คำนมัสการพระอรหันต์ ๘ ทิศ (พุทธมังคลคาถา) VEDIO - MP3
webmaster - 2/10/08 at 09:54

คำนมัสการพระอรหันต์ ๘ ทิศ (พุทธมังคลคาถา) Vedio

แบบบาลี
แบบประกอบดนตรี


แบบเด็กๆ น่ารักดี
แบบประกอบดนตรี


คำนมัสการพระอรหันต์ ๘ ทิศ (พุทธมังคลคาถา) MP3



นอกจากพระคาถาชินบัญชรอันลือชื่อของท่านแล้ว "พุทธมังคลคาถา" ถือเป็นอีกหนึ่งบทคาถาของ ท่านสมเด็จพระพุฒาจารย์ ที่ถือว่ามีอิทธิฤทธิ์ด้านลาภผลและมงคลทั้งปวง เพราะคำว่าพุทธมังคลคาถานี้ คือการนมัสการบูชา "พระอรหันต์แปดทิศ" ซึ่งล้วนแต่เป็นพระมหาเถระที่สำคัญทั้งสิ้น

สัมพุทโธ ทิปะทัง เสฏโฐ นิสินโน เจวะ มัชฌิเม
โกณฑัญโญ ปุพพะภาเค จะ อาคะเณยเย จะ กัสสะโป
สารีปุตโต จะ ทักขิเณ หะระติเย อุปาลี จะ
ปัจฉิเมปิ จะ อานันโท พายัพเพ จะ ควัมปะติ

โมคคัลลาโน จะ อุตตะเร อิสาเณปิ จะ ราหุโล
อิเม โข มังคลาพุทธา สัพเพ อิธะ ปะติฏฐิตา
วันทิตา เต จะ อัมเหหิ สักกาเรหิ จะ ปูชิตา
เอเตสัง อานุภาเวนะ สัพพะโสตถี ภะวันตุ โน

อิจเจวะมัจจัน ตะนะมัสสะเนยยัง
นะมัสสะมาโน ระตะนัตตะยัง ยัง
ปุญญาภิสันทัง วิปุลัง อะลัตถัง
ตัสสานุภาเวนะ หะตันตะราโย ฯ




ทิศบูรพา


พระอรหันต์ประจำทิศ ได้แก่ พระอัญญาโกณทัญญะ ซึ่งเป็นพระสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา และเป็นพระสงฆ์ผู้สำเร็จพระอรหันต์องค์แรก ถ้าท่านใดอยากเป็นผู้ชนะก่อนใคร โบราณถือว่าต้องบูชาพระจันทร์ก่อน เพื่อเสริมส่งให้มีเมตตามหานิยม ให้มีความสำเร็จก่อนผู้ใด ตามคติของพระพุทธศาสนา จัดให้พระพุทธรูปปางห้ามญาติ เป็นพระประจำวันจันทร์ (พระพุทธรูปยืน

ปางห้ามญาติ ยกพระหัตถ์ขวาแบอยู่ระดับหน้าอก พระหัตถ์ซ้ายห้อยอยู่ข้างตัว หรือพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร ยกพระหัตถ์ทั้งสองแบอยู่ระดับอก) แล้วได้จัดให้พระปริตบทยันทุน เป็นคาถาสวดสำหรับวันจันทร์ โดยสวด 15 จบ เพื่อช่วยให้เกิดโชคลาภคุ้มภัยอันตรายได้ และจะมีความเจริญปราศจากโรคาพยาธิทั้งปวง และยังจัดให้คาถาพระอิติปิโส 8 ทิศ บทกระทู้ 7 แบก สำหรับสวดภาวนาประจำวันจันทร์ คือ คาถา " อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา "

ทิศอาคเนย์


พระอรหันต์ประจำทิศได้แก่ พระมหากัสสป เป็นพระสาวกที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นเลิศกว่าพระอื่น ถือธุดงควัตร เป็นพระสงฆ์ที่มีร่างกายเสมอเหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือ มีร่างกายใหญ่โตมาก พระองค์จึงได้ประทานผ้าสังฆาฎิให้กับพระมหากัสสป ถ้าท่านใดอยากได้ความเป็นใหญ่ มีผู้คนยอมรับนับหน้าถือตาก็ควรบูชาพระอังคาร ซึ่งอยู่ประจำทิศอาคเนย์

