หลักการปฏิบัติธุดงค์ (ตอนที่ 7 พระมหากัสสปเถระโปรดพุทธบริษัท)
webmaster - 8/7/08 at 19:50

 « ตอนที่ 6 กำเนิดเป็นปิบผลิมาณพ

พระมหากัสสปเถระโปรดพุทธบริษัท


เรื่องถวายบิณฑบาตแก่พระมหากัสสปเถระ

(ธัมมปทัฏฐกถา ปุปผวรรควรรณนา)


...พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภการถวายบิณฑบาตแก่พระมหากัสสปเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อัปปะมัตโต อะยัง คันโธ" เป็นต้น.

นางอัปสรอยากทำบุญแต่ไม่สมหวัง

ความพิสดารว่า วันหนึ่ง พระเถระออกจากนิโรธสมาบัติ โดยล่วงไป ๗ วัน ออกไปแล้ว ด้วยคิดว่า "จักเที่ยวบิณฑบาต ตามลำดับตรอก ในกรุงราชคฤห์." ในสมัยนั้น นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ มีเท้าเหมือนเท้านกพิราบ เป็นบริจาริกาของท้าวสักกเทวราช เกิดความอุตสาหะว่า " จักถวายบิณฑบาตแก่พระเถระ"

จึงตระเตรียมบิณฑบาต ๕๐๐ ที่ แล้วถือมายืนอยู่ในระหว่างทาง กล่าวว่า "นิมนต์รับบิณฑบาตนี้ เจ้าข้า, โปรดทำความสงเคราะห์แก่พวกดิฉันเถิด."

พระเถระกล่าวตอบว่า พวกเจ้าจงไปเสียเถิด, ฉันจักทำความสงเคราะห์พวกคนเข็ญใจ.

นางอัปสร. ขอท่านอย่าให้พวกดิฉันฉิบหายเสียเลย เจ้าข้า, โปรดทำความสงเคราะห์พวกดิฉันเถิด.

พระเถระรู้แล้ว จึงห้ามเสียอีก แล้วดีดนิ้ว ( บอก) นางอัปสรทั้งหลายผู้ไม่ปรารถนาจะหลีกไปยังอ้อนวอนอยู่ว่า "พวกเจ้าไม่รู้จักประมาณตัว, จงหลีกไป." นางอัปสรเหล่านั้น ฟังเสียงนิ้วมือของพระเถระแล้ว ไม่อาจเพื่อจะยืนขัดแข็งอยู่ได้ จึงหนีไปยังเทวโลกตามเดิม อันท้าวสักกะตรัสถามว่า "พวกหล่อนไปไหนกันมา"

จึงทูลว่า "หม่อมฉันพากันไปด้วยหมายว่า จักถวายบิณฑบาตแก่พระมหากัสสปเถระ ผู้ออกจากสมาบัติ พระเจ้าข้า.
สักกะ. ก็พวกหล่อนถวายแล้วหรือ ?
นางอัปสร. พระเถระไม่ปรารถนาจะรับ.
สักกะ. พระเถระพูดอย่างไร ?
นางอัปสร. " ท่านพูดว่า จักทำความสงเคราะห์พวกคนเข็ญใจ'
พระเจ้าข้า.
สักกะ. พวกหล่อนไปกันด้วยอาการอย่างไร ?
นางอัปสร. ไปด้วยอาการนี้แล พระเจ้าข้า.

ท้าวสักกะแปลงตัวทำบุญแก่พระเถระ

ท้าวสักกะ ตรัสว่า "หญิงเช่นพวกหล่อน จักถวายบิณฑบาตแก่พระเถระได้อย่างไร?" ประสงค์จะถวายด้วยพระองค์เอง จึงแปลงเป็นคนแก่คร่ำคร่าด้วยอำนาจชรา มีฟันหัก มีผมหงอก หลังโกง เป็นช่างหูกผู้เฒ่า ทรงทำแม้นางสุชาดาผู้เทพธิดา ให้เป็นหญิงแก่ เหมือนอย่างนั้นนั่นแล แล้วทรงนิรมิตถนนช่างหูกขึ้นสายหนึ่งประทับขึงหูกอยู่.

ฝ่ายพระเถระ เดินบ่ายหน้าเข้าเมือง ด้วยหวังว่า "จักทำความสงเคราะห์พวกคนเข็ญใจ" เห็นถนนสายนั้น นอกเมืองนั้นแล แลดูอยู่ก็ได้เห็นคน ๒ คน. ในขณะนั้น ท้าวสักกะกำลังขึงหูก, นางสุชาดากรอหลอด. พระเถระคิดว่า " สองคนนี้ แม้ในเวลาแก่ก็ยังทำงาน,

ในเมืองนี้ผู้ที่จะเข็ญใจกว่าสองคนนี้เห็นจะไม่มี, เราจักรับภัตแม้ประมาณกระบวยหนึ่งที่สองคนนี้ถวายแล้ว ทำความสงเคราะห์แก่คนสองคนนี้." พระเถระได้บ่ายหน้าไปตรงเรือนของตนทั้งสองนั้นแล.

ท้าวสักกะ ทอดพระเนตรเห็นพระเถระนั้นมาอยู่ จึงตรัสกะนางสุชาดาว่า "หล่อน พระผู้เป็นเจ้าของเรา เดินมาทางนี้, เธอจงนั่งทำเป็นเหมือนไม่เห็นท่านเสีย, ฉันจักลวงท่านสักครู่หนึ่ง แล้วจึงถวายบิณฑบาต."

พระเถระได้มายืนอยู่ที่ประตูเรือนแล้ว. แม้สองผัวเมียนั้นก็ทำเป็นเหมือนไม่เห็น ทำแต่การงานของตนฝ่ายเดียว คอยอยู่หน่อยหนึ่งแล้ว .

ครั้งนั้น ท้าวสักกะตรัสว่า "ที่ประตูเรือนดูเหมือน (มี) พระเถระยืนอยู่รูปหนึ่ง, เธอจงไปตรวจดูก่อน." นางสุชาดาตอบว่า

"ท่านจงไปตรวจดูเถอะ นาย." ท้าวเธอเสด็จออกจากเรือนแล้ว, ทรงไหว้พระเถระด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้ว. เอาพระหัตถ์ทั้งสองเท้าพระชานุแล้ว ถอนใจ เสด็จลุกขึ้น. ย่อพระองค์ลงหน่อยหนึ่ง ตรัสว่า "พระผู้เป็นเจ้า เป็นพระเถระรูปไหนหนอแล ?" แล้วตรัสว่า "ตาของผมฝ้าฟาง"

