Not logged in [Login - Register]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites ตั้งหัวข้อใหม่
[*] posted on 25/4/08 at 18:09 [ QUOTE ]

สู่แสงธรรม...โดย พล.อ.ต. มนูญ ชมภูทีป (ตอน 2 - C)


« ตอน จะไปดู นรก สวรรค์ พรหม นิพพานได้อย่างไร?



สารบัญ

(เลือก "คลิก" อ่านได้แต่ละตอน)


01.
พระสงฆ์ปฏิบัติตนเหมาะสมแล้วหรือ?
02. จะเลือกเคารพพระแบบใด?
03. ทำไมพระจึงออกธุดงค์?
04. ปัญญาคืออะไรกันแน่?
05.
พระพุทธศาสนาในปัจจุบันเสื่อมจริงหรือ? (Update 20/07/52)
06. คนร่ำรวยมีโอกาสสร้างกุศลผลบุญได้มากกว่าคนจนจริงหรือไม่? (Update 8/08/52)
07. ทำไมจึงต้องกำหนดเอาการดื่มสุราเข้าไว้ในศีล 5 ด้วย? (Update 21/08/52)
08. ถ้ากระทำแต่ความดีโดยไม่ต้องนั่งกรรมฐานจะมีสิทธิตกนรกไหม? (Update 30/08/52)
09. คนที่ตั้งหน้าทำแต่ความดีทำไมจึงไม่ได้ดีเหมือนคนชั่วบางคน..? (Update 12/09/52)
10. บทส่งท้าย (Update 14/11/52)

(Update ๐๓ มี.ค. ๒๕๕๒)


พระสงฆ์ปฏิบัติตนเหมาะสมแล้วหรือ?


จากการที่ข้าพเจ้าได้พบได้เห็นเหตุการณ์แปลกๆ และสิ่งที่อาจเรียกว่ามหัศจรรย์ต่างๆ จากหลวงพ่อหลายหนหลายครั้ง ดังที่ได้เขียนเล่าให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบแล้วในตอนที่ ๑ อีกทั้งได้สอบถามปัญหาหลวงพ่อไปบ้างแล้ว และก็ได้รับคำตอบที่แจ่มกระจ่างในทุกปัญหาที่ถาม ซึ่งในชีวิตของข้าพเจ้ายังไม่เคยพบพระสงฆ์องค์ใด ที่มีปฏิภาณไหวพริบเป็นเลิศเช่นหลวงพ่อมาก่อน

ก็ยิ่งบังเกิดความเคารพเลื่อมใสอย่างจริงใจ และเกิดศรัทธาที่จะปฏิบัติธรรมกับเข้าบ้าง แต่ก็เป็นเพียงแต่คิดเท่านั้น ยังปฏิบัติไม่ได้สักที ด้วยจิตที่เคลือบแคลงสงสัยในพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าอยู่ ทั้งนี้เพราะเมื่อครั้งที่ข้าพเจ้ายังเยาว์วัยประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ซึ่งยังอยู่ในช่วงของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าได้ไปช่วยเหลือปรนนิบัติหลวงปู่ (เป็นปู่ของข้าพเจ้าเอง) ซึ่งบวชอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง (ขอสงวนนาม) เป็นระยะเวลานานพอสมควร

ในช่วงนั้นก็ได้เห็นความเหลวแหลกของพระในวัดมากมายอาทิเช่น มีการแบ่งพรรค แบ่งพวก มีการแย่งเส้นทางบิณฑบาต มีการเลือกรับนิมนต์เฉพาะเจ้าภาพรายที่คาดคิดว่า เมื่อไปแล้วจะได้ฉันอาหารรสเลิศ และได้รับการถวายเงินมากพอคุ้มค่า ครั้นเมื่อผิดหวังกลับถึงวัดก็นั่งสวดเจ้าภาพเป็นต้น

และอีกครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าได้มีโอกาสติดตามหลวงปู่ ไปที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี (ขอสงวนนาม) ซึ่งเป็นช่วงของงานพิธีสลากภัตรมะม่วงพอดี จึงขออนุญาตหลวงปู่ติดตามบรรดาศิษย์วัดไปบริเวณพิธี ที่เขาบันไดอิฐ ปรากฎว่าบรรดาพุทธศาสนิกชนนำมะม่วงมาคอยใส่บาตรพระเรียงรายสองฟากบันไดขึ้นลงเขา แน่นขนัดไปหมด

ลูกศิษย์แต่ละคนต้องถ่ายมะม่วงจากบาตรพระใส่ตระกร้าหาบตาม แต่และหาบมีมะม่วงเต็มแทบจะล้น ระหว่างทางที่หาบมะม่วงกลับวัดนั้น ลูกศิษย์ทุกคนแม้จะเหน็ดเหนื่อย แต่ก็พูดคุยกันด้วยใบหน้ายิ้มแย้มและหวังกันว่า วันนี้แหละคงจะได้ลิ้มรสมะม่วงอกร่องสุกเหลืองอร่ามกันให้เต็มคราบ สมกับที่อยากกันมานานเสียที ข้าพเจ้าเองซึ่งมีส่วนช่วยกันผลัดเปลี่ยนลูกศิษย์วัดบางคนหาม ก็พลอยมีความหวังไปกับเขาด้วย

แต่เมื่อถึงวัด ความหวังของลูกศิษย์ทุกคนรวมทั้งข้าพเจ้าก็พังทะลายลงอย่างไม่น่าเชื่อ กล่าวคือ พระแต่ละองค์ได้สั่งให้ลูกศิษย์นำหาบมะม่วงในส่วนของตน เข้าไปจัดเรียงไว้ในห้องของตน แล้วปิดห้องสั่นกุญแจเสียสิ้น พระแต่ละองค์ต่างก็ถือมะม่วงติดมือกันออกมาเพียงองค์ละลูกสองลูกพอแก่การฉันของตนเท่านั้น เชื่อไหมครับว่า นอกจากลูกศิษย์จะไม่ได้ลิ้มรสมะม่วงที่อุตส่าห์ไปหาบหามกันมาแล้ว

แม้อาหารที่เหลือจากพระฉันเป็นต้นว่าไข่เค็ม ปลาแห้ง ปลาสลิด เนื้อเค็ม หรืออาหารอื่นที่พอจะเก็บนานๆ ได้ หลวงตา หลวงลุง หลวงอา หลวงพี่ ทั้งหลายเหล่านั้นก็เอากระดาษหนังสือพิมพ์ห่อเก็บเข้ากุฏิกันเป็นแถว คงเหลือแต่เศษข้าวกับน้ำแกงคาถ้วยให้บรรดาลูกศิษย์กิน นี่เป็นเพียงมื้อเช้าเท่านั้นนะ

พอตกเพล พระเหล่านั้นก็ลำเลียงอาหารจากกุฏิออกมาองค์ละอย่าง สองอย่าง โดยเลือกเอาเฉพาะที่เห็นว่าหากเก็บไว้เป็นต้องบูดแน่ ส่วนไข่เค็ม ปลาแห้ง ปลาสลิด และเนื้อเค็มนั้น ยังคงห่อเก็บแอบไว้ในกุฏิอย่างเหนียวแน่นรัดกุม ซึ่งเมื่อฉันเพลเสร็จก็คงเหลือเพียงข้าวก้นบาตรให้ลูกศิษย์แย่งกันกินเท่านั้น

ยิ่งมื้อเย็นด้วยแล้วไม่ต้องพูดเลย หากเย็นใดโชคดีก็พอมีข้าวที่เกือบจะบูดพอคลุกกับน้ำปลาได้บ้าง เคราะห์ดีที่หลวงปู่ของข้าพเจ้า ได้กรุณามอบเงินไว้ให้ข้าพเจ้าแยกไปหาซื้ออาหารกินเองต่างหาก ไม่เช่นนั้นคงจะลำบากมิใช่น้อย

แม้ว่าในขณะนั้นข้าพเจ้าจะเยาว์วัย แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่ามะม่วงจำนวนมาก ที่พระแต่ละองค์แยกกันนำไปกองเก็บไว้ในกุฏิของตนนั้น หากจะฉันโดยลำพังแล้ว ก็ไม่น่าจะฉันกันได้หมด และมะม่วงก็คงจะต้องเน่าเสียไปก่อนเป็นแน่ และก็จริงดังคาด ได้มีญาติโยมของพระแต่ละองค์ มาพากันขนไปในวันรุ่งขึ้นจนหมดสิ้น ซึ่งข้าพเจ้าเองก็ไม่ทราบว่าจะขนเอาไปกินหรือขนเอาไปขายกันแน่

อีกครั้งหนึ่งในระหว่างที่ข้าพเจ้ายังเป็นนักเรียนนายร้อยจปร. และมีโอกาสได้กลับไปเยี่ยมบ้านที่เชียงใหม่ในช่วงปิดภาคเรียน วันหนึ่งได้ขี่จักรยานเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ รอบเมือง ผ่านวัดแห่งหนึ่ง (ขอสงวนนาม) เห็นพระเณรกำลังช่วยกันมุงกระเบื้องหลังคาโบสถ์ เหงื่อไหลไคลย้อย จึงหยุดดู นึกชมอยู่ในใจว่าพระเณรเหล่านี้ มีความขยันขันแข็ง มีจิตใจดีที่ช่วยกันบูรณะซ่อมแซมโบสถ์ชำรุด ซึ่งเป็นสมบัติล้ำค่าในการใช้ประกอบศาสนกิจโดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยาก

ในขณะที่กำลังนึกชื่นชมอยู่นั้น ก็มีเด็กนักเรียนหญิงรุ่นสาวกลุ่มหนึ่งเดินผ่านมาบรรดาพระเณรที่กำลังมุงกระเบื้องหลังคาโบสถ์อยู่ต่างก็พากันละมือ หันไปจ้องมองนักเรียนสาวกลุ่มนั้นเป็นตาเดียวกัน และพร้อมกันนั้นก็มีเสียงหนึ่งจากหลังคาโบสถ์ตะโกนว่า “ซ้าย ขวา ซ้าย” ให้จังหวะการเดินของนักเรียนสาวๆ และพลันก็มีลูกคู่จากบนหลังคาโบสถ์ตะโกนรับ “ซ้าย ขวา ซ้าย” กันอย่างเซ็งแซ่

ความรู้สึกชื่นชมของข้าพเจ้าที่มีอยู่เมื่อสักครู่ หายไปโดยฉับพลัน และกลายเป็นความโกรธเกลียดเข้ามาแทนที่ อย่างไม่สามารถที่จะระงับไว้ได้ จึงตะโกนขึ้นไปว่า “เฮ้ย อะไรกันโว้ย” และด้วยเสียงตะโกนนี้เอง จึงทำให้พระเณรเหล่านั้นเลิกราความคึกคะนองหันไปมุงหลังคาโบสถ์กันต่อไปได้

อีกครั้งหนึ่งข้าพเจ้าไปฝึกภาคที่ปราจีนบุรี และทางโรงเรียนนายร้อยจปร. ได้ให้นักเรียนการกระโจมที่พักอยู่ที่สนามหญ้าหน้ากำแพงวัดวัดหนึ่ง ตกตอนเย็นข้าพเจ้าและเพื่อนๆ ก็ได้เห็นพระ ๓ รูป ล้อมวงเตะตะกร้อกัน และอีก ๓ รูป ล้อมวงดื่มน้ำขาวกันเป็นที่ครื้นเครง

นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ไม่เข้าท่าของผู้ครองผ้าเหลืองอีกมากมายที่ข้าพเจ้าได้พบได้เห็นมาซึ่งจะไม่ขอนำมากล่าวในที่นี้ แต่สรุปความว่า ภาพความเหลวแหลกและจิตใจของข้าพเจ้าตลอดมา ยากที่จะทำใจให้มีความเคารพนับถือด้วยความจริงใจได้ และถ้าหากขืนปล่อยทิ้งไว้ก็เป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงในการปฏิบัติธรรม อย่างแน่นอน ดังนั้นในวันหนึ่งข้าพเจ้าจึงได้ระบายความรู้สึกของข้าพเจ้าให้หลวงพ่อฟังว่า

“หลวงพ่อครับ ผมขอสารภาพกับหลวงพ่ออย่างตรงไปตรงมานะครับว่า ผมเคารพในพระพุทธเจ้า เพราะพุทธเจ้าท่าน เป็นผู้เสียสละอย่างใหญ่หลวง ไม่ว่าจะเป็นมงกุฎของจอมจักรพรรดิ์ ราชินีผู้เลอโฉม ราชบุตรที่น่ารัก ตลอดจนนางสนมกำนัลในและข้าราชบริพารผู้จงรักภักดี เพื่อออกบวชแสวงหาสัจธรรม ด้วยความยากลำบากอย่างแสนเข็ญโดยลำพังพระองค์เอง

และเมื่อทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็ยังทรงเมตตาแสดงธรรมสั่งสอนให้สัตว์โลกทั้งหลายพ้นทุกข์อีกด้วย ดังนั้นผมจึงเคารพเทิดทูนพระพุทธองค์ ด้วนความจริงใจโดยไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยเช่นกัน ทั้งนี้เพราะผมได้พิจารณาในพระธรรมคำสั่งสอนด้วยเหตุและด้วยผลแล้ว เห็นว่าเป็นความจริงตลอดกาล หาอะไรมาโต้แย้งไม่ได้เลย และถ้าปฏิบัติตามก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ดีที่ถูกที่ควร ทั้งต่อตัวเองและสังคมส่วนรวมทั้งสิ้น แต่พระสงฆ์นี่สิครับ ผมบอกตรงๆ ว่าผมไม่ศรัทธาเลย”

“พระสงฆ์เป็นยังไงหรือ?” หลวงพ่อถามอย่างอารมณ์ดี และข้าพเจ้าก็ได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดตามที่ข้าพเจ้าเคบประสบมาให้หลวงพ่อฟัง ดังที่เขียนไว้แล้วในตอนต้น ซึ่งหลวงพ่อฟังแล้วก็ยิ้มถามเรื่อยๆ ว่า

“เออ! แล้วคุณรู้ได้อย่างไรล่ะ ว่าท่านเหล่านั้นเป็นพระสงฆ์”

“พระสงฆ์ซีครับหลวงพ่อ เพราะโกนหัวนุ่งเหลืองห่มเหลืองแบบหลวงพ่อนี่แหละครับ” ข้าพเจ้าชักเริ่มหงุดหงิด

“ที่โกนหัว นุ่งเหลืองห่มเหลืองน่ะ เขาเรียกว่า สมมติสงฆ์ นะ มิใช่พระสงฆ์หรอก เออนี่ ! คุณสวดอิติปิโส ได้ไหม?” หลวงพ่อพูดแล้วย้อนถามข้าพเจ้า

“โธ่! หลวงพ่อ ตอนเป็นนักเรียนนายร้อยน่ะ เขาจับผมเข้าแถวสวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน ไม่เคยว่างเว้นเลยครับ โดยเฉพาะบทอิติปิโสน่ะ ผมสวดคล่องมาก เพราะย่าสอนให้ตั้งแต่เด็ก” ข้าพเจ้ารีบตอบ

“เออ ดีมาก ไหนคุณลองสวดอิติปิโส ท่อนสุดท้าย ให้ฉันฟังซิ” หลวงพ่อพูดยิ้มๆ

“สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเนยโย อัญชะลี กะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติฯ” ข้าพเจ้าสวดให้หลวงพ่อฟังตามที่ท่านสั่ง อย่างชัดถ้อยชัดคำ ทั้งๆ ที่ยังงงอยู่ว่าหลวงพ่อให้สวดไปทำไม

“เอาละ ที่นี่คุณลองแปลให้ฉันฟังซิ ว่าในบทสวดตอนนี้เขาว่ายังไง” หลวงพ่อถาม

“เขาก็ให้ระลึกถึงคุณงามความดีของพระสงฆ์ นั้นแหละครับ” ข้าพเจ้าตอบอย่างขอไปที เพียงแค่คิดเอาตัวรอด แต่ก็ไม่รอดเพราะหลวงพ่อถามย้ำอีกว่า “นั้นสิ ที่ว่าคุณงามความดีของพระสงฆ์น่ะ มีอะไรบ้าง”

“ไม่ทราบครับ” ข้าพเจ้าตอบเสียงอ่อยๆ อย่างจำนน ด้วยไม่รู้จริงๆ ว่าเขาแปลว่าอย่างไร

“ความจริงแล้ว อิติปิโส ท่อนสุดท้ายนี้ ท่านกล่าวไว้แล้วโดยละเอียดนะว่า พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้านั้น จะต้องเป็น พระสุปฏิปันโน คือ เป็นผู้ปฏิบัติดี, อุชุปฏิปันโน คือ เป็นผู้ที่ปฏิบัติตรง, ญายปฏิปันโน คือ เป็นผู้ที่ปฏิบัติถูกแล้ว, สามีจิปฏิปันโน คือ เป็นผู้ที่ปฏิบัติชอบแล้ว อย่างไรล่ะ เข้าใจไหม?” หลวงพ่ออธิบาย แล้วถามข้าพเจ้าด้วยความเมตตา

“เข้าใจแล้วครับหลวงพ่อ ผมเพิ่งนึกออกตอนนี้เองครับว่า ในตอนเข้าแถวสวดมนต์นั้น มีคำแปลของตอนนี้ด้วยว่า พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดี, ปฏิบัติตรง, ปฏิบัติควร, ปฏิบัติชอบ, และเป็นพยานในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ว่าปฏิบัติตามได้จริง และมีผลประเสริฐจริง”

“เอ! ไม่เลวนี่ ความจริงคุณก็จำได้ออกแม่นยำและก็เป็นคำอธิบายที่ชัดเจนแล้วนี่นาว่า พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้านั้น ต้องเป็นพระที่มีความประพฤติปฏิบัติอย่างไร?” หลวงพ่อชม แต่พอข้าพเจ้าจะได้ปลื้มสักหน่อยก็ต้องชงัก เพราะหลวงพ่อพูดต่อว่า “หรือว่าคุณท่องจำมาแบบนกแก้ว นกขุนทอง เลยไม่รู้ความหมาย?”

“ครับ คงเป็นแบบนั้นแหละครับ เพราะผมถูกบังคับให้สวดก็สวดไปตามหน้าที่ให้จบๆ ไป จะได้เข้านอนเท่านั้นเอง” ข้าพเจ้าตอบอ่อยๆ ไปตามความเป็นจริง

“เออ ดี รับมาตรงๆ อย่างนี้ฉันชอบ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าที่ท่านปฏิบัติดี, ปฏิบัติตรง, ปฏิบัติควร, ปฏิบัติชอบ ตามที่คุณว่านั้นก็เพื่อมุ่งสู่เล้นทางเดินของพระอริยเจ้านั้นเอง” หลวงพ่ออธิบายต่อ

“พระอริยเจ้า เป็นอย่างไรครับ หลวงพ่อ” ข้าพเจ้ารีบถาม

“อ้าว! พระอริยเจ้าก็คือพระที่มุ่งทางโลกุตระ มิใช่ทางโลกียะ ไงล่ะ” หลวงพ่อตอบเรื่อยๆ แต่ทำให้ข้าพเจ้ายิ่งงงหนักเข้าไปอีก จึงถามว่า

“แล้ว โลกียะ กับ โลกุตระ เป็นยังไงครับหลวงพ่อ”

“การที่ผู้ใดทำอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วยังหวังลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นการตอบแทนแล้ว เขายังเรียกว่า เป็น โลกียชนอยู่ ดังนั้น บรรพชิตท่านใด แม้มีสมณศักดิ์สูงส่งแค่ไหน หากยังชื่นชมในลาภสักการก็ดี ยังหลงในสมณศักดิ์ชั้นยศที่ได้รับก็ดี หรือหลงในคำสรรเสริญเยินยอของสานุศิษย์ก็ดี หรือหลงในสุขจากสถานที่พำนักที่อบอวลไปด้วยไอเย็นของเครื่องปรับอากาศ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็ดี ก็จะยังจัดอยู่ในประเภทของโลกียชนนะ หากนุ่งผ้าเหลืองห่มเหลืองก็ยังคงเป็นสมมติสงฆ์อยู่นะ

แต่ถ้าการทำอะไรแล้ว ไม่หวังในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นสิ่งตอบแทนแล้ว นั้นแหละเขาเรียกว่าเป็นโลกุตระละ และการมุ่งสู่โลกุตระนี้แหละจะเป็นหนทางที่หลุดพ้นจากกิเลส ตัญหา อุปาทาน และอกุศลกรรมทั้งหลายแหล่ เป็นพระอริยเจ้าได้ และพระอริยเจ้าที่ว่านี้ ก็ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์นั้นเอง เข้าใจหรือยังล่ะ?” หลวงพ่ออธิบายแล้วถามอย่างอารมณ์ดี

“พอเข้าใจครับ เราจะรู้ได้ว่าท่านองค์ใด น่าจะเป็นสมมุติสงฆ์ หรือองค์ใดน่าจะเป็นพระอริยสงฆ์ ก็ต้องดูกันที่ความประพฤติ และการปฏิบัติของแต่ละท่านใช่ไหมครับ?” ข้าพเจ้าตอบด้วยความภาคภูมิใจ

“เออ! ใช่...เก่งเหมือนกันนี่ จำไว้นะ ว่าต้องดูที่ปฏิปทาของแต่ละท่านนะ” หลวงพ่อชมและย้ำเพิ่มเติม

“ครับ หลวงพ่อ แต่ผมจะรู้ได้อย่างไรว่าพระอริยสงฆ์องค์ใดท่านเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์ล่ะครับ? ” ข้าพเจ้ารีบถามต่อเพราะเห็นหลวงพ่อเมตตา

“อ้าว! จะรู้ได้ก็ต้องเอาสังโยชน์ ๑๐ มาเป็นเครื่องมือวัดซิคุณ..!” หลวงพ่อตอบอย่างเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้วมันไม่ธรรมดาเลยเพราะคำว่า สังโยชน์ ๑๐ ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยได้ยินเลย

จึงถามหลวงพ่อว่า “สังโยชน์ ๑๐ เป็นอย่างไรครับ หลวงพ่อ?”

