Not logged in [Login - Register]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites ตั้งหัวข้อใหม่
[*] posted on 22/6/11 at 14:08 [ QUOTE ]

หนังสืออ่านเล่น เล่มที่ 9 โดย.. ส. สังข์สุวรรณ




หนังสืออ่านเล่น

เล่มที่ ๙

(ฉบับอินเทอร์เน็ต : จัดพิมพ์โดย..พระเจ้าหน้าที่สำนักพิมพ์เวฬุวัน)



เนื้อหาของสารบัญ เล่มที่ ๙

1.
คำปรารภ
2. จุไรกับป้าน้อย
3. พระปัจเจกพุทธเจ้า
4. หลวงพ่อปาน
5. จุไรกับคุณป้าน้อย
6. จุไรชมหอพักหญิง
7. จุไรชมหอพักหญิง (ต่อ)
8. จุไรชมบริเวณ
9. จุไรชมบริเวณ (ต่อ)


1
คำปรารภ เล่มที่ ๙


หนังสืออ่านเล่น ก็คงต้องการให้ท่านอ่านเล่นแก้เหงา บางเรื่องก็เป็นเรื่องจริง บางเรื่องก็เป็นนิทาน ขอให้ทุกท่านอ่านแบบนิทานนั้นดีกว่า ถ้าเรื่องนั้นเกี่ยวกับเรื่องสร้างวัด เรื่องนั้นเป็นเรื่องจริง ที่ต้องเขียนเป็นคำถาม คำตอบ และมีตัวผู้ถาม ผู้ตอบ ก็เพราะมีความรู้สึกว่า ถ้าเล่าเรื่องไปเรื่อย ๆ ตามความเป็นจริง ผู้อ่านจะเหงาด้วยเรื่องราวยืดยาวมาก จึงยกตัวบุคคลในนิทานขึ้นและก็มีคำถามคำตอบ เพื่อกันท่านผู้อ่านเหงา

เรื่องจริงที่เป็นนิทาน

เรื่องนี้ไม่มีในเล่มนี้ แต่ทว่า พ.อ.สถาพร พงษ์พิทักษ์ เธอเล่าให้ฟัง เธอเล่าว่า มีท่านผู้บังคับกองพันท่านหนึ่ง ท่านอ้วนมาก วันหนึ่งท่านไปตรวจความเรียบร้อยของทหาร ท่านอาจจะไม่ได้แต่งเครื่องแบบไป ทหารใหม่จำท่านไม่ได้ ท่านอาจจะฉุนเล็กน้อย ท่านหันไปถามทหารว่า ฉันเป็นอะไร ท่านชี้ไปที่พุงของท่าน ท่านเป็นคนอ้วนมาก

ทหารเธอตกใจ ไม่ทราบว่าท่านถามประสงค์อะไร ท่านก็ย้ำว่า ฉันเป็นอะไร ท่านชี้ไปที่พุงของท่านตามเดิม ทหารคนนั้นตอบว่า เป็นป้างครับ คำว่า ป้าง หมายถึงโรคป้าง ใครเป็นแล้วท้องจะใหญ่มาก ท่านถามอีกว่า กูเป็นอะไรตอนนี้ ชักยั๊วะ ทหารตอบว่าเป็นป้างครับ ท่านถามต่อในคำเดิม ท่านผู้บังคับหมวดอยู่หลังทหาร

พยายามบอกทหารให้ทราบว่า ท่านนั้นเป็นผู้บังคับกองพัน แต่บอกว่า ผู้บังคับกองพัน ทหารพอได้ ฟังว่า ผู้บังคับกองพัน เธอจึงตอบว่า “ท่านผู้บังคับกองพัน เป็นป้างครับ” เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง แต่ต้องเล่าสู่กันฟังแบบนิทาน เพราะท่านผู้เป็นป้างท่านทราบว่า เอาเรื่องของท่านมาเล่าสู่กันฟัง

และนำชื่อท่านมาเล่าสู่กันฟัง ท่านอาจจะโกรธก็ได้ เป็นภัยแด่ผู้เล่าให้ฟัง ศัพท์นี้สมัยหนึ่งท่านเรียกว่า “โอษฐ์ภัย” คือภัยเกิดจากปาก เรื่องของนิทานในหนังสือนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่จริงก็มี ไม่จริงก็มี ขอให้อ่านแบบนิทานก็แล้วกัน จะได้ไม่กลุ้ม

ส.สังข์สุวรรณ
๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๒

ll กลับสู่สารบัญ


2
จุไรกับป้าน้อย


ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ต่อไปนี้ก็ขอบรรดาท่านทั้งหลายโปรดพบกับ จุไร เพราะว่าจุไรกับป้าน้อยยังคุยกันไม่เสร็จ คงจะคุยกันนาน เพราะว่าเรื่องสร้างวัดนี่นานมาก จะได้ทราบความเป็นมาของวัด แต่ว่าจุไรจะพูดว่าอย่างไรนั้น ก็อ่านต่อไปก็แล้วกัน

เป็นอันว่า วันนี้ วันอาทิตย์ที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๓๒ จุไรมีโอกาสมาพบกับคุณป้าน้อยที่วิหาร ๑๐๐ เมตร เพราะว่าเวลาตอนบ่ายหลังเที่ยงเศษ ๆ คุณป้าน้อยก็ไปสอนกรรมฐาน จุไรก็มีโอกาสไปซักซ้อมกรรมฐานกับคุณป้าน้อย เมื่อซักซ้อมกันเสร็จ ทุกคนกลับ แต่ว่าจุไรเธอก็ยังไม่กลับ

ชวนคุณป้าน้อยคุยต่อไป ถ้อยคำที่เธอคุย เธอก็ถามคุณป้าน้อยว่า คุณป้าเจ้าคะ ทราบว่า วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๒ หลวงปู่ท่านตั้งพระเป็นกรรมการจัดการเรื่องเงินของสงฆ์ เรื่องเงินของโรงเรียน แล้วก็ตั้ง ไวยาวัจกรร่วมกับพระ มีท่าน พล.ต.ท.สมศักดิ์ สืบสงวน เป็นประธานไวยาวัจกร เป็นต้น

หนูอยากจะทราบว่า เมื่อแรกเริ่มเดิมที หลวงปู่ท่านก็ไม่เคยตั้งไวยาวัจกร คราวนี้ทำไมจึงตั้ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลวงปู่เองก็ยังมีชีวิตอยู่ แต่ทำไมจึงต้องตั้งพระควบคุมทรัพย์สินของสงฆ์

คุณป้าน้อยฟังแล้วก็ยิ้ม คุณป้าก็บอกว่า เดี๋ยวก่อนหลาน ให้ป้านึกสักนิดหนึ่ง คำถามที่ถามว่า ป้าก็ไม่เคยคิดและเมื่อคืนวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๓๒ ป้าก็ไม่ได้เข้าประชุม เพราะว่าไม่อยู่ในฐานะไวยาวัจกรที่แต่งตั้ง แต่ว่าหลวงปู่ท่านเคยบอกไว้เสมอว่า

วัดนี้ไม่มีการแต่งตั้งไวยาวัจกร ทั้งนี้ก็เพราะว่า คนทุกคนที่มา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากกรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ และต่างจังหวัดก็มีมาก มาถึงก็ช่วยการช่วยงานกันทุกอย่าง ไม่มีใครรังเกียจใคร ไม่มีใครรอใคร ไม่มีใครต้องรับคำสั่งว่า เธอจงทำนั่น เธอจงทำนี่

เมื่อทราบว่างานมีอะไรบ้าง ถนัดทางไหน ต่างคนต่างช่วยกันทำ และหนูจงพยายามสังเกตดูว่า งานทุกอย่าง พอเริ่มงานปั๊บ คนแต่ละจังหวัด หลาย ๆ จังหวัด เข้ามา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนใหญ่ก็ที่กรุงเทพฯ โดยมากท่านผู้มา จะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่

เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ชั้นพิเศษก็มาก เป็นนายทหาร เป็นนายตำรวจก็เยอะ รวมความว่า ทุกคนไม่ถือยศฐาบรรดาศักดิ์ ทำงานรวมกันได้ ต่างคนต่างช่วยกัน พองานเลิก ต่างคน ต่างช่วยกันเก็บ ที่เป็นอย่างนี้นะ หลวงปู่ท่านบอกว่า นี่เป็น ไวยาวัจกร เต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

คำว่า ไวยาวัจกร ก็หมายความว่า การช่วยเหลือการงานเรื่องบุญกุศล แต่ว่าเท่าที่ท่านบอก ป้าฟังท่านพูดเมื่อตอนเช้า ท่านบอกว่าการที่ตั้งไวยาวัจกรคราวนี้ ก็เกี่ยวกับทรัพย์สินของวัดโดยตรง และทรัพย์สินเกี่ยวกับโรงเรียน ที่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ช่วยกันเข้ามาเป็นทรัพย์สินที่มีค่าสูง

คำว่า มีค่าสูง หมายถึง มีค่าตามกำลังใจ ทุกคนให้มาด้วยการตัดสินใจทำบุญ ราคาของจะมาก ราคาของจะน้อย ไม่สำคัญ สำคัญที่ค่าของน้ำใจ มีความสำคัญยิ่งกว่าอะไรทั้งหม ฉะนั้น จำเป็นต้องรักษา และต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามใจของบุคคลผู้ให้เข้ามา เพราะท่านให้เข้ามาด้วยมีเจตนาดี มีจิตเป็นมหากุศล

จุไรก็ถามว่า แล้วกรรมการฝ่ายพระ กับกรรมการฝ่ายไวยาวัจกร ทำหน้าที่อะไร
คุณป้าน้อยก็บอกว่า ตามที่ป้าฟังมา ป้าเองก็ไม่ได้เข้าประชุม ฟังว่าท่านจัดเรื่องทรัพย์สินต่าง ๆ เป็นแผนก อันนี้แผนกของสงฆ์ นี่เป็นแผนกค่าภัตตาหารของสงฆ์ นี่บำรุงการก่อสร้างบำรุงวัด

ส่วนนี้เป็นค่ากระแสไฟฟ้าประจำเดือน ส่วนนี้เป็นส่วนของโรงเรียน ส่วนนี้เป็นการจ่ายเพื่อเด็กนักเรียน สงเคราะห์ค่าอาหารบ้าง ค่าอาหารเป็นหลักใหญ่ แล้วก็เสื้อผ้า อุปกรณ์การศึกษาทุกอย่าง รวมความว่า ทุกอย่างจัดไว้เรียบร้อยหมด

จุไรก็ถามว่า สมัยก่อนทำไมหลวงปู่ไม่จัดล่ะ ทำไมมาจัดคราวนี้ล่ะ
คุณป้าก็ตอบว่า สมัยก่อนท่านบอกว่า ท่านอยากจะจัดมานาน และเตรียมการมานาน แต่ทุกอย่างไม่พร้อมถึงเวลานี้ ก็ยังไม่พร้อมสมบูรณ์แบบ แต่ก็จำเป็นต้องจัด

หนูจุไรก็ถามว่า คุณป้าเจ้าคะในเมื่อยังไม่พร้อม สมัยก่อนยังไม่พร้อม หลวงปู่ก็ยังไม่จัด แต่ว่าเวลานี้ยังไม่พร้อม หลวงปู่ทำไมจึงจัด
คุณป้าก็ตอบว่า ป้าฟังมา เพราะป้าเองก็เพิ่งมาเหมือนกัน มาจากกรุงเทพฯ แต่มาก็ได้ฟังจากหลวงปู่บอกว่า ในวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๓๒

คือก่อนหน้านี้ ๒-๓ วัน ตอนเย็น ประมาณ ๔ โมงครึ่งเศษ ๆ หลวงปู่ท่านเล่าให้ฟัง ตามธรรมดาท่านป่วยระยะเวลาบ่าย ๓ โมงครึ่งเศษ ๆ หรือบางที อาการโรคของท่านเกิดขึ้นเวลาบ่าย ๓ โมง ๒๗ นาที ระยะนี้ อาการที่มันเป็นคือว่า เสมหะดันขึ้นมา ท้องอืด เสียดท้อง

และก็อาเจียนเป็นเสมหะ การอาเจียนเป็นเสมหะนี่ไม่ใช่เล็กน้อย ตอนเย็นเวลานั้น ต้องประมาณอย่างน้อยก็ ครึ่งกระโถน หรือค่อนกระโถน เหน็ดเหนื่อยมาก ก็มีพระอนันต์ ที่อยู่วิหาร ๑๐๐ เมตร กับ พรนุช อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนพระสุธรรมยานเถระวิทยา

๒ คนนี้เป็นผู้ปฏิบัติประจำทุกเย็น ถึงเวลาตอนเย็นเมื่อท่านกลับพระอนันต์ กับพรนุชก็ติดตาม พระอนันต์ติดตามไปทุกแห่ง เมื่อถึงที่พักแล้ว อันดับแรกท่านพักหายเหนื่อย การรับแขกท่านก็เหนื่อย บางวันท่านก็บอกว่า วันนี้เหนื่อยมาก อาการเสียดท้องตลอดเวลา เสียดท้อง เสียดถึงหน้าอก

แต่ว่าอยู่ต่อหน้าแขก หน้าตาท่านแช่มชื่น บางครั้งแขกก็ถามว่า ตามข่าวเขาบอกว่าหลวงปู่ป่วย หลวงพ่อป่วย แล้วทำไมดูท่าทางแช่มชื่นมาก ท่านก็ตอบเป็นทีเล่นทีจริงบอกว่า หน้าตาของพระหลอกชาวบ้าน และชาวบ้านเขาถามว่า หลอกอย่างไร

ท่านก็บอกว่า ทุกขเวทนามันมี เวลานี้ที่พูดกัน ทุกขเวทนาก็หนักมาก เสียดท้อง ร้อนในอก ร้อนในท้อง เสียดถึงหน้าอก แต่ว่าที่มีหน้าตาแช่มชื่นได้ เพราะอาศัยการอดทน อดกลั้น เพราะเห็นใจทุกคนที่มาด้วยศรัทธา ทุกคนนี่มานี่ ไม่ได้เงิน ไม่ได้ทอง ไม่ได้ของแจก

ทุกคนตั้งใจมาทำบุญ เสียสละเวลาการงานจากบ้าน ผลที่ได้มีอยู่ เสียสละมาและประการที่สอง มาก็เสียค่าพาหนะ เสียค่าอาหาร รวมความว่า ทุกคนที่มา มาด้วยความเสียสละ ด้วยศรัทธาแท้ ท่านก็จำจะต้องรับด้วยความเต็มใจ สำหรับหน้าตาแช่มชื่น หมายความว่า ท่านจะอดทนไหว ท่านก็อดทนต่อไป เมื่อลงยิ้มไม่ไหว ก็ลงรับแขกไม่ได้เมื่อนั้น

จุไรก็บอกว่า โอ้โฮ หลวงปู่ทนจริงนะ และทำไมหลวงปู่ไม่ให้พระองค์อื่นรับแขกบ้างล่ะ แทนท่าน พระหนุ่ม ๆ ก็มีถมไป
คุณป้าก็บอกว่า พระหนุ่ม ๆ ท่านมี พระทุกองค์ท่านเต็มใจช่วยหลวงปู่ แต่ว่างานทุกอย่างที่ท่านทำกันได้ ท่านก็ทำกันหมด หลวงปู่ไม่ต้องทำแม้แต่การบริหารภายในก็ดี และก็การคุมงานก่อสร้างก็ดี

ทุกอย่างนะ พระช่วยกันทำเป็นแผนก แต่ทว่าสิ่งที่พระตั้งใจจะช่วย แต่ช่วยไม่ได้นั่นคือ การรับแขก หลวงปู่ท่านเคยทดลองให้พระลงแทน แต่คนไม่เห็นด้วย ไม่ศรัทธา แม้แต่การถวายสังฆทาน อย่างที่ซอยสายลม หลวงปู่ท่านป่วย ท่านให้พระลงไปแทน

ท่านก็ประกาศบอกไปว่า การถวายสังฆทานน่ะนะ ถวายกับพระองค์ไหนก็มีอานิสงส์เหมือนกัน เพราะสังฆทานไม่ใช่ส่วนบุคคล พระผู้รับเป็นเพียงผู้แทนสงฆ์ แต่ก็ปรากฏว่า บรรดาญาติโยมทั้งหมด ท่านพุทธบริษัท นั่งกันเฉยเต็มห้องนับเป็นร้อย ไม่ยอมถวายพระ

แต่เมื่อหลวงปู่ลงมาจากชั้นบน จะมาสอนกรรมฐาน เพียงเท่านั้น ทุกคนจึงถวายกัน ก็เป็นอันว่า งานรับแขกให้แทนกันไม่ได้
แต่ต่อมา จุไรก็ถามคุณป้าน้อยต่อไปว่า เป็นอันว่า การตั้งกรรมการพระ และตั้งไวยาวัจกรก็ขอผ่านไป แต่อยากจะทราบว่าที่หลวงปู่บอกว่า ทุกคนที่มาช่วยงานในวัดเป็น ไวยาวัจกร

อย่างนี้ไม่เป็นการแต่งตั้ง จะถูกแบบ ถูกแผนหรือ คุณป้าน้อยก็บอกว่า คำว่า ไวยาวัจกร แปลว่า ช่วยเหลือการงานของสงฆ์ และช่วยเหลือการงานที่เขาทำบุญกัน และทุกคนที่มา หลวงปู่ท่านก็บอกว่า ทุกคนเป็นไวยาวัจกรเต็มขั้น เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่าด้วยศรัทธาแท้

สำหรับคณะที่ท่านตั้ง ท่านต้องการให้เป็นตัวบุคคลไว้ เวลาที่ท่านป่วยมากบริหารงานไม่ไหว หรือแก่มากลงไปหรือตายฉับพลัน จะได้เป็นที่ปรึกษากันกับพระ ช่วยกันจัดการให้เป็นไปตามคำสั่ง
จุไรก็ถามไปบอกว่า หลวงปู่ท่านมั่นใจไหมว่า ท่านจะอยู่กี่ปี

คุณป้าน้อยก็บอกว่า ]ท่านบอกว่า คำพยากรณ์ต่างๆ บอกว่า อยู่หลายปี แต่ว่าตัวท่านเองท่านไม่เคยไว้ใจตัวเอง ท่านเคยคิดอยู่เสมอว่า อาจจะตายวันนี้ อย่างวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๓๒ นี่เอง วานซืนนี้

ท่านบอกว่า หลังจาก ๔ โมงครึ่งไปแล้ว พอพระอนันต์ กับพรนุช คืนคงดี กลับไปที่ ตามปกติเมื่อให้ยาท่านเสร็จ ท่านสรงน้ำเสร็จ ให้ยาเสร็จ หมายความว่าทั้งสองท่านนี้ รู้เรื่องการป่วยไข้ไม่สบายของหลวงปู่อย่างดีมาก เพราะปฏิบัติมาตลอด เป็นเจ้าหน้าที่ให้ยาแทนหมอ อย่างพรนุชนี่ หมอจรูญสั่งจัดยาอะไรก็ตาม

ก็ให้พรนุชจัดการถวายหลวงปู่ตามเวลา สำหรับพระอนันต์ก็เช่นเดียวกัน ถึงเวลาวาระกลับมาจากรับแขก ท่านก็ต้องรับ คอยระมัดระวัง เกรงจะล้ม จะเดินไปไหนก็กางร่มให้ และก็เวลาเข้าที่ ก็เข้ามาเป็นเพื่อนที่พัก ให้การทายาขาบ้าง ทุกอย่าง เท่าที่มีความจำเป็น ช่วยทุกอย่าง สองคน พระคน ฆราวาสคน

จุไรก็ถามว่า แล้วพระอื่น ฆราวาสอื่นล่ะ
คุณป้าก็บอกว่า หลวงปู่ท่านบอกว่า ท่านไม่อยากจะกวนใคร เพราะเป็นเรื่องเล็กน้อย ยังไม่มีความจำเป็น พระทุกองค์ และฆราวาสทุกคนเต็มใจช่วยทุกอย่าง

และจุไรก็ถามว่า แล้วคุณป้าล่ะ อยากจะช่วยหลวงปู่ไหม
คุณป้าก็บอกว่า คุณป้าเองอยากจะช่วยใจจะขาด แต่โอกาสที่จะเข้าไปทำไม่มี เพราะว่า ท่านบอกว่า ที่เล็ก ๆ ยังป่วยไม่มาก ยังไม่มีความจำเป็น

จุไรก็ถามว่า วันที่ ๒๑ คุณป้ายังไม่ได้เล่าให้ฟังนะ พูดค้างไว้ เดี๋ยวพูดอย่างอื่นก็เลยไป
คุณป้าก็บอกว่า หนูก็ถามเรื่อยเปื่อยไปนี่ ป้าก็เฉื่อยเหมือนกัน เป็นอันว่า เมื่อวันที่ ๒๑ เวลา ๔ โมงครึ่งเศษ ๆ หลวงปู่ท่านบอกว่า ท่านนอนภาวนา และก็กำลังพิจารณาว่า อะจีรัง วะตะยัง กาโย เป็นต้น ท่านนึกในใจ

ตามบาลีที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า อีกไม่นานนักหนอ ร่างกายนี้ก็จะมีวิญญาณออกจากร่างไปแล้ว ก็เป็นของที่ชาวบ้านเขาทอดทิ้ง คือ ร่างกายมันไม่ดี เขาก็ทิ้ง มันเน่ามันเหม็น เหมือนกับท่อนไม้ที่ไร้ประโยชน์ ท่านก็พิจารณาร่างกายของท่านไปเรื่อย ๆ จิตก็เป็นสุข

เห็นว่า ไอ้นั่นมันก็ไม่ดี ไอ้นี่ก็ไม่ดี ไอ้นั่นก็จะพัง ไอ้นี่ก็จะพัง นั่นก็ร่อยหรอ นี่ก็ร่อยหรอ ก็เวลานั้นเองปรากฏว่า อาการตามนัด ปรากฏขึ้น
จุไรถามว่า หลวงปู่นัดกับใคร

ป้าน้อยก็บอกว่า ไม่ใช่หลวงปู่นัด เป็นแต่เพียงว่า เป็นการตกลงกันไว้ว่า สมัยก่อนโน้น เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมาแล้ว ท่านมีอาการครั้งหนึ่ง เหมือนจะตาย และก็ตายน้อยไปหลายชั่วโมง ต่อมากลับฟื้นขึ้นมา ท่านก็ตกลงกับท่านนายบัญชี ถามท่านนายบัญชีว่า ทำไมไม่ปล่อยให้ไปเลย

เพราะการไปเลยจะมีความสุขกว่ามีชีวิตอยู่ และการตายไปเลยคราวนั้น ไปเจอะสถานที่อยู่ มีความสุขสำราญ มีความสุขมาก ดีทุกอย่าง ไม่มีงาน ไม่มีการ ไม่มีความหิว ไม่มีความกระหาย ไม่มีความลำบากทุกอย่าง ความหนักใจนิดหนึ่งก็ไม่มี ท่านก็เห็นว่า มันมีความสุขกว่ามีร่างกายเป็นมนุษย์

