย่องยิ้มมาเฉยๆ ไม่บ้าก็บอ แต่ความจริงไม่ใช่อย่างงั้น การยิ้มของท่านจะเป็นการแสดงออกว่าท่านพบอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นกรณีพิเศษเข้าแล้ว ฉะนั้นในเมื่ออัครสาวกเบื้องซ้ายของ องค์สมเด็จพระประทีปแก้ว แย้มยิ้มขนาดนั้น

พระลักขณาซึ่งเป็นเพื่อนกัน เดินไปด้วยกัน จึงได้ถามว่า ท่านโมคคัลลานะยิ้มเรื่องอะไร
ท่านพระโมคคัลลานะก็บอกว่า เอาเก็บไว้ถามเวลาที่เราเข้าไปเฝ้าองค์สมเด็จพระจอมไตร

ตอนกลับมาจากบิณฑบาต ฉันข้าวแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วออกรับแขก เทศน์โปรดพุทธบริษัท ทั้งพระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา สามเณร สามเณรี นางสิกขมานา

สำหรับนางสิกขมานานี่ ท่านทั้งหลายอาจจะแปลกใจ “ สิกขมานา” ก็คือสามเณร สามเณรผู้หญิง สามเณรผู้หญิงนี่บวชยังไม่ถึงอายุสิบแปด รักษาศีล 10 พอเข้าไปถึงอายุ 18 แล้ว เป็นสิกขมานา รักษาศีล 6 อย่างเคร่งครัด ที่ว่าผิดนิดเดียวให้สึกทันที ไม่มีการต่อศีลกัน แล้วไม่มีการลดหย่อนผ่อนโทษ

ครั้นในกาลถึงเวลาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จ ออกโปรดบรรดาพุทธบริษัท พระพุทธเจ้าหรือองค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ์ทรงเทศน์ สอนบรรดาประชาชนจบ ในเวลานั้นพระมหาโมคคัลลาน์จึงได้กราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทูลถามถึง

เรื่องราวของเปรตพระ เปรตภิกษุณี คือเปรตพระผู้ชาย เปรตพระผู้หญิง เปรตเณรผู้ชาย เปรตเณรผู้หญิง เปรตสิกขมานา เป็นต้น ว่าที่มีบาตร จีวร และประคดเอวไฟลุกโชนไหม้ไปทั้งตัว เธอก็ดิ้นร้อง ร้องไปในอากาศ กลิ้งไปกลิ้งมา ไฟมันก็ไม่ยอมดับ ใช้เวลาเท่าไรไฟมันก็ไม่ดับ

จะถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เปรตทั้งหลายเหล่านี้มีกรรมอะไรพระเจ้าค่ะ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงตรัสกับบรรดาภิกษุทั้งหลายว่า ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในการก่อนบรรดาเปรตทั้งหลายเหล่านี้ ก็เกิดเป็นมนุษย์ ถือว่าการเกิดเป็นมนุษย์นี่ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี เป็นโอกาสที่ประเสริฐที่สุด

คือมีโอกาสที่จะสร้างความดีได้ สร้างความชั่วก็ได้ ถ้าผมจะบอกว่า เกิดเป็นมนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐที่สุด มีโอกาสที่จะสร้างความดีได้ แต่ความจริงมนุษย์ก็ไม่ได้สร้างแต่ความดีนี่ เค้าสร้างความชั่วขึ้นถมไป ถ้าไปพูดถึงความดีเข้า พอดีเขาจะเกลียดน้ำหน้าเอา เห็นจะขอบอกว่า เกิดเป็นมนุษย์ ประเสริฐที่สุด มีโอกาสสร้างทั้งความดีและความชั่ว ใครสร้างความดีก็ไปสู่สุขคติโลกสวรรค์ ใครสร้างความชั่วก็ไปสู่อบายภูมิ

จึงกล่าวว่าในที่สุดเมื่อเขาทั้งหลายได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ในศาสนาของพระพุทธเจ้า มีพระนามว่าพระพุทธกัสสป บรรดาคนทั้งหลายเหล่านั้นได้ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงโปรด ก็มีความเลื่อมใส ตั้งใจอุปสมบทบรรพชาเป็นภิกษุ เป็นภิกษุณี เป็นสิกขมานา เป็นสามเณร สามเณรี ด้วยความเลื่อมใสจริงๆ

ตั้งใจว่าจะประพฤติดีประพฤติชอบ เหมือนๆ กับที่บรรดาพวกเราบวชอยู่เวลานี้ และก็เหมือนๆ กับที่ท่านพระกปิลบวชก็เหมือนกัน พี่ชายท่านพระกปิล ตัวท่านพระกปิล แม่พระกปิล น้องสาวพระกปิล เวลาบวชก็บวชด้วยความเลื่อมใส แต่บวชเข้ามาแล้วกลับเมาลาภ เมายศ เมาสรรเสริญ เมาสุข

สำหรับท่านพี่ชายเท่านั้นที่เมาธรรม เมาธรรมก็เลยทำตนซะเป็นพระอรหันต์ไป เมาหนัก และเมาไม่สร่าง เมาความดีถึงที่สุด เป็นที่ควรบูชา แต่ว่าพระกปิลท่านก็เมาความเลว แม่กับน้องสาวก็พลอยเมาไปด้วย ท่านก็เลยไปอเวจีมหานรก นี่คณะนี้ก็เหมือนกัน

ที่พูดถึงนี่ก็มีความเมาความดี เห็นองค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นที่จับใจ พอใจในพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินวร ก็อยากจะบวชเข้ามาสร้างความดี จึงขอบวชในศาสนาขององค์สมเด็จพระชินสีห์ มีพระนามว่าพระพุทธกัสสป

ในระยะต้นประพฤติพระธรรมวินัยดีมาก เคร่งครัดมัธยัสถ์มีระเบียบเป็นอันดี แต่พอนานๆ เข้า ความชั่วมันเกิดขึ้น ก็มีความรู้สึกว่า การเป็นพระนี่มันก็ไม่ต่างกับคน มีความรู้สึกเท่ากัน นี่เป็น “มิจฉาทิฐิ”เสียแล้ว สร้างความทนงด้วยประการต่างๆ เห็นว่าอาบัติเล็กน้อยแสดงได้ ก็เลยละเมิดมันดะ

ตั้งแต่สังฆาทิเสส “สังฆาทิเสส”ท่านเรียกว่า “อยู่กรรม”ได้ ทำสังฆาทิเสสแล้วถึงปีก็ไปอยู่ ไปอยู่กรรม ที่เรียกว่า เค้าเรียกว่าอยู่กรรมก็แล้วกันนะ อยู่พอดีว่าเสร็จกรรม เริ่มละเมิดอาบัติอาบัติปาจิตตีย์ อาบัติทุกกฏ อาบัติทุพภาษิต นอกจากสังฆาทิเสสถือว่าแสดงอาบัติตก อย่างที่พระถือกันเวลานี้

ที่ละเมิดแบบนี้เป็นปกติ เป็นการเห็นผิดประพฤติผิด เมื่อประพฤติผิดธรรม ผิดวินัย “มีอจาระ” คือมีความประพฤติที่ชั่วช้ามาก ไม่นำพาที่จะประพฤติปฏิบัติตามกระแสพระพุทธฎีกาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน การประพฤติตามพระธรรมวินัย พระธรรมนี่เรามีสอนกันอยู่แล้ว วินัยนี่ความจริงต้องว่ากันทุกสิกขาบท จะไปลดสิกขาบทใดสิกขาบทหนึ่งไม่ได้

สิกขาบทที่ละเว้นได้

เวลานี้ผมให้อภัยอยู่ 1 สิกขาบท คือข้อที่เรียกว่า “จับรูปิยะ นิสสัคคีย์ปาจิตตีย์” การรับเงินหรือทองถือว่ามีความจำเป็น ไม่มีใครเขาให้อภัยกับพระ เราก็จำเป็นจะต้องรับ รับไปเถอะ แต่ว่าใจจงอย่าติด จงอย่าคิดว่าเราจะเป็นมหาเศรษฐี เราจะมีศักดิ์ศรีเพราะเป็นคนมีเงินมีทองมาก เมื่อได้เงินได้ทองมาแล้วก็ใช้จ่ายตามกิจอันควรแก่สมณวิสัย

เงินเหลือจากนั้นเอาไปสร้างส่วนสาธารณะประโยชน์ ไปเลี้ยงเพื่อนพระด้วยกัน ซ่อมแซมกุฏิวิหาร สงเคราะห์คนป่วยไข้ไม่สบาย สงเคราะห์บุคคลที่เกิดทุพภิกขภัย มีน้ำท่วม ไฟไหม้ ฤดูฝนแล้งเป็นต้น เมื่อเค้ามีอันตรายเกิดขึ้นเราไปสงเคราะห์ได้ อย่างนี้เป็นความดี และก็ควรจะทำอย่างนั้น

แต่ว่าบรรดาท่านผู้นี้ไม่ได้ทำอย่างนั้น เป็นนักสะสม บ้าในลาภ สะสมลาภ บ้าในยศ เบ่งยศ มีอารมณ์อิจฉาริษยา ไม่ประพฤติอยู่ใน พรหมวิหาร ๔ ขาดบารมี ๑๐ ขาดจรณะ ๑๕ ขาดพรหมวิหาร ๔ แล้วก็ขาดอิทธิบาท ๔ รวมความว่าท่านผู้นี้ขาดหมด แต่ความจริงขาดนี่อาจจะขาดไม่หมด

ที่สิ่งที่ว่ามานี้ทั้งหมดถ้าขาดตัวใดตัวหนึ่งมันเป็นปัจจัยให้เกิดในนรก หรือเป็นเปรต องค์สมเด็จพระบรมเชษฐ์ทรงตรัสอย่างนี้แล้ว สมเด็จพระประทีปแก้ว

จึงได้มีพระพุทธฎีกา ตรัสว่า ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้นบุคคลผู้นี้ ตายจากความเป็นคนแล้ว ก็ต้องไปไหม้อยู่ในนรกขุมใหญ่สิ้นกาลนาน ไหม้อยู่นานแสนนาน แต่นี้หลังจากนั้นเมื่อศาสนานี้หมดขึ้นมา สิ้นศตวรรษหนึ่ง สิ้นพุทธกาลหนึ่ง คนผู้นี้ก็ขึ้นมาจากนรก เมื่อขึ้นมาจากนรกแทนที่จะเป็นคนหรือเป็นสัตว์ ก็มาเป็นเปรต

ด้วยอำนาจเศษของกรรมชั่วที่มีอยู่ จึงต้องมาเกิดเป็นเปรตอยู่ในสมัยนี้ ก็เป็นเปรตประเภทที่มีทุกข์แสนทุเรศอย่างยิ่ง คือสภาพของเขาเป็นพระบ้าง เป็นพระผู้ชายเรียกว่าภิกษุ สภาพเป็นพระผู้หญิงที่เรียกว่าภิกษุณี เป็นภาพของสิกขมานา คือสามเณรผู้หญิงที่บวชตั้งแต่อายุ ๑๘ ขึ้นไป เป็นภาพของสามเณรคือเณรผู้ชาย เป็นภาพของสามเณรี คือเณรผู้หญิง

ถูกไฟเผาได้รับความเร่าร้อน ส่งเสียงร้องอยู่แบบนี้ ก็เพราะว่ากรรมชั่วที่ตัวเองไม่มีความเคารพในพระธรรมวินัย ที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำสั่งสอน รวมความว่าบวชเข้ามาแล้วบวชเพื่อการหลอกลวง อันนี้ เวลายังเหลืออีกนิดหน่อย จะหาเรื่องมาพูดกับท่านมันจะจบหรือไม่จบ ก็จะพยายามเร่งรัด ก็ดูเอาเรื่องเล็กๆ นะ

โทษของการด่าพระ

มาตอนนี้มาอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเปรตเหมือนกัน ขอเล่าเรื่องไปเลย คือในเขตพาราณสี ท่านกล่าวว่า ยังมีคหบดีผู้มีทรัพย์คนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เลื่อมใสในพระบวรพระพุทธศาสนา ได้สร้างอารามถวายเป็นที่อยู่ของบรรดาภิกษุสงฆ์อารามหนึ่ง และก็นิมนต์พระภิกษุประจำตระกูลของตนไปเป็นเจ้าอาวาส คราวนั้นก็มีพระภิกษุหลายรูปเดินทางมาจากชนบทแดนไกลและได้เข้าไปขออาศัยพักอยู่ในอาวาสนั้น

คนทั้งหลายต่างก็มีความยินดี มีความเลื่อมใสศรัทธา ก็พระองค์นี้ท่านมีจริยาดี ก็พากันบำรุงพระภิกษุต่างๆ ต่างถิ่นนะ บำรุงพระภิกษุแขกที่มาจากต่างถิ่น ด้วยจตุปัจจัยปราณีตเป็นอันมาก ทำให้อาคันตุกะ คือพระที่มาจากต่างถิ่นได้รับความสะดวกสบายไม่ขัดสน จึงคิดจะพักอยู่ในอาวาสนั้นนานๆ

แต่ว่าท่านเจ้าอาวาสเกิดความไม่พอใจ ด้วยคิดไขว้เขวไปว่า ลาภสักการะทั้งหลายเหล่านี้เป็นของเรา เกิดขึ้นในวัดของเรา หากไม่ให้เราแล้วภิกษุเหล่านี้จะคงอยู่ที่นี่ไม่ได้ หมายความว่าถ้าอยู่ที่นี่ก็จะเกิดความไม่สบาย จะไม่ยอมให้อยู่อย่างสบายๆ ถ้าอยู่ที่นี่ ก็จะแย่งลาภไป เราก็จะไม่มีความสุข

จึงคิดว่าถ้าอย่า อย่ากระไรเลย ถ้าเป็นอย่างนี้ เราจะต้องให้ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ออกไปเสียจากที่นี่ เมื่อมีอารมณ์คิดริษยาอย่างนี้แล้ว ก็เริ่มดำเนินนโยบายที่จะขับไล่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ออกไปเสียจากอาวาส จึงเข้าไปหาท่านผู้สร้างวัด คือเจ้าของวัด คือคหบดีผู้มีทรัพย์มากแล้วก็กล่าวว่า กล่าวโทษพระอาคันตุกะต่างๆ นานา

