(จบภาค 3 ตอนที่ 46 พระนางจามเทวี) ยุคสุวัณณภูมิ สมัยพระเจ้าตวันอธิราช
webmaster - 13/11/17 at 07:42

<< ย้อนอ่าน ภาค 1 ได้ที่นี่ http://www.watthasung.com/wat/viewthread.php?tid=2348
<< ย้อนอ่าน ภาค 2 ได้ที่นี่ http://www.watthasung.com/wat/viewthread.php?tid=2413

สารบัญ (เลือกคลิกที่รายการ)

[01]
ภาค ๓ ตอนที่ ๑ พระเจ้าตวันอธิราชยกทัพไปเมืองปาตลีบุตร
[02] ตอนที่ ๒ พระเจ้าตวันอธิราชยกทัพไปเมืองปาตลีบุตร (ต่อ)
[03] ตอนที่ ๓ ชาติไทยกับ "หนังสือไทย"
[04] ตอนที่ ๔ ศิลาจารึกของชนชาติไทย
[05] ตอนที่ ๕ ศิลาจารึกของชนชาติไทย (ต่อ)
[06] ตอนที่ ๖ พระบรมราโชบายของ รัชกาลที่ ๕
[07] ตอนที่ ๗ ชาติไทยกับถิ่นดั้งเดิม
[08] ตอนที่ ๘ นักประวัติศาสตร์ต่างชาติ
[09] ตอนที่ ๙ ความรู้จากศาลาวัด
[10] ตอนที่ ๑๐ สุวรรณภูมิ..จากหนังสือ "ทิพยอำนาจ"
[11] ตอนที่ ๑๑ สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน ?
[12] ตอนที่ ๑๒ ลูกสุกรเกิดในสุวรรณภูมิ
[13] ตอนที่ ๑๓ ชาติสุดท้ายของ "ลูกสุกร"
[14] ตอนที่ ๑๔ "หลานย่า" สรุปความเห็นเรื่อง "สุวรรณภูมิ"
[15] ตอนที่ ๑๕ พระราชชีวประวัติ "พระแม่เจ้าจามะเทวี"
[16] ตอนที่ ๑๖ บันทึกของ "พระพี่เลี้ยงปทุมวดี"
[17] ตอนที่ ๑๗ บันทึกพิเศษ
[18] ตอนที่ ๑๘ พระราชพิธีสถาปนา และ เจิมพระขวัญ
[19] ตอนที่ ๑๙ พระราชพิธีอภิเษกสมรส
[20] ตอนที่ ๒๐ ปฐมกษัตรีย์แห่ง "นครหริภุญชัย"
[21] ตอนที่ ๒๑ สร้างวัดและเวียง
[22] ตอนที่ ๒๒ คนไทยคือเจ้าของแหลมทอง
[23] ตอนที่ ๒๓ ประวัตินครละโว้ ลพบุรี
[24] ตอนที่ ๒๔ ประวัตินครระมิงค์ ( เชียงใหม่ )
[25] ตอนที่ ๒๕ ประวัตินครหริภุญชัย ( ลำพูน )
[26] ตอนที่ ๒๖ กระทำสังคายนา "พระไตรปิฎก"
[27] ตอนที่ ๒๗ การเฉลยปัญหาธรรม
[28] ตอนที่ ๒๘ การเฉลยปัญหาธรรม ข้อที่ ๑
[29] ตอนที่ ๒๙ การเฉลยปัญหาธรรม ข้อที่ ๒
[30] ตอนที่ ๓๐ การเฉลยปัญหาธรรม ข้อที่ ๓
[31] ตอนที่ ๓๑ การเฉลยปัญหาธรรม ข้อที่ ๔
[32] ตอนที่ ๓๒ การเฉลยปัญหาธรรม ข้อที่ ๔ จบ
[33] ตอนที่ ๓๓ ทรงริเริ่มพระราชพิธีสืบชะตา
[34] ตอนที่ ๓๔ พระแม่เจ้าทรงประทานพระโอวาท
[35] ตอนที่ ๓๕ ทำสงครามกับขุนหลวงวิลังคะ
[36] ตอนที่ ๓๖ ทางเดินบั้นปลายของชีวิต
[37] ตอนที่ ๓๗ วาระสุดท้ายของชีวิต
[38] ตอนที่ ๓๘ ถวายพระเพลิงพระบรมศพ
[39] ตอนที่ ๓๙ ตามรอย..พระเจ้ารามราช (พระราชสวามีของพระแม่เจ้าจามเทวี)
[40] ตอนที่ ๔๐ ตามรอย..พระแม่เจ้าจามเทวี ณ วัดพระธาตุลำปางหลวง
[41] ตอนที่ ๔๑ ประวัติพระธาตุลำปางหลวง
[42] ตอนที่ ๔๒ ประวัติพระธาตุลำปางหลวง สมัยพระเจ้ากรุงสุวรรณภูมิ
[43] ตอนที่ ๔๓ บ่อน้ำเลี้ยงพระนางจามเทวี
[44] ตอนที่ ๔๔ พิธีการอัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์
[45] ตอนที่ ๔๕ พิธีอัญเชิญเครื่องสักการะ ทำประทักษิณรอบพระเจดีย์

[46] ตอนที่ ๔๖ อนุโมทนากถา (ตอนสุดท้าย)

[ ภาค 3 ตอนที่ 1 ]

(Update 6 พฤศจิกายน 2560)


พระเจ้าตวันอธิราชยกทัพไปเมืองปาตลีบุตร


.....เมื่อตอนที่แล้วได้ดำเนินเรื่องมาถึงก่อนที่ "พระโสณะ" จะนิพพาน ท่านให้ขอร้องให้ "พระเจ้าตวันอธิราช" ยกกองทัพไปช่วยทำศึก จะทราบว่าคนไทยนั้นรบเก่งจริงๆ ไปเมืองไหนก็ชนะหมด

เนื่องจาก "พระเจ้าอโศกมหาราช" สวรรคตแล้ว ทางชมพูทวีป (อินเดีย, อินทร) โดยเฉพาะภายในกรุงปาตลีบุตร เกิดการรบพุ่งแย่งชิงราชสมบัติกัน ประเทศราชต่างๆ ก็เกิดกระด้างกระเดื่อง พร้อมทั้งมอบ "ผ้ารัดอก" ให้พระเจ้าตวันอธิราชไว้ปกป้องคุ้มภัยด้วย

.....พระเจ้ากรุงสุวัณณภูมิเมื่อได้สดับคำของพระเถระดังนี้แล้ว จึงได้เตรียมกองกำลังทหาร แล้วยกทัพเดินทางผ่านช่องเขาผาเมือง ส่วน "ขุนแสนไพล" ให้เอาช้าง ๑๐๐ เชือก ทะลวงป่าเดินนำคนศึกผ่านเมืองมอญ

สำหรับ "ขุนภยาแมน" เป็นผู้คุมกองเรือมาร่วมสมทบที่เมืองมอญ ครั้นให้คนพักหายเหนื่อยพร้อมกันแล้ว จึงเคลื่อนทัพออกจากมอญถึงพม่า เมื่อพักรอขบวนเรือของขุนภยาแมนมาถึงแล้ว จึงพร้อมกันเดินทางไปเข้าที่ปากแม่น้ำคงคา

พระเจ้าตวันอธิราชเสด็จถึง "จัมปากะ" แห่งกรุงอังคะ เมื่อวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๗ ปี ๒๖๗ ขุนอังคาวีราชา พร้อมคณะเชิญเสด็จเข้าไปในเมือง พัก ๑๕ วัน ขุนอังคาวีตรัสเล่าว่า สมัยก่อนพระพุทธเจ้าเสด็จมาพักที่ใกล้ "ปากบ่อคัดครา" โคนต้นไม้จัมปา ทรงแสดง "ศีล" ให้ "โสณทัณฑพราหมณ์" ฟัง


(เรื่องนี้ปรากฏอยู่ใน "โสณทัณฑสูตร ทีฆนิกาย" ว่า "ริมฝั่งสระโบกขรณีคัคครา" ในที่นี้ เรียกตามภาษาไทยว่า "ปากบ่อ")

พระราโชบายหลังชนะศึกแล้ว

...เมื่อพระราชาอังคาวีได้เลี้ยงดูคนศึกตลอดแล้ว จึงได้พาไปถึงเมืองปาตลีบุตร เมื่อวันแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๗ ปี ๒๖๗ ในขณะนั้น "พระเจ้าวีตโศก" ได้สละราชสมบัติออกบรรพชา จึงให้น้องชื่อ "ภีรุก" ขึ้นครองแทน "ภีรุกราชา" และ "พระนางสุนันทา" พาเข้าเมืองพร้อมกับตรัสว่า

เมื่อพ่อ "พระเจ้าอโศก" สิ้น น้องทั้งหลายจะยึดเอาเมือง จึงได้ช่วย "พี่วีตโศก" ปราบปรามน้องนานถึง ๒ ปี และออกปราบปรามเมืองอื่น ๆ อีกตลอด ๗ ปี จึงสงบเรียบร้อย แต่เวลานี้ยังมี "พวกตลิงคะ" เมืองกลิงคราษฎร์ ไม่ยอมอ่อนน้อม ได้ตั้งตัวเป็นอิสระ ขอให้ไปช่วยกันทำศึกด้วย

ต่อมาพระเจ้าตวันได้เสด็จเข้าไปหาพระสหาย "พระวีตโศก" ที่บวชเป็นภิกษุใน "พระเวฬุวัน" พร้อมกับกราบทูลว่า

พระโสณะนิพพานปีกว่าแล้ว พระฌานียะ พระอุตตระ พระภูริยะ พระมูนียะ พระญาณจรณะ อยู่สุขสบายดี พระฌานียะเป็นหัวหน้าสงฆ์อยู่กรุงสุวัณณภูมิ ได้ให้ลูกเมียบำรุงเลี้ยงเป็นอย่างดี

ครั้นถึงวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๘ ปี ๒๖๘ จึงได้ยกกองทัพเข้าตีเมืองตลิงคะ โดยภีรุกราชาเข้าตีทางทิศใต้ พระเจ้าตวันตีทางทิศเหนือ อังคาวีราชาตีทางทิศตะวันตก อัตตาวีระตีทางทิศตะวันออก ๑๒ เดือนจึงตีเมืองตลิงคะแตก

การบุกเข้าตีเมืองตลิงคะคราวนี้ พระเจ้าตวันให้ทหารทำหวาายตับชุบน้ำมันยางพันตัว เพื่อป้องกันลูกธนู ทั้งทหารและช้าง ช้าง ๕ เชือกดันประตูพัง จึงได้เป็นเมืองขึ้นเมื่อวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ ปี ๒๖๙ นั้น

พระเจ้าตวันได้จับ "ขุนสิทธิเสวต" ผู้เป็นเจ้าเมืองไว้ได้ พระเจ้าภีรุกทรงรับสั่งให้ประหาร แต่พระเจ้าตวันตรัสห้ามว่าไม่ควรฆ่า ให้ยอมเป็นเมืองขึ้นดีกว่า แล้วปล่อยตัวเป็นอิสระทุกคน

ขุนสิทธิวสวต พาเมียและลูกสาวชื่อ ขุนหญิง "นราชีวากุมารี" ว่าเหลืออยู่เท่านี้แล้วร่ำไห้ พระเจ้าตวันตรัสว่า หน้าศึก

ฝ่ายขุนหญิงเมียชื่อ "เนสิวา" ว่าถิ่นนี้ ฆ่ากันทั้งนั้น มิฆ่า มิรับ ทำไม พระเจ้าตวันตรัสว่า เดิมพ้องเราไทยลว้า กินคนมานาน จึงขึ้นชื่อว่า "คนดุ" ล่วงนานมา สมัยขุนถิ่นทองกล่าวว่า คงกินกันหมดคนแน่

จากนั้นพระเจ้าตวันจึงให้เจ้าเมืองนับถือคุณพระรัตนตรัย แล้วยกเมืองคืนให้ แต่ทรัพย์สมบัติเงินทองยึดไว้ เชลยศึกคืนให้ครึ่งหนึ่ง พระเจ้าภีรุกอยู่จัดบ้านเมือง ๒ เดือน จึงเสด็จกลับกรุงปาตลีบุตร

ฝ่ายพระเจ้าตวันอยู่ดูแลที่นั่น ๖ เดือน ก็ได้ทราบข่าวว่ามีเมืองนาคโจฬ, เมืองบัณฑัย, เมืองอุชเชนี, เมืองสินธวะ ปั่นป่วนอีก จึงขอกำลังจากพระเจ้าภีรุกเพิ่มเติม แล้วเข้าทำศึกโดยมีขุนศึกคู่พระทัย ๒ คน คือ "ขุนภยาแมน" และ "ขุนแสนไพล" จนได้รับชัยชนะอีก

คราวนี้พระองค์ทรงใช้พระเมตตาธรรมอีกเช่นเดียวกัน คือไม่ประหารชีวิตเชลย แต่ขอให้ยอมเป็นเมืองเพื่อนกัน แล้วเพียงแต่ริบทรัพย์สมบัติไว้เท่านั้น ได้ทรงสอนให้เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และนิมนต์พระภิกษุทั้งหลายให้มาสอนศีลธรรม พร้อมกับทรงสอน "พระเจ้าภีรุก" ให้ถือเมืองเหล่านั้นว่าเป็นเมืองเพื่อนกันตลอดไป


นี่เป็นพระราโชบายอันเฉลียวฉลาด ถือเป็นพระปรีชาสามารถปราดเปรื่องยิ่งนักของพระมหากษัตริย์ไทย ที่ได้เสด็จไปทรงสร้างวีรกรรมความกล้าหาญไว้ ถือเป็นการชนะทั้งกายและใจ

นับเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ตลอดไปด้วย "พระเมตตาธรรม" ซึ่งประวัติศาสตร์ชาติไทยไม่มีบันทึกไว้ให้คนไทยทราบไว้แต่ประการใดเลย...

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 13/11/17 at 09:21

[ ภาค 3 ตอนที่ 2 ]

(Update 13 พฤศจิกายน 2560)


พระเจ้าตวันอธิราชยกทัพไปเมืองปาตลีบุตร (ต่อ)



(ขอบคุณภาพจาก th.wikipedia.org)

.....ขอย้อนความในตอนที่แล้วว่า สมัยพระเจ้าตวันอธิราชครองกรุงสุวัณณภูมินั้น พระองค์ทรงมีกองทัพที่เข้มแข็งมาก แม่ทัพบกคือ "ขุนแสนไพล" และ "ขุนภยาแมน" แม่ทัพเรือ ที่มีฝีมือรบเอาชัยชนะให้ได้ทุกครั้ง

หลัง พ.ศ. ๒๕๙ เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชสวรรคต พระโอรสและบริวารทั้งหลาย ต่างแย่งชิงกันเป็นใหญ่ เมืองขึ้นหลายเมืองต่างแข็งเมือง พระโสณเถระได้ทูลขอก่อนท่านนิพพานในปลาย พ.ศ.๒๖๔ ให้พระเจ้าตวันอธิราชยกทัพไปห้ามจลาจลในอินเดีย

แสดงว่าพระโสณเถระรู้ดีว่า กำลังรบของพระเจ้ากรุงสุวัณณภูมิมีสติกำลังความสามารถพอ พร้อมทั้งมอบ "ผ้ารัดอก" ของท่านไว้ป้องกันอันตรายด้วย กองทัพของพระเจ้าตวันอธิราชยกไปอินเดีย พ.ศ. ๒๖๗ ช่วยไกล่เกลี่ยและปราบกบฏอยู่ถึง ๖ ปี จึงกลับสุวัณณภูมิ (พ.ศ. ๒๗๓)

จากการที่ "พระเจ้าตวันอธิราช" ยกทัพไปช่วยคลี่คลายปัญหาที่เมืองปาตลีบุตรสำเร็จแล้ว พระองค์ทรงใช้เมตตาธรรม ถือเป็นเมืองเพื่อน คือแทนที่จะฆ่าฟันให้ล้มตายลง กลับให้อภัยซึ่งกันและกัน

นับเป็นพระราโชบายอันเฉลียวฉลาด ถือเป็นความปราดเปรื่องยิ่งนัก ของพระมหากษัตริย์ไทย ที่ได้เสด็จไปทรงสร้างวีรกรรมความกล้าหาญไว้ ซึ่งประวัติศาสตร์ชาติไทยไม่มีบันทึกไว้ให้คนไทยทราบไว้แต่ประการใด

ต้นกำเนิด "อักษรปัลลวะ"

.....หลังจากเหตุการณ์บ้านเมืองสงบแล้ว ในปี ๒๗๑ พระเจ้าตวันอธิราชประทับอยู่ที่ "อุชเชนี" จึงทรงรับสั่งให้ "ขอมปั่น" สอน "ลายสือขอม" และ "ลายสือไทย" แก่ชาวเมืองอุชเชนี, โกสัมพี, สินธวะ จนถึงปาตลีบุตร และตลิงคะ แล้วทรงให้ "ขอมฉิม" และ "ขอมใส" เป็นผู้ช่วย เพราะ "พระเจ้าภีรุก" ตรัสเล่าความเป็นมาว่า

ในเวลานี้พวกพราหมณ์หวงวิชาตัวสือ "เทวนาครี แต่ตัวสือไทยก็มีมากเกินไป ขอม, ครู, ชาวลวะ คนไทย เป็นผู้คิดสร้าง ของลวะคงไม่หวง และตัวสือ "พราหมิน" นี้ "พ่ออโศก" เป็นผู้ให้ "วิษณุคุปต์" เป็นผู้คิด แล้วให้ชื่อว่า "พราหมิน"

ตามที่ "วิษณุคุปต์" ผู้เป็นพราหมณ์ แต่นับถือพุทธศาสนา เป็นผู้ไม่ถือเผ่าพันธุ์ มีเมีย ทุกวรรณะ พราหมณ์ทั้งหลายจึงรังเกียจ ไม่นับถือว่าเป็นพราหมณ์

เมื่อพระเจ้าภีรุกขอ "ขอมปั่น, ขอมฉิม, และ ขอมใส" จึงให้บ้านและเมียพร้อม เพื่อให้ช่วยสอนหนังสือแก่ภิกษุสามเณร และคนทุกชั้นวรรณะที่เป็นพุทธบริษัททั่วไป แต่พวกพราหมณ์ที่หวงตัวอักษรก็ขู่ว่า ผีฟ้าใหญ่จะสาปแช่ง ถ้าผีฟ้าของคนลว้าเป็นผู้ยิ่งกว่าก็จงทำ

ภีรุกราชาตรัสว่า พวกพราหมณ์ถือว่ามาจากหัวพรหม จะไม่เอาอะไรจากคนชั้นเลว จะไม่กินข้าวที่กรรมกรทำ ไม่เอาสิ่งของอันทาสกรรมกรทำให้ แต่กลับปล่อยพาให้คนโง่เขลา

ส่วนองค์พระพุทธเจ้าสอนทั่วไปทุกเผ่า ทุกหมู่เหล่า นำปวงชนให้เข้าใจความชั่วความดี บาปบุญคุณโทษ จงทำดี แต่มิมีลายสือ ลายสือขอมจึงควรสำหรับพระพุทธศาสนาและคนทุกวรรณะ มิใช่ของพราหมณ์ เรา..เผ่าลวะ..ช่วยกันเองได้

ต่อมาพระเจ้าภีรุกจะแบ่งเมืองที่ตีได้ให้แก่พระเจ้าตวัน แต่พระองค์ตรัสว่า ขอมาช่วยบ้านเมืองที่นี่ให้สงบราบเรียบ แล้วจะกลับไปเมืองไทย ได้มีอำมาตย์ท่านหนึ่ง ถวาย "พระบรมสารีริกธาตุ" และ "พระธาตุ" ของพระอรหันต์ให้

พระเจ้าตวันจึงเสด็จเข้าทูลลาพระเจ้าภีรุก พอดี "ขุนสิทธิเสวต" เสด็จมาหาพร้อมลูกเมียและพี่น้อง ๖๕๐ คน และทหาร ๑ ๐๐๐ คน พร้อมลูกเมียเช่นกัน

พระเจ้าตวันจึงตรัสถามว่า เพราะอะไรจึงได้ทิ้งคนและเมืองมาอยู่ถิ่นนี้ ขุนสิทธิเสวตบอกว่าเคยได้ฟังมาว่า บ้านเมืองนี้ดีมีความสงบ ไม่มีร้อน คนดีมีความเอื้ออารี

พระเจ้าตวันอธิราชจึงเสด็จกลับถึงกรุงสุวัณณภูมิ เมื่อวันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๔ ปี ๒๗๓ ภายหลังได้พระราชทานวัว ๗๓๘ ตัว ข้าวพันเกวียน ที่พันไร่ให้พวกตลิงคะทำมาหากิน แล้วตั้งขุนสิทธิเสวตเป็น "เพื่อนต้น" ตำแหน่ง "เพื่อนต้น" คงมีมาตั้งแต่สมัยนั้น


.....หมายเหตุ ข้อความจารึกตอนนี้ แสดงว่าพระเจ้าตวันอธิราชได้ทรงนำพวกตลิงคำกลับมาเมืองสุวัณณภูมิด้วย พร้อมทั้งคงจัดสรรหาที่ทำกินให้กับครอบครัวของ "พระเจ้าสิทธิเสวต" อีกด้วย

ส่วนเรื่อง "เพื่อนต้น" นี้แสดงให้เห็นว่ามีมานานแล้ว ตราบเท่าสมัยรัชกาลที่ ๕ คนไทยจึงเริ่มรู้จักคำนี้กันอีกครั้ง ดังเหมือนกับว่า "พระเจ้าตวันอธิราช" กับ "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" เป็นองค์เดียวกันฉะนั้น จะเป็นการกลับชาติมาเกิดจริงหรือไม่ก็ตาม แต่พระราชจริยาวัตรนั้นทรงปรารถนา "พุทธภูมิ" เหมือนกัน

สำหรับเรื่องกำเนิด "อักษรปัลลวะ" นั้นไม่น่าเป็นไปได้ ว่าคนไทยจะเก่งขนาดนั้นหรือ จนนักปราญช์สมัยนี้ไม่ค่อยเชื่อถือ ส่วนใหญ่ยกความสามารถให้กับชาติอื่นทั้งสิ้น โดยเฉพาะกับชาวต่างชาติบางคน ถ้าบอกประวัติอย่างไรก็เชื่อถือไปหมด แต่ตาม th.wikipedia.org ให้ข้อคิด "อักษรปัลลวะ" ไว้น่าสนใจดังนี้ว่า

.....อักษรปัลลวะ เป็นอักษรสระประกอบที่มีต้นกำเนิดมาจากอินเดียใต้ มีอายุอยู่ในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 6 - 14 ซึ่งได้พัฒนาจนกลายเป็น "อักษรทมิฬ" และ "อักษรมาลายาลัม" ในปัจจุบัน อักษรดังกล่าวเคยใช้เขียนภาษาทมิฬและภาษามาลายาลัม โดยเข้าไปแทนที่อักษรแบบเดิม ซึ่งมีต้นกำเนิดจาก "อักษรพราหมี" และยังใช้เขียนภาษากลุ่มดราวิเดียนอื่น ๆ ด้วย

"อักษรปัลลวะ" เป็นอักษรชนิดแรกที่แพร่เข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นอักษรต้นแบบของ "อักษรมอญ" โบราณ "อักษรขอม" โบราณ และ "อักษรกวิ" ซึ่งอักษรทั้งสามประเภทก็เป็นอักษรต้นแบบ ให้กับอักษรเกือบทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


อ้างอิง - https://th.wikipedia.org/wiki/อักษรปัลลวะ
อ่านข้อคิดของนักวิจัยไทย - อักษรพราหมี-อักษรปัลลวะต้นกำเนิดอักษร มอญ ขอม ไทย https://www.unzeen.com/article/1347/
อ่าน - จารึกที่พบในประเทศไทย (แต่ไม่พบ "กเบื้องจาร") https://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=16&chap=4&page=t16-4-infodetail04.html

(โปรดติดตามตอน ชาติไทยกับ "หนังสือไทย" ต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 13/11/17 at 09:58

[ ภาค 3 ตอนที่ 3 ]

(Update 20 พฤศจิกายน 2560)


ชาติไทยกับ "หนังสือไทย"



...๑. พระพุทธรูป "หินสลัก" ว่า "กาตฺรา" แต่รูปสิงโต ๓ ตัวที่ฐานนั้น ยืนยันสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ยังมีลายสือพราหมิน ปรากฏที่ฐานชั้นบนยืนยันอีกว่า

"พุทฺธนิมิตโคตฺตม คิริอมรา อโศกเทวีปฺรญปฺ ตฐปิโต" แปลว่า พระพุทธนิมิตโคตตะมะ อันคิริอมรา พระเทวีของอโศกประกาศให้รู้ว่า ได้ประดิษฐานแล้ว

...๒. พระพุทธรูป "สำริด" ที่ "ดงสัก" จะเห็นลักษณะเดียวกัน ที่ข้างชานุมีรูปเสือทั้งสอง และประภามณฑลมีรูป "ดวงตะวัน" บอกสมัยตะวัน

พระเมาฬี และ ประคต จะเห็นเหมือนกัน สังเกตหน้า จะเห็นเหมือน "มนขอมพิษณุ" ซึ่งศิษย์ช่างทั้งหลาย เมื่อหล่อรูปเคารพ ได้สถาบกเลียนแบบขึ้นเป็นรูป

...๓. พระพุทธรูป "ดินเผา" คูบัว ซุ้มบนนั้นคือโขง ดูซุ้มจะเห็นลายปั้นเวียนซ้ายเวียนขวา สังเกตส่วนสั้นสมัยสุวัณณภูมิ ซึ่ง ซ้าย อ-๖ ขวา ด-๑ - "หลวงพ่ออ่ำ" เป็นผู้อธิบายภาพไว้ [/color]

.....เมื่อว่ากันถึงเรื่อง “ ภาษา ” คือการแสดง ให้รู้ด้วยการพูดก็ต้องมีภาษา คือแสดงให้รู้ด้วยการเขียนและการอ่าน ที่เรียกว่า “ ตัวอักษร ” หรือ “ ตัวหนังสือ ”

ในหนังสือ "ตํานานอักษรไทย" โดย "ศาสตราจารย์ยอช เซเดส์" นักโบราณคดีผู้มีชื่อเสียงชาวฝรั่งเศส ได้อ้างคําบรรยายของ "สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพ" ที่ทรงแสดงที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไว้ว่า


“ . . .อันตัวอักษรไทยมักเข้าใจกันว่า "พระเจ้ารามคําแหงมหาราช" หรือที่เรียกในศิลาจารึกว่า “ พ่อขุนรามคําแหง ” ซึ่งครองกรุงสุโขทัยทรงประดิษฐ์ขึ้นเมื่อ พ .ศ .๑๘๒๘ ด้วยในศิลาจารึกของพระองค์ กล่าวความไว้แห่งหนึ่งว่า

“เมื่อก่อนลายสือไทยนี้บ่มี ( มหา ) ศักราช ๑๒๐๕ ศก ปีมะแม พ่อขุนรามคําแหงหาใคร่ใจในใจ และใส่ลายสือไทย ลายสือไทยนี้ จึงมีเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้ ”

ถ้าสังเกตคําที่ใช้ในจารึกจะเห็นได้ว่า มีคําว่า “ นี้ ” อยู่ต่อคําว่า “ ลายสือไทย ” ทุกแห่ง หมายความว่า “ หนังสือไทยอย่างนี้ ” มิได้ประสงค์จะแสดงว่า หนังสือของชนชาติไทยเพึ่งมีขึ้นต่อเมื่อ พ .ศ .๑๘๒๘ . . . ”

( ในตอนท้าย "กรมพระยาดำรงฯ" ทรงสรุปความเห็นอย่างชัดเจนว่า )

“ . . .นอกจากสยามประเทศ ยังมีไทยอยู่ในจีน แดนตังเกี๋ย แดนพม่า ตลอดจน มณฑลอัสสัมแดนอินเดีย ยังพูดภาษาไทยด้วยกันทั้งสิ้น เป็นแต่สําเนียงเพี้ยนกัน

ส่วนอักษรซึ่งพวกไทยใช้อยู่ทุกวันนี้ ก็มีหลายอย่างมีเค้ามูลต่าง ๆ กัน แบบอักษรไทย ซึ่งพระเจ้ารามคําแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ขึ้นนั้น เป็นอักษรของพวกไทยกลาง ยังมีอักษรพวกไทยใหญ่ และของพวกไทยเหนืออีกต่างหาก . . . ”



.....เป็นอันทราบได้ว่า "ลายสือไทย" หรือ "หนังสือไทย" ได้มีมาช้านานแล้ว (ก่อนพ่อขุนรามคำแหง) แต่จะนานแค่ไหน ตามข้อสันนิษฐานของนักค้นคว้าสมัยก่อน มีความเห็นว่าเราอาศัย “ อักษรพราหมี ” ครั้งพระเจ้าอโศกมาเป็นต้นแบบ

หลักฐานจากหนังสือ "ตำนานอักษรไทย" โดย "ศาสตราจารย์ยอช เซเดส์" ก็ไม่ได้ระบุว่า "พ่อขุนรามคำแหง" เป็นผู้คิดประดิษฐ์อักษรไทย หรือเป็นความเข้าใจของคนไทยกันเอง ลองไปค้นหาหนังสือเล่มนี้อ่านให้ดีกันอีกครั้ง

อนึ่ง สมัยก่อนมีการขุดพบหลักฐานจาก “ โบราณวัตถุ ” ที่ปฐมเจดีย์ และในประเทศพม่า, ประเทศเขมร เป็นต้น ซึ่งตัวอักษรจารึกทั้ง ๓ แห่งนี้ เป็นอักษรชนิดเดียวกัน และเหมือนกับอักษรสมัย “ ราชวงศ์ปัลลวะ ” ซึ่งมีอํานาจในอินเดียราว พ .ศ .๖๐๐ – ๘๐๐

ผู้เขียนจึงขอนำตัวอักษร มาเปรียบเทียบระหว่าง “ อักษรพราหมี ” กับ “ อักษรปัลลวะ ” (ภาพตัวอักษรจะขอนำมาลงภายหลัง)

เมื่อเทียบแล้ว ก็คือลูกศิษย์กับอาจารย์ เป็นเพียงการปรับปรุงให้เขียนสะดวกขึ้น แล้วนำ “ อักษรขอม ” หรือที่เรียกว่า “ อักษรธรรมไทยใต้ ” ถ้าเทียบดูตัวต่อตัวอีกก็พบความจริงว่า เป็นการลอกแบบประกบตัวกันทีเดียว



.....ด้วยเหตุนี้ ทําให้นักวิเคราะห์สับสน ไม่รู้ว่าเราลอกมาจากเขา หรือว่าเขาลอกไปจากเรากันแน่ ทําให้สงสัยว่า “ ราชวงศ์ปัลลวะ ” นั้นเป็นใครมาจากไหน ขอท่านผู้อ่านโปรดสังเกตคําลงท้ายว่า “ ลวะ ” ซึ่งเป็นคําที่คุ้นอยู่ในประวัติศาสตร์ของชาติไทย เช่น ลวะรัฐ, ละโว้, ละว้า, ล๊วะ เป็นต้น

แต่ทว่าเมื่อได้อ่านพบในจารึก “ กระเบื้องจาร ” จึงหมดสงสัยทันที ปรากฏว่าเป็นคนไทย ชื่อ “ ปั่น ” ที่ไปจากสุวรรณภูมิเมื่อ พ .ศ .๒๗๐ ในสมัยพระเจ้าอโศกนี่เอง เรื่องอย่างนี้คงคาดไม่ถึงกันมาก่อน

เพราะฉะนั้น "อักษรปัลลวะ" ก็คือ "อักษรขอม" ที่คนไทยใช้อยู่เดิมนั่นเอง คนอินเดียจึงเรียก "ปัลลวะ" คงหมายถึง “ คนไทยที่ชื่อ ปั่น ” นี่เอง

...ทั้งนี้ก็เหมือนกับเราเรียกชาวอินเดีย ว่า “ แขก ” คนอินเดียสมัยนั้นคงจะเรียก คนไทยว่า “ ลวะ ” สังเกตดูคนไทยเวลาพูดกันชอบลงท้ายคําว่า “ ละวะ . .! ” เช่น “ กูไปละวะ . .! ” ดังนี้เสมอ คนชาติอื่นได้ยินแต่เขาฟังไม่รู้เรื่อง จึงเรียกพวกเราว่า “ พวกลวะ ” ไป...