ดังนี้แล้ว, ทรงวางพระหัตถ์ไว้เหนือพระนลาต (ป้องหน้า) ทรงแหงนดูแล้ว, ตรัสว่า " โอ ตายจริง !, พระผู้เป็นเจ้า พระมหากัสสปเถระของเรา นาน ๆ จึงมายังประตูกระท่อมของเรา, มีอะไรอยู่ในเรือนบ้างไหม ?" นางสุชาดาทำเป็นกุลีกุจออยู่หน่อยหนึ่งแล้ว ได้ให้คำตอบว่า "มี..นาย"

ท้าวสักกะ ตรัสว่า "ท่านเจ้าข้า พระคุณเจ้า อย่าคิดเลยว่า 'ทานเศร้าหมอง หรือประณีต' โปรดทำความสงเคราะห์แก่กระผมทั้งสองเถิด" ดังนี้แล้ว ก็ทรงรับบาตรไว้, พระเถระคิดว่า

"ทานที่สองผัวเมียนั่นถวายแล้ว จะเป็นน้ำผักดองหรือรำกำมือหนึ่งก็ตามที, เราจักทำความสงเคราะห์แก่สองผัวเมียนั้น" ดังนี้แล้ว จึงได้ให้บาตรไป.

ท้าวสักกะนั้น เสด็จเข้าไปภายในเรือนแล้ว ทรงคดข้าวสุกออกจากหม้อใส่เต็มบาตรแล้ว มอบถวายในมือพระเถระ. บิณฑบาตนั้นได้มีสูปพยัญชนะมากมาย ได้หอมตลบทั่วกรุงราชคฤห์แล้ว. ท้าวสักกะตรัสบอกความจริงแก่พระเถระ

ในกาลนั้น พระเถระคิดว่า "ชายนี้ มีศักดิ์น้อย, บิณฑบาตมีศักดิ์มาก เช่นกับโภชนะของท้าวสักกะ, นั่น ใครหนอ ?"

ครั้งนั้นพระเถระทราบชายนั้นว่า " ท้าวสักกะ" จึงกล่าวว่า "พระองค์ทรงแย่งสมบัติของคนเข็ญใจ ( จัดว่า ) ทำกรรมหนักแล้ว . ใคร ๆ ก็ตามที่เป็นคนเข็ญใจ ถวายทานแก่อาตมภาพในวันนี้ พึงได้ตำแหน่งเสนาบดีหรือตำแหน่งเศรษฐี."

สักกะ. ผู้ที่เข็ญใจไปกว่ากระผม ไม่มีเลย ขอรับ.
พระเถระ, พระองค์เสวยสิริราชสมบัติในเทวโลก จะจัดว่าเป็นคนเข็ญใจ เพราะเหตุไร ?

สักกะ. อย่างที่พระผู้เป็นเจ้าว่า ก็ถูกละ ขอรับ. แต่เมื่อพระพุทธเจ้า ยังมิทรงอุบัติ, กระผมได้ทำกัลยาณกรรมไว้. เมื่อพุทธุปบาทกาลยังเป็นไปอยู่, เทพบุตรผู้มีศักดิ์เสมอกัน ๓ องค์เหล่านี้ คือ จูฬรถเทพบุตร, มหารถเทพบุตร, อเนกวัณณเทพบุตร ทำกัลยาณกรรมแล้ว ได้เกิดในที่ใกล้ของกระผม มีเดชมากกว่ากระผม;

ก็กระผม เมื่อเทพบุตรทั้งสามนั้นพาพวกบริจาริกาลงสู่ระหว่างถนน ด้วยคิดว่า 'จักเล่นนักขัตฤกษ์' ต้องหนีเข้าตำหนัก, เพราะเดชจากสรีระของเทพบุตรทั้งสามนั้น ท่วมทับสรีระของกระผม, เดชจากสรีระของกระผม ไม่ท่วมทับสรีระของเทพบุตรทั้งสามนั้น, ใครจะเข็ญใจกว่ากระผมเล่า ? ขอรับ.

พระเถระ. แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ตั้งแต่นี้ต่อไป พระองค์อย่าได้ลวงถวายทานแก่อาตมภาพอย่างนั้น.
สักกะ. เมื่อกระผมลวงถวายทานแก่ท่าน, กุศลจะมีแก่กระผมหรือไม่มี ?
พระเถระ. มี พระองค์.
สักกะ. เมื่อเป็นอย่างนั้น การทำกุศลกรรมก็จัดเป็นหน้าที่ของกระผมซิ ขอรับ.

ท้าวเธอตรัสอย่างนั้นแล้ว ทรงไหว้พระเถระ พานางสุชาดาทรงทำปทักษิณพระเถระแล้ว เหาะขึ้นสู่เวหาส ทรงเปล่งอุทานว่า :-

"โอ..ทานที่เป็นทานอย่างเยี่ยม เราได้ตั้งไว้ดีแล้วในท่านพระกัสสป."

เพราะเหตุนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์ จึงกล่าวไว้ใน "มหากัสสสปเถรทานสูตร" ว่า :-

"ครั้งนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้กรุงราชคฤห์. ได้ทรงสดับเสียงของท้าวสักกะนั้น จึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วว่า

"ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงดูท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเหล่าเทพเจ้า ทรงเปล่งอุทาน เสด็จไปทางอากาศ."

ภิกษุ. ก็ท้าวสักกะนั้น ทำอะไร ? พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. ท้าวเธอลวงถวายบิณฑบาตแก่กัสสปผู้บุตรของเรา, ครั้นถวายบิณฑบาตนั้นแล้ว ดีพระทัย พลางทรงเปล่งอุทานไป.
ภิกษุ. ท้าวเธอทราบได้อย่างไรว่า "ถวายบิณฑบาตแก่พระเถระควร พระเจ้าข้า?"

พระศาสดาตรัสว่า " ภิกษุทั้งหลาย ทั้งเหล่าเทพเจ้า ทั้งเหล่ามนุษย์ย่อมพอใจ ภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ชื่อว่าเช่นบุตรของเรา" ดังนี้แล้ว แม้พระองค์เองก็ทรงเปล่งอุทานแล้ว.

ก็ในพระสูตร คำมาแล้วเท่านี้นั่นเทียวว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสดับแล้วแล ซึ่งเสียงของท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทพเจ้า ผู้เหาะขึ้นสู่เวหาส ทรงเปล่งอุทาน ๓ ครั้ง ในอากาศกลางหาวว่า :-

"โอ..ทานที่เป็นทานอย่างเยี่ยม เราได้ตั้งไว้ดีแล้วในท่านพระกัสสป, โอ..ทานที่เป็นทานอย่างเยี่ยม เราได้ตั้งไว้ดีแล้ในท่านพระกัสสป, โอ..ทานที่เป็นทานอย่างเยี่ยม เราได้ตั้งไว้ดีแล้วในท่านพระกัสสป." ด้วยพระโสตธาตุอันเป็นทิพย์ หมดจดล่วงเสียซึ่งโสตของมนุษย์."

