หนังสือคำสอน "ทางสายเอก" โดย..หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
webmaster - 15/1/12 at 18:03


ทางสายเอก


จัดพิมพ์โดย..คุณ มาลิดา ปานทวีเดช และคุณ ทวีทรัพย์ ศรีขวัญ

( ลิขสิทธิ์เป็นของ "ทีมงานเว็บวัดท่าซุง" )



เนื้อหาของสารบัญ

1.
ให้รู้ทุกข์ | มองให้เห็นทุกข์ | ทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด | พระอนุรุทธเกิดความเบื่อ | ถามเรื่องเวียนว่ายตายเกิด | อวิชชา | สนทนาเรื่องเกิดเพราะโง่ | กรรมโง่ | พบพระพุทธศาสนาควรจะไปนิพพาน | บารมีคือกำลังใจเต็ม | ทุกข์ ๓ ประการ | สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม | อย่าโทษพระพุทธศาสนา| ชาตินี้เป็นทุกข์..ชาติหน้าก็ยังทุกข์อีก

2. ธรรมดาคือความตาย| สงสัย...ตายแล้วไปไหน| มรณานุสสติ| นึกถึงความตายเพื่ออะไร| ความตาย ๓ อย่าง|นึกถึงความตายมีประโยชน์| มรณานุสสติไปนิพพาน| ถามเรื่องคนตาย

3. บาป บุญ นรก สวรรค์|บาป บุญ|ตกนรกเพราะลืมทางไปสวรรค์| ได้วิชชา ๓ หายสงสัย|สงสัยบุญ บาป|เลิกสงสัย|คนเราทำทั้งดีและชั่ว| ปาณาติบาต|บาปอกุศลในอดีตอย่าสนใจ|ดูปัจจุบันอย่างเดียวไม่ได้

4. เตือนตนเอง| ห่วง| มีเงินไม่รู้จักใช้ |ทำบุญร่วมกันมา จึงพูดกันรู้เรื่อง| ถ้ารู้ตัวว่าโง่ก็ฉลาดมาก | เถรใบลานเปล่า| พระอรหันต์มีแต่แก่นแท้| เอาอย่างพระเรวัต| ความรักเป็นทุกข์| ทุกข์จากการมีคู่| นินทา สรรเสริญ| นินทา สรรเสริญ เรื่องธรรมดา| พิสูจน์ด้วยปฏิบัติ..อย่านึก| อธิโมกขศรัทธา|ทุกอย่างต้องแก้ที่ใจเรา| ติตนเอง| จิตสัตว์โลก

5. เรื่องของทาน| บุญ ๓ ประการ| ปฏิบัติบูชา| อะไรคือสังฆทาน| การถวายสังฆทาน|ถึงแม้ของน้อยก็อานิสงส์มาก| สูงสุดคือวิหารทาน| อุทิศส่วนกุศล| พระพุทธศาสนากับเทวดา| ปติปูชิกา|เทวธรรม

6. เรื่องของทาน| ดับทุกข์ถาวรด้วยกรรมฐาน| บกพร่องในศีลเป็นคนเลว| นั่งกรรมฐานแล้วฟุ้งซ่าน| ทำกำลังใจอย่างไร|สมาธิมีกันทุกคน| สมาธิไม่จำเป็นต้องหลับตา| อุปกิเลส| ทำไมต้องเจริญกรรมฐาน| พระนางมัลลิกาเทวี|ฝนตกทีละหยาด|อย่านึกถึงความชั่วที่ผ่านมา|ตถาคต..ผู้บอก|พุทธศาสนาทำเข้า โลกทำออก|พระพุทธเจ้าสอนเป็นขั้นๆ|ธรรมเป็นขั้น|พรหมวิหาร ๔|เรียนแบบโง่ๆ|กรรมฐานรักษาบ้า|ได้ทุกอิริยาบถ|จงกรม|อานิสงส์จงกรม|ภาวนา..อานิสงส์สูง|สมาธิอย่างเดียวไม่มีผล|ปฏิบัติเข้าสังโยชน์ ๑๐ |สมาธิของพระอริยเจ้า|พระโสดาบัน|ปัญญา – สมาธิ – ศีล|ปัญญาพิจารณาศีล|กำลังของพรหมวิหาร ๔|โสเภณีเป็นพระโสดาบันได้|พูดความจริงต้องเลือกเวลา| โกหกขาว

7. ภาวนาตัดกิเลส| อานาปานุสสติ| คุณของอานาปานุสสติ| อานาปานุสสติสำคัญยิ่ง| จุดจบของอานาปานุสสติ| เสี้ยนหนามของฌาน ๔| อานิสงส์ของฌาน ๔| ต้องขึ้นต้นด้วยอานาปาฯ| นิวรณ์ ๕| นิวรณ์ทำให้ปัญญาถอยหลัง| ขณิก – อุปจารสมาธิ| ภาวนาต้องการจิตสงบ| วิปัสสนาต้องมีสมถะคุม| ก่อนวิปัสสนา |ถ้าทรงฌาน ๔ ได้|ต้องตัดกิเลส| ศีลต้องบริสุทธิ์| พระโสดาบัน สกิทาคามี ต้องปฐมฌาน| กัลยาณชน| อธิศีลสิกขา|มานะเป็นอารมณ์เลวที่สุด |โจทก์ตนเองเสมอ| ภาวนาอย่าหาที่สงัด|เถรส่องบาตร| กราบด้วยจิตเคารพ| ภาวนาแล้วอยากเห็น| ให้พอใจในอารมณ์ปัจจุบัน| ภาวนาไม่อยู่.. ให้หันมาพิจารณา| กายคตานุสสติและอสุภกรรมฐาน| วิปัสสนาเพื่อมรรคผล| นักปฏิบัติต้องเข้าใจ| ถือหลับตาเป็นสำคัญ ระวังมานะกิเลส| ส่วนสุด ๒ อย่าง| มัชฌิมาปฏิปทา| แต่ละเวลาอารมณ์ไม่เท่ากัน|สรุปอารมณ์สมาธิ|สุขในฌาน..หาที่เปรียบไม่ได้|ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน|เปสการีธิดา|ถึงแล้วจะอธิบายสังโยชน์ตามอารมณ์จริง|เก่งเฉพาะตำรา..เข้าไม่ถึงพระพุทธศาสนา|อ่านหนังสือไม่ปฏิบัติ..ระวังมิจฉาทิฏฐิ|พระพุทธเจ้าเทศน์โปรดพระพาหิยะ

8. เพื่อพระนิพพาน|ข้อปฏิบัติเพื่อพระนิพพานโดยเคร่งครัด| มั่นคงในพระรัตนตรัย|สุปปพุทธกุฏฐิ|พระโสดาบันเคารพจริง..สำหรับพระดี|ต้องละสังโยชน์จึงจะเกิดประโยชน์| ติดอุปาทานต้องเวียนว่ายตายเกิด|อิทธิบาท ๔|ไม่คบคนพาล|ตัดอบายภูมิ|ไฟนรกดับ| ชีวิตเหมือนใบไม้ในป่า| เป็นพระโสดาบัน|

วางเฉย
อริยสัจ
ทำลายเหตุให้เกิดทุกข์
พระโคธิกะ
อรหันต์ตัดร่างกายตัวเดียว
ให้ทานตัดกิเลส
สรุปทานตัดกิเลส
อุปสมานุสสติกรรมฐาน
พระนิพพานไม่สูญ
เรื่องของการเห็น
พบพระแปลกหน้าในป่า
การเห็นมีหลายชั้น
มนุษย์ต้องการเห็น
หลวงพ่อเคยเทศน์ว่านิพพานสูญ
ความไม่ประมาท..ปัจฉิมวาจา


webmaster - 31/1/12 at 16:04

1

๑.ให้รู้ทุกข์



มองให้เห็นทุกข์


เธอจงเห็นทุกข์ในปัจจุบันที่เรียกว่า นิพัทธทุกข์ เสียก่อน นิพัทธทุกข์ คือทุกข์เนืองนิตย์ที่มีอยู่ทุกวัน มันมีอะไรบ้าง เมื่อบริโภคอาหารเข้าไปแล้วกิจอื่นที่จะตามมาเนื่องด้วยอาหารนั่นคืออะไร น้ำที่บริโภคเข้าไปมาก ร่างกายใช้เหลือความต้องการก็เกรอะทิ้งมา มาเป็นปัสสาวะ แล้วอาหารก็เช่นเดียวกัน ที่ร่างกายไม่ต้องการแล้วเป็นกากที่เราเรียกกันว่าอุจจาระ

ร่างกายต้องการถ่ายน้ำที่ไม่ต้องการ ระบายอาหารที่ไม่ต้องการ ที่เราเรียกว่าปวดอุจจาระปัสสาวะ มันเป็นความสุขหรือความทุกข์ ตามบันทึกท่านทูลตอบว่า มันเป็นความทุกข์พระเจ้าข้า และเป็นความทุกข์ที่เหลือที่จะทน ไม่ได้ทนได้ยาก เหลือที่จะทน คือทนไม่ไหว ท่านก็ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นจงจำไว้ว่า อาหารนี่ไม่ใช่ปัจจัยของความสุข อาหารนี่เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ จะหาสุขจากอาหารจริงๆ นั้นมันไม่มี

ต่อจากนั้นองค์สมเด็จพระชินสีห์ตรัสว่า เธอจงคิดไว้เสมอว่าชีวิตเลือดเนื้อและร่างกาย ถ้ายังมีอยู่เพียงใด คำว่าหมดทุกข์ไม่มี เราจะต้องประสบกับความทุกข์อย่างนี้ตลอดเวลา ถ้าเราจะสิ้นทุกข์ได้ก็เพราะอาศัยเห็นว่าร่างกายที่เราเกิดมานี่มันเป็นทุกข์ แล้วก็สมบัติที่เราถือว่าเป็นเรา เป็นของเรานี่มันได้มาด้วยความทุกข์ คืออาศัยความเหน็ดเหนื่อยเป็นของสำคัญ ถ้าเราไม่เหน็ดเหนื่อยแล้วเราก็ไม่ได้มา

เมื่อได้มาแล้ว หามาได้แล้ว แทนที่จะใช้สอยให้มันเป็นการพอดี ให้มันทรงอยู่กับเรา มันก็เปล่า มันก็สิ้นไปเสื่อมไป ทำไมจึงจะมานั่งสนใจด้วยอาหาร ด้วยเรื่องร่างกาย แต่ที่กล่าวอย่างนี้ไม่ใช่ให้ทำลายร่างกาย ไม่ใช่อดอาหาร เพราะว่ามันเกิดมาแล้ว ร่างกายที่เกิดมาเราก็ต้องเลี้ยงมัน มันเป็นของธรรมดา แต่ถ้าหากว่าเราจะพึงปรารถนาในมันนั้น เห็นไม่สมควร จงมีความรู้สึกอยู่เสมอว่า หน้าที่ในการบริหารร่างกาย เราจะพึงทำเมื่อร่างกายต้องการอะไรบ้าง

แต่ไม่ฟุ้งเฟ้อเกินไป ตั้งใจบริหารมันเข้าไว้ เพื่อว่าเป็นการระงับความทุกข์ส่วนหนึ่ง แต่ทว่ามันไม่ได้เป็นการหายทุกข์ มันเป็นการบรรเทาความทุกข์ และจงคิดว่าความสุขจริงๆ ก็คือ อธิโมกขธรรม ได้แก่ ธรรมเป็นเครื่องพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้แก่ พระนิพพาน คนที่จะถึงพระนิพพานได้ ก็ต้องอาศัยไม่ติดอยู่กับปัจจัยที่ทำให้เกิดความทุกข์ คือร่างกาย ไม่ติดอยู่ในรสอาหาร นี่เป็นอันดับแรก

แล้วต่อไปเธอจงถอยหลังเข้าไป ส่วนใหญ่ของบุคคลที่พึงคิด เขาจะไม่คิดถึงความเป็นจริงของร่างกาย แล้วไม่คิดถึงความเป็นทุกข์ของร่างกาย ในศัพท์ภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่าจับปลายรูป นั่นคือมองไม่เห็นความทุกข์ เข้าใจว่าเหตุที่เกิดทุกข์มันเป็นปัจจัยของความสุข คือเลี้ยงร่างกายให้อ้วนพี พยายามทะนุถนอมร่างกายนี้ให้มันไม่ทรุดโทรม ร่างกายต้องการอะไรหาให้ทุกอย่าง

แต่ว่าเธอเคยเห็นไหมว่าคนที่บำรุงบำเรอร่างกายอยู่เป็นปกติเขามีความสุข เป็นอันว่าเธอจะหาไม่ได้ ไม่มีปัจจัยส่วนใดที่จะเป็นเหตุให้เกิดขึ้นได้ มันก็จะมีแต่ความทุกข์ส่วนเดียว จงจำถ้อยคำนี้ไว้ให้ดีว่า ร่างกายนี้มันเป็นความทุกข์ อาหารที่เราได้มาก็ได้มาจากความทุกข์ ถ้าต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนี้เราก็ต้องทำกิจอยู่อย่างนี้ทุกวัน วันละหลายๆ ครั้ง

ทั้งนี้ก็เพราะว่าเราจะกินข้าวเช้าแต่เวลาเดียวมันก็ไม่อิ่มไปตลอดวัน วันหนึ่งเราบริโภคหลายหน เมื่อบริโภคเข้าไปแล้วแทนที่จะสิ้นทุกข์ มันก็เกิดทุกข์เนื่องจากการขับถ่ายของร่างกาย ร่างกายเป็น โรคนิทธัง มันเป็นรังของโรค มันมีอาการเสียดแทงอยู่เป็นปกติ ทุกข์อื่นใดที่จะทุกข์ยิ่งกว่าร่างกายนั้นไม่มี คือความปรารถนาของร่างกายนี้เป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ทุกอย่าง

เธอจงวางภาระคือขันธ์ห้า ได้แก่ร่างกายเสีย จงจำไว้ว่าคนเราจะเกิดมาทรงตัวอยู่ได้อย่างนี้มันเต็มไปด้วยความทุกข์ตลอดเวลา การทำไร่ไถนาหรือการแสวงหาทรัพย์สินมาเพื่ออาหารการบริโภคในชีวิตนี้เราจะไม่มีโอกาสได้หยุด ต้องทำตลอดชีวิต แล้วการต้องทำตลอดชีวิตอย่างนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ นับตั้งแต่นี้ต่อไปเธอจงใช้ปัญญาหาทุกข์ให้พบ ถ้าเธอยังเห็นว่าโลกนี้จุดใดจุดหนึ่งเป็นอาการของความสุข นั่นก็ชื่อว่าเธอไร้ปัญญา

ถ้าขณะใดเธอพิจารณาในมุมโลกทั้งหมด คนทุกขนาด ทุกประเภท ทุกชั้น ทุกวรรณะ ทุกชั้นทุกวัย ไม่ว่าคนประเภทใด เห็นอาการเขามีความทุกข์ แล้วก็จิตใจของเธอมีอาการไม่มีเยื่อใยกับอาการของความทุกข์ทั้งหลายเหล่านั้น แล้วก็มีความปรารถนาทำลายให้มันสิ้นไป ชื่อว่าเธอมีปัญญาสามารถจะเข้าเป็นพระอริยเจ้าได้

ทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด


องค์สมเด็จพระประทีปแล้วทรงสั่งสอนเราว่า โลกนี้เป็น

อนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้

ทุกขัง มีแต่ความทุกข์

อนัตตา ทุกสิ่งทุกอย่างมีการสลายตัวไปในที่สุด


การเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นพรหม เกิดเป็นสัตว์ก็ตาม ย่อมเต็มไปด้วยความทุกข์ เราต้องบริหารประกอบกิจการงานเพื่อความเป็นอยู่ของตน และงานทุกประเภทนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ทำแล้วมันก็ต้องทำอีกอย่างนี้ตลอดเวลา ทำไปจนจะตายเราก็ยังไม่ว่าง ตายแล้วถ้าหากว่ายังไม่หมดกิเลสเพียงใด เราก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ก้าวลงไปเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน

เราก็ชื่อว่าเราขาดทุน ถ้าหากว่าเราวนมาแค่มนุษย์ เราก็ชื่อว่าขาดทุนเหมือนกัน เพราะว่าถ้าเราเป็นมนุษย์แล้ว เรากลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็ชื่อว่าเราไม่มีอะไรดีขึ้น เรายังเป็นทาสกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรมอยู่ เราก็จะขอยึดถือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระบรมครู อย่างเลวที่สุด เมื่อตายแล้วชาตินี้เราก็จะเป็นเทวดา หรือว่าเราจะทำความดีอย่างกลาง เราก็จะเกิดเป็นพรหม

หรือมิฉะนั้น สิ่งที่เราต้องการที่สุดนั่นก็คือ พระนิพพาน นี่เพราะพระนิพพานเป็นที่แห่งเดียวเท่านั้น เป็นที่เสร็จกิจ กิจที่ต้องทำไม่มีอีกแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงเทศน์ไว้ในธรรมจักกัปปวัตนสูตรก็ดี อาทิตตปริยายสูตรก็ดี อนัตตลักขณสูตรก็ดี ลงท้ายองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศน์แบบนี้ว่า สิ่งที่เราจะต้องทำ เราทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่เราจะต้องทำไม่มี นี่หมายความว่าเราเป็นพระอรหันต์

ถ้ายังไม่ถึงพระอรหันต์เพียงใด เราก็ยังคงต้องทำต่อไป กิจประเภทนั้นก็คือกิจที่จะต้องทำต้องปฏิบัติบริหารเพื่อตัวเอง เพื่อครอบครัว เพื่อเพื่อนฝูง เพื่อหมู่คณะ หรือเพื่อประเทศชาติ เป็นต้น ซึ่งมันก็เป็นกิจเหน็ดเหนื่อย การเบื่อกิจที่ทำแล้วทำอีกอย่างนี้มีตัวอย่างในพระธรรมบทขุททกนิกาย สมัยเมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วประมาณ ๑๐ ปี ในระยะนี้ไม่เกิน ๑๐ ปี

พระอนุรุทธเกิดความเบื่อ


เทวทหะก็ดี ศากยราชคือพระญาติขององค์พระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เทวทหะเป็นญาติของทางฝ่ายพระนางพิมพาราชเทวี ตระกูลทั้ง ๒ นี้เป็นพระญาติในเครือเดียวกัน ต่างคนต่างก็ออกบวชในพระพุทธศาสนากันมาก ทีนี้สมัยนั้น ท้าวมหานามเป็นกษัตริย์ทางศากยราชที่กบิลพัสดุ์ ท่านท้าวมหานามมีพี่น้องอยู่ ๒ คน คือท่านท้าวมหานาม พระอนุรุทธ และพระนางโรหิณี

ท้าวมหานามเรียกพระอนุรุทธเข้ามาว่า “...ศากยะก็ดี เทวทหะนครก็ดี ต่างคนต่างบวชตามองค์สมเด็จพระชินสีห์กันหมด เหลือแต่ตระกูลเรา ๒ คนนี่เท่านั้นที่ยังไม่มีคนบวช ถ้ากระไรก็ดีพี่จะขอบวช ขอน้องจงอยู่ครองสมบัติขึ้นเป็นพระราชา...”

พระอนุรุทธก็นิ่งฟัง แล้วท่านท้าวมหานามก็กล่าวว่า “...ถ้าเจ้าจะเป็นพระราชาปกครองคน จงเรียนถึงกิจของพระราชา หรือของประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการ...” สมัยนั้นพระราชามีงานมาก ต้องทำนา แต่พระอนุรุทธเป็นพระอนุชา ไม่เคยลำบากต้องทำงานกับเขา จึงถามว่าวิธีทำนาเป็นอย่างไร

ท่านท้าวมหานามก็กล่าวว่า “...เวลาที่จะทำระยะแรกก็นำวัวควายออกไป นำไถออกไป นำอุปกรณ์ออกไป ไถให้เป็นรอย แล้วก็เอาข้าวหว่านลงไป แล้วก็ไถกลบ เอาคราดคราด แล้วก็เก็บขี้หญ้า...”
พระอนุรุทธถามว่า “...เสร็จแล้วหรือ...”

ท้าวมหานามก็บอกว่า “...ยังไม่เสร็จ ต่อนี้ไปก็ดูน้ำ พืชข้าวว่าจะเกิดขึ้นดีหรือไม่ ถ้าปรากฏว่ามีวัชพืชคือพืชที่จะเป็นอันตรายแก่ต้นข้าวก็ต้องถากต้องถางต้องถอน เป็นการรักษาต้นข้าว ถ้ามีตัวเพลี้ยตัวหนอนก็ต้องหาวิธีไล่เพลี้ยหนอนที่กินกอข้าว...”
พระอนุรุทธถามว่า “...เสร็จหรือยัง...”

ท้าวมหานามก็บอกว่า “...ยังไม่เสร็จ ต่อไปเมื่อข้าวโตขึ้นมาก็เป็นรวง เมื่อเป็นรวงแล้วก็มีเมล็ด แก่เต็มที่ก็ต้องเก็บเกี่ยว และเกี่ยวเสร็จแล้วก็มานวด นวดเสร็จแล้วก็เก็บไว้ในยุ้งฉาง...”
ท่านพระอนุรุทธถามว่า “...เสร็จหรือยัง...”

ท่านมหานามก็บอกว่า “...ยังไม่เสร็จ และบอกต่อไปว่า ต่อไปก็ต้องนำข้าวมาสะสางมาสีให้พร้อมเป็นข้าวสาร แล้วก็นำมา...”
พระอนุรุทธถามว่า “...เสร็จแล้วหรือยัง...”

ท่านท้าวมหานามก็บอกว่า “...ยังไม่เสร็จ กินข้าวป่าเก่าเข้าไปแล้ว เมื่อถึงฤดูทำนาใหม่ก็ต้องนำเอาข้าวเก่าไปทำพันธุ์ข้าวปลูกมาใหม่ แล้วทำมันอย่างนี้เรื่อยไป ถึงปีก็ต้องทำใหม่ ได้ข้าวก็เกี่ยวอย่างนี้ตลอดชีวิต...”
ท่านพระอนุรุทธถามว่า “...กิจของการทำนานทำมาหากินนี่มันไม่มีการหยุดกันหรือ...”

ท่านท้าวมหานามก็บอกว่า “...หยุดไม่ได้ เพราะเราต้องกิน และญาติผู้ใหญ่ของเราทุกระดับชั้นก็ทำแบบนี้ ถึงแม้ว่าจนกระทั่งตายท่านก็ไม่มีโอกาสหยุด เพราะเป็นกิจที่เราจะต้องทำ...”
ท่านพระอนุรุทธบอกว่า “...ถ้าเช่นนั้นเราจะบวช พี่ก็เป็นพระราชาต่อไป...”

เป็นอันว่าท่านท้าวมหานามก็ตามใจ ความจริงเวลานั้นท้าวมหานามเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ว่าปฏิบัติธรรมะได้ถึงพระอนาคามี ต่อมาท่านก็บวชในพระพุทธศาสนา อาศัยที่ได้ฟังธรรมจากท้าวมหานามบอกว่าเกิดเป็นมนุษย์หาความหยุดไม่ได้ ต้องทำมาหากินกันต่อไป แล้วมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ ก็ต้องหากินกันแบบนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ท่านจึงไม่ต้องการหากินต่อไป

ถามเรื่องเวียนว่ายตายเกิด


“...ผมขออภัยครับ ผมขอถามข้อความตรงนี้หน่อยว่า ที่ในพระไตรปิฎก หรือที่ได้ยินพระเทศน์เรื่องนางปฎาจารา แล้วมีข้อความว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า นางปฏาจารา เธอนี้มีความทุกข์และร้องไห้มาหลายชาติ น้ำตาของเธอรวมกันแล้วมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ข้อความอันนี้เป็นความจริงหรือเปล่าครับ...”
“...จริง ถ้าคุณไม่มั่นใจ คุณไปถามนางปฎาจาราดู อ้าว..ต้องไปให้ได้...”

“...ถ้าหากว่านางปฎาจาราเวียนว่ายตายเกิดเช่นนั้น บุคคลอื่นๆ ก็เวียนว่ายตายเกิดเช่นนางปฎาจาราหรือเปล่าครับ...”
“...อาจจะมากกว่าก็ได้...”
“...แล้วก็แสดงว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ นั้น ก็เป็นน้ำตาของคนทั้งหลายที่ได้เวียนกันมาแล้วใช่ไหม...”
“...อาจจะมีน้ำเยี่ยวผสมด้วยก็ได้ (หัวเราะ)...”


อวิชชา


วันนี้จะให้ท่านรู้จักคำว่า อวิชชา อวิชชานี่ท่านแปลว่าไม่รู้ และก็ขอโปรดทราบคำว่าไม่รู้ในที่นี้ไม่ใช่ความหมายว่าไม่รู้อะไรเสียทั้งหมด ความจริงคนและสัตว์เกิดมาย่อมมีความรู้ เช่น รู้หิว รู้ร้อน รู้กระหาย รู้จักพ่อ รู้จักแม่ รู้จักกิจการงาน รู้จักปวดอุจจาระ รู้จักปวดปัสสาวะ เป็นต้น เป็นอันว่าคนเรามีความรู้ แต่ว่าสำหรับคำว่าอวิชชาที่ว่าไม่รู้นี่ มีขอบเขตจำกัด

คือว่า ไม่รู้ที่สุดของความทุกข์ หมายความว่า ไม่รู้จักหาเหตุที่ทำทางให้เกิดแห่งความทุกข์ รวมความว่าไม่รู้ทุกข์ และก็ไม่รู้เหตุของความดับทุกข์ และก็ไม่รู้จักความดับทุกข์ คือไม่รู้เหตุด้วย และไม่รู้จักดับทุกข์ ตัวนี้ตัวสำคัญ เป็นอันว่าวันนี้อธิบายกันตอนนี้ ขอให้เราทั้งหลายพากันศึกษาเรื่องของอวิชชาให้เข้าใจ บางทีท่านทั้งหลายจะมีความเข้าใจว่า

ทำไมนำเรื่องของอวิชชามาพูดกันทำไม เป็นอันว่าถ้าท่านเข้าใจในอวิชชาเสียแล้ว และก็สามารถทำวิชชาให้เกิดขึ้น อวิชชาแปลว่าไม่รู้ คือแปลว่าโง่ ถ้าสามารถทำวิชชาคือความรู้ ได้แก่ความฉลาดให้เกิดขึ้น ความสุขมันก็มีกับใจ คือคำว่าไม่รู้จักทุกข์ ก็ได้แก่คนที่มีความประมาทในความเป็นอยู่ หรือว่ามีความประมาทในชีวิต คิดว่าเรายังไม่ตาย คิดว่าความเป็นอยู่ของเรามีความสุข คิดว่าเราไม่แก่ คิดว่าเราไม่ป่วย คิดว่าเราไม่จน

รวมความว่าเป็นความคิดเห็นในด้านแห่งความผิด แต่เนื้อแท้จริงๆ การทรงชีวิตอยู่ของเราเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ต่อไปนี้ก็จะมาขอพูดถึงว่า ทำไมไม่รู้จักทุกข์ เพราะว่าความจริงทุกข์มีอยู่ แต่คนมองไม่เห็นทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์มีอยู่ แต่คนมองเห็นเหตุที่ให้เกิดทุกข์เป็นเหตุของความสุข แล้วก็ไม่รู้จักควานหาความดับทุกข์ คำว่าทุกข์ในที่นี้ ถ้าเราจะใช้ปัญญาพิจารณากันเล็กน้อย

เราก็จะทราบชัดว่า ความทุกข์ที่ปรากฏขึ้นกับเรามันมีอะไรบ้าง มานั่งหาความทุกข์กันสักนิดหนึ่ง คือความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเราจริงๆ มันมีอยู่ทุกวัน ตอนเช้าตื่นขึ้นมามีความรู้สึกยังไง ถ้าไม่ชำระล้างหน้า ไม่แปรงฟัน มันสบายหรือไม่สบาย และก็บังเอิญมันตื่นขึ้นมาแล้วการปวดอุจจาระปัสสาวะมันเกิดขึ้น ถ้าเราหาโอกาสในการถ่ายไม่ได้ ใจของเราจะเป็นสุขหรือว่าใจของเราจะเป็นทุกข์

นี่เราไม่พูดกันถึงกาย กายนี้ถ้ามันไม่มีใจเสียอย่างเดียว มันก็ไม่มีความรู้สึก ความสุขหรือความทุกข์นี้มันอยู่ที่ใจ ถ้าหิวอาหารไม่ได้บริโภคอาหาร มันเป็นความสุขหรือความทุกข์ การประกอบกิจการงานทุกอย่างต้องใช้กำลังกาย ต้องใช้กำลังทรัพย์ ต้องใช้กำลังความคิด มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ การปฏิบัติงานทุกประเภทต้องมีการกระทบกระทั่งในระหว่างบุคคล

หรือมีความขัดข้องในกิจการงาน ซึ่งมันเป็นไปได้ไม่สะดวกนัก ความไม่สะดวกของการงานมันเป็นอาการของความสุขหรือความทุกข์ นั่งคิดดูให้ดี คนร่ำรวยสุขหรือทุกข์ รวยมากระแวงอันตรายมาก รวยมากมีความวุ่นวายมาก เป็นอันว่าคนรวยนอนสะดุ้งอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะเกรงว่าอันตรายจะเกิดขึ้นจากบุคคลต้องการทรัพย์สิน

ซึ่งเราได้ยินข่าวอยู่เสมอ สองวันนี้ก็มีข่าวว่าจับคนเอาไปเรียกค่าไถ่ และในโอกาสนี้น้ำท่วมถึงหลังคา ทรัพย์สินอะไรมันจะเหลือ บางคนก็ต้องลอยในน้ำ ไม่สามารถจะช่วยตัวเองได้ สำหรับคนที่ยังไม่ตายก็มีแต่ความหิวโหย ตามข่าวว่าเจ้าหน้าที่ทหารเอาข้าวสารไปแจก คนมากกว่าข้าวสาร เข้าทำการยื้อแย่งข้าวสารกัน นี่เป็นว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นเรื่องของโลก มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์

ถ้าบางทีสำหรับคนโง่ที่มีอวิชชาเข้าประจำใจ ก็จะคิดว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันไม่เกิดกับเรา เพราะอะไร เพราะว่ามันยังมาไม่ถึงเรา เราก็คิดว่ามันจะมาไม่ถึงเรา เราก็ต้องคิดไว้ว่าสักวันหนึ่งข้างหน้า ถ้าอาการอย่างนี้มันเกิดขึ้นมันจะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ และก็ช่วยกันนั่งนึกถึงตรงนี้ไว้ให้มาก นี่เป็นทุกข์ภายนอก

สำหรับทุกข์ภายในที่ได้กล่าวว่า เมื่อเราเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องมีความแก่เป็นธรรมดา ไม่สามารถล่วงพ้นความแก่ไปได้ คนแก่นี้มีความสุขหรือว่ามีความทุกข์ เรายังไม่แก่ เราอาจจะไม่มีความรู้สึก หรือว่าคนแก่หลายคนก็อาจจะไม่มีความรู้สึกว่าไอ้ความแก่นี่มันสุขหรือว่ามันทุกข์ คนที่ยังแก่ไม่มากหรือว่ายังไม่แก่อาจจะมองเหยียดหยามคนแก่ว่า ท่าทางของคนนี่งกๆ เงิ่นๆ เป็นที่น่ารังเกียจ

จะลุกจะเดินจะนั่ง จะทำอะไรแต่ละอย่างก็รู้สึกว่าน่าเกลียดไปเสียทุกอย่าง ไม่มีอะไรดีเลย อาการอย่างนี้มันเป็นความประมาทที่เรียกว่า อวิชชา ไม่ได้คิดว่าอาการอย่างนั้นสักวันหนึ่งข้างหน้ามันจะต้องมาพบกับเรา ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่าเรากับเขามีสภาพเช่นเดียวกัน คนแก่ก็มาจากคนหนุ่มคนสาว สำหรับคนหนุ่มคนสาวไม่ช้าก็เดินเข้าไปหาความเป็นคนแก่

ถ้าเรายังไม่แก่ก็ดูคนแก่ว่าเขาทำอะไรกันบ้าง กิจการงานทุกอย่างเขาไม่สามารถจะช่วยตนเองได้เหมือนเมื่อสมัยความเป็นหนุ่มเป็นสาว งานที่เคยคล่องตัวคนแก่ทำไม่ไหว ต้องหาคนอื่นเข้ามาช่วยทำ การที่จะไหว้วานคนอื่นเขามันเป็นอาการของความสุขหรือความทุกข์ เราก็ต้องถือว่ามันเป็นอาการของความทุกข์ ทั้งนี้เพราะอะไร

ทุกข์ใจ กายน่ะมันทุกข์แน่ เพราะว่ากายเราทำไม่ไหวก็ไปวานคนอื่นเขา ถ้าบังเอิญคนอื่นเขาเกิดไม่ตามใจเรา ทั้งนี้มันจะเป็นอย่างไรล่ะ เราวานเขาสมมติว่าจะยกอะไรสักนิดหนึ่ง วานเขายกอะไรสักนิดหนึ่ง วานเขายก แต่เรื่องของเราต้องการความรีบด่วน แต่เขาบอกว่าเดี๋ยวก่อนก็ได้ แล้วเขาก็เดินเลยไป ตอนนี้กำลังใจของเราจะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ มันก็เริ่มทุกข์แล้ว แก่เป็นทุกข์

ต่อมาท่านก็กล่าวว่า การเกิดขึ้นมันก็ต้องมีความป่วยไข้ไม่สบายเป็นธรรมดา ไม่สามารถจะล่วงพ้นความป่วยไข้ไม่สบายไปได้ อาการป่วยไข้ไม่สบายนี้ ความจริงทุกคนมีมาทุกคน รู้จักป่วยมาตั้งแต่เกิด ไม่ใช่ว่าจะมาเพิ่งรู้จักป่วยอีตอนที่เวลานี้ อยู่ที่นี้

คำว่าป่วยนี้ก็หมายความว่าโรค โรคนี้ก็หมายถึงอาการเสียดแทง และจากนั้นมาเราก็มีโรคทุกอย่าง การป่วยไข้ไม่สบายแต่ละคราวมันเป็นอาการของความสุขหรือความทุกข์ นี่เป็นอันว่าทุกข์มันมีอยู่กับเราทุกวัน แต่ว่าเราไม่คิด

โรคชนิดหนึ่งที่มีกับเราเป็นประจำที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ชิฆัจฉา ปรมา โรคา ขึ้นชื่อว่าความหิวมันเป็นโรคอย่างยิ่ง โรคก็แปลว่าเสียดแทง คราวนี้ความหิวมันก็มีกับเราหรือเปล่า โรคหิวมันมีวันละหลายครั้ง ยังมีโรคปวดหัว ท้องอืด เสียดท้อง เจ็บโน่น ปวดนี่ ก็ไม่มีอะไรจะดีสักอย่าง

นี่เป็นอันว่าการเกิดของเรามา มันเต็มไปด้วยความทุกข์ ทุกข์มันมาจากไหน มาจากขันธ์ ๕ คือร่างกาย ถ้าไม่มีร่างกาย มันจะมีทุกข์มาจากไหน ต่อมาทุกข์สำคัญขั้นสุดท้าย ก็คือความตาย คนทุกคนก็เดินเข้าไปหาความตาย แต่ผู้ที่มีอวิชชาคือความโง่ ไม่เคยคิดว่าจะตาย เห็นชาวบ้านเขาตายยอมรับนับถือว่าเขาตาย เผาชาวบ้านเขาได้ แต่ไม่เคยคิดว่าเราจะต้องถูกเผาบ้าง

อาการอย่างนี้เป็นอาการของความโง่หรือเป็นอาการของความฉลาด คราวนี้เราก็จะเห็นได้ว่ามันเป็นอาการของความโง่ ไม่มีอาการของความฉลาด สำหรับคนที่ฉลาดเป็นยังไง คนที่ฉลาดมีความไม่ประมาทในชีวิต คิดว่าถ้ายังเกิดอยู่อย่างนี้ เราก็หาความดีอะไรไม่ได้ ต้องหาทางตัดความเกิดเสีย คือสามารถทำอาสวกิเลสที่ปรากฏในจิตให้สิ้นไป

สนทนาเรื่อง...เกิดเพราะโง่


หลวงปู่บุดดาเคยบอกว่า ไอ้พวกที่เกิดมานี่โง่ทั้งนั้น แน่..เสียงเอะอะโวยวาย มันโง่มันถึงเกิด ถามหลวงปู่โง่หรือเปล่า โง่น่ะสิ (หัวเราะ) มันโง่น่ะสิข้าถึงเกิด แต่ความจริงเราก็โง่ด้วยกันทั้งนั้น คือว่าถ้าเราไม่โง่เราก็ไม่เกิด ใช่ไหม แต่ว่าเมื่อเกิดมาแล้วมันพบความไม่โง่ เราก็เลิกโง่กันเสียที แต่ก็ต้องเข้าใจไว้ด้วย กว่าเราจะพบความไม่โง่นี้เราต้องใช้เวลาเกิดกันไม่รู้ว่ากี่อสงไขยกัป ถ้านับเป็นกัปก็นับเป็นอสงไขยกัป

กรรมโง่


เรื่องการเจริญพระกรรมฐานนี่นะ ถ้าเราไม่มีความฉลาดนี่ จะถามว่าคนพูดฉลาดไหม ถ้าฉลาดก็เป็นอรหันต์นานแล้วใช่ไหม แต่ว่ามีกำของกรรมอยู่อย่างหนึ่งคือกรรมโง่ กรรมฉลาดไม่เป็นไร สำคัญกรรมโง่น่ะสิ ไอ้ที่เราทำอะไรกันไม่ได้นี่เพราะกรรมโง่ เราทำกรรมโง่เราจะโทษใครก็ไม่ได้นะ เพราะว่าในหลักสูตรพระพุทธศาสนานี่ยอมรับนับถือกฎของกรรม

คำว่า กรรมโง่ ก็คือว่า กรรมที่เป็นอกุศลในกาลก่อนมันเข้ามาปิดบัง มันจึงทำให้เราโง่ใช่ไหม ถูกไหม (ถูกครับ) ถูกหรือ แกรู้ชาติก่อนรึ แกทำอะไรไว้บ้างล่ะ เป็นอันว่าเราก็เดาๆ กันเอา เดาเอาว่าทำไมเราจึงมีอารมณ์รักในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ทำไมเราจึงมีอารมณ์โลภ ทำไมเราจึงมีอารมณ์โกรธ ก็เพราะเราหลงใช่ไหม หลงตัวไหน คือหลงไม่ได้ใช้ปัญญา

ถึงแม้เราไม่ได้ใช้ปัญญานี่ถ้าเราจะใช้สัญญากันก็ยังดี ไอ้สัญญานี่ก็ไม่ใช้ สัญญา แปลว่า ความจำ ปัญญา แปลว่า ความรู้ สัญญานี่ ถ้าเราจำสักหน่อยเดียว เราก็จะเป็นคนดีได้ จำว่าคนเกิดมามันก็โตขึ้นมาทุกวันๆ เมื่อโตแล้วไม่พอ เป็นหนุ่มเป็นวาวเต็มที่มันก็เริ่มแก่ลงไปทุกวันๆ ใช่ไหม และในช่วงที่มันตั้งแต่เด็กยันแก่เนี่ย มันก็มีอาการป่วยไข้ไม่สบายเป็นปกติ คนที่ไม่มีโรคเลยไม่มีในโลก

อย่างพระสีวลี พระพุทธเจ้าทรงบอกว่า ตั้งแต่เกิดมาหาโรคภัยไข้เจ็บไม่ได้ แม้แต่ลูกสมอพระสีวลีก็ไม่เคยกิน คำว่าลูกสมอนี่ ลูกสมอมันเป็นยาถ่าย พระสีวลีไม่มีโรค แม้แต่ใช้ยาถ่ายนิดหนึ่งก็ไม่มี เมื่อสมเด็จพระชินสีห์ตรัสอย่างนี้ ตาพราหมณ์คนหนึ่งแกได้ท่าใช่ไหม แกนึกว่า เอาละ.. พระสมณโคดมนี่เราจะหวดให้หงายท้อง แกก็ถามว่า

“..พระสมณโคดม ท่านกล่าวว่าร่างกายเป็น โรคนิทธัง มันเป็นรังของโรค เป็นอันว่าคนและสัตว์ทั้งหมดที่เกิดมาในโลกนี้ ต้องมีโรคภัยไข้เจ็บ ปภังคุณัง จะต้องเปื่อยเน่าเป็นธรรมดา แต่ทว่าเวลานี้ท่านกล่าววาจาขัดกันกับวาจาก่อน ท่านกล่าวว่าพระสีวลีเป็นผู้ไม่มีโรค แสดงว่าวาจาของท่านนี่ใช้ไม่ได้...”

องค์สมเด็จพระจอมไตรตรัสว่า “...ไอ้ที่เราว่าไม่มีโรคนี่ หายความว่า ไอ้โรคอาการเสียดแทงต่างๆ ที่หมอเขาเรียกว่าโรค แต่เนื้อแท้จริงๆ พระสีวลีก็มีโรคชนิดหนึ่งเหมือนกัน แต่ว่าเป็นโรคที่ชาวบ้านเขาไม่เรียกกันว่าโรค...”

เอาละสิ ทีนี้พราหมณ์แกก็สงสัย เอ..ไอ้โรคระยำอะไรหนอ..ที่ชาวบ้านเขาไม่เรียกว่าโรค อย่าลืมนะคำว่า โรคะ คือ โรค เขาแปลว่า การเสียดแทง อาการที่เสียดแทงทางกายก็ดี เสียดแทงทางใจก็ดี พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าโรค ถ้าความจนมันบีบคั้นเราไม่มีสตางค์ใช้ใจไม่สบาย เขาเรียกว่าโรคทางใจ ใช่ไหม

ทีนี้องค์สมเด็จพระจอมไตรก็ตรัสว่า “...ชิฆัจฉา ปรมา โรคา...” ความหิวมันเป็นโรคอย่างยิ่ง ไอ้โรคะที่เราฟังกันเป็นโรค แต่ว่าแขกเขาฟังเขารู้ แขกเขาฟังคำว่าโรคหรือโรคะ มันมีอาการเสียดแทง ท่านถามว่า “..ไอ้คนหิวนี่มันเสียดแทงไหม? มันเดือดร้อนไหม?...” ตาบังพราหมณ์ก็บอก
“...ใช่ เสียดแทง...”

พระพุทธเจ้าบอก “...พระสีวลีเป็นโรคนี้โรคหนึ่ง แต่ว่าเป็นโรคที่ชาวบ้านเขาว่าไม่ใช่โรค แต่ว่าเนื้อแท้จริงๆ มันเป็นโรคใช่ไหม...” เป็นอันว่าถ้าเราเป็นคนมีสัญญา คือความจำ เราก็นั่งจำว่าวัตถุธาตุชิ้นไหนบ้างที่มันเกิดมาแล้วมีการทรงตัว มันผ่องใสใหม่เอี่ยมอยู่เสมอ มันมีไหม มันก็ไม่มีใช่ไหม

คนหนุ่มอยู่ตลอดเวลา สาวตลอดเวลา สวยตลอดเวลามันไม่มี หาไม่ได้ และคนที่จะทรงตัวอยู่ตลอดกาลตลอดสมัยไม่ตายมันก็ไม่มีอีก นี่ความจริงสิ่งเหล่านี้มันปรากฏกับเราเป็นปกติ แต่ว่าเราไม่จำ บางทีอาการที่มันเกิดขึ้นมากับเรานี่ เวลาเจ็บป่วย โอ้โฮ..ดิ้นร้องครางแหงๆๆ เสียงหมานี่หว่า ดังอ๋อยๆๆ คนนะ แหงๆๆ มันเสียงหมา แต่บางทีครางเหมือนหมาเหมือนกันนะ..มี บางทีมันครางยิ่งกว่าหมา เพราะทุกขเวทนามันหนัก

ถ้าเราจำไว้ว่าไอ้โรคประเภทนี้มันมีอยู่ มันมีทุกขเวทนา ไอ้ทุกขเวทนาประเภทนี้มันกินอะไร มันกินกายหรือว่ามันกินใจ แต่เนื้อแท้จริงๆ มันไม่ได้กินใจ มันกินกาย แต่ใจมันเสือก ฮึ! มันกินกายแต่ใจเสือกเจ็บหรือไงหว่า ถ้าใจไม่เข้าไปยุ่งมันไม่เจ็บ เป็นไงดีไหม ดีไหม คนป่วยนี่บางครั้งใจไม่เข้าไปยุ่ง มันไม่เจ็บใช่ไหม

พบพระพุทธศาสนาควรจะไปนิพพาน


ถ้าหากเราเป็นมนุษย์มาพบพระพุทธศาสนา ยังมีความประมาทอยู่ว่าเราควรจะเกิดต่อไป ก็ชื่อว่าเราอยู่ในภาวะของอวิชชา คำว่า อวิชชา แปลว่า ความโง่ มีอารมณ์ไม่เข้าถึงความเป็นจริง ฉะนั้น ขอให้บรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิงจงมีความภูมิใจว่า เวลานี้เราเกิดมาทันพระศาสนาขององค์พระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ในขณะที่อริยมรรคอริยผลยังบริบูรณ์และสมบูรณ์

ฉะนั้น การทำตนให้เข้าถึงพระอริยมรรคอริยผล ความจริงเป็นของไม่ยาก องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกล่าวว่า บุคคลใดเกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา แล้วมีศรัทธา ความเชื่อ ปสาทะ ความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มีจิตน้อมไปในกุศล แสดงว่าบุคคลนั้นมีบารมีเข้าถึงปรมัตถบารมี คำว่า บารมีนี้ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททราบชัดว่า แปลว่า กำลังใจ

หากว่าบรรดาท่านทั้งหลายสร้างกำลังใจให้ได้ตามบารมีที่กำหนด อันนี้องค์สมเด็จพระบรมสุคตกล่าวว่า ท่านจะเข้าถึงพระนิพพานได้ในชาติปัจจุบัน

บารมีคือกำลังใจเต็ม


วันนี้สอนบารมี ๑๐ ทัศ แก่บรรดาท่านพุทธบริษัท ท่านทั้งหลายจะมีความเข้าใจหรือไม่เข้าใจเพียงใดอาตมาไม่ทราบ เพราะสอนไม่ค่อยตรงเป้าหมาย เมื่อสอนเสร็จ เวลาผ่านไปก็สั่งดับไฟ สั่งให้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายพากันเจริญพระกรรมฐาน ทรงสติสัมปชัญญะ คือว่า ตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาหรือพิจารณาตามอัธยาศัย

เพราะการภาวนาก็ดี พิจารณาก็ดี นี่อาตมาไม่ขัดใจใคร ใครเคยทำแบบไหนคล่องมาแล้วให้ทำอย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง เพราะอะไร.. เพราะว่าการภาวนาหรือพิจารณาที่ทำมาแล้ว ถ้าไม่ผิดก็ไม่ควรจะเปลี่ยน เพราะแบบปฏิบัติมีมากด้วยกัน ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำอย่างนั้นทำอย่างนี้จึงจะถูก ทำอย่างไรก็ตาม ถ้าปรารภจิตเป็นสมาธิระงับจากนิวรณ์ หรือปรารภจิตเป็นปฏิปักษ์ขันธ์ ๕ ใช้ได้หมด

ถ้าตรงกับแนวคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระบรมสุคตแล้ว อาตมาไม่ปฏิเสธการปฏิบัติของบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน เมื่อบรรดาท่านพุทธบริษัทเริ่มปฏิบัติ อาตมาก็คิดในใจว่า ร่างกายไม่ดีแบบนี้เราจะทนมันอยู่ทำไม ไปเสียจากร่างกายดีกว่า ปล่อยให้มันนั่งอยู่ตรงนี้ พอสัญญาณบอกเวลาปรากฏเราจึงจะกลับมา

ฉะนั้นจึงได้ไปเสียจากกาย ไปไหว้พระ จะไปแบบไหนอันนี้บรรดาท่านพุทธบริษัท อาตมาไม่บอก บอกไม่ได้ ไปอย่างไร ไปโดยวิธีไหน อยากจะรู้ก็ปฏิบัติกันเอาเอง แต่ความจริงมันก็ไม่ใช่ของดีของเด่นอะไรนัก การไปได้มาได้ถ้าใจเหลิงเกินไปก็ยังลงนรกได้ ไม่ใช่ของพิเศษ เมื่อออกไปแล้วก็พบองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์

นี่ขวางกับชาวบ้านเขาแล้ว เขาบอกว่าพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว จะพบกันได้ยังไง นั่นมันเรื่องของเขาบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย นี่มันเรื่องของอาตมา อาตมาพบกันได้ก็แล้วกัน เมื่อพบแล้วก็เข้าไปนมัสการองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว พอเงยหน้าขึ้นมาพระองค์ก็ตรัสถามว่า

“...วันนี้เธอสอนบารมี ๑๐ ทัศใช่ไหม...”
ก็กราบทูลพระองค์ว่า “...ใช่พระพุทธเจ้าข้า...”
พระองค์จึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสถามว่า “...บารมีแปลว่าอะไร...”

ตอนนี้ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายขอได้โปรดทราบว่า ถ้าอาตมาสอนถูกพระองค์จะไม่ตรัสแบบนั้น อาตมารู้ทันรู้เท่าเข้าใจทันทีว่าการสอนวันนี้ผิดพุทธพจน์บทพระบาลี นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท การสอนนี่ไม่ใช่ว่ามันจะถูกเสมอไป มันก็ผิดได้เหมือนกัน เมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรมีพระพุทธฎีกาตรัสถามแบบนั้นอาตมาก็ทราบ จึงได้กราบทูลพระพุทธองค์ว่า

“...ข้าพระพุทธเจ้าไม่แน่ใจนักพระพุทธเจ้าข้า แต่ที่เรียนกันมา ครูสอนว่าบารมีแปลว่าเต็ม...”
พระองค์จึงตรัสถามว่า “...อะไรมันเต็ม และมันเต็มแบบไหน สมมติว่าเธอจะปฏิบัติในทานบารมี ทำยังไงทานบารมีมันถึงจะเต็ม ถ้าหากว่าจะนำของมาให้เต็มโลก เธอจะไปขนมาจากไหน ถ้าเราจะไม่นำของมาให้ ทำยังไงทานบารมีมันจึงจะเต็ม...”