ตามคติทางพระพุทธศาสนา จัดให้พระพุทธรูปปางไสยยาสน์ (นอน) เป็นพระประจำวันอังคาร และพระปริตบทขัด กรณียเมตตาสูตร เป็นคาถาสวดสำหรับพระอังคาร โดยสวด 8 จบบูชา พระปางไสยาสน์ เพื่อช่วยให้เกิดโชคลาภ และคุ้มภัยอันตรายได้ และจะมีความสุขสวัสดีตลอดกาลนาน และยังจัดให้คาถาพระอิติปิโส 8 ทิศ บทเรียกฝนแสนห่า เป็นคาถาภาวนาประจำพระอังคาร คือคาถา " ติ หัง จะ โต โร ถิ นัง "

ทิศทักษิณ


พระอรหันต์ประจำทิศ ได้แก่ พระสารีบุตร ซึ่งเป็นเอตทัคคะ ผู้เลิศทางปัญญา แม้นกำเม็ดทราย 1 กำมือ ก็สามารถนับได้ ถ้าผู้ใดอยากมีปัญญาเฉลียวฉลาด มีวาจาอ่อนหวานไพเราะ บริสุทธิ์ ก็ให้บูชาพระพุธ ซึ่งชุบมาจากคชสารตามคติทางพระพุทธศาสนา จัดให้ พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร เป็นพระประจำวันพุธ (กลางวัน)

และจัดให้สวดบทขัดพระปริตร บทสัพพาสี เป็นคาถาสวดประจำสำหรับวันพุธ โดยสวด 17 จบ เพื่อบูชา พระปางอุ้มบาตร เพื่อช่วยให้เกิดโชคลาภคุ้มภัยอันตรายได้ และจะมีความสุขสวัสดียิ่งๆ ขึ้นไป และยังจัดให้คาถาพระอิติปิโส 8 ทิศ บทนารายณ์เกลื่อนสมุทร เป็นคาถาประจำพระพุธด้วย คือ " ปิ สัม ระ โล ปุ สัต พุท "

ทิศหรดี


พระอรหันต์ประจำทิศ คือ พระอุบาลี ซึ่งเป็นเอตทัคคะในด้านการทรงพระวินัย เปรียบอยู่ในกฏระเบียบ ซึ่งถ้าผู้ใดต้องการให้บุตรหลานอยู่ในระเบียบวินัยไม่หลงมัวเมาในอบายมุข ก็ควรบูชาพระเสาร์ตามคติของพระพุทธศาสนา จัดให้พระพุทธรูปนั่ง ปางนาคปรก

และจัดคาถา ยะโตหัง เป็นคาถาบทสวดสำหรับพระเสาร์ โดยสวด 10 จบ ตามกำลังวัน บูชาพระนาคปรกเพื่อจะได้ช่วยคุ้มกันอันตรายต่างๆ ช่วยให้เกิดโชคลาภ จะมีความสุขความเจริญ และเกิดความสวัสดี มีมงคลตลอดกาลนานและยังให้บทสวดพระคาถาอิติปิโส 8 ทิศ บทนารายณ์คลายจักร เป็นคาถาประจำพระเสาร์อีกด้วยคือ " โส มา ณะ กะ ริ ถา โธ "

ทิศปัจจิม


พระอรหันต์ประจำทิศ คือ พระอานนท์ ซึ่งเป็นพุทธอุปัฐาก เลขาส่วนตัวของพระพุทธเจ้า ดูแลทุกอย่าง ตั้งแต่ก่อนตื่นนอนและหลังจำวัด แม้ว่าพระพุทธองค์ไปแสดงธรรมเทศนาที่ใด ถ้าพระอานนท์ไม่ได้ไป จะต้องกลับมาแสดงธรรมให้พระอานนท์ฟังโดยเฉพาะอีกครั้ง ผู้ใดอยากให้บุตรหลาน ฉลาด รอบรู้ หูตากว้างไกลก็ควรบูชา พระพฤหัส พระพฤหัสชุบมาจากฤาษี 19 ตน ซึ่งมีความฉลาด หลักแหลม ปัญญา ดี รอบรู้