“สังโยชน์ ๑๐ ก็แปลว่า กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดจิตใจให้ตกอยู่ในวัฏฏะ มี ๑๐ อย่างด้วยกัน คือ :-

๑) สักกายทิฏฐิ เห็นว่าขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้เป็นของเรา เป็นของเรา เรามีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มีในเรา
๒) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัยและสงสัยในผลการปฏิบัติว่าจะไม่มีผลจริง
๓) สีลัพพตปรามาส รักษาศีล แบบลูบๆ คลำๆ คือไม่รักษาศีลจริงจัง เคร่งครัดตามพอสมควร
๔) กามราคะ มีจิตมั่วสุม หมกมุ่น ใคร่อยู่ในกามารมณ์เป็นปกติ
๕) ปฏิฆะ มีอารมณ์ผูกโกรธ จองล้าง จองผลาญเป็นปกติ
๖) รูปราคะ ยึดถือมั่นในรูปฌาน โดยคิดเอาว่ารูปฌานเป็นคุณธรรมพิเศษสูงสุด ที่ทำให้พ้นจากวัฏฏะได้
๗) อรูปราคะ ยึดมั่นในอรูปฌาน โดยคิดเอาว่าอรูปฌานเป็นคุณธรรมพิเศษสูงสุด ที่ทำให้พ้นจากวัฏฏะได้
๘) อุทธัจจะ มีอารมณ์ฟุ้งซ่าน ครุ่นคิดอยู่ในอกุศล มีอกุศลวิตกเป็นอารมณ์
๙) มานะ มีอารมณ์ถือตัว ถือตน ถือชั้นวรรณะเกินพอ
๑๐) อวิชชา มีความคิดเห็นว่า โลกามิส เป็นสมบัติที่ทรงสภาพไม่เปลี่ยนแปลง ไม่สลายตัว

กิเลสทั้ง ๑๐ ประการนี้แหละท่านเรียกว่า สังโยชน์ ๑๐ ละเข้าใจไหม? จดทันไหม? แต่ความจริงไม่ต้องจดก็ได้ เพราะฉันจะเขียนไว้ให้ในคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน” หลวงพ่ออธิบาย

“ครับ! แต่สังโยชน์ ๑๐ จะเกี่ยวข้องกับพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และอรหันต์ ได้อย่างไรหรือครับ?” ข้าพเจ้าถาม

“อ้าว! ถ้านักปฏิบัติ นักเจริญวิปัสสนาญาณท่านใด กำจัดกิเลสในสังโยชน์ ๑๐ สามข้อแรกได้ (ข้อ ๑ ถึงข้อ ๓) ท่านว่าท่านผู้นั้นได้บรรลุ พระโสดาบัน ถ้าบรรเทาสังโยชน์ข้อที่ ๔ และที่ ๕ ลงได้ก็จะเป็น พระสกิทาคามี ถ้าตัดกิเลสในสังโยชน์ ๑๐ ได้ใน ๕ ข้อแรก (ข้อ ๑ ถึงข้อ ๕) ท่านว่าผู้นั้นได้บรรลุเป็น พระอนาคามี และถ้าตัดกิเลสในสังโยชน์ ๑๐ ได้ทั้ง ๑๐ ข้อ ท่านว่าผู้นั้นได้บรรลุเป็น พระอรหันต์ ยังไงล่ะ” หลวงพ่ออธิบายอย่างเมตตา

“แหมผมเสียดายจังครับหลวงพ่อ ที่ไม่ได้บวชเป็นพระ มิฉะนั้นแล้วผมจะลองปฏิบัติเพื่อละสังโยชน์ ๑๐ กับเขาดูบ้าง” ข้าพเจ้าพูด

“อ้าว! นี่คุณยังไม่เข้าใจถึงคำว่า พระ เลยซินี่ คำว่า “พระโยคาวจร” นั้น ท่านหมายรวมถึงทั้งท่านที่บวชเป็นพระ และอุบาสกอุบาสิกานะ เพราะท่านใดก็ตามที่เริ่มเจริญสมถกรรมฐานและเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ท่านเรียกว่า พระ ทั้งสิ้นนะ ทั้งนี้เพราะ พระ หมายถึง ผู้ที่เริ่มเข้าถึงความเป็นผู้ประเสริฐ โยคาวจร แปลว่า ผู้ที่ประกอบความเพียรนะ

รวมความแล้ว "พระโยคาวจร" ก็คือท่านผู้มีความประพฤติประกอบความเพียร เพื่อให้ถึงซึ่งความเป็นผู้ประเสริฐนะ ดังนั้นฆราวาสอย่างพวกคุณนี้หากเริ่มเจริญกรรมฐานเมื่อใด ท่านเรียกว่า พระทันที ได้เปรียบกว่าท่านที่บวชเสียอีก เพราะท่านที่บวชแล้วเข้ายังไม่เรียกว่าพระนะ แต่เรียกว่าสมมติสงฆ์ เพราะเพียงแต่เอาตัวเข้าพวกเท่านั้น ยังมิได้เอาใจเข้าพวก

ต่อเมื่อท่านที่บวชเริ่มปฏิบัติพระกรรมฐานนั่นแหละ ท่านจึงจะเรียกว่า พระ และหากประกอบความเพียรเพื่อหวังบรรลุมรรคผลนิพพาน จึงจะเรียกว่า พระโยคาวจร ซึ่งถือว่าเป็นพระแท้นะ เข้าใจหรือยังล่ะ?” หลวงพ่ออธิบาย

“ถ้ายังงั้น ฆราวาสอย่างพวกผมก็มีสิทธิ์ปฏิบัติเพื่อให้บรรลุมรรคผลเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ กับเขาได้ซีครับหลวงพ่อ” ข้าพเจ้าถามด้วยความอยากรู้

“ใช่แล้ว เป็นได้ทั้งนั้น แต่ถ้าเป็นฆราวาสหากบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระอรหันต์แล้ว จะต้องตายภายใน ๒๔ ชั่วโมง นะ” หลวงพ่อตอบ

“ทำไมต้องตายด้วยล่ะครับ?” ข้าพเจ้าถามด้วยความสงสัย

“ตายเพื่อไปเสวยสุขในนิพพานน่ะ เป็นสุดยอดของความดีในพระพุทธศาสนาทีเดียวนะคุณ และการที่ต้องตาย ก็เป็นเพราะจิตของพระอรหันต์นั้นบริสุทธิ์ผุดผ่องเกินกว่าที่จะอยู่ในคราบของฆราวาสต่อไปได้ ทั้งนี้เพราะฆราวาสจะต้องเกลือกกลั้วกับโลกียชน และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งฆราวาสที่มีจิตพระอรหันต์ ไม่สามารถจะยอมรับได้อีกต่อไปแล้วนั้นเอง แต่ถ้าพระภิกษุสงฆ์ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ก็จะยังมีชีวิตต่อไปได้นะ” พอเข้าใจหรือยังล่ะ? หลวงพ่ออธิบายแล้วย้อนถามข้าพเจ้า

“เข้าใจแล้วครับ หลวงพ่อ” ข้าพเจ้าตอบด้วยความเคารพ

“เอาละในเมื่อเข้าใจแล้วว่า พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าที่แท้จริงนั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีความประพฤติประกอบความเพียรเพื่อหวังบรรลุมรรคผลนิพพาน ด้วยการละกิเลสในสังโยชน์ ๑๐ ไปทีละข้อ จนเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์เช่นนี้ คุณพอจะเคารพเทิดทูนในพระสงฆ์ได้หรือยัง? ” หลวงพ่อพูด แล้วถามยิ้มๆ

“ถ้าผมได้เข้าใจอย่างนี้แล้ว ผมก็ต้องเคารพเทิดทูนในพระสงฆ์ได้ อย่างไม่มีอะไรเคลือบแคลงสงสัยอีกต่อไปน่ะซีครับ ที่ผมไม่เคารพเพราะยังไม่มีใครเขาอธิบายให้ผมฟังอย่างที่หลวงพ่ออธิบายมาก่อนนี่ครับ” ข้าพเจ้าตอบ

เป็นยังไงครับ! ท่านผู้อ่านที่รัก พอจะเข้าใจในพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าที่แท้จริง กระจ่างชัดขึ้นบ้างแล้วใช่ไหมครับ..?

◄ll กลับสู่ด้านบน


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 7/3/09 at 23:56 [ QUOTE ]



(Update 07/03/2552)


จะเลือกเคารพพระแบบใด?



เนื่องด้วยข้าพเจ้าเป็นคนแปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือหากได้สนใจเรื่องใดขึ้นมาแล้ว ก็จะต้องทุ่มเทให้กับสิ่งนั้นอย่างที่สุด จะไม่ยอมปล่อยให้กาลเวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ จนกว่าจะบรรลุถึงจุดๆ หนึ่งที่ตนพอใจแล้วเท่านั้น จึงจะยอมเลิกราได้

นี่ก็เช่นเดียวกัน เมื่อข้าพเจ้าเกิดความสนใจในพระพุทธศาสนาขึ้นมาและโชคดีได้ประสบพบท่านผู้รู้เช่นหลวงพ่อด้วยแล้ว ข้าพเจ้าก็ยิ่งปลื้มปีติและตั้งปณิธานเอาไว้ว่า ข้าพเจ้าจะทุ่มสุดตัวเพื่อค้นคว้าหาความกระจ่างในพระพุทธศาสนาให้ได้

ดังนั้นในทุกครั้งที่ข้าพเจ้าถามปัญหา และหลวงพ่ออธิบายตอบ ข้าพเจ้าจะไม่จบสิ้นเลิกราเอาง่ายๆ เหมือนเช่นผู้อื่น หากแต่เมื่อจากหลวงพ่อกลับถึงบ้านแล้ว ข้าพเจ้าจะนั่งพิจารณาทบทวนและขบคิดถึงปัญหาและคำตอบของหลวงพ่ออย่างละเอียด และรอบคอบด้วยเหตุและด้วยผลเสมอมาทุกครั้ง

ด้วยเหตุนี้เองแม้ข้าพเจ้าจะเข้าใจในคำอธิบายได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังไม่กระจ่างชัดไปเสียทั้งหมดทีเดียว มิหนำซ้ำกลับดูเหมือนว่าความเคลือบแคลงสงสัยอยากที่จะได้รับรู้ รับฟัง ยังมีอีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของพระสงฆ์นั้นข้าพเจ้าเคยได้ยินผู้คนเข้าพูดวิพากษ์วิจารณ์กันมากมายเหลือเกิน

อาทิเช่นบางคนพูดว่า “พระที่ฉันเคารพกราบไหว้นั้น จะต้องเป็นพระที่เคร่งในวินัย ต้องรู้จักสำรวมในการพูด มิใช่พูดไปหัวเราะไป หรือพูดกระเช้าเย้าแหย่ลูกศิษย์ลูกหา”

บางคนก็พูดว่า “พระที่ฉันเคารพนั้น จะต้องเป็นพระที่ไม่ฉันเนื้อสัตว์เป็นอาหาร”

บางคนพูดว่า “พระที่ฉันไปเคารพกราบไหว้ทุกวันนี้ ท่านนอนกระดานแผ่นเดียวเชียวนะ มิหนำซ้ำฉันเพียงมื้อเดียวด้วย”

บางคนพูดว่า “พระของฉันน่ะฉันอาหารรวมในบาตรเดียว และมื้อเดียวด้วย และไม่ยอมจับเงินเสียด้วย”

บางคนก็พูดว่า “ฉันเคารพพระธรรมยุต ไม่เคารพพระมหานิกายหรอกเพราะไม่ค่อยเคร่ง”


บางรายก็พูดว่า “พระองค์ที่ฉันเคารพกราบไหว้อยู่ทุกวันนี้ ท่านให้หวยแม่นที่สุดเลย รถเก๋งจอดกันแน่นที่วัดทุกวันทีเดียวนะ” เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ ในวันหนึ่งข้าพเจ้าจึงได้ถือโอกาสถามหลวงพ่อว่า

“หลวงพ่อครับ โดยทั่วๆ ไปแล้ว เราควรเคารพกราบไหว้พระที่เคร่งในวินัยและสำรวมในการพูด มากกว่าพระที่ไม่สำรวม ใช่ไหมครับ?”

“เออ! ถามดี ตอนนี้คุณกำลังเรียนอยู่ในโรงเรียนผู้บังคับฝูงใช่ไหม?” หลวงพ่อย้อนถาม

“ครับ” ข้าพเจ้าตอบ ชักลังเล

“นักเรียนในโรงเรียนผู้บังคับฝูงรุ่นของคุณนั้น มีกี่คน” หลวงพ่อถามต่อ

“มีประมาณ ๑๖๐ คนครับ” ข้าพเจ้าตอบไป ชักงงหนัก

“ทั้ง ๑๖๐ คน จบจากโรงเรียนนายทหารหลักอย่างคุณทั้งหมดไหม?” หลวงพ่อถามต่อ

“ไม่หรอกครับ ปะปนกัน มีทั้งจบจากโรงเรียนนายร้อยจปร, นายเรือ, นายเรืออากาศก็มี จบจากมหาวิทยาลัยในเมืองไทยก็มี เมืองนอกก็มี และเลื่อนยศขึ้นมาจากนายทหารชั้นประทวนก็มีครับ รวมความว่ามีทั้งไม่ได้ปริญญาก็มี ได้อนุปริญญาก็มี ปริญญาตรีก็มี ปริญญาโทก็มี และปริญญาเอกก็มีครับ” ข้าพเจ้าตอบอย่างละเอียด ไม่ทราบว่าหลวงพ่อจะมาในรูปใดอีก

“อ้อ! แล้วนักเรียนจำพวกไหนที่ขยันที่สุด คร่ำเคร่งในการดูตำรามากที่สุดล่ะ” หลวงพ่อถามเรื่อยๆ ทำให้ข้าพเจ้าต้องนั่งใคร่ครวญอยู่นานพอสมควร จึงตอบไปตามที่รู้ที่เห็นว่า

“พวกที่คร่ำเคร่งดูตำรับตำรา และตั้งอกตั้งใจฟังครูสอนมากที่สุดก็คือ พวกที่เขาเลื่อนขึ้นมาจากนายทหารชั้นประทวนครับ เพราะเขาไม่ค่อยเข้าใจและฟังครูสอนไม่ค่อยทัน”

“แล้วพวกคุณ ที่จบจากโรงเรียนนายทหารหลักล่ะ” หลวงพ่อถามต่อ

“ผมก็ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง เรียนบ้างไม่เรียนบ้าง แล้วแต่ว่าวิชาใดน่าสนใจหรือไม่ แต่ความจริงแล้วครูก็ว่าไปตามตำรา ไม่ต้องฟัง อ่านเอาเอง เที่ยวเดียวก็จำได้ครับ” ข้าพเจ้าตอบไปตามความจริง

“เออ! นั่นแหละ พระที่ท่านเคร่งนั้นเป็นเพราะท่านเพิ่งจะเริ่มฝึกปฏิบัติยังไม่มีปัญญาพอ เกรงไปว่า หากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปสัมผัสอะไรเข้าแล้วมาบอกจิตที่ยังขาดปัญญา ก็จะเกิดความโลภ โกรธ หลง คือ กิเลส หรือความทะยานอยากจะได้ อยากจะมี อยากจะเป็น คือ ตัณหา หรือเกิด อุปาทาน ความหลงเอาว่าไอ้นั่นเป็นของเรา ไอ้นี่เป็นของเรา เข้าได้

ท่านจึงต้องปิดตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของท่านเสีย จึงดูเหมือนเป็นพระเคร่งในสายตาของผู้คนไป เท่านั้นเอง เหมือนนายทหารชั้นประทวนที่เลื่อนชั้นยศขึ้นมาตามที่คุณเล่านั่นแหละ ส่วนพระที่ท่านเป็นพระอริยเจ้าบรรลุมรรคผล มีปัญญาแล้ว ท่านมีสติของท่านอยู่ตลอดเวลา ท่านก็ทำตัวแบบสบายๆ ไม่จำเป็นต้องระวังอะไรมากนัก

ดังเช่นพระสารีบุตร ท่านก็เล่นกับเด็กนะเหมือนพวกคุณ ก็ไม่เห็นต้องเรียนต้องฟังอะไรจากครูมากมายนั่นแหละ ดังนั้นจึงจะไปรีบด่วนสรุปเอาว่าพระเคร่งพระสำรวม เหนือกว่าพระที่ไม่สำรวมยังไม่ได้นะ” หลวงพ่อตอบอย่างเมตตา

“แล้วพระที่ไม่ฉันเนื้อสัตว์ ฉันอาหารมื้อเดียว หรือฉันอาหารรวมในบาตรเดียวล่ะครับ จะถือว่า เหนือกว่าหระที่ฉันอาหาร ๒ มื้อไหมครับ?” ข้าพเจ้าถามต่อด้วยความอยากรู้

“พระพุทธเจ้า ท่านห้ามมิให้พระสงฆ์สาวกของท่านฉันเนื้อ เพียงเฉพาะบางประเภทเช่น เนื้อมนุษย์ เนื้อสุนัข เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อเสือ มิได้พาดพิงไปถึงเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อเป็ด เนื้อปลา ซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวโลกนะ อีกทั้งทรงย้ำว่าพระสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์นั้น จะต้องกระทำตนให้เป็นผู้ที่เลี้ยงง่าย อย่าให้ชาวบ้านเขาเดือดร้อน

ส่วนการที่จะฉันมื้อเดียวก็ดี หรือฉันอาหารรวมในบาตรเดียวก็ดี หรือฉันอาหารสองมื้อก็ดี พระพุทธเจ้าก็มิได้ทรงเป็นผู้กำหนดไว้ เป็นเรื่องของเกจิอาจารย์แต่ละท่านไปวางกำหนดกฎเกณฑ์เอาเองทั้งสิ้น จะเอาเรื่องการฉันเนื้อไม่ฉันเนื้อก็ดี การฉันมื้อเดียวหรือฉันสองมื้อก็ดีหรือการฉันรวมในบาตรเดียวทั้งของหวานของคาวมาคลุกเคล้ากันก็ดี มาเป็นเครื่องวัดว่าพระภิกษุรูปใดเหนือกว่าพระภิกษุรูปใดยังไม่ได้นะ มันอยู่ที่ว่าท่านเหล่านั้นในขณะที่เสพย์อาหาร มีสติพิจารณา “อาหาเรปฏิกูลสัญญา” หรือไม่ต่างหาก” หลวงพ่ออธิบาย

“อาหาเรปฏิกูลสัญญา นั้นพิจารณาอะไรครับหลวงพ่อ?” ข้าพเจ้าถามอย่างสนใจ

“พิจารณาอาหาเรปฏิกูลสัญญา ก็คือพิจารณาอาหารที่ขบฉันให้เห็นว่าเป็นของน่าเกลียด อาหารใดก็ตามแม้นลิ้นสัมผัสแล้วจะเลิศรสเพียงไร หากคบเคี้ยวแล้วคายออกมาดูจะเห็นว่าน่ารังเกียจ ยิ่งเมื่อกลืนเข้าไปในท้องแล้วสำรอกออกมาดูจะเห็นได้ว่าน่าเกลียดมาก และยิ่งหากปล่อยทิ้งไว้ถ่ายออกมาดูก็ยิ่งน่าเกลียดที่สุด ใช่ไหม

ดังนั้นพระภิกษุสงฆ์รูปใดฉันมังสวิรัติ (ไม่ฉันเนื้อสัตว์) ก็ดีหรือฉันอาหารคาวหวานคลุกเคล้ารวมในบาตรเดียวกันก็ดี หรือฉันอาหารมื้อเดียวก็ดี หากมิได้พิจารณาอาหาเรปฏิกูลสัญญาแล้ว เกิดไปติดในรสชาติของอาหารมังสวิรัติก็ดี อาหารคาวหวานที่คลุกรวมในบาตรก็ดี หรืออาหารเพียงมื้อเดียวที่ขบฉันก็ดี ย่อมสู้พระภิกษุสงฆ์ที่ฉันอาหาร ๒ มื้อ แต่พิจารณาอาหาเรปฏิกูลสัญญาทั้ง ๒ มื้อไม่ได้นะ” หลวงพ่ออธิบายเรื่อยๆ แล้วพูด ต่อว่า

“อาหาเรปฏิกูลสัญญา นั้น นอกจากจะให้พิจารณาว่าอาหารที่ขบฉันเป็นของน่าเกลียดแล้ว จะต้องพิจารณาต่อไปอีกด้วยว่า บรรดาอาหารเหล่านี้จะมีรสเลิศหรือไม่ก็ดี จะถูกหรือแพงก็ดี จะเป็นมังสวิรัติก็ดี จะเป็นเนื้อสัตว์ก็ดี จะเป็นอาหารคาวหวานรวมในบาตรเดียวก็ดี เรากินเพียงเพื่อให้ร่างกายนี้คงอัตภาพ อยู่ได้เพียงชั่วคราว เพื่อจะได้บำเพ็ญความเพียรไปสู่มรรคผลนิพพานได้เท่านั้นเองนะ

สรุปได้ว่าภิกษุท่านใดอยากฉันมังสวิรัติ ภิกษุท่านใดอยากฉันอาหารคาวหวานคลุกเคล้าในบาตรเดียวกัน ภิกษุท่านใดอยากฉันมื้อเดียว หรือภิกษุท่านใดอยากฉัน ๒ มื้อก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละท่าน แต่อย่าได้นำเอาวิธีการขบฉันของตนไปข่มหรือปรามาส ภิกษุสงฆ์ท่านอื่นเป็นอันขาดนะ นรกเล่นงานแน่ เพราะพระพุทธเจ้าท่านก็มิได้ทรงกำหนดกฎเกณฑ์ไว้นะ” หลวงพ่ออธิบายอย่างละเอียด

“แล้ว พระที่ท่านนอนกระดานแผ่นเดียวล่ะครับหลวงพ่อ?” ข้าพเจ้าถามเพราะเคยได้ยินมา

“ ก็ถ้าท่านคิดว่าท่านนอนบนกระดานแผ่นเดียว จะสามารปฏิบัติเพื่อบรรลุ มรรคผลนิพพานได้ ก็เป็นเรื่องของท่านนะ” หลวงพ่อตอบขำๆ และพูดต่อว่า

“แต่ถ้านอนกระดานแผ่นเดียว ด้วยเจตนาหวังให้สานุศิษย์ยกย่องสรรเสริญ อีกทั้งยกตนข่มพระภิกษุสงฆ์รูปอื่นว่าสู้ตนไม่ได้ละก้อ ลงนรกนะ เข้าใจหรือยังล่ะๆ”

“เข้าใจครับ คราวนี้ที่เขาว่ากันว่า พระธรรมยุตเคร่งกว่าพระมหานิกายมาก โดยเฉพาะท่านไม่ยอมแม้แต่จับเงินด้วยซ้ำไหล่ะครับ” ข้าพเจ้ารีบฉวยโอกาสถามต่อ

“ทั้งพระธรรมยุต และพระมหานิกายนั้นก็ล้วนถูกจัดเข้าเป็นพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ถ้าปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบ และเพียรพยายามปฏิบัติเพื่อไปสู่มรรคผลนิพพานนะ เรื่องความเคร่งหรือไม่เคร่งนั้น ฉันได้อธิบายไปแล้วว่าอย่าเอามาเป็นเครื่องวัดพระเป็นอันขาดจะเกิดการผิดพลาดได้

ส่วนเรื่องที่จับเงินหรือไม่จับเงินเอง แต่ให้คนอื่นจับแทนนั้นก็จะเอามาเป็นเครื่องวัดไม่ได้ว่าใครเหนือกว่าใครนะ ทั้งนี้มันขึ้นอยู่ที่ว่าถ้าพระที่ไม่ได้จับเงินเอง แต่ให้ผู้อื่นจับแทนแล้วไปสั่งให้เขานำเงินไปใช้ผิดความประสงค์ของผู้บริจาคแล้ว นรกเล่นงานแน่ สู้พระที่ท่านจับเงินเองหากมิได้มีจิตโลภ ในทรัพย์สินเงินทอง และนำเงินที่ได้รับบริจาคไปสร้าง ไปทำตามความประสงค์ของผู้บริจาค ไม่ได้นะ” หลวงพ่ออธิบาย และเมื่อยังเห็นข้าพเจ้าสนใจอยู่ก็พูดต่อว่า

“พระธรรมยุตนั้น ท่านจะปฏิบัติตนของท่านเช่นไร ก็เป็นเรื่องของท่าน แต่ถ้าเมื่อใดท่านหลงผิดว่าท่านเหนือกว่าพระมหานิกายเมื่อใดแล้ว ท่านจะไม่มีวันบรรลุมรรคผลนิพพานหลุดพ้นจากวัฏฏะได้เลยนะ เพราะท่านยังติดในสังโยชน์ ๑๐ คือมานะ ซึ่งหมายความว่ามีอารมณ์ถือตัวถือตน ถือชั้นวรรณะเกิดพอดี นั่นแหละ

ดังนั้นฉันจึงขอย้ำตามที่ได้เคยตอบไปแล้วว่า พระที่ควรแก่การเคารพกราบไหว้นั้น จะต้องเป็นพระที่มีความประพฤติประกอบความเพียรเพื่อหวังบรรลุมรรคผลนิพพานด้วยการละสังโยชน์ ๑๐ ไปทีละข้อ จนเป็นพระอรหันต์ได้ในที่สุดนั่นเอง เข้าใจหรือยัง?” หลวงพ่อย้ำ

“เข้าใจแล้วครับ” ข้าพเจ้าตอบ คิดๆ จะถามเรื่องพระให้หวยอยู่เหมือนกัน แต่คำตอบของหลวงพ่อเกี่ยวกับเรื่องพระสงฆ์ที่แท้จริงนั้น ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนแล้ว จนสามารถตอบเอาเองได้ว่า

“พระที่ให้หวยนั้นยังฝักใฝ่ในโลกียะ มิใช่โลกุตระ และยังมิได้ประพฤติปฏิบัติตนตรง ตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อไปสู่มรรคผลนิพพาน อย่างจริงจัง จึงมิควรแก่การสนใจ”

ข้าพเจ้าหวังว่าท่านผู้อ่านคงจะมีความเข้าใจในพระสงฆ์ได้แจ่มชัดยิ่งขึ้น ไม่มากก็น้อยนะครับ

◄ll กลับสู่ด้านบน


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 11/3/09 at 20:56 [ QUOTE ]



(Update 11/03/2552)


ทำไมพระจึงออกธุดงค์?