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า:- " เทวดาและมนุษย์ ย่อมพอใจ แก่ภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้เลี้ยงตัวเอง มิใช่เลี้ยงผู้อื่น ผู้มั่นคง ผู้เข้าไปสงบแล้ว มีสติทุกเมื่อ."

ก็แลครั้นทรงเปล่งอุทานนี้แล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเหล่าเทพเจ้า ได้เสด็จมาถวายบิณฑบาตแก่บุตรของเราเพราะกลิ่นศีล " ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-

อัปปะมัตโต อะยัง คันโธ ยะวายัง ตะคะระจันทะนี
โย จะ สีละวะตัง คันโธ วาติ เทเวส อุตตะโม.


" กลิ่นนี้ คือ กลิ่นกฤษณา และกลิ่นจันทน์
เป็นกลิ่นเพียงเล็กน้อย, ส่วนกลิ่นของผู้มีศีลทั้งหลาย
เป็นกลิ่นชั้นสูง ย่อมหอมฟุ้งไปในเทพเจ้าและเหล่ามนุษย์."

ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น. เทศนาเกิดประโยชน์แก่มหาชนแล้ว ดังนี้แล.

ที่มา - เว็บ //th.wikisource.org/wiki



โปรดหญิงถวายข้าวตอก

ความพิสดารว่า ครั้งหนึ่ง ท่านพระมหากัสสป อยู่ที่ปิปผลิคูหา เข้าฌานแล้ว ออกในวันที่ ๗ เมื่อออกจากฌานแล้วท่านได้พิจารณาด้วยทิพยจักษุเพื่อพิจารณาบุคคลที่ควรโปรด เห็นหญิงรักษานาข้าวสาลีคนหนึ่ง เด็ดรวงข้าวสาลีทำข้าวตอกอยู่

ท่านได้เห็นว่าหญิงนี้มีศรัทธาจึงได้เดินทางไปโปรด นางกุลธิดาพอเห็นพระเถระก็มีจิตเลื่อมใส จึงได้นำข้าวตอกไปถวายพระเถระแล้ว ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ และได้ทำความปรารถนา ขอเป็นผู้มีส่วนแห่งธรรมที่ท่านเห็นแล้ว

ในระหว่างนางเดินทางกลับนางได้นึกถึงทานที่ตนได้ถวายไปเกิดจิตเป็นกุศลอยู่ แต่บนทางที่นางเดินทางกลับนั้น นางได้ถูกงูพิษร้ายกัด และถึงแก่ความตาย ณ ที่นั้นเอง.

ด้วยจิตอันเป็นกุศลก่อนที่จะตาย นางจึงได้ไปเกิดในวิมานทอง ในภพดาวดึงส์ ประดับเครื่องอลังการ แวดล้อมด้วยนางอัปสรตั้งพัน ที่ประตูวิมานอันประดับด้วยขันทองคำ เต็มไปด้วยข้าวตอกทองคำห้อยระย้าอยู่

นางเทพธิดานั้นต้องการจะทราบว่าตนทำกรรมเช่นไรจึงได้สมบัตินี้ เมื่อพิจารณาด้วยทิพยจักษุแล้วจึงได้รู้ว่า สมบัตินี้ได้มาเพราะผลแห่งข้าวตอกที่ถวายพระมหากัสสปเถระนางจึงคิดว่า สมบัติที่นางได้เช่นนี้เป็นเพราะได้กระทำกรรมไว้เพียงนิดหน่อย นางไม่ควรประมาท,ควรจะกระทำการปฏิบัติแก่พระพระมหาเถระนั้นเพื่อทำสมบัตินั้นให้ถาวร

นางจึงไปยังที่พักของพระมหาเถระ แล้วไปปัดกวาดบริเวณของพระเถระ แล้วตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้แต่เช้าตรู่.พระเถระเห็นเช่นนั้น สำคัญว่าภิกษุหนุ่มหรือสามเณรบางรูปทำให้ท่าน.ในวันรุ่งขึ้นนางก็ได้ทำเช่นเดียวกันอีก ฝ่ายพระเถระก็เข้าใจเช่นเดิม จนกระทั่งในวันที่ ๓ พระเถระได้ยินเสียงไม้กวาดของนางและเห็นรัศมีของนางฉายเข้าไปทางช่องลูกดาล จึงเปิดประตูออกมา ถามว่า “นั่นใคร ?”

นางเทพธิดาจึงตอบแล้วเล่าเรื่องความประสงค์ของตนให้พระเถระฟัง พระเถระจึงห้ามมิให้นางกระทำต่อไป เพื่อมิให้.มีผู้กล่าวในอนาคตว่า มีนางเทพธิดามาทำวัตรปฏิบัติ เข้าไปตั้งน้ำฉันน้ำใช้ เพื่อพระมหากัสสปเถระ

นางเทพธิดาจึงอ้อนวอนในความประสงค์ของตนซ้ำแล้วซ้ำอีก พระเถระเห็นว่านางเทวธิดาดื้อดึงไม่ยอมฟังถ้อยคำ จึงปรบมือขึ้น ด้วยเสียงปรบมือขับไล่ของพระมหาเถระดังกล่าว นางเทพธิดาไม่อาจอยู่ในที่นั้นได้ จึงเหาะขึ้นในอากาศ ยืนประนมมือร้องไห้ คร่ำครวญอยู่

พระศาสดา ประทับนั่งในพระคันธกุฎี ทรงสดับเสียงนางเทวธิดานั้นร้องไห้ จึงทรงแผ่พระรัศมีดุจประทับนั่งตรัสอยู่ในที่หน้านางเทวธิดา ตรัสว่า

“เทวธิดา การทำความสังวร (ในสมณจริยา) เป็นหน้าที่ของกัสสปผู้บุตรของเรา, แต่การกำหนดว่า ‘นี้เป็นประโยชน์ของเรา แล้วมุ่งกระทำแต่บุญ ย่อมเป็นหน้าที่ของผู้ที่ต้องการบุญ, เพราะว่าการทำบุญทำให้เกิดสุขแต่อย่างเดียว ทั้งในภพนี้ ทั้งในภพหน้า” ดังนี้

ในกาลจบเทศนาของพระพุทธองค์ นางเทพธิดานั้น จึงได้บรรลุโสดาปัตติผล



พระมหากัสสปกับเด็ก ๕๐๐ คน

วันหนึ่งพระศาสดามีภิกษุ ๕๐๐ เป็นบริวารพร้อมด้วยพระอสีติมหาเถระ เสด็จเข้าไปกรุงราชคฤห์ เพื่อบิณฑบาต ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็ก ๕๐๐ คน ยกกระเช้าขนมออกจากเมืองแล้วไปสวนในวันมหรสพวันหนึ่ง เด็กเหล่านั้นก็เพียงแต่ถวายบังคมพระศาสดาแล้วก็หลีกไป,ไม่ปวารณาเพื่อถวายขนมแก่ภิกษุแม้สักรูปหนึ่ง

พระศาสดาตรัสกะภิกษุทั้งหลาย ในกาลที่ภิกษุเหล่านั้นไปแล้ว ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจักฉันขนมไหม ?”