ตามคติของพระพุทธศาสนา จัดให้พระพุทธรูปปางสมาธิ เป็นพระพุทธรูปประจำวันพฤหัส และจัดให้สวดคาถา บทขัดพระปริตบทปุเรนตัมโพ โดยสวด 19 จบ ตามกำลังวันบูชาพระปางสมาธิ เพื่อจะช่วยคุ้มอันตรายต่างๆ และช่วยให้เกิดโชคลาภด้วย มีความสุขความเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป และยังให้พระสวดพระคาถาอิติปิโส 8 ทิศ บทนารายณ์ขว้างจักรตรึงไตรภพ เป็นคาถาประจำวันพฤหัสบดีด้วยคือ " ภะ สัม มัม วิ สะ เท ภะ "

ทิศพายัพ


พระอรหันต์ประจำทิศ คือ พระควัมปติ หรือ พระสิวลี ซึ่งเป็นเอตทัคคะเลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายในเรื่องโชคลาภ ซึ่งตรงกับนพเคราะห์คือ พระราหูซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งขุมทรัพย์ทั้งหลายทั้งปวง มีอำนาจบารมีเป็นที่เกรงกลัว ผู้ใดอยากให้บุตรหลานมีโชคลาภ บารมีต้องบูชา พระราหู ให้คอยปกปักรักษา

ตามคติทางพระพุทธศาสนา ได้จัดให้พระพุทธรูป ปางป่าเลไลยก์ เป็นพระปางประจำราหู และกำหนดบทสวด บทกินนุ สัน ตะ ระมาโน วะ เป็นบทสวดประจำวันพุธกลางคืน ควรสวด 12 จบ ตามกำลังวัน เพื่อบูชาพระปางป่าเลไลยก์ เพื่อคุ้มภัยให้สิ่งร้ายกลายเป็นดีและจะมีความสุขสวัสดี และได้จัดพระคาถาอิติปิโส 8 ทิศ บทนารายณ์พลิกแผ่นดินเป็นคาถาประจำราหู คือ " คะ พุท ปัน ทู ทัม วะ คะ "

ทิศอุดร


ตรงกับพระอรหันต์ประจำทิศ คือ พระโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นเอตทัคคะในเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ตรงกับนพเคราะห์คือพระศุกร์ ผู้ใดอยากให้มีกิจการการค้ารุ่งเรือง ซื้อง่ายขายคล่อง พูดเป็นเงินเป็นทอง มีความสุขสบายในครอบครัวก็ควรบูชาพระศุกร์ตามคติทางพระพุทธศาสนา ได้จัดให้พระพุทธรูปยืน ปางทรงรำพึง พระหัตถ์ทั้งสองวางทับกันที่หน้าอก เป็นพระประจำ วันศุกร์

และได้จัดคาถาบท ขัดธชัคคสูตร เป็นบทสวดประจำพระศุกร์ โดยสวด 21 จบ ตามกำลังวันเพื่อช่วยให้เกิดโชคลาภ คุ้มกันภัยอันตรายใดๆ จะมีความสุขสวัสดีตลอดกาลนาน และยังได้จัดพระคาถาอิติปิโส 8 ทิศ บทตวาดฟ้าป่าหิมพานต์เป็นคาถาประจำวันศุกร์ คือ " วา โธ โน อะ มะ มะ วา "

ทิศอีสาน


ตรงกับพระอรหันต์ คือ พระราหุล ซึ่งเป็นเอตทัคคะในเรื่องของการศึกษา ใคร่ต่อการศึกษาเรียนรู้ ตรงกับนพเคราะห์คือพระอาทิตย์ ซึ่งชุบมาจากราชสีห์ผู้ใดอยากให้บุตรหลานมีปัญญาเฉียบแหลม สติปัญญาเป็นเลิศ มีฤทธิ์ มียศ ชื่อเสียงก็ควรจะบูชา พระอาทิตย์