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 20/11/17 at 05:40

[ ภาค 3 ตอนที่ 4 ]

(Update 27 พฤศจิกายน 2560)


ศิลาจารึกของชนชาติไทย


.....เนื้อความในตอนที่แล้ว ทำให้เราทราบว่าคนไทยมีการศึกษาเล่าเรียน "ตัวอักษรไทย" มาแต่โบราณ ทั้งนี้ มิได้มีเจตนาจะคัดค้านหรือทำลายความน่าเชื่อถือแต่ประการใด เพียงแต่ให้รู้ความจริงว่า คนไทยในแต่ละภาคหรือแต่ละท้องถิ่น มีการพูดการอ่านภาษาไทยมาก่อน

จนกระทั่งถึงสมัย "พ่อขุนรามคำแหงมหาราช" ได้รวบรวมหัวเมืองต่างๆ ไว้ในพระราชอำนาจ จึงได้ตรากฎหมายการใช้ตัวอักษรอย่างเป็นทางการตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เหมือนกับสมัยปัจจุบันที่เรามี "ราชบัณฑิตยสภา" เป็นผู้วางแบบแผนการใช้ศัพท์ไทยนั่นเอง จึงขอเล่าเรื่อง "ชาติไทยกับหนังสือไทย" ต่อไปว่า

.....โดยเฉพาะก่อนหน้านั้น พวกพราหมณ์หวงตัว อักษรเทวนาครี พระเจ้าอโศกจึงให้ “ วิษณุคุปตะ ” ซึ่งนับถือศาสนาพุทธคิด “ อักษรพราหมี ”

ต่อมา “ ครูปั่น ” ได้รับหน้าที่สอนหนังสือขอมให้แก่ชาวเมืองต่าง ๆ ในอินเดีย ซึ่งต่อมาลูกหลานคงจะมีโอกาสขึ้นเป็นใหญ่ในอินเดีย เรียกว่า “ ราชวงศ์ปัลลวะ ” หลังจากนั้นได้ถูกโค่นล้มไปในที่สุด

แต่เรื่องนี้ได้ความตรงกันกับ “ พระราชชีวประวัติพระแม่เจ้าจามะเทวีฯ ” ที่พระแม่เจ้าได้จารึกประวัติเมืองละโว้ไว้ว่า “ พระเจ้ากอมมันตราช ” ได้เป็นผู้สร้างเมืองราว พ .ศ .๒๐๐ เศษ ได้ใช้ อักษรขอม มาตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว อาจจะใช้มาก่อนหน้านั้นก็ได้ ทําให้เรารู้ว่า เรามีภาษาพูดภาษาเขียนของตนเองมานานแล้ว

เรื่องนี้ถ้านักค้นคว้าได้พบหลักฐานเช่นนี้ ก็คงจะภูมิใจในความสามารถของคนไทย เพราะตามที่ได้ทราบกันแล้วว่า ชาติไทยเป็นชนชาติที่เก่าแก่มีวัฒนธรรมประเพณีเป็นของตนเอง ทั้งได้อาศัยอยู่ในแหลมทองมานานแล้ว

ฉะนั้น ชนชาติที่เจริญด้วยอารยธรรมมีความสามารถทุกด้าน ทั้งในด้านการปกครอง การทหาร การทํามาหากินต่าง ๆ และมีความรอบรู้ในศิลปะทุกแขนง จึงเป็นชาติที่มีอํานาจและศักดิ์ศรี สามารถทรงความเป็นเอกราชมาตราบเท่าทุกวันนี้ จะเป็นไปได้หรือที่ไม่สามารถบัญญัติตัวอักษรขึ้นเป็นของตนเองบ้าง . . . ”

รวมความว่า หนังสือขอมมีมานานแล้ว แต่จะนานแค่ไหน ก็ยังเป็นปัญหาสําหรับนักค้นคว้าต่อไป เรื่องการสืบหาต้นกําเนิดจริง ๆ ทางด้าน “ ตํานาน ” คงจะหายาก เราลองมาศึกษาทางด้าน “ ศิลาจารึก ” กันบ้าง


ในหนังสือ "2400 ปี ในแหลมทอง" ของ "คุณกฤษณา เกษมศิลป์" มีความเห็นในเรื่องนี้ พอจะสรุปความได้ดังนี้


“ . . .ศิลาจารึกโบราณของชนชาติไทย ซึ่งส่วนมากจารึกเกี่ยวกับศาสนาพุทธ ซึ่งนิยมจารึกเป็นหนังสือขอม อันหนังสือขอม ( ไม่ใช่เขมร ) เป็นหนังสือที่พระสงฆ์ไทยฝ่ายใต้ ก็คือภาคกลางของเรานี่เอง นิยมใช้กันมาแต่โบราณ

ไม่ใช่พบจารึกเป็นภาษาขอมแล้ว หมายความว่าเป็นดินแดนของขอม ที่ขุดได้ในดินแดนประเทศไทยฝ่ายใต้และแถว ๆ ภาคกลาง ขณะนี้ ( พ .ศ .๒๕๑๖ ) ขุดได้แล้วประมาณ ๓๐ หลัก

แต่ที่จารึกเป็นอักษรไทยก็มี เป็นอักษรสันสกฤตก็มี ส่วนที่จารึกเป็นอักษรมอญโบราณที่พบได้มี ๒ แห่ง คือที่ ลพบุรี และ วัดโพร้าง จ .นครปฐม . . . ”


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 27/11/17 at 05:28

[ ภาค 3 ตอนที่ 5 ]

(Update 4 ธันวาคม 2560)


ศิลาจารึกของชนชาติไทย (ต่อ)


“ . . .ศิลาจารึกโบราณของชนชาติไทย ที่ขุดได้ในดินแดนประเทศไทยฝ่ายใต้และแถว ๆ ภาคกลาง ขณะนี้ (พ .ศ .๒๕๑๖) ขุดได้แล้วประมาณ ๓๐ หลัก แต่ที่จารึกเป็นอักษรไทยก็มี เป็นอักษร "สันสกฤต" ก็มี ส่วนที่จารึกเป็น "อักษรมอญโบราณ" ที่พบได้มี ๒ แห่ง คือที่ ลพบุรี และ วัดโพร้าง จ .นครปฐม . . . ”

เรื่องนี้คุณกฤษณากล่าวว่า เกือบทําให้ไขว้เขวไปเหมือนกัน เดิมเชื่อว่า “ อาณาจักรทวารวดี ” เป็นคนไทย แต่เมื่อขุดพบอักษรรุ่นเก่านี้เข้า จึงได้มีการสันนิษฐานว่าอาจเป็น “ อาณาจักรมอญ ” ก็ได้

แต่บังเอิญขณะนี้ มีผู้ยืนยันว่า "อักษรมอญ" นั้น เหมือนกับอักษรของคนไทยภาคเหนือ เพราะในครั้งนั้น คนมอญก็ยังมิได้มีอักษรของตนใช้

แต่มีผู้เชี่ยวชาญภาษามอญอีกท่านหนึ่งยืนยันว่า จารึกที่วัดโพร้างนี้ หาใช่ของมอญไม่ ท่านเข้าใจว่ายืมมาจากอินเดียฝ่ายใต้ คือ "อักษรคฤนห์" หรือ "ครนถ์" มาใช้

จึงได้ถามว่า “เมื่ออ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ยืมภาษาเขามาจารึกไว้ ให้ใครอ่านเล่า ?”

ตอนนี้คงไม่มีใครตอบได้ ฉะนั้น ถ้าจะพิจารณาให้ลึกซึ้ง เราก็จะพบว่าอาณาจักรทวารวดี ซึ่งตั้งอยู่ในพระราชอาณาจักรไทย บัดนี้ มอญหรือชาติมอญไม่ได้มีส่วนเกี่ยวเลย . . . ”


จึงขอเปรียบเทียบระหว่าง "อักษรมอญ" หรือรามัญ กับ "อักษรไทยเหนือ" ว่าจะมีลักษณะพอสมเหตุสมผลกันหรือไม่


...ในตอนนี้ผู้เขียนขอแทรกความเห็นบ้าง ทั้งที่ไม่ค่อยจะถนัด และท่านผู้อ่านก็คงจะสงสัยเช่นเดียวกันว่า "อักษรมอญโบราณ" มาปรากฏอยู่ทางเขตนี้ได้อย่างไร

ทีนี้ก็ต้องย้อนกลับไปที่ “บันทึกสมุดข่อย” ของพระแม่เจ้าจามะเทวี ที่พบภายในถ้ำขุนตาล โดย "คุณสุทธิวารี" ตามที่ได้เสนอผ่านไปแล้วนั้น ก็จะพบคําตอบได้ดีที่สุด

...เนื่องจากศิลาจารึกที่พบใน จ .ลพบุรี นั้น นักค้นคว้าคงจะลืมไปว่า เป็นสมัยใกล้เคียงกับที่พระแม่เจ้า ซึ่งเป็นคนไทยเหนืออาศัยมาก่อน หลังจากที่ได้ขึ้นไปครองนครหริภุญชัยแล้ว ภายหลังได้ทรงตรา “อักษรรามัญ” ( ลานนา ) ขึ้นใช้เป็นครั้งแรก และคงจะแพร่หลายลงมาถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้ด้วย

รวมความว่า ท่านผู้อ่านได้ทราบกําเนิด "อักษรรามัญ" หรือว่าลานนาแล้ว ส่วนกําเนิด "อักษรขอม" และ "อักษรไทย" มีประวัติอย่างไร ใครเป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้นมาใช้เป็นคนแรก ขอทิ้งปัญหาไว้เพียงแค่นี้ก่อน

ต่อไปจะนํามาให้อ่านกัน แต่อาจจะไม่ตรงกับ “ตํานานอักษรไทย” ที่ฝรั่งพิมพ์ไว้ ตั้งแต่ พ .ศ .๒๔๗๒ ก็ได้ แต่ท่านผู้นั้นก็ให้ข้อคิดไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วว่า

“ . . .ชาวอินเดียเห็นจะเริ่มมีมาตั้งภูมิลําเนาอยู่ในประเทศนี้ และได้เป็นครูของชาวเมือง ตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าอโศก แต่นักปราชญ์ผู้ศึกษาโบราณคดียังไม่ได้พบหลักฐาน จะเป็น “จารึก” หรือ “หนังสือ” อย่างใด ๆ ซึ่ง “ชาวอินเดีย” หรือ “คนพื้นเมือง” เขียนไว้แต่ครั้งโน้นเลย . . . ”

ครั้นมาถึงปัจจุบันนี้ ถ้าหากจะนับเวลา ตั้งแต่บัดนั้นมาถึงที่ขุดพบกระเบื้องจารได้ เมื่อ ปี ๒๕๐๖ ประมาณเกือบ ๔๐ ปีล่วงมาแล้ว ถ้าท่านผู้นั้นยังมีชีวิตอยู่ก็คงจะดีใจ ที่ได้ทราบเรื่องราวโดยความเป็นจริงทุกอย่างว่า

กําเนิดอักษรไทยก็มาจากคนไทย อักษรขอมก็มาจากคนไทย ที่ได้คิดประดิษฐ์ด้วยความสามารถของตนเอง ในผืนแผ่นดินไทยนี้มาช้านานแล้ว มิได้ถือต้นกําเนิดจาก “อักษรเฟนิเซียน” แต่ประการใด

โดยเฉพาะ "แหลมทอง" หรือ “สุวัณณภูมิ” นี้มิเคยเป็นของชนชาติใดมาก่อน เราได้รักษา “เอกราช” และ “เอกลักษณ์” ตั้งแต่โบราณกาลมาจนตราบเท่าถึงทุกวันนี้ เราคนไทยจึงได้ภูมิใจว่า มิได้ลอกแบบใคร มิได้อพยพมาจากไหน เราเป็น.. “ พวกกันละวะ ” กันมาช้านานแล้ว

จึงขอนำตัวอย่างที่คนสมัยนั้นจารึกไว้ใน “กระเบื้องจาร” มายืนยันให้ทราบสักแผ่นหนึ่งก่อน ซึ่งเป็นเรื่องราวที่จะต้องถอยหลังไปนานนับพันปี เกินกว่าที่ฝรั่งคาดคิดเอาไว้เสียอีก โดยผู้ขุดพบได้อธิบายไว้ดังนี้

“. . .ลายสือไทย และตน (ตัว) เลขไทย แผ่นที่ ๒๔๔ หน้า ๒ ขุนเลกไทย เขียนไว้ เมื่อปีอิน ๑๒๗๗ คือเมื่อ ๖,๘๘๔ ปีมาแล้ว


..........( บรรทัด ๑ ) ก ขซ คค ฆ ง ฉ
..........( บรรทัด ๒ ) ช ซ ญ ฎ ฏ ฐ ฑฒ
..........( บรรทัด ๓ ) ณ ดต ถน ทธ บป ผฝ
..........( บรรทัด ๔ ) พ ฟ ภ ม อ ย
..........( บรรทัด ๕ ) รล ส ห ร ๑ ๒ ๓
..........( บรรทัด ๖ ) ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๑๐

ลายนี้มีเพียงเค้าๆ เท่านั้น ตัวเลขก็เขียนซ้อนกัน ๔ ๕ ดูเหมือนกัน สิ่งที่ต้นไทยกระทำไว้ ลูกหลานต่อ ๆ มาจึงอ่านออกและรู้ความได้ บัดนี้ได้ปรากฏแล้ว . . . ”


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 4/12/17 at 05:57

[ ภาค 3 ตอนที่ 6 ]

(Update 11 ธันวาคม 2560)


พระบรมราโชบายของ รัชกาลที่ ๕


.....ต่อไปนี้เรามาลองศึกษาความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์กันต่อไป โดย คุณกฤษณา เกษมศิลป์ ได้เขียนลงในหนังสือ "๒๔๐๐ ปีในแหลมทอง" ขอนำมาโดยย่อดังต่อไปนี้

“.....เป็นธรรมเนียมของคนไทยทุกคน เมื่อมีโอกาสได้เดินทางผ่านวัดพระแก้ว ซึ่งตั้งอยู่ใน บริเวณเดียวกับพระบรมมหาราชวัง ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา จะต้องพนมมือสิบนิ้วขึ้นนมัสการพระแก้วมรกต ซึ่งสถิตประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถนั้น

ภายในกำแพงจะเห็นเจดีย์ และปราสาทราชมณเฑียรมียอดแหลมหลากสี งดงามตั้งเรียงรายเป็นระเบียบ เป็นภาพที่งดงามนักดังหนึ่งสร้างจากสวรรค์ ล้วนแล้วสำเร็จด้วยฝีมือ อันบรรจงวิจิตรของช่างชาวไทย เป็นแบบอย่างของชนชาติที่เจริญแล้วโดยแท้

ชนชาติใดที่มีฝีมือสร้างเวียงวังของตนได้ใหญ่หลวงงดงามถึงเพียงนี้ ชนชาตินั้นน่าจะมีอดีตที่รุ่งโรจน์ และน่าศึกษายิ่งนัก คงมิใช่ชาติเล็กที่ไร้ระเบียบแบบแผนประเพณี คงเป็นชาติใหญ่มีคุณลักษณ์อันดีล้วนชวนให้ค้นคว้า

แต่อันใดหนอ...ที่ทำให้พวกเราชาวไทย บางคนยังเข้าใจว่าเราอพยพมาจากที่อื่น ไม่ใช่เจ้าของดั้งเดิมของแผ่นดิน อันเราได้ยืนอยู่ ณ แทบเท้านี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะให้เข้าใจตามนั้นว่า ชนชาติไทยอพยพมาจากที่อื่น เช่น จากใจกลางประเทศจีน เป็นต้น

ข้าพเจ้าไม่อยากจะเชื่อเช่นนั้น เพราะตำนานเก่าๆ ของเราไม่ได้ว่าไว้เช่นนั้นเลย ผู้ใดข้องใจหรือสงสัยก็ได้โปรดติดตามอ่านดู โดยเฉพาะข้อเขียนนี้พยายามยึดตามพระบรมราโชบายของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัลกาลที่ ๕ ซึ่งได้ตรัสคราวเปิดสโมสรโบราณคดี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ว่า



“...ประเทศทั้งหลายซึ่งได้ควบคุมกันเป็นชาติและเป็นประเทศขึ้น ย่อมถือเรื่องราวของชาติและประเทศตนเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะพึงศึกษาและพึงสั่งสอนกันให้รู้ชัดเจนแม่นยำ

เป็นวิชาอันหนึ่ง ซึ่งจะได้แนะนำความคิดและความประพฤติ ซึ่งจะพึงเห็นได้เลือกได้ ในการที่ผิดแลชอบชั่วแลดี เป็นเครื่องชักนำให้เกิดความรักชาติแลรักแผ่นดินของตัว

เรื่องราวทั้งหลาย ซึ่งมนุษย์อาจจะทรงจำได้ ย่อมมีหลักฐานอยู่เพียง ๖,๐๐๐ ปี แต่ย่อมประกอบด้วยเรื่องราว อันไม่น่าเชื่อเจือปนเป็นนิทาน ข้อความซึ่งได้มั่นคงอย่างสูงก็อยู่ภายใน ๓,๐๐๐ ปี

แต่ประเทศโดยมาก ในชั้นปัจจุบันนี้ มักจะตั้งตัวได้เป็นปึกแผ่นราว ๑,๐๐๐ ปี เมื่อมีหนังสือเรื่องราวซึ่งเป็นหลักฐานมั่นคง ไม่เป็นแต่ใช้เครื่องหมายเป็นรูปนกรูปกา หรือรูปภาพที่เขียนต้องคิดประกอบ

แต่ความรู้ยืดยาวขึ้นไปเช่นนี้ ย่อมมีในประเทศที่แบบแผนเป็นหลักในบ้านเมือง ที่ถึงความรุ่งเรืองแล้วในสมัยนั้น ถ้าหากว่าเป็นเมืองที่ยังคงเป็นป่าเถื่อน ไม่รู้จักหนังสือ และไม่รู้จักเล่าต่อกัน ก็รู้ได้เพียงชั่วอายุหรือสองชั่วอายุคน บ้านเมืองเช่นนี้ก็ยังมีอยู่

กรุงสยามนี้ เป็นประเทศที่เคราะห์ร้าย ถูกข้าศึกศัตรูทำลายล้างอย่างรุนแรงเหลือเกิน ยิ่งกว่าชาติใด ๆ ที่แพ้ชนะกันในสงคราม หนังสือเก่าๆ ซึ่งควรจะสืบสวนได้ ได้สาบสูญไปเสียเป็นอันมาก

ทั้งเวลานี้ก็เป็นโอกาสอันดี ที่เราสามารถอาจจะหาเรื่องราวจากต่างประเทศ ทั้งในยุโรปและเอเซีย ซึ่งได้เคยคบหากับเรามาแต่ในปางก่อน แม้ถึงเมืองที่เป็นปัจจามิตร เช่นพม่า เราก็อาจจะสืบสวนหาข้อความได้

มีหลักอยู่ซึ่งเราจะพิจารณาข้อความอันได้มาจากต่างประเทศนั้น ให้รู้ว่าประเทศใดมีอัธยาศัยชอบอวดอ้างบารมีเจ้าแผ่นดินปรากฏแก่ใจ เมื่อเราได้อ่านหนังสือนั้น เราก็ควรพิจารณาหารความลงในทางนั้น

ฝ่ายเรื่องราวซึ่งฝรั่งเล่า มักจะแต่งให้อัศจรรย์ เพื่อให้คนอ่านพิศวง จะได้ซื้อหนังสือนั้นมาก เช่นกับที่กล่าวกัน อยู่ในปัจจุบันทั่วไปว่า เมืองไทยมีวังอยู่ใต้น้ำเป็นตัวอย่าง

ข้างฝ่ายจีนนั้น ไม่ใคร่จะออกความอย่างจีน คือจะให้เราเป็นจีน หรือไม่ก็เป็นฮวน ทำอะไรให้ผิดปกติไปต่าง ๆ เป็นต้น

วิธีจะวินิจฉัยเรื่องราวอันได้มาแต่ต่างประเทศนั้น มีข้อสำคัญอยู่ที่จะจับหลักน้ำใจ และความคิดข้างไทยให้มั่น ถ้าเรื่องราวอันใดแปลกไปจากประเพณีความคิดของไทยเราแท้ เราควรจะพิจารณาในข้อนั้น ไม่ควรจะด่วนเชื่อ

ทั้งเคราะห์ดีซึ่งมี "พระสงฆ์ผู้เป็นบัณฑิตแต่โบราณ" ได้เขียนเรื่องราวพระศาสนาอัน ประดิษฐานในแถบประเทศเหล่านี้ไว้ในภาษาบาลี และมีเรื่องราวประเทศซึ่งนับว่าเป็นไทย เช่น ล้านช้าง และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนังสือ อาจจะสอบสวนเอาความจริงได้มีอยู่

แต่เรามักจะไปถือเสียว่าเป็นหนังสือศาสนา ไม่มีผู้แลดูด้วยความหมายจะค้นคว้า เรื่องราวประกอบพงศาวดารหรือเรื่องราวของประเทศ ถึงว่าจะมีบางตอนซึ่งเรายังแลไม่เห็นว่า จะหาทางใดที่จะสืบสวนข้อความให้แจ่มแจ้งได้ เหตุไฉนจะทอดธุระไม่สืบสวนต่อไป

ความคิดอันนี้ ใช่ว่าจะมุ่งหมายให้สำเร็จ เป็นหนังสือเรื่องราวประเทศสยามโดยเร็วนั้น มิได้หวังว่าพวกเราจะช่วยกันสอบหา รวบรวมเรื่องราวหลักฐาน

และช่วยกันดำริวินิจฉัยข้อความ ซึ่งยังไม่ชัดเจนให้แจ่มแจ้งขึ้นตามปัญญาตัวที่คิดเห็น ไม่จำเป็นจะต้องยืนยันว่า เป็นการถูกต้องนั้นหรือไม่ เมื่อมีความเห็นอย่างไรเขียนลงไว้...”

วันที่ ๒ ธันวาคม ร.ศ. ๑๒๖


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 11/12/17 at 08:08

[ ภาค 3 ตอนที่ 7 ]

(Update 18 ธันวาคม 2560)


ชาติไทยกับถิ่นดั้งเดิม



อนึ่ง ในเรื่องนี้ "สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ" ได้ทรงนิพนธ์ไว้อีกว่า

".....ชนชาติไทยเป็นชนชาติใหญ่อันหนึ่ง ในเอเซียตะวันออกมาตั้งแต่พุทธกาล แม้ในทุกวันนี้ นอกจากประเทศไทยนี้ ยังมีชนชาติไทยตั้งภูมิลำเนาอยู่ในประเทศอื่นๆ อีกเป็นอันมาก อยู่ในดินแดนประเทศจีนก็หลายมณฑล ทั้งในแดนตังเกี๋ย พม่า ตลอดไปจน "มณฑลอัสสัม" ในแดนอินเดีย

แต่คนทั้งหลายต่างหากเรียกชื่อต่างๆ กันไปตามถิ่นที่อยู่ เช่นเรียกว่า ชาวสยามบ้าง ลาวบ้าง เฉียงบ้าง
ฉาน ลื้อ เขิน เงี้ยว ขำติ อาหมบ้าง ที่แท้ได้นามต่างๆ ดังกล่าวมานี้ ล้วนเป็นชนชาติไทย พูดภาษาไทย และถือตัวว่าเป็นไทยด้วยกันทั้งสิ้น"

ทีนี้ว่าถึงถิ่นดั้งเดิมของไทย ตามตำนานไทยเหนือก็ดี พงศาวดารโยนกก็ดี พงศาวดารของไทยแท้ๆ ก็ดี
ล้วนกล่าวต้องกันว่า ชนชาติไทยมีอาณาจักรอยู่ดังนี้

ทางเหนือสุดลงมาทางใต้ คือแคว้นสิบสองปันนา แคว้นเชียงรุ้ง แคว้นสิบสองจุไทย แคว้นเชียงตุง แคว้นลานนา แคว้นหลวงพระบาง แคว้นฉาน (เงี้ยวหรือไทยใหญ่) แคว้นเชียงใหม่ แคว้นสุโขทัย

แคว้นอิสานบุรี (ภาคอิสานทั้งภาค) แคว้นอยุธยา แคว้นทวารวดี แคว้นนครศรีธรรมราชเป็นที่สุด และแม้ปัจจุบันนี้ คนไทยก็ยังอยู่ในแคว้นเหล่านี้ทั้งสิ้น เป็นแต่ว่าบางแคว้นไม่ได้เป็นอาณาเขตของประเทศไทยเท่านั้น..."


ในเรื่องนี้ "คุณกฤษณา เกษมศิลป์" ได้เขียนลงในหนังสือ "๒๔๐๐ ปีในแหลมทอง" ต่อไปอีกว่า

คนไทยอยู่ที่นี่มาแต่ดึกดำบรรพ์


.....มีเหตุอันน่าคิดอยู่อย่างหนึ่ง คือนักโบราณคดีก็ดี นักประวัติศาสตร์ก็ดี บางท่านมักเกิดงุนงงและสับสนในเรื่องของชนชาติไทย ทั้งนี้ก็เพราะไปเข้าใจเอาว่า ชนชาติไทยอพยพจากใจกลางประเทศจีน

แต่ก็เข้าใจผิดว่า ชนชาติเร่ร่อนและชาวป่าชาวเขา เช่น พวกข่า ละว้า ขมุ ว่าเป็นเจ้าของถิ่นเดิมในแหลมทอง โดยไม่เฉลียวใจและไม่คิดบ้างว่า

ไทยเราก็อยู่ที่นี่มาแต่ดึกดำบรรพ์แล้วด้วย ทั้งเป็นชนกลุ่มใหญ่ ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อย และเป็นกลุ่มใหญ่หลายกลุ่ม อยู่กระจัดกระจายกันทั่วไปในถิ่นแหลมทองนี้

เพราะชนชาติไทยอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อนกันมานานดึกดำบรรพ์ ตอนหลังจึงได้แยกย้ายห่างกันออกไปทุกที จากเหนือสุดและใต้สุดของแหลมทอง ภาษาไทยของเราจึงได้เพี้ยนกันไปบ้าง

แต่ก็เป็นภาษาไทยแท้ที่ใช้พูดกัน รู้เรื่องตลอดแหลมทอง และเราก็ได้รู้จัก กันว่าใครเป็นใคร คือรู้ว่าพวกเรายังเป็นไทยด้วยกัน ก็เพราะภาษาไทยของเรานี่เอง แม้บัดนี้จะต้องไปอยู่กันห่างไกลเพียงไร

ฉะนั้น เมื่อเราเกิดไขว้เขวว่าพวกชาวป่าเป็นเจ้าของถิ่น ไทยเรายังไม่อพยพลงมา เมื่อไปพบหลักฐาน
โบราณคดีที่เกี่ยวกับชาติเราเข้า เราก็เกิดความไม่แน่ใจ แล้วก็เลยโมเมว่า "ไม่ใช่ของๆ เราไป"

มาพูดกันให้ชัดแจ้งเลยว่า ถ้าชนชาติป่าเถื่อนเหล่านั้น เป็นเจ้าของถิ่นแต่ผู้เดียวไซร้ เหตุไฉนเมื่อพวกเหล่านั้นหายสาบสูญไป จึงไม่มีที่ใดกล่าวให้ชัดออกมา อยู่ๆ ก็หายหน้าไปเฉยๆ จากประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

ทั้งเรื่องราวของชนเหล่านั้นที่เกี่ยวกับชาติไทยเรา ก็ไม่ปะติดปะต่อเลย ไม่ต้องดูอื่นไกลดูแต่ขอม เมื่อขอมสูญชาติไป เราเองก็ยังไม่รู้ว่าสูญได้อย่างไร

และคำว่า "ขอม" เราก็ยังแปลไม่ออกจนกระทั่งบัดนี้ แต่อย่าลืมว่าแม้ขอมจะสูญชาติไปแล้ว แต่ "หนังสือขอม" ก็ยังเป็นหนังสือสำคัญทางวัดของเราจนทุกวันนี้


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 18/12/17 at 07:55

[ ภาค 3 ตอนที่ 8 ]

(Update 25 ธันวาคม 2560)


นักประวัติศาสตร์ต่างชาติ


.....ในสมัยหนึ่งเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๕๐ - ๖๐ ประเทศไทยเราเริ่มสนใจเรื่องโบราณคดี ได้มีนักโบราณคดีชาวต่างประเทศท่านหนึ่งมาช่วยงานด้านนี้ จนพวกเราได้รู้เรื่องราวต่างๆ แต่โบราณของเราเป็นอันมาก

แต่มีบางสิ่งบางอย่าง ที่ท่านผู้นี้ได้แปลและตีความหมายไว้ ซึ่งทำให้พวกเราชาวไทยเข้าใจผิด เช่นว่า "เขมร" หรือ "ขอม" เคยมีอำนาจครอบครองประเทศไทย

สมัยก่อนพ่อขุนรามคำแหง เมืองลพบุรีเคยเป็นเมืองของพวก "มอญ" มาก่อน สุโขทัยเคยเป็นเมืองขึ้นของขอม แล้วแปลคำและความหมายให้บิดเบือนไป

แต่บัดนี้นักปราชญ์ไทยหลายท่านก็ได้คัดค้าน พร้อมทั้งอ้างหลักฐานจากโบราณวัตถุที่ขุดค้นได้ใหม่มายัน เราจึงได้ทราบความจริงว่า

ในยุคที่ขอมเรืองอำนาจใน "นครวัด นครธม" นั้น ขอมไม่เคยมามีอำนาจในอาณาจักรไทยเลย และลพบุรีก็ไม่เคยเป็นเมืองของมอญมาก่อน

เพียงแต่อาจมีเจ้าครองนครมีเชื้อสายเป็นมอญ เช่น "พระนางจามเทวี" เป็นต้น นั่นไม่ได้หมายความว่าราษฎรทั้งเมือง จะต้องกลายเป็นมอญไปด้วย การกระทำดังกล่าว ทำให้เรามองเห็นได้เด่นชัดว่า แม้แต่ทาง "โบราณคดี" ก็ได้มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

เพราะในครั้งนั้นเรารู้ดีว่า อังกฤษกับฝรังเศสพยายามที่จะแบ่งแยกประเทศไทยออกเป็น ๒ ส่วน โดยถือเอาแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นพรมแดน เพื่อชาติทั้งสองจักได้ครอบครองประเทศไทยไปคนละครึ่ง

เขาจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะโฆษณาชวนเชื่อให้เราหลงเชื่อ เริ่มต้นด้วยการแต่งหนังสือ อ้างว่าเราไม่ได้อยู่ในดินแดนแหลมทองนี้มาก่อน พวกเราชาวไทยล้วนอพยพมาจากใจกลางประเทศจีนโน้น

ขั้นสอง เมื่อขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีอะไร ที่เกี่ยวข้องถึงชนชาติที่ตกเป็นเมืองขึ้นของเขา เช่น มอญก็ดี เขมรก็ดี เขาก็จะบีบหรือบังคับกรายๆ ให้นักปราชญ์ชาติเขาพยายามบิดเบือนความจริงว่า

ของนี้เป็นของมอญบ้าง ของนี้เป็นของเขมรบ้าง แล้วสรุปให้ได้ว่า ดินแดนที่พบของเหล่านี้ ส่อเป็นดินแดนของมอญมาก่อนบ้าง ส่อเป็นดินแดนของเขมรมาก่อนบ้าง เพื่อว่าเขาจะอ้างได้ถนัดเมื่อมีโอกาสจะฮุบเอาดินแดนของเราอีก

นี่แหละ..คือมูลเหตุที่ว่าทำไมนักประวัติศาสตร์ของไทยก็ดี นักโบราณคดีของไทยก็ดี จึงสับสนเหลือเกินในการสืบสาวราวเรื่องชาติของตนเอง และต้องจดจำสิ่งที่ผิดๆ มาเป็นอันมาก


.....และตามหนังสือ "พนม ทวาราวดี ศรีวิชัย" สามอาณาจักรไทยโบราณ (ไศเลนทร์) เรียบเรียง โดย "ธรรมทาส พานิช" ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

"...ชื่อ กิมหลิน - สุวรรณภูมิ นี้ แต่เดิมนักโบราณคดีมักจะชี้ไปที่ เมืองสะเทิม (พม่า) คือชี้ตามข้อความในจารึกของ พระเจ้าปิฎกธร สมัย พ.ศ. สองพันเศษ ในหนังสือ ตำนานมูลศาสนา แต่งก่อน พ.ศ. ๒๐๐๐

พระพุทธพุกาม และ พระพุทธญาณ ท่านระบุว่า "พระโสณะ" และ "พระอุตตระ" มาแจกธาตุ (พระนิพพาน) ไว้ที่ "สุวรรณภูมิ" คือ เมืองราม และ เมืองละโว้

บัดนี้ "เมืองราม" คือที่ "อู่ทอง" เคยเป็นกรุงทวาราวดีของ "พระราม" ประมาณ พ.ศ. ๑๑๐๐ ตามความรู้ของภิกษุไทยสมัยก่อน พ.ศ. ๒๐๐๐ "สุวรรณภูมิ" คือที่ "อู่ทอง"

ในหนังสือ "โกลเด็น เคอรโซนิส" ของ "ปอล วีทลีย์" หน้า ๑๑๖ - ๑๑๗ ได้คัดเรื่อง "กิมหลิน" จากหนังสือจีนมาลงไว้พร้อมทั้งต้นฉบับภาษาจีน มีว่า

"...กิมหลิน อยู่พ้น ฟูนัน ไปอีกสองพันลี้ เป็นถิ่นมีแร่เงิน ชาวเมืองชอบจับช้างมาเลี้ยงไว้ใช้งาน เมื่อช้างตายก็ถอดเอางา..."