เนื่องด้วยข้าพเจ้ามีความสงสัย และยังไม่เข้าใจอยู่ตลอดมาว่า ทำไมพระปฏิบัติทั้งหลายจะต้องออกธุดงค์ ก็ปฏิบัติพระกรรมฐานกันอยู่เสียที่วัดไม่ได้หรือ? การธุดงค์เพื่อไปกรรมฐานอยู่ในป่ากันดาร กับ บำเพ็ญกรรมฐานอยู่ที่วัดไม่น่าจะมีผลแตกต่างกันหากมีความตั้งใจจริงและเพียรพยายามปฏิบัติจริงไม่ท้อถอย

การที่ข้าพเจ้าเช่นนี้ เพราะข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่าหากตั้งใจจริงและมีความเพียรพยายามที่เด็ดเดี่ยวไม่ท้อถอยแล้วย่อมประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตนปราร ถนาได้เสมอมา อยากจะยกตัวอย่างสักนิดเพื่อประกอบความเชื่อมั่นของข้าพเจ้า (ขอท่านผู้อ่านอย่าได้คิดว่าข้าพเจ้าจะยกตัวเองเลยนะครับ เพราะถ้าข้าพเจ้ามิใช่เป็นคนประเภทนี้แล้วปัญหาข้อนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น)

เช่น เมื่อข้าพเจ้าเรียนหนังสือข้าพเจ้าก็ตั้งใจไว้ว่าจะต้องสอบให้ได้ที่ ๑ และเมื่อตั้งใหญ่แล้วในตอนปิดเทอมใหญ่ ขณะที่เด็กทุกคนเอาแต่เที่ยว และเล่นกันอย่างสนุกสนานนั้นข้าพเจ้าจะนั่งดูหนังสือเรียนของปีต่อไปทันที ตัวอย่างเช่นเมื่อสอบไล่ ม.๓ เสร็จ จะเลื่อนขึ้น ม.๔ ข้าพเจ้าจะรีบเอาหนังสือของ ม.๔ มาดู

อะไรที่จะต้องท่องจำ เช่น ทฤษฎีของเรขาคณิตบทต่างๆ หรือบทท่องจำต่างๆ ข้าพเจ้าจะรีบท่องไว้ทันที บรรดาแบบฝึกหัดทุกบทข้าพเจ้าจะทำความเข้าใจและทดลองทำดูทั้งหมด เป็นต้น ดังนั้นข้าพเจ้ามักจะเรียนจบในตอนปิดเทอม โดยครูยังไม่สอนเสมอและเมื่อมีการสอบทีไรข้าพเจ้าก็จะสอบได้เป็นที่ ๑ ตลอดมา

และแม้ข้าพเจ้าจะเรียนอยู่ที่โรงเรียนมัธยมวัดดอนเมืองแต่เมื่อเข้าเรียนอยู่ในโรงเรียนนายร้อยจปร. ก็หาได้เคยนึกหวาดหวั่นนักเรียนที่มาจากโรงเรียนที่มีชื่อเสียงต่างๆ ในกรุงเทพ ฯไม่ และเคยได้เป็นแม้กระทั่งหัวหน้าตอนด้วยคะแนนดี อีกทั้งผลการเรียนตลอด ๗ ปี (เตรียมนายร้อย ๒ ปี และนักเรียนนายร้อยอีก ๕ ปี) ก็ยังอยู่ในประเภทท็อปเท็นอีกด้วย

ส่วนในด้านกีฬานั้นหากสนใจในกีฬาประเภทใดข้าพเจ้าจะทุ่มสุดตัว และเล่นจนกว่าจะได้ถ้วยหรือรางวัลชนะเลิศเสมอ ไม่ว่าจะเป็นกีฬาในร่ม เช่น สนุกเกอร์ บิลเลียด ไพ่บริดจ์ หรือ กีฬากลางแจ้งเช่นฟุตบอล ตะกร้อข้ามตาข่าย โดยเฉพาะยิมนัสติคนั้นหากท่าใดที่ข้าพเจ้าทำไม่ได้ ก็จะหลบเข้าโรงยิมในยามค่ำคืนไปฝึกซ้อมจนกว่าจะได้หรือกอล์ฟ หากตีไม่ดี ข้าพเจ้าก็จะไปนอนทบทวนถึงความผิดพลาดของวงสวิง หากนึกออกแม้ดึกดื่นเที่ยงคืนตี ๑ ตี ๒ ข้าพเจ้าก็จะถือไม้ลงไปฝึกซ้อมที่สนามจนกว่าจะแก้ไขได้เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงฉงนสนเท่ห์ใจนัก และในวันหนึ่งข้าพเจ้าก็ได้ถามหลวงพ่อว่า

“หลวงพ่อครับ ทำไมพระจึงไม่กระทำความเพียรเพื่อให้บรรลุมรรคผลกันในวัด มีความจำเป็นอะไรหรือครับที่จะต้องออกธุดงค์ไปทำความเพียรกันในป่า”

เมื่อถามคำถามนี้และข้าพเจ้าก็เล่าเหตุผลที่ข้าพเจ้าเข้าใจ และเชื่อมั่นดังที่ได้กล่าวแล้วแต่ต้นให้หลวงพ่อฟังและย้ำในสุดท้ายว่า

“ อย่างผมนั้นเรียนอยู่ในโรงเรียนมัธยมวัดดอนเมืองซึ่งนับว่าเป็นโรงเรียนบ้านนอกในขณะนั้นก็ไม่เห็นจะต้องคิดดิ้นรนเข้าไปเรียนในโรงเรียนดีๆ ในกรุงเทพฯ เลย แต่เมื่อได้มีโอกาสไปเรียนร่วมกับนักเรียนชั้นดีจากโรงเรียนต่างๆ เหล่านั้นในโรงเรียนนายร้อยผมก็สามารถเรียนกับพวกเขาได้อย่างสบายมาก และผมยังได้มีโอกาสเป็นหัวหน้าตอนเสียด้วยซ้ำไป”

“เออ แล้วคุณเคยเล่าถึงเรื่องวิธีที่จะเอาดีในการเรียนและการเล่นของคุณให้ลูกๆ ฟังบ้างไหม?” หลวงพ่อถามเรื่อยๆ

“เล่าให้ฟังบ่อยเลยครับ เพราะอยากจะให้เขาเรียนเก่ง” ข้าพเจ้าตอบอย่างภูมิใจ

“แล้วลูกนำวิธีของคุณไปใช้บ้างไหม?” หลวงพ่อถาม

“ตอนแรก เขาไม่เชื่อหรอกครับว่าเด็กอายุสิบกว่าขวบระดับชั้นมัธยมสมัยนั้น จะมีใครบ้าเรียนขนาดเอาหนังสือชั้นสูงกว่ามานั่งเรียนตอนปิดเทอม เพราะเด็กขนาดนั้นน่าจะชอบเล่นซุกซนมากกว่าจนผมต้องเอาสมุดพกตั้งแต่ ม.๑ ถึง ม.๖ ออกมาให้ดู นั่นแหละเขาจึงเชื่อว่าผมสอบได้ที่ ๑ ทั้งสอบซ้อมสอบไล่มาโดยตลอดจริง” ข้าพเจ้าตอบ

“อะไรกัน คุณเก็บสมุดพกตั้งแต่ชั้นมัธยมมาจนถึงบัดนี้ทีเดียวหรือ?” หลวงพ่อถามติง

“ครับ ผมเก็บไว้ แม้ขณะนี้ก็ยังอยู่ กระดาษกรอบเป็นสีน้ำตาลเชียวครับ” ข้าพเจ้าตอบอย่างภูมิใจ

“ในเมื่อลูกคุณเขาเชื่อแล้วว่าวิธีการของคุณทำให้เรียนดีได้แล้วเขายอมเรียนตามวิธีของคุณหรือไม่?” หลวงพ่อถามยิ้มๆ

“ไม่มีใครเอาวิธีของผมไปใช้สักคนครับ เอาแต่เล่นสนุกกันไปตามประสาเด็กกันหมด” ข้าพเจ้าตอบอย่างท้อแท้

“นี่แหล่ะคำตอบละ คนเรานั้นไม่เหมือนกัน คุณลองไปถามดูได้ว่ายังจะมีใครสักกี่คนที่เขาใช้วิธีการเรียน และการเล่นแบบคุณบ้างมันผิดปกตินะ มันหนักเกินไปนะสำหรับบุคคลทั่วๆ ไปการจะทำเช่นนี้ได้ต้องอาศัยกำลังใจสูง มีความตั้งใจเด็ดเดี่ยวไม่ท้อถอย

อีกทั้งต้องมีความเพียรเป็นเลิศจึงจะกระทำได้นะ จริงของคุณ การกระทำความเพียร เพื่อให้บรรลุมรรคผลนิพพานนั้นกระทำในวัดโดยไม่ต้องออกธุดงค์ก็ได้ ถ้ามีกำลังเด็ดเดี่ยวไม่ท้อถอย และมีความเพียรเป็นเลิศ

แต่โดยทั่วๆ ไปแล้วพระภิกษุ ที่เพิ่งเริ่มปฏิบัติใหม่ๆ จะกระทำได้สักกี่องค์ เพราะสถานที่และสิ่งแวดล้อมไม่ให้ อีกทั้งยังมีกิจอย่างอื่นที่สงฆ์จะต้องชวยกันปฏิบัติเป็นส่วนรวม นอกจากนั้นญาติโยม อุบาสก อุบาสิกา ที่เข้าออกเพ่นพ่านในวัดก็มีมาก

เมื่อมีมาก ตาก็จะเห็น หูก็จะได้ยิน ลิ้นก็จะลิ้มอาหารโอชะ จมูกก็จะได้กลิ่น จิตก็เกิดการรับรู้ และอกุศลกรรมได้โดยง่ายจริงไหม? หลวงพ่ออธิบายอย่างอารมณ์ดี และเมื่อเห็นข้าพเจ้านั่งฟังด้วยความสนใจ จึงอธิบายต่อว่า

“ด้วยเหตุนี้เองพระบรมศาสดา ซึ่งหยั่งรู้อารมณ์ของพระภิกษุที่เริ่มปฏิบัติใหม่ๆ เป็นอย่างดี จึงได้มอบอุบายให้พระภิกษุที่เริ่มปฏิบัติออกธุดงค์เพื่อหาความสงบวิเวกในป่าในเขา ทั้งนี้ก็เพื่อให้อารมณ์ของจิตสงบ ระงับในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส กล่าวคือ
ตา ที่เคยเห็นรถรุ่นใหม่รูปงาม หรืออุบาสิกาที่อ่อนหวานน่ารักก็กลับได้เห็น ลิงค่าง บ่าง ชะนี หรือเสือ สิงห์ กระทิง แรดแทน ความอยากได้ใคร่ดีในรูปจะได้หมดไป

หู ซึ่งเคยได้ยินแต่เสียงเพลงไพเราะ หรือเสียงหวานเสนาะโสตของสาวงามก็กลับได้ยินเสียงลิง ค่าง บ่าง ชะนี หรือ นก กา แทน ความอยากได้ใครดีในเสียงก็จะสงบไป

จมูก ที่เคยได้กลิ่นหอมจากน้ำหอมลือชื่อก็กลับได้กลิ่นไอดินแทน ความอยากได้ใคร่ดีในกลิ่นก็จะสงบระงับไป

ลิ้น ที่เคยลิ้มรสอาหารรสเลิศที่ญาติโยมเคยเอามาถวาย กลับต้องลิ้มรสเผือก มัน ผลไม้ป่าแทน ความอยากได้ใคร่ดีในรส ก็จะสงบระงับไป

ส่วน กาย ที่เคยหนุนหมอนอ่อนนุ่ม ห่มผ้าห่มยามหนาวหรืออาบน้ำฟอกสบู่อย่างสะดวกสบาย ก็จะได้สัมผัสกับขอนไม้ หญ้า ฟางแทน ความอยากได้ใคร่ดีในสัมผัสก็จะสงบระงับไป

และเมื่อความอยากได้ใคร่ดีในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสหมด ก็หมายถึง กามฉันทะหมด ความคิดที่จะจองล้างจองผลาญกับผู้ใดในป่าย่อมไม่มี เป็นอันว่าพยาบาทไม่มี ความคิดฟุ้งซ่านก็ไม่มี เพราะไม่มีอะไรให้คิดเหมือนอยู่ที่วัด ความสงสัยลังเลคือวิจิกิจฉา ก็ย่อมไม่มีเพราะถ้ามีคงไม่ออกธุดงค์

และถ้าไม่มีความง่วงเหงาหาวนอนด้วยก็หมายความว่า นิวรณ์ ๕ ซึ่งเป็นเสี้ยนหนามในการบำเพ็ญเพื่อเข้าถึงปฐมฌานหมดไป การเข้าสู่ปฐมฌานก็ย่อมเป็นไปได้โดยง่าย และเมื่อปฐมฌานเกิดได้ ฌาน ๒, ๓, ๔ ก็จะเกิดตามขึ้นมาได้ นั่นคือการเจริญสมถกรรมฐานเพื่อเข้าถึงฌาน ๔ ย่อมทำได้แน่นอน

และเมื่อทรงฌานได้เอากำลังของฌานมาพิจารณาวิปัสสนาญาณก็ย่อมเป็นไปโดยง่ายอีก ในที่สุดปัญญาก็จะเกิด และเมื่อปัญญาเกิด ก็นำปัญญานั้นแหละไปห้ำหันกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม จนละสังโยชน์ ๑๐ ไปทีละข้อๆ ถ้าได้ ๓ ข้อ ก็เป็นพระโสดาบันและสกิทาคามี

ถ้าละได้ ๕ ข้อก็เป็นอานาคามี ถ้าละได้ทั้ง ๑๐ ข้อ ก็เป็นพระอรหันต์ บรรลุมรรคผลนิพพานได้เร็วกว่าที่จะเริ่มฝึกและนั่งเพียรปฏิบัติอยู่แต่ในวัดนะ การธุดงค์จึงเปรียบเสมือนเครื่องช่วย หรือเครื่องผ่อนแรงที่ช่วยให้การบำเพ็ญเพียรไปสู่มรรคผลนิพพานของพระภิกษุที่เริ่มปฏิบัติใหม่ๆ ง่ายขึ้นเท่านั้นเองนะ” หลวงพ่ออธิบายอย่างยืดยาว แต่แปลกเป็นที่สุดที่ข้าพเจ้าสามารถจดจำได้ทั้งหมดแม้จนกระทั่งทุกวันนี้

“ถ้าการออกธุดงค์ ได้ผลดีเช่นนี้ ทำไมพระภิกษุสงฆ์จึงไม่ออกธุดงค์ไปเรื่อยๆ เล่าครับ กลับเข้ามาอยู่วัดในเมืองอีกทำไมครับ?” ข้าพเจ้าถามด้วยความสงสัย

“อ้าว ถ้าท่านสำเร็จเป็นพระอริยเจ้าแล้ว ไม่กลับวัดท่านจะมีโอกาสได้แสดงธรรมสั่งสอนอุบาสก อุบาสิกา เพื่อสั่งสมบารมีต่อไปได้อย่างไรล่ะคุณ จะให้ท่าสั่งสอน ลิง ค่าง ชะนี ในป่าตลอดไปหรือ? ” หลวงพ่อตอบอย่างเห็นขัน และเมื่อข้าพเจ้าหัวเราะจึงพูดต่อไปว่า “พระพุทธเจ้าเอง เมื่อท่านได้ทรงตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ท่านก็เข้ามาแสดงธรรมโปรดผู้คนมิใช่หรือ? ”

“จริงครับ หลวงพ่อ” ข้าพเจ้าตอบ

“อีกประการหนึ่ง การกลับเข้าวัดในเมือง ก็จะเป็นการทดสอบจิตไปในตัวด้วยนะ ว่า เมื่อตาหู จมูก ลิ้น กายไปเจอกับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อันเย้ายวนในเมืองเข้าแล้วไปบอกจิต จิตมีปัญญาเพียงพอที่จะรู้เท่าทันกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรมหรือไม่ ถ้ายังหวั่นไหวก็จะต้องออกธุดงค์ เข้าป่าไปฝึกกันใหม่นะ เพราะถือว่าจิตยังไม่แน่จริง เข้าใจไหมล่ะ” หลวงพ่ออธิบายเพิ่มเติมแล้วถาม

“เข้าใจแล้วครับ หลวงพ่อ” ข้าพเจ้าตอบด้วยความปลื้มปิติ หวังว่าคำถามข้อนี้ของข้าพเจ้า จะทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจถึงประโยชน์ ที่พระออกธุดงค์บ้างพอสมควรทีเดียวนะครับ

◄ll กลับสู่ด้านบน


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 15/3/09 at 20:52 [ QUOTE ]



(Update 15/03/2552)


ปัญญาคืออะไรกันแน่?


เมื่อข้าพเจ้าได้มาพิจารณาทบทวน ถึงปัญหาที่ข้าพเจ้าถาม และหลวงพ่อได้เมตตาอธิบายตอบมาแล้วโดยละเอียด ๆ ในหลาย ๆ เรื่องก็บังเกิดความฉงนสนเท่ห์ใจในคำ ๆ หนึ่ง คือคำว่า “ปัญญา” เข้า อาทิเช่นหลวงพ่อพูดว่า “จิตยังไม่มีปัญญาเพียงพอ” หรืออธิบายว่า “...เมื่อทรงฌานได้ก็เอากำลังของฌานไปพิจารณา วิปัสสนาได้โดยง่าย และในที่สุดปัญญาก็จะเกิด เมื่อปัญญาเกิดก็จำปัญญานั้นแหละไปห้ำหั่นกิเลสตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรมได้...” เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงได้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในคำว่า “ปัญญา” ขึ้นมา ปัญญา...จะเกิดขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อทรงฌานได้ แล้วเอากำลังของฌานไปพิจารณาวิปัสสนาญาณ เท่านั้นหรือ? ก็แล้วที่ข้าพเจ้าจำแม่นเรียนหนังสือเก่งล่ะ ไม่ใช่เพราะด้วยข้าพเจ้ามีปัญญาดีหรอกหรือ?

หรือที่คนอื่น ๆ เขาได้ปริญญาโท ปริญญาเอก นั่นเล่าไม่ใช่เพราะเขามีปัญญาดีหรอกหรือ? ก็ไม่เห็นว่าจะต้องทรงฌานให้ได้ แล้วไปนั่งพิจารณาวิปัสสนาญาณสักหน่อยนี่ เมื่อเกิดความสงสัยเช่นนี้ ในวันหนึ่งข้าพเจ้าจึงได้หาโอกาสถามหลวงพ่อว่า

“...หลวงพ่อครับ การที่ผมดูหนังสือเรียนเที่ยวเดียวแล้วจำได้โดยไม่ต้องท่องแล้วท่องเล่าเหมือนคนอื่นเขา จะเรียกว่าผมมีปัญญาดีไหมครับ?...”

“...ไม่ใช่ปัญญาดีหรอก เขาเรียกว่า ความจำดีต่างหากเล่า...” หลวงพ่อตอบเรื่อย ๆ

“...แล้วคนเรียนเก่ง ๆ ที่เขาไปทำปริญญาโท ปริญญาเอก ได้เล่าครับจะยกย่องว่า เขามีปัญญาดีไหมครับ?...” ข้าพเจ้าถามต่ออย่างไม่ลดละ

“...ไม่ใช่ปัญญาดีอีกนั่นแหละ แต่เขามีความจำดีอย่างคุณนี่แหละ...” หลวงพ่อตอบยิ้ม ๆ

“...อ้าว! หลวงพ่อ ความจำดีก็ต้องมีปัญญาดีไม่ใช่เหรอครับ...” ข้าพเจ้ารีบถาม

“...ความจำดีก็เพราะสมองดี สมองดีก็คือเครื่องบันทึกความจำดีเหมือนเช่นเครื่องบรรทุกเสียงหรือเครื่องบันทึกความจำของคอมพิวเตอร์ดีนั่นแหละบันทึกไว้ หากต้องการใช้เมื่อไรก็นึกย้อนเอา รีไวนด์เอาหรือกดเอา ข้อมูลต่าง ๆ ที่บันทึกไว้ก็จะออกมานั่นเอง เขาไม่เรียกว่าปัญญาดีนะ เขาเรียกว่าสัญญาดีต่างหากเล่าคุณ...” หลวงพ่ออธิบาย

“...เอ! เท่าที่ผมจำได้ผมก็ไม่เคยไปสัญญากับใครที่ไหนนะครับ...” ข้าพเจ้าชักงง

“...สัญญา น่ะเขาแปลว่า ความจำได้ อย่างงไปเลย คุณมีความจำดีก็เพราะมีสัญญาดี คุณหรือใครก็ตามเรียนหนังสือเก่ง ก็เพราะจำคำสอนของครูบาอาจารย์และผู้รู้ได้ดีกว่าคนอื่น และเพราะความจำดีนี้เองทำให้มีโอกาสค้นคว้าอ่านตำรับตำราได้มากกว่าคนอื่นและจำได้แม่นยำกว่าคนอื่น...

ดังนั้นเมื่อสอบทีไรใครเขาจะไปสู้คนที่มีความจำดีได้เล่าคุณ แต่อย่าลืมนะ ถ้าครูเขาสอนผิด คุณก็จะจำได้แบบผิดๆ ถ้าตำรับตำราผิด คุณก็จำผิด เหมือนเครื่องบันทึกเสียงหรือเครื่องคอมพิวเตอร์นั่นแหล่ะ หากป้อนข้อมูลผิดเข้าไปละก็เสร็จเลย มันก็ต้องบันทึกผิดจำผิด ด้วยจริงไหม? ...”

“...คุณเคยจำคำในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงได้ไหม?...” หลวงพ่ออธิบายแล้วย้อนถาม

“...ที่ว่าในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ใช่ไหมครับหลวงพ่อ?...” ข้าพเจ้าถาม

“...เออ! นั่นแหละ คุณว่าเดี๋ยวนี้มันยังคงเป็นความจริงอยู่ทั้งหมดไหม?...” หลวงพ่อถาม

ทำให้ข้าพเจ้าต้องนิ่งคิดอยู่สักครู่ จึงตอบว่าในสมัยตอนผมเด็ก ๆ เป็นความจริงครับหลวงพ่อในน้ำมีทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา มากมาย และทุ่งนาในกรุงเทพ ฯ ทั้งแถบพระโขนง สะพานควาย บางเขน เขียวชอุ่มไปด้วยข้าวทั้งนั้น แต่ตอนนี้น่าเสียดายจริงๆ ครับผมยังแอบเปลี่ยนข้อความเสียใหม่เลยว่า

“...ในน้ำมีไร (ตัวไร เพราะน้ำเน่า), ในไร่มีรา (เชื้อรา), ในนามีบ้านจัดสรร...”

“...แล้วข้อความท่อนอื่น ๆ ในหลักศิลาจารึกล่ะว่าอย่างไร?...” หลวงพ่อถามต่อ

“...ครับ ผมพอจำได้อยู่บ้างว่า ใครใคร่ค้าช้างค้า ค้าม้าค้า ค้าวัวค้าควายค้า อะไรทำนองนี้แหละครับ แล้วก็มีว่า ไพร่ฟ้าหน้าใส ครับ...” ข้าพเจ้าตอบ

“...เอาละจำได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น แล้วคุณว่าเดี๋ยวนี้เป็นเช่นนั้นหรือไม่?...” หลวงพ่อถามยิ้ม ๆ

“...เดี๋ยวนี้หรือครับ จะเปิดเขียงขายหมูสักเขียงยังยุ่งวุ่นวายจะหายอะไรไปขายสักหาบก็หาที่วางขายได้แล้วครับ ต้องขายเป็นที่เป็นทางถูกรีดไถทั้งตำรวจ ทั้งเจ้าหน้าที่สรรพากร ยิ่งไพร่ฟ้าในกรุงเทพ ฯ เจอมลภาวะที่เป็นพิษและการจราจรติดขัดด้วยแล้ว หาหน้าใสไม่มี หรอกครับ ทุกวันนี้มีแต่ไพร่ฟ้าหน้าเหลืองซีดเสียส่วนใหญ่ครับ...” ข้าพเจ้าตอบตามความเป็นจริง

“...แล้วสุภาษิตโบราณที่ว่า สิบพ่อค้าไม่เท่าพระยาเลี้ยงล่ะ คุณว่าเดี๋ยวนี้เป็นจริงไหม?...” หลวงพ่อถามต่อ

“...ไม่จริงแล้วครับ ผมเห็นสิบพะยาเดินตามตูดพ่อค้า นักธุรกิจออกบ่อยไป...” ข้าพเจ้าตอบอย่างขัดใจ

“...เอ้อ! แล้วที่ว่า ไม่มีขยะมูลฝอยหมาไม่ขี้ล่ะ?...” หลวงพ่อถามอย่างสนุก

“...ก็ไม่จริงอีกแหละครับ เพราะหมาบ้านผมมันไปคุ้ยกองขยะเล่นจริงแต่มันไม่ขี้ เพราะมันกลัวขยะแขยงก้น เห็นกลับมาขี้ที่สนามหญ้าหน้าบ้านบ้าง บนถนนในบ้านบ้าง ผมต้องโกยทิ้งทุกวันเลยครับ...” ข้าพเจ้าตอบตามความเป็นจริง

“...เห็นไหม แม้แต่หลักศิลาจารึกก็ดี สุภาษิตโบราณต่าง ๆ ก็ดีอาจถูกต้องเป็นจริงได้เฉพาะสมัยหนึ่ง ระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นเองหาได้เป็นความจริงตลอดกาล ไม่แม้แต่วิชาคำนวณที่คุณเรียน เคยจำกันได้มิใช่หรือว่า ๑ + ๑ เป็น ๒, ๐ + ๐ เป็น ๐ แล้วเดี๋ยวนี้ภาษาคอมพิวเตอร์เขาว่า ๐ + ๐ เป็น ๑ แต่ ๑ + ๑ กลับเป็น ๐ มิใช่หรือ?...”