ท่านนายบัญชีก็บอกว่า ในเมื่อวาระยังมาไม่ถึง ใครก็จัดให้ตายไม่ได้ แต่ที่มันไปประเดี๋ยวเดียว มันเป็นเพราะ กฎของกรรม มันริดรอนชั่วขณะหนึ่ง ใครก็ห้ามไม่ได้ กฎของกรรม
และหลวงปู่ก็เลยถามนายบัญชีว่า ถ้าจะตายจริง ๆ อาการมันจะเป็นอย่างไร

นายบัญชีท่านก็เปิดบัญชี ท่านก็บอกว่า มันอืดนิด เสียดหน่อย แล้วก็อาการไม่หนัก จิตใจจะเป็นสุข แล้วก็ไป การไปของจิต หรือวิญญาณ เมื่อจิตวิญญาณออกจากร่างไป ประมาณหนึ่งชั่วโมงลมในร่างกายจึงดับสนิท ขณะที่ไปใหม่ ๆ จะมีความรู้สึกว่า ร่างกายยังไม่ดับ ประสาทยังทำงานอยู่บ้าง แต่อ่อนระรวยเต็มที

แล้วจุไรจึงถามว่า วันที่ ๒๑ อาการเป็นอย่างไรเจ้าคะ
คุณป้าก็บอกว่า หลวงปู่ท่านบอกให้ฟัง อาการตามนัดปรากฏ นั่นหมายความว่า อาการที่จะตายปรากฏ นั่นก็คือว่า มีอาการอึดอัดนิดหน่อย ไม่ถึงขั้นเสียด แต่ว่า มีอาการเหนื่อยมากหายใจถี่ขึ้นมา ระยะการหายใจ ลมหายใจไม่ยาว สั้น

คือ เคลื่อนขึ้นมา เคลื่อนขึ้นมา จนถึงขั้นไม่เต็มท้อง ลมหายใจไม่ถึงสะดือ กระชั้นเต็มที ปอดทำงานเร็วมาก และก็มีอาการเหนื่อย แต่เมื่อเหนื่อย ท่านก็พิจารณาว่าอาการอย่างนี้ เป็นอาการดับของประสาท เมื่อรูปแตก นามก็ดับไม่เป็นไร ท่านว่าอย่างไร

ท่านบอกว่า ไม่เป็นไร รูปแตก นามดับเป็นของธรรมดา ในเมื่อมันเป็นอย่างนั้น เรามีบ้านเป็นที่อยู่ เราไปบ้านของเราก่อนดีกว่า ถ้าร่างกายนี่มันเลิกหายใจเมื่อไร เราก็ไม่กลับ ถ้าร่างกายมันหายใจดีขึ้นเมื่อไร เราก็กลับใช้งานมันได้ เมื่อตัดสินใจอย่างนั้น ก็ออกจากร่าง

ขณะที่ออกไปจากร่าง ก็เจอะท้าวมหาราช คือ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักข์ ท้าวเวสสุวัณ และคณะท่านอินทกะมากมาย พร้อมทั้งลุงทั้งสอง ท่านทั้งหมดก็ถามว่า จะไปไหน แล้วท่านก็บอกว่า ยังไปไม่ได้นะครับ ยังไม่ถึงเวลาจะไป หลวงปู่ก็ตอบว่า ถึงเวลาหรือไม่ถึงเวลา มันไม่สำคัญ เวลานี้ร่างกายมีทุกขเวทนามาก ฉันจะหลบไปชั่วคราว

แต่จะไม่ไปเลย ฉันจะสังเกตการณ์ ถ้าร่างกายมันยังทรงตัวดี ใช้งานได้ ฉันก็กลับ ถ้าร่างกายมันดับ ฉันก็ไม่มา ในที่สุดท่านทั้งหมดก็บอกว่ายังไม่ควรจะไป อยู่ตรงนี้ก่อน หลวงปู่ท่านบอกว่า ไม่อยู่แล้ว จะห้ามฉันอย่างไร ฉันก็ไม่อยู่ ท่านก็ไป ไปทีแรก ท่านบอกว่า จะเลยไปให้สุดทาง แต่มานึกขึ้นมาได้ว่าพระจุฬามณีเจดีย์สถาน เป็นสถานที่นมัสการเป็นประจำ ควรจะเข้าไปที่นั่น

เมื่อเข้าไปที่นั่น ตามนิมิตในเวลานั้น ท่านก็บอกว่า พบพระพุทธเจ้างามสง่ามาก เด่นอยู่ท่ามกลางบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย มีพระอรหันต์แวดล้อมนับจำนวนไม่ได้ มีเทวดา กับพรหมเยอะ เจอะญาติผู้ใหญ่ที่มีพระคุณอย่างยิ่ง ท่านมีคุณเยอะแยะ ก็เข้าไปกราบพระพุทธเจ้า และก็กราบทุกองค์

คำว่ากราบทุกองค์ ไม่ใช่กราบทีละองค์ กราบทีเดียวหมดทุกองค์ กราบพระพุทธเจ้าก่อน หันมากราบพระอรหันต์ นอกนั้นกราบท่านผู้มีคุณทั้งหมด นี่หลวงปู่ท่านเล่าให้ฟังนะ ท่านบอกว่า กราบเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าก็ถามว่า เธอจะไปไหน หลวงปู่ท่านก็ตอบว่า ร่างกายมันทนไม่ไหว มันทรงตัวไม่ได้ ก็มีความจำเป็นต้องละร่างกาย เพื่อประโยชน์สุขตามสมควร ตามกำลังที่พึงมีพึงได้

ท่านก็เลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นเธออยู่ตรงนี้ก่อน ยังไม่ควรจะไปไหน อาการทั้งหมดของร่างกาย ไม่เกินวิสัยของพระโมคคัลลาน์ และตามนิมิตท่านก็บอกว่า สั่งพระโมคคัลลาน์ให้ลงมาช่วย พระโมคคัลลาน์ก็มายืนที่ตรงศีรษะ ประเดี๋ยวเดียว ปรากฏว่า ร่างกายหายใจยาวขึ้น ๆ ๆ

หายใจทั่วท้อง มีอาการดี ตอนนั้นได้ยินเสียงพระโมคคัลลาน์เรียก บอกว่า ท่านสหัมบดีพรหมกับพระอินทร์ ช่วยกัน ไปอยู่คนละข้าง ข้างขา ช่วยกันด้านขา เวลาผ่านไปประมาณครึ่งชั่วโมง ก็เสียงพระท่านบอกว่า เธอจงกลับร่างกายเริ่มใช้งานได้แล้ว แต่ถึงแม้ยังไม่ปกติ ก็ไม่เป็นไร

จุไรจึงถามว่า คุณป้าเจ้าคะ หลวงปู่บอกหรือเปล่าว่า ขณะที่ไปที่พระจุฬามณี ไปพบพระใหญ่ท่าน เวลานั้นท่านคุยว่าอย่างไร
คุณป้าก็บอกว่า หลวงปู่ท่านบอก ท่านบอกว่า เวลาที่ท่านนั่งที่นั่น พระใหญ่ท่านไม่ได้คุยเรื่องอะไรทั้งหมด ท่านพูดเรื่องงานของวัด

ท่านบอกว่า เธอยังไปไหนไม่ได้หรอก เรื่องการเงินการทองของวัดยังไม่เรียบร้อย ทำให้มันเรียบร้อยเสียก่อน เงินอะไรส่วนไหน จะหาทุนหารอนที่ไหน หนึ่งค่ากระแสไฟฟ้าก็แพง ต้องหาทุนให้พอ เป็นทุนสำรอง อาหารขบฉันประจำวันของพระให้มีทุนสำรอง

และการช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียน ทุกอย่างให้ครบถ้วนบริบูรณ์เสียก่อนจึงจะไปได้ หลังจากนั้นแล้ว ท่านก็มีบัญชาให้กลับ พอท่านมีบัญชาให้กลับ หลวงปู่บอกว่า พอถึงร่างกาย ก็ปรากฏว่า ร่างกายหายใจสบาย แต่ก็เพลียมาก ท่านก็มานั่งนึกคิดว่า

ขึ้นชื่อว่าชีวิต คือ ความเป็นอยู่ เป็นของที่ไม่เที่ยง วันนี้มีลมหายใจ พรุ่งนี้อาจไม่มีลมหายใจก็ได้ ตอนเช้ายังมีลมหายใจ ตอนสายอาจหมดลมหายใจก็ได้ ฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นสมบัติของสงฆ์ หรือว่าเป็นทุนรอนของโรงเรียน

ที่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนให้มา จำต้องทำให้เรียบร้อย ต้องมอบหมายการงานให้พระรู้ ให้ไวยาวัจกรรู้ และสั่งงานไว้ให้แน่นอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างต้องปฏิบัติตามนี้ เมื่อฉันตายแล้ว ห้ามเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ห้ามเปลี่ยนแปลงยุทธ คือ วิธีการใช้ต่างๆ ทั้งหมด อะไรจะใช้ อะไร

ต้องเป็นไปตามนั้นทั้งหมดทุกอย่าง คือว่า เขียนไว้หมด โดยไม่ต้องคิดใหม่ เป็นแต่เพียงใช้สมองว่า อันนี้ถึงเวลานี้ต้องใช้แล้ว และก็ต้องใช้ตามนั้น และทุกคนถ้าใครเปลี่ยนแปลง หรือดัดแปลงแก้ไขอันนี้ อีกหลายคน ๆ จะได้ค้านกันว่า นั่นนอกเหนือจากคำสั่ง

จุไรก็ถามว่า ถ้าอย่างนั้น หลวงปู่ก็ทำไว้เสร็จเรียบร้อยทุกอย่าง
ป้าน้อยก็บอกว่า เสร็จเรียบร้อยทุกอย่างลูก ท่านรีบเขียน ท่านก็บ่นตัวเองว่า ท่านเขียนเอง ท่านก็อ่านไม่ออก ท่านก็ต้องนั่งเคาะ ๆ พิมพ์ดีด เคาะไปก็ผิดบ้าง ขีดบ้าง ฆ่าบ้าง เยอะแยะ ต่อมาก็อาจารย์พรนุชคัดลอก

แล้วท่านก็บอกว่า มีจุดหนึ่ง ทุนมันยังไม่ครบ ยังไม่ครบตามพระใหญ่ท่านกำหนด ทั้งนี้ก็ ทุนการศึกษาของเด็กขั้นมหาวิทยาลัย แต่ทุนนี้ต้องเป็นทุนสำรอง ต้องหามาสะสมเป็นทุนสำรอง ไม่ใช่ใช้หมด ไม่ใช้ต้น ใช้ผลของทุน ยังไม่ครบ แต่พระท่านบอกว่า ท่านพยายามช่วยหาให้ครบ

ก็เป็นอันว่า การที่หลวงปู่ท่านต้องตั้งพระเป็นกรรมการฝ่ายทรัพย์สิน และก็ตั้งคณะบุคคลเป็นไวยาวัจกร มี พล.ต.ท.สมศักดิ์ สืบสงวน เป็นประธานไวยาวัจกร ก็เรื่องก็มีอยู่ว่า ท่านไม่ไว้ใจในชีวิตของท่าน

จุไรก็ถามว่า ตามที่พูดเมื่อกี้นี้ บอกว่า คำพยากรณ์ที่บอกว่า จะอยู่นาน แล้วหลวงปู่จะตายก่อนได้อย่างไร
คุณป้าน้อยก็บอกว่า หลาน เรื่องของคำพยากรณ์ ก็เป็นเรื่องของคำพยากรณ์ ไม่มีใครเถียงคำพยากรณ์ได้ แต่ถ้าบุคคลที่ถูกพยากรณ์นั้นจะตายเสียจริง ๆ คำพยากรณ์ก็ค้านไม่ได้เหมือนกัน

จุไรก็ถามว่า เจ้าของชีวิตอยากจะตาย หรือมันจะตายเอง
คุณป้าน้อยก็บอกว่า ถ้าเจ้าของชีวิตอยากจะตาย อย่างนี้สามารถกลับสัจจะได้ คือ กลับความจริงใจได้ เราไม่อยากตายก็ได้ แต่เมื่อวาระของชีวิตมันหมดจริง ๆ เราจะอยากตาย หรือไม่อยากตาย มันก็ต้องตาย ปฏิเสธกันไม่ได้

จุไรก็ถามว่า เรื่องนี้คุณป้าทราบมาได้อย่างไร
คุณป้าก็บอกว่า ทราบมาจากคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และบรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็พูดอย่างนี้เหมือนกันทุกองค์ และความจริงก็เป็นอย่างนั้น

อย่างคนที่เขามีอายุน้อยกว่าป้าเยอะแยะ เป็นเด็ก ๆ คราวหนูก็เยอะ เขาเกิดมาทีหลัง ถ้าตามความเป็นจริงแล้ว เขาไม่น่าจะตาย เขาก็ตายไปเยอะแยะ ขึ้นชื่อว่า ความตาย นี่ หลานรักไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีการประกาศวาระแน่นอน

ฉะนั้น บุคคลทั้งหลายพระพุทธเจ้าตรัสว่า จงอย่าประมาทในชีวิต คิดว่า เราอาจจะตายวันนี้ไว้เสมอ เมื่อเราคิดว่าเราอาจจะตาย เราก็พยายามสร้างความดี เช่น
๑. การให้ทาน
๒. การรักษาศีล
๓. การเจริญภาวนา และ
๔. ความกตัญญูรู้คุณ นี้เป็นเรื่องใหญ่


เอาละ หลานรัก เวลานี้สัญญาณบอกหมดเวลาก็ประกาศแล้ว พูดมากไป ประเดี๋ยวเจ้าหน้าที่จะไล่เราออกจากวิหาร ต่อนี้ไปเราก็หยุดกันก่อนนะ เดี๋ยวคุยกันใหม่

สวัสดี


ll กลับสู่สารบัญ


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 29/6/11 at 16:00 [ QUOTE ]


3
ตอน พระปัจเจกพุทธเจ้า

ตอนนี้เป็นตอน พระปัจเจกพุทธเจ้า ตอนนี้หลังจากคุยกันมาครู่หนึ่ง พอพระเจ้าหน้าที่ปิดวิหารภายใน สองป้าหลานก็ขยับมานั่งที่ชานวิหารภายนอก ที่มีพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นประธาน หนูจุไรก็เดินเข้าไปกราบพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วก็นั่งพับเพียบทำสมาธิหลับตาอยู่ชั่วครู่ แล้วก็ลืมตามา

มองเห็นที่เกศพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นแฉกไปเบื้องหลัง เธอก็ถามคุณป้าน้อยบอกว่า คุณป้าน้อยเจ้าขา พระปัจเจกพุทธเจ้ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ ต่างกันอย่างไรเจ้าคะ ทำไมจึงมีเกศไม่เหมือนกัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีเกศแหลมขึ้นไปอย่างเดียว แต่พระปัจเจกพุทธเจ้ามีเกศแหลม แล้วก็มีแฉกไปเบื้องหลัง

คุณป้าน้อยก็ตอบคุณหลานว่า หลานรัก เรื่องรูปพระปัจเจกพุทธเจ้านี่ หลวงปู่ท่านทำเพราะว่า หลวงปู่นอกจากเคารพสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็เคารพพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วย ทั้งนี้ ก็สืบเนื่องมาว่า หลวงพ่อปานไปเรียนคาถา วิระทะโย จากครูผึ้ง จังหวัดนครศรีธรรมราช

แล้วก็นำมาแจกบรรดาลูกศิษย์ลูกหา ทุกคนปฏิบัติตามคาถานี้ ต่างคนก็มีความเป็นอยู่ เป็นสุขไปตาม ๆ กัน คือ ไม่หนักใจในเรื่องทรัพย์สิน ถึงแม้จะไม่รวย ก็มีพอกินพอใช้ แต่รวยกันจริง ๆ ก็มาก ฉะนั้น ท่านจึงมีความเคารพในพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วย

หนูจุไรก็ถามค้านบอก คุณป้าเจ้าคะ หนูอยากจะถามคุณป้าว่า ทำไมเกศจึงไม่เหมือนกัน
คุณป้าก็บอกว่า ป้าก็ต้องเล่าประวัติมาก่อนสิว่า ทำไมหลวงปู่จึงเคารพพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็เป็นอันว่า ประวัติความเป็นมาของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นมีมาก ขอเล่าเรื่องเก่าก่อน

คือ ตอนที่ท่านจะทำวิหารหลังนี้ หลานจำได้ไหมว่า ในคราวก่อนโน้น ป้าเคยบอกว่า มีท่านปู่ใหญ่ หรือหลวงปู่ใหญ่องค์หนึ่ง ซึ่งเป็นหลวงปู่ใหญ่ที่หลวงปู่ของเราเคารพมาก เวลาจะทำอะไรขึ้นมา หลวงปู่ของหลาน ก็ไปปรึกษาหลวงปู่ใหญ่ ไปหาหลวงปู่ใหญ่บ้าง

หลวงปู่ใหญ่ท่านมาเองบ้าง เวลานั้นท่านก็บอกว่า ที่ตรงนี้ควรจะมีพระปัจเจกพุทธเจ้าไว้บูชา แล้วหลวงปู่ของเรา ก็ถามหลวงปู่ใหญ่ว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าจะปั้นอย่างไร ท่านก็บอกว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า ก็เป็นพระพุทธเจ้าประเภทหนึ่งที่บรรลุเอง คือ ปราศจากครูสอนเบื้องปลาย

หมายความว่า ตอนปลาย ตอนที่บรรลุนะ ไม่มีใครสอน บรรลุเองเหมือนกัน ไม่เหมือนพระสาวก พระสาวกต้องรับฟังคำสอน จึงจะบรรลุ พระปัจเจกพุทธเจ้านี่บรรลุเอง แต่ว่าสมัยพระปัจเจกพุทธเจ้า ไม่เหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรลุขึ้นมาแล้วมีองค์เดียว แต่พระปัจเจกพุทธเจ้านี่ บรรลุเป็นแสน สมัยนั้นนับเป็นแสน และตามบาลีบอกว่า อยู่ที่ภูเขาคัณธมาธน์ เมื่อถึงเวลาออกพรรษา ท่านก็มาตามเขานิมนต์ ใครนิมนต์ท่าน ท่านก็ไป ใครถวายภัตตาหารท่านก็รับ ใครอยากจะฟังเทศน์ ท่านก็เทศน์โปรด

แต่ว่าไม่เหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ตอนหนึ่ง คือว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ เวลาเช้ามืดก็ดี หรือตอนค่ำก็ดี ท่านจะตรวจอุปนิสัยของสัตว์ว่า วันนี้จะมีใครบรรลุมรรคผลไหม และจะไปเทศน์อย่างไรเขาจึงเข้าใจ จึงได้บรรลุมรรคผล

แต่ว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านไม่ใช้ญาณนี้ ญาณนี้จึงเรียกว่า พุทธญาณ มีเฉพาะพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่มี และพระปัจเจกพุทธเจ้านี่ก็สงเคราะห์คน ส่วนใหญ่คนถือกันว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นพระมีลาภ นี่ประวัติความเป็นมาของพระปัจเจกพุทธเจ้าโดยย่อตามนี้นะ

จุไรก็ถามต่อไปว่า เกศที่แยกออกมานี่เพราะอะไร ป้ายังไม่ตอบเลย
คุณป้าก็ตอบว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ขณะที่ท่านปู่ใหญ่ท่านมาบอกหลวงปู่ของหลานบอกว่า ตรงนี้ควรเป็นที่ตั้งพระปัจเจกพุทธเจ้า เพื่อให้ทุกคนเคารพสักการะ พระปัจเจกพุทธเจ้านี่มีกำลังลาภมาก เป็นพระที่มีลาภ ลาภสูง

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ลาภสูง พระปัจเจกพุทธเจ้าก็มีลาภสูง ทีนี้คนที่บูชาท่านผู้มีลาภจะได้มีลาภไปด้วย และก็เป็นความจริงมามากมายแล้ว ที่เขาใช้คาถาพระปัจเจกพุทธเจ้าไปทำ ทีนี้หลวงปู่ใหญ่ก็บอกว่า นี่เดี๋ยวป้าก็ไถลไปอีกแล้ว หลวงปู่ใหญ่ท่านบอกว่า

พระปัจเจกพุทธเจ้า ควรทำเกศให้ต่างจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิดหน่อย คือ ทำเป็นแฉกออกไปจะได้สังเกต คนจะได้รู้ว่า นี่คือ พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นี้ คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เท่านั้นเอง

จุไรก็ถามว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านี่ ราคาเท่าไร
คุณป้าก็ยิ้มบอกว่า หลานจะเอาราคาพระปัจเจกพุทธเจ้ามาถามกันได้อย่างไร ขึ้นชื่อว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดี พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ดี พระอรหันต์ก็ดี หาค่าบ่มิได้ นั่นหมายความว่า หาราคาเท่าไรก็ไม่ได้

ตามบาลีท่านกล่าวว่า พุทโธ อัปปมาโณ คุณพระพุทธเจ้าหาประมาณมิได้ฉันใด คุณพระปัจเจกพุทธเจ้าก็หาประมาณมิได้ฉันนั้น
จุไรก็ถามว่า เท่าที่หนูถาม หนูถามว่า ราคาปั้นนี่ ราคาเท่าไร

คุณป้าก็บอกว่า เออ ป้าก็แก่แล้วนะ นึกว่าหลานถามถึง คุณค่าพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่ราคาจริง ๆ ก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะป้าก็ถามหลวงปู่ของหลานแล้วว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระพุทธชินราชก็ดี แท่นก็ดี พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ดี ทั้งหมดนี้ ราคาเท่าไร

หลวงปู่ท่านก็บอกว่า ถ้าจะนับราคาจริง ๆ ทั้งหมดนั่นก็เกินแสน แต่ว่านายช่างประเสริฐ กับช่างจำเนียร สองสามีภรรยา ช่างประเสริฐ ก็ ป. ๔ ช่างจำเนียร ก็ ป. ๔ รวมแล้ว สองช่างเป็น ป. ๘ ทั้งสองช่างนี่ ไม่คิดราคาเลย ถวายค่าแรงงานทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่เขาเองก็ต้องจ้างลูกจ้างมาช่วยทำ เงินค่าลูกจ้างทั้งหมด ไม่ใช่แต่จะเว้นตัวเขา เขาออกเงินค่าลูกจ้างด้วยเสร็จ ศรัทธาเขาดีมาก

จุไรก็ถามว่า คุณป้าเจ้าคะ การปั้นรูปพระก็ดี ปั้นรูปต่าง ๆ ก็ดี ลวดลายต่าง ๆ ก็ดี ทั้งหมดนี้เขาบอกว่า จะต้องเรียนในที่สูง มีความรู้สูงมาก ๆ จึงทำได้ใช่ไหม