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 25/12/17 at 04:29

[ ภาค 3 ตอนที่ 9 ]

(Update 1 มกราคม 2561)


ความรู้จากศาลาวัด


.....ในเรื่องนี้ลองมาศึกษาหาความรู้จาก "ศาลาวัด" กันบ้าง ตามพระบรมราโชวาทของ "รัชกาลที่ ๕" ได้ตรัสไว้ว่า "ประเทศไทยซึ่งมีพระสงฆ์ผู้เป็นบัณฑิตแต่โบราณ" ดังนี้คือ...

อดีตท่านเจ้าคุณพระราชกวี (อ่ำ ธัมมทัตโต) วัดโสมนัสวรวิหาร ได้เขียนคำนำไว้ในหนังสือ "พุทธสาสนสุวัณณภูมิปกรณ" เรื่องของท่านมีอยู่ว่า...

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นต้นมาท่านได้ค้นพบจารึก "กเบื้องจาร" ที่บ้านคูบัว จ. ราชบุรี จึงได้อ่านรู้เรื่องประวัติชนชาติไทยได้ตลอดว่า ไทยนี้ต้องเป็นเผ่าแรกต้น ที่ทำความเจริญแก่โลกมนุษย์แน่นอน เช่น คิดลายไทย ลายสือไทย ลายตัวเลขไทย เป็นต้น

...ต่อมาได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นของที่ทำปลอมขึ้น ทำให้ประวัติศาสตร์ปั่นป่วน ท่านจึงเขียนชี้แจงไว้ว่าดังนี้


"...ความจริงมีอยู่ เรื่องไม่จริงนั้นโกหกกันได้ไม่นาน เพราะตัวของมันเองยืนยันตัวเองอยู่แล้ว ส่วนที่ทำให้ตัวเองเสียหายน่าอับอายขายหน้า เช่นแต่งให้ไทยวิ่งหนี ไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเลย

อย่าง "ทวารวดี" ซึ่งไม่รู้และไม่มีหลักฐานยืนยันว่าที่ไหน เมื่อไร ของใคร และอะไร เพียงเอาหลักฐานที่ชาติฝรั่งลบแผนที่ของไทยโบราณกุให้ฟังแล้วสร้างเรื่องขึ้น

สิ่งที่ไทยได้กระทำมาเป็นไทยและของไทย ไทยไม่ยอมรับ แถมยกไปให้เขาอื่น เหตุนี้ของไทยทุกชนิด
จึงไม่ขึ้นเป็นหลักฐาน

แม้ในขั้นการเรียนเพียงชั้นประถมก็ยังไม่มี ที่มีอยู่ก็ต้องอาศัยฝรั่ง เฉพาะในเรื่องต่างๆ ของไทยที่มีขึ้น ก็ต้องไปลอกแปลที่ฝรั่งเขาเขียนไว้แล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้ายังขลาดอยู่อีกคนหนึ่ง ไทยก็สูญสิ้นสัญลักษณ์และเอกลักษณ์คือระบบแบบไทย และสิ่งของไทยที่มีอยู่แล้ว ก็คงจะกลายเป็นไม่มี จึงจำเป็นต้องกล้าเอาหน้ารอด เพราะไม่ได้ดีอะไรเลย

ทั้งได้แต่ถูกแช่งด่าตลอด และสิ้นเนื้อประดาตัว จึงไม่ต้องพูดถึงความดีความชอบ มีแต่จะต้องจมลึกลงไป ยิ่งกว่าปิดทองหลังพระ และยืนยันได้อย่างเปิดเผยว่า ทำให้ไทยเป็นไทยอยู่ได้เพียงเท่านี้ ก็เพราะเหตุที่ได้กระทำมาแล้ว

ทั้งยังได้เกิดจิตสำนึกอยู่เสมอว่า "มีอยู่เพียงคนเดียวเท่านั้น" ถึงจะมีอุปสรรคอย่างไร ก็ต้องทำเพื่อไทยได้ฟื้นคืนตัวเป็นไทยอยู่ ตามเดิมตามที่ "ท่านต้นไทย" ได้ขอร้องให้กระทำ.."


(..หลวงพ่อของเราก็ยืนยันว่า "หลวงพ่อวัดโสมนัส" องค์นี้ เกิดมาทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ..)

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 1/1/18 at 08:20

[ ภาค 3 ตอนที่ 10 ]

(Update 8 มกราคม 2561)


สุวรรณภูมิ..จากหนังสือ "ทิพยอำนาจ"


....จากหนังสือ "ทิพยอำนาจ" อดีตพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) ท่านเป็นศิษย์อาวุโส (สายหลวงปู่มั่น) ให้ความเห็นในเรื่อง "สุวรรณภูมิ" นี้ว่า...

"...เพื่อเป็นประโยชน์แก่นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ จะได้สังเกตและค้นคว้ามา เขียนเรื่องราวในสมัยดึกดำบรรพ์ของแหลมทองสู่กันฟังประดับสติปัญญา นับถอยหลังคืนไปจากปัจจุบันนี้ ประมาณ ๔,๐๐๐ ปี

แผ่นดินที่รู้กันว่า "สุวรรณภูมิ" นี้ มีอาณาเขตตั้งแต่ฝั่งตะวันออกของอ่าวเบงกอล ไปจดฝั่งอ่าวตังเกี๋ย ด้านเหนือสุดจดถึงเทือกเขาหิมาลัย ด้านตะวันออกด้านใต้จดถึงชวา มลายู

ดินแดนภายในเขตที่กำหนดนี้ เป็นที่อยู่ของชนชาติเผ่าผิวเหลืองหรือขาวใส รูปร่าง สันทัดหน้ารูปไข่
ผิวพรรณละเอียดเกลี้ยงเกลา มีชื่อเรียกว่า "มงเก่า" บาลีเรียกว่า "อริยกชาติ"

ประชาชนพูดภาษาเป็นคำพยางค์เดียวโดดๆ แต่ละคำมีความหมายตายตัว เป็นถ้อย คำฟังเข้าใจง่ายและไพเราะสละสลวย มีหลักภาษาเป็นระเบียบแบบแผน..." ดังนี้


สำหรับพระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระราชพรหมยาน ท่านได้ให้ข้อคิดในเรื่องนี้ที่ลงความเห็น "ต้นตระกูลไทย" ไว้เหมือนกันโดยไม่ได้นัดหมายว่า

"...ถ้าจะกล่าวกันไปจริงๆ ละก้อ คนไทยสายเหนือที่เข้ามาจากประเทศจีน จะถือว่าตามประวัติศาสตร์บอกว่า "คนไทยตั้งถิ่นฐานเดิมอยู่ประเทศจีน" อันนี้ไม่จริง สัญลักษณ์แห่งนิมิต ท่านบอกว่า

สมัยนั้น คนไทยอยู่เรี่ยราดกันไปหมด พื้นฐานถิ่นเดิมจริง ๆ คนไทยอยู่ชายทะเลฝั่งแหลมทอง และก็เรี่ยราดกันไปหากินกันเรื่อยไป ในที่สุดก็ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ เป็นการขยายเขตอยู่แถวประเทศจีน คือไปจากเขตเดิม


แต่ก็ไม่ได้ไปหมด เป็นแต่เพียงไปหากินกันเท่านั้น เวลานั้นยังไม่รวมกลุ่มยังไม่รวมก้อน จัดเป็นเมือง
เป็นแต่เพียงว่าเป็นบุคคลบางเผ่าบางพวก ถือสัญชาติถือพรรคถือพวก มีสัญชาติเดียวกัน พูดเหมือนกัน มีวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน

ถ้าจะกล่าวกันไปอีกทีก็เรียกว่า "เป็นตระกูลเดียวกัน" นั่นเอง ขยายเขตขึ้นไปถึงประเทศจีน เมื่อทางโน้นเกิดการหากินไม่ดี มีความเป็นอยู่ไม่เป็นสุขก็ขยับขยายลงมา แต่ว่าเวลาเป็นร้อยๆ ปี คนเก่าที่ไปก็ตายหมด

ทีหลังก็เลยปรากฏคิดกันว่า คนไทยอยู่ในเขตของประเทศจีนมาก่อน ที่เรียกว่า "เก่าที่ไปก็ตายหมดทีหลัง" เป็นคนไทยที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน..."


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน



.


webmaster - 8/1/18 at 05:47

[ ภาค 3 ตอนที่ 11 ]

(Update 15 มกราคม 2561)


สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน ?


.....ในหนังสือพระราชทานเพลิงศพ ดร. เดือน บุนนาค โดย "หลานย่า" (คุณเดือนฉาย คอมันตร์) ท่านได้วิเคราะห์ไว้ดังนี้

"สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน..เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักโบราณคดี และนักประวัติศาสตร์ คำว่า "สุวรรณภูมิ" หรือ "สุวัณณภูมิ" แปลตามศัพท์ว่า "แผ่นดินทอง" ซึ่งหมายถึงดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์

ในพงศาวดารพม่าอ้างจาก "จารึกกัลยาณี" ซึ่งเป็นภาษามคธ และ "คัมภีร์ศาสนวงศ์" ระบุไว้ว่า "สุวรรณภูมิ" ตั้งอยู่ในประเทศพม่าตอนใต้ คือ "เมืองสุธรรมวดี" หรือ "เมืองสะเทิม" ตลอดถึง เมืองพะโค (หงสาวดี) และมะละแหม่ง

ส่วนพงศาวดารลังกาอ้างจาก คัมภีร์สีหลวัตถุปกรณ์ เชื่อกันว่า "สุวรรณภูมิ" อยู่ในแหลมมะลายู แต่คำว่า "สุวรรณภูมิ" ปรากฎใน "นิทานชาดก" ของพระพุทธศาสนาหลายเรื่อง เช่น

ใน "มหาชนกชาดก" เล่าเรื่องพระโพธิสัตว์ขออนุญาตมารดาไปเสี่ยงโชคยัง "สุวรรณภูมิ" แล้วเรือแตกกลางทะเล

ใน "สังขพราหมณ์ชาดก" เล่าเรื่องพระโพธิสัตว์ลงเรือไปค้าขายหากินทาง "สุวรรณภูมิ" เพื่อนำมาบริจาคทาน เป็นต้น


ลูกสุกรเกิดในสุวรรณภูมิ

...ในตอนนี้ ผู้เขียนขอนำเรื่องนี้มาแทรกไว้ด้วย เป็นเรื่องที่มีมาใน "ธรรมบทขุททกนิกาย" มีใจความว่า

เมื่อสมเด็จพระบรมสุคตประทับอยู่ที่พระเวฬุวนาราม ทรงตรัสเล่าให้พระอานนท์ฟังถึงลูกสุกรกินคูถ (ขี้) ตัวหนึ่งว่า ลูกสุกรตัวนั้นได้เป็น "แม่ไก่" อยู่ที่ใกล้หอฉันหลังหนึ่งในครั้งศาสนา สมเด็จพระกกุสันโธ

แม่ไก่นั้นได้ฟังเสียงสาธยายธรรมของพระภิกษุองค์หนึ่ง ซึ่งสาธยายวิปัสสนากรรมฐาน ด้วยอานิสงส์เพียงแค่นี้ เวลาจุติจากชาตินั้นแล้วก็ได้เกิดในราชตระกูล เป็นราชธิดาชื่อว่า "อุพพรี" แห่งกรุงสุวรรณภูมิ

ต่อมาภายหลัง "อุพพรีราชธิดา" นั้น ก็เข้าไปที่ส้วมเห็นกองหนอน ก็ทำให้เกิด ปุฬวกสัญญา คือเห็นเป็นสิ่งสกปรกในกองหนอนนั้น แล้วก็ได้ปฐมฌาน

เมื่อตายจากชาตินั้นแล้วก็ขึ้นไปเกิดในพรหมโลก ก็วนเวียนไปมาด้วยอำนาจคติ แล้วได้มาเกิดในกำเนิดสุกรนี้ เราเห็นเหตุการณ์นี้ จึงได้ทำการแย้มให้ปรากฏ”

ภิกษุทั้งหลายมีพระอานนท์เถระเป็นประมุข สดับเรื่องนั้นแล้วได้ความสังเวชเป็นอันมาก พระพุทธเจ้าเมื่อทรงยังความสังเวชให้เกิดแก่ภิกษุเหล่านั้นแล้ว ทรงประกาศโทษแห่งราคะตัณหา ประทับยืนอยู่ระหว่างถนนนั่นเอง ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า

“ต้นไม้ เมื่อรากยังอยู่ ยังมั่นคง ถึงบุคคลตัดแล้ว ย่อมงอกขึ้นได้อีกทีเดียว แม้ฉันใด, ทุกข์นี้ เมื่อตัณหานุสัยอันบุคคลยังขจัดไม่ได้แล้ว ย่อมเกิดขึ้นร่ำไป แม้ฉันนั้น กระแส (แห่งตัณหา) ๓๖ อันไหลไปในอารมณ์ เป็นที่ พอใจ เป็นธรรมชาติกล้า ย่อมมีแก่บุคคลใด ความดำริทั้งหลายอันใหญ่ อาศัยราคะย่อมนำบุคคล ผู้มีทิฏฐิชั่วนั้นไป

กระแสแห่งตัณหาทั้งหลาย ย่อมไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง ตัณหาดุจเถาวัลย์แตกขึ้นแล้วย่อมตั้งอยู่ ก็ท่านทั้งหลายเห็นตัณหานั้น เป็นดังเถาวัลย์เกิดแล้ว จงตัดรากเสียด้วยปัญญาเถิด โสมนัสทั้งหลายที่ซ่านไป และเปื้อนตัณหาดุจยางเหนียวย่อมมีแก่สัตว์ สัตว์ทั้งหลายนั้นเพราะอาศัยความสำราญ จึงเป็นผู้แสวงหาความสุข นระเหล่านั้นแล ย่อมเป็นผู้เข้าถึงซึ่งชาติชรา

หมู่สัตว์ อันตัณหาผู้ทำความดิ้นรนล้อมไว้แล้ว ย่อมกระเสือก กระสน เหมือนกระต่ายอันนายพรานดักได้แล้วฉะนั้น หมู่สัตว์ผู้ข้องอยู่ในสังโยชน์และกิเลสเครื่องข้อง ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อยๆ อยู่ช้านาน

หมู่สัตว์อันตัณหาผู้ทำความดิ้นรนล้อมไว้แล้ว ย่อมกระเสือกกระสนเหมือนกระต่ายที่นายพรานดักได้แล้วฉะนั้น เพราะเหตุนั้น ภิกษุหวังธรรมเป็นที่สำรอกกิเลสแก่ตน พึงบรรเทาตัณหาผู้ทำความดิ้นรนเสีย”

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 15/1/18 at 04:28

[ ภาค 3 ตอนที่ 12 ]

(Update 23 มกราคม 2561)


ลูกสุกรเกิดในสุวรรณภูมิ


....อันสัตว์โลกทั้งหลายนั้นหารู้ไม่ว่า ภัยจากการเวียนว่ายตายเกิดนั้นน่ากลัวเหลือเกิน กับการหลงภพหลงชาติในวัฏสงสารอันหาที่สุดไม่ได้

จากการเกิดเป็นเจ้าหญิง "อุพพรีราชธิดา" เมื่อชาติก่อน หลังจากตายแล้วไปอยู่พรหมโลก แล้วกลับมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน คือเป็น "หมู" นั่นเอง อ่านเรื่องราวในพระไตรปิฎกกันต่อไป

ฝ่าย "ลูกสุกร" จุติจากชาตินั้นแล้ว เกิดในราชตระกูลที่ "สุวรรณภูมิ" จุติจากราชตระกูลนั้นแล้วเกิดที่ เมืองพาราณสี เหมือนอย่างนั้นอีก จุติจากชาตินั้นแล้ว ไปเกิดในเรือน "พ่อค้าม้า" ที่ท่าเรืออันชื่อว่า "สุปารกะ"

จุติจากชาตินั้นแล้ว ได้เกิดในเรือนแห่ง "พ่อค้าเรือ" ที่ท่าเรือ "คาวิระ" จุติจากนั้นแล้วเกิดในเรือนผู้เป็นใหญ่ที่ "อนุราชบุรี" (ลังกา)

จุติจากนั้นแล้ว เกิดเป็นธิดาชื่อว่า "สุมนา" ในเรือนแห่งกฎุมพีผู้ชื่อว่า "สุมนะ" ใน บ้านเภกันตะ ในด้านทิศใต้แห่งอนุราชบุรีนั้น

ครั้งนั้น บิดาของนางสุมนานั้น เมื่อคนทั้งหลายในบ้านก็ได้ไปที่แว่นแคว้นทีฆวาปี อยู่ในบ้านที่ชื่อว่า มหามุนีคาม

อำมาตย์ของ พระเจ้าทุฏฐคามณี (ครองลังกาประมาณ พ.ศ. ๓๘๒) ผู้มีชื่อว่า "ลกุณฏกอติมพระ" ได้ไปที่มหามุนีคามนั้น ด้วยกิจธุระอย่างหนึ่ง ได้พบเห็นนางสุมนานั้นแล้ว ก็กระทำมงคลใหญ่ (แต่งงาน) นำนางสุมนานั้นไปที่บ้านมหาปุณณคาม

ครั้งนั้น พระมหาอตุลเถระ ผู้อยู่ที่โกฏิปัพพตมหาวิหาร (ประเทศลังกา) เมื่อเที่ยวบิณฑบาตในบ้านนั้น ก็ได้ยืนอยู่ที่ประตูเรือนแห่งนางสุมนานั้น ได้เห็นนางสุมนานั้นแล้วก็กล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า

"ลูกสุกร.. ได้ถึงความเป็นภรรยาแห่งมหาอำมาตย์ ผู้ชื่อว่า ลกุณฏกอติมพระ น่าอัศจรรย์หนอ..."

นางสุมนาได้ฟังถ้อยคำนั้นแล้ว ก็ระลึกชาติก่อนได้ นางเกิดความสลดใจขึ้นในขณะนั้น ได้อ้อนวอนสามี แล้วบรรพชาในสำนักของพระเถรีทั้งหลาย เมื่อได้ฟัง "มหาสติปัฏฐานสูตร" ในติสสมหาวิหาร แล้วก็ตั้งอยู่ใน "โสดาปัตติผล"

ภายหลังเมื่อทางราชการมีการปราบปรามพวกทมิฬแล้ว นางสุมนาเถรีนั้นก็ได้ไปที่ "บ้านเภกันตะ" อันเป็นที่อยู่แห่งมารดาบิดา เมื่ออยู่ในที่นั้นได้ฟัง "อาสีวิสูปมสูตร" ในกัลลกมหาวิหารก็ได้สำเร็จ "พระอรหัตผล"


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 23/1/18 at 04:48

[ ภาค 3 ตอนที่ 13 ]

(Update 31 มกราคม 2561)


ชาติสุดท้ายของ "ลูกสุกร"


....เมื่อตอนที่แล้วได้นำเรื่องของพระเถรีรูปหนึ่งที่ลังกาทวีป ชื่อว่า "พระสุมนาเถรี" ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ คือสมัยหลังจากทำสังคายนา ครั้งที่ ๓ (พ.ศ.๒๓๕) แล้ว

ในครั้งนั้น "พระมหินทเถระ" และ "พระนางสังฆมิตตาเถรี" ผู้เป็นโอรสและธิดาของ "พระเจ้าอโศกมหาราช"

หลังจากท่านจบกิจในพระศาสนาแล้ว ทั้งสองท่านจึงได้เดินทางมาเผยแพร่พระพุทธศาสนา ณ เมืองอนุราชบุรี ลังกาทวีปนี้

นับจากนั้นมาก็มีพระภิกษุและนางภิกษุณีสืบต่อกันมาเรื่อยๆ จนถึงสมัย "พระมหาอตุลเถระ" ผู้เป็นศิษย์ของพระมหินทเถระ ได้เห็น "นางสุมนา" จึงได้ทักว่า นางเคยเกิดเป็น "ลูกสุกร" มาก่อน

นางสุมนาได้ฟังถ้อยคำนั้นแล้ว ก็ระลึกชาติก่อนได้เกิดสลดใจ จึงขออนุญาตสามีออกบวชเป็นนางภิกษุณี ต่อมาก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตอนที่แล้วได้มายุติอยู่เพียงแค่นี้

ต่อไปในวันจะปรินิพพานมีนางภิกษุณีทั้งหลายถามถึงเรื่องนี้ "พระสุมนาเถรี" จึงได้เล่าเรื่องของตนเองให้ฟังว่า

"...เมื่อก่อนข้าพเจ้าจุติจากกำเนิดมนุษย์ แล้วได้เกิดเป็น "แม่ไก่" อยู่ใกล้หอฉัน ต่อมาได้ถูกเหยี่ยวเฉี่ยวจนหัวขาด จึงได้ไปเกิดใน กรุงราชคฤห์

ครั้นได้บวชอยู่ในสำนักนางปริพาชิกา แล้วเกิดในพรหมโลกในชั้นปฐมฌาน จุติจากนั้นแล้วเกิดในตระกูลเศรษฐี ไม่ช้าก็จุติไปสู่ "กำเนิดสุกร"

- จุติจากที่นั้นแล้วก็ไปเกิดที่ "สุวรรณภูมิ"
- จากสุวรรณภูมิไป พาราณสี
- จากพาราณสีไป ท่าเรือสุปารกะ
- จากท่าเรือสุปารกะไป ท่าเรือคาวิระ
- จากท่าเรือคาวิระไป อนุราชบุรี (ลังกา)
- จากอนุราชบุรีไป เภกันตคาม

ข้าพเจ้าได้เกิดในชาติที่แตกต่างกันถึง ๑๓ ชาติแล้ว บัดนี้ได้เกิดในชาติสูงสุด (ได้บรรพชา) ขอท่านทั้งปวงจงทำประโยชน์ให้สำเร็จ ไปด้วยความไม่ประมาทเถิด..."

ท่านทำให้ประชุมชนทั้ง ๔ (ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) เกิดความสลดใจในความทุกข์ อันเนื่องจากความเกิดที่ไม่แน่นอน ดังนี้แล้วก็ปรินิพพานไป

"...กระแสแห่งตัณหาทั้งหลาย ย่อมไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง ตัณหาดุจเถาวัลย์แตกขึ้นแล้วย่อมตั้งอยู่ ก็ท่านทั้งหลายเห็นตัณหานั้น เป็นดังเถาวัลย์เกิดแล้ว จงตัดรากเสียด้วยปัญญาเถิด..."


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 31/1/18 at 19:23

[ ภาค 3 ตอนที่ 14 ]

(Update 8 กุมภาพันธ์ 2561)


"หลานย่า" สรุปความเห็นเรื่อง "สุวรรณภูมิ"


....เป็นอันว่าชื่อ "สุวรรณภูมิ" ได้ถูกกล่าว ถึงในที่หลายแห่งตามที่ "หลานย่า" หรือ คุณเดือนฉา่ย คอมันตร์ (อดีตประธานมูลนิธิหลวงพ่อปาน) ได้กล่าวอ้างมานี้ต่อไปในหนังสือ (งานศพคุณพ่อเดือน บุนนาค) หน้าที่ ๒๙ มีใจความอีกว่า...

"...จากจดหมายเหตุจีนในต้นพุทธศตวรรษที่ ๙ ได้กล่าวถึงดินแดนทองในภูมิประเทศแถบนี้ และเรียกชื่อดินแดนนั้นว่า"กิมหลิน" ว่าอยู่เลย "อาณาจักรฟูนัน" ไปทางตะวันตก "ประเทศกิมหลิน" มีบ่อเงิน บ่อทอง มีเพนียดช้างด้วย

นอกจากนี้ชื่อจังหวัดในประเทศไทย ที่มีความหมายว่า "ทอง" หรือ "โภคทรัพย์" ก็มีหลายจังหวัด และเป็นจังหวัดที่อยู่ทางภาคกลาง บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น อ่างทอง สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และเพชรบุรี เป็นต้น

และในหนังสือ "พุทธสาสนสุวรรณภูมิปกรณ" อ้างถึงเมืองบริเวณ "คูบัว" ในจังหวัดกาญจนบุรี มีอาณาเขตตลอดเพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง ถึงนครปฐม..."


เนื่องจากบทวิเคราะห์จาก "หลานย่า" ยังมีอีกมากแต่เวลาหมดแล้ว จึงขอนำข้อสรุปความเห็นเรื่อง "สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน" มาปิดท้ายไว้ดังนี้

...ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และ โบราณคดี ตลอดจนโบราณวัตถุสภาพการณ์แสดงให้เห็นว่า ดินแดน "สุวรรณภูมิ" หรือส่วนหนึ่งที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันนี้

มิใช่มีเพียงแต่อารยธรรมสมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์เท่านั้น แต่ระยะเวลาก่อน สุโขทัยขึ้นไป จนกระทั่งยุคก่อนประวัติศาสตร์ ได้มีการปฏิรูปสังคมและสืบทอดวัฒนธรรมต่างๆ เป็นเวลาช้านานแล้ว..."


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 8/2/18 at 04:53

[ ภาค 3 ตอนที่ 15 ]

(Update 16 กุมภาพันธ์ 2561)


พระราชชีวประวัติ "พระแม่เจ้าจามะเทวี"


....คำว่า "สุวรรณภูมิ" ได้ผ่านสายตาท่านผู้อ่านไปแล้วนั้น เป็นการเสนอข้อคิดเห็นจาก "พระมหาเถระ" ที่มีความรู้ด้านนี้บ้าง

จากนักค้นคว้าทางด้านประวัติศาสตร์บ้าง ซึ่งปรากฏตามหลักฐานทางด้านเอกสาร เช่น พงศาวดารและตำนานต่าง ๆ พอจะสรุปลำดับตามยุคสมัยได้ ดังนี้

เริ่มตั้งแต่ภัทรกัปหลังจากน้ำท่วมโลกครั้งใหญ่แล้ว ในปลายสมัยศาสนา "สมเด็จพระโกนาคมน์" ได้มีมนุษย์มาตั้งบ้านเรือนขึ้น สืบทอดมาหลายชั่วคนเรียกว่า "แคว้นสุวรรณโคมคำ"

ต่อมาเป็น "แคว้นโยนกนคร" แล้วก็มาถึง "แคว้นหริภุญชัย" สมัย "พระนางจามะเทวี" และ "แคว้นลานนาไทย" มาจนถึง "แคว้นสุโขทัย" ตามลำดับ

แม้แต่ตำนานพระธาตุต่าง ๆ ทางภาคเหนือได้กล่าวไว้ว่า สมัยสมเด็จองค์ปัจจุบันยังทรงพระชนม์อยู่ ได้เคยเสด็จมายังดินแดนนี้หลายวาระแล้ว เช่นมาประทับรอยพระบาทบ้าง มาโปรดแสดงพระธรรมเทศนาบ้าง และ พระสาวกที่มีฤทธิ์เช่น "พระมหาโมคคัลลาน์" หรือ "พระมหากัสสป" ต่างก็ได้เคยมาหลายครั้งแล้วเช่นกัน

ฉะนั้น เรื่องเหล่านี้เราจึงมีหลักฐานพออ้างอิงได้ แต่เฉพาะดินแดนทางภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ ส่วน "อาณาจักรสุวรรณภูมิ" หรือ "อาณาจักรทวารวดี" ที่มีศูนย์กลางอยู่ทางภาคกลางนั้น เราได้ยินแต่เพียงชื่อเท่านั้น

แต่หามีหลักฐานที่บันทึกไว้เป็นเอกสารไม่ นอกจากจะขุดพบโบราณวัตถุต่าง ๆ แล้วจึงจะเทียบตามยุคสมัยนั้นได้ ในโอกาสหน้าเราจะมาศึกษาในด้านโบราณสถานและโบราณวัตถุกันต่อไป

...แต่ตอนนี้ขอเชิญพบกับการค้นคว้าทางด้าน "เอกสาร" กันก่อนจึงจะไปค้นคว้าหลักฐานที่เป็น "วัตถุ" สำหรับต่อไปนี้จะขอนำเอกสารที่สำคัญชิ้นหนึ่ง ที่มีค่าสูงและเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาประวัติศาสตร์ของชาติไทย

นั่นก็คือการค้นพบบันทึกสมุดข่อย "พระราชชีวประวัติพระแม่เจ้าจามะเทวี" ที่ถ้ำเทือกเขาขุนตาล ในเขตจังหวัดลำพูน

ต้นฉบับเป็นอักษรลานนาได้ค้นพบโดย "คุณสุทธวารี สุวรรณภาชน์" เมื่อประมาณพ.ศ.๒๕๐๘ เนื้อเรื่องทั้งหมดได้จัดพิมพ์โดย "ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สนอง วรอุไร" อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕

เหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ถูกบันทึกไว้จากผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในสมัยนั้น เรียกว่าทันต่อเหตุการณ์ ไม่ใช่ฟังเขาเล่าว่าเท่านั้น นับว่าเป็นหลักฐานที่หายากและน่าเชื่อถือเป็นอย่างยิ่ง


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 16/2/18 at 08:22

[ ภาค 3 ตอนที่ 16 ]

(Update 24 กุมภาพันธ์ 2561)


พระราชชีวประวัติ "พระแม่เจ้าจามะเทวี"


....ในโอกาสนี้ จึงขออนุญาตนำมาเป็นตัวอย่างเฉพาะบางตอน เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาประวัติศาสตร์ สมัยย้อนหลังไปประมาณพันปีเศษว่า

ผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ เป็นชนชาติใด ภาษาใด สืบทอดวัฒนธรรมประเพณี และมีศาสนาอะไรประจำใจ..?