ภิกษุทูลถามว่า. ขนมที่ไหน ? พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. เธอทั้งหลายไม่เห็นพวกเด็กถือกระเช้าขนมเดินผ่านไปแล้วดอกหรือ ?

ภิกษุ. พวกเด็กนั้น ไม่ถวายขนมแก่ใครๆ พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. ภิกษุทั้งหลาย เด็กเหล่านั้นไม่นิมนต์เราหรือพวกเธอด้วยขนมก็จริง. ถึงกระนั้น ภิกษุผู้เป็นเจ้าของขนม ก็กำลังมาข้างหลัง ฉันขนมเสียก่อนแล้วไป จึงควร.

ตามธรรมดา พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่มีความริษยาในบุคคลใด ๆ เลย; เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงตรัสคำนี้แล้วจึงพาภิกษุสงฆ์ไปประทับทั่งใต้ร่มเงาโคนไม้ต้นหนึ่ง.

ต่อมาพวกเด็กเมื่อเห็น พระมหากัสสปเถระ เดินมาข้างหลัง ก็บังเกิดความรักและเลื่อมใสพระมหาเถระขึ้นอย่างเต็มเปี่ยมจึงวางกระเช้า ไหว้พระเถระด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วยกขนมพร้อมทั้งกระเช้าถวายแก่พระเถระ

พระเถระจึงกล่าวแก่เด็กเหล่านั้นว่า “นั่น..พระศาสดาพาพระภิกษุสงฆ์ไปประทับนั่งแล้วที่โคนไม้, พวกเธอจงถือไทยธรรมไปแบ่งส่วนถวายภิกษุสงฆ์เถิด พวกเด็กจึงกลับไปพร้อมกับพระเถระ ถวายขนมพระบรมศาสดาและหมู่ภิกษุสงฆ์ แล้วได้ถวายน้ำในเวลาฉันเสร็จ.

ภิกษุทั้งหลายโพนทะนาว่า “พวกเด็กถวายภิกษาเพราะเห็นแก่หน้าพระมหากัสสปเถระ ในครั้งแรกไม่ต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระมหาเถระอื่นทั้งหลายด้วยขนม ต่อเมื่อเห็นพระมหากัสสปเถระแล้ว จึงถือเอาขนมพร้อมด้วยกระเช้านั่นมาถวาย”

พระศาสดา ทรงสดับถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้นแล้วจึงตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เช่นกับ "มหากัสสป" ผู้บุตรของเรา ย่อมเป็นที่รักของเหล่าเทวดาและมนุษย์ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมทำบูชาด้วยปัจจัย ๔ แก่เธอโดยแท้” ดังนี้

แล้วตรัสพระคาถาแสดงแก่เหล่าเด็กทั้ง ๕๐๐ นั้น ในกาลจบเทศนา เด็กเหล่านั้นทั้งหมด ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล ดังนี้



อาจามะทายิกาวิมาน

ครั้งหนึ่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันกลันจทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์มีครอบครัวหนึ่งเป็นอหิวาตกโรค คนในครอบครัวนั้นตายกันหมด เหลือหญิงคนหนึ่ง

หญิงนั้นทิ้งเรือนหนีไป หมดที่พึ่ง ไปเรือนของคนอื่น อาศัยอยู่ด้านหลังเรือนของเขา.พวกผู้คนในเรือนนั้นคิดสงสาร ให้ข้าวต้มข้าวสวยและข้าวตังเป็นต้น ที่เหลือในหม้อข้าวเป็นต้นแก่นาง นางเลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยข้าวตังของผู้คน เหล่านั้น.

วันนั้น ท่านพระมหากัสสปะ เข้านิโรธสมาบัติ ๗ วัน เมื่อออกจากนิโรธนั้นแล้ว พิจารณาหาผู้ที่สมควรจะอนุเคราะห์ ได้เห็นหญิงนั้นถึงวาระใกล้ตาย และเห็นกรรมในอดีตของนางจะนำไปสู่นรก แต่ก็ยังเห็นโอกาสที่นางจะได้ทำบุญ ท่านได้พิจารณาว่า เมื่อเราไปยังบ้านนั้น หญิงคนนี้จักถวายข้าวตังที่ตนที่ตนได้มา เพราะบุญนั้นนางจะได้ไปเกิดในเทวโลกชั้น "นิมมานรดี" (สวรรค์ชั้นที่ ๕)

ดังนั้นในเวลาเช้า ท่านจึงเดินมุ่งหน้าไปยังที่อยู่ของนาง แล้วจึงยืนอยู่ข้างหน้าของหญิงนั้น นางเห็นพระเถระแล้ว คิดว่าพระเถระนี้เป็นพระเถระผู้ใหญ่ ในที่นี้ก็ไม่มีของกิน หรือของเคี้ยว ซึ่งควรที่จะถวายแก่พระเถระนี้ จะมีก็เพียง น้ำข้าวข้าวตังอันจืดเย็นไม่มีรส เต็มไปด้วยหญ้าและผงธุลี ซึ่งอยู่ในภาชนะสกปรกนี้ เราไม่อาจจะถวายแก่พระเถระเช่นนี้ได้

นางจึงกล่าวว่า ขอท่านจงโปรดสัตว์ข้างหน้าเถิด พระเถระยืนนิ่งไม่ขยับเท้าแม้แต่ข้างเดียว ผู้คนอยู่ในเรือนนำภิกขาเข้าไปถวาย พระเถระก็ไม่รับ

หญิงเข็ญใจนั้น รู้ว่าพระเถระประสงค์จะรับเฉพาะของเรา จึงมาในที่นี้ก็เพื่ออนุเคราะห์เรา เท่านั้น มีใจเลื่อมใส เกิดความเอื้อเฟื้อ ก็เกลี่ยข้าวตังนั้นลงในบาตรของพระเถระ

พระเถระแสดงอาการว่าจะฉันเพื่อเพิ่มความเลื่อมใสของนางให้มากขึ้น ผู้คนปูอาสนะแล้ว พระเถระก็นั่งบนอาสนะนั้นฉันข้าวตังนั้น ดื่มน้ำแล้วชักมืออกจากบาตร ทำอนุโมทนาแก่หญิงเข็ญใจนั้นแล้วก็ไป.

ในคืนนั้นนางก็สิ้นชีวิต ก็ไปบังเกิดร่วมกับเหล่าเทพในสวรรค์ชั้นนิมมานรดีนั้น ดังนี้.