คุณป้าก็บอกว่า ใช่ลูก อย่างช่างจำเนียรก็ดี อย่างช่างประเสริฐก็ตาม และช่างก่อสร้างทั้งหมด เป็น ช่างชิตก็ตาม ช่างวิเชียรก็ตาม ช่างพรก็ตาม ทั้งหมดนี้มีความรู้ขั้น ดุษฎีบัณฑิต

จุไรก็ถามว่า ดุษฎีบัณฑิตเป็นอย่างไรเจ้าคะคุณป้า
คุณป้าก็บอกว่า ดุษฎี แปลว่า เงียบ มีความรู้ขั้นเงียบ นั่นหมายความว่า ไม่ต้องรู้ต่อไปอีก
เธอก็ถามคุณป้าว่า คุณป้า ดุษฎีบัณฑิตนี่ เขาเรียนกันกี่ปี

คุณป้าก็บอกว่า ตามบ้านนอกสมัยก่อน เขาเรียนกัน ๔ ปี
จุไรก็ถามว่า ที่โรงเรียนไหน อย่างหนูเรียนได้ไหม
คุณป้าก็ถามว่า หนูเรียนจบหรือยัง

จุไรก็บอกว่า เวลานี้หนูอยู่ ป. ๔ แต่ครูบอกว่า ยังไม่จบ ต้องเรียนถึง ป. ๖
คุณป้าก็บอกว่า การศึกษาสมัยนี้ยาวมาก สมัยที่ช่างต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ทั้งหมด เขาเรียนกันไม่มากแค่ ๔ ปี คือ ป. ๔ ที่เรียกว่า ดุษฎีบัณฑิต หมายความว่า เขาจบ ประถมปีที่ ๔ คำว่า ประถม สมัยนั้นไม่ต้องเรียนต่อไปอีก เงียบเลย เลิกกันเลย

จุไรฟังคุณป้าพูดแล้วก็ยิ้ม ก็เลยบอกว่า คุณป้าเจ้าขา เอาละเราคุยกันเรื่องนี้นะ ตอนบริเวณนี้เราก็คุยกันแล้ว ป้าเดินไปนิดดีไหมเจ้าคะ
ป้าก็เดินตามหลานไป คุณหลานเล็กคุณป้าใหญ่ เดินไปถึงถังสเตนเลสลูกหนึ่ง ตั้งอยู่เฉย ๆ มีท่อน้ำต่อเข้า มีสายไฟฟ้า

จุไรก็ถามว่า คุณป้าเจ้าคะ นี่มันถังอะไร เขาใส่อะไรกัน
คุณป้าก็บอกว่า นี่ถังน้ำเย็น เวลาที่มีแขกมามาก ๆ อย่างมีงาน เขาก็สับกระแสไฟฟ้าเข้า เครื่องไฟฟ้าก็ทำงาน ให้น้ำในถังนี่เย็นเฉียบ เหมือนน้ำแช่น้ำแข็ง เหมือนน้ำในตู้เย็น ทุกคนดื่มได้ฟรี ไม่มีใครเสียสตางค์

หนูจุไรก็ถามว่า ใครถวายหลวงปู่
คุณป้าก็บอกว่า คนทุกคนที่ทำบุญวัดนี้ถวายหลวงปู่
จุไรก็บอกว่า ถังลูกนี้ไม่โตนัก คนที่มาทำบุญกับหลวงปู่เป็นหมื่นเป็นแสน แล้วทำไมจะจ่ายสตางค์ค่าถังลูกนี้คนละเท่าไร

คุณป้าก็บอกว่า ไม่ได้คิดอย่างนั้น คือว่า หลวงปู่ท่านเอาเงินของคนทุกคน ทำทุก ๆ อย่างในวัด แล้วท่านเห็นว่า คนทุกคน เป็นผู้มีคุณกับวัด เป็นคนที่หวังดีกับวัด ตั้งใจเป็นบุญกุศล ท่านก็เลยเอาสตางค์ส่วนนี้แหละ ไปซื้อถังน้ำเย็น ซื้อหลายลูกนะ

แล้วก็เครื่องทำน้ำแข็งสำเร็จรูป เป็นก้อน ๆ มาตั้งไว้ให้คนบริโภค คนรับประทานกัน พระก็ดี ชาวบ้านก็ดี และคนที่มาในวัด คำว่า ชาวบ้าน หมายถึง คนที่มาในวัด นักเรียนก็ดี มีน้ำแข็งกิน มีน้ำเย็นกินตลอดเวลา ทั้งนี้ก็เพราะอาศัยเป็นความดีของท่านที่มีศรัทธาทุกคน

จุไรฟังแล้วก็ยิ้ม ก็เลยถามว่า ถ้าอย่างหนูล่ะ จะร่วมหุ้นกับเขาได้ไหม จะสร้างตู้น้ำเย็น ๆ ตู้ทำน้ำแข็งย่อม ๆ
คุณป้าก็บอกว่า ได้
จุไรก็ควักสตางค์ออกมา มีแบงค์สิบบาทอยู่สองใบ

เธอก็ถามคุณป้าว่า จะทำเท่าไรดี
คุณป้าก็ตอบว่า ถ้ามีเงินปลีก มีบาทเดียว ทำบาทเดียวก็ใช้ได้ลูก เพราะว่า เราทำบุญรวม ถือว่า ทำทั้งวัด ทุกอย่างที่มีในวัด เรามีบาทเดียว ทำได้เลย
จุไรก็ถามว่า ถ้าอย่างนั้นอานิสงส์จะเป็นอย่างไร ถ้าตั้งใจทำบุญวัดนี้ทั้งวัด แต่ว่า มีบาทเดียว ตั้งใจด้วยความจริงใจ

คุณป้าก็บอกว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน หนูนั่งตรงนี้นิดหนึ่ง หลับตาหน่อย นึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกทำจิตให้เป็นสุข ยกจิตขึ้นไปตามพระท่านเลยว่า ผลจะเป็นอย่างไรหรือว่าถ้าทำอย่างนี้ จะมีผลอย่างไร ขอภาพนั้นจงปรากฏ

จุไรก็ทำตามนั้น ประเดี๋ยวเดียว สองนาที เธอก็ลืมตามา เธอก็ตอบว่า เจตนาอย่างนี้เห็นแล้วคุณป้า สวยอร่ามเลย บ้านที่คอยท่าอยู่ ถ้าอย่างนั้น หนูขอทำ ๒๐ บาท เพราะจะได้สวยมาก ๆ คุณป้าก็รับบอกว่า ป้าจะนำไปถวายหลวงปู่ท่าน บอกว่า หนูถวายสร้างวัด ๒๐ บาท หมดทั้งวัด

หลังจากนั้น ป้ากับหลานก็เดินเตาะแตะ ๆ หลานน่ะไม่เตาะแตะนะ หลานเดินปรูดปราด คุณป้าก็เตาะแตะ ๆ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าคุณป้าน่ะอ้วน และก็อายุน้อยแล้ว เหลืออยู่ไม่เท่าไร สำหรับคุณหลานยังอายุน้อย เพียงแค่ ๙ ปี วิ่งคล่องตัว ก็เดินออกไปเลี้ยวขวา ไปดูมณฑป

มณฑปนี่เขาเรียกว่า มณฑปพระปัจเจกพุทธเจ้า มีเถ้าแก่สุวรรณ วีระผล พร้อมกับบรรดาลูกหลาน ลูกเขยลูกสะใภ้ ร่วมกันสร้าง ๒ หลัง เป็นมณฑปพระปัจเจกพุทธเจ้าหลังหนึ่ง ด้านทิศตะวันออก มณฑปหลวงพ่อปานหลังหนึ่งด้านทิศตะวันตก แล้วก็มณฑปทิศตะวันออกนี่ มีพระปัจเจกพุทธเจ้าประจำอยู่เป็นรูปของท่าน

จุไรก็มองดูรูปของท่านที่เขาปั้นจำลองไว้ รูปเล็ก ๆ หน้าตักประมาณ ๑ เมตร ก็ถามคุณป้า บอกคุณป้าเจ้าคะ พระปัจเจกพุทธเจ้าใช่ไหมองค์นี้ เธอเห็นที่เขียนไว้ที่แท่นว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า คุณป้าก็บอกว่าใช่ลูก นี่คือพระปัจเจกพุทธเจ้า

จุไรเธอก็ถามว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นี้ รูปร่างหน้าตาลีลาต่าง ๆ เหมือนกับพระสงฆ์ธรรมดา ถ้าพูดตามภาษาชาวบ้าน ก็เหมือนกับ คนธรรมดาที่บวชพระ แต่ว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าในวิหาร ๑๐๐ เมตร ที่ชานออกมา ปรากฏว่า มีรูปเหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มียอดแหลม องค์นี้ไม่มียอดแหลม มีลักษณะการห่มคลุม ไม่ห่มเฉียง

จุไรเธอก็ถามคุณป้าว่า ทำไมจึงเป็นอย่างนี้เจ้าคะ ทำไมจึงไม่เหมือนองค์โน้น พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์โน้น กับพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นี้ ทำไมจึงไม่เหมือนกัน
คุณป้าก็ตอบว่า ป้าจะตอบยาวสักนิดนะลูกนะ คือ อาจจะยาวสักหน่อย

สำหรับพระปัจเจกพุทธเจ้าที่ในวิหารนั่น หลวงปู่ท่านทำตามคำสั่งหลวงปู่ใหญ่ เพราะท่านบอกว่า หลวงปู่ใหญ่บอกให้ทำอย่างนี้ เป็นภาพรวม คือว่า เป็นภาพเหมือน ความจริงก็ไม่เหมือน
เป็นรูปแทนพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหมด

หมายความว่า ไหว้พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นั้น ก็หมายความว่าไหว้พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกองค์ หรือบูชาองค์นั้น ก็บูชาพระปัจเจกพุทธเจ้าทุกองค์ที่ผ่านมาแล้วทั้งหมด เป็นรูปเปรียบ รูปแทน แต่ว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นี้ ตามที่หลวงปู่ท่านเล่าให้ฟัง

คือว่า ป้าพอจะนึกได้เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๓๒ วันนั้นถ้าจำไม่ผิดก็เป็นวันที่ ๑๐ เมษายน ป้าได้มีโอกาสเข้าไปใกล้หลวงปู่ของหลาน ท่านก็เล่าให้ฟังว่า เมื่อคืนวันที่ ๔ เมษายน เวลาประมาณ ๒ ทุ่มเศษ ๆ วันนั้นหลวงปู่ท่านป่วยมาก ท่านอยู่ที่กุฏิกลางน้ำ

ตามปกติท่านจะอยู่ของท่านองค์เดียว ไม่มีใครในห้อง ทั้งหมดอยู่ชั้นล่าง ท่านอยู่ชั้นบนแต่ผู้เดียว เวลานั้นอาการเครียดขึ้นมา ท่านก็นอนภาวนาบ้าง พิจารณาบ้าง ตามลีลาของพระ ตามที่ท่านบอก ขณะนั้นเมื่อจิตสงบ อารมณ์เริ่มสบาย ก็ปรากฏว่า

เห็นรูปพระสงฆ์องค์หนึ่ง ห่มจีวรสีกรัก ดูอายุถ้าจะเปรียบเทียบกันคนธรรมดา ก็ประมาณอายุ ๔๐ ปี มานั่งอยู่บนเตียง ทางด้านขวาของท่านใกล้องค์ท่าน แต่ท่านก็บอกว่า ท่านมีความรู้สึกว่า เวลานี้เรากำลังเพลียมาก และอยากจะสงบ ไม่อยากจะพบใครทั้งหมด

ในเมื่อมีพระท่านมา ท่านมาเยี่ยม ก็เป็นความดีของท่าน ขอบคุณท่าน แล้วท่านก็เลยไม่สนใจกับพระองค์นั้น ปล่อยให้ภาพพระองค์นั้นอยู่เฉย ๆ แล้วต่อมาท่านภาวนาเคลิ้มไปสักพักหนึ่ง ท่านบอกว่า เวลานั้นเป็นเวลาประมาณ ๒ ยามเศษ ๆ ท่านก็ขยับตัว เห็นพระสงฆ์องค์นั้นยังอยู่

แต่ว่ามาอยู่ด้านซ้ายมือ ท่านก็ถามว่า หลวงปู่ของเรานะ ท่านยกมือไหว้ แล้วก็ถามว่า พระคุณเจ้าเป็นใครขอรับ ที่ตอนหัวค่ำไม่ไหว้ ไม่พูดเพราะท่านเพลียมาก ไม่อยากจะพูด ตอนนี้เคลิ้มไปพักหนึ่ง รู้สึกมีแรงขึ้นก็พูด ท่านก็ตอบว่า ฉันคือ พระปัจเจกพุทธเจ้า

ที่ช่วยสงเคราะห์เธอตลอดมา แล้วท่านก็ถามต่อไปว่า มีเรื่องเกี่ยวเนื่องอะไรกัน ที่ปรากฏมาที่นี่ มีความประสงค์อะไรครับ ท่านบอกว่าต้องการมาช่วยเธอ อย่าลืมว่า ฉันช่วยเธอมานาน หลวงปู่ก็ถามว่า มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรครับ ในสมัยในอดีต

ท่านก็เลยบอกว่า ฉันนี่เคยเป็นพ่อเธอมา ๗ ชาติ ท่านก็ทำภาพให้ดู ในสมัยที่เธอเป็นลูกฉัน เธอมีความดี ปฏิบัติฉันตามนี้ ท่านก็ทำภาพสมัยนั้น ๆ ๗ ชาติ ในสมัยที่ท่านแก่ลงท่านก็บอกว่า ท่านทำภาพหลวงปู่ให้ดู หลวงปู่นี่ได้ปฏิบัติท่าน อย่างดี ทุกอย่าง

ถ้าอะไรเป็นการงานทั้งหมด ไม่ยอมให้พ่อทำ ทุกอย่างที่พ่อจะต้องทำ หลวงปู่ท่านก็ทำเสียเอง แม้แต่อาหารการบริโภค ก็จัดหาได้ ต้องการอะไร ขอให้บอก ทำทุกอย่าง ที่ไม่เกินความสามารถ ถ้าสิ่งใดเกินความสามารถตัวเอง ก็ไปหาคนที่มีความสามารถ

แต่ความจริง ท่านพ่อก็ไม่จุกไม่จิก อะไรก็ได้ อย่างการบริโภคอาหารนี่ อะไรก็ได้ตามชอบใจ แต่ต้องสังเกตว่า ท่านชอบอะไร หลวงปู่ก็จัดอย่างนั้นมาหา เวลาที่ท่านป่วยไข้ไม่สบายก็ปฏิบัติพยาบาล ถึงขั้นสุดท้าย ถึงวาระที่ท่านตาย ก็ยังพยาบาลอยู่

บางชาติก็เอาศีรษะท่านพาดบนตัก นวดไปบ้าง อะไรไปบ้าง ท่านก็ตายในระหว่างที่ศีรษะพาดตัก เมื่อท่านทำภาพให้ดู ท่านก็บอกว่า อาศัยที่เธอดีกับพ่ออย่างนี้มานาน ฉะนั้นในชาตินี้ เธอมีภาระมากพ่อก็ต้องช่วย พยายามช่วยการเงินทุกอย่างที่หาคล่อง ให้หาคล่องขึ้น และความจริงนี่

เธอก็มีบารมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ พรหมเทวดาทั้งหมด นางฟ้าทั้งหมด ช่วยกันอยู่แล้ว แต่ว่าฉัน ในฐานะที่เคยเป็นพ่อของเธอ ฉันก็ช่วยอีกแรงหนึ่ง หลวงปู่ก็ลุกขึ้นกราบ กราบ ๆ ก็บอกว่า ผมง่วงขอรับ ขอนอนต่อไป

ท่านบอกว่า ดีมาก จิตจะได้สงบ จะได้มีอารมณ์สบาย ท่านก็บอกว่า ฉันจะไม่ไปไหน ฉันจะอยู่ตรงนี้ อยู่เฝ้าเธอ ช่วยเธอ พอหลวงปู่เอนกายลงมาท่านก็เอามือลูบ ๆ ลูบครั้งที่สามก็หลับป๋อย
หลังจากหลับไปแล้ว ก็ประมาณ ตีสี่เศษ ตื่นขึ้นมาอีก ท่านก็อยู่ที่นั่น ตอนนี้ท่านมองหน้า แล้วท่านก็ยิ้ม

หลวงปู่ก็สงสัย ก็ถามท่านว่า การที่มาแสดงองค์ให้ปรากฏอย่างนี้ จะให้ปั้นรูปบูชาใช่ไหม ท่านบอกว่า ใช่ ขอให้ปั้นตามนี้นะ ปั้นห่มคลุมแบบนี้ ถามท่านว่า เนื้อสีขาว หรือสีดำแดง ท่านบอกว่า ฉันเป็นคนสีเนื้อค่อนข้างขาว คือ ขาวก็แล้วกัน ไม่ขาวจั๊วะ ลักษณะท่าทางแบบนี้ ท่านก็นั่งให้ดู

ก็ถามว่า ถ้าเวลาช่าง ช่างที่นี่ก็เป็นช่างชั้น ป. ๔ เป็นช่างที่เรียกว่า ช่างชั้นดี เขาอาจจะเหยียดหยามก็ได้ แต่บางคนเขาบอกว่า ป. ๔ ทำอะไรไม่ได้ แต่ว่า ป. ๔ คนนี้ ก็ทำได้ทุกอย่าง และอยากจะถามว่า ถ้าเขาจะปั้นนะ ช่วยได้ไหม ให้คล้ายคลึงจริง ๆ ท่านบอกว่า ได้

พอรุ่งขึ้นเช้าหลวงปู่ก็บอกว่า เรียก ช่างประเสริฐมาบอกลักษณะให้ทราบ ให้ช่างประเสริฐเขาเอาดินเหนียวปั้นก่อน เอามาให้ดู ก็ปรากฏว่า ช่างประเสริฐนี่ เขาก็ได้กรรมฐาน เขาก็ใช้สมาธิตามที่เขาจะพึงได้ เขาก็ปั้นรูปท่าน ปั้นแล้วเขาก็บอกว่า

ฝืนมือคือว่า มือจะทำอย่างนี้ ลากไปทำอย่างโน้น ปั้นไปปั้นมา ได้รูปแบบนี้ ก็นำให้หลวงปู่ดู หลวงปู่เห็นเข้า ก็ลุกขึ้นกราบ ก็บอก เหมือนแล้ว ๆ บอกว่า ใช้ได้ ๆ เอารูปอย่างนี้ รูปใหญ่ขอให้ปั้นตามนี้ก็แล้วกัน อันนี้ความเป็นมาของพระปัจเจกพุทธเจ้า ถ้าอย่างนั้นหลานมีความเคารพในหลวงปู่ ก็ต้องเคารพในพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยนะ

จุไรก็ถามว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านี่ ช่วยเฉพาะหลวงปู่องค์เดียวหรือ
คุณป้าก็บอกว่า ท่านช่วยทุกคนที่บูชาท่าน แม้แต่หลวงพ่อปานเอง ก็มีการบูชาพระปัจเจกพุทธเจ้ามาก่อนเหมือนกัน จะเห็นว่าหลวงพ่อปาน ท่านจะสร้างอะไร ก็สำเร็จทุกอย่าง

ทีนี้มาหลวงปู่ก็เช่นเดียวกัน เวลานี้หลวงปู่จะทำอะไร ก็ทำได้ตามกำลังเท่าที่ท่านกำหนดจะเห็นว่า การได้ลาภสักการะ การนำมาซึ่งทรัพย์สินต่าง ๆ เนื่องในการก่อสร้างก็ดี ความเป็นอยู่ก็ดี ของท่านมีการคล่องตัว ก็เพราะอาศัยท่านบูชาครบ

คือ บูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย พระปัจเจกพุทธเจ้าด้วย พระอรหันต์ทั้งหลาย พระอริยเจ้าทั้งหลายด้วย และพรหม กับเทวดาด้วย เพราะทุกท่านมีคุณทั้งหมด
จุไรก็ถามคุณป้าว่า ถ้าหนูจะบูชาพระปัจเจกพุทธเจ้าจะทำอย่างไร

คุณป้าก็บอกว่า บูชาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างไร ก็บูชาพระปัจเจกพุทธเจ้าแบบนั้น แต่ว่าคาถาบูชาของท่าน มีบทหนึ่ง ที่ขึ้นว่าวิระทะโย วิระโคนายัง เป็นต้น ที่หลวงปู่ท่านพิมพ์แจก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลวงปู่เองได้รับจากหลวงปู่ใหญ่ ท่านนำคาถามาให้หลายตอน

สมัยที่เริ่มทำการก่อสร้างใหม่ ๆ สตางค์หลวงปู่ท่านไม่มี ท่านมีมา ๑๐๐ บาท แล้วท่านก็ซื้อกับข้าว ซื้อข้าวสารฉันเสียหมด หลวงปู่ใหญ่ก็ให้คาถาบอกว่า คาถาบทนี้หาเงินคล่องนะ เพื่อการก่อสร้าง แล้วต่อมา ท่านบอกว่า คาถาบทนี้เป็นคาถาเงินแสน บูชาภาวนาไว้ทุก ๆ วัน

บอก เงินก็คล่องตัวขึ้น เวลาทอดกฐิน เวลานั้นได้แสนเศษ แล้วต่อมาเมื่อเริ่มสร้างโบสถ์ ท่านบอกคาถาบทนี้เป็นคาถาเงินล้านนะ เป็นอันว่า หลวงปู่ท่านบูชาคาถาพระปัจเจกพุทธเจ้าอยู่แล้ว ในเมื่อหลวงปู่ใหญ่ท่านให้มาอีก ก็เลยประสานกัน เอารวมกันไปเป็นบทเดียวกัน บูชาครบถ้วน

ถ้าหนูอยากจะมีเงินคล่องตัว อยากจะมีความเป็นอยู่เป็นสุขจากทรัพย์สินเท่าที่จะพึงพอมีกันได้ ไม่ใช่ร่ำรวยใหญ่ ก็ใช้คาถาบทที่หลวงปู่ท่านแจก เวลาเจริญกรรมฐาน หากว่าเจริญกรรมฐานเป็นที่พอใจแล้ว ก็ใช้คาถาบทนั้นภาวนา เป็นการเจริญกรรมฐานต่อไป อย่างนี้ หลานจะมีการคล่องตัวเหมือนหลวงปู่

จุไรก็บอกว่า คุณป้าเจ้าคะ มองดูเวลา เวลานี้ หลวงลุงอนันต์ท่านกำลังจะมาปิดประตูข้างนอก เราสองคนไปกันดีกว่า คุณป้าเจ้าคะ เวลานี้คุณแม่กำลังยืนอยู่ที่หลวงปู่โน้น เดี๋ยวไปรวมกับแม่ที่หลวงปู่ แต่ว่าคืนนี้หนูจะค้างหนึ่งคืน แล้ววันพรุ่งนี้จะกลับ วันหลังต่อไปถ้ามีโอกาสหนูขออนุญาตคุณป้าต่อไปนะเจ้าคะ ในเมื่อคุณป้าอนุญาต ป้า กับ หลานต่างคนต่างกลับไป