เมื่ออ่านไปแล้วก็คงจะจำได้ว่า ไม่ใช่ใครที่ไหน คงจะเป็นพี่ไทย...นี่เอง ไม่ได้เป็นจีน ไม่ได้เป็นแขก ไม่ได้เป็นขอมแต่อย่างใด

เพราะข้อความต่อไปนี้ เป็นบันทึกของ "พระพี่เลี้ยงของพระแม่เจ้า" ซึ่งอุปภิเษกสมรสร่วม "พระแม่เจ้าจามะเทวี" ซึ่งอ่านโดยมิได้เรียบเรียงใหม่ คงให้ตามเดิม เพื่อท่านผู้อ่านจะได้เห็นว่า คำพูดสมัยพันกว่าปีใช้สำนวนอย่างนี้เอง เว้นไว้แต่บางคำจะ () เพิ่มเข้าไปด้วย

บันทึกของ "พระพี่เลี้ยงปทุมวดี"

.....เราคือ "ปทุมวดี" และน้องเราคือ "เกษวดี" เจ้าลุง "พระเจ้านพรัตน์ เจ้าแม่มัณฑนาเทวี " ให้เราและน้องเราเป็นพี่เลี้ยง "เทวี" ที่เจ้าลุงและเจ้าป้ารับมาเป็นราชธิดา

ท่านฤาษี (วาสุเทพฤาษี) ส่งมาจาก "ระมิงค์นคร" (เชียงใหม่) เมื่อพุทธศก ๑๑๙๐ อันตัวเราและน้องเรา เป็นธิดา "เจ้าพ่อทศราช เจ้าแม่ผกาเทวี"

"เจ้าลุงนพรัตน์" เป็นพี่แห่งเจ้าแม่เรา เราทั้งสองยังมีพี่น้องชายหญิงอีกสี่คน น้องเรานั้นอยู่กับเจ้าพ่อเจ้าแม่แห่ง "รัตนปุระนคร"

เราและน้องเราอยู่กับเจ้าลุงและเจ้าป้า แต่ยังเล็ก ๆ อันเทวีน้อยนี้ เจ้าลุงเจ้าป้าประทานนามว่า "เจ้าหญิงจามะเทวี ศรีสุริยวงศ์ บรมราชขัตติยนารี รัตนกัญญา ลวะบุรีราเมศวร"

เราเป็นผู้สอนอักขระและการหัตถกรรม ส่วนน้องเราให้วิชาตำรับพิชัยสงครามและเพลงอาวุธ น้องหญิงจามะเทวีฯ เป็นดาบคู่และธนูไม่แพ้ชาย ยังชำนาญในพิณอย่างยิ่ง

น้องหญิงจามะเทวีฯ มาอยู่กรุงละโว้เมื่อพระชนมายุได้ ๑๔ รอบ จึงเมื่อพระราชธิดาเจริญวัยได้ ๒๒ รอบ จึงอุปภิเษกสมรสกับ "เจ้าราม" ผู้เป็นโอรสผู้พี่แห่งบิดาเรา เมื่อปีพุทธศกได้ ๑๑๙๘

ตัวเราและน้องเราก็อุปภิเษกกับเจ้าราม พร้อมกับน้องหญิงจามะเทวีฯ ขณะนั้น เราได้ ๒๘ รอบ น้องเรา ๒๖ รอบ

จวบกระทั่งน้องหญิงจามะเทวีฯ ถูกรับไปครอง "นครหริภุญชัย" เมื่อพุทธศกได้ ๑๒๐๑ น้องหญิงพระชนม์ได้ ๒๕ รอบ ท่านฤาษีเฉลิมนามน้องหญิงว่า "เจ้าแม่จามะเทวี บรมราชนารี ศรีสุริยวงศ์ องค์บดินทร์ปิ่นธานีหริภุญชัย"

เราทั้งสองได้ติดตามมายังนครหริภุญชัย เจ้าแม่ให้กำเนิดโอรสฝาแฝดแต่ "นครละโว้" ซึ่งเจ้าลุงเจ้าป้าประทานนามโอรสผู้พี่ว่า "มหันตยศฯ" และโอรสผู้น้องว่า "อนันตยศฯ" โอรสทั้งสองมาสู่หริภุญชัยด้วยเจ้าแม่

และเราให้กำเนิด "เจ้าชัยรัตน์ฯ" ซึ่งเป็น "พญาโหราธิบดินทร์" ในแผ่นดิน "เจ้าเกษวดี" น้องเราให้กำเนิดกุมารีแฝดคือ "เจ้าจันทราฯ" และ "ผกามาศฯ" เจ้าแม่ให้อุปภิเษกเจ้ามหันตยศฯ ด้วยจันทราฯ และอนันตยศฯ ด้วยผกามาศฯ เราและน้องเราอยู่กับเจ้าแม่จนสิ้นสังขาร…”

ข้อความจากภาษาลานนานี้ “หนานทา” เป็นผู้อ่านให้ "คุณสุทธวารี" ฟังพอจะสรุปได้ว่า “เจ้ารามราช” ทรงมีพระมเหสี ๓ พระองค์ คือ "พระแม่เจ้าจามะเทวี, พระนางปทุมวดี, และพระนางเกษวดีพระแม่เจ้า" ดังนี้


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 24/2/18 at 06:01

[ ภาค 3 ตอนที่ 17 ]

(Update 4 มีนาคม 2561)


บันทึกพิเศษ


....เมื่อพระแม่เจ้าฯ ได้ศึกษาวิชาการรบไม่แพ้ชาย "เก่งในเพลงดาบคู่และธนู" เรื่องนี้ทำให้นึกถึงบุคคลท่านหนึ่ง ที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกัน โดยท่านผู้ทรงคุณพิเศษเล่าไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ ว่า

"...โดยเฉพาะ “แม่ศรี” แล้ว เรื่องการรบ แกเป็นหัวเรือใหญ่จริง ๆ เก่งในเพลงอาวุธหลายอย่าง การยิงธนูคราวละ ๓ - ๔ ดอกพร้อมกัน เพื่อให้ถูกจุดหมายดอกละจุด แกเก่งมาก

เมื่อมีสงคราม แกออกสงครามคู่กับฉันทุกคราว เวลาออกรบ แกแต่งตัวเป็นชายชอบใช้ชุดสีเหลืองโพกผ้าเหลือง "สะพายดาบคู่ หอกซัด ธนูคู่ชีพ และมีดสั้น"

อาวุธประเภทนี้ แกเก่งมาก กำลังในการรบก็เก่ง ชายสองสามคน ล้อมแกแกก็จัดการเสียสิ้นไปในชั่วครู่ แกเคยถูกล้อมกรอบบ่อย ๆ แต่ไม่ทันเหนื่อย เจ้าพวกนั้นก็เป็นเหยื่อคมดาบของแกสิ้น

ครั้งหนึ่ง ฉันกำลังรบกับข้าศึกที่ท้ารบ ตัวต่อตัว ข้าศึกเล่นไม่ซื่อลอบยิงธนูมาทางหลัง หวังสังหารฉัน "แม่ศรี"แกก็ยิงธนู ๓ ดอก สวนลูกธนูของข้าศึก

ดอกหนึ่งถูกลูกธนูของข้าศึกหัก เป็นการตัดอาวุธที่มาทำลายชีวิต อีกดอกหนึ่งถูกตัวคนยิงตาย อีกดอกหนึ่งถูกคู่รบกับฉันตาย

รวมความว่า แกยิงคราวเดียวได้ผล ๓ อย่าง คนที่รบกับฉันเป็นแม่ทัพเมื่อแม่ทัพตายก็เป็นอันเสร็จศึก…”


ขอย้อนเรื่อง "บันทึกพระแม่เจ้าจามะเทวี" ต่อไป ตามที่ได้กล่าวถึง “ท่านฤาษี ” นั้นท่านเป็นใคร โปรดอ่านข้อความที่ท่านบันทึกไว้ด้วยตนเองเช่นกัน เป็นข้อความที่ได้บันทึกไว้กับ "เด็กหญิงวี" และให้ไว้ในสุพรรณบัฏ

"บันทึกของท่านสุเทพฤาษี"

...เรา "สุเทพฤาษี" แห่ง "อุจฉุตบรรพต " ณ "ระมิงค์นคร" ขอจารึกกำเนิดของกุมารีนามว่า “ วี ” มาให้มวลนิกรทั้งหลายได้รู้แจ้งดังนี้

กุมารีน้อยนี้ พญาสกุณาพามาจาก "บุรพนคร" เราจึงช่วงชิงเอาไว้ ณ "สุวรรณบรรพต" ใกล้อาศรมแห่งปู่ย่าผู้บรรพบุรุษ พญาสกุณาได้ปล่อยกุมารี ตกลงมาท่ามกลางกอปทุมมาแห่งสระหลวง

เราจึงสักการะอธิษฐาน กุมารีน้อยจึงลอยขึ้นบน "วี " ที่คอยรองรับ เราจึงขนานนามว่า “ วี ” ณ วันนี้เป็นวันบุรณมีดิถีเพ็ญ พระจันทร์เต็มดวง แห่ง "ศุกลปักษ์" คุรุวารแห่งเดือนจิตตมาศ ศตวรรษแห่งนาคะลังกาเพลาสายัณห์ พุทธศก ๑๑๗๖

กุมารีนี้ประมาณชันษาได้สามเดือนแล้ว ด้วยเหตุฉะนี้ เราจึงกระทำพิธีมงคลขนานนามตามกำเนิด เพื่อเป็นศิริมงคล เราได้ทราบด้วยญาณว่า กุมารีนี้เป็นบุตรีของ "ชาวหนองดู่" ใน "บุรพนคร" เราจึงมอบให้กากะวานรและบริวาร เลี้ยงกุมารีน้อยนี้ ณ สุวรรณบรรพต... ”


("อธิบายคำต่อไปนี้" ๑. อุจฉุตบรรพต - ดอยสุเทพ ๒. ระมิงค์นคร - เชียงใหม่ ๓. บุรพนคร - ลำพูน ๔. สุวรรณบรรพต - ดอยคำ ๕. วี - ภาษาเหนือหมายถึง พัด ๖. ศุกลปักษ์ - วันพฤหัส กลางเดือน ๕ ปีมะโรง พ.ศ. ๑๑๗๖ ๗. หนองดู่ - ปัจจุบันคือ บ้านหนองดู่ อยู่ริมแม่น้ำปิง ในเขตอำเภอป่าซาง จ. ลำพูน )

ข้อความดังกล่าวนี้ ท่านสุเทพฤาษีบันทึกมากับ “เด็กหญิงวี” อาศัยนาวายนต์ลอยมาจาก “ดอยคำ” มาขึ้นที่ท่าน้ำหน้าวัดชัยมงคล ( ปัจจุบัน เป็นท่าฉนวน หน้าวัดเชิงท่า อ. เมือง จ. ลพบุรี )

ซึ่งเป็นท่าโดยเสด็จทางชลมารคของกษัตริย์ละโว้สมัยนั้น อีก ๓ วันถึงวันสำคัญ จึงขอนำเหตุการณ์ที่ได้บันทึกไว้โดยละเอียดเพื่อจะได้ทราบว่า "ขนบธรรมเนียมประเพณี" เช่นนี้ ได้มีมาแต่โบราณกาลแล้ว...

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน



.


webmaster - 4/3/18 at 05:06

[ ภาค 3 ตอนที่ 18 ]

(Update 12 มีนาคม 2561)


พระราชพิธีสถาปนา และ เจิมพระขวัญ


....ครั้นถึงวันสำคัญในนครละโว้ก็มาถึง ภายในพระราชวังประดับประดาด้วยประทีปโคมไฟ บริเวณรอบพระราชวังสว่างไสวดุจกลางวัน

ประชาชนต่างมากันล้นหลาม เพื่อชมการเล่นต่าง ๆ โรงมหรสพต่างประกวดประชันการเล่นกันสุดความสามารถ ห้างร้านตบแต่งกันงดงาม บรรดาหญิงสาวแต่งกายกันด้วยวัฒนธรรม

ครั้นได้เวลาล่วงเข้ายาม ๑ เศษ เวลา ( ๑๙.๐๐ น. ) ภายในท้องพระโรงแห่งวังหลัง พระเจ้าละโว้และพระมเหสีทรงเป็นประธาน

พรั่งพร้อมไปด้วยบรรดาเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ เจ้านายฝ่ายหน้าฝ่ายใน คือ * พระมหาอุปราช หมู่ปุโรหิต เสนาข้าราชบริพาร หมู่สนมกำนัล และ คุณท้าว ก็มาสพรั่งพร้อม

* (เพิ่มเติมคำอธิบาย "พระมหาอุปราช" ซึ่งเป็นน้องชายของพระเจ้าละโว้ จะเป็นพระสวามีของพระแม่เจ้าในภายหลัง)

และแล้วกุมารีน้อยในชุดสีขาวยาวกรอมข้อเท้า แลดูเยี่ยงชาวภารตะ สรวมเครื่องราชอิสริยาภรณ์ส่องแสงแวววาว เดินเยื้องกายมาพร้อมพระพี่เลี้ยง ตรงมายังแท่นประทับของจอมคนแห่งละโว้และพระมเหสี ได้หมอบลงกราบถวายบังคม แทบเบื้องพระยุคลบาทของสองกษัตริย์

ครานั้น พระเจ้าอยู่หัวและพระมเหสี พร้อมพระประยูรญาติ ก็เข้าประทับล้อมรอบกุมารีน้อย ฆ้องชัยต่างประโคมกระหึ่ม

พระมหากษัตริย์ทรงจุดเทียนไชยเวียนรอบกุมารีน้อย พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์ปุโรหิตอ่านโองการของพระศิวะผู้เป็นเจ้าโลกมโหรีปี่พาทย์บรรเลงเพลงชัยถวายพระพร

ดวงหน้าของกุมารีน้อยถูกบ่มด้วยโลหิตสีแดงเรื่อ ดุจสีของดอกกุหลาบ ณ ท่ามกลาง หมู่เทพยาดาอารักษ์ และดวงพระวิญญาณของอดีตพระประมุขกษัตริย์ละโว้ จึงพระเจ้าอยู่หัวก็ประกาศก้องด้วยพระสุรเสียงอันกังวานว่า

ด้วยบัดนี้เราและพระมเหสีขอแจ้งให้ทราบทั่วกันว่า เราสถาปนากุมารีนี้เป็นเอกราช ธิดาแห่งนครละโว้ และให้ปุโรหิตจารึกพระนาม ลงในแผ่นสุพรรณบัฏว่า


"...เจ้าหญิงจามะเทวี ศรีสุริยวงศ์ บรมราชขัตติยนารี รัตนกัญญาลวะบุรีราเมศวร" (ต้นฉบับอ่านแม่นางจามะเตวีฯ) เป็นรัชทายาทแห่งนครละโว้ ในวารดิถี คุรุวาร ชุณหปักษ์ เดือน ๓ ปีมะเมีย พุทธศักราช ๑๑๙๐..."

สิ้นพระกระแสพระราชดำรัส ก็ได้ยินแต่เสียงถวายพระพรพระราชธิดากันเซ็งแซร่ จากนั้นเหล่าบรรดาแขกเมืองได้เข้าถวายพระพร จวบกระทั่งเวลาล่วงเข้ายาม ๒ ( เวลา ๒๑.๐๐ น. ล่วงแล้ว ) พระราชพิธีสถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์ "เจ้าหญิงจามะเทวีฯ" ก็เป็นอันเสร็จสิ้น

การละเล่นต่าง ๆ ได้แข่งประชันกันเต็มที่ เป็นที่สนุกสนานแก่ประชาชนละโว้ยิ่งนัก ในวันรุ่งขึ้นพระราชธิดามีหมายกำหนดการ จะทรงมีพระดำรัสปราศรัยกับไพร่ฟ้า และเสด็จพระราชดำเนินรอบพระนคร

เมื่อพระราชธิดาทรงพระเจริญวัยขึ้นเป็นลำดับ ก็มาถึงพระราชพิธีที่สำคัญสำหรับชีวิต ที่เรียกกันว่า “ แต่งงาน ” นั่นเอง...


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 12/3/18 at 07:54

[ ภาค 3 ตอนที่ 19 ]

(Update 21 มีนาคม 2561)


พระราชพิธีอภิเษกสมรส


....ครั้นถึงวันจันทร์เดือน ๖ ปีขาล พุทธศักราช ๑๑๙๘ พระราชพิธีสำคัญในนครละโว้ก็ได้ถูกจัดขึ้น คือกษัตริย์ละโว้องค์ใหม่ (เจ้ารามราช) เข้าสู่พิธีอภิเษกสมรสกับ "เจ้าหญิงจามะเทวีฯ" และเจ้าหญิงพระพี่เลี้ยงทั้งสองคือ "เจ้าหญิงปทุมวดี" และ "เจ้าหญิงเกษวดี"

เครื่องราชบรรณาการถูกส่งมาจากที่ต่าง ๆ ประมาณมูลค่ามิได้ พระขนิษฐาของเจ้าชายโกสัมภีได้เสด็จมาในราชพิธีนี้ด้วย ฉะนั้นภายในพระราชวังละโว้คืนนั้น สว่างไสวด้วยประทีปโคมไฟ

ณ เพลาบ่ายแก่ของวันนั้น เจ้าชายและเจ้าหญิงทั้งหมดภายใต้ด้ายมงคลบนพระเศียร น้ำสังข์หยดแรกจากพระหัตถ์ของพระราชบิดา ก็หยดรินสู่พระหัตถ์ที่ประนมเป็นรูปดอกบัวตูมของเจ้าหญิง สายธารแห่งน้ำสังข์เย็นเยือกถึงส่วนลึกแห่งดวงใจ

"สมเด็จพระสังฆราช" สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์ก็ประกอบพิธีมงคลเสียงมโหรีปี่พาทย์ บรรเลงเพลงอยู่เจื้อยแจ้ว ตราบกระทั่งล่วงเข้ายาม ๑ กลางคืนเสียงมโหรีก็คลายด้วยทำนองเพลงพระบรรทม ดังกังวานขึ้นช้า ๆ ฟังแล้วทำให้ดวงใจทุกผู้มีชีวิตชีวา

ครั้นงานพระราชพิธีผ่านไปได้ ๓ วัน พระเจ้าละโว้พระองค์ใหม่พร้อมทั้งพระมเหสี ทั้งหมดได้เสด็จเลียบพระนครทางสถลมารค ตามพระราชประเพณี หลังจากเจ้าหญิงที่ทรงระหกระเหิรไปจากระมิงค์นคร ได้เสวยสุขกับพระราชสวามีทุกนิรันดร์วันคืน

สร้างนครงามฟ้า (นครสวรรค์)

...และในปีนี้พระราชินีจามะเทวีฯ ทรงโปรดให้สร้างนครอันสวยงามขึ้นที่ "สุวรรณบรรพตนคร" แล้วทรงตั้งนามให้ใหม่ว่า "นครงามฟ้า" หรือ "นครฟ้างาม" ( เขาทอง จ. นครสวรรค์ ) เป็นนครที่สวยงามโอ่อ่า มีปราสาทราชวังดุจเมืองสวรรค์


......ตามประวัติหนังสือเล่มนี้ ทำให้ทราบว่า "นครสวรรค์" เดิมชื่อว่า "นครงามฟ้า" และพระแม่เจ้าฯ เป็นผู้สร้างไว้นั่นเอง

จากพระราชพิธีสำคัญดังกล่าว พอจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นไทยแท้ ๆ ที่ได้รับสืบทอดกันมาช้านานแล้ว สังเกตพิธีกรรมได้ กล่าวถึง "สมเด็จพระสังฆราช" ด้วย

แสดงว่าพระพุทธศาสนากำลังเจริญรุ่งเรือง คนสมัยนั้นจึงมีศีลธรรมอันดีงาม สมกับที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของพระพุทธศาสนา บ้านเมืองจึงมีความสงบสุข

แต่ที่มีการกล่าวถึง "พระขนิษฐา" หมายถึงน้องสาวของเจ้าชายกรุงโกสัมภี ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดศึกสงครามขึ้น ก่อนที่จะมีพระราชพิธีอภิเษกสมรส เนื่องจากเจ้าชายโกสัมภีทรงพอใจพระรูปพระโฉมของพระราชธิดาจามะเทวี

เมื่อไม่สมอารมณ์หมายก็ยกทัพมาประชิดติดพระนคร พระราชธิดาจึงอาสาทรงนำทัพเอง ในที่สุดก็สามารถปราบปรามข้าศึกอย่างราบคาบ

นับว่าเป็นการออกศึกที่มีชัยชนะเป็นครั้งแรกของพระแม่เจ้า และสถานที่เจ้าชายต่างเมืองต้องมาสิ้นพระชนม์ จึงให้ชื่อว่า “ วังเจ้า” (ตาก) ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา...สวัสดี

((((( โปรดติดตามตอนต่อไป )))))


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 21/3/18 at 06:34

[ ภาค 3 ตอนที่ 20 ]

(Update 29 มีนาคม 2561)


ปฐมกษัตรีย์แห่ง "นครหริภุญชัย"


....ตามพระราชชีวประวัติได้เล่าต่อไปว่า ในปลายปี พ.ศ. ๑๒๐๐ ทูตจากนครหริภุญชัย แจ้งว่า "บุรพนคร" ( ลำพูน )ได้ล่มแล้ว

พระฤาษีทั้งหลายได้ร่วมกันสร้างพระนครใหม่นามว่า " “ นครหริภุญชัย ” " จึงขอพระราชทาน "พระราชินีจามะเทวี" เสด็จไปครองนครหริภุญชัย

ครั้นถึงวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเส็ง พุทธศักราช ๑๒๐๑ พระนางจามะเทวี พร้อมด้วยเสนาข้าราชบริพาร เศรษฐีและนักปราชญ์ ช่างต่าง ๆ ช้างม้า เป็นต้น อีกทั้งพระสงฆ์สามเณรร่วมติดตามเป็นอันมาก ได้เสด็จเป็นขบวนเรือทางชลมารค

ครั้นถึง "นครงามฟ้า" ทรงถวายไตรจีวร แก่พระมหาสมณะยังพระอารามหลวง และทรงอำลาพระประธานคู่เวียง เสร็จแล้วได้เสด็จต่อไปกระทั่งถึง "นครชุมรุม" ( เดิมชื่อ "นครเขื่อนขันธ์" )

เมื่อเสร็จศึกสงครามทรงเปลี่ยนชื่อเป็น "นครชุมรุม" ปัจจุบันเรียก "นครชุม" ได้ทรงปราศรัยแก่ประชาราษฎร์ที่มาส่งเสด็จ แล้วได้เสด็จต่อไปจนกระทั่งถึง "วังเจ้า"


...หมายเหตุ..ผู้เรียบเรียงมิได้นำประวัติช่วงนี้มาให้อ่านกัน เพราะเป็นช่วงทำสงครามกับ "เจ้าชายโกสัมพี" จนเกิดฆ่าฟันล้มตายกันเป็นอันมาก

โดยเฉพาะ "เจ้าชาย" ที่ทรงหมายปองพระแม่เจ้าฯ จึงต้องมาจบชีวิตเพราะเหตุแห่งความรักนี้ จึงเป็นที่มาของ "วังเจ้า" มาแต่อดีตนั่นเอง

เมื่อทรงหยุดไหว้เจ้าทั้งมวล ครั้นแล้วได้เสด็จต่อไปเรื่อย ๆ ตามรายทางที่มีหมู่บ้านชาวประชา ที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำได้มาเฝ้ารับเสด็จ และถวายแก้วแหวนอัญมณีต่าง ๆ

ชาวโกสัมภีที่มาค้าขายอยู่ ณ "รามบุรี" ( เมืองของเจ้ารามราช ปัจจุบันเป็นบริเวณ อ. แม่สอด จ. ตาก )ได้นำหยกและจันทน์แดงมาถวาย ณ "เวียงระแกง" ( ต่อมาเรียกเวียงระแหง ปัจจุบันเป็นจังหวัดตาก )

เนื่องจากขบวนทางเรือตรากตรำมาหลายเพลา จึงหยุดยั้งพัก ณ หมู่บ้านเหนือเวียงระแกง เช้าขึ้นได้พักเพื่อทำความสะอาดเสื้อผ้าเครื่องใช้แล้วได้นำออกตากแดด ดูเต็มไปหมดในอาณาเขตกว้างใหญ่ สถานที่นี้ให้เรียกว่า "เวียงกะทิกะ" ( ปัจจุบัน อ. บ้านตาก )

ผาสามเงา อ.สามเงา จ.ตาก


ขอบคุณภาพจาก - travelpangsida.blogspot.com

...จนกระทั่งขบวนเรือพระที่นั่งได้มาหยุดพักริมฝั่งหน้าผาแห่งหนึ่งของแม่น้ำปิง เกิดเหตุมหัศจรรย์มีฝนและพายุใหญ่พัดกระหน่ำ จนเรือไม่สามารถแล่นทวนน้ำขึ้นไปได้

ขณะที่ได้ทอดพระเนตรขึ้นไปบนหน้าผา พลันปรากฏเงาของพระพุทธรูปเรียงกันจำนวน ๓ เงา ประทับอยู่บนหน้าผาแห่งนั้น

เมื่อทรงเห็นเป็นเหตุอัศจรรย์ จึงโปรดให้สร้างพระพุทธรูปขึ้นจำนวน ๓ องค์ ณ หน้าผาแห่งนั้น ตามเหตุที่ปรากฏ ต่อมาจึงเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “ผาสามเงา”

ต่อจากนั้นจึงได้เสด็จต่อไป นับเวลาที่ได้เสด็จรอนแรมมาได้หนึ่งเดือนเศษ ได้บรรลุถึงสถานที่หมู่บ้านกว้างขวาง ได้ให้หยุดยั้งพักแรมไพร่พล และก็เห็นสถานที่นี้ประหลาดนัก

จึงกราบทูลพระราชสวามีว่า จะต้องสร้างนครไว้ที่นี้ ให้เป็นที่ระลึกในการที่เราทั้งสองจะต้องจากกันด้วยภารกิจ และมิทราบว่าวิถีชีวิตจะได้บรรจบหรือไม่...


(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 29/3/18 at 04:05

[ ภาค 3 ตอนที่ 21 ]

(Update 11 เมษายน 2561)


สร้างวัดและเวียง


....ครั้นแล้วการสร้างเวียงก็เริ่มต้น ทรงสร้างอาราม ๔ อาราม สร้างพระประธานและพระเจดีย์ทุกอาราม มีอารามหนึ่งสร้าง "พระเจดีย์ทองคำ" ไว้ภายในเจดีย์ใหญ่ด้วย ทรงสร้างค่ายคูหอรบประจำเวียงไว้พร้อมสรรพ

จนกระทั่งวันขึ้น ๘ ค่ำเดือนยี่ ปีมะเส็ง พุทธศก ๑๒๐๑ ทั้งอารามและเวียงก็เรียบร้อย เพราะประชาราษฎร์ที่ทราบว่า พระมหากษัตริย์แห่งหริภุญชัยเสด็จมาแต่ละโว้ ต่างก็หลั่งไหลมาช่วย

นับเวลาสร้างได้ ๔ เดือนเศษ จึงทำการสมโภช ๗ วัน ๗ คืนได้ทรงขนานนามว่า “พิศดารนคร” ( ปัจจุบันอยู่ใน อ. ฮอด จ.เชียงใหม่ ) จากนี้พระมหากษัตริย์ทั้งสองก็จะต้องจากกัน

ต่อมาพระแม่เจ้าจามะเทวีฯ ทูลขอให้พระมหาเถระที่มาด้วย ให้อนุญาตให้พระนางเป็นชีผ้าขาว ซึ่งวันรุ่งขึ้นพระมหากษัตริย์ละโว้ทรงถวายไทยทานแด่ชีผ้าขาวแล้ว ก็จากเสด็จกลับละโว้เพลานั้น

เมื่อออกจากพิสดารนครแล้ว เริ่มเข้าสู่เขตแดน "หริภุญชัย" ทรงอยากจะสร้างเจดีย์ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

จึงให้หยุดยั้งไพร่พลแล้วให้คนทั้งมวล สร้างและขนานนามสถานที่นั้นว่า " ปะวีสิถะเจดีย์ " (ปัจจุบัน วัดพระธาตุดอยน้อย อ.ดอยหล่อ จ. เชียงใหม่)

ต่อมาได้เสด็จมาถึงสถานที่แห่งหนึ่ง จึงได้เริ่มสร้างพระอาราม ทรงสร้างพระเจดีย์ทองคำ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และทรงสร้างพระพุทธรูปเท่าพระองค์

หมู่เศรษฐีที่ติดตามมาได้สร้างพระพุทธรูปไว้เป็นจำนวนมาก ทรงขนานนามว่า " พระอารามรามัญ " ( ปัจจุบันคือ วัดกู่ละมัก จ.ลำพูน ) ทั้งสองแห่งได้ทรงทำการสมโภช ๓ วัน ๓ คืน เช่นกัน

หลังจากได้ลาสิกขาบทแล้ว ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินเข้าพระนครหริภุญชัย ในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมียพุทธศก ๑๒๐๒

เช้าตรู่วันขึ้น ๔ ค่ำ จึงได้มีพระราชพิธีเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เป็นปฐมกษัตรีย์แห่งหริภุญชัยพระองค์แรก และเป็นต้นราชวงศ์ "จามะเทวี" ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 16/4/18 at 06:57

[ ภาค 3 ตอนที่ 22 ]

(Update 16 เมษายน 2561)


คนไทยคือเจ้าของแหลมทอง



....ตามที่นำมากล่าวก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าในครั้งนั้นชนชาติไทยทางนคร " ลำพูน " กับชนชาติไทยใน " นครละโว้ " ได้ติดต่อกันใกล้ชิดสนิทสนม และระยะทางก็ไกลกัน

ถ้าคิดเป็นทางรถไฟขณะนี้ก็ร่วม ๗๐๐ กิโลเมตร ถ้าคิดเป็นทางคนเดิน ที่จำเป็นต้องอ้อมไปอ้อมมาแล้ว ก็นับเป็น ๑,๐๐๐ กิโลเมตรขึ้นไป

หมู่บ้านต่าง ๆ ตำบลต่าง ๆ นครต่าง ๆ ที่พระนางจามะเทวีเสด็จพักหรือผ่านมา ถ้าให้สันนิษฐานก็ต้องว่าเป็นคนไทย ตำบลคนไทย นครของเจ้าไทยวงศ์ต่าง ๆ ซึ่งคุ้นเคยกับพระนางทั้งสิ้น

มิฉะนั้นพระนางจะเสด็จผ่านมาได้อย่างสะดวกสบายอย่างไร และดินแดนเหล่านี้อาจเป็นดินแดนอยู่ในอาณาจักรของละโว้นครครั้งนั้นก็ได้

สำหรับพระนางที่ว่ามีเชื้อรามัญนั้น ก็อาจจะจริงทางมารดา แต่ว่านครละโว้ก็ดี นครลำพูนก็ดี ประชาชนก็ดี คงเป็นไทยทั้งสิ้น โดยเฉพาะ "นครลำพูน" บ่งบอกว่าเป็นไทย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

เมงคบุตร

เราก็คงเห็นชัดแล้วว่า ในครั้งนั้นดินแดนอันยาวตั้ง ๑,๐๐๐ กิโลเมตรนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นบ้านเมืองของคนไทย ที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นแบบแผนของตนเอง มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ดังที่มีมาในพระราชชีวประวัติดังกล่าวแล้ว

จึงเป็นการยืนยันว่า เมื่อ พ.ศ. ๑๐๐๐ เป็นต้นมานั้น ไทยเราก็มีถิ่นดั้งเดิมอยู่ในแหลมทองแล้ว ไม่มีรายงานว่าอพยพมาจากไหนเลย

พระพุทธศาสนาก็ได้ตั้งมั่นอยู่นานแล้ว แต่ถ้าจะย้อนลงไปก่อนนั้น จะต้องหาหลักฐานมาแสดงกันในโอกาสต่อไปนี้…


" พระแม่เจ้าฯ เป็นผู้คิดประดิษฐ์อักษรลานนา "


หลังจากทรงดำเนินงานในการก่อสร้างอาราม บูรณะพระนคร สร้างเวียงหน้าด่านสถาปนากองทัพม้า กองทัพเรือ จัดระบบหน่วยงานการปกครอง ตั้งผู้ครองนคร เวียงแขวงบ้าน จ่าบ้าน ผู้ครองนครเป็นพระยา ผู้ครองเวียงเป็นจ่าเวียง

ครั้นในด้านสร้างพระอาราม กุฏิ พระเจดีย์ พอเข้ารูปแล้ว จึงทรงจินตนาการว่า “อักขระทั้งหลาย ” ที่ใช้กันในขณะนี้ยุ่งยากมาก เพราะต่างคนต่างใช้ เช่นทาง " ระมิงค์ " (เชียงใหม่) ใช้ " อักษรฝักขาม "

ซึ่งพระองค์ได้ศึกษาจากท่านฤาษีสุเทพ ทางละโว้ใช้อักขระของต้นวงศ์คือ " พระเจ้ากอมมันตราช " ผู้ซึ่งสถาปนานครละโว้ ( ปัจจุบันเรียก " อักขระขอม" )

จึงในวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๕ ปีวอก พุทธศก ๑๒๐๔ จึงอาราธนาท่านสุเทพฤาษี พระอาจารย์นครโกโตทะนะ ( ชาวผิวขาว ) ซึ่งได้ถวายอักขระแด่พระองค์เมื่อนครละโว้ พระอาจารย์นครโทโตทะนะ ( ธิเบต ) พระอาจารย์นครโคโตทะนะ ( เขมร )

พระอาจารย์ดังกล่าวทั้ง ๓ นคร เป็นผู้ถวายอักขระแด่พระแม่เจ้าเมื่อครั้งอยู่ละโว้ และ ได้ติดตามมายังนครหริภุญชัยด้วย แล้วทรงปรารภว่าอักขระฝักขามนั้นใช้ทาง " นครโทโตทะนะ " และ " อุชเชนี " และ " ระมิงค์นคร "

ส่วน " นครโคโตทะนะ " อักขระใช้อย่างเดียวกับ " ละโว้ " ขณะนี้เกิดความยุ่งยากหลายประการ จึงมีพระราชประสงค์จะนำอักขระ ทั้งหมดมาเป็นแบบฉบับ แล้วตราเป็นอักขระขึ้นใหม่ให้เรียกว่า " อักขระรามัญ " ( ปัจจุบันเรียก อักขระลานนา ) จึงขอเชิญพระอาจารย์ทั้งมวลร่วมกันดัดแปลง ซึ่งพระองค์จะพยายามแก้ไขขอให้พระอาจารย์ทั้งมวลคอยให้ความเห็นแนะนำ

การดัดแปลงอักขระนี้ พระแม่เจ้าจามะเทวีฯ ทรงร่างไว้คร่าว ๆ แล้วจึงที่ประชุมพระอาจารย์ก็ปรึกษาแก้ไขดัดแปลงให้ง่าย เพื่อจะได้ตราไว้เป็นแบบฉบับ และแบ่งเป็นหมวดหมู่ มีพยัญชนะ สระและตัวเลข

ซึ่งทั้งหมดได้แยกไปจากพยัญชนะนั่นเอง การพิจารณาอักขระต่าง ๆ ครั้งนี้ใช้เวลา ๒ เดือนเต็ม จากวันเริ่มขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีวอก พุทธศก ๑๒๐๔ ตราบถึงวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา พุทธศก ๑๒๐๕

อีกทั้งยกเลิกการเรียกนามปี ซึ่งแต่เดิม “ ปีชวด ” เรียก “ มุสิกสังกา ” ให้เรียกเสียใหม่ว่า
“ ไจ้ เป้า ยี เหม้า สี ไส้ สง้า เม็ด สัน เร้า เส็ด ไก๊ ” ส่วนเวลาข้างขึ้นให้เรียก “ ออก ” ข้างแรมให้เรียก “ ดับ ”


( จากนี้ขอคัดคำพูดตอนที่คิดอักขระเรียบร้อยแล้วดังนี้ )

“ ถ้วนมาสต่าง ๆ เป๋นบัวละมวลได้ว่า เพลาแห่งเซี่ยงกิ๊ดอักขาระนี้ ถ้วนสิ้นได้ ๘ เพลาธรรมสวนะ จึ๋งให้ตราไว้หมายจำฮอมเข้า กับเพลาต้นกิ๊ดอักขาระ ว๋าระนี้ให้ค้าย ( ย้าย ) ถ้วนมาสก๋าได้ว่า ( เดือนที่สิ้นเต็ม เรียก “ ถ้วนมาส ” ใช้ในคำเหนือโบราณเพลาดับ ๑๕ ถ้วนมาส ๘ ปี๋เร้า พุทธศก ๑๒๐๕ ”

ในวันแรกที่ทรงประกาศอักขระรามัญ ก็พอดี " พระเจ้ารามราช " เสด็จจากละโว้ถึงหริภุญชัยพอดี เพราะพระแม่เจ้าได้มีบัญชาให้ทหารไปกราบบังคมทูลเชิญเสด็จมาเป็นสักขีพยาน

ตั้งแต่วันเริ่มคิดตัวอักขระจากวันประกาศใช้ระเบียบตัวอักขระแล้ว ทรงรับสั่งให้บันทึกประวัติของแต่ละนครใส่ลานทอง โดยจักกล่าวถึงนครละโว้ก่อน ฉบับที่จารึกเรื่องราวของนครละโว้นั้นมีว่า...