แบบนี้มันก็อยู่ด้วยกันทั้งนั้นแหละบรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้าคนอย่างอาตมา ถ้าหากว่าท่านที่เป็นนักปราชญ์ดีกว่าอาตมาก็ไม่เป็นไร ท่านตอบได้ เพราะท่านมีความเข้าใจ ท่านมีความฉลาด อาตมาบอกแล้วนี่ว่าอาตมามีความรู้ไม่เท่าหางอึ่ง คือยาวไม่เท่าหางอึ่ง หรือไม่แค่หางอึ่งเพราะความโง่มันมาก เมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสแบบนั้นก็ทูลถามพระองค์ว่า

“...ข้าพระพุทธเจ้าไม่เข้าใจในบารมีพระพุทธเจ้าข้า...”
พระองค์จึงไดมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า “...เธอเข้าใจ ไม่ใช่ไม่เข้าใจ แต่ว่าเธอดีแต่เฉพาะบริโภคเองเท่านั้น แต่การที่จะแบ่งปันให้บุคคลอื่นน่ะเธอไม่มีความฉลาด การที่เธอตั้งกำลังใจในด้านบารมี ๑๐ ทัศ เป็น ๓๐ ทัศด้วยกัน ๓ ชั้น เธอทำได้ แต่ว่าวันนี้เธอสอนบรรดาพุทธบริษัททั้งหลาย เธอทำไม่ถูก

เธอจงมีความเข้าใจเสียใหม่ว่า คำว่าบารมีนี้มันแปลว่าเต็ม แต่อะไรมันเต็ม ตถาคตจะบอกให้ว่า บารมีนี่ควรจะแปลว่ากำลังใจเต็ม...” นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท จำไว้ให้ดีว่า คำว่าบารมีก็คือกำลังใจ ทำกำลังใจให้เต็ม ตอนนี้สิชักจะฉลาดขึ้นมาทันที มานึกในใจว่าเรานี่มันแสนจะโง่เสียมาก องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสว่า

“...บารมีทั้งหมดนี้ให้ใช้กำลังใจ สร้างกำลังใจให้มันทรงอยู่ในใจทั้งหมด ให้มันเต็มครบถ้วนบริบูรณ์ ไม่มีอะไรบกพร่อง...” นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยถ้วนหน้า วันนี้ยังไม่สอนอะไรท่านพุทธบริษัท เรามาคุยกันในคำว่าบารมีเสียก่อน เพื่อให้บรรดาพระโยคาวจรทั้งหลายได้ทราบชัดว่า บารมีที่องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์ให้เราสร้างให้มันเต็มนั้น ก็คือสร้างกำลังใจปลูกฝังกำลังใจให้มันเต็มครบถ้วนบริบูรณ์สมบูรณ์

ไม่ใช่ว่าจะมานั่งคิด เราจะมานอนคิด เราจะมาทรงจิตว่า เอ๊..บารมีของเรามันไม่มีนี่ ชาติก่อนบารมีของเรามันไม่พอ บารมีของเรายังไม่เต็ม เราจะเป็นพระโสดาบัน สกิทาคา อนาคา อรหันต์ ยังไงได้ ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายมีความเข้าใจตามนี้ พอยังจะรู้หรือยังว่าเราสามารถจะสร้างบารมีได้ด้วยอาศัยกำลังใจ ความดีของบรรดาท่านพุทธบริษัทมีกำลังใจอย่างเดียวเท่านั้นที่เราจะทำให้มันดีหรือไม่ดี

อันนี้ก็ตรงกับพระบาลีที่องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ในเรื่องพระจักขุบาลว่า มโนปุพพังคมา ธมมา มโนเสฎฐา มโนมยา ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐสุด สำเร็จด้วยใจ นี่ความจริงเรื่องนี้ก็เรียนกันมาแล้ว บรรดาท่านพุทธบริษัท แต่เวลาปฏิบัติจริงๆ มันทำไมลืมก็ไม่ทราบ

ทุกข์ ๓ ประการ


ชาติปิ ทุกขา มันไม่ทุกข์แค่ขา ท้องเทิ้งมันไม่ดีด้วย ท่านบอก ชาติปิ ทุกขา ถ้ามันทุกข์ตรงขาค่อยยังชั่ว นี่ที่อื่นมันก็ทุกข์ ความเกิดเป็นทุกข์ ชราปิ ทุกขา ความแก่เป็นทุกข์ มรณัมปิ ทุกขัง ความตายเป็นทุกข์ แต่เอ... ความจริงมันไม่ถูก อือ...ถูกไหม ฉันว่าไม่ถูกว่ะ พระพุทธเจ้าท่านคงจะพูดถูก แต่เราอาจจะเข้าใจผิด

ชาติปิ ทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์ ไอ้ตัวเกิดนี่ซิมันไม่ทุกข์ แต่ไอ้ใจซิมันทุกข์ อือ...จริงไหม ตัวเกิดมันได้แก่ขันธ์ ๕ มันไม่รู้จักทุกข์ใช่ไหม ร่างกายมันบ่นที่ไหนล่ะ มันไม่บ่น มันดีมันก็ไม่บ่น ป่วยมันก็ไม่บ่น ถ้าขันธ์ ๕ มันบ่น คนตายแล้วมันต้องบ่นด้วย นี่เวลาตายไปแล้วมันไม่บ่น เป็นอันว่าความเกิดไม่ได้ทุกข์ แต่ไอ้ใจเรานี่ไปก่อให้เกิดมันจึงทุกข์ ใจมันทุกข์ ถูกไหมล่ะ ทีนี้ถูกไหม คือว่าเราเองเข้าไปทุกข์กับขันธ์ ๕ ไปทุกข์กับสภาวะที่มันเกิดมานี่

ชราปิ ทุกขา ความแก่เป็นทุกข์ มันก็ไม่จริง ไอ้ตัวแก่น่ะมันไม่ได้บ่นหรอก ไอ้ตัวเราคือจิตมันเข้าไปยุ่งใช่ไหม ทำอะไรไม่ถนัดมันก็นั่งบ่นว่าเป็นทุกข์ มรณัมปิ ทุกขัง ความตายเป็นทุกข์ โถ...คนตายยิ่งไม่ทุกข์ใหญ่เลย ใครเผาก็ยังไม่บ่นเลย ก็ไอ้คนที่จะตาย ไอ้ใจน่ะมันเป็นห่วงร่างกาย ใจมันเป็นทุกข์ รวมความว่า ทุกข์ ๓ ประการ คือเราเป็นผู้ทุกข์ ขันธ์ ๕ มันไม่ได้ทุกข์

ท่านบอก ชาติปิ ทุกขา ถ้าเราพอใจในการเกิด ไอ้สภาวะการเกิดมันทำให้ใจเป็นทุกข์ ใช่ไหม นี่เรานั่งอยู่นี่ เพราะอาศัยความเกิดเป็นเหตุ เดี๋ยวก็หิว เดี๋ยวก็ขี้ เดี๋ยวก็ปวดท้องขี้ เดี๋ยวปวดท้องเยี่ยว เดี๋ยวก็หนาว เดี๋ยวก็ร้อน ไอ้เสื้อไอ้กางเกง ไอ้ผ้านุ่งก็เปลี่ยนอยู่เรื่อย ร่างกายมันไม่ได้บ่นก็เปลี่ยน บอกไหม ขาเคยบอกไหมว่า ฉันจะนุ่งผ้าแบบนี้ ไอ้แขนเคยบอกไหม ฉันจะใส่เสื้อแบบนี้ เปล่าใช่ไหม ไอ้เราเป็นคนสั่ง เราต้องการ ดีไม่ดีมันก็ดัดผม ไอ้ทรงขัดกับก๋งใช่ไหม

ทีหลังแกดัดแบบนั้นอีก ฉันจะจับขัดกระโถน (หัวเราะ) เป็นอันว่าความทุกข์มันอยู่ที่เรา คือ จิต เราคือจิต หรือว่า เราคืออทิสสมานกาย

สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม


คนเราที่เกิดมาในโลกนี้อยู่ภายใต้อำนาจกฎของกรรม คือกรรมที่เราทำแต่ละชาติ เราก็ทำทั้งความดีแล้วก็เราทำทั้งความชั่ว แล้วเวลาที่เราตาย ถ้าผลของความชั่วให้ผลเราก็ไปเกิดในอบายภูมิ เกิดเป็นสัตว์นรกบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง เกิดเป็นคนก็มีสภาวะไม่สมบูรณ์แบบ บางทีอาการร่างกายครบ ๓๒ แต่มีความยากจนเข็ญใจเป็นกรณีพิเศษ

แต่ว่าองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ก็กล่าวว่า ถ้าความดีให้ผลบุคคลนั้นก็จะมีความสุข ไปเกิดเป็นพรหมบ้าง เป็นเทวดาบ้าง ถ้ามาเป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ที่มีความบริสุทธิ์ มีบุญ ร่างกายก็ดี ทรัพย์สินก็สมบูรณ์แบบด้วยประการทั้งปวง และว่าการเกิดเป็นมนุษย์นี่รับผลสองประการ ไม่เหมือนเมื่อตายไปแล้ว ตายไปแล้วความชั่วให้ผลตกอบายภูมิ ความดีให้เกิดเป็นพรหม เทวดา หรือว่าไปนิพพาน มีแต่ความสุข

แต่ถ้าเรามาเกิดเป็นมนุษย์ เราก็รับผลทั้งสองประการ คือเศษกรรมที่เป็นกุศลและก็เศษกรรมที่เป็นอกุศล

อย่าโทษพระพุทธศาสนา


คนเราจะเกิดอยู่ในฐานะใดก็ตามมันต้องตาย ไอ้ความตายนี่อย่าไปกลัวมันเลย มันไม่ควรจะกลัวความตาย คนเราเดินเข้าไปหาความตายทุกวัน ถ้าขืนไปกลัวความตายมันก็หลอกตัวเอง คนไหนยังหลอกตัวเองคนนั้นยังเอาดีไม่ได้ ต้องพยายามรู้ตัวไว้เสมอว่า เราเกิดมาเพื่อตาย นี่เป็นอันดับแรก แล้วก่อนที่จะตายเราต้องรับผลของกรรม กรรมมันมีอยู่ ๒ อย่าง คือกรรมดีอย่างหนึ่ง กรรมชั่วอย่างหนึ่ง

กรรมชั่วที่เราทำไว้ในชาติก่อนก็ดี ชาตินี้ก็ดี มันให้ผลเป็นทุกข์ จำไว้นะ การป่วยไข้ไม่สบายก็ตาม ความขัดข้องในทรัพย์สมบัติก็ตาม ความเดือดร้อนใดๆ ก็ตาม ที่มันประสบกับเราในชาตินี้ นั่นคือผลของความชั่วในชาติที่เป็นอดีต หรือว่าความชั่วที่เราสร้างในชาตินี้มันให้ผลเป็นความเร่าร้อน ถ้าผลอันใดเกิดความสุขกายสบาย ความรื่นเริงหรรษา นั่นมันเป็นผลของความดีที่เราทำไว้แต่ชาติก่อนให้ผล หรือว่าความดีในชาตินี้ให้ผล

บางรายบอกว่า บุญก็ทำ ผ้าป่าก็ทอด กฐินก็ทอด บาตรก็ใส่ ทำไมป่วยไข้ไม่บาย นี่ความเจ็บไข้เรื่องนั้นเรื่องนี้เข้ามาเป็นทุกข์ ทำให้เกิดความเดือดร้อน ถึงกับเบื่อหน่ายในการทำบุญทำกุศล โทษพระพุทธศาสนาว่าไม่ช่วย อันนี้ฉันได้ฟังบ่อยๆ

ชาตินี้เป็นทุกข์..ชาติหน้าก็ยังทุกข์อีก


คนประเภทนี้ไม่ไหวหรอก ชาตินี้เป็นทุกข์แล้วชาติหน้าก็ยังเป็นทุกข์ ทุกคนควรจะรู้ตัวดีว่าการเกิดมานี่เราไม่ได้เกิดมาดีกันนี่ ถ้าเราเป็นคนดีเราจะมาเกิดทำไม เราก็ไปนิพพานแล้ว ไอ้ที่เรายังเกิดอยู่ก็เพราะว่าเรายังมีเลวอยู่มาก ควรจะรีบชำระสะสางความเลวให้สิ้นไป ควรจะเป็นคนรู้ตัวดีกว่า อย่าเป็นคนเห็นแก่ตัว ไอ้คนรู้ตัวกับคนเห็นแก่ตัวน่ะ มันต่างกัน เมื่อเรารู้ตัวแล้ว

หนึ่ง เราเกิดแล้วเราจะต้องเจ็บไข้ไม่สบาย นี่เป็นเรื่องธรรมดา คิดไว้
สอง เราจะต้องแก่
สาม เราจะต้องกระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่เราไม่ปรารถนา เราไม่ชอบใจ คิดไว้
แล้วสี่ เราจะต้องตาย คิดให้รู้ไว้

เมื่อรู้แล้วอย่างนี้ ถ้าอะไรมันมากระทบ เราก็รู้ตัวอยู่แล้วว่า เอ้อ..เราคิดแล้วว่ามันจะมา เหมือนกับคนเดินไปข้างหน้า รู้ว่าข้างหน้ามีแม่น้ำขวางกั้น เมื่อไปถึงแม่น้ำเข้าจริงๆ ก็ไม่มีการตกใจ เพราะรู้ว่าจะมีแม่น้ำ จะได้หาพาหนะเตรียมทางเพื่อข้ามน้ำไว้ ข้อนี้มีอุปมาฉันใด ไอ้ชีวิตของเราก็เหมือนกัน ถ้าบุคคลทั้งหลายรู้สภาวะความเป็นจริงว่า เกิดมาแล้วมันมีแต่ความทุกข์ ทุกข์เพราะอาหาร ทุกข์เพราะการบริหารงาน ทุกข์เพราะการกระทบกระทั่ง ทุกข์เพราะการป่วยไข้

ทุกข์เพราะความแก่ ทุกข์เพราะความตาย ทุกข์เพราะการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ทั้งสิ้นนี่มันเป็นตัวทุกข์ รู้แล้วว่ามันจะต้องทุกข์ เราก็ทำให้มันไม่ทุกข์เสีย กระทบอะไรเข้าก็รู้สึกว่า อ้อ..ไอ้นี่มันธรรมดา เรารู้อยู่แล้ว และเราก็คิดต่อไปด้วยว่า ทุกข์น่ะเราจะให้มันมีแต่เพียงชาตินี้ชาติเดียวเท่านั้น ชาติต่อไปไม่ให้มันมีอีก หมายความว่าเราจะไม่ให้มันเกิดเพื่อทุกข์อีก ถ้ายังเกิดตราบใด เราก็ต้องยังมีความทุกข์ตราบนั้น

ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 11/2/12 at 11:04

2

๒. ธรรมดาคือความตาย



สงสัย...ตายแล้วไปไหน


“...ทั้งโลกนี้เขาสงสัยกันว่า ตายแล้วไปไหน...”
ก็เหมือนกันละลูก เหมือนกันทุกคน ก็เขาไม่รู้จริง อย่าว่าเขาเลย หลวงพ่อเองยังสงสัยมาก่อน (หัวเราะ) ใช่ไหม ไปว่าคนอื่นเขาทำไม แต่ว่าฉันเข้าใจมาตั้งแต่อายุ ๑๒ นะ เพราะฉันตายเมื่ออายุ ๑๒ เขาพาไปดูนรก เขาไม่ได้พา เดินตามเขาไป และเขาไม่ให้เข้าเขตนรก ให้อยู่บนยอดเขาเขาหนึ่ง

ถ้าจะดูอะไร นรกขุมไหน เขาจะเอานรกนั้นเข้ามาใกล้ ฉันบอกอยากดูนรกขุมที่ ๑ มันจะเห็นนรกขุมที่ ๑ อยู่ข้างหน้านี่ อำนาจความเป็นทิพย์ของเขานะ แต่ว่าอยากจะลงไป เขาห้ามลงในเขตนั้น แต่ก่อนจะตายมันภาวนาจนกระทั่งหมดลมไป มันมีความรู้สึกว่า ก็มันเจ็บท้อง มันเป็นโรคท้องร่วง เป็นโรคท้องร่วงมันก็ปวดท้องใช่ไหม แรงก็หมด แม่ฉันก็บอกว่า ภาวนาว่า พุทโธ ไว้ลูก จะได้หายปวดท้อง

อย่างนี้ดีนะโยมนะ ถ้าแกว่าภาวนาพุทโธไว้ลูกจะได้มีบุญ อย่างนี้ไม่เอาแน่ใช่ไหม ภาวนาพุทโธไว้ลูกจะได้หายปวดท้อง ท่านก็เอาพระมาตั้งให้เห็น พระทองคำองค์ขนาดนี้ หน้าตัก ๑๒ นิ้วได้ พระองค์นี้ชอบมาก และรักสีทองคำ เป็นทองคำแท้ เอามาตั้งไว้เฉียงๆ ให้มองเห็น บอกจับภาพพระไว้ ตาดูภาพพระ พระองค์นี้ชอบ ทุกวันกลับไปจากโรงเรียนก็มานั่งอยู่หน้าพระองค์นี้ แล้วก็ภาวนาไป ภาวนาไป

นี่พอจิตเริ่มเป็นสมาธิเล็กน้อย ตอนนั้นไม่รู้ มารู้ตอนหลังนะว่าเป็นสมาธิ พอจิตเข้าเป็น อุปจารสมาธิ นี่ความเจ็บปวดมันลดลงไปมาก ยังไม่ถึงฌาน มันลดลงไปเรียกว่าสักร้อยจะถึง ๓ เปอร์เซ็นต์ อุปจารสมาธินี่ไม่ใช่เล็กน้อยนะโยมนะ ลดมากด้วย ก็เริ่มสบาย จิตเริ่มสบายก็ภาวนา เอ๊ะ..ดีนี่ พอดีนี่ก็ภาวนาเรื่อยๆ ไป เห็นภาพพระแทนที่จะเป็นพระพุทธรูปองค์เล็กก็องค์ใหญ่ จ้า สวย มีรัศมี

หนักๆ เข้ากลายเป็นแบบพระสงฆ์ แบบพระพุทธเจ้า สวยจัดมีรัศมีออกจากกาย แล้วมองเพลิน คราวนี้ความเจ็บปวดไม่รู้สึกเลย ไปเพลินดูภาพแล้วซิ แบบดูหนังดูละครน่ะ ถ้ามันเพลินก็ไม่เมื่อย ใช่ไหม มารู้ตัวอีกที มันหลุดออกไปจากตัวเมื่อไรไม่รู้ ไอ้ออกนี่ไม่รู้นะโยม ถ้าไม่เชื่อลองดูเถอะ ฉันหลุดหลายหนแล้วไม่รู้สักที มันรู้แต่ตอนมันไปลอยอยู่ข้างนอกแล้ว พอหลุดพลัวะ ออกไปยืนลอยอยู่

เอ..ไปดูไอ้ร่างกายเดิมนี่ มันไม่น่าดูเลย มันสกปรก เพราะไอ้ตัวใหม่นี่มันสวยกว่าใช่ไหม มันแต่งตัวเช้งแว้บเช้งวับ มีเครื่องประดับแพรวพราว ตัวก็เบา ขยับหน้าขยับหลังมันเบาหมด มันไม่หนักนี่ ฉันก็เลยไปหาคนนั้นหาคนนี้ หาใครก็ไม่เห็นใครเขาพูดด้วย ไปหาแม่แม่ก็ไม่พูดด้วย ไปหาลุงลุงก็ไม่พูด เขาก็มองดูแต่ไอ้คนที่ตาย ไอ้ร่างกายเรา แต่เราเขาไม่มอง ดีไม่มีใครมองเราก็ดี หนีไปเที่ยวหลังบ้านดีกว่า

ไปเจอะขบวนคนตายเขาเดิน เขามีคนนำไป พอดีอยากจะไป ถามเขาว่าเขาไปไหนกัน หัวหน้าเขาก็มาบอก ไอ้หนู เขาเปิดบัญชีบอก ไอ้หนูเอ็งไม่มีในบัญชี ก็ยืนอยู่ พอถึงกลางแถวมีคนยืนคุม ๒ ข้างอีก ถามคนคุมอีก เขาเปิดบัญชีอีก ไม่มีในบัญชีอีก ไอ้คนคุมมันมีบัญชีทุกคนละ บัญชีมันเปิดแป๊บเดียว ไม่ต้องพลิกเหมือนของเราหรอก เปิดแพล้บ เอ๊ะ..ไอ้หนู ชื่อเอ็งไม่มีในบัญชี เข้าบ้านไป แม่เจ้าคอย

แต่ว่าในนิสัยเดิมมันมีว่าถ้าอยากจะรู้อะไรถ้ารู้ไม่ได้ไม่มีทาง เอาเป็นเอาตายกันเลย คือว่าเอาเป็นเอาตายนี่ไม่ใช่ถือดื้อรั้นทำอะไรของเขานะ ต้องพยายามให้รู้ให้ได้ นิสัยมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว นี่พอเดินไปก็ติดตามไปห่างๆ ประมาณ ๑ กิโล จนกระทั่งเข้าป่า ขึ้นเขาลงเขาไปเรื่อยๆ ในที่สุดเข้าไปถึงแดนปลายเขายอดสูง คนต้องขึ้นแล้วต้องลงตามนี้ เขาก็นับบัญชีซิ พอไอ้พวกนั้นหมดเราโผล่พอดี เราห่างหน่อย เราเกิดเป็นส่วนเกินขึ้นมา ทีนี้เห็นภาพข้างล่าง ภาพเป็นอย่างไร

เขาบอกว่าลงไม่ได้ แดนนั้น คนที่ภาวนาว่า พุทโธ หรือ อรหัง นี่จะลงในแดนนั้นไม่ได้ ถ้าเขาปล่อยให้ไปพวกเขาจะมีโทษ ไอ้เราก็บอกว่าเราจะไปเที่ยว เขาบอกไม่ได้ทั้งนั้น ไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง นี่เป็นอันว่าเข้าใจเรื่องนี้มาพอสมควร แต่ไม่มากนะ มันได้แค่นั้นแหละ ทีนี้หลังจากนั้นมาก็ไปได้ทุกวัน เขาอนุญาตให้ไปเที่ยวได้ ไปเที่ยวได้อยู่แค่นั้น สงสัยอะไรก็ถาม

มรณานุสสติ


คือว่าวันนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททำบุญปรารภคนตายเป็นสำคัญแล้ว กระดูกคนตายตั้งอยู่ข้างหน้า ความตายนี่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาตรัสว่า สัพเพ สัตตา มริสสันติ มรณันตังหิ ชีวิตัง แปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่า คนเราเกิดมาเท่าไรก็ตายหมดเท่านั้น ไม่มีใครเหลือ

ฉะนั้นขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายพึงเข้าใจในตัวเอง จงอย่าเมาในชีวิต จงอย่าคิดว่าความตายจะมาถึงเราในวันพรุ่งนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้อย่างนี้ว่า ทุกคนจงคิดถึงความตายว่าเราจะต้องตายวันนี้ไว้เสมอ จะได้มีความไม่ประมาท ในวันหนึ่งองค์สมเด็จพระบรมโลกนาถก็เคยได้เรียกพระอานนท์เข้ามาถาม พระอานนท์นั่นน่ะเป็นพระโสดาบัน

ท่านถามพระอานนท์ว่า อานันทะ ดูกร อานนท์ เธอนึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง
พระอานนท์ก็บอกว่า นึกถึงความตายประมาณวันละ ๗ ครั้ง พระพุทธเจ้าข้า
สมเด็จพระบรมศาสดาก็ตรัสว่า อานันทะ ดูกร อานนท์ ยังไกลเกินไป ห่างมาก ตถาคตนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก

นึกถึงความตายเพื่ออะไร


มรณานุสสติ แปลว่า นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ เรื่องของความตายเป็นของธรรมดาของสัตว์และมนุษย์ที่เกิดมา เมื่อมีความเกิดมาได้แล้ว ก็ต้องตายในที่สุดเหมือนกันหมด ความตายนี้รู้สึกว่าเป็นปกติธรรมดาของคนและสัตว์ทั่วไป ท่านผู้อ่านจะสงสัยว่า เมื่อความตายเป็นของธรรมดาที่ใครๆ ก็ทราบว่าตัวจะต้องตาย

และพระพุทธเจ้ามาสอนให้นึกถึงความตายเพื่อประโยชน์อะไร ปัญหาข้อนี้ตอบไม่ยาก เพราะธรรมดาของคนที่มีกิเลสทั่วไปรู้ว่าความตายเป็นของธรรมดาจริง แต่ทว่าเห็นว่าเป็นธรรมดาสำหรับผู้อื่นตายเท่านั้น ถ้าความตายจะเข้ามาถึงตนเองหรือญาติ คนที่รักของตนเข้า ก็ดิ้นรนเอะอะโวยวาย ไม่ต้องการความตายให้มาถึงตนหรือคนที่ตนรัก พยายามทุกทางที่จะไม่ยอมตาย

ปกติของคนเป็นอย่างนี้ ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าเกิดมาแล้วต้องตาย ไม่ว่าใครจะหนีความตายไม่ได้ การดิ้นรนเอะอะโวยวายต้องการให้ความตายไปให้พ้นนี้เป็นการดิ้นรนเหนือธรรมดา ไม่มีทางทำได้สำเร็จ จะทำอย่างไรความตายก็ต้องจัดการกับชีวิตแน่นอน เมื่อกฎธรรมดาเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอน คือย้ำตามความเป็นจริงว่า

ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความตายนั้นเป็นสิ่งปกติธรรมดา ไม่มีใครจะหลีกหนีพ้น

ความตาย ๓ อย่าง


ความตายนี้แบ่งออกเป็น ๓ อย่างด้วยกัน
๑. สมุจเฉทมรณะ ความตายขาดตอน หมายถึงความตายของพระอรหันต์ ท่านเสร็จกิจแห่งพรหมจรรย์ คือสิ้นกิเลสแล้ว เหตุที่จะต้องทำให้เกิด คือกิเลสและตัณหาที่จะควบคุมบังคับท่านให้เกิดอีกไม่มี ท่านมรณะแล้วท่านไม่ต้องกลับมาเกิดอีก เรียกว่าสมุจเฉทมรณะ แปลว่าตายขาดตอน ไม่กลับมาเกิดอีก

๒. ขณิกมรณะ แปลว่าตายเล็กๆ น้อยๆ ท่านหมายเอาความตายคือความดับหรือการเคลื่อนไปของชีวิต ที่มีการเคลื่อนไปวันหนึ่งๆ วันเวลาล่วงไป ชีวิตก็เคลื่อนไปใกล้จุดจบสุดยอด คือตายดับทุกขณะ การผ่านไปของชีวิตท่านถือเป็นความตาย คือ ตายทุกลมหายใจออก และเกิดต่อทุกๆ ลมหายใจเข้า อาหารเก่าที่บริโภคเข้าไปเป็นการหล่อเลี้ยงชีวิตชั่วคราว

เมื่อสิ้นอำนาจของอาหารเก่า ร่างกายต้องการอาหารใหม่เข้าไปหล่อเลี้ยงแทน แต่ถ้าไม่ได้อาหารใหม่เข้าไปทดแทนชีวิตก็จะต้องดับ ชีวิตที่ทรงอยู่ได้ก็เพราะอาหารใหม่เข้าไปหล่อเลี้ยงไว้ เมื่อสิ้นสภาพของอาหารเก่าท่านถือว่าร่างกายต้องตายไปแล้วยุคหนึ่ง พอได้อาหารใหม่มาทดแทนชีวิตก็เกิดใหม่อีกวาระหนึ่ง การเกิดการตายต่อเนื่องกันทุกวันเวลาอย่างนี้

ถ้าอาหารเก่าหมดสภาพไม่บริโภคใหม่ หรือลมหายใจออกแล้วไม่หายใจเข้า สภาพของร่างกายก็จะสิ้นลมปราณ คือตายทันที ที่ทรงอยู่ได้อย่างนี้ก็เพราะได้ปัจจัยบางอย่างค้ำจุนทดแทนกันเข้าไป ท่านสอนให้มองเห็นสภาพของสังขารร่างกายว่ามีความตายเป็นปกติทุกวันเวลาอย่างนี้ ท่านเรียกว่าขณิกมรณะ แปลว่าทีละเล็กละน้อย หรือตายเล็กๆ น้อยๆ

๓. กาลมรณะ และ อกาลมรณะ กาลมรณะแปลว่าตายตามกาลตามสมัย ที่ชาวโลกนิยมเรียกว่า ถึงที่ตาย คือสิ้นอายุอย่างชินที่ไม่มีการแก้ไขได้ อกาลมรณะ แปลว่า ตายในโอกาสที่ยังไม่ถึงกาลควรตาย แต่ต้องตายเพราะกรรมบางอย่างที่เป็นอกุศลเข้ามาบีบคั้นให้ตาย

นึกถึงความตายมีประโยชน์


ประโยชน์ของการนึกถึงความตาย ทำให้เป็นคนไม่ประมาท เพราะรู้ตัวว่าจะตาย จะได้แสวงหาความดีใส่ตัว ถ้ารู้ตัวว่าชาตินี้จนเพราะชาติก่อนให้ทานไว้น้อย ถ้าชาติหน้าไม่อยากจนอีกก็พยายามให้ทานเสมอๆ ตามกำลังทรัพย์ที่พอจะให้ได้ รู้ตัวว่ามีโรคมาก ป่วยไข้ไม่สบายเสมอๆ ของหายบ่อยๆ รูปร่างสวยน้อยไป คนในบังคับบัญชาดื้อด้าน วาจาไม่ศักดิ์สิทธิ์

อารมณ์ความจำเสื่อม ถ้าต้องการให้สิ่งบกพร่องเหล่านี้สมบูรณ์ในชาติหน้า จะได้พยายามรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ครบถ้วน แล้วก็จะได้รับอานิสงส์ มีอายุยืน รูปสวย ไม่มีโรคภัยรบกวน ไม่มีภัยจากโจรรบกวนทรัพย์สมบัติ คนในบังคับบัญชาอยู่ในโอวาทเป็นอันดี ไม่มีใครดื้อด้าน มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ก็ตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์

ถ้าเห็นว่ามีปัญญาน้อยไม่ทันเพื่อน ก็พยายามเจริญ สมถวิปัสสนากรรมฐาน พอมีฌานมีญาณเล็กน้อย ในชาติต่อไปก็จะเป็นคนมีปัญญาเลิศ ถ้าเห็นว่าความเกิดเป็นโทษเป็นทุกข์ เพราะการเกิดไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร มีตระกูลสูงส่งประการใดก็ตาม ก็ต้องประสบกับความทุกข์อย่างมหันต์ และหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ต้องการความเกิดอีก ก็เร่งรัดเจริญสมถะให้ได้ฌานต้น แล้วเจริญวิปัสสนาญาณให้จบกิจพระศาสนา

ซึ่งเป็นของไม่หนักเลยสำหรับท่านที่นึกถึงความตายเป็นปกติ หรือที่เรียกว่าเจริญ มรณานุสสติกรรมฐาน เพราะกรรมฐานกองนี้เป็นกรรมฐานหลักสำหรับเจริญวิปัสสนาญาณ ท่านจะได้ดีเป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นพระอรหันต์ ก็ต้องอาศัยการปรารภความตายเป็นปกติ แม้แต่พระพุทธเจ้ายังเฝ้าคิดถึงความตาย เพราะผู้ที่คิดถึงความตาย รู้ตัวว่าจะตายแล้วย่อมไม่สั่งสมความชั่ว

คอยปลีกตัวออกจากความชั่ว และมีอารมณ์ไม่หวั่นไหวในเมื่อความตายมาถึงแล้ว เพราะคิดอยู่รู้อยู่เสมอแล้วว่าเราต้องตายแน่ ความตายนี้หานิมิตเครื่องหมายไม่ได้ กำหนดการเกิดหมอบอกได้ แต่กำหนดเวลาตายไม่มีใครกำหนดได้แน่นอนสำหรับปุถุชนคนธรรมดา ท่านเปรียบชีวิตไว้คล้ายกับคนขีดเส้นบนผิวน้ำ ขีดพอปรากฏว่ามีเส้น แล้วในทันทีเส้นที่ขีดนั้นก็พลันสูญไป

ชีวิตของสัตว์ที่เกิดมาก็เช่นเดียวกัน ความตายรออยู่แค่ปลายจมูก ถ้าสิ้นลมปราณเมื่อไรก็สิ้นสภาวะเมื่อนั้น เอาความยั่งยืนไม่ได้เลย

มรณานุสสติไปนิพพาน


ท่านเจริญมรณานุสสติกรรมฐาน เมื่อท่านคิดถึงความตายเป็นปกติ จนเห็นความตายเป็นปกติธรรมดา เตรียมพร้อมเพื่อรับสถานการณ์ คือ การให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาพอสมควรแก่ความต้องการ แล้วถ้าคิดให้ไกลไปอีกสักนิดว่า ความตายเป็นของมีแน่ เราไม่หนักใจ แล้วความเกิดต่อไปก็มีแน่ จะเกิดเป็นอะไรก็ตาม เต็มไปด้วยความทุกข์ หนีทุกข์ไม่พ้น เราไม่ต้องการความเกิดอันเป็นเหยื่อของวัฏฏะอีก

แม้แต่ร่างกายอันเป็นที่หวงแหนยิ่ง จะต้องพังทลายเรายังไม่มีเยื่อใย ก็สมบัติอะไรในโลกที่เราต้องการ เราไม่ต้องการอะไรอีก เทวโลก พรหมโลก เราไม่ต้องการ สิ่งที่พอใจที่สุดก็คือ พระนิพพาน ทำใจให้ว่างจากความเกิด ความเกาะในชาติภพ ปรารภพระนิพพานเป็นปกติ อย่างนี้ท่านมีหวังสิ้นชาติสิ้นภพ ประสบผลอย่างยอด คือถึงพระนิพพานในชาติปัจจุบันแน่นอน

ถามเรื่องคนตาย


“...ขอถามอีกนิดหนึ่งครับ เป็นข้อที่สงสัยติดอยู่ ก็ต้องถามหลวงพ่ออีกข้อความหนึ่งว่า ในเรื่องที่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่า ในที่ที่เราคุ้นเคยนั่งอยู่ก็ดี เดินอยู่ก็ดี หรือในที่ใดๆ ก็ดี ในที่นั้นน่ะ เราไม่เคยตายไม่มี หรือไม่เคยเกิดไม่มี ข้อความนี้เป็นจริงหรือเปล่าครับ...”

“...จริง ถ้าไม่เชื่อไปถามพระพุทธเจ้าดู...”
“...อันนี้ เรื่องที่ว่าตายหรือเกิดอันนี้ หมายความว่าตายและเกิดลงในวิปัสสนาที่ว่า สังขารนี้เปลี่ยนแปลงไปทุกนาที อย่างนี้หรือเปล่าครับ...”
“...ไม่ใช่ๆๆๆ อย่ารู้มากเกินไป...”

“...ไม่ใช่อย่างนั้นหรือครับ...”
“...คือว่าคำว่า ตาย เกิด น่ะมันตายจริงๆ โดยสภาพของร่างกาย ในพื้นที่ใดที่ไม่มีคนตายน่ะมันไม่มีละนะ...”
“...หมายถึงตัวเรา บุคคลเราที่ตายตรงนั้นน่ะครับ...”

“...มันหมายถึงคนอื่นด้วย...”
“...อ๋อ คนอื่นด้วยนะครับ...”
“...ใช่ สถานที่ใดที่ไม่มีคนตายน่ะ มันมีที่ไหน ใช่ไหม นี่อ่านหนังสือไม่ทั่ว สอนนักเรียนโง่หมด...”

ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 25/2/12 at 14:41

3

๓.บาป บุญ นรก สวรรค์



บาป บุญ


คำว่า บาป นี่บรรดาท่านพุทธบริษัทแปลว่า การกระทำความชั่ว ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงยืนยันว่า บุคคลใดถ้าตกเป็นทาสของความชั่ว คือบาป เวลาก่อนจะตายถ้ากำลังจิตเศร้าหมอง มีกำลังใจกังวลอยู่กับบาป ตายแล้วก็ต้องตกนรก ความจริงที่บางท่านคิดว่า การตายแล้วไม่เกิด คือว่าตายแล้วมีสภาพสูญ อย่างไรก็ตามเถอะ พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่าคนเราตายแล้วต้องมีการเกิด

แต่การเกิดนั้นจะเกิดเป็นมนุษย์ หรือเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ถือว่าเกิดทั้งหมด ถ้าส่วนดีก็ไปเกิดเป็นเทวดาบ้าง เป็นพรหมบ้าง ถ้าดีถึงที่สุดก็เป็นพระอรหันต์เข้านิพพานไป เป็นอันว่าอาตมาเองก็ขอยืนยันตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า การตายแล้วเกิดนั้นมีจริง การที่จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์หรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องของบุญและบาป การกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็นำมาทั้งเศษบุญ และเศษบาป

เศษบุญ เป็นปัจจัยให้ทุกคนมีความสุขตามสมควรกับบุญนั้น เศษบาป เข้ามาครอบงำจิตเมื่อไร ทุกคนที่รับผลนั้นก็จะมีแต่ความทุกข์ความเร่าร้อน ถ้าหากว่า เราคิดว่าตายแล้วไม่เกิด จิตจะมีความประมาทพลาดจากความเป็นจริง ถ้าคิดอย่างนั้นบรรดาท่านพุทธบริษัทชายและหญิงก็จะมีความประมาทในชีวิต คิดว่าการเกิดมาแล้วตายก็สูญ

เมื่อมันจะสูญไปจากโลกนี้ไม่มีการเกิดต่อไป การกระทำความดีหรือกระทำความชั่วใดๆ ย่อมมีผลเฉพาะในชาติปัจจุบันเท่านั้น เพราะชาติข้างหน้าไม่มี ถ้าคนที่มีกำลังใจดีก็จะสั่งสมความดีเพื่อความสุขของตน คนที่มีจิตหยาบ บาปอกุศลก็ครอบงำ ก็จะทำแต่ความชั่ว สร้างความเร่าร้อนให้แก่ตัวและบุคคลอื่น ถ้าตายแล้วบังเอิญต้องเกิดจริงๆ ความจริงอาตมาใช้คำว่าบังเอิญเฉพาะบุคคลที่คิดว่าตายแล้วสูญ

สำหรับอาตมาเองจริงๆ ขอยืนยันว่าตายแล้วเกิดแน่ ใครจะว่าไม่มีก็ช่างเถอะ เรื่องความเห็นนี่อย่าไปถือว่าเป็นเรื่องผิดเรื่องถูก ของใครก็ของมัน อาตมาบวชมาตามหลักสูตรในพระไตรปิฎก ซึ่งบรรดาพระทั้งหลายยอมรับว่าเป็นถ้อยคำที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเจ้าทรงสั่งสอน และก็ปฏิบัติตามพระไตรปิฎกก็มีผลตามนั้น จึงหมดสงสัย

ตกนรกเพราะลืมทางไปสวรรค์


ผมพูดเรื่องนรกอยู่เรื่อยๆ ก็มีข่าวเข้ามาว่า พระสงฆ์ซึ่งเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เป็นลูกของพระพุทธเจ้าหรือว่าสาวกของพระพุทธเจ้านั่นเองในปัจจุบัน บางท่านโกรธ ท่านบอกว่า “...อะไรก็นรกๆ คนที่เกิดมาก็เลยไม่ต้องไปสวรรค์กัน...” ก็ขอตอบเสียในที่นี้ว่า คนที่เขาไปสวรรค์น่ะมีมากนะครับ คนที่ไปพรหมก็มีมาก และในปัจจุบันคนที่จะไปนิพพานก็มีมาก ที่ว่าจะต้องตกนรกกันเพราะว่าท่านลืมทางไปสวรรค์ ลืมทางไปพรหมโลก ลืมทางไปนิพพาน

ได้วิชชา ๓ หายสงสัย


การป่วยทุกอย่างมาจากกรรมปาณาติบาต คือการฆ่าสัตว์ ป่วยทุกประเภทมาจากกรรมเดียวคือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นเหตุ เราป่วยไข้ไม่สบาย อาการป่วยอาจจะต่างกัน เพราะการกระทำกรรมไม่เหมือนกัน ใช่ไหม เราแกล้งให้เขาเป็นบ้า เราก็เป็นบ้า เราฆ่าให้เขาตาย เราก็ต้องไปตกนรกก่อน และมาเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน พอเป็นคนก็ป่วยไข้ไม่สบาย

เราฆ่าปลาหนึ่งตัวก็ต้องใช้เขาหนึ่งชาติ ฆ่าปลา ๑๐ ตัว ฆ่าปลา ๑๐ ปีบ ต้องเกิด ๑๐ ปีบ เกิดเป็นปลาประเภทนั้น ๑ ปีบเท่าที่เราฆ่า จนกว่าจะพ้นวาระของสัตว์มาได้ มันแสนระกำ แล้วเศษกรรมที่เราทำล่วงศีล ๕ นี่ ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์อาศัยโทษฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นเหตุอันหนึ่งให้เราอายุสั้น สองป่วยไข้ไม่สบาย ถูกทรมานทางกาย ถ้าหากว่าโทษของอทินนาทาน ก็เป็นเหตุให้ไฟไหม้บ้าน ขโมยลักของปล้นของ

ลมพัดให้บ้านพัง น้ำท่วมบ้านให้ทรัพย์สินเสียหาย แล้วโทษของกาเมสุมิจฉาจาร เกิดมาแล้วคนในปกครองจะว่ายาก หัวดื้อ โทษมุสาวาท พูดไม่มีใครเขาอยากจะฟัง เขาฟังไปเขาก็อยากด่า ใช่ไหม โทษดื่มสุราเมรัย ก็เป็นโรคประสาทหรือเป็นบ้า มีไหม..มี ตอนที่เราฆ่าเขา เราทรมานเขาแบบไหนเราก็ต้องรับผลแบบนั้น สบายแฮ นั่นก็กรรมเหมือนกัน

เรียกว่ากรรมห่วยไม่พิจารณาเสียก่อน ใช่ไหม นิสัมมะ กรณัง เสยโย ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงค่อยทำดีกว่า ไม่ดูให้มันดี (หัวเราะ) เขาเรียกว่าคนห่วยๆ มีไหม ถ้าไม่มีก็อย่าละเมิดศีลนะ แต่นี่เรารู้ไม่ได้หรอก ถ้าเราศึกษาให้มันครบไม่เห็นมีอะไรแปลก ศึกษาเฉพาะขั้นวิชชาสามครบไม่มีอะไรแปลกเลย ของธรรมดาหมด ใช่ไหม

นี่ที่ไม่ตายเพราะอะไร เขายิงเอ็มสิบหก ลูกซอง เราอยู่ในที่เดียวกันกับเขา แต่เราไม่ถูกปืนตายเพราะอะไร นี่เราก็มาดู ไอ้กรรมประเภทนั้นเราไม่ได้ทำกับเขา ถ้าไม่ฝึกให้ได้นะคุยกันเท่าไรก็ไม่หมดสงสัย มันแบบเขาเล่านิทานให้ฟังอย่างเช่น บอกว่าอินเดียนี่ส้วมใหญ่ที่สุดในโลก เชื่อไหม ถ้าไปแล้วจะเชื่อ เพราะขี้ได้ทุกสถานที่ใช่ไหม แม้แต่หน้าชานชาลาสถานีรถไฟ นี่ส้วมมันใหญ่ที่สุดในโลก ที่ไหนก็เป็นส้วมหมด

นี่ถ้าไม่ไปไม่เชื่อหรอก ถ้าไปแล้วจะเชื่อ ไงหนู แน่ใจไหม ถ้าไม่แน่ใจขึ้นเครื่องบินไปดู โอ้โฮ มันแย่จริง ไอ้เรื่องข้างถนนหนทางนั่นมันเรื่องเล็ก ตอนขากลับจะขึ้นรถไฟกลับ ไปที่พุทธคยา สถานีพุทธคยา มีเด็กนักศึกษาของเราที่นั่นหลายคน มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งบอก หลวงพ่อประเดี๋ยวอย่าเพิ่งไป ตอนนั้นเป็นเวลากลางคืน ให้หนูไปดูก่อน มันก็วิ่งไปสักครู่หนึ่ง แกกลับมาบอกว่าไปได้แล้ว

เพราะรถไฟที่เราจะขึ้นคันนั้นจะต้องจอดตรงนั้นใช่ไหม ไปเห็นน้ำเปียกโชก ถามอะไรนี่ แกบอกว่าขี้แขก ที่หนูมาดูก่อนน่ะมาล้างขี้แขก แหม..พอจะเดินเลยไปหน่อยเห็นมืดๆ หน่อย มันบอกว่าอย่าไปๆ ถามทำไม มันบอกว่าเยอะ แถวนั้นน่ะ ชานชาลาน่ะเยอะ นี่ทุกอย่างเราต้องปฏิบัติให้เข้าถึงเองนะ ที่บอกนี่เป็นแค่ตัวอย่าง ถ้าทำเข้าถึงเองแล้วมันก็หมดสงสัย

สงสัยบุญ บาป


“...หนูมีอะไรสงสัยไหม...”
“...มีค่ะ...”
“...เอ้า..ว่ามาจ้ะ...”
“...คือสงสัยที่คนที่ทำบาปกับทำกรรมดี จะมาปะปนกันไม่ได้ใช่ไหมคะ คือ...”

“...เดี๋ยวก่อน...”
“...คือถ้าเราทำชั่วก็จะได้รับผลตอบแทนอย่างนั้น ทำดีก็จะได้รับผลตอบแทน...”
“...ใช่...”
“...ทีนี้ที่บอกว่า คนที่กำลังใกล้จะตาย ที่ทำทั้งความดีความชั่วนี่ ใกล้จะตายนึกถึงความดีแล้วจะได้ไปจุติเป็นสุขในที่ที่ดี แต่ทีนี้ถ้าหากว่าผู้นั้น หมายความว่าผู้นั้นได้ไปอยู่จุติในที่ๆ ดี คือใช้บุญเก่าใช่ไหมคะ...”

“...ใช่ เป็นผลของความดี บุญก็คือความดี...”
“...ทีนี้ถ้าหากว่า คือถ้าเขาทำบุญต่อไป คือพยายามสร้างกรรมดีต่อไปนี่ แล้วจะได้รับกรรมดีต่อไปจนถึงขั้นนิพพานนี่...”
“...เยอะหนู...”
“...โดยที่ไม่ต้องกลับมารับกรรมเก่า...”

อ้อ...อย่าหาทางกลับซิ (หัวเราะ) อย่าหาทางกลับ หาทางกลับน่ะซวยนะ อย่าง สุปติฏฐิตะเทพบุตรนี่ตอนเป็นคน แกสร้างความชั่วทุกแบบนะ อย่าไปถามว่าอย่างไหน ทำไมต้องถามจ๊ะ ครบร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม แต่ว่าเวลาจะตาย แต่บังเอิญนึกถึงพระพุทธเจ้าเข้าหน่อยเดียว เพราะเวทนามันมากใช่ไหม ทุกขเวทนามันเจ็บ มันบีบคั้นเต็มที่ ไอ้คนจะตายอย่าลืมนะว่าทุกขเวทนามันมากจัดนะ ไม่งั้นไม่ถึงตายนะ

แล้วก็นั่งก็นอนมอง เมียนั่งใกล้ๆ ลูกนั่งใกล้ๆ คนใช้นั่งใกล้ ภรรยาก็ดีบุตรธิดาก็ดี คนใช้ก็ดี ไม่มีประโยชน์สำหรับเราเลย ช่วยเราไม่ได้ ก็เลยนึกถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเขาลือว่าพระพุทธเจ้าใจดี แล้วก็เลยตาย พอตายแล้ว อาศัยนึกถึงพระพุทธเจ้าก็ไปสวรรค์ก่อน เป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน ใช่ไหม พระพุทธเจ้าเคยยืนยันกับพราหมณ์ พราหมณ์ไปถามว่า คนที่นึกถึงท่านอย่างเดียว ไม่เคยทำบุญ

ไม่เคยใส่บาตร ไม่เคยฟังเทศน์ ไม่เคย ไม่เคยทุกอย่าง ไม่เคยเคารพในท่านมาก่อน แต่นึกถึงท่านอย่างเดียวไปสวรรค์มีไหม พระพุทธเจ้าตอบ บอกไม่ใช่มีเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นเป็นแสน มีเป็นโกฏิ นี่แกนึกถึงพระพุทธเจ้าอย่างเดียวก็ไปสวรรค์ ไปถึงสวรรค์อาศัยเป็นคนที่มีความประมาทในสมัยเป็นมนุษย์ ไอ้ไปนะก็ใจเดิมใช่ไหม ร่างกายไม่ไปแต่ใจเดิม ไอ้ใจประมาทก็มาจากใจ พอเป็นเทวดาก็ประมาทอีก

พอถึงเทวดาจะหมดอายุ พระพุทธเจ้าเทศน์โปรดพุทธมารดาพอดี ขอเล่าลัดๆ ว่า ท่านอากาสจารีไปเตือนท่านว่า แกจะตายอีก ๗ วันข้างหน้านี่แล้ว ตายแล้วไปไหน แกก็ดูตัวเอง แกรู้ว่าต้องลงอเวจีไล่มาทุกขุม จนกว่าจะเป็นมนุษย์ จากสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน มันต้องเป็นแร้งห้าร้อยชาติ สุนัขบ้าห้าร้อยชาติ กาห้าร้อยชาติ เป็นมนุษย์ตาบอดห้าร้อยชาติ หูหนวกห้าร้อยชาติ

เป็นคนง่อยห้าร้อยชาติ คนบ้าห้าร้อยชาติ จึงจะได้เป็นคนดี อานิสงส์สร้างความชั่วไว้เต็มที่ แต่ทว่าแกพอรู้ว่าจะจุติต้องเป็นอย่างนั้นก็ตกใจ บอกให้อากาสจารีช่วย อากาสจารีบอกฉันกับแกเทวดาแค่กัน ฉันช่วยไม่ได้ คนช่วยได้น่าจะเป็นพระอินทร์ เพราะเป็นนายเรา พอไปถึงพระอินทร์ๆ ก็บอก โอ๊ย...ฉันก็ไม่ไหวหรอก ฉันเป็นนายแกแต่ฉันก็แค่เทวดา พระพุทธเจ้าอยู่ที่บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ พระองค์อาจจะช่วยได้

พระอินทร์ก็พาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลให้ทรงทราบว่า เทวดาองค์นี้จะจุติภายใน ๗ วัน พระพุทธเจ้าก็ทรงทราบด้วยอนาคตังสญาณว่า ถ้าเราเทศน์อภิธรรมจะไม่มีผลกับเทวดาองค์นี้เลย และในที่สุด เทวดาองค์นี้ต้องจุติลงอบายภูมิตามที่พูดไปแล้วนะ ถ้าหากเราเทศน์ อุณหิสสวิชัยสูตร จะมีผลกับเทวดาองค์นี้ ท่านก็เลยเปลี่ยนจากอภิธรรมเป็นอุณหิสสวิชัยสูตร พอเทศน์จบแกก็เป็นพระโสดาบัน

ไอ้บาปทั้งหมดที่ว่านี้ตัดไปเลย ยกล้อ ถ้าเป็นพระโสดาบันแล้วไม่มีทางที่อกุศลจะให้ผลได้เลย แต่ว่าอย่าลืมนะ ไม่ให้ผล หนึ่งไม่ลงนรก สองไม่เป็นเปรต สามไม่เป็นอสุรกาย สี่ไม่เป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่ว่าถ้ามาเกิดเป็นคนยังเอานิดเอาหน่อย ขอเล็กเอาน้อยแค่ดอกเบี้ย (พุทธบริษัทหัวเราะ) ใช่ไหม โทษปาณาติบาตก็ทำให้เจ็บก๊อกๆ แก๊กๆ โทษที่เคยขโมยเขา ไอ้นั่นก็หาย ไอ้นี่ก็หาย เวลาของหายอย่าบ่นนะ

เราเคยขโมยเขามาก่อน ใช้หนี้เขาไป ใช่ไหม ไอ้โทษที่เป็นกาเมสุมิจฉาจาร คนในปกครองว่ายากสอนยากดื้อด้าน โทษที่เคยโกหกเขามา พูดใครไม่อยากจะเชื่อ โทษดื่มสุราเมรัย สร้างความบ้าๆ บวมๆ ให้เกิดขึ้น แต่ว่ามันก็ช่วงชีวิตมนุษย์ใช่ไหม แต่พ้นนรก ถ้าเป็นพระโสดาบันแล้วมันไม่ลง มันจะขึ้น วิ่งไปวิ่งมาระหว่างมนุษย์กับเป็นเทวดา แล้วก็ไปนิพพาน ถ้าอย่างเบาที่บอกเมื่อกี้นี่อย่างจิตอ่อน เจ็ดชาติไปนิพพาน จิตอย่างกลาง สามชาติไปนิพพาน จิตเข้มแข็ง ชาติเดียวไปนิพพาน

เลิกสงสัย


ไอ้พูดว่าตายแล้วเกิด สวรรค์มี พรหมมี บางครั้งไอ้จิตที่เป็นมิจฉาทิฏฐิของเราก็เกิดขึ้น มันแน่หรือไม่แน่ จริงหรือไม่จริง กว่าจะตัดสินใจได้จริง จิตอย่างน้อยที่สุด ต้องตัดสังโยชน์สามจึงจะมีความมั่นคง คือว่าตัดสังโยชน์สามไม่ได้ ความสงสัยยังไม่หมดลง

คนเราทำทั้งดีและชั่ว


ไอ้คนเกิดมาชาติหนึ่งจะทำแต่ความดีไม่ได้ เกิดมาแต่ละชาติเราทำทั้งความดีและก็ทำทั้งความชั่ว ทีนี้เรากลับมาเกิดใหม่อีกครั้ง ไอ้ผลมันไม่เหมือนกัน มนุษย์รับผลสองอย่าง รับผลเศษ คือเศษของความดี แล้วก็เศษของความชั่ว ถ้าอย่างอบายภูมินี่รับผลฝ่ายเดียว อบายภูมิรับเนื้อๆ ของความชั่วอย่างเดียว ถ้าสวรรค์หรือพรหมก็รับผลอย่างเดียว คือผลของความดี ถ้ามนุษย์นี่รับทั้งสองอย่าง ทั้งความดีและความชั่ว

ปาณาติบาต


อย่างฉันนี่ ฉันเกิดมาทุบปลาไม่เกิน ๖ ตัว เพราะว่าช่วงนั้นน่ะมีคนเขาให้ทำ มาไอ้ตัวที่ ๖ นี่ทำไปแล้ว ความจริงใจไม่อยากทำ ตัดคอออกแหวะท้องออกหมด มันโดดได้นะ พอใส่จานมันโดดปุ๊งเหมือนปลาเป็นเลย เลยให้คนมาดู ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อย่าให้ฉันทำนะ ฉันกินข้าวกับเกลือได้ไม่ต้องห่วง ถ้าใครไม่ให้กินเนื้อเราก็อยู่ได้ ก็เลยไม่มีใครเขาใช้

บาปฆ่าปลาไม่เกิน ๖ ตัว นกตายเพราะมือตัวหนึ่ง เพราะว่าจะขว้างหมาดันไปโดนนก ไอ้นกระยำ (พุทธบริษัทหัวเราะ) หันจะไปขว้างหมา ไอ้มือทำไมตวัดไปโดนไอ้นก มันจับอยู่ที่ราว ก็โดนนกตาย แหม..มันซวยจริงๆ ฉันไม่ได้เจตนา แต่เราไม่จำมันหรอก ช่างมันเถอะ มันแล้วไปแล้ว หลวงพ่อไม่นึกถึงมันหรอก ถ้าขืนนึกถึงมันเดี๋ยวมันชวนไปลงนรก (หัวเราะ) ปาณานุสสติกรรมฐาน (หัวเราะ) ไม่ไหว

บาปอกุศลในอดีตอย่าสนใจ


คนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ทุกคนผิดศีลละเมิดศีลเหมือนกันหมด แล้วก็คนทุกคนที่ไปนิพพานได้ เป็นอรหันต์ไปนิพพานได้ก็ไม่หมดบาป มันอยู่ที่กำลังใจใช่ไหม คนที่ไปสวรรค์ได้ ไปพรหมได้ ไปนิพพานได้ ไม่ใช่เป็นคนหมดบาป แต่ว่าใช้กำลังใจสูงในด้านของความดีหนีบาป นับแต่นี้เป็นต้นไปเรื่องบาปอกุศลเราอย่าสนใจมัน ความชั่วมันอาจจะพลาดพลั้งทำได้ ถอยหลังกลับมาซะ ใช่ไหม แล้วก็รักษาอารมณ์ว่า

ไอ้อย่างนี้เราจะไม่ทำอีก ความจริงบาปแปลว่าชั่วนะ ทีนี้ถ้าบังเอิญไปเผลอทำเข้า เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่จะระงับได้ทันทีทันใดนะ บางครั้งบางกรณีมันเกิดพลั้งเผลอต้องทำเข้า หรือมีความจำเป็นบางกรณี แต่ว่าเราทรงตัวได้ เราก็คิดว่าเราจะไม่ทำอย่างนี้อีก พยายามฝืนมัน ต่อๆ ไปอารมณ์มันจะชิน ในเมื่ออารมณ์มันชินจริงๆ พอจิตเข้าถึงพระโสดาบัน อันนี้ถือว่าตายดีกว่าทำบาป ใช่ไหม นี่เวลานี้กำลังเป็นพระโซดาอยู่ ผสมกับแม่โขงก็ได้ กวางทองก็ได้ ใช่ไหม นี่พระโสดาบันน่ะ ไม่ใช่สูงนักนะ