ในเมื่อทุกคนกลับไปหมด หมดเวลาพอดี ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผล จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนผู้อ่านทุกท่าน

สวัสดี


ll กลับสู่สารบัญ


4
ตอน หลวงพ่อปาน

ท่านผู้อ่านทั้งหลาย สำหรับตอนนี้ ก็ให้พบกับจุไรตามเดิม เป็นอันว่า ตอนนี้ จุไรนอนค้างที่วัดท่าซุง เพราะว่าวันก่อน คือ เมื่อวันวานนี้ คำว่า วานนี้ ก็หมายความว่า วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๓๒ เมื่อเธอกลับไปถึงที่รับแขก ไปหาคุณแม่

คุณแม่ก็ถามว่า ลูกทำไมจึงมาช้า เธอก็ตอบว่า วันนี้หลังจากเจริญกรรมฐานแล้ว ก็คุยกับคุณป้าน้อย คุณป้าน้อยรู้ประวัติความเป็นมาต่าง ๆ เยอะก็เลยช้าไป ก็ขออภัยคุณแม่ คุณแม่ก็ให้อภัย ตอนนี้ก็มาคุยกันถึงเรื่อง หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เป็นอันว่า คุยกันตอน หลวงพ่อปาน ก็แล้วกัน

เมื่อจุไรพบคุณป้าน้อย เวลาหลังเที่ยง ประมาณเที่ยงสิบนาที ที่วิหาร ๑๐๐ เมตร ขณะนั้นเธอเข้าไปกระซิบคุณป้า บอกว่า คุณป้าเจ้าคะ หนูต้องขอประทานอภัย เมื่อวานนี้ลาคุณป้าแล้ว แต่บังเอิญคุณแม่ไม่กลับ ค้างอีกคืนหนึ่ง เมื่อคืนนี้หนูนอนหลับสนิท สบายใจ แต่ว่าตอนเช้ามืด เวลาประมาณห้านาฬิกา เห็นคุณแม่ตื่นขึ้นบูชาพระ หนูก็กำลังลุกขึ้นบูชาพระ พอลืมตาขึ้นมา

ก็เห็นลุงสองคนท่านมายืนอยู่ใกล้ ๆ แต่ทว่าท่านลุงสองคนนี่ ท่านแต่งตัวไม่เหมือนกับชาวบ้านธรรมดา รูปร่างหน้าตาใหญ่โตมาก นุ่งผ้าหยักรั้ง และก็ถือกระบองทั้งคู่
หนูก็ถามว่า คุณลุงเจ้าคะประตูเขาใส่กลอน คุณลุงเข้ามาได้อย่างไร
คุณลุงก็ตอบว่า คนอย่างลุง ถึงแม้จะใส่กลอน ใส่กุญแจ อยู่ในตู้เซฟ ลุงก็เข้าได้

เธอก็ถามว่า คุณลุงเข้ามาอย่างไร
คุณลุงก็ตอบว่า ลุงไม่ใช่คน
จุไรก็กราบเรียนกับคุณป้าน้อยบอกว่า เมื่อท่านบอกว่าไม่ใช่คนก็แปลกใจ ก็ถามว่า คุณลุงเป็นผีหรือ

คุณลุงก็ตอบว่า ไม่ใช่ แล้วก็ถามท่านต่อไปว่า เมื่อไม่ใช่คน ไม่ใช่ผี แล้วท่านเป็นอะไร สำหรับคุณลุงคนแรก ผิวเนื้อขาว ๆ ร่างกายใหญ่โตมาก รูปร่างใหญ่โตท่าทางเป็นคนใจดียิ้ม ๆ ท่านก็ตอบว่า คนอย่างลุง เขาเรียก เทวดาชั้นจาตุมหาราช

แล้วจุไรก็บอกคุณป้าน้อยบอกว่า หนูก็ถามว่าคุณลุง เทวดานะ ตามปกติ เทวดาเห็นใส่ชฎา แล้วก็นุ่งผ้าผืน และก็ใช้สังวาลย์ แต่เทวดาอย่างลุง ทำไมจนมากนักล่ะ เพราะมีแต่ผ้าหยักรั้งนุ่งผืนเดียว และก็มีกระบองหนึ่งอัน

ลุงก็ยิ้มแล้วก็ตอบว่า ลุงเองน่ะไม่จน แต่เวลานี้กำลังเป็นหัวหน้ายาม ต้องแต่งตัวในเครื่องแบบหัวหน้ายาม ยามปกติ ลุงก็แต่งตัวเหมือนคนธรรมดา แต่ยามที่จะประชุมขึ้นมา ขั้นมีเกียรติ ก็หมายความว่าเวลาที่ต้องรักษาศักดิ์ศรีให้เป็นไปตามยศฐาบรรดาศักดิ์ ลุงก็แต่งตัวเป็นเทวดา

หลังจากนั้นภาพของลุงทั้งสองก็กลายเป็นเทวดา สวยสดงดงามมาก เสื้อแสงแพรวพราวเป็นระยับไปด้วยเพชร แล้วจุไรก็บอกคุณป้าน้อยบอกว่า
หนูก็ถามว่า แล้วคุณลุงมาทำไม
คุณลุงก็ตอบว่า ในฐานะที่หนูเป็นคนเคารพพระพุทธศาสนา แล้วก็เป็นลูกของหลวงปู่ ลุงก็ให้การอารักขา

เธอก็ถามว่า ในเมื่อลุงมีแค่สองคน ในวัดนี่มีทั้งคนมาพัก และคนในวัดและก็พระมากมาย ลุงสองคนจะอยู่ยามไหวหรือ
ท่านลุงองค์แรกก็บอกว่า ลุงเป็นหัวหน้ายาม สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมด ให้การอารักขาทุกคนถ้าไม่เกินวิสัย

แล้วก็จุไรก็บอกว่า หนูก็ถามท่านต่อไปว่า ลุงอยู่ที่ไหน
ท่านบอกว่า ลุงน่ะพักอยู่ด้านทิศเหนือใกล้ ๆ ที่หลวงปู่พัก
แล้วหนูก็ถามว่า แล้วลุงชื่ออะไร

ลุงคนขาว ๆ รูปร่างยิ้ม ๆ ก็ตอบว่า สมัยเป็นมนุษย์ เขาเรียกลุงว่า เป็นแม่ทัพสมัยหนึ่ง และอีกสมัยหนึ่ง เขาเรียกลุงว่า เป็นพระราชา แล้วหนูก็ถามว่า สมัยเป็นแม่ทัพก็ดี พระราชาก็ดี ชาวบ้านเรียกว่าอย่างไร ลุงคนนั้นตอบยิ้ม ๆ

ท่านบอกว่า ชาวบ้านเขาเรียกลุงว่า บุเรงนอง
เธอก็ถามว่า บุเรงนอง เป็นพม่าใช่ไหม
ลุงก็ตอบว่า ใช่

แล้วเธอก็ถามว่า เมื่อเป็นเทวดาแล้ว ทำไมจึงมารักษาประเทศไทย
ลุงท่านก็ตอบว่า คำว่า ประเทศ ไม่มีความหมายสำหรับเทวดา จะเป็นประเทศไหนก็ได้ ถ้าบุคคลนั้นเคารพพระพุทธศาสนา ลุงก็มีหน้าที่อารักขาทั้งโลก ก็รวมความว่า เมื่อลุงพูดจบ

หันมาถามอีกลุง ถามว่าลุงชื่ออะไร
ลุงคนนั้นก็บอกว่า เขาเรียกลุงสั้น ๆ ว่า ปิยะเทวดา หรือ ปิยะเทวา
ก็ถามท่านว่า ถ้าเรียกยาว ๆ เรียกอย่างไร

ยาว ๆ ก็เรียกว่า ปิยะยาวีเทวา คือ เทวดาชื่อว่า ปิยะยาวี
แล้วหนูก็ถามท่านบอกว่า ท่านมีหน้าที่อะไร
ท่านก็บอกว่า มีหน้าที่เหมือนบุเรงนอง เหมือนกัน แต่รักษากันคนละทิศ

หลังจากนั้นลุงก็บอกว่า ต่อนี้ไป ถ้ามาที่นี่จำชื่อลุงทั้งสองไว้ ลุงนี่ชื่อ บุเรงนอง และอีกลุงหนึ่งชื่อว่า ปิยะยาวี มาถึงก็นึกในใจบอกว่า ขอลุงทั้งสองมาหาหนู หรือว่ามีภาระอะไรอยากจะทราบ ถ้าไม่เกินวิสัยของลุง ลุงจะช่วยทุกอย่าง ทั้งนี้ก็เพราะว่า หลานเป็นคนมีศีลบริสุทธิ์ และเป็นคนมีสมาธิแจ่มใส วิปัสสนาญาณก็ดี อย่างนี้ลุงขอยอมรับนับถือ ท่านพูดแล้วท่านก็ลากลับ

และจุไรก็ถามคุณป้าน้อย บอก คุณป้าเจ้าคะ สองลุงนี่ คุณป้าเคยเห็นบ้างไหม คุณป้าก็บอกว่า ได้ยินหลวงปู่ท่านพูด เมื่อหลวงปู่ท่านพูด ป้าก็อยากจะเห็น ท่านก็ปรากฏตัวให้เห็น แต่การปรากฏตัวของท่านแต่ละคราว ท่านเป็นคนหนุ่ม ท่านไม่ได้เป็นคนแก่ ฉะนั้นป้าจึงไม่ได้เรียก ลุง ป้าเรียกท่านว่า พี่ ในฐานะที่เกิดก่อน และก็ตายก่อน

หนูจุไรจึงถามว่า คุณป้าเจ้าคะ ขณะที่คุณลุงมา คุณลุงคุยอะไรบ้าง คุณป้าก็บอกว่า ไม่ได้คุยเรื่องอะไร นอกจากบอกว่า มาเยี่ยม ถ้ามีอะไรก็ขอให้บอกท่าน เท่านั้นเอง แล้วท่านก็กลับ หลังจากนั้นจุไรจึงบอกคุณป้า บอกว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกันคุณป้า ปัญหาเมื่อวันวานนี้ (เมื่อ วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๓๒) มันยังไม่หมด

หนูก็ยังมีข้อข้องใจ อยากจะถามว่า มณฑปทั้งสองหลัง ที่หลวงปู่ท่านเอามาสร้างที่หน้าวิหารร้อยเมตร และประดับประดาไปด้วยกระจก คล้ายวิหารร้อยเมตรแพรวพราวเป็นระยับ ท่านสร้างทำไม

คุณป้าน้อยก็ตอบหลานรักว่า หลานรัก อันนี้ป้าก็ฟังหลวงปู่ท่านเล่าให้ฟัง ท่านบอกว่า การสร้างที่วัดนี้ ไม่มีแผนของท่านเลย การที่ท่านกำหนดอะไรตามใจชอบไม่เคยมี เพราะว่าท่านเบื่อในการสร้าง ท่านคิดว่า ท่านสร้างโบสถ์เสร็จ สร้างอาคารรอบโบสถ์เสร็จ สร้างโรงพยาบาลเสร็จ ท่านพอใจ ท่านจะเลิก

แต่ทว่าหลังจากนั้นหลวงปู่ใหญ่ท่านมา ท่านขอให้สร้าง ฉะนั้น มณฑปทั้งสองหลังนี้ ตอนสร้างตอนแรกป้าก็ถามหลวงปู่ท่านว่า สร้างเพื่ออะไร ท่านก็ตอบว่า ยังไม่รู้เหมือนกัน เพราะว่าหลวงปู่ใหญ่ท่านให้สร้าง ก็สร้างตามคำสั่งของท่าน

มาตอนหลังท่านจึงทราบว่า หลังนี้เป็นที่ประทับของพระปัจเจกพุทธเจ้า หลังโน้นเป็นที่ประทับของหลวงพ่อปาน ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงปู่ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

จุไรจึงได้บอกว่า ถ้าอย่างนั้น คุณป้าเจ้าคะ เวลานี้ เรื่องมณฑปหลังนี้ก็ผ่านไปแล้ว แต่ทว่าหนูก็ยังสงสัยว่ามณฑปหลังนี้คนจะทำบุญด้วยยังได้ไหม
คุณป้าก็บอกว่า เรื่องทำบุญ เป็นของไม่ขัดข้อง เพราะราคามันก็ไม่แน่นอนนัก เวลานี้ คณะท่านสุวรรณ วีระผล ท่านก็บริจาคกันมาล้านสามแสนเศษแล้ว

แล้วก็ยังจะแถมมาอีกห้าแสนในภายหลัง หลังจากที่เราพูดกัน เพราะท่านปรารภกับหลวงปู่บอกว่า มณฑปแพรวพราวเป็นระยับ ท่านของถวายอีก ห้าแสน เพื่อหลวงปู่จะได้สร้างสะดวกขึ้น หนูจุไรจึงถามว่า คุณป้าเจ้าคะ แล้วหลวงปู่ของเรานะ เวลาที่ท่านสร้างท่านมีสตางค์หรือเปล่า

คุณป้าน้อยก็ตอบหลานสาวว่า หลานรัก หลวงปู่ไม่เคยมีทุนมาก่อน จะทำอะไรก็ตามที อาศัยที่ร้านค้าเขาเชื่อท่าน ท่านก็นำของที่ไม่มีสตางค์จะซื้อ นั่นก็หมายความว่า ซื้อเชื่อมาก่อน เขาให้มาก่อน ท่านก็ทำ ทั้งนี้เว้นไว้แต่ค่าแรงงาน

ท่านมีความจำเป็นต้องหามาให้ทันเวลา จ่ายเดือนละสองครั้ง คือ กลางเดือนครั้งหนึ่ง สิ้นเดือนครั้งหนึ่ง สำหรับค่าวัตถุก่อสร้าง และของต่าง ๆ ทั้งหมด อาหารการบริโภคก็ตาม เป็นการจ่ายรวม สิ้นเดือนจ่ายที ทั้งนี้เว้นไว้แต่อาหารประจำวัน อันนี้แม่ครัวเขาต้องจ่ายทุกวัน คือ ไม่เป็นหนี้ร้านค้า รวมความว่า หลวงปู่ของหลาน นะ ท่านไม่มีทุนมาก่อน

จุไรจึงได้ถามว่า ถ้าอย่างนั้นคณะท่านสุวรรณ วีระผล ที่ให้มาแล้ว และที่ยังไม่ให้เกือบ ๒ ล้านบาทกว่า ท่านจะให้จริง ๆ อาจจะเกิน ๒ ล้านบาท ก็อยากจะทราบว่า พอในการสร้างไหม
ป้าน้อยก็ตอบหลานสาวบอกว่า ทั้งนี้ป้าก็ถามหลวงปู่แล้ว หลวงปู่ท่านบอกว่าใครให้เท่าไรท่านก็พอถ้าไม่พอ ท่านก็เอาเงินประเภทที่เขาทำบุญไม่จำกัดประเภท มาร่วมในการสร้าง

และเงินที่เขาถวายมาเป็นส่วนตัวของท่าน ท่านก็มาร่วมสร้างด้วย ก็ถือว่า พอ
จุไรก็ถามต่อไปว่าทราบว่า มณฑปที่ประทับประดิษฐานพระปัจเจกพุทธเจ้า จะมีรูปท่านสุวรรณ วีระผล อยู่ด้วยใช่ไหม เขาจะหล่อรูปมาใส่
คุณป้าน้อยก็ตอบว่า ใช่ เห็นหลวงปู่ท่านบอกว่า บอกกับท่านสุวรรณ วีระผล ขอให้หล่อรูปเอามาตั้งที่มณฑปนี้เป็นสัญลักษณ์ว่า เป็นเจ้าของมณฑป

เพราะว่า มณฑปทั้งสองหลังนี้ ยังไม่มีใครทำบุญร่วมมาเลย และหลังของหลวงพ่อปาน ก็มีรูปท่านจันทนา วีระผล ภรรยา ท่านสุวรรณ วีระผล ประดิษฐานที่นั้นด้วย เพราะว่าตระกูลนี้ช่วยกันสร้าง เพราะว่ายังไม่มีใครร่วมเป็นเจ้าของ

จุไรจึงได้ชวนคุณป้าน้อย บอกคุณป้าน้อยว่าคุณป้าเจ้าคะ ถ้าอย่างนั้น ไปมณฑปโน้นกันดีกว่า สองป้าหลานก็ชวนกันไป เมื่อไปถึงแล้วเธอก็มองดูรอบ ๆ ทั้งข้างล่าง ทั้งข้างบน ทั้งข้างใน ทั้งข้างนอก เห็นแพรวพราวเป็นระยับไปด้วยกระจก ติดกระจกเงาเหมือนกัน ทั้งข้างนอก ข้างใน และแพรวพราว สวยสดงดงามเหมือนกันทั้งสองมณฑป รับกับวิหาร ๑๐๐ เมตร

เธอก็ถามว่า คุณป้าเจ้าคะ วิหารนี้เป็นที่ประดิษฐานรูปหลวงพ่อปานใช่ไหม
คุณป้าก็บอกว่า ใช่
เธอก็ถามว่า หลวงปู่นี่ กับหลวงพ่อปาน มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกันมาหรือ

หนูได้ฟังแต่เพียงว่า หลวงปู่บอกว่า หลวงพ่อปานเป็นครูสอนกรรมฐานท่าน
คุณป้าน้อยก็บอกว่า ไม่ใช่หลาน ความจริง เป็นอย่างนี้ หลวงปู่ของเรานี่ เมื่อก่อนจะบวช ก็เรียกว่า เขาหาฤกษ์กันต่าง ๆ เวลาจะบวช

สำหรับหลวงปู่ของเรานี่ หลวงพ่อปานเป็นคนให้ฤกษ์ และก็เป็นคู่สวดให้ จัดการอุปสมบทเสร็จเรียบร้อย ทุกอย่างเป็นภาระของท่าน แต่ใครจะช่วยเข้ามาอย่างไรก็ช่วย แต่ท่านถือว่าเป็นเจ้าภาพ ถ้าไม่มีใครช่วย อะไรบกพร่องเป็นเรื่องของท่าน

เมื่อหลังจากบวชแล้วนี่ วันนั้นก็นำหลวงปู่ไปที่กุฏิ ท่านก็ไปอบรมหลวงปู่ของเรา บอกว่า ขึ้นชื่อว่า เงินที่เขาทำบุญมาจงอย่าให้เจ้าของเงินได้เพียงอย่างเดียว คือ เขาถวายมาเป็นส่วนตัว และก็ใช้เองหมดอย่างนี้ชื่อว่า ได้บุญอย่างเดียว มีอานิสงส์เป็นการถวายทานส่วนตัว

และท่านก็แยกบอกว่าเงินเขามาให้แต่ละคราว ควรจะแยกไป
๑. ได้บุญส่วนตัว
๒. เข้าไปร่วมในเรื่องอาหารของวัด เป็น สังฆทาน
๓. เอาแบ่งไปช่วยงานก่อสร้างของวัด เป็น วิหารทาน และ
๔. เอาไปช่วยฝ่ายธรรมะ เป็น ธรรมทาน ฝ่ายธรรมะก็คือว่าซื้อตำราเรียน หรือช่วยในการสอนพระ เรียนนักธรรมหรือบาลี


และต่อมาท่านก็สอนอีกว่า เงินปีนี้จงอย่าเหลือให้ถึงปีหน้า ตอนนั้นหลวงปู่ของเราท่านก็ถามว่า ถ้าบังเอิญเงินในวันนั้น เป็นวันสิ้นปี ก่อนเวลาสองยาม ถ้าถึงเวลาสองยามนาฬิกาตีหกทุ่มเป๊ง ถือว่าเป็นวันใหม่ ถ้าบังเอิญมีคนเขาถวายวันนั้น และยังไม่ทันจะใช้มันก็ต้องข้ามปี อย่างนี้จะทำอย่างไร

หลวงพ่อปานท่านก็แนะนำบอกว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ถ้าหากว่า มันเป็นอย่างนั้น ก่อนหน้าจากวันนั้นก็คิดไว้ก่อนว่า ปีหน้าเราจะทำอะไร สมมติว่า ถ้าเราจะสร้างส้วมสักหลังหนึ่ง มันก็ราคาก็แพงกว่าเงินที่เรามีอยู่ จำนวนเงินต้องใช้มากกว่า ถึงแม้เงินยังไม่ได้ใช้ แต่ความจำเป็นจะต้องใช้มีอยู่แล้ว ถือว่าเงินไม่ข้ามปี

และหลังจากนั้นท่านก็อบรมกรรมฐาน พออบรมกรรมฐานเสร็จ ท่านก็พาเข้าไปอยู่ป่าช้า ให้ฝึกสมาธิจิตในป่าช้า และขณะที่อยู่ในป่าช้านี่ อยู่เงียบสงัด อยู่ด้วยกันจริง ๆ ๔ องค์ แต่ว่า ๔ องค์ ก็ไม่ได้อยู่ใกล้กัน อยู่ไกลกัน ป่าช้านะเป็นดงไผ่ เดินเข้าหากันไม่ได้ อยู่ตรงนี้จุดหนึ่ง ตรงโน้นจุดหนึ่ง ตรงโน้นจุดหนึ่ง ตรงโน้นอีกจุดหนึ่ง ๔ จุด

แต่ละจุดที่อยู่ก็เป็นกระท่อมที่เขาเคยเก็บศพ แต่ว่านำศพไปเผาแล้ว ต่างคนต่างอยู่ เงียบสงัด เวลานั้นไฟฟ้าก็ไม่มี ใช้แต่ตะเกียง กระจกบ้าง ตะเกียงรั้วบ้าง ใช้เทียนบ้าง
จุไรก็ถามว่า คุณป้าเจ้าคะ แล้วหลวงปู่ท่านเคยบอกหรือเปล่าว่า อยู่ในป่าช้า ท่านกลัวผีไหม
คุณป้าก็บอกว่า หลวงปู่เคยบอกว่า กลัวผี

แต่หลวงพ่อปานท่านแนะนำก่อนจะกลับ ท่านพาไปแล้วก็แนะนำ ในการเจริญกรรมฐาน และก็บอกว่า คุณทั้ง ๔ องค์อยู่ที่นี่ จงภาวนาไว้ อย่าขาด ถ้าคุณหยุดภาวนาเมื่อไร ผีหักคอตายเมื่อนั้น รวมความว่า อาศัยความกลัวผีของท่าน เวลาตื่นอยู่ก็ต้องภาวนาเรื่อยไป ขาดไม่ได้ เพราะกลัวผี