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 16/4/18 at 06:57

[ ภาค 3 ตอนที่ 23 ]

(Update 24 เมษายน 2561)


ประวัตินครละโว้ ลพบุรี


พระแม่เจ้าจามะเทวี เป็นผู้คิดประดิษฐ์อักษรลานนา จึงได้จารึกประวัติของ "นครละโว้" ไว้ดังนี้

"...ในกาลที่พระบรมศาสดาได้เสด็จนิพพานไปได้ ๒๐๐ พรรษาเศษ มีพระยาท่านหนึ่งหนีมาจาก " นครอโยธยา " ( เข้าใจว่าเป็นอยุธยา )ได้พาข้าราชบริพารมาหนึ่งหมื่นเศษ

เมื่อมาถึงสถานที่แห่งหนึ่ง เห็นว่ามีชัยภูมิเหมาะสมก็ยั้งไพร่พลทั้งมวล แล้วก็พากันสร้างนครขึ้น ได้สร้างถึง ๓ ปี จึงแล้วเสร็จ จึงได้ขนานนครว่า " นครกะมะละ " (หมายถึงละโว้ )

แล้วพระยาผู้นั้นได้สถาปนาตนเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า " พระเจ้ากอมมันตราช " เป็นปฐมกษัตริย์ " ราชวงศ์กอม "

ชนทั้งหลายนิยมชมชื่นมาสวามิภักดิ์เป็นอันมาก จนกลายเป็นนครใหญ่รุ่งเรืองวิทยาการ เพราะพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ ได้เคยไปเรียนวิทยาการจากพระดาบส ณ กาลิงครัฐ ฝูงชนทั้งหลายขนานนามว่า " นครกอม " บ้าง " ก๋อม " บ้าง ( คำพูดนี้อาจฟังเป็น " ขอม" ก็ได้ )

พระเจ้ากอมมันตราชเสวยราชสมบัติได้ ๔๐ ปี ก็สวรรคต พระราชโอรสทรงเสวยสืบแทน จวบกระทั่งเป็นเวลาพันปีกว่า ซึ่ง " พระเจ้านพรัตนราช" ครองราชย์สมบัติสืบแทน

นับเป็นราชวงศ์กอมลำดับที่ ๓๕ จวบกระทั่งถึง " พระเจ้ารามราช " สืบราชสมบัติต่อไปในปีพุทธศก ๑๑๙๘ ก็เปลี่ยนจากราชวงศ์กอมเป็น " รามะวงศ์ " อันเหตุความเป็นมาดังนี้

พระแม่เจ้าจามะเทวีฯ จึงได้ทรงกำหนดเรื่องราวไว้ ให้ฝูงชนได้ทราบสิ้นในลานทอง และได้จารึกไว้พร้อมกับถวายแก่พระราชสวามี เพื่อให้ทรงนำไปประดับ ณ นครละโว้ด้วย


( เป็นอันว่า ตามที่ได้พยายามค้นหาหลักฐานที่บันทึกไว้เป็นเอกสาร เกี่ยวกับชนชาติไทยทางภาคกลาง ถึงแม้จะไม่ได้กล่าวถึงอาณาจักรบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

แต่ก็พอจะทราบความเป็นมาของ " อาณาจักรละโว้ " ซึ่งอยู่บริเวณภาคกลางเหมือนกัน ได้สืบสันตติวงศ์โดยคนไทยตลอดมา

ฉะนั้น คำว่า “ ขอม ” อาจจะเพี้ยนมาจาก “ ก๋อม ” ก็ได้ และเมืองนี้ได้ใช้ " อักษรขอม " มาตั้งแต่สมัย " พระเจ้ากอมมันตราช"

แสดงว่าอักษรขอมได้มีมานานแล้ว ส่วนใครเป็นผู้ประดิษฐ์ จะได้ทราบจากจารึก “ กระเบื้องจาร ” ในตอนต่อ ๆ ไป... )

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 16/4/18 at 07:02

[ ภาค 3 ตอนที่ 24 ]

(Update 2 พฤษภาคม 2561)


ประวัตินครระมิงค์ ( เชียงใหม่ )


พระแม่เจ้าจามะเทวีได้ปกครองเมืองหริภุญชัยแล้ว จึงได้สร้างบ้านแปลงให้รุ่งเรืองสืบไป พร้อมทั้งได้คิดประดิษฐ์อักษรลานนา (อักษรรามัญ) เพราะเห็นว่าสมัยก่อนใช้อักษรหลายแบบ จึงได้จารจารึกประวัติเมืองต่างๆ ไว้ดังนี้

...อันระมิงค์นครนี้ แต่เดิมมาท่านฤาษีผู้หนึ่ง ได้เลี้ยงกุมารผู้หนึ่ง และกุมารีผู้หนึ่งซึ่งอยู่ในรอยเท้าช้าง แล้วให้นามกุมารชายว่า " อุปะติ " ให้นามกุมารีหญิงว่า " กุนารีสิ"

ต่อเมื่อกุมารทั้งสองเติบใหญ่ขึ้นมาก็ได้สร้างนครให้ ณ เบื้องล่างอุจฉุตบรรพต (ดอยสุเทพ) ในเมื่อพระพุทธเจ้านิพพานแล้วได้ ๑๐๐ ปีเศษ จึงเมื่อสร้างนครแล้วก็ขนานนามนครว่า "นครทัมมิฬะ" แต่ฝูงชนบางหมู่ก็เรียก " นครทัมมิลวะชน" บางหมู่ก็เรียก " นครมิรังคะกุระ "

และให้กุมารและกุมารีเป็นพระมหากษัตริย์ปกครอง เฉลิมพระนามว่า " พระเจ้าอุปะติราช" และให้กุมารีกุนารีสิเป็นพระมเหสี ทรงพระนามว่า " พระนางกุนารีสิ "

พระมหากษัตริย์ทั้งสองได้เสวยราชย์ จนสิ้นพระชนม์ พระราชโอรสก็เสวยราชย์สืบต่อ ๆ กัน ตราบกระทั่งพุทธศักราชได้ ๗๐๐ ปีเศษ ก็สิ้นวงศ์อุปะติ ซึ่งได้เสวยราชสมบัติสืบต่อมาได้ ๑๘ พระองค์

ต่อมาอำมาตย์ "กุนาระนาท" แย่งราชสมบัติ ขึ้นเสวยราชสมบัติทรงพระนามว่า "พระเจ้ากุนาระราชา" เมื่อพระเจ้ากุนาระราชาสิ้นไปแล้ว ราชโอรสเสวยราชสมบัติสืบมา ในขณะนั้นพระเจ้ากุนาระราชาได้เปลี่ยนนามนครเป็น "ระมิงค์นคร"

ซึ่งในขณะนี้กษัตริย์วงศ์กุนาระที่ ๑๓ ทรงพระนาม " วิลังคะ " กำลังเสวยราชสมบัติอยู่ จึงตราประวัติของนครนี้ไว้ให้มุขอำมาตย์ทวยราษฎร์ทั้งหลายได้รู้แจ้ง และให้จารใส่ลานทองไว้เป็นบรรทัดฐานสืบไป


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 24/4/18 at 05:55

[ ภาค 3 ตอนที่ 25 ]

(Update 11 พฤษภาคม 2561)


ประวัตินครหริภุญชัย ( ลำพูน )


...หลังจาก พระแม่เจ้าจามะเทวี ได้ขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตรีย์แห่งนครหริภุญชัยแล้ว จึงได้บัญญัติตรากฎหมายการใช้ภาษาให้เป็นมาตรฐาน

อันเป็นความเจริญในด้านวัฒนธรรมประเพณี ซึ่งเป็นความสามารถของคนไทยมาแต่โบราณ ที่มีภาษาพูดภาษาเขียนเป็นของตนเอง ไม่ใช่เพิ่งจะมาใช้ภาษาไทยในสมัย "พ่อขุนรามคำแหง" อย่างที่เข้าใจกัน

จากนั้น พระแม่เจ้าฯ จึงได้จารรึกประวัติของเมืองละโว้, นครระมิงค์ ซึ่งเป็นหลักฐานควรน่าศึกษายิ่ง ในตอนนี้จะเป็นประวัติของ "นครหริภุญชัย" ต่อไป

"...เมื่อพุทธศกได้ ๑๕๕ กษัตริย์พระองค์หนึ่งนามว่า "กุนาริโกระ" มาแต่ "นครละกอน" (ต่อมาเปลี่ยนเป็น " นครเขลางค์" ปัจจุบันคือ "ลำปาง" ) เข้าทำศึกกับ "นครราชมะกะ" ( ต่อมาเปลี่ยนเป็น " บุรพนคร หริภุญชัย" ปัจจุบันก็คือ" ลำพูน" )

กษัตริย์นครราชมะกะแพ้หนีไปนครอุชเชนี จึงพระเจ้ากุนาริโกระเสวยราชสมบัติ แล้วทรงเปลี่ยนนามนครว่า "บุรพนคร"

พระมหากษัตริย์พระองค์นี้มีบุญญาธิการแก่กล้า และยึดมั่นในพระพุทธศาสนา ได้สร้างอารามและพระเจดีย์ไว้มากมาย

ทรงรวบรวม "อักขระฤาษี" และ "อักขระฝักขาม" ไว้เป็นหมวดหมู่ ปรับปรุงนครให้เหมาะสม บ้านเมืองก็ร่มเย็นเป็นสุข เมื่อพระองค์เสวยราชสมบัติได้ ๒๒ ปีก็เสด็จสู่สวรรคาลัย พระราชบุตรได้สืบราชสมบัติต่อมา

"ราชวงศ์กุนาริโกระ" สืบต่อ ๆ กันมาได้ ๔๘ พระองค์ ก็ถึง " พระเจ้าสิโรระราชะ" ซึ่งได้เสวยราชย์แต่พุทธศก ๑๑๙๐

พอถึง พุทธศก ๑๑๙๘ เดือน ๔ (คือเดือนยี่ ใต้) ได้เกิดวาตภัย อุทกภัยพระคงคาท่วมพระราชวังประชาราษฎร์ต่างก็หนีระส่ำระสาย พระมหากษัตริย์ก็หายไปกับแม่พระคงคา

"ท่านบิดาสุเทพฤาษี, ท่านฤาษีสุกันต์, ท่านฤาษีสุทันต์, ท่านฤาษีสุพราหมณ์" และท่านฤาษีต่างๆ อีก ๑๐๐ รูป ได้ร่วมกับฝูงชนทั้งหลายสร้างพระนครขึ้นใหม่ ในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ ปีขาล พุทธศก ๑๑๙๘

และแล้วเสร็จในกลางปีพุทธศก ๑๒๐๐ได้ขนานนามว่า "นครหริภุญชัย" จึงตราประวัติของนครนี้ไว้ให้มุขอำมาตย์ทวยราษฎร์ทั้งหลายได้รู้แจ้ง และให้จารใส่ลานทองไว้เป็นบรรทัดฐานสืบไป ให้จารึกเรื่องราวความเป็นมาของ ๓ นครนี้ไว้ให้ประชาชนได้รู้แจ้ง

ครั้นกำหนดประวัติศาสตร์นครทั้งหมด แต่วันประกาศอักขระเป็นต้นมา ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ ปีระกา พุทธศก ๑๒๐๕ ก็ทรงให้ตราประวัติศาสตร์ในวันนี้เลย

จึงกำหนด วันแรม ๓ ค่ำ เดือน ๙ ปีระกา พุทธศก ๑๒๐๕ ให้มีพระราชพิธีฉลอง "หนังสืออักขระ" และ "หนังสือประวัติศาสตร์" เป็นเวลา ๑๕ วัน ๑๕ คืน

เมื่อเสร็จพิธีแล้ว "พระเจ้ารามราชา" ก็เสด็จกลับนครละโว้ ด้วยเหตุพระแม่เจ้าทรงให้ปุโรหิตสำเนากำหนดอักขระและประวัติศาสตร์ไว้หลายชุด ก็ได้มอบให้พระราชสวามีนำไปนครละโว้หนึ่งชุด

พระเจ้าละโว้ทรงรับสั่งกับพระอัครมเหสีว่า “อีก ๓ ปีข้างหน้า จะทรงลาจากราชสมบัติ และจะทรงผนวช...”


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 2/5/18 at 06:28

[ ภาค 3 ตอนที่ 26 ]

(Update 21 พฤษภาคม 2561)


กระทำสังคายนา "พระไตรปิฎก"


...เนื่องจากพระพุทธศาสนาสับสนอลเวง การปฏิบัติก็กระทำกันไปต่าง ๆ นานาจึงในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีระกาพุทธศก ๑๒๐๕ ให้เริ่มกระทำสังคายนพระพุทธศาสนา เป็นเวลา ๒ เดือนเศษก็แล้วสิ้น

ทรงสร้างสำนักศึกษาปริยัติธรรม ณ พระอารามจามะเทวี, พระอารามอัมภวนาราม ทรงสร้างสถานที่ศึกษาอักขระรามัญ ณ พระอารามทั้งสองนี้ ให้ขุนนางข้าราชบริพารเริ่มศึกษาอักขระรามัญกันทั่วทุกคน ระหว่างนี้พระพี่เลี้ยงทั้งสองทรงพระครรภ์

ระยะนี้ทรงเร่งปรับปรุงพระนคร และเวียงต่าง ๆ สร้างพระอารามเพิ่มจัดระบบ การศึกษาทั้งภิกษุสามเณรและประชาชน เร่งให้ฝึกทหารม้าที่อยู่เวียงหน้าด่าน จัดระบบทัพเรือ ณ เวียงหนองดู่ สร้างนครใต้พิภพ สร้างทางใต้ดินจากพระราชวัง ให้มีทางถึงปากน้ำสบทา จวบกระทั่งพุทธศก ๑๒๑๐ กลางปี ก็สำเร็จสิ้นภาระกิจด้านนี้


" สรุปความ "

...เรื่องนี้ทำให้เราได้ทราบว่า “ หนังสือประวัติศาสตร์ไทย ” บันทึกไว้โดยคนไทย ผู้อยู่ในผืนแผ่นดินไทย อาจจะเป็นฉบับแรกของโลกก็ได้

ที่ยืนยันว่าบรรพบุรุษของเรา มีเชื้อชาติ มีเผ่าพันธุ์ มีวัฒนธรรมเดียวกัน อันเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทยควรที่เราจะภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

ประการที่ ๒ ทำให้เราได้รู้ว่าสมัยโบราณ ได้มีการใช้ตัวหนังสือกันมานานแล้วและมีใช้หลายแบบด้วย

ประการที่ ๓ แสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาได้เข้ามาอยู่ในหัวใจคนไทยนานแล้ว คัมภีร์ทางพระศาสนาคงมีครบถ้วน แต่การประพฤติยังไม่เป็นแนวทางเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้ พระสงฆ์จึงได้ทำสังคายนาทบทวนพระพุทธวจนะกันใหม่ นับว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่มิได้ถูกบันทึกไว้ก่อนเลย

พระแม่เจ้าคงจะทราบได้ดีว่า ลูกหลานรุ่นหลังอาจจะสับสนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติของตน จึงได้จารึกไว้เป็นอนุสรณ์แก่คนไทย ให้ระลึกถึงคุณค่าของแผ่นดินไทยว่าเป็นของเรามาช้านานแล้ว เราจะได้รู้จักรักษาและหวงแหนไว้ให้อนุชนรุ่นหลังสืบต่อไป

ประการสุดท้ายทำให้นึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อนำมาแนะนำไว้เสมอ ที่ให้ดูคนที่ตายแล้วเป็นตัวอย่าง

บุคคลในประวัติก็ดี ทรัพย์สมบัติที่สร้างเอาไว้ก็ดี ผลสุดท้ายก็พังสลายไปในที่สุด เราผู้อ่านก็คงจะมีสภาพเช่นเดียวกับท่านสู้ตัดสินใจไปนิพพานเลยดีกว่า จะได้ไม่ต้องเกิดมามีร่างกายที่แสนทุกข์อย่างนี้อีก

ใจความที่ยกมาเป็นตัวอย่างธรรมะนี้ ในฉบับหน้าจะมีโอวาทของท่านผู้เป็นเจ้าของประวัติและท่านผู้อ่านจะได้พบกับการถามปัญหาธรรมระหว่าง " สมเด็จพระสังฆราช " แห่งนครละโว้ กับนครหริภุญชัยจะมีเนื้อหาน่าสนใจแค่ไหน ไว้คอยติดตามกันต่อไป..สวัสดี..


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 2/5/18 at 06:35

[ ภาค 3 ตอนที่ 27 ]

(Update 4 มิถุนายน 2561)


การเฉลยปัญหาธรรม


...ในวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะแม พุทธศก ๑๒๑๕ นครหริภุญชัยได้ต้อนรับคณะราชทูต จากนครละโว้ พร้อมกับพระสังฆราชละโว้ "พระมหาเถระสักกายะ" ทางหริภุญชัยได้ต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ

คณะราชทูตละโว้ได้แจ้งข้อราชการว่า "พระเจ้ารามราช" (พระราชสวามีของพระแม่เจ้า) พระมหากษัตริย์แห่งละโว้ ได้ลาออกจากราชสมบัติ และได้ทรงผนวช

เวลานี้พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ "พระเจ้าจักรราช" ได้ให้คณะทูตมาขอเมตตาเจริญธรรมปัญญา มาตรว่าทางละโว้มิสามารถแก้ปัญหาได้ ก็ขอเป็นเมืองออก

เนื่องด้วยเหตุนี้ พระแม่เจ้าจึงรับสั่งให้สร้างพลับพลาใหญ่ มีอาสนะประดับมณีสีต่าง ๆ อาศรม ณ ที่อารามจามะเทวี และให้แจ้งเหตุให้พสกนิกรทราบ ให้มาร่วมฟังการเฉลยปัญหาในครั้งนี้

ณ วันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะแม พุทธศก ๑๒๑๕ ณ พลับพลาบริเวณอารามจามะเทวี เนืองนองด้วยพสกนิกรใกล้ไกล เสนาข้าราชบริพาร

"พระฤาษีสุเทพ" และบรรดาฤาษีทั้งปวงก็มาประชุมพร้อมพรั่ง เบื้องพระพักตร์พระแม่เจ้า

ครั้นได้เวลามหาฤกษ์ พระสังฆราชละโว้ "พระมหาเถระสักกายะ" เสด็จขึ้นบนธรรมาสน์ก่อน แล้วพระสังฆราชหริภุญชัย "พระมหาเถระอุบาลี" เสด็จขึ้นตาม


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 12/5/18 at 05:06

[ ภาค 3 ตอนที่ 28 ]

(Update 15 มิถุนายน 2561)


การเฉลยปัญหาธรรม ข้อที่ ๑


...ความเดิมตอนที่แล้ว พระเจ้ากรุงละโว้องค์ใหม่ได้ส่ง "พระมหาเถระสักกายะ" มาถามตอบปัญหาธรรม กับ "พระมหาเถระอุบาลี" แห่งเมืองหริภุญชัย ปัญหาแรกกำลังจะเริ่ม ณ บัดนี้แล้ว...

- พระมหาเถระสักกายะเริ่มวิสัชนาว่า
...“อันนครหริภุญชัยนี้มีความผาสุขร่มเย็น ด้วยพระเมตตาของพระเจ้าแม่จามะเทวีฯ

หมู่พสกนิกรก็เบิกบาน ประกอบด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย กระผมเดินทางบุกป่าฝ่าดงมาครั้งนี้ ก็อยากขอความเมตตาพระคุณเจ้าแห่งหริภุญชัย ได้ประทานความรู้บางข้อ ของข้อปลีกย่อยแห่งธรรม โดยนัยนี้

กระผมขอถามสัก ข้อ และนัยเดียวกันก็ขอให้พระคุณเจ้าแห่งหริภุญชัย ได้แนะนำสั่งสอนกระผม ข้อ เช่นเดียวกัน

ถ้ากระผมมิสามารถจะเฉลยข้อใดข้อหนึ่ง หรือทั้ง ข้อได้ก็ถือว่าแพ้ ยินดีนำนครละโว้เป็นเมืองออก มิทราบว่าพระคุณเจ้าแห่งหริภุญชัย จักเมตตาประการใด?”


- พระมหาเถระอุบาลีตอบว่า
...“พระคุณเจ้าแห่งละโว้มีพระทัยเมตตาบุกป่าฝ่าดงมา กระผมแสนจะปีติในดวงใจ ก็ขอรับข้อธรรมซึ่งพระคุณเจ้าจักเมตตาสั่งสอน และก็นัยเดียวกัน

ถ้ากระผมมิสามารถจะเฉลยปัญหาใดได้ กระผมก็ขอยอมแพ้ และตกลงให้นครหริภุญชัยเป็นเมืองออก และก็ขออาราธนานิมนต์พระคุณเจ้าละโว้ เป็นผู้แสดงก่อนด้วยเถิด ”


- พระมหาเถระสักกายะถามว่า
...“กระผมอยากจะเรียนถามว่า "พระมหาจักรพรรดิ" ต้องมีสิ่งใดเป็นเครื่องหุ้มห่อ จึงจะคงทนถาวร? ”


- พระมหาเถระอุบาลีตอบ
...“อันว่าพระมหาจักราธิราชย่อมต้องมีแก้ว ประการเป็นเครื่องหุ้มห่อ คือ

...๑. แก้วกาย ย่อมหาเวลาให้เสนาข้าราชบริพารและพสกนิกรเห็นว่า ถ้าหุ้มห่อพระวรกายเยี่ยงเสนาหรือพสกนิกร ก็อยู่ได้เยี่ยงฝูงชนทั้งหลาย

...๒. แก้ววาจา ต้องประกอบด้วยสัมมาวาจา ทรงมีพระวาจาสัจจะ

...๓. แก้วใจ ต้องมีพระทัยเต็มไปด้วย สัมมาสติ และ สัมมาสมาธิ ด้วยการระลึกสิ่งที่ถูกต้อง และพระทัยตั้งมั่นเด็ดเดี่ยว

มิทราบว่า ข้อเฉลยของกระผมจะตรงเป้าของพระคุณเจ้าหรือเปล่า ขอได้โปรดเมตตาด้วยเถิด
”

- พระมหาเถระสักกายะรับว่า
...“ตรงเผ็งทีเดียวพระคุณเจ้า เลิศแท้หนอ...หริภุญชัย แต่เดี๋ยวกระผมขอถามอีก ข้อก่อน ”


- พระมหาเถระสักกายะทรงถามปัญหาต่อว่า
...“ปัญหาข้อที่ เอ๊ะ! พระคุณเจ้าแห่งหริภุญชัย อันปัญหาข้อนี้จะให้กระผมเสนอเลยหรือรอไว้ก่อน? ”


. พระมหาเถระอุบาลีตอบว่า
...“มีพระวาจามาเลยพระคุณเจ้า เมื่อน้าวสายธนูแล้วปล่อยลูกเลย กระผมหลบลูกธนูไม่ได้ วันนี้ก็ขอเอาร่างสังเวยกันละ ”


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 21/5/18 at 07:33

[ ภาค 3 ตอนที่ 29 ]

(Update 30 มิถุนายน 2561)


การเฉลยปัญหาธรรม ข้อที่ ๒


...พระมหาเถระสักกายะจึงว่า

“...โอ๊ะ! พระคุณเจ้านี่เด็ดแท้อย่างนี้นี่เล่า หริภุญชัยถึงรุ่งเรืองในอักษรศาสตร์ เอาละครับ..ปัญหาข้อที่ ขอเรียนถามดังนี้

เมื่อว่าองค์พระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว ขณะที่ทรงไปยังฝั่งมหานที ก็มีสัตว์ เหล่า คือ เต่า ปู ปลา หอยมานมัสการ จึงพระบรมศาสดาก็ทรงเปล่งพระวาจาประทานแด่เทพยดาอารักษ์ และฝูงเวไนยสัตว์ทั้งหลายว่า

“ เออหนอ...ถ้าแม้เวไนยสัตว์ทั้งหลาย จะเป็นชนก็ดี ฝูงสัตว์ก็ดี ถ้าตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม สัจจธรรมแล้ว ก็จุ่งมีชีวิตอันเลอเลิศดุจสัตว์ทั้ง นี้เถิด ”

ด้วยเหตุใดพระองค์จึงตรัสดังนั้น อย่างไรพระคุณเจ้าหริภุญชัย ถ้าจะไม่ตอบก็ได้นะ กระผมจะแก้แทน ”

พระมหาเถระอุบาลีจึงตอบว่า

“ เอ...วันนี้อากาศก็เย็น เหตุดังฤาพระคุณเจ้าละโว้ร้อนรุ่มเหลือหลาย กระผมเพียงคลางแคลงว่า ทำไมพระบรมศาสดาจึงยกยอสัตว์ทั้ง นี้มากมาย

ปัญหาข้อนี้เห็นทีจะมีเนื้อความลึกซึ้ง หรือจะเป็นเส้นผมบังภูเขาเสียกระมัง เอ้า... บรรดาศรัทธาญาติโยม แต่ละท่านมีความเห็นฉันใด? ”

พระมหาเถระสักกายะจึงกล่าวว่า
“ ยอมหรือยังพระคุณเจ้า บรรดาศรัทธานักบุญเขาก็ไม่มีความเห็นจะให้ ”

พระมหาเถระอุบาลีบอกว่า
“ เดี๋ยว ๆ พระคุณเจ้า พระทัยเย็น ๆ เข้าไว้ กระผมต้องท้วงติงบ้าง เปรียบดังนักมวยพอระฆังเก๊งก็ตลุยเอา ๆ เดี๋ยวจะกลายเป็นนกกระจอกน้ำน่ะนา เอาละผิดถูกกระผมขอเฉลยว่า

การที่พระบรมศาสดาให้พรว่า “ ถ้าผู้ใดมั่นในศีลสัจจะแล้ว ให้มีความเป็นอยู่เยี่ยงสัตว์ประเสริฐ เหล่านี้ ” เพราะเหตุว่า

๑. ให้บุคคลท่านนั้น มีอายุยืนยาวดุจดัง เต่า

๒. ให้มีวรรณะหรือผิวพรรณงดงามดุจดัง ปู คือว่าปูนั้น ยามเล็กอองปู ( เปลือกนอก ปู ) ขรุขระไม่งดงาม แต่เมื่อแก่ตัวกลับเป็นมันเลื่อมสีสดสวย

๓. ให้มีความสุขดุจดัง ปลา จะฝนตกแดดออก หน้าร้อนหน้าหนาว ปลามีความสุขอยู่เสมอ

๔. ให้มีพละดุจดัง หอย มิว่ายอดเขาหรือใต้มหาสมุทร หอยก็สามารถไปได้ทั่วจักรวาล ไม่เหนื่อยเมื่อยล้า ความรู้กระผมก็ได้แค่นี้ มิทราบว่าพระคุณเจ้าละโว้จะเมตตาธรรมประการใด? ”

พระมหาเถระสักกายะตอบว่า
“ ประเสริฐแท้ ๆ หริภุญชัยจักรุ่งเรืองวัฒนาถาวร ก็ด้วยความปราชญ์เปรื่องของพระคุณเจ้าเป็นแน่แท้ เอาละขอได้เมตตาถามกระผมมาเลย ”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 4/6/18 at 16:02

[ ภาค 3 ตอนที่ 30 ]

(Update 14 กรกฎาคม 2561)


การเฉลยปัญหาธรรม ข้อที่ ๓


...พระมหาเถระอุบาลีจึงถามว่า
“...พละกำลังของสิ่งต่าง ๆ ที่ล้อมรับโลกให้สดชื่น หรือสั่นสะเทือน หรือทั้งยุ่งเหยิงวุ่นวาย เรียกว่าถึงกับ
ว่า โลกนี้จะแตกระเบิดเป็นผุยผง ความเป็นไปเหล่านี้ จักด้วยดวงอาทิตย์หรือ ดวงจันทร์ หรือมหาสมุทร หรือ
อะไรกันแน่? ”

พระมหาเถระสักกายะตอบว่า
“ เปล่าเลยพระคุณเจ้า พระอาทิตย์ก็ดี พระจันทร์ก็ดี สมณชีพราหมณ์ก็ดี มหาสมุทร หรือฝั่งมหานทีก็ดี
สิ่งเหล่านี้มีกำลังมากก็จริง

แต่ก็หาสามารถจะให้โลกสั่นสะเทือน ถึงกับวุ่นวายเท่าใดไม่ แต่สตรีกลับมีกำลังสามารถให้โลกโกลาหล รบราฆ่าฟัน ทั้งที่เห็นตัวและไม่เห็นตัว

อย่างเช่นในเวลานี้มวลชนทั้งหลายเสพย์ พืชผักส้มสูกลูกไม้ หัวเผือกหัวมันเป็นอาหาร จะเสพย์สัตว์มีชีวิตก็เพียงเล็กน้อย มวลสตรีทั้งหลายก็มิใคร่มีบุตรธิดา ถึงจะมีก็น้อยมาก

แต่ต่อไปภายหน้ามวลชนจะเสพย์เนื้อ สัตว์มากกว่าพืชผัก เหล่าสตรีก็จะให้กำเนิด บุตรธิดากันมากหลาย จนต้องแก่งแย่งฆ่าฟัน ทั้งที่เกิดมาแล้วและยังไม่เกิด พละกำลังที่สตรี มี จึงจักทำให้โลกวุ่นวาย

อุปมาดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า “ พลังจันโท พลังสุริโย พลังสมณพราหมณา พลังเวลา สมุทัสสพลาติ พลังมิ ตาถิโย ”

แปลความว่า “ พระจันทร์ พระอาทิตย์ สมณพราหมณ์ และฝั่งทะเล ต่างมีกำลัง แต่สตรีมีกำลังมากกว่า ” จะถูกหรือผิดนะ พระคุณเจ้า ”

พระมหาเถระอุบาลีชี้แจงว่า
“ ประเสริฐ ๆ ใช่แล้วพระคุณเจ้า ถ้ากระไรกระผมจะขอถามปัญหาข้อ อันว่ามนุษย์ก็ดี สัตว์โลกก็ดี พืชผลก็ดี ก่อกำเนิดด้วยอะไรก่อน?