ความจริงพระอาคันตุกะองค์นี้เป็นพระอรหันต์ นี่กรรมหนัก พระอรหันต์หรือพระอริยะนี่ท่านอยู่ที่ไหนสร้างความเลื่อมใสแก่คนมาก เพราะท่านเป็นผู้ไม่สะสม ที่เรื่องก็มีความต่อมาว่า แล้วก็บอกความประสงค์ที่ตนไม่ปรารถนาจะให้พระภิกษุเหล่านั้นอยู่ ท่านคหบดีคนหูเบาเจ้าของวัด

ครั้นได้ฟังภิกษุของตนมาว่าให้ ก็เชื่อ จึงได้รีบไปยังอาวาส แล้วก็ออกปากขับไล่ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายเหล่านั้นให้ออกไปจากวัดของตน เมื่อเห็นพระสงฆ์ยังไม่ออกไปตามคำสั่ง ก็ยังชักช้าอยู่ก็ด่าบ้าง ว่าบ้าง ตามประสาคนมีโทสะจิต คือมีอารมณ์ร้อน โทสะจริต ด้วยอำนาจแห่งอกุศลกรรมเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

นี่ด่าเพียงครั้งเดียวนะ ครั้นเขาดับขันธ์ไปถึงแก่ชีวิต คือตายไปแล้ว ก็ไปเกิดเป็นเปรตอยู่ในหลุมแห่งหนึ่ง นี่ด่าหนเดียวเกิดเป็นเปรต ไปอยู่ในหลุมอุจจาระ ต้องทนทุกขเวทนาเป็นเปรตอยู่เช่นนั้น เป็นเวลานาน

ครั้งหนึ่งพระมหาโมคคัลลานะองค์พระอรหันต์ พระอัครสาวกผู้เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเดินผ่านมาทางนั้น เปรตคหบดีผู้มีทรัพย์มากจึงโผล่ขึ้นมาจากหลุมอุจจาระ เพื่อให้พระเถระผู้มีทิพยจักษุเห็น

ครั้นพระเถระเจ้าเห็นเปรตแล้ว จึงถามว่า นี่ท่านเป็นใคร โผล่ขึ้นมาจากหลุมคูถ ให้เราเห็นเช่นนี้ ท่านร้องครวญครางอื้ออึงทำไม ท่านเคยทำกรรมชั่วอะไรไว้ ตั้งแต่สมัยที่เป็นมนุษย์
เปรตก็ตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นเปรต เปรตที่ต้องเสวยทุกขเวทนาอย่างสาหัส เพราะทำกรรมชั่วช้าลามกไว้มาก จึงต้องมาเกิดเป็นเปรตในโลกนี้

นี่ท่านพระมหาโมคคัลานะก็ถามต่อไปว่า ดูก่อนเปรต ท่านได้ทำกรรมอะไรไว้ หรือว่าด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ได้ทำด้วยกาย กล่าวด้วยวาจา นึกในใจหรือ ผลกรรมชั่วทั้งหลายเหล่านี้จึงได้ประสบแก่ท่านในขณะนี้
เปรตก็ตอบว่า ท่านเจ้าข้า ในชาติก่อน ข้าพเจ้าเป็นคหบดีผู้มีทรัพย์มาก มีภิกษุรูปหนึ่งเป็นเจ้าอาวาสอยู่ในวัดที่ข้าพเจ้าสร้างไว้ ท่านมีความประพฤติ ริษยา ตระหนี่ในตระกูล มีใจกระด้าง ชอบด่า ชอบบริภาษ ด่าพระลูกวัด

ผมถูกมั่งหรือเปล่าก็ไม่รู้ ได้มายกโทษอาคันตุกะภิกษุทั้งหลาย ที่เรือนของข้าพเจ้า หาว่าพระทั้งหลายเหล่านั้นเลว ข้าพเจ้าฟังคำของภิกษุเจ้าอาวาสนั้นแล้ว ก็กลับไปด่าพระอาคันตุกะให้ถอยออกไปจากวัด ผลแห่งกรรมชั่วด่าพระครั้งเดียวเพียงเท่านี้ ข้าพเจ้าจึงต้องมา ตายจากความเป็นมนุษย์ มาเกิดเป็นเปรตในหลุมคูถอย่างนี้

พระมหาโมคคัลลานะก็ถามต่อไปว่า ดูก่อนเปรต ก็ภิกษุเจ้าอาวาสที่เข้าไปสู่ตระกูล คือภิกษุเจ้าอาวาสองค์นั้น ซึ่งเป็นคนที่มีปัญญาทราม คือไม่มีปัญญาดี เป็นมิตรเทียม ไม่ใช่มิตรแท้ ท่านทำลายขันธ์ตายไปแล้ว ไปสู่ภูมิไหน

เปรตตอบว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า บัดนี้ข้าพเจ้ายืนอยู่บนศีรษะของภิกษุผู้มีกรรมอันลามกนั้น เธอมาเกิดเป็นเปรตในหลุมคูถ คือหลุมอุจจาระ หลุมเดียวกัน อยู่ที่ใต้เท้าของกระผม เป็นเปรตบริวารของกระผม เป็นเจ้าอาวาสแล้วให้ทายกไปยืนบนหัว ในสมัยที่เป็นเปรต

ข้าแต่พระคุณเจ้า มนุษย์ทั้งหลายพากันถ่ายมูตรถ่ายคูถลงมาในหลุมคูถนี้ คือถ่ายอุจจาระและปัสสาวะมา อุจจาระและปัสสาวะทั้งหลายเหล่านั้นก็เป็นอาหารของข้าพเจ้า และเมื่อข้าพเจ้ากินอุจจาระแล้วถ่ายอุจจาระออก สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นไหลลงไป เปรตเจ้าอาวาสเก่าก็กินอุจจาระของข้าพเจ้าอีกทีหนึ่งเป็นภัตตาหาร

เมื่อพระมหาโมคคัลานะเถระเจ้าได้สดับคำ ของเปรตทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว ก็มีใจกรุณา แต่ทว่าไม่รู้จะทำประการใด พูดได้ยังไง เมื่อกรรมของเขาทำอย่างนั้น เป็นอันว่า ท่านก็กล่าวคำอำลาแล้วก็เดินทางต่อไป

เอาล่ะ บรรดาเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งหลาย จงจำไว้ให้ดีนะ ว่าการบวชเข้ามาในพระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ อย่าถือเอาผ้าเหลืองเป็นเครื่องกันตัว มันจะมีโทษหนัก ทั้งนี้เพราะอะไร ก็ดูตัวอย่างเปรตทั้งหลายเหล่านี้ที่เล่ามา เรื่องนี้ผมไม่ได้แต่งขึ้น มีมาในพระไตรปิฎก คือในพระวินัยปิฎก

หากว่าท่านทั้งหลายมีความสงสัยใคร่อยากจะทราบว่ามีจริงหรือไม่จริง ก็ขอบรรดาท่านทั้งหลายไปพิสูจน์เองในพระวินัยปิฎกเล่มหนึ่ง มีอยู่แล้ว นี่เป็นกระแสพระสัทธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ฉะนั้นขอท่านทั้งหลายที่อุปสมบทบรรพชาเข้ามา เห็นท่าว่าจะทนไม่ไหวก็รีบสึกไปซะก่อน

ข้อสำคัญในเรื่องระเบียบวินัย

เรื่องระเบียบเรื่องวินัยมีความสำคัญ และการทะนงตัวจงอย่ามีแก่ท่านทั้งหลาย จงเป็นผู้มีสติใช้ปัญญาพิจารณาเสมอ จงอย่าทำอะไรตามอารมณ์ที่เราคิดว่ามันดี ก่อนที่คิดประเภทนี้ก็ต้องดูซะก่อนตามระเบียบ สิ่งที่สำคัญก็คือ

๑. จรณะ ๑๕ ต้องปฏิบัติให้ครบถ้วน
๒. บารมี ๑๐ ต้องมีอารมณ์ให้ครบถ้วน
๓. อิทธิบาท ๔ ต้องมีครบถ้วน
๔. พรหมวิหาร ๔ ต้องครบถ้วน
๕. กำจัดนิวรณ์ให้ได้
๖. ทรงฌานให้เป็นปกติ
๗. เห็นธรรมดาของขันธ์ห้า

สำหรับวันนี้ก็หมดเวลาซะแล้ว ก็ต้องขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผลจงมีแด่บรรดาเพื่อนสหธรรมิกทุกท่านที่รับฟัง

สวัสดี


◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 14/3/11 at 09:55

4

โทษละเมิดพระวินัย แผ่นที่ ๒ ตอนที่ ๒



สำหรับวินัยนี่ เป็นระเบียบที่ท่านทั้งหลาย จะต้องปฏิบัติให้ครบทุกสิกขาบท ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง จะบกพร่องอะไรไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมจะพูดข้อวัตรปฏิบัติบางประการ ให้ฟังเป็นประจำวันคือก่อนที่จะพูดถึงวินัย ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้มีความประพฤติพร้อม ๑๕ อย่างในจรณะ ๑๕ คือ

จรณะ ๑๕

๑. สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล นี่หมายถึงว่าต้องปฏิบัติวินัยทุกสิกขาบท เรื่องวินัยนี่ควรจะรัดตัวให้มาก อย่าหาทางเลี่ยง มันจะเกิดเป็นเปรต หรือเป็นสัตว์นรก
๒. อินทรียสังวร ระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าสนใจกับอารมณ์ของความชั่ว
๓.โภชเนมัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการกินอาหารแต่พอสมควร ถือว่ากินเพื่อยังอัตภาพที่เป็นไป ไม่ติดในรสอาหาร ไม่ติดในกลิ่น ในสี

๔. ชาคริยานุโยค ต้องมีสติสัมปชัญญะประกอบความเพียรเพื่อความดี ทรงอยู่ในจรณะ 15 บารมี 10 อยู่ตลอดเวลา
๕. ศรัทธา ความเชื่อในพระพุทธเจ้าด้วยปัญญาพิจารณาแล้ว
๖. หิริ มีความละอาย ถ้าเราจะละเมิดวินัยและธรรมะ จงมีความละอายว่าเราเลว

๗. โอตตัปปะ กลัวผลของความชั่ว ว่ามันจะเกิด ทำให้เกิดความเดือดร้อน
๘. พาหุสัจจะ ฟังมาก เรียนมาก ปฏิบัติดีมาก
๙. วิริยะ เพียรทำลายความชั่วให้พินาศไป เพียรสร้างความดีให้มันเกิดขึ้น

๑๐. สติ ระลึกไว้ได้เสมอว่าเรามีข้อวัตรปฏิบัติ มีวินัยกี่สิกขาบท มีธรรมะอะไรที่จะต้องปฏิบัติ
๑๑. ปัญญา ใช้ปัญญาพิจารณาตามพระธรรมวินัยอยู่เสมอ บรรดามาพิจารณาใคร่ครวญความประพฤติของเรา
๑๒. ปฐมฌาน

๑๓. ทุติยฌาน
๑๔. ตติยฌาน
๑๕. จตุตถฌาน

สิ่งทั้งหลายทั้งหมดนี้ ขอท่านนักพรตทั้งหลายปฏิบัติให้ได้ ให้ครบถ้วน เป็นการตั้งใจปฏิบัติจริง ไม่ใช่ว่าสักเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา เพื่อหวังศาสนาเป็นบันไดก้าวไปสู่การประกอบอาชีพ และก็จงอย่าลืมคำว่า นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คเหตวา แปลเป็นใจความว่า เรารับผ้ากาสาวพัตร์มาเพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ข้อนี้ต้องจำไว้เสมอแล้วก็ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

อย่าประกอบไปด้วยราคะ
อย่าประกอบไปด้วยโลภะ
อย่าประกอบไปด้วยโทสะ
อย่าประกอบไปด้วยโมหะ

จงละอาการทั้งสามประการนี้ให้สลายตัวไป ท่านจึงจะชื่อว่าพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา นี่มาว่ากันถึงพระวินัย ใน อนุศาสน์แปดประการ ที่พระอุปัชฌาย์บอก ย่นย่อมาเป็นนิสสัยคือสิ่งที่จะต้องปฏิบัติสี่ และอกรณียกิจ

อนุศาสน์ ๘ ประการ

กิจที่ควรจะเว้นสี่ พระวินัยนี่ต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนทุกสิกขาบทอย่างเคร่งครัด อย่าหาทางหลีก อย่าหาทางเลี่ยง เพราะโทษแห่งการละเมิดพระวินัย ตัวอย่างย่อๆ ได้บอกมาแล้วในตอนต้น ท่านกล่าวไว้ในนวโกวาทว่าปัจจัยเป็นเครื่องอาศัยของบรรพชิต มี ๔ อย่างคือ

๑. เที่ยวบิณฑบาต
๒. นุ่งห่มผ้าบังสุกุล
๓. อยู่โคนไม้
๔. ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า

แต่ว่าเวลานี้ผ้าบังสุกุลมีน้อย ชาวบ้านถวายมาก ก็ไม่เป็นไร หยูกยาก็มีขายเยอะ ก็ใช้ตามควร และต่อไปท่านบอกว่ากิจที่ไม่ควรทำ เรียกว่าอกรณียกิจมี ๔ อย่าง คือ

๑. เสพเมถุน
๒. ลักของเขา
๓. ฆ่าสัตว์
๔. พูดอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีในตน

กิจสี่อย่างนี้ท่านบอกว่าบรรพชิตทำไม่ได้ ต้องขาดจากความเป็นภิกษุ ต่อไปสิกขาบท ท่านบอกว่าสิกขาคือกิจที่บรรดาพระที่ต้องศึกษาจริงๆ เมื่อบวชเข้ามาแล้วมีอยู่ ๓ อย่าง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

กิจที่บรรดาพระที่ต้องศึกษา

ศีลก็หมายถึงว่า การสำรวมกายวาจาให้เรียบร้อย เรียกว่าศีล ก็ได้แก่สิกขาบทที่เรียกว่าวินัย ท่านจะต้องครบถ้วนทุกสิกขาบท จงอย่าคิดว่า อย่างนั้นเล็กน้อย อย่างนี้เล็กน้อยตามที่สอนกัน อย่างนี้ไม่เอา

ที่นี่ไม่ต้องการคนเลว ปลดเปลื้องความดีที่องค์สมเด็จพระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนนี่ ไม่เอาถ้าฝ่าฝืนเมื่อไร อย่าถือว่าเป็นลูกใครนะ เมื่อบวชเข้ามาแล้วในพระพุทธศาสนา พ่อแม่ไม่มีสิทธิ์ที่จะมาคัดค้าน ถ้าจะขับจะไล่จะลงโทษ เป็นเรื่องของระเบียบวินัย พ่อแม่ไม่มีส่วน