และจัดให้พระปริตบท โมรปริต เป็นคาถาสวดสำหรับพระอาทิตย์ ควรสวด 6 จบ ตามกำลังวัน เพื่อให้เกิดโชคลาภ คุ้มภัยอันตราย จะมีความเจริญรุ่งเรืองและความสุขสวัสดีตลอดกาล และยังได้จัดเอาคาถาพระอิติปิโส 8 ทิศ บทนารายณ์แปลงรูปเป็นคาถาภาวนาสำหรับพระอาทิตย์ด้วยคือ " อะ วิ สุ นุต สา นุ ติ "

ตรงกลาง


มีพระเกตุอยู่ท่ามกลางจักรวาล ตรงกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นประธานของ พระอรหันต์ทั้ง 8 ทิศ เมื่อบูชาพระเกตุเท่ากับเสริมเดช เดชานุภาพผู้ที่ไม่ทราบวันเดือนปีเกิดของตนเองควรบูชา พระเกตุ ซึ่งมีกำลังดี และจัดให้พระพุทธรูป ปางมารวิชัย เป็นปางของพระเกตุ

และให้สวดคาถาบท พุทโธ จะ มัชฌิโม เสฏิโฐ เป็นคาถาประจำพระเกตุโดยสวด 9 จบ เพื่อคุ้มกันเสนียดจัญไร ให้แคล้วคลาดปลอดภัยและได้จัดพระคาถานวหรคุณเป็นคาถาภาวนาประจำพระเกตุ คือ " อะ ระ หัง สุ คะ โต ภะ คะ วา "

ซึ่งจะเห็นได้ว่าคาถาบูชาพระประจำต่างๆ นั้น ก็ถอดออกมาจากบทสวดพระพุทธคุณ 56 นั่นเอง กล่าวคือ

อิ ติ ปิ โส ภะ คะ วา อะ
ระ หัง สัม มา สัม พุท โธ วิ
ชา จะ ระ ณะ สัม ปัน โน สุ
คะ โต โล กะ วิ ทู อะ นุต
ตะ โร ปุ ริ สะ ทัม มะ สา
ระ ถิ สัต ถา เท วะ มะ นุ
สา นัง พุท โธ ภะ คะ วา ติ
๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘


แถวตั้งที่ 1 บทคาถาอิติปิโส 8 ทิศ บทกระทู้ 7 แบก เป็นคาถาสวดพระจันทร์ 15 จบ
แถวตั้งที่ 2 บทคาถาอิติปิโส 8 ทิศ บทเรียกฝนแสนห่าเป็นคาถาสวดพระอังคาร 8 จบ
แถวตั้งที่ 3 บทคาถาอิติปิโส 8 ทิศ บทนารายณ์เกลื่อนสมุทรเป็นคาถาพระพุธ 17 จบ
แถวตั้งที่ 4 บทคาถาอิติปิโส 8 ทิศ บทนารายณ์คลายจักรเป็นคาถาสวดพระเสาร์ 10 จบ
แถวตั้งที่ 5 บทคาถาอิติปิโส 8 ทิศ บทนารายณ์ขว้างจักรตรึงไตรภพเป็นคาถาสวดพระพฤหัส 19 จบ
แถวตั้งที่ 6 บทคาถาอิติปิโส 8 ทิศ บทนารายณ์พลิกแผ่นดิน เป็นคาถาสวดพระราหู 12 จบ
แถวตั้งที่ 7 บทคาถาอิติปิโส 8 ทิศ บทตวาดฟ้าป่าหิมพานต์ เป็นคาถาสวดพระศุกร์ 21 จบ
แถวตั้งที่ 8 บทคาถาอิติปิโส 8 ทิศ บทนารายณ์แปลงรูป เป็นคาถาสวดพระอาทิตย์ 6 จบ


ที่มา - เว็บ oknation.net

***************************