วัดท่าซุงจะเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรม วันที่ 3 ก.ย.นี้ เวลา 16.00 น.
webmaster - 11/8/13 at 19:46

สมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์

พระราชทานน้ำหลวงสรงศพ วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๖



.......สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯวางพวงมาลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพวงมาลาส่วนพระองค์ จากนั้นทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย และทรงทอดผ้าไตร (พระสงฆ์บังสุกุล) แล้วทรงหลั่งทักษิโณทก

จากนั้นพระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก เมื่อเจ้าพนักงานพระราชพิธีนิมนต์พระพิธีธรรมขึ้นนั่งยังอาสนสงฆ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องบูชากระบะมุกที่หน้าพระสวดพระอภิธรรม พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม จบแล้ว เสด็จฯประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ

จากนั้นในเวลา 19.00 น. พระพิธีธรรม ได้สวดพระอภิธรรม อีก 3 บท มีพุทธศาสนิกชนร่วมฟังสวดเป็นจำนวนมาก สำหรับ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2556 พุทธศาสนิกชนสามารถเข้าสักการะ แสดงความอาลัย เคารพศพได้ตลอดวัน แต่งดการสวดพระอภิธรรม 1 วัน

สำหรับพระธรรมทูตที่เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจ จำพรรษาในต่างประเทศ ต่างก็ทยอยกันจองตั๋ว เพื่อเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อร่วมงานบำเพ็ญกุศล พร้อมทั้งได้แจ้งว่า พระธรรมทูตในต่างประเทศ ที่ไม่สามารถเดินทางมาร่วมได้ ก็ได้จัดให้มีพิธีสวดอภิธรรมศพ ในวัดแต่ละประเทศ อาทิ วัดพุทธาราม เบอร์ลิน

พระพรหมสิทธิ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ กล่าวว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์มรณภาพลงอย่างสงบ และไม่ได้สั่งเสียอะไร สิ่งที่ท่านสร้างให้กับคณะสงฆ์ไทยมีมากมาย โดยเฉพาะการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศแถบทวีปยุโรป เป็นพระสงฆ์รูปแรกที่นำพระพุทธศาสนาของประเทศไทยไปเผยแผ่ให้ชาวต่างชาติรู้จัก แต่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาท่านต้องเข้าออกโรงพยาบาลเป็นประจำ เนื่องจากอาพาธ

ด้านพระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัดสามพระยา เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นพระเถระที่มุ่งมั่น นำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ยังต่างประเทศ ท่านมองว่าหากไม่มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจะกลายเป็นประวัติศาสตร์เหมือนประเทศอินเดียที่มีความเจริญและล่มสลายในที่สุด จึงหันกลับมามองในประเทศไทย และมุ่งนำพระพุทธศาสนากระจายออกไปยังต่างประเทศ ส่วนในประเทศไทยก็ให้พระสงฆ์ช่วยกันดูแลและให้มีวัตรปฏิบัติที่ดีต่อไป



ขอขอบคุณ : ข่าวสด, เดลินิวส์, ไทยรัฐ และคลิปรายการ "เรื่องเล่าเช้านี้" จาก Youtube





เจ้าประคุณหลวงพ่อ "สมเด็จพระพุฒาจารย์"

มรณภาพเนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด

โรงพยาบาลสมิติเวช แจ้งว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) หรือ สมเด็จเกี่ยว ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ได้มรณภาพแล้ว ขณะอายุ 85 ปี เมื่อเวลา 08.41 น. ที่ผ่านมา เนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด ทั้งนี้จะมีการแถลงรายละเอียดในช่วงบ่ายที่โรงพยาบาล และจะเคลื่อนศพออกจากโรงพยาล ในวันพรุ่งนี้ (11 ส.ค.) เวลา 10.00 น.

สำหรับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2471 ณ บ้านเฉวง ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดภูเขาทอง อำเภอเกาะสมุย ได้อุปสมบทที่วัดสระเกศ เมื่อปี พ.ศ. 2492 เป็นพระสงฆ์มหานิกาย และเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เคยเป็นผู้รักษาการแทนสมเด็จพระสังฆราช และปัจจุบันเป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระเถระที่มีอาวุโส โดยสมณศักดิ์สูงสุดของมหาเถรสมาคม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อปี พ.ศ.2533

ด้าน นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือ พศ. เปิดเผยถึงการจัดเตรียมงานบำเพ็ญกุศล ว่า ในส่วนของ พศ. ได้จัดเตรียมสถานที่ คือ วัดสระเกศ และจัดเจ้าหน้าที่ประสานงานในพิธี โดย 7 วันแรก จะเป็นงานในพระบรมราชานุเคราะห์ ก็จะเป็นส่วนของพระราชวังที่ดำเนินการเป็นหลัก โดยกำหนดการเบื้องต้นจะเคลื่อนศพ สมเด็จเกี่ยว ออกจากโรงพยาบาลในวันพรุ่งนี้ 10.00 น. มาบำเพ็ญกุศลยังวัดสระเกศ เพื่อเข้าสู่พิธีพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ เวลา 17.00 น. และสวดอภิธรรมต่อไป