หลวงพ่ออธิบายแล้วถามยิ้มๆ เล่นเอาข้าพเจ้าตัวแข็งด้วยเป็นความจริงตามที่หลวงพ่อพูดทุกอย่าง

“...ดังนั้นแม้คุณฟังมาก ดูตำรับตำรามาก เรียนมาก ค้นคว้ามาก จนมีความรู้ เพราะความจำดีมีสัญญาดี สักเพียงไรก็ตาม ความรู้ที่คุณได้มานั้น ก็หาได้เป็นความจริงตลอดกาลไม่ อาจผิดหรือถูกก็ได้ ดังนั้นจึงจะยังเรียกว่ามีปัญญาไม่ได้นะ...” หลวงพ่ออธิบายต่อ

“...ถ้ายังงั้นปัญญา คืออะไรแน่ครับ หลวงพ่อ?...” ข้าพเจ้ารีบถามต่อด้วยความข้องใจ

“...ปัญญา โดยความหมายทั่ว ๆ ไปแล้วแปลว่าความรู้ที่เกิดขึ้นจากการพินิจพิจารณา หรือจะแปลว่าความเฉลียวฉลาดก็ได้นะ มิใช่รู้อย่างเดียวต้องนำเอาความรู้ที่ได้นั้นมาพิจารณาด้วย หรือมิใช่ฉลาดอย่างเดียว ต้องมีเฉลียวใจด้วย จึงจะเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงถึงแก่นแท้ของการรู้ในแต่ละอย่างได้นั่นแหละจึงจะเรียกว่า “ปัญญา” ล่ะ

ตัวอย่างเช่น หากคุณเห็นรถยนต์สวยคันหนึ่งแล่นผ่านมาคุณก็อาจจะบอกได้ทันทีว่าเป็นรถเบ็นซ์ รถวอลโว่ รุ่นใด กี่ซี.ซี. มีสมรรถนะอย่างไร ราคาค่างวดเท่าไร สร้างจากประเทศไหน บริษัทอะไร เพราะคุณฟังเขามาบ้าง จึงจำได้ด้วยมีสัญญาดี

แต่ด้วยเพราะไม่มีปัญญาจึงทำให้จิตของคุณมีความหวั่นไหว กินไม่ได้นอนไม่หลับเนื่องจากความอยากได้ในรถคันที่คุณเห็นขึ้นมา แต่ถ้าคุณมีความเฉลียวใจ หรือได้มาพินิจพิจารณาให้รู้แจ้งแทงตลอดแล้ว คุณก็จะเกิดความรู้ใหม่ขึ้นมาว่ารถสวยรุ่นใหม่คันนี้ต่อไปอีก ๒ – ๓ ปี ข้างหน้ามันก็จะต้องกลายเป็นรุ่นเก่าไม่ทันสมัยอีกต่อไป

สีที่สวยงามหากกะเทาะออกก็คงจะดูไม่ได้เบาะอ่อนนุ่มที่สวยเก๋นั้นหากลอกออกดูภายในก็คงมีสภาพเช่นเดียวกับเบาะนั่งของรถแบบอื่น และถ้าคุณจะซื้อรถคันนี้ให้ได้ ก็จะต้องเดือดร้อนในการวิ่งเต้นหาเงินหาทองมาและแม้เมื่อหาเงินได้แล้ว คุณจะรับภาระหนี้สินไหวไหม

นอกจากนั้น เมื่อคุณได้รถมาขับขี่ก็คงจะไม่สบายใจนักด้วยเกรงจะถูกรถอื่นชนหรือเฉี่ยวเอา ยิ่งในตรอกในซอยที่เต็มไปด้วยหลุมด้วยบ่อและฝุ่นดินหนาทึบด้วยแล้ว ก็ยิ่งหนักใจใหญ่ และแม้เอารถให้เด็กล้างก็คงจะต้องไปควบคุมแจ ยิ่งต้องเอารถไปจอดในย่านชุมนุมชนหรือตรอกซอยแคบ ๆ หรือที่เปลี่ยว ๆ ก็คงจะต้องนั่งเฝ้ารถคันใหม่ด้วยความเป็นห่วง

หากได้พิจารณาโดยละเอียดเช่นนี้แล้วก็จะเห็นความทุกข์ในรูปแบบต่างๆ ที่จะเกิดตามมาจากการดิ้นรนเป็นเจ้าของรถเบ็นซ์รูปงามคันนั้น เมื่อเห็นทุกข์ ความอยากได้ใคร่ดีในรถเบ็นซ์รูปงามคันนั้นก็ย่อมหมดไป นี่แหละคือ “ปัญญา” ล่ะ หลวงพ่ออธิบายและเมื่อเห็นข้าพเจ้ายังตั้งใจฟังก็พูดต่อว่า

“...และถ้าจะให้ชัดก็ต้องยืนยันว่า ปัญญา ได้แก่การเจริญวิปัสสนาญาณจนรู้แจ้งเห็นจริงตามกฎธรรมดา ไม่มีอารมณ์คิดที่จะฝืนกฎธรรมดาเหล่านั้นจนในที่สุดจะได้ญาณทั้ง ๘ คือ

๑. จุตูปปาตญาณ - รู้ว่าคนและสัตว์ตายแล้วไปเกิดที่ใด อีกทั้งรู้ว่าคนและสัตว์ที่มาเกิดนั้นมาจากไหน
๒. เจโตปริยญาณ - รู้อารมณ์จิตของคนและสัตว์
๓. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ - ระลึกชาติในกาลก่อนได้ไม่จำกัดชาติ
๔. อตีตังสญาณ - รู้เหตุการณ์ในอดีตของคนและสัตว์ สิ่งของ สถานที่ได้โดยไม่จำกัดกาลเวลา
๕. อนาคตังสญาณ - รู้เหตุการณ์ต่อไปในอนาคตของคนสัตว์ สิ่งของ สถานที่ได้โดยไม่จำกัดกาลเวลา
๖. ปัจจุปปันยังสญาณ - รู้เหตุปัจจุบันของคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ ได้ตามความเป็นจริง
๗. ยถากัมมุตาญาณ - รู้ผลกรรมของคนและสัตว์ได้ทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน
๘. ทิพยจักษุญาณ - มีความรู้ปรากฏแก่จิตเหมือนตาเห็น สามารถ เห็นผีเห็นเทวดาได้

ญาณทั้ง ๘ นี้อย่าได้หนักใจนะว่าจะทำไม่ได้ เมื่อใดที่ผู้ปฏิบัติสามารถทรงฌาน ๔ ได้คล่องแคล่วแล้วถอยลงสู่อุปจารสมาธิหรือฌาน ๑ ฌาน ๒ เพื่อพิจารณาวิปัสสนาญาณด้วยแล้วนอกจากว่าท่านจะได้ญาณทั้ง ๘ แล้วท่านยังมีปัญญาแตกฉานในการอธิบายถ้อยคำหัวข้อธรรม

และสามารถแก้อรรถปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างอัศจรรย์ นอกจากนั้นยังรอบรู้ และเข้าใจภาษาอย่างอัศจรรย์อีกด้วย (ไม่ว่าจะเป็นภาษาของพรหม เทพ มนุษย์ สัตว์ อสุรกาย) เป็นยังไงคุณมนูญ แบบนี้ยังจะมีนักภาษาศาสตร์คนใดในโลกสู้ท่านได้จริงไหม? นี่ซิเขาจึงเรียกว่ามีปัญญา จริงใช่ไหมล่ะ...”

“...เพียงแค่ได้ญาณใดญาณหนึ่งใน ๘ ที่หลวงพ่อว่า ก็นับว่ามีปัญญาเกินกว่าปุถุชนคนธรรมดาในโลกนี้แล้วนะครับ...” ข้าพเจ้ายอมรับและสารภาพถึงความในใจที่มีอยู่แต่เดิมว่า

“...หลวงพ่อครับ ผมจะขอยอมรับสารภาพกับหลวงพ่อว่า แต่เดิมก่อนที่ผมจะได้พบหลวงพ่อนั้น ผมมีความหยิ่งทะนง และเชื่อมั่นในตนเองมาโดยตลอด ว่าเป็นผู้มีสติปัญญาที่อยู่ในชั้นระดับดีเยี่ยมผู้หนึ่งทีเดียว เพราะเป็นที่ยอมรับของบรรดาเพื่อนฝูงและครูบาอาจารย์ตลอดมาว่าเป็นผู้มีความจำดีมาก และเรียนหนังสือเก่ง...

ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ผมไม่ค่อยจะเลื่อมใสศรัทธา ที่จะรับฟังคำสั่งสอนของพระภิกษุสงฆ์ เพราะคิดว่าพระภิกษุสงฆ์เหล่านี้เรียนน้อยกว่าผม บางองค์จบแค่ประถม ๔ ก็มี เมื่อเรียนน้อยก็ย่อมรู้น้อย สติปัญญาก็น่าจะน้อยตามไปด้วย ดังนั้นท่านจะมีปัญญามาสอนอะไรผมได้...

และในบางครั้งผมยังเคยแอบนึกขำว่าคนระดับปริญญาโท ปริญญาเอกไปทนนั่งฟังพระแก่ๆ อบรมสั่งสอนกันได้อย่างไร จนกระทั่งในวันนี้เองผมจึงได้เข้าใจว่าสิ่งที่ผมมีในตัวเองนั้นเป็นเป็นเพียงแค่มี “สัญญา” ดีเท่านั้นเอง ซึ่งอาจจะจำในสิ่งที่ถูกก็ได้ ผิดก็ได้ หาได้มี “ปัญญา” รู้แจ้งเห็นจริงเท่าทันในกิเลส ตัณหา อุปทาน และอกุศลกรรมไม่...”

“...เออ! ไม่เลวนี่เข้าใจได้รวดเร็วดี อย่าลืมนะคนที่มีความจำดี มีสัญญาดีนั้น หากเจริญวิปัสสนาญาณพิจารณาความจริงโดยสม่ำเสมอแล้ว ปัญญาจะเกิดขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วกว่าคนอื่นนะ เพราะจดจำข้อมูลต่างๆ ที่จะมาพิจารณาได้มากกว่าเขา...” หลวงพ่ออธิบายไห้กำลังใจแก่ข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คำถามของข้าพเจ้าและคำตอบของหลวงพ่อในข้อนี้ จะทำให้ท่านผู้อ่านมีความเข้าใจคำว่า “ปัญญา” ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะท่านผู้อ่านซึ่งเป็นคนที่มีมิจฉาทิฐิเช่นเดียวกับข้าพเจ้า

<< โปรดติดตามตอนต่อไป ...สวัสดี... >>



◄ll กลับสู่ด้านบน


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 20/7/09 at 08:34 [ QUOTE ]



(Update 20/07/2552)


พระพุทธศาสนาในปัจจุบันเสื่อมจริงหรือ?


ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ข้าพเจ้าเป็นคนที่ชอบศึกษาค้นคว้าอยู่เฉยไม่ค่อยจะได้ เมื่อสนใจในเรื่องของพุทธศาสนาขึ้นมาก็หาหนังสือมาอ่านเล่มแล้วเล่มเล่า ในที่สุดก็อ่านไปพบหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งเขียนอ้างว่าได้มีการสำรวจประชาชนในโลกนี้ แล้วพบว่าชาวโลกนับถือศาสนาคริสต์มากเป็นอันดับหนึ่ง ศาสนาอิสลามเป็นอันดับสอง และพุทธศาสนาเป็นอันดับสาม

โดยเฉพาะได้กล่าวถึงความเสื่อมของพุทธศาสนาด้วยว่า ชาวพุทธนั้นส่วนใหญ่ถือบวชกันตามประเพณี มากกว่าที่จะถือบวชกันด้วยความศรัทธาเช่นศาสนาอื่น กล่าวคือพ่อแม่ที่มีลูกชายหากอายุครบบวช ก็จะจัดการ ให้ลูกได้บวชเรียนก่อนมีครอบครัวคือ “บวชก่อนเบียด” เพื่อให้พ่อแม่ได้มีโอกาสเกาะชายผ้าเหลืองของลูกไปสวรรค์กับเขาบ้าง

และเมื่อถึงวันบวชของลูกชายก็มีการล้มวัว ควาย หมู ไก่ เลี้ยงดูแขก มิหนำซ้ำพ่อแม่ของผู้บวชก็จะดื่มสุรา เมายา จนเมาแประออกไปรำนำนาคเข้าสู่โบสถ์ ซึ่งนับว่าเป็นการผิดศีลข้อ 5 ของพุทธศาสนาเองเสียด้วยซ้ำไป เป็นต้น (เสียดายที่ข้าพเจ้าจำชื่อหนังสือเล่มนั้นไม่ได้ เพราะอ่านมากว่า 20 ปีแล้ว)

ด้วยเหตุนี้เอง ในวันหนึ่งข้าพเจ้าจึงได้ถือโอกาสเล่าเรื่องราวทั้งหมด ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นให้หลวงพ่อฟังแล้วตั้งคำถามว่า..

“การที่พุทธศาสนิกชนถือบวชตามประเพณี มากกว่าที่จะถือบวชเพราะแรงศรัทธาก็ดี หรือการที่ต้องล้ม วัว ควาย เลี้ยงดูแขกก็ดี หรือการที่บิดา มารดาของผู้บวชดื่มสุรายาเมา จนเมาแประออกไปรำนำนาคลูกชายเข้าสู่โบสถ์นั้น เป็นเพราะพุทธศาสนาเสื่อมไปใช่ไหมครับหลวงพ่อ?”

“พุทธศาสนานั่นไม่มีวันเสื่อมหรอกคุณ แต่คนต่างหากมันเสื่อม เหมือนเพชรที่อยู่ในตมก็ยังคงเป็นเพชรที่ล้ำค่าอยู่ดี หากแต่คนที่มีโอกาสได้พบเห็นมันหารู้ในคุณค่าของเพชรไม่ เท่านั้นเอง” หลวงพ่อตอบอย่างอารมณ์ดี

“หรือเหมือนไก่ได้พลอย..ใช่ไหมครับหลวงพ่อ” ข้าพเจ้าเห็นพ้องด้วย

“นั่นแหละ ทำนองเดียวกัน ดังนั้นเราจะไปเหมาว่าเพชรไม่ดี พลอยไม่ดียังไม่ได้นะ” หลวงพ่ออธิบาย

“แล้วถ้าพระพุทธศาสนาของเราดี ทำไมจึงมีคนนับถือน้อยกว่าศาสนาอื่นเล่าครับ?” ข้าพเจ้ารีบถามด้วยความอยากรู้

“เอ..คุณรู้จักร้านขายเพชรบ้างไหม?” หลวงพ่อย้อนถาม

“รู้จักครับ” ข้าพเจ้าตอบแบบงงๆ

“แล้วคุณรู้จักร้านขายของชำไหม..ว่าเขาขายอะไร?” หลวงพ่อถามเรื่อยๆ

“รู้จักครับ ร้านขายของชำก็คือร้านที่ขายข้าว กะปิ น้ำปลา ยาสีฟัน สบู่แฟ้บ น้ำมันใส่ผม น้ำมันก๊าด รองเท้าแตะ ไม้กวาด เกลือ น้ำตาล เต้าหู้ยี้ ฯลฯ รวมความว่าขายไม่เลือกละครับ สุดแล้วแต่ว่าในร้านพอจะมีที่ทางให้วางขายอะไรได้บ้างและลูกค้าต้องการซื้ออะไรครับ” ข้าพเจ้าตอบตามที่คิดได้

“เอ้อ..แล้วคนเข้าร้านขายเพชรมาก หรือคนเข้าร้านขายของชำมากล่ะ?” หลวงพ่อถามยิ้มๆ

“ก็ต้องเข้าร้านขายของชำมากสิครับ เพราะร้านขายของชำมีของที่คนทั่วๆ ไปต้องการซื้อไปใช้สอยประจำวันมาก ส่วนร้านขายเพชรนั้นต้องคนมีเงินจริงๆ จึงจะเข้าได้ครับ” ข้าพเจ้าตอบ

“เอาละ..ทีนี้ถ้ามีคนบอกคุณว่า หากเรียนจบชั้นประถม 4 แล้วมีงานทำได้เงินเดือนๆ ละ 5000 บาท และถ้าจบมหาวิทยาลัยก็มีเงินเดือนๆ ละ 5000 บาทเท่ากันล่ะ คุณจะเลือกเรียนอะไร?” หลวงพ่อถามต่อ

“ผมก็ต้องเลือกเรียนแค่จบชั้นประถม 4 ซิครับ..ง่ายดี เรื่องอะไรผมจะต้องเสียเวลาไปทนเรียนจนจบมหาวิยาลัยเล่าครับ เงินเดือนก็เท่ากัน” ข้าพเจ้าตอบด้วยเหตุผล

“นั่นแหละ...เหมือนกัน คนที่เข้าถึงพระพุทธศาสนานั้นมีน้อย เพราะพระพุทธศาสนานั้น มีความงามและล่ำค่าประดุจเพชร และปฏิบัติให้บรรลุถึงแก่นแท้ได้ยาก ดุจดังเรียนให้จบมหาวิทยาลัยในพระพุทธศาสนานั้น บาปก็ต้องเป็นบาป บุญก็ต้องเป็นบุญ จะนำมาหักลบล้างกันมิได้

ใครกระทำกรรมดีก็ไปรับผลแห่งกรรมดีนั้น ใครกระทำกรรมชั่วก็ต้องไปชดใช้กรรมชั่วที่ได้กระทำมา กรรมใดก่อก็ต้องรับกรรมนั้น เป็นกฎหมายตายตัวที่หลักเลี่ยงไม่ได้

อีกทั้งพระภิกษุ สามเณร ที่ถือบวชในพระพุทธศาสนาก็จักต้องถือศีลเคร่งครัด มีภรรยาหรือแม้แต่อยู่ในที่ลับกับหญิงสองต่อสองก็มิได้ นอกจากนั้นพระพุทธศาสนาสั่งสอนแต่เรื่องจริง ไม่มีการเอาอะไรมาหลอกล่อ และไม่มีการโฆษณาที่เกินจากความเป็นจริง อีกทั้งไม่บังคับผู้ใดให้มาเป็นสาวกด้วย

ซึ่งผิดกับศาสนาอื่นๆ ที่มีการโฆษณาและบังคับผู้คนจนเกิดสงครามศาสนาบ่อยครั้ง ดังที่ได้ปรากฏแล้วในประวัติศาสตร์ บางศาสนาก็อะลุ้มอล่วยให้นักบวชในศาสนามีภรรยาได้ ขับรถได้อยู่ตามบ้านเรือนได้ มิหนำซ้ำผู้ใดทำบาปก็ล้างบาปให้ได้อีกด้วย ซึ่งทุกอย่างดูง่ายไปหมด ใครๆ ก็ต้องชอบ เพราะง่ายดีเหมือนเรียนประถม 4 นั่นแหละ” หลวงพ่ออธิบาย

“นั่นสิ...ครับ ศาสนาของเขาดูแล้วก็ง่ายดี แต่เมื่อปฏิบัติตามแล้วผลที่ได้รับนั้น จะเทียบเท่ากับพุทธศาสนาหรือครับ ผมยังสงสัยอยู่?” ข้าพเจ้าถามด้วยความกังขา

“แล้วคุณเชื่อไหมเล่าว่า หากคุณเรียนจบประถม 4 จะมีคนจ้างคุณทำงานเดือนละ 5000 บาท เท่ากับคนที่เขาเรียนจบมหาวิทยาลัย?” หลวงพ่อย้อนถาม

“คงจะเชื่อไม่ได้หรอกครับ..เป็นไปไม่ได้แน่ !” ข้าพเจ้าตอบตามที่คิด

“เอาละ...คุณตั้งใจฟังให้ดีนะ โดยทั่วๆ ไปแล้วผู้คนมักจะรีบด่วนสรุปเอาว่า พุทธศาสนาก็เช่นเดียวกับศาสนาอื่น คือมุ่งหมายที่จะสั่งสอนให้คนประพฤติดี ละเว้นประพฤติชั่ว ละเว้นการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน และอยู่ร่วมกันด้วยสันติสุข

แต่ถ้าคุณได้ศึกษาค้นคว้า และใช้ปัญญาพิจารณาโดยถ่องแท้แล้ว จะเห็นได้ว่า พระพุทธศาสนานั้นเหนือกว่าศาสนาอื่นทุกศาสนา กล่าวคือพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ได้สอนเลยไปจนสามารล่วงข้ามความทุกข์ สู่พระนิพพานได้ ซึ่งศาสนาอื่นหาได้สอนไปถึงไม่” หลวงพ่ออธิบายและเมื่อเห็นข้าพเจ้าตั้งอกตั้งใจฟังอย่างแท้จริง ก็พูดต่อว่า

“อันความงามในพุทธศาสนานั้นแบ่งออกได้เป็น 3 ขั้นตอนด้วยกันคือ

1.ความงามเบื้องต้น ได้แก่อารมณ์ความดีทางใจ คือให้ทานรักษาศีล

2.ความงามในท่ามกลาง ได้แก่อารมณ์ความดีในการเจริญฌานสมาบัติ

3.ความงามในที่สุด ได้แก่ อารมณ์นับถือความจริงคือการเจริญวิปัสสนาญาณ เพื่อให้รู้เท่าทันในกิเลส ตัณหา อุปทานและอกุศลกรรม อันจะทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์ เข้าสู่พระนิพพานได้นั่นเอง

ดังนั้น หากคุณนำเอาศาสนาอื่นมาเทียบเคียงกับพุทธศาสนาแล้วจะเห็นได้ว่า ศาสนาบางศาสนานั้นหากปฏิบัติโดยครบถ้วนถึงจุดสุดยอดแล้ว ก็จะได้ผลเพียงแค่ความงามในเบื้องต้นของพุทธศาสนาเท่านั้นเองนะ เพราะเพียงแค่สั่งสอนให้คนมุ่งประพฤติดี มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้ยากไร้ ช่วยเหลือสังคม ละเว้นการประพฤติชั่วและเบียดเบียนซึ่งกันละกัน ซึ่งก็คือ "ทาน ศีล" นั่นเอง ยังไม่มีแม้แต่การเจริญภาวนาเพื่อให้เกิดฌานสมาบัติ

และศาสนาบางศาสนาก็เช่นกัน หากได้ปฏิบัติโดยครบถ้วยถึงจุดสุดยอดแล้ว ก็จะได้เพียงแค่ความงามในท่ามกลางของพุทธศาสนาเท่านั้นเอง เพราะมีการสอนสูงสุดเพียงแค่เจริญ "ภาวนา" ให้เกิดฌานสมาบัติเท่านั้น หาได้สอนเลยไปถึงความเจริญวิปัสสนาญาณซึ่งเป็นความงามในที่สุด ดังเช่นพุทธศาสนาไม่ จริงอยู่ทุกศาสนาล้วนดีทั้งสิ้นไม่ใช่ฉันว่าไม่ดีนะ แต่ความดีก็ต้องมีดี ดีมาก และดีที่สุดใช่ไหมล่ะ?” หลวงพ่ออธิบาย

เปรียบเทียบความงามทั้งสามระดับ

“ถ้าผมจะสมมติเอาว่า ความงามในเบื้องต้น ก็เหมือนกับความรู้ระดับ "ประถมศึกษา" ความงามในท่ามกลาง ก็คล้ายกับความรู้ในระดับ "มัธยมศึกษา" และ ความงามในที่สุด ก็คือ จบ "มหาวิทยาลัย" จะพอไปได้ไหม?” ข้าพเจ้าพยายามคิดเปรียบเทียบ

“เออ..เข้าที จบประถมศึกษาก็มีความรู้กว่าคนที่ไม่ได้เรียนนะอย่างน้อยก็พออ่านออกเขียนได้ ยิ่งจบมัธยมศึกษาก็ยิ่งมีความรู้มากขึ้นและยิ่งจบมหาวิทยาลัยก็ยิ่งดีใหญ่ เป็นบัณฑิตทีเดียวนะ

เอาละ..ตามที่ฉันอธิบายมาก็จะเห็นได้ว่า พระพุทธศาสนาเปรียบเสมือน "เพชร" อันล่ำค่า แต่เป็นที่น่าเสียดายที่พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ ยังไม่รู้จักในคุณค่า คนไทยบางคนกลับหันไปยอมรับนับถือศาสนาอื่น เปรียบประหนึ่งปาเพชรอันล้ำค่าทิ้ง แล้วไขว่คว้าหาพลอย หาโป่งข่ามมาประดับแทน

ผิดกับฝรั่งมังค่าในปัจจุบัน เขากลับเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนายอมทอดทิ้งลูกเมีย ข้ามน้ำข้ามทะเลมาบวชเรียนกันมากมาย นอกจากนั้นในแต่ละประเทศก็มีการจัดตั้งชมรมพุทธศาสนากันขึ้นมาอีกเรื่อยๆ

ฉันขอย้ำว่าการศึกษาพระพุทธศาสนานั้น ถ้าต้องการให้เข้าลึกซึ้งและเป็นประโยชน์แก่ตนเองแล้ว จะต้องมีการศึกษาทั้ง "ปริยัติ" และ "ปฏิบัติ" ประกอบกัน มิฉะนั้นแล้วจะเกิดการเข้าใจไขว้เขวหรือแปลความหมายของคำสั่งสอนของพระพุทธองค์เพี้ยนไปก็ได้นะ” หลวงพ่ออธิบายอย่างละเอียด

ข้าพเจ้าคิดว่าหลวงพ่อได้ตอบคำถามในข้อนี้ กระจ่างชัดแล้วนะครับขอท่านผู้อ่านที่รัก จงใช้วิจารณญาณพิจารณาใคร่ครวญต่อไปเถิด...

<< โปรดติดตามตอนต่อไป..คนร่ำรวยมีโอกาสสร้างกุศลผลบุญ ได้มากกว่าคนจนจริงหรือไม่? >>

◄ll กลับสู่ด้านบน


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 8/8/09 at 08:54 [ QUOTE ]



(Update 8/08/2552)


คนร่ำรวยมีโอกาสสร้างกุศลผลบุญ
ได้มากกว่าคนจนจริงหรือไม่..?