พระโสดาบันยังมีความรักในระหว่างเพศ ไปเห็นเขาแต่งงานแต่งการอย่านึกว่าพระโสดาบันไหงเสือกไปแต่งงาน เขายังแต่งอยู่นะ นางวิสาขา เป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ปี แกมีลูก ๒๐ คน เรียก วิสาขะ แปลว่า งอกงาม แล้วก็ เมียพรานกกุตตมิตร เป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ปีเหมือนกัน ไปเห็นพรานกกุตตมิตรเข้า แกเป็นลูกมหาเศรษฐี พรานเอาเนื้อมาขาย อาศัยที่เป็นคู่ครองเดิมก็หนีพ่อหนีแม่ไปดักทางเขา แล้วก็ไปอยู่ด้วยกัน มีลูก ๗ คน

ดูปัจจุบันอย่างเดียวไม่ได้


คนเราจะไปดูกรรมปัจจุบัน ถามความประพฤติปัจจุบัน จะถือว่าเขาดีไม่ดีไม่ได้ ไอ้คนนี้เลวแบบนั้นเลวแบบนี้ เราจะรู้จิตเวลาที่เขาตายได้อย่างไร จุดนี้สำคัญที่สุด เวลาจะตายนี่เราไปดูอดีตไม่ได้ ไปดูอดีตที่เขาปฏิบัติมา ไอ้จะทำชั่วนั่นทำชั่วนี่ ไอ้นี่มันช่วงชีวิตที่ทรงอยู่ แต่นี่พอเวลาจะตายก็เห็นโทษเห็นทุกข์ของการเกิด แก่ เจ็บ ตายขึ้นมา จิตมันตัดตรงนั้น เพราะว่าเขาตายไปแล้วเราไปนั่งถามเขาได้เหรอ

เราจะเฮ้ย..เฮ้ย! กลับมาคุยกับกูก่อน อีตอนมึงตายมึงนึกอย่างไรวะ นี่เรารู้เขาไม่ได้หรอก ไอ้จิตตอนที่จะตายเขาคิดอย่างไรนะ อย่างคนที่เรามองเห็นชัดๆ อย่างตอนที่โจรฆ่าคนเป็นหมื่น องคุลีมาล ฆ่าคนเกินพันก็เป็นอรหันต์ได้ นั่นเป็นกฎของอกุศลกรรมมาสนองจิตชั่วคราว อย่างท่าน สันตติมหาอำมาตย์ ไปรบทัพกลับมา ไปรบทัพชนะนี่ฆ่าคนไปแล้วเท่าไร พอกลับมาแล้วพระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ตำหนิ

เลื่อนตำแหน่งให้อีก เลยเมาพับไปพับมา พระพุทธเจ้าเดินหลีกไปทรงแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์ถามว่าทรงแย้มพระโอษฐ์เพราะอะไร บอก อีก ๗ วัน สันตติมหาอำมาตย์จะบรรลุอรหันต์ ขี้เมา ฆ่าคนไปแล้วจากกองทัพตอนไปรบศึก กลับมาให้เป็นกษัตริย์ ๗ วัน ไม่ต้องทำอะไรหรอก มีหน้าที่จะเมา จะเมา จะแจกข้าวแจกของ ของในคลังอยากจะให้ใครก็ให้ๆ ไปเหอะ สบายมาก ได้เป็นแค่ ๗ วันนี่ แกก็เมา ๘ วัน นี่ทำหอกอะไรได้ เมาไปเหอะ

ดูฟ้อนรำขับร้อง ก็ไอ้คนขี้เมาไปฆ่าคนมา พอกลับมาพระพุทธเจ้าบอกจะเป็นอรหันต์นี่มันต้องคิดเหมือนกันนะ คนในสมัยนั้นเขาต้องแบ่งกันเป็น ๒ พวก ไอ้พวกมิจฉาทิฏฐิก็ถือว่าอีก ๗ วัน เราจะจับโกหกพระสมณโคดม ไอ้พวกที่เขาเป็นสัมมาทิฏฐ เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า อีก ๗ วันเราจะดูลีลาพระพุทธเจ้าทำให้สันตติมหาอำมาตย์เป็นพระอรหันต์ พออีก ๗ วัน เด็กฟ้อนรำที่อยู่ข้างหน้าก็ตาย ตาแกก็เลยสร่างเมา บอกไอ้นี่เด็กรุ่นหลัง

เรายังอยู่แต่แกตาย ไอ้เราแก่ขนาดนี้ขืนเมาอย่างนี้ท่าไม่ค่อยดีแล้ว นี่ตัดตรงนี้เอง รู้สึกตัวก็เลยลาพระเจ้าปเสนทิโกศลบวช พอบวชพระพุทธเจ้าเทศน์จบก็ได้อรหันต์เดี๋ยวนั้น ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร นี่ห้ามดูอดีตเขา หมายความว่าอดีตที่เขาผ่านมาแล้วนี่ เราจะไปพยากรณ์ไม่ได้ อีช่วงที่เขาจะตายจิตเขาเป็นอย่างไรเรารู้ไม่ได้ ใช่ไหม บางคนดีแสนดีตายแล้วลงนรก ตอนที่จะตายจิตมัวหมองหน่อยเดียวก็ลงนรกไปก่อน นี่มันเอาแน่ไม่ได้

ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 13/3/12 at 16:10

4

๔.เตือนตนเอง



ห่วง

พระพุทธเจ้าบอก ปุตตัง คีเว ธนัง ปาเท ภริยัง หัตเถ ใช่ไหม
ปุตตัง คีเว ห่วงลูกผูกคอ
ธนัง ปาเท ห่วงทรัพย์สินผูกข้อเท้า มีทรัพย์มีสินมากๆ ไปไหนไกลไม่ได้ กลัวขโมยมันจะมาลักใช่ไหม ก้าวขาไม่ค่อยออก ไอ้ห่วงลูกผูกคอนี่ เรามีกินมีใช้อยู่คนเดียวสบายทุกอย่าง แต่ทว่ามีลูกขึ้นมาของอะไรๆ กลืนไม่ลงถ้าลูกไม่ได้กินด้วย

แหม..คิดถึงลูกใช่ไหม เออ..ไอ้พวกนี้เอาเข้าแล้ว ปุตตัง คีเว
ภริยัง หัตเถ มีผัวมีเมียก็ต้องเร่งทำงานล่ะสิ เคยทำงานวันกินสามวัน นี่ไม่ได้แล้ว ต้องช่วยกันทำยกใหญ่ กลัวว่าจะจนใช่ไหม อ้าว..แกอยากโง่เองนี่ แต่งงานไปแล้ว ไอ้อย่างข้านี่มันไม่ได้ตั้งใจฉลาด มันบังเอิญฉลาด (หัวเราะ) โอ๊ย..เมื่อก่อนบวชข้าก็เคยโง่มาก่อนนะ สาวๆ แบบนี้ข้าเจอะมาแล้ว เกี้ยวดะ ใช่ไหม

มีเงินไม่รู้จักใช้

“...หลวงพ่อคะ พิจารณาดูลูกยังสงสัยเทปที่หลวงพ่อเปรียบเทียบ ว่าคนมีเงินไม่รู้จักใช้...”
“...ทำไม...”
“...หนูไปเปิดเทปหลวงพ่อฟัง ที่หลวงพ่อเปรียบเทียบคนมีเงินไม่รู้จักใช้...”
“... อ๋อ ใช่ มันยังไม่ถึงเวลานี่ คำว่า คนมีเงินไม่รู้จักใช้นี่มันเป็นอย่างนี้นะ

ว่าคนที่ปรารถนาสาวกภูมิถ้ามีบารมีเต็มแล้ว ถ้ายังไม่รับคำสอนจะบรรลุไม่ได้เหมือนกันหมด คือต้องได้รับคำสอนก่อน ถ้ารับคำแนะนำนิดหน่อยเขาเข้าใจเลย มันเหมือนกับคนที่มีน้ำ พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเทียบเหมือนคนที่มีน้ำในตุ่มเต็ม แต่ฝามันปิด ถ้ายังไม่มีใครมาแนะนำให้เปิดฝา อันนี้เขาจะรู้จักน้ำไม่ได้เลยนะ พวกนี้เขาไม่บรรลุเอง ถ้าสาวกนี่เหมือนกันหมด แล้วเวลาที่จะใช้หรือว่าจะเข้าถึงธรรมะต้องรอเวลาเหมือนกัน

คือว่าเราเกิดมานี่มันมีเหตุ ๒ ประการ คือว่า กุศล กับ อกุศล ถ้าขณะในตอนต้นอกุศลมันยังอยู่ เรามองไม่เห็น ไอ้ตุ่มน้ำหรือสตางค์ในกระเป๋า มันมองไม่เห็น มันไม่รู้จัก พอกุศลเริ่มให้ผล กุศลเดิมเริ่มให้ผล อกุศลถอยไป ตอนนี้เริ่มรู้จักใช่ไหม หรือว่ามีเงินรู้จักใช้ แต่ความจริงมันรู้จักอยากได้เงิน แต่ไม่รู้จักเงินใช่ไหม อยากได้เงิน ถ้ารู้ว่าเงินมีในกระเป๋าไปกินก๋วยเตี๋ยวเสียนานแล้ว...”

ทำบุญร่วมกันมา จึงพูดกันรู้เรื่อง

“...ฆราวาสนี่มีทางทำให้ทานบารมีเต็มไหมครับ...”
“...มี ก็พระพุทธเจ้าท่านเคยเป็นฆราวาสมาก่อน...”
ฆราวาสที่เขาฟังเทศน์จบเดียวเป็นอรหันต์น่ะ เขาเต็มทุกอย่างทั้ง ๑ อย่าง เต็มหมดแล้ว
แต่คำว่า สาวก เขาแปลว่า ผู้รับฟัง ถ้าไม่รับฟังคำสอนนี่บรรลุอรหันต์ไม่ได้ เหมือนกับน้ำที่เต็มตุ่มแล้ว แต่เจ้าของไม่รู้จักเปิดฝา ฉะนั้นที่ไม่สามารถจะบรรลุได้อยู่ที่ว่าไม่ได้เปิด ยังไม่ได้ฟัง สาวกภูมิ สาวกะ แปละว่าฟังยังไงล่ะ


“...ทีนี้ว่าจะทำบุญแบบไหนจึงจะไปเจอพระที่เปิดฝาถูกใจและได้ผลเร็ว...”
“...ก็ทำบุญกับฉันสิ (หัวเราะ) เอาย่ามเปิดไว้เสมอ อย่างถามเมื่อกี้น่ะมีเหตุมีผล การรับฟังนี่ต้องเฉพาะบุคคลที่เคยเนื่องกันมา แม้แต่พระพุทธเจ้าก็เช่นเดียวกัน...”
พระพุทธเจ้าท่านไม่ใช่จะโปรดคนได้ทุกคน สังเกตไหมว่าเวลาที่ท่านจะตรวจอุปนิสัยของสัตว์ ตอนหัวค่ำน่ะตรวจไกลเข้ามาหาใกล้ ถ้าตอนเช้ามืดตรวจใกล้ไปหาไกล

หมายความถึงว่าตรวจตั้งแต่ใกล้ที่กุฏิยาวไปทั่วจักรวาล ถ้าไกลเข้ามาหาใกล้หมายถึงว่าจากจักรวาลไปหากฏิ ว่าวันนี้ใครจะบรรลุมรรคผลบ้าง ใครตกในข่ายพระญาณบ้าง ใช่ไหม ในเมื่อพระพุทธเจ้าตรวจอุปนิสัย ทุกวันต้องพบว่าคนนั้นคนนี้ต้องบรรลุมรรคผลอยู่ที่ไหน ชื่ออะไร บุญเก่าทำอะไรไว้ จะไปพูดว่ายังไงจึงบรรลุมรรคผล นี่รู้หมด

แต่ทว่าถ้าตรวจอีกครั้งอีกจุดว่า เราจะไปก่อนเองดีหรือให้ใครไปก่อน คนนี้เคยเนื่องกับเราหรือเปล่า ถ้าเคยเนื่องกับพระองค์ก็โปรดเอง ถ้าไม่เคยเนื่องกับพระองค์ พระองค์ก็ดูก่อนว่าพระอยู่กับท่านมีใครบ้างไหมที่เคยทำบุญร่วมกับคนนี้มาก่อน ถ้ารู้ว่าองค์นั้นเคยทำบุญร่วมกันมาก่อนก็ใช้องค์นั้นไปก่อน เขาจะพูดกันรู้เรื่องง่าย

ในเมื่อองค์นั้นไปแล้ว เรียกว่าทะเลาะกันก่อน ไม่ใช่ตีกันนะ โต้กันไปเถียงกันมา เถียงไปเถียงมา.. แพ้ แพ้พระ ใช่ไหม ทีนี้พระพุทธเจ้าก็เสด็จเหาะไปเลย เหาะไปเดี๋ยวนั้นเลย เหาะไปแล้วก็ลงไปนั่งข้างๆ พระองค์นั้นก็เข้าไปกราบว่านี่คืออาจารย์ของเรา พราหมณ์นั้นเลยนึกว่าลูกศิษย์เก่งขนาดนี้ อาจารย์จะเก่งมากกว่านี้ เลยรับฟังเทศน์ พอเทศน์จบก็เป็นพระอรหันต์

ฉะนั้นการรับฟังการแนะนำก็เหมือนกัน เวลานี้เวลานั้นก็เหมือนกัน คนต้องเนื่องกันมาในชาติก่อน ถ้าไม่เนื่องกันมาไม่มีทางรู้เรื่อง
“...ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่าลูกหลานทั้งหมดที่นั่งกันประจ๋อประแจ๋นี่ ก็ทั้งเนื่องทั้งเกี่ยวกันมานะครับ...”
“...ก็ไม่แน่ ประเภทลองมาดูก็มี รู้ทุกวันแหละ ใครนั่งตรงไหนก็รู้หมด...”

ถ้ารู้ตัวว่าโง่ก็ฉลาดมาก

“...ลูกพิจารณาดูตัวเองรู้สึกว่าโง่เหลือเกินเจ้าค่ะ...”
“...ถ้ารู้ว่าโง่ก็ฉลาดมาก...”
พระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้นนะ แต่เป็นเรื่องจริงนะ คนเรารู้ตัวว่าโง่เป็นคนฉลาด ไอ้โง่จริงๆ มันรู้ตัวเมื่อไร ยิ่งเบ่งใหญ่เลย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลใดมีความรู้สึกตัวว่าตัวเป็นพาล เรากล่าวว่าบุคคลนั้นเป็นบัณฑิต ใช่ไหม คนฉลาดจึงรู้ตัวว่าโง่ อย่างคติโบราณมี ยิ่งเรียนยิ่งโง่ ยิ่งโตยิ่งเซ่อ ใช่ไหม เรียนไปเท่าไรๆ ไอ้สิ่งที่ไม่รู้มีมากขึ้นทุกที เอ..นี่กูนึกว่าหนึ่งในตองอูแล้วนา หรือไง ดันเสือกไม่รู้เสียตั้งเยอะ ถ้าไม่เรียนเลยฟุ้ง ไอ้ยิ่งโตยิ่งเซ่อก็หมายความว่า ไอ้สิ่งที่เราไม่เข้าใจยังมีอีกมาก ยิ่งทำไป อย่างคนเรียนวิชาเกี่ยวกับแร่ เรื่องที่ไม่รู้มีมากกว่าเรื่องที่รู้

เถรใบลานเปล่า

ท่านสุธรรมเถร นี่ท่านก็เกิดการทะนงตน พอการทะนงตนเกิดขึ้นมา วันหนึ่งท่านเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปฟังเทศน์ ใครเข้าไปเท่าไรพระพุทธเจ้าก็ไม่ทัก ก็ถือเป็นระเบียบอยู่แล้วใช่ไหม พอท่านสุธรรมเถรเข้าไปท่านถาม เอ้า..ขรัวใบลานเปล่ามาแล้วหรือ เอาเข้าแล้วสิ เวลาจะกลับ เอ้า..ขรัวใบลานเปล่ากลับแล้วหรือ ก็หาว่า ใบลานเปล่าคือว่า รู้แค่ปริยัติไม่มีความหมาย

พอโดนเข้า ๓ รอบ ๓ ครั้ง ชักเอะใจ เอ๊ะ..กูนี่ยังไงหว่า ขนาดรู้พระไตรปิฎกทั้งหมดนี่พระพุทธเจ้าหาว่าขรัวใบลานเปล่า ก็หันเข้ามาฝึกทางจิต เลยเป็นอรหันต์ไปเลย พอเป็นอรหันต์แล้วจึงเข้าใจว่าไอ้การเข้าใจตามหนังสือมันไม่ได้ ๑ เปอร์เซ็นต์ อันนี้เราไม่ได้รู้จริง ก็ที่หนังสือเขาเขียนก็ถูก คนเขียนตำราเขาเขียนถูก

แต่คนไม่ได้เข้าใจตามตำรา ใช่ไหม ไอ้แร่ประเภทนี้สีเป็นอย่างนั้น เนื้อเป็นอย่างนี้ จะไปจำมันหมดหรือ ไม่เห็นของจริงไม่เจอของจริงก็งง อะไรหว่า ดีไม่ดีพวกว่าดีบุก ดีบุกไปหลอมเสียหน่อยเดียวจำไม่ได้ คิดว่าเงินนะ (หัวเราะ) หรือไง...

พระอรหันต์มีแต่แก่นแท้

ถ้าหากว่าบรรลุอรหันต์ปุ๊บ อย่าไปถามเขาเลย คำว่าไม่รู้ไม่มี แต่เขารู้ทางตรงเลยนะ ไอ้เปลือกนี่เขาไม่มี เขามีแต่แก่นแท้เลย อ้อมไปอ้อมมานี่เขาไม่อ้อม ถามนี่อะไร แกงไก่บอกเลยว่าแกงไก่ ไอ้นี่แกงเป็ดก็ว่าไปเลย ไม่ต้องไอ้น้ำแดงๆ มีเนื้ออย่างนี้ๆ ให้มีผักอย่างนี้เขาเรียกว่าอย่างนั้น ไม่ต้องว่ากันละ ไก่ก็ไก่ เป็ดก็เป็ด

เอาอย่างพระเรวัต

ความรักระหว่างคนที่จะแต่งงานกันมักจะเพ่งกันอยู่เฉพาะในวัยที่มีความผ่องใสแข็งแรงกระปรี้กระเปร่า แต่ว่าสภาพของคู่แต่งงานทั้งคู่จะทรงสภาพอยู่อย่างนั้นเป็นปกติหรือว่าเสื่อมลงไป สิ่งที่เรามองเห็นได้ง่าย คนที่เขาแต่งงานมาก่อนอย่างบิดามารดาปู่ย่าตายายของเราน่ะ ท่านก็เป็นหนุ่มสาวกันมาก่อน

แล้วเวลาที่เราจะเริ่มมีสภาวะพอจะแต่งงานกับเขาได้นี่ ท่านทั้งหลายเหล่านั้นยังหนุ่มสาวหรือเปล่า หรือว่าแก่ไปเสียแล้ว บางรายเราก็เห็นหง่อม ต้องเอาวิสัยของพระเรวัตมาใช้ ที่พระเรวัตที่บรรดาญาติฝ่ายหญิงซึ่งมีอายุ ๑๒๐ ปี หนังตกกระ หลังงอ ผมหงอก ตาฝ้า หูฟาง มารดน้ำสังข์ บรรดาญาติทั้งหลายก็บอกว่า

“...ขอเธอทั้งหลายจงครองคู่อยู่กันไปจนกระทั่งแก่เฒ่า ถือไม้เท้ายอดทอง เหมือนกับคุณยายของฝ่าเจ้าสาว...”
พระเรวัตมองดูแล้วก็ใจหาย ถามว่า “...ต่อไปเจ้าสาวของผมจะมีสภาพอย่างนี้ไหม...”
คนทั้งหลายก็บอกว่า “...ถ้ามีอายุยืนอย่างนี้ ก็มีสภาพอย่างนี้เหมือนกัน...”

พระเรวัตก็เลยตัดสินใจว่า เจ้าสาวของเราเวลานี้กระปรี้กระเปร่า ผิวพรรณผ่องใส แต่ต่อไปข้างหน้าต้องแก่อย่างนี้ก็ไม่เอาแล้ว ขอบอกศาลา เลยหนีบวช บวชแล้วก็เป็นพระอรหันต์ นี่เราควรจะมีความเมตตา คือความรัก กรุณา ความสงสารตัวเอง ว่า เราจะแบกกายแบกใจของเราไปรับความทุกข์เรื่องการแต่งงานเพื่ออะไร เพราะการแต่งงาน การมีสามี การมีภรรยา มีบุตรธิดามันเป็นปัจจัยของความทุกข์ เราจะแบกความทุกข์หาที่สุดมิได้จนกว่าจะตาย


ความรักเป็นทุกข์

เมื่อถึงคราวที่แต่งงาน อยู่คนเดียวคิดว่ามันไม่มีสุข แต่ความรักเกิดขึ้นในระหว่างเพศ สิ่งใดก็ตามถ้าเรารัก สิ่งนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกล่าวว่ามันเป็นปัจจัยของความทุกข์ ตามพระบาลีว่า ปิยโต ชายเต โสโก ปิยโต ชายเต ภยัง ซึ่งแปลว่า ความเศร้าโศกเสียใจมาจากความรัก ภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเราก็อาศัยความรักเป็นปัจจัย

ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะสิ่งใดถ้าเราไม่รัก เราก็ปราศจากการหวงแหน ใครผู้ใดที่ไหนมีความปรารถนาอะไร นั่นเราก็คิดว่าจงทำตามนั้น ทำตามปรารถนาของเธอ สิ่งใดที่เขาชอบใจจงเอาไปในสิ่งที่เราไม่รัก วัตถุก็ดี บุคคลก็ดี ถ้าเป็นสิ่งที่เรารัก ใครมายื้อแย่งเราก็โกรธ เพียงแค่ต้องการเราก็โกรธ ถ้าเขามายื้อแย่งอาจจะต้องประหัตประหารกัน เป็นอันว่าความรักเป็นปัจจัยของความทุกข์ ความรักเป็นปัจจัยทำให้เกิดภัยอันตรายต่างๆ

ทุกข์จากการมีคู่

คนที่เขาแต่งงานกันน่ะ เห็นไหมว่าเขาทะเลาะกันน่ะมีบ้างหรือเปล่า เวลาก่อนที่จะแต่งงานกันเลือกแล้วเลือกอีก สวยหรือไม่สวย ดีหรือไม่ดี แหม...เลือกกันจ้ำจี้จ้ำไช เลือกน้อยเลือกใหญ่ สืบสาวราวเรื่อง สืบตระกูลกันไม่หวัดไม่ไหว พอแต่งงานกันไม่เท่าไรทะเลาะกันแล้ว ไอ้ความทุกข์ทั้งหลายอย่างอื่นมันก็ติดตามเข้ามา นี่ความสวยความสง่าผ่าเผยที่ต้องการในลำดับแรก

ในที่สุดความเศร้าหมองมันเกิด ทรุดโทรมลงไปทุกวันๆ ดูคนทีเขาแต่งงานผ่านระยะเวลาประมาณ ๒๐ ปี แล้วไปขอดูรูปถ่ายที่เขาถ่ายเมื่อวันแต่งงานน่ะ มันคล้ายคลึงกันไหม ดีไม่ดีเราอาจจะจำไม่ได้คิดว่าผีหลอกก็ได้ มันทรุดโทรมขนาดนั้น มีลูกมีเต้าออกมา มันมีความสุขหรือความทุกข์ แบกภาระเรื่องการเลี้ยงลูกอย่างหนัก ในที่สุดต่างคนต่างตาย และร่างกายของคนที่เรารักมันสกปรกหรือว่ามันสะอาด

นินทา สรรเสริญ

หลวงพ่อถูกด่าเสียจนชิน ไปที่ไหนเขาก็ด่าที่นั่น เพราะหลวงพ่อเป็นลูกพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านไปสอนไปเทศน์โปรดเมืองไหน ท่านก็ถูกด่าเมืองนั้น ถ้าหลวงพ่อไม่ถูกด่าก็ไม่ใช่ลูกพระพุทธเจ้าใช่ไหม นัตถิ โลเก อนินทิโต คนไม่ถูกนินทาเลย ไม่มีในโลก พ้นไหม นินทาและสรรเสริญเป็นธรรมดาของชาวโลก

พระพุทธเจ้ายังบอกว่า เธอทั้งหลาย จงอย่าสนใจทั้งคำนินทาและสรรเสริญ คือเขานินทาว่าเราชั่ว เราก็ดูตัวเรา เราทำชั่วตามเขาว่าหรือเปล่า ถ้าเราไม่ชั่วก็ถือว่าไอ้หมอนี่ ถ้าไม่เป็นโรคเส้นประสาทก็ตาไม่ดีนะ ใช่ไหม คนดีว่าชั่ว เขาหาว่าเราเป็นหมา ก็รีบไปส่องกระจก ดูหูยาวไหม มีหางหรือเปล่า มีเขี้ยวยาวไหม ถ้าไม่มีตามนั้นเราต้องนึก

ไอ้เจ้านี่ถ้าตาไม่เสียก็เป็นโรคประสาทแน่ เห็นคนเป็นหมาไปแล้ว ใช่ไหม แต่ถ้าเขาสรรเสริญเรา เราก็ดูก่อน เราดีตามเขาพูดไหม ถ้าไม่ดีตามเขาสรรเสริญ ก็แสดงว่าเขานี่หลอกใช้เรา ไม่ได้เกิดประโยชน์ เป็นอันว่านินทาก็ดี สรรเสริญก็ดี ไม่ทำให้คนดีคนชั่ว เราจะดีหรือจะชั่วอยู่ที่ความประพฤติของเราเอง ถ้าเราประพฤติดีมันก็ดี แต่ประพฤติชั้วมันก็ชั่ว ไม่ต้องไปรอใครเขานินทา สรรเสริญ

เขายกย่องเราก็ไม่ดีไปตามเขายก เราจะต้องยกตัวเองด้วยการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนะ อันนี้พระพุทธเจ้าเคยแนะพระ แล้วพระเป็นอรหันต์ไปเลย ทว่ามีสองคน ไอ้ลุงนั่งด่าพระพุทธเจ้าตลอดคืน หลานนั่งสรรเสริญพระพุทธเจ้าตลอดคืน เช้าพระไปบิณฑบาต ไปฟังข่าวชาวบ้านบอก พระมาเล่าให้พระพุทธเจ้าฟัง พอเล่าให้ท่านฟัง พอท่านฉันข้าวเสร็จ ท่านก็เรียกประชุมพระ

ท่านบอก นินทา ปสังสา นินทาสรรเสริญเป็นธรรมดาของชาวโลก เราจะไม่ดีเพราะคำสรรเสริญ แล้วเราก็ไม่ชั่วเพราะคำนินทา เราจะดีหรือชั่วเพราะผลของการปฏิบัติ ฉะนั้นขอท่านทั้งหลายจงอย่าสนใจทั้งคำนินทาและสรรเสริญ ถ้าเราติดสรรเสริญก็เสียท่าเขา ก็ยอไปยอมาดีไม่ดีควักตังค์หมดกระเป๋า จะกินก๋วยเตี๋ยวสักชามหนึ่งไม่ได้กินเลย สรรเสริญชมก็อย่าพอใจ แต่ก็ไม่ใช่โกรธนะ

คำว่าไม่พอใจเคยเขียนไว้ในหนังสือว่า คำสรรเสริญคือหอกเสียดแทงหัวใจ มีคนหนึ่งแกถามมายังไม่ได้ตอบแกเลย แกบอกสรรเสริญแล้วโกรธเหรอ บอกไม่ใช่ ไม่ใช่โกรธ ให้มีความรู้สึกว่าคำสรรเสริญมาเสียบหัวใจเรา เพราะถ้าเราหลงคำสรรเสริญนั่นแหละเราจะแย่ ดีไม่ดีเราเลวแต่เขาสรรเสริญว่าดี เขาสรรเสริญเพื่ออะไร เขาสรรเสริญเพื่อประโยชน์ของเขา แล้วเราก็จะแย่ แต่ได้ยินคำนินทา เขานินทาว่าร้ายเรา เราก็เฉยๆ เหมือนกับไม่ได้ยินอะไรเลย

นินทา สรรเสริญ เรื่องธรรมดา

ไอ้ด่านี่มันนินทาสรรเสริญ เป็นกฎธรรมดาของชาวโลกนะ มันหนีไม่ได้ พระพุทธเจ้าไม่ด่าใคร แต่ว่าเขาด่าพระพุทธเจ้า ถ้าเราไม่เคยด่าเขา เราทำดี แต่เขาด่าเรา ก็แสดงว่าเป็นกรรมของเขาอย่างหนัก
ถ้าเขาด่าเราโกรธ เขามีโทษน้อยหน่อย ถ้าเขาด่าเราไม่โกรธ เขาจมปรัก เขาแย่ เขารับไปคนเดียว ถ้าเขาด่าเรา เราด่าเขา ขึ้นสถานีตำรวจเสียเป็นร้อยเท่ากันใช่ไหม ถ้าเขาด่าเรา เราไม่ด่าเขา ขึ้นสถานีตำรวจเราไม่ต้องเสียตังค์ใช่ไหม จำไว้ว่ามันเหมือนๆ กัน

พิสูจน์ด้วยปฏิบัติ..อย่านึก

วิชาของพระพุทธเจ้าอย่ารับฟังแล้วคิดเฉยๆ นะ ถ้ารับฟังแล้วคิดเฉยๆ นี่ไม่มีผล และหนักเข้าเราเองจะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ เราต้องดูหลักสูตรหลักเกณฑ์ที่พระองค์ทรงวางไว้ว่าให้ปฏิบัติอย่างไรบ้าง ต้องพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติ ไม่ใช่พิสูจน์ด้วยการคำนึงคิด นั่งนึกนึกแต่อารมณ์

ไอ้คนกินเหล้านี่ พอเขาบอกน้ำหวานมันไม่เคยกินน้ำหวาน มันนึกว่าน้ำหวานรสเหมือนเหล้าใช่ไหม ไอ้คนกินแต่น้ำหวานไม่รู้จักเหล้า นี่มีสภาพฉันใด ถ้าจิตใจเรายังเป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทาน แล้วจะเกิดผลอย่างไรก็ตาม ถ้าเราใช้อารมณ์ธรรมดาเข้าไปวินิจฉัยคำสอนของพระพุทธเจ้า จะไม่มีทางเข้าใจได้

อธิโมกขศรัทธา

ในสมัยครั้งหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าประชุมสงฆ์ เมื่อเทศน์โปรดแล้วพระพุทธเจ้าถามพระสารีบุตรว่า
“...สารีบุตร ถ้อยคำสอนของพระตถาคตที่พูดมาแล้วนี่ สารีบุตรเชื่อไหม...”
พระสารีบุตรบอก “...ข้าพระพุทธเจ้าไม่เชื่อพระพุทธเจ้าข้า...”
เล่นเอาพระทั้งหลายเหล่านั้นมองพระสารีบุตรตาบูดตาเบี้ยวไปตามๆ กัน คิดว่าพระสารีบุตรนี่อวดดี

พระพุทธเจ้าตั้งให้เป็นอัครสาวกก็ยังอวดดี ใช้ไม่ได้เสียแล้ว นี่สำหรับจิตใจพระที่เป็นปุถุชน แต่ว่าพระพุทธเจ้าก็ไม่ว่าอะไร ถามต่อไปว่า “...สารีบุตร ทำไมเธอจึงไม่เชื่อ...”
พระสารีบุตรบอกว่า ก่อนที่ข้าพระพุทธเจ้าจะเชื่อต้องทดสอบถ้อยคำสอนของพระพุทธองค์ก่อน พระพุทธเจ้าข้า นี่หมายความว่าต้องปฏิบัติ ถ้ามีผลตามนั้นพระสารีบุตรจึงจะเชื่อ
พระพุทธเจ้ายกมือขึ้นสาธุว่า “...ดีแล้ว สารีบุตรดีแล้วๆ อักขาตาโร ตถาคตา ตถาคตนี่เป็นแต่เพียงคนบอก เมื่อบอกแล้วถ้าใครหลงเชื่อสนิทว่าสิ่งนั้นเป็นความจริง คนนั้นจัดว่าเป็นอธิโมกขศรัทธา น้อมใจเชื่อ ตถาคตไม่สรรเสริญ

เมื่อฟังแล้วต้องนำไปประพฤติปฏิบัติ พิสูจน์ความจริงจากคำสอนของตถาคตก่อน จนกว่าจะเกิดผลแล้วจึงเชื่ออย่างนี้ตถาคตสรรเสริญ สารีบุตรเป็นคนดี...” นี่เป็นอย่างนี้เสียอีก นี่คติของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างนั้น ที่ฉันพูดฉันเล่าอะไรมาให้ฟังตั้งแต่ต้นนี่ ท่านผู้ฟังทั้งหมดอย่าเชื่อฉันนะ ว่าอะไรก็ตามถ้าฉันกล่าวไปแล้วมีผลเป็นอย่างนั้นมีผลเป็นอย่างนี้

ก็พยายามทำกันให้ได้ พยายามศึกษากันก่อน ปฏิบัติกันก่อน แล้วปฏิบัตินี่ต้องปฏิบัติขั้นเอาชีวิตเข้าแลกกันทีเดียวนะ ไอ้แบบชนิดที่เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อน่ะฉันไม่ใช้ คนประเภทนี้ไม่คบ คนชนิดนี้พูดให้ฟังก็เหนื่อยเปล่า ไม่เกิดประโยชน์

ทุกอย่างต้องแก้ที่ใจเรา

คนที่มีความวุ่นวายติโน่นตินี่ ไอ้โน่นไม่ดี ไอ้นี่เสีย คนประเภทนี้ก็คือคนที่ไม่รู้จักธรรมดา พูดภาษาไทยๆ เขาเรียกว่ากิเลสมันยังเลยหัวอยู่ ปลดอารมณ์นั้นเสีย ถ้าจิตของเรายอมรับนับถือกฎของธรรมดา อะไรมันจะมาก็ถือว่าเป็นเรื่องของมันอย่างนั้น ไม่ต้องไปติ สิ่งใดที่แก้ไขไม่ได้อย่าไปแก้มัน

อย่าไปแก้ที่วัตถุ อย่าไปแก้ที่บุคคล มาแก้ที่ใจเรา ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นธรรมดา ทำไมเราจึงต้องเดือดร้อน ทำไมเราจึงจะต้องดิ้นรน อย่าเป็นคนช่างติ ถ้าจะติก็ติตัวเรา ตามที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า อัตตนา โจทยัตตานัง จงกล่าวโทษโจทความชั่วของตัวเองไว้ให้เป็นปกติ

ติตนเอง

หมายความว่า เราต้องดูว่าเราเป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทานมากหรือน้อย ก็ต้องดูใจของเราว่ายังติดหรือผิดศีลหรือเปล่า พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนว่า เอ้อ..ลูกเอ้ย หนูเอ๋ย ถ้าเอ็งจะดีต้องติชาวบ้านเขานะ นึกถึงกฎของความเป็นจริงที่พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงตำหนิใคร เพราะท่านรู้ว่าทุกคนที่เกิดมาแล้ว ที่เกิดมาเป็นตัวนี่มันไม่ใช่คนดีนะ คนเลว

พูดตามภาษาชาวบ้านแต่ความจริงและแท้จริงแล้วมันไม่ได้เลว ที่มันเลวเพราะมันมีเจ้านายต่างหาก เจ้านายมันเลว เจ้านายนี่ไม่ใช่ผู้บังคับการฝูงนะ เจ้านายคือกิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรม ที่มันสั่งสมสืบกันมา เราจึงต้องเกิด ไม่เช่นนั้นเราก็ไปนิพพานแล้ว ถ้าดีจริงๆ แล้วก็ต้องไปนิพพานแล้ว เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงไม่ประณามว่าชั่ว

แต่ว่าจะชั่วหรือดีอยู่ที่การปฏิบัติ เมื่อรับคำแนะนำแล้วยังไม่ปฏิบัติตาม ทีนี่แหละถือว่าชั่วแล้ว หรือว่าเขาชี้บอกว่านี่ขนม นี่กับข้าว นี่น้ำนะ เรานั่งหิวแทบตายแต่เราไม่กินก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร ถ้าเราไม่เลวแล้วเราจะเลวเมื่อไร อีทีนี้ต้องยอมเลวน่ะ นี่ที่ว่ายอมเลวเพราะอะไร ก็เพราะว่าเขาให้เรากิน เขาบอกเราแล้วแต่เราไม่กิน ถ้าเราไม่กินหิวขึ้นมาแล้วเราจะไปโทษใคร ต้องโทษตัวเราเอง

ในเมื่อพระพุทธเจ้าท่านทรงทราบ ท่านไม่ทรงตำหนิ เห็นไหมท่านไม่ตำหนิแต่ท่านเตือนไว้ว่า อัตตนา โจทยัตตานัง จงเตือนตนด้วยตนเอง และกล่าวโทษโจทความผิดของตนเอง ท่านไม่ได้บอกกล่าวโทษผิดติชาวบ้านเขา บอกให้ติตัวเอง ติตัวเองก็คือติอารมณ์ใจ ให้ดูอารมณ์ใจ

จิตสัตว์โลก

“...คือมีคนสงสัยนะคะว่า คนเรานี่มีจิตมีดวงวิญญาณใช่ไหมคะ แล้วสัตว์นี่มีจิตมีดวงวิญญาณหรือเปล่าคะ...
“...ต้องไปถามสัตว์ดู (หัวเราะ)...”

“...เคยได้ยินมาว่าถ้าหากว่าเราทำความชั่วจะลงอบายภูมิ ทำไมถึงลงล่ะคะ แล้วจะต้องไปเกิดเป็นสัตว์หรือะไรสักอย่างหนึ่งนะคะ แล้วทีนี้ถ้าเผื่อว่าความจริงอันนี้นะคะ ในสภาพที่เราเป็นสัตว์นี่ จิตวิญญาณเราจะอยู่ที่ไหนคะ หนูอยากจะทราบอันนี้ค่ะ...”
“...อันนี้คุณจะต้องทำตัวให้เป็นสัตว์เสียก่อนจะได้หมดสงสัย (หัวเราะ) ไม่งั้นพูดไปไม่จบหรอก ทำได้ไหม

ไอ้จิตนี่มันไปเข้าอะไรมันก็เป็นอย่างนั้น จิตนี่มันมาเข้าร่างของคนมันก็เป็นคน ถ้าไปเข้าร่างของสัตว์มันก็เป็นสัตว์ คือสัตว์กับคนก็จิตอันเดียวกัน คนก็ไปเกิดเป็นสัตว์ใช่ไหม สัตว์นี่ก็ถือว่าเป็นประเภทที่อยู่ในอบายภูมิ ในอบายภูมินี่มันมีทุกข ไอ้สัตว์นี่ถ้าเราจะมีความเมตตาปรานีกับมันอย่างไรก็ตามมันก็ลำบาก เราจะอ้างไอ้สัตว์ตัวนี้มันชอบเนื้อต้องซื้อเฉพาะเนื้อดิบ

แต่ความจริงสัตว์มันก็ชอบอย่างอื่นบ้าง มันก็บอกไม่ได้ ไอ้เราก็นึกว่ามันชอบ ทั้งๆ ที่มันเบื่อแสนเบื่อ มันไม่มีอะไรจะกินมันก็ต้องกิน มีความปรารถนาไม่สมหวังใช่ไหม ถ้าบอกอย่างนี้คุณไม่แน่ใจคุณก็ลองดูนะ...”

ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 29/3/12 at 15:00

5

๕.เรื่องของทาน



บุญ ๓ ประการ

พระพุทธเจ้ากล่าวว่าเหตุที่เป็นบุญก็คือ
๑.ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน บรรดาท่านพุทธบริษัททำแล้วทั้ง ๒ ประการ คือถวายทานกับพระสงฆ์ด้วยอาหารและถวายทานกับพระสงฆ์ด้วยผ้าผ่อนท่อนสไบและปัจจัย เป็นต้น
๒.สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล บรรดาท่านพุทธบริษัทก็สมาทานศีลแล้ว และก็
๓.ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา นั่นคือบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยถ้วนหน้าตั้งใจสดับรับรสพุทธพจน์ด้วยความตั้งใจ ด้วยความเคารพอย่างนี้เรียกว่าภาวนามัย
ทั้งหมดทั้ง ๓ ประการนี้เมื่อพร้อมกันแล้วไซร้ เป็นปัจจัยให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน


ปฏิบัติบูชา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงอานิสงส์ของการบูชา ๒ ประการว่า อานันทะ ดูกร อานนท์ การบูชานี่มี ๒ อย่างคือ
๑.อามิสบูชา
๒.ปฏิบัติบูชา
การที่เทวดาโปรยปรายดอกชบาลงมาก็ดี บรรดาประชาชนได้เอาดอกไม้ธูปเทียนมาบูชาตถาคตก็ดี อย่างนี้ชื่อว่าเป็น อามิสบูชา ดีจัดว่ามีอานิสงส์เลิศ

สามารถยังผลให้เกิดในกามาวจรสวรรค์ได้ คือ อามิสบูชานี้ ถ้าบูชาไม่เป็นได้ผลแค่กามาวจรสวรรค์ เป็นเทวดาได้ ถ้าบูชาเป็นแล้วเป็นปฏิบัติบูชาไปด้วย ก็ถึงนิพพานได้ แล้วองค์สมเด็จพระจอมไตรก็ตรัสว่า อามิสบูชา ดีแล แต่ทว่าสู้ ปฏิบัติบูชาไม่ได้ แต่ทว่าทั้ง ๒ ประการนี้ไซร้ก็ต้องควบคู่กันไป สำหรับปฏิบัติบูชานั้น

๑.ขอให้ทุกคนรู้จักการให้ทาน เป็นการตัดโลภะ ความโลภ
๒.รู้จักการรักษาศีล คือมีเมตตากรุณาเป็นพื้นฐาน เป็นการตัดความโกรธ
๓.สามารถเจริญภาวนาวิปัสสนาญาณ ใช้เป็นญาณพิจารณาว่า ร่างกายของเรานี้ความจริงมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา และไม่ติดในร่างกายของเราด้วยไม่ติดในร่างกายของบุคคลอื่นด้วย ไม่ติดในวัตถุใดๆ ในโลกด้วย อย่างนี้จะช่วยให้ทุกคนไปนิพพาน

อะไรคือสังฆทาน

คือว่าการถวายทานนี่บรรดาท่านพุทธบริษัททราบแล้ว ก็มีเรื่องๆ หนึ่งเป็นเรื่องที่น่าคิด ที่พราหมณ์มีจิตต้องการเคารพในบุคคลเฉพาะที่มีอายุมากๆ แต่มีอายุมากๆ แก่เกินไปก็ไม่ชอบ ถวายพระเด็กเกินไปก็ไม่ชอบ ก็ไม่ทราบว่าแก่พอสมควรของแกเป็นอย่างไร

คือว่าการถวายทานนี่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย เราทราบไม่ได้ถึงพระผู้รับหรือบุคคลผู้รับ เพราะอานิสงส์ต่างกัน ถ้าบังเอิญไปถวายทานกับพระอรหันต์เข้า อานิสงส์ก็สูงเป็นกรณีพิเศษ แต่ว่าองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ตรัสไว้เป็นพิเศษอย่างหนึ่ง นั่นคือ การถวายสังฆทาน พระผู้รับจะมีคุณสมบัติเพียงใดก็ไม่เป็นไร

เพราะการถวายทานนี่เป็นการถวายแก่สงฆ์ อย่างไรๆ อานิสงส์คุณบุญราศีที่จะพึงได้รับ ได้รับมากจริงๆ แต่ทว่าบรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิง ถ้าเผอิญพระผู้รับเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องตามคติของพระพุทธศาสนา ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายโดยถ้วนหน้าก็ยังมีอานิสงส์สมบูรณ์แบบ แต่ทว่าผู้รับถ้ากินเข้าไปหรือใช้ของเขาในการถวายสังฆทานนี้ตกนรกเอง เป็นเรื่องของท่าน

การถวายสังฆทาน

ตอนนี้มาคุยกันเรื่องของผีดีกว่านะ เรื่องของผีก็มีอยู่ว่า เรื่องสังฆทาน สังฆทานที่จัดให้มีพระพุทธรูป ผ้าไตร ของที่มีอาหารบ้างเล็กน้อย ก็มีเหตุมาจากผี คือว่าสมัยก่อนผีขอ ขณะที่ผีตะกละมาขอแกขอแบบนี้ ขอพระพุทธรูปหนึ่งองค์ หน้าตักไม่น้อยกว่า ๔ นิ้ว ให้เกิน ๔ นิ้วขึ้นไป ผ้าหนึ่งผืน หรือผ้าไตรหนึ่งผืนก็ได้ และก็มีอาหารเล็กน้อย อาหารแห้งอาหารสดก็ได้ทั้งนั้นนะ

ต่อมาหลายปีเข้าทุกหน่วยที่มาขอ ขอเหมือนกันหมด มีพระพุทธรูป มีผ้า มีอาหาร ผ่านมาประมาณ ๑๐ ปีกว่า มันขอเกินเรียกว่าหลายพันคน ขอเหมือนกันหมด ใครมาขอก็ขอเหมือนกัน ฉันก็ทำเรื่อยมา หนักเข้าตอนหนึ่งฉันไปจังหวัดอุทัยธานี กำลังจะไปฉันเพลเขา ผีมันมาขออีก ไม่ได้หลับนะ ไม่ต้องหลับ ฉันนั่งๆ ผียังมา

ถามว่า “...เธอต้องการอะไร...”
เขาบอก “...ต้องการพระพุทธรูป ต้องการผ้า อาหารเล็กน้อย...”
วันนั้นมันมีเวลาว่างอยู่ เลยถามว่า “...ไหนลองบอกอานิสงส์ซิ ฉันเห็นว่าขอแบบนี้มาเกินสองสามพันคนแล้ว ฉันก็ทำให้มามาก ฉันไม่ทราบถึงอานิสงส์...”

ผีนั้นแกเลยบอกว่า “...การได้อาหารนิดหนึ่งเป็นเหตุให้ผมได้ร่างกายเป็นทิพย์ การได้ผ้าเป็นเหตุให้ผมได้เครื่องประดับเป็นทิพย์ การได้พระพุทธรูปไปมีอานิสงส์ทำให้ร่างกายแกมีแสงสว่างมาก...” ที่มีพระพุทธรูป เทวดากับพรหม นางฟ้าก็ตาม เขาถือว่าองค์ไหนมีแสงสว่างมาก องค์นั้นมีบุญมากที่สุด เขาถือว่ามีแสงสว่างมาก เทวดาก็ดี พรหมก็ดี นางฟ้าก็ตาม เขาไม่ถือเครื่องแต่งตัว เขาถือแสงสว่างเป็นสำคัญ

ถึงแม้ของน้อยก็อานิสงส์มาก

การถวายสังฆทานนี่ถึงแม้จะมีของน้อยก็มีอานิสงส์มาก ก็ดูตัวอย่างพระสารีบุตรถวายสังฆทานให้แม่ของท่าน แม่คนละชาตินะ แม่ชาตินี้ของท่านก่อนที่ท่านจะนิพพาน ท่านแนะนำให้แม่ของท่านเป็นพระโสดาบัน แต่ถอยหลังไปอีกร้อยชาติมีแม่อีกคนหนึ่ง คนละชาติ แม่ชาติโน้นเป็นเปรตอยู่

วันหนึ่งพระสารีบุตรท่านเจริญพระกรรมฐาน แล้วท่านก็ไปเที่ยวแดนนรก ออกจากแดนนรกท่านเข้าสู่แดนเปรต เข้าใจว่าท่านรู้ ไม่รู้ท่านคงไม่ไป ก็เดินผ่านคณะเปรตมา มาถึงเปรตผู้หญิงคนหนึ่งนั่งอยู่ ก็มีผ้าดึงไปดึงมา ดึงผ้าไม่หยุด หยุดดึงไม่ได้ไฟไหม้ตัว แล้วท่านก็หยุดยืนข้างๆ หญิงคนนั้นก็มองหน้าท่าน

พระอยู่ใกล้ไฟก็ไม่ไหม้ เมื่อท่านมองหน้า เธอมองหน้าพระสารีบุตร
หญิงเปรตก็ถามว่า “..ท่าน จำฉันได้ไหม...” พระสารีบุตรความจริงรู้ ไม่ใช่ไม่รู้ แต่ลีลาของพระทุกองค์เหมือนกัน รู้แล้วต้องทำเป็นไม่รู้ ไอ้นี่มันเป็นปกติของพระ
พระสารีบุตรถามว่า “...เธอกับฉันเคยรู้จักกันมาหรือ...”

เธอก็บอกว่า “...เมื่อร้อยชาติโน้นที่ผ่านมาฉันเคยเป็นแม่ท่าน ท่านเป็นคนมีเมตตา ใจบุญสุนทาน ชอบทำบุญชอบให้ทาน แต่ฉันเป็นแม่ เป็นคนที่มีใจร้าย มีความตระหนี่มาก ไม่ทำบุญไม่ให้ทาน เป็นคนโหดร้าย ท่านตายจากความเป็นคนท่านก็เกิดเป็นเทวดาบ้าง เป็นพรหมบ้าง ฉันต้องมาเป็นเปรตถึงชาตินี้ ตั้งแต่เวลานั้นถึงเวลานี้ฉันยังไม่พ้นจากความเป็นเปรต...”

พระสารีบุตรเกิดมาร้อยชาติแล้วนะ พระสารีบุตรก็ถามว่า “...เธอต้องการให้ช่วยอะไรบ้าง...”
หญิงเปรตก็บอกว่า “...ถ้าท่านจะช่วยฉัน ขอให้ท่านถวายสังฆทานกับพระสงฆ์ที่เป็นสาวกของพระสมณโคดม. ..”
พระสารีบุตรก็รับว่าจะทำ ท่านก็ขึ้นมา พอตอนเช้าท่านไปบิณฑบาตเสร็จ เวลานั้นท่านอยู่ป่า มีลูกศิษย์อยู่ประมาณ ๕๐๐ รูป

ท่านฉันนอกวง คือท่านฉันองค์เดียว พระคณะของท่านฉันรวมกัน ก่อนที่พระจะฉันท่านก็นำข้าวหยิบเท่าที่บิณฑบาตมาได้เล็กน้อย แบ่งไปหยิบมือหนึ่งใส่ใบไม้แล้วก็ส่งไปให้พระ และก็เอาน้ำส่งให้พระ กับข้าวนิดหนึ่งใส่ใบไม้ส่งให้พระ กับผ้ากว้างคืบยาวคืบส่งให้พระ ถ้าผ้ากว้างคืบยาวคืบ ในพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นจีวร เป็นผ้าที่มีความสำคัญ โตกว่านั้นไม่เป็นไร ถ้าเล็กกว่านั้นไม่ถือเป็นจีวร

ถวายไปในวงพระ เวลาถวายไม่ได้ว่าอะไร เป็นสังฆทานโดยตรง การถวายสังฆทานโยมไม่ต้องว่าอะไรก็เป็นสังฆทาน ถ้าเราเห็นว่าพระนั่งตั้งแต่สี่องค์ขึ้นไปก็ถวายไปปั๊บ ไม่ต้องพูด เป็นสังฆทานเลย อานิสงส์ได้ครบ ถ้าองค์เดียวต้องบอกนี่สังฆทานนะ หลังจากนั้นท่านก็อุทิศส่วนกุศลให้แก่มารดาของท่านในร้อยชาติที่ผ่านมา ที่พบเมื่อตอนกลางคืน

พอตอนสายท่านไปพบพระโมคคัลลาน์ พระมหากัจจายนะ พระอนุรุทธ ท่านก็บอกว่า “...เมื่อคืนนี้ผมไปพบมารดาของผมในร้อยชาติที่ผ่านมา กำลังเป็นเปรต วันนี้ผมถวายสังฆทานไปให้แล้ว ก็ต้องการให้มารดามีวิมานเป็นที่อยู่ ชวนท่าน ๓ องค์สร้างศาลาคนละหลัง...” ทั้ง ๔ องค์ก็ตัดสินใจร่วมกันสร้างศาลาคนละหลัง ทำเป็นเพิงหมาแหงน

เสา ๔ เสาเอาไม้พาด เอาใบไม้วางข้างบน อุทิศให้เป็นของสงฆ์ แค่นั้นก็เป็นวิหารทาน และพอเวลากลางคืน เวลาที่พระเจริญกรรมฐาน พระโมคคัลลาน์กำลังเจริญกรรมฐานอยู่ ตามธรรมดาพระโมคคัลลาน์นี่ต้องไปสวรรค์ไปนรกทุกคืน คืนนั้นกำลังรวบรวมกำลังใจให้จิตเป็นสุขก่อน ทีนี้เวลารวบรวมกำลังใจยังไม่ทันจะเคลื่อนจากที่ ปรากฏมีนางฟ้าคนหนึ่ง มีภาพนางฟ้าปรากฏขึ้นสวยงามมาก

มีเครื่องประดับประดาสวยมาก แสงสว่างทั่วจักรวาล แถมมีวิมานตามมาด้วย มีสระโบกขรณีตามมาด้วย พระโมคคัลลาน์ท่านรู้จักเทวดานางฟ้าทั้งหมด เพราะท่านไปทุกคืน เกิดใหม่จุติใหม่ท่านรู้หมด ท่านเห็นท่านก็แปลกใจ “...เอ๊ะ...นางฟ้าองค์นี้มาจากไหน ทุกวันเราไปไม่เห็นพบ...” จึงถามว่า

“...ภคินี ดูก่อนน้องหญิง เธอเป็นนางฟ้าตั้งแต่เมื่อไร...”
นางฟ้าองค์นั้นก็ตอบว่า “...ฉันคือมารดาพระสารีบุตรเมื่อร้อยชาติที่ผ่านมา...”
พระโมคคัลลาน์ก็ถามว่า “...ที่เธอเป็นนางฟ้าก็ดี มีเครื่องประดับประดาสวยสดงดงามก็ดี มีวิมานทองคำสวยก็ดี มีสระโบกขรณีก็ดี มันได้บุญมาจากไหน...”