ในที่สุด เพราะความจำเป็น และจำใจพร้อมด้วยความเต็มใจ บางครั้งก็เต็มใจภาวนา บางครั้งก็จำใจภาวนา บางครั้งก็ถือความจำเป็นต้องภาวนา ถ้าไม่ภาวนาผีจะหักคอตายตามคำที่ท่านอาจารย์ท่านพูด ก็เลยต้องภาวนา อาศัยการภาวนาติดต่อกันแบบนี้จนชินเป็นปกติ ได้ชื่อว่า เมื่อมีความรู้สึกตัวเพียงใด คำภาวนาไม่ขาด ก็เป็นการบังคับให้จิตทรงสมาธิไปโดยปริยาย

ถ้าจะกล่าวไปก็เป็นโดยตรง ป้าน้อยก็บอกว่า ที่เป็นอย่างนี้หลานรัก หลวงปู่ท่านเล่าให้ฟัง บอกว่า อาศัยที่ต้องปฏิบัติอย่างนี้ จำใจบ้าง จำเป็นบ้าง เต็มใจบ้าง ก็เป็นการบังเอิญ คล้ายกับคนไม่อยากจะถูกน้ำ แต่ก็จำเป็นต้องวักน้ำใส่ตัวเอาน้ำมาราด เพราะเป็นการถูกบังคับ

ถ้าไม่เอาน้ำมาราดตัวจะถูกประหารชีวิตบ้าง จะถูกทำร้ายร่างกายบ้าง กลัวถูกประหารชีวิต หรือกลัวถูกทำร้ายร่างกาย ซึ่งเป็นภัยหนักกว่าเอาน้ำมาราดตัว ก็เลยต้องเอาน้ำราดตัวไปเรื่อย ๆ ไป ในที่สุดเหงื่อไคลที่ติดร่างกายมันก็หลุด มันก็จำใจต้องหลุด

ถูกน้ำหนัก ๆ เข้า ผลที่สุดร่างกายก็สะอาด เหงื่อไคลฉันใด แม้แต่คำภาวนาที่หลวงปู่ท่านมีความจำเป็นเพราะกลัวผี แต่เกณฑ์บังคับอย่างนี้ ต้องภาวนา ถ้าไม่ภาวนาผีจะหักคอตายอย่างนั้น จำใจจำเป็น และบางครั้งในเมื่อสว่างแล้ว จิตใจมีความชุ่มชื่น เต็มใจภาวนาเอง

เรียกว่า เต็มใจบ้าง จำใจบ้าง จำเป็นบ้าง ในที่สุดเพียงแค่วันที่สามผ่านไป เช้าวันที่สี่ ทั้ง ๔ องค์ก็ปรากฏว่า จิตเข้าถึงฌาน ๔ ด้วยกันทุกคน ทั้งนี้ก็เป็นเรื่องที่หลวงพ่อปานยืนยันทั้ง ๔ องค์นี่จิตเข้าถึงฌาน ๔ แล้ว แล้วท่านก็บอกว่า ฌาน ๔ หรือไม่ ๔ ตอนนั้นไม่ศึกษา ก็ไม่รู้เหมือนกัน

แต่เท่าที่รู้ ตั้งแต่เริ่มทำสมาธินี่มีความตั้งใจ เต็มใจเมื่อไร เวลานั้นประเดี๋ยวเดียว แพลบ ชั่วเวลาไม่ถึงนาที ร่างกายจะหลุดจากลมหายใจ จิตมีความสุขสดชื่นแนบเนียม และก็มีอาการสว่างโพลง มีการทรงตัวไม่กระดิกไปไหน จิตใจทรงตัวดีมาก

รวมความว่า หลวงพ่อปานท่านมีคุณต่อหลวงปู่เหลือหลาย เฉพาะเรื่องวิปัสสนาญาณนะ เรื่องวิปัสสนาญาณยังมีมากกว่านี้ เพราะว่าหลวงปู่ท่านบอกว่า เมื่อก่อนท่านเที่ยวไปไหนไม่เหมือนพวกเรา พวกเราได้รับการฝึก วันสองวันก็เที่ยวไปโน้น เที่ยวไปนี่ได้ เวลานั้นหลวงพ่อปานท่านก็ไม่ได้สอนอย่างนี้

สมัยนั้นท่านไม่สอนกัน ใครอยากจะได้หลักสูตรวิชชาสาม และอภิญญาก็ตาม ต้องค้นคว้าหาเองจากหนังสือวิสุทธิมรรค ท่านก็พยายามทำตามวิสุทธิมรรค ต้องการอยากจะรู้ผี รู้เทวดา รู้นรกสวรรค์ เมื่อขณะท่านเริ่มทำตามหลักสูตรวิสุทธิมรรค

หลวงพ่อปานท่านชอบเล่าเรื่องนี้ให้ฟังทุกวันตอนเย็น คือ เวลาสองทุ่ม ท่านเลี้ยงน้ำตาล เลี้ยงน้ำร้อน กับพระที่ทำงาน ท่านก็คุยเรื่องสวรรค์ คุยเรื่องนรก การไปสวรรค์ทำอย่างไร ไปนรกทำอย่างไร เจอเทวดาองค์ไหน พูดว่าอย่างไร ท่านก็เล่าอย่างนี้ทุกวัน

เป็นเหตุให้ทุกคนที่ตั้งใจเจริญพระกรรมฐาน อยากจะรู้จักสวรรค์ รู้จักนรก อยากจะไปให้ได้ และขณะที่ทำไปแล้ว เกิดการพลาดพลั้งขึ้นมา ท่านก็ไม่บอกว่า ท่านช่วยแก้ไขแต่ท่านเล่าให้ฟังว่า การปฏิบัติที่ถูก จะรู้ได้จริง ๆ ต้องทำอย่างนี้ นี่เป็นลีลาของอาจารย์สมัยเก่า

ฉะนั้น นักศึกษา นักปฏิบัติก็ต้องพยายาม มีความมานะ อดทน มีความเพียร มีความพยายาม แล้วก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณา จริง ๆ แล้วในตอนต้น ๆ ทำผิดมากกว่าทำถูกถ้ารู้ ก็รู้ไม่ค่อยจริง แค่นิมิตแวบไปแวบมา ก็ชื่นอกชื่นใจ แต่ความจริงนั่นผิด ไม่ใช่หลักสูตรของทิพจักขุญาณ

อาการอย่างนั้น เป็นอาการของนิมิตอุปจารสมาธิ แต่ในที่สุด อาศัยหลวงพ่อปานเล่าไปเล่ามา ก็เลยทำได้ ได้แล้วก็ไป จุดแรกที่ไปก็คือ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นี่ตามหลวงปู่ท่านเขียนเอาไว้ และที่ท่านพูดให้ฟัง ก็อย่างนี้เหมือนกัน

จุไรก็ถามต่อไปว่า ถ้าอย่างนั้น หลวงพ่อปาน ท่านก็เป็นอาจารย์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของหลวงปู่ของเราใช่ไหม
คุณป้าน้อยก็บอกว่า ใช่ หลาน หลวงปู่มีความเคารพหลวงพ่อปานมาก
หลานก็ถามต่อไปว่า หลวงปู่อยู่กับหลวงพ่อปาน กี่ปี

ป้าน้อยก็บอกว่า น่ากลัวจะอยู่ประมาณ ๓-๔ ปีละมั้ง ใช้คำว่า ละมั้ง เพราะไม่แน่ใจในปี
แล้วหลานสาวจุไรก็ถามต่อไปว่า ถ้าอย่างนั้น เมื่อหลวงพ่อปานตายแล้ว และก็หลวงปู่มาทำแบบนี้ เอาแบบอย่างมาจากไหน นั่นหมายความว่าในการก่อสร้าง

ป้าน้อยก็บอกว่า หลวงปู่เอาแบบอย่างมาจากหลวงพ่อปาน คือเรียนแบบทุกอย่าง ลีลาการสร้าง เขาให้ทุนส่วนตัวมาเท่าไรทำหมด จะใช้บ้างก็เล็กน้อย ตามความจำเป็น เขาทำบุญมาเท่าไรทำหมด และประการต่อไป ยังไม่ได้สตางค์มา และมีความจำเป็นต้องก่อสร้าง ก็ซื้อเขามาเป็นเงินเชื่อก่อน ชำระหนี้ทีหลังอย่างนี้ หลวงปู่ท่านลอกแบบมา

จุไรก็ถามว่า ถ้าคนอื่นจะทำบ้าง อาจจะทำไม่ได้ อยากจะถามว่า สมัยต้น ๆ ที่คนเขายังไม่ค่อยจะเชื่อหลวงปู่นัก เพราะยังเป็นหนุ่ม ท่านใช้ลีลาแบบไหน
คุณป้าก็บอกว่า เห็นหลวงปู่ท่านบอกให้ฟังบอกว่า การก่อสร้างครั้งแรก ๆ และครั้งต่อมา ครั้งสุดท้ายก็ตาม สมัยไหนก็ตาม

ท่านบูชาหลวงพ่อปานเป็นปกติ ถือว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำไป ทำเพื่อหลวงพ่อปาน ในเมื่อทำเพื่อหลวงพ่อปาน ลูกศิษย์ลูกหาหลวงพ่อปานท่านก็มีมาก หลวงพ่อปานตาย คนอื่นไม่ได้ตายไปด้วยยังเหลืออยู่มาก ในเมื่อประกาศว่า ทำเพื่อหลวงพ่อปาน เขาก็มีความเต็มใจช่วย เพราะว่าอาศัยเหตุนี้ จึงทำมาได้ขนาดนี้

หนูจุไรก็บอกว่า คุณป้าเจ้าคะ เวลานี้มันก็ล่วงเวลามานานแล้ว ประเดี๋ยวคุณแม่จะมีธุระ เดี๋ยวหนูไปถามคุณแม่ก่อนนะว่า คุณแม่จะกลับวันนี้ไหม ถ้ายังไม่กลับเวลานี้ หรือยังไม่กลับในวันนี้ ถ้าหากว่าจะกลับพรุ่งนี้หรือกลับตอนกลางคืน เดี๋ยวหนูจะกลับมาคุยกับคุณป้าใหม่ หนูยังมีเรื่องสงสัยอยู่มาก

ขอให้คุณป้าคอยหนูที่มณฑปนี้ก่อนนะเจ้าคะ ประเดี๋ยวหนูจะมา คุณป้าบอกว่า ไปเถอะหลาน เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน เมื่อหลานไป ป้าก็จะเข้าไปนั่งในวิหาร ๑๐๐ เมตร นั่งด้านหน้า ที่พระท่านเปิดประตูไว้ ที่หน้าพระปัจเจกพุทธเจ้า ถ้าหลานมาก็แวะไปหาป้าที่นั่นก็แล้วกัน

เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านผู้อ่าน เวลานี้ก็ปรากฏว่าหมดเวลาพอดี หลานกับป้าจากกันประเดี๋ยวหนึ่ง เดี๋ยวมาคุยกันใหม่ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผล จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่านที่อ่าน

สวัสดี


ll กลับสู่สารบัญ


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 11/7/11 at 14:19 [ QUOTE ]


5

จุไรกับคุณป้าน้อย
ชมอาคารรอบ ๆ วิหาร ๑๐๐ เมตร


ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ตอนนี้เป็นตอนที่ จุไรกับคุณป้าน้อย ชมอาคารรอบ ๆ วิหาร ๑๐๐ เมตร เป็นอันว่า หลังจากที่คุยกันระหว่างป้าหลาน แล้วก็คุณหลานลาไปหาคุณแม่ ปรากฏว่าคุณแม่คราวนี้ก็ยังไม่ยอมกลับ บอกกับจุไรว่า แม่จะพักที่นี่ ๖-๗ วัน เพราะตั้งใจมาแล้ว ลาคุณพ่อมาแล้ว คุณพ่อมาไม่ได้ แต่ว่า จุไรมาได้ คุณแม่มาได้ ก็จะขออยู่ปฏิบัติกรรมฐานสัก ๖-๗ วัน เพื่อความสงบใจ

ทั้งนี้ก็เพราะว่า การอยู่วัดตัดกังวล จิตเป็นสุข จุไรก็ได้ขออนุญาตไปหาคุณป้าน้อยใหม่ เมื่อไปพบกราบคุณป้าแล้ว ก็ชักชวนคุณป้าว่า “คุณป้าเจ้าขา การชมวิหาร ซึ่งมีความสวยสดงดงาม มีพระพุทธรูปที่น่าบูชา และก็มีกระจกแพรวพราว กับมีไฟช่อตั้งหลายสิบดวงอย่างนี้ ก็ชมกันแล้ว และชมมณฑปหน้าวิหาร ก็ชมกันแล้ว คุณป้าเดินเที่ยวกันไหม”

ก็ถามคุณป้า คุณป้าก็บอกว่า เออ ดีเหมือนกันหลานรัก ป้านั่งนาน ๆ มันก็เมื่อย แต่ว่าการเดิน ป้าหนักนะ เพราะว่า ป้าน่ะเป็นคนอายุมากแล้ว มันก็เหลือเวลาไม่นานนัก ป้าอาจจะตายก็ได้ จุไรก็บอกว่า ถ้าคุณป้าจะตาย ก็รอหนูก่อน ถ้าหนูยังไม่พร้อมเมื่อไร คุณป้าอย่าเพิ่งตายนะเจ้า คุณป้าน้อยก็ถามว่า หนูจะพร้อมอย่างไร

หนูจุไรก็บอกว่า ตามธรรมดา เขาบอกว่า คนเราอายุ ๑๐๐ ปี เป็นอายุขัย ถ้าหนูอายุยังไม่ถึง ๑๐๐ ปี ถือว่ายังไม่พร้อมในการตายแต่ว่าคุณป้าขออยู่ต่อไปก่อน ถ้าหนูครบ ๑๐๐ ปีเมื่อไร ตายพร้อมกัน คุณป้าหัวเราะชอบใจก็กล่าวว่า หลานรัก วัยมันต่างกันนี่หลาน หลานเพิ่งอายุย่างเข้าปีที่ ๙ ตัวเล็ก ๆ เป็นเด็กน่ารัก

แต่สำหรับป้านี่เป็นคนแก่มากแล้วอายุ ๖๐ ปีกว่า เข้า ๗๐ ปี แล้ว ๗๐ ปีกว่าก็จำไม่ได้นัก ป้าจะต้องตายก่อน ความจริงไม่มีใครอยากตาย แต่ความตายเป็นของธรรมดา เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ในเรื่องตายไม่ตาย ชาวบ้านเขาจะเบื่อคุยกัน เราก็เดินเที่ยวต่อไป เอาอย่างนี้ซิหลานรัก เข้าในวิหาร ขอลัดเข้าทางนี้ไปทางด้านพระปัจเจกพุทธเจ้าเดินด้านใน เลี้ยวเข้าประตูซ้าย

ขออนุญาตพระท่านผ่านห้องโถงด้านหลังของวิหาร ด้านท้าย คือ ด้านทิศตะวันตก เดินเลี้ยวขึ้น เลี้ยวขวานิดหนึ่ง ขึ้นบันไดยาวแล้วก็ขึ้นสะพาน เดินขึ้นไปปั๊บ ตรงนี้เราถึงวิหารคต ยาวมาก จุไรก็ถามว่า ที่นี่เขาเรียกอะไรเจ้าคะ คุณป้าน้อยก็บอกว่า เขาเรียกว่าวิหารคต หมายความว่า สร้างเป็นตัวอาคารแคบ ๆ ยกพื้นสูงจากดิน ๓ เมตร และยกเสาพื้นเดิมไป ๔ เมตร ทำหลังคา

แล้วก็เดินต่อไปทางด้านทิศเหนือ หลังจากนั้น ก็เลี้ยวไปด้านทิศตะวันออก หลังไปอีกที ก็เลี้ยวไปด้านทิศใต้ เลี้ยวไปอีกที ก็ด้านทิศตะวันตก เป็นสี่มุม จุไรก็บอกว่า คุณป้าพูดแบบนี้หนูงง ชักเวียนศีรษะ เลี้ยวไปเลี้ยวมา เลี้ยวมาเลี้ยวไป หนูไม่รู้เรื่องเลย คุณป้าก็บอกว่า เอาอย่างนี้ดีกว่า อย่าเพิ่งไปมันเลยด้านวิหารคต เราเลี้ยวขึ้นไป เดินจากสะพาน ขึ้นกระได

เดินบนสะพานแล้ว สะพานคอนกรีต ก็เลี้ยวซ้าย เดินหน้าต่อไป พอเดินได้นิดเดียวสองสามก้าว ก็มีทางแยก ด้านขวามือไปทาง ๒๕ ไร่ ไปทางอาคาร ๒๕ ไร่ จุไรก็ถามนี่อะไร คุณป้าน้อยก็บอกว่า เป็นทางเดินยกสูงจากพื้นดิน ๖ เมตร แล้วกว้าง ๔ เมตร เป็นทางเดินไปอาคาร ๒๕ ไร่ และก็มี ๒ ชั้น ชั้นล่างกับชั้นบน จุไรก็มองเห็นทั้งสองข้างเป็นกำแพงโปร่ง

อีกด้านหนึ่งก็เป็นกำแพง ลูกกรงเป็นลวด เธอก็เดินไปนิดหนึ่งเดินตรงไปแล้วก็เลี้ยวขวา แล้วก็เลี้ยวซ้าย เรียกว่า ชนกุฏิ ๒๕ ไร่ จุไรก็มองไปทางด้านขวามือ ด้านทิศตะวันตก เห็นถังประปาสูงเด่น เธอก็ถามว่า คุณป้านี่อะไรเจ้าคะ

คุณป้าน้อยก็บอกว่า หลาน นี่หลวงปู่ท่านกำลังทำประปาบาดาลใหม่ อีกจุดหนึ่ง เวลานี้ถังเขาตั้งเสร็จแล้ว แต่หม้อกรองยังมาไม่ถึง ลูกสูบยังมาไม่ถึง ถังเก็บกักน้ำทำเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ต่อแป๊ปเข้าชนกันหมดแล้ว
จุไรก็บอกว่า สำหรับประปาที่วัดนี้เรียกว่า ประปาบาดาล คือว่า หนูก็เห็นมีเยอะแยะ

๑. ที่โรงเรียนพระสุธรรมยานเถระวิทยา ๑ ประปา
๒. ที่ข้าง ๆ กับตึกกลางน้ำ มีแห่งหนึ่ง
๓. ที่นี่แห่งหนึ่ง
๔. ศาลา ๒ ไร่ อีกแห่งหนึ่ง

๕. ที่หน้าพระอุโบสถแห่งหนึ่ง
๖. ที่ตึกชายน้ำ อีกแห่งหนึ่ง และก็
๗. ที่รับแขก อีกแห่งหนึ่ง ที่นี่มีประปาบาดาลตั้ง ๗ แห่ง
และเห็นว่ากำลังจะทำที่ อาคาร ๑๒ ไร่ อีกแห่งหนึ่งใช่ไหม

ป้าน้อยก็บอกว่า ใช่
เธอก็ถามบอกว่า ประปาต่าง ๆ ในที่ต่าง ๆ เขามีกันจุดเดียวหรือสองจุด เป็นอย่างมาก แต่บริเวณวัดนี้ก็ไม่กว้างนัก คนก็ไม่มาก ทำไมหลวงปู่ทำประปามากอย่างนี้
คุณป้าน้อยก็บอกว่า หลานรัก หลานยังไม่เคยมาในวันเป่ายันต์เกราะเพชรใช่ไหม

จุไรก็บอกว่า หนูมาแล้ว ๒ ครั้งเจ้าค่ะ
ป้าน้อยก็บอกว่า หนูเห็นคนไหม ยามปกติที่วัดนี้พระก็ไม่มาก เพราะไม่รับพระที่อื่น พระวัดนี้ที่มีอยู่ ก็เป็นพระบวชที่นี่ทั้งหมด เฉพาะ ต้องบวชในวัด และต้องปฏิบัติกรรมฐานได้ก่อนด้วย กรรมฐานเบื้องต้น จึงให้บวช

และจากนั้น พระมาจากที่อื่น จากที่ไหนก็ไม่รับ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่า ที่นี่พระมาก แต่คนใส่บาตรน้อย ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่า คน บ้านอยู่ห่าง ๆ กัน และวัดก็มีใกล้ชิดกันมากข้างวัดท่าซุง ก็มี วัดยาง ข้ามไปฝั่งตะวันออก ก็มีสำนักสงฆ์ และข้ามไปอีกหน่อยหนึ่ง ริมแม่น้ำฝั่งโน้น ก็มีอีกวัดหนึ่ง และเลยไปไม่ไกลนัก ก็มีวัดแก่นเหล็ก ที่อำเภอมโนรมย์

เหนือขึ้นไปข้างบนก็มีวัดภูมิธรรม วัดติดกันมาก คนใส่บาตรก็ใส่ไม่ไหว พระมาก ๆ ฉะนั้นที่วัดนี้จึงต้องทำภัตตาหารเวลาเพล อาหารเพลนี่ต้องจ่าย หลวงปู่ก็จ่ายเป็นประจำ และก็โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่ากระแสไฟฟ้า เดือนก็ตกแสนบาท ทีนี้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หลวงปู่ก็จ่าย ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าไฟก็ต้องจ่าย ค่าอาหารก็ต้องจ่าย ถ้าพระจะมาอยู่แบบประเภท อาศัยวัดอยู่

ท่านก็รับไม่ได้ จะรับได้เฉพาะนักปฏิบัติ และช่วยการงานจริง ๆ ก็เรียกว่า พระประเภทเหลือบ อาศัยเกาะกิน ท่านรับไม่ได้ ค่าใช้จ่ายเดือน ๆ หนึ่ง หลวงปู่ก็จ่ายมาก รวมความว่า ทั้งค่าน้ำประปา ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าอาหาร นี่หลวงปู่ต้องจ่ายเป็นแสน ๆ คือ ไม่ใช่แสนเดียวต่อหนึ่งเดือน

จุไรก็สงสัยถามว่า ถ้าอย่างนั้น เอาสตางค์มาจากไหน
ป้าน้อยก็บอกว่า หลานรักที่หลวงปู่จ่าย ความจริงไม่ใช่เงินของท่าน เป็นเงินที่ญาติโยม ลูกศิษย์ลูกหา ลูกหลานของท่าน ถวายมาเป็นรายบุคคล ความจริงก็คนละไม่มาก คนละ ๑๐ บาทบ้าง ๒๐ บาทบ้าง ๓๐ บาทบ้าง ๕๐ บาทบ้าง ๑๐๐ บาทบ้าง ๑,๐๐๐ บาทบ้าง

นาน ๆ จะมี ๑๐,๐๐๐ บาท นาน ๆ จะมีพัน แต่ส่วนสิบบาทน่ะ มีมาก ยี่สิบบาทมีน้อย ไม่มากนัก แต่อาศัยว่า เป็นคนหลายคน เขาช่วยกัน มากบ้าง น้อยบ้าง ตามกำลัง ก็พอมีจ่าย จุไรฟังแล้วก็หูอื้อบอก คุณป้าเจ้าขา หนูฟังแล้ว หูอื้อเพราะว่าที่บ้านของหนู คุณพ่อรับเงินเดือนประมาณ ๓,๐๐๐ บาท เศษ ๆ เดือนหนึ่งก็ต้องจ่ายทุกอย่าง ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ทั้งค่าอาหาร ค่าพาหนะ