ความที่ข้าพเจ้าเป็นคนช่างคิดก็อดที่จะคิดไม่ได้ ว่าอันคนร่ำรวยซึ่งมีตึกคฤหาสน์เป็นที่พำนัก พรั่งพร้อมไปด้วยข้าทาสบริวารคนครัว คนรถ คนสวน คอบปรนนิบัติรับใช้ จะขยับตัวทำอะไรสักหน่อยบริวารก็วิ่งพล่านแย่งยื้อทำให้หมด แต่ละห้องในบ้านก็มีเครื่องปรับอากาศเย็นฉ่ำ

บรรดาลูกๆ ก็ล้วนได้รับการส่งเสียให้ได้เล่าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อ และการไปโรงเรียนหรือกลับบ้านก็มีคนขับรถรับ-ส่งให้เสร็จ อยากจะได้อะไรก็ได้ เพราะมีเงินมีทองร่ำรวยมหาศาล ไม่ต้องวิตกทุกข์ร้อนในเรื่องใดๆ เลย และเมื่ออยากจะทำบุญก็สามารถจะควักเงินออกทำบุญครั้งละเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านได้อย่างสบายๆ

ผิดกับคนที่จะต้องดิ้นรนขวนขวายหางานทำ พอได้ค่าจ้างมาซื้อกรอกหม้อ และกับราคาถูก ไปเพียงวันหนึ่งๆ ไหนจะต้องวิตกกังวลในเรื่องค่าเช่าบ้าน ไหนจะค่าเล่าเรียน ไหนจะดอกเบี้ยที่ไปกู้ยืมเขามา จิปาถะ มิหนำซ้ำบ้านที่อยู่ก็อุดอู้หาความสะดวกสบายใดๆ มิได้เลย และแม้เมื่ออยากจะสร้างกุศลผลบุญกับเขาบ้าง ก็คงจะทำได้เพียงครั้งละ 5 บาท 10 บาท เป็นอย่างมาก

ดังนั้นเมื่อความแตกต่างระหว่างคนร่ำรวยกับคนจนมีมากเช่นนี้จึงทำให้ข้าพเจ้าเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า โอกาสในการสร้างบุญกุศลของคนร่ำรวยย่อมจะมีได้มากกว่าคนจน และเมื่อเป็นเช่นนี้อีกกี่ภพกี่ชาติหากเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็ย่อมเป็นคนร่ำรวยอีก ส่วนคนจนนั้นก็จะน่าจะต้องยากจนอยู่เช่นนั้นทุกภพทุกชาติไปซิ

ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงค่อยๆ เลียบเคียงถามหลวงพ่อว่า
“หลวงพ่อครับ บรรดาเศรษฐีมีเงินทั้งหลายนั้นมีความเป็นอยู่ที่พรั่งพร้อมมีความสุขและสะดวกสบายไปเสียทุกอยาง ผิดกับคนจนที่มีความวิตกทุกข์ร้อนทั้งในด้านการงาน,ค่าเล่าเรียนลูก,ค่าเช่าบ้าน,ดอกเบี้ยที่ไปกู้ยืมเขามาจิปาถะ ดังนั้นคนร่ำรวยซึ่งไม่มีความทุกข์ก็ย่อมได้เปรียบคนยากจนซึ่งมีความทุกข์ ในกาสร้างบุญกุศลใช่ไหมครับ?”

“คุณรู้ได้อย่างไรว่าคนร่ำรวยไม่มีทุกข์?” หลวงพ่อย้อนถาม

“จะมีทุกข์อะไรล่ะครับ อยู่คฤหาสน์โอ่อ่า มีเครื่องปรับอากาศเย็นฉ่ำสิ่งอำนวยความสะดวกเพียบ จะขยับตัวทำอะไรสักหน่อยข้าทาสบริวารก็วิ่งกันพล่านยื้อแย่งทำให้หมด อยากจะได้อะไรก็ได้ เพราะมีเงินทองร่ำรวยมหาศาล” ข้าพเจ้าอธิบาย

“เอ้อ..คุณเคยเจ็บไข้ ได้ป่วย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ปวดฟัน แขนหัก ขาหัก ออกหัด อีสุกอีใสอีดำอีแดง กับเขาบ้างไหม?” หลวงพ่อถามเรื่อยๆ

“เคยซิครับ และดูเหมือนจะเป็นมาแล้วทุกอย่างที่หลวงพ่อถามนั่นแหละครับ” ข้าพเจ้าชักลังเลไม่ทราบว่าหลวงพ่อจะมาในรูปใด

“แล้วในระหว่างที่คุณเจ็บไข้ได้ป่วยนะ คุณเป็นทุกข์ไหม?” หลวงพ่อถามต่อ

“เป็นทุกข์สิครับ” ข้าพเจ้าตอบ

“แล้วคนร่ำรวย เขาต้องเจ็บป่วยอย่างคุณบ้างไหมหรือว่าคนร่ำรวยไม่มีสิทธิ์เจ็บไข้ได้ป่วย?” หลวงพ่อถามเรื่อยๆ

“ก็ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยเหมือนกันแหละครับ แต่เขาคงมีหมอมีพยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด” ข้าพเจ้าตอบเสียงอ่อยๆ

“แต่คุณอย่าลืมนะว่า คนร่ำรวยหัวไม่แข็งอย่างคนจนเจ็บนิดเจ็บหน่อยละก้อเขาเป็นทุกข์กว่าคนจนเสียอีกนะ ความเจ็บไข้บางชนิดคนจนเป็นวันสองวันก็หาย บางทีเป็นเองหายเองได้เช่นหวัด แต่ถ้าคนร่ำรวยเป็นอาจต้องฉีดยา นอนให้น้ำเกลือกันทีเดียวทุกข์กว่าคนจนอีกนะ” หลวงพ่ออธิบายแล้วย้อนถามว่า

“แล้วคนร่ำรวยมีสิทธิ์แก่ชราหรือตายไหม?”

“โธ่...หลวงพ่อจะมีหรือจนเกิดมาก็ต้องเจ็บ ต้องแก่ ต้องตายทุกคนแหละครับ” ข้าพเจ้าตอบตามความเป็นจริง

“แล้วคุณว่า ความเจ็บ ความแก่ ความตายเป็นทุกข์ไหม?” หลวงพ่อถาม

“เป็นทุกข์สิครับ แม้เพียงแค่คิดถึงก็เกิดทุกข์แล้วครับ?” ข้าพเจ้าตอบ

“แล้วบิดา มารดา ลูก เมีย ของคุณต้องตายจากไปก็ดีหรือข้าวของเครื่องใช้ที่คุณรักใคร่หวงแหนหายไปคุณเป็นทุกข์ไหม?” หลวงพ่อถาม

“เป็นทุกข์สิครับ มากด้วย” ข้าพเจ้าตอบ

การพลัดพรากจากของรัก ล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้นนะ ไม่ว่าคนร่ำรวยหรือคนจน หากประสบเข้าก็ล้วนทุกข์ทั้งสิ้น ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันนะความจริงแล้วคนร่ำรวยที่มีกิจการใหญ่โตเขาก็ต้องกู้เงินธนาคารมาลงทุนนะ ต้องเสียดอกเบี้ยเหมือนกัน มิหนำซ้ำจำนวนมากมายเสียด้วย ยิ่งถ้าวางแผนไว้ผิดเขาก็ต้องคิดหนัก ทุกข์หนักกว่าคนจนเสียอีก

บางคนถึงกับฆ่าตัวตายก็มีบ้านช่องก็ถูกยึดไปก็มี ส่วนการมีข้าทาสบริวานมากน่ะ ยิ่งมากเท่าไรปัญหาก็ยิ่งมากเท่านั้นนะ และยิ่งคนร่ำรวยมีกิจการมากมายไม่มีเวลาอบรมลูก อีกทั้งลูกก็ถือว่าพ่อแม่ร่ำรวยประพฤติตนไปในทางเสื่อมเสีย ก็ยิ่งทำให้พ่อแม่ทุกข์หนักได้เช่นกัน

ดังนั้นคนร่ำรวยก็ดี คนจนก็ดี ล้วนมีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้นไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบใครหรอก เป็นแต่ว่ามีทุกข์กันคนละรูปแบบเท่านั้นเองนะ” หลวงพ่ออธิบานอย่างละเอียด

“แต่คนร่ำรวยก็ยังได้เปรียบกว่าคนจนในการทำบุญอยู่ดีแหละครับ..หลวงพ่อ เพราะคนร่ำรวยอาจทำบุญได้ครั้งละเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านได้ในขณะที่คนจนทำบุญได้ครั้งละ 5 บาท 10 บาทเท่านั้นเอง” ข้าพเจ้าติง

“การทำบุญด้วยเงินก็ดี อาหารก็ดี เสื้อผ้าก็ดี หรือสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ก็ดี เขาเรียกว่า “วัตถุทาน” นะ และกุศลผลบุญอันจะเกิดจากวัตถุทานนั้น หาได้วัดกันที่จำนวนเงินหรือจำนวนสิ่งของเครื่องใช้ไม่แต่เขาวัดกันที่องค์ประกอบ 3 อย่างคือ

1. ผู้มีความเต็มใจในการให้ (ถึงพร้อมด้วยเจตนา)

2. วัตถุทานที่ให้นั้นได้มาด้วยความบริสุทธิ์ (ถึงพร้อมด้วยไทยธรรม)

3. ผู้รับมีความบริสุทธิ์ (ถึงพร้อมด้วยบุญเขต)

ดังนั้นหากคนจนบริจาคเงินทำบุญเพียงแค่ 5 บาท 10 บาทแต่มีความเต็มใจในการทำบุญ อีกทั้งเงินที่ทำนั้นหามาได้อย่างสุจริตด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง ก็ย่อมได้กุศลผลบุญมากกว่าคนร่ำรวยที่บริจาคเงินเป็นหมื่น เป็นแสน หรือเป็นล้าน ด้วยเจตนาที่หวังอวดหรือแบ่งทับผู้อื่น หรือว่าเงินที่บริจาคนั้นได้มาเพราะคดโกงเขามานะ” หลวงพ่ออธิบาย ทำให้ข้าพเจ้าค่อยยิ้มออก

“แล้วที่ว่าผู้รับบริสุทธิ์ล่ะครับ หมายความว่าอย่างไรครับ?” ข้าพเจ้าถาม

“อ๋อ...หมายความว่า ให้ทานแก่ท่านที่เป็นอริยบุคคล เป็นเนื้อนาบุญของโลกมีอานิสงส์สูงมาก พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเทียบไว้ดังนี้

- ให้ทานแก่พระสกิทาคามี 1 ครั้งมีผลมากกว่าให้ทานแก่พระโสดาบัน 100 ครั้ง

- ให้ทานแก่พระอนาคามี 1 ครั้งมีผลมากกว่าให้ทานแก่พระสกิทาคามี 100 ครั้ง

- ให้ทานแก่พระอรหันต์ 1 ครั้งมีผลมากกว่าให้ทานแก่พระอนาคามี 100 ครั้ง

- ให้ทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า 1 ครั้ง มีผลมากกว่าให้ทานแก่พระอรหันต์ 100ครั้ง

- ให้ทานแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า 1 ครั้งมีผลมากกว่าให้ทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า 100 ครั้ง

- ให้ทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข (สังฆทาน)มีผลมากกว่าถวายทานแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า 1 ครั้ง

และการสร้างวิหารถวายสงฆ์ผู้มาจากจตุรทิศมีผลมากกว่าสังฆทานเข้าใจหรือยัง?” หลวงพ่ออธิบายอย่างอารมณ์ดี และเมื่อยังเห็นข้าพเจ้ายังสนใจอยู่ก็พูดต่อว่า

“ความจริงแล้ว วัตถุทานนี้แม้ไม่มีเงินสักบาทเดียวก็ทำได้นะ”

“ทำอย่างไรครับหลวงพ่อ?” ข้าพเจ้าถามอย่างสนใจ

“ก็คอยโมทนาเขาไงล่ะ ใครถวายเงินแสน เงินล้าน คุณก็ยกมือไหว้กำหนดจิตโมทนาไปกับเขาด้วย เขาได้บุญเท่าไร คุณก็ได้เท่านั้นแหละดีไหมล่ะ ไม่ต้องไปอิจฉาคนร่ำรวยให้เสียเวลาจริงไหม?” หลวงพ่อตอบ

“แบบนี้ไม่เป็นการเอาเปรียบผู้อื่นเหรอครับ?” ข้าพเจ้าถามอย่างติดใจสงสัย

“ไม่เอาเปรียบหรอก เพราะคุณจะโมทนาหรือไม่ ก็ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ผู้ทำบุญนี่ เขาก็ยังได้บุญของเขาเต็มที่อย่างเดิมนั่นแหละแต่อย่างไรก็ตาม วัตถุทานนี้ก็เป็นเพียงแค่ทานเบื้องต้นเท่านั้นนะ ยังมีทานแบบอื่นที่ไม่ต้องใช้เงินทองเลยแม้แต่บาทเดียว แต่ให้กุศลผลบุญได้สูงกว่าวัตถุทานเสียอีกนะ” หลวงพ่ออธิบาย

“ทำทานแบบใดล่ะครับ?” ข้าพเจ้ารีบถามด้วยความสนใจ

“อภัยทาน" อย่างไรล่ะ ใครเขาทำผิดคิดร้ายต่อคุณอย่างไร คุณก็ไม่ถือโกรธ อภัยให้เขาเสีย เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านให้อภัยให้แก่บรรดาผู้คนที่มุ่งร้ายต่อองค์ท่านนั่นแหละ เห็นไหมไม่ต้องเสียเงินสักบาทเดียวแต่ได้กุศลผลบุญมากกว่าบริจาคเงินเป็นจำนวนมากๆเสียด้วยซ้ำไป” หลวงพ่ออธิบายยิ้มๆ

“แหม..หลวงพ่อครับได้บุญมากโดยไม่เสียเงินก็จริง แต่มันทำได้ยากนะครับ โดยเฉพาะผมแล้ว ผมชอบประพฤติปฏิบัติต่อผู้คนแบบเกลือจิ้มเกลือ คือดีมาก็ดีไป ร้ายมาก็ร้ายตอบ แรงมาก็แรงไป หวานมาก็หวานไป

อะไรทำนองนี้แหละครับ มันค่อยมีชีวิตชีวาหน่อย ขืนอภัยให้บ่อยๆ คนเลวๆ เหล่านั้นก็ยิ่งได้ใจใหญ่ คิดว่าเราแหยซิครับ เคยแค่แอบลอบนินทาลอบกัดลับหลัง คราวนี้ละก็มันต้องบุกเข้ามาด่าว่าท้าทายถึงในบ้านเป็นแน่” ข้าพเจ้าให้เหตุผลไปตามที่คิด

“อ้าว..อยากได้บุญมาก หนำซ้ำไม่ต้องเสียเงินเสียมองด้วยก็ต้องยากหน่อยซิ แต่ก็มิใช่ยากเย็นจนทำไม่ได้นะ หากคุณควบคุมสติได้แล้วคิดว่า โอ หนอ คนเลวเหล่านี้ คงรับกรรมอยู่ในนรก เปรต อสุรกาย และ สัตว์เดรัจฉาน มานานหลายภพหลายชาติแล้ว กว่าจะชดใช้กรรมชั่วหมดได้เกิดมาเป็นมนุษย์กับเขาชาติแรกได้ ก็ต้องทนทุกข์เวทนาอย่างแสนสาหัส มาหลายกัปหลายกัลป์ แม้เป็นมนุษย์แล้วความเลวร้ายความดุร้ายก็ยังติดตามมา ตามสันดานดั้งเดิมอีก

ดังนั้นเราเองซึ่งเป็นมนุษย์ที่สร้างสมบุญบารมีมาแล้วหลายภพหลายชาติ จะใช้วิธีแบบเกลือจิ้มเกลือ คือร้ายมาก็ร้ายไป เลวมาก็เลวไปอย่างที่คุณว่าแล้ว เรามิต้องเป็นคนเลวไปเช่นเขาเหล่านั้นหรอกหรือ ต้องพยายามคิดอย่างนี้นะแล้วในที่สุดคุณจะให้ “อภัยทาน” ได้เองนะ ยิ่งถ้าคุณได้เจริญวิปัสสนาญาณด้วยแล้วการให้อภัยทานจะเป็นของง่ายมาก” หลวงพ่ออธิบาย และเมื่อยังเห็นข้าพเจ้าสนใจก็พูดต่อว่า

“ยังมีทานที่ไม่ต้องใช้เงินทองแต่ได้กุศลผลบุญสูงกว่าอภัยทานอีกนะ”

“ทานอะไรหรือครับ ที่สูงกว่าอภัยทาน” ข้าพเจ้าถามด้วยความอยากรู้

“ก็..ธรรมทาน..ยังไงล่ะ สร้างสมได้โดยช่วยชี้แนะสั่งสอนผู้คนที่ประพฤติตนหลงผิด คิดชั่วให้กลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี เป็นที่ยอมรับของสังคมโดยทั่วไป หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ ช่วยนำทางคนที่เดินทางผิดให้มาเดินถูกทางนั่นแหละ

ธรรมทานนี้จะได้กุศลผลบุญสูงกว่าอภัยทานนะ เพราะแม้เราให้อภัยทานแก่คนที่เลวร้ายไปแล้วก็ตาม แต่เขาก็หาได้อยู่รอดปลอดภัยไม่ อาจถูกคนอื่นที่เขาไม่ให้อภัยกำจัดเสียก็ได้ แต่ถ้าเราให้ธรรมทาน จนสามารถทำให้คนเลวกลับกลายมาเป็นคนดีเสียได้ เขาจะอยู่ได้โดยรอดปลอดภัยใช่ไหม?” หลวงพ่ออธิบาย

“ครับ..แต่แหม..มันก็ยิ่งยากกว่าให้อภัยทานเสียอีก เพราะอภัยทานนั้น เราเพียงอภัยในใจไม่ต้องไปข้องแวะกับคนเลวๆ พรรค์นั้นเขาร้ายมาเราก็เลี่ยงเสีย เขาด่าเขานินทาเราก็เอาหูทวนลมเสีย แต่ถ้าถึงขั้นต้องพาตัวเข้าไปอบรมสั่งสอนคนชั่วร้ายเช่นนั้น คงไม่ไหวหรอกครับหลวงพ่อ”ข้าพเจ้าตอบพร้อมส่ายหัวอย่างท้อแท้

“อ้าว..ถ้าคุณยังทำใจไม่ได้ ก็ต้องรู้จักใช้อุบายสิ เช่น ถ้าคุณรู้ว่าคนเลวผู้นั้นนับถือใคร หรือเกรงใจใครและบังเอิญคุณก็รักใคร่ชอบพอกับเขา ก็ขอความร่วมมือกับเขา ฝากหนังสือธรรมะไปให้อ่านบ้างหรือให้เขาหาทางชวนไปหาพระฟังธรรมะบ้าง หรือหาทางล่อหลอกพามาหาฉันก็ได้นะ อย่างนี้คุณก็ได้ธรรมทานด้วยเช่นกัน” หลวงพ่ออธิบาย และเมื่อเห็นข้าพเจ้ายังสนใจฟังก็พูดต่อว่า

“ยังมีวิธีสร้างกุศลผลบุญที่สูงกว่า ทานทั้งหลายโดยไม่ต้องเสียเงิน และข้องแวะกับบุคคลอื่นอีกด้วยนะ”

“ทำอย่างไรครับ..หลวงพ่อ?” ข้าพเจ้ารีบถามอย่างกระตือรือร้น

“ก็รักษา "ศีล" อย่างไรเล่า.. อย่างคุณรักษาแค่ศีล 5 ให้บริสุทธิ์ก็พอแล้ว ได้บุญมากกว่าการให้ทานทุกรูปแบบเสียอีกนะ และยิ่งอยากได้กุศลผลบุญมากกว่ารักษาศีลก็ต้อง เจริญภาวนาให้ได้ ฌานสมาบัติ นะ

หากคุณสามารถทรงฌานได้ และจิตเป็นเอกัคคตารมณ์ คือมีอารมณ์เป็นหนึ่งได้แม้เพียงชั่วเสี้ยววินาที หรือแค่ช้างกระดิกหูเท่านั้นคุณจะได้กุศลผลบุญมากเสียกว่าบวชตั้งหลายพรรษาโดยมิได้เจริญภาวนาเสียอีกนะ” หลวงพ่ออธิบาย

“เอ..ถ้ายังงั้น ผมเลือกสร้างกุศลผลบุญด้วยการเจริญภาวนาเสียเลยจะมิดีกว่าหรือครับ?” ได้บุญสูงกว่าการให้ทาน และรักษาศีลเสียอีกข้าพเจ้าและให้ข้อคิดเห็น

“มันไม่ง่ายอย่างที่คุณคิดนะซี การขึ้นบันไดเขาต้องขึ้นทีละขั้น มิใช่กระโดดทีเดียวขึ้นไปอยู่บันไดขั้นสูงสุดเลย ดีไม่ดีตกมาแข้งขาหักนะ การให้ทานบ่อยๆ ย่อมทำให้เกิดตัวเมตตา คือ ความรักบังเกิด ตัวกรุณา คือความสงสารเกิด และเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ทำให้คุณเกิดความละอายที่จะผิดศีลโดยเฉพาะศีล 5

บุคคลตัวอย่างสมัยพุทธกาล

และเมื่อศีล 5 บริสุทธิ์ การเจริญภาวนาก็เป็นไปได้โดยง่าย มันเป็นบันได 3 ขั้นนะ จะกระโดดพรวดพราดไปเจริญภาวนาเลยมันก็ยากเย็น หากไม่มีการให้ทานและการรักษาศีลมาก่อน เสมือนหนึ่งกระโดดจากพื้นขึ้นบันไดขั้นสุดท้ายนั่นแหละ แต่ก็อาจทำได้นะ ถ้าคุณมีวิชาตัวเบาเหมือนในหนังจีน และก็เคยมีคนในสมัยพระพุทธเจ้าทำมาแล้วด้วยเหมือนกันคือ

ท่านผู้นั้นดูถูกว่าการให้ทานเป็นกุศลผลบุญขั้นต่ำ จึงมุ่งรักษาศีลและเจริญภาวนาไปเลย ด้วยกุศลผลบุญดังกล่าวเมื่อตายไปก็เป็นผลทำให้มาเกิดเป็นมนุษย์และได้บวชในพระพุทธศาสนา เมื่อบวชใหม่ได้ออกบิณฑบาต แต่เนื่องจากท่านอาวุโสน้อยที่สุด จึงต้องเดินท้ายสุด

ปรากฏว่าชาวบ้านที่นำอาหารมาใส่บาตร พอใส่มาถึงท่านนั้นอาหารก็หมดพอดี ทำให้พระท่านนั้นต้องนำบาตรป่าวกลับมาอาศรม และต้องอาศัยภัตตาหารจากพระรูปอื่นที่แบ่งปันให้พอได้ขบฉันบ้าง

ในวันรุ่งขึ้น พระอุปัชฌาย์จึงสั่งให้พระท่านนั้น ออกเดินนำหน้าพระภิกษุรูปอื่นออกบิณฑบาต โดยให้เหตุผลว่าเมื่อวานนี้พระท่านนั้นเดินท้ายแถวจึงไม่ได้อาหาร ส่วนทางฝ่ายชาวบ้านที่นำอาหารมาคอยใส่บาตรกลับนัดแนะกันว่า เมื่อวานนี้พวกเราใส่บาตรจากหัวไปทางท้ายแถว ทำให้พระท่านหนึ่งซึ่งอยู่ท้ายแถวไม่ได้รับอาหารเลย ดังนั้นวันนี้เราจงใส่บาตรจากท้ายแถวไปทางหัวแถวเพื่อเป็นการชดเชยเถิด

ด้วยเหตุนี้เมื่อพระมา ชาวบ้านก็ใส่บาตรจากท้ายแถวไปทางหัวแถว และพอใส่บาตรมาถึงพระท่านนั้นที่อยู่หัวแถวอาหารก็หมดพอดี ทำให้พระท่านนั้นต้องนำบาตรเปล่ากลับอาศรม เช่นเดียวกับวันแรกอีก

ในวันต่อมา พระอุปัชฌาย์จึงสั่งให้ท่านนั้นออกบิณฑบาตโดยให้เดิน อยู่ในตำแหน่งกลางแถวในวันต่อไป โดยให้เหตุผลว่า คราวนี้แม้ชาวบ้านจะใส่บาตรจากหัวแถว หรือท้ายแถวมาก็ตามพระท่านนั้นย่อมต้องได้ภัตตาหารแน่ ส่วนทางฝ่ายชาวบ้านก็กลับปรึกษากันว่าสองวันแล้วนะที่เรานำอาหารมาใส่บาตร และไม่ว่าจะใส่บาตรจากหัวแถวไปหาท้ายแถว หรือใส่บาตรจากท้ายแถวย้อนไปทางหัวแถวก็ตาม มีพระภิกษุรูปหนึ่งไม่เคยได้รับอาหารเลยนะ

อย่ากระนั้นเลยในวันรุ่นขึ้น พวกเราจงแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มเถิด คือกลุ่มหนึ่งใส่บาตรจากหัวแถวไปทางท้ายแถว และอีกกลุ่มหนึ่งใส่บาตรจากท้ายแถวไปหาหัวแถว เพราะถ้าทำวิธีนี้แล้วไม่ว่าพระท่านนั้นจะเดินบิณฑบาตอยู่หัวแถว หรือท้ายแถวก็ตามที ย่อมต้องได้ภัตตาหารจากพวกเราอย่างแน่นอน

ดังนั้นในวันรุ่งขึ้นเมื่อพระออกบิณฑบาต ชาวบ้านก็แยกออกเป็น 2 กลุ่ม และแยกกันใส่บาตรตามวิธีการที่คิดเอาไว้ ปรากฏว่า พอถึงพระท่านนั้นที่ยืมอยู่ตรงกลาง อาหารก็หมดพอดี ทำให้พระท่านนั้นต้องนำบาตรเปล่ากลับอาศรม

ในวันที่ 4 พระอุปัชฌาย์จึงให้พระบวชให้เข้าแถวเป็นองค์ที่สองต่อจากท่าน เมื่อชาวบ้านมาใส่บาตร เมื่อใส่องค์แรกแล้วก็ข้ามไปใส่องค์ที่สาม เนื่องจากมองไม่เห็นบาตรองค์ที่สอง พระอุปัชฌาย์จึงให้มือของท่านจับปากบาตรรพระบวชใหม่ไว้ ชาวบ้านจึงเห็นบาตรของพระองค์ที่สอง และใส่บาตรของท่านได้โดยอาศัย "ทานบารมี" ของพระอุปัชฌาย์

เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงทราบเรื่องราวแล้วจึงได้ทรงอธิบายว่า พระท่านนั้นในอดีตชาติมิได้สร้างสมทานบารมีมาเลย ด้วยดูถูกว่า "ทานบารมี" เป็นกุศลผลบุญขั้นต่ำ จึงมุ่งแต่รักษาศีลและเจริญภาวนา

ดังนั้นเมื่อมาเกิดในชาตินี้จึงขาดลาภและขาดแคลนในทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่อาหารการกินดังที่ได้ประจักษ์แล้ว ผิดกับ "พระสีวลี" ซึ่งในอดีตสร้างทานบารมีมามาก มาในชาตินี้จึงอุดมสมบูรณ์เป็นยังไงล่ะคุณมนูญ จะเอาย่างพระท่านนั้นหรือ?” หลวงพ่ออธิบายโดยละเอียดแล้วย้อนถามข้าพเจ้า

“เอ..หากเป็นเช่นนี้ ผมก็เห็นจะต้องรีบสร้าง "ทาน" และ "รักษาศีล" ก่อนแล้วนะครับ..!