เธอก็บอกให้ฟัง บอกว่า “...เมื่อตอนเช้าพระสารีบุตรได้ถวายสังฆทานกับพระ มีข้าวหยิบมือหนึ่ง มีอาหารหน่อยหนึ่ง ใส่ใบไม้ถวายพระเป็นสังฆทาน เป็นเหตุให้ฉันได้ร่างกายอันเป็นทิพย์
และประการที่สอง พระสารีบุตรได้ถวายผ้ากว้างหนึ่งคืบยาวหนึ่งคืบแก่พระ เป็นเหตุให้ฉันได้เครื่องประดับอันเป็นทิพย์ พระสารีบุตรเอาน้ำใส่ฝาบาตรหนึ่งฝาบาตรถวายพระเป็นสังฆทาน

เป็นเหตุให้ฉันได้สระโบกขรณีอันเป็นทิพย์ แล้วที่ได้วิมานสวยสดงดงามเพราะพระคุณเจ้าทั้งสี่สร้างศาลาเพิงหมาแหงนให้ ถวายแก่สงฆ์ เป็นเหตุให้ฉันได้วิมาน...” นี่เห็นไหม รวมความว่าการถวายสังฆทานแม้จะเป็นของเล็กน้อยแต่อานิสงส์มากเหลือเกิน แต่ถ้ามีพระพุทธรูปด้วย แสดงว่าจะมีร่างกายสว่างมาก ผีบอก แต่เรื่องผีบอกนี่ตรงมากกว่าคนเดา เพราะผีได้รับอานิสงส์

สูงสุดคือวิหารทาน

อย่างถวายสังฆทานที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ถวายทานแก่พระอรหันต์เอง ๑๐๐ ครั้ง ก็มีผลไม่เท่ากับถวายทานกับพระปัจเจกพุทธเจ้า ๑ ครั้ง
ถวายทานกับพระปัจเจกพุทธเจ้า ๑๐๐ ครั้ง ก็มีผลไม่เท่ากับถวายทานกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ ครั้ง

ถวายทานแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑๐๐ ครั้ง ก็มีผลไม่เท่ากับถวายสังฆทาน ๑ ครั้ง อานิสงส์มาก เป็นอันว่าวัตถุทานจริงๆ ที่มีอานิสงส์มากคือถวายสังฆทาน แต่มีวัตถุทานอีกอย่างหนึ่งคือท่านบอกว่า
ถวายสังฆทาน ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายวิหารทาน ๑ ครั้ง ก็รวมความว่า วัตถุทานอันดับสองคือสังฆทาน วิหารทานเป็นอันดับหนึ่ง


อุทิศส่วนกุศล

เป็นอันว่าการทำบุญนี่ เวลาทำนี่เจ้าภาพได้ครบ แล้วเวลาอุทิศส่วนกุศล ถ้าผู้นั้นเขาได้มากสักเท่าไรก็ตามที ของเราไม่ได้ลดลง แต่ว่าการอุทิศส่วนกุศลนั้นเป็นผลกำไรของเราอยู่อย่างหนึ่ง คือได้เมตตาบารมีใช่ไหม ได้เพิ่มขึ้นมา เราขยันๆ ให้เอากำไรมันส่งใช่ไหม แต่ถ้าว่าอีตอนพ่อตายแล้วเวลาพระจะสวดนี่ ไปเคาะโลงกุ๊กๆๆ พ่อ..ฟังพระสวดนะ (หัวเราะ) ได้ยินบ่อย เมื่อก่อนนี้เคยหากินกับผีนะ

เวลาพระจะให้ศีลเคาะโลกกุ๊กๆๆ พ่อ..รับศีลนะ (หัวเราะ) พอเอาข้าวไปวาง พ่อ..กินข้าวนะ ถ้าผีลุกขึ้นมาได้เผ่นหมดเลยนะ (หัวเราะ) ทั้งพระทั้งเจ้าไม่เหลือเลย ความจริงแกกินเกินอะไรไม่ได้ ไปเรียกแกได้ยินที่ไหน มันคนละเรื่อง ผีไม่มีสิทธิ์ที่เอาของมาวางแล้วไปกิน จำชาดกได้ไหม ที่เล่าไว้ก่อนที่จะไปธุระ ที่ท่านเศรษฐีอุบาสกคนหนึ่งท่านนั่งกรรมฐาน นั่งไปในที่สงัด

ปรากฏว่าเมียของท่านที่ตายแล้วเป็นคนไม่เอาถ่าน คงจะเอาถ่านนะ ไม่เอาฟืน ได้แต่ถ่าน ไม่ทำบุญสุนทาน เป็นคนใจร้าย ตายแล้วไปเป็นเปรต พอท่านไปนั่งกรรมฐาน เมียก็มาแสดงตัวให้ปรากฏ แต่มันมีซี่โครงขึ้นเป็นแถวนะ จำเมียไม่ได้ สวยจัดเนอะ สวยมาก โชว์ซี่โครงเลย ผ้าผ่อนท่อนสไบไม่มีนุ่ง สงสัยแกเดินมาหาหันหลังมาหรือเดินหน้ามา (หัวเราะ)

ท่านเศรษฐีก็เลยถามๆ ว่า เธอเป็นใคร
เปรตผู้หญิงบอก ฉันเป็นภรรยาของท่าน แต่ว่าตายไปแล้ว เพราะอาศัยจิตที่เป็นอกุศล เป็นเหตุให้เกิดเป็นเปรต เวลานี้มีความหิวโหยมาก หนาวก็หนาว ร้อนก็ร้อน มีทั้งหนาวทั้งร้อนเพราะไม่มีผ้าปิดกาย แต่หิวอาหารมากไม่มีอะไรจะกิน

ท่านผัวก็บอกไป ไปบ้านสิ เยอะ เป็นเศรษฐีนะ เลือกกินเอาตามชอบใจ เหมือนกับที่เธอมีชีวิตอยู่
ผีเปรตแกบอกว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นหากแม้ท่านจะเอามาวางไว้ในมือเรา ก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะว่าเราไม่มีสิทธิ์จะใช้ ไม่มีสิทธิ์จะกินในวัตถุ

ผัวก็ถามว่า ถ้าจะสงเคราะห์เธอ เธอต้องการจะให้ทำอย่างไรถึงได้
เธอก็บอกว่า ขอให้ท่านนำของไปถวายสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง เธอต้องการให้มีผ้า ขอให้นำผ้าไปถวาย ต้องการให้ร่างกายสมบูรณ์ร่างกายเป็นทิพย์ ก็นำอาหารไปถวาย แล้วก็อุทิศส่วนกุศลให้ฉันนั่นแหละฉันจึงจะได้

ถ้าเอาของไปวางให้เอาไม่ได้หรอก เอาวางให้ในมือ เอาผ้าใส่ให้ในมือ อาหารมาใส่ให้ก็ไม่มีประโยชน์เลย ท่านผัวจึงได้นำของไปถวายพระสงฆ์ในพุทธศาสนา แล้วอุทิศส่วนกุศลให้เธอ พอรุ่งขึ้นอีกคืนหนึ่ง เธอก็มาแสดงตนใหม่ คือมานั่งกรรมฐานใหม่ คราวนี้มาเป็นนางฟ้าสวยแจ๋ว แสงสว่าง ทั้งวิมงวิมานวิเมินเห็นหมด ปรากฏชัดเป็นวิมานทอง เอ๊ะ..ตาผัวจำไม่ได้เสียแล้ว

ถาม นี่นางฟ้า เธอเป็นนางฟ้าเพราะอาศัยบำเพ็ญบุญบารมีอะไร ร่างกายประดับประดาด้วยเครื่องอาภรณ์อันเป็นทิพย์ สวยสดงดงาม มีแสงสว่างไปทั่วทิศ และก็มีวิมานทองคำ
นางฟ้าก็ถามว่า จำไม่ได้เรอะ เมื่อคืนที่แล้วที่มาน่ะ ความจริงสองคืนนี่ คืนก่อนสวยกว่านะ (หัวเราะ) เพราะโชว์ซี่โครงใช่ไหม ไอ้คืนหลังนี่ธรรมดาๆ นางฟ้าเขาก็มีชฎาใส่ มีรูปร่างหน้าตาสะสวย มีแสงสว่าง มีร่างกายแพรวพราวไปด้วยเพชร แต่ทว่าเป็นคนขี้ขลาดไม่กล้าโชว์ซี่โครงนะ

พระพุทธศาสนากับเทวดา

สมัยนี้ดูเทวดาถูกแอนตี้มาก ใครต่อใครเล่นงานเทวดากันเป็นแถว พระบางท่านล้มบัลลังก์เทวดาเอาเลย เรียกร้องศิษยานุศิษย์ให้พากันปฏิวัติเทวดา ไม่ยอมรับนับถือเอาเลย แถมยังแอนตี้เอาพระสูตรต่างๆ เช่น ภาณยักษ์ ภาณพระ ที่กล่าวถึงท้าวมหาราชทั้ง ๔ มีท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักข์ ท้าวกุเวรหรือท้าวเวสสุวัณ

ท่านกล่าวว่าสูตรนี้เป็นสูตรของพวกพราหมณ์ ฟังท่านพูดทางวิทยุว่าอย่างนั้นพระพุธศาสนาไม่มีเทวดา ไม่ต้องใช้เทวดา เรื่องเทวดาเป็นเรื่องลมๆ แล้งๆ หาสาระมิได้ ฟังท่านแล้วใจหายเลย คิดไม่ถึงว่า บัดนี้พระพุทธเจ้าองค์ใหม่เกิดซ้อนศาสนาเข้าแล้ว ท่านผู้พูดเป็นใคร ไม่ได้ยินทางสถานีประกาศ สงสัยว่าท่านคิดอย่างไรของท่านจึงจงเกลียดจงชังเทวดาเอาขนาดนั้น ท่านเคยโดนเทวดาเล่นงานเอาหรืออย่างไรไม่ทราบ

ความจริงทางศาสนาเรานี้ พระพุทธเจ้ายอมรับนับถือเรื่องเทวดา พระองค์เองทรงปรารภแก่บรรดาพุทธสาวกเรื่องเทวดาเสมอ ขอให้ดูตามพระพุทธประวัติ จะพบว่าพระพุทธศาสนาไม่เคยห่างเทวดาเลย ขอย้ำว่าพระพุทธศาสนายอมรับนับถือว่าเทวดามีจริง และยอมรับนับถือความดีของเทวดาด้วย พระพุทธเจ้าถึงกับตรัสให้พุทธบริษัทที่มีบารมียังอ่อน ให้ระลึกถึงความดีของเทวดาเป็นปกติ เช่นกรรมฐานข้อที่ว่าด้วยเทวตานุสสติ ก็เป็นพระพุทธพจน์ของพระพุทธเจ้าสอนให้คิดถึงความดีของเทวดา

ปติปูชิกา

ในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่ เวลานั้นก็มีสาวิกาขององค์สมเด็จพระบรมครู คำว่า สาวิกา คือสาวกผู้หญิง สาวกผู้ชายเขาเรียกว่า สาวโก คำว่าสาวโกหรือสาวิกาก็ตาม ก็แปลว่าผู้รับฟังเหมือนกัน อย่าลืมนะบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท พระพุทธเจ้าท่านตรัสแล้วว่า อักขาตาโร ตถาคตา ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอกเท่านั้น

บอกแล้วเธอจะทำตามหรือไม่ทำตามเป็นหน้าที่ของเธอ ทีนี้เราทำยังไง สาวกรับฟังแล้วก็ปฏิบัติตาม ผู้หญิงคนนี้มีฐานะเป็นสาวิกา คือผู้รับฟังพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ปติปูชิกา นี่เกิดมาอายุเท่าไรจึงแต่งงานก็จำไม่ได้เหมือนกัน ในชาติก่อนโน้นเธอแต่งงานแล้วทำบุญอะไรไว้บ้างก็ไม่ทราบอีกเหมือนกัน ตายจากความเป็นคนไปเกิดเป็นภรรยาของมาลาภารีเทพบุตร

มาลาภารีเทพบุตรนี่ท่านอยู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เขามีอายุ ๑,๐๐๐ ปีทิพย์เป็นอายุขัย แต่ว่าเทียบกับเมืองมนุษย์ ๑๐๐ ปีของเราเป็น ๑ วันของดาวดึงสเทวโลก ถ้า ๑๐ วันของเขาก็เท่ากับ ๑,๐๐๐ ปี ๓๐ วันของเขาหรือ ๑ เดือนของเขาก็เท่ากับ ๓,๐๐๐ ปีของเรา แล้ว ๑๒ เดือนก็เป็น ๑ ปีเหมือนกัน วัดไปเถอะ มันกี่ปีมนุษย์ก็ตามใจ อันนี้ไม่รู้เรื่อง

ก็รวมความว่าเธอถึงกำหนดที่จะต้องเคลื่อนจากความเป็นนางฟ้า อยู่ไม่ได้แล้ว หมดบุญ จะต้องลงมาเกิดเป็นมนุษย์ วันนั้นก็เป็นการพอดีที่ท่านมาลาภารีเทพบุตรพาบริวารทั้งหมดแล้วก็พาภรรยาไปด้วย ไปเที่ยวสวนนันทวัน ขณะที่ไปเที่ยวสวนนันทวันอยู่นั้น ภรรยาซึ่งเป็นนางฟ้าก็ถึงเวลาจุติ ก็จุติลงมาเกิด คือตายจากความเป็นนางฟ้าลงมาเกิดเป็นลูกมนุษย์

พอโตเป็นสาวเธอก็แต่งงาน ในสมัยนั้นนิยมกันว่าอายุ ๑๖ แต่งงาน แล้วก็มีลูก ก็เข้าไปฟังเทศน์จากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจบเดียวก็มีความเลื่อมใส ออกจากบ้านลาผัวลาลูกไปอยู่สำนักของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติความดีใกล้พระสงฆ์ อุดมไปด้วยธรรมะ ก็เกิดมีอารมณ์อย่างหนึ่งที่เรียกว่า อตีตังสญาณ ญาณถอยหลังไปในอดีต ก็ทราบตนเองว่าก่อนที่เราจะมาเกิดเป็นมนุษย์

เราเป็นภรรยาของมาลาภารีเทพบุตร ซึ่งพาเรามาเที่ยวในสวนนันทวัน ยังไม่กลับถึงวิมาน ยังเที่ยวกันอยู่ที่สวนนันทวัน เมื่อนางมีความรู้สึกอย่างนั้นว่าเคยเป็นภรรยาของมาลาภารีเทพบุตร เวลาทำบุญทุกอย่างเมื่อจบแล้วเธอก็อธิษฐานว่า ขอบารมีที่บำเพ็ญแล้วนี้ จงดลบันดาลเมื่อเวลาข้าพเจ้าตาย ให้ไปเกิดในสำนักของสามี แต่ความจริงอยู่ใกล้องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็น่าจะคิดว่า

การตายคราวนี้อยากจะไปพระนิพพาน แต่นางไม่เอาอย่างนั้น ย่องไปนึกว่า ถ้าตายเมื่อไรขอไปเกิดในสำนักของสามี แล้วก็เป็นความจริง หลังจากเธอตายเมื่ออายุ ๕๐ เศษ หน่อยๆ ตายจากคนปั๊บ ก็ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก เมื่อขึ้นไปแล้วก็ไปหาสามี ไปหามาลาภารีเทพบุตร ท่านมาลาภารีเทพบุตรเห็นเข้าก็แปลกใจ

ถามว่า “...เออนี่ ตั้งแต่เช้ายันเที่ยงนี่เธอหายไปไหนนะ ฉันมองไม่เห็นเธอเลยตั้งแต่เช้า...” โอ้โฮ...ปาเข้าไปตั้ง ๕๐ ปีเศษ ผัวยังคลำกุกกักๆ คิดว่าเช้ายันเที่ยง นางฟ้าคือปติปูชิกาก็กราบเรียนให้ทราบว่า “...ความจริงตั้งแต่เช้ายันเที่ยงไม่ได้ไปไหน หมดบุญต้องจุติ คือตายจากความเป็นนางฟ้าต้องไปเกิดเป็นมนุษย์...”

มาลาภารีเทพบุตรได้ฟังก็บอก “...นี่เธอ อย่าล้อฉันเล่นนะ อะไร เธอจะไปเกิดเป็นมนุษย์ยังไง ตั้งแต่เช้ายันเที่ยง โผล่กลับมาใหม่ มันเป็นจริงไปไม่ได้...”
นางก็ยืนยันว่า “...จริงเจ้าค่ะ ฉันจุติจริงๆ เพราะหมดบุญ หลังจากนั้นก็ไปเกิดเป็นมนุษย์ผู้หญิงแล้วก็แต่งงานมีลูก แล้วก็หลังจากนั้นพบองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำบุญกับท่าน

เวลาทำบุญก็อธิษฐานว่า ถ้าตายจากความเป็นคน ขอให้มาเกิดในสำนักของท่าน วันนี้ฉันตายจากความเป็นคน แล้วก็มาสู่สำนักของท่านตามที่ตั้งจิตอธิษฐานไว้กับการทำบุญในสำนักขององค์สมเด็จพระจอมไตร...”
มาลาภารีเทพบุตรท่านเป็นเทวดา ท่านมีร่างกายเป็นทิพย์ ท่านมีอารมณ์ใจเป็นทิพย์

คนที่จะเป็นเทวดาได้ต้องมีความดี ๒ อย่างประจำใจ คือ หิริ และโอตตัปปะ เมื่อภรรยาของท่านกล่าวอย่างนั้น ท่านก็ใช้อารมณ์ความเป็นทิพย์ตรวจดู ก็ทราบว่า “...เออจริงนะ ฉันก็เผลอไปนะ ไม่ได้สังเกตว่าเธอจะไปไหน ก็คิดว่ามีความรื่นเริงบันเทิงใจสนุกสนาน ลืมมาหาฉันตั้งแต่เช้ายันเที่ยง นี่เธอตายจากความเป็นเทวดาจริงๆ ไปเกิดเป็นคน มีสามี มีบุตรธิดาจริงๆ...”

ท่านมาลาภารีเทพบุตรก็ถามว่า “...เวลานี้มนุษย์มีอายุขัยเท่าไร...”
นางก็ตอบว่า “...เวลานี้มนุษย์มีอายุขัย ๑๐๐ ปี...”
ท่านถามว่า “...เธอไปเกิดนี่มีอายุเท่าไร...”
นางก็ตอบว่า “...ฉันมีอายุ ๕๐ ปีเศษนิดๆ เจ้าค่ะ...”

ท่านก็บอกว่า “...แค่ ๕๐ ปีเศษนิดๆ ที่นี่แค่เที่ยงวัน มนุษย์มีอายุน้อยเท่านี้น่ะหรือ...” ท่านก็ลืม ท่านเป็นเทวดาเสียนาน ลืมวันเดือนปีของมนุษย์ว่ามันสั้นเหลือเกิน ท่านก็ถามอีกว่า “...เมื่อมนุษย์มีอายุน้อยอย่างนี้ ตั้งใจสร้างความดีหรือว่ามีความประมาทอยู่มาก...”
นางก็ตอบว่า “...มนุษย์ส่วนใหญ่มีความประมาท ไม่ค่อยจะตั้งใจทำความดี คิดว่าชีวิตของตัวนี้จะไม่ตาย...”

ท่านมาลาภารีพอฟังเท่านี้ก็สลดใจอย่างยิ่ง สำหรับในด้านเมืองมนุษย์ เมื่อนางตาย พระที่เป็นปุถุชนก็ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว กราบทูลถามว่านางปติปูชิกาตายแล้วไปเกิดที่ไหน สมเด็จพระจอมไตรก็บอกว่าไปเกิดตามที่เธอต้องการ เธออธิษฐานว่าขอไปเกิดในสำนักของสามี คือมาลาภารีเทพบุตรบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลกแล้ว

เทวธรรม

ท่านให้เรียนรู้ที่ทำตนให้เป็นเทวดา ได้แก่
๑. หิริ ความละอายต่อความชั่วทั้งหมด ไม่ทำความชั่วทั้งในที่ลับและที่แจ้ง
๒. โอตตัปปะ ความเกรงกลัวผลของความชั่วจะลงโทษ ไม่ยอมประพฤติชั่วทั้งกายวาจาใจ ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ทั้งนี้ก็หมายความว่า ต้องมีคนมีศีลบริสุทธิ์เป็นปกติ และมีจิตเมตตาปรานีตลอดกาลตลอดสมัย ถึงแม้ยังไม่ได้ฌานสมาบัติก็ไม่เป็นไร เอากันแค่ศีลบริสุทธิ์ มีจิตเมตตาปรานีใช้ได้


ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 14/4/12 at 16:08

6

๖.เข้าใจก่อนปฏิบัติธรรม



ดับทุกข์ถาวรด้วยกรรมฐาน
“...อยากจะถามหลวงพ่อว่า ทางที่จะดับทุกข์นั้นมีกรรมฐานทางเดียวหรือคะ...”
“...ดับทุกข์นั้นมีได้หลายทางโยม แต่ถ้าดับทุกข์ถาวรคือทางกรรมฐานทางเดียว ถ้าดับทุกข์ชั่วคราวก็ตายไปก็หมดเรื่อง แล้วก็ไปทุกข์ใหม่ใช่ไหม...”
“...กรรมฐานคืออะไรคะ...”

“..เออ...กรรมฐานมันคล้ายๆ กรรมส้วม (หัวเราะ)... ...กรรมฐานมันรวมสองอย่าง คือ สมถะ กับ วิปัสสนา คือตัวที่ทำจิตไม่ฟุ้งซ่าน จิตเป็นสมาธิอารมณ์ทรงตัวเขาเรียกสมถะ แล้วคนที่ใช้ปัญญารู้เท่าทันสภาวะตามความเป็นจริงว่ามันไม่เหมือนสภาวะของโลก ใช้ปัญญาเป็นเครื่องภาวนาตามความเป็นจริงของขันธ์ ๕ จิตเป็นวิปัสสนาญาณ ๒ อย่างนี้รวมกันเรียกว่ากรรมฐาน เอาอย่างนี้ดีกว่า ศีล ๕ ครบหรือยัง...”

“...ยังไม่ครบค่ะ...”
“...ยังไม่ครบ อย่าเพิ่งเจริญกรรมฐาน (หัวเราะ) ไอ้ขี้หมา ศีล ๕ ยังไม่ครบ ไปไล่เบี้ยศีล ๕ ซะให้ครบก่อน...”

บกพร่องในศีลเป็นคนเลว
ตอนนี้ให้ถือว่าคุยกันฐานะญาติเถอะนะ อย่าคิดเป็นอย่างอื่นเลย อยากจะขอถามท่านสักนิดว่า
๑.ปกติท่านชอบให้ใครมาทำร้ายร่างกายท่านไหม ถ้าท่านอยู่ดีๆ โดยไม่มีความผิดใดๆ ถ้ามีคนจะมาฆ่าท่านหรือมาทำร้ายร่างกายท่าน ท่านจะยินยอมให้เขาทำด้วยความเต็มใจ หรือท่านจะไม่พอใจในการกระทำอย่างนั้นของเขา

๒.ทรัพย์สมบัติที่ท่านได้รับมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษก็ดี หรือทรัพย์ที่ท่านพยายามเก็บหอมรอมริบไว้ด้วยความวิริยะอุตสาหะ ที่คอยกระเหม็ดกระแหม่อดเปรี้ยวไว้กินหวาน เมื่อท่านเก็บสะสมไว้พอสมควรแก่การที่คิดว่าจะพอดำรงความเป็นอยู่ให้มีความสุขได้ตามสมควรแล้ว ถ้ามีบุคคลคณะหนึ่งหรือคนเดียวก็ตาม มาบังคับขู่เข็ญยื้อแย่งหรือลักขโมยทรัพย์ที่ท่านอุตส่าห์เก็บหมอรอมริบไว้นั้นไปเป็นสมบัติของเขา โดยที่เขาไม่มีสิทธิและท่านเองก็มิเห็นชอบด้วย

๓.ท่านมีคู่ครองที่รัก หากมีใครก็ตามมาแอบละเมิดสิทธิร่วมรักกับคู่ครองของท่าน โดยที่ท่านมิได้เห็นชอบด้วย
๔.ปกติมักจะมีคนมาพูดเรื่องราวที่ไม่เป็นความจริงให้ฟังเสมอๆ แม้แต่เรื่องที่พูดนั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากเกี่ยวแก่ผลได้ผลเสียของชีวิตและทรัพย์สิน เขาก็ยังไม่ยอมพูดอะไรตามความเป็นจริง ข่าวคราวการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ได้รับจากผู้นั้นเป็นข่าวเท็จตลอดมา หาความจริงจากวาจาของเขาไม่ได้เลย

๕.ปกติท่านเป็นคนดีมีสติสัมปชัญญะ แต่บังเอิญมีใครมาแนะนำท่านว่าการเป็นคนเรียบร้อยอย่างนี้ติ๋มเกินไป ไม่ทันสมัย เรามาหาน้ำยาย้อมใจพอที่ช่วยส่งเสริมใจให้เคลิบเคลิ้ม ทำอาการต่างๆ อย่างคนบ้าๆ บอๆ ได้ ร้องเพลงในที่รโหฐานที่เขาต้องการความสงบสงัดก็ได้โดยไม่ต้องเกรงใจ ทั้งๆ ที่เวลาปกติทำไม่ได้ นอนกลางถนนหนทางก็ได้ ด่าพ่อเตะแม่ก็ได้ โดยไม่ต้องคิดถึงบุญคุณที่ท่านเลี้ยงดูมา

รวมความว่าทำแบบคนบ้าๆ บอๆ ได้ด้วยความเต็มใจ จนชาวบ้านชาวเมืองที่มีสติสัมปชัญญะพากันเห็นว่าเรากลายเป็นคนบ้าๆ บอๆ เสียแล้ว อยากจะถามว่าอาการทั้ง ๕ อย่างนี้เป็นอาการของคนที่พร่องในศีลแต่ละอย่าง ตามสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ถ้าท่านถูกกระทำอย่างนั้นทั้ง ๕ ข้อ หรือข้อใดข้อหนึ่ง ท่านจะมีความพอใจเพียงใดหรือไม่

ท่านคิดว่าคนที่ปกติทำอย่างนั้นเป็นสุภาพบุรุษหรือเป็นอันธพาลที่โลกประณามว่าชั่วช้าสารเลว ขอให้ท่านตอบและเลือกเอาเอง ถ้าท่านเลือกเอาในปฏิปทาที่กล่าวมาแล้วแม้แต่ข้อเดียว ท่านก็อย่าเพิ่งหวังฌานสมาบัติหรือมรรคผลเลย เพราะท่านเลวเกินไปกว่าที่จะเข้าถึงฌานสมาบัติหรือมรรคผลได้ ถ้าท่านคิดว่าท่านเว้นความชั่วช้าเลวทรามอย่างนั้นได้เด็ดขาด จนมีความรู้สึกเป็นปกติธรรมดาไม่ต้องระมัดระวัง อย่างนี้ท่านมีหวังดำรงอยู่ในฌานได้แน่นอน

การที่มีคนพูดว่าฌานสมาบัติหรือมรรคผลในสมัยนี้ไม่ควรหวังเพราะไม่มีใครจะบรรลุได้นั้น ไม่เป็นความจริง ขอให้ท่านดีเท่าดีถึงเถิด ฌานและมรรคผลยังมีสนองความดีท่านอยู่เป็นปกติ ที่ไม่ได้ไม่ถึงแม้แต่ฌานโลกีย์ก็เพราะแม้แต่ศีลที่เป็นความดีหยาบๆ ที่พระอริยเจ้าเห็นว่าเป็นของเด็กเล่นก็ไม่สามารถจะรักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ จะเอาอะไรมาเห็นผีเห็นเทวดา เห็นสวรรค์นรก อันเป็นวิสัยของผู้ได้ฌาน เพราะศีลเป็นความดีในระยะต่ำก็ยังทรงไม่ได้

ความมุ่งหมายเอาพระนิพพานก็ยิ่งไกลเกินไปที่จะหวังได้ คนประเภทนี้ท่านกล่าวว่า แม้แต่ความฝันเห็นนิพพานก็ยังไม่เคยมี

นั่งกรรมฐานแล้วฟุ้งซ่าน
“...มันฟุ้งซ่านน่ะค่ะ...”
“...ฟุ้งซ่านเหรอ คนน่ะฟุ้งซ่านกันทุกคนแหละ ตกไปเป็นทาสของความฟุ้งซ่านแล้วไม่มีทางไปไหน ก็ต้องฝึก จะไปมัวนั่งนึกฟุ้งซ่านๆ ชาตินี้ไม่ต้องไปไหน ต้องกลับไปนรกใหม่ มันต้องต่อสู้ก็ต้องต่อสู้ ถ้ามันฟุ้งซ่านเราก็หาทางไม่ฟุ้งซ่าน ถ้ามันฟุ้งซ่านก็ไม่ต้องเอามาก เอาให้มันน้อยๆ ตอนเด็กๆ ฉันทำแบบนั้น อย่ามานั่งบ่นเลย...เสียเวลา...”

ทำกำลังใจอย่างไร
คนจริงเขาทำกันแบบนี้ จงอย่าสนใจกับร่างกาย ให้มีความเข้มแข็งในจิต คิดว่าร่างกายมันจะตายเสียได้ในเวลานี้ก็ดี ตายกับธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นของดี ถ้าห่วงชีวิตจะเป็นพระอริยเจ้าได้อย่างไร
แต่ว่าการที่จะบรรลุเร็วบรรลุช้านั้นขึ้นกับกำลังใจของเรา กำลังใจมีความเด็ดเดี่ยวมันก็บรรลุเร็ว ถ้ากำลังใจอ่อนแอก็บรรลุช้า ถ้าประเภทป้อแป้ๆ เอาไหนไม่ได้ก็ตกนรกไปเลย


ใครเขาทำอะไรได้ ก็ต้องคิดว่าเขากินข้าวเราก็กินข้าว เขามีมือมีเท้าอย่างละสิบนิ้ว เราก็มีมือมีเท้าอย่างละสิบนิ้ว เมื่อเขาทำได้เราก็ต้องทำได้ ถ้าทำไม่ได้อย่างเขาก็ให้ตายไป เรื่องชีวิตถ้าไม่มีความสามารถมันก็ไม่มีความหมาย ถ้าทำแล้วมีผลยังไม่สำเร็วเพียงใด เราจะยอมตาย

สมาธิมีกันทุกคน
ไอ้สมาธิ...ตามธรรมดาคนมันมีกันทุกคนไม่ใช่ว่าไม่มี แต่ว่าพระพุทธเจ้าท่านให้ลงมาใช้ในด้านดี ใช่ไหม เป็นอย่างนี้ทุกคน ให้รวบรวมกำลังใจไปใช้ในทางของความดีก็จะได้ดีตอบ
ถ้าคนเราเกิดมาไม่มีสมาธิมันพูดอะไรไม่รู้เรื่องหรอก คิดว่าจะกินข้าวดันไปเข้าส้วมเสียก่อน มันไม่มีสมาธิ สมาธิก็คือการตั้งใจว่าจะทำอะไร


สมาธิมันมีหลายชั้นนี่ มีขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปนาสมาธิ อัปนาสมาธิมันหมายถึงฌาน ฌานก็แบ่งอีก ๔ ขั้น คือ ฌาน ๑ ๒ ๓ ๔

สมาธิไม่จำเป็นต้องหลับตา
“...การนั่งสมาธินี่จำเป็นต้องนั่งหลับตาเสมอไปหรือเปล่าคะ...”
“...ก็ไม่จำเป็น ไม่จำเป็น หลับตาก็ได้ลืมตาก็ได้ ถ้าเราเห็นว่าถ้าลืมแล้วจิตมันจะฟุ้งซ่านเราก็หลับตาเสีย ถ้าหลับตาแล้วจิตมันซ่านมากเกินไปก็ตื่นมาลืมตา ถ้านั่งอยู่หน้าพระพุทธรูป ถ้าจิตเรารู้สึกว่านี่เป็นพระพุทธรูป ถือเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน การเจริญสมาธิไม่จำเป็นว่าต้องหลับตาเสมอไป จะลืมตาก็ได้ มันได้ทุกอย่างนะ ถ้าหลับตาไม่สบายก็ลืมตา เพราะเราฝึกที่ใจไม่ได้ฝึกที่ตา สมาธิมันอยู่ที่ใจใช่ไหม...”

อุปกิเลส
จงอย่าสนใจจริยาของบุคคลอื่น และการเจริญสมาธิจงอย่าทำเพื่อโอ้อวด การเจริญสมาธิที่จะทำให้ดีได้ ให้ถือใจความของพระพุทธเจ้าว่า ใครเขาจะมีกินมาก ใครเขาจะมีกินน้อย ใครเขาอ้วนมาก ใครเขาอ้วนน้อย ใครเขาจะมีสาวกมาก ใครเขาจะมีสาวกน้อย

คนนั้นมีสมบัติมาก คนนั้นมีสมบัติน้อย คนนั้นเจริญสมาธิจิตวิปัสสนาญาณยังแต่ตัวสวย ยังผัดหน้าทาแป้ง ใครเขาจะดีจะชั่วอย่างไรเป็นเรื่องของเขา จงอย่าไปสนใจ เราจะนั่งสมาธิก็จงอย่านั่งให้บุคคลอื่นเห็น ถ้าหากไปทำอย่างนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่า ยังมีอุปกิเลสอยู่มาก

ทำไมต้องเจริญกรรมฐาน
ทำไมเราจึงต้องเจริญกรรมฐาน เป็นเพราะอะไร ในเมื่อการทำบุญทำทาน ไปสรรค์ก็ได้ ไปพรหมโลกก็ได้ ไปนิพพานก็ได้ จะมานั่งเมื่อยกันเพื่อประโยชน์อะไร ถ้าเขาถามแบบนี้จะตอบว่ายังไง ต้องตอบว่า อยากทำจ้ะ หมดเรื่องหมดราว

ความจริงการเจริญพระกรรมฐานมีอานุภาพมาก แต่ขอเว้นไว้ก่อน การทำบุญทุกอย่างก็มีผล ตัวอย่าง สุปติฏฐิตะเทพบุตร เขาไม่เคยทำบุญเลยใช่ไหม ตั้งแต่เกิดมาทำบาปอย่างเดียว ทำลายทั้งศีลทำลายทั้งธรรม ศีลก็ทำลายหมดทุกข้อ เรียบร้อยนะ ธรรมะก็ทำลาย

อย่างคนที่จะฟังเทศน์หรือสนทนาเรื่องธรรมะแกก็แกล้งส่งเสียงกลบ เขาจะไปทำบุญเห็นแล้วแกล้งทำเป็นไม่เห็น ได้ยินแล้วแกล้งทำเป็นไม่ได้ยิน เขาดื่มสุราเมรัยทุกอย่าง เรียกว่าศีลทั้งหมดไม่มี ความดีไม่มี ทานไม่เคยให้

แต่ว่าพอก่อนจะตายบังเอิญทุกขเวทนามันมาก ก็มองดูภรรยา บุตรธิดา ข้าทาสหญิงชาย ทรัพย์สิน เพราะเป็นคนรวย ก็คิดในใจว่าทุกคนสงสารเรา แต่ว่าไม่มีใครเลยที่แบ่งภาระของเราไปได้ ทุกขเวทนาตกอยู่ที่เราคนเดียว

เวลานั้นพระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ใกล้ๆ เคยไปเคยมาบ่อยๆ อยู่แถวนั้นนะ แต่ว่าแกไม่เคยแม้แต่ยกมือไหว้ เทศน์ก็ไม่เคยฟัง ทานก็ไม่เคยให้ ไม่ยอมรับนับถือพระทั้งหมด ทุกอย่างไม่นับถือ ถือว่าตายแล้วสูญ
แต่ว่าพอทุกขเวทนามันมากหนักเข้า ทนไม่ไหวจิตใจเลยนึกถึงพระพุทธเจ้า

แต่การนึกถึงไม่ใช่นึกถึงให้มาช่วยให้ได้ธัมมะธัมโมอย่างนั้นนะ ตั้งใจเขาลือกันว่าพระสมณโคดมใจดีมีเมตตาจิต ขอให้มาช่วยให้หายทุกขเวทนา ขณะที่แกคิดอยู่อย่างนั้นก็บังเอิญตายพอดี อาศัยที่นึกถึงพระพุทธเจ้าหน่อยเดียวแต่ก็ไม่ได้นึกถึงด้วยความเคารพนัก ต้องการแต่เพียงว่าท่านมีเมตตา

ขอให้มารักษาโรคให้หาย อาศัยบุญเล็กน้อยเพียงเท่านี้ ตายจากความเป็นคนไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก มีนางฟ้าหนึ่งพันเป็นบริวาร มีวิมานทองคำ แต่ความจริงแค่นี้ก็พอแล้วละมั้ง แต่ว่าอย่าลืมนะนั่นเป็นการบังเอิญ บังเอิญว่าเขานึกถึงพระพุทธเจ้าขึ้นมา ถ้าหากว่าถ้าเราจะปล่อยอย่างนั้นบ้าง ถ้าบังเอิญเวลาเราจะตายไม่นึกถึงพระพุทธเจ้าอย่างนั้น ก็ลงนรกไป

พระนางมัลลิกาเทวี
ทีนี้มาพูดถึงคนทำบุญมาก คนทำบุญมากนี่ก็ลงนรกเหมือนกันถ้าไม่เจริญกรรมฐาน มีตัวอย่าง
ตัวอย่างพระนางมัลลิกาเทวี มเหสีพระเจ้าปเสนทิโกศล ท่านผู้นี้ทำบุญหนักมาก แม้แต่นางวิสาขาก็สู้ไม่ได้ คือว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลท่านเป็นนักบุญ ในเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปท่านก็ถวายทาน ก่อนจะถวายก็ให้บรรดาข้าราชบริพารประกาศให้ชาวบ้านมาดูการถวายสังฆทาน

ชาวบ้านเห็นพระราชาทำได้พวกเราก็ทำได้ รวมตัวกันถวายทานยิ่งกว่าพระราชา พระราชาก็ไม่ยอมแพ้ รุ่งขึ้นเอาใหม่ เอาให้หนักกว่านั้นอีก พระราชาแพ้ไม่ได้ใช่ไหม ยันกันไปยันกันมา ในที่สุดพระราชาหงายท้อง ชาวบ้านเขามากกว่า ก็เลยนอนไม่พูดไม่จากับใครทั้งหมด

พระนางมัลลิกาเทวีก็ถามถึงความเป็นทุกข์ ในที่สุดพระเจ้าปเสนทิโกศลก็บอกว่า ในฐานะที่เราเป็นพระราชา แต่การถวายทานแพ้ประชาชนนี่มันไม่น่าจะเป็นคน ไม่น่าจะอยู่ พระนางมัลลิกาก็บอกว่าสิ่งที่เหนือประชาชนน่ะมีอยู่ คือ อสทิสทาน อสทิสทานน่ะมีอะไรบ้างไปถามพระดูก็แล้วกัน ถ้าขืนเล่าให้ฟังวันนี้ไม่จบ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระพุทธเจ้าองค์หนึ่งตรัสรู้มาในโลก คนที่จะถวายอสทิสทานได้มีคนเดียว และก็คนที่ถวายทานต้องเป็นผู้หญิงไม่ใช่ผู้ชาย พระนางมัลลิกาจึงขออนุญาตถวายอสทิสทาน พระเจ้าปเสนทิโกศลฟังแล้วก็ชอบใจ

นี่ท่านมีความดีทุกอย่าง ไม่เคยทำบาปแม้แต่น้อย แต่ว่ามีคืนหนึ่ง มืดแล้ว ดับไฟแล้วนะ ท่านอยากจะไปส้วม บังเอิญเท้าไปสะดุดเท้าพระสวามีเข้า ท่านตกใจคิดว่าเป็นบาป เป็นความชั่ว ในที่สุดพระสวามีก็ทรงปลอบ บอกตามความเป็นจริงว่าไม่ถือโทษ พระนางก็ไม่เคยทำแบบนี้นะ ก็อารมณ์เศร้าหมอง

ถึงเวลาจะตายจิตไปนึกถึงอารมณ์เศร้าหมองตัวนี้เข้านิดเดียว ออกจากร่างแต่ตัวเป็นนางฟ้าเต็มอัตรา แต่ก็ต้องไปที่นรกเอาเท้าที่สะดุดเท้าพระสวามีน่ะแหย่ลงไปในนรกแค่ตาตุ่มเป็นเวลา ๗ วันของมนุษย์
เห็นไหมแล้วพวกที่ด่าล่ะ เขามีขุมไหม (หัวเราะ) ระวังให้ดีนะ ไม่ต้องเย็บปาก แต่เราไม่ด่าก็แล้วกันนะ เอาบ้างหรือเปล่า ก็เป็นอันว่าอยู่แค่ ๗ วัน

ทีนี้มากล่าวถึงพระเจ้าปเสนทิโกศล ก็มีความรู้สึกว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นสัพพัญญู คำว่าสัพพัญญูนี่รู้ทุกอย่าง อะไรที่พระพุทธเจ้าไม่รู้นี่ไม่มี ฉะนั้นเมื่อภรรยาของเราเป็นนักบุญขนาดนี้ตายแล้วจะไปอยู่ที่ไหน จะต้องไปถามพระพุทธเจ้า

ถึงเวลาตอนเช้าให้เจ้าหน้าที่จัดอาหารเสร็จก็ไปที่พระพุทธเจ้า ไปที่สวนถวายภัตตาหาร แล้วก็ฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงทราบว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลถ้าหากว่าถามเวลานี้ เราก็ต้องตอบตามความเป็นจริงว่าพระนางมัลลิกาเทวีนี่อยู่ที่นรก ถ้าเป็นอย่างนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลจะเลิกทำบุญทันที
เพราะว่าคนดีขนาดพระนางมัลลิกาเทวีทำบุญยังลงนรก พระพุทธเจ้าทรงบันดาลให้ลืมเสีย ตั้งท่านไปถามแบบนั้นน่ะ ๗ วัน พระพุทธเจ้าก็ทรงบันดาลให้ลืมทั้ง ๗ วัน พอวันที่ ๗ ผ่านไป มาถึงวันนี้ ๘ พระนางมัลลิกาก็พ้นจากโทษ เห็นไหม เศร้าหมองนิดเดียว ขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก

วันที่ ๘ พระพุทธเจ้าก็คลายฤทธิ์ ให้พระเจ้าปเสนทิโกศลนึกออก พอฟังเทศน์จบชาวบ้านเขากลับแล้วก็นึกขึ้นมาได้ว่า โอ้โฮ... ตั้ง ๗ วัน เรานึกจะมาถามพระพุทธเจ้า แต่บังเอิญลืมทุกวัน มีอยู่วันนี้นึกออกต้องถาม ก็ถามว่า

“...ภันเต ภควา ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ มัลลิกาเทวีมเหสีของข้าพระพุทธเจ้า ตายจากความเป็นคนเวลานี้อยู่ที่ไหน...”
นี่เสียท่าพระใช่ไหม ถามว่าเวลานี้อยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าบอกอยู่ที่ดาวดึงส์ ถามว่าเวลานี้นี่นะ ไม่ได้ถามว่าตายแล้วเขาไปไหน โง่ๆ แบบนั้นดันไปถามพระพุทธเจ้าด้วย

ก็เป็นอันว่า คนถึงแม้ว่าจะทำบุญหนัก แต่ว่าเวลาจะตายบังเอิญจิตไปนึกถึงอกุศลเข้าอย่างใดอย่างหนึ่ง อกุศลก็จะพาลงไปอบายภูมิก่อน ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นจะต้องเจริญสมาธิ คำว่าสมาธินี่แปลว่า การตั้งใจ อย่างที่ท่านทั้งหลายทำบุญกันนี่ก็จะบอกว่า

อุ้ย...หลวงพ่อมาทีไรฉันก็ถวายสังฆทานทุกที การถวายสังฆทานแต่ละครั้งมีสิทธิ์ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นที่ ๕ เรียกว่า นิมมานรดี หรือถ้าจะไม่ไปก็ได้ แต่ถึงอย่านั้นก็ดี บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท เราอาจจะเผลอได้ ตามบาลีว่า “เอกะ จะรัง จิตตัง” จิตดวงเดียวเที่ยวไป จิตน่ะมันรับอารมณ์เดียว

เวลาที่เรารัก คนที่เรารักสัตว์ที่เรารัก เขาจะทำเลวขนาดไหนก็ตามเราก็ยังรัก ถึงเวลาโกรธขึ้นมาทำดีขนาดไหนมันก็เกลียดใช่ไหม ไม่นึกถึงความดีของเขา ก็รวมความว่าจิตมันรับอารมณ์เฉพาะ ฉะนั้นถ้าหากว่าถ้าจิตออกจากร่าง ถ้าบังเอิญไปพบอกุศลเข้าก็ไปอบายภูมิได้ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนให้ฝึกจิตให้มีอารมณ์ทรงตัว

อันดับแรก ก็กำหนดรู้จับลมหายใจเข้าออก หายใจเข้านึกว่า พุท หายใจออกนึกว่า โธ แต่ว่าคำภาวนานี่ไม่จำกัดนะ จะนึกพุทโธก็ได้ นะมะ พะธะ ก็ได้ หรืออะไรก็ได้ นึกถึงพระพุทธเจ้าแล้วก็ภาวนาเป็นเครื่องโยงใจให้จิตมีงาน จิตมีงานในด้านบุญละบาป ขณะใดที่จิตรู้ลมหายใจเข้าออก จิตไม่คิดถึงเรื่องอื่น เวลานั้นจิตเป็นสมาธิ จิตว่างจากกิเลส ขณะใดจิตรู้คำภาวนาอยู่ อารมณ์อื่นไม่เข้ามาแทรก เวลานั้นจิตว่างจากกิเลส มีความดี

ฝนตกทีละหยาด
“...สวดมนต์วันละนิดวันละหน่อย จะมีอานิสงส์อย่างไรครับ...”
“...เดี๋ยวก่อน..เวลาสวดมนต์นี่เป็นอุปจารสมาธิ สวดมนต์นี่เป็นอุปจารสมาธิตรง...”
เทวดาชั้นยามา ที่จะอยู่ได้ต้อง

๑.รักสวดมนต์เป็นปกติ กับ
๒.เจริญสมาธิขั้นอุปจารสมาธิ
สองอย่างนี่อยู่ชั้นยามาได้
สวรรค์มี ๖ ชั้นนี่ไม่ใช่ใครจะอยู่ไหนก็ได้นะ เขามีกฎมีเกณฑ์ของเขา

อย่างตำรวจนี่ต้องอยู่สถานีตำรวจ ไม่ใช่อยู่ที่วัด พระอยู่วัดไม่ใช่อยู่ที่สถานีตำรวจ (หัวเราะ) ก็เหมือนกัน ก็มีกฎมีเกณฑ์การเข้าอยู่ ไม่ใช่เรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ คือวันหนึ่งจิตว่าจากกิเลสชั่วขณะจิตหนึ่ง มันเหมือนกับน้ำใสๆ และสะอาดหยดแปะ วันละหนึ่งแปะ แปะเดียว ถ้าร้อยวันก็ร้อยแปะ ไม่นานก็เต็มขวด
พระพุทธเจ้าใช้ศัพท์ว่า โถกัง โถกัง เหมือนน้ำฝนตกมาทีละหยาดๆ

ก็สามารถทำภาชนะให้เต็มได้ กำลังความดีที่ทำจิตให้ว่าจากกิเลสวันละนิดๆ หนึ่ง ไม่ช้าอารมณ์จิตก็เต็มด้วยบารมี บารมีเต็ม ฝนมันตกมาทีไอ้ตัวสกปรกก็หายไปหน่อย พอไอ้สะอาดลงมาไอ้ตัวสกปรกก็หายไปนิด ใช่ไหม หล่นมาอีกทีสกปรกหายไปนิด มาอีกทีสกปรกหายไปนิด พอนานๆ เข้าไอ้ตัวสกปรกก็อยู่ไม่ได้

อย่านึกถึงความชั่วที่ผ่านมา
ฉะนั้นขอบรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ให้ถือว่าการเจริญสมาธิมีความจำเป็นตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า จงอย่านึกถึงความชั่วที่ผ่านมาแล้ว อะไรก็ตามที่มันเป็นบาปอย่านึกถึงมัน คิดอย่างเดียวด้านของความดี

ตถาคต..ผู้บอก
เราต้องถือตามหลักพระพุทธเจ้าว่า อักขาตาโร ตถาคตา ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอก บอกก็หมายถึงมอบให้ ให้เงินไปแล้วบอกไอ้นี่ไปซื้ออาหารกินนะ เสือกไปกินเหล้า เดินเข้าตะรางไปมันก็เรื่องของมัน คำว่าไม่ห่วง เรามีหน้าที่บอก แต่เราบอกเขาเขาไปสร้างความเลวก็เรื่องของเขา ฉันนี่ไม่ห่วงใครเลย ไม่มีคำว่าห่วง ตัวนี้ไม่มี ห่วงหรือกังวลนี่ไม่มี ถ้าจิตสงเคราะห์นี่มี ให้แล้วรู้จักใช้หรือไม่รู้จักใช้

มันจะเป็นลูกเป็นหลานเป็นเหลนก็ช่างมันเถอะ ถ้าเราบอกมันแล้วมันไม่เอาก็ช่างปะไร ห่วงมันทำให้เราช้า ไม่ต้องไปห่วงมัน แต่ว่ามีอย่างเดียวว่าให้วิชาความรู้นี่ให้ทุกอย่าง หายความว่าเราไม่ห่วงทรัพย์สิน ให้ไปถ้าใช้ดีก็มีประโยชน์ ถ้าไปใช้ชั่วก็มีโทษ ก็เป็นเรื่องส่วนตัว อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านเป็นพระเจ้าสิบชาตินี่ ที่ท่านสอนให้คนรักษาศีล อุโบสถศีล อีตอนนั้นนรกว่างพอดี แต่ไม่ได้ว่างเลยนะ คนของท่านทั้งหมดไม่มีใครลงนรกเลย

นี่ก็เหมือนกับเราก็บอกเขาตามกำลัง ท่านให้เรามาเท่าไหร่เราก็สอนหมดเมื่อนั้น เราไม่ได้เก็บ ไอ้นี่ไม่ได้เก็บไว้ แล้วนำเห็นทางได้แล้ว เขาไม่รักษาไว้ก็เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา ถ้าถามว่าห่วงไหม กังวลไหม ก็บอกไม่มี เรื่องเล็ก แม้แต่ตัวเองยังไม่ห่วงเลย ไอ้ตัวของเรายังไม่ห่วงจะไปห่วงตัวใคร ถ้ามันอยากลงนรกก็โมทนากับมัน พอสอนดีแล้วเขาไปทำชั่วก็ช่างเขา

ถ้าหากยังไม่ถึงอริยก็เรียกว่าอุเบกขา ถ้าถึงพระอริยะก็เรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ ถ้าจิตเราทรงสังขารุเปกขาญาณ ความกังวลใดๆ มันก็ไม่มี สังขารุเปกขาญาณการวางเฉยในขันธ์ ๕ ถ้าวางเฉยในขันธ์ ๕ ของเราได้แล้วมันก็เฉยหมดแหละ อย่าไปยุ่งกับขันธ์ ๕ เขาเลย สำคัญไอ้เรามันวางไม่ค่อยลง

พุทธศาสนาทำเข้า โลกทำออก
ตามหลักพระพุทธศาสนานี่ทำเข้า แต่โลกมันทำออก ไอ้โลกน่ะอยู่คนเดียวไม่พอ อยากมีผัว อยากมีเมีย มีผัวมีเมียอยากมีลูก มีเท่านี้อยากได้เท่าโน้น มันขยายตัวออก หลักสูตรพระพุทธศาสนามันดึงออกมา มันตัดเข้ามาๆๆ ถึงกาย ตัดกายแล้วก็ตัดกังวล ตัดห่วงใย จิตมันจึงมีความสุข ไม่อย่างนั้นจิตจะหาความสุขไม่ได้ จำไว้นะ

ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 26/4/12 at 13:55


พระพุทธเจ้าสอนเป็นขั้นๆ
การตั้งใจไปนิพพานเขาก็มีความเข้มข้นของจิตด้วย ความเข้มข้นไม่พอก็ไปไม่ถึง ตัวเข้มข้นนี่มันไม่มีอะไร มันก็ง่ายๆ จริงๆ ก็คือไม่ห่วงร่างกาย ตอนที่มันตายแล้ว เมื่อมีชีวิตอยู่เราห่วง แต่ว่าถ้าตายแล้วเราเลิกคบกัน ไอ้ร่างกายแบบนี้ไม่มีสำหรับเราอีก แค่นี้ไปนิพพานหมด นิพพานนี่มันตัดสักกายทิฏฐิตัวเดียวนะ
ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงเทศน์มาก เพราะกำลังใจคนมันอ่อน