ข้อต่อไป ถ้าบอกว่ารักษาใจมั่นชื่อว่า สมาธิ คือทรงอารมณ์ละจากนิวรณ์ ๕ ประการให้จิตเป็นฌานอยู่เป็นปกติ

สำหรับ ปัญญา ท่านบอกว่า การรอบรู้ในขันธ์ ๕ คือการเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา อารมณ์เราไม่ติดอยู่ในกายเรา ไม่ติดอยู่ในกายอื่น ไม่ติดอยู่ในวัตถุทุกสิ่งทุกอย่างในโลกอันนี้ชื่อว่าเป็นปัญญา เป็นกิจที่พระจะต้องศึกษา พระจะต้องทำกันเป็นปกติ

นี่ข้อต่อไป ท่านกล่าวว่าโทษที่เกิดจากความละเมิดข้อที่พระพุทธเจ้าห้ามเรียกว่าอาบัติ อาบัติก็คือความชั่ว ท่านละเมิดเมื่อไรท่านก็ชั่วเมื่อนั้น สิกขาบทใดก็สิกขาบทนั้นๆ แหละ แต่ละสิกขาบทย่อมมีโทษสำหรับท่านอยู่เสมอ

อาบัตินั้นมีชื่ออยู่ ๗ อย่างคือ
ปาราชิก๑
สังฆาทิเสส๑
ถุลลัจจัย๑
ปาจิตตีย์๑
ปาฏิเทสนียะ๑
ทุกกฎ๑
ทุพภาษิต๑

แต่ละอย่างของสิกขาบท ก็เป็นโทษต้องลงนรกและเป็นเปรตเหมือนกัน คำอธิบายของท่านว่า ปาราชิกนั้น ภิกษุต้องเข้าแล้วต้องขาดจากความเป็นภิกษุ พ้นเลย บวชอีกใหม่ก็ไม่ขึ้น ก็เป็นปาราชิกแล้วไปบวชใหม่ก็ไม่เป็นพระ เข้าไปร่วมสังฆกรรมทุกอย่าง สังฆกรรมเขาเสียหมด การบวชพระก็ไม่เป็นพระ

สังฆาทิเสสนั้น ต้องเข้าแล้ว ต้องอยู่กรรมจึงจะพ้นได้ กรรมปริวาสกรรมก็อย่าอยู่ซะเลยดีกว่า ไม่ให้มันเป็นเสียเลย ปาราชิกเราก็ไม่เป็น สังฆาทิเสสเราก็ไม่เป็น ถ้าขืนเป็นจุดใดจุดหนึ่งก็หมายถึงต้องลงนรก

ท่านบอกอีกห้าอย่างนั้น เมื่อต้องเข้าแล้วแสดงต่อหน้าสงฆ์หรือคณะ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็พ้นได้

ข้ออ้างของการปลงอาบัติ

อันนี้ไม่จริง คำว่าพ้นนี่ไม่จริงเป็นแต่เพียงยับยั้ง ดูตัวอย่างบาลีที่แสดงอาบัติว่า
นะ ปุเนวัง กริสสามิ ข้าพเจ้าจะไม่ทำอย่างนี้อีก
นะปุเนวัง ภาสิสสามิ ข้าพเจ้าจะไม่พูดอย่างนี้อีก
นะ ปุเนวัง จินตยิสสามิ ข้าพเจ้าจะไม่คิดอย่างนี้อีก

และการที่พวกท่านทั้งหลายแสดงอาบัติแล้วทำใหม่หรือเปล่า ถ้าทำใหม่ก็เรียกว่ายังสร้างความเลวอยู่ ทีนี้ส่วนที่ทำไปแล้ว จะถือว่าแสดงพ้นมันก็ไม่ได้ ตัวอย่างที่ผมพูดไว้ว่า วันนี้เราขโมยของชาวบ้านเขา ถ้าวันพรุ่งนี้เราเห็นว่า การขโมยเป็นของไม่ดี มันมีโทษ แล้วก็เลิกเป็นคนขโมยเสีย

แต่ไอ้โทษที่เราขโมยแล้ววันนี้มันพ้นเงื้อมมือกฎหมายมั้ย ก็ยังต้องผิดตามตัวบทกฎหมายที่เขาวางไว้เพื่อลงโทษ เรื่องพระวินัยก็เหมือนกัน ทุกสิกขาบทที่บอกว่าแสดงแล้วก็พ้นนั้น ไม่ใช่แสดงแล้วพ้น เป็นการยับยั้งตัวเอง ที่ชั่วมันก็ชั่วแล้ว นรกเปิดคอยเราอยู่แล้ว ความเป็นเปรตก็เปิดคอยเราอยู่แล้ว ตามที่นิท้องนิทานตัวอย่างตามที่บอกมา

การต้องอาบัติของพระภิกษุ

การที่ภิกษุจะต้องอาบัติมี ๖ อย่างคือ
ต้องด้วยไม่ละอายหนึ่ง นี่หมายความว่ารู้แล้วว่าสิ่งนี้มันจะเป็นอาบัติ แต่เราหน้าด้านพอ ใจด้านพอไม่มีความละอายกล้าละเมิด

และก็ต้องด้วยไม่รู้ว่าสิ่งนี้เป็นอาบัติหนึ่ง ที่จงอย่าลืมว่าบวชเข้ามาหนึ่งนาที ท่านถือว่าต้องรู้พระวินัย เหมือนกับคนในประเทศทั้งหมดที่ไม่เคยเรียนกฎหมาย เขาก็ถือว่ารู้กฎหมาย ถ้าทำผิดก็มีโทษ หากว่าท่านจะบอกว่าผมไม่รู้เพราะเป็นอาบัติ อันนี้ให้อภัยไม่ได้

เพราะตามวินัยบังคับไว้แล้วว่าต้องเป็น ต้องถูกลงโทษ ถ้าขืนใช้แบบนี้อีก ก็จะถูกไล่ไปอย่างพระที่มาจากนครสวรรค์ มีลีลาอ้างว่าไม่รู้บ้าง อ้างว่าไม่มีบ้าง ทั้งๆ ที่เป็นคำสั่ง คนอื่นเขาไป เขาไปกันหมด แต่องค์นั้นมีลีลาหนัก ก็เลยต้องบังคับให้ไป

ต้องด้วยสงสัยแล้วขืนทำ ความจริงสิ่งนั้นอาจจะไม่เป็นอาบัติแต่ว่าสงสัย ว่านี่มันจะเป็นหรือไม่เป็น สมมติว่าของที่เราจะฉันต้องรับประเคนก่อน แต่ว่าบางทีเขาประเคนไปแล้ว ลืมไป พอลืมไปมาสงสัยนี่ประเคนแล้วหรือยัง ก็ไม่แน่ใจตัดสินใจประเคนแล้วหรือยังก็ช่าง ถ้าคนจะประเคนแล้วก็เลยฉัน อันนี้ก็เลยต้องอาบัติเพราะสงสัย

บอกว่าต้องด้วยสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควรหนึ่ง ในของที่ไม่ควรจะทำ ไม่ควรจะประพฤติ ไปทำเข้า อันนี้ต้องอาบัติ ถูกต้องแล้ว

ต้องด้วยสำคัญว่าไม่ควรในของที่ควรหนึ่ง แต่ความจริงของนี้ควรทำได้ ไม่ผิดระเบียบ ไม่ผิดวินัย ต่อสงสัยคิดว่าไม่ควรแต่ขืนทำ ก็เลยต้องสงสัยอันนี้ อีกประการหนึ่ง

ต้องด้วยลืมสติ คำว่าลืม คำว่าเผลอ ไม่มีในพระ ถ้าหากว่า ท่านมีจรณะ ๑๕ ครบถ้วน ท่านมีบารมี ๑๐ ครบถ้วน ท่านมีอิทธิบาทครบถ้วน ท่านมีพรหมวิหาร ๔ ครบถ้วน เรื่องอาบัติทั้งหลายทั้งหมดนี้มันจะมีได้ยังไง

ข้อว่าสีลสัมปทาเราถึงพร้อมด้วยศีล ก็หมายถึงว่า เรามีสิกขาบททุกสิกขาบทครบถ้วน และอะไรมันจะมีขาดเรื่องศีล ท่านว่าต่อไปว่า ข้อที่พระพุทธเจ้าห้ามจะยกขึ้นเป็นสิกขาบท ที่มาในพระปาติโมกข์หนึ่ง

ไม่ได้มาในพระปาติโมกข์หนึ่ง ที่มาในพระปาติโมกข์ก็ดูที่กำลังศึกษากันอยู่ ที่ไม่ได้มาในพระปาติโมกข์ ท่านเรียกว่า อภิสมาจาร เป็นข้อวัตรปฏิบัติที่เป็นการเกี่ยวกับจริยา และมรรยาท อันนั้นละเมิดเข้าก็เป็นอาบัติมีโทษเหมือนกัน

ประเภทของอาบัติ

สิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์คือ
ปาราชิก ๔
สังฆาทิเสส ๑๓
อนิยต ๒
นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐
ปาจิตตีย์ ๙๒
ปาฏิเทสนียะ ๔
เสขิยวัตร ๗๕ รวมเป็น ๒๒๐ นับทั้ง
อธิกรณสมถะ ๗ ด้วยเป็น ๒๒๗

สิกขาบท ปาราชิก


มาว่ากันถึงตัวสิกขาบท ปาราชิก แปลว่า ผู้พ่าย ใครต้องเข้าแล้วต้องขาดจากความเป็นภิกษุทันที ถึงแม้ว่าจะไปบวชใหม่ก็ไม่ชื่อว่าเป็นพระ แต่ท่านที่ต้องปาราชิกแล้วไปร่วมอุโบสถสังฆกรรม สังฆกรรมเขาก็เสีย ไปรับกฐิน สังฆกรรมในกฐินก็เสีย เข้าไปบวชพระ สังฆกรรมในการบวชพระก็เสีย ถ้าเข้าในอาคาร สังฆกรรมในอาคารก็เสีย

ข้อสำคัญ เข้าไปบวชพระ พระของเขาไม่เป็นพระ กลายเป็นเณรไป แล้วก็พระผู้นั้นไปกินกับพระ ไปนอนกับพระ อย่างนี้ลงนรกเป็นแถว บิดามารดาที่ลูกบวชเข้ามาก็ชื่อว่าลงทุนซื้อนรก เพราะว่าเข้าใจว่าลูกเป็นพระ ลูกเองก็เข้าใจตัวเองว่าเป็นพระ เพราะมีอุปัชฌาย์ มีคู่สวด มีพระอันดับ แต่บังเอิญมีพระที่ต้องอาบัติปาราชิกไปนั่งสักหนึ่งองค์ หรือว่ามีพระที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสเข้าไปนั่งหนึ่งองค์ อย่างนี้ซวย หมดดี

สำหรับปาราชิกท่านบอกว่ามี ๔ สิกขาบท คือ
๑.ภิกษุเสพเมถุน ต้องอาบัติปาราชิก คำว่าเสพเมถุนธรรม หมายการร่วมเพศระหว่างชายกับหญิง จะเป็นทวารเบาก็ดี เป็นทวารหนักก็ดี ทวารปากก็ดี ทั้งนี้รวมถึงสัตว์เดรัจฉานด้วย พอร่วมแล้วให้องค์อวัยวะล่วงล้ำองค์กำเหนิดเข้าไปเพียงแค่เมล็ดงาเดียว ก็ต้องเป็นอาบัติทันที

๒.ภิกษุถือเอาของที่เจ้าของไม่ให้ ราคาตั้งแต่ ๕ มาสกขึ้นไปต้องอาบัติปาราชิก ของที่เขาไม่ให้ ไม่ได้รับอนุญาต ถือว่าเป็นอาการแห่งขโมย จงอย่าใช้คำว่า วิสาสะ พระเราจะเลวแบบนั้นไม่ได้ ในเมื่อยังไม่ได้รับอนุญาตจะใช้คำว่าวิสาสะ เจ้าของจะยินดีนั้นไม่ได้ ผมไม่ให้อภัยในข้อนี้

เขามักจะสอนกัน ว่าถ้ารู้จักกันแล้วก็ถือวิสาสะในฐานะที่ชอบพอกัน อันนี้ไม่ใช้ เลวมาก เป็นอันว่าเจ้าของเขาไม่ให้ ของส่วนบุคคลก็ตาม เป็นของส่วนกลางก็ตาม ถ้าของส่วนกลางต้องรับอนุญาตจากผู้มีอำนาจบังคับบัญชาควบคุมก่อน ถ้าขืนไปทำเข้าต้องอาบัติตามนี้

๕ มาสกเท่ากับราคาหนึ่งสลึง แต่ผมว่าอย่าว่าแต่หนึ่งสลึงหรือครึ่งสตางค์ เอาว่าท่านมีเจตนาเป็นขโมย ศีลห้ามันไม่มีแล้ว แล้วศีล ๒๒๗ จะมีได้ยังไง ไม่ต้องมาตั้งราคา ๕ มาสก แม้แต่ขี้บุหรี่นิดหนึ่ง ถ้าทราบว่าท่านขโมย ผมก็จะขอท่านออกจากเขตของผ้ากาสาวพัตร์ทันที เพราะคนเลวๆ อย่างนี้ ไม่ควรจะอยู่ในขอบเขตของพระศาสนา

และเรื่องเกี่ยวกับของ เรื่องเกี่ยวกับการเงิน พระขาดจากความเป็นพระกันซะมาก ปาราชิกทุกสิกขาบท สิกขาบทที่สำคัญที่สุดก็เรื่องเกี่ยวกับการเงิน แต่ของที่เขาไม่ให้นี่ สิกขาบทที่สอง พลาดกันมามาก เรื่องข้อที่หนึ่งเกี่ยวกับคน

๓.เกี่ยวกับการฆ่าคน ข้อที่สี่เกี่ยวกับการโอ้อวด อันนี้ทำยาก ละเมิดยากเพราะเกรงว่าเขาจะไม่เชื่อ เพราะเขาไม่เชื่อไปทำเข้าก็เดือดร้อน อันนี้มาสิกขาบทข้อที่สาม ภิกษุแกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตายต้องปาราชิก ข้อนี้ต้องมีเจตนาเป็นการกลั่นแกล้ง ทำให้เขาต้องตายไป