ท่านผู้อ่านที่รัก..พอเข้าใจแล้วใช่ไหมครับว่า ไม่ว่าท่านจะเป็นคนร่ำรวยล้นฟ้าสักเพียงไร หรือยากจนข้นแค้นสักปานไหนก็ตาม ท่านมีโอกาสที่จะสร้างกุศลผลบุญได้ไม่น้อยหน้ากันเลยนะครับ.

<< โปรดติดตามตอนต่อไป.."ทำไมจึงต้องกำหนดเอาการดื่มสุราเข้าไว้ในศีล 5 ด้วย..?" >>

◄ll กลับสู่ด้านบน


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 21/8/09 at 05:54 [ QUOTE ]



(Update 21/08/2552)


ทำไมจึงต้องกำหนดเอาการดื่มสุราเข้าไว้ในศีล 5 ด้วย..?"


"...โดยพื้นฐานของจิตใจที่แท้จริงแล้ว ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ชอบช่วยเหลือคนมาตั้งแต่เด็ก อาทิเช่น ช่วยติวหนังสือให้เพื่อนๆ ที่เรียนไม่ค่อยเก่ง ช่วยเหลือครูในการปรามเพื่อนๆ ที่เกเร อีกทั้งช่วยเหลือกิจกรรมส่วนรวมของทางโรงเรียนตลอดมา ไม่ว่าจะเรียนอยู่ในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรือแม้แต่ในโรงเรียนนายร้อย จปร.

และแม้เมื่อออกมารับราชการก็ให้การช่วยเหลือต่อผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อนข้าราชการและญาติ สนิทมิตรสหาย ในทุกรูปแบบไม่ว่าจะเรื่องการเงินการทองการให้อภัยแก่ผู้คน หรือแม้แต่การอบรมสั่งสอนชี้แนะให้เดินทางที่ถูกที่ควร ดังนั้นว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว ข้าพเจ้ามีความเมตตากรุณา ต่อคนและสัตว์มาแต่ไหนแต่ไรแล้วพอสมควรทีเดียว

ด้วยเหตุนี้เมื่อข้าพเจ้านำคำสอนของหลวงพ่อมาพิจารณาดู จึงไม่มีความหนักใจในการสร้างทานบารมีเลย ไม่ว่าจะเป็นวัตถุทาน สังฆทาน อภัยทาน หรือแม้ธรรมทาน และเมื่อลองตรวจ ศีล 5 ดูในข้อแรก "ปาณา" ห้ามฆ่าสัตว์นั้นสบายมาก เพราะข้าพเจ้าเป็นคนที่รักสัตว์ สงสารสัตว์อยู่แล้วฆ่าไม่ได้แน่ๆ

ในข้อที่สอง "อทินนา" ห้ามลักขโมยทรัพย์สิน ของผู้อื่นก็ยิ่งง่ายใหญ่เพราะข้าพเจ้าเกลียดนักเกลียดหนาในเรื่องนี้ และเคยประณามผู้ที่ลักขโมยเสมอมาว่าเป็นคนเห็นแก่ตัวแก่ได้ เบียดเบียนผู้อื่นที่เขาเอาแรงกายแรงใจเข้าแลกกว่าจะหาเงินหาทองมาได้ แล้วจู่ๆ ไอ้พวกนักลักมาฉวยโอกาสขโมยของเขาไปง่ายๆ โดยไม่ต้องลงทุนลงแรง

ในข้อที่สาม "กาเม" ผิดลูกผิดเมียคนอื่น ก็ผ่านไปได้เลยเพราะเรื่องเช่นนี้ไม่เคยอยู่ในความคิดของข้าพเจ้า ด้วยเห็นเป็นเรื่องที่น่าละอายมาก

และในข้อที่สี่ "มุสา" ห้ามพูดโกหกในข้นอี้ตอนแรกๆ ข้าพเจ้าก็ยังหวั่นๆ ใจอยู่บ้างไม่ค่อยจะแน่ใจนักว่าจะรักษาข้อนี้ได้หรือไม่เพราะในการอบรมผู้ใต้บังคับบัญชาบางครั้งก็ต้องล่อหลอกกันบ้าง เพื่อให้เขากลัวในการยักยอกของหลวง หรือขู่กันบ้าง เพื่อมิให้เขาประพฤติตนออกนอกลู่นอกทาง

แต่เมื่อข้าพเจ้าทุ่มความสนใจไปในการศึกษาค้นคว้าหาหนังสือธรรมะอ่านมากมาย ก็เข้าใจว่าการพูดไม่ตรงต่อความจริง ด้วยเจตนาให้ผู้ฟังเกิดกำลังใจที่จะประพฤติดีประพฤติชอบก็ดี เปลี่ยนการกระทำจากร้ายเป็นดีก็ดี มิได้เข้าข่ายผิดศีลข้อมุสา เพราะเป็นการพูดที่มิได้หลอกลวงให้เขาเสียซึ่งทรัพย์สินเงินทอง เสียเกียรติยศชื่อเสียงหรือเสียผู้เสียคน ดังนั้นศีลข้อมุสาจึงสอบผ่านไปได้ ไม่น่าหนักใจสำหรับข้าพเจ้าอีกต่อไป

แต่ศีลข้อที่ห้าคือ "สุรา" นี่ซิมันเป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ของข้าพเจ้าจริงๆ โดยเฉพาะสำหรับชีวิตในต่างจังหวัด ซึ่งขาดแคลนทั้งสถานที่ท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นบาร์ คลับ โรงหนัง โรงละครทุกเย็นบรรดาเพื่อนๆ ก็ชักชวนกันมาตั้งวงกินเหล้าอยู่ที่บ้านข้าพเจ้าเป็นที่สนุกสนาน อย่าว่าแต่จะคิดเลิกเลย แม้เพียงข้าพเจ้าเจ็บไข้ได้ป่วยเพียงแค่วันสองวันบรรดา คอเหล้าก็โวยวายกันแล้ว หนำซ้ำเพื่อนคอเหล้าที่เป็นหมอ แทนที่จะสั่งยาให้ข้าพเจ้ากิน กลับเขียนใบสั่งยาว่า

“แม่โขงหนึ่งแบน ผสมยาจีนร้อนๆ 1 กา วันละ 3 มื้อก่อนอาหาร” อีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงหนักใจนัก อีกทั้งคิดเข้าข้างตัวเองว่าการที่ข้าพเจ้าดื่มสุรา ความจริงก็หาได้ทำให้ใครเดือดร้อนไม่ เงินที่ซื้อหามาก็เป็นเงินของข้าพเจ้าเองมิได้เบียดเบียนใคร จะดื่มจะกินก็ดื่มกินในบ้านของข้าพเจ้า มิได้เกะกะระรานทำให้ใครต้องเดือนร้อน

ผิดกันกับศีลอีก 4 ข้อ "ปาณา" "อทินนา" "กาเม" และ "มุสา" ซึ่งประพฤติปฏิบัติแล้วผู้อื่นเข้าเดือดร้อน ทำไมและอะไรกันนักหนา จึงต้องเอาสุราเข้าไปอยู่ในศีล 5 กับเขาด้วย เรื่องเลวรายอย่างอื่นอีกตั้งมากมาย ทำไมจึงไม่คัดเอามาบรรจุไว้แทนสุราเล่า?

เมื่ออัดดั้นตันใจและสงสัยเรื่องนี้อยู่ ข้าพเจ้าจึงเล่าเรื่องทั้งหมดที่ข้าพเจ้าเขียนไว้แล้วนี้ให้หลวงพ่อฟัง แล้วเน้นถามว่า

“หลวงพ่อครับ ผมก็ไม่เห็นว่าสุราจะเลวร้ายอะไรนักหนา ทำไมจึงต้องเอามากำหนดเข้าไว้ในศีล 5 ด้วยเล่าครับ?”

“ไอ้สุรานี่แหละ..ตัวร้ายที่สุดละคุณ..! เพราะมันเป็นตัวทำลายสตินะ หากดื่มเข้าไปแล้วจะทำให้ขาดสติ และทำลายศีลทั้ง 4 ข้อแรกได้ทั้งหมดเลยนะ เป็นยังไง...ดูคุณอาลัยอาวรณ์มากจริงนะ” หลวงพ่อตอบและเย้าข้าพเจ้า

“ก็เป็นบ้างครับ แต่ผมสงสัยว่าสุราจะไปทำลายศีลทั้ง 4 ข้อแรกได้อย่างไรครับหลวงพ่อ?” ข้าพเจ้ารับอ่อยๆ

“อ้าว..ก็ดื่มแก้วแรก แก้วสอง แก้วสาม ก็ยังคุยกันได้เป็นเรื่องเป็นราวสนุกสนานครื้นเครงดี พอแก้วที่สี่ที่ห้าชักหน้าตึง หูตึง ลิ้นไก่สั้น เสียงเริ่มดัง ใครเก่งทางใดก็เริ่มอวดลวดลาย คุยอวดความเก่งกล้าสามารถของตัว บางรายก็ชักแสดงอิทธิฤทธิ์ด้วยการเคี้ยวแก้วเล่นก็มี บางรายก็ถอดถุงเท้าของตัวเองลงในแก้ว แล้วนั่งดื่ม

บางรายก็ร้องไห้ หากมีการพูดผิดหูกันขึ้นอาจถึงขั้นมาการท้าดวล ยิ่งโต๊ะข้างเคียงไม่ถูกกันมาก่อนพูดจาแขวะกันไปแขวะกันมาก็ขาดสติ ยั้งคิด ถึงขั้นฆ่ากันตาย ก็ผิดศีลปาณาขึ้นมาด้วย ขาดสติใช่ไหม?

และถ้าคุณเมามายขาดสติ แล้วเกิดไปหยิบฉวยข้าวของมีค่าเช่นปากกาปลอกทอง หรือนาฬิกาของเพื่อนฝูงที่เมาด้วยกันติดไม่ติดมือกลับบ้าน หรือทำเงินที่เขาฝากมาหายไป แล้วพอได้สติก็หาใช้เขาไม่ได้ ก็เป็นการผิดศีลอทินนาเข้าอีก หรือถ้าคุณเกิดเมามายขาดสติกลับเข้าบ้าน เกิดไปสะดุดสายมุ้งมุดเข้าไปหลับนอนกับใครที่มิใช่เมียของคุณก็ผิดศีลกาเมเข้าไปอีก

หรือถ้าในขณะที่คุณเมามายขาดสติ เกิดไปรับปากสัญญาอะไรกับใครเขาไว้แต่พอวันรุ่งขึ้นเมื่อสร่างเมาคุณก็ลืมเสียสิ้นปล่อยให้เขาต้องเสียเวลาไปรอคอยก็ดี หรือผิดหวังที่คุณผิดสัญญาในเรื่องที่คุณรับปากไว้ก็ดี ก็ผิดศีลมุสา อีกใช่ไหม? นี่แหละฉันจึงว่าสุรานั้นเป็นตัวทำให้ขาดสติและทำลายศีลทั้ง 4 ข้อแรกได้หรือคุณว่าไม่ใช่?” หลวงพ่ออธิบายแล้วย้อนถาม

“ผมก็เห็นด้วยตามที่หลวงพ่อพูดทุกอย่างแหละครับ จึงหาหนทางป้องกันไว้ทุกแง่ทุกมุม เช่นจะดื่มก็ให้มาดื่มกันที่บ้านผม เป็นการหลีกเลี่ยงการมีเรื่องราวกับคนภายนอก มิหนำซ้ำผมจะเลือกชวนเฉพาะเพื่อนสนิทที่ชอบสนุกสนานจริงๆ เท่านั้น คือพอเมาก็ร้องเพลงกันไปตามเรื่องตามราว พวกที่เมาแล้วชอบหาเรื่อง ผมไม่ชวนมาร่วมลงหรอกครับ จึงตัดเรื่อง "ปาณา" ไปได้

ในเรื่อง "อทินนา" ก็เช่นกัน จะหยิบอะไรติดไม้ติดมือกันไปบ้างก็แค่ไม้ขีด ไฟแช็ค หรือปากกาที่หาค่าไม่ได้

ยิ่ง "กาเม" แล้วที่บ้านผมมีผู้หญิงคนเดียวคือเมีย ส่วนมุ้งที่อยู่ข้างล่างเป็นมุ้งของพลทหารรับใช้

จะมีที่เข้าข่ายเห็นจะเป็น "มุสา" นั่นแหละครับ เพราะตอนเมานัดกันจังเลย แต่พอหายเมาแล้วลืมหมด แต่ต่างฝ่ายต่างลืมนะครับ” ข้าพเจ้าตอบและพยายามหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง

“เอ๊ะ..ไม่เลวนี่ แต่ป้องกันไม่ตลอดหรอกนะ อย่างน้อยดื่มเหล้ามีกับแกล้ม และกับแกล้มนั้นแม้คุณไม่ได้ทำเอง มิได้ฆ่าเองแต่ถ้าหากสั่งให้ผู้อื่นทำแล้วมีการฆ่าเกิดขึ้น คุณก็หนี "ปาณา" ไม่พ้นอยู่ดีนะ

หรือแม้การหยิบฉวยไม้ขีด ไฟแช็คก็ดี ปากกาที่ไม่มีราคาค่างวดตามที่คุณว่าก็ดี ย่อมทำให้เจ้าของเขาเสียผลประโยชน์เหมือนกัน เพราะเขาเคยได้ใช้ แล้วไม่ได้ใช้เพราะสูญหายไปอยู่ที่คุณ ก็ผิดศีล "อทินนา" ด้วยนะ ฉันคิดว่าคำพูดของฉันคุณเข้าใจแล้วทั้งหมด แต่แสร้งดันทุรันไปอย่างนั้นเอง

ส่วนที่ว่าคุณดื่มอยู่ที่บ้านของคุณ แล้วไม่ได้ทำให้ใครเขาเดือดร้อนนั้นก็หาจริงไม่ เพราะการร้องรำทำเพลงของบรรดาขี้เมากลุ่มคุณหาได้ดังอยู่เฉพาะในตัวบ้านของคุณไม่ หากมันดังไป 3 บ้าน 8 บ้าน ยิ่งดึกดื่นเที่ยงคืนผู้คนอื่นเขาจะได้นอนหลับพักผ่อนอย่างผาสุก ก็กลับต้องมาทนฟังเสียงเพลงจากนักร้องขี้เมา ที่หาความไพเราะเสนาะหูไม่ได้เลย

แม้เขาจะไม่มายืนด่าอยู่หน้าบ้านคุณ แต่เขาก็สาปแช่งอยู่ในใจนะ ไม่เป็นสิริมงคลเลยนะ นอกจากนั้นเมียของคุณเล่าก็จะต้องอดหลับอดนอน คอบเก็บกวาดล้างถ้วยล้างชามหลังจากที่วงเหล้าเลิกราแล้ว ส่วนคุณซึ่งเป็นคนหางานให้เมียทำ กลับมุดเข้ามุ้งนอนหลับสลบไสลเพราะความเมา มันควรแก่การน่าละอายบ้างไหม คุณลองไปนั่งคิดพิจารณาดูเอาเองก็แล้วกันนะ”

หลวงพ่อพูดและเมื่อเห็นข้าพเจ้านั่งคอตกตั้งใจฟังอยู่ ก็พูดต่อว่า
”ความจริงแล้ว การดื่มสุรานั้นมันไม่เฉพาะแต่ทำให้ชาวบ้านและลูกเมียของคุณเดือดร้อนเท่านั้นนะ หากแต่ตัวของคุณเองนั่นแหละจะเดือดร้อนหนัก ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ ก็อาจเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นโรคกระเพาะ โรคไต โรคตับแข็ง โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง แอลกอฮอลิสซึ่มหรืออัมพาตได้นะ

และเมื่อตายไปหากเกิดเป็นมนุษย์ในชาติหน้าก็จะต้องรับกรรมอีก กล่าวคือ ถ้าดื่มน้อย เกิดมาก็จะเป็นคนที่มีอาการปวดศรีษะ วิงเวียน มึนงง อยู่ตลอดกาลรักษาไม่หายขาด ถ้าดื่มขนาดกลางเกิดมาก็จะเป็นโรคประสาท และถ้าดื่มขนาดนั้น เกิดมาก็จะเป็นวิกลจริตหรือคนบ้าทีเดียวนะจำไว้

เอ้อ..ทางที่ดีเอาอย่างนี่ซิ ใน 2-3 วันนี้ฉันขอให้คุณร่วมวงสุรากับเพื่อนๆ เช่นเดิม แต่คุณอย่าดื่มนะหากเพื่อหากคุณก็บอกไปว่าไม่สบาย หมอห้าม หรือไม่ก็บอกว่ารับปากฉันไว้ ผิดสัจจะไม่ได้ คุณจะทำได้ไหม?”

“ผมรับปากครับหลวงพ่อแล้วหลังจากนั้นเล่าครับ?” ข้าพเจ้ารับปากแล้วถาม

“คุณก็มาเล่าให้ฉันฟัง ถึงเหตุการณ์ในวงสุราของคุณซิ ว่าคุณมีความรู้สึกอย่างไร? ส่วนหลังจากนั้นคุณจะไปดื่มกินกับเพื่อนของคุณอีกก็เป็นเรื่องของคุณ” หลวงพ่อพูด

ข้าพเจ้าเมื่อรับปากกับหลวงพ่อแล้ว ก็ปฏิบัติตามโดยขอตัวเพื่อน ๆ ไม่ยอมดื่มจริงๆ แต่อยู่พูดคุยร่วมวงด้วยเหมือนเดิม และคอยอำนวยความสะดวกให้ แม้จะถูกคะยั้นคะยอจากเพื่อนๆ สักเพียงไร ข้าพเจ้าก็ยืนกรานไม่ยอมดื่ม แก้วแล้วแก้วเล่าผ่านไปบรรดาเพื่อนชักเริ่มเมา บางคนก็เริ่มคุยอวดศักดาความเก่งกล้าของตน อีกคนก็คุยบ้างยกตัวเองเข้าข่มว่า ตนนั้นยิ่งแน่กว่า

ข้าพเจ้าซึ่งมิได้เมาด้วยชักเกิดความรำคาญ และมองเพื่อนๆ เหล่านั้นเหมือนคนแปลกหน้า ในใจคิดสมเพชเวทนาว่า คนเหล่านี้เก่งเฉพาะตอนเมาแท้ๆ เวลาไม่เมาก็แหยๆ และไม่กล้าเผชิญหน้าต่ออะไรเลยทั้งสิ้น มีแต่ข้าพเจ้าเท่านั้นที่คอยรับหน้าคุ้มครองให้ พอเหล้าเข้าปากกลับกลายเป็นคนเก่งทั้งนั้น

เวลาผ่านๆไปเพื่อนๆ ก็เมามายมากขึ้น ส่งเสียงร้องเพลงกันลั่นไปหมด ข้าพเจ้าชักหนักใจยิ่งนึกถึงคำพูดของหลวงพ่อขึ้นมา ด้วยก็ยิ่งเกิดเกรงใจชาวบ้านข้างเคียง เพราะบ้านที่อยู่เป็นเรือนแถวเสียด้วย อีกทั้งเวลาขณะนั้นก็ 5 ทุ่มกว่าแล้ว ข้าพเจ้าจึงเลี่ยงลงจากบ้านแล้วเดินผ่านห้องข้างเคียงไปจนสุดเรือนแถว และแม้ออกไปจนถึงถนนใหญ่ เสียงนักร้องขี้เมาจากบ้านข้าพเจ้าก็ยังดังลั่นเกินกว่า 3 บ้าน 8 บ้านเสียอีก

เมื่อข้าพเจ้ากลับขึ้นบ้าน เพื่อนขี้เมาบางคนก็หันมาพูด พร้อมกับเรอเอิ้กอ้ากกลิ่นเหล้าเหม็นคลุ้ง จนข้าพเจ้าแทบจะทนไม่ได้ ยิ่งมองดูกับแกล้มกลางวงมันมีสภาพเหมือนมิใช่คนกินจริงๆ ตามขอบจานตามพื้นมีชิ้นส่วนอาหาร และน้ำแกงหกเรี่ยราดคิดในใจว่า นี่เราร่วมกินเหล้ากับเขาเหล่านี้มาได้อย่างไรกันหนอ..!

ในคืนนั้นกว่าเพื่อนขี้เมาของข้าพเจ้า จะเลิกราได้ก็ประมาณเกือบตี 1 โดยบางรายก็เดินโซเซร้องเพลงกลับ บางรายก็ขี่มอเตอร์ไซค์กลับแต่กว่าจะตั้งตัวได้ก็ล้มลุกคลุกคลานอยู่หลายตลบทีเดียว เมื่อส่งเพื่อนๆเสร็จ ข้าพเจ้าก็ขึ้นบ้าน เข้าช่วยภรรยาและทหารรับใช้เก็บถ้วยชามไปล้างทำความสะอาดพื้น โดยเฉพาะระเบียงหน้าบ้านสกปรกมาก เพราะมีบางคนมาอาเจียนทิ้งไว้

จิตใจของข้าพเจ้าในตอนนั้นเกิดความรักและสงสารภรรยาเป็นที่สุดที่ทนลำบาก อดหลับอดนอนทำทุกอย่างเพื่อข้าพเจ้าตลอดมา โดยมิได้ปริปากบ่นสักคำ พอกันทีเพียงครั้งเดียวที่ข้าพเจ้ามิได้ดื่มเหล้า และทนนั่งอยู่ในกลุ่มเพื่อนร่วมแก๊งขี้เมาก็สุดแสนที่จะทนได้เสียแล้ว

และในคืนนั้นเองข้าพเจ้าก็ตั้งปณิธานไว้โดยแน่ชัดว่า นับแต่บัดนี้ไปข้าพเจ้าจะเลิกดื่มสุราโดยเด็ดขาด และข้าพเจ้าก็ปฏิบัติได้มาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งยังความปลื้มปิติยินดีแก่ภรรยาและบุตรของข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับเหตุการณ์ในวงสุรานั้น ข้าพเจ้าก็ได้เล่าให้หลวงพ่อฟังโดยละเอียดรวมทั้งบอกความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นและความตั้งใจโดยเด็ดเดี่ยวที่จะเลิกดื่มด้วย ซึ่งหลวงพ่อก็ยินดีและให้กำลังใจว่า

“มันถึงเวลาของคุณแล้วนั่นเอง จึงทำให้คุณเกิดความรังเกียจที่จะดื่มสุราต่อไป และบัดนี้ทางเดินเข้า..สู่แสงธรรม..ของคุณสว่างแล้วนะ จงตั้งใจเดินไปเถิด”

ท่านผู้อ่านที่รัก..เคยสงสัยในปัญหาข้อนี้เช่นข้าพเจ้าบ้างไหมครับ? ถ้าเคยสงสัยมา ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคำตอบของหลวงพ่อกระจ่างชัดแล้วนะครับ...!!!"

◄ll กลับสู่ด้านบน


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 30/8/09 at 08:21 [ QUOTE ]



(Update 30/08/2552)


"ถ้ากระทำแต่ความดีโดยไม่ต้องนั่งกรรมฐานจะมีสิทธิตกนรกไหม..?"