อย่าครับ อย่าเพิ่งท้วงว่า ไม่เห็นเกี่ยวกับธรรมนะขอรับกระผม ขอพระคุณเจ้าละโว้พระทัยเย็น ๆ เข้าไว้..”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 15/6/18 at 09:13

[ ภาค 3 ตอนที่ 31 ]

(Update 24 กรกฎาคม 2561)


การเฉลยปัญหาธรรม ข้อที่ ๔


พระมหาเถระอุบาลีถามว่า
...อันว่ามนุษย์ก็ดี สัตว์โลกก็ดี พืชผลก็ดี ก่อกำเนิดด้วยอะไรก่อน อย่าครับ...อย่าเพิ่งท้วงว่า ไม่เห็นเกี่ยวกับธรรมนะขอรับกระผม ขอพระคุณเจ้าละโว้พระทัยเย็น ๆ เข้าไว้..”

พระมหาเถระสักกายะตอบว่า
“...เดี๋ยวนะพระคุณเจ้า คิดก่อน เอ... มนุษย์เราเป็นตัวขึ้นมา แล้วก็มีบุตรหลานตามมา สัตว์ที่ไข่ ไข่แล้ว
กลายเป็นตัว ตัวก็ไข่อีก เป็นตัวอีก

เอ๊ะ! ใครเกิดก่อนใครล่ะ ต้นไม้ล่ะ เป็นต้นมีผล ผลกลายเป็นต้น ดูมันยุ่งเหยิงเหลือเกิน เอาละ...กระผมขอเฉลยปัญหาว่า

สัตว์โลกที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม มิว่ามนุษย์ หรือสัตว์ และสัตว์โลกที่มีไข่ หรือต้นไม้นั้น ปฐมแรกคือกำเนิดเป็นตัวตนก่อน แล้วได้รับธาตุ ก็เจริญวัยขึ้น

เมื่อได้เสพย์อาหาร ต่าง ๆ อาหารเหล่านั้นก็ไปทำให้เกิดเชื้อบ้าง จุลินทรีย์บ้าง ที่มองเห็นบ้างไม่เห็นบ้าง

ถ้ามนุษย์ก็ทำให้เกิดเชื้อมนุษย์ ถ้าเป็นพยาธิก็บังเกิดสืบพันธุ์ต่อไปอีก เหมือนต้นเห็ด เดิมก็เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง

เมื่อเห็ดถูกผิวอากาศเป็นอาหาร รากกินจุลินทรีย์ในดินเป็นอาหาร ก็เกิดแพร่พันธุ์แยกเผ่าไปได้อีก ถ้าอาหารแปลกออกไป ถ้าต้นใดไม่มีอาหารกินก็เหี่ยวแห้งก่อนที่จะใหญ่โต

สัตว์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าว่าอาหารที่มวลมนุษย์และสัตว์กินนี้เปลี่ยนไป รูปร่างการสืบพันธุ์ก็เปลี่ยนไป

เช่นมนุษย์เสพย์อาหารที่มีเนื้อสัตว์กันเป็นหลัก ก็ย่อมเกิดบุตรมาก และจิตใจก็ต่ำลงต่างก็ประหัตประหารกัน มิว่าบิดาหรือบุตร ”

พระมหาเถระอุบาลีจึงว่า
“ กระผมขอติงสักหน่อยเถิด คือว่าเหตุใด...หรืออาหารจะเป็นต้นเหตุให้แพร่พันธุ์ได้ และให้พันธุ์มากน้อยได้? ”

พระมหาเถระสักกายะตอบว่า
“ เป็นได้ซิพระคุณเจ้า ดูแต่ต้นผลไม้ซิ ไม่มีผลหรือผลไม่ดก เขาก็ริดกิ่งริดใบแล้วใส่อาหาร

เช่น มูลสัตว์ ปัสสาวะ ใบไม้ใบหญ้าต่าง ๆ ตลอดจนเถ้าถ่าน ผลไม้นั้นย่อมมีผล ที่ผลน้อยก็ดกขึ้น คือว่าให้อาหารด้วยขยุกขยิกตัดใบริดทอนกิ่งด้วย ”

พระมหาเถระอุบาลีแย้งว่า
“ เอ๊ะ! ให้อาหารยังไม่พอ ยังต้องไปขยุกขยิกต้นใบด้วยหรือนี่ ”

พระมหาเถระสักกายะพูดว่า
“ อ้าว...ให้อาหารอย่างเดียวจะไปได้อย่างไรก็พระคุณเจ้า ถามศรัทธานักบุญทั้งหลายดูทีหรือว่า เขาทั้งหลายแต่งงานอยู่กินด้วยกัน

เขาบำรุงด้วยอาหารอย่างเดียว หรือว่าต้องมี อย่างอื่นด้วยจึงจะบังเกิดบุตรขึ้นมาหรืออย่างไร ศรัทธานักบุญทั้งหลาย ช่วยไขความให้พระคุณเจ้าหริภุญชัยหายข้องใจหน่อยเถิด ”

บรรดาศรัทธานักบุญต่างก็อมยิ้มมิได้กล่าวเยี่ยงไร

(โปรดติดตามตอนต่อไป)
◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 30/6/18 at 04:10

[ ภาค 3 ตอนที่ 32 ]

(Update 3 สิงหาคม 2561)


การเฉลยปัญหาธรรม ข้อที่ ๔ (จบ)


...เมื่อตอนที่แล้ว "พระมหาเถระอุบาลี" กับ "พระมหาเถระสักกายะ" ถามตอบปัญหาแบบโลกแตกว่า...

"...อันว่ามนุษย์ก็ดี สัตว์โลกก็ดี พืชผลก็ดี ก่อกำเนิดด้วยอะไรก่อน ?"

พระมหาเถระอุบาลีจึงกล่าวว่า
“ ก็เป็นอันว่า มนุษย์และสัตว์ที่เกิดเป็นตัว ย่อมบังเกิดเป็นร่างกายด้วยธาตุทั้ง แล้วได้เสพย์ซึ่งอาหาร ก็ทำให้บังเกิดมีเชื้อสืบพันธุ์ขึ้นภายหลัง

ส่วนที่เป็นไข่ก็เกิดตัวขึ้นก่อนเยี่ยงด้วยกัน แล้วจึงเจริญเติบโตต่อไป ออกไข่แพร่พันธุ์ไป อีกทั้งต้นไม้นานาก็เช่นกันหรือ พระคุณเจ้า? ”

พระมหาเถระสักกายะรับว่า
“ เช่นนั้นสิ พระคุณเจ้า อันมวลมนุษย์และสัตว์ที่เสพย์เนื้อหนังมังสาก็เกิดพันธุ์มาก อย่างคชสาร โค กระบือ เสพย์แต่หญ้าก็แพร่พันธุ์น้อย

แต่ลูกที่เกิดมาต้องแข็งแรง หมู ไก่ ปลา ที่เสพย์เนื้อสัตว์เป็นอาหารก็แพร่พันธุ์มาก แต่ทว่ามิใคร่แข็งแรง

อันมวลมนุษย์ยุคนี้ ต้องการความแข็งแรงของบุตรที่จะต้องต่อสู้กับธรรมชาติ บิดามารดาย่อมเสพย์พืชผักเป็นอาหาร

แต่ถ้าภายภาคหน้าวิถีของโลกเปลี่ยนไป มวลมนุษย์อาจเสพย์เนื้อสัตว์เป็นอาหารสำคัญ เสพย์พืชน้อยลง ก็ย่อมจักเกิดมนุษย์มาก

สติ ปัญญา พละ ของบุคคลยุคนั้นย่อมเปลี่ยนไป มีการรบราฆ่าฟัน เบียดเบียนซึ่งกันและกัน อาจก่อบาปก่อเวร

นับตั้งแต่สัตว์โลกทั้งหลายยังอยู่ในครรภ์ หรือกระทั่งยังอยู่ในอาการริเริ่ม ก็แหละว่าปัญหาข้อนี้พระคุณเจ้าที่เมตตาถามมา ยังมิทราบว่ากระผมได้แก้ตรงเป้าหมายหรือไม่? ”

พระมหาเถระอุบาลีตอบว่า
“ ถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง พระคุณเจ้าชี้แนวแสงสว่างแก่สัตว์โลก ก็ขอเชิญบรรดาศรัทธาสาธุชนได้ใคร่ครวญ และแก้ไขเหตุการณ์ในครอบครัวว่า

สิ่งใดที่จะนำมาซึ่งความวุ่นวายในภายภาคหน้าได้ ดังที่สมเด็จพระสังฆราชแห่งละโว้ ได้ทรงเมตตาชี้ทางเดินให้ท่านทั้งหลาย

ส่วนผู้ใดจะเลือกเดินสายใดก็แล้วแต่ปรารถนา อันปัญหาต่าง ๆ ที่ได้วิสัชนา ณ ที่นี้ก็สมควรแก่เวลาด้วยประการนี้ ขออายุ วรรณะ สุขะ พละ จงบังเกิดแด่ทุกท่านเทอญ ”

“ สาธุ สาธุ สาธุ... ” บรรดาผู้ฟังทั้งหลาย ต่างก็โมทนาสาธุกันแซ็งแซ่

สรุปการสนทนาธรรมครั้งนี้ มิมีแพ้มิมีชนะ แต่ทว่าฝูงชนทั้งหลายได้อิ่มเอม ด้วยข้อความอันมีสาระสำคัญจักแก้ไขเหตุต่าง ๆ

** (หมายเหตุ ผู้จัดทำหนังสือนี้ได้ชี้แจงว่า การเฉลยปัญหาธรรมนี้ ข้าพเจ้าขออนุญาตใช้คำพูดปลีกย่อย พอสมกับคำพูดสภาพปัจจุบัน ส่วนข้อความสำคัญยึดเอาต้นฉบับเป็นหลัก)

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 14/7/18 at 06:35

[ ภาค 3 ตอนที่ 33 ]
(Update 18 สิงหาคม 2561)


ทรงริเริ่มพระราชพิธีสืบชะตา


...ต่อมา "พระแม่เจ้าจามะเทวี" รับสั่งให้มีพระราชพิธีเฉลิมฉลองสืบชะตา สมเด็จพระสังฆราชแห่งละโว้ ซึ่งได้ทรงพระอุตสาหะ มาแสดงปัญหาธรรมในครั้งนี้

มีมหรสพสมโภช ๓ วัน ๓ คืน นับตั้งแต่นั้นมา จึงมีพิธีสืบชะตาพระภิกษุสืบกันมา ณ ครั้งนี้เป็นปฐม ณ วันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะแม พุทธศก ๑๒๑๕


ทรงสถาปนานครเขลางค์

...ราวเดือน ๑๒ ปีมะแม พุทธศก ๑๒๑๕ พระมหากษัตริย์ "นครละกอน" ให้ทูตถือพระราชสาส์นมาทูลเชิญพระแม่เจ้าเสด็จไปนครละกอน เพื่อให้ทรงวางรากฐานหนังสืออักขระรามัญ เพื่อให้ร่ำเรียนกันทั่วหน้า

ในครั้งนี้ "เจ้ามหันตยศฯ" และ "เจ้าอนันตยศฯ" ร่วมเสด็จด้วย เพื่อไปศึกษาวิชาการจาก "ท่านฤาษีสุพราหมณ์" ผู้น้อง "ฤาษีสุเทพ"

ระหว่างเปิดการเรียนอักขระรามัญ แก่บรรดาข้าราชบริพาร ก็ได้ทรงสถาปนานครละกอนใหม่เป็น "นครเขลางค์" ในวันขึ้น ๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีเดียวกัน

ทรงสร้างพระอารามไว้ ณ "นครเขลางค์" โดยพระราชทานทุนทรัพย์ทั้งหมด แล้วเสด็จไปพักผ่อน ณ "นครแปร" (แพร่) เสร็จพระราชกิจแล้ว ทรงเสด็จกลับนครหริภุญชัย ในเดือน ๔ ส่วนพระราชโอรสทั้งสองยังไม่กลับ


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 24/7/18 at 06:00

[ ภาค 3 ตอนที่ 34 ]

(Update 31 สิงหาคม 2561)


พระแม่เจ้าทรงประทานพระโอวาท


...ในวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พุทธศก ๑๒๒๔ มีพระราชพิธีอภิเษกสมรสเจ้าชายทั้งสอง (เจ้ามหันตยศ, เจ้าอนันตยศ)

และเจ้าหญิงทั้ง ๕ พระองค์ ณ นครหริภุญชัย พระแม่เจ้าทรงประทานโอวาท แด่พระราชโอรสและพระวรชายาว่า

“..ลูกรักของมารดา เมื่อว่าลูกได้ร่วมชีวิตเข้าเป็นสามีภรรยานั้น มิว่าจ้าวว่าไพร่ย่อมต้องระลึกว่า ทั้งสองฝ่ายต้องระลึกถึงหน้าที่ยิ่งกว่าสิ่งใด

สามีย่อมปฏิบัติหน้าที่ของสามี ภรรยาย่อมปฏิบัติหน้าที่ของภรรยา และทั้งสองต้องระลึกถึงเกียรติอีกฝ่ายหนึ่งเสมอ ข้อสำคัญต้องระลึกว่า "สามีคือช้างเท้าหน้า ภรรยาคือช้างเท้าหลัง"

อันความข้อนี้จำแนกออกว่า มิใช่ว่าสามีทำอะไร ภรรยาจะต้องทำอย่างนั้น ตามอย่างกันไปเรื่อย ๆ แต่หมายว่า สามีนั้นเปรียบดังเท้าช้างคู่หน้า ก้าวไปก่อน

บังเอิญว่าไปพลาดพลั้ง ถลำหล่มหรือหลุม เท้าหลังต้องรีบยันไว้ให้มั่น อย่าให้ถลำไปทั้งตัว เฉกเช่นสามีออกหาเลี้ยงชีวิต อาจประมาทพลาดพลั้ง

จะด้วยเหตุใดก็ตาม ภรรยาต้องตั้งหลักมั่นคง อาจให้สติ หรือแก้ไขความผิดพลาดนั้น มิใช่ผิดก็ผิดไปด้วยกัน


อนึ่ง กิจการใด ๆ ต้องรีบกระทำ เมื่อนึกคิดแล้ว อย่าผัดเวลาหรืออายุ โดยอ้างว่าเด็กไปบ้าง แก่ไปบ้าง มนุษย์และสัตว์ ตลอดจนพืชดำรงอยู่ด้วยธาตุทั้ง ๔ มี ดิน น้ำ ลม ไฟ

ถ้าธาตุเหล่านี้หมดสิ้นไป ให้อายุเท่าไรก็มิมีความหมาย เพราะวันเดือนปีเราตั้งขึ้นมา เป็นการสมมุติ

จงตรวจตัวของเราว่า ขาดธาตุอะไรก็ เติมธาตุนั้น ใครผู้ใดจะมัวหลงงมงาย ว่าอายุเท่านั้นจะเป็นอย่างนั้น

เราอย่าไปเอาเยี่ยงเขา เพราะเราไม่เหมือนเขา ขอลูกทั้งมวล จงจดจำคำที่มารดากล่าวนี้ ไว้เป็นอุทาหรณ์เถิด... ”


...พระโอวาทของท่านมีเพียงแค่นี้ แต่ก็มีคุณค่ามหาศาล หวังว่าสุภาษิตโบราณที่สอนไว้คงจะยังไม่ล้าสมัยจนเกินไป ทำให้เราได้เข้าใจความหมายอย่างลึกซึ้งของคำว่า "ช้างเท้าหน้า" และ "ช้างเท้าหลัง" เป็นอย่างดี

ซึ่งเหมาะสำหรับชีวิตของการครองเรือน ถึงแม้กาลเวลาจะผ่านมานานนับพันปี แต่ข้อปฏิบัติที่ท่านสอนไว้ ยังทันสมัยอยู่เสมอ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าท่านสอนแฝงด้วยคติธรรม ในพระพุทธศาสนานั่นเอง


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 3/8/18 at 05:25

[ ภาค 3 ตอนที่ 35 ]

(Update 12 กันยายน 2561)


ทำสงครามกับขุนหลวงวิลังคะ


(Cr. tnews.co.th)


...สำหรับเหตุการณ์ต่อไป ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะแม พุทธศก ๑๒๒๗ ก็มีการทำศึกสงครามกับ "ขุนวิลังคะ" กษัตริย์แห่งระมิงค์นคร (เชียงใหม่)

ที่มีความพอใจพระรูปพระโฉมพระแม่เจ้า แต่พระราชโอรสทั้งสองทรงอาสาทำศึกในครั้งนี้ จนได้รับชัยชนะในที่สุด (ในตอนนี้มีความยาวมาก ขอนำมาเล่าย่อๆ ว่า)

ขุนหลวงวิลังคะ หรือ “มะลังกะ” กษัตริย์ของชนเผ่าลั๊วะ สร้างอาณาจักรอยู่ใบริเวณเชิงเขาดอยสุเทพ และที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง มีเมืองสำคัญปรากฏหลักฐานสืบมา เช่น

เวียงนพบุรี เวียงเชษฐบุรี ( เวียงเจ็ดลิน) และ เวียงสวนดอก ก่อนที่จะถูกพ่อขุนเม็งรายแผ่ขยายเข้ามาทำการยึดครอง เพื่อสร้างเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. ๑๙๘๓

ขุนหลวงวิลังคะ กษัตรย์ชาวลัวะองค์ที่ ๑๓ ของระมิงค์นครในราชวงศ์กุนาระ ทรงมีอิทธิฤทธิ์และฝัมือในการพุ่งเสน้า (หอก) จนเป็นที่เลื่องลือ

แม้พระองค์จะมีพระชนมายุ ๙๐ กว่าชันษาแล้ว แต่ก็ยังลุ่มหลงความงามของพระแม่เจ้าฯ เป็นยิ่งนัก เมื่อพระแม่เจ้าไม่สนพระทัย จึงได้ยกทัพมารบ แต่ก็ต้องพ่ายแพ้และสิ้นพระชนม์ไปในที่สุด

ต่อมาในปี พ.ศ. ๑๒๓๑ พระแม่เจ้าทรงมอบให้ พระเจ้ามหันตยศ ขึ้นเสวยราชสมบัติแทน และให้ พระเจ้าอนันตยศ ไปครองนครเขลางค์ ต่อจากกษัตริย์องค์ก่อน

นับแต่พระเจ้าอนันตยศเสวยราชสมบัติ ทรงเร่งสร้างพระอารามต่าง ๆ โดยพระราชชนนีจามะเทวีทรงอยู่ช่วย ทรงจัดระบบการปกครอง ทรงเปิดสถานศึกษาอักขระรามัญ ทรงสร้างอาราม ณ นครแปร (แพร่)

พระราชชนนีทรงเสด็จไปมาระหว่าง ๒ พระนคร แต่จำต้องช่วยพระมหากษัตริย์เขลางค์พระองค์ใหม่ในระยะแรก ทั้งนี้เพราะทางหริภุญชัย มีระเบียบแบบแผนดีแล้ว

ต้นปีพุทธศก ๑๒๓๒ เจ้าคุณโหราธิบดี แห่งนครหริภุญชัยสิ้นชีพตักษัย จึงทรงแต่งตั้ง เจ้าชัยรัตนกุมาร พระโอรสของ พระเจ้ารามราช ซึ่งเกิดจาก พระแม่นางปทุมวดี เป็น พระยาโหราธิบดินทร์ สืบแทน


( เหตุการณ์สืบแต่นี้ไป พระยาโหราธิบดินทร์ ทรงบันทึกต่อมีใจความว่า )

ในวันแรม ๕ ค่ำ เดือนยี่ (เดือน ๑๒ใต้) ปีกุน พุทธศก ๑๒๓๒ สมเด็จพระสังฆราช พระมหาเถระอุบาลี พระชนม์ ๑๐๒ พรรษา สิ้นพระชนม์ ทรงบรรจุพระศพไว้ ๑ ปี


พระมหาเถระอุปะกายะ รองสังฆราช แห่ง อารามอัมภวนาราม ( ปัจจุบัน วัดทุ่งตูม อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ) ได้รับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชสืบต่อ


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 18/8/18 at 05:41

[ ภาค 3 ตอนที่ 36 ]

(Update 26 กันยายน 2561)


ทางเดินบั้นปลายของชีวิต


...กาลเวลาผ่านมา จากวันเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติของพระเจ้ามหันตยศได้ ๕ ปี ย่างเข้าปีมะโรง พุทธศก ๑๒๓๖

พระราชินีทั้งสอง (เจ้าหญิงจันทราฯ และ เจ้าหญิงประกายคำ) ของหริภุญชัย ประสูตรพระราชโอรส ๑ พระองค์ พระราชธิดา ๑ พระองค์

พระราชโอรสทรงพระนามว่า เจ้ากัมมันทะกุมาร พระราชธิดาทรงพระนามว่า เจ้าหญิงกาบทิพย์

ฝ่ายเขลางค์ ประสูตรพระราชโอรส ๒ พระองค์ พระราชธิดา ๑ พระองค์ ( พระราชินี ๓ พระองค์ คือ เจ้าหญิงผกามาศ เจ้าหญิงประกายฟ้า เจ้าหญิงจิระประภา )

เหตุการณ์บ้านเมืองเป็นปกติสุข พระเจ้ามหันตยศ ทรงเปลี่ยนผู้ครองเวียงจาก "นัก" เป็น "ขุนเวียง" ภายในเวียงแบ่งเป็นแคว้น ๆ

มีหัวหน้าเรียก "จ่าแคว้น" ทางศาสนาให้มีตำแหน่ง "ตู้หลวง" (คงเป็นตำแหน่งเจ้าอาวาส เมืองเหนือเรียกเจ้าอาวาสว่า "ตุ๊หลวง" ในสมัยนั้นคงเรียกวัดว่า "อาราม")

เมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อย จึงในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะโรง พุทธศก ๑๒๓๖ สมเด็จพระราชชนนีจามะเทวีฯ พระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา

พระชนนีปทุมวดีพระชนมายุ ๖๖ พรรษา พระชนนีเกษวดีพระชนมายุ ๖๔ พรรษา ทั้ง ๓ พระองค์ทรงสละเพศเป็นชีผ้าขาว

แม่ชีจามะเทวีทรงปฏิบัติกิจศาสนา ณ สำนักอารามจามะเทวี ส่วนแม่ชีปทุมวดีและแม่ชีเกษวดี ทรงปฏิบัติกิจศาสนา ณ อารามศิวะการาม ที่เวียงหน้าด่าน

นับจำนวนอารามที่พระแม่เจ้าจามะเทวีฯ ได้ทรงสร้างไว้ตั้งแต่อยู่ละโว้ และเสด็จมาครองนครหริภุญชัย

สร้างอารามที่สุโขทัย, ละโว้, สวรรคโลก, นครงามฟ้า (นครสวรรค์), นครสุวรรณบรรพต, นครชุมรุม (กำแพงเพชร), เรื่อยมาจนถึงนครพิสดาร (ฮอด), หริภุญชัย, ระมิงค์, เขลางค์, แปร (แพร่)

ได้ ๒,๕๐๐ วัด สร้างกุฏิได้ ๑๐,๐๐๐ จวบพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา ทรงสละเพศ เป็นชีผ้าขาวก็ยุติการสร้าง บำเพ็ญธรรมอย่างเดียว


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 31/8/18 at 05:21

[ ภาค 3 ตอนที่ 37 ]

(Update 8 ตุลาคม 2561)


วาระสุดท้ายของชีวิต


...ในปลายปีมะโรง พุทธศก ๑๒๗๒ "แม่ชีปทุมวดี" และ "แม่ชีเกษวดี" ได้ถึงแก่มรณะ ในเวลาไล่เลี่ยกันไม่กี่วัน ทรงสิ้นในขณะครองผ้าขาว

ในครั้งนี้พระราชโอรสทั้ง ๓ คือ พระมหากษัตริย์มหันตยศฯ พระมหากษัตริย์อนันตยศฯ พระยาโหราธิบดินทร์ ได้รักษาศพไว้ ๑ ปี ได้กระทำฌาปนกิจในปีมะเส็ง พุทธศก ๑๒๗๓

วันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะเมีย พุทธศก ๑๒๗๔ ฝูงชนทั่วนครหริภุญชัย พบกับความทุกข์อันสุดจะบรรยาย "แม่ชีจามะเทวีฯ" ได้ถึงแก่มรณะ ชั่วเช้าตรู่ของวันพระ ๘ ค่ำ โดยปราศจากโรคใด ๆ

เมื่อทำวัตรตั้งแต่แสงอาทิตย์ยังไม่ขึ้น ได้นั่งหลับเนตรตลอดกาล ข่าวมรณะถูกประกาศอย่างรวดเร็ว การรื่นเริงชะงักงัน

ดวงใจทุกผู้แทบขาดรอน พระองค์เสด็จไปแล้ว ข้าบาทฯทั้งหลายมีแต่โศกาอาดูร สิ้นซึ่งน้ำหล่อเลี้ยง ขอพระองค์เสด็จสู่ทิพย์วิมานเถิด

และเหตุดั่งนี้ศพถูกเปลี่ยนจากชุดชีผ้าขาว โดยนำเครื่องทรงพระมหากษัตริย์ มา สรวมใส่อย่างรีบด่วน บรรดานครต่าง ๆ ก็ได้รับข่าวในเวลารวดเร็ว

อีกครั้งหนึ่งที่ฝูงชนหลั่งไหลมาทั่วทิศมืดฟ้ามัวดิน แต่ละสีหน้าเนืองนองด้วยน้ำตา มิว่าเด็กผู้ใหญ่แก่ชราพึมพำงึมงำ...

“โอ้...พระร่มโพธิไทรเสด็จจากไปเสียแล้ว พระชนมายุเพียง ๙๘ พรรษา มิน่าเลย...”

เมื่อพระมหากษัตริย์เขลางค์มาถึง พร้อมพระประยูรญาติอีกเวลาไม่นาน นครต่าง ๆ ก็ทะยอยมาทั่วทุกนคร หริภุญชัย, ระมิงค์, เขลางค์ เป็นเจ้าภาพเช่นเดิม

"นครอุชเชนี" นำปรอทมาสำหรับใส่พระบรมศพ กำหนดสวดพระอภิธรรม ๑ เดือน รักษาพระบรมศพไว้ ๒ ปี


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 12/9/18 at 05:18

[ ภาค 3 ตอนที่ 38 ]

(Update 20 ตุลาคม 2561)


ถวายพระเพลิงพระบรมศพ


"...เดือน ๖ ปีวอก พุทธศก ๑๒๗๖ นับจากปีที่พระแม่เจ้าจามะเทวีฯ ประสูติ ตราบถึงวันนี้ ซึ่งเป็นวันถวายพระเพลิงนับได้ ๑๐๐ ปี

ในวันนี้ฝูงชนยิ่งแน่นขนัดไม่มีอะไรเปรียบ นครหริภุญชัย นครระมิงค์ ดูเล็กไป ณ แผ่นพื้นปฐพีเนืองแน่นด้วยฝูงชน

พระมหากษัตริย์อัญเชิญพระบรมศพขึ้นสู่ราชรถ พระบรมศพจะอัญเชิญไปนครพิศดารก่อนวันถวายพระเพลิง และพสกนิกรได้อัญเชิญพระบรมศพออกจาก "นครพิศดาร"

แค่ยามสองเพลากลางคืน (๒๒.๐๐ น.) ของวันก่อนถวายพระเพลิง คือวันแรม ๒ ค่ำ เพราะวันรุ่งขึ้นแรม ๓ ค่ำ เป็นวันถวายพระเพลิง

ครั้นได้เวลา ขบวนแห่พระบรมศพจากพิศดารนคร ได้มาถึงท่าน้ำแห่งหนึ่งซึ่งมีน้ำน้อย สามารถข้ามได้ โดยมิต้องใช้เรือ ได้ข้ามลำน้ำระมิงค์

เพื่อเดินเส้นทางตะวันออกของลำน้ำ เพราะพระศพจะได้ผ่านเวียงการ้อง อันขบวนพระบรมศพนั้นกล่าวว่า หัวขบวนถึงท่าน้ำ แต่ท้ายขบวนเพิ่งพ้นเขตเวียง

มิทันเวลาอาหารเช้าก็ถึงเวียงการ้อง ขบวนแห่พระศพถึงนครหริภุญชัยประมาณ ๑๘ นาฬิกา และก็ตรงไปยังพระเมรุ ณ "เชตุวันพนาเวศ" ( ปัจจุบันเป็น วัดเชตวัน จ.ลำพูน )

หลังจากถวายพระเพลิงอดีตพระมหากษัตรีย์แล้ว ก็ได้นำพระอัฐิบรรจุไว้ ณ อารามจามะเทวี

(ปัจจุบันเรียกเจดีย์กู่กุด "วัดจามเทวี" จ.ลำพูน) ครั้งนี้นครหริภุญชัย, เขลางค์, และ ระมิงค์ พากันไว้ทุกข์ต่ออีก ๑ ปี

ต่อมาปีพุทธศก ๑๒๙๑ พระเจ้าระมิงค์ พระองค์ใหม่สิ้นพระชนม์ และไม่มีรัชทายาท พระเจ้ามหันตยศจึงประชุมมุขอำมาตย์ และได้เห็นพ้องต้องกันว่า

ควรรวมพระนครทั้งสองเป็นนครเดียวกันเสีย หมู่เสนาข้าราชบริพารไปอยู่หริภุญชัยให้หมด ประชาชนผู้ใดชอบอยู่ทางใดก็อยู่กันไป จึงทำให้ชนชาวลั๊วะ ได้อยู่ทั่วเขตหริภุญชัย

ในกลางปีพุทธศก ๑๒๙๑ ปีกุน "พระเจ้าอนันตยศ" แห่งนครเขลางค์เสด็จสวรรคต พระราชโอรสได้เถลิงถวัลย์ราชสมบัติสืบแทน ทรงพระนาม "พระเจ้าปริกะราชา"

ครั้นวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๙ ปีชวด พุทธศก ๑๒๙๒ พระเจ้ามหันตยศ แห่งนครหริภุญชัย ได้เสด็จสวรรคต สิริพระชนมายุได้ ๙๒ พรรษา

พระองค์ทรงมีพระราชโอรส ๓ พระองค์ พระราชธิดา ๒ พระองค์ พระราชโอรสทรงพระนาม กัมมันทะกุมาร ได้เถลิงถวัลย์ราชสมบัติ แทนเป็นราชวงศ์จามะเทวีฯ ที่ ๓



( สิ้นสุดพระราชชีวประวัติที่แปลจากต้นฉบับเพียงแค่นี้ )

...เรื่องนี้มีความยาวมาก แต่ต้องคัดมาเฉพาะบางตอน (ตัดเรื่องทำศึกกับกรุงโกสัมพี และกับขุนวิลังคะ) ผู้อ่านสามารถย้อนอ่านได้ จึงต้องขอขอบคุณ และอนุโมทนาผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

ที่มีความอุตสาหะพยายามนำมาเผยแพร่ให้คนไทยได้รู้โดยทั่วกัน "ธัมมวิโมกข์" จึงขอมีโอกาสได้เป็นสื่อบ้าง ถึงแม้จะเป็นเพียงเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าได้รักษามรดกของไทยไว้เช่นกัน.."