ถ้าไม่มีเจตนา สมมุติว่าข้าศึกเข้ามา บังเอิญพระท่านมีปืน ปืนนี้ถ้าถือว่า ถือว่าเป็นอนามาส ยังไม่ถือว่าปรับอาบัติแน่นอน อนามาส แปลว่า ไม่ควรจับ ถ้าความจำเป็นมันเกิดขึ้น ใครเขาเอาปืนมาวางไว้ ข้าศึกหรือผู้ร้ายจะเข้ามาฆ่าท่าน ท่านหยิบขึ้นมายิง ตั้งใจจะยับยั้ง ตั้งใจจะยิงขา ยิงแขน ยิงขู่ ไม่มีเจตนาจะฆ่าให้ตาย บังเอิญไปถูกตายเข้า ไม่ต้องอาบัติปาราชิก อันนี้ผมขอว่าไว้สั้น ๆ นี่

สำหรับสิกขาบท ๔. การอวดอุตริมนุสธรรม คือธรรมอันยิ่งที่ไม่มีในตนต้องอาบัติปาราชิก หมายความว่าเราไม่ได้ฌาน เข้าใจว่าได้ฌาน เราไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า คิดว่าเป็นพระอริยเจ้า หรือไม่ได้เป็น ไม่ได้คิด อวดเขา คิดว่าการอวดนี่มันจะมีลาภ สักการะมาก เขาจะได้มีความเคารพนับถือมาก บวชด้วยเจตนาอย่างนี้ ท่านบอกว่าเป็นอาบัติปาราชิก

สิกขาบท สังฆาทิเสส


คราวนี้มาสังฆาทิเสส ๑๓ สังฆาทิเสสต้องเข้าแล้วต้องอยู่ปริวาสกรรมจึงจะพ้น ผมขอร้องว่าทุกท่านอย่าเป็นมันเลยอาบัติ ถ้าขืนพร้อมที่จะเป็นอาบัติก็แสดงว่าท่านไม่ใช่พระ พระ แปลว่า ผู้ประเสริฐ นะขอรับ จรณะ ๑๕ เรามีครบ เราจะไปกลัวอะไรเรื่องอาบัติ

สีลสัมปทา เราถึงพร้อมด้วยศีล สิกขาบททุกสิกขาบทปฏิบัติให้ครบ มันก็ไม่มีอาบัติ บารมี ๑๐ ถ้าเรามีไว้ครบ อาบัติมันก็ไม่มี และก็สังโยชน์ ๑๐ ขอโทษไม่ใช่สังโยชน์ พรหมวิหาร ๔ ถ้าเรามี อาบัติมันก็ไม่มี อิทธิบาท ๔ ถ้ามีครบ ไม่มีอะไรเป็นเครื่องหนักใจ คำว่าหนักไม่มี สำหรับ

สังฆาทิเสสนี้มี ๑๓ ข้อท่านว่าไว้อย่างนี้ คือ
๑. ภิกษุแกล้งทำน้ำอสุจิให้เคลื่อน ต้องสังฆาทิเสส ต้องมีเจตนาแกล้งให้มันเคลื่อน ถ้าไม่มีเจตนาแกล้งให้มันเคลื่อน มันเสียดสีกับผ้า เคลื่อนเอง อันนี้เป็นเรื่องของมัน

๒. ภิกษุมีความกำหนัดอยู่จับต้องกายหญิง ต้องสังฆาทิเสส นี่หมายความว่าต้องมีความกำหนัดอยู่ ถ้าไม่มีความกำหนัดอยู่ ไปชนกันเข้า จับโดยไม่มีความตั้งใจ ไม่มีความกำหนัด ไม่ต้องอาบัติสิกขาบทนี้ ทั้งนี้ก็ต้องคิดว่า ถ้าบังเอิญอยู่คนเดียว มีสตรีบางคนจะถึงกับตายชักดิ้นชักงอ มีอันตราย ถ้าไม่ช่วยจะตาย จำเป็นจะต้องจับก็จับได้ แต่ว่าอย่ามีจิตกำหนัดก็แล้วกัน ถ้าหากว่าไม่จำเป็นก็ไม่ควรทำอย่างนั้น เพราะโลกเขาจะติเตียน

๓. ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ พูดเกี้ยวหญิง ต้องสังฆาทิเสส รักอยากจะให้เขารัก พูดเกี้ยว ยกมือทำท่าเกี้ยว เขียนจดหมายเกี้ยว แสดงนิมิตเกี้ยว มีโทษเท่ากัน ไม่มีทางหลีกเลี่ยง เป็นอาบัติเหมือนกัน

๔. ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ พูดล่อหญิงบำเรอตนด้วยกาม ต้องสังฆาทิเสส นี่ยังไม่บำเรอนะ พูดล่อให้บำเรอ ต้องสังฆาทิเสส นี่ขอฉันจับนิดซิ ฉันประคองหน่อยซิ อะไรก็ตาม ตามลีลาของฆราวาส พูดให้เขาบำเรอ แต่ยังไม่ถึงกับบำเรอ แค่พูดเอาเข้าแล้ว

๕. ภิกษุชักชวนให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน ต้องสังฆาทิเสส คนที่เขายังไม่ได้เป็นสามีเป็นภรรยากัน ถ้าเราไปทำอย่างนั้น เป็นการชักสื่อต้องสังฆาทิเสส แต่ถ้าสามีภรรยาเขาแตกร้าวกัน เขาแตกร้าวกัน ไปช่วยพูดให้เขาดีกัน กลับคืนมาสู่อ้อมอกซึ่งกันและกัน อย่างนี้ถือว่าเป็นเมตตา ไม่ต้องสังฆาทิเสส ตามสิกขาบทนี้

๖. ภิกษุสร้างกุฏิที่ต้องก่อและโบกด้วยปูนและดิน ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ จำจะต้อง จำเพาะเป็นที่อยู่ของตน ต้องทำโดยประมาณ คือ โดยยาวเพียง ๑๒ คืบพระสุคต กว้างเพียงแค่ ๗ คืบ ยาว ๑๒ ศอก กว้าง ๗ ศอก วัดในรูปใน และต้องให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน ถ้าไม่สงฆ์แสดงที่ให้ก็ดี ทำให้เกินประมาณก็ดี ต้องสังฆาทิเสส นี่หมายความว่าเป็นที่อยู่เฉพาะ ไม่เหมือนกับที่พวกเราทำกัน ที่พวกเราทำกันนี่ทำเป็นส่วนสาธารณประโยชน์ ไม่ต้องโดนสิกขาบทนี้

๗. ถ้าที่อยู่ซึ่งจะสร้างนั้นมีทายกเป็นเจ้าของ ทำให้เกินประมาณนั้นได้ และทายกอนุญาต แต่ต้องให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน ถ้าสงฆ์ไม่แสดงที่ให้ก่อน ต้องสังฆาทิเสส หมายความว่าสงฆ์รับรอง ถ้าขึ้นสังกัดกันเอง ในการแสดงที่นะ อันนี้ก็ไม่มีอะไรมาก

๘. ภิกษุผูกโกรธ แกล้งโจทก์ภิกษุอื่น ด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล ต้องสังฆาทิเสส นี่พวกเราๆ ก็เคยโดนกันมาแล้วนะ ระมัดระวังให้ดี จะไปพูดพล่อย ๆ ถ้าสงสัยอย่าเพิ่งพูด ต้องจับให้มั่นคั้นให้ตาย ให้มันแน่นอน แล้วจึงค่อยพูด การโจทก์ลอย ๆ การบอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุอื่นแก่ฆราวาส ต้องเป็นอาบัติ ระวังให้ดี

๙. ภิกษุโกรธเคือง แกล้งหาเรื่องโกรธภิกษุอื่น ต้องอาบัติปาราชิก ต้องสังฆาทิเสส นี่เขาไม่ได้เป็นอาบัติ เขาแกล้งหาเรื่อง เขาจะได้มีโทษตามนั้น แทนที่เขาจะมีโทษ แทนที่เขาจะเสียชื่อเสียง เราเองกลับมีโทษ

๑๐. ภิกษุพากเพียรเพื่อทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรม คือแนะนำประชุมพร้อมกัน ให้ละข้อประพฤตินั้น ถ้าไม่ละต้องสังฆาทิเสส นี่หมายความว่ายุให้เขาแตกกัน ยุให้รำ ตำให้รั่ว ก็พอเข้าใจนะ

๑๑. ภิกษุประพฤติตามภิกษุผู้ทำลายสงฆ์นั้น ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤตินั้น ถ้าไม่ละต้องสังฆาทิเสส นี่ตามเขา ก็ไม่มีอะไรมาก ผมอธิบายก็เสียเวลาเปล่า ๆ

๑๒. ภิกษุว่ายากสอนยาก ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤตินั้น ถ้าไม่ละต้องสังฆาทิเสส ก็ไม่ยากนะ

๑๓. ภิกษุประทุษร้ายตระกูล คือประจบคฤหัสถ์ การประจบคฤหัสถ์ ถือว่าทำลายตระกูล ประทุษร้ายตระกูลของพระพุทธเจ้า สงฆ์ขับไล่เสียจากวัด กลับว่าติเตียนสงฆ์ ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรมเพื่อให้ละข้อประพฤตินั้น ถ้าไม่ละต้องสังฆาทิเสส คำว่าสวดกรรม หมายถึงว่า ประชุมพร้อมเพรียงกันแล้วชี้แจงให้ทราบ

นี่สำหรับบรรดาพระสงฆ์ทั้งหลาย จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องรักษาสิกขาบททุกสิกขาบทอยู่ในวงแคบ ขอได้โปรดอย่าหาทางหลีก อย่าหาทางเลี่ยง อย่างที่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายมักจะชอบสอนกัน ว่าทำอย่างนั้นพ้น ทำอย่างนี้พ้น ทำอย่างนี้ไม่มีโทษ ทำอย่างนั้นไม่มีโทษ

ถ้ามีอารมณ์จิตอย่างนั้นละก็ มานั่งบวชเป็นพระทำไม เป็นฆราวาสดีกว่า สำหรับวันนี้การแนะนำในเรื่องพระวินัย ขอยุติเพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดี จงมีแก่บรรดาเพื่อนสหธรรมิกทั้งหลาย
สวัสดี


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 9/4/11 at 09:56

5

โทษละเมิดพระวินัย แผ่นที่ ๓ ตอนที่ ๑


บรรดาเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งหลาย วันนี้จะมาขอพูดกันเรื่องพระวินัยต่อ สำหรับพระวินัยนี้ ขอบรรดาท่านทั้งหลายจงสนใจเป็นกรณีพิเศษ คำหลีกเลี่ยงใด ๆ สำหรับพระวินัย จงอย่ามีแก่บรรดาภิกษุสามเณรทั้งหลาย และขอท่านทั้งหลายนึกไว้เสมอว่า

นึกให้ขึ้นใจนะขอรับ นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คเหตวา ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ข้าพเจ้าขอรับผ้ากาสาวพัตร์เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน นี่การที่เราจะทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานได้ต้องอาศัย

๑. มีจรณะ ๑๕ คือมีความประพฤติในจรณะ ๑๕ ครบถ้วน คำว่าครบถ้วน ก็มีข้อสำคัญอยู่ ๔ ข้อคือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน หรับฌานสี่ฌานนี้ จะมีกำลังถึงเข้าฌานและแค่อุปจารสมาธิก็ได้ แต่ว่าให้สนใจในเรื่องของสมาธิ

๒. ขอบรรดาท่านทั้งหลายจงใคร่ครวญกำลังใจของท่าน ในด้านบารมี ๑๐ ประการ ให้ครบถ้วน ถ้ากำลังใจตกลงไป จงใช้อิทธิบาท ๔ เข้าบังคับจิตของท่าน และพยายามปกติ

ขอทุกท่านจงเป็นผู้มีอารมณ์จิตประกอบด้วยพรหมวิหาร ๔ ครบถ้วน ละอคติ ๔ ครบถ้วน พยายามระงับนิวรณ์ อย่าให้เป็นเจ้าหัวใจของท่าน เพราะว่า ถ้านิวรณ์ขึ้นมาเป็นเจ้าหัวใจ มีกำลังท่วมทับใจเพียงใด

การบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา ที่เรียกกันว่า เนกขัมมบารมี ก็ไม่มีประโยชน์ กลายเป็นหลอกลวงโลกเกินไป นี่เป็นบทหัวข้อที่เตือนใจบรรดาเพื่อนพระภิกษุสามเณรทั้งหลาย ให้ร่วมกันประพฤติ ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เพราะว่าในฐานะที่เราเป็นปูชนียบุคคล ถ้าพลาดพลั้งสิกขาบทใดสิกขาบทหนึ่งไปแล้ว

ตัวอย่างก็จะเป็น เช่นท่านกบิลภิกขุ หรือว่าสุวรรณมัจฉาปลาทอง ขอได้โปรดระมัดระวังให้มาก วินัยทุกข้ออย่าให้บกพร่อง ศีล จริยาในจรณะ ๑๕ ข้อที่ ๑ สีลสัมปทา จงเป็นผู้มีความพร้อมในศีล คือมีศีลสมบูรณ์ ได้แก่ ปฏิบัติวินัยทุกข้อครบถ้วนบริบูรณ์นั่นเอง

อาบัติอนิยต



สำหรับวันนี้ก็จะขอขึ้นอนิยต อนิยต มี 2 อย่าง คำว่า ยต นี่แปลว่าไม่แน่นอน ในสิกขาบทสองอย่างมีอย่างนี้คือ

สิกขาบทที่ ๑ ภิกษุนั่งในที่ลับกับหญิง สองต่อสอง ถ้ามีคนที่ควรเชื่อได้มาพูดขึ้นด้วยคำสามอย่าง คือ ปาราชิกหนึ่ง สังฆาทิเสสหนึ่ง หรือปาจิตตีย์หนึ่ง อย่างใดอย่างหนึ่ง ภิกษุรับอย่างใดให้ปรับอย่างนั้น หรือว่า เขาว่าอย่างใดให้ปรับอย่างนั้น

นี่เป็นอันว่าท่านนั่งร่วมกับผู้หญิงโดยเฉพาะ ไม่มีผู้ชายเจือปนอยู่ด้วย นั่งอยู่ที่ไหน นั่งในที่ลับตา ๆ หมายถึง เป็นที่มุง ที่บัง ที่คนเขาไม่เห็น จะคุยกันว่าอย่างไง จะทำกันว่ายังไง เอามาสอบสวนกัน ถ้าพระผู้นั้นรับอย่างไร ให้ปรับอย่างนั้น หรือว่าคนที่เขาเห็นเขาว่ายังไง ให้ปรับยังนั้น