บางคนทำดีเหมือนปิดทองหลังพระ บางคนทำดีเพื่อเอาหน้าแบบ “ผักชีโรยหน้า” เรื่องทำนองนี้มิได้มีอยู่เพียงในหมู่ฆราวาสเท่านั้น แม้ในหมู่สงฆ์ก็มีเหมือนกัน เรื่องต่อไปนี้เป็นอุทาหรณ์

ลูกศิษย์เผากุฏิของพระมหากัสสปเถระ

ในกรุงราชคฤห์ มีพระ ๒ รูป เป็นผู้อุปัฏฐากพระมหากัสสปเถระ ผู้อาศัยอยู่ในถ้ำปิปผลิ. ภิกษุ ๒ รูปนั้น รูปหนึ่งกระทำการปฏิบัติต่อท่านพระมหาเถระโดยเคารพ ส่วนอีกรูปหนึ่งเป็นคนมักตู่เอากิจที่พระอีกรูปหนึ่งกระทำเป็นเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นผู้กระทำเอง

เมื่อภิกษุผู้ปฏิบัติต่อพระเถระโดยอาการอันเคารพนั้น ตั้งน้ำบ้วนปากเพื่อถวายพระมหาเถระเป็นต้น ภิกษุขี้ตู่รูปนั้นก็จะไปยังสำนักของพระเถระ ไหว้แล้วกล่าวว่า ท่านขอรับ..น้ำ..กระผมตั้งไว้แล้ว ขอท่านจงล้างหน้าเถิดขอรับ

เมื่อภิกษุรูปแรกนั้นลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ปัดกวาดบริเวณกุฏิไว้แล้ว ในเวลาพระเถระออกมา ภิกษุขี้ตู่รูปนั้นก็จะทำอย่างโน้นอย่างนี้ไปมา ทำทีเสมือนว่าบริเวณนั้นทั้งสิ้นตนเป็นผู้ปัดกวาดไว้ ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยวัตรจึงคิดจะทำให้กรรมของพระหัวดื้อนี้ปรากกฎต่อพระเถระ

เมื่อภิกษุขี้ตู่นั้นฉันแล้วหลับอยู่นั้น ภิกษุรูปแรกจึงต้มน้ำเพื่อถวายพระเถระสำหรับอาบแล้ว ก็ตักใส่ในหม้อใบหนึ่ง ตั้งไว้หลังซุ้ม แต่เหลือน้ำไว้ในหม้อต้มน้ำประมาณกระบวยหนึ่ง แล้วตั้งไว้ให้เดือดพลุ่งเป็นไออยู่.

กรรมตามทัน

ภิกษุนี้ตื่นขึ้น เห็นไอพลุ่งออกจากหม้อต้มน้ำ จึงคิดว่า น้ำที่ภิกษุนั้นต้มแล้วคงไว้ในซุ้ม จึงรีบไปเรียนพระเถระว่า “น้ำกระผมตั้งไว้ในซุ้มแล้วขอรับ นิมนต์ท่านสรงเถิด” แล้วเข้าไปในซุ้มพร้อมกับพระเถระ พระเถระเมื่อไม่เห็นน้ำ จึงถามว่า“น้ำอยู่ที่ไหน..คุณ ?”

ภิกษุหนุ่มไปยังโรงต้มน้ำ จ้วงกระบวยลงในภาชนะที่มีไอน้ำพลุ่งอยู่ เมื่อกระบวยกระทบพื้นภาชนะเปล่าที่ไม่มีน้ำ ก็มีเสียงดังเหมือนเสียงระฆัง ตั้งแต่นั้นมาภิกษุนั้นจึงมีชื่อว่า "อุฬุงกสัททกะ"

พระภิกษุนั้นเมื่อพบว่าหม้อน้ำนั้นไม่มีน้ำ จึงโพนทะนาว่า “ขอท่านจงดูกรรมของภิกษุหัวดื้อเธอยกภาชนะเปล่าขึ้นตั้งไว้บนเตา แล้วไปไหนเสีย? กระผมเรียนด้วยเข้าใจว่าน้ำมีอยู่ในซุ้ม” แล้วก็ได้ถือหม้อน้ำไปยังท่าน้ำ.

ฝ่ายภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยวัตร จึงนำเอาน้ำมาจากหลังซุ้มแล้วตั้งไว้ในซุ้ม. พระเถระเห็นดังนั้นจึงพิจารณาดูก็รู้ว่า “ภิกษุ "อุฬุงกสัททกะ" นั้น ชอบกระทำกิจที่ตนไม่ได้ทำ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้กระทำเอง” ท่านจึงได้ให้โอวาทแก่ "พระอุฬุงกสัททกะ" ผู้มานั่งอุปัฏฐากในเวลาเย็น ถึงความไม่ควรของความประพฤติของภิกษุนั้น

ภิกษุนั้นโกรธ แล้วในวันรุ่งขึ้นจึงไม่เข้าไปบิณฑบาตกับพระเถระ เมื่อพระเถระไปแล้ว ภิกษุนั้นไปสู่ตระกูลอุปัฏฐากของพระเถระ เมื่อถูกอุปัฏฐากถามถึงพระเถระ "พระอุฬุงกสัททกะ" จึงบอกว่าพระเถระนั่งอยู่ในวิหาร นั่นแหละ เพราะไม่ผาสุก เมื่อเขากล่าวว่า ได้อะไรจึงจะควรขอรับ จึงกล่าวว่า ท่านจงให้สิ่งนี้และสิ่งนี้ แล้วถือเอาสิ่งที่อุปัฏฐากถวายพระเถระนั้นไปยังที่ชอบใจของตน ฉันแล้วจึงได้ไปยังวิหาร

พระเถระจับความเลวทรามของศิษย์ได้

ในวันรุ่งขึ้น พระเถระไปสู่ตระกูลอุปัฏฐากนั้น, เมื่อพวกอุปัฏฐากกล่าวว่า “ได้ยินว่า ความไม่ผาสุกเกิดแก่ท่าน’ จึงจัดแจงอาหารส่งไปตามที่ภิกษุหนุ่มแจ้ง ความผาสุกเกิดแก่ท่านแล้วหรือ?” พระเถระได้ฟังก็นิ่งเสีย,

ครั้นเมื่อพระเถระไปสู่วิหารแล้ว จึงกล่าวกับภิกษุหนุ่มนั้นผู้มาอุปัฏฐากในเวลาเย็น ว่า “การกระทำของเธอเมื่อวานนี้ เป็นการกระทำที่ไม่สมควรแก่บรรพชิตทั้งหลาย”