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 25/9/18 at 05:41

[ ภาค 3 ตอนที่ 39 ]

(Update 7 พฤศจิกายน 2561)


ตามรอย..พระเจ้ารามราช
(พระราชสวามีของพระแม่เจ้าจามเทวี)


"...เรื่องราวต่อจากนี้ เป็นบันทึกจากความทรงจำของ คุณชนะ สิริไพโรจน์ ประธานศูนย์พุทธศรัทธา ท่าลาน สระบุรี

เกี่ยวกับพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน(หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง) กับ พระเจ้ารามราช และ วัดรามพงศาวาส ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ชาวบ้านมักเรียกสั้น ๆ ว่า "วัดราม" หรือ "วัดมอญ"

ย้อนหลังไปประมาณ ๒๐ กว่าปี วันหนึ่งผมได้รับโทรศัพท์จากพี่ ปรีชา พึ่งแสง ศิษย์ใกล้ชิดหลวงพ่อ โทรมาว่า

"ท่านแม่ศรี" ให้ค้นหาวัดในละแวกท่าลานที่เป็นวัดมอญ จากที่ได้ค้นหาและสอบถามก็ได้ทราบว่า มีอยู่วัดหนึ่งเป็นวัดมอญ และยังมีชุมชนชาวมอญอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านย่อมๆ ชื่อ "วัดรามพงศาวาส"

ผมได้โทรแจ้งให้พี่ปรีชาทราบข้อมูล ก็ได้รับการตอบกลับมาว่า เป็นวัดที่ "ท่านแม่ศรี" ให้ค้นหา มาทราบภายหลังจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อว่า "วัดรามพงศาวาส" แห่งนี้ เป็นวัดที่ "พระเจ้ารามราช" ทรงผนวช

และต่อมาได้รับแจ้งจากพี่ปรีชา ว่า หลวงพ่อจะมาเยี่ยมที่ "วัดราม" พวกเราที่ท่าลานก็ดีใจกันมาก และได้ไปติดต่อกับพระอาจารย์อำนวย เจ้าอาวาสวัดรามพงศาวาส

แจ้งให้ท่านทราบท่านดีใจมาก เพราะมีความเคารพศรัทธาในองค์หลวงพ่ออยู่แล้ว (ขออภัยสำหรับข้อมูล เนื่องจากนานมากแล้วจำวันเดือนปีที่หลวงพ่อมาไม่ได้ และภาพที่ถ่ายไว้ก็ค้นหาไม่เจอ)

เมื่อถึงกำหนดวันที่นัดหมาย คณะของหลวงพ่อมีรถตู้และรถเก๋งหลายคัน ได้เดินทางมายังวัดรามพงศาวาส

คณะพุทธศรัทธาและสาธุชนที่ทราบข่าว ก็มาต้อนรับหลวงพ่อกันแน่นวัด ศาลาของวัดรามก็อยู่ในสภาพเก่ามาก

โดยเฉพาะชานศาลาคนนั่งกันเต็ม ญาติโยมพุทธบริษัทก็ได้เข้ามากราบ และทำบุญกับหลวงพ่อกันมากมาย


หลวงพ่อถามหา "ต้นสะตือ"

หลวงพ่อได้คุยกับพระอาจารย์อำนวย และถามถึง "ต้นสะตือ" ท่านบอกว่า สมัยพระเจ้ารามราชมาบวช มีต้นสะตือใหญ่อยู่ริมน้ำ

พระอาจารย์อำนวยก็กราบเรียนหลวงพ่อว่า สมัยก่อนเคยมี แต่เนื่องจากตรงที่ตั้งวัดราม ติดกับแม่น้ำป่าสักและเป็นคุ้งน้ำ

น้ำก็กัดเซาะตลิ่ง นานเข้าๆ ทำให้ต้นสะตือที่อยู่ริมน้ำ ถูกน้ำกัดเซาะ จนต้นสะตือล้มลงและไหลพัดไปกับแม่น้ำ

ตามกำหนดการหลวงพ่อจะฉันเพลที่วัดราม จากนั้นก็จะเดินทางต่อไปแวะที่พระราชวังบางปะอิน ในระหว่างที่กำลังทำบุญถวายปัจจัยกับหลวงพ่อก็เกิดเหตุขึ้น ชานศาลาซึ่งเก่ามากก็เกิดเสียงดังลั่น คล้ายจะพังลง

แต่ก็เป็นที่น่าแปลกใจเพราะชานศาลาไม่พัง ถ้าพังลงคงต้องมีคนบาดเจ็บหลายคน เพราะนั่งกันเต็ม ตอนนั้นได้แต่แปลกใจ แต่ไม่ทราบสาเหตุ

จนหลังจากหลวงพ่อกลับไปหลายวันแล้ว ผมได้พบกับลุงประสิทธิ์ ท่านเป็นชาวมอญแต่อยู่กรุงเทพ มาร่วมทำบุญด้วย

ท่านเล่าให้ฟังว่า วันที่หลวงพ่อมาที่วัดราม ท่านนั่งติดกับหลวงพ่อ พอมีเสียงไม้ลั่นคล้ายชานศาลาจะพังคลืนลงไป

ลุงประสิทธิ์ก็ได้ยินหลวงพ่อพูดมาคำเดียว “หยุด” ชานศาลาที่จะพังก็หยุดจริงๆ ตามวาจาสิทธิ์ของหลวงพ่อ ลุงประสิทธิ์บอกว่าแกเคารพและศรัทธาหลวงพ่อมาก

วันนั้นหลวงพ่อและคณะศิษย์ได้ออกเดินทางต่อไปยังพระราชวังบางปะอิน คณะพุทธศรัทธาก็ขับรถตามขบวนหลวงพ่อไปด้วย.


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 8/10/18 at 06:07

[ ภาค 3 ตอนที่ 40 ]

(Update 19 ธันวาคม 2561)


ตามรอย..พระแม่เจ้าจามเทวี
ณ พระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง


"...เมื่อตอนที่แล้วนั้น ได้จบลงจากการเล่าถึงเหตุการณ์ ณ วัดจามเทวี จ.ลำพูน หลังจาก พิธีถวายพระราชสดุดีเทิดพระเกียรติคุณแด่ "พระแม่เจ้าจามเทวี" ผู้เป็นวีรกษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญชัยแล้ว

พวกเราเหล่าลูกหลานของหลวงพ่อ "พระราชพรหมยาน" จึงได้รวบรวมเงินถวายแด่เจ้าอาวาสวัดจามเทวี เป็นจำนวนเงิน ๕ หมื่นบาทเศษ พร้อมกับเครื่องไทยทานทั้งหลาย อันมีพระพุทธรูป ผ้าไตรจีวร ร่ม ตาลปัตร เป็นต้น

เมื่อเจ้าอาวาสรับประเคนของทั้งหมดแล้ว ท่านจึงได้กล่าว "สัมโมทนียกถา" ต่อหน้าองค์ "พระเจดีย์กู่กุด" นั้นว่า

ท่านมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่พวกเราได้เดินทางมากระทำพิธีในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลานี้ท่านกำลังมีความทุกข์ทางใจ หรือเรียกว่า "ศัตรูของหัวใจ"

นั่นคือ...ท่านกำลังคิดที่จะจัดงานฉลองกุฏิที่สร้างอุทิศถวายให้ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย แต่เวลานี้มีเงินแค่ ๑ หมื่นบาทเศษเท่านั้น

ทั้งที่จะต้องนิมนต์พระเถระมาร่วมงานถึง ๒๐๐ รูป เงินของพวกเรา ๕ หมื่นบาทเศษนี้ จึงได้ช่วยคลายความทุกข์ในใจของท่านไปได้

เมื่อท่านพูดมาถึงตอนนี้ จึงมีญาติโยมเข้าไปถวายเงินเพิ่มเติมอีก ท่านจึงบอกว่าเงินทั้งหมดที่ถวายมานี้ จะมีอานิสงส์ ๒ ประการ คือถวายให้วัดจามเทวีแล้ว ยังได้มีโอกาสถวายแด่พระเถระที่นิมนต์มาจากวัดอื่น ๆ อีกด้วย


พระธาตุลำปางหลวง ปี 2540 (ขณะปี 2553 กำลังบูรณะ) ญาติโยมกำลังเดินขึ้นทางหน้าซุ้มประตูโขง

...ครั้นเสร็จสิ้นพิธีกรรมต่าง ๆ พร้อมกับพกพาความปลื้มใจไปด้วย พวกเราก็เดินทางต่อไปในยังจุดสุดท้ายคือ "วัดพระธาตุลำปางหลวง"

อันเป็นโบราณสถานที่สำคัญและเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง ซึ่งมีคณะจัดทำบายศรีของเราเดินทางล่วงหน้าไปก่อนแล้ว

เมื่อรถทุกคันมาถึงแล้ว มองเห็นบริเวณวัดตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ มียอดพระเจดีย์สูงเด่นเป็นสง่าน่าเลื่อมใส พวกเราทุกคนจึงเดินขึ้นมาทางบันใด แหงนมองขึ้นไปเห็นซุ้มประตูวัดยอดแหลมอยู่เบื้องหน้า

เดินผ่านการฟ้อนรำอย่างสวยงาม ตามจังหวะเสียงฆ้องกลองของชาวบ้านที่ได้มารอต้อนรับ นับเป็นความประทับใจอย่างยิ่งของพวกเราที่ได้มาเยือน

ครั้นเหลียวกลับลงมา เห็นผู้คนทั้งหลายชายหญิง ต่างเดินเบียดเสียดยัดเยียดกันขึ้นมาเต็มทางขึ้น มองดูเป็นแถวยาวเหยียดไปล้นจนถึงถนน

ท่ามกลางกระแสลมที่กำลังพัดมาพอดี ถ้าเจ้าหน้าที่บายศรีไม่มาถึงก่อน พวกเราคงจะไม่รู้ว่าพอดีจริงหรือไม่...!

ขณะที่ขึ้นไปถึงบนลานพระเจดีย์ เวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. หลังจากนมัสการท่านเจ้าอาวาส และทักทายกับคณะทายกทายิกาวัดพระธาตุลำปางหลวงแล้ว

พระภิกษุทุกรูปได้ไปนั่งบนพื้น "วิหารหลวง" ซึ่งอยู่ตรงหน้าด้านพระเจดีย์นั่นเอง

ส่วนคณะญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ต่างก็นั่งล้อมรอบอยู่ด้านหน้าพระเจดีย์เช่นกัน กระแสลมที่พัดแรงก็สงบลงพอดีอีกเช่นเคย

ครั้นได้เวลาอันเป็นศุภมงคล จึงได้เริ่มเล่าเรื่องประวัติความเป็นมาของสถานที่นี้สืบต่อไป...."


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 20/10/18 at 05:14

[ ภาค 3 ตอนที่ 41 ]

(Update 2 มกราคม 2561)


ประวัติพระธาตุลำปางหลวง


"...ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล องค์สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จมาเมื่อพุทธพรรษาที่ ๒๕ ณ บ้านลัมภะการีวัน (บ้านลำปางหลวง)

โดยมาประทับ ณ ดอยม่อนน้อย คือเขาเตี้ยๆ ลูกหนึ่ง พร้อมกับพระสาวกอีก ๔ รูป อันมีพระอานนท์ เป็นต้น ตามเสด็จมาด้วยจากพระเชตวัน กรุงสาวัตถี

ขณะนั้น มีชาวลั๊วคนหนึ่งชื่อ "อ้ายกอน" ได้นำเอาน้ำผึ้งที่บรรจุอยู่ใน "ลำไม้ป้าง" (ไม้ข้าวหลาม) มะพร้าวและมะตูม อย่างละ ๔ ลูก

ได้นำมาถวายต่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วพระพุทธองค์จึงทรงมอบกระบอกน้ำผึ้งนั้น ให้แก่พระอานนท์ไปเทลงในบาตร

แล้วองค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ จึงได้ฉันน้ำผึ้งนั้น เสร็จแล้วพระพุทธองค์จึงทิ้งกระบอกไม้นั้นไปตกทางทิศเหนือ แล้วทรงพยากรณ์ว่า

"...สถานที่นี้ต่อไป จักมีผู้มาสร้างเมืองมีชื่อว่า "ลำป้าง" หรือ "ลัมภะกัปปะนคร"


ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงยกพระหัตถ์ข้างขวาขึ้นลูบพระเศียร ได้พระเกษา ๑ เส้น ติดพระหัตถ์มาแล้วทรงมอบให้แก่ "ลั๊วอ้ายกอน"

อ้ายกอนก็น้อมรับเอาเส้นพระเกษาด้วยความดีใจ แล้วนำลงบรรจุในผอบทองคำใหญ่ หนัก ๘ กรัม พร้อมด้วย พระอรหันต์ทั้งหลาย จึงให้ขุดหลุมแล้วอัญเชิญผอบพระเกศาลงไปประดิษฐานภายในหลุมนั้น

"ลั๊วอ้ายกอน" ก็ได้นำเอาแก้วแหวนเงินทองเป็นจำนวนมาก ถวายเป็นพุทธบูชาลงฝังในหลุมนั้น เสร็จแล้วก็สร้างยนต์หมุนรักษาไว้ จัดการถมดินดีแล้วก็ก่อเป็นเจดีย์ข้างบนหลุมอุโมงค์นั้นสูง ๗ ศอก

แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ตรัสพยากรณ์ต่อไปว่า เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้วได้ ๒๑๘ ปี จักมีพระอรหันต์ ๒ องค์

องค์หนึ่งชื่อว่า "พระกุมารกัสสปเถระ" จักได้นำเอาอัฐิ "พระนลาฎ" คือกระดูกหน้าผากข้างขวา และ "พระเมฆิยเถระ" จักได้นำเอา "อัฐิลำคอข้างหน้า" และ "ข้างหลัง" ของตถาคตมาบรรจุไว้ในที่นี้อีก

พระเจดีย์องค์นี้จักปรากฏเป็นเจดีย์ทองคำ จักได้ชื่อว่า "ลัมภะกัปปะ" แล้วองค์สมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จจาริกไปที่อื่นอีก

** สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
พระอรหันต์ 2 รูปอัญเชิญ
พระบรมธาตุมาตามพระพุทธประสงค์


ครั้นสมัยต่อมา เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ๒๑๘ ปี ยังมีพระมหากษัตริย์องค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า "พระเจ้าอโศกมหาราช"

พระองค์มีความเลื่อมใสศรัทธาในบวรพุทธศาสนา ปรารถนาจะสร้างพระเจดีย์ไว้เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๘๔,๐๐๐ องค์ ทั่วทั้งชมพูทวีป

เมื่อขุดพบพระบรมสารีริกธาตุในพระเจดีย์ที่ "กรุงราชคฤห์" แล้วพระองค์จึงแบ่งพระบรมสารีริกธาตุนั้น เพื่อให้พระเถระทั้งหลาย อัญเชิญไปประดิษฐานในพระเจดีย์ทั้ง ๘๔,๐๐๐ องค์

ซึ่งพวกเราคงจะจำเรื่องราวที่วัดพระธาตุศรีจอมทองก็ดี วัดพระธาตุหริภุญชัยก็ดี จะมีประวัติที่กล่าวถึง "พระเจ้าอโศกมหาราช" เช่นกัน

อีกทั้งประเทศ "เมียนมาร์" ก็ยังมีกล่าวถึง "พระเจ้าอโศกมหาราช" ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุไว้ตามสถานที่ต่างๆ ด้วย

แสดงว่าจำนวนพระเจดีย์ที่พระองค์ทรงสร้าง ในจำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์นั้น ได้มีส่วนเข้ามาในอาณาเขตของประเทศไทยด้วย สมัยนั้นพระองค์คงจะปรึกษากับพระอรหันต์ก่อน

ฝ่าย "พระกุมารกัสสปเถระ" กับ "พระเมฆิยเถระ" ทั้งสองท่านต่างก็อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ดังกล่าวแล้ว มาประดิษฐานไว้ ณ พระธาตุลำปางหลวง ตามพระพุทธพยากรณ์ทุกประการ

ในสมัยต่อมาก็ได้มีกษัตริย์เจ้าผู้ครองนครลำปางอีกหลายพระองค์ มาก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซม จนกระทั่งเป็นวัดที่มีความงามอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 7/11/18 at 13:46

[ ภาค 3 ตอนที่ 42 ]

(Update 12 มกราคม 2561)


ประวัติพระธาตุลำปางหลวง
สมัยพระเจ้ากรุงสุวรรณภูมิ


"...ฝ่าย "พระกุมารกัสสปเถระ" กับ "พระเมฆิยเถระ" ทั้งสองท่านต่างก็อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวแล้ว

คือ "พระนลาฎ" หน้าผากข้างขวา และ "ลำคอข้างหน้า-หลัง" มาประดิษฐานไว้ ณ พระธาตุลำปางหลวง ตามพระพุทธประสงค์ทุกประการ

ในสมัยต่อมาก็ได้มีกษัตริย์เจ้าผู้ครองนครลำปางอีกหลายพระองค์ มาก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซม จนกระทั่งเป็นวัดที่มีความงามอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ต่อแต่นั้นมาเป็นเวลานาน ไม่ปรากฏกาลเวลา มีพระยาองค์หนึ่งเสวยราชสมบัติอยู่ ณ กรุงสุวรรณภูมิ มีพระนามว่า "จันทะเทวราช" ได้ทรงทราบข่าวว่า

พระบรมสารีริกธาตุที่ "พระเจ้าอโศกมหราช" ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ วัดลัมภะกัปปะนครนั้น องค์พระเจดีย์ได้ชำรุดทรุดโทรมลง

มีพระประสงค์จะได้พระบรมสารีริกธาตุมาไว้ในบ้านเมืองของพระองค์ พระองค์จึงเสด็จมาโดยจาตุรงคเสนาถึงลัมภะกัปปะนคร

เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงแล้ว ก็ให้จัดการพักพลตั้งค่ายรายรอบบริเวณที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ แล้วพระองค์ก็ได้จัดการสมโภชเป็นมหกรรมครบ ๗ วัน

แล้วจึงทรงตั้งสัจจะอธิษฐาน ขออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุเสด็จออกมาจากหลุม กระทำถึง ๓ ครั้ง พระบรมสารีริกธาตุก็หาได้เสด็จออกมาไม่

คราวนี้พระราชาแห่งกรุงสุวรรณภูมิ จึงทรงมีบัญชาให้อำมาตย์ข้าราชบริพารทั้งหลายของพระองค์ทำการขุดดินลงไป

แล้วจึงทำการอัญเชิญผอบที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุออกจากหลุม แล้วอัญเชิญขึ้นหลังช้างทรง แล้วยกกองทัพกลับไปสู่เมืองสุวรรณภูมิ

ครั้นถึงแล้วพระองค์ก็ให้จัดงานสมโภช พอถึงครบ ๒ คืน พระบรมสารีริกธาตุก็แสดงปาฏิหาริย์ ลอยขึ้นสู่นภากาศทั้งผอบทองคำที่บรรจุ

แล้วเสด็จกลับมายังลัมภะกัปปะตามเดิม จึงทำให้พระองค์ทรงมีความน้อยพระทัยเป็นล้นพ้น

รุ่งขึ้น พระองค์สั่งให้เตรียมกองทัพเสด็จออกติดตามพระบรมสารีริกธาตุ จนบรรลุถึงลัมภะกัปปะนคร ก็ทรงเห็นผอบพระบรมสารีริกธาตุตั้งอยู่ที่เดิมเป็นปกติ

ดังนั้นพระองค์ จึงกราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุโดยความเคารพและเลื่อมใสเป็นยิ่งนัก

แล้วรับสั่งให้ไพร่พลจัดการตบแต่งหลุม ที่จักประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุให้กว้างปราบพื้นก้นหลุมให้ราบเรียบดีงาม

แล้วก่ออิฐเงิน อิฐทองคำ ให้สูงจากก้นหลุม แล้วทำผอบเงินอีกอันหนึ่ง เพื่อบรรจุผอบทองคำเดิม โดยประดิษฐานไว้บนหลังสิงห์อันหล่อด้วยทองคำ แล้วก็นำเอาสิงห์ทองคำนี้ลงไปตั้งไว้เหนืออิฐทองคำท่ามกลางหลุม

เสร็จแล้วพระองค์ก็ให้ช่างก่อเจดีย์อันหนึ่ง หุ้มสิงห์ทองคำนั้น (เจดีย์รูปสัณฐานเหมือนฟองน้ำ) แล้วพระองค์ก็ประดับด้วยเครื่องบูชา

คือดอกไม้เงิน ดอกไม้ทองคำ และประทีปเงิน ประทีปทองคำ ล้อมรอบไว้ทุก ๆ ด้าน นอกจากนี้ พระองค์ก็ให้ตั้ง “ไหเงิน” ลูกใหญ่ไว้ ๔ มุมของหลุม

แล้วพระองค์ก็ให้สร้าง “หุ่นยนต์” ถืออาวุธทั้ง ๔ ด้าน ทั้งนี้ เพื่อจักได้รักษาพระสารีริกธาตุให้มั่นคงต่อไป ต่อนั้นพระองค์ก็ได้ก่ออุโมงค์หุ่ม “หุ่นยนต์” นั้นไว้อีก

ถัดจากนั้น ก็ก่อกลบด้วยแผ่นเงิน แล้วถมด้วยหินศิลาแลงให้เสมอด้วยดิน โบกด้วยปูนให้แน่นหนาแข็งแรง เป็นอันเสร็จการสร้างในสมัยของ พระเจ้าจันทะเทวราช กษัตริย์กรุงสุวรรณภูมิ

ต่อจากนั้นมาอีกนาน มีพระราชาองค์หนึ่งชื่อว่า “พระยาพละ” (เจ้าผู้ครองนครแพร่) เสวยราชสมบัติอยู่ในเมือง

อันตั้งอยู่ใกล้กับเมืองลัมภะกัปปะนครนี้ รู้ประวัติว่าพระบรมสารีริกธาตุมีอยู่ในเมืองนี้ พระองค์อยากได้ จึงเสด็จมาโดยเหล่าเสนาทั้ง ๔

ครั้นถึงแล้ว พระองค์จึงรับสั่งให้คนขุดพระเจดีย์ แต่ไม่สามารถทำลายหุ่นยนต์ได้ จึงให้คนทั้งหลายถมดินแต่ข้างหลังหุ่นยนต์นั้นขึ้นมา จนหุ้มอุโมงค์นั้นแล้ว

พระองค์จึงให้หาคนผู้กระทำความผิด ๔ คนมาฆ่า แล้วเอาหัวสุมกัน ให้เท้าชี้ไปคนละทิศ ทั้งนี้ เพื่อให้คน ๔ คนทำการรักษาพระบรมสารีริกธาตุต่อไป

(ผู้เขียนคิดว่า ท่านคงจะทำเป็นการแก้เคล็ดมากกว่า เพื่อทำลายหุ่นยนต์)

แล้วถมดินขึ้นมาจนเสมอพื้น ให้คนหา “ไม้ขะจาว” ปลูกไว้ตรงกลางหลุมนั้น ๑ ต้น และปลูกไว้ในทิศทั้ง ๔ อีกด้วย

ทั้งนี้ เพื่อเป็นเครื่องหมายไว้ว่า วันหนึ่งข้างหน้า “หุ่นยนต์” ต้องชำรุดหักพังลง แล้วพระองค์จะได้มาขุดพระบรมสารีริกธาตุต่อไป

“ไม้ขะจาว” ได้ปลูกตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ตามตำนานพระธาตุลำปางหลวงว่า “ลั๊วอ้ายกอน” ได้ใช้เป็นไม้คานหาบกระบอกน้ำผึ้ง อีกทั้งมะพร้าวและมะตูม มาถวายพระพุทธองค์ ดังนี้


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 19/12/18 at 08:05

[ ภาค 3 ตอนที่ 43 ]

(Update 21 มกราคม 2561)


บ่อน้ำเลี้ยง..พระนางจามเทวี


"...ครั้นอยู่ต่อมาในสมัย พระแม่เจ้าจามะเทวี ได้เสด็จมาตั้งค่ายใกล้บริเวณนั้น เวลากลางคืนพระบรมธาตุได้แสดงปาฏิหาริย์มาจาก "ลัมภะกัปปะเจดีย์" ตกลงกลางค่ายพักของพระแม่เจ้าพอดี ทรงเข้าพระทัยว่าชาวบ้านแถวนั้นแกล้งจุดไฟโตนดให้มาตกลง

รุ่งขึ้นจึงได้ให้เสนาบดีไปถามคนอื่น ๆ ว่ามีใครเห็นไฟโตนดตกลงมากลางค่ายพักนี้บ้าง คนทั้งหลายต่างก็ตอบว่าไม่ได้เห็นเลย

ขณะนั้นมีชายผู้หนึ่งชื่อ "ล่ามพันทอง" จึงกราบทูลว่า ที่พระแม่เจ้าได้เห็นนั้น คงจะเป็นพระบรมสารีริกธาตุอันตั้งอยู่ที่ "วัดลัมภะกัปปะนคร" แสดงปาฏิหาริย์ให้พระแม่เจ้าอยู่หัวได้ทราบ ทั้งนี้โดยบุญญาธิการของพระแม่เจ้าอยู่หัวต่างหาก

เมื่อพระแม่เจ้าทรงทราบเช่นนั้นแล้ว จึงเสด็จไปที่ลัมภะกัปปะเจดีย์ อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เสด็จเข้าไปกราบไหว้โดยอาการอันเคารพยิ่ง

ฝ่ายชาวบ้านชาวเมืองเมื่อทราบข่าวว่า พระแม่เจ้าอยู่หัวเสด็จมาถึง ต่างก็ชักชวนกันมาเพื่อเฝ้าชมพระบารมี

ส่วนพระแม่เจ้าก็ทรงซักถามชาวบ้านถึงความเป็นอยู่ ว่าได้รับความเดือดร้อนเป็นประการใดบ้าง

ชาวบ้านเหล่านั้นก็กราบทูลว่า ความเดือดร้อนอันอื่นใด จักได้เกิดแก่พวกข้าพเจ้าหามิได้ นอกจากความเดือดร้อนอันเกิดจากการขาดแคลนน้ำบริโภคเท่านั้น

เพราะน้ำที่ใช้บริโภคอยู่ทุกวันนี้ ต้องนำเอาเกวียนไปบรรทุกมาจากแม่น้ำวัง และห้วยแม่ยาว อันเป็นระยะทางไกลมาก เมื่อจักขุดบ่อในบริเวณนี้ก็หาสายน้ำมิได้

เมื่อพระแม่เจ้าได้สดับเช่นนั้น ก็มีพระทัยสงสารชาวบ้าน ก่อนที่จะเสด็จจากสถานที่นั้น พระแม่เจ้าก็ทรงกราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุโดยความเคารพ แล้วทรงตั้งสัจจะอธิษฐานว่า

"ถ้าสถานที่นี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ที่พระอรหันต์และพระเจ้าอโศกมหาราช นำมาประดิษฐานไว้จริงแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าขอให้สายน้ำจงแตกออกตรงใจกลางเมืองเถิด..."

เมื่อพระแม่เจ้ากระทำสัจจะอธิษฐานเสร็จ แล้วกราบไหว้ด้วยความเคารพอีกครั้งหนึ่งแล้ว พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาขึ้นหลังช้างอันพระแม่เจ้าให้เตรียมไว้

แล้วทรงเสด็จยาตรากองทัพไปสู่ "เมืองตาล" หรือเมืองรมณีย์ (เป็นเมืองร้างตั้งอยู่ระหว่างดอยขุนตาล ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของที่ว่าการอำเภอห้างฉัตร) อันเป็นที่ทรงพระสำราญของพระองค์

วันนั้นเป็นเวลาเย็น เมื่อกระบวนเสด็จของพระแม่เจ้าผ่านไปแล้ว ก็มีหญิงแก่ผู้หนึ่ง ชื่อว่า “ย่าลอน” ได้เข้าไปพบเห็นที่บริเวณแห่งหนึ่ง มีน้ำซึมออกมาบนผิวดิน นางก็คุ้ยเขี่ยดูก็พบสายน้ำพุ่งออกมา

เมื่อเป็นเช่นนั้นนางก็ไปบอกกล่าวชาวบ้านทั้งหลายมาดู และชาวบ้านเหล่านั้นก็หาเสียมมาขุดดินให้เป็นบ่อ ก็พบสายน้ำพุ่งขึ้นมาแรงนัก คนเหล่านั้นก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า

"นี่หากเกิดด้วยบุญญาธิการแห่งพระแม่เจ้า อันกระทำสัจจะอธิษฐานเป็นมั่นคง..."

สำหรับน้ำในบ่อนี้ ผิดกับน้ำที่มีในบ่อแห่งอื่น ๆ คือ ใสเย็น มีรสกลิ่นอร่อย บ่อนี้ยังปรากฏจนถึงทุกวันนี้ ชาวบ้านเรียกว่า “น้ำบ่อเลี้ยง”

หมู่บ้านนี้ไม่มีน้ำบ่อที่ไหนเลย ชาวบ้านต้องอาศัยบ่อน้ำนี้เพียงแห่งเดียว น้ำบ่อเลี้ยงนี้ ปัจจุบันอยู่กลางหมู่บ้าน ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจากวัดประมาณ ๕๐๐ เมตร

รุ่งขึ้นผู้เป็น “พ่อเมือง” ก็ตักเอาน้ำบ่อนั้นใช้คนหามขึ้นไปถวายพระแม่เจ้าในเมืองตาลแล้ว เล่าเรื่องความเป็นมาให้ทรงทราบ

พระแม่เจ้าจึงให้คนลองชิมน้ำนั้น ปรากฏว่ามีรสดีกว่าน้ำในเมืองหริภุญชัย

ต่อมาพระแม่เจ้าจึงรับสั่งให้อำมาตย์เลือกหาสถานที่ปลูกพลับพลาที่ประทับ อันมีอยู่ในลัมภะกัปปะนคร

ครั้นปลูกสร้างพลับพลาเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระแม่เจ้าจึงรับสั่งให้มีงานฉลองสมโภชพระบรมสารีริกธาตุ ตลอด ๗ วัน ๗ คืน

เสร็จแล้วจึงได้ถวายที่นาราคาล้านเบี้ย ให้เป็นเขตนาของพระบรมสารีริกธาตุ

แล้วมอบหมายให้มีผู้คอยดูแลรักษาพระบรมธาตุ และดูแลรักษาบ่อน้ำอันเกิดจากการอธิษฐานของพระแม่เจ้าอีกต่อไป.."