ผมว่าสิกขาบทนี้ สมัยนี้รู้สึกว่าจะยาก จะยากที่จะให้พระรับตรง ๆ ว่าตัวทำความผิดอะไรบ้าง ในเรื่องของปาราชิก หรือว่า สังฆาทิเสส ปาจิตตีย์ ยากอยู่สักหน่อย และคนที่มาฟ้องก็เหมือนกัน ฟ้องว่าอย่างไรให้ปรับว่าอย่างนั้น คนที่มาฟ้องท่านว่ายังไง ให้ปรับอย่างนั้นนี้ ท่านถือว่าเป็นบุคคลที่ควรเชื่อถือได้
บุคคลที่ควรเชื่อถือได้ในที่นี้ หมายถึงว่า ตั้งแต่บุคคลผู้ทรงความดีตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป เป็นอันว่าสิกขาบทนี้มีความล่อแหลมมาก ขอบรรดาเพื่อนพระภิกษุสามเณรทั้งหลายจงอย่าทำเสียเลยดีกว่า เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็เป็นโลกวัชชะ โลกติเตียน ถ้าชาวบ้านเขาติเตียน เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นแหละ เราอดข้าวก็ตายแน่ จงอย่าทำเลย

สิกขาบทที่ ๒ ภิกษุนั่งในที่ลับหูกับผู้หญิงสองต่อสอง ถ้ามีคนที่ควรเชื่อได้มาพูดขึ้นด้วยคำสองอย่าง คือ สังฆาทิเสส หรือ ปาจิตตีย์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ภิกษุรับอย่างใดให้ปรับอย่างนั้น หรือว่าเขาว่าเฉพาะอย่างใดให้ปรับอย่างนั้น นี่ก็ทำนองเดียวกัน คำว่าลับหู ก็แสดงว่านั่งในที่แจ้ง มองเห็นแต่ว่าเวลาคุยกัน คนอื่นไม่ได้ยิน

เรื่องของโลกวัชชะ


เป็นอันว่าสิกขาบทสองสิกขาบทนี่งดซะเลยนะขอรับ เพราะมันเป็นโทษโลกวัชชะ ชาวโลกติเตียน เรื่องของโลกติเตียนนี่ เป็นเรื่องร้ายแรงมาก อย่างภิกษุฉันข้าวในเวลาวิกาล ถ้าว่ากันถึงอาบัติก็เป็นปาจิตตีย์ แต่ว่าโทษที่เคยมีมาแล้ว ก็เคยถูกจับสึก ออกจากเขตพระพุทธศาสนา

ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าชาวบ้านเห็นพระกินข้าวนอกเวลา หลังเวลาวิกาลไปแล้ว หลังกาลที่พระพุทธเจ้าอนุญาตไปแล้ว เขาก็ถือว่าไม่ใช่พระ เรื่องนี้ขอบรรดาพระภิกษุสามเณรทุกท่านโปรดระมัดระวัง เป็นอันว่าสิกขาบททุกสิกขาบท ทำให้ครบดีกว่า จึงจะชื่อว่าเป็นผู้มีสีลสัมปทา

ในจรณะ ๑๕ ข้อที่ ๑ เพราะว่า จรณะ ๑๕ เราจำต้องปฏิบัติครบอยู่แล้ว บารมี ๑๐ เราก็ต้องครบ และก็พรหมวิหาร ๔ เราครบ อคติ ๔ เราครบ อิทธิบาท ๔ เราครบ เมื่อครบทุกย่างแล้ว ก็ขึ้นชื่อว่าความผิดใด ๆ มันก็ไม่มี ในขอบเขตของพระพุทธศาสนา ถ้าท่านปฏิบัติได้อย่างนี้ ถ้าบวชเข้ามาวันหนึ่งสองวัน สามวัน ก็มีประโยชน์ ดีกว่าท่านที่บวชมาตั้งร้อยปี แต่มีสิ่งห้าหกประการนี้ไม่ครบ

อาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์



ต่อไปนี้ก็จะกล่าวถึง อาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์ มี ๓๐ สิกขาบท ท่านแบ่งเป็น ๓ วรรค วรรคละ ๑๐ สิกขาบท

วรรคที่หนึ่ง จีวรวรรค ว่าด้วยจีวร

สิกขาบทที่ ๑ ภิกษุสงฆ์จะอดิเรกจีวรได้เพียง ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง ถ้าล่วง ๑๐ วันไปต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์

คำว่าดิเรกจีวร หมายความว่า จีวรเกินจากผ้าไตรที่ทรงอนุญาตไว้ ผ้าไตรก็คือ มีสบงหนึ่ง จีวรหนึ่ง สังฆาฏิหนึ่ง อังสะหนึ่ง รัตประคตเอวหนึ่ง นี่เป็นผ้าไตร ถ้าผ้าผืนใดเกินจากผ้าสามผืนเข้ามานี่ ถือว่าเป็นอดิเรกจีวร อดิเรก แปลว่าผ้าเกิน และแปลว่า เกิน

ถ้าเกินมาอย่างนี้ ท่านให้ทำเป็นของเสีย และเป็นของสงฆ์...สละเจ้าของเสีย แต่สมัยนี้เขาอธิษฐานเป็นผ้าโจร หรือเป็นผ้าจร โจระนี่เป็นผ้าจรเข้ามา มีสิทธิที่จะใช้ได้ แต่ว่าอย่าให้เกิน ๑๐ วันขึ้นไป ต้องรีบทำเสียให้ถูกต้องตามระบบของพระธรรมวินัย

สิกขาบทที่ ๒ ท่านกล่าวว่าภิกษุอยู่ปราศจากผ้าไตรจีวร แม้คืนหนึ่ง ต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์

คำว่านิสสัคคีย์เป็นของเสียให้ทิ้งไป ปาจิตตีนีย์นี่จิตเป็นบาป อย่างกับท่านสุวรรณมัจฉาปลาทอง หรือท่านกบิลภิกขุ ท่านก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์เหมือนกันนะขอรับ ท่านลงอเวจีมหานรก ในการไม่เคารพในพระธรรมวินัย ดูตัวอย่างบรรดาเปรตทั้งหลาย ที่เป็นเปรตบรรพชิต ภิกษุ ภิกษุณี เป็นสำคัญ เป็นอันว่าอาบัติทุกอย่าง ขอทุกท่านจงอย่าละเมิดเลย

คำว่าปราศจากไตรจีวร ก็หมายความว่า เวลาใกล้รุ่ง ผ้าไตรที่เรารักษา เป็นผ้าครอง จะต้องอยู่ใกล้ตัวเสมอ อยู่ห่างไม่เกินหนึ่งศอก ถ้าอยู่ห้องหนึ่ง อยู่คนเดียว ตัวอยู่ในห้อง ผ้าอยู่ในห้องนั่นได้ เกินหนึ่งศอกก็ได้ เป็นห้องที่มีเราอยู่เฉพาะบุคคลเดียว ถ้าหากว่าห้องอยู่หลายคน ก็กั้นเขตกันเสีย ของท่านแค่นั้น เขตของผมแค่นี้

ถ้าผ้าไตรจีวรอยู่กับเราจนกว่าถึงรุ่งอรุณ อยู่ในเขตของเรา อย่างนี้ไม่ถือว่า อยู่ปราศจากผ้าไตรจีวร แต่สิกขาบทนี้ ผมคิดว่าเราไม่ประมาทดีกว่า เอาไว้ซะหัวนอนเลยหมดเรื่องหมดราวกัน เวลาก่อนจะนอน เราก็ไม่ได้นุ่งได้ห่มผ้าชุดนี้ ต้องระมัดระวัง เอาไว้ใกล้ๆ ตัว นั่นแหละเป็นการดี

สิกขาบทที่ ๓ ถ้าผ้าเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ภิกษุประสงค์จะทำจีวร แต่ก็ยังไม่พอ ผ้ามีที่หวังที่จะทำ ที่จะได้มาอีก คือเก็บผ้านั่นไว้ได้เพียงเดือนหนึ่งเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเก็บไว้เกินหนึ่งเดือนขึ้นไป ถึงแม้ว่ายังมีหวังว่าจะได้อยู่ ก็ต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์

ข้อนี้หมายถึงสมัยโบราณ ท่านต้องเก็บผ้าทีละเล็ก ทีละน้อย เอามาไว้สำหรับที่จะประติดประต่อทำจีวร ทว่าผมว่าสมัยนี้ก็ไม่ต้องวินิจฉัยดีกว่า เพราะว่าผ้าเราเหลือเฝือ ชาวบ้านเขาถวายให้เหลือเฝือ ก็ไม่ต้องวินิจฉัย ขอผ่านไป พูดไปเพื่อรู้ ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเวลานี้ไม่จำเป็นแล้ว

สิกขาบทที่ ๔ ภิกษุใช้นางภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ให้ซักก็ดี ให้ย้อมก็ดี ให้ทุบก็ดี ซึ่งจีวรเก่า ต้องนิสสัคคียปาจิตตีย์

ข้อนี้ภิกษุณีไม่มี ก็เลยยกล้อกันไป ก็ควรจะสงเคราะห์เขาในด้านชี หรือว่าบรรดาผู้หญิงด้วยดีกว่า ถ้าไม่ควรใช้นางภิกษุณี ก็เลยไม่ควรใช้ผู้หญิง และบรรดาชีทั้งหลายที่เข้ามาอยู่ในสำนัก ถ้าไปใช้เข้า เรื่องมันจะเกิด การครหานินทาจะมีขึ้น โทษทางโลกมีความสำคัญ คือเราจะอดข้าวกัน

สิกขาบทที่ ๕ ภิกษุรับจีวรจากมือของนางภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ เว้นไว้แต่แลกเปลี่ยนกัน ต้องนิสสัคคียปาจิตตีย์

อันนี้ผมไม่ขออธิบาย ว่านางภิกษุณีไม่มี เวลานี้ถ้าปรากฏใครประกาศว่ามีนางภิกษุณี นั่นหมายความว่าปลอมขึ้นมาเสียแล้ว เพราะว่านางภิกษุณี ถ้าจะบวชต้องบวชในสำนักของนางภิกษุณีก่อน หลังจากนั้น จึงมาญัตติกรรมในสำนักของพระภิกษุสงฆ์ใหม่

เวลานี้นางภิกษุณีผู้เป็นต้นกำเนิด ให้เกิดความเป็นนางภิกษุณีขึ้นมา ไม่มี ถ้าหากว่ามีใครประกาศว่ามีนางภิกษุณีที่ไหน ท่านทั้งหลายโปรดทราบว่านั่นเขาปลอมหากินเสียแล้ว ไม่เป็นเรื่อง

สิกขาบทที่ ๖ ภิกษุขอจีวรต่อคฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ผู้ปวารณา ได้มาต้องอาบัติตินิสสัคคียปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่สมัยที่จะขอได้คือ เวลาที่ภิกษุมีจีวรอันโจรลักไป หรือว่ามีจีวรอันฉิบหายเสีย

นี่คำว่าญาติท่านหมายอย่างนี้ นับตั้งแต่ตัวเราขึ้นไปเบื้องบน คือ เรา พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด และก็เรา ชั้นลูก ชั้นหลาน ชั้นเหลน ในระดับนี้ถ้าเรียกกันว่าญาติ เราขอได้ และการขอญาติ ต้องขอตามที่สมควรนะขอรับ อย่าจู้จี้จุกจิกเขามากเกินไป อยากได้โน่น อยากได้นี่ อยากได้ไม่มีที่สิ้นสุด อย่างนี้มันเป็นการทำลายศรัทธาแก่บรรดาพุทธบริษัท ไม่สมควรกระทำ

ท่านบอกว่า เว้นไว้แต่ว่าเป็นสมัยที่จีวรถูกโจรลักไป คำว่า จีวร ขอได้โปรดทราบ ท่านถือว่าผ้าตั้งแต่กว้างหนึ่งคืบยาวหนึ่งคืบขึ้นไป เรียกว่า จีวร จะเป็นจีวรก็ตาม จะเป็นสบงก็ตาม จะเป็นผ้าสังฆาฏิก็ตาม จะเป็นอังสะก็ตาม ในพระวินัยท่านเรียกว่า จีวร เสมอ เราจะขอได้เฉพาะท่านที่เป็นญาติ หรือว่าเขาไม่ใช่ญาติ แต่ปวารณาว่า แสดงเจตนาว่า ถ้าขัดข้องอะไรก็ขอได้นะขอรับ อย่างนี้ก็ควรจะขอได้

เฉพาะในสิ่งที่มันมีความจำเป็น คือผ้ามันถูกขโมยไป ก็ไม่มีจะใช้จริงๆ หรือว่าผ้ามันขาด มันวิ่นไปซะหมดแล้ว ไม่มีจะใช้จริงๆ อย่าขอจุกจิกนะขอรับ อย่าลืมนะว่าถ้าไม่ใช่ญาติ ไม่ได้ปวารณา มันก็เคยมีตัวอย่างมาแล้วเหมือนกัน เห็นชาวบ้านเขาใจดี บอกว่าอยากได้โน่น อยากได้นี่

พระประเภทอยาก ๆ นี่ ก็เห็นจะเป็นเช่นเดียวกับท่านสุวรรณมัจฉา หรือว่าท่านกบิลภิกขุ หรือว่าบรรดาเปรตพระทั้งหลายเหล่านั้น ตกนรกมาแล้วก็ไปเกิดเป็นเปรต จงอย่ามีความอยากเสียเลย ถ้ามันจำเป็นจริงๆ บอกเขาได้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นจริงๆ สมมุติว่ามีผ้าอย่างนี้ เราไม่ชอบใจ เนื้อมันหยาบ ขอผ้าเขาใหม่ ให้เนื้อละเอียดกว่านี้ อย่างนี้จงอย่าใช้นะขอรับ

สิกขาบทที่ ๗ ในสมัยเช่นนั้น หรือว่าในสมัยที่ผ้ามีจีวรโจรลักไปก็ดี หรือว่ามันขาดเสียหมดก็ดี จะขอเขาได้ก็เพียงผ้านุ่งหรือผ้าห่มเท่านั้น ถ้าขอเกินไปกว่านั้นได้มา ต้องนิสสัคคียปาจิตตีย์ นิสสัคคียได้มา ต้องเสียสละโยนทิ้งไป อย่าลืมนะขอรับ อย่าทำเลย เราเป็นพระ มีความมักน้อย สันโดษดีกว่า

สิกขาบทที่ ๘ คฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ไม่ได้ปวารณา เขาพูดว่า เราจะถวายจีวรแด่ภิกษุชื่อนี้ ภิกษุนั้นทราบความแล้ว เข้าไปพูดให้เขาถวายจีวรอย่างนั้นอย่างนี้ ที่มีราคาแพงกว่า ดีกว่าที่เขากำหนดไว้เดิม ได้มา ต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์