ส่วนสาเหตุการมรณภาพ ต้องรอความชัดเจนจากคณะแพทย์โรงพยาบาลสมิติเวช อีกครั้งในช่วงบ่ายนี้ ทั้งนี้ทางรัฐบาลก็ได้สั่งการให้ พศ. ประสานกับฝ่ายคณะสงฆ์ ในการจัดงาน และรายงานให้ทราบเพื่อให้การสนับสนุน และแจ้งประชาชนทั่วไปให้ทราบ


วัดสระเกศ เปิดให้ ปชช.รดน้ำพระศพ พรุ่งนี้



ท่านเจ้าคุณ พระวิจิตรธรรมาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร แจ้งว่า ในวันพรุ่งนี้ 11 สิงหาคม 2556 ทางวัดสระเกศ จะเปิดให้ประชาชนรดน้ำศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ หรือ สมเด็จเกี่ยว ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าวันพรุ่งนี้ เวลา 10.00 น. จะทำการเคลื่อนศพจากโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท 49 ไปที่ศาลาการเปรียญ บริเวณตำหนักสมเด็จฯวัดสระเกศ

ขณะนี้กำลังรอสำนักพระราชวังแจ้งเวลาพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ อย่างเป็นทางการ รายละเอียดอย่างเป็นทางการ จะแจ้งโดยสำนักพระราชวัง ต่อไป โดยในขณะนี้ทางโรงพยาบาลสมิติเวช ยังไม่ยืนยันว่าจะมีการแถลงข่าวจากทีมแพทย์หรือไม่ ซึ่งทางสื่อมวลชนยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวอยู่อย่างใกล้ชิด


วัดสระเกศจัดสถานที่บำเพ็ญกุศล



บรรยากาศที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง และภิกษุ สามเณร ได้ช่วยกันจัดเตรียมสถานที่บำเพ็ญกุศลศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ หรือ สมเด็จเกี่ยว เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ที่ถึงแก่มรณภาพเมื่อเวลา 08.41 น. ของวันนี้ ภายในบริเวณ ศาลาการเปรียญ ใกล้กับทางเข้าพระบรมบรรพต วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานโกศไม้สิบสอง พร้อมฉัตรเครื่องประดับเพื่อให้สมเกียรติของสมเด็จพระราชาคณะ และพระราชทานพิธีสวดอภิธรรมเป็นเวลา 7 คืน รวมทั้ง ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินในการพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ ในวันพรุ่งนี้เวลา 17.00 น.

ทั้งนี้ พระพรหมสุธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กล่าวว่า พรุ่งนี้เวลา 09.09 น. จะมีพิธีเคลื่อนศพสมเด็จเกี่ยว จากโรงพยาบาลสมิติเวช มาตั้งบำเพ็ญกุศลยังศาลาการเปรียญ และในเวลา 12.00 น. จะเปิดให้พระเถระ ภิกษุ สามเณร และประชาชนทั่วไป เข้าสักการะและสรงน้ำศพตั้งจนถึงเวลา 16.30 น. ขณะที่บริเวณภายนอกศาลาการเปรียญ เจ้าหน้าที่จากกองออกแบบและก่อสร้างพลับพลาพิธี กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้จัดเดรียมสถานที่บริเวณลานด้านหน้าลานฌาปนกิจสถาน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมพิธีสวดพระอภิธรรมตลอดระยะเวลา 7 คืน

รายงานข่าวโดย : innnews.co.th



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานน้ำหลวงสรงศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ พร้อมพระราชทานโกศไม้ ๑๒ บรรจุสรีระสังขาร ประกอบเกียรติยศ และทรงรับศพไว้อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์เป็นเวลา ๗ วัน ขณะวัดเตรียมเปิดให้ประชาชนเข้าสรงน้ำศพ ที่ศาลาการเปรียญ ตำหนักสมเด็จฯ ตั้งแต่ช่วงบ่าย (13.00 - 16.30 น.) วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม 2556

ภาพข่าวจาก dailynews.co.th/thailand/225134


ประวัติโดยย่อ

จาก : dailynews.co.th/thailand/225083



(ภาพในอดีตสมัยที่ท่านมาร่วมงานประจำปีที่วัดท่าซุง ณ ศาลา ๒ ไร่)


สำหรับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.9) เป็นพระสงฆ์มหานิกาย ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เคยเป็นผู้รักษาการแทนสมเด็จพระสังฆราช ปัจจุบันเป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระเถระที่มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์สูงสุดของมหาเถรสมาคม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อปี พ.ศ.2533 มีนามตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า 'สมเด็จพระพุฒาจารย์ ภาวนากิจวิธานปรีชา ญาโณทยวรางกูร วิบูลวิสุทธิจริยา อรัญญิกมหาปริณายก ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