ประทุษร้ายแก่ผู้มีคุณตายไปเกิดในอเวจี

ภิกษุนั้นโกรธแล้วผูกอาฆาตในพระเถระในวันรุ่งขึ้น เมื่อพระเถระเข้าไปสู่บ้าน ส่วนตนพักอยู่ในวิหาร จึงจับท่อนไม้ ทุบวัตถุทั้งหลาย มีภาชนะสำหรับใช้สอยเป็นต้น แล้วจุดไฟที่บรรณศาลาของพระเถระ สิ่งใดไฟไม่ไหม้ก็เอาพลองทุบทำลายสิ่งนั้นแล้วหนีออกไป

พระอุฬุงกสัททกะนั้น ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นเหมือนดังเปรต..ผอมโซ ครั้นตายแล้วก็ได้บังเกิดในอเวจีมหานรก อนาจารกิริยาของภิกษุนั้น ลือกระฉ่อนไปในมหาชน ดังนี้

พระพุทธเจ้าตรัสเล่าบุพพกรรมเดิม

ต่อมา ภิกษุพวกหนึ่งจากราชคฤห์มาสู่นครสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระศาสดา พระพุทธองค์ตรัสถามว่า ใครเป็นอาจารย์ให้โอวาทสั่งสอนในที่นั้น เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลว่า..พระมหากัสสป จึงตรัสถามว่า กัสสปสบายดีอยู่หรือ ?

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องราวทั้งปวงที่เกี่ยวกับภิกษุเสียงกระบวยให้ทรงทราบ พระศาสดาตรัสว่า “การเที่ยวไปผู้เดียวของกัสสปประเสริฐว่าการสมาคมด้วยคนพาลเช่นภิกษุนั้น เพระคุณความเป็นสหายไม่มีในคนพาล” ดังนี้แล้วตรัสว่า ภิกษุนั้นทำลายกุฎีในชาตินี้เท่านั้นก็หาไม่ แม้ในชาติก่อนก็เคยทำมาแล้วเหมือนกัน

ในอดีตกาล นกขมิ้นตัวหนึ่ง ทำรังอยู่เป็นที่พอใจของตน อาศัยอยู่ในหิมวันตประเทศ วันหนึ่งในวัสสานฤดู เมื่อฝนตกหนักมีธารน้ำไม่ขาดสาย วานรตัวหนึ่งถูกความหนาวบีบคั้น นั่งกัดฟันอยู่ นกขมิ้นเห็นดังนั้นจึงทักทายขึ้นว่า

“วานร..ดูศีรษะและมือเท้าของท่านคล้ายมนุษย์ แต่ทำไมหนอท่านจึงไม่มีรังไม่มีเรือนอย่างมนุษย์”

ลิงได้ยินดังนั้น จึงกล่าวตอบไปว่า

“นกขมิ้นตัวน้อยเอย ศีรษะ มือและเท้าของเรามีอยู่ละม้ายคล้ายของมนุษย์ก็จริงแต่ปัญญาใดอันเป็นสิ่งประเสริฐในหมู่มนุษย์ปัญญานั้นของเราไม่มี”

“ผู้มีจิตไม่มั่นคง ใจเบา มีปรกติประทุษร้ายมิตร มีศีลไม่ยั่งยืนย่อมไม่มีความสะอาด วานรท่านจงละทิ้งปรกติวิสัยเดิมของท่านเสียแล้ว จงสร้างอานุภาพของตนขึ้น ท่านจงสร้างกระท่อมไว้เป็นเครื่องป้องกันลมหนาวเถิด”

วานรคิดว่า นกขมิ้นตัวนี้อวดดีสั่งสอนเรา ดูหมิ่นเราว่าไม่มีที่อยู่ ตัวมันมีรังอยู่ไม่ถูกฝน เราจักทำลายมันและรังมันเสียคิดดังนี้แล้วกระโดดจับนกขมิ้น แต่นกขมิ้นไวกว่าจึงบินไปเสีย ลิงจึงทำลายรังนกขมิ้นเสียสิ้นเชิง

พระศาสดาตรัสสรุปว่า ลิงในครั้งนั้นคือภิกษุผู้เผากุฎีในครั้งนี้ ส่วนนกขมิ้นคือ พระองค์เอง ดังนี้

ข้อสังเกต

๑. คนที่ดีแต่เอาหน้า ไม่ทำความดีจริงและไม่มีดีจริง สักแต่ว่าให้คนอื่นเข้าใจว่าตนเป็นเช่นนั้น ดีย่อมแตกในไม่ช้า ส่วนคนทำดีจริง มีความดีจริงแม้จะไม่ออกหน้าไม่แสดงตนว่าเป็นผู้ได้ทำความดีเช่นนั้นๆ แต่คนใกล้ชิดย่อมเห็น และจะมองเขาด้วยความนิยมยกย่อง เกียรติคุณที่เขาได้ย่อมยั่งยืน

ในทางโลก

คนที่ได้ดี มีตำแหน่งสูงขึ้นเพราะการประจบเจ้านายก็มีเหมือนกัน แต่มักเป็นไปชั่วครู่ชั่วคราว พอเปลี่ยนนาย ฐานะของเขาก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่คนได้ดีเพราะการทำงาน เพราะความสามารถของตนเองย่อมได้รับความนิยมยกย่องทุกกาลทุกสมัย

แม้ใครไม่เลี้ยงเขา เขาก็มีความสามารถที่จะเลี้ยงตนได้ ทรัพย์ที่ได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงอันสุจริตนั้น ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ ไม่จืดจางง่ายและไม่มีวิปฏิสาร (ความเดือดร้อนใจเพราะรู้สึกว่าได้ประกอบกรรมชั่ว)

๒. พระมหากัสสป โดยตัวท่านเองท่านเป็นผู้มีความซื่อตรงอย่างยิ่ง และโอวาทศิษย์ให้เป็นซื่อตรง ไม่กล่าวเท็จทั้งรู้ การพูดเท็จเป็นสิ่งที่สมณะควรเว้นให้ขาด

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “คนที่มีปกติพูดเท็จจะไม่ทำบาปเป็นไม่มี” เพราะฉะนั้น บุคคลควรเป็นผู้ซื่อตรง โดยเฉพาะสมณะยิ่งจำต้องมีความซื่อตรง เว้นความเท็จทั้งปวง ทั้งทางกายและทางวาจา เท็จทางวาจานั้นเข้าใจกันแล้วโดยมาก ส่วนเท็จทางกาย คือการมีกิริยาหลอกลวง

๓. เมื่อภิกษุเสียงกระบวยไปหลอกเอาอาหารของชาวบ้านไปฉันแล้ว วันรุ่งขึ้น ชาวบ้านถามพระมหากัสสปท่านนิ่งเสียไม่ยอมตอบนั้นเป็นความรอบคอบของพระผู้ใหญ่ที่ไม่ตำหนิศิษย์ของตนให้ชาวบ้านฟัง ศิษย์ของตนจะชั่วช้าเลวทรามอย่างไรก็ค่อยมาตักเตือนติเตียนกันเฉพาะหน้า