แบบคนเดินไม่ได้พาวิ่งน่ะ วิ่งได้ที่ไหนเล่า ต้องพาคลานก่อนใช่ไหม เดินไม่ได้คลานได้คลานไปซิ ใช่ไหม แบบเด็กๆ น่ะ ไม่งั้นก็หัดยืนหัดจูง ต้องเป็นไปตามขั้น นี่ก็เขาไปไม่ได้จะไปเร่งให้เขาไปอย่างไร มันก็ต้องดูกำลังของจิต ใช่ไหม ทีนี้กำลังของใจมันไปไม่ไหวก็เลยดึง ดึงจนเกินกำลังก็เกิดความกลุ้ม ก็ต้องดูความเหมาะสมนะ พระพุทธเจ้าท่านทรงสอน

๑.มนุษยธรรม
๒.เทวธรรม
๓.พรหมธรรม แล้วก็
๔.นิพพาน

ถ้าคนที่มีอารมณ์อ่อน คนที่มีอารมณ์อ่อน ท่านก็สอนขึ้นไตรสรณคมน์ อย่างพวกเนยยะ ก็มี ๔ เหล่า พวกเนยยะพระพุทธเจ้าท่านทรงสอนให้ได้ดึงขึ้นไตรสรณคมน์ พวกนี้ก็มีหวังไปสวรรค์ หรือไปพรหมได้ ถ้าอุคฆฏิตัญญู หรือ วิปจิตัญญู พวกนี้ถ้าตัดนิดเดียวก็ไปพระนิพพานเลย อุคฆฏิตัญญูพูดย่อๆ ก็เป็นอรหันต์ ไปนิพพาน ทีนี้วิปจิตัญญู พูดย่อๆ ฟังไม่รู้เรื่อง แต่ว่าอธิบายนิดหน่อยก็ใช้ได้ แต่เนยยะนี่ดึงไม่ไหวละ ถ้าดึงไปสวรรค์ดึงไปพรหมได้ก็พอแล้วนี่

ธรรมเป็นขั้น
ถ้าเราอยากจะไปสวรรค์ ใจก็ตั้งอยู่ในหิริ และโอตตัปปะ ถ้าเราต้องการไปเป็นพรหม จิตเราจะตั้งอยู่ในอารมณ์ของฌาน ถ้าเราต้องการนิพพาน จิตก็ตั้งอยู่ในเขตตัดสักกายทิฏฐิ

พรหมวิหาร ๔
ไอ้สามอารมณ์นี่ต้องทรงอยู่ นี่จิตที่มันจะทรงอยู่ได้เพราะอะไร มันจะทรงอยู่ได้ในลักษณะ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง มันต้องอาศัยพรหมวิหาร ๔ เป็นแกน คือพรหมวิหาร ๔ นี่ต้องเป็นแกนประจำอยู่ตลอด ถ้ามีพรหมวิหาร ๔ เป็นแกนกลาง จิตใจมันก็เยือกเย็น

เมตตา รักสัตว์กับคนมีค่าเท่ากัน เราจะเป็นมิตรที่ดีของคนและสัตว์ทั้งหมด
กรุณา สงสาร เห็นชีวิตเขาเรามีค่าเหมือนกัน ถ้าเราช่วยเตือนเขาได้เราก็จะช่วยเขา
มุทิตา ไอ้นกมันบินในอากาศมันสูงกว่าเรา ไอ้ลิงมันโดดบนยอดไม้มันสูงกว่า อย่าไปอิจฉามันใช่ไหม เราก็เออ...ไอ้ลิงมันดีกว่าเรา เราโดดไม่ได้ลิงมันโดดได้ นกมันบินได้ ใครเขาดีกว่าเราเราคอยยินดีกับเขาด้วย

อุเบกขา ถ้าอะไรมันจะพึงมีขึ้นถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เราจะวางเฉย ถือว่ากฎของกรรม ทุกอย่างเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ พรหมวิหาร ๔ นี่ละจากจิตไม่ได้ ไม่ใช่ท่องคล่องนะ จิตต้องทรงอารมณ์ เจ้าพรหมวิหาร ๔ นี่มันทำให้ตายยาก เจอะเสือเสือก็หัวเราะ เสือก็ไม่หลีก และเสือก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ เจอสัตว์ร้ายต่างๆ มันจะไม่ทำอะไร ไก่ป่าที่ว่าเปรียวที่สุด เห็นคนมันจะบินหนีแต่ไกล ถ้าเราเดินไป

บางทีเดินไปเฉียดๆ มันก็ยืนมอง มันคงนึก เออ..ไอ้ไก่หัวโล้นประเภทนี้มันมาจากไหนน้า.. อำนาจพรหมวิหาร ๔ ทำให้จิตเป็นสุข ถ้าจิตมีพรหมวิหาร ๔ จริงๆ อันตรายอย่างอื่นมันก็ไม่มีเหมือนกัน แต่ว่าทั้งนี้ต้องยกไว้แต่กฎของกรรมเดิมที่มันใหญ่เกินไป ที่มันใหญ่เกินไปที่กำลังของกรรมประเภทนี้ไม่สามารถจะป้องกันได้ ก็ต้องมีเหตุให้มันตายได้เหมือนกัน

แต่ว่าถ้าจิตด้านหนึ่งคือพรหมวิหาร ๔ เริ่มต่ำ ตายไปก็ไปสวรรค์ ถ้าจิตทรงพรหมวิหาร ๔ อย่างพระเดินป่านี้จิตเขาเป็นฌาน ไอ้ฌานนี่ไม่ใช่มานั่งหลับตาปี๋ เมื่ออารมณ์มันทรงเป็นปกติ อันนี้ก็เป็นพรหม แต่ว่าถ้าเราคิดว่าถ้าตายคราวนี้ขึ้นชื่อว่าความเกิดไม่มี ความตายมันเป็นทุกข์ การเกิดเป็นเทวดาหรือพรหมก็ไม่ได้สุขจริงๆ สุขชั่วคราว ถ้าภพ ๓ ภพเราไม่ต้องการ ชีวิตต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน ตายแล้วก็ไปนิพพานเลย

เรียนแบบโง่ๆ
ฉันเรียนกับหลวงพ่อปาน ท่านสั่งเลยว่า ถ้าแกจะเรียนกับข้านะ แกต้องเรียนแบบคนโง่ ห้ามฉลาด อันนี้ถูกต้อง ถ้าฟังแล้วบังคับแกโง่นะ ไอ้เราคิดอะไรมากไป คำว่าโง่หมายความว่าบอกอย่างไรก็ปฏิบัติอย่างนั้น ก็ถึงเร็ว เช่นบอกว่าไปดู เดินจากนี้ตรงไปเอาพระพุทธรูปมา ออกไปเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา ถึงแล้วใช่ไหม นี่ครูบาอาจารย์เขาสอนตรงจุดหมายปลายทาง เพราะเขาได้ ถ้าครูสอนที่ไม่ได้เรื่องนี่อีกเรื่องหนึ่งต่างหาก

มันสักแต่ว่าเอาตำรามาเปะปะๆ ไป ถ้าเขารู้เขาทำได้ เขาต้องรู้จุดว่าไอ้จุดไหนมันง่าย แต่ครูเองก็ต้องพบกับความยากมาก่อน ถ้าอันไหนมันบกพร่องไอ้อันนี้น่ะเขาไม่บอกเราหรอก อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านสอน ท่านสอนพวกเราทุกอย่าง ท่านกันทุกอย่างเพราะอะไร ท่านผิดมาแล้ว ท่านไปล่อวิธีของพราหมณ์ตั้ง ๖ ปี ใช่ไหม มันไม่ใช่ทางบรรลุ จงอย่าทำนะ

กรรมฐานรักษาบ้า
มีเจ้าคุณองค์หนึ่งมาเทศน์ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ท่านบอกว่าการเจริญสมาธิต้องระมัดระวังให้มาก ถ้าพลาดพลั้งไปแล้วจะกลายเป็นคนบ้า ทางที่ดีจงอย่าทำเลย นี่อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็มีท่านครูบาอาจารย์ชั้นสูง พระเหมือนกัน อาตมาได้รับบัตรของท่าน ท่านส่งบัตรมาให้ นามบัตรชื่อของท่านเป็นครูสอนหลายแห่ง และสอนในมหาวิทยาลัยเสียด้วย เวลานั้นหลายปีแล้วไปเทศน์ด้วยกัน

ในสำนักที่ไปเทศน์นั้นเป็นสำนักเจริญพระกรรมฐาน ท่านเป็นคนสรุปพระธรรมเทศนา ท่านบอกว่า ญาติโยมพุทธบริษัท เรื่องกรรมฐานอย่าไปทำกันเลย ไม่จำเป็น เราช่วยกันสำรอกกิเลสให้หมดไปน่ะพอแล้ว
พอฟังเท่านี้อาตมาก็ตกใจ การเจริญพระกรรมฐานเป็นปัจจัยให้คนเป็นบ้า นี่ก็แปลกใจเหมือนกัน และการสำรอกกิเลสให้หมดไปแล้วจึงเจริญพระกรรมฐานนี่ก็แปลกมาก เพราะการเจริญพระกรรมฐานนั่นแหละ

บรรดาท่านพุทธบริษัท เป็นการคลายหรือสำรอกกิเลสให้หมดไป ค่อยๆ เคาะ
กิเลสไม่ใช่น้ำในขวด หรือกิเลสไม่ใช่น้ำในกระบอก จับแล้วก็เทพรวดให้หมดไป กิเลสมันเกาะใจ เกาะแน่นเกาะนานเกาะลึก แกะมันยากแสนยาก จึงค่อยๆ แกะค่อยๆ ทำ

อันดับแรกต้องมีศีลบริสุทธิ์
ประการที่ ๒ ต้องมีจิตตั้งมั่น
ประการที่ ๓ มีปัญญาเฉลียวฉลาดสามารถ ค่อยๆ ตัดกิเลสออกไปได้ทีละเล็กละน้อย ในที่สุดมันก็จะหมดไปเอง


แล้วมาการเจริญกรรมฐานทำให้เป็นคนบ้า และการมีศีลบริสุทธิ์ การมีจิตตั้งมั่นในสมาธิสามารถระงับนิวรณ์ได้ และการที่มีปัญญาสามารถตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานได้ ถ้า ๓ ประการนี้เป็นปัจจัยให้เป็นคนบ้า ก็ขอประทานอภัย อาตมาไม่ก้าวร้าวพระผู้สูงมาก นั่นคือพระพุทธเจ้า ถ้าเขาหาว่าการทำอย่างนี้บ้า เขาก็ต้องหาว่าพระพุทธเจ้าบ้าไปด้วย อาตมาขอพูดตามที่เขาคิดนะ

อาตมาไม่คิดว่าพระพุทธเจ้าบ้าแน่ เพราะอาตมาอยู่ได้เพราะอาศัยพระพุทธเจ้า ก็พระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ มีสมาธิตั้งมั่น มีปัญญาเฉลียวฉลาดมาก สามารถตัดกิเลสให้สิ้นไป ถ้าคิดว่าคนเจริญพระกรรมฐานต้องบ้าทุกคน ก็ต้องถือว่าบ้าตามพระพุทธเจ้า ขอประทานอภัยเถอะ คนที่ห่มผ้าเหมือนศากยบุตรพุทธชิโนรสไม่น่าจะคิดอย่างนั้น และก็ไม่น่าจะพูดอย่างนั้น

ตอนนี้มาคุยกันถึงว่าสมาธิที่เราทำถ้าพลาดเป็นบ้าได้ไหม ก็ต้องตอบว่าได้ ต้องพลาดนะ ไม่ใช่ทำดี การทำสมาธิดีเขารักษาโรคให้หายบ้า คนที่มีสติฟั่นเฟือนบ้างพอสมควร พอทำสมาธิเข้าพักเดียวอารมณ์จะกลายเป็นความเยือกเย็น เอาแค่คนที่มีความเร่าร้อนของจิตโมโหโทโสร้ายนี่แหละ ไม่ต้องมากนัก

เจริญสมาธิเข้าจริงๆ ไม่ช้าประมาณเดือนเศษๆ จะเห็นผลทันทีว่ากำลังใจของเราเยือกเย็นไปมาก ความโกรธยังมีอยู่แต่มันน้อยลงไป และก็ช้าลงไป ถ้าเจริญสมาธินานๆ เข้าความโกรธอาจจะไม่หมดไป แต่เหลือน้อย มีกำลังเบา อย่างนี้กำลังใจของเรามีอารมณ์เป็นสุขเพราะกำลังสมาธิ

ได้ทุกอิริยาบถ
กรรมฐานนี่รักษาโรคประสาท สมาธินี่เขารักษาโรคประสาท คนที่เจริญสมาธิเป็นประสาทก็ไม่ต้องรักษากันหรอก ปล่อยบ้าไปเลย มันไม่เชื่อครู ทำกรรมฐานมันต้องหายปวดหัวนะ แต่อย่าให้มันมากนักนะ ต้องบังคับกันนะ อย่าใช้เวลาให้มาก พอจิตไม่สบายให้เลิกทั้งหมด อย่าลืมว่านั่ง นอน ยืน เดิน ทำได้ทุกอิริยาบถ ไอ้นี่มันไม่ค่อยจะสอนกัน และคนฝึกมันจะฝืน นอนก็ได้นี่ นั่งท่าไหน นั่งเอนกาย นั่งเก้าอี้ ได้หมด ยืนก็ได้ ไอ้เดินนี่คือจงกรม จงกรมนี่เขาแปลว่าเดิน ใช่ไหม

จงกรม
เมื่อวานนี้คนนั้นมาถามว่า เดินจงกรม ไอ้จงกรมเขาแปลว่าเดิน คือเวลาเดินไปภาวนาไปใช่ไหม บางคนมาถามว่าเดินกลมๆ ใช่ไหม บางทีแกถามละเอียด ใช้วงใหญ่หรือวงเล็ก (หัวเราะ)
แกแก่แล้วนะ ที่กรุงเทพฯ เกือบจะกลั้นหัวเราะไม่ได้ ไอ้เราจะย้อนคำถามเดี๋ยวชาวบ้านเขาจะฮากัน คนเป็นพัน กรุงเทพฯ นะ ถามว่าเดินวงใหญ่หรือวงเล็ก แหม..เราอดใจไว้แทบแย่ (หัวเราะ)

เขาทำแค่สบาย เอาแค่สบาย อย่าทำมากไป เป็นบ้า อย่าไปเลือกตามคนห่วยๆ ยังไงๆ ตามเกาะชายจีวรพระพุทธเจ้าพอแล้ว อาจารย์ใครมันจะเก่งกว่าพระพุทธเจ้าไม่เอาหรอก เราไม่ยอมเท่าพระพุทธเจ้าใช่ไหม ให้ท่านอุ้มดีกว่าเราอุ้มท่าน

ภาวนา นั่ง นอน ยืน เดิน จะไปเรียนกับใครอีกล่ะ อะไรก็ได้ เขาไม่ได้ห้าม ใช้ไปเถอะ เราว่า นะมะ พะธะ เราก็เดิน นะมะ พะธะ เราว่า พุทโธ เราก็เดิน พุทโธ เราไม่จำกัด คำว่าจงกรมหมายถึงเราทำสมาธิในขณะที่เราเดินอยู่

อานิสงส์จงกรม
กรรมฐานกองใดได้สมาธิในขณะเดิน กรรมฐานกองนั้นสมาธิไม่มีเสื่อม การเดินจงกรมเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ ไม่ให้เส้นสายยึดจนกลายเป็นคนง่อยเปลี้ย และยังทำให้ท้องไม่ผูกอีกด้วย

ภาวนา..อานิสงส์สูง
อานิสงส์ภาวนานี่สูง สูงมากเลยหนู เรานั่งครึ่งชั่วโมงอาจจะมีสมาธิจริงๆ สัก ๒ นาที สมมติเอานะ อย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ดีกว่าพระที่บวชเข้ามาในพุทธศาสนารักษาศีลครบถ้วน ๑๐๐ ปี แต่ไม่เคยเจริญสมาธิ อานิสงส์สูงมาก ก็เปรียบเทียบให้ฟังกับพระที่บวชเข้ามานี่ไม่เคยทำสมาธิเลย แต่รักษาศีลบริสุทธิ์ครบ ๑๐๐ ปี กับเราเจริญสมาธิวันหนึ่งแค่ ๒ – ๓ นาที เราอานิสงส์สูงกว่า

สมาธิอย่างเดียวไม่มีผล
ถ้าไปเล่นสมาธิอย่างเดียวไม่มีผลแน่ ชาตินี้ตั้งใจเอาจิตทรงตัวนี่ไม่มีผลแน่ ก็ต้องไปดูสังโยชน์ คือตัวละ คือตัวกิเลส ตัวสมาธินี่เหมือนคนเพาะกำลังกายเฉยๆ คนที่เพาะกำลังกายอยู่แต่ว่าไอ้สุนัขมันดุ เรายังไม่ได้ตีขามันหักด้วย แรงเรามีตีเท่าไรหมามันไล่กัดเท่านั้นแหละ ใช่ไหม

ตัวตีขาหักคือเอาไปตัดสังโยชน์ ความเป็นพระอริยะเขาต้องดูอารมณ์ อารมณ์ที่เราเคยโกรธ กระทบกระทั่งวาจาแบบนี้เคยโกรธขนาดไหน และขังอยู่กี่วัน เวลานี้เราปฏิบัติความดี ไปกระทบวาจาแบบนั้นโกรธเท่าเดิม แต่ว่าขังน้อยลงไหม ก็ต้องดูจุดนี้นะ ต้องดูผล ไปดูตัวสมาธิไม่ได้ พอหนักเข้าหนักเข้าเรากระทบวาจาขนาดนี้มันโกรธก็โกรธไม่เท่า นี่แสดงว่าเราชนะขึ้นเยอะแล้ว ถ้าจะหมดโกรธจริงๆ ก็ต้องเป็นอนาคามี

ปฏิบัติเข้าสังโยชน์ ๑๐
“...ทุกวันนี้นะคะ ศีลก็รักษา บุญก็ทำ แต่ทำไมยังไม่ก้าวหน้าเรื่องธรรมะเลย พอหลวงพ่อไม่อยู่ก็ฟุ้งซ่าน พอหลวงพ่อไม่อยู่นิวรณ์ก็ครอบ เป็นคนขี้โมโหน่ะค่ะ บางทีแพ้ บางทีก็ชนะบ้าง...”

“...ก็เป็นของธรรมดา ถ้ายังไม่สิ้นกิเลสเพียงใดคำว่าแพ้ยังปรากฏ ไอ้คำว่าสิ้นกิเลสนั่นหมายถึงว่าเอาสังโยชน์ ๑๐ เข้ามาวัด ไม่ใช่เดาส่งเดชกัน การปฏิบัติถ้าไม่เข้าสังโยชน์ ๑๐ ก็ไม่ไหว ทำยังไงก็ไม่ไปไหน นั่งสมาธิกันเรื่อยไป กูเห็นนั่น กูเห็นนี่ กูเห็นนี่ กูเห็นนั่น ไม่ได้เรื่อง...”

สมาธิของพระอริยเจ้า
แล้วคนเขาก็เข้าใจพลาดอีกจุด คือเวลาที่เจริญสมาธิจิตจะทรงตัวดี ถ้าเป็นฌานโลกีย์นี่อารมณ์มันหนัก หนักแน่นมาก แต่พอเข้าตัดสังโยชน์นี่ตัวสมาธิมันจะเบา แทนที่จะหนักแน่น มันไม่หนักแน่น แล้วจิตมันทรง จิตทรงตัวไหน

ถ้าหากว่าตัดสังโยชน์ถึงพระโสดาบันได้
๑.ต้องมีความรู้สึกอยู่เสมอ ไม่ประมาทในชีวิตว่ามันต้องตายแน่
๒.เราเข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้า คือใช้ปัญญาในการใช้พิจารณาเหตุผลในคำสอนของพระพุทธเจ้าให้แน่นอน ชักไม่สงสัยแล้ว

๓.มั่นคงในศีล ๕ แน่นอน คือว่า ไม่หาเล่ห์เหลี่ยมในการทำลายศีล ๕ แล้วก็
๔.จิตมั่นในพระนิพพานแน่นอน ตรงนี้จึงจะหมดสงสัย
ถ้าทำสมาธิไปถึงสมาบัติแปด ได้อภิญญาห้า หรือว่าได้สองในวิชชาสาม ถ้ายังไม่ถึงพระโสดาบันเพียงใด ยังไม่หมดสงสัย เอ๊ะ..ต้องเป็นพระโสดาบันเสียแล้วซิ (หัวเราะ)


พระโสดาบัน
มีแต่ของง่ายๆ พระโสดาบันนี่ พระโสดาบันยังมีผัวมีเมีย พระโสดาบันยังมีการประกอบอาชีพให้ร่ำรวย พระโสดาบันยังมีโกรธ พระโสดาบันยังมีหลง พระโสดาบันกับสกิทาคามีมีศีล ๕ แค่นั้นเอง แต่จิตมุ่งพระนิพพานเป็นอารมณ์ เท่านี้เองของง่ายๆ ถึงบอกว่าของเด็กเล่น ใช่ไหม เด็กมันเล่นกระดูกคนแก่ซะเยอะแล้ว

จุดสมาธินี่เป็นการฝึกรักษาอารมณ์ให้ทรงตัวอยู่ในขอบเขต เพื่อจะเอากำลังของสมาธิตัวนั้นน่ะมาระงับความชั่วด้านตัวละเมิดศีล ๕ แล้วก็สมาธิจะเริ่มเป็นตัวปัญญาพิจารณาคำสอนของพระพุทธเจ้า จะได้ไม่สงสัย เท่านี้เองไม่เห็นยากเลยนะ

ปัญญา – สมาธิ – ศีล
ตัวสงสัยจะหายไปก็ตรงนี้ ตรงตัวปัญญา ตัวปัญญาจะมาได้เพราะตัวสมาธิ สมาธิจะมีได้เพราะศีล ศีลจะมีได้เพราะปัญญาเหมือนกัน ปัญญาขึ้นต้น แต่ว่าเป็นปัญญาที่มีกำลังอ่อน พอจะวินิจฉัยถึงเหตุผลได้

ปัญญาพิจารณาศีล
ไอ้ศีลตัวนี้ ศีลนี่เขาแปลว่าปกติ ก็ใช้ปัญญาพิจารณาดูว่า
ปาณาติปาตา เวรมณี ชีวิตของเราอย่าให้ใครไปฆ่านะ ร่างกายของเราอย่าให้ใครมาทำร้ายนะ ถ้าเราไม่มีความต้องการอย่างนั้นคนและสัตว์ทั้งโลกมีความต้องการแบบนั้นเสมอกัน เราก็ต้องเว้น

อทินนาทานา เวรมณี ไอ้ทรัพย์สินที่ได้มาอย่าให้ใครขโมยนะ เราไม่ต้องการให้ใครมายื้อแย่งขโมยทรัพย์สินของเราไป เพราะว่าหาได้ยาก คนอื่นเขาต้องการเช่นเดียวกัน ปกติของคนและสัตว์ทั้งโลกมีความต้องการเสมอกัน

ข้อที่ ๓ คนรักเราไม่ต้องการให้ใครมาแย่ง เขาก็ไม่ต้องการให้ใครไปแย่งคนรักเขา
ข้อที่ ๔ เราต้องการวาจาจริง ไม่ต้องการคำโกหก ไอ้คนอื่นเขาก็ไม่ต้องการคำโกหกเหมือนกัน
ข้อที่ ๕ เราไม่ต้องการบ้า เขาก็ไม่ต้องการบ้าเหมือนกัน มันแค่นี้เอง มันก็เหตุผลธรรมดาๆ

“...แหม...แล้วมันจะหายสงสัยได้อย่างไร อันนี้ผมว่ามันต้องมีกลอุบาย มีวิธีการสักอย่างหนึ่งเพื่อจะตัด...”
“...อ้อ ง่ายนิดเดียว อั๊วะไม่ละเมิดเท่านี้พอ อุบายนิดเดียว ฉันไม่ทำ อุบายมีข้อเดียวแน่นอน แต่อย่าลืมนะต้องค่อยๆ ลดไป ค่อยๆ ลดไป สิ่งที่มันมีอาการชินอยู่แล้วนี่มันก็ลำบาก...”

กำลังของพรหมวิหาร ๔
“...ศีลหรือว่าสมาธิหรือว่าวิปัสสนาญาณ จะทรงอยู่ได้ด้วยกำลังของพรหมวิหาร ๔ ถ้าทรงกำลังของพรหมวิหาร ๔ ได้ จิตจะทรงตัว เรื่องศีลไม่ต้องเป็นห่วง หรือไม่ต้องเป็นห่วงเลยเพราะว่าไม่ละเมิดเลย ค่อยๆ นะ อย่างลืมนะหมอเรียนหนังสือมา กว่าจะเป็นหมอได้มันหลายปีนะ...”

“...ทำทีละข้อไม่ได้หรือครับ ไม่ต้องพร้อมกันทั้ง ๕ ข้อ...”
“...ได้ ก็ลดไปทีละข้อซิ ลดไปทีละข้อละข้อ เท่าที่กำลังจะลดไปได้ก็ลดไป แต่อย่าไปรีบตายซะก่อนนะ ไอ้ข้อที่ยังไม่ได้ลดมันลดไม่ทันนะ (หัวเราะ) เอาอย่างนี้สิ เอาประเภทวันหนึ่งเราตั้งใจตั้งแต่ ๖ โมงเช้าถึง ๙ โมงเช้า

เราจะไม่ละเมิดศีลทั้ง ๕ ข้อ เอาให้ได้วันละ ๓ ชั่วโมง เอาทั้ง ๕ เลย อีช่วง ๓ ชั่วโมงนั่นฉันไม่ละเมิดแน่ ให้มันแน่นอนไปเลย เลิกจากนั้นไปเราอยากพร่อง เราก็ต้องถือมันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็ถือว่าไม่จำเป็นเราไม่ทำจริงไหม เอาอย่างนี้ดีกว่าจะสบายกว่าเยอะ แล้วไม่ช้า ๓ – ๔ ปีก็หมด...”

โสเภณีเป็นพระโสดาบันได้
อย่างโสเภณีนี่เขาเป็นพระโสดาบันก็ได้ เพราะศีลเขาไม่ได้ขาด โสเภณีนี่เขาเป็นโสเภณีจริงๆ แล้วเขาขายตัวเขาจริงๆ นะ ไม่ได้มีศีลขาดเลย จะไปโทษว่าเขาเป็นคนชั่ว เขาชั่วที่ไหน ไอ้เราซิ เอ่อ..เอาตังค์ไปให้เขา (หัวเราะ) ไอ้ตัวเองชั่วจะไปโทษคนอื่นเขาชั่ว

เราไปวัดกันที่ศีล โสเภณีตัดปาณาติบาตตรงไหน เอาอย่างแท้นะ เขาเป็นอทินนาทานตรงไหน ตกลงราคากัน เขาเป็นกาเมที่ไหน เขาไม่แย่งผัวใคร มันเป็นการค้า มุสาวาทตรงไหน เขาเป็นโสเภณีแล้วเขาขาดข้อสุราหรือ เขาก็ไม่กิน

สิริมา อัครโสเภณี หญิงมีความงดงาม เป็นโสเภณีแล้วยังมีราคาสูง ท่านเป็นพระโสดาบัน
“...แต่โสเภณีไปเบียดเบียนสามีเขา...” ไม่ผิด เขาไม่ได้แย่ง ไอ้นั่นมันมาหาเขา อันนี้เขาไม่ได้แย่งสามีคนอื่นเขานี่ เขาถือเป็นเรื่องการค้าอย่างเดียว ไอ้นั่นวิ่งไปหาเขา มันเอาความใคร่ก็ตัดไป เขาก็ไม่ดึงเอาไว้ จะหาว่าเขาผิดไม่ได้ ศีลก็ต้องมีหลายตัว ตัวข้อเท็จจริงตามข้อของศีล

ถ้าหากว่าเป็นคนไปหลองลวงเขา เขามีสามีอยู่แล้วหรือว่ามีภรรยาอยู่แล้ว ไปหลอกลวงเขา ไปล่วงเกินสามีของเขา อันนี้เป็นการเลว แต่นี่เขาตั้งร้านค้าใช่ไหม พวกรถแท็กซี่นี่ เราจะถือสิทธิ์รถคันนั้นเป็นของเราได้ไหม หือ..เราขึ้นแท็กซี่หรือขึ้นรถ รถคันนั้นไม่ใช่รถของเรานะ ไปถือว่าเขาขโมยรถคนอื่นไม่ได้ใช่ไหม

พูดความจริงต้องเลือกเวลา
คนที่พูดมุสาวาทเป็นคนไร้สัจจะ คนเกลียด แต่พูดตามความเป็นจริงไปที่ไหนใครก็ชอบ คนทุกคนต้องการรับฟังวาจาที่ตรงตามความเป็นจริง แต่ก็ต้องระวังเหมือนกัน
การพูดตามความเป็นจริงนั้นต้องเลือกเวลา อยู่พูดจนกระทั่งเขามีความเสียหายต่อหน้าประชาชนเกินไป ต้องใช้ปัญญาด้วย

ความจริงข้อนี้เราควรจะพูดที่ไป แล้วเวลาพูดนั้นเป็นเวลาควรจะพูดแล้วหรือยัง ถ้าเป็นเครื่องสะเทือนใจของบุคคลผู้รับฟัง เวลาที่เขาอารมณ์ไม่ดีอย่าเพิ่งพูดความจริง รอเวลาอารมณ์ดีจิตใจเขาสบาย พูดอ้อมหน้าอ้อมหลังไปก่อน เห็นท่าว่าเขาจะยอมรับแล้วก็ไม่โกรธจึงควรพูด

ตามที่พูดกันว่า วาจาจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่คนพูดตามความเป็นจริงอาจจะตายได้ นี่ต้องระวังให้มาก ก็ถือว่าถ้าเราพูดตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง และบรรดาญาติโยมเลือกเวลาเหมาะเวลาสม ใช้ปัญญาหน่อย อย่างนี้ถือว่าวาจาเป็นทิพย์ ท่านจะมีความสุขมาก ในฐานะที่คนทั้งหลายมีความไว้วางใจในท่าน

โกหกขาว
คำว่า โกหก เขาต้องหมายว่าทำลายประโยชน์ ใช่ไหม ถ้าไม่อย่างนั้นพระอรหันต์ก็ลงนรกหมด พระอรหันต์ก็ใช้เหมือนกัน อย่างพระสารีบุตรท่านเทศน์สอน ตัมพทาฐิกโจร นี่ฆ่าคนมาเป็นหมื่น พ้นจากโจรมาเป็นเพชฌฆาต ต่อมาเมื่อพ้นจากความเป็นเพชฌฆาต แกแก่แล้วฟันคอคนเดียวทีเดียวไม่ขาด เป็นการทรมาน เขาก็ปลด

พอปลด สมัยก่อนเขาให้เป็นบำเหน็จ มีฐานะถึงคหบดี แกมานั่งนึกว่า เราเป็นเพชฌฆาตมานาน เพชฌฆาตมันต้องเปื้อนเลือดทุกวัน แต่ตัวสวยไม่ได้ เวลานี้เงินทองก็มีเยอะ อยากจะนุ่งห่มผ้าสาฎกให้มันสวย ผ้าสาฎกราคามันแพง ให้ลูกสาวไปซื้อมาสองผืน นุ่งผืนห่มผืนก็ได้ แกอยากกินข้าวมธุปายาส

ข้าวมธุปายาสนี่พระราชาเสวย แต่แกก็มีฐานะพอกินได้ ก็อยากจะกินมานาน ไม่มีเวลาจะกิน ให้ลูกสาวทำข้าวมธุปายาสขึ้น พอข้าวเสร็จลูกสาวก็ปูอาสนะเอาอาหารมาให้ แก็อยากจะกิน พระสารีบุตรโผล่หน้าบ้านพอดี ไม่ใช่หน้าบ้านนะ ประตูเลย พระนะ

พระน่ะรู้เขาจะหม่ำข้าว บุญเดิมของแกมี คือพระที่ท่านจะไปนี่ท่านรู้ว่าคนนี้นะมีบุญ ขณะที่บาปให้ผลก็ไม่เห็นพระ ใช่ไหม เห็นแล้วก็หลีกไป เวลานั้นบุญที่แกจะเป็นอริยเจ้ามาถึง พระสารีบุตรท่านทราบ ท่านก็ปรากฏกายที่หน้าประตู ไม่ใช่หน้าบ้าน

พอตัมพทาฐกิโจรแกเห็นพระ แกก็นึกในใจว่า โอ้..เราสร้างบาปมานาน บุญไม่เคยทำเลย แม้แต่ทานก็ไม่เคยถวาย ตอนนี้เราจะกินข้าวมธุปายาส ก็ดีแล้วมีพระมาสงเคราะห์ เราไม่กินละ ถวายพระดีกว่า นี่บุญมันเข้ามาถึง มันจะมีความรู้สึกอย่างนี้นะ

แกก็นิมนต์พระสารีบุตรมา แกก็ลุกจากที่นุ่ง ปูผ้าให้นั่ง นิมนต์พระสารีบุตรนั่งแทนแล้วเอาข้าวมาประเคน พระสารีบุตรท่านมาเพื่อสงเคราะห์ ไม่ได้มาเพราะหิว พอฉันเสร็จ เวลาสมัยก่อนเขาให้พร ให้พรก็คือเทศน์ เทศน์ก็คุยกัน อธิบายถึงความดีความชั่วที่ทำ ใช่ไหม ผลความดีที่ทำอย่างนี้จะมีอานิสงส์เป็นอย่างไร

เวลานั้นพระพุทธเจ้าเทศน์ พระสาวกเทศน์ก็เทศน์แบบคุยกับหนูนี่ เขาเทศน์กันแบบนี้นะ ไม่ใช่นั่งว่าเปล่าๆ อย่างสมัยนี้ สมัยนี้พระเทศน์จำไม่ได้ว่าเทศน์ว่าอะไร แล้วไอ้คนฟังจำได้ไม่ได้ไม่รู้ พระเทศน์เองยังจำไม่ได้เลย ไอ้คนฟังจำได้ไม่ได้ก็ไม่รู้

ก็เป็นอันว่า พระสารีบุตรท่านเทศน์ ท่านก็ ทีแรกท่านเอาแส้หวดหลัง ขึ้นทีแรกก็โทษปาณาติบาตเลย โดนนรกขุมไหนขุมไหนบ้าง ไปไหนบ้างก็ว่าเรื่อย สบาย โยมก็นั่งฟังเหงื่อแตกพลั่ก (หัวเราะ) ไม่ไหว กระสับกระส่าย ท่านฉลาดพอ พระสารีบุตรฉลาดจริงๆ ท่านเทศน์ไปท่านชำเลืองดูไป โยมไม่ไหวเห็นเหงื่อแตกเต็ม ท่านหยุดเทศน์ ถาม โยม ไม่สบายรึ (หัวเราะ) รู้อยู่แล้ว

แกก็เลยตอบ หลวงพ่อขอรับ ที่เทศน์มาน่ะผมพังแน่ครับ ไม่ได้เหลือเลย ถามทำไม ทำไปทุกอย่างครบถ้วน (หัวเราะ) ทานก็เลยถามว่า โยม สมมติว่าโยมเป็นลูกจ้างเขานี่ นายจ้างเขามีนาอยู่ร้อยไร่ เขาให้โยมทำนา เมื่อทำเสร็จ อยากจะทราบว่าผลในนานี่ โยมได้หรือว่าใครได้ แกเลยตอบว่าเจ้าของนาเขาก็ได้

ผมได้แต่ค่าจ้าง ก็เลยถามว่าบาปการฆ่าคนนี่ โยมเป็นเพชฌฆาต โยมทำเองหรือใครจ้างให้ทำ ตอบว่าพระราชาจ้าง ถามถ้างั้นใครบาป ความจริงแกบาป แต่แกโง่กว่าพระสารีบุตรใช่ไหม พระสารีบุตรเอาความฉลาดเข้าข่มเอา แกก็เลยคิดว่าไม่น่าบาป แกคิดว่าแกไม่บาป พระสารีบุตรเทศน์อีกตลบเรื่องอานิสงส์ของทานและศีล เป็นพระโสดาบัน เห็นไหม หลังจากนั้นมาท่านก็บวช บวชแล้วก็เป็นอรหันต์

แต่ว่าอย่าลืมนะ ท่านทำชั่วจริงในตอนนั้น แต่มันเป็นกรรมสนองกรรม ความดีของท่านที่สั่งสมมาก็มาก ถ้าความดีของท่านไม่เต็ม พระพุทธเจ้าก็ลากไม่ไหว อย่างพระเทวทัตน่ะห็นไหม ได้อภิญญาสมาบัติ เหาะไปเหาะมาเหาะลงอเวจีไปเลย

ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 4/5/12 at 15:44

7

๗ ภาวนาตัดกิเลส




อานาปานุสสติ
พระพุทธเจ้าเองเคยตรัสกับพระสารีบุตรว่า สารีปุตตะ ดูกร สารีบุตร เราเองก็เป็นผู้มากด้วยอานาปานุสสติ คำว่ามาก หมายความว่าพระองค์ทรงไว้เสมอ รู้ลมหายใจเข้าหายใจออกไว้เป็นปกติ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าการทรงอารมณ์อานาปานุสสติ ลมเป็นของละเอียด ลมหายใจเป็นของเบา แต่ความจริงไม่เบา ถ้าจิตเป็นสมาธิแล้วจะรู้ว่าการรู้ลมหายใจเข้าออก ไหลเข้าไปเหมือนกับน้ำไหลเข้า

แล้วก็ไหลออกมาเหมือนกับน้ำไหลออก มีความรู้สึกชัด ทีนี้ถ้าเรามีความรู้สึกได้อย่างนี้ แสดงว่าสติสัมปชัญญะของเราสมบูรณ์แน่นอน ไม่ใช่สักแต่เพียงว่าเราจะคิดว่าเราเจริญสมาธิเท่านั้น นี่ต้องทำกันแบบนี้นะ นี่เราเอากันจริงๆ นี่คนจริงเขาทำกันแบบนี้นะ เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า เวลาหายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก เวลาลมหายใจเข้ารู้อยู่ว่าลมถึงไหน ลมไหลออกให้รู้อยู่ว่าเวลานี้ลมไหลออกถึงไหน

มีความกระทบถึงจุดไหนบ้าง แล้วสติสัมปชัญญะสมบูรณ์จริงๆ ไม่มีหยุดตั้งแต่ริมจมูกเข้าไปจนกว่าจะถึงศูนย์เหนือสะดือ หายใจออกตั้งแต่ศูนย์เหนือสะดือออกมา กว่าจะกระทบริมฝีปากก็รู้หมด นี่ของเราตั้งใจจริงกันตามจุดนี้ ถ้าจะภาวนาก็ภาวนาว่า พุทโธ ก็ได้ ธัมโม ก็ได้ หรือ สังโฆ ก็ได้ นิพพานัง ก็ได้ หรืออะไรก็ได้ ตามอัธยาศัย หรือว่าเราจะไม่ภาวนาเลยก็ได้ นี่สำหรับอานาปานุสสติ

แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ไม่ทรงละ เป็นสมถภาวนา พระอรหันต์ทุกองค์ก็ไม่ละ แล้วก็สมถภาวนานี่ บางเขตเขาว่าไม่ดี ไม่ใช่ทางแห่งการบรรลุมรรคผล แล้วทำไมล่ะ องค์สมเด็จพระทศพลเป็นพระพุทธเจ้าแล้วทำไมไม่ละ ถ้าไม่ดีพระองค์ก็สมควรจะโยนทิ้งไป หรือไม่นำมาสอนบรรดาท่านพุทธบริษัท ทีนี้พระพุทธเจ้าเองก็ไม่ละ พระอรหันต์เองก็ไม่ปล่อย ก็ต้องเป็นของดี แล้วมันดีตรงไหน หันมาจับความดีในอานาปานุสสติกัน

คุณของอานาปานุสสติ
อานาปานุสสตินี่ตามภาษาพระหรือว่าในกลุ่มของพระอริยเจ้าท่านเรียกว่า กรรมฐานว่าด้วยการระงับกายสังขาร ก็หมายความว่าเป็นกรรมฐานที่ระงับทุกขเวทนา จำไว้ให้ดีนะ กรรมฐานที่ระงับทุกขเวทนาได้ดีอย่างยิ่ง เพราะอะไร ถ้าป่วยไข้ไม่สบาย มันปวดมันเมื่อย นอนเหยียดให้สบาย

จับลมหายใจเข้าออกให้รู้สึก นึกรู้อยู่เฉพาะลมหายใจเข้าออก ประเดี๋ยวเดียวทุกขเวทนาก็ระงับ นี่ถ้าบรรดาพระอริยเจ้าทั้งหลายท่านมีทุกขเวทนาอย่างหนัก แต่ว่าไม่แสดงอาการทุรนทุรายอย่างบรรดาท่านปุถุชนธรรมดา ก็เพราะว่าพระอริยเจ้าท่านทรงอานาปานุสสติเป็นปกติ นี่จุดหนึ่ง

อานาปานุสสติสำคัญยิ่ง
ทีนี่อีกจุดหนึ่ง อานาปานุสสติกรรมฐานมีความสำคัญยิ่งกว่ากรรมฐานใดๆ ทั้งหมด ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่าอานาปาฯ เป็นภาคพื้นฐานให้ทรงกำลังฌานได้เร็ว ฉะนั้นนักทรงอภิญญาสมาบัติ วิชชาสาม หรือปฏิสัมภิทาญาณ ถ้าจิตใช้กำลังญาณใดๆ จุดใดจุดหนึ่งตามความต้องการ

เขาจะจับลมหายใจก่อนพร้อมกับการทรงฌานถี่ๆ นี่มีความรวดเร็วเพียงแค่ขณะจิตเดียว นึกปั๊บจับลมหายใจเข้าออก จับปั๊บจิตถึงฌาน นี่เป็นอันว่าไม่ว่ากรรมฐานกองใด ถ้าเราจะทำสู้อานาปานุสสติกรรมฐานไม่ได้

จุดจบของอานาปานุสสติ
จุดจบของอานาปานุสสตินี้คือ ฌานที่ ๔ ก็ได้แก่การกำหนดลมหายใจจนไม่ปรากฏลมหายใจ ที่ท่านเรียกกันว่าลมหายใจขาด แต่ความจริงลมหายใจไม่ขาดหายไปไหน เพียงแต่ว่ากายกับจิตแยกกันเด็ดขาด จิตไม่รับทราบอาการทางกายเท่านั้น เมื่อจิตไม่รับรู้เสียแล้ว การหายใจหรือการเคลื่อนไหวใดๆ ทางกายจึงไม่ปรากฏแก่จิต ท่านเรียกว่า ลมขาด

เสี้ยนหนามของฌาน ๔
เสี้ยนหนาม หรือศัตรูตัวสำคัญของฌาน ๔ ก็คือ ลมหายใจ เพราะถ้าปรากฏว่ามีลมหายใจปรากฏเมื่อเข้าฌาน ๔ ก็จงทราบเถิดว่าจิตของท่านมีสมาธิต่ำกว่าฌาน ๔ แล้ว จงอย่าสนใจกับลมหายใจเลยเป็นอันขาด

อานิสงส์ของฌาน ๔
๑.ท่านที่ทรงฌาน ๔ ไว้ได้ ในขณะที่มีชีวิตอยู่ จะมีอารมณ์แช่มชื่นตลอดวันเวลา จะแก้ปัญหาของตนเองได้อย่างอัศจรรย์
๒.ท่านที่ได้ฌาน ๔ สามารถจะทรงวิชชาสาม อภิญญาหก ปฏิสัมภิทาญาณได้ ถ้าท่านต้องการ

๓.ท่านที่ได้ฌาน ๔ สามารถจะเอาฌาน ๔ เป็นกำลังของวิปัสสนาญาณชำระกิเลสให้หมดสิ้นไป อย่างช้าภายใน ๗ ปี อย่างกลางภายใน ๗ เดือน อย่างเร็วภายใน ๗ วัน
๔.หากท่านไม่เจริญวิปัสสนา ท่านทรงฌาน ๔ ไว้มิให้เสื่อม ขณะตายตายในระหว่างฌาน จะได้ไปเกิดในพรหมโลกสองชั้นคือ ชั้นที่ ๑๐ และชั้นที่ ๑๑

ต้องขึ้นต้นด้วยอานาปาฯ
“...การขึ้นต้นของการเจริญกรรมฐานทั้งหมดจะต้องขึ้นด้วยอานาปานุสสติเหมือนกันหมด...”
“...บางครั้งมันฟุ้งซ่านค่ะ...”
“...เป็นธรรมดาโยม ถ้าโยมจะไม่ฟุ้งซ่านเลยโยมต้องเป็นพระอรหันต์ คือว่าอาการฟุ้งซ่านพระอนาคามียังมีเลย อรหัตมรรคยังมีฟุ้งซ่าน เรื่องฟุ้งซ่านต้องมีนะโยมนะ
คือมันต้องมี การเจริญกรรมฐานตอนต้นเขาต้องถือว่าถ้าเราทำสมาธิจิตไปครึ่งชั่วโมง ในเวลาครึ่งชั่วโมงนั้น

ถ้าจิตมีอารมณ์ดี ว่าจากกิเลสจริงๆ เพียงสามนาทีควรจะดีใจ ถือว่าเราชนะ สามนาทีเขาถือเอาอย่างนี้นะ ไม่ใช่ว่านั่งครึ่งชั่วโมงแล้วได้ครึ่งชั่วโมง ถ้าโยมทราบแบบนี้แล้วคงจะเบาใจ เบาใจว่า เอ..เราทำไมฟุ้งซ่าน ชาวบ้านเขาไม่ฟุ้ง ดีไม่ดีชาวบ้านเขาฟุ้งมากกว่าเราแต่เขาไม่บอกล่ะ ใช่ไหม แถวๆ นี้ก็ต้องฟุ้งเหมือนกันนะ แต่ว่าต่อๆ ไปอาการฟุ้งมันจะต่างกัน

ถ้าจิตอยู่ในขั้นขณิกสมาธิ หรืออุปจารสมาธิ มันอาจจะฟุ้งน้อมในด้านของอกุศลมากกว่ากุศล ถ้าจิตอยู่ในขั้นของการทรงฌาน บางครั้งจิตก็อาจจะน้อมไปในด้านของอกุศลบ้าง กุศลบ้าง ถ้าจิตก้าวเข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้า ตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี อรหัตมรรค ในด้านนี้ท่านจะฟุ้งในด้านกุศลมากกว่า อกุศลไม่มี แต่ว่าไม่ตรงทางนัก บางครั้งเป๋ไปบ้าง

แต่หมายความว่าจิตตั้งทีแรกมุ่งอรหัตผล พอเป็นอนาคามีผล พอเข้าอรหัตมรรค ทำไปทำไปมันเริ่มเหนื่อย เลยว่า เอ..พักแค่นี้ก็ได้มั้ง ความจริงเราตายจากความเป็นคน เป็นเทวดา หรือพรหม ก็ตีตั๋วต่อไปพระนิพพานก็ยังพอได้น่ะ มันฟุ้งแบบนี้นะ บางครั้งมันจะมีขึ้นมา ท่านก็ถือว่าที่โยมฟุ้งนั้นไม่ผิด ถ้าโยมไม่ฟุ้งเลย..ผิด ใช่ไหม ถ้าไม่ฟุ้งเลยนี่เป็นอรหัตผลนี่ โยมครองอย่างนี้ไม่ได้ ต้องครองผ้าเหลืองแล้ว...”