"......เมื่อข้าพเจ้าเลิกดื่มสุราได้แล้ว การบำเพ็ญทานและการรักษาศีลของข้าพเจ้าก็เป็นไปโดยง่าย ไม่มีอะไรติดขัด..ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคขัดขวาง ทำให้เกิดการไขว้เขวอีกต่อไป จึงนับว่าข้าพเจ้าได้เหยียบย่างขึ้นสู่บันไดขั้นที่ 1 อันเป็นความงามเบื้องต้นของพระพุทธศาสนาได้แล้ว อย่างค่อนข้างมั่นคงทีเดียว

แต่คนอย่างข้าพเจ้าย่อมไม่อยู่หยุดเพียงเท่านี้แน่ จะต้องพยายามหาทางก้าวเดินขึ้นสู่บันไดขั้นที่ 2 คือการเจริญภาวนาให้ได้ฌานสมาบัติให้จงได้

ด้วยเหตุนี้ในคืนวันหนึ่ง ข้าพเจ้าเข้าไปไหว้พระสวดมนต์ตามที่หลวงพ่อเคยสอนไว้ (จะสวดอะไรบ้างนั้น ขอท่านผูอ่านจงเปิดดูในคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐานที่หลวงพ่อเขียนไว้เถิด เพราะขณะนี้ได้มีจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มไว้แล้ว) แล้วลองนั่งดูตามแบบฉบับของการนั่งกรรมฐานคือนั่งขัดสมาธิเพชร นั่นเอง

ต่อจากนั้นก็เริ่มระลึกถึงลมหายใจเป็นอารมณ์(อานาปานุสสติกรรมฐาน) แล้วกำหนดเอา “พุทโธ” เป็นองค์ภาวนา (พุทธานุสสติกรรมฐาน) คือหายใจเข้าภาวนาว่า “พุท” หายใจออกภาวนาว่า “โธ” และชั่วระยะเวลาผ่านไปเพียงไม่กี่วินาที ข้าพเจ้าก็เริ่มรู้สึกคันตามเนื้อตามตัว โดยเฉพาะที่ใบหน้าเหมือนมีตัวแมลงมาเดินไต่

ยิ่งหักห้ามใจสะกดนิ่งไว้ เจ้าแมลงที่ว่าก็ดูเหมือนจะเดินไปเข้าหูบ้าง จมูกบ้าง จนข้าพเจ้าทนไม่ไหว ต้องใช้มือคอยปัด และเกาตามเนื้อตามตัวที่คันอยู่บ่อยๆ อดนึกขำไม่ได้ที่มีคนเคยเอาปัญหานี้ถามหลวงพ่อ แล้วหลวงพ่อเย้าว่า

“ไอ้ตัวสมาธินี่มันคันใช่ไหม อย่าไปสนใจมันนะปล่อยไปเดี๋ยวมันก็หายคันเองแหละ” เอ้า...ปล่อยก็ปล่อย ข้าพเจ้ากำหนดจิตอยู่แต่ลมหายใจเข้า-ออก และองค์ภาวนา “พุทโธ” ต่อไปความคันต่างๆ เกิดหายไปจริงๆ

แต่ความเจ็บที่ตาตุ่มซึ่งกดติดกับพื้นกระดานนี่สิ มันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้นที่ก้นกบอีกแห่งหนึ่ง ก็ดูเหมือนจะมีอาการเจ็บปวดขึ้น และแม้ว่าข้าพเจ้าจะหาเบาะมารองพื้น และนั่งใหม่ก็หาได้พ้นจากความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นไม่ มิหนำซ้ำขาทั้งสองข้างของข้าพเจ้า กลับเกิดอาการเหน็บชาจนขยับเขยื้อนไม่ได้เลยอีกด้วย

เป็นอันว่าการเจริญภาวนาของข้าพเจ้าในคืนนั้น ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง คิดไม่ถึงจริงๆ ว่าการเจริญภาวนานั้น ทำไมจึงช่างยากเย็นและทุกขเวทนาเช่นนี้ และถ้าแก้ไขไม่ตกก็เห็นทีที่ข้าพเจ้าจะก้าวขึ้นสู่บันไดขั้นที่ 2 ไม่ได้แน่ ดังนั้นในวันหนึ่งข้าพเจ้าจึงได้ถามหลวงพ่อว่า

“หลวงพ่อครับ ถ้ากระผมทำแต่ความดีโดยไม่ต้องนั่งกรรมฐานจะมีสิทธิ์ตกนรกไหมครับ?”

“มีสิทธิ์ตกแน่..!” หลวงพ่อตอบทันที

“อ้าว...ก็พระพุทธเจ้าสอนว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มิใช่หรือครับ?” ข้าพเจ้าแย้ง

“ใช่... แต่คุณหรือคนธรรมดาทั่วๆ ไปจะมีใครกระทำแต่ความดี 100 เปอร์เซ็นต์ เล่า มีแต่ทำดีมาก ทำชั่วน้อยหรือทำชั่วมาก ทำดีน้อยจริงไหม.. ไม่ใช่พระอรหันต์นี่ ท่านมีสติทุกลมหายใจเข้าออกจึงจะทำความดีได้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์” หลวงพ่ออธิบาย

“แต่หลวงพ่อเคยพูดไว้นี่ครับว่า การบำเพ็ญทานและรักษาศีลนั้นถึงเป็นความงามเบื้องต้นของพระพุทธศาสนา หากตายไปก็มีสิทธิ์ไปจุติเป็นเทวดา เสวยสุขในสวรรค์ได้” ข้าพเจ้าแย้งเพราะยังข้องใจอยู่

“เก่งนี่...ที่จำได้ แต่นั่นต้องหมายความว่า ก่อนตายจิตของคุณก่อนที่จะแยกจากกายต้องจับอยู่ในกุศลผลบุญของทาน ศีล ที่คุณทำมา

“จิตก็คือจิต, กายก็คือกาย จิตมิใช่เป็นอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของกายนะ เสมือนเช่นคนขับรถ ก็มิใช่เป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของตัวรถนั่นแหละ กล่าวคือคนขับรถก็มิใช่เป็นพวงมาลัย,มิใช่เป็นเพลา,มิใช่เป็นลูกล้อ, มิใช่เป็นตัวรถฉันใด

จิตก็มิใช่เป็นหัวใจ, ไส้, ปอด,มันสมองหรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายฉันนั้น เมื่อรถเกิดเสียคนขับก็พยายามซ่อม พยายามแก้ไข อย่างสุดความสามารถแต่เมื่อแก้ไขไม่ได้คนขับรถก็ต้องทิ้งรถหารถคันอื่นใหม่ฉันใด

จิตก็เช่นกันนะ เมื่อกายเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยก็นำกายไปหาหมอให้รักษาเยียวยา แต่เมื่อไม่สามารถจะแก้ไขเยียวยาได้ จิตก็จำต้องทิ้งกายไปฉันนั้น”หลวงพ่ออธิบายและเมื่อเห็นข้าพเจ้ายังสนใจฟังอยู่ก็พูดต่อว่า

“คุณไปเอาอกเอาใจกายของคุณมามากต่อมากแล้วนะ อยากกินอะไรไม่ว่าจะใกล้ไกลแค่ไหนเพียงไรคุณก็พากายไปกินจนได้ อยากจะเที่ยวที่ไหน อยากจะดูอะไรคุณก็พากายไปเที่ยว ไปดู อยากจะเสียอยากจะงามเสีย เงินสักเท่าไร คุณก็สรรหามาแต่งให้กายคุณจนได้

อยากจะฟังอะไรคุณก็พากายไปฟัง หรือไม่ก็หาซื้อเครื่องเสียงขั้นดีมาเปิดให้ฟังแต่คุณเคยขอร้องอะไรกับร่างกายคุณบ้างไหม ลองใคร่ครวญดูให้ดีซิเวลาเกิดปวดหัว ปวดฟัน คุณขอร้องมิให้ปวดได้ไหม?

เมื่อผมหงอกผมร่วงคุณขอร้องมิให้หงอก มิให้ร่วงได้ไหม?เวลาจะแก่คุณขอร้องไม่ให้แก่ได้ไหม? และเวลาคุณจะตายคุณขอร้องว่าอย่าเพิ่งตายได้ไหม? มันไม่เคยยอมทำตามที่คุณขอร้องเลยสักอย่างเดียวนะ

นี่หรือมิตรแท้ มิตรแท้ก็ต้องฟังกันบ้างซิ ยามสุขก็ต้องสุขด้วยกัน ยามทุกข์ก็ต้องทุกข์ด้วยกันสิจึงจะถูก นี่อะไรทำชั่วไว้มากมาย พอตายนอนแหงแก๋ไม่ยอมตามไปรับกรรมในนรกด้วย ปล่อยให้จิตเป็นผู้รับภาระในการใช้หนี้กรรมเอาดื้อๆ

เห็นไหมว่า มิตรที่แท้จริงของคุณก็คือจิตนะ มิใช่กายเพราะจิตนั้นไม่มีวันตายและจะติดตามคุณไปทุกภพทุกชาติ ไม่ว่าจะรับกรรมหรือเสวยสุขนะแต่คุณเคยเอาใจมิตรแท้หรือจิตของคุณบ้างไหม?

เปล่าเลย.. คุณใช้จิตอย่างไม่เคยว่างเว้นใน 5 นาที คุณคิดไม่รู้กี่เรื่องจริงไหม? มิหนำซ้ำยามนอนคุณก็ยังไม่ละเว้นที่จะใช้จิต จึงได้ฝัน ได้ละเมอเปรอะไปหมด คุณทารุณโหดร้ายต่อจิตซึ่งเป็นมิตรแท้ของคุณมามากแล้วนะ” หลวงพ่ออธิบายซ้ำ

“แล้วผมจะเอาจิตซึ่งเป็นมิตรแท้ ได้อย่างไรครับหลวงพ่อ?” ข้าพเจ้าถามด้วยความอยากรู้

“ก็นั่งกรรมฐานซิ เมื่อจิตว่างก็จะได้พักผ่อน เมื่อจิตได้พักผ่อนก็เกิดเอิบอิ่ม มีพลังกล้าแข็ง ยังไงล่ะ” หลวงพ่อตอบยิ้มๆ

“เมื่อคืนก่อนผมนั่งดูบ้างแล้วครับ แต่ทนทุกขเวทนาไม่ได้ จึงต้องเลิกนั่ง”ข้าพเจ้าตอบแล้วเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดแก่ข้าพเจ้าในการนั่งให้หลวงพ่อฟังดังที่ได้กล่าวในตอนต้น ซึ่งเมื่อหลวงพ่อได้ฟังแล้วก็หัวเราะพูดว่า

“เอ๊ะ.. คุณนี่เอาจริงไม่เลวนะ แอบไปนั่งกรรมฐานจนค้นพบว่าตัวสมาธินี่มันคันมันเมื่อยเสียแล้ว แต่อย่างน้อยคุณก็ได้บุญแล้วนะ แต่ความจริงแล้วการเจริญพระกรมฐานนั้น ไม่จำเพาะแต่จะต้องมานั่งกรรมฐานอย่างเดียวเท่านั้นนะ ท่านให้ทำได้ถึง 4 อิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง หรือนอนก็ได้นะ

และการนั่งก็ไม่จำเป็นต้องนั่งให้ถูกตามแบบฉบับนักหากนั่งกับพื้นไม่ได้ก็นั่งบนเก้าอี้ หรือไม่ก็นอนสบายๆ บนเก้าอี้ผ้าใบก็ได้เราฝึกจิตนะ ไม่ใช่ฝึกทรมานกาย พระพุทธเจ้าเองท่านก็สอนให้เดิน "สายกลาง" มิให้ตึงไป มิให้หย่อนไป

ถ้ากำหนดกฎเกณฑ์กันมากมายนัก คนสูงอายุก็ดี คนอ้วนก็ดี ที่ไม่สามารถนั่งขัดสมาธิกับพื้นได้ ก็ไม่ต้องมีโอกาสได้นั่งกรรมฐานซิ ถึงพยายามนั่งก็จะไม่ได้แค่ปฐมฌานทั้งนั้น เพราะเสี้ยนหนามของปฐมฌานก็คือนิวรณ์ 5 ซึ่งได้แก่

1.ความพอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส(กามฉันทะ)
2.ความผูกพยาบาท
3.ความง่วงเหงาหาวนอน
4.ความคิดฟุ้งซ่านและความรำคาญหงุดหงิดใจ
5.ความเคลือบแคลงสงสัยในผลการปฏิบัติ


ดังนั้น.. เมื่อเกิดความเมื่อยขบขึ้นมา ความหงุดหงิดรำคาญใจซึ่งเป็นหนึ่งในนิวรณ์ก็เกิดขึ้น และนิวรณ์ 5 นี้หากเกิดขึ้นแม้เพียงอย่างใด อย่างหนึ่งปฐมฌานก็เกิดขึ้นไม่ได้แล้วนะ เป็นยังไงเข้าใจหรือยัง?” หลวงพ่ออธิบาย

“เข้าใจแล้วครับ แบบนี้ค่อยยังชั่ว ผมจะพยายามเจริญพระกรรมฐานใหม่ ที่ผมท้อใจก็เพราะทนนั่งเจ็บตาตุ่มไม่ไหว ทรมานจริงๆ ครับ” ข้าพเจ้าตอบอย่างดีใจ

“แต่การเจริญกรรมฐานนั้น คุณจะต้องปฏิบัติทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานด้วยนะ เพราะหากปฏิบัติแค่ "สมถกรรมฐาน" แม้จะบรรลุไปสู้จุดสุดยอดคือ ทางฌาน 4 มีจิตเป็นเอกัคคตารมณ์ได้ก็จริง ก็ยังเป็นแค่ฌานโลกีย์อยู่นะ

จิตบริสุทธิ์ก็จริง แต่ยังขาดปัญญาเขาเรียกว่า “โง่บริสุทธิ์” นะ จริงอยู่ถ้าเกิดตายในขณะทรงฌานได้ก็จะไปเป็นพรหมได้ แต่คุณจะอยู่ในฌานได้ตลอดเวลาหรือ ส่วนใหญ่ก็มักจะอยู่นอกฌานจริงไหม? และเมื่ออยู่นอกฌาน จิตซึ่งขาดปัญญาก็ย่อมตกเป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรมได้ เช่นปุถุชนคนธรรมดาทั่วไปๆ ไปเหมือนกัน

และถ้าหากเกิดตายในขณะนั้นขึ้นมา แม้เคยทรงฌานได้ก็มีสิทธิ์ตกนรกได้นะ เขาเรียกว่า”ตายนอกฌาน” ยังไงล่ะ และก็มีมาแล้วมากต่อมากด้วยเป็นที่น่าเสียดายยิ่ง ดังนั้นคุณจะต้องเอากำลังฌานของสมถกรรมฐานนี้มาพิจารณา "วิปัสสนากรรมฐาน" ให้ได้ จึงจะล่วงข้ามความทุกข์ เข้าสู่พระนิพพานได้

หากแม้ไม่ได้ในชาตินี้ โอกาสลงนรกของคุณก็จะไม่มีนะ ถ้าคุณฝึกจิตเพียงแค่อยู่ในระดับ "พระโสดาบัน" ให้ได้เท่านั้น คุณก็หมดสิทธิ์ลงนรกแล้วนะ” หลวงพ่ออธิบายอย่างละเอียดด้วยความเมตตาเมื่อเห็นข้าพเจ้ายังตั้งใจฟังอยู่ก็อธิบายต่อว่า

“การให้ทานและรักษาศีลนั้น เป็นเพียงแค่ป้องกันหรือจำกัดเขตมิให้กิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรมนั้นออกมาเพ่นพ่านนอกกรอบด้วยการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ความโลภ โกรธ หลงคือกิเลส หรือความทะยานอยากได้ อยากจะมี อยากจะเป็นคือตัณหา หรือการยึดมั่นถือมั่นว่าไอ้นั่นคือของเรา ไอ้นี่คือของเรา (อุปาทาน) ยังคงมีอยู่ในจิตนะ เสมือนหนึ่งจับเสือขังกรงไว้นั่นแหละ แม้มันจะไม่สามารถออกมาขบกัดทำร้ายใครได้ก็ตาม แต่มันก็ยังดุใช่ไหม?

ส่วนการเจริญสมถกรรมฐานนั้นเพียงแค่ระงับกิเลส ตัณหา อุปทานและอกุศลกรรม ไว้ได้เพียงชั่วขณะที่ทรงฌานเท่านั้น เมื่ออกนอกฌานตัวกิเลส ตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรมก็กลับพื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ได้อีก เปรียบเสมือนฉีดยาสลบให้เสือนั่นเอง ถ้าหมดฤทธิ์ยาสลบเมื่อใด เสือก็ยังคงเป็นเสือที่ดุร้าย พร้อมจะขบกัดทำร้ายผู้คนอยู่เช่นเดิมนั่นแหละ

แต่ถ้าหากได้เจริญ "วิปัสสนาญาณ" จนเกิดปัญญารู้เท่าทันในกิเลสตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรมแล้วค่อยๆละ ค่อยๆ ตัด "สังโยชน์ 10" ออกไปทีละข้อๆ ได้จบครบทั้ง 10 ข้อเด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหาน แล้วนั่นแหละ ตัวกิเลส ตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรม ทั้งหลายจึงหมดฤทธิ์ เปรียบเสมือนหนึ่งคุณใช้มีดเข้าห้ำหั่นเสือจนตายไปนั่นแหละ เสือจึงสิ้นฤทธิ์ เข้าใจหรือยังล่ะ?” หลวงพ่ออธิบายอย่างละเอียด แล้วถามข้าพเจ้าอย่างเมตตา

“เข้าใจแล้วครับหลวงพ่อ ผมจะพยายามต่อไปครับ” ข้าพเจ้าตอบด้วยจิตใจที่อิ่มเอิบ และเบิกบาน...

"...แล้วท่านผู้อ่านที่รักล่ะ เข้าใจตามข้าพเจ้าแล้วหรือยัง..?"

◄ll กลับสู่สารบัญ


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 12/9/09 at 02:53 [ QUOTE ]



(Update 12/09/2552)



คนที่ตั้งหน้าทำแต่ความดีทำไมจึงไม่ได้ดีเหมือนคนชั่วบางคน..?



หลังจากที่หลวงพ่อได้เมตตาคลี่คลายความเคลือบแคลงสงสัยในการเจริญพระกรรมฐานให้ข้าพเจ้า จนเกิดความกระจ่างแล้วข้าพเจ้าก็ได้พยายามฝึกฝนตนเองไปเรื่อย ๆ โดยมิได้ว่างเว้นจนสามารถที่จะทรงฌาน 2 ได้ในทันทีที่คิดจะเจริญพระกรรมฐาน

กล่าวคือเพียงแค่คิดแล้วสูดลมหายใจเข้ายังมิทันจะออกก็สามารถเข้าสู่ฌาน 2 ได้แล้ว และต่อจากนั้นเพียงแค่ 2-3 นาที ก็จะสามารถเข้าสู่ฌาน 3 ได้แล้ว ก็ทรงอยู่เช่นนั้นได้เป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากพอสมควรแต่ยังไม่สามารถทรงฌาน 4 ได้ตามกำหนดระยะเวลาที่ตั้งใจไว้

และในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังมุที่จะเจริญพระกรรมฐานอยู่นั้นก็บังเอิญมีเรื่อง ๆ หนึ่งเข้ามาขัดจังหวะ ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในผลการปฏิบัติ ว่าจะไม่มีผลดีจริงตามที่คิด กล่าวคือในขณะนั้นมีการฝึกซ้อมรบที่กองบิน 4 ถึงสามวัน สามคืน

และในช่วงระยะเวลาดังกล่าวข้าพเจ้าและบรรดาผู้ที่เข้ารับการฝึกทั้งหมดก็จะต้องอยู่ ณ ที่ตั้งกองบัญชาการฝึกตลอดเวลาอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานของศูนย์ข่าวที่ข้าพเจ้าต้องรับผิดชอบนั้น หนักมากเพราะเป็นการฝึกรบกันทางกระดาษมิได้รบจริง

ดังนั้นข่าวที่ทางหน่วยเหนือส่งมาก็ดี และการปฏิบัติที่ทางกองบิน 4 จะต้องรายงานผลย้อยกลับไปยังหน่วยเหนือก็ดี จึงมีมากมาย จนข้าพเจ้าต้องโดดเข้าไปช่วยเจ้าพนักงานศูนย์ข่าวซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของข้าพเจ้า รับส่งข่าวด้วยตนเองอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้นข่ายการติดต่อสื่อสารไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ก็ดี โทรคมนาคมก็ดี มักจะเกิดปัญหา

ในทุกครั้งที่ฝนตก ซึ่งข้าพเจ้าก็จะต้องควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชาออกตรวจซ่อมหนาวสั่นกันอยู่หลายฝนอีกด้วยในขณะที่นายทหารสัญญาบัตรของกองบิน 4 ทั้งหลายนั่งล้อมวงจิบกาแฟคุยกันบ้าง เล่นไพ่ เล่นโดมิโนกันบ้างนาน ๆ ครั้งจะชะโงกหน้ามาขอดูข่าวที่รับ ที่ส่งบ้างเท่านั้น

แต่สิ่งที่เขาเหล่านั้นระวังกันมากที่สุดก็คือผลัดกันคอยดูว่ารถผู้บังคับการกองบิน 4 จะเข้ามาที่กองบัญชาการฝึกหรือยังหากเห็นรถมาแต่ไกล วงสนทนา วงไพ่ วงโดมิโน จะแตกทันทีและทุกคนจะรีบเข้าประจำที่ ดึงเอกสารต่าง ๆ ออกมาวางกันอย่างล้นเหลือ

และบางคนยิ่งกว่านั้น วิ่งออกไปรับหน้าผู้บังคับการกองบินถึงที่รถพร้อมกับรายงานผลการปฏิบัติในการฝึกที่ผ่านมาทั้งหมดให้ผู้บังคับการกองบินทราบทั้ง ๆ ที่หาใช่หน้าที่ของตนแต่อย่างใดไม่ ทั้งนี้เพราะหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละสายงานก็ได้แบ่งกันไว้โดยชัดเจนแล้วหน้าที่ผู้รับผิดชอบในแต่ละสายงานจะต้องเป็นผู้รายงานเอง จึงจะถูกต้อง

เมื่อการฝึกซ้อมรบเสร็จสิ้น ก็มีการสรุปผลและติชม ผลที่ออกมาก็คือ ทุกสายงานได้รับคำชมเชยหมดยกเว้นในสายงานสื่อสารที่ข้าพเจ้ารับผิดชอบเพียงงานเดียวที่ถูกตำหนิว่า ยังมีขีดความสามารถต่ำไม่สามารถสนับสนุนแผนการยุทธการ และหน่วยงานอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควรอันเป็นผลให้ในปีนั้นข้าพเจ้าเกือบจะถูกงดบำเหน็จในขณะที่เพื่อน ๆ ในสายงานอื่นเขา ได้บำเหน็จกัน 2 ขั้นกันทุกคนโดยถ้วนหน้า

เรื่องนี้ได้ประทับรอยแห่งความผิดหวังท้อแท้เกลียดชังและไขว้เขวลงในใจข้าพเจ้าเป็นอย่างมาก นี่หรือคือความยุติธรรม ข้าพเจ้าอยากจะหัวเราะเยาฟ้าดินให้ก้องโลก คนนั่งคุยกันนั่งเล่นไพ่เล่นโดมิโนต่างพากันได้รับคำชมเชย และได้บำเหน็จ 2 ขั้นเป็นการตอบแทนส่วนข้าพเจ้าซึ่งทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ ให้กับงาน กลับถูกตำหนิ และเกือบถูกงดบำเหน็จ นี่หรือทำดีได้ดี ทำชั่ว..?

การที่เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นมา ทำให้ข้าพเจ้าต้องคิดหนัก และยิ่งคิดหนักก็ยิ่งเกิดความไขว้เขว และไม่สนใจในผลปฏิบัติดีปฏิบัติชอบยิ่งขึ้น กล่าวคือในระยะเวลานั้น กองบิน 4 มีทหารอเมริกันเข้ามาตั้งฐานทัพอยู่ด้วย ทำให้มีพ่อค้านักธุรกิจเข้ามาประมูลงานกันอย่างคับคั่ง

ทั้งงานสร้างอาคารสำนักงาน ถนน สนามบิน ตัดหญ้า ขนขยะ รถเช่า ร้านอาหาร ร้านขายของต่างๆ ตลอดจนในด้านบันเทิงไม่ว่าจะเป็น เรื่องนักร้อง นักดนตรี ตามสโมสรของอเมริกาด้วย

ปรากฏว่าข้าราชการกองบิน 4 ที่ร่ำรวยกัน ขึ้นมาอย่างผิดหูผิดตาก็คือ บรรดาข้าราชการที่หลบเลี่ยงงานราชการแล้วใช้อำนาจหน้าที่ของตนวิ่งเต้นช่วยเหลือบรรดาพ่อค้าบ้าง ร่วมมือกับทหารอเมริกาเอาของในพีเอ๊กซ์ เช่น เหล้าบุหรี่ เครื่องเสียง ที.วี ตู้เย็นไปขายบ้าง

ข่มขู่ผู้ที่เข้ามาประมูลขอค่าคุ้มครองบ้างเป็นต้น และนอกจากเขาเหล่านั้นจะพากันร่ำรวยด้วยการเลี่ยงงานราชการแล้ว แทนที่ผู้บังคับจะตำหนิหรือลงโทษกลับได้รับการสนับสนุน ยกย่อง และให้ความเกรงอกเกรงใจเป็นพิเศษเสียอีกด้วยซ้ำไป ด้วยเหตุผลที่ว่าเขาเหล่านั้นมีบุญคุณหาเงินมาช่วยสวัสดิการของหน่วย

สิ้นปีเผลอ ๆ ยังแอบให้บำเหน็จ 2 ขั้นอีกด้วยซ้ำไปส่วนข้าราชการดี ๆ ที่ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ ทำงานให้หน่วยนั้น อย่าว่าแต่ถึงขั้นเลี่ยงงานเลย เพียงแค่มาทำงานสาย หรือช้าไปเพียง 5 นาทีก็ถูกลงโทษแล้ว นี่หรือความยุติธรรมนี่หรือทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

นอกจากนี้ยังมีคนเลว ๆ อีกมากมายที่ส่อให้เห็นเป็นที่ประจักษ์อย่างชัดแจ้งว่าคดโกงประชาชน โกงกินบ้านกินเมือง ลบหลู่ศาสนาและกระทำตนเป็นมารสังคม ตลอดมา โดยที่หาได้สนใจในเรื่องของทาน ศีล ภาวนาไม่แม้สักน้อยนิด แต่ก็ได้ดิบได้ดีร่ำรวยเป็นเศรษฐีมีชื่อเสียงเกียรติยศ จนเป็นถึงรัฐมนตรีก็มีไม่น้อย

เมื่อข้าพเจ้าบังเกิดความเคลือบแคลงสงสัยขึ้นมาเช่นนี้ และได้พิจารณาแล้วเห็นว่าหากไม่สามารถคลี่คลายความเคลือบแคลงสงสัยในข้อนี้ได้ ก็จะเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงในการเจริญพระกรรมฐานได้ ดังนั้นในวันหนึ่งข้าพเจ้า จึงได้ไปกราบนมัสการหลวงพ่อแล้วเล่าเรื่องต่าง ๆ ที่ข้าพเจ้าข้องใจดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นทั้งหมดให้หลวงพ่อฟังแล้วเน้นถามว่า

“หลวงพ่อครับ คนที่ตั้งหน้าตั้งตากระทำแต่ความดีทำไมจึงไม่ได้ดีเหมือนคนชั่วบางคนเล่าครับ..?”