อย่างนี้เป็นจิตละโมบ มีความโลภเกิดขึ้น เป็นการทำลายบรรดาศรัทธาของพุทธบริษัท อย่างนี้ก็ต้องลงนรกสบาย เพราะอะไร เพราะว่าไม่ควรอยู่ในขอบเขตของพระพุทธศาสนา พระบวชเข้ามา ตัดโลภะ ความโลภ ตัดราคะ ความรักในระหว่างเพศ ตัดโทสะ ความโกรธ ตัดโมหะ ความหลง การกระทำอย่างนี้ก็แสดงว่า ต้องการจะได้ของที่ดีที่สวยสดงดงาม

เวลาเราจะครองจีวรนี่ พระพุทธเจ้าให้พิจารณาว่า เราจะห่มเพื่อเป็นการป้องกันความอาย กันความหนาว กันความร้อน ไม่ต้องการความสวยสดงดงาม เนื้อผ้าจะดีหรือไม่ดี ไม่มีความสำคัญ มันจะขาดบ้าง ก็ไม่สำคัญ มันมีความสำคัญอยู่อย่างเดียว คือความมักน้อยของจิต ผ้าแบบไหนก็ได้ อย่าไปทำให้มันยุ่งนะขอรับ

ถ้าทำอย่างนี้ ของนั้นก็ใช้ไม่ได้ต้องทุบทิ้ง ก็โยนทิ้งไป ตัวก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ จิตเป็นบาป คำว่าปาจิตตีย์ จิตเป็นบาป ต้องไปลงอยู่กับท่านกบิลภิกขุ หรือว่าท่านบุคคลตัวอย่าง ชื่อว่า เปรตภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี สิกขมานา พวกนั้นแหละ พระนี้เราลงนรกง่ายนะขอรับ อย่าทำเลย

สิกขาบทที่ ๙ คฤหัสถ์ผู้จะถวายจีวรแก่ภิกษุมีหลายคน แต่เขาไม่ใช่ญาติ ไม่ได้ปวารณา ภิกษุไปพูดให้เขา รวมพลกันเข้าเป็นอันเดียวกัน ให้ซื้อจีวรที่แพงกว่า ดีกว่า ที่กำหนดไว้เดิม ได้มา ต้องนิสสัคคียปาจิตตีย์

นี่ก็เป็นอารมณ์จิตเลว ต้องการความสวยสดงดงาม ต้องการผ้าดี อย่างนี้ผมไม่อธิบาย ถ้าอย่างนี้จิตใจก็ประกอบไปด้วยความโลภ ติดอยู่ในราคะจริต จิตรักสวยรักงาม โลภะ ความโลภ เกิดขึ้นในจิต ก็ลงอเวจีมหานรก สิกขาบทชัดอยู่แล้ว

สิกขาบทที่ ๑๐ ท่านกล่าวว่า ใคร ๆ นำทรัพย์มาเพื่อค่าจีวร แล้วถามภิกษุว่า ใครเป็นไวยาวัจกรของเธอ ถ้าภิกษุต้องการจีวร ก็พึงแสดง คนวัด หรือว่าอุบาสกคนใดคนหนึ่ง ว่าผู้นี้เป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย คำว่า ไวยาวัจกร นี่ เป็นผู้ขวนขวายทำกิจของสงฆ์ ช่วยงานสงฆ์นั่นเอง

ครั้นเขามอบหมายไวยาวัจกรแล้ว สั่งภิกษุว่า ถ้าต้องการจีวร ให้เข้าไปหาไวยาวัจกร ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาแล้ว ทวงว่า เราต้องการจีวร อย่างนี้สามครั้ง ถ้าไม่ได้จีวร ยืนแต่พอเขาเห็นหกครั้ง ถ้าไม่ได้ขืนไปทวงคืนเกินสามครั้ง ยืนเกินหกครั้งได้มา ต้องนิสสัคคียปาจิตตีย์

ถ้าไปทวงและไปยืนครบกำหนดแล้ว ไม่ได้จีวร จำจะต้องไปบอกเจ้าของเดิมเขาว่า ของนั้นไม่สำเร็จประโยชน์แก่ตน ขอให้เขาเรียกเจ้าของ เอาของเขาคืนไปเสีย สำหรับสิกขาบทนี้ก็ชัดเจนจริง ๆ ท่านบอกไว้ชัดหมด ก็เห็นไม่ต้องอธิบายกัน

ผมว่าอย่างนี้ดีกว่า ถ้าเขาถามว่าใครเป็นไวยาวัจกรของท่าน เวลาที่เราจะบอกเขาต้องเป็นคนที่เราไว้วางใจจริง ๆ การไปทวงเกินสามครั้ง ยืนเกินหกครั้ง ผมว่าไปทวงเพียงครั้งเดียวแหละ ถ้าหากว่าคนนั้นเขาเป็นคนดีจริงๆ เขาก็ให้แล้ว ถ้าเป็นใจผมนะ ผมไม่ทวงเลย เพราะว่าตามพระวินัย ท่านบอกว่า ทวงสามครั้ง ยืนให้เขาเห็นหกครั้ง

ถ้าแค่ทวงถึงสามครั้ง เขายังไม่ให้ ผมต่อให้ไปยืนอีกสักห้าร้อยครั้ง มันก็ไม่ให้ เพราะนิสัยคนเลวประเภทนั้น ถ้าไปทวงและยืนให้เห็นเกินกว่านั้นเป็นนิสสัคคียปาจิตตีย์ เป็นอันว่าข้อนิสสัคคียปาจิตตีย์นี่ของเป็นโทษ ต้องทิ้งไป ถ้าละเมิด จิตเป็นบาป ลงนรกนะขอรับ เขาบอกว่าอาบัตินี่แสดงตก แสดงทีไรตกนรกทุกที

วรรคที่สอง โกสิยวรรค ว่าด้วยเรื่องสันถัต(ที่รองนั่ง)

นี่มาในวรรคที่สอง เหลือเวลาอีกสี่นาที่ ได้กี่สิกขาบทก็ตาม เพื่อรักษาเวลาไว้ มีท่านเรียกว่า โกสิยวรรค

สิกขาบทที่ ๑ ภิกษุหล่อสันถัตด้วยขนเจียมเจือด้วยไหม ต้องนิสสัคคียปาจิตตีย์ คือ สันถัต ได้แก่ ผ้าปูนั่ง เอาขนเจียมเจือด้วยไหม นี่โทษอะไรกันแน่ เวลานี้ไม่มีแล้ว เพราะว่าเราไม่ได้ทำกันเอง หมายความว่า เราทำกันเอง นี่เราไม่ได้ทำกันเอง ก็ยกล้อไป เขาเอาผ้ามาถวาย

สิกขาบทที่ ๒ ภิกษุหล่อสันถัต ด้วยขนเจียมดำล้วน ต้องนิสสัคคียปาจิตตีย์ อันนี้ก็ยกไป

สิกขาบทที่ ๓ ภิกษุหล่อสันถัตใหม่ พึงใช้ขนเจียมดำสองส่วน ขนเจียมขาวหนึ่งส่วน ขนเจียมแดงหนึ่งส่วน ถ้าใช้ขนเจียมดำเกินกว่าสองส่วนขึ้นไป ต้องนิสสัคคียปาจิตตีย์ นี่ท่านกันความโก้เก๋นะขอรับ แต่เราไม่มีการหล่อกันแล้ว ก็ไม่เป็นไร

สิกขาบทที่ ๔ ภิกษุหล่อสันถัตใหม่แล้วพึงใช้ให้ได้หกปี ถ้ายังไม่ถึงหกปี หล่อใหม่ ต้องนิสสัคคียปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ได้สมมุติ

นี่เป็นอันว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธะเจ้า ทรงให้มัธยัสถ์ ระมัดระวังของใช้ ไม่ใช่เดี๋ยวเปลี่ยน ๆ อันเป็นการทำลายศรัทธา ของบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท เพราะการที่เราจะทำอะไรกันขึ้นมานั่น เป็นเรื่องของบรรดาพุทธศาสนิกชน ท่านสงเคราะห์ เพราะพระไม่มีอาชีพ จะหาของมาได้ ถ้าหาไม่ได้ก็ต้องไปขอเขา ขอเขาก็เป็นการกวนใจ

เวลานี้ขอเอาไปซื้อเขา ซื้อเขา ก็เป็นการกวนใจ องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาจึงให้ทรงระมัดระวัง ว่าการที่จะขอจะทำอะไร การใช้ของต้องระมัดระวังเป็นกรณีพิเศษ อย่าให้รุ่มร่ามเกินไป การใช้ของประเภทที่ไม่ระมัดระวังของ เป็นการทำลายศรัทธาไทยของบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ให้เกิดกำลังใจ ทำลายความดีของจิต

หรือว่าท่านรำคาญขึ้นมา เจ้าของอาจจะคิดว่า แหมไอ้เจ้านี่เลวจริง ๆ ไม่น่าจะคบเลย เป็นอันว่าไอ้เลวน่ะไม่เลวเฉพาะเรา ทำจิตใจชาวบ้านเขาให้เลวไปด้วย จิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคติ ปาฏิกังขา พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ถ้าจิตเศร้าหมอง ตายแล้วไปอบายภูมิ อย่างสุวรรณมัจฉา และท่านกบิลภิกขุ จิตใจเศร้าหมอง ตายแล้วท่านก็ไปลงอเวจีมหานรก

เราไปกวนชาวบ้านเขามาก ๆ ถ้าชาวบ้านเขาด่าเข้า หาว่าเรารุ่มร่าม ใจเราก็เศร้าหมอง เราลงนรก เมื่อกวนชาวบ้านเขามาก ๆ ชาวบ้านเกิดความรำคาญ จิตใจเขาเศร้าหมอง ก็ทำให้ชาวบ้านเขาลงนรกด้วย ฉะนั้นขอบรรดาเพื่อนภิกษุสามเณรทั้งหลาย จงระมัดระวัง เป็นผู้มีสันโดษในของกินของใช้ อย่าทำจิตใจรุ่มร่าม และจงปฏิบัติพระธรรมวินัยให้ครบถ้วน สำหรับวันนี้ ขอยุติเพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดี จงมีแด่ท่านเป็นที่รักทั้งหลายทุกท่าน

สวัสดี


◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 26/4/11 at 16:11

6

โทษละเมิดพระวินัย แผ่นที่ ๓ ตอนที่ ๒



สำหรับต่อไปนี้ ขอบรรดาท่านทั้งหลายตั้งใจสดับเรื่องราวของพระวินัย สำหรับพระวินัยบัญญัตินี้ ก่อนที่ท่านจะฟัง โปรดอย่าลืมคิดไว้เสมอว่า นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คเหตวา ซึ่งแปลเป็นใจความว่า เรารับผ้ากาสาวพัตร์มาเพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน เป็นอันว่าเราบวชรับผ้ากาสาวพัตร์มาเพื่อหวังพระนิพพาน

นี่การจะเข้าถึงพระนิพพาน อันดับแรกจะต้องมีจริยาอะไรบ้าง
๑.จรณะ ๑๕ พยายามปฏิบัติให้ครบถ้วน
๒.บารมี ๑๐ ประการ มีกำลังใจให้เต็ม
๓.พรหมวิหาร ๔ ทรงอารมณ์ให้เต็ม
๔.อคติ ๔ ละให้เด็ดขาด
๕.อิทธิบาท ๔ ทรงให้ครบถ้วน

ในจรณะ ๑๕ ข้อที่ ๑ ท่านกล่าวไว้ว่า สีลสัมปทา จงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ก็หมายความว่า สิกขาบททุกสิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์ก็ดี มานอกพระปาติโมกข์ก็ดี พวกเราต้องปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด จะไม่ยอมให้สิกขาบทใดสิกขาบทหนึ่ง เราจะไม่ยอมละเมิดสิกขาบทใดสิกขาบทหนึ่ง การแสดงอาบัติจงอย่ามีสำหรับท่าน

การแสดงอาบัติ

เพราะว่าการแสดงอาบัติ แสดงถึงความเป็นผิด การแสดงอาบัติเวลานี้ทำกันเป็นประเพณี ที่กล่าวว่า นะ ปุเนวัง กะริสสามิ ข้าพเจ้าจะไม่ทำอย่างนี้อีก นะ ปุเนวัง ภาสิสสามิ ข้าพเจ้าจะไม่พูดอย่างนี้อีก นะ ปุเนวัง จินตะยิสสามิ ข้าพเจ้าจะไม่คิดอย่างนี้อีก ไอ้ที่ทำไปแล้ว พูดไปแล้ว คิดไปแล้ว มันก็ลงอเวจีไปแล้ว

ที่แสดงไม่ใช่หักล้าง เป็นการยับยั้งว่าจะไม่ทำใหม่ ฉะนั้นแล้ว ท่านก็แสดงกันทุกวันๆ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายเลวกันทุกวัน ถ้ามีอาการเลวอย่างนี้ทุกวันเราจะเอาดีอะไรกัน แต่ว่าที่วัดของเราก็รู้สึกว่าดีอยู่มาก มีสภาพการเรียบร้อยดี แต่ความดีอันนี้อย่าทะนงตัวนะขอรับ ถ้าเผลอเมื่อไหร่ ก็เมื่อนั้น

อย่าประพฤติปฏิบัติแต่พระวินัยอย่างเดียว ธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนต้องปฏิบัติให้ครบ ในจรณะ ๑๕ มีอะไรบ้าง ให้มันครบ บารมี ๑๐ มีอะไรบ้างให้ครบ พรหมวิหาร ๔ และการละนิวรณ์ ๕ นิวรณ์ ๕ มีอะไรบ้าง ตัดให้ครบ ถ้าท่านตัดไม่ได้ก็ไม่ถือว่าเป็นการบวช การละนิวรณ์ ๕ ระงับนิวรณ์ ๕ ก็ถือว่าเป็นเนกขัมมบารมีขั้นต้นเท่านั้น

เนกขัมมบารมีจริง ๆ ต้องตัด ทำจิตให้เป็นฌานได้ด้วย และตัดสังโยชน์ได้ด้วย จึงจัดว่าเป็นเนกขัมมบารมีแท้ การระงับนิวรณ์ไม่ให้กวนใจ ไม่ให้นิวรณ์เป็นเจ้าหัวใจเรา เป็นแต่เพียงว่า เราเป็นคนเริ่มต้นเข้ามาในเขตของเนกขัมมบารมี เริ่มต้นเข้ามาในเขตของพระ ยังไม่ถึงความเป็นพระ