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 2/1/19 at 08:43

[ ภาค 3 ตอนที่ 44 ]

(Update 31 มกราคม 2561)


ตามรอย..พระแม่เจ้าจามเทวี
ณ พระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง
พิธีการอัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์


"...ตามประวัติ "พระธาตุลำปางหลวง" ก็ได้เล่าถึงการบูรณะปฏิสังขรณ์กันตลอดมา จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ พระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้ จึงเป็นศรีสง่ามานานแล้ว

นับตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาล ณ เมืองลำปาง หรือลัมภะกัปปะนคร หรือ นครละกอน แล้วมาเปลี่ยนเป็น "นครเขลางค์"

ในสมัยพระราชโอรสของพระแม่เจ้าจามเทวี คือ "พระเจ้าอนันตยศ" ซึ่งเป็นผู้ครองนครเขลางค์ นับเป็นองค์ปฐมแห่ง “รามวงศ์” อีกด้วย

สถานที่นี้จึงเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่มากอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย ทั้งยังได้เป็นที่เคารพและสักการะของชาวไทยตลอด

โดยเฉพาะวัดนี้ ถือว่าเป็นพระอารามหลวงแห่งหนึ่ง ที่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ทุกกาลสมัย อันมีพระแม่เจ้าจามเทวี ตลอดจนถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ ได้ทรงทำนุบำรุงปฏิสังขรณ์ตลอดมา

ทั้งนี้ เป็นเพราะเหตุว่าเป็นสถานที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยเสด็จมา พร้อมทั้งได้ทรงประทานเส้นพระเกศา ๑ เส้น ให้แก่ชาวลั๊วคนหนึ่ง ชื่อว่า “อ้ายกอน” แล้วได้ช่วยกันก่อพระเจดีย์สูง ๗ ศอก นับเป็นการสร้างในครั้งแรก

ครั้นถึงในรัชสมัย "พระเจ้าอโศกมหาราช" พระอรหันต์ท่านก็ได้นำพระบรมธาตุที่เป็นส่วนพระนลาฏ คือกระดูกหน้าผากข้างขวา

และพระธาตุที่พระศอ ได้แก่กระดูกลำคอข้างหน้า และข้างหลัง มาบรรจุรวมกันไว้ ณ พระเจดีย์องค์นี้


พิธีการอัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์

เมื่อเล่าเรื่องนี้จบแล้ว จึงอาราธนาให้เจ้าอาวาสท่านเล่าให้ฟังถึงเรื่อง พิธีการอัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ มาสรงองค์พระเจดีย์

เพราะทราบว่า มีการจัดริ้วขบวนแห่เป็นกองเกียรติยศ นับเป็นงานสำคัญของจังหวัดลำปางทีเดียว ซึ่งเรื่องนี้ ท่านได้กรุณาอธิบายว่า

“สำหรับประวัติของน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ มาจากการอธิษฐานของ พระนางจามเทวี ซึ่งผุดออกจากกลางหมู่บ้าน ดังที่เล่ามาแล้วนั้น

และเมื่อถึงเทศกาลประเพณีของทางวัด ซึ่งเป็นวันเพ็ญเดือน ๑๒ หรือทางภาคเหนือเรียกว่า วันเพ็ญเดือนยี่เป็ง

ก็จะได้มีการอัญเชิญโดยการนำของมรรคทายก จะได้กล่าวอัญเชิญเทพยดา ให้รับทราบว่าได้ถึงประเพณีแล้ว ก็จะได้อัญเชิญน้ำนี้ไปสรงยังพระบรมธาตุ

เมื่อมรรคทายกกล่าวอัญเชิญแล้ว ชาวบ้านก็ช่วยกันตักน้ำหาบขึ้นมา เพื่อที่จะนำมาใส่ตุ่มหน้าพระวิหารทางด้านทิศใต้

คือจะทำวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ของทุกปี และก็มีเทศกาล “สงกรานต์” เพื่อจะทำพิธีก่อนวันที่ ๑๓ คือวันที่ ๑๑ เม.ย. ก็จะทำพิธีกัน

ซึ่งน้ำบ่อเลี้ยงที่เกิดจากแรงอธิษฐานของพระนางเจ้าจามเทวีนี้ เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุ ๖๐ พรรษา ก็ได้อัญเชิญน้ำนี้ไปเป็นน้ำ “มูรธาภิเษก” ร่วมพิธีในครั้งนั้นด้วย

น้ำที่นำมาสรงนี้ ชาวบ้านก็ไม่ให้มีการข้าม หรือการไม่เคารพ คือให้ชาวบ้านนำมาสักการะพระบรมธาตุ

เพื่อขอความสุขความเจริญต่อพระบรมธาตุเป็นลำดับมา ประวัติการสรงน้ำ ก็มีเพียงเท่านี้ ขอเจริญพร...”


พิธีบวงสรวง


...ต่อจากนั้น พระครูสมุห์พิชิต(หลวงพี่โอ) จึงได้เป็นตัวแทนของพวกเราทุกคน จุดธูปเทียนที่โต๊ะบวงสรวง

แล้วหลวงพ่อก็ได้กล่าวชุมนุมเทวดาต่อไป พวกเราก็ร่วมกันอธิษฐาน เพื่อขอพระบารมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ได้โปรดคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายทั้งหลาย เพื่อให้ประเทศชาติมีความปลอดภัยและเจริญรุ่งเรืองต่อไป

หลังจากหลวงพ่อกล่าวนำคำบูชาพระรัตนตรัยและขอขมาโทษแล้ว ก็จะทำพิธีสรงน้ำพระบรมธาตุกัน โดยแบ่งออกเป็น ๓ ชุด ชุดแรก

เริ่มต้นจากพระภิกษุสงฆ์ก่อน ประมาณ ๒๐ กว่ารูป ได้ใช้กระบวยตักน้ำศักดิ์สิทธิ์นั้นใส่ในกระป๋องเล็ก ซึ่งแขวนติดอยู่กับสิ่งหนึ่งคล้ายกับรูป “พญานาค” ที่จะเป็นผู้นำน้ำขึ้นไปสรงบนองค์พระเจดีย์ ฉะนั้น

เมื่อพระสงฆ์สรงน้ำเสร็จแล้ว ฝ่ายผู้ชายทั้งหลายก็เข้าไปสรงน้ำเป็นชุดที่ ๒ โดยดึงสายเชือกขึ้นไปพร้อมกัน

ในตอนนี้ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา (สวดชยันโต) พร้อมเพลงมหาฤกษ์มหาชัย ตีฆ้องลั่นกลองชัยไปด้วย

จนกระทั่งถึงบริเวณคอพระเจดีย์ แล้วจึงดึงสายเชือกอีกด้าน เพื่อให้กระป๋องน้ำเทราดรดบนองค์พระเจดีย์

แล้วจึงสาวเชือกกลับลงมา เพื่อให้บรรดาท่านสุภาพสตรีทั้งหลาย ซึ่งมีจำนวนมากกว่าผู้ชายหลายเท่า ได้มีโอกาสสรงน้ำพระบรมธาตุต่อไปเป็นชุดสุดท้าย

ตามโบราณประเพณีของภาคเหนือ โดยคณะอุบาสิกาทั้งหลายยืนถือเชือก ซึ่งต้องนำต้ายสายสิญจน์มาถือต่อไปอีกยาวเหยียด

บางคนก็ได้นำน้ำหอมที่เตรียมมาผสมลงไปด้วย แล้วก็ได้ทำพิธีสรงน้ำเช่นเดียวกันกับชุดก่อนแล้วครบถ้วนทุกประการ

ในขณะที่สรงน้ำนี้ มีบางคนเล่าให้ฟังในภายหลังว่า มองไปบนท้องฟ้าทางด้านทิศตะวันตก ผ่านด้านหลังองค์พระเจดีย์ไป

ซึ่งผู้เขียนก็ไม่มีโอกาสได้เห็น แต่มีหลายคนได้เห็นแล้ว เล่าให้ฟังตรงกันว่า ในตอนนั้น ท้องฟ้าเริ่มมืดครึ้ม น่าจะเป็นเวลาใกล้ ๑๘.๐๐ น.

แต่มีแสงสีทองเหลืองอร่าม (คุณแสงเดือนถ่ายรูปมาให้ชมด้วย) เกิดขึ้นทางทิศตะวันตกของพระเจดีย์ แล้วค่อยมีแสงหลายหลากสีเป็นรัศมีวงกลมสวยงามมาก.."


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 12/1/19 at 02:35

[ ภาค 3 ตอนที่ 45 ]

(Update 12 กุมภาพันธ์ 2561)


ตามรอย..พระแม่เจ้าจามเทวี
ณ พระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง
พิธีอัญเชิญเครื่องสักการะ ทำประทักษิณรอบพระเจดีย์


"...เมื่อทุกคนได้สรงน้ำพระบรมธาตุแล้ว จึงขอให้ทุกคนมารวมกันที่ลานพระเจดีย์ เพื่อจะทำพิธีอัญเชิญเครื่องสักการะแห่รอบองค์พระบรมธาตุ พร้อมทั้งสวดอิติปิโสไปด้วย ๓ รอบ

โดยการนำของพระภิกษุทั้งหลาย (สมัยนั้น ท่านพระครูปลัดสมนึกได้ไปร่วมงานด้วย) ได้เดินถือพานธูปเทียนแพ พุ่มเงินพุ่มทอง ฉัตรเงิน ฉัตรทอง และดอกดาวเรือง

พร้อมทั้งอัญเชิญผ้าห่มพระเจดีย์ที่ตัดเย็บอย่างสวยงาม หลายคนเดินถือชายผ้าห่มทั้งสองด้าน ซึ่งมีความยาวเกือบ ๕๐ เมตร โดยมี "กรวยดอกไม้" ถืออยู่ในมือ ซึ่งทางวัดได้จัดเตรียมไว้ให้


เสียงการเจริญ "พระพุทธคุณ" ของพวกเราได้ดังไปทั่ว เพื่อสรรเสริญคุณพระพุทธเจ้าคุณพระธรรม และคุณพระอริยสงฆ์ ด้วยความเคารพยิ่งชีวิต

จิตใจได้มุ่งตรงอยู่ที่องค์พระเจดีย์ เหมือนเป็นศูนย์กลางให้พวกเราได้มารวมกันเป็นหนึ่งเดียว จนเต็มรอบพระเจดีย์ที่เรียกว่าหัวชนท้ายกันก็ว่าได้

ทุกคนจึงมีความปลื้มปีติยินดีที่มีโอกาสได้กระทำประทักษิณครบ ๓ รอบ อันเป็นสถานที่แห่งเดียวและแห่งสุดท้ายที่ได้มาเวียนเทียนกัน


หลังจากนั้น พวกเราก็ทรุดตัวนั่งลงโดยรอบองค์พระธาตุ เพื่อประกาศถวายเครื่องสักการะทั้งหลายเหล่านี้อย่างเป็นทางการ

โดยตั้งนะโม ๓ จบพร้อมกันก่อนแล้ว จึงกล่าวถวายเครื่องสักการะต่าง ๆ อันมีน้ำโสรจสรงองค์พระบรมธาตุ ผ้าตุง ผ้าห่มพระเจดีย์ เครื่องบายศรี ฉัตรเงินและทอง พุ่มเงินและทอง เป็นต้น

แล้วทุกคนก็ได้นำเข้าไปถวายพระเจดีย์เป็นที่เรียบร้อย โดยเจ้าหน้าที่ของวัดก็ได้รับเอาผ้าห่มเดินขึ้นบันได เพื่อนำขึ้นไปห่มพระเจดีย์แทนพวกเรา ส่วนคนที่มีกรวยดอกไม้ ต่างก็นำไปบูชารอบองค์พระเจดีย์ด้วยความเคารพ


หลังจากนั้นก็เป็นถวายผ้าป่า อันมีพระพุทธรูป ผ้าไตรจีวร พร้อมพานวางสิ่งของต่าง ๆ ร่ม และตาลปัตร โดยมีหลายท่านร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดเครื่องไทยทานเหล่านี้

พร้อมทั้งร่วมกันบริจาคเงินบูรณะวัดพระธาตุลำปางหลวงอีก ประมาณ ๑ แสนบาทเศษ จึงอุทิศส่วนกุศล แล้วรับพรจากเจ้าอาวาส คือ ท่านพระมหานิยม เป็นลำดับต่อไป.

พิธีฉลองสมโภชพระบรมธาตุ


...ตอนต่อไปนี้ หลังจากเสร็จพิธีการบวงสรวงสักการะบูชาตามที่กล่าวมาแล้ว ก็จะเป็นการฟ้อนรำถวาย "ชุดรำเทียน"

ซึ่งขณะนี้เป็นเวลาใกล้ค่ำพอดี เริ่มมีกระแสลมโชยมาเบาๆ แต่ก็พยายามจุดธูปเทียนไว้ในมือ พร้อมกับร่ายรำไปตามเสียบเพลง จะเห็นเปลวเทียนระยิบระยับแกว่งไกวไปอย่างพร้อมเพรียง


ในความมืดพอมีแสงสลัว ๆ จะมองเห็นเด็กสาวที่อยู่ในชุดไทยชาวเหนือ แสดงลีลาท่าทางที่อ่อนช้อยงดงาม บ่งบอกถึงความมีน้ำใจไมตรีของชาวเหนือ

โดยเฉพาะในตอนนี้ ยังมีบางคนลุกออกไปทานอาหารเย็นกันที่ศาลาอีกหลังหนึ่ง ซึ่งทางวัดร่วมกับชาวบ้านลำปางหลวง ได้จัดเตรียมอาหารมาเลี้ยงเป็นพิเศษ ได้ทราบในตอนหลังจากกลับมาแล้วบอกว่าอร่อยดี

เมื่อเสียงเพลงจบลงไปแล้ว ก็เป็นเสียงปรบมือให้แก่ชุดฟ้อนรำจาก โรงเรียนพร้าววิทยาคม เสร็จแล้วจึงขอให้ทุกคนไปรวมตัวกันอีกด้านหนึ่งของพระเจดีย์ เพื่อชมการบูชาเป็นการปิดท้ายที่สำคัญต่อไป.."


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 21/1/19 at 04:57

[ ภาค 3 ตอนที่ 46 ]

(Update 20 กุมภาพันธ์ 2561)


ตามรอย..พระแม่เจ้าจามเทวี
ณ พระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง
อนุโมทนากถา (ตอนสุดท้าย)


"...แต่ก่อนที่จะจบ "พิธีสมโภชอันยิ่งใหญ่" ณ ปูชนียสถานอันสำคัญที่นี่ และที่ทุกแห่งทางภาคเหนือ เป็นการฉลองสมโภชปิดท้ายรายการทางภาคเหนือ

ตอนนี้เป็นตอนจบ นับตั้งแต่จัดงานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖ โดยเริ่มตั้งแต่ วัดพระพุทธบาทสี่รอย จ.เชียงใหม่ แล้วมาถึงปีนี้วันที่ ๑๘ ม.ค. ๒๕๔๐ ที่พระธาตุดอยตุง และ พระธาตุจอมกิตติ จ.เชียงราย

แล้วต้องมาแบ่งมาเป็นตอนที่ ๒ นี้ อันมี จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน และสุดท้ายที่ จ.ลำปาง โดยได้มายุติลงคงไว้ ณ สถานที่แห่งนี้เป็นที่สุด จึงต้องขอกล่าวก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับไปว่า

สรุปผลการเดินทางมาในครั้งนี้ และทุกครั้งที่ผ่านมา บางท่านกว่าจะมาได้ก็ด้วยความยากลำบาก ต้องมีความเสียสละ ทั้งภารกิจและความสุขสบายต่าง ๆ เพื่อผลอันยิ่งใหญ่ในการบูชาคุณพระรัตนตรัย

โดยเฉพาะในปีนี้ นอกจากจะจัดงานไหว้พระคุณของครูบาอาจารย์ หรือเรียกว่า "งานไหว้สาครูบาเจ้า" ณ วัดพระพุทธบาทห้วยต้มแล้ว


เราจะต้องไปกราบไหว้บูชาพระคุณของท่าน "บิดา" และ "มารดา" กันเป็นกรณีพิเศษ เพราะถ้าหากสมมุติว่าโลกจะต้องประสบกับทุกข์ภัยใหญ่ ชาวโลกทั้งหลายอาจจะต้องมีเคราะห์กรรม

แต่กรณีผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา คงจะแคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งหลาย นอกจากท่านที่มีหน้าที่ช่วยพิทักษ์รักษาตัวเราแล้ว

ก็ยังมี "ท่านพ่อ" และ "ท่านแม่" ทั้งหลาย ที่จะห่วงใยใกล้ชิด และให้กำลังใจลูกของท่านตลอดเวลาในยามคับขัน

ทั้งนี้ เป็นด้วยพวกเราได้ประกอบคุณงามความดี ตามที่ครูบาอาจารย์สั่งสอนไว้ แม้ท่านจะละทิ้งสังขารไปแล้วก็ตาม

พวกเราก็ได้จาริกไป "ตามรอยความดี" ของท่าน โดยได้ไปกราบนมัสการ ณ สถานที่สำคัญเกือบทุกแห่งตามที่ท่านเคยไป แล้วได้กระทำตามแบบอย่างของศิษย์ที่ดีทุกประการ

ถึงแม้ว่าจะมีข้อบกพร่องไปบ้างก็ตามทีแต่ด้วยเกียรติคุณความดีของท่าน ที่พวกเราได้ประกาศไปเกือบทั่วทุกภาคของประเทศ

แล้วได้สรรเสริญเกียรติคุณของท่าน โดยถูกต้องชอบธรรมทุกประการ คือยกขบวนกันไปด้วยความสามัคคีเป็นอย่างดี

พวกเราไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน มีระเบียบวินับ มั่นคงในเวลา ซื่อสัตย์ต่อตนเอง และผู้อื่น ประพฤติมั่นในศีลธรรม

ช่วยกันปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ได้แก่อุโบสถ วิหาร และพระเจดีย์ต่าง ๆ เพื่อช่วยกันค้ำจุนพระพุทธศาสนา ให้สถิตย์สถาพรอยู่ในจิตใจของคนไทยตลอดไป

การจัดงานในแต่ละครั้งจนถึงปัจจุบันนี้ จึงได้เลือกสถานที่สำคัญที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาพร้อมด้วยพระอรหันต์ทั้งหลาย

โดยเฉพาะในครั้งนี้ ถ้าจะย้อนตั้งแต่ตอนแรก เราก็บูชาคุณความดีของครูบาอาจารย์ทั้งหลาย มีหลวงพ่อและหลวงปู่ครูบาชัยวงศ์ เป็นต้น ได้จัดงานร่วมสมัยกัน แล้วได้ทำบุญกับพระเถระทั้งหลายที่ได้อาราธนามาร่วมงานด้วย

ต่อจากนั้น ได้ไปกราบรอยพระพุทธบาท "เกือกแก้ว" จนได้รับผล คือความเยือกเย็น ชุ่มฉ่ำชื่นใจไปทั่ว เหมือนกับหยดน้ำที่ประทานพรลงมาจากฟากฟ้าฉะนั้น

แล้วไปสรงน้ำพระบรมธาตุ "จอมโมลี" ณ วัดพระธาตุศรีจอมทอง และไปค้างคืนทำบุญกันต่อที่ วัดโขงขาว

รุ่งเช้า จึงเดินทางไปบูชาเส้นพระเกศาธาตุ ณ วัดพระธาตุดอยคำ สักการะพระบรมธาตุ หริภุญชัย ไหว้พระอัฐิธาตุของ "พระแม่เจ้าจามเทวี"

แล้วจึงมาปิดท้ายคือ "รวมงานพิธีฉลองสมโภช" ณ สถานที่นี้ และสถานที่ทุกแห่งที่ผ่านมาทั้งหมด

จึงได้ชื่อว่ากราบไหว้บูชาคุณพระพุทธเจ้าตลอดทั้งพระองค์ทีเดียว คือได้กราบตั้งแต่พระบาทจนถึงพระเศียร ใช่ไหม..

เพราะอะไร จึงได้จัดงานอย่างนี้ ก็เพื่อผลความดีที่จะพึงกระทำ ตามที่เรายังมีชีวิตอยู่..ยังมีโอกาสอยู่.. ยังมีความสามัคคีอยู่..ยังเป็นสัมมาทิฏฐิอยู่.. ต่อไปจะเป็นอย่างไรก็ยังไม่รู้...!

แต่ตอนนี้ถือว่าพวกเรายังรวมกำลังกันอยู่ จึงได้จัดงานเป็นกรณีพิเศษ คืองานฉลองอายุพระพุทธศาสนาครบ ๒๕๔๐ ปีพอดี แล้วที่จะต้องมายุติ "ภาคเหนือ" อันเป็นตอนจบเพียงแค่นี้

สรุปแล้วในครั้งนี้พวกเราได้มีโอกาสร่วมบำเพ็ญกุศล ถวายพระพุทธรูป ผ้าไตรไทยทานทั้งหลาย แด่พระเถระที่นิมนต์มา

และตามวัดจัดเป็นสังฆทาน วิหารทาน และธรรมทาน รวมทั้งสิ้น ๒๐ วัด ตรงกับ ๒๐ พรรษาที่ผ่านมา พอดีที่มีโอกาสร่วมฉลองไปด้วย เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น ๑ ล้านบาทเศษ

นอกจากนั้น ยังมีค่าใช้จ่ายของงานอื่นๆ อีก ที่ได้หักออกจากเงินกองกลางแล้ว และรวมทั้งมีผู้ที่จัดเครื่องไทยทานมาร่วมด้วย

คงจะเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ ๑ แสนบาทเศษ จึงขอให้ทุกท่านได้โปรดอนุโมทนาร่วมกันเทอญ

ในที่สุดนี้ที่จะต้องขอขอบคุณพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย โดยเฉพาะงานตอนที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๘ - ๑๙ ม.ค. ๒๕๔๐ อันมี "พระครูปลัดอนันต์" เป็นประธาน

ส่วนงานตอนที่ ๒ นี้ เมื่อวันที่ ๑๙ - ๒๐ เม.ย. ๒๕๔๐ อันมี พระครูสมุห์พิชิต (โอ) เป็นประธานของงาน

ท่านทั้งสองนี้ พร้อมทั้งพระภิกษุภายในวัด และเพื่อนพระภิกษุที่ไปจากวัดอื่น ๆ ก็ตามที่ได้เมตตาอุปการะ ให้คำแนะนำและช่วยกิจการจัดงานต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

พร้อมกันนี้ ก็ต้องขออนุโมทนาญาติโยมด้วยที่ช่วยร่วมเดินทางมา รวมทั้งผู้จัดรถ เจ้าหน้าที่จัดงาน ช่วยขนของ และช่วยทำบายศรี เป็นต้น

หรือแม้แต่ท่านผู้อ่านทุกท่านก็ตาม ถึงท่านจะมิได้ไปร่วมงาน แต่ก็เป็นงานของพวก ท่านเช่นกัน เพราะเราทำกัน

ในนามของ "คณะศิษย์หลวงพ่อพระราชพรหมยาน" จึงควรนับเนื่องเป็น "ผลงาน" และ "ผลบุญ" ของพวกท่านทุกคนนั่นเอง

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีท่านทั้งหลายเหล่านี้ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น งานก็คงไม่มีจนมาถึงวันนี้อย่างแน่นอน

จึงขออวยพรให้ทุกท่าน ที่ได้บำเพ็ญบารมีมาด้วยดี จะเป็นที่ไหน ๆ ชาติหนใดก็ตาม ตราบถึงปัจจุบันนี้ ที่จะมีอานิสงส์สูงสุดเพียงใด ในกำลังบุญบารมีทั้ง ๓๐ ทัศ

ขออำนาจคุณพระรัตนตรัย และคุณบิดามารดา คุณครูบาอาจารย์ คุณของเทพเจ้าผู้รักษาตัวท่านเอง ทั้งเทพเจ้าผู้รักษาพระบรมธาตุและรอยพระบาททุกแห่ง ที่เราได้สักการบูชาท่านมาแล้ว

ขอจงได้สนองผลบุญเป็นอเนกอนันต์ แล้วขอให้ปราศจากภัยที่เป็นทุกข์มหันต์ นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จะประสงค์สิ่งใดก็ขอให้สมความปราถนาทุกประการเทอญ..."

ครั้นการกล่าว "อนุโมทนากถา" จบแล้ว ทุกคนออกไปยืนข้างนอกแล้ว พลุไฟต่าง ๆ ที่ได้จัดเตรียมไว้ตั้งแต่กลางวัน ได้ถูกจุดขึ้นเสียงดังอย่างสนั่นหวั่นไหว


ในชุดแรกเป็นพลุดาวกระจายเรียกว่า "ชุดเบิกฟ้า" เป็นการบอกกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้อนุโมทนาการ

ทุกคนแหงนมองขึ้นไปบนท้องฟ้าในยามค่ำคืน เห็นพลุกระจายไปท่ามกลางความมืด สวยสดงดงามตระการตา

สะท้อนกลับลงมา คล้ายสายผนที่กำลังโปรยปรายลงมาจากฟากฟ้าเหมือนเป็นสักขีพยานในการสักการบูชาของพวกเรา ฉะนั้น

ทุกคนจึงมีความชุ่มฉ่ำชื่นใจ จิตใจมีความสุข เมื่อได้เห็นพลุชุดต่อไปเรียกว่า "ต้นพุ่มเงินและพุ่มทอง" โดยถูกจัดไว้อยู่ด้านหน้าทั้งซ้ายขวาพระเจดีย์


เพื่อเป็นพุทธบูชา เปลวไฟที่กิ่งก้านของต้นพุ่มเงินและพุ่มทองได้แกว่งไกวไปมา พร้อมกับเสียงประทัดดังกึกก้องสลับกันไป

ในเวลาเดียวกันนั้นเอง พลุไฟพะเนียง ๑๒ กระบอกที่อยู่ด้านข้างพระเจดีย์ได้พุ่งกระจายสูงขึ้น แสงไฟที่พุ่งออกมาพร้อมกันดูเจิดจ้าสว่างไสวไปทั่ว

พร้อมกันนั้น พลุควันสี ก็ถูกปล่อยออกมากระจายรายรอบพระเจดีย์

มีหลายคนร้องออกมาด้วยความยินดี หลังจากชมพลุข้างล่างแล้ว พอใกล้จะหมด ก็ได้ยินเสียงพลุบนท้องฟ้าดังขึ้นอีกแล้ว

เมื่อเงยหน้ามองดูพลุว่า พลุดาวกระจายชุด "ฟ้าประทานพร" ได้ถูกจุดขึ้นอย่างสวยงาม แล้วตาด้วยชุด "พรจากฟ้า"

แสงหลายหลากสีของพลุ ได้พุ่งแผ่กระจายออกแล้วสลับสีกันเป็นชั้น ๆ จนมาถึงชุดสุดท้ายที่จะต้องมองกลับลงมาอีก

นั่นก็คือ..พลุชุด "น้ำตก" ถ้ามองไกลๆ จะเหมือนกระแสน้ำสว่างไสวไหลร่วงหล่นลงมา เป็นสาย ๆ พร้อมกันนี้พลุชุดตัวหนังสือคำว่า "นิพพานะ สุขัง" ก็ได้จุดขึ้นตามมา

มองเห็นเปลวไฟไปตามตัวหนังสือสว่างไสวไปทั่ว พร้อมกับเสียงประทัดดังสลับกันไปจนหมดสิ้น

เป็นอันเสร็จสิ้นการเฉลิมฉลองด้วยเปลวประทีป ตามโบราณประเพณีแล้ว ทุกคนต่างมีความชื่นบานไปกับแสงสีที่สวยงามของพลุแต่ละชุด ที่จุดขึ้นในยามค่ำคืน

บางท่านรู้สึกหิวข้าวขึ้นมา บ้างก็เดินไปทานข้าวกันก่อน ส่วนใหญ่ที่เหลือก็กลับมายืนที่เดิม รอว่าจะมีอะไรอีกต่อไป

บัดเดี๋ยวนั้นเอง...เสียงเพลง..."สามัคคีชุมนุม" ก็ดังขึ้นท่ามกลางความเงียบสงัด ทุกคนจึงร้องตามด้วยความสามัคคี

กลุ่มสตรีบางคนต่างก็โอบไว้ซึ่งกันและกัน แล้วโยกกาย เปล่งเสียงร้องไปตามทำนองเพลง

"...พวกเราเหล่ามาชุมนุม ต่างกุมใจรัก สมัครสมาน ล้วนมิตรจิตชื่นบาน สราญเริงอยู่ ทุกผู้ทุกนาม

(สร้อย) อันความกลมเกลียว กันเป็นใจเดียวประเสริฐศรี ทุกสิ่งประสงค์จงใจ จักเสร็จสมได้ด้วยสามัคคี..."

แล้วถึงท่อนสุดท้ายร้องว่า "...สามัคคีนี้แหละล้ำเลิศ จักชูชาติเชิด พระศาสนา สยามรัฐจักวัฒนา ปรากฏเกียรติ ฟุ้งเฟื่องกระเดื่องแดนดิน..." (สร้อย)

ครั้นเสียงเพลงนี้จบลงไปแล้ว มีบางคนจะเปล่งเสียงร้อง..."ไชโย...!" พอดีมีเสียงเพลง "สดุดีมหาราชา" ดังขึ้นมาอีก พวกเราก็ต้องร้องตามกันไป

เพื่อเทิดพระเกียรติองค์พระประมุขของชาติ ท่ามกลางความสุขขอบบรรยากาศในค่ำคืนนั้น เย็นสบายเหมือนกับ "น้ำพระพุทธมนต์" ที่กำลังประพรมลงมาถูกต้องกายา ฉะนั้น

เมื่อเสียงเพลงท่อนสุดท้ายร้องว่า "อ้า..องค์พระสยมบรมราชันย์ขวัญหล้า เปล่งบุญญาสมสง่าบารมี ผองข้าพระพุทธเจ้า น้อมเกล้าขออัญชุลี สดุดีมหาราชา สดุดีมหาราชินี..."

เสียงเพลงนี้จบลงไปแล้ว ต่อจากนั้น เสียงเพลง "ข้าวรพุทธเจ้า..." ดังขึ้น ทุกคนต่างก็เข้าใจดีว่า ต้องเป็นเพลงปิดท้ายอย่างแน่นอน นั่นก็คือเพลง "สรรเสริญพระบารมี"

เสียงร้องตามด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ต่างก็ต้องด้วยความปลาบปลื้มใจ บางคนถึงกับปีติน้ำตาไหลไหก็มี ครั้นร้องจบลงตรงที่คำว่า

"...ปวงประชาเป็นสุขศานต์ ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด สงสฤษฎ์ดัง หวังวรหฤทัย ดุจถวายชัย...ชโย...!"

คราวนี้เอง พวกเราถึงกับชูมือขึ้นพร้อมกับ เปล่งเสียงร้อง "ไชโย..! ไชโย..! ไชโย..!" ดังสนั่นกึกก้องไปทั่วบริเวณ

แสดงให้เห็นถึงพิธีกรรม "ตัดไม้ข่มนาม" ได้บรรลุผลโดยสมบูรณ์ที่สุด เพราะจิตใจของเรารวมกันอย่างมีพลังมั่นคง จึงถือ "เคล็ด" ว่า ได้ชัยชนะเอาไว้ก่อน

นับตั้งแต่ที่ได้ทำพิธีที่ วัดพระธาตุจอมกิตติ จนมาถึงจุดสุดท้ายของภาคเหนือ ณ สถานที่แห่งนี้ อันเปรียบเสมือน "อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ"

พวกเราหวังที่จะได้กระทำพิธีฉลองสมโภช เพื่อผลแห่งชัยชนะทั้ง "ทางโลก" และ "ทางธรรม" เป็นที่สุด

บัดนี้ พวกเราก็บรรลุวัตถุประสงค์ทุกประการ จึงแยกย้ายกันเดินทางกลับ บางท่านที่ยังมิได้รับประทานอาหารกัน ก็ต้องไปฉลองศรัทธาของชาวบ้านลำปางหลวง

ที่อุตส่าห์จัดอาหารมาถึง ๔-๕ หมู่บ้าน มาเลี้ยงดูพวกเราอย่างอิ่มหนำสำราญ พวกเราจึงเดินทางกลับอย่างอิ่มเอมเปรมใจ..คืออิ่มทั้งกายและใจ..สวัสดี


(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 31/1/19 at 05:03

.


webmaster - 12/2/19 at 15:53

.


webmaster - 20/11/20 at 05:49

.