หนูไปโรงเรียน ค่าเครื่องแต่งกาย ค่าอุปกรณ์การศึกษา ค่ายารักษาโรค ค่าพ่อเที่ยว
ป้าน้อยถาม เดี๋ยวก่อนๆ อะไรหลาน ค่าพ่อเที่ยว
จุไรก็บอกว่า เห็นบางวัน วันหยุด คุณพ่อบอกแม่ว่า ฉันนะ งงเต็มที อึดอัดจากการงาน ฉันขอเที่ยวสักพักเถอะ เวลาพ่อเที่ยว พ่อก็ใช้สตางค์

รวมความว่า ก็ต้องรวมในค่าใช้จ่ายด้วย เพียงแค่นี้คุณป้า ทีนี้หลวงปู่ต้องหาเงินใช้ เดือนเป็นแสน ๆ หลวงปู่ไม่หนักใจหรือ
คุณป้าน้อยก็บอกว่า ไม่เห็นท่านบ่น ก็เป็นแต่เพียงท่านบอกว่า ท่านมี ถ้าคนให้ ท่านก็จ่าย ถ้าให้มาไม่ถึง ท่านก็ลด นั่นหมายความ ค่าอาหารของพระ ถ้าเงินได้น้อยมา ก็ลด

แต่อาศัยเวลานี้ มีบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท คือ พี่ ป้า น้า อา ปู่ย่า ตายาย พี่บ้าง น้องบ้าง มาเลี้ยงภัตตาหารเพลกันบ่อยๆ บางเดือนก็มีถึง ๒๐ เจ้า คือ ๒๐ วันก็มี คือว่า เดี๋ยวท่านนั้นมาเลี้ยง เดี๋ยวท่านนี้มาเลี้ยง ก็ทำให้หลวงปู่เบาลงไป
แล้วจุไรก็ถามว่า ถ้าอย่างนั้น อาหารเมื่อหนูกินตอนกลางวัน เป็นอาหารของหลวงปู่ใช่ไหม

ป้าน้อยก็ถามว่า หนูกินที่ไหน
จุไรก็บอกว่า หนูจะไปกินที่ร้านค้า แต่พระท่านก็บอกว่า หนูเล็ก ทานอาหารที่นี่เถอะ อาหารเหลือเยอะ
ป้าน้อยก็บอกว่า นั่นอาหารของหลวงปู่ แต่ไม่ใช่หลวงปู่ทำ เป็นพวกจังหวัดสุพรรณ คือ พวกคุณประเสริฐ เขามาทำ มาเลี้ยงอาหารด้วย

และก็พวกพิษณุโลก มาเลี้ยงอาหารอีกเจ้าหนึ่ง เป็นสองเจ้ารวมกัน และอาหารที่ครัวทำ ครัวนะต้องทำสำรอง จะมีคนมาเลี้ยง หรือไม่มีคนมาเลี้ยงก็ตาม ครัวต้องทำสำรองไว้ เผื่อว่าคนเลี้ยงมาไม่ทัน จะได้มีอาหารให้พระฉัน เพราะหลังจากเที่ยงไปแล้ว พระฉันไม่ได้ มีความจำเป็นต้องทำสำรองไว้

จุไรฟังแล้วก็หนักใจบอกว่า คุณป้าเจ้าคะหนักใจจริงนะ เกิดเป็นหลวงปู่ แต่ความจริงเห็นท่าน ทุกคนก็บอกว่า วาสนาบารมีของท่านดีมาก มีบุญดีมาก ไอ้โน้นก็ดี ไอ้นี่ก็ดี แต่รายจ่ายหลวงปู่ท่วมอก หนูหนักใจแทนหลวงปู่

ป้าน้อยก็หนักใจ ที่ป้ามานี่ ป้าก็ช่วยนะ ป้าก็ทำอาหารถวายพระ ที่เหลือก็เลี้ยงคนต่อไป ป้าก็ทำของป้าทุกวัน งานทุกอย่าง ถ้าไม่เกินวิสัยของคนแก่ ป้าก็ทำ ก็รวมความว่า จุไรก็บอกว่า อาคารหลังใหญ่นี่อะไร ป้าน้อยก็บอกว่า อาคารหลังใหญ่นี่เป็นกุฏิบริเวณ ๒๕ ไร่ อย่าเพิ่งคุยกันเลยนะ เรากลับกันก่อนดีกว่า พอเลี้ยวเดินกลับมา จุไรก็หันหน้าไปทางต้นโพธิ์ แล้วก็นั่งลงกราบ

ป้าน้อยก็ยิ้มถามว่า หลานรัก กราบอะไร กราบต้นโพธิ์หรือ
จุไรก็บอกว่า กราบทั้งต้นโพธิ์ กราบทั้งท่านที่อยู่ที่ต้นโพธิ์
ป้าน้อยก็ถามว่า หนูเห็นอะไร

จุไรก็บอกว่า คุณป้าเจ้าขา ที่นี่เยอะจริง ๆ นะ มีเทวดานุ่งแดงบ้าง เทวดานุ่งเขียวบ้าง มีนางฟ้าทรงเขียวบ้าง นางฟ้าทรงขาวบ้าง นางฟ้าทรงเหลืองแกมขาวบ้าง และก็เทวดาแต่งตัวสวย ๆ ก็เยอะ โอ๋ ลุงปิยะยาวีท่านก็อยู่ที่นี่ ท่านเป็นหัวหน้าที่นี่ พูดแล้วก็ชี้มือไป ป้าน้อยก็มองไป สิ่งที่ปรากฏกับลูกตาป้าน้อยก็คือ ใบโพธิ์กับกิ่งโพธิ์

ป้าน้อยก็ยิ้ม ป้าน้อยก็บอกว่า หลานตาดี ฝึกอย่างนี้ถือว่า ดีมาก
หลังจากนั้น ก็ก่อนที่จะไปยังไม่ไปกัน จุไรก็บอกป้าน้อยบอกว่า คุณป้าเจ้าขา คุยกับลุงก่อนดีไหม เมื่อเช้ามืดนี่ลุงบอกว่า มีอะไรขอให้บอกจะช่วย ป้าน้อยก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นตามใจหลาน เมื่อต้องการอย่างไรทำไปเลย ถ้าสิ่งเหล่านั้นเป็นเหตุที่เทวดาท่านสงเคราะห์

แล้วจุไรจึงนั่งลงกราบ ยกมือพนม บอกว่า คุณลุงเจ้าคะ หนูอยากจะถามอะไรสักอย่างได้ไหม ก็เป็นเสียงก้องมาจากต้นโพธิ์ เสียงมีแต่รูปไม่เห็น แต่จุไรเห็น ป้าน้อยเห็นว่า หลานต้องการอะไร ถ้าสิ่งใดถ้าไม่เกินวิสัย ลุงให้ทุกอย่าง เธอก็ถามว่า ที่ลุงอยู่นี่ อยู่กิ่งไหน ท่านลุงก็แปลกใจถาม กิ่งอะไรหลาน

คือ อยู่ที่ต้นโพธิ์นี่ ลุงอยู่ที่กิ่งไหน
ท่านลุงปิยะยาวีก็ยิ้มบอกว่า หลานเอ๊ย ลุงไม่ใช่จิ้งจก ตุ๊กแก ลุงไม่ใช่นก ลุงเป็นเทวดา เท่าที่เห็นยืนอยู่นี่ ไม่ใช่ยืนอยู่บนกิ่งไม้ ลุงยืนอยู่บนพื้นของอากาศ แต่จริง ๆ แล้วลุงมีวิมานอยู่ เพียงแค่มาช่วยงานชั่วครู่ก็กลับ

เธอก็ถาม ครู่หนึ่งของลุงใช้เวลาเท่าไร
ก็บอกว่า เวลาของลุงถ้าเทียบกับเมืองมนุษย์นะ พูดกับชาวมนุษย์ ชาวมนุษย์ใช้เวลา ๕๐ ปี เท่ากับ วันหนึ่ง ของลุง ฉะนั้น ถ้าลุงจะมาช่วยสงเคราะห์ดูแลวัดนี้ สักเจ็ดวัน หนึ่งอาทิตย์ อาทิตย์ของเทวดา ก็ใช้เวลาตั้ง ๓๐๐ ปีกว่า ๓๕๐ ปี

จุไรก็ถามต่อไปว่า หน้าที่ของลุง นอกจากจะดูระวังภัยอันตรายต่าง ๆ ไม่ให้ปรากฏการณ์ขึ้น
ท่านก็บอกว่า ใช่ ทั้งนี้ถ้าไม่เกินวิสัยของเทวดา ก็มีบางอย่าง ถ้าเป็นกฎของกรรมของคน และสัตว์ ก็เกินวิสัยที่เทวดาจะช่วยได้เหมือนกัน ไม่ใช่ช่วยได้ทุกอย่าง

จุไรก็ถามว่า คุณลุงเจ้าคะ บนอากาศหนูไม่ได้สงสัย แต่หนูมีความรู้สึกว่า มีอะไรสักอย่าง หนึ่ง อยู่ที่พื้นแผ่นดินใกล้ ๆ ต้นโพธิ์ บริเวณที่หนูอยู่ตรงนี้นะ และก็ใต้ลงไปที่พื้นดิน เห็นสีเหลือง ๆ เหลืองมากด้วย เป็นแท่ง ๆ เห็นจะเป็นทองแท่งใช่ไหม
คุณลุงก็ตอบว่า ใช่

จุไรก็ถามว่า ทองทั้งหลายเหล่านี้ ลุงรักษาหรือเปล่า
ท่านปิยะยาวีก็บอกว่า หลานรัก ลุงรักษา ไม่ใช่รักษาแต่เท่านี้นะ แต่ว่าอินทกะทั้งหมด ทั้ง ๔ ทิศ ท่านส่งมาทิศละองค์ เรียกว่า เทวดาชั้นผู้ใหญ่มา ๔ องค์ เทวดาที่เป็นบริวารเป็นเจ้าหน้าที่ เป็นพัน ท่านก็บอกว่า หลานรัก ดูตามลุงบอกซิ มองตามนี้นะ

ไม่ต้องเหลียวหน้า เหลียวหลัง จับลมหายใจเข้าออกให้ดี สร้างความรู้สึก เอาจิตมีความรู้สึกไว้ที่อก รู้ลมหายใจเข้าออก กำหนดจิต ไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องภาวนา ทำใจให้เป็นสุข จุไรก็ทำตามนั้น
หลังจากนั้นคุณลุงก็ถามว่า เห็นหรือยัง
จุไรก็ตอบว่า เห็นแล้วเจ้าค่ะ และก็เห็นมันมากเกินไป

คุณลุงก็ถามว่า ทำไมมากเกินไป
จุไรก็บอกว่า มันเต็มบริเวณวัด บริเวณเขตวัดมีเท่าไร ที่ ๑๐๐ ไร่เกือบทั้งหมด ที่นอกนั้นก็หมด และที่ประมาณ ๒๐๐ ไร่เต็ม ภายใต้เป็นทองคำทั้งหมด
คุณลุงก็บอกว่า ใช่ หลานเห็นถูกแล้ว

ความจริงทองคำทั้งหมดนี่ เป็นของที่เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลก็มี เป็นทรัพย์สินส่วนกลางก็มี คือ เป็นของแผ่นดิน และทรัพย์สินบางอย่างที่เป็นของพระเจ้าจักรพรรดิก็มี และก็เป็นทรัพย์สินของพระเจ้าจักรพรรดิน่ะมีมาก
จุไรก็แปลกใจ ถามบอกว่า คุณลุงเจ้าคะ พระเจ้าจักรพรรดิเวลานี้ ท่านอยู่ประเทศไหน

คุณลุงปิยะยาวีก็บอกว่า หลานรัก พระเจ้าจักรพรรดิเวลานี้ยังไม่ตรัส ต้องรอกาลเวลาอีกนาน ต้องว่างจากพระพุทธศาสนา ในสมัยนั้นอาจจะมีพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือยังไม่มีก็ได้ ทั้งสองอย่าง จะมีพระเจ้าจักรพรรดิขึ้นมาปกครองโลก องค์เดียวสามารถปกครองโลกทั้งโลกโดยธรรม ที่นี้ ทองคำทั้งหมดนี้ ถ้าประเทศไหนมีความยากจนเข็ญใจ ท่านจะช่วย

ทองคำทั้งหมด ที่เป็นทองคำของพระเจ้าจักรพรรดิ ลุงต้องรักษา และก็ไม่ได้รักษาจุดนี้จุดเดียว อีกหลายจุดในโลกนี้ ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ที่ประเทศไทยนี้ก็มีอีกหลายจุด หลาย ๆ ประเทศก็มีหลายจุด อันนี้ใครเอาไม่ได้เลย เป็นหน้าที่ของลุงและคณะ ต้องอารักขาให้ปลอดภัยที่สุด

จุไรก็ถามว่า ถ้าอย่างนั้น ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิอุบัติขึ้นมาในโลก หรือเกิดขึ้นมาในโลก ลุงจะรู้ได้อย่างไร
ท่านก็บอกว่า เรื่องของเทวดา ไม่ใช่เรื่องของคน เป็นของไม่แปลก รู้ได้ทันที แต่ว่าลุงมีหน้าที่แต่เพียงรักษา การที่จะนำไปมอบหมายให้พระเจ้าจักรพรรดิ เป็นเทวดาอีกพวกหนึ่ง ไม่ใช่ลุง

จุไรก็หันไปหันมา สงสัยว่า ทองกลุ่มนี้ โดยเฉพาะตรงนี้ ที่หนูยืนตรงไปนี่ มันมี
น้ำหนักเท่าไร มันเยอะเหลือเกิน
ลุงก็บอกว่า ทั้งหมดนี้ ๔๒ ตัน
เธอก็ถามว่า มองเห็นใกล้เหลือเกินนี่ ความลึก ลึกจากผิวแผ่นดินเท่าไร
ลุงก็บอกว่า ประมาณครึ่งกิโลเมตร

เธอก็ถามว่า ทอง ๔๒ ตันนี่ เป็นทองพระเจ้าจักรพรรดิหรือเปล่า
ลุงปิยะยาวีก็บอกว่า ไม่ใช่
เธอก็ถามว่า เป็นทองของใคร
ลุงปิยะยาวีก็บอกว่า เป็นทองของคนที่ยังไม่เกิด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทอง ๔ ตันใน ๔๒ ตันนะ คือ ๔ ตัน เป็นของท่านท่านหนึ่ง ในกรุงศรีอยุธยา กับลพบุรีร่วมกัน หมายความว่า ท่านผู้นี้ เคยปกครอง เคยอยู่ทั้งอยุธยา เคยอยู่ทั้งลพบุรี อยู่สองสถานที่ เป็นกษัตริย์ และในสมัยนั้นที่วัดนี้มีความรุ่งเรืองมาก เพราะกษัตริย์องค์นี้สนับสนุนในการก่อสร้าง จึงได้นำทองส่วนหนึ่งมาวางไว้ มาเก็บไว้ที่นี่

เพื่อเจ้าหน้าที่ทำการก่อสร้าง ใช้ในการก่อสร้าง ก็เป็นอันว่า ทองยังไม่ทันจะหมด คือ เอาทองไปแลกกับเงินและเงินก็แจกจ่ายซื้อของมาบ้าง จ้างช่างบ้าง อย่างนี้เป็นต้น ก็รวมความว่า ยังไม่หมด ยังเหลืออยู่ จุไรก็ถามว่า ถ้าหนูอยากจะได้สักนิดหนึ่งจะได้ไหม ทั้งหมดนี่ทองทั้งหมด ท่านก็บอกว่า ถ้าหนูอยากจะได้ เป็นหน้าที่ตามความรู้สึกของหนู

แต่ลุงเห็นว่า มีความรู้สึกว่า หนูไม่ควร จุไรก็ถามว่า เพราะอะไร
ท่านก็บอกว่า การที่หนูเห็นทองได้ เพราะความไม่โลภของจิตมีอยู่ ถ้าเกิดอยากได้ขึ้นมา ต่อไปความรู้สึกเห็นอย่างนี้ มันจะไม่มี มันจะสลายตัวไป
จุไรก็ตกใจ ก็ก้มลงกราบขอขมาท่านลุงปิยะยาวี เวลานั้นท่านลุงอีกลุงก็มา ท่านลุงบุเรงนองมา นี่เป็นนิทานนะ บรรดาท่านทั้งหลาย

ก็ถามว่า จุไรหลานรัก ด๊อกเตอร์ปิยะยาวีเขาว่าอย่างไร
จุไรก็กราบท่านบอกว่า กำลังคุยกันเรื่องทองคำและก็บอกว่า เรื่องนี้นะ หลวงปู่รู้ดีทุกอย่าง เพราะทองคำแต่ละจุดที่นำมา เขาแจ้งหลวงปู่ก่อน หลวงปู่ก็รู้ และก็มีระยะหนึ่ง ตอนต้นที่ท่านซื้อที่ ๑๐๐ ไร่เศษ ก็มีพระ หลวงปู่ใหญ่ท่านมาบอกให้รีบทำถนนล้อมพื้นที่ทันที

เพราะว่า เดือนมีนาของปีนั้น เขาจะนำทองของพระเจ้าจักรพรรดิมาไว้ในบริเวณนี้ ในเมื่อเป็นขอบเขต ใครรุกรานไม่ได้
จุไรก็บอกว่า มันลึกขนาดตั้งเกือบกิโลเมตร ใครจะขุดได้
ท่านก็บอกว่า คนไม่สามารถจะขุดได้ แต่ว่าเครื่องจักรสามารถขุดได้ ฉะนั้นเมื่อล้อมที่เป็นรั้ว เป็นขอบเขตของวัดเสียแล้ว ก็ไม่มีใครเขามาทำ

จุไรก็ถามว่า ถ้าอย่างนั้นคุณลุงเจ้าคะ ถ้าบังเอิญจะมีใครคนใดคนหนึ่ง มาขอซื้อที่วัด เพราะที่บริเวณเท่านี้ เฉพาะที่ ๑๐๐ ไร่ เขาให้ไร่ละ สิบล้าน อย่างนี้ เขามีอำนาจขุดไหม
ท่านลุงก็บอกว่า กี่สิบล้าน ท่านลุงก็ไม่ขายละมั้ง เพราะว่าอย่างไร ๆ วัดก็ขายที่ดินกินไม่ได้อยู่แล้ว

เพราะภาระของพระ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าพระ โดยเฉพาะหลวงปู่ของหนูนี่ ไม่มีทางขายมีอย่างเดียวจะรวบรวมเข้ามา เพราะบริเวณวัดนี้จริง ๆ แล้ว เนื้อที่ต้องมีประมาณ ๓๐๐ ไร่เศษ หลวงปู่ท่านก็ทราบ มีท่านผู้รู้บอกท่าน แต่ท่านก็พยายามซื้อกลับคืนมา แต่ก็ไม่หมด ในที่สุด ท่านก็ยับยั้งการซื้อ เพราะในเวลานี้ท่านแก่มากแล้ว

ท่านรู้สึกตัวว่า วาระชีวิตของท่านจะอยู่ได้ไม่นาน จึงลดการงานให้ช้าลง เวลานี้เรื่องหนี้สินคั่งค้างเป็นเดือน ๆ ไม่มีสำหรับหลวงปู่ จะมีเฉพาะ หนี้ประจำเฉพาะเดือนเท่านั้น ถ้าสิ้นเดือนชำระหนี้กันที อย่างนี้ท่านก็ไม่ยอมให้หนี้ค้างเหมือนกัน เพราะ ท่านทราบวันเวลาของท่านว่า ไอ้ความตายมันใกล้เข้ามา ไม่ต้องการให้หนักใจคนอื่น

จุไรก็กราบเรียนถามว่า ถ้าอย่างนั้นหลวงปู่ก็ใช้จ่ายน้อยลง ท่านบุเรงนองก็บอกว่า ความจริงงานน้อยลง แต่ใช้จ่ายไม่น้อยลง ทั้งนี้เพราะว่า วัตถุก่อสร้างมันขึ้นราคามาก ท่านจะรักษา กำหนดค่าใช้จ่าย ไม่เกินกว่าเดือนที่เคยจ่ายไว้ แต่งานจะก้าวถึงไหน เป็นเรื่องของงาน เรื่องของวัตถุที่พึงได้มา

เอาละ หลานรัก มองดูเวลาก็หมดไปแล้วนี่ คนอ่านเขาจะรำคาญ วันนี้ก็ยุติกันก่อนนะหลานนะ วันพรุ่งนี้ถ้ามีโอกาส มาคุยกันใหม่ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผล จงมีแด่หลาน และผู้อ่านทุกคน

สวัสดี


ll กลับสู่สารบัญ


6
ตอน จุไรชมหอพักหญิง


ตอนนี้ ท่านผู้อ่านก็ยังจะพบกับ จุไรและคุณป้าน้อย ต่อไปเป็นอันว่า จุไรกับคุณป้าน้อย คุยกันกับ ท่านอินทกะของท้าวมหาราชทั้ง ๒ คือ ท่านบุเรงนอง และท่านมองสิเออยา วี คำว่า มองสิเออยาวี นี่ บุเรงนองเป็นคนเรียก แต่จริง ๆ แล้วท่านชื่อ ปิยะยาวี

ก็รวมความว่า เรื่องเทวดา หรือเรื่องผี ก็เป็นเรื่องนิทาน เรื่องต่อไปถ้าเป็นเรื่องอาคารของวัด นี่เป็นเรื่องจริง และเรื่องตัวบุคคลก็ดีท้องเรื่องต่าง ๆ ก็ดี เป็นตัวบุคคลขึ้นมาก็ตาม แม้แต่ จุไรกับป้าน้อยก็เป็นนิทาน แต่ถ้าจะพูดตรงไปตรงมา ท่านผู้อ่านก็จะรำคาญ ก็เลยยกนิทานเข้ามาผสมกับเรื่องจริง ฉะนั้นเรื่องจริง ๆ ก็มีอยู่ และนิทานจริง ๆ ก็มีอยู่

เป็นอันว่า เรื่องของเทวดา กับ จุไรกับป้าน้อย เป็นเรื่องนิทาน เป็นตัวบุคคลในนิทาน ก็เป็นอันว่า ทราบกันแล้วกันว่า นิทาน อย่าใช้เป็น ตำรา ก็เป็นอันว่า คุณหลานกับคุณป้าทั้งสอง เมื่อคุยกับทั้งสองท่านเห็นว่าเวลาพอสมควร จุไรกับคุณป้าน้อย ก็ต่างคนต่างยกมือไหว้ ท่านอินทกะทั้งสอง คือ ท่านบุเรงนอง กับท่านปิยะยาวี