ความเป็นพระที่จะเข้าถึงได้จริง ๆ ต้องตัดสังโยชน์ตั้งแต่ ๓ ข้อขึ้นไป มันก็เป็นของไม่ยาก ต่อนี้ไปก็ฟังโกสิยวรรคที่ค้างอยู่ตั้งแต่วันก่อน วันก่อนว่ามาถึงสิกขาบทที่ ๔ วันนี้สิกขาบทที่ ๕

วรรคที่สอง โกสิยวรรค ว่าด้วยเรื่องสันถัต(ที่รองนั่ง)(ต่อ)

สิกขาบทที่ ๕ ภิกษุหล่อสันถัต พึงตัดเอาสันถัตเก่าคืบหนึ่งโดยรอบ เอามาปนลงในสันถัตที่หล่อใหม่ เพื่อทำลายให้เสียสี ถ้าไม่ทำดังนี้ต้องนิสสัคคียปาจิตตีย์ อันนี้เพื่อเป็นการป้องกันความสวยงาม แต่เราไม่ได้ทำกันแล้วนี่ขอรับ ก็ขอผ่านไป

สิกขาบทที่ ๖ เมื่อภิกษุเดินทางไกล ถ้ามีใครถวายขนเจียม ต้องการจะรับก็รับได้ ถ้าไม่มีใครนำมา นำมาเองได้เพียง ๓ โยชน์ ถ้าให้เกิน ๓ โยชน์ไป ต้องนิสสัคคียปาจิตตีย์ เวลานี้ขึ้นรถลงเรือ คงไม่เป็นอะไรละมั้ง คงไม่เป็น สิกขาบทข้อนี้เราไม่ได้ทำกัน

สิกขาบทที่ ๗ ภิกษุใช้นางภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ให้ซักก็ดี ให้ย้อมก็ดี ให้สางก็ดี ซึ่งขนเจียม ต้องนิสสัคคียปาจิตตีย์ นางภิกษุณีก็ไม่มี ทำก็ไม่ทำ สิกขาบทนี้ผ่านไป

สิกขาบทที่ ๘ ภิกษุรับเองก็ดี ใช้ผู้อื่นรับก็ดี ซึ่งเงินและทอง หรือยินดีซึ่งเงินและทอง ที่เขาเก็บไว้เพื่อตน ต้องนิสสัคคียปาจิตตีย์

สิกขาบทตัวนี้ต้องพูดกันหน่อยนะขอรับ คำว่านิสสัคคีย์ แปลว่า ของเลว ต้องทำลายเสีย และโยนทิ้งไป เป็นของที่ผิดระเบียบวินัย ปาจิตตีย์ แปลว่า จิตเป็นบาป สำหรับสิกขาบทนี้ก็ต้องขอพูดยาวนิดหนึ่ง

ขออภัยนะขอรับ เพื่อความเข้าใจกันยังมีพระบางพวก ถือว่าตนเป็นผู้มีความประพฤติเคร่งครัดในเรื่องนี้ ใครถวายเงิน ถวายทอง ถวายธนบัตร ไม่รับ แต่ก็ให้ลูกศิษย์รับแทน ขอให้ท่านทั้งหลายช่วยกันพิจารณาดู ผมถือว่าทุกท่านที่บวชเข้ามานี้ จะเป็นพระก็ดี จะเป็นเณรก็ดี และบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทก็ดี ที่เข้ามาอยู่ร่วมกัน เป็นคนมีปัญญาทั้งนั้น

ถ้าพวกท่านเป็นคนไร้ปัญญาล่ะก็ พวกท่านทั้งหลายไม่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ผมไม่เคยดูถูก ดูหมิ่นปัญญา ของใครเลย สมัยผมเป็นพระบวชแล้วตั้ง ๑๐ พรรษา เพียงแค่เด็กอายุ ๑๒ ปี เตือนผม ผมยังเชื่อ

เพราะผมมีเด็กอยู่ ๒ คน อายุ ๑๒ ปีทั้งคู่ เวลาทำงานการบางอย่าง แกก็นั่ง ๆ ดู แกเห็นว่าไม่ชอบมาพากล เป็นอันว่า เห็นว่าไม่ดีไม่ถูกนั่นแหละ แกก็เข้ามาเตือน ก็ยกให้เป็นลูก บอกว่า หลวงพ่อครับ ไอ้กิจการนี้ที่หลวงพ่อกำลังทำ ผมคิดว่าทำอย่างนี้มันจะดีกระมัง นี่เป็นเด็กที่ฉลาด ไม่ค้านโดยตรง แต่ค้านในทำนองปรึกษาหารือ

ผมก็ต้องยั้งตัว ยั้งตัวแล้วก็มานั่งคิด นี่ไม่ใช่มายกย่องตัวเองนะขอรับ นั่งคิดว่า เออ ไอ้หนูนี่พูดถูก จริง ๆ ของเอ็งนะ ต้องทำตามนี้ แล้วก็ทำไป ไอ้การทำงานทำการทั้งหลาย เรายังไม่ถึงพระนิพพานเพียงไร ขึ้นชื่อว่าไม่พลาดไม่มี ท่านที่ทำงานไม่พลาดจริงๆ ผมเห็นมีแต่พระพุทธเจ้าองค์เดียว

อย่างบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย เช่น ท่านปิณโฑลภารทวาชะที่เหาะไปเอาบาตร ของที่มหาเศรษฐีเขาท้าทาย ว่าถ้ามีพระอรหันต์จริง ให้เหาะมาเอาบาตร เขาประกาศ ๗ วัน ถ้า ๗ วันนี้ไม่มีใครมาเหาะเอาบาตร เขาก็จะถือว่าทุกสำนักไม่มีพระอรหันต์ หกวันแรกคณะของอาจารย์ต่างๆ ไปเอาบาตร เหาะไม่ได้เขาก็ไม่ให้

วันที่เจ็ดเมื่อบรรดาชาวขี้เมาทั้งหลาย เกิดท้าทายบอกว่า เวลานี้อรหันต์ไม่มีหรอกโว๊ย ท่านเศรษฐีเอาบาตรปุ่มจันทร์ไปห้อยไว้ตั้งเจ็ดวัน วันนี้เป็นวันสุดท้าย ถ้าไม่มีใครไปเอาก็แสดงว่าคำว่า อรหันต์ ไม่มี เมื่อท่านพระโมคคัลลาน์ฟังอย่างนี้ จึงได้บอกให้ท่านปิณโฑลภารทวาชะเหาะไปเอา ท่านปิณโฑลภารทวาชะเหาะไปก็ไม่เอา ไปยืนดูเฉยๆ

เขาก็นำมาถวาย องค์สมเด็จพระจอมไตรถือว่าเป็นความผิด เพราะเป็นการแสดงปาฏิหาริย์เพื่อคน พอคนเขาเห็นเหาะ ต่อมาก็ขอร้องให้ท่านเหาะให้ดูอยู่เรื่อย ๆ จนกระทั่งไม่มีเวลาอยู่ด้วยความเป็นสุข

คนเราเป็นแบบนี้ ชอบพระแสดงปาฏิหาริย์ เวลานี้ก็ยังมีการขอร้องกันอยู่ ถ้าขืนแสดงปาฏิหาริย์ก็ไม่ต้องทำมาหากิน เลิก เราบวชเข้ามาเพื่อพระธรรมวินัย ถ้าใครสามารถจะมีอภินิหารใดๆ ได้ ก็จงทราบว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงห้าม ห้ามท่านปิณโฑลภารทวาชะ และห้ามพระทุกองค์

บาตรนั้นให้ทำลายเสีย นี่การทำลายไม่ผิดก็ต้องไม่มีเหมือนกัน พระอรหันต์ท่านยังผิด ผมก็คงจะผิดเหมือนกัน ถ้าท่านทั้งหลาย ผมขอปวารณาตัว พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา เห็นว่าถ้าอะไร ผมทำไป มันจะพลาดไปบ้าง อย่าเพิ่งให้พลาดเลยนะขอรับ เห็นถ้าจะพลาดไป หรือว่าอะไรมันสมควรกว่า แนะนำได้ ตักเตือนได้

ผมขอปวารณาตัว อย่าถือว่าผมเป็นผู้วิเศษแต่ผู้เดียว มันก็มีอาการผิดได้เหมือนกัน ถ้าอะไรเห็นว่าไม่สมควรแล้วล่ะก็ ให้นายผมแนะนำ หรือว่าจะมาเตือนผมก็ได้ ถ้าอะไรเห็นว่าไม่สมควร มาเตือนผมก็ได้ นี่ปวารณากัน ไม่ใช่ว่า ผม แหม มันวิเศษวิโสจริง ๆ

อธิบายสิกขาบทที่ ๘

นี่ก็มาคุยกันถึงสิกขาบทนี้ เห็นบอกว่า ภิกษุรับเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นรับก็ดี ซึ่งเงินและทอง หรือว่ายินดีซึ่งเงินและทองที่เขาเก็บไว้เพื่อตน ต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์ ท่านดูสิกขาบทนี้ว่าอะไรตอนไหนที่เราพอจะเลี่ยงกันได้บ้าง รับเองก็ดี ใช้ผู้อื่นรับก็ดี หรือว่ายินดี เงินและทองที่เก็บไว้เพื่อตน เป็นอาบัติเท่ากัน ไม่ได้ลดสิกขาบทนี้ โทษนี้ไม่ได้ลด

เวลานี้เราจะทำอย่างไรกัน น่ากลัวจะแย่กระมัง ขึ้นรถยนต์ รถไฟ ขึ้นเครื่องบิน จะไปไหน ขึ้นรถสามล้อ เขาก็เก็บสตางค์ เดินไปตามทางหิวขึ้นมา จะกินอะไรเขาก็เก็บสตางค์ เขาไม่ได้มองเครื่องแบบ ว่าถ้าพระสงฆ์หัวโล้น ห่มเหลือง เขาไม่เก็บสตางค์ ค่ากระแสไฟฟ้าที่เราจะใช้จ่ายอยู่ทุกวันนี้ เราก็เสียสตางค์

น้ำจะกินเข้าไปทุกหยด มันก็เป็นเงินเป็นทอง เราก็เสียสตางค์ เพราะว่าเราต้องใช้เครื่องกระแสไฟฟ้าปั่น อุปกรณ์ทั้งหลายต่างๆ มันสึกหรอลงไป เราก็เสียสตางค์ เพราะว่าต้องซ่อมต้องแซม อาคารต่างๆ ที่เราจะสร้างขึ้นมา มันก็เสียสตางค์ เสียเงิน ถ้ามันบุบสลาย ทรุดโทรมลงไป เราก็เสียเงิน อันนี้มันเสียทั้งหมด

เป็นอันว่าเราป่วยไข้ไม่สบาย ถ้าไปโรงพยาบาล ก่อนจะไปถึง ค่ารถเขาก็เก็บสตางค์ อาหารการบริโภคไม่มี เราใช้จ่ายเราก็เสียสตางค์ บางทีเราป่วยไข้ไม่สบาย ไม่ได้ไปโรงพยาบาล ต้องซื้อยากินเอง เราก็เสียสตางค์ มันหนาวจัด ผ้าห่มมันเล็กไป ซื้อผ้าห่มใหม่ มันก็เสียสตางค์ ไอ้นี่มันก็ต้องจ่ายเงินกันเรื่อย

ไม่มีใครเขายกโทษให้กับพระเลย เราไปนั่งนึกดูว่า นับถอยหลังไปคิดดูอีกที ว่าก่อนที่องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน
ตอนนั้นองค์สมเด็จพระพิชิตมาร ได้ทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า “อานันทะ ดูก่อน อานนท์ เมื่อตถาคตนิพพานไปแล้ว สิกขาบทในพระวินัย บางสิกขาบท ที่ไม่ถูกต้องไม่สมควรแก่กาลสมัย สิกขาบทนั้นให้บรรดาสงฆ์ทั้งหลายเพิกถอนได้”

มีทั้งหมด ๒๒๗ นี่ ผมเห็นว่ามีสิกขาบทเดียวสิกขาบทนี้ เพราะเวลานี้มีความจำเป็น พระพุทธเจ้าคงจะทราบดี เพราะองค์สมเด็จพระชินสีห์เป็นสัพพัญญู รู้อดีต รู้อนาคต ปัจจุบัน ทั้งหมด ถ้าไม่รู้อย่างนี้ องค์สมเด็จพระบรมสุคต คงไม่ทรงอนุญาตไว้

ฉะนั้นเวลานี้มีพระบางพวก เวลาคนเขาเอาเงินถวาย ไม่รับ แต่ก็ยินดีในเงินทองนั้น จดจำในการที่เขาเก็บเงิน มีพระบางองค์พวกที่ไม่รับเงิน เวลามาทำงานร่วมกัน แจ้งรายการยอดไว้เสมอ ว่าเวลานี้ลูกศิษย์นับไว้ได้เท่านั้น เท่านี้แล้ว เวลาเขาประเคนน่ะไม่รับ แต่ว่าตอนเย็น ลูกศิษย์ไปบอกว่าวันนี้ได้สตางค์เท่านั้น วันนั้นได้สตางค์เท่านั้น จำยอดเงินเข้าไว้

ไอ้จำยอดเงินนี่ มันเป็นการยินดีหรือเปล่า ถ้าไม่ยินดีล่ะก็ ควรจะบอกลูกศิษย์ บอกนี่เอาไปถวายท่านเจ้าอาวาสซะเถอะ เพราะท่านต้องใช้ หรือว่าถวายเจ้าภาพ เพราะเจ้าภาพทำงานฝังลูกนิมิต ทำงานยกช่อฟ้า ทำงานเททอง ท่านต้องใช้จ่ายเงินในงานนี้เป็นแสน แต่ส่วนเงินที่เขาถวายเรามานี่ ก็ทำบุญกับวัดไปแล้วกัน แต่นี่ท่านไม่ได้เป็นอย่างนั้น

ท่านจำยอดเงินเลยว่าได้เท่าไหร่แล้ว แต่ว่ามีหลายองค์ ท่านแสนดี พวกนี้มีจิตปกติ จิตอีกขั้นหนึ่ง ไม่หยิบเงิน ไม่หยิบทองเหมือนกัน ได้มาเท่าไหร่ ตอนเย็นก็ประกาศ รวมกำลังใจบรรดาท่านพุทธบริษัท ถวายเป็นสังฆทานทุกวัน อันนี้ถูกต้อง องค์นี้ทำถูก แต่องค์ที่พูดเมื่อตะกี้นี้ไม่ถูก