นิวรณ์ ๕
ถ้าเราเจริญสมาธิจิต จิตเราบกพร่องในนิวรณ์ ๕ ข้อไหนบ้าง นิวรณ์ ๕ นี่นะ ไอ้นิวรณ์ ๕ นี่อย่าลืมนะ ถ้าเราพูดตามภาษาไทยชัดๆ ก็หมายถึงจิตที่เลว อารมณ์จิตที่เลว เลวแล้วไปไหน มีอย่างเดียวคือลงนรกนะ ไม่เลวเฉยๆ เลวเฉยๆ นี่ไม่เป็นไร อารมณ์ของนิวรณ์ ๕ มีตัวที่หนึ่ง กามฉันทะ ไอ้ข้อหนึ่งนี่มันมี ๕

๑.พอใจในรูปสวย รูปคน รูปสัตว์ รูปวัตถุ รูปสีสันวรรณะ
๒.พอใจในเสียงเพราะ
๓.พอใจในกลิ่นหอม
๔.พอใจในรสอร่อย
๕.พอใจในอารมณ์สัมผัสระหว่างเพศ

นี่เป็นข้อหนึ่งเป็นอารมณ์เลว แล้วก็สอง ความโกรธ ความพยาบาท ไอ้ความพยาบาทนี่นะคือมันจะขังโกรธ ด่าแก้มือน่ะ ด่าชดเชยจะมุ่งทำร้าย จะหาทางกลั่นแกล้ง ตัวนี้เขาเรียกพยาบาท อารมณ์แรกมันโกรธ อารมณ์โกรธที่ขังอยู่หวังที่จะทำร้ายเขา อยากกลั่นแกล้งเขาให้ลำบาก อารมณ์นี้เขาเรียกพยาบาท อารมณ์อย่างนี้มันมีอยู่ไหมในจิตเราวันนี้

แล้วก็สาม ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ถ้าถามขณะนี้สร้างความดี คือจิตน้อมเป็นกุศล กำลังนึกถึงความเป็นกุศล มีความง่วงเข้ามาครอบงำ มีไหม ข้อสี่ อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน ภาวนาพุทโธ พุทโธ พุทโธ เอ๊ะ..ประเดี๋ยวหน้าเจ้าหนี้โผล่ เอ๊ะ..เจ้าหนี้นี่หว่า นี่มาแล้ว ไอ้นี่ก็ฟุ้ง แต่ว่าภาวนาหรือยังไงก็ตาม หรือว่าพิจารณาไป เห็นอะไรเข้ามาแทรก

เรื่องโน้นเรื่องนี้เข้ามาแทรก นี่เขาเรียกอุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านและรำคาญใจ และอีกประการหนึ่งก็มีความรำคาญในอารมณ์ รำคาญในเสียง ภาวนาไปพิจารณาไปแล้วรำคาญใจ ไอ้ตัวนี้ก็เป็นตัวตัดความดีเหมือนกัน แล้วก็ตัวที่ห้า วิจิกิจฉา สงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าที่เราปฏิบัตินี่มันถึงไหน มันแน่หรือไม่แน่ มันดีหรือไม่ดี มันถึงหรือไม่ถึง ทำได้หรือไม่ได้

บางทีทั้งที่ครูบาอาจารย์เขาสอนไปแล้วก็ยังนั่งสงสัยไปเอง ถ้าอย่างนี้ ถ้าห้าอย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้ามีในอารมณ์ของจิต จิตของเราจะเข้าถึงสมาธิไม่ได้ นี่เรื่องสมาธินะ ถ้าหากว่าทางด้านศีลนี่เขาไม่ถือตัวนี้ ทางด้านศีลไม่ถือตัวนี้เป็นสำคัญ ทางด้านสมาธิต้องถือ ๕ ตัวนี้เป็นสำคัญ ถ้า ๕ ตัวนี้ตัวใดตัวหนึ่งเข้ามาอยู่ในจิตในขณะที่จิตใช้กำลังสมาธิก็ดี วิปัสสนาญาณก็ดี

อารมณ์ความดีของสมาธิหรือวิปัสสนาญาณจะเข้าไม่ถึงจิตเลย เพราะตัวนี้มันขวาง ฉะนั้นนะ ขณะที่เราภาวนาพิจารณาต่างๆ นี่ยังต้องฝึกอารมณ์

นิวรณ์ทำให้ปัญญาถอยหลัง
นิวรณ์นี่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าแปลว่า เป็นคุณชาติกั้นความดี คือเป็นอารมณ์กั้นความดี แต่ว่าพระพุทธเจ้าแปลว่า เป็นกิเลสหยาบที่ทำให้ปัญญาถอยหลัง ซวยเลย หนักมาก ไอ้กั้นความดี ความดีอยู่ตรงนี้โยม กั้นไม่ให้เข้าประตู อยู่ที่ประตู พระพุทธเจ้าแปลว่า ทำปัญญาให้ถอยหลัง ไอ้ตัวนี้มันอยู่ไกลเลย ไม่ใช่อยู่ใกล้ประตู ใช่ไหม

นิวรณ์ ๕ ประการจึงเป็นกิเลสร้ายที่สุดเวลาเจริญกรรมฐาน เอาเฉพาะเวลาเจริญกรรมฐาน จะมีไม่ได้แม้แต่ข้อใดข้อหนึ่ง เฉพาะเวลานะ เลิกแล้วเป็นของธรรมดา แต่วิธีที่ดีที่จะละนิวรณ์คือ ไม่นึกถึงอารมณ์ของนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการ เวลาทำกรรมฐานอย่าไปนึกถึงมัน

ขณิก – อุปจารสมาธิ
อารมณ์ของขณิกสมาธิมันเป็นยังไง วิ่งเข้าวิ่งออก วิ่งออกวิ่งเข้า มันก็ตั้งบ้าง นิ่งบ้าง ตัวนี้ท่านบอกว่าอย่าประมาท เราไปเป็นเทวดาชั้นกามาวจรได้ ต้องภูมิใจว่าจิตมันทรงอยู่ในขณิกสมาธิ ถ้าเราภูมิใจ เราดีใจที่เราทำได้ เราก็ทำเรื่อยไป จิตจะได้ไม่ดิ้น ถ้าเราภูมิใจหรือพอใจขณิกสมาธิก็ได้ แค่นี้ก็พอ เราเป็นเทวดาก็ได้ เราก็ภาวนาเรื่อยไป ถ้าจิตมันไม่ดิ้นก็เข้าถึงอุปจารสมาธิ

ถ้าถึงขณิกสมาธิแล้วดิ้น เมื่อไรจะถึงอุปจารสมาธิ ก็เลยไม่ต้องถึงละ ไม่ถึงจริงๆ ตัวดิ้นนะ จะไม่ถึง ถ้าเป็นกิเลสก็ถือเป็นอุทธัจจกุกกุจจะ เป็นนิวรณ์นะ ไม่มีทางได้ ถ้าเราพอใจ อารมณ์ที่เข้าอยู่ในเวลานั้นเราพอ พอใจจิตก็สบาย พอจิตสบายก็เข้าอุปจารสมาธิเลย มันข้าวของมันเอง ไม่ต้องไปเข็นมันนะ จิตก็เหมือนกับแมว แมวนี่เข็นมันเดินหน้ามันก็จะถอยหลัง พอเข้าถึงอุปจารสมาธิ เราก็พอใจ มันเป็นปีติใช่ไหม เอามันได้แค่นี้ก็แค่นี้ ก็แสดงว่าใจเราสบาย

ภาวนาต้องการจิตสงบ
สำหรับการเจริญพระกรรมฐานที่แบ่งออกเป็น ๒ นัย สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา สมถภาวนาแปลว่าอุบายเป็นเครื่องสงบ หมายความว่าทำจิตใจให้สงบตั้งอยู่ในอารมณ์เป็นอันเดียว ความประสงค์ในสมถภาวนาก็มีอยู่ว่าต้องการจิตสงบเท่านั้น ไม่ใช่หวังในการเห็นภาพหรือแสงสีใดๆ ทั้งหมด

ฉะนั้นในเวลาที่เจริญสมถภาวนา ถ้าบังเอิญอารมณ์จิตของบรรดาท่านพุทธบริษัทเข้าถึงอุปจารสมาธิแล้วก็บางทีภาพจะปรากฏ ก็ขอจงอย่าได้กำหนดจิตถือเอาภาพนั้นเป็นสำคัญ ให้ถือว่าเมื่อมาแล้วก็ดับไป เมื่อไปแล้วก็มา ก็ช่าง เราไม่สนใจภาพ

วิปัสสนาต้องมีสมถะคุม
ขึ้นชื่อว่าจะภาวนาก็ดี การพิจารณาในกรรมฐานกองใดกองหนึ่งก็ตาม มีอยู่ ๔๐ อย่างด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสมถภาวนา เขาต้องการอารมณ์เป็นสมาธิ แล้วก็มีถึง ๔๐ แบบ อันนี้พระพุทธเจ้าก็ต้องการให้ตรงกับอัธยาศัยของบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย

การเจริญพระกรรมฐานในด้านสมถภาวนา ความจริงสมถภาวนานี่มีความสำคัญมาก ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายไม่สามารถจะทรงสมถภาวนาได้ ถ้าไปเจริญวิปัสสนาภาวนาจะไม่มีผลอะไรเลย เพราะว่ากำลังไม่พอ เหมือนกับเรา อยู่ๆ ก็ไม่ได้เรียนความรู้ตอนต้นไว้เลย

แม้แต่หนังสือตัวเดียวก็อ่านไม่ออก อยู่ๆ ก็ตั้งใจว่าเราจะทำปริญญาให้ได้ ก็เข้าไปเรียนเพื่อหวังปริญญากับเขาในมหาวิทยาลัย แล้วก็จะได้อะไรออกมา นอกจากเดินเข้าไปแล้วก็เดินออกมา ทั้งนี้เพราะพื้นฐานใดๆ ไม่มีอยู่เลย แม้แต่หนังสือต่ำๆ หนังสือสักตัวเดียวก็อ่านไม่ออก

จะเข้าไปทำปริญญากับเขาได้อย่างไร ข้อนี้อุปมาฉันใด วิปัสสนาภาวนาก็เหมือนกัน วิปัสสนาภาวนาถ้าไม่มีสมถะเข้าควบคุมจะไม่มีผล ถ้ากำลังของสมถะมากเพียงใด การเจริญวิปัสสนาภาวนาก็รวดเร็วเข้าฉันนั้น

ก่อนวิปัสสนา
ทุกครั้งที่จะเจริญวิปัสสนา ท่านให้เข้าฌานตามกำลังสมาธิที่ได้เสียก่อน เข้าฌานให้ถึงที่สุดของสมาธิ ถ้าเป็นฌานที่ ๔ ได้ยิ่งดี ถ้าได้สมาธิไม่ถึงฌาน ๔ ก็ให้เข้าฌานจนเต็มกำลังสมาธิที่ได้ เมื่ออยู่ในฌานจนจิตสงัดดีแล้วค่อยๆ คลายสมาธิมาหยุดอยู่ที่อุปจารฌาน แล้วพิจารณาวิปัสสนาญาณทีละขั้นอย่าละโมบโลภมาก ทำทีละขั้นๆ นั้นจะเกิดเป็นอารมณ์ประจำใจไม่หวั่นไหว เป็นเอกัคคตารมณ์

เป็นอารมณ์ที่ไม่กำเริบแล้วจึงค่อยเลื่อนไปฌานต่อไปตามลำดับ ทุกฌานปฏิบัติอย่างเดียวกัน ทำอย่างนี้จะได้รับผลแน่นอน ผลที่ได้ต้องมีการทดสอบจากอารมณ์จริงเสมอ อย่านึกคิดเอาเองว่าได้ เมื่อยังไม่ผ่านการกระทบจริง ต้องผ่านการกระทบจริงก่อน ไม่กำเริบแล้วเป็นอันใช้ได้

ถ้าทรงฌาน ๔ ได้..
การเจริญกรรมฐานเบื้องต้นก็จำเป็นต้องใช้สมถภาวนา คือควบคุมอารมณ์จิตให้ทรงอยู่ ถ้าสมถภาวนาของเราไม่ทรงตัว เราจะเห็นว่าวิปัสสนาภาวนาก็ไม่มีผล ถ้าหากว่าจิตของเราทรงสมถะ ทรงสมาธิได้มั่นคง ได้ถึงฌาน ๔ การเจริญวิปัสสนาภาวนาก็แสนง่าย การที่จะบรรลุมรรคผลก็กำหนดเวลาได้ ตามที่

พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ถ้ามีบารมีแก่กล้าก็จะได้สำเร็จอรหัตผลภายใน ๗ วัน
ถ้ามีบารมีอย่างกลางก็จะได้สำเร็จอรหัตผลภายใน ๗ เดือน
ถ้ามีบารมีอย่างทรามที่สุดก็จะได้บรรลุอรหัตผลภายใน ๗ ปี

คำว่าบารมีในที่นี้ก็ได้แก่กำลังใจ ถ้าเรามีกำลังใจครบถ้วนก็ได้ชื่อว่ามีบารมีเต็ม เดิมทีก่อนจะเกิดมาถ้าจะมีบารมีอ่อนอาจจะเป็นไปได้ แต่ว่าบารมีนี่เราสร้างใหม่กันได้ ถ้าเกิดมาแล้วพบพระพุทธศาสนายังบอกว่าอ่อนอีกก็แสดงว่าขี้เกียจมากเกินไป ไม่รู้จักควบคุมกำลังใจ

ปล่อยไปตามสภาวะของกิเลส มันจะมีผลอะไร แล้วมานั่งบ่นมันก็ไม่เกิดประโยชน์ ชาวบ้านเขาทำได้ จะมานั่งบ่นว่าทำไม่ได้ ก็เพราะว่าเรามันดีไม่พอ ต้องใช้กำลังใจเป็นสำคัญ การจดจำถ้อยคำ คำแนะนำสั่งสอน การมีวิริยะอุตสาหะ มีสติมีปัญญาควบคุม อันนี้เป็นของสำคัญ

ต้องตัดกิเลส
การเจริญสมถภาวนาในตอนต้นหรือตอนปลายมีสภาวะเหมือนกัน นั่นก็คือ อันดับแรก จงอย่าสนใจกับอารมณ์ภายนอกทั้งหมด เรื่องราวของชาวบ้านต่างๆ ยกประโยชน์ไป เราไม่สนใจ เรื่องราวของเราก็เหมือนกัน ตัดความกังวลเสียให้หมด ที่เรียกว่า ปลิโพธ พระพุทธเจ้าบอกว่าอันดับแรกจงตัดความกังวลทิ้งเสียให้หมด

ดำริไว้อย่างเดียวคือกำหนดจิตจับเฉพาะอารมณ์สมถภาวนาที่เราต้องการ อารมณ์อย่างอื่นเราไม่ต้องการทั้งหมด นี่ต้องทำอย่างนี้มันถึงจะมีผล ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ สักแต่ภาวนา สักแต่ว่าพิจารณา อย่างนี้ทำเท่าไรมันก็ไม่มีผล จงจำให้ดี อันดับแรกจงตัดความกังวลเสียให้หมด ทั้งกังวลภายในหรือกังวลเรื่องของคนอื่น มีบุตรภรรยาสามีญาติพี่น้องมิตรสหาย ยกยอดทิ้งประโยชน์ไป ไม่สนใจใครจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน

ตัวใครตัวมัน ตายแล้วไม่ใช่ชวนกันไปตกนรกขึ้นสวรรค์ได้ นี่พูดถึงว่าอารมณ์ที่เราใช้ในการทรงสมาธิจิต และอารมณ์กังวลของเราก็เหมือนกัน มันจะเป็นจะตายก็ช่างมัน เราต้องการอย่างเดียว คือความบริสุทธิ์และความตั้งมั่นของจิต ไม่ใช่มีสัญลักษณ์อะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมาทางกายก็ระแวงโน่นระแวะนี่ กลัวจะเป็นอย่างนั้น กลัวจะเป็นอย่างนี้ อารมณ์จิตเป็นอย่างนี้จะเจริญกรรมฐานสักกี่โกฏิชาติมันก็ไม่มีผล

ศีลต้องบริสุทธิ์
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้รักษาศีลให้บริสุทธิ์ ศีลห้าก็ดี ศีลแปดก็ดี ที่เราสมาทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอันดับต้น ศีลห้าเป็นของสำคัญที่สุด จะใช้คำว่าไม่สามารถไม่ได้ เราต้องเป็นผู้สามารถเสมอในการทรงศีล จะมาเอาสาเหตุใดมาอ้างว่ามันจำเป็นอย่างนั้นจำเป็นอย่างนี้ อันนี้ไม่ใช่

เพราะทางการเจริญพระกรรมฐานมองไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องละเมิดศีล พระพุทธเจ้าให้ทรงศีลบริสุทธิ์ คือ
๑.เราจะไม่ละเมิดศีลด้วยตนเองหรือว่าทำลายศีลด้วยตัวเอง
๒.เราจะไม่ยุให้ชาวบ้านทำลายศีล
๓.เราจะไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว

นี่เป็นหลักใหญ่ต้องทำให้ได้ ไม่ใช่ฟังแล้วก็ลืม ต้องทำให้ได้ด้วย จำให้ได้ด้วย และทำให้ได้ด้วยจึงจะมีผล เพียงแค่นี้ยังมีผลแค่สะเก็ดเท่านั้น เมื่อทรงศีลให้บริสุทธิ์แล้วพร้อมกันนั้นจิตก็ต้องระงับนิวรณ์ห้าประการ


พระโสดาบัน สกิทาคามี ต้องปฐมฌาน
เมื่อจิตเราเริ่มเป็นสมาธิพอสมควรถือว่าเรามีโอกาสที่จะเป็นพระโสดาบันได้แล้ว ไม่ยากใช่ไหม เพราะว่ากำลังของพระโสดาบันก็ดี พระสกิทาคามีก็ดี มีกำลังสมาธิไม่สูง ใช้สมาธิแค่ปฐมฌานก็พอ คำว่า ปฐมฌาน แปลว่า ฌานเบื้องต้น หรือว่าฌานที่ ๑ นั่นก็หมายความว่าขณะที่เราฝึกสมาธิที่เราทำอยู่ มีเสียงคนพูด เสียงคนร้องเพลงเกิดขึ้นที่ไหนก็ตาม เราไม่รำคาญนั้น เวลานั้นชื่อว่าจิตเป็นสมาธิในปฐมฌาน

กัลยาณชน
ตอนนี้สมมติว่าคนที่เขาไม่เคยเจริญพระกรรมฐาน แต่ชอบสวดมนต์เป็นปกติ มีศีลห้าบริสุทธิ์ จะถามว่าคนประเภทนี้เป็นพระโสดาบันได้ไหม ก็ต้องตอบว่าได้ คนที่เขานั่งสวดมนต์เป็นปกติ เขาสวดด้วยความเคารพพระพุทธเจ้า เคารพพระธรรม เคารพพระอริยสงฆ์ เพราะบทสวดมนต์ทุกบทมีค่าเท่ากัน คือสรรเสริญความดีของพระพุทธเจ้า สรรเสริญความดีของพระธรรม สรรเสริญความดีของพระอริยสงฆ์

แล้วเขาก็มีศีลบริสุทธิ์ แต่ตอนนี้ต้องระวังนิดหนึ่ง ถ้าเรามีจิตเบา เพียงเท่านี้อาจจะยังไม่ได้พระโสดาบัน อาจจะเรียกว่ากัลยาณชน ทีนี้ถ้าถ้าบุคคลผู้นั้นเขามีกำลังใจเพิ่มไปอีกนิดหนึ่งว่า ที่เรายอมเคารพในพระพุทธเจ้า ยอมเคารพในพระธรรม ยอมเคารพในพระอริยสงฆ์ มีศีลห้าบริสุทธิ์อย่างนี้ เรามีความประสงค์อย่างเดียวคือ พระนิพพาน ถ้าอารมณ์ใจเขาหยั่งถึงพระนิพพานอย่างนี้เป็นพระโสดาบันแน่ นี่อารมณ์ของพระโสดาบันมีเท่านี้ พระสกิทาคามีก็เหมือนกัน

อธิศีลสิกขา
อย่าลืมอีกนิดหนึ่งว่าทำไมพระโสดาบันยังรักเขาอยู่ล่ะ ยังอยากแต่งงาน ยังอยากรวย ยังมีความโกรธ ยังมีความหลง นี่ก็ต้องย้ำลงไปอีกนิดว่า ดูองค์ของพระโสดาบันว่ามีอะไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่าอธิศีลสิกขา คือมีศีลยิ่งเท่านั้นเอง พระโสดากับสกิทาคามีความสำคัญอยู่ที่ศีล เขาอยากรวยเขาก็ไม่โกงใคร

เขารักเขาก็อยู่ในขอบเขตของศีล เขาโกรธเขาไม่ฆ่าใคร เขาหลงรัก หลงสวย หลงงาม เขาก็ไม่ลืมความตาย นี่จำไว้ว่านี่เป็นองค์ของพระโสดาบัน แล้วการปฏิบัติเข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์เบื้องต้น องค์สมเด็จพระทศพลกล่าวว่าเต็มไปด้วยอธิศีลสิกขา

มานะเป็นอารมณ์เลวที่สุด
เต๊ะท่าว่าเราดีกว่าเขา เราเสมอเขา เราเลวกว่าเขา ๓ อย่างนี้พระพุทธเจ้าบอกเป็นมานะ เป็นอารมณ์ที่เลวที่สุดนะ ถามว่าอะไรคือดี คำว่าดีแล้วก็เหมือนกัน ก็ตายใช่ไหม อ้วนแบบนี้ก็ตาย ผอมแบบนี้ก็ตาย เป็นผู้ชายก็ตาย เป็นผู้หญิงก็ตาย แถมเป็นพระก็ตาย (หัวเราะ) ใช่ไหม

มันก็แค่ตาย เอาดีเอาเลวอะไรกัน มันจะดีหรือจะเลวเป็นเรื่องของเขา เขาจะดีแค่ไหน เขาจะเลวแค่ไหน เป็นเรื่องของเขา เราจะดีแค่ไหนจะเลวแค่ไหนก็เป็นเรื่องของเรา แล้วไอ้คำว่าดีหรือไอ้คำว่าเลวนี่อย่าไปสนใจเขา ให้สนใจตัวอง

โจทก์ตนเองเสมอ
ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อัตตนา โจทยัตตานัง จงกล่าวโทษโจทความผิดของตัวไว้เสมอ นี่ถ้อยคำนี้ต้องจำแล้วก็ทำกันไปจนวันตาย ไอ้การกล่าวโทษโจทความผิดนี่ ที่พูดเมื่อกี้นี้ ถ้าทำตอนไหนไม่ได้ก็ทำก่อนหลับกับตื่นใหม่ๆ ก่อนที่เราจะหลับก็นั่งนึกว่าไอ้ศีล ๕ นี่ตั้งแต่เช้ามาถึงเวลานี้เราบกพร่องข้อไหนบ้าง

ภาวนาอย่าหาที่สงัด
ถ้าไปจับเอาเวลาจะตายนี่ ไม่ต้องอุบัติเหตุนะ คนธรรมดามันก็จับไม่ได้ เพราะว่าทุกขเวทนามันมาก ที่เขาฝึกทำสมาธิฝึกทำวิปัสสนาญาณกันนี่ ไอ้ตัวนี้มันจะเป็นกุศลจริง หมายความว่าไอ้การฝึกสมาธิวิปัสสนาญาณนี่ก็ไม่ใช่ว่าจะไปเอาดีเฉพาะที่ตอนนั่งสงัด ถ้าเอาดีแต่ตอนนั่งสงัดก็ไม่มีทางได้ดีหรอก มันต้องดีกันตลอดวันนะโยม

ถ้าเราดีตลอดไม่ได้ ก็ต้องดีตอนเช้ามืด แล้วก็ดีก่อนหลับ สองจุดนี่เป็นเรื่องสำคัญ ดีตอนเช้ามืดนี่ เช้ามืดเมื่อตื่นขึ้นมาแล้วก็ตัดสินใจตั้งใจไว้ก่อนว่า วันนี้ทั้งวันเราจะไม่ยอมให้ศีล ๕ ขาด แล้วด้านใจก็ระมัดระวังศีล ๕ ไว้ มันอาจจะขาดพลาดพลั้งบกพร่องบ้างเมื่อตอนพลั้งเผลอ นี่คือเรื่องธรรมดา แต่เราต้องตั้งอารมณ์ไว้ก่อ ถ้าเราเมื่อเวลาออกจากบ้านนี่คุณพบอุบัติเหตุ

ออกจากบ้านนี่เราออกแล้วอารมณ์ดีหรืออารมณ์ชั่ว ถ้าทะเลาะกันแล้วออกจากบ้านรถชน มันลงนรกแหงๆ เพราะอารมณ์มันกลุ้ม พระพุทธเจ้าท่านว่า จิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคคติ ปาฏิกังขา ถ้าก่อนจะตายอารมณ์ใจมันเศร้าหมอง ลงอบายภูมิไปสู่ทุคติ จิตเต อสังกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกังขา ก่อนจะตายถ้าอารมณ์ใจผ่องใสบริสุทธิ์ปกติ อย่างน้อยต้องไปเกิดในสวรรค์

ทีนี้ก่อนเขาจะออกจากบ้านเขาต้องทำใจให้สบาย ถ้าคนที่มีอารมณ์เป็นกุศลจริงก็ไปไหว้พระพุทธรูปก่อน แล้วเวลาที่จะไหว้พระไม่ทันจิตก็นึกถึงพระ ถ้าไปกราบบูชาไม่ทัน เวลามันมีจำกัดต้องรีบไป

เถรส่องบาตร
ทีนี้มาพูดกันถึงเรื่องการไหว้ศพ หลวงพ่อปานท่านทำอย่างนั้นเป็นประเพณี ความจริงท่านทำเป็นสัจธรรม ไอ้อย่างฉันมันไม่รู้นี่ ฉันก็เลยว่าเป็นประเพณี ทีนี้ท่านให้ไหว้ทีไร พวกเราก็ต้องตามไปไหว้ ไหว้มาหลายศพ ๑๐ กว่าศพแล้ว ฉันนึกอยู่เสมอว่า ไอ้ศพนี่มันเป็นศพฆราวาส ผู้หญิงบ้างผู้ชายบ้าง ถ้าเป็นคนแก่กว่าท่านก็น่าไหว้ ไอ้นี่คนเหล่านั้น.. บางทีก็ไอ้พวกเด็กๆ ท่านก็ไหว้

มาอีคราวหนึ่งฉันจำได้ว่ายายฟูแกตาย ชื่อยายฟู คนเหนือวัด นี่เขาก็เอามาตั้งที่วัด พอมาตั้งแล้วหลวงพ่อปานท่านก็ถือดอกไม้ธูปเทียน ท่านไม่บอกใครหรอก ต้องคอยดูกัน คอยจับตาดู ถ้าศพมาแล้วเตรียมพร้อม พระเก่าๆ น่ะเขาเห็นแห่ศพมาเขาจัดแจงครองจีวรพาดสังฆาฏิกันแล้ว เขารู้ว่าเดี๋ยวหลวงพ่อจะไป แล้วเขาก็นั่งจ้อง นั่งมองตามหน้ากุฏิ

พอหลวงพ่อเดินลงมาจากกุฏิท่าน เขาก็พร้อมเลยทีเดียว คอยท่าน เดินตามหลังไปเป็นระเบียบเงียบสงัด สำรวจทุกอิริยาบถน่าเลื่อมใส เมื่อเวลาไปกราบศพยายฟูเสร็จ ไอ้ฉันมันเป็นคนขี้สงสัย แล้วเป็นคนที่ออกจะพูดมากสักนิดหนึ่ง ชาวบ้านน่ะถ้าใครเขาไม่พูดฉันก็พูด แต่ทว่าจะมีใครเขาสงสัยเหมือนฉันหรือเปล่าก็ไม่รู้

พอกราบเสร็จประเดี๋ยวท่านก็นั่งนิ่ง ประเดี๋ยวฉันก็นิ่งบ้าง นิ่งยังไงก็ไม่รู้ หลับตาปี๋ หลับมันส่ง หลับแล้วก็นึกสงสัยว่าหลวงพ่อมาไหว้ยายฟูทำไม ยายฟูคนนี้อายุแกประมาณ ๓๐ หลวงพ่อปาเข้าไปตั้ง ๖๐ กว่าแล้ว สมัยยายฟูแกอยู่หลวงพ่อท่านเรียก อีฟูๆ แต่เอ๊ะเวลาตายมาไหว้ยายฟู

พอท่านลืมตามาท่านก็กราบ ฉันก็กราบบ้าง พระท่านก็กราบ คอยดูหลวงพ่อ ดูจังหวะ ไอ้ทำแบบนี้สมัยโบราณเขาเรียกว่าทำแบบเถรส่องบาตร อย่างพวกฉันนะ ไม่ใช่หลวงพ่อ ไอ้ฉันน่ะทำแบบเถรส่องบาตรนิทานเรื่องเถรส่องบาตรมันมี นิทานในพระพุทธศาสนา จะเล่าให้ฟังสักนิดหนึ่ง

เรื่องเถรส่องบาตรนี่ท่านเป็นเถรผู้ใหญ่ พอดีบาตรท่านแตกอยู่นิดหนึ่ง ตามธรรมดาในวินัย ถ้าแตกพอนิ้วรอดได้ต้องเปลี่ยนบาตรใหม่ บาตรอันนั้นจะใช้ทรงไม่ได้ พระพุทธเจ้าปรับเป็นอาบัติ เพราะข้าวรั่ว ทีนี้เถรผู้ใหญ่ คือเถระผู้ใหญ่บาตรท่านแตก เวลาท่านเช็ดบาตรเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ส่องดูๆ ว่ารอยร้าวมันจะแตกมากหรือไม่มาก

ถ้ามันยังไม่มากก็ใช้ต่อไป ทีนี้ลูกน้องท่านซิ ไม่รู้ว่าท่านส่องทำไม เห็นท่านส่องก็ส่องบ้าง ส่องส่งเดช ไอ้บาตรของตัวน่ะไม่แตก เห็นอาจารย์ส่องก็ส่อง แล้วไม่ถามด้วยว่าท่านส่องทำไม ส่องตามท่าน เขาเรียกว่าส่องแบบโง่ๆ ข้อนี้ฉันใด ฉันในเวลานั้นก็เหมือนกัน ไม่ใช่เถรส่องบาตร เขาเรียกกราบตามเถร แต่ไม่รู้ว่าท่านกราบเพื่ออะไร ฉันสงสัย

พอท่านกราบครั้งสองเสร็จ พอท่านจะลุกกลับฉันก็หันไปถาม ยกมือพนมบอกว่า
“...หลวงพ่อขอรับ ยายฟูแกเป็นเด็กกว่าหลวงพ่อ เวลาแกอยู่หลวงพ่อก็เรียกอีฟู แล้วเวลาแกตายแล้วหลวงพ่อก็มากราบ แล้วศพนี่ก็เป็นศพผู้หญิงนะครับ หลวงพ่อมากราบทำไม...”
ท่านหันมายิ้ม ท่านบอก “...เจ้าลิงดำนี่ยังไม่หมดโง่อีกหรือนี่...”
“...ขอรับ ผมไม่หมดโง่ โง่แน่ขอรับ นี่ผมโง่มา ๑๐ กว่าศพแล้ว...”

ท่านก็หัวเราะชอบใจ บอก “...เออ ไอ้ลิงดำมันโง่มันก็ยังดี มันยังถาม ไอ้คนโง่ไม่รู้แล้วถามมันก็เกิดความฉลาดได้ แต่ไอ้คนโง่แล้วไม่ถามนี่ มันโง่ดักดาน...” โง่แบบเถรส่องบาตรตามที่เล่ามา ท่านก็เลยบอกว่า “...นี่ฉันไม่ได้กราบอีฟูนะ...
“...อ้าวแล้วกัน หลวงพ่อไม่ได้กราบยายฟู แล้วหลวงพ่อกราบใครล่ะครับ แล้วศพนี่ก็ศพยายฟู...”

“...บอกนั่นแหละศพมันก็ศพอีฟู แต่ข้าไม่ได้กราบอีฟู ข้ากราบสัจธรรมของพระพุทธเจ้า...”
“...คำว่าสัจธรรมหมายความว่าอะไรขอรับ หมายความว่ายังไง...”

ท่านก็บอกว่า “...สัจจะ แปลว่า ความจริง ธรรมะวาจาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ การกล่าววาจาของพระพุทธเจ้าตรงตามความเป็นจริงทุกอย่าง ไม่มีอะไรผิดเพี้ยน ฉะนั้นที่ฉันมากราบนี่ฉันกราบธรรมะคือสัจจะความจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสว่ามันเป็นความจริงทุกครั้งถ้าพบศพ...”

เอ๊ะงงอีตอนนี้ชักสงสัยก็เลยบอกว่า “..ขอหลวงพ่อโปรดอธิบายขอรับ..” พระเก่าๆ ท่านมองแล้วท่านก็ยิ้ม แต่พระใหม่ๆ น่ะไม่ยิ้มหรอก น่ากลัวจะเหมือนฉันน่ะหลายองค์ กราบส่งเดช
ท่านก็เลยบอกว่า ที่ว่ากราบสัจธรรมน่ะมันเป็นยังงี้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า สัตว์ก็ดี คนก็ดี หรือสิ่งที่ไม่มีชีวิตก็ดี มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วมีความเปลี่ยนแปลงไปในระหว่างกลาง ที่สุดมันก็แตกทำลายหมด

ถ้าเป็นสัตว์เป็นบุคคลก็ตายในที่สุด ถ้าเป็นวัตถุธาตุก็แตกทำลายในที่สุด ไอ้บ้านเรือนโรงภูเขาลำเนาป่า อะไรมันก็เหมือนกัน ภูเขามันเป็นหินแข็งแต่ว่านานๆ เข้าก็เป็นหินผุกลายเป็นดินไป ทีนี้ไอ้คนหรือสัตว์ก็เหมือนกัน มันเกิดขึ้นมาในตอนต้น มันตัวเล็กๆ แล้วมันก็เปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนสภาพเข้ามาทุกทีๆ ถึงความเป็นคน เป็นบุคคลใหญ่ เป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วก็แก่ นี่เป็นอาการเปลี่ยนแปลง จัดเป็นอนิจจัง

พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนั้น นี่คนเราทุกคนมันก็มีสภาพอย่างนั้น เหมือนเธอเมื่อก่อนก็เป็นเด็ก แล้วก็มาเป็นหนุ่ม นี่มันเป็นตัวอนิจจัง แล้วในที่สุดอีฟูนี่ มันเด็กกว่าฉันมันก็ตาย พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นอนัตตา คือไม่มีใครจะห้ามความตาย ไม่มีใครจะห้ามความเสื่อมสูญความสลายตัวได้ อีฟูก็เป็นอย่างนี้ ตัวพวกเราเองก็จะเป็นอย่างนี้ นี่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ไม่ผิด นี่ฉันกราบสัจธรรมแบบนี้ แล้วเธอกราบแบบไหน

“...ผมก็กราบยายฟูเข้าให้...”
ท่านก็หันไปหัวเราะกักๆๆ บอก “...เออนี่..น่ากลัวจะล่อเข้าหลายศพแล้วซี...”
“...ขอรับ หลายศพแล้ว ทุกศพละขอรับ จนกระทั่งยายฟูนี่เป็นศพสุดท้าย ผมกราบศพเข้าให้แล้วขอรับ...”

กราบด้วยจิตเคารพ
การที่เราเข้าไปไหว้ไปกราบน่ะ ไปไหว้ไปกราบเสียแต่เป็นพิธีก็ไม่ได้ประโยชน์เลยเหมือนกันใช่ไหม อารมณ์มันต้องอยู่ที่ใจเรา จิตเราเคารพพระพุทธเจ้าไหม เคารพในพระธรรมไหม เคารพในพระอริยสงฆ์ไหม ถ้าจิตเราเคารพจริงๆ ก็ตอนที่เราเจริญสมาธิอยู่นี่ เจริญภาวนาคำว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ หรืออะไรก็ตาม เมื่อจิตเราเข้าเจริญธรรมอยู่ แสดงว่าเราเคารพพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระอริยสงฆ์

ถ้าคุณเดินไปพอนึกเท่านี้ เดินไปเราก็คุยกับเพื่อน ไม่ได้นึกถึงตัวนี้อีก แต่ว่าจิตดวงเดิมมีความผ่องใสน้อมไปในกุศล ขณะที่คุยกันก็ไม่ได้คุยกันว่าจะไปปล้นใคร จะไปฆ่าใครนะ คุยเรื่องการงานเรื่องการทำมาหากิน หรือคุยสนุกสนานตามเรื่องตามราว มันไม่ได้เบียดเบียนใคร ก็แสดงว่าในเวลานั้นจิตยังอยู่ในกุศล หากอยู่ๆ ถูกรถชนตูมตายทันที ไปสวรรค์

ภาวนาแล้วอยากเห็น
“...หลวงพ่อคะ อย่างเราเป็นนักปฏิบัติใหม่นี่นะคะ แล้วเราก็ไม่ทราบว่าเมื่อไรจะเห็นอะไรกับเขาบ้างน่ะค่ะ แล้วเมื่อกี้หลวงพ่อบอกว่าเราควรจะพอใจอารมณ์ที่เรามีอยู่ใช่ไหมคะ...” “...ใช่ ถูกแล้ว ไม่ควรจะตั้งใจว่าอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อนั้นเมื่อนี้ นั่นแหละคล้อยหลังลงคลองลงนรกไปเลย ถ้าอยากเห็นนะก็ลืมตา (หัวเราะ) ใช่ไหม ถ้าไฟสว่างไม่เห็นนี่ก็ซวยเต็มทีแล้ว

ไอ้ตั้งมั่นนี่ ตั้งมั่นแต่ไม่ใช่ตั้งหยาบ คำว่ามั่นนี่เขาสอนให้ภาวนายังไง ให้จิตอยู่ในคำขององค์ภาวนา เขาสอนให้พิจารณาอย่างไรจิตจะต้องอยู่ในเฉพาะพิจารณา ในระหว่างภาวนาระหว่างพิจารณานี่อย่าไปอยากมันเข้า ไอ้ตัวอยากนี่มันคือตัวตัณหา เราทำเพื่อหนีตัณหา

พอเริ่มภาวนาก็อยากจะเห็น อยากจะไป ตัวนี้คือตัวตัด ไอ้ตัวอยากที่เราจะไปนี่มันอยากได้ แต่ว่าต้องอยากก่อนที่จะภาวนาและพิจารณา ถ้าเริ่มภาวนาก็ดี เริ่มพิจารณาก็ดี ต้องตัดตัวนี่ทิ้งไปเหลือแต่คำภาวนาอย่างเดียว ใช่ไหม ถูกไหม ถูกหรือไม่ถูก จำไว้นะว่าเราอยากไปสวรรค์ อยากไปพรหม อยากไปนิพพานน่ะ ไอ้นี่ปกติเราอยากอยู่แล้วน่ะดี แต่ว่าเวลาที่เริ่มภาวนานี่ต้องตัดอารมณ์นี้ออกให้อยู่แค่ภาวนาอย่างเดียว...”

ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 19/5/12 at 14:38


ให้พอใจในอารมณ์ปัจจุบัน
ถ้าเราทำเวลาเช้ามืดให้มันเข้าถึงหรือเวลาหัวค่ำเราทำได้ เราทำได้แล้วก็ภาวนาให้มันหลับไป เพราะขณะที่หลับจิตมันเป็นฌาน ตอนเช้ามืดเราก็จับต่อ ได้แค่ไหนพอใจแค่นั้น อย่าลืมนะ ถ้าหัวค่ำได้แค่นี้แล้วเช้ามืดจะเอาแค่นี้ ไอ้อย่างนี้ไม่ได้นะ มันเป็นกามสุขัลลิกานุโยค ใช่ไหม

อารมณ์มันจะทรงอยู่แค่ไหนก็ตาม เราพอใจแค่นั้น ไอ้ตัวนี้เป็นตัวที่มีความสำคัญที่สุด เราอย่านึกว่ามันช้านะ นี่เร็วมาก นี่แหละจะเร็วก็เพราะตัวนี้ จะดีหรือไม่ดีมันอยู่ที่อารมณ์ตัวนี้ อารมณ์ที่พอใจอารมณ์ในปัจจุบัน สมาธิจะทรงได้แค่ไหนเราพอใจ

เมื่อวานเราทรงฌาน ๔ เราก็พอใจฌาน ๔ ถ้าเป็นฌานโลกีย์เราก็เป็นพรหมชั้นที่ ๑๑ ได้ เป็นฌานละเอียด ถ้าวันนี้เราทรงได้ขณิกสมาธิเราก็พอใจ ไอ้คุณธรรมหรือคุณสมบัติของฌาน ๔ มันไม่ได้สลายตัว มันมีการทรงตัวเป็นปกติ แต่วันนี้มันได้ขณิกสมาธิขึ้นมามันเป็นการแถมใช่ไหม แทนที่จะไปลบล้าง มันแถมตัวเดิมให้มันมากขึ้น

เหมือนเมื่อวานเราได้บาท วันนี้ได้ ๑๐ สตางค์ ก็รวมกันเป็นบาทสิบสตางค์ นี่เป็นอันว่าการที่จะทรงอารมณ์ให้มันดี จะเป็นการตัดกิเลสก็ดี หรือว่าจะเป็นการทรงอารมณ์สมาธิก็ดี จะเป็นอะไรก็ตามมันก็อยู่กันในชั้นที่เรียกว่า ถ้าจะให้มันดี ให้มันเร็ว นี่ไม่ใช่ไปเร่งรัด

ต้องทำความพอใจในอารมณ์จิตที่มันทรงอยู่ในเวลานั้น เวลานั้นจิตทรงอยู่ในสมาธิอะไร แล้วจิตมันสามารถจะจับวิปัสสนาญาณตัวใดได้เราก็พอใจตัวนั้น และหักห้ามอารมณ์ที่อยากจะก้าวเกินไปเสีย หักห้ามอารมณ์ที่จะทรมานกายมาก ต้องนั่งให้ได้ ต้องทำให้ถึง อันนี้อย่าให้มันมี

ภาวนาไม่อยู่.. ให้หันมาพิจารณา
ในกาลบางคราวการภาวนาอยู่อย่างนี้ จิตเกิดมีอารมณ์ฟุ้งซ่านเกินที่จะภาวนาได้ ทั้งนี้จะเป็นเพราะเหตุใดก็ตาม เมื่ออารมณ์จิตเกิดฟุ้งซ่านห้ามปรามไม่ไหว นักปฏิบัติมักจะเกิดความกลัดกลุ้มใจ เพราะบังคับใจไม่อยู่

เมื่อเห็นว่าจิตจะบังคับให้อยู่ในวงแคบคือคิดเฉพาะคำภาวนาไม่อยู่แล้ว ท่านให้หาทางพิจารณาแทน เพราะการพิจารณาก็เป็นอารมณ์คิดเหมือนกัน แต่ว่าคิดในทางละทางปลง จะพิจารณาตามกรรมฐานกองใดก็ได้

เช่นพิจารณาว่าเราต้องตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ต้องป่วยไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความป่วยไข้ไปได้ ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นธรรมดา ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงกฎธรรมดานี้ไปได้

หรือจะพิจารณาตามอสุภกรรมฐาน ให้เห็นว่าอะไรๆ ก็ไม่มีความสวยสดงดงามคงสภาพ ตามที่กล่าวไว้ในอสุภ ๑๐ ประการ หรือจะพิจารณากาย ตามในกายคตานุสสติก็ได้ กรรมฐานที่ท่านสอนให้พิจารณามีมากมาย เราเลือกเอากรรมฐานประเภทพิจารณามาพิจารณาแก้อารมณ์ซ่าน

กรรมฐานที่เป็นบทภาวนามีกำลังเป็นสมาธิ ส่วนใหญ่เป็นฌาน กรรมฐานประเภทพิจารณามีกำลังในชั้นอุปจารฌาน ได้ผลเหมือนกัน กรรมฐานภาวนาสร้างจิตให้มีกำลังเข้มแข็ง กรรมฐานพิจารณาทำจิตให้เกิดความฉลาดรู้ตามความเป็นจริง เป็นผลให้เกิดนิพพิทาญาณ เป็นเหตุให้ได้มรรคผลรวดเร็ว ต่างฝ่ายก็ดีด้วยกัน เราไม่ได้อย่างโน้นก็ได้อย่างนี้ ดีกว่าปล่อยให้จิตใจกลัดกลุ้ม

กายคตานุสสติและอสุภกรรมฐาน
ถ้าเรารักดีเกลียดโง่ เราก็ต้องการทิ้งวัฏฏะ การทิ้งวัฏฏะคือการทิ้งขันธ์ ๕ คือร่างกายเท่านั้น นี่การพิจารณาร่างกายที่พระอรหันต์ทุกองค์ต้องผ่าน หมายความว่าท่านที่เป็นพระอรหันต์น่ะต้องผ่านกรรมฐานกองนี้ ถ้าไม่ผ่านกองนี้ทั้งหมดจะเป็นพระอริยเจ้าไม่ได้ ก็คือกายคตานุสสติ มีการพิจารณากายร่วมกับอสุภกรรมฐาน สองอย่างควบกัน

ความจริงร่างกายไม่ใช่เป็นสภาพแท่งทึบ มันเป็นโพรงภายในเต็มไปด้วยจักรกล มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ มีกระดูก มีขี้ มีเยี่ยว น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง เสมหะ แล้วก็ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า บ ไต ไส้ ปอด ร่างกายของเรามีสภาพอย่างนี้

ร่างกายเต็มไปด้วยความสกปรก โสโครก น้ำเลือด น้ำหนอง ขี้ เยี่ยว เป็นต้น เราเห็นว่ามันสกปรกหรือว่ามันสะอาด เห็นจะไม่ต้องตอบกัน ถ้าใครเห็นว่าสะอาดก็ตามใจ ฝืนความจริง ใจก็พ้นจากร่างกายไปไม่ได้ พ้นจากโลกไม่ได้

ในเมื่อของสกปรกมันอยู่ในร่างกาย เราจะเห็นว่าร่างกายเราสะอาดได้อย่างไร สิ่งทั้งหลายภายนอก เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เรามองความสวยสดงดงามแค่หนังกำพร้า สิ่งที่มันหลอกตาเรา เราชอบหลอกตัวเอง เวลาจะโชว์ พออาบน้ำอาบท่าชำระร่างกาย ขัดสีฉวีวรรณ เอาโน่นมาแต้มนิด นี่มาแต้มหน่อย ทาโน่นนิดทานี่หน่อย หวีผมเสียให้เรียบร้อย เอาผ้าสีสวยๆ เอาเข้ามาแต่งร่างกาย

แล้วก็ไปส่องกระจก แล้วก็มาชมตัวเองว่าสวย นี่เราก็นั่งโกหกตัวเอง โกหกชาวบ้าน มันจะสวยที่ไหน ในเมื่อร่างกายของเรามีสภาพเหมือนกับส้วมเดินได้ ภายในเหมือนส้วม แล้วใครเห็นว่าส้วมสะอาดหรือส้วมสกปรก นี่เป็นอันว่าร่างกายของเราเต็มไปด้วยความสกปรก นี่มันเป็นความจริง ต้องพิจารณาสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ให้เป็นอารมณ์เดียว

นี่ใจของเรานี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้หาความจริงของร่างกายให้พบ อันนี้แหละเป็นกรรมฐาน ถ้าเราปฏิบัติกองนี้กองเดียวจนจิตเป็นเอกัคคตารมณ์ คือเป็นอารมณ์เดียว เรื่องการเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ มันก็เป็นของไม่ยาก มันจบกันกองนี้กองเดียวแหละถ้าเอาจริง

วิปัสสนาเพื่อมรรคผล
การเจริญวิปัสสนาต้องเจริญเพื่อมรรคผล การปฏิบัติแบบคิดว่าพอเป็นนิสัยไม่ควรมีในหมู่พุทธศาสนิกชน เพราะเป็นการดูแคลนพระพุทธศาสนาเกินไป พูดกันตรงๆ ก็ว่า ไม่มีความเชื่อถือจริง และไม่ใช่นักปฏิบัติจริง ปฏิบัติตามเขา พอได้ชื่อว่าฉันก็ปฏิบัติวิปัสสนา

คนประเภทนี้แหละที่ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรม เพราะทำไปไม่นานก็เลิก แล้วก็เอาความไม่จริงไม่จังของตนเองนี่แหละไปโฆษณา บอกว่าฉันปฏิบัตินานแล้วไม่เห็นมีอะไรปรากฏ เป็นการทำลายพระศาสนาโดยตรง ฉะนั้นนักปฏิบัติควรตั้งใจจริงเพื่อมรรคผล ถ้ารู้ตัวว่าจะไม่เอาจริงก็อย่าเข้ามายุ่งทำให้ศาสนาเสื่อมทรามเลย

นักปฏิบัติต้องเข้าใจ
วันนี้เทศน์ต้องการความเข้าใจอย่างเดียว นักปฏิบัติทั้งหมดนี่ยังเอาดีกันไม่ได้เลยเพราะว่าไม่เข้าใจ เอะอะก็ขอนั่งหลับตา นั่งหลับตามันไม่ได้เกิดประโยชน์ถ้าเราไม่เข้าใจ เราหลับไปเท่าไรมันก็หลับเรื่อย ถ้าเราไม่เข้าใจ ฝึกเท่าไรมันก็ไม่ไปไหน ถึงแม้ว่าจะได้อภิญญามันก็ลงนรกอย่างพระเทวทัต พระเทวทัตลงนรกนี่เพราะไม่เข้าใจ ท่านได้อภิญญา ๕

คือ เหาะเหินเดินอากาศได้ เนรมิตอะไรต่ออะไรได้ สามารถได้ทิพจักขุญาณมีตาทิพย์ มีหูทิพย์ มีฤทธิ์ แสดงฤทธิ์ได้ ไอ้เจโตปริยญาณ สามารถรู้จิตใจคนอื่นได้ ได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้ทั้งหมด แต่ว่ามันก็ได้ด้วยกำลังสัญญามากกว่าปัญญา

นี่อาศัยขาดตัวปัญญา มันได้ตัวนี้เข้ามาแล้วก็เกิดความทะนงว่าเราเป็นผู้มีฤทธิ์ ต่อไปก็เลยอยากจะปกครองพระแทนพระพุทธเจ้าหรือพระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร พระอรหันต์ชั้นผู้ใหญ่ที่มีอยู่ทั้งหมดน่ะไม่มีใครเขาอยากปกครองพระแทนพระพุทธเจ้า แต่พระเทวทัตอยากจะปกครองพระ

จึงได้ขออนุญาตพระพุทธเจ้าอยากจะปกครองสงฆ์ นี่เพราะไม่มีความเข้าใจ ขาดปัญญา มีแต่สัญญา คิดว่ามีฤทธิ์แค่นั้นน่ะเก่ง ลืมไปว่าพระอริยเจ้าน่ะเขามีฤทธิ์ดีกว่านั้น แต่พระอริยเจ้าทุกองค์ไม่ต้องการปกครองสงฆ์ พระเทวทัตต้องการปกครองสงฆ์ นี่แหละขาดศีล ขาดปัญญา

ถือหลับตาเป็นสำคัญ ระวังมานะกิเลส
นักปฏิบัติทุกคนน่ะอย่าไปมุ่งแต่หลับตาเป็นสำคัญ มุ่งแต่หลับตาไม่ช้าก็พัง ไม่ช้าก็ไอ้ตัวมานะกิเลสถือว่าฉันดีกว่าเธอ เธอสู้ฉันไม่ได้ ฉันสว่างกว่าเธอ ฉันแจ่มใสกว่าเธอ ฉันคล่องกว่าเธอ ตัวนี้แหละตัวลงนรก มันเป็นตัวมานะกิเลส มันถือตัวถือตน เป็นกิเลสที่หยาบที่สุด

อันนี้พระเจ้าอยู่หัวท่านเข้าใจ ท่านบอก ไอ้กิเลสตัวนี้แหละครับหลวงพ่อ มันเป็นกิเลสที่เลวที่สุด แล้วก็หยาบที่สุด แล้วท่านก็หันมาถามว่าใช่ไหม ท่านสอนเราแล้ว ถามว่าใช่ไหม (หัวเรา) เราก็บอกว่าใช่ เราถามว่ารู้แล้วถามทำไม ท่านบอกนึกว่าหลวงพ่อว่าไม่ใช่ ก็เลยบอก ถ้าอาตมาว่าไม่ใช่ อาตมาก็ไปอยู่กับเทวทัต ไอ้ตัวนี้ตัวร้ายกาจที่สุด ท่านบอก ครับ..ไอ้ตัวนี้เป็นตัวใหญ่

ส่วนสุด ๒ อย่าง
เริ่มต้นคือการปฏิบัตินี่ ให้ถืออารมณ์พอใจในปัจจุบัน คือว่าส่วนสุด ๒ อย่างที่พระองค์ตรัสเป็นพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก เมื่อกัณฑ์แรกก็ถือว่าเป็นเทศน์กัณฑ์สำคัญที่หักล้างอารมณ์ของพราหมณ์และก็ความเข้าใจของพราหมณ์ ก็คือพระองค์ให้ละส่วนสุด ๒ อย่างได้แก่

๑.อัตตกิลมถานุโยค การปฏิบัติมีการทรมานเกินไป การดำรงความเพียรอย่างเคร่งเครียด กินน้อยนอนน้อย ว่ากันหามรุ่งหามค่ำ บางรายถึงกับอดมื้อกินมื้อ บางรายพยายามกินน้อยๆ ลดลงไปทุกวันจนร่างกายผอม และมีการกลั้นลมหายใจ กลั้นกันนานๆ เพื่อให้มรรคผลนิพพานเกิดขึ้น แต่มันก็ไม่เกิด เพราะมันไม่ใช่ทางของผลที่ฌานและมรรคผลจะเกิด

พระพุทธเจ้าเองท่านยืนยันว่าวิธีนี้พระองค์ทำมาแล้วสิ้นเวลาหกปีเต็ม อดข้าวจนมีร่างกายผอมเกือบเดินไม่ไหว ขนที่พระกายเวลาเอามือลูบถึงกับหลุดติดมือออกมา กลั้นลมโดยเอาลิ้นกดเพดานจนลมออกหูอู้
ทำอย่างนี้พระองค์ตรัสว่า เป็นการทรมานตนให้ลำบากเปล่า ไม่เกิดมรรคผลเลย นอกจากเพิ่มทุกขเวทนาให้มากขึ้น

สมัยนี้เห็นจะได้แก่การอัดขันธ์ของอาจารย์บางคณะ เคยไปพบที่เขาสนามแจง จังหวัดลพบุรี เห็นอุบาสิกาสองคนนั่งครางเสียงกระหึ่ม ได้เข้าไปถมว่าโยมเป็นอะไรไป เพราะคิดว่าแกป่วย ได้รับคำตอบว่า
“...อาจารย์ท่านสั่งให้อัดขันธ์ค่ะ...”
ถามว่า “...อัดขันธ์เป็นอย่างไร...”