เรื่องที่ท่านพระมหากัสสปกระทำนี้ น่าจะเป็นตัวอย่างอันดีของพระที่ชอบเล่าเรื่องความเลวของพระด้วยกันให้ชาวบ้านฟัง บางท่านเป็นถึงเจ้าอาวาสแล้ว ยังเที่ยวนำความบกพร่อง ความไม่ดีของพระรูปนั้นรูปนี้ ในวัดของตนไปเล่าให้ชาวบ้านฟัง

ความประสงค์ของท่านก็เพื่อให้ชาวบ้านเห็นความดีของตัวท่านเองว่ามิได้เป็นอย่างพระที่ท่านกำลังติเตียนอยู่ แต่ถ้ามองแง่หนึ่งเขาก็จะว่า “สมภารไม่ดี หลวงชีจึงสกปรก” เป็นการประจานตัวเองโดยแท้

๔. ภิกษุเสียงกระบวยเป็นพระพาลโดยแท้ ท่านพระมหากัสสปสอนดีๆ ก็โกรธ ไม่เพียงโกรธอย่างเดียวยังทำลายของ เผากุฏีเสียอีกด้วย อย่างนี้ ถ้าเป็นฆราวาสทะเลาะกับภรรยาก็คงจะต้องทุบถ้วยชามหม้อไหจนหมดแล้วเผาบ้านทิ้ง ใช้ไม่ได้เลย ใครไปได้พ่อบ้านอย่างนั้นก็นับว่าเวรมาก

๕. ศีรษะ มือเท้าของลิงคล้ายมนุษย์แต่มันไม่มีปัญญาอย่างมนุษย์ มันจึงทำอะไรไม่ได้อย่างมนุษย์ อย่ากล่าวถึงลิงกับคนเลย แม้คนด้วยกัน มีอวัยวะเหมือนกันทุกอย่างก็ยังมีปัญญาที่แตกต่างกันมากท่านว่า

ร่างกายมือเท้าแม้เหมือนกัน แต่ถ้าระดับปัญญาต่างกันมาก ฐานะของคนก็ย่อมจะแตกต่างกัน ช้างมีกำลังหลายเท่าของมนุษย์แต่มันก็ทำได้เพียงลากซุงที่มนุษย์จัดแจงให้มันลากไป

คนที่กำลังกายมาก จึงสู้คนมีกำลังปัญญามากไม่ได้คนมีกำลังกายมากย่อมต้องยอมเป็นลูกน้องของผู้มีกำลังปัญญาด้วยเหตุนี้ ท่านจึงกล่าวว่า

“ปญฺญา หิ เสฏฺฐา กุสลา วทนฺติ
ปัญญาแลท่านผู้ฉลาดกว่าวว่าประเสริฐที่สุด

นกฺขตฺตราชารวิ ตารกานํ
เหมือนดวงจันทร์เป็นราชาแห่งหมู่ดาว

สีลํ สิริญฺจาปิ สตญฺจ ธมฺโม
ศีล สิริ และธรรมของสัตบุรุษ

อนฺวายิกา ปญฺญวโต ภวนฺติ
ย่อมตามหลังผู้มีปัญญา”


คราวหนึ่ง มีผู้ถามพระพุทธเจ้าว่า บัณฑิตเรียกผู้มีชีวิตอย่างไรว่าเป็นชีวิตอันประเสริฐ พระองค์ตรัสตอบว่า “ปัญญาชีวึ ชีวิตะมาหุ เสฎฺฐัง บัณฑิตเรียกผู้มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาว่าเป็นชีวิตอันประเสริฐที่สุด”



การขอโทษและให้อภัย

กุลบุตรผู้หนึ่ง มีศรัทธาในศาสนาของพระศาสดาออกบวชไม่นานนักได้บรรลุพระอรหัตตผล ต่อมาโยมมารดาของท่านถึงแก่กรรมลง ท่านจึงชวนโยมบิดาและน้องชายให้บวชอยู่เชตวันวิหาร

เมื่อจวนเข้าพรรษา ท่านทั้งสามรูป คือภิกษุหนุ่ม ภิกษุชรา ผู้เป็นบิดา และสามเณรน้องชายของภิกษุหนุ่ม ทราบว่า วัดในชนบทแห่งหนึ่ง (คามกาวาส) มีจีวรและปัจจัยอื่นๆ อุดมสมบูรณ์ หาได้ง่าย จึงพากันไปจำพรรษาในอาวาสนั้น เมื่อออกพรรษาแล้วพากันกลับมาสู่เชตวันวิหาร

เมื่อจวนถึงเชตวันวิหาร ภิกษุหนุ่มได้สั่งสามเณรน้องชายว่า “ขอให้ท่านบิดาพักผ่อนเสียก่อน ส่วนฉันจะล่วงหน้าไปจัดแจงเสนาสนะ กวาดบริเวณก่อน”

พระเถระผู้เฒ่าจึงค่อยๆ เดินไปช้าๆ ส่วนสามเณรลูกชายใจร้อน จึงเอาหัวดุนหลังท่านบิดาอยู่เรื่อย เพื่อให้ถึงวัดเร็วๆ ท่านบิดาเห็นสามเณรทำอย่างนั้น ไม่พอใจกล่าวว่า “เธอมีหน้าที่จะต้องพาฉันไป” ดังนี้แล้วเดินกลับไปตั้งต้นใหม่ สามเณรก็ไปเอาหัวดุนหลังมาอีก เมื่อมาได้หน่อยหนึ่งท่านก็กลับไปตั้งต้นใหม่อีก ทำอยู่อย่างนี้จนมืดค่ำ

ฝ่ายภิกษุหนุ่ม ไปปัดกวาดเสนาสนะตั้งน้ำใช้น้ำฉันไว้เรียบร้อยแล้ว คอยการมาของท่านบิดาและสามเณรน้องชายอยู่ เมื่อไม่เห็นมา จึงจุดคบเพลิงออกไปตาม พบท่านทั้งสองเดินทะเลาะกันอยู่ จึงให้ท่านบิดาพักอยู่หน่อยหนึ่งแล้วค่อยๆ นำมา วันนั้นไม่ได้โอกาสเข้าเฝ้าพระศาสดา คือเข้าเฝ้าไม่ทันวันรุ่งขึ้นจึงได้เข้าเฝ้า

พระศาสดาตรัสถามว่า “มาถึงเมื่อไร ?”
“มาถึงเมื่อวานพระเจ้าข้า” ภิกษุหนุ่มทูลตอบ
“ทำไมจึงเพิ่งมาหาเราวันนี้ ?”