นี่เป็นอันว่าเรื่องการรับเงินรับทองนี่ เราจะทำอย่างไร เรารับเองก็เป็นอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์ ให้เด็กรับ ผู้ใหญ่รับแทน ก็เป็นอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์ และเรายินดี หรือว่านั่นทรัพย์สินของเรามีเท่านั้น เท่านี้ เราก็เป็นอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์ เป็นใจผม ผมว่ารับเองดีกว่า เพราะว่าหนีไม่รอด

ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าถ้าเราไม่รับ ทำท่าเหมือนคนเคร่งครัด มัธยัสถ์ ไม่ยินดีในเงินและทอง แต่เนื้อแท้จริงๆ ในดวงจิต เรายินดีในเงินและทอง นี่มันก็ไปต้องโทษในการหลอกลวงชาวบ้านอีกจุดหนึ่ง ใช่ไหมขอรับ เพราะเราพอใจ

ถ้าไม่รับเราไม่พอใจ ก็อย่าไปสนใจมันเลย ก็บอกกับเจ้าภาพเขาได้ บอกโยม อาตมาน่ะ ไม่ใช้เงินไม่ใช้ทองนะ ญาติโยมไม่ต้องถวายหรอก เอาเงินทองไว้ใช้อย่างอื่น เอ้า ถ้าหากว่าจะพึงสงเคราะห์ ก็สงเคราะห์ในสิ่งจำเป็นอย่างอื่นก็แล้วกัน แต่นี่ไม่อย่างนั้น ท่านชอบใจ ต่อหน้าชาวบ้านท่านไม่รับ แต่ว่าท่านคอยนับยอดเงินไว้เสมอว่า มีจำนวนเท่าไหร่

อย่างนี้ผมว่าใจด้านเกินไป เป็นการหลอกลวงบรรดาประชาชนทั้งหลาย ทีนี้ชาวบ้านที่ไม่รู้ความจริงน่ะมีอยู่มาก เห็นว่าพระไม่รับเงินไม่รับทองแบบนั้น บอกว่า โอ้โฮ ท่านเคร่งครัด ท่านมัธยัสถ์จริงๆ ท่านดีจริงๆ ท่านวิเศษจริงๆ นี่พอโดนกันตอนนี้ แล้วเราก็เมาความดี เมาความดีที่มันเป็นความเลว

โทษที่จะพึงได้คือ อเวจีมหานรก เพราะว่าถ้ากำลังใจอย่างนี้ ผมว่าไม่ใช่นักบวชแล้ว ชาวบ้านถ้าเขาหลอกลวงกัน ชาวบ้านเขาเลว ถ้าพระหลอกลวง แล้วพระจะเป็นพระดีได้อย่างไร

เป็นอันว่า สำหรับสิกขาบทนี้ สำหรับสำนักของเรา ผมอนุญาตเลย ว่าใครเขาถวายเงิน ถวายทองที่ไหน รับได้ที่นั่น เพราะว่ารับหรือไม่รับ ให้คนอื่นรับมันก็เป็นอาบัติ เขาเก็บไว้เรารู้จำนวนอยู่ เราก็เป็นอาบัติ รับก็รับ ถ้าเขาถามว่าทำไมจึงรับ ก็บอกเขาเลยว่า สิกขาบทนี้มันเป็นอย่างนี้ แล้วไอ้เงินทองนี่มันก็มีความจำเป็น

นี่ถ้ารับเข้ามาแล้ว แล้วก็มีมุมหนึ่ง ว่าเราเป็นคนโลภในทรัพย์สินหรือเปล่า ตอนนี้ต้องทำใจให้ดีนะขอรับ อย่าลืมตัวนะว่า เขาถวายเราเข้ามาในฐานะที่เป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ถ้าเราเป็นลูกชาวบ้านธรรมดา ไม่มีใครเขาให้ ก่อนที่เขาจะให้ เขาก็ยกมือไหว้ก่อน ด้วยการแสดงความเคารพ ผู้ให้ไหว้ผู้รับ

ถ้าขอทานละก็ ผู้รับไหว้ผู้ให้ นี่เราผู้ให้ไหว้ผู้รับ ในฐานะที่เราเป็นปูชนียบุคคล จงนำเงินจำนวนนั้นมาใช้ ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ในสภาวะความเป็นพระ เป็นเณรจริง ๆ คือ หนึ่งถ้ามีความจำเป็นในสมณบริโภค จีวรขาด สบงขาด ยารักษาโรคไม่มี และอาหารไม่มี ใช้ได้กินได้ตามเขตนี้

จะให้เขากู้ก็ไม่ได้ จะให้เขายืมก็ไม่ได้ จะไปซื้อไร่ ซื้อนา ค้าขาย มันไม่ได้ทั้งหมด ต้องใช้เฉพาะเรื่องของพระ นี่สมมุติว่า ถ้าเขาให้มากเกินไปล่ะ ทำอย่างไร ถ้าเขาให้มากเกินไป มันก็เป็นของไม่ยาก เราก็บำรุงพระสงฆ์ในขอบเขตของเรา เอาเข้าไปไว้ในส่วนกลาง เห็นพระระหว่างพวกเราไม่มีข้าวจะกิน ไม่มียารักษาโรค ไม่มีผ้าผ่อนท่อนสไบ เราก็ช่วยในระหว่างพวกเรา

หรือมิฉะนั้นก็นำไปก่อสร้างเป็นถาวรวัตถุ เอาไปช่วยในหมู่คณะจัดเป็นสังฆทาน ทำเงินของชาวบ้านให้มีอานิสงส์มากขึ้น เขาให้มาเป็นส่วนตัว เป็นปาฏิปุคลิกทาน ถ้าเราไปร่วมใช้จ่ายในส่วนรวม ในสิ่งที่มันขาดอยู่ เป็นสังฆทาน ทำให้ชาวบ้านมีอานิสงส์

ถ้าวัดวาอารามมีการทรุดโทรม เอาเงินมาช่วยทะนุบำรุงหรือก่อสร้าง เป็นวิหารทาน แสดงว่าอานิสงส์ของชาวบ้านที่ถวายเงินมา ก็ได้ขึ้นไปอีกส่วนหนึ่ง วิหารทานมันมีอานิสงส์สูงกว่าสังฆทานมาก หรือมิฉะนั้น ถ้าบังเอิญเกิดเห็นมีใครเขาป่วยไข้ไม่สบายไม่มีที่พึ่ง ถ้าเราไม่ช่วยจะตาย หรือทุกขเวทนาจะครอบงำ

เรานำไปใช้ในส่วนสาธารณประโยชน์ เกื้อกูลประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และปวงชนชาวไทย ช่วยกันทะนุบำรุงบุคคลในเขตประเทศไทยให้มีความสุข แต่ว่าไม่ใช่ให้เป็นส่วนบุคคล ให้เป็นส่วนสาธารณะ สำหรับคราวคนที่อดข้าวจะตาย เราให้กินได้ คนที่ป่วยไข้ไม่สบาย เราช่วยได้

ดูอย่างที่ผมนำไปแจกจ่าย เอาของไปให้เป็นสาธารณประโยชน์ ไปขุดบ่อน้ำ ทำเหมืองฝาย นี่เราช่วยกันอย่างนี้เป็นส่วนสาธารณประโยชน์ พระพุทธเจ้าไม่ห้าม แต่ว่าอย่ามากักเอาไว้ ไหนๆ ท่านห้ามแล้ว เราหลีกไม่ได้ เราก็ไม่หลีก ถ้าหลีกแล้ว มันหลอกลวงชาวบ้าน พวกที่ไม่รับสตางค์เนี่ย ไม่หยิบสตางค์ เคยมาขอสตางค์บ่อยๆ

จะสร้างโน้น สร้างนี้ ขอเป็นแสน ขอเป็นล้าน บางท่านนะ ไม่ใช่ทุกท่าน ก็เลยทำให้เห็นกำลังใจว่า จริยาที่ท่านทำกันน่ะ มันเป็นการหลอกลวงชาวบ้าน มันไม่ใช่ของดี ฉะนั้นอาการอย่างนี้ ขอบรรดาเพื่อนภิกษุ สามเณรทั้งหลาย จงอย่าทำ เขาให้รับ อย่าทำเป็นคนใจด้าน เราหน้าด้านซะหน่อยดีกว่า ให้ใจมันดี อย่าไปหลอกลวงเขาด้วยกำลังใจ สิกขาบทนี้ขอผ่านไป

สิกขาบทที่ ๙ ท่านบอกว่า ภิกษุทำการซื้อด้วยรูปิยะ ซื้อขายด้วยรูปิยะ คือของที่เขาใช้เป็นเงินและทอง ต้องนิสสัคคียปาจิตตีย์ นี่สำหรับอย่างผ้าสบง จีวร สิ่งของก็ตาม ที่ชาวบ้านถวายมา อย่าซื้อ อย่าขายนะขอรับ อย่าซื้อ อย่าขายเด็ดขาด

ถ้ามันมากเกินไปล่ะก็ พระที่ไม่มีใช้ ที่เขาจน ๆ ยังมีอยู่ เราไปเกื้อกูลพวกกันเองดีกว่า เป็นอันว่าไม่ว่าอะไรทั้งหมด ห้ามซื้อ ห้ามขาย

สิกขาบทที่ ๑๐ ภิกษุที่แลกเปลี่ยนสิ่งของคฤหัสถ์ ต้องนิสสัคคียปาจิตตีย์ แลกกัน เวลานี้ชอบแลกพระกัน แลกพระ หรือแลกวัตถุก็ตาม มันไม่ดีทั้งหมดนะขอรับ อย่าไปทำมันเลย เราปฏิบัติก็ปฏิบัติให้มันละเอียดจริง ๆ

วรรคที่สาม ปัตตวรรคว่าด้วยเรื่องบาตร

ปัตตวรรคที่ ๓
สิกขาบทที่ ๑ บาตรนอกจากบาตรเพื่ออธิษฐาน เรียกว่า อดิเรกบาตร เป็นบาตรเกิน อดิเรกบาตรนั้น ภิกษุเก็บไว้ได้เพียง ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง ถ้าล่วงเกิน ๑๐ วันไปต้องปาจิตตีย์ ข้อนี้ผมขอตัดไปเลย ถ้ามันเกินก็เอามารวมไว้เป็นของกลาง ไม่ต้องเก็บไว้ หมดเรื่องกันไป

สิกขาบทที่ ๒ ภิกษุมีบาตรร้าว ยังไม่ถึง ๑๐ นิ้ว ขอบาตรใหม่จากคฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ไม่ได้ปวารณา ได้มาต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์ ร้าว เวลานี้ใครมีบาตรร้าวก็ซวย สมัยก่อนเป็นบาตรดิน สมัยนี้เป็นบาตรเหล็ก ท่านทำร้าวและแตก ผมหาว่าซวยมาก

สิกขาบทที่ ๓ ภิกษุรับประเคนเภสัช ๕ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย แล้ว เก็บไว้ฉันได้เพียงเจ็ดวันเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเกินเจ็ดวันไปต้องนิสสัคคียปาจิตตีย์ หมายถึงว่าอยู่คนเดียว ถ้าเรารับประเคนแล้ว มีลูกศิษย์นำไปเก็บ ก็ถือว่าเป็นการขาดประเคนแล้ว เขาเอามาเมื่อไหร่ เท่าไหร่ เอามาเมื่อไหร่ เราก็ฉันได้เมื่อนั้น

เป็นเภสัช ฉันได้ไม่เลือกเวลา ที่ท่านพูดแบบนี้ หมายความเราอยู่คนเดียว เราเก็บไว้เกินกว่านั้น มันเป็นการสะสมมากเกินไป นี่ประการหนึ่ง เนยใส เนยข้น น้ำมัน ท่านเกรงว่าของจะเสียมากกว่าท้องจะเสีย พระพุทธเจ้าท่านมีอนามัย

สิกขาบทที่ ๔ เมื่อฤดูร้อนยังเหลืออยู่อีก ๑ เดือน คือตั้งแต่แรมค่ำหนึ่งเดือนเจ็ด พึงแสวงหาผ้าอาบน้ำฝนได้ เพราะฤดูร้อนเหลืออีกหนึ่งเดือน คือตั้งแต่ขึ้นค่ำหนึ่งเดือนแปด จึงทำนุ่งได้ ถ้าแสวงหาแล้วทำนุ่งให้ล้ำกำหนดนั้นเข้ามา ต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์

เวลานี้ไม่ต้องหาแล้วซิ เพราะว่าผ้าเข้าพรรษาเขามีถวายไว้ เป็นอันว่าจำสิกขาบทไว้แล้วกัน แต่ว่าเรื่องหาเวลานี้ไม่มี สิกขาบทนี้ไม่มีอาบัติสำหรับเวลานี้ เพราะอะไร เพราะว่าไม่ต้องหา มีแต่เขานำมาถวาย

สิกขาบทที่ ๕ภิกษุให้จีวรแก่ภิกษุอื่นแล้วโกรธ จึงเอาคืนมาเองก็ดี ใช้ผู้อื่นชิงมาก็ดี ต้องนิสสัคคียปาจิตตีย์ ในสภาวะอย่างนี้ ก็มีอารมณ์ไม่เป็นพระ ขาดพรหมวิหาร ๔ ขาดจรณะ ๑๕ ขาดบารมี ๑๐ สภาวะความเป็นพระไม่มี ก็ต้องขอ ก็เป็นว่าเราก็ไม่เป็นพระ อย่าทำกันเลยน่ะขอรับ มันเป็นจริยาที่เลว

สำหรับวันนี้เรื่องของพระวินัย ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอบรรดาเพื่อนพระภิกษุ สามเณรทั้งหลาย จงรักษาพระวินัยให้เคร่งครัด นึกถึงเรื่องท่านกปิลมัจฉาไว้ให้ดี และนึกถึงเรื่องราวของบรรดาภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี ไว้ให้ดี ถ้ารู้เรื่องของท่านแล้วล่ะก็

จะพึงทราบ ว่าเราละเมิดพระวินัยมันมีโทษเป็นประการใด ไม่ใช่ว่าแสดงอาบัติตก ยิ่งแสดงอาบัติ ยิ่งตกนรกมากขึ้น สำหรับวันนี้ ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผล จงมีแด่เพื่อนภิกษุ สามเณรทุกท่าน

สวัสดี


◄ll กลับสู่สารบัญ