ได้รับคำตอบว่า “...อาจารย์ให้กลั้นใจ...” ฟังแล้วก็สลดใจคิดว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนมาแล้ว ท่านทำมาแล้วยิ่งกว่านี้ ท่านทราบว่าไม่เป็นทางสำเร็จ ไม่คิดเลยว่าสมัยนี้ยังมีคนเอามาสอนกันอีก แบบนี้จงอย่าแตะต้องเลย ผู้เขียนเองก็ลองฝืนและได้รับผลคือ ของเก่าที่ได้มาแล้วพลอยสูญไปด้วย ที่เป็นโรคเส้นประสาทและถูกประสาทหลอนก็เพราะทำนอกรีตนอกรอยนี่แหละ

๒.กามสุขัลลิกานุโยค เวลาทำมีอารมณ์ย่อหย่อน คำว่าอารมณ์ย่อหย่อนในที่นี้หมายความว่า หย่อนในการทรงสติให้สมบูรณ์แบบ คือทรงอารมณ์เฉพาะที่เรียกว่าเอกัคคตารมณ์ ก็หมายความถึงว่ามีความปรารถนาขณะที่ภาวนาอยู่พิจารณาอยู่ อยากจะเห็นอยากจะไป อยากจะละโน่น อยากจะตัดนี่ อันนี้ไม่มีผล อย่างนี้เขาเรียกกามสุขัลลิกานุโยค

ไอ้เวลาที่ภาวนาอยู่พิจารณาอยู่ ต้องพิจารณาในจุดที่เราต้องการ หรือภาวนาอยู่เฉพาะในอารมณ์ที่เราต้องการและคำภาวนาที่เราต้องการ ถ้านอกจากนั้นเราต้องไม่เกี่ยว หรืออีกนัยหนึ่งคือมีอารมณ์จิตพัวพันกับกามารมณ์ ไม่ถอนจิตจากกามารมณ์ ยิ่งเอากายเข้าไปใกล้ชิดเพศตรงข้ามด้วยยิ่งเป็นผลร้ายเต็มที่ เป็นทางกั้นมรรคผลโดยตรงทีเดียว จงระมัดระวังให้มาก

อยากได้ดีต้องหลีกเลี่ยงได้ ถ้าอดใจหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็เป็นกรรมของสัตว์ ไม่มีใครช่วยได้ เป็นอันว่าการปฏิบัตินี้ให้ตัดกามสุขัลลิกานุโยค รวมความว่า ภาวนาอยู่ว่าพุทโธ ธัมโม สังโฆ ให้จิตมันอยู่แค่ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ถ้าเราคิดว่าจะภาวนาพุทโธก็ให้อยู่แค่พุทโธ ไม่ถึง ธัมโม สังโฆ ถ้าเราคิดว่าจะภาวนาทั้งสามอย่างก็ให้จิตมันจับให้ครบสามอย่างเท่านี้

ให้จิตมันตั้งอารมณ์เป็นอุเบกขา เอกัคคตารมณ์ นี่เป็นความหมายของการปฏิบัติให้ได้ผลดี ก็มาเทศนาเป็นกัณฑ์แรก คือหนึ่งละอัตตกิลมถานุโยค การทรมานตน ทำแล้วใช้อารมณ์เครียด ต้องนั่งเท่านั้นชั่วโมง ต้องนั่งเท่านี้ชั่วโมง อันนี้ไม่ใช้ มันเกินพอดี ต้องใช้แค่อารมณ์สบายๆ ไม่ลำบากกาย แล้วก็ไม่ลำบากใจ

มัชฌิมาปฏิปทา
คำว่ามัชฌิมา คำนี้เป็นถ้อยคำที่พระพุทธสาวกจำกันจนขึ้นใจ เป็นพระพุทธพจน์ที่ยืนยันถึงผลของการปฏิบัติ หมายถึงทำพอสบายๆ ไม่เกียจคร้านเกินไป ไม่ขยันเกินไป นั่งนานเมื่อก็นอน ยืน หรือเดินตามแต่จะเห็นว่าสบาย กำหนดอารมณ์ภาวนาหรือพิจารณาไปด้วย

จงถือว่าสมาธิจะตั้งมั่นหรืออารมณ์จะผ่องใสจากกิเลสนั้น มีความสำคัญที่จิตใจ ไม่ใช่ที่กาย กินอาหารให้อิ่ม อิ่มพอดีนะ ระวังอย่ารับประทานอาหารที่เป็นโทษแก่ร่างกาย อะไรเคยกินแล้วเป็นพิษเป็นภัยแก่ร่างกายควรเว้นไม่กินต่อไปเด็ดขาด

ตัดสังคมที่มีความเห็นไม่เสมอกันเสียให้เด็ดขาด อย่าให้วันเวลาล่วงเลยไปโดยที่มิได้พิจารณาเห็นโทษของสังขาร ทำอย่างนี้น่าจะพูดรับรองผล แต่ท่านห้ามพูด ก็เลยเฉยไว้เพียงนี้ อย่างน้อยฌานสมาบัติเป็นของท่านแน่นอน อย่างดีก็ถึงจุดหมายปลายทาง พระพุทธเจ้าท่านว่าไว้อย่างนี้ ก็จงใคร่ครวญและปฏิบัติตามเถิด ไม่เสียเวลาเปล่าแน่

ถ้ากายและใจมันมีความวุ่นวาย ควบคุมมันไม่อยู่ก็ต้องถือว่าเป็นของธรรมดานะ มันเป็นของธรรมดาที่จิตนี่คบกับนิวรณ์มานาน มันก็ต้องวุ่นวายเป็นของธรรมดา ก็สภาพมันเป็นอย่างนี้ เมื่อจิตมันซ่านไปบ้าง พอมีความรู้สึกตัวขึ้นเราก็มาตั้งต้นกันใหม่ เป็นอันว่าจับไว้เฉพาะอารมณ์ และอีกประการ

ประการที่สอง ถ้าหากว่าจิตมันฟุ้งซ่านมากเกินไป อันนี้เราก็เลิกเสีย ถ้าขืนทำไปแล้วมันจะเกิดอาการกลุ้ม ถ้าเกิดอาการกลุ้มความวุ่นวายของจิตเกิดขึ้น ไม่ช้ามันก็เป็นโรคประสาท ก็เป็นอันว่าในด้านอัตตกิลมถานุโยค เราต้องไม่ทรมานทั้งกายและไม่ทรมานทั้งใจ คือกายนี่จะทรงอยู่ตามสภาพที่เราเห็นว่ามันสบาย นั่งพับเพียบสบายก็นั่งพับเพียบ

นั่งพับเพียงข้างซ้ายไม่ถนัดก็กลับนั่งข้างขวา พับเพียงไม่ถนัดก็นั่งขัดสมาธิ นั่งขัดสมาธิมันไปไม่ไหวก็นั่งเก้าอี้ห้อยขา ยืนหรือเดินก็ได้ทุกอย่าง ให้จิตมันทรงอารมณ์อยู่ นี่เป็นเรื่องเบื้องต้นนะ เป็นอันว่าเทศน์กัณฑ์นี้ของพระพุทธเจ้าเราต้องจำตลอดชีวิต คำว่าจำก็หมายถึง

๑.เราจะไม่ปฏิบัติประเภททรมานร่างกายหรือทรมานใจ
๒.เราไม่ปฏิบัติประเภทอยาก อารมณ์อยาก ถึงแม้จะอยากไปสวรรค์หรือนิพพาน อารมณ์ปกติเราอยากได้ แต่ถ้าหากว่าถ้าขณะที่เราภาวนาอยู่หรือพิจารณาอยู่นี่เราจะทรงอารมณ์เฉพาะ ตัดอารมณ์ความอยากนั่นเสีย ให้จิตมันอยู่เฉพาะภาวนา


แต่ละเวลาอารมณ์ไม่เท่ากัน
แต่ละเวลานี่อารมณ์มันละเอียดไม่เสมอกัน ไม่ต้องแต่ละวันหรอก อย่างเช้า กลางวัน เย็น กลางคืน เช้ามืด หรือตอนดึก หัวค่ำ อารมณ์ไม่เสมอกัน ทั้งนี้เพราะอะไร อารมณ์ที่มีความวุ่นวายกับการงาน อาหารที่กินเข้าไปแล้วมันยังไม่ย่อย อย่างนี้อารมณ์ไม่ละเอียด ทีนี้เวลาตอนดึกตั้งแต่ตี ๒ ไปแล้วหรือเช้ามืด อย่างนี้เราจะเห็นว่าพอตื่นขึ้นมา นั่งก็ได้ นอนก็ได้ นอนไปตามเดิมก็ได้

จับภาวนาหรือพิจารณา อันนี้จะเห็นว่าอารมณ์ละเอียดสุขุมดีกว่ามาก ดีกว่าหัวค่ำ แต่ก็ไม่ต้องไปรอเวลานั้นนะ อย่าไปรอเวลานั้น เพราะอะไร เพราะเรามันเลือกเวลาตายไม่ได้ ในเมื่ออารมณ์มันมีสภาพไม่เสมอกัน สภาวะของลมหายใจเข้าออกมีสภาพไม่เสมอกัน สภาวะของลมหายใจเข้าออกมีสภาพไม่เสมอกัน แต่เราก็ต้องพอใจเฉพาะเวลา อย่างเวลานี้ถ้าจิตเราทรงอยู่ในขั้นขณิกสมาธิ ขณิกสมาธินี่พิจารณาก็ดี

ภาวนาก็ดี มันได้ประเดี๋ยวเดียว ประเดี๋ยวมันก็ไปแล้ว คิดเรื่องโน้นคิดเรื่องนี้ คิดเรื่องนั้น ทีนี้พอมันไปแล้ว พอรู้ตัวขึ้นมาเราก็จับดึงเข้ามาใหม่ ดึงเข้ามาภาวนาพิจารณาตามเดิม เดี๋ยวมันก็ไปอีก เดี๋ยวก็ไปอีก เรารู้ตัวเราก็ดึงเข้ามาใหม่ แล้วดูอารมณ์ตอนท้ายถ้ามันซ่านจริงๆ ทรงไม่ไหวต้องเลิกเลยแล้วก็ถือว่าเราพอใจ ถ้าหากว่าเป็นนักปฏิบัติขั้นสุกขวิปัสสโก ก็ถือว่าอารมณ์ทรงขณิกสมาธิ

หรือว่าสมาธิเล็กน้อยก็สามารถเป็นเทวดาได้ ขณิกสมาธินี่เป็นรุกขเทวดาก็ได้ แต่ว่าถ้าจะอยู่ชั้นดาวดึงส์ต้องมีตัวตัดตัวแรก ถือว่าชีวิตไม่มีความหมาย ร่างกายไม่มีความหมาย อันนี้จึงจะเข้าดาวดึงส์ได้ การเริ่มภาวนาจิตเข้าถึงขณิกสมาธินี่เป็นรุกขเทวดาได้ เข้าดาวดึงส์ไม่ได้ ดาวดึงส์นี่มีความสำคัญมาก ดาวดึงส์นี่ไม่ใช่เข้าง่ายนะ ต้องทำทุกอย่างเพื่อตัดชีวิตไว้เสมอ

ไอ้คำว่าตัดชีวิตนี่ เหมือนกับเขาเดินทางไปนี่มีข้าวจำกัด เห็นสุนัขมันหิวมา แบ่งข้าวให้สุนัขกิน อย่างนี้ถือว่าตัดชีวิต แบ่งนะไม่ใช่ให้หมด เพราะข้าวเขาเอาไปจำกัด แต่ว่าเขาก็ยังอุตส่าห์แบ่ง แม้ว่าเขาจะกินอิ่มไม่สมบูรณ์แบบก็ตามก็ยังให้ อย่างนี้ถือว่าตัดชีวิต ไปดาวดึงส์ได้

ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 28/5/12 at 15:29


สรุปอารมณ์สมาธิ
ขอย้อนกลับไปต้นที่พูดมา ตอนต้นมันอยู่ในขั้นขณิกสมาธิ รักษาอารมณ์ได้นิดหนึ่งจิตก็นึกเรื่องโน้นเรื่องนี้เข้ามาแทรก พอนึกขึ้นมาได้ว่า อ้าว..จิตมันนึกเรื่องโน้นเรื่องนี้ไปซะแล้ว ก็เริ่มจับต้นใหม่ จับต้นใหม่ประเดี๋ยวมันก็ไป เดี๋ยวไปพอรู้ตัวก็ดึงเข้ามาใหม่ แค่นี้ ถ้าวันนั้นมันได้แค่นี้เราก็พอใจแค่นี้ อย่าทำจิตให้มันกลุ้ม เวลาจิตกลุ้มมันถอยหลัง คือว่าพอใจในอารมณ์ปัจจุบัน

แต่ว่าประการที่สอง ถ้าในขณะนั้นจิตมันเข้าถึงอุปจารสมาธิ เพียงถ้าจิตเข้าถึงสุข นี่ถ้าถามว่าเป็นอุปจารสมาธินานไหมนี่ไม่ได้เรื่องนะ มันปรี๊ดเดียวเข้าถึงปฐมฌานเลย พอเข้าถึงผรณาปีติปั๊บ มันก็ตัดเข้าถึงสุขแล้ว เข้าถึงปฐมฌานเลย แต่ว่าตอนนั้นมันยังพ่วงสุขอยู่ในปฐมฌาน

ปฐมฌานมีองค์ ๕ นี่ มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา แต่ว่าปฐมฌานนี่ทรงอารมณ์ครบ ๕ ฉะนั้นจิตถ้าทรงอยู่ในปฐมฌาน มันก็มีทั้งปีติ มีทั้งสุข ครบถ้วนใช่ไหม มีทั้งปีติด้วย มีทั้งสุขอยู่ด้วย ฉะนั้นปฐมฌานจะมีความอิ่มและสุข มาถึงทุติยฌาน ฌานที่ ๒ อันนี้ไม่มีวิตกวิจาร ตัดทิ้งไป มีปีติ สุข เอกัคคตา นี่ฟังอย่างนี้ก็ไม่เข้าใจ แต่ว่าตามแบบที่ให้เพื่อจะได้รู้

พอถึงฌานที่ ๒ ลมเริ่มละเอียดไปกว่านั้น ลมรู้สึกเบา อารมณ์ทรงสมาธิได้ดีกว่า คำภาวนาหายไป มีความสุขยิ่งกว่า อาการอย่างนี้บางคนพอเข้าถึง พอจิตมันตกมาจากฌานที่ ๒ เหลือฌานที่ ๑ บ้าง อุปจารสมาธิบ้าง ตกใจรู้ตัวว่า เอ๊ะ..นี่เราหลับไปหรือยังไง ทำไมเราจึงลืมภาวนา คิดว่าคำภาวนาเท่านั้นจึงจะเป็นคุณ

แต่ความจริงแล้วอาการของฌานที่ ๒ เป็นอาการที่มีบุญยิ่งกว่า จำไว้ด้วยว่าอาการของฌานที่ ๒ ไม่มีคำภาวนา ภาวนามันตายไปเอง จิตสบายรักษาอารมณ์เป็นอันเดียวมีความสุข ต่อไปก็เป็นฌานที่ ๓ ตัดปีติเสียได้ เหลือแต่สุขกับเอกัคคตา นี่อาการของฌานที่ ๓ นี่ไม่มีความอิ่มใจ ความอิ่มเอิบหายไป มันสุขสดชื่นสบายๆ บอกไม่ถูกความสุขฌานที่ ๓ มันมีแต่ความสบาย เยือกเย็น มีอารมณ์สบาย

ลมหายใจนี่เบาลงมาก เกือบจะไม่รู้สึก เสียงดังๆ ได้ยินทางหูแว่วๆ แทนที่จะดังมากมันดังน้อย ทีนี้อาการคล้ายตัวเกร็ง ความจริงนั่งตามธรรมดา หรือนอนธรรมดา จิตทรงสมาธิเครียด อาการคล้ายตัวตึงเป๋ง คล้ายใครเขามัดไว้อย่างนั้น

อาการของฌานที่ ๔ ไม่ปรากฏลมหายเข้าออก หมายความว่าภาวนาไปก็ดี พิจารณาอะไรก็ตาม หรือกำหนดรู้ลมหายใจก็ตาม พอถึงฌานที่ ๔ แล้วก็ตัดหมด ความจริงร่างกายมันหายใจเป็นปกติ แต่ที่ไม่รู้ก็เพราะว่าจิตมันแยกจากกายเด็ดขาด

สุขในฌาน..หาที่เปรียบไม่ได้
ตอนนี้ถ้าเราจะมาเทียบกับสุขของเราในชีวิต เทียบไม่ได้เลย หาไม่พบหรอก ไปถามหลายๆ องค์ ไปถามหลวงปู่คำแสน ถามหลวงปู่จะอธิบายได้ไหม พูดหรือเขียนได้ไหม ไอ้ตัวสุขตัวนี้น่ะ ท่านก็ถามเรากลับ มาถามแล้วทำได้ไหมล่ะ บอกผมทำไม่ได้น่ะสิ

อธิบายออกมาให้มันเหมือนไม่ได้ใช่ไหม ท่านก็บอก ไม่ได้ อธิบายเหมือนไม่ได้จริงๆ เราจะพูดหรือว่าเราจะเขียน ค่อยๆ เขียนอธิบายให้อารมณ์มันคล้ายคลึง ใช้ถ้อยคำให้เหมือนกับความสุขจริงๆ มันไม่มี

ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน
ฉะนั้น หากว่าทุกท่านที่ปฏิบัติในขั้นสุกขวิปัสสโกก็ดี ในขั้นวิชชา ๓ ก็ดี ในชั้นของอภิญญาก็ดี ก็จงถือพุทธภาษิตที่พระพุทธเจ้าบอกว่า
อัตตา หิ อัตตโน นาโถ
ตนแลย่อมเป็นที่พึ่งของตน
โก หิ นาโถ ปโร สิยา
บุคคลอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้

อัตตนา หิ สุทันเตนะ
ถ้าเราฝึกฝนตนของตนดีแล้วไซร้
นาถัง ลภติ ทุลลภัง
เราจะได้ที่พึ่งอันบุคคลอื่นพึงได้โดยยาก


นี่หมายความว่า เราจะดีหรือไม่ดีนี่ ถ้าใจเรายังเกาะอยู่ที่ครูแล้วไม่มีทางได้ดีละ อะไรก็ตามให้ครูแก้ อะไรก็ตามให้ครูช่วย ผลที่สุดเราไม่มีความสามารถเลย แล้วครูที่ไหนเขาจะตามแก้ตามช่วย ไม่มี ยิ่งครูอย่างพระพุทธเจ้าท่านเทศน์ทิ้ง ใช่ไหม

เปสการีธิดา
เคยเห็นพระพุทธเจ้าเทศน์ซ้ำไหม มีเทศน์ซ้ำอยู่รายเดียว พระพุทธเจ้าเทศน์เปสการีธิดา คือว่าตอนต้นท่านไม่ได้ไปเพื่อเปสการีธิดา ถ้าครั้งแรก ๓ ปีก่อนโน้นถ้าไปเพื่อเปสการีธิดาท่านไม่ไปอีกหรอก พระพุทธเจ้าไม่มีเทศน์ซ้ำรอย ที่ไปซ้ำเพราะว่าปีแรกท่านเป็นแต่เพียงว่าไปเพื่อสงเคราะห์ชาวอาฬวีใช่ไหม
เมื่อท่านไปนั่งปุ๊บ เขามาใส่บาตร ท่านฉันข้าวเสร็จแล้วก็นั่งล้อม

เด็กหญิงคนนี้อายุ ๑๓ ปี ก็นั่งอยู่ด้วย พระพุทธเจ้าก็ทรงเทศน์ว่า พวกเธอทั้งหลาย ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง เธอทั้งหลายจงอย่าประมาทในชีวิต จงสร้างความดี วันนั้นท่านเทศน์ขันธ์ ๕ แค่นี้ ขันธ์ ๕ ท่านเทศน์แค่นี้ แล้วก็ให้ตั้งอยู่ในศีล ๕ และมีความกตัญญู ท่านเทศน์นิดเดียว ถ้าเขียนก็ ๒ – ๓ บรรทัด ท่านฉันข้าวแล้ว ท่านเทศน์ ท่านก็กลับ

พอกลับแล้วปรากฏว่า ผู้ใหญ่ทุกคนที่นั่งอยู่พอพระพุทธเจ้าไปท่านก็ลุก แกก็ลุกขึ้น เทศน์พระพุทธเจ้าหล่นหายหมด ติดไปคนเดียวคือเปสการี ลูกสาวนายช่างหูก เธอจำได้แล้วก็นั่งนึกว่าพระพุทธเจ้าไม่ให้ประมาทในชีวิต ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง ความตายเป็นของเที่ยง จงมีความกตัญญูรู้คุณ จงเป็นผู้ทรงศีล ๕ บริสุทธิ์ เธอก็ทรงศีล ๕ บริสุทธิ์

แต่ว่าพอสามปีผ่านไป เปสการีอายุย่าง ๑๖ ปี พระพุทธเจ้าเห็นหน้าเธอ เอ๊ะ..ท่านนึกแปลกใจว่าทำไมเด็กคนนี้ทำไมตกอยู่ในข่ายพระญาณ ท่านก็รู้ อ๋อ..ตอนสายวันนี้จะตาย ดังนั้นท่านจึงดูต่อไปว่า ถ้าจะตายถ้าเราไม่ช่วย เธอจะมีคติแน่นอนไหม ไอ้คำว่าคติแน่นอนนี่มันต้องไม่ลงนะ มันต้องขึ้นนะ ขึ้นสวรรค์แล้วไม่กลับถอยหลังมาลงนรก มาลงอบายภูมิ จึงจะถือว่ามีคติแน่นอน ต้องไปอย่างน้อยตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป

พระพุทธเจ้าก็ทรงทราบว่าถ้าเราไม่ช่วยเธอ เธอจะมีคติไม่แน่นอน ถ้าเราช่วยเธอเธอจะมีคติแน่นอน แต่การช่วยเธอจะช่วยแบบไหน ก็ทรงทราบด้วยอำนาจพุทธญาณว่า ถ้าเราถามปัญหาเธอ ๔ ข้อ เธอตอบถูกเราให้สาธุการ ๔ ครั้ง เธอจะเป็นพระโสดาบัน จึงได้เสด็จไป ขอเล่าย่อๆ นะ

เป็นอันว่าเมื่อไปแล้ว เมื่อชาวบ้านเขามาหมด เธอยังไม่มา ท่านก็ยังไม่ยอมเทศน์ พอเธอมาท่านก็เรียก ไอ้คำว่าเรียกนี่ไม่ได้เรียกหรอก มาที่หลังก็นั่งท้ายแถว พระพุทธเจ้าก็มองหน้าเธอ พอมองหน้าปุ๊บเธอก็ทราบทันทีว่า พระพุทธเจ้าต้องการให้เข้ามาใกล้ เธอจึงคลานเข้าไปใกล้

พอเข้ามานั่งใกล้ๆ พระพุทธเจ้าก็ทรงถามว่า ภคินิ ท่านใช้ศัพท์นี้เสมอนะ ดูกร น้องหญิง ตถาคตอยากจะทราบว่าเธอมาจากไหน
เด็กหญิงตอบว่า ไม่ทราบพระเจ้าค่ะ
ท่านถามว่า เธอไม่ทราบรึ

เธอบอก ไม่ทราบพระเจ้าค่ะ
ท่านถามว่า เธอไม่ทราบรึ
เธอตอบว่า ทราบพระเจ้าค่ะ
ท่านถามว่า ทราบรึ

เธอตอบว่า ไม่ทราบพระเจ้าค่ะ
น่าตบให้ฟังร่วง (ญาติโยมหัวเราะ) ชาวบ้านก็โมโหว่า อีเด็กเปรต เสียงยังไม่พ้นกลิ่นน้ำนมมาล้อเลียนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงโบกพระหัตถ์ บอกช้าก่อน เขาย่อมมีเหตุมีผล ก็หันไปถามใหม่ว่า น้องหญิง ที่ตถาคตถามเธอว่าเธอมาจากไหน เธอตอบว่าไม่ทราบ นี่หมายความว่าอย่างไร

เธอก็ตอบว่า ในการมาของหม่อมฉันที่มาจากบ้านมาเฝ้าพระองค์นี่ พระองค์ย่อมทราบ แต่คำถามนี่ไม่ได้ถามจุดนี้ ถามว่าก่อนที่จะมาเกิดที่นี่มาจากไหน อันนี้หม่อมฉันไม่ทราบพระเจ้าค่ะ ท่านยกมือสาธุ ผู้ใหญ่นั่งตาปริบๆๆ ผู้ใหญ่แบบนี้นะ

ท่านถามว่า ที่ถามเธอว่าเธอจะไปไหน เธอตอบไม่ทราบเพราะอะไร เธอก็ตอบว่า การที่มาจากบ้านและจะไปโรงทอหูกของพ่อ พระองค์ย่อมทราบ แต่คำถามไม่ได้หมายถึงอย่างนั้น ถามว่า ตายแล้วจะไปไหน หม่อมฉันไม่ทราบว่าตายแล้วจะไปสวรรค์หรือไปนรก

พระพุทธเจ้าก็ยกมือสาธุ แล้วท่านถามว่า เธอไม่ทราบหรือ ที่เธอตอบว่าทราบ นั่นหมายความว่าอย่างไร เธอตอบว่าที่ตอบว่าทราบ ก็เพราะทราบว่าจะต้องตายแน่ชีวิตนี้ ที่พระองค์เทศน์แล้ว ๓ ปีนี่ยังจำได้ แล้วรู้ตัวว่าจะต้องตาย

พระพุทธเจ้าถามว่า ที่ฉันถามเธอข้อที่ ๔ ว่าเธอทราบหรือ เธอตอบว่าไม่ทราบ หมายความว่าอย่างไร เธอก็ตอบว่า ไอ้คำว่าไม่ทราบก็หมายความว่า ตายน่ะทราบว่ามันจะต้องตาย แต่ว่าเวลาที่จะตายและอาการที่จะตายนี่มันไม่แน่ หม่อมฉันไม่ทราบ มันจะตายเช้า ตายสาย ตายบ่าย ตายเที่ยง ตายกลางคืน ตายกลางวัน ตอนดึกๆ ตอนสว่างมันไม่รู้นี่ ไม่รู้เวลาตาย และไม่รู้อาการของความตาย

พระพุทธเจ้ายกมือสาธุ ๔ ครั้ง เธอดีใจก็ได้เป็นพระโสดาบัน วันนั้นพอไปถึง กว่าจะไปได้ เธอกรอด้ายแล้วก็มาฟังเทศน์พระพุทธเจ้าก็สายมาก ท่านพ่อตั้งท่าทอหูกคอยลูกสาวอยู่ก็หิว ไอ้มือซ้ายก็จับฟืม มือขวาก็ถือกระสวยตั้งท่าหลับ มันหลับอยู่แต่ว่าใจมันตั้ง มือมันตั้งจั้งท่าจะพุ่งกระสวย มือจะกระทบฟืม พอลูกสาวเดินไปไม่ทันสังเกต ก็เอาตัวไปกระทบปลายฟืมเข้า ฟืมก็ไหว

ไหวท่านพ่อตั้งใจก่อนจะหลับคิดว่าจะพุ่งกระสวยแล้วก็จะกระทบฟืม มือมันก็พุ่งปรี๊ด พุ่งแรงเกินไป กระสวยเลยไปถูกอกลูกสาวล้มลงขาดใจตาย ท่านพ่อเห็นลูกสาวขาดใจตายก็เลยไม่ต้องหิว ไม่ต้องกินข้าว ร้องไห้แง ทำฌานปนกิจลูกสาวเสร็จก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ลูกสาวน่ะตายแล้วก็ไปชั้นดุสิต พ่อไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

เมื่อไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแกยังไปร้องไหน พระพุทธเจ้าบอก พราหมณ์..แกร้องไห้เพราะลูกเมียของแกแบบนี้มานับอัตภาพไม่ถ้วน ถ้าถือเอาน้ำตาของแกที่ไหลอยู่ ร้องไห้เพราะลูกเมียตายในสภาพอย่างนี้ มันมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ รวมกันนะ มันเกิดไม่รู้กี่อสงไขยกัปแล้ว ไอ้ลูกไอ้เมียตายแบบนี้เรื่อยนะ

พระพุทธเจ้าเทศน์แบบนี้ก็เลยบอกว่า เธอจะไปสนใจอะไรกับความตายของชีวิต ในเมื่อชีวิตของทุกคนมันจะต้องตาย เธอจงมีความเข้าใจในธรรม พระพุทธเจ้าท่านทรงเทศน์อนัตตลักขณสูตร คืออนัตตา ความไม่เที่ยง การสลายตัว พอจบพราหมณ์เป็นพระอรหันต์ เอ๊ะ..พ่อเก่งกว่าลูก พ่อเป็นอรหันต์ได้เพราะฆ่าลูกตายนะ ใช่ไหม นี่ใครอยากจะเป็นอรหันต์ก็ฆ่าลูกซะ (ญาติโยมหัวเราะ)

ถึงแล้วจะอธิบายสังโยชน์ตามอารมณ์จริง
ถ้าเราต้องการจะรู้ว่าพระองค์นั้นได้อันดับไหน ไปถามสังโยชน์ท่านท่านก็รู้ เราจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ถ้าเราไม่เข้าใจก็ส่งเดชไปตามเรื่องตามราว ถ้าเรามีความเข้าใจจริงๆ ท่านจะบอกสังโยชน์เท่าที่ท่านทำได้ เพราะว่าฐานท่านรับได้แค่ไหน อันนั้นเหมือนกัน

ถ้าเราขอศึกษาสังโยชน์ ๑๐ ว่าการตัดสังโยชน์ ๑๐ ปฏิบัติยังไง ท่านจะสอนเราแค่ท่านทำได้ สังโยชน์น่ะมันมี ๑๐ ถ้าท่านเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี เขาจะพูดสังโยชน์แค่ ๓ ถ้าท่านเป็นพระอนาคามีนี่สังโยชน์แค่ ๕ ถ้าเป็นพระอรหันต์ถึงจะพูดสังโยชน์ถึง ๑๐ แต่ถ้าเราไม่เข้าใจเลย มาฟังแบบนี้แล้วไปลองถามมั่งก็ไม่มีผล ท่านรู้ว่าเราจะเอาจริงหรือไม่เอาจริง

ถ้าหากว่าเขาพูดได้ พระอนาคามีพูดถึงเรื่องสังโยชน์ถึงข้อห้า ถ้าอย่างนี้พูดไป ๓ เที่ยวแล้วเขาหยุดนี่ แสดงว่าเขาได้เท่านั้น นี่คือการบอก ถ้าเราไปถามเฉยๆ โดยที่เราไม่เข้าใจ เพียงแค่รับฟังไปอย่างนั้น ถ้าท่านพูดตามหลักวิชาอาจจะพูดสัก ๑๐ ก็ได้ เขาพูดตามหลักวิชาว่าตามพระไตรปิฎกว่าอย่างนี้ เขาจะพูดถึงหลักวิชาโดยไม่พูดถึงอารมณ์

ทีนี้การอธิบายสังโยชน์ตามที่ท่านได้พูดถึงอารมณ์ ไม่ใช่ตามหลักวิชา ไอ้หนังสือน่ะยึดเป็นหลัก แต่ทว่าอารมณ์ที่ปฏิบัติเข้าถึงจริงๆ มันคนละอย่าง อารมณ์เมื่อเป็นพระโสดาบันอารมณ์มันเป็นอย่างไร อารมณ์เมื่อเข้าถึงพระสกิทาคามีอารมณ์เป็นอย่างไร ตรงนี้ต้องอธิบายละเอียด

อารมณ์ที่เข้าถึงพระอนาคามีเป็นอย่างไร อารมณ์ถึงพระอรหันต์เป็นอย่างไร ตรงนี้ท่านอธิบายละเอียด แต่ว่าเราหาหนังสืออ่านไม่ได้ ถ้าอย่างนี้แสดงว่าท่านผู้นั้นทรงอารมณ์ได้ขนาดนั้น

เก่งเฉพาะตำรา..เข้าไม่ถึงพระพุทธศาสนา
บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ในพระพุทธศาสนานี่ ถ้าเรามีความรู้แค่อ่านหนังสือ มันไม่ได้เข้าถึงหนึ่งในล้านของพระพุทธศาสนา คือว่าการเข้าใจจริงไม่มีเลย ถ้าเราเก่งเฉพาะอ่านตำราก็ถือว่ายังไม่เข้าถึงพระพุทธศาสนาเลย เพราะบุคคลที่จะเข้าถึงพระพุทธศาสนาจริงๆ เป็นอันดับแรกที่เรียกว่าไตรสรณาคมน์ บุคคลผู้นั้นจะต้องมีความเคารพในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระอริยสงฆ์จริง

โดยไม่มีความสงสัย และก็ตั้งใจรักษาศีลบริสุทธิ์ อย่างนี้ชื่อว่าเข้าถึงเขตไตรสรณาคมน์ เข้าถึงจุดหนึ่งของพระศาสนา เอาขอบๆ ทีนี้ถ้าหากว่าคนที่มีศีลบริสุทธิ์มีความเคารพในพระไตรสรณาคมน์จริง แต่ว่าบรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิงไม่เคยเจริญสมาธิ ไม่เคยเจริญฌานสมาบัติ จะไปเข้าใจเรื่องฌานสมาบัติน่ะไม่ได้ ขืนเดาก็มีทางลงนรก เพราะว่าเดาผิด

คนที่ได้ฌานสมาบัติจะไปมีความเข้าใจในเรื่องราวของพระโสดาบันก็ไม่ได้อีกเพราะสูงไม่ถึง พระโสดาบันจะไปเข้าใจความเป็นมาของพระสกิทาคามีก็ไม่ได้อีก เพราะตัวไม่ถึง เป็นอันว่าการเข้าใจในเรื่องของพระศาสนานี่ ถ้าบรรดาพระอริยะทั้งหลาย ถ้าท่านเป็นพระอริยะจริงๆ หรือว่าถ้าท่านเป็นผู้มีการทรงฌานจริงๆ หากว่าท่านทรงฌานแค่ปฐมฌาน

ถ้าเราไปถามท่าน ท่านจะอธิบายจริงแค่ปฐมฌาน ถ้าไปถามฌานที่สองที่สามที่สี่นี่ท่านไม่ตอบ นี่คนที่เขาได้จริงนะ เพราะว่าความรู้สึกที่เราอ่านหนังสือน่ะ มันต่างจากที่ปฏิบัติได้มากมายนัก ถ้าหากว่าเป็นผู้ทรงฌานแล้วยังไม่ได้พระโสดาบัน ถ้าเราไปถามความเป็นพระโสดาบันเขาไม่ตอบ ทำไมเขาไม่ตอบ เพราะเขารู้ว่าตอบไปก็ตอบผิด

เพราะไอ้ความรู้สึกตั้งแต่ฌานต้นมาถึงฌานสี่มันรู้แล้วว่าการอ่านหนังสือมานี่มีความเข้าใจไม่ถูกเลย
ฉะนั้นถ้าท่านผู้นั้นเป็นพระอริยเจ้าจริง ถ้าเราอยากจะรู้ แต่ว่าต้องถามด้วยความเคารพ ต้องถามด้วยความฉลาด มีความเคารพแล้วไม่มีความฉลาดก็ไม่มีโอกาสจะได้ผล เราต้องมีความเคารพจริง มีความฉลาดในการถามจริง


อ่านหนังสือไม่ปฏิบัติ..ระวังมิจฉาทิฏฐิ
ฉะนั้นขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยถ้วนหน้า จงยับยั้งชั่งใจในตัวเอง อย่ามีความประมาทในตัวเอง คิดว่าอะไรอะไรเราอ่านหนังสือแล้วเรารู้น่ะ นั่นน่ะชวนลงนรกดีมากที่สุด เพราะว่าการเข้าใจผิดที่เรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิด ถ้ามีความเห็นผิดมีความเข้าใจผิดมันก็ปฏิบัติผิด

ถ้าคนที่ปฏิบัติผิดมีความเข้าใจผิด เขามีที่เก็บมีที่อยู่ คือมีสำนักพระยายมควบคุมอยู่ สมเด็จพระบรมครูไม่สามารถจะช่วยให้ไปสวรรค์ ไปนิพพาน หรือไปพรหมได้

พระพุทธเจ้าเทศน์โปรดพระพาหิยะ
อย่าลืมว่าที่พระพุทธเจ้าเทศน์ให้กับท่านพาหิยะเพียงสั้นๆ ว่า พาหิยะ เธอจงอย่าสนใจในรูป เท่านี้เอง รูปทั้งหมดไม่ต้องการ คือรูปคน รูปสัตว์ รูปวัตถุ ในท้ายมหาสติปัฏฐานสูตรท่านก็ไปเทศน์ลงท้าย เธอจงอย่าสนใจกายในกาย คือตัวของตัวเองอย่าสนใจ กายภายนอก อย่าสนใจวัตถุธาตุใดๆ ทั้งหมด เพราะอะไรจึงอย่าสนใจก็ไปนั่งคิด

ก็ดูตามความเป็นจริง คนทุกคนก็สกปรก สัตว์ทุกตัวก็สกปรก มีความทุกข์ยาก มีความทรุดโทรม อันนี้คิดลำบาก คิดเอาแบบย่อๆ เราจะไปนิพพานใครไปไหนก็ช่าง กูไปอยู่ท่าเดียว ไปอยู่ท่าไหนล่ะ ให้ละราคาก็พยายามละ พิจารณากายคตานุสสติ ทีนี้คนทุกคนก็มีร่างกายสกปรกหมด ใช่ไหม พยายามคิดซิ คนทุกคนร่างกายมันทรุดโทรมและยังมีราคะทั้งนั้นแหละ ทีนี้คนทุกคนมันต้องตาย

พอตายแล้ววัตถุที่เรารักน่ะใครแบกมันไปได้บ้าง ไม่มี นี่ยามปกตินะ ร่างกายยังดีก็นั่งดูตามความเป็นจริง แต่หากว่าร่างกายเราป่วยปุ๊บลงไปก็ตัดเลย ร่างกายมันจะพังแล้วมันพังเวลานี้ก็ขออยู่นิพพาน ไม่ว่าพังตอนไหนก็ตาม ขึ้นชื่อว่าร่างกายพังแล้วไม่มีประโยชน์ ทรัพย์สินต่างๆ มันก็ไม่มีประโยชน์ เมื่อตายเวลานี้เราไปนิพพาน ตายเวลาไหนเราก็ไปนิพพาน เราขอไปพระนิพพาน

เอาให้ย่อ ให้เกาะติด เวลานี้พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน เราขอไปอยู่ที่นั่น เราตัดจิตไปอยู่พระนิพพาน มันก็ตัดหมด มนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก ตัดอวิชชาใช่ไหม ของง่ายๆ เห็นไหม จงจำไว้นะ ไปกลัวอะไร พยายามตัดอารมณ์เพื่อพระนิพพาน เวลาพิจารณาเห็นคนเห็นสัตว์ทำงานมันทุกข์ไหม มันลำบากไหม มันน่าเบื่อไหม นี่ดูมันไว้เป็นของจริง

ไอ้ไปนั่งใคร่ครวญหลับตาอยู่มันไม่จริง ยามลืมตาอยู่หรือทำงานให้เห็นของจริงว่ามันน่าเบื่อ ไอ้โลกมนุษย์นี้การเกิดมาเป็นพวกที่มีร่างกายน่ะมันไม่ดี ถ้าไปเกิดเป็นพรหม เทวดา ทำไมทุกชาติไม่ทรงอยู่ที่นั่นตลอดล่ะ ลงมาทำไมล่ะ เทวดากับพรหมมีการจุติมีการเคลื่อนย้าย เทวดากับพรหมก็ไม่สบายจริง เป็นเทวดาเป็นพรหมเราไม่เอา ไปนิพพานดีกว่า จิตตัดเฉพาะไปนิพพาน

ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 14/6/12 at 10:14

8

๘ เพื่อพระนิพพาน




ข้อปฏิบัติเพื่อพระนิพพานโดยเคร่งครัด
นักนิยมพระนิพพานต้องมีแนวปฏิบัติตามนี้โดยเคร่งครัด ได้แก่ ระงับอุปกิเลส ความชั่วที่นอนนิ่งอยู่ในสันดาน คือพยายามระงับให้สิ้น อย่าให้ใช้อารมณ์แม้แต่น้อยเข้าไปยุ่งกับภาระของคนอื่น จะเป็นเรื่องดีก็ตาม เรื่องชั่วก็ตาม มันเป็นเรื่องของเขา ไม่ต้องคิดถึงใครทั้งนั้น เขาจะชม เขาจะติ เขาจะรวย เขาจะจน

เขาจะเป็นอะไรยังไงก็ช่างเขา ห้ามยุ่ง ระวังตัวของตัวเองเป็นสำคัญ อย่าให้จิตมันคิดชั่ว ไม่ต้องคอยสอนคนอื่น จงระวังตัวเองให้มาก เพื่อตัวเราเองจะได้พ้นทุกข์ อะไรจะเกิดแก่ตนต้องถือว่าช่างมันเป็นสำคัญ อย่าสร้างความดีใจความขัดข้องใจในอารมณ์นั้นๆ อย่างนี้เป็นระดับแรก ถ้าทำได้เรียกว่าถึงสะเก็ดพระนิพพานแล้ว

เอกายโน อยัง ภิกขเว มัคโค สัตตานัง วิสุทธิยา
ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางเอก เป็นทางของบุคคลผู้เดียว เป็นทางนำมาซึ่งความบริสุทธิ์ของจิต

มั่นคงในพระรัตนตรัย
คนที่จะเป็นพระโสดาบันได้ มีอารมณ์ทรงตัวแบบนี้ คือ
๑.เคารพพระพุทธเจ้าด้วยความจริงใจ
๒.เคารพพระธรรม
๓.เคารพพระอริยสงฆ์

ทั้ง ๓ ประการนี่เคารพมั่นคงจริงๆ ไม่มีความสงสัยว่าพระพุทธเจ้าก็ดี พระธรรมก็ดี พระอริยสงฆ์ก็ดี ไม่มีอะไรสงสัยว่าท่านจะไม่ดีพอ ยอมรับนับถือแล้วก็มีความมั่นคงด้วยศรัทธา และปสาทะ ศรัทธ แปลว่า ความเชื่อ ปสาทะ นี่แปลว่า ความเลื่อมใส ทั้งความเชื่อทั้งความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระอริยสงฆ์มั่นคงมาก

สุปปพุทธกุฏฐิ
ตัวอย่างบุคคลที่เป็นพระโสดาบัน ที่มีความมั่นคงในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระอริยสงฆ์ ก็มีท่านสุปปพุทธกุฏฐิ เป็นต้น แต่ความจริงทุกองค์ที่ท่านเป็นพระโสดาบันก็มีความเคารพนับถือ มั่นคงในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระอริยสงฆ์เหมือนกัน แต่ว่าท่านสุปปพุทธกุฏฐิแสดงออกชัดเจนมากอารมณ์เสมอกัน แต่ว่าไม่มีใครไปทดสอบ สำหรับท่านสุปปพุทธกุฏฐินี่มีการทดสอบจากพระอินทร์

เรื่องราวของท่านก็มีอยู่ว่า ท่านสุปปพุทธกุฏฐิท่านเป็นโรคเรื้อน แล้วก็เป็นขอทาน ท่านเดินไปเห็นพระพุทธเจ้ากำลังเทศน์ แล้วก็มีบรรดาประชาชนนั่งฟังเทศน์อยู่มาก เธอก็นั่งอยู่ไกลกว่าคนอื่นเขา พอได้ยินเสียงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ แต่ความจริงพระพุทธเจ้าเวลาเทศน์ ทรงมีปาฏิหาริย์พิเศษ คนจะนั่งใกล้คนจะนั่งไกล ถ้ามีความเลื่อมใสในพระองค์แล้ว

เสียงขององค์สมเด็จพระประทีปแก้วจะถึงเขาเสมอ และก็มีความชัดเจนแจ่มใส พอพระพุทธเจ้าเทศน์จบก็ปรากฏว่าท่านบรรลุพระโสดาบัน หลังจากนั้นองค์สมเด็จพระภควันต์ก็เสด็จกลับ ท่านสุปปพุทธกุฏฐิก็กลับ กลับมาก็นอนคิดถึงองค์สมเด็จพระบรมครู มีปีติคือความอิ่มใจมากที่ฟังพระธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคจำได้แล้วก็ปฏิบัติได้ ปลื้มใจ

ก็คิดว่าองค์สมเด็จพระจอมไตรถ้ารู้ว่าเราเป็นขอทาน แล้วก็เป็นโรคเรื้อน ถ้าหากทรงทราบว่าเราเป็นพระโสดาบัน ท่านจะดีใจมาก จึงคิดว่าในตอนเช้าจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลให้ทรงทราบ ตอนเช้าพอออกไปจากกระท่อม ตั้งใจจะไปเฝ้า ก็ไปพบพระอินทร์ลอยขวางหน้าอยู่ แสดงพระองค์ชัดว่าเป็นพระอินทร์ ตอนนั้นเห็นจะเป็นตัวเขียวๆ เพราะว่าเขาทราบกันว่าพระอินทร์ตัวเขียว

พระอินทร์ก็ถามว่า “...ท่านสุปปพุทธะขี้เรื้อน เวลานี้ท่านจะไปไหน...”
สุปปพุทธกุฏฐิก็บอกให้ทราบว่า “...เราจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า...”
พระอินทร์ท่านถามว่า “...การที่จะเข้าไปเฝ้ามีความประสงค์ยังไง...”
ท่านก็บอกว่า “...วานนี้เราฟังเทศน์ เราได้เป็นพระโสดาบัน วันนี้เราต้องการจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระภควันต์เพื่อกราบทูลให้ทรงทราบ...”

พระอินทร์ท่านก็พิสูจน์กำลังใจ จึงบอกว่า “...สุปปพุทธกุฏฐิ เธอเป็นโรคเรื้อน เป็นขอทานยากจน ถ้าเธอพูดตามเราพูด แม้ไม่ตั้งใจก็ตาม เราจะบันดาลให้เธอหายจากการเป็นโรคเรื้อน และจะบันดาลทรัพย์จากสวรรค์ให้เธอเป็นมหาเศรษฐี...”
ท่านสุปปพุทธกุฏฐิก็ถามว่า “...จะให้พูดอย่างไร...”

พระอินทร์ก็บอกว่า “...พูดอย่างนี้ก็แล้วกันนะ ไม่ต้องตั้งใจพูด พูดเฉยๆ ก็ได้ พูดว่าพระพุทธเจ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ แค่นี้ก็พอ ถ้าพูดได้ตามนี้เราจะบันดาลให้เจ้าหายจากโรคเรื้อนทันที มีรูปร่างหน้าตาสะสวย และก็จะบันดาลทรัพย์จากเมืองสวรรค์ลงมาให้ เอาเท่าไรก็ได้ ให้เป็นมหาเศรษฐีรวยกว่าใครทั้งหมด...”

พอพูดจบท่านสุปปพุทธกุฏฐิก็ชี้หน้าว่า “...พระอินทร์ถ่อยจงถอยไป การกล่าวคำอย่างนั้นไม่มีสำหรับเรา เรามีความเชื่อ มีความเลื่อมใสในสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระอริยสงฆ์แน่นอน ที่ท่านบอกว่าเราเป็นคนจน สำหรับโลกียทรัพย์เราจนจริง แต่เรามีความอุดมสมบูรณ์ด้วยอริยทรัพย์ คือคุณธรรม ท่านจงถอยไป...”

พอพระอินทร์ท่านมั่นใจว่าคนนี้เป็นพระโสดาบันแน่ ท่านก็หลีกไป ที่เอาเรื่องนี้มาพูดให้ฟัง ก็เป็นการเปรียบเทียบกำลังใจของบรรดาท่านพุทธบริษัทว่า กำลังใจของท่านมีความมั่นคงแบบสุปปพุทธกุฏฐิไหม

พระโสดาบันเคารพจริง..สำหรับพระดี
สำหรับพระสงฆ์ก็ต้องเลือก ไม่ใช่ว่าคนที่เป็นพระโสดาบันแล้วจะเลื่อมใสพระห่มผ้าเหลืองเสมอไป มีความเลื่อมใสจริงสำหรับพระดี ตัวอย่าง ภิกษุชาวโกสัมพี ทะเลาะกัน พระพุทธเจ้าทรงห้ามไม่ฟัง พรรษานั้นพระพุทธเจ้าเสด็จไปเมืองอื่น หลีกไปเสีย ไปป่าลิไลยกะ ไปโปรดช้างปาลิไลยกะ ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์
ชาวบ้านเห็นว่าองค์สมเด็จผู้ทรงสวัสดิ์ที่หลีกไปเพราะพระทะเลาะกัน

ในเมืองนั้นท่านบอกว่ามีพระอริยเจ้าที่เป็นฆราวาส ที่เป็นชาวบ้านนะ นับจำนวนแสนคน ท่านที่เป็นพระอริยเจ้าทั้งหมดไม่มีใครใส่บาตรให้พระพวกนั้นกินเลย พระพวกนั้นจะได้กินแต่ข้าวจากชาวบ้านที่ไม่ได้เป็นพระอริยเจ้าเท่านั้น ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะพระอริยะย่อมมีความฉลาด ไม่ใช้ศัพท์ว่าชั่วช่างชีดีช่างสงฆ์ ยังไงๆ ก็เกรงใจผ้าเหลือง อย่างนี้มันไม่ถูก

ต้องละสังโยชน์จึงจะเกิดประโยชน์
นี่จำไว้นะ เวลาปฏิบัติธรรมมันต้องตัด ไอ้สังโยชน์นี่ต้องศึกษาให้มาก อารมณ์พระโสดาบัน
๑.เคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ไม่กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย แม้แต่จะพูดเล่นๆ ก็ไม่พูด
๒.มีศีล ๕ บริสุทธิ์ และ
๓.ไม่ลืมความตายและรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ ไม่มีความปรารถนาอย่างอื่นนอกจากพระนิพพาน

จุดนี้ศึกษาให้ดี ถ้าจุดนี้ไม่ได้ ปฏิบัติไปก็ไม่มีประโยชน์ พระโสดาบันตามปกติมีอารมณ์สามประการดังกล่าวมานี้ ถ้าท่านได้ ท่านเป็นพระโสดาบัน ท่านก็จะเห็นว่าอาการที่กล่าวมานี้เป็นความรู้สึกธรรมดา ไม่หนัก แต่ถ้าอารมณ์อะไรตอนใดในสามอย่างนี้ยังมีความหนักอยู่บ้าง ก็อย่าเพิ่งคิดว่าท่านเป็นพระโสดาบันเสียก่อนสำเร็จ จะเป็นผลร้ายแก่ตัวท่านเอง ต้องได้จริงถึงจริง แม้ได้แล้วถึงแล้วก็ควรก้าวต่อไปอย่าหยุดยั้งเพียงนี้ เพราะมรรคผลเบื้องสูงยังมีต่อไปอีก

ติดอุปาทานต้องเวียนว่ายตายเกิด
เราก็หันไปมองไอ้ตัวเรากับตัวชาวบ้าน ชาวบ้านที่เขาแก่กว่าเราเขามีสภาพเป็นยังไง แล้วก็ชาวบ้านที่เขาตายไปแล้วเขามีสภาพเป็นอย่างไร ควรจะมองคนที่ตายไปแล้วไว้ คนที่ตายไปแล้วก่อนจะตายไอ้โน่นก็ของกู ไอ้นี่ก็ของกู เวลาเขาตายจริงๆ น่ะ เขาแบกอะไรไปได้บ้าง เวลาอยู่ก็โน่นก็ลูกของกู พ่อของกู แม่ของกู ผัวของกู เมียของกู หลานของกู ทรัพย์ของกู แล้วเวลาตายแล้วแบกอะไรไปบ้าง หมดไม่มีอะไรไปเลย

แล้วก็มานั่งนึกว่าไอ้นี่สภาพของคนจริงๆ ร่างกายจริงๆ มันไม่ใช่ของเรา และมันก็เป็นเรือนร่างที่แสนจะสกปรก เป็นเรือนร่างที่ซ่อมแซมยาก แล้วก็เป็นเรือนร่างที่มีแต่ความทรุดโทรมตลอดวัน แล้วก็เป็นเรือนร่างที่มีการพัง มีความพังไปในที่สุด มันไม่มีอะไรเป็นสาระเป็นแก่นสาร ถ้าเรายังจะติดร่างกายนี้อยู่อีก เราก็ต้องเกิดมามีความทุกข์อย่างนี้ แล้วก็ต้องมาทุรนทุรายอย่างนี้ เวียนว่ายตายเกิดหาที่สุดไม่ได้

อิทธิบาท ๔
เมื่อคิดถึงคนรัก ทั้งๆ ที่เรามองไม่เห็นหน้า ไกลกันแสนไกลแต่สามารถจะวาดภาพด้วยความรู้สึกของใจว่า คนรักของเรามีลักษณะรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ผิวพรรณแบบไหน แม้แต่อาการเยื้องย่างกรายในบางขณะเราก็จำได้ เพราะความรักมันเกิด สำหรับการเจริญพระกรรมฐานทุกกองเหมือนกัน ถ้าเรานั้นต้องการฌานสมาบัติหรือว่าต้องการตัดสังโยชน์ก็ใช้อารมณ์เหมือนกับชายรักสาว สาวรักหนุ่ม หนุ่มรักสาว

ทำจิตใจฝังจิตฝังใจจดจ่ออยู่ในสภาวะอย่างนั้น กรรมฐานกองนั้นๆ จิตมันก็ทรงตัว มีอารมณ์เป็นฌาน ฌาน ๔ นั้นต้องมี
๑.ฉันทะ คือมีความพอใจแบบนี้
๒.วิริยะเราจะต้องเพียรต่อสู้กับอารมณ์ของนิวรณ์ คืออารมณ์จิตฟุ้งซ่านที่ไม่เอาถ่าน มันคิดนอกลู่นอกรอยนี่ต้องตัด พยายามต่อสู้กับมัน ไอ้เรื่องจิตที่นอกลู่นอกทางนี่ หรือนอกรีตนอกรอย

เป็นของธรรมดา เพราะเป็นการกลับใจจากอารมณ์ที่ติดอยู่ในกิเลส จะถอนกิเลสนี่มันถอนยากเพราะมันติดอยู่นาน แต่ถึงกระไรก็ดี องค์สมเด็จพระพิชิตมารก็ตรัสว่า วิริเยนะ ทุกขมัจเจติ บุคคลจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร ยากแสนยากเท่าไรเพียรพยายามทำ เราก็สามารถจะคลายได้โดยไม่ช้า

๓.จิตตะ สนใจจดจ่ออยู่ในเหตุนั้นไม่คลาย รวมความว่ากรรมฐานกองใดก็ตามที่เราพึงปฏิบัติ ให้จิตใจจดจ่ออยู่เสมอ
๔.วิมังสา ใช้ปัญญาใคร่ครวญว่า ที่เราใจจดจ่อแล้ว ทำแบบนี้มันถูกต้องตามแบบแผนที่ท่านปฏิบัติได้มาแล้วหรือยัง
กำลังใจ ๔ ประการนี้แหละท่าน ถ้าทรงอยู่กับบุคคลใด บุคคลคนนั้นจะบรรลุอรหัตผลได้โดยไม่ช้า

แม้จะทำงานทางโลกก็ตาม ปฏิบัติทางธรรมก็ตาม ได้ผลดีทุกอย่าง ย่อมจะสำเร็จผลทุกประการไม่มีอะไรขัดข้อง เริ่มการปฏิบัตินี้เท่าที่ผมได้เคยเล่าให้ฟัง มันก็เป็นของไม่ยาก ถ้าเรามีกำลังใจ ๔ ประการครบถ้วน ต้องจำให้ดีนะว่า จิตของเราจะต้องจดจ่ออยู่เสมอ ฉันทะความพอใจ นั่งอยู่ เดินอยู่ นอนอยู่ ทำงานอยู่ กินอยู่ คุยอยู่ จิตจดจ่ออยู่ในกรรมฐานกองนั้นๆ ด้วยความพอใจ แล้วพยายามต่อต้านอารมณ์ฟุ้งซ่าน เอาใจจับกรรมฐานกองนั้นให้ทรงตัว ใช้ปัญญาพิจารณาว่ากรรมฐานกองที่เราทำนั้นถูกต้องหรือไม่

ไม่คบคนพาล
การไม่คบคนพาลหนึ่ง คบบัณฑิตหนึ่ง บูชาบุคคลที่ควรบูชาหนึ่ง จัดว่าเป็นอุดมมงคล คำว่าห้ามน่ะคือห้ามเราเองนะ ชาวบ้านพาลไม่สำคัญ อย่าให้ใจเราพาล ไอ้พาลนอกระบบได้ แต่พาลในเราไปไหนมันก็ไปด้วย เข้ามุ้งก็เข้าไปด้วย ออกจากมุ้งก็ไปด้วย เข้าส้วมมันก็ไปด้วย มันอยู่ที่ใจเรา อย่าทำใจของเราเป็นพาล รู้รักษาอารมณ์ใจ

การคบบัณฑิตก็คือ ทำใจของเราให้อยู่ในด้านของความดี นี่คบบัณฑิตภายในนะ บูชาบุคคลที่ควรบูชา คือท่านผู้มีคุณ บิดามารดา ครูบาอาจารย์ และผู้อุปการะ อันนี้ต้องบูชานะ คำว่าบูชานี่แปลว่ายอมรับนับถือ ไม่ใช่บูชาครูก็เอาธูปเทียนไปแหย่ตูดครู (หัวเราะ) เผ่นหมด คำว่าบูชาเขาแปลว่ายอมรับนับถือนะ คือยอมเคารพในท่านที่บูชา

ตัดอบายภูมิ
สังโยชน์สามเป็นองค์ของพระโสดาบันและพระสกิทาคามี พระโสดาบันและพระสกิทาคามี ท่านบอกว่าเป็นผู้มีสมาธิเล็กน้อย มีปัญญาเล็กน้อยแต่มั่นอยู่ในศีล ตามพระบาลีว่า โสดาบันและสกิทาคามีทรงอธิศีล อนาคามีทรงอธิจิต อรหันต์ทรงอธิปัญญา คำว่า อธิ แปลว่า ยิ่ง ทรงอย่างจริงจังการตัดสังโยชน์สามตัดสักกายทิฏฐิ ความจริงตัดตัวนี้ตัวเดียวเป็นอรหันต์

อารมณ์ของพระโสดาบันและสกิทาคามี จะมีความรู้สึกในการตัดสักกายทิฏฐิ เพียงแค่รู้สึกว่าเราจะต้องตาย ชีวิตเราตายแน่ ไม่สามารถอยู่ตลอดรอดฝั่ง ยืนยาวไม่ตลอดชั่วกัปชั่วกัลป์ มีความรู้สึกว่าต้องตายแน่ ข้อสอง วิจิกิจฉา ตัดความสงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ เมื่อตายแล้วถ้าทำความชั่วเสวยทุกข์จริง ถ้าทำความดีเสวยสุขจริง สีลัพพตปรามาส เมื่อมั่นใจว่าถ้าทำความชั่วตายแล้วจะมีทุกข์

ทำความดีขอยึดศีลเป็นที่พึ่ง ตายแล้วจะเป็นสุข เพราะอาศัยศีลเป็นที่พึ่ง ถึงแม้จะมีบาปกรรมมามากสักเท่าไรก็ตาม ก็เลยกั้นอบายภูมิได้ ศีลถ้ามั่นคงนะ แล้วถ้าจิตเป็นถึงพระโสดาบัน อบายภูมิสี่ดึงไม่ไหว พระโสดาบันจะไม่ต้องตกนรก ไม่ต้องเกิดเป็นเปรต ไม่ต้องเกิดเป็นอสุรกาย ไม่ต้องเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เลิกกัน การจะเกิดก็วนเวียนอยู่สองระดับคือ เป็นคนกับเป็นเทวดาหรือพรหม

ไฟนรกดับ
“...ที่หลวงพ่อสอนว่า ถ้าเป็นพระโสดาบันแล้วตัดอบายภูมิได้...”
“...ลงโทษไม่ได้ พระโสดาบันเขาห้ามลงนรก ถ้าลงแล้วไฟดับ พวกนี้ลงไม่ได้ ไฟดับ เขาห้ามลงนะ เดินไปขอบๆ นรกเขายังห้ามเอาเท้าแหย่เลย ถ้าเท้าแหย่เขตนรกไฟก็ดับ แต่ในเรื่องพระมาลัย ไอ้คนเขียนเขาเขียนตามใจชอบ พระมาลัยวิ่งปรี๊ดลงนรกไปเลยนี่ไม่ได้ เขามีระเบียบต้องขออนุญาตพระยายมเขาก่อน

พระมาลัยที่เราอ่านเป็นฎีกามาลัย ไม่ใช่บาลี มีบาลีอรรถกถา ฎีกาใช่ไหม อรรถกถาหมายถึงแปลบาลี มาอธิบายบาลีอีกที ไอ้ฎีกานี่ว่าตามชอบเลย ฉะนั้นหนังสือขั้นฎีกาก็ดี เกจิอาจารย์ก็ดี ฉันไม่อ่านหรอก อ่านไม่ได้เรื่อง ฎีกานี่เกจิอาจารย์นี่ โดยมากไม่อ่าน มันก็ว่าตามเรื่องของมัน ก็อ่านเฉพาะอรรถกถา อรรถกถาก็ต้องดูเหมือนกัน อรรถกถาองค์ไหนเป็นพระอรหันต์หรือเปล่า ถ้าไม่ใช่อรหันต์บางทีก็แก้ผิด

บางทีอธิบายผิดเหมือนกัน ถ้าท่านเป็นพระอรหันต์นี่ไม่ผิดแน่ เพราะท่านเป็นแล้วผิดน่ะผิดไม่ได้ แต่สังเกตดูอรรถกถานี่ อรหันต์ประเภทนี้จะไม่ใช่สุกขวิปัสสโก อย่างน้อยก็ต้องวิชชาสาม วิชชาสามก็น้อย เป็นฉฬภิญโญกับปฏิสัมภิทาญาณมากกว่า เพราะพวกนี้เขาทวนได้...”

ชีวิตเหมือนใบไม้ในป่า
พระธุดงค์ในป่าเขาจะมองดูต้นไม้เล็กและเขาก็จะมองดูต้นไม้ใหญ่ จะดูใบไม้ที่เขียวชอุ่ม มีความสดมีความสวย แล้วก็มองดูใบไม้ที่หล่นลงมา ดูทำไม ไม่รู้ (หัวเราะ) ไอ้ที่ดูนึกว่าใบไม้มันจะเป็นทองคำบ้าง จะมาขาย (หัวเราะ) เขาดูตอนนี้ก็มาเปรียบเทียบกับชีวิตว่า

ไอ้ชีวิตของเรามันก็มีสภาพเหมือนกับใบไม้และต้นไม้ ทีแรกก็มีสภาพเหมือนต้นไม้เล็กเล็ก ค่อยๆ โต มันเติบโตทีละน้อยๆ มันมีต้นแล้วมันก็มีกิ่ง มีกิ่งแล้วก็มีก้าน แต่ละก้านมันก็มีใบ ทีนี้ดูใบแต่ละใบก็เต็มไปด้วยความเขียวชอุ่ม ไปดูใบใหม่มันเขียวมันสดใสน่ารัก ไปดูดูใบเก่ามันเริ่มเหี่ยวแห้ง แล้วก็มองดูใบไม้ที่หล่น ในที่สุดมันก็หล่นลงมา

ไอ้ชีวิตของเราก็คงเหมือนกัน มันเคลื่อนเข้าไปหาความตายเช่นเดียวกับใบไม้หรือต้นไม้ที่ตาย มันเติบโตขึ้นทีละน้อยๆ ไอ้ใบเก่ามันก็ผลัดใบหล่นลงมา ใบใหม่มันก็เกิดขึ้น ก็เหมือนกับชีวิตและร่างกายของเรา ที่พระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่าเป็น สันตติ มันตายอยู่ทุกวัน ของเก่าที่เรากินเข้าไป อาหารเก่าที่เรากินเข้าไปบำรุงร่างกาย หมอเขาจะเรียกว่าอะไรก็ช่างเถอะ มันก็มีความเสื่อมมีการสลายไป ไอ้เราก็กินอาหารต่อไป

เขาเรียก สันตติ มันก็มีการสืบต่อ เราก็มองไม่เห็นความตาย แต่ความจริงเรามันตายทุกวัน เราจะเห็นอะไรมันตายล่ะ ไอ้อาหารมันตาย กินเช้าแล้วตอนสายมันก็หิว ถ้าอาหารมันไม่ตายตอนสายเราก็ไม่ต้องกิน หรือไม่อย่างนั้นกินเช้าแล้วตอนเย็นเราก็ไม่ต้องกิน กินวันนี้แล้ววันพรุ่งนี้ มะรืนนี้มันก็ไม่ต้องกิน แต่ความจริงนี่เราต้องกินทุกวัน ก็เพราะไอ้สิ่งที่มันอยู่ในร่างกายเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงมันหมดไป

สลายตัวไปเหมือนกับใบไม้เก่าๆ มันก็ค่อยหล่นลงไป แล้วใบใหม่มันเกิดขึ้นมา เราก็มองไม่เห็นว่าไอ้ต้นไม้นี่มันแก่หรือมันตาย ถ้าหากว่าอาหารมันไม่สามารถจะหล่อเลี้ยง มันหมดตัวเมื่อไร ขณะนั้นความตายจะปรากฏขึ้น ต้นไม้ก็ตาย แม้แต่ชีวิตของเราก็เหมือนกัน ในขณะบั้นปลายของชีวิต เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างไม่สามารถจะสืบต่อหล่อเลี้ยงได้ เราก็สิ้นชีพสังขารหรือที่เรียกกันว่าตาย สิ้นลมปราณ

นี่เขาก็จับเอาสภาวะของต้นไม้มาเป็นวิปัสสนาญาณ เทียบเรากับต้นไม้นี้มีสภาพเหมือนกัน ไอ้เกิดแล้วก็ตาย ตายแล้วก็เกิด ไอ้เกิดกี่ชาติกี่ชาติ สมมติว่าเราจะไม่ลงนรก ไม่เกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ให้เกิดเป็นคนทุกชาติ มันก็ทุกข์แบบนี้ ไม่มีชาติไหนที่จะมีความสุข แล้วเราจะนั่งหาความเกิดไปทำเกลือทำไม

เป็นพระโสดาบัน
บรรดาท่านพุทธบริษัทที่มีความเคารพในองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าเราเคารพแต่วาจานี้ไม่ได้มีประโยชน์ ทุกคนต้องมีความเคารพพระพุทธเจ้า มีความเคารพพระพุทธเจ้าแต่ไม่ปฏิบัติตามจะเกิดประโยชน์อะไร ที่องค์สมเด็จพระจอมไตรตรัสว่า คนที่เกาะชายสังฆาฏิตถาคตอยู่ แต่ไม่เคยเจริญพุทธานุสสติ ก็เหมือนไม่ได้เห็นตถาคตเลยข้อนี้ฉันใด ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย

หากว่าเราเองมีความเคารพในพระพุทธเจ้าแต่ไม่เคยปฏิบัติตาม ก็ไม่มีประโยชน์ เหมือนไม่ได้เห็นท่านเหมือนกัน การต้องการพระนิพพานนี่เขาทำกันอย่างไร ไม่ใช่ต้องการแต่ปาก ปากบอกว่าอยากจะไปพระนิพพาน แต่ละเมิดศีล มันไปพระนิพพานไม่ได้ สวรรค์ก็ไปไม่ได้ นี่จริยาของบุคคลทั้งหลายที่จะไปนิพพานได้ต้องปฏิบัติเบื้องต้นของนิพพานก่อน เบื้องต้นที่จะเข้านิพพานได้ก็เรียกว่า พระโสดาบัน

พอได้ยินศัพท์ว่าพระโสดาบันบางท่านก็ห่วงว่ามันยากเกินไป ความจริงอารมณ์ของพระโสดาบันน่ะยากสำหรับคนเลว แต่ว่าง่ายสำหรับคนดี จำไว้ด้วยนะ คือพูดตามความเป็นจริงว่า อารมณ์ของพระโสดาบันน่ะยากสำหรับคนเลว แต่ว่าง่ายจริงๆ สำหรับคนดี พระโสดาบันนี่เป็นไม่ยาก คนที่จะเป็นพระโสดาบันได้ก็

๑.มีปัญญารู้สึกตามความเป็นจริงว่า ชีวิตนี้มันต้องตาย ถ้าใครไม่นึกว่าตาย มันก็เลวเต็มที คนทุกคนเกิดมาต้องตาย ถ้าเราลืมความตายของเรา จงจำว่าเราเป็นคนเลวมาก เพราะว่าทุกวันทุกเวลาเราเดินเข้าไปหาความตาย

๒.พระโสดาบันคิดว่า เราจะตาย การตายนี่มันไม่แน่ จะไปดีหรือไปชั่วเราไม่แน่ เราก็เลือกไปดี อันดับแรกก็ ยึดพระพุทธเจ้า ยึดพระธรรม ยึดพระอริยสงฆ์เป็นที่พึ่ง คำว่ายึดเป็นที่พึ่งนี่ไม่ใช่ไปนั่งนึกอย่างเดียว คือนึกถึงความดีของพระพุทธเจ้า นึกถึงความดีของพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

นึกถึงความดีของพระอริยสงฆ์สาวกที่นำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาบอกเรา ท่านมีความดี ยอมรับนับถือด้วยความจริงใจไม่เสื่อมคลาย ไม่สงสัย นี่คือข้อที่สอง มันก็ไม่ยาก
๓.สีลัพพตปรามาส เฉพาะฆราวาสก็รักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ เท่านี้
พระโสดาบันก็ดี สกิทาคามีก็ดี มีอารมณ์เท่านี้

ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าพระโสดาบัน พระสกิทาคามี สำคัญที่ศีล พระอนาคามีสำคัญที่สมาธิ คือศีลแรงแล้วตั้งแต่พระโสดาบัน ต้องมีสมาธิเข้มข้น พระอรหันต์สำคัญที่ปัญญา อันดับแรกเรายึดอารมณ์พระโสดาบันไว้ก่อน ถ้าเรายึดอารมณ์พระโสดาบันไว้ก่อนชาตินี้มีหวังนิพพานแน่ แล้วเมื่อเรายึดอารมณ์พระโสดาบันได้แล้ว ในที่สุดเราก็ยึดอารมณ์พระอรหันต์ เป็นของไม่ยาก

ฉะนั้นขอบรรดาท่านพุทธบริษัทจงใช้ปัญญา มีสติสัมปชัญญะให้มันสมบูรณ์พอควร คำว่าพอควรนั้นมันก็ลืมบ้าง ไม่ลืมบ้าง เป็นของธรรมดา ไอ้ความตายนี่ต้องนึกถึงทุกลมหายใจเข้าออก คือว่านึกได้ พอนึกขึ้นมาเมื่อไรคิดว่าเรานี่เดินเข้าไปหาความตายทุกลมหายใจเข้า ทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้าเราก้าวเป็นก้าวที่หนึ่ง คือก้าวขาขวาไปหาความตาย หายใจออกเหมือนก้าวขาซ้ายเดินเข้าไปหาความตาย

ก้าวแบบนี้บ่อยๆ ไม่ช้าก็ถึงความตายแน่นอน เราต้องตายแน่ แต่เมื่อคิดถึงความตายแล้วจงอย่ากระทำใจให้เศร้าหมอง ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แล้วก็พิจารณาตามความเป็นจริงว่าการเกิดนี่มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถ้าเรายังเห็นว่าการเกิดเป็นสุข ยังไกลนิพพานมาก คำว่าหวังนิพพานนี่ยังไกลมากเหลือเกิน อีกกี่อสงไขยกัปเราจะถึง ความจริงแล้วการเกิดของทุกคนมันเต็มไปด้วยความทุกข์ ทุกข์ภายนอกไม่มีมา

ก็มีทุกข์ภายในคือทุกข์ภายในร่างกายของเรา ความหิวมันก็เป็นทุกข์ ความป่วยไข้ไม่สบายก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาไม่ค่อยสมหวังมันก็เป็นทุกข์ ทุกข์มันมีประจำเราอยู่แล้ว ถ้าเราเห็นว่ามันไม่ใช่ทุกข์ มันเป็นสุข และโลกนี้เต็มไปด้วยความสุข นั่นก็แสดงว่าเราโง่มาก นิพพานเขาไม่คบคนโง่ นิพพานเขาคบคนฉลาด อันดับแรกต้องมองเห็นอริยสัจเบื้องต้นว่า

โลกนี้มันเต็มไปด้วยความทุกข์ ในเมื่อเราเห็นความทุกข์ เราทำใจให้เศร้าหมองไหม ถ้าทำใจให้เศร้าหมองหดหู่ก็ใช้ไม่ได้ ก็จัดว่าเป็นคนเลวเกินไป ในเมื่อเราอยู่ในห้วงของความทุกข์ เราต้องต่อสู้กับความทุกข์ ถือว่าการที่เราต้องเกิดมาเพื่อแสวงหาความทุกข์อย่างนี้เพราะเราโง่ เรายอมเป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรมมาในชาติก่อนๆ เราจึงเกิด

ถ้าเราไม่ยอมเป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทานมาในชาติก่อนๆ เราก็ไปนิพพาน กิเลส ก็แปลว่าความเศร้าหมองของจิต แปลอย่างนี้ฟังยาก กิเลสต้องแปลว่า อารมณ์ชั่วของจิต จิตชอบความชั่ว อยากได้ความชั่วมาเป็นสมบัติของเรา ความอยากเกิดขึ้น อุปาทาน อุปาทานนี้แปลว่า ยึดมั่นถือมั่น มันมีความยึดมั่นถือมั่นแน่นอนว่าไอ้ของชั่วเป็นของดี ต้องเอามาเป็นของเราให้ได้

อกุศลกรรม ทำอย่างคนโง่ อกุศล ก็แปลว่าโง่ ก็แสวงหาอาการชั่วๆ ทำสิ่งที่ชั่วให้เกิดขึ้นกับเรา เพราะอาศัยความชั่ว ๔ ประการครอบงำจิตเราจึงมาเกิดใหม่ เราจึงมีความทุกข์อย่างนี้ ในเมื่อชาตินี้เรามีความฉลาดและปรารถนาพระนิพพาน เราก็จะต้องพยายามทิ้งอารมณ์ของความชั่ว แต่พอเราอยู่ภายใต้อำนาจของความชั่ว คือร่างกายของเราก็ปล่อยมันไปชาติหนึ่ง

ถือว่าร่างกายเลวๆ อย่างนี้จะมีชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย กิเลสตัณหาอุปาทานมันจะบังคับอย่างไร ถ้าไม่เกินวิสัยที่เราจะฝืนมันได้เราก็ยอมทำ ถ้าสิ่งใดที่เราฝืนได้เราไม่ยอมทำตามมัน นั่นก็คือว่าเราจะมุ่งเอาพระนิพพานเป็นสำคัญ ฉะนั้นท่านทั้งหลายที่ต้องการพระนิพพาน วันนี้ก็ขอมอบบันไดขั้นแรกแก่บรรดาท่านพุทธบริษัทเพื่อไปนิพพาน ไปปฏิบัติตามสังโยชน์ ๓ ประการ ถ้าปฏิบัติไม่ได้ ไอ้ที่กล่าวว่า นิพพานะ ปัจจโย โหตุ ต่างๆ ส่งเดช มันไปไม่ได้หรอก

ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 26/6/12 at 15:00


วางเฉย
สังขารุเปกขาญาณ ก็หมายถึงการวางเฉย ไอ้ความจริงวางเฉยนี่มันพูดไปตามตัวหนังสือ หนังสือนะถ้าวางไว้มันก็เฉย เฉยไหม เฉยก็ตายแล้วใช่ไหม ไอ้คำว่าวางเฉยในที่นี้ก็หมายความว่า เราก็คิดว่าชีวิตนี้มันมีความทุกข์ ถ้าเราจะต้องเกิดอีกมันก็มีสภาพแบบนี้ คนที่มีฐานะต่ำที่สุด ที่เรียกว่ากันว่ามหาทุคตะ คือจนมาก กับคนที่มีระดับถึงมหาเศรษฐีก็มีสภาพเท่ากันคือทุกคนก็มีทุกข์ใช่ไหม

เพราะมีความหิวเหมือนกัน มีหนาวเหมือนกัน มีร้อนเหมือนกัน มีปวดอุจจาระปัสสาวะเหมือนกัน มันเป็นความทุกข์ แล้วเราทำยังไง เราก็ต้องคิดว่าต่อไปนี้เราก็ไม่ต้องการเกิด ใช่ไหม อารมณ์ที่ต้องการความเกิดไม่มีสำหรับเรา เราปฏิเสธการเกิดเสียเลย เราจะมีการเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย นี่เป็นการตัดอวิชชา อันนี้ถือว่าเฉยในการเกิดเสีย ใช่ไหม

แต่ว่าเฉยในการเกิด มันไม่ได้เฉยในอารมณ์ของความเป็นทุกข์ ไอ้ความทุกข์ทางกายมันยังคงมีอยู่ ยิ่งทุกข์มากเท่าใดเราก็มีความเบื่อมากเท่านั้น นี่เป็นเครื่องเตือนใจนะnถ้าเราเห็นว่าร่างกายมันเป็นทุกข์ หรือความเป็นอยู่มันเป็นทุกข์ เกิดมานี่ไปทางไหนมันก็ทุกข์ทั้งหมด มันเป็นตัวอริยสัจ

อริยสัจ
อริยสัจท่านขึ้นต้นด้วยความทุกข์ ต่อมาพระพุทธเจ้าท่านบอกว่าถ้าเราจะปลดเปลื้องความทุกข์ ก็ต้องหาเหตุของความทุกข์ ว่าอะไรมันเป็นทุกข์ อะไรมันทำให้เป็นทุกข์ นั่นก็คือตัณหา คำว่า ตัณหาก็ได้แก่ความอยาก ตรงนี้ก็สรุปสั้นๆ ได้ว่าอยากอะไรมันจึงเกิด ก็อยากเกิดหมดเรื่อง ใช่ไหม เพราะเราอยากเกิดเอง และปัจจัยที่ทำให้เราเกิดก็ได้แก่กิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรม

ทำลายเหตุให้เกิดทุกข์
จงอย่าลืมว่าเราฝึกฝนกันที่ใจ เรื่องกายนี้ไม่มีความหมาย กายมันเป็นที่อาศัยของใจ ความบริสุทธิ์ผุดผ่องจะมีขึ้นมาได้หรือไม่ได้ มันอยู่ที่ใจเป็นสำคัญ ถ้าใจดีเสียอย่างเดียว ปากก็พูดดี กายก็ทำดี ถ้าใจเลว ปากก็พูดเลว กายก็ทำเลว ฉะนั้นเวลาที่ฝึกจะต้องใช้ มัชฌิมาปฏิปทา คือทำปานกลาง หมายถึงว่าทำแบบสบายๆ อารมณ์ฝืนทางกายอย่าให้มี ปล่อยกายมันไปตามปกติ

มันอยากจะนอนก็ให้มันนอน มันอยากจะนั่งก็ให้มันนั่ง มันอยากจะเดินก็ให้มันเดิน มันอยากจะยืนก็ให้มันยืน ฉะนั้นเราจะทำลายทุกข์ให้พ้นไป และก็จะไม่มีกายขึ้นมาได้ก็ต้องทำลายตัวเหตุที่สร้างกายมารับความทุกข์ ตัวเหตุที่สร้างกายมารับความทุกข์ นั่นก็คือสมุทัย คำว่าสมุทัย ตัวเหตุให้เกิดทุกข์ก็ได้แก่ ตัณหา ๓ ประการ

๑.อารมณ์ความอยากได้ในสิ่งที่ไม่มี อยากจะให้มีขึ้น
๒.สิ่งที่มันมีขึ้นแล้วก็ตะเกียกตะกายป้องกันไม่ให้มันทรุดโทรม
๓.พอทรุดโทรม จะพัง ก็ป้องกันไม่ให้พัง ในที่สุดก็ป้องกันไม่ได้ มันก็เป็นทุกข์
ฉะนั้นเราต้องตัดจุดนี้ การตัดก็ตัดด้วยอริยมรรค คือสัมมาทิฏฐิ ตัวปัญญาความเห็นชอบ

และก็สัมมาสมาธิเป็นตัวสุดท้าย ตั้งใจไว้ชอบ การตั้งใจทรงอารมณ์เป็นของสำคัญ ถ้าอารมณ์มีความมั่นของจิต การทรงอารมณ์จิตดีหรือไม่ดีอยู่ที่ร่างกายสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ ถ้ากำลังร่างกายดี ประสาทดี จิตก็มีกำลังดี กำลังกายไม่ดี จิตก็มีกำลังไม่ดี ฉะนั้นก็ควรจะใช้ทั้งสองอย่าง คือ กำลังของจิตในเมื่อร่างกายสมบูรณ์ ได้แก่ สมาธิ เป็นตัวสนับสนุนสร้างกำลังให้มีอำนาจเหนือกว่าความต้องการ

ที่เรียกกันว่าฌานโลกีย์ นอกจากนั้นองค์สมเด็จพระชินสีห์ก็ตรัสว่า ต้องใช้ปัญญาพิจารณาด้วย ให้เห็นตามความเป็นจริงว่าร่างกายทั้งชายและหญิงมันเป็นอนิจจัง เป็นของไม่เที่ยง มันเป็น ทุกขัง มันเป็นทุกข์ มันเป็น อนัตตา พังไปในที่สุด

เมื่อร่างกายเป็น โรคนิทธัง มันเป็นรังของโรค ปภังคุณัง เน่าเปื่อยไปในที่สุด ขณะเมื่อทรงตัวอยู่ร่างกายก็มีแต่ความสกปรกโสมมหาอะไรดีไม่ได้ เมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศน์จบ ทรงชี้เหตุว่า เหตุนี้แหละบรรดาเธอทั้งหลาย ถ้าเธอสามารถปฏิบัติได้ตามนี้ กิจที่จะต้องทำของเธอก็ไม่มีอีกแล้ว

พระโคธิกะ
ดูท่านโคธิกะ ท่านโคธิกะไม่ได้โสดาบัน ได้ฌานโลกีย์เล็กๆ นิดๆ กระจุ๋มกระจิ๋ม แล้วท่านป่วยหนัก เมื่อป่วยหนักก็มา พอค่อยยังชั่ว เดี๋ยวก็ป่วย ค่อยยังชั่ว เดี๋ยวก็ป่วย เพื่อนเขาเป็นอรหันต์กันหมด ท่านได้แค่ฌานโลกีย์ ฌานก็เสื่อม ร่างกายไม่ดี ฌานมันก็โทรมตามร่างกาย ไอ้ฌานน่ะมันเกาะกาย เพราะยังปลดไม่ได้

บอกดีแล้ว ร่างกายระยำๆ แบบนี้ไม่เอามึงหรอก ถ้าร่างกายมันดีไม่เจ็บไม่ป่วยเราก็เป็นพระโสดาบันหรือเป็นอรหันต์ไปอย่างเพื่อนแล้ว ที่เป็นไม่ได้เพราะร่างกายเป็นพิษเป็นภัยเป็นศัตรู มันป่วยสกัด พอมีแรงหน่อยท่านก็เลยเอามีดโกนเชือดคอเลย เอ..ร่างกายระยำๆ ไม่ต้องการอีก

อรหันต์ตัดร่างกายตัวเดียว
ความเป็นอรหันต์เขาตัดที่ร่างกายตัวเดียว ไม่ได้ไปแก้ที่ตรงไหน แก้ตรงสักกายทิฏฐิ มีความเข้าใจตามความเป็นจริง ร่างกายจริงๆ นี่มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ถ้ามันเป็นเราจริงก็ต้องสาวนี่ ต้องไม่แก่ อยากแก่ไหม อยากแก่ไหม (พุทธบริษัทหัวเราะ) หาคนอยากแก่ไม่ได้ใช่ไหม ก็ไม่มีใครต้องการแก่ แต่เราก็ห้ามความแก่ไม่ได้ใช่ไหม เราไม่ต้องการป่วยเราก็ห้ามความป่วยไม่ได้

จิตเราไม่ต้องการตายเราก็ห้ามความตายไม่ได้ ก็แสดงว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันเกิดขึ้นด้วยกำลังของกิเลส ถ้าหากว่าเราไม่ต้องการมันอีก เราตัดมันได้ คำว่าตัด ไม่ใช่หมายว่าเชือดคอมันทิ้งแบบโคธิกะนะ เราตัดมันแค่เพียงว่าในเมื่อมันเกิดมาแล้วก็แล้วกันไป เพราะอารมณ์จิตชั่ว เราหลงคิดว่าร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา ตอนนี้เรารู้แล้วว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ช้ามันก็แก่ ไม่ช้ามันก็ตาย

ถ้าตายคราวนี้ก็เชิญตายไปซิ เป็นครั้งสุดท้าย ฉันไม่ตายกะใครอีกละ ฉันจะไปนิพพาน อย่างพระโคธิกะท่านตายเพราะโมโหขันธ์ ๕ คือร่างกายมันระยำ นี่ถ้าคิดกันอย่างหมิ่นๆ นะ พระโคธิกะจะต้องลงนรกเพราะจิตเศร้าหมองร่างกายไม่ดี โมโหร่างกาย แต่ท่านไปโมโหถูกจังหวะ ดันไม่ต้องการร่างกายเสียนี่ เลยไปนิพพานเลย

ให้ทานตัดกิเลส
ความจริงการให้ทานมันมีอยู่ ๒ อย่าง ให้ด้วยวัตถุและให้ด้วยกำลังใจ การให้ทานแก่คน การให้ทานแก่สัตว์ การถวายทานกับพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา การช่วยกันบำรุงในส่วนสาธารณประโยชน์ ทุกคนทำแล้วทั้งหมด ทั้งหมดนี่องค์สมเด็จพระบรมสุคตว่าการให้แบบนั้นน่ะดี ไม่ใช่ไม่ดี ถ้าให้เพราะเป็นเจตนาทั้ง ๓ กาล ก็มีอานิสงส์มาก ถ้ายิ่งให้กับท่านที่มีความบริสุทธิ์ เป็นแต่เพียงเชื่อว่าผู้รับเป็นพระอริยเจ้า

เราเองขณะให้มีจิตใจบริสุทธิ์ วัตถุทานไม่เบียดเบียนมาจากบุคคลอื่นก็มีอานิสงส์ใหญ่ นี่การให้ไปแล้วครั้งหนึ่งหรือหลายครั้งก็ตาม ถ้าจะหวังผลให้สมบูรณ์บริบูรณ์ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากจะคิดว่าเราให้ทานเพราะตายไปชาติหน้าเราจะเกิดมาเป็นคนที่จะไม่อดตาย นี่อย่างหนึ่ง แล้วประการที่สองถือว่า ทานัง สัคคโส ปาณัง ทานนี่เป็นบันไดให้เกิดบนสวรรค์นี่อย่างหนึ่ง ท่านบอกว่าให้อย่างนี้ก็มีผลดี แต่ว่าผลยังสั้นไป

ผลแห่งการให้ทานยังมีดีกว่านั้นอีก ถ้าเรานึกถึงการให้ทานไว้เป็นปกติ ก่อนจะหลับคิดน้อมไปว่าตั้งแต่เราเกิดมานี่เราเคยให้อะไรเป็นทานไว้บ้าง ถ้าเราจะทำได้ การใส่บาตรหน้าบ้านกับพระสงฆ์ก็เป็นการถวายทาน ให้ทานกับคนยากจนเข็ญใจเราก็เคยให้ เมื่อเพื่อนบ้านใกล้เคียงขัดสนยากจนใดๆ เกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดวิสัยเราจะสงเคราะห์ เราก็เคยให้ ให้ทานกับขอทานเราก็เคยให้

เป็นอันว่าการให้ประเภทนี้ที่เราให้ไป เราให้แล้วไม่ได้หวังผลตอบแทน เรามีความตั้งใจอย่างเดียวเพื่อจะเปลื้องให้เขาหมดทุกข์ตามกำลังที่เราจะพึงทำได้ ก่อนจะหลับนึกถึงทานการให้ อย่างเคยถวายสังฆทานก็ยิ่งไปกันใหญ่ ถวายสังฆทาน ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า แล้วก็สร้างวิหารทาน อันนี้ยิ่งหนักมาก เป็นอานิสงส์หนักบอกไม่ถูก เราคิดถึงอย่างนี้อยู่เป็นปกติ แล้วเวลาตื่นจากที่นอนใหม่ๆ เราน้อมใจนึกถึงทานการให้

ทำจิตให้ผ่องใส ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายคิดอยู่อย่างนี้เป็นปกติ มีจิตพร้อมที่จะบริจาคทานเพื่อเป็นการบรรเทาบำบัดทุกข์บำรุงสุขของบุคคลผู้รับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้กันจนหมดตัว ให้ในสิ่งที่เราไม่เกินวิสัยให้ แล้วไม่เดือดร้อน เรามีสิบบาท อาจจะให้ได้แค่ห้าบาท ถ้าจิตใจของบรรดาท่านพุทธบริษัทจับอยู่ในอารมณ์ของทานอยู่อย่างนี้ ท่านกล่าวว่าเป็นจาคานุสสติ แต่ว่าทานประเภทนี้เป็นขั้นลงทุน

ถ้าเราไม่ให้เงินเราก็ต้องให้ของ ให้วัตถุ แล้วมีทานอีกประเภทหนึ่ง มีอานิสงส์สูงมากกว่าวัตถุทาน แต่ว่าวัตถุทานนี้ก็ต้องยันไว้ก่อนนะ ประเดี๋ยวไม่ถึงนิพพานมันจะยุ่งทำไมให้วัตถุทาน การให้วัตถุทานย่อมเป็นเครื่องค้ำจุนเราให้มีความสุขในขณะที่มีชีวิต ถ้าไม่มีวัตถุทานเสียเลยจะลำบาก ทานอีกประเภทหนึ่งที่มีอานิสงส์สูงกว่านั้นก็คือ อภัยทาน ทานตัวนี้มีกำลังใหญ่และไม่ต้องให้ด้วยวัตถุ

แต่ให้ด้วยกำลังใจ คือให้อภัยกับคนที่เขามานั่งด่าเรา เขามานินทาเรา เขาคิดทรยศ คนเรานี้เคยเกื้อกูลมาแต่กลับเนรคุณ ไอ้การที่เขาเนรคุณเราไม่โกรธ นี่ลองน้อมใจพิจารณาดูว่าการให้อภัยอย่างนี้มันเป็นอะไร การให้ทานด้วยวัตถุเป็นปัจจัยตัดโลภะ ความโลภที่มีอยู่ในจิต ให้ไปกี่ครั้งไอ้ความโลภมันขาดไปทุกชิ้น ครั้งละชิ้นๆ ให้บ่อยๆ ความโลภมันก็หมดไป ถ้าหากว่าบรรดาท่านพุทธบริษัทให้อภัยทานมันตัดตัวไหนล่ะ

ถ้าเราให้อภัยทานมันก็ตัดโทสะ ความโกรธกับพยาบาท การจองล้างจองผลาญ นี่เป็นทานใหญ่จริงๆ
ทั้ง ๒ ประการนี้ ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัทมีครบถ้วน กำลังใจของท่านพุทะบริษัทจะมีแต่ความสุข มีแต่ความเยือกเย็น ถ้าตัดสองตัวนี้ไปไหน ใกล้นิพพานเต็มที ใกล้จริงๆ เพราะอะไร คนที่จะไปนิพพานไม่ได้มันก็มีแก่งอยู่ ๓ แก่ง คือ

๑.โลภะ ความโลภมันถ่วงใจ
๒.โทสะ ความโกรธ หรือความจองล้างจองผลาญที่เรียกกันว่าพยาบาท อีกตัวหนึ่งมันถ่วงใจ
๓.โมหะ ความหลง อีกตัวหนึ่ง
มันมีอยู่ ๓ ตัว ถ้าตัดความโลภไปได้แล้ว ตัดความโกรธเสียได้แล้ว มันก็เหลือแต่โมหะตัวเดียว

ความหลง นี่ไอ้เจ้าโมหะนี่ ถ้ามันขาดเพื่อนที่รักของมัน คือความโลภกับความโกรธ มันก็สิ้นกำลังเหมือนกัน จะมีกำลังเหลือก็แต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น นี่ถ้าเราเชื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรท่านบอกว่า
จิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคคติ ปาฏิกังขา ถ้าก่อนจะตาย ใจมีอารมณ์เศร้าหมอง ตายแล้วไปสู่อบายภูมิ จิตเต ปาริสุทเธ สุคติ ปาฏิกังขา เวลาที่ก่อนจะตายถ้าจิตใจผ่องใส นึกถึงทาน ศีล นึกแต่ผลความดีที่เราเคยทำและเราเคยภาวนา ถ้าอารมณ์จิตเป็นอย่างนี้ ตายแล้วไปสู่สุคติโลกสวรรค์ เป็นต้น


สรุปทานตัดกิเลส
ประการที่ ๑. ทำทานให้สมบูรณ์ ตัดโลภะให้ได้ อย่าคิดอยากจะคดจะโกงเขา อย่ายื้อแย่งทรัพย์สมบัติ ทำใจให้สบาย คิดว่าสมบัติของใครก็เป็นสมบัติของใคร เรามีใจอย่างเดียวต้องการจะปลดห่วงในทรัพย์สิน ให้คนอื่นมีความสุข ไม่หวังผลตอบแทน แต่ว่าไม่ใช่ให้เกินพอดี ต้องให้พอเหมาะพอควร

ประการที่ ๒. เรามีอภัยทาน ให้อภัยแก่บุคคลผู้ทำความผิดคิดไม่ชอบ ทำให้เราไม่ชอบใจ แทนที่จะโกรธเคืองกลับให้อภัย ถือว่าเป็นกฎของกรรมของเรา และของเขา
ประการที่ ๓. เราไม่เมาในชีวิต คิดอยู่เสมอว่าอัตภาพร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นเรือนร่างที่อาศัยชั่วคราว ตายแล้วเลิกกัน ร่างกายไม่มีสำหรับเราอีก ขึ้นชื่อว่าร่างกายที่ประกอบด้วยธาตุสี่ หรือธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ ไม่มีสำหรับเราอีก เราต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน

ถ้าจิตใจของทุกท่านคิดอย่างนี้เหมือนกันหมด ก่อนหลับคิดสัก ๓ นาที หรือ ๕ นาที ตื่นขึ้นมาคิดเสียอีกหน่อยหนึ่ง พอจิตมีอารมณ์ทรงตัว ตั้งจิตให้มันคล่องตลอดวันอย่างนี้ชื่อว่าปัจจัยพระนิพพานจะมีกับบรรดาท่านพุทธบริษัท

อุปสมานุสสติกรรมฐาน
อุปสมานุสสติ แปลว่า ระลึกคุณพระนิพพานเป็นอารมณ์ ตามศัพท์ท่านน่าจะแปลว่าระลึกถึงคุณของความเข้าไปสงบระงับจิตจากกิเลสและตัณหา ก็คือการเข้าถึงพระนิพพานนั่นเอง
ท่านแปลเอาความหมายว่าระลึกถึงคุณพระนิพพานนั้น เป็นการแปลโดยอรรถ ท่านแปลของท่านถูกต้องและเหมาะสมแล้ว ที่เขียนถึงคำว่าสงบระงับไว้ด้วยก็เพื่อให้เต็มความประสงค์ของนักคิดเท่านั้นเอง

อานิสงส์ที่ใช้อารมณ์ใคร่ครวญถึงพระนิพพานนี้มีผลมาก เป็นปัจจัยให้ละอารมณ์ที่คลุกเคล้าด้วยอำนาจกิเลสและตัณหา เห็นโทษในวัฏฏะ เป็นปัจจัยให้แสวงหาทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ อันเป็นปฏิปทาไปสู่พระนิพพาน เป็นกรรมฐานที่นักปฏิบัติได้ผลเป็นกำไร เพราะเป็นปัจจัยให้เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าได้อย่างสบาย ขอท่านนักปฏิบัติจงสนใจในกรรมฐานกองนี้ให้มากๆ

และแสวงหาแนวปฏิบัติที่เข้าตรงต่อพระนิพพานมาปฏิบัติ ท่านมีโอกาสจะเข้าสู่พระนิพพานได้อย่างไม่ยากนัก เพราะระลึกนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์นี้เป็นองค์หนึ่งในองค์สามของพระโสดาบัน ชื่อว่าท่านก้าวไปเป็นพระโสดาบันหนึ่งในสามขององค์พระโสดาบันแล้ว เหลืออีกสองต้องควรแสวงหาให้ครบถ้วน

พระนิพพานไม่สูญ
ท่านนักปฏิบัติได้กำหนดกรรมฐานในอุปสมานุสสตินี้แล้ว ท่านอาจจะต้องประสบกับปัญหายุ่งสมองในเรื่องพระนิพพานอีกตอนหนึ่ง เพราะบรรดานักคิดนักแต่งทั้งหลายได้พากันโฆษณามาหลายร้อยปีแล้วว่า พระนิพพานเป็นสภาพสูญ

อันนี้น่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดอะไรกันสักอย่าง เพราะมีพระบาลีบทหนึ่งว่า “นิพพานัง ปรมัง สูญญัง” แปลว่า นิพพานเป็นธรรมว่าอย่างยิ่ง ท่านอาจจะไปคว้าเอา ปรมัง สูญญัง โดยเข้าใจว่า สูญโญ เข้าให้ เรื่องถึงได้ไปกันใหญ่ เรื่องนิพพานสูญหรือไม่สูญนี้ผู้เขียนไม่ต่อล้อต่อเถียงด้วย เพราะเถียงกันไปก็หาเรื่องจมอยู่ในวัฏฏะเปล่าๆ เป็นเหตุของทุกข์ เจ้าทุกข์นี้เข็ดหลาบมันเหลือเกินแล้ว

มันไม่เมตตาปรานีใครเลย อยากก็ทุกข์ ไม่อยากก็ทุกข์ แต่ทุกข์เพราะไม่อยากเบากว่าทุกข์เพราะอยาก เลยสมัครใจเป็นพวกไม่ค่อยอยาก ถึงแม้จะตัดอยากไม่หมดก็ค่อยๆ ลดความอยากลง พอลืมตาอ้าปากเห็นพระจันทร์พระอาทิตย์ได้กะปริบกะปรอย เท่านี้ก็ครึ้มใจพอดูอยู่แล้ว ไม่ดิ้นรนจนสายเปลขาดหรอก ได้เท่าไรเอาเท่านั้น สบายใจดีแล

เรื่องของการเห็น
การโต้เถียงนิพพานสูญหรือไม่สูญระหว่างปุถุชนคนที่หนาด้วยกิเลสอย่างผู้เขียน กับเพื่อนรักเพื่อนเกลอผู้มีกิเลสหนาเหมือนกันนี้มีมานานแล้ว ตั้งแต่เรียนนักธรรมและเรียนบาลี จนแปลหนังสือได้เปะปะๆ กรรมการยกย่องว่าเป็นเปรียญ แปลว่าผู้รอบรู้ ก็ไม่เห็นมันหมดโง่สักที ไม่เห็นรู้อะไรจริง ยังโง่ดักดานอยู่จน

ทุกวันนี้ เรื่องนิพพานนี้เถียงกันมาหลายร้อยวาระ เถียงในที่ประชุมก็เถียง เถียงนอกวังเวียงก็เถียง เถียงกันบนธรรมาสน์เทศน์ก็เถียง เถียงกันจนเพื่อนคู่เถียงตายไปแล้วหลายสิบคน ผู้เขียนนี้ก็เกือบสิ้นลมปราณหลายครั้งหลายคราวมาแล้ว ตอนนี้แก่แล้วไม่หาคู่เถียง ไปเปิดหนังสือดูทีไรตำราท่านก็ว่านิพพานไม่สูญ

ท่านยืนยันว่านิพพานนั้นว่างจากกิเลสตัณหา ไม่มาเกิดในชาติภพที่มีกิเลสตัณหาอีกเท่านั้น เป็นอารมณ์จิตที่บริสุทธิ์ผ่องใสเกินอำนาจกิเลสตัณหาจะดึงมาไว้ในอำนาจได้ ท่านมีส่วนพิเศษของท่านส่วนหนึ่ง เหนือเทวดากับพรหม ท่านว่าอย่างนี้ชักจะงง เพราะท่านไม่ได้อธิบายมากกว่านี้

พบพระแปลกหน้าในป่า
ปี ๒๔๘๐ – ๘๒ สามปีที่กล่าวถึงเป็นปีนิยมไพร ออกธุดงค์ไปปักกลดที่แดนชิดเขตพม่า สายเมืองกาญจน์ เมืองกาญจนบุรี และเขตแม่สาย ในคราวธุดงค์นั้นพบพระผู้เฒ่ารูปหนึ่ง ท่านมาจากเขตพม่า ท่านทำอะไรได้แปลกๆ เช่นตอนเช้าท่านถามว่า วันนี้จะฉันปลาทูต้มยำไหม ถามว่าในป่าอย่างนี้จะเอาที่ไหนมาฉัน ท่านบอกว่าท่านจะไปจังหวัดสมุทรสาครจะเอามาให้

เกิดลองดีท่านจึงบอกว่า ผมชอบครับ ท่านคว้าบาตรออกเดินหายไปในป่า ประมาณครึ่งชั่วโมงท่านกลับมาพร้อมกับหม้อเคลือบสีเขียวขนาดกลาง มีปลาทูต้มยำเยอะ กำลังร้อน ท่านให้ฉัน ขณะฉันท่านบอกว่า แม่พ่วงเขาสั่งมาว่า บอกท่านมหาด้วย พรุ่งนี้จะหาข้าวตอกน้ำกะทิมาให้ฉัน เขาบอกว่าท่านชอบ พอท่านพูดก็สงสัยว่าท่านทราบได้อย่างไรว่าแม่พ่วงตลาดในเมืองจังหวัดสมุทรสาครนั้นชอบกับผู้เขียน

และท่านไปจังหวัดสมุทรสาครได้อย่างไร ถ้าจะเดินกันจริงๆ มันต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือนจึงถึง พอคิดเท่านั้นท่านก็พูดว่า ท่านคิดอย่างนั้นสำหรับปุถุชนคนธรรมดา ถ้าเป็นพระที่ได้อภิญญาอย่างผมไม่มีอะไรสำคัญ ได้ฟังท่านพูดก็ตกใจ ท่านอธิบายต่อไปว่า เรื่องอภิญญาเป็นของมีจริง และเป็นเรื่องเล็กๆ สำหรับท่านที่รักการปฏิบัติจริง เรื่องมรรคผลนิพพานสิเป็นเรื่องใหญ่ นิพพานที่เข้าใจกันว่าสูญนั้นเป็นการเข้าใจผิดชัดๆ

ความจริงนิพพานไม่สูญ เป็นแดนพิเศษที่เหนือเทวดาและพรหม มีความสวยสดงดงามมากกว่าเทวดาและพรหม มีความสุขละเอียดกว่า สุขุมกว่า ไปไหนมาไหนได้ตามสบาย ไม่มีสภาพสิ้นซากหรือไร้ความรู้สึก ถามท่านว่า ท่านเคยพบนิพพานแล้วหรือ ท่านบอกว่าพบแล้ว จึงออกจากวัดมาอยู่ป่า เมื่อวานนี้ฉันพบกับอาจารย์เธอที่วัดบางนมโค ท่านขอร้องให้ฉันสงเคราะห์เธอเรื่องนิพพาน ฉันจึงมาเพื่อสงเคราะห์ ท่านกรุณาแนะนำดังต่อไปนี้

การเห็นมีหลายชั้น
ท่านว่าสิ่งที่จะเห็นมีหลายชั้น แต่ต้องปรับปรุงตัวให้เหมาะสมพอที่จะเห็นได้ มนุษย์ธรรมดามีตาไว้สำหรับดูธาตุที่เป็นรูปและเป็นของใหญ่ ธาตุที่เล็กกว่าเล็นไรมนุษย์ก็มองไม่เห็น ตามนุษย์นี้เป็นตาที่ดูของหยาบมาก สู้ตาสัตว์เดรัจฉานเช่น ตาแมว ตาสุนัขไม่ได้ พอมืด มนุษย์แม้ของใหญ่ก็มองไม่เห็น

ส่วนสัตว์เดรัจฉานในป่ากลางคืนเดินหากินสบายไม่ต้องใช้คบเพลิงหรือตะเกียงส่องทาง เห็นหรือยังว่าตามนุษย์เลวกว่าตาสัตว์เดรัจฉาน ท่านถาม ตอบท่านว่าเห็นแล้วขอรับ ท่านเล่าต่อไป มนุษย์นี้ไม่สามารถเห็นพวกยักษ์ผี ที่เรียกว่าอสุรกาย เปรต และสัตว์นรกได้ ถ้าพวกนั้นเขาไม่ให้เห็น ความจริงพวกที่กล่าวถึงนี้มีกายหยาบมาก เห็นง่าย เสียงดังฟังชัด

พวกที่กล่าวแล้วนั้นก็ไม่สามารถเห็นเทวดาที่มีบุญญาธิการมากกว่าได้ ถ้าเขาไม่ต้องการให้เห็น เทวดาก็ไม่สามารถเห็นพรหมได้ ถ้าเขาไม่ต้องการให้เห็น พรหมก็ไม่สามารถเห็นพระอริยะที่เข้านิพพานได้ ถ้าท่านไม่ต้องการให้เห็น การเห็นนั้นมีคุณพิเศษละเอียดต่างกันด้วยบุญญาธิการอย่างนี้

มนุษย์ต้องการเห็น
ถ้ามนุษย์ต้องการเห็นพวกผี เปรต เทวดา ท่านให้เจริญกสิณกองใดก็ได้ แล้วฝึกทิพจักขุญาณมีระดับฌานเพียงอุปจารฌานหรือฌาน ๑ – ๒ เท่านี้ก็พอเห็นผีเทวดาได้แต่ไม่ชัดนัก แต่จะเห็นพรหมไม่ได้
ถ้าจะให้เห็นพรหม ต้องได้ฌาน ๔ ชำนาญ ทิพจักขุญาณจะแจ่มใสขึ้นสามารถเห็นพรหมได้ แต่จะเห็นพระนิพพานได้

ถ้าอยากจะเห็นพระนิพพาน ต้องเจริญวิปัสสนาญาณให้ได้บรรลุพระโสดาบันเป็นอย่างต่ำ อาศัยฌานที่ได้ไว้ในสมัยโลกียฌาน พอได้มรรคผลเป็นพระอริยะ ฌานนี้ก็กลายเป็นโลกุตตรฌาน และอาศัยผลที่เป็นพระอริยะ ท่านเรียกฌานที่ได้ว่า วิมุตติญาณทัสสนะ แปลว่า หลุดพ้นจากกิเลสพร้อมด้วยญาณเป็นเครื่องรู้ เท่านี้พระนิพพานก็ปรากฏชัดแก่ญาณจักษุ

ท่านว่าบนนิพพานก็คล้ายกับพรหม มีวิมานแต่วิจิตรกว่ามาก ร่างของท่านที่เข้านิพพานเป็นทิพย์ละเอียด ใสสะอาด ใสคล้ายแก้วประกายพรึก มีรัศมีสว่างมากกว่าพรหมอย่างเทียบกันไม่ได้เลย มีความสุขที่สุดอย่างไม่มีอะไรเปรียบ เพราะความรู้สึกอย่างอื่นไม่มี มีแต่จิตสงเคราะห์

เรียนถามท่านว่า พระที่เข้านิพพานแล้วอย่างพระอรหันต์ หรือพระพุทธเจ้า ท่านจะมาโปรดพวกที่ยังไม่บรรลุได้ไหม ท่านตอบว่ามาได้ เราจะได้ยินท่านได้เมื่อจิตเข้าสู่อุปจารฌาน ถ้าท่านต้องการให้ได้ยินเสียง จะเห็นท่านได้เมื่อมีอารมณ์จิตอยู่ในอุปจารฌาน แต่เห็นไม่ชัด

ถ้ามีอารมณ์ถึงจตุตถฌานหรือฌานสี่ และทรงฌานจนชำนาญแล้วจะเห็นชัดและได้ยินคำสอนเหมือนเห็นฉันนั่งอยู่ และพูดอยู่อย่างนี้ ท่านสรุปว่า เรื่องการเห็นมีเป็นระดับอย่างนี้ อย่าเถียงกันเรื่องนิพพานเลย ทำตัวให้ถึงเสียก่อนจะเห็นเอง เวลานี้เธอยังเป็นโลกียฌานอยู่อย่าเพิ่งคิดว่าดีแล้ว วิเศษแล้ว ยังไกลต่อความดีต่อความวิเศษมากนัก

คนที่รู้ว่าตัวดี คนนั้นยังไม่ถึงความวิเศษ คนใดไม่เห็นว่าไม่ว่าอะไรทั้งหมดในโลกนี้ เทวโลก พรหมโลก ไม่มีอะไรดีอะไรวิเศษ สิ้นความรักความพอใจทุกสิ่งทุกอย่าง ยอมรับนับถือกฎธรรมดา ผู้นั้นแหละถึงดีถึงความวิเศษแล้ว

เรื่องนิพพานท่านว่าอย่างนี้ ขอท่านผู้อ่านอ่านแล้วฟังหูไว้หู อย่าเชื่อเกินไป และอย่าเพิ่งปฏิเสธ จนกว่าท่านจะเข้าถึงวิมุตติญาณทัสสนะเมื่อไร เมื่อนั้นท่านเอาความบริสุทธิ์ของท่านและญาณเป็นเครื่องรู้พิสูจน์ ท่านจะทราบความจริงว่าท่านพระผู้เฒ่าพูดนี้ถูกต้องตามความเป็นจริง หรือคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

หลวงพ่อเคยเทศน์ว่านิพพานสูญ
เราเห็นเทวดาแล้วเราก็ไม่อยากมองมนุษย์ เราขึ้นไปถึงสวรรค์นี่เราไม่อยากมองมนุษย์ พอมองดูโลกมนุษย์มันเลอะเทอะไปหมด ถ้าเราไปเห็นพรหมเราก็ไม่อยากมองเทวดา เพราะว่าพรหมนี่ดีกว่าเทวดา ถ้าเราไปถึงนิพพานแล้วเราก็ไม่อยากมองพรหม นิพพานใครเขาว่าสูญก็สูญไปเถอะ ผมว่าไม่สูญหรอก ขี้เกียจสูญ เพราะผมสูญมาหลายปี ไปเทศน์สูญๆ เข้า พอไปเจอะนิพพานจริงๆ ต้องไปขอขมาเป็นแถว

ไปขึ้นธรรมาสน์บอก “...โยม ไอ้ที่เทศน์ไปเมื่อก่อนว่านิพพานสูญน่ะ ขออภัยด้วย ไม่จริงหรอก นิพพานไม่สูญ...”
โยมท่านก็ถามว่า “...เมื่อไม่สูญแล้วเทศน์ตะบันเทศน์ว่าสูญไปทำไม...”
ก็เลยบอกว่า “...ถ้ารู้มันก็ไม่สูญน่ะสิ แต่ว่ามันไม่รู้ใช่ไหม...”

ไอ้นี่เราต้องยอมรับความจริง อะไรก็ตาม ธรรมะของพระพุทธเจ้าถ้าเราพลาดไปจากความจริงแล้วต้องยอมรับ มิฉะนั้นเราจะทำให้คนเป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นอันว่าคนนั้นเขาอาจจะไปสวรรค์ได้ แต่ไอ้พระเทศน์ดันลงนรกนี่มันซวย ใช่ไหม มีเยอะ คนฟังเทศน์ไปสวรรค์ แต่พระดันไปนรก มีเยอะ

ความไม่ประมาท..ปัจฉิมวาจา
องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ตรัสเป็นปัจฉิมวาจาว่า อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ท่านทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ท่านบอกว่าความไม่ประมาทนี้เป็นภาวะใหญ่ในพระธรรมคำสั่งสอน เปรียบเหมือนกับรอยเท้าช้าง คือสัตว์ในป่าทั้งหมดจะมีรอยเท้าสัตว์ใดๆ โตเท่ารอยเท้าช้างไม่มี

เมื่อช้างเหยียบลงไปปรากฏรอยในที่ใด ถ้าสัตว์ทั้งหลายเอารอยเท้าหย่อนลงไปจะเล็กกว่ารอยเท้าช้างฉันใด บุคคลผู้หวังความดีในพระพุทธศาสนานี่ก็เช่นเดียวกัน บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย การปฏิบัติเพื่อความดีของบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน ขอให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทอย่างเดียว

ll กลับสู่สารบัญ