มีนามเดิมว่า เกี่ยว โชคชัย เกิดวันอาทิตย์ แรม 8 ค่ำ เดือน 3 ปีมะโรง (นับแบบปัจจุบัน) ณ บ้านเฉวง ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนบุตร 7 คน ของนายอุ้ยเลี้ยน แซ่โหย่ (เลื่อน โชคชัย) และนางยี (ยี โชคชัย) ครอบครัวทำสวนมะพร้าว ปัจจุบันสกุลโชคชัย หรือแซ่โหย่ เปลี่ยนชื่อสกุลเป็นโชคคณาพิทักษ์

สำเร็จการศึกษาขั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ในปี 2483 แต่ก่อนจะถึงกำหนดวันเดินทางไปเรียนต่อยังโรงเรียนใน ตัวเมืองสุราษฎร์ธานี เด็กชายเกี่ยวเกิดมีอาการป่วยไข้ขึ้นมาอย่างกะทันหัน บิดามารดาจึงบนบานว่าหากหายจากป่วยไข้จะให้บวชเป็นเณร ดังนั้น เมื่อหายป่วยจึงบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อ 6 มิถุนายน 2484 ที่วัดสว่างอารมณ์ ต.บ่อผุด โดยมีเจ้าอธิการพัฒน์เป็นพระอุปัชฌาย์

ความตั้งใจเดิมคือบวชแก้บน 7 วัน แล้วจะสึกไปเรียนต่อ แต่เมื่อบวชแล้วก็ไม่คิดสึก โยมบิดามารดาจึงพาไปฝากหลวงพ่อพริ้ง (พระครูอรุณกิจโกศล) เจ้าอาวาสวัดแจ้ง ต.อ่างทอง อ.เกาะสมุย ต่อมาหลวงพ่อพริ้งนำไปฝากอาจารย์เกตุ วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร แต่ไม่นาน กรุงเทพฯ ประสบภัยสงครามโลกครั้งที่สอง หลวงพ่อจึงรับตัวพาไปฝากอาจารย์มหากลั่น ต.พุมเรียง อ.ไชยา กระทั่งสงครามสงบจึงพา กลับไปที่วัดสระเกศ ฝากไว้กับพระครูปลัดเทียบ (ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นพระธรรมเจดีย์ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ)

ท่านศึกษาธรรมะจนสอบได้นักธรรมชั้นเอก และศึกษาปริยัติธรรม สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยคตั้งแต่ยังเป็นสามเณร เมื่อมีอายุครบอุปสมบทก็ได้อุปสมบทในวันที่ 1 พฤษภาคม 2492 ที่วัดสระเกศ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมวโรดม ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้นพ.ศ.2497 ท่านสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค อันเป็นประโยคสูงสุด

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้ง เลื่อนและสถาปนาสมณศักดิ์โดยลำดับดังนี้ พ.ศ.2501 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระเมธีสุทธิพงศ์ พ.ศ.2505 เป็นพระราชาคณะ ชั้นราช ที่พระราชวิสุทธิเมธี พ.ศ.2507 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพคุณาภรณ์ พ.ศ.2514 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมคุณาภรณ์ พ.ศ.2516 เป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ (รองสมเด็จ) ที่พระพรหมคุณาภรณ์

พ.ศ.2533 ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่ออายุ 62 ปี นอกจากนี้ เคยได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 9 และเป็นเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี 2508 ครั้นถึงพ.ศ.2516 เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และพ.ศ.2540 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนา มหาเถรสมาคม

เนื่องจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการประชวร และเสด็จเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มาตั้งแต่ต้นปีพ.ศ.2545 ทำให้เข้าร่วมงานพระศาสนาไม่สะดวก มหาเถรสมาคมจึงได้แต่งตั้งให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชในต้นปีพ.ศ.2547

ต่อมาการแต่งตั้งนั้นได้สิ้นสุดลงเพราะครบระยะเวลาที่กำหนด มหาเถรสมาคมจึงมีมติให้แต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระญาณสังวร โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ในฐานะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ที่สามารถปฏิบัติห น้าที่ได้ในขณะนั้นทำหน้าที่เป็นประธาน

สมเด็จพระพุฒาจารย์มีผลงานเขียนหนังสือหลายเล่ม ประกอบด้วย ธรรมะสำหรับผู้นับถือพระพุทธศาสนา, ดีเพราะมีดี, ทศพิธราชธรรม, วันวิสาขบูชา, การนับถือพระพุทธศาสนา, ปาฐกถาธรรมสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ), โอวาทพระธรรมเทศนาและบทความสมเด็จพระพุฒาจารย์, การดำรงตน และคุณสมบัติ 5 ประการ


ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 12/8/13 at 10:27

.