“ถ้าคุณเริ่มปลูกต้นมะม่วงในวันนี้ คุณจะเก็บมะม่วงกินได้สักเมื่อใด..?” หลวงพ่อย้อนถาม

“เอ..! ผมก็ไม่ค่อยจะมีความรู้ในเรื่องของมะม่วง แต่ที่บ้านผมปลูกไว้ไม่ต่ำกว่า 5 ปี จึงจะออกผลครับ” ข้าพเจ้าตอบ ชักลังเลไม่แน่ใจว่าหลวงพ่อฟังเรื่องที่ข้าพเจ้าหรือฟังคำถามของข้าพเจ้าหรือเปล่า

“เอ้อ..! ตอนปลูกคุณเหนื่อยไหม..?” หลวงพ่อถามเรื่อย ๆ

“เหนื่อยสิครับ เพราะดินที่บ้านผมเป็นดินเปรี้ยว ต้องขุดหลุมกว้างถึง 1 เมตร ยาว 1 เมตร ลึก 1 เมตร แล้วหาดินใหม่มาใส่แทนอีกทั้งต้องให้ปุ๋ยและเอาปูนขาวลงไว้รอบ ๆ หลุมอีกด้วยครับ” ข้าพเจ้าตอบตามความเป็นจริง

“ปลูกต้นมะม่วงเหนื่อย แต่ก็ยังไม่ได้กินผลในทันทีแล้วตอนนี้คุณต้องคอยดูแลต้นมะม่วงของคุณอีกหรือไม่..?” หลวงพ่อยังถามเรื่อย ๆ

“ไม่แล้วครับ ปล่อยทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ หากเกิดขยันเมื่อไรผมจึงรดน้ำให้บ้าง แต่ก็นาน ๆ ทีครับ” ข้าพเจ้าตอบ

“แล้วมันออกลูกให้คุณกินทุกปีไหม..?” หลวงพ่อถามยิ้ม ๆ

“ทุกปีแหละครับ มากบ้างน้อยบ้าง สุดแล้วแต่ว่าเพลี้ยจะลงหรือไม่ครับ” ข้าพเจ้าตอบตามความเป็นจริง

“คุณคิดบ้างไหมว่า ในขณะนี้คนอื่น ๆ ที่เขาเพิ่งเริ่มปลูกมะม่วงน่ะ เขาอิจฉาคุณนะ เพราะเขาคิดว่าเขาต้องลงทุนลงแรงเหน็ดเหนื่อยถางหญ้า ขุดหลุม รดน้ำ พรวนดิน ให้ปุ๋ย ฉีดยาฆ่าแมลง เพื่อทำนุบำรุงต้นมะม่วงของเขาอยู่ทุกวี่ทุกวัน

มิหนำซ้ำมะม่วงก็หาได้อกผลมาให้เขาได้ชื่นชม เก็บมาได้บ้างเลย ผิดกับคุณซึ่งนั่ง ๆ นอน ๆ อยู่เฉย ๆ มะม่วงของคุณก็ออกผลมาให้คุณกินอยู่ทุกปี มิได้ขาด” หลวงพ่อพูดเรื่อย ๆ

“อ้าว..! เขาจะมาคิดอิจฉาผมอย่างนั้นก็ไม่ถูกซิครับ เขาน่าจะคิดว่าย้อนกลับไปเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วซิว่า ในขณะที่เขามัวแต่เที่ยวเตร่หาความสุขอยู่นั้นน่ะ ผมต้องลงทุนลงแรงอาบเหงื่อต่างน้ำมากับเจ้าต้นมะม่วงของผม มิได้ยิ่งหย่อนไปกว่าเขาเลยนะครับ

หนอยแน่..! พอเริ่มลงมือปลูกก็จะกินผลเลยเป็นไปได้ยังไงกัน ก็ต้องเหนื่อยไปก่อนซิครับ อีก 5-6 ปีโน่นจึงค่อยคิดจะกินมะม่วงที่ปลูก ผมก็เองต้องรอมาก่อนเหมือนกันนะครับ” ข้าพเจ้าตอบด้วยเหตุด้วยผล

“นี่คุณกำลังตอบคำถามของคุณเอง แทนฉันไปหมดสิ้นแล้วนะ” หลวงพ่อพูดยิ้ม ๆ และเมื่อเห็นข้าพเจ้ายังนั่งงงอยู่ก็อธิบายว่า

“คนที่เขาร่ำรวยมั่งมีศรีสุข หรือประสบความสำเร็จในอดีตชาตินั่นเอง ดังนั้นเมื่อเขามาเกิดในชาตินี้ บุญที่เขาได้สร้างสมมา จึงมาตอบสนองให้เขามีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย แต่ถ้าเขาคอยแต่นั่งกินบุญเก่าอยู่ โดยไม่สร้างบุญใหม่เพิ่มเติมในชาตินี้

มิหนำซ้ำกลับสร้างแต่ความชั่ว ดังที่คุณได้เล่ามาแล้ว ก็นับว่าเขาเหล่านั้นตกอยู่ในความประมาทอย่างมาก และเป็นที่น่าเสียดายยิ่งนัก เพราะถ้าเมื่อใดบุญเก่าหมด กรรมชั่วจะตามมาสนองเขาทันที อาจจะได้รับผลกรรมทันตาเห็นในชาติปัจจุบันก็ได้นะ

แต่ถ้าบุญกุศลที่เขาสร้างสมมาแต่อดีตชาติมีมาก ผลของกรรมชั่วแม้จะตามมาตอบสนองไม่ทันในชาตินี้ เขาก็ต้องไปรับกรรมชั่วในชาติหน้า ภพหน้าอยู่ดี หนีไม่พ้นหรอกนะ

เหมือนเช่นคุณ ถ้ามัวแต่นั่งรอกินมะม่วงที่คุณลงทุนลงแรงปลูกไว้เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว โดยไม่ยอมรดน้ำ พรวนดิน ให้ปุ๋ย หรือปลูกต้นมะม่วงใหม่เพิ่มเติมแล้ว ผลมะม่วงจากต้นเก่าที่จะออกผลให้คุณก็จะน้อยลง ๆ และลูกผลก็จะเล็กลงไปทุกทีๆ ในที่สุดสักวันหนึ่ง คุณก็จะไม่มีมะม่วงกินเช่นกันนะ" หลวงพ่ออธิบายอย่างละเอียด และเมื่อข้าพเจ้ายังตั้งใจฟังอยู่ ก็พูดต่อว่า

"มนุษย์และสัตว์โลก ล้วนถูกลิขิตให้เกิดมาเพื่อชดใช้กรรมจากในอดีตชาติทั้งสิ้น ใครทำกรรมดีมา ก็ได้เกิดมาเสวยสุข และใครทำกรรมชั่วมาก็ต้องชดใช้กรรมชั่วนั้น ๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนเมื่อเกิดมาแล้ว หากผู้ใดสร้างสมแต่คุณงามความดี ก็จะไปได้รับส่วนกุศลผลบุญตอบสนองเอาในชาติหน้า

เหมือนเช่นคนที่เริ่มปลูกมะม่วงในขณะนี้ ก็จะไปได้กินผลมะม่วงในอีก 5-6 ปีข้างหน้านั้นแหละ ส่วนผู้ใดแม้ร่ำรวย มั่งมีศรีสุข หากประกอบแต่กรรมชั่วไว้ในชาตินี้ ก็จะต้องไปชดใช้กรรมชั่วในชาติหน้า เช่นกันนะ ด้วยเหตุนี้ องค์สมเด็จพระศาสดา จึงได้จำแนกผู้คนออกไว้เป็น 4 จำพวกด้วยกันคือ

1.มาสว่างไปมืด ได้แก่ บุคคลประเภทที่คุณได้เล่ามา คือในอดีตชาติสั่งสมบุญไว้มาก พอมาเกิดในชาตินี้ก็มั่งมีศรีสุข และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่มิได้สร้างสมบุญกุศลเพิ่มเติม หรือกระทำแต่ความชั่วในชาตินี้ เมื่อตายไปแล้วก็จะต้องชดใช้กรรมในอบายภูมิทั้ง 4 คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน หรือแม้นหากเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะยากจนข้นแค้นสาหัสนะ

2.มามืดไปมืด ได้แก่ บุคคลที่เกิดมาชดใช้กรรมชั่วที่ได้กระทำ ไว้ในอดีตชาติ มิหนำซ้ำเมื่อเกิดมาแล้ว กลับกระทำแต่ความชั่วอีก เมื่อตายไปก็จะต้องไปชดใช้กรรมชั่วในอบายภูมิสถานเดียว

3.มามืดไปสว่าง ได้แก่ บุคคลที่เกิดมาชดใช้กรรมชั่วที่ได้กระทำมาแล้วในอดีตชาติ และแม้เมื่อเกิดมาในชาตินี้ จะมีฐานะความเป็นอยู่ที่ยากจนข้นแค้นแสนสาหัสสักเพียงไหน ก็ตั้งหน้าตั้งตาประกอบแต่คุณงามความดีโดยไม่ ท้อถอย เมื่อตายไปจักได้ไปเสวยสุขตามกุศลผลบุญที่ได้กระทำนั้น ดังเช่น เจ้าแดง สุนัขของฉัน ซึ่งถูกรถบรรทุกทับตาย แล้วไปเกิดเป็นเทวดานั้นแหละ จำได้ไหม ?

4.มาสว่างไปสว่าง ได้แก่ บุคคลที่ในอดีตชาติ สั่งสมบุญไว้มาก เมื่อมาเกิดในชาตินี้ก็มั่งมีศรีสุข และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มิหนำซ้ำ กลับตั้งหน้าตั้งตาประกอบแต่คุณงามความดี เพิ่มเติมโดยไม่หยุดยั้ง เมื่อตายไปก็จักไปเสวยสุขในภูมิที่สูงกว่ามนุษย์นะ หรือแม้นเกิดเป็นมนุษย์ก็จะร่ำรวย มั่งมีศรีสุขยิ่งกว่าเก่า ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานยิ่งกว่าเก่านะ เข้าใจหรือยัง..?


"รวมความว่า ทุกคนเกิดมาเพื่อใช้กรรมเก่าที่ได้กระทำมาแต่อดีตชาติทั้งสิ้น หากทำดีมากก็ได้เสวยสุข หากทำชั่วก็ต้องทนทุกข์ชดใช้กรรมไป ส่วนจะกระทำความดีหรือกระทำชั่วในชาตินี้ ก็ต้องว่ากันในชาติหน้าใช่ไหมครับ" ข้าพเจ้าเน้นถามเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง

"ถูกต้องแล้ว แต่ยังไม่ถูกต้องเสียทั้งหมดทีเดียวนะ เพราะการกระทำความชั่วบางอย่าง เป็นบาปมหันต์ อาจต้องรับกรรมชั่วอย่างทันตาเห็น โดยไม่จำเป็นต้องรอไปถึงชาติหน้าก็มี เช่น เถนเทวทัต ถูกธรณีสูบ เป็นต้น ขอให้จำไว้นะ
ของสูงเช่นพระพุทธเจ้าก็ดี พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ดี พระอรหันต์ก็ดี พระอริยสงฆ์ก็ดี อย่าได้ไปลบหลู่ดูหมิ่นเป็นอันขาดนะ เพราะเป็นบาปมหันต์ รับผลทันตาเห็นในชาตินี้ทันที และแม้ตายแล้ว บาปนั้นก็ยังติดตามไปถึงชาติหน้าภพหน้าอีกด้วยนะ" หลวงพ่ออธิบายย้ำแล้ว พูดต่อว่า

"ความจริง ชีวิตของมนุษย์นั้นสั้นนัก ตามสถิติแล้ว เขาเฉลี่ยอายุของคนไทยทั่วประเทศก็แค่ 55-60 ปี ตายไม่ใช่หรือ..? ดังนั้นถ้าหากเอาเวลาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ( สวรรค์ชั้นที่ 2 ) มาเทียบคือ 1 วันในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเท่ากับ 100 ปีมนุษย์แล้ว ก็จะเห็นได้ชัดว่า

ในชั่วชีวิตหนึ่ง ๆ ของพวกคุณนั้น มีความยาวนานเพียงแค่ครึ่งวันของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เท่านั้นเองนะ คราวนี้ถ้าสมมติว่าเกิดมาเป็นมนุษย์ คุณอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาก่อน ก็หมายความว่า คุณหนีมาเที่ยวในโลกมนุษย์เพียงแค่ครึ่งวันเท่านั้นนะ

และถ้าครึ่งวันนี้คุณเอาแต่กอบโกย ใฝ่หาแต่ความสุขทุกรูปแบบโดยไม่คำนึงถึงความถูก ความควร หรือความเดือดร้อนของผู้อื่นด้วยการฆ่าก็ดี แย่งชิงทรัพย์สินของผู้อื่นมาเป็นของตนก็ดี ผิดลูกผิดเมียเขาก็ดี หรือกล่าววาจาเท็จ หลอก ลวงผู้อื่นก็ดี หรือเสพสุรายาเมา ก่อความเดือดร้อนรบกวนชาวบ้านก็ดี

คุณก็จะต้องไปรับผลแห่งกรรมชั่วที่คุณได้กระทำอีกไม่รู้กี่กัป กี่กัลป์ กี่ภพ กี่ชาตินะ เปรียบเสมือน เช่น ในวันรับเงินเดือน หากคุณนำเงินไปเที่ยวเตร่ หาความสนุกสนานอย่างเต็มที่ ด้วยการตั้งวงเสพสุรา เที่ยวบาร์ เที่ยวคลับ เล่นการพนันหรือหลับนอนกับผู้หญิงโสเภณี จนเงินเดือนหมด คุณก็สนุกของคุณเพียงแค่วันเดียวนะ แต่อีก 28 วันที่เหลือคุณจะต้องเกิดทุกข์ ใช่ไหม..?

แต่ในทางตรงกันข้าม หากคุณใช้เวลาครึ่งวันนี้ ตั้งหน้าปฏิบัติแต่คุณงามความดี โดยไม่ท้อถอย แม้จะยากดีมีจน ประสบแต่ความทุกข์เข็ญปานใด ก็ยึดมั่นในทาน ศีล ภาวนา ให้ได้ตลอดไปแล้ว คุณก็จะได้ไปเสวยผลแห่งกรรมดีอีกหลายภพหลายชาติ เช่นกันนะ

ในขณะนี้คุณก็โชคดีแล้วที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ดังนั้น จงใช้ระยะเวลาอันสั้นของชีวิตนี้ ประกอบแต่กุศล ผลบุญเถิด" หลวงพ่ออธิบายอย่างละเอียด

"หลวงพ่อครับ สมมติว่า หากผมได้สร้างกรรมชั่วมาแต่อดีตชาติและเมื่อได้เกิดในชาตินี้ ผมก็รีบบวชทันทีเมื่อมีอายุครบบวช แล้วเร่งปฏิบัติแต่คุณงามความดี ด้วยการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อย่างครบถ้วนโดยมิได้ขาดตกบกพร่องเลย ผมยังจะต้องชดใช้กรรมชั่วที่ได้กระทำแต่ในอดีตชาติหรือไม่ครับ..?" ข้าพเจ้าถาม เพราะยังติดใจสงสัยอยู่

" ถ้าคุณไปหยิบยืมเงินจากคนอื่นเขามาสัก 10 ราย แต่ยังไม่สามารถจะหาเงินมาใช้หนี้ ให้เขาได้เลยสักรายเดียว แล้วคุณใช้วิธีทำดีกับเขาด้วยวิธีอื่นในทุกวิถีทาง เช่น คอยรับใช้ช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้เขาและลูกเมียที่เขารักบ้าง เอาอกเอาใจเขาด้วยการขวนขวายหาสิ่งของที่เขารัก เขาชอบ โดยคุณไม่ต้องใช้เงินใช้ทองมากนักมาให้บ้าง

หรือ เอาตัวของคุณเขาเสี่ยงภัยปกป้องคุ้มครองเขาบ้าง คุณคิดว่าเจ้าหนี้ทั้ง 10 ราย ของคุณนั้น เขาจะเห็นอกเห็นใจ เห็นในคุณงามความดีของคุณ แล้วยอมยกหนี้สินทั้งหมดให้คุณ โดยที่คุณไม่ต้องหาเงินมาชดใช้เขาเลยหรือไม่ล่ะ..?" หลวงพ่อย้อนถามยิ้ม ๆ เล่นเอาข้าพเจ้าต้องคิดหนักสักครู่หนึ่ง จึงตอบไปว่า

"ก็คงมีเจ้าหนี้บางรายแหละครับ ที่มีจิตเมตตากรุณา แล้วเห็นในคุณงามความดีของผมบ้าง แล้วยอมยกหนี้สินให้ แต่ก็ต้องขึ้นกับจำนวนเงินที่ผมไปยืมเขามาว่า มากน้อยแค่ไหนด้วย ส่วนบรรดาเจ้าหนี้บางรายที่ทั้งงก ทั้งหน้าเลือดแล้ว ผมคิดว่าแม้ผมจะทำดีกับเขาสักเพียงไร เขาก็คงไม่ยกหนี้สินให้ผมหรอกครับ คงต้องตามทวงเช้าทวงเย็น เอาเงินของเขาคืนจากผมจนได้"

"เออ..! ตอบตรงดีนี่ " หลวงพ่อชม แล้วพูดต่อว่า

"บรรดาเจ้านายเวรทั้งหลาย ที่คุณไปก่อกรรมทำเข็ญกับเขาไว้ในอดีตชาติ ก็เหมือนเจ้าหนี้ที่คุณพูดมานั้นแหละนะ แม้คุณจะถือบวชบำเพ็ญ ศีล ภาวนา แล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้เขาอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เขาอยู่ดี มีสุขขึ้นก็ตามที เจ้ากรรมนายเวรบางรายที่เขารู้คุณ เขาก็อาจอภัยไม่คิดทวงหนี้กรรมจากคุณอีก

แต่เจ้ากรรมนายเวรบางราย แม้คุณจะทำดีสักปานใด เขาก็ยังผูกพยาบาท อาฆาตจองเวรกับคุณ ติดตามจองล้างจองผลาญคุณไม่รู้จบสิ้นก็มีนะ แม้ตามทวงหนี้กรรมจากคุณไม่ได้ในชาตินี้ เขาก็จะติดตามทวงหนี้กรรมจากคุณต่อไปในชาติหน้า ภพหน้า ไม่มีที่สิ้นสุด

ยิ่งคุณไปก่อบาปมหันต์ ด้วยการลบหลู่ดูหมิ่น หรือกระทำความชั่วร้ายต่อพระพุทธเจ้าก็ดี พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ดี พระอรหันต์ก็ดี พระอริยสงฆ์ก็ดี บิดา มารดาก็ดี ครูบาอาจารย์ ตลอดจนผู้มีพระคุณทั้งหลายก็ดี แม้ท่านจะอภัยให้ก็ตาม แต่กฎของกรรมจะไม่มีการอภัยให้เป็นอันขาดนะ คุณต้องชดใช้กรรมชั่วที่คุณได้กระทำมาอย่างแน่นอน หลบเลี่ยงไม่ได้เลยนะ

แม้แต่พระโมคคัลลาน์ ซึ่งเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้รับสมญาว่า "เลิศด้วยอิทธิฤทธิ์" ท่านก็ยังต้องชดใช้กรรมที่ได้ก่อมาแล้วในอดีตชาติ โดยยอมให้โจรทุบตาย ในชาติสุดท้ายนั้นเอง" หลวงพ่ออธิบายอย่างละเอียดและกระจ่างชัดยิ่งนัก

ข้าพเจ้ากราบลาหลวงพ่อกลับบ้าน ด้วยจิตที่ปลอดโปร่ง ความเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องของกรรมดี กรรมชั่วหมดไปโดยสิ้นเชิง อีกทั้งเหตุการณ์ที่ข้าพเจ้าได้ประสบพบเห็นในกาลต่อมา ก็ยิ่งประจักษ์ชัดในจิตให้เห็นถึงผลแห่งกรรมยิ่งขึ้น ซึ่งข้าพเจ้าจะหยิบยกมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้รับรู้ไว้บ้างตามสมควร ....

◄ll กลับสู่ด้านบน


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 14/11/09 at 18:38 [ QUOTE ]



บทส่งท้าย


ปัญหาทั้ง 12 ปัญหาที่ข้าพเจ้าได้คัดเลือกเอามาเขียนในหนังสือเล่มนี้ ได้สอดแทรกปัญหาปลีกย่อยเข้าไว้อีกพอสมควร ซึ่งข้าพเจ้าก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า น่าจะมากพอที่จะทำให้ท่านผู้อ่านที่ตั้งใจอ่าน และใช้วิจารณญาณของท่านเองพิจารณาตามไปด้วยเหตุด้วยผล โดยไม่มีมิจฉาทิฏฐิเป็นที่ตั้งเห็นจริงตามได้ อันจะสามารถช่วยให้คลี่คลายไปไดบ้างไม่มากก็น้อย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ย่อมสุดแล้วแต่กุศลผลบุญของแต่ละบุคคล ที่ได้สั่งสมมาแต่อดีตชาติด้วย

ข้าพเจ้าเองบัดนี้ ไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ อยู่ในจิตอีกต่อไปแล้ว และยิ่งได้ปฏิบัติพระกรรมฐาน ทั้งสมถกรรมฐานและเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ควบคู่กันไปเป็นการประจำด้วย แล้วความรับรู้ทางจิตที่เรียกว่า "ปัญญา" ก็ยิ่งเกิดขึ้นตามมาอย่างไม่มีหยุดนิ่ง

จนบัดนี้ข้าพเจ้ายอมรับแล้วว่า "ชีวิตของมนุษย์และสัตว์โลกนั้นสั้นนัก ความตายหาได้เป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวไม่ สิ่งที่ควรกลัวนั้น น่าจะเป็นการเกิดมากกว่า" ทั้งนี้ เพราะการตายนั้นย่อมตายแน่นอน แต่การเกิดนั้นไม่แน่ว่าจะต้องไปเกิดเป็นอะไร หากตกอยู่ในความประมาท ก่อนจิตจะแยกจากกายเกิดไปจับกรรมชั่วเข้าแม้เพียงน้อยนิด อาจต้องไปเกิดในอบายภูมิ 4 คือ นรก เปรต อสุรกาย หรือ สัตว์เดรัจฉานก็ได้จริงไหมครับ?

ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงได้ใช้ช่วงระยะเวลาอันสั้นของชีวิตมนุษย์นี้ รีบเปลี่ยนโลกียทรัพย์เป็น "โลกุตรทรัพย์" ให้มากที่สุดที่จะมากได้ เพราะโลกียทรัพย์เช่นที่ดิน บ้านเรือน ทรัพย์สมบัติทั้งหลายแหล่ ตลอดจนลูก เมีย ญาติพี่น้องเราเองก็เอาติดตัวไปไม่ได้ แต่ "โลกุตรทรัพย์" อันได้แก่การสร้างสมกุศลผลบุญ เช่น การให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนานั้น จะสามารถติดตามเราไปได้ทุกภพทุกชาติ จริงไหมครับ?

ถ้าเห็นจริงแล้ว ท่านผู้อ่านล่ะครับ จะไม่คิดใช้ช่วงระยะเวลาอันสั้นในโลกมนุษย์นี้ รีบเปลี่ยนโลกียทรัพย์เป็น "โลกุตรทรัพย์" เช่นเดียวกับข้าพเจ้าบ้างหรือครับ?

จบบริบูรณ์

◄ll กลับสู่ด้านบน


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
ตั้งหัวข้อใหม่

Go To Top