ภิกษุหนุ่มได้ทูลเล่าเรื่องที่ชักช้าอยู่ทั้งปวงถวาย พระศาสดาทรงทราบแล้ว ทรงติเตียนภิกษุแก่นั้นว่า ภิกษุแก่นี้ในชาตินี้ทำให้เธอลำบาก แต่ในชาติก่อนได้ทำให้บัณฑิตลำบาก เมื่อภิกษุหนุ่มทูลถามถึงเรื่องเก่า จึงตรัสเล่าว่า

ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ในกาสิกนคร เมื่อมารดาทำกาลกิริยา (ถึงแก่กรรม) แล้วทำการปลงศพมารดาเสร็จแล้ว เอาทรัพย์สมบัติออกบริจาคทานอยู่ถึง ๑๕ วัน จึงเสร็จสิ้น พาบิดาและน้องชายออกไปบวชเป็นฤๅษีอยู่ในหิมวันตประเทศ เลี้ยงชีพด้วยมูลผลาผล (คือรากไม้และผลไม้) อยู่ในไพรสนฑ์อันเป็นรมณียสถาน

ธรรมดาในหิมวันตประเทศนั้น ในฤดูฝน เมื่อฝนตกชุก พวกฤษีไม่สามารถขุดเง่ามันได้ ผลาผลและใบไม้ก็ร่วงหล่นเสียหายมาก พวกดาบสจึงพากันออกจากป่าหิมพานต์ไปอยู่แดนของมนุษย์

ในกาลนั้น ดาบสโพธิสัตว์ก็พาบิดาและน้องชายไปอยู่ในแดนของมนุษย์เหมือนกันเมื่อพ้นฤดูฝนแล้ว ต้นไม้ในหิมวันตประเทศผลิดอกออกผลใหม่ จึงพาบิดาและน้องกลับมายังป่านั้นอีก เมื่อจวนจะถึงอาศรมบท พระโพธิสัตว์จึงขอให้ดาบสน้องชายค่อยๆ พาบิดาผู้ชรามา ส่วนตนล่วงหน้าไปก่อน เพื่อจัดแจงปัดกวาดเสนาสนะ และตั้งน้ำดื่มน้ำใช้ไว้

ดาบสน้อย ผู้เป็นน้องชาย เอาหัวดันหลังดาบสผู้บิดาให้รีบเดินมา ส่วนบิดาไม่พอใจ จึงกลับไปต้นทางเดินมาใหม่ (เรื่องทำนองเดียวกับภิกษุแก่และสามเณรน้อยดังที่กล่าวมาแล้ว)

จนมืดค่ำพระโพธิสัตว์ทำกิจต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้วไม่เห็นบิดาและน้องชายมา จึงถือคบเพลิงเดินสวนทางไปพบท่านบิดาและดาบสน้องชาย จึงถามว่า ทำไมจึงชักช้าอยู่ดาบสผู้บิดจึงเล่าให้ฟัง

ดาบสโพธิสัตว์ทราบเรื่องแล้วไม่พูดอะไร รีบพาท่านบิดาและน้องชายไปยังอาศรมบท ให้เก็บงำเครื่องบริขารแล้วให้บิดาอาบน้ำ ทาน้ำมัน นวดหลังเสร็จแล้ว ให้ผิงไฟเมื่อทราบว่าท่านบิดาระงับความอิดโรยแล้วจึงเข้าไปนั่งใกล้และกล่าวว่า

“ข้าแต่ท่านบิดา เด็กหนุ่มเป็นเช่นภาชนะดิน แตกง่าย ประสานยาก ครู่เดียวก็แตก เมื่อแตกแล้วก็ประสานไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อเด็กด่าอยู่ บริภาษอยู่ ผู้ใหญ่จึงควรอดทน เด็กเป็นผู้อ่อนปัญญา บัณฑิตผู้มีปัญญาย่อมทนได้และให้อภัยในความผิดนั้น

อนึ่ง สัตบุรุษ แม้จะทะเลาะกันก็กลับคืนดีกันได้ง่าย ส่วนพาลชน เมื่อแตกแล้วย่อมเป็นเหมือนภาชนะดิน ไม่สงบได้เลย ผู้ใดรู้จักโทษของตน และรู้จักขออภัยในโทษล่วงเกิน ผู้นั้นย่อมสมัครสมานพร้อมเพรียงกันยิ่งขึ้น ความสนิทสนมของเขาย่อมไม่เปลี่ยนแปลง อนึ่ง ผู้ใดเมื่อผู้อื่นล่วงเกินแล้ว ตนเองมีใจเอื้อเฟื้อพร้อมที่จะสมัครสมาน ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้นำภาระไปเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งธุระเป็นผู้ประเสริฐยิ่ง

รวมความว่า ดาบสโพธิสัตว์เตือนทั้งพ่อและสอนทั้งน้องเพื่อให้ท่านทั้งสองได้กลมเกลียวสามัคคีกัน

ข้อสังเกต

เรื่องนี้มีคติหลายอย่าง โดยเฉพาะเป็นการสอนผู้หลักผู้ใหญ่ ให้มีความอดทนต่อความอ่อนความคิดของผู้น้อย รู้จักอดทนและให้อภัย เมื่อเด็กโกรธ ถ้าผู้ใหญ่ไม่โกรธด้วย เจอที่ไหนทักทายปราศรัยด้วยดี เด็กก็คงโกรธไปได้ไม่นาน ไม่เท่าไหร่ก็คงเคารพกราบไหว้อย่างเดิม

ท่านสอนว่า วิธีที่จะไม่ให้ทะเลาะกับใครนั้นคือคิดว่า เมื่อเขาเด็กกว่าก็ให้อภัยในฐานะที่เขาเป็นเด็ก เมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่กว่าก็ยกให้เสียว่า ท่านแก่แล้ว ส่วนคนเสมอกันก็นึกว่าเขาคงไม่แกล้ง ไม่เจตนา หรือเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์

เกี่ยวกับการอดโทษและการให้อภัยนั้นพระพุทธองค์ตรัสว่า คนที่ล่วงเกินเขาแล้วไม่ขอโทษ และคนที่เขาขอโทษแล้ว ไม่ยอมให้อภัย จัดว่าเป็นพาลเสมอกันทั้งสองพวก

ในทางพระวินัย ทรงปรับอาบัติทั้งสองพวก คือทั้งพวกที่ล่วงเกินเขาแล้วไม่ขอโทษและพวกที่เขาขอโทษแล้วไม่ยอมให้อภัย การรู้โทษแล้วขอโทษ และการให้อภัยจึงเป็นจุดสำคัญในความสามัคคีและความรักอันไม่จืดจาง



ที่มา : หนังสือ เพียรพายสำเภาแก้ว เผยแพร่โดย วัดป่าวิเวกวัฒนาราม บ้านห้วยทราย ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร www.dhammasavana.or.th/article.php?a=431

ตอนที่ 8 พระมหากัสสปกล่าวตักเตือนพระอานนท์ »