คำว่า ปิยะยาวี นี่ท่านบุเรงนอง ท่านเรียกว่า มองสิเออยาวี คำว่า บุเรงนอง บรรดาท่านทั้งหลายก็จงอย่าคิดว่า เป็น บุเรงนองพม่า เป็นชื่อที่สมมุติขึ้นมาทั้งหมด สมมุติหมด เป็นนิทานหมด เมื่อลาท่านทั้งสองมาแล้ว ต่างคนก็เดินอย่างใคร่พิจารณา คือว่า ไม่รีบเดิน เพราะว่า จุไรมีโอกาส ทั้งนี้เพราะว่า คุณแม่อยู่ถึง ๗ วัน เมื่อเดินกลับมาได้หน่อยหนึ่งก็มองไปทางซ้ายมือ

เห็นกำแพงด้านนอก ด้านนอกของอาคารเป็นกำแพงสั้น ๆ ใกล้ ๆ ก็ถามคุณป้าน้อยว่า นั่นเป็นกำแพงเขตของหอพักใช่ไหม คุณป้าก็บอกว่า ใช่ เธอก็มองไปนิดหนึ่ง ก็ไปเจอะด้านซ้ายมือเหมือนกัน ไปเจอะอาคารเล็ก ๆ เหมือนกับถัง ตั้งอยู่ ก็ถามคุณป้าน้อยว่า นั่นอะไร คุณป้าน้อยก็บอกว่า นั่นเป็นที่เผาขยะ

คือว่า เวลาที่มีเศษขยะ เด็กนักเรียนทำอาหาร อะไรก็ตาม ก็ไปใส่ที่นั่น แล้วก็เผา จุไรจึงบอกว่า คุณป้าเจ้าขา บ้านหนูทำไมไม่ต้องมีที่เผาขยะ และที่เผาขยะก็ใหญ่ขนาดนี้ มีความจำเป็นอย่างไร คุณป้าก็บอกว่า บ้านหนูมี ๓ คน คุณพ่อ คุณแม่ แล้วก็หนู ขยะไม่มาก เพียงแค่จับเอาไปทิ้งหลังบ้าน มันก็หมดเรื่องหมดราว ก็จมดินไป

แต่ว่าขยะที่โรงเรียน ที่หอพักนี่ มีนักเรียนพักตั้งร้อยคนเศษ ของที่ใช้มันก็มาก เศษที่เหลือใช้มันก็มาก จำเป็นต้องมีที่เผา จะได้เกิดความสะอาด ไม่เลอะรุงรัง
เธอฟังแล้วเธอก็ยิ้ม เธอก็มองไปอีกนิดหนึ่ง ถัดเข้ามา เห็นบ่อน้ำ ปูกระเบื้องเคลือบ และมีที่สำหรับโดดน้ำ มีเป็นสปริง เธอก็ถามว่า คุณป้า นั่นอะไรเจ้าคะ

คุณป้าก็บอกว่า เป็นบ่อน้ำสำหรับนักเรียนในหอพักนี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หอพักหญิง ที่นี่เป็นหญิงทั้งหมด หอพักชายอยู่ที่โรงเรียน เวลาร้อนเข้ามา หรืออึดอัด จะได้เล่นน้ำอาบน้ำในบ่อน้ำนี่
จุไรก็บอกว่า โรงเรียนนี้น่าอยู่ หนูจะมาอยู่ได้บ้างไหม

ป้าน้อยก็บอกว่า สุดแล้วแต่ความสามารถหลาน โรงเรียนนี้ไม่รับนักเรียนดะทั่วไป ต้องสอบ และต้องรับรองเรื่องความประพฤติ ต้องปฏิบัติกรรมฐานได้ สามารถเห็นผี เห็นนรก เห็นเทวดา เห็นสวรรค์ได้ อย่างหนูนี่ ข้อที่สามมีหวังร้อยเปอร์เซ็นต์

แต่ว่า ข้อที่หนึ่ง ข้อที่สอง ต้องว่ากันใหม่ เรื่องคุณธรรมเป็นเรื่องใหญ่
เธอก็ถามว่า โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนหลวง หรือโรงเรียนราษฎร์
คุณป้าน้อยก็บอกว่า เป็นโรงเรียนราษฎร์หลาน เพราะว่า เดิมทีเดียวก็เป็นโรงเรียนหลวง โรงเรียนรัฐบาล แต่ทว่าต่อมา ทางวัดก็มีความรู้สึกว่า ถ้าโรงเรียนรัฐบาลอยู่ที่นี่ ท่านก็รับคนไม่ถนัด

เพราะว่าไกลเมือง จึงให้โอกาสกับครูใหญ่ ย้ายไปอยู่ในจังหวัด อาคารนี้เป็นอาคารที่วัดสร้าง จึงตั้งโรงเรียนเป็นโรงเรียนราษฎร์ ขึ้นมา
เธอก็ถามว่า โรงเรียนนี้สอนถึงไหน
คุณป้าน้อยก็บอกว่า ตั้งแต่มัธยมปีที่ ๑ ถึงมัธยมปีที่ ๖
เธอก็ถามว่า โรงเรียนนี้เรียนกี่ปี ถึงมัธยมปีที่ ๖

คุณป้าน้อยก็บอกว่า โรงเรียนเขาสอนกันแค่ ๔ ปี มัธยมปีที่ ๑ ถึงมัธยมปีที่ ๓ นี่เขาสอน ๒ ปี มัธยมปีที่ ๔ ถึงมัธยมปีที่ ๖ นี่เขาสอน ๒ ปี
จุไรก็แปลกใจว่า ที่อื่นทำไมสอนตั้ง ๖ ปี
ป้าน้อยก็บอกว่า หลักสูตรพิเศษของกรมมีอย่างนั้น ก็สอนตามกรม ตามกรมสั่ง ไม่ใช่ตั้งกันขึ้นมาเอง

และก็เธอก็ถามว่า นักเรียนทุกคนต้องเสียอะไรบ้าง
ป้าน้อยก็บอกว่า เรื่องนักเรียนเสีย จะหายากที่นี่ เว้นไว้แต่นักเรียนหอพัก นักเรียนหอพักจะจ่ายค่าข้าวสารเดือนละ ๘๐ บาท คิดข้าวสาร ๑ ถัง แต่เรื่องข้าวสารนี่ หลวงปู่ของหลานขาดทุนมาก เพราะเวลานี้ ซื้อข้าวสารมาจริง ๆ ประมาณ ถังละ ๑๕๐ บาท

แต่ทว่าเก็บเด็กนักเรียนมาตั้งแต่ต้น ๘๐ บาท หลวงปู่ก็ขาดทุนไป ๗๐ บาท แต่ท่านก็จำเป็นต้องช่วย เพราะนักเรียนที่นี่ โดยส่วนใหญ่ เป็นนักเรียนที่ได้มาจากคนยากจนเข็ญใจก็มีมาก รุ่นต้นๆ แต่รุ่นหลัง ๆ นี่ ก็คงพอที่จะมีคนมีสตางค์ มีทุนบ้าง ช่วยสงเคราะห์ลูก ที่พูดนี่ พูดเฉพาะนักเรียนประจำ และนักเรียนประจำก็เสียค่าอาหาร ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าเชื้อเพลิงหุงข้าว

และก็ค่าครูคุมหอพัก และก็ทั้งหมดรวมกันแล้วนะ เดือนละ ๖๐๐ บาท รวมความว่า เธอจะเสียค่าอาหารจริง ๆ ประมาณวันละไม่ถึง ๒๐ บาท เป็นอันว่า ค่าน้ำประปา ๑ บาท ค่าไฟฟ้า ๑ บาท และก็ค่าแก๊สหุงต้ม ๑ บาท ต่อหนึ่งวันนะ และก็ค่าครูคุมหอพักอีก ๑ บาท อย่างนี้เป็นต้น รวมความว่า เธอก็จะเสียค่าอาหารประมาณวันละ สำหรับนักเรียนหอพัก วันละ ๑๖ บาท

ป้าน้อยก็หันมาถามหลานสาวว่า แล้วจุไรละเห็นว่าแพงไหม จุไรก็ตอบว่า หนูไม่ทราบหรอก
แต่ถ้าคิดกันจริง ๆ นักเรียนก็ต้องเสียประมาณวันละ ๒๐ บาท เพราะเดือนละ ๖๐๐ ถ้าวันละ ๒๐ บาท มีค่าอาหาร หนูไม่ทราบ เพราะคุณแม่เป็นคนจ่าย แต่หนูก็หิ้วปิ่นโตไปโรงเรียน แต่ว่า จะต้องเสียค่ารถ ไปโรงเรียน ไป ๒ บาท มา ๒ บาท นี่หนูเสียไป ๔ บาท และก็ค่าขนมข้าวต้มอีก

สรุปแล้วคุณแม่ให้หนูไปวันละ ๒๐ บาท และของทุกอย่างมันก็แพงหมด นี่ความจริง ปิ่นโตหนูก็มีไป และก็ค่ารถค่าเรือด้วย ค่ากินด้วย คุณแม่ให้วันละ ๒๐ บาท และความจริงที่นี่ เขาอยู่กันตรงนี้เอง ไม่ต้องเสีย ค่ารถ ค่าเรือ และค่าหอพักด้วย คุณป้าเจ้าขา อยากจะทราบว่า ค่าหอพักเสียไหม คุณป้าก็บอกว่า หอพักที่นี่ ฟรีหมด และก็เสียอะไรอีก

คุณป้าก็บอกว่า นอกจากนั้นเวลาเข้าใหม่ ๆ นักเรียนจะต้องเสียค่าเทอม ทั้งสองเทอมปีแรก ๕๐๐ บาท รวมเต็มปีเลยนะ ทั้งปี เทอมละ ๒๕๐ บาท เป็นอันว่าปีแรก ๕๐๐ บาท และก็เสียกันปีเดียว ทั้งนี้ ทางโรงเรียนจะได้ดูความประพฤตินักเรียน มีความประพฤติดีควรให้อยู่ต่อไปไหม ถ้ามีความประพฤติไม่ดี เป็นที่ไม่ปรารถนาของครู และโรงเรียน

ปีต่อไป หรือระยะกลางปี ก็ต้องให้ออกไป แต่สำหรับตั้งแต่ปีที่สองไปนี่ ไม่ต้องเสียอะไรเลย แต่ปีต้นที่ต้องเสีย ๕๐๐ บาท นั่นก็หมายความว่า ๑. ได้หอพักฟรี รายการที่ ๒ หลวงปู่ต้องเสียค่าข้าวสารให้ ปีละประมาณเดือนหนึ่งก็ประมาณเท่าไร ๒๐ กับ ๕๐ ก็เป็น ๗๐ บาท หลวงปู่ต้องจ่ายเติมค่าข้าวสาร คนละ ๗๐ บาท ต่อเดือน ถ้า ๑๐ เดือนก็ ๗๐๐ บาทเข้าไปแล้ว

ถ้า ๑๒ เดือน ก็มากไปกว่านั้น และนอกจากนั้น ทางโรงเรียนยังได้แจกเสื้อผ้าคนละ ๒ ชุด
เครื่องแบบนะ ให้คนละ ๒ ชุดต่อปี และอุปกรณ์การสอน หนังสือเรียนทั้งหมด ทางโรงเรียนจัดหาให้หมด และครูที่สอน นักเรียนก็ไม่ต้องจ่ายสตางค์ รวมความว่า ทางวัดต้องเข้าอุ้มนักเรียนทั้งหมด นี่เป็นนักเรียนหอพักที่ต้องเสีย ถ้าเป็นนักเรียนเดินไปกลับ ไม่ต้องเสียอะไรเลย

ประการที่ ๑ กินข้าวกลางวันฟรี อาหารดีกินได้มาก ๆ ไม่จำกัด
ประการที่ ๒ ได้เสื้อผ้า ๒ ชุด
ประการที่ ๓ หนังสือและอุปกรณ์การศึกษาไม่ต้องเสีย
ประการที่ ๔ ค่าน้ำ ค่าไฟ ไม่ต้องเสีย
ประการที่ ๕ ค่าครู ไม่ต้องเสียอะไรเลย

แต่ว่า ปีแรกเสีย ๕๐๐ บาท อีก ๓ ปีหลังไม่ต้องเสียอะไรเลย รวมความว่า เรียนมัธยมที่นี่ ถูกกว่าเรียนประชาบาลที่บ้าน จุไรก็มีความแปลกใจบอกว่า คุณป้าเจ้าคะ นักเรียนทั้งหมดมีเท่าไร คุณป้าก็บอกว่า นักเรียนที่นี่ หลวงปู่ท่านกำหนดไว้ว่า ไม่เกิน ๔๐๐ คน จะรับนักเรียนได้ไม่เกินปีละ ๑๐๐ คน ต้องสอบคัดเลือกกัน เมื่อสอบคัดเลือกอย่างอื่นได้แล้ว ก็ต้องซักซ้อมกัน

เรื่องความประพฤติ คือ คุณธรรม
หมวดที่ ๑ สังคหวัตถุ ๔ ต้องรู้จักการช่วยเหลือ สงเคราะห์ซึ่งกันและกัน ต้องพูดดี มีวาจา เป็นที่รัก ต้องช่วยเหลือการงานซึ่งกันและกัน และก็ต้องไม่ถือตัวไม่ถือตน นี่เป็นหมวดที่ ๑
หมวดที่ ๒ คือ พรหมวิหาร ๔ มี

๑. เมตตา ความรัก
๒. ความกรุณา ความสงสาร
๓. มุทิตา มีจิตอ่อนโยน ไม่อิจฉาริษยาใคร เห็นใครได้ดี พลอยยินดีด้วย และก็ทำความดีตามเขา
๔. อุเบกขา วางเฉย ถ้าสิ่งใด ถ้าเกินวิสัย เราก็เฉยไว้ ไม่ซ้ำเติมเขา

และก็ต่อไปทุกคนต้องปฏิบัติใน ศีล ๕ กับ กรรมบถ ๑๐ ร่วมกัน คือ
ทางกาย ๑. ไม่ฆ่าสัตว์ ๒. ไม่ลักทรัพย์ ๓. ไม่ประพฤติผิดในกาม และ ๔. ไม่ดื่มสุราและเมรัย
ทางวาจา ไม่พูดปด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล
ทางด้านจิตใจ ไม่อยากได้ทรัพย์สมบัติของใคร โดยเจ้าของไม่เต็มใจให้

และก็ไม่จองล้าง จองผลาญใคร ไม่พยาบาทใคร และก็มีความเห็นถูก เชื่อคำสอนพระพุทธเจ้า และปฏิบัติตาม หลังจากนั้น จะต้องซักซ้อม จะต้องเจริญกรรมฐานให้ได้ ตามที่โรงเรียนต้องการ ตามที่วัดต้องการ เมื่อได้แล้ว ต้องมีการซักซ้อมทุกวันจันทร์และอังคาร คือ ผู้หญิงทุกวันจันทร์ พวกผู้ชายทุกวันอังคาร พอสิ้นเดือน นักเรียนบ้าน นักเรียนหอพัก ซ้อมร่วมกันทั้งหมด

มีหลวงปู่เป็นประธาน เป็นผู้สอน
จุไรก็บอกว่า คุณป้าเจ้าคะ เท่าที่พูดมานี่ อย่างย่อนะ พูดมาอย่างย่อ หนูก็พอใจต้องไปบอกคุณแม่ว่า ถ้าหนูจบ ป. ๔ ปีนี้สอบ ป. ๔ จบ จะให้คุณแม่ส่งมาเรียนที่นี่ คุณป้าน้อยก็ถามว่า หลานมีความประสงค์อย่างไร ชอบใจโรงเรียนใหญ่ หรือว่าความประพฤติดี

จุไรก็บอกว่า อย่างอื่นหนูไม่สนใจ สนใจที่ ๔ ปี ได้ ม. ๖ และประการที่ ๒ คุณพ่อ คุณแม่ก็ไม่ต้องจ่ายอะไร แต่เสียดายอย่างเดียวว่า หลวงปู่รับนักเรียนไม่เกินปีละ ๑๐๐ คน อยากจะให้ท่านรับมากกว่านั้น คุณป้าน้อยก็บอกว่า รับไม่ไหวลูกรัก ค่าใช้จ่ายแค่นักเรียน ๔๐๐ คน กับครู และภาระต่าง ๆ ทั้งหมด อันนี้หลวงปู่ต้องจ่ายเทอมละ ล้านบาทเศษอยู่แล้ว ท่านไม่มีทุนสำรอง

ก็ต้องอาศัย ป้าบ้าง เพื่อน ๆ กันบ้าง และทุกคนที่มีศรัทธา เวลานี้ที่ตั้งมาได้เพราะอาศัยคนที่มีศรัทธา ทุกคนช่วยกันสงเคราะห์ มากบ้าง น้อยบ้าง ตามกำลังศรัทธา แต่ก็พอไปทุก ๆ เดือน
จุไรฟังแล้วก็ยืนนิ่ง ป้าน้อยก็ถามว่า ยืนนิ่งเพราะอะไร
จุไรก็บอกว่า หนูจะบนใครดีนะ การที่หนูจะมาอยู่โรงเรียนนี้ จะบนใครดี

ป้าน้อยก็บอกว่าเอาอย่างนี้ซิ บนตัวเอง ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
อัตตาหิ อัตโน นาโถ ตนแล ย่อมเป็นที่พึ่งของ

โกหินาโถ ปะโรสิยา บุคคลอื่น ใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้

อัตตาหิ สุทันเตนะ ถ้าเราฝึกฝนตนดีแล้วไซร้ คือ ประพฤติดี เรียนดี

นาถัง ละภะติ ทุลละภัง ก็สามารถจะได้ที่พึ่ง อันบุคคลได้โดยยาก


นั่นก็หมายความ การที่จะมาโรงเรียนนี้ ก็ซักซ้อม
๑. สังคหวัตถุ ๔
๒. พรหมวิหาร ๔
๓. ศีล ๕
๔. กรรมบถ ๑๐
๕. กรรมฐาน

ก็รวมความว่า ถ้าทำอย่านี้ หนูได้แน่ จุไรก็บอกว่า คุณป้าเจ้าคะ หนูจะพยายามปฏิบัติตน ตามข้อวัตรปฏิบัตินี้ให้ครบถ้วน ตามที่โรงเรียนต้องการ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป คุณป้าน้อยก็บอกว่า อย่าลืมการเรียนนะ เพราะเขาสอบกัน ก่อนที่จะเข้า เขาต้องสอบแข่งขัน คนที่มีความขยันหมั่นเพียร มีความรู้ดี ไม่งั้นเขาไม่รับ เพราะว่าโรงเรียนนี้ เป็นโรงเรียนสงเคราะห์

ก็เป็นอันว่า หลังจากนั้น จุไรก็พาป้าน้อยเดินไปอีกนิดหนึ่งเดินไปอีกหน่อยหนึ่ง ปรากฏว่า เจอะเครื่องสูบน้ำกระบอกกลม ๆ และเจอะถังกรอง
ก็บอกคุณป้าว่า คุณป้าเจ้าคะ นี่อะไร อยู่ซ้ายมือเหมือนกัน
คุณป้าก็บอกว่า กระบอกกลม ๆ นั่นเป็นบ่อน้ำ สูบนี่สูบขึ้นถังกรองให้ใสสะอาด แล้วก็ปล่อยลงบ่อ ให้นักเรียนได้อาบกัน

เธอก็ถามว่า อาการสูบน้ำนี่ สูบทุกวันหรือ
คุณป้าน้อยบอกว่า การสูบน้ำนี่ สูบทุกวัน ทั้งนี้เพราะว่า หลวงปู่ต้องการให้น้ำสะอาด น้ำสกปรกไหลไป บ่อนี้ ต้องมีน้ำเต็มเปี่ยมอยู่ทุกวัน คือว่า มีการสูบน้ำวันละ ๑๐ ชั่วโมง
จุไรก็พอใจคิดว่า หายากจริง ๆ อยากจะมาโรงเรียนนี้

ป้าน้อยก็บอกว่า หลานรัก เดินต่อไปก็แล้วกัน พอเดินต่อไปอีกนิดเดียว สองสามก้าว เธอก็หยุด หันมาด้านทางขวามือ ต่อต้นโพธิ์ออกมา เธอก็ถามว่า คุณป้าเจ้าคะ นั่นห้องอะไร ห้องเล็ก ๆ เยอะจริง ๆ ชั้นล่าง ๑๕ ห้อง ชั้นบน ๑๕ ห้อง นับแล้วเป็น ๓๐ ห้อง แล้วก็มอง ๆ ไปหน่อยหนึ่ง ปรากฏว่า ข้างในนี่ ชั้นล่าง ๖ ห้อง ชั้นกลาง ๖ ห้อง ชั้นบน ๖ ห้อง ก็รวมเป็น ๑๘ ห้อง

จาก ๓๐ มารวม ๑๘ รวมเป็น ๔๘ ห้อง ถามว่า นั่นห้องอะไร
คุณป้าก็บอกว่า นั่นเป็น ห้องส้วม ห้องน้ำ สำหรับนักเรียนอาบ เพราะจุดนี้เป็นหอพัก ด้านหน้านี่หอพัก ด้านหลังนั่นก็หอพัก เป็นหอพักหญิงทั้งหมด
จุไรเธอก็เดินต่อไปนิดหนึ่ง อีกหน่อยหนึ่ง ก็เข้าไปถึงตัวอาคารหอพักหญิง

เธอก็ถามว่า คุณป้าเจ้าคะ เราจะไปทางไหนกันดี ด้านหน้าเป็นวิหาร ด้านซ้ายมีพระ เรียงกันเป็นแถว พระพุทธรูป และด้านขวาเป็นทางไป ไปทางไหน
คุณป้าก็บอกว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกันหลาน หลานลงข้างล่าง เวลานี้นะ เราเดินที่อาคารชั้นสอง เราเดินไปข้างล่าง ดูชั้นล่างก่อน ลงไปข้างล่างกัน
จุไรก็เจอะหอพัก มีห้องทั้งหมด ๓๒ ห้อง เฉพาะห้องนอน กว้าง ๔ เมตร ยาว ๔ เมตร มีพัดลม มีไฟฟ้า มีพรมปู มีเตียงนอน ด้านหน้าก็กว้าง เป็นทางเดินกว้าง ๔ เมตร ยาวตลอด มีพัดลมส่าย

เธอก็ถามคุณป้าว่า อันนี้อะไรเจ้าคะ
คุณป้าบอกว่า นี่เป็นหอพักนักเรียนหญิง เธอมองด้านหน้า ด้านหน้าปูกระเบื้องเคลือบ ข้างในปูกระเบื้องเคลือบ มีมุ้งลวด มีพัดลม ทั้งข้างนอกข้างใน รู้สึกว่า มีความสุขมาก
เธอถามว่า หอพักอย่างนี้นะ เสียสตางค์เท่าไร
คุณป้าน้อยก็บอกว่า ฟรี หลานรัก ที่นี่ฟรี หลวงปู่ท่านทำบุญ

ท่านก็ได้สตางค์จากพวกเรา ๆ นี่แหละ มาสร้าง ทำเอาบุญ เป็นธรรมทาน คือ ด้านวิชาความรู้ หลังจากนั้นจุไรก็พาคุณป้าเดินไปจนสุดห้อง
เธอก็บ่นพึมพำบอก คุณป้าเจ้าขาห้องอย่างนี้ เป็นห้องพักนักเรียน แต่ว่าที่บ้านหนูไม่มีพรมปูแบบนี้นี่ ที่บ้านหนูมีเสื่อปู แต่ที่นี่เอาพรมมาจากไหน

คุณป้าก็บอกว่า หลวงปู่ท่านก็ซื้อมา ก็รวมความว่า มาชมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ขึ้นไปชั้นสอง เป็นห้องโถง มองแล้วเป็นห้องโถงโล่ง และมีพัดลมเพดานกลาง ๒ แถว ยาวเหยียด อาคารตรงนี้ ยาวทั้งหมด ๑๔๐ เมตร ข้างล่างข้างบนยาวเท่ากัน เมื่อเห็นอาคารยาวแบบนี้ เธอก็สงสัยถามว่า นี่ห้องอะไร คุณป้าน้อยบอก เป็นห้องโถง สำหรับฝึกหัดต่าง ๆ ของครู และนักเรียน

ถ้าต้องการจะใช้ห้องโถง ใช้ได้เลย มีความกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๔๐ เมตร และปลายสุดมีกระจกบานใหญ่ติดอยู่
เธอก็ถาม คุณป้าบอก คุณป้าเจ้าคะ กระจกบานใหญ่เต็มห้องนี่เขาติดไว้ทำไม
คุณป้าบอกว่า ที่นี่เป็นที่ซ้อมรำ เวลาเขาจะฝึกรำ ครูซ้อมรำ หมายความว่า ครูนาฏศิลป์ซ้อม ซ้อมนักเรียนที่นี่ เพราะนักเรียนรำจะได้เห็นว่า ตัวเองรำได้ ดีหรือไม่ดี สวยหรือไม่สวย

เธอก็เดินต่อไปนิด พอออกไปข้างนอก ก็ปรากฏว่า เจอะห้องโถง
เธอก็ถามว่า ห้องโถงทำอะไร
ป้าน้อยก็บอกว่า เป็นที่พักผ่อน มันโปร่ง ๆ ทั้งหมด มีมุ้งลวดหมด
ต่อมาก็เลี้ยวขวา ขึ้นบันไดชั้นสอง พอขึ้นบันไดชั้นสองเดินขึ้นไปแล้ว ก็เลี้ยว

เธอก็ถามคุณป้าน้อย บอก คุณป้าน้อยเจ้าคะ อันนี้ห้องอะไร
ป้าน้อยบอกว่า ห้องครูนาฏศิลป์ และเธอก็สอนหลักวิชาอย่างอื่นด้วย
จุไรก็ไปมองดู เห็นมีเครื่องปรับอากาศ มีพัดลม มีห้องโถง เธอก็ถามว่า อย่างนี้ครูต้องเสียค่าเช่าไหม
ป้าน้อยบอกว่า ที่นี่ไม่มีใครเสียค่าเช่า

ครูทุกคน มาอยู่ที่นี่ไม่ต้องเสียค่าเช่าบ้าน ไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้า ไม่ต้องเสียค่าน้ำประปา ไม่ต้องเสียค่ารถเมล์ หรือรถยนต์ไปมา ค่าใช้จ่ายลดตัวลงเยอะ มีความสุขและมีการอารักขา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอารักขาเป็นประจำทั้งกลางวันและกลางคืน ทั้งวัด
หนูจุไรฟังแล้วก็จึงถามว่า คุณป้าเจ้าคะ ไอ้โรงเรียนแบบนี้ เขาจะสร้างกี่หลังในประเทศไทย

คุณป้าก็บอกว่า ที่อื่นอาจจะมีดีกว่านี้นะลูกนะ ที่นี้หลวงปู่นี่ทำตามกำลังลูกหลานของท่าน ลูกหลานท่านช่วยได้แค่ไหน ท่านก็ทำไปได้แค่นั้น
เธอก็ออกมาจากห้องของครูนาฏศิลป์ ถอยหลังมานิด แล้วเลี้ยวขวาความจริงตามปกติ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ขยับตัวมานิด มองไปทางหน้าต่าง เห็นข้างล่างเป็นบริเวณกว้างขวาง
จึงถามคุณป้าน้อย บอกว่า คุณป้าน้อยเจ้าขา ถามว่า บริเวณข้างหน้านี่เป็นอะไร

ป้าน้อยก็บอกว่า เป็นสนามเด็กเล่น
เธอถามว่า ยาวเท่าไร บอกว่า จุดนี้ยาว ๑๗๐ เมตร
เธอถามว่า กว้างเท่าไร บอกว่า ความกว้างจริง ๆ ก็ ๓๐ เมตรเศษ เป็นลานคอนกรีต และมีรั้วกำแพงล้อมรอบ

เธอก็หนักใจบอก แหม โรงเรียนนี้น่าอยู่ แต่สงสัยว่าจะอยู่ไม่ได้ อีตอนสอบเข้านี่สำคัญมาก สำหรับการเจริญกรรมฐานไม่หนักใจ ความประพฤติคุณธรรมต่าง ๆ ไม่หนักใจ กลัวอย่างเดียว ความรู้จะสู้เขาไม่ได้ ที่นี่เขามีการตุนกันบ้างไหม
ป้าน้อยก็ถามว่า การตุนอะไร

เธอก็บอกว่า เห็นเขาคุยกันว่า บางคนเข้าที่ไหนไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่า เข้าโรงเรียน เข้าผ่านประตูไม่ได้ เขามีการ ให้สตางค์นายประตูกัน ที่นี่มีนายประตูเก็บสตางค์ไหม ถ้ามีนายประตูเก็บสตางค์ หนูจะบอกคุณพ่อ คุณแม่ให้กันไว้ให้นายประตู
คุณป้าน้อยก็บอกว่า หลานรักที่นี่เป็นวัด เป็นที่สอนกรรมฐาน ต้องการให้เด็กทุกคนที่เรียน เป็นผู้มีคุณธรรม ฉะนั้นการตุนสตางค์ การเก็บค่าผ่านประตูนั้นไม่มี ไม่มีใครมีรายได้

หลังจากนั้น เธอก็พาคุณป้าเดินต่อไป เลี้ยวขวาเดินต่อไปนิดหนึ่ง เข้าเขตหอพักชั้นบนเป็นชั้นสาม
เธอก็ถามคุณป้าน้อยว่า หอพักมีกี่ห้องเจ้าคะ
ป้าน้อยก็บอกว่า มี ๓๒ ห้อง แต่ความจริงห้องกว้างเท่าข้างล่าง แต่นี่มีพัดลมเพดาน และด้านหน้าเดิมก็กว้าง ๔ เมตรเหมือนกัน ห้องก็กว้าง ๔ เมตร ในอาคารกว้าง ๘ เมตร เธอก็เดินชมไปหน่อยหนึ่ง ดูห้องข้างบนนี่โอ่โถง กว้างขวาง ความจริงมันเท่ากัน แต่ว่าสภาพสูงกว่าชั้นล่าง

เธอเดินไปก็มองดูไป ไปเห็นห้องพักนักเรียน บางห้องก็มีนักเรียน บางห้องก็ยังไม่มีนักเรียน
เธอก็ถามว่า คุณป้าเจ้าคะ ห้องที่ยังไม่มีนักเรียนพักนี่ หนูจะจองได้ไหม
คุณป้าก็บอกว่า คำว่า จอง ที่นี่ไม่มี ที่นี่ต้องการอย่างเดียว คือ ความสามารถ และมีคุณธรรมพอ ถ้าหนูมีการฝึกฝนตนดี นั่นหมายความว่า

ตั้งใจช่วยตัวเองอย่าเกียจคร้านในการเรียนหนังสือใช้ปัญญาพิจารณาตามคำสอนของครู เวลาครูสอนก็ตาดู หูฟัง ตั้งใจจำ และคิดตาม และเมื่อถึงบ้านก็ซักซ้อมวิชาความรู้ สิ่งไหนถ้าฝืดอยู่ ไม่คล่องตัว ก็พยายามทำให้คล่องตัว คุณป้าคิดว่า ทุกอย่างนี่ หนูครบแล้ว เหลืออย่างเดียว หลักวิชาความรู้ ถ้าหากการสอบสู้เขาได้ อย่างอื่นได้แน่นอน อย่างอื่นไม่ต้องห่วง กรรมฐานหนูก็เก่ง

คุณธรรมหนูก็เก่ง ถ้าศีลหนูไม่ดี คุณธรรมไม่ดี ความเป็นทิพจักขุญาณของหนู จะแจ่มใสไม่ได้ ก็รวมความว่า ในตอนนี้คุณหลานกับคุณป้า ก็คุยกันไม่ได้เท่าไร ก็มองดูเวลา พระท่านบอกว่า คุณป้าและคุณหลาน เวลานี้นักเรียนจะกลับเข้าห้องพักแล้ว เพราะว่าถึงเวลาโรงเรียนเลิก ขอคุณป้าคุณหลาน ไปพักห้องพักเสียก่อน

ในเมื่อจำเป็นต้องพัก ก็ต้องพักตามคำของเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะเวลาหมด ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนพล จงมีแด่ท่านผู้อ่านทุกคน
สวัสดี


ll กลับสู่สารบัญ


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 23/7/11 at 15:23 [ QUOTE ]


7
จุไรชมหอพักหญิง (ต่อ)

ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ตอนนี้ก็มาพบ จุไรกับคุณป้าน้อยต่อไป หลังจากที่พระท่านแนะนำให้คุณป้า และคุณหลาน ต้องรีบออกไปจากหอพัก เพราะตามปกติแล้ว หอพักนี่คนภายนอกเข้ามาไม่ได้ แต่อาศัยว่า หลวงพ่อท่านอนุญาตเป็นพิเศษ ก็จะเข้ามาได้ เพียงแค่สองคนนี่เป็นครั้งแรก แล้วต่อไปก็ ไม่แน่ว่าจะมีใครเข้าได้มาอีก แต่ในเมื่อท่านอนุญาตแล้ว ก็ขอรักษาระเบียบ

คือว่า เจ้าของหอพักเขามาแล้ว ต้องรีบกลับออกไป แต่ความจริง พระท่านเอง ท่านก็ไม่ละเมิดอำนาจของหลวงพ่อ ทั้งนี้ก็เพราะว่า เวลานั้นให้เข้ามา แต่ท่านไม่ได้เดินมาด้วย เป็นแต่เพียงว่า ท่านมาตรวจตามห้องต่าง ๆ ว่า ใส่กุญแจดีแล้ว ท่านก็กลับ แต่มาถึงเวลาที่นักเรียนเดินทางมา ท่านก็สั่งให้สองคนเดินออกไป พอสองคนป้าหลานจะออกไปจากสถานที่นั้น

ก็ปรากฏว่า คณะ นักเรียนรุ่นใหญ่เข้ามาถึงพอดี แล้วก็ด้านหน้า ก็มีอาจารย์สอนนาฏศิลป์ สอนหลักวิชาเข้ามาด้วย จุไรเป็นคนเรียบร้อย เป็นคนที่มีความสำคัญด้านมารยาท เห็นท่าไม่ได้การ อยากจะอยู่ดูต่อไป ก็รีบเดินเข้าไปหา แล้วก็นั่งลงกราบอาจารย์ผู้นำนักเรียนมา อาจารย์ก็ตกใจต้องนั่งลงรับไหว้เธอ แล้วก็จับเธอบอกว่า หนูไม่ต้องกราบ หนูมีธุระอะไร

เธอก็บอกว่า ป้ากับหนูทั้งสองคน กำลังมาชมสถานหอพัก ก็พอดีชมไม่ทันจบ ไม่ทันหมด ก็พอดีคณะนักเรียนมาแล้วก็อาจารย์ก็มา หนูอยากจะขออนุญาตชมต่อไปได้ไหม อาจารย์เห็นว่าเป็นเด็กเล็ก ๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณป้าน้อยของจุไร ก็เป็นครูสอนกรรมฐานอาจารย์ผู้สอนนาฏศิลป์ อาจารย์ผู้สอนนาฏศิลป์ก็ยกมือไหว้บอกว่า คุณป้าเจ้าคะ อนุญาตเข้าชมต่อไปได้ แต่ว่าอย่าฝืนระเบียบเขาก็แล้วกัน

หลังจากนั้น ท่านอาจารย์ก็ไปบอกนักเรียน บอกว่า ทุกคนได้โปรดทราบ เวลานี้มีอาจารย์น้อย ซึ่งเป็นครูสอนกรรมฐานของฉัน และก็หนูจุไรอยากจะชมสถานที่ แต่ว่าทุกคนไม่ต้องเปิดห้องให้ชม ให้ชมได้ตามสบาย ทุกคนทราบ จุไรก็กราบท่านอาจารย์อีกครั้งหนึ่ง แล้วก็ชวนคุณป้าเดินไป พอเข้าไปถึงรุ่นพี่ ซึ่งอายุก็มากแล้ว ๑๖ ถึง ๑๘ ก็ยกมือไหว้รุ่นพี่ รุ่นพี่ก็รับไหว้ รุ่นพี่ก็ถามว่า หนูหรือน้อง จะชมอะไร

จุไรก็บอกว่า ด้านหน้าของห้องพักหนูชมหมดแล้ว อยากจะเดินเรื่อยไปทางนี้ จนกว่าจะสุดสถานที่ นี่พึ่งเข้ามาถึงครึ่งเท่านั้นเอง รุ่นพี่ก็อนุญาต เธอก็เดินไปประเดี๋ยวหนึ่งก็ไปถึงครัว ไปถึงครัวของโรงเรียนหรือหอพัก เวลานั้น ก็มีนักเรียนรุ่นใหญ่ ๕ คนเป็นเวรครัว กำลังอุ่นอาหาร แล้วก็ทำอาหารเสริม จุไรก็เข้าไปยกมือไหว้ถามว่า คุณพี่เจ้าคะ คุณพี่ทำอะไร คุณพี่ก็บอกว่า พี่กำลังหุงข้าว และพี่ก็กำลังอุ่นอาหาร

จุไรก็ถามว่าอาหารที่พี่รับประทานตอนเย็นนี่ มีกี่อย่าง พี่ก็บอกว่า มี ๓ อย่าง ตอนเย็น ๓ อย่าง ตอนกลางวันก็ ๓ อย่าง ตอนเช้าก็ ๓ อย่าง เธอก็ถามว่า วันนี้มีอะไรบ้างเจ้าคะ คุณพี่ก็บอกว่า หม้อนี้ หม้ออลูมิเนียมลูกต้นนี่แกงบวน และหม้อนี้พะโล้ขาหมูกับไข่ และหม้อนี้เป็นต้มจืด อันนี้เป็นอาหารหลัก สำหรับตอนเย็นวันนี้ แต่ว่าพี่พี่ก็ยังทำเสริม พี่ก็ชี้ให้ดู พี่คนหนึ่งตำน้ำพริก อีกคนหนึ่งกำลังหั่นผักจะต้ม จะต้มผักรับประทานกับน้ำพริก

และหลังจากนั้น พี่ก็ชี้ให้ดูในกาละมังพิเศษบอก นี่เป็นอาหารพิเศษนะน้อง จุไรมองออกไปเห็นมะละกอสับสับชิ้นละเอียด ละเอียดมากเกือบจะเต็มกาละมัง ถามว่า พี่เจ้าคะ ไอ้นี่ทำอะไร รุ่นพี่ก็บอกว่า อันนี้จะทำส้มตำ แต่ว่าไม่ใช่อยู่ในเกณฑ์อาหารที่จะรับประทานตอนเย็น เป็นพี่ทำพิเศษขึ้นมา จุไรก็ถามว่า ถ้าอย่างนั้นอาจารย์ท่านไม่ดุเอาหรือ รุ่นพี่ก็บอกว่า อาจารย์ไม่ดุ

ทั้งนี้เพราะว่า หลวงปู่ท่านอนุญาต รับประทานอาหารพิเศษได้ และพี่ก็ชี้ไปดูกาละมัง อีกกาละมังหนึ่ง นั่นมันเป็นมะขามสดชัด ๆ ยังสดอยู่ เธอก็ถามว่า พี่นี่ทำอะไรเจ้าคะ พี่ก็บอกว่า มะขามสด จุไรก็ถามว่า มะขามสดนี่มาจากไหน ซื้อมาจากไหนเจ้าคะ รุ่นพี่ก็บอกว่า มะขามสดนี่ไม่ได้ซื้อน้อง อยู่ที่ริมสระตึกกลางน้ำของหลวงพ่อท่าน

เพราะว่าเวลานี้ เดิมทีเดียว มะขามทั้งหมดนี่เป็นมะขามหวาน เขาส่งมาจากเพชรบูรณ์ แต่ทว่าเมื่อปลูกเข้าจริง ๆ แล้วมันกลายเป็นมะขามเปรี้ยว แต่ว่ามะขามรุ่นนี้ไม่ได้เป็นเฉพาะฤดู เป็นทั้งปี ออกดอกทั้งปี เป็นฝักทั้งปี และเธอก็ถามว่า มะขามเปรี้ยวนี่เจ้าคะ พี่รับประทานอย่างไร พี่ก็ชี้ให้ดูในกาละมัง เห็นน้ำตาลปี๊ป และก็เกลืออุปกรณ์ต่าง ๆ ผสมกันเข้าจะกินกับมะขาม จุไรฟังไปฟังมา ก็รู้สึกน้ำลายไหล

คุยไปคุยมา ก็ถึงเวลารับประทานอาหารพอดี ก็พอดีเห็นรุ่นพี่ตักอาหารมา ชามใหญ่ ๆ และรับประทานกันแบบสบาย ๆ แบบว่า รับประทานกันแบบสะดวกสบาย ฟรีทีเดียว ไม่ใช่แบ่งเล็กแบ่งน้อย กินกันแบบสบาย ๆ แบบอุดมสมบูรณ์ และแกงมาก ต้มมาก
จุไรบอกกับคุณป้าน้อยว่า คุณป้าน้อยเจ้าคะ ทำไมที่หอพักนี่ จึงไม่จำกัดอาหาร อาหารเหลือเฟือจริง ๆ กินกันมาก ๆ และตักกันมากๆ กินแบบสบาย ๆ

คุณป้าน้อยก็บอกว่า หลานรัก หลวงปู่ท่านถือว่า เป็นทาน การให้นี่เป็น ทาน แล้วก็เป็นธรรมทานด้วย เพราะว่าทุกคนที่เรียนหนังสือต้องปฏิบัติธรรมะได้ เจริญกรรมฐานได้จัดเป็นธรรม อาการ สงเคราะห์ครั้งนี้ ได้ทั้งโลก ได้ทั้งธรรม คือ โลกไม่ช้ำ ธรรมไม่เสีย ทางโลกก็ได้ สังคหวัตถุ เราให้ทาน ทางธรรมก็ได้ เราได้ธรรมทาน และอานิสงส์แห่งการให้ทาน เป็น ทานบารมี เราได้ตั้ง ๒ อย่าง

จุไรก็บอกว่า ถ้าหากว่า บังเอิญหนูได้โอกาสมาอยู่โรงเรียนนี้นะ หนูคิดว่า หนูจะรับประทานส้มตำทุกวัน
ป้าน้อยก็ถามว่า หนูชอบส้มตำหรือ
จุไรก็บอกว่า ชอบเจ้าค่ะ แต่คุณแม่ไม่ค่อยตำให้ เดี๋ยวหนูจะไปเรียนกับพี่ พี่เขาตำกันอย่างไร

จุไรก็หันเข้าไปหาวงข้าว เวลาได้ยินศัพท์ว่า แซบ แซบ แซบ บางคนก็บอกว่า แซบอีหลี จุไรก็ถอยหลังออกมา ถาม คุณป้าเจ้าคะ คำว่า แซบ แซบ แซบ นี่ หรือแซบอีหลี นี่มันไม่ใช่ศัพท์บ้านเรานะ เพราะว่ามันเป็นศัพท์ทางด้านอีสาน

คุณป้าน้อยก็บอกว่า ใช่ ที่โรงเรียนนี้นะ หลานรัก เด็กนักเรียนที่เรียนโรงเรียนนี้นะ มาจากตัวเมืองอุทัยธานีก็มี และก็มาจากอำเภอภายนอกอย่างอำเภอลานสัก อำเภอบ้านไร่ หรือบ้านทุ่งนา เป็นแดนทุรกันดารจริง ๆ น้ำท่าไม่ค่อยจะมี โรงเรียนนี้สงเคราะห์บุคคลผู้ยากจนในถิ่นทุรกันดาร นอกจากนั้น ก็มาจากภาคอีสาน

คืออย่าง บุรีรัมย์ นครราชสีมา ชัยภูมิ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และนครสวรรค์ กรุงเทพฯ อยุธยา จันทบุรี ระยอง เพชรบุรี และชาวเขาเมืองเพชร โรงเรียนนี้มีชาวเขามาเรียนด้วย ก็เป็นอันว่า ทุกคนจะอยู่ที่ไหนก็ตาม มาอยู่ได้พร้อมเพรียงกัน มีความสามัคคีกัน จุไรก็หันไปหารุ่นพี่ ยกมือลา รุ่นพี่ก็ชวนรับประทานอาหาร เธอก็บอกว่า หนูอิ่มแล้วเจ้าค่ะ หนูจะลาก่อน ก็รวมความว่า เธอก็ลามา

ออกจากครัวของหอพัก และก็จะเดินต่อไป เธอก็สงสัยว่า นักเรียนที่นี่มีกี่คนเข้าไปถาม รุ่นพี่บอกว่า นักเรียนหอพักนี่จริง ๆ แล้วก็เฉพาะนักเรียนหญิง ๑๐๐ คนเศษ นักเรียนชายอยู่ฝั่งโน้นก็ ๑๐๐ คนเศษเหมือนกัน เธอก็ถามรุ่นพี่ว่า นักเรียนทุกคนนี่ ต้องเสียค่าอาหาร เดือนละ ๖๐๐ ทุกคนเหมือนกันไหม และก็ต้องจ่ายค่าข้าวสารเดือนละ ๘๐ ทุกคนไหม รุ่นพี่จริง ๆ รุ่นพี่ใหญ่

ที่เธอถามก็ตอบว่า รุ่นต้นสำหรับรุ่นพี่นี่ทุกคน ๑๐๐ คนเศษ ไม่มีใครต้องเสียอะไรเลย เพราะรุ่นพี่ทุกคน มาจากแดนทุรกันดารทั้งหมด มีรุ่นหลังนี่แหละ ที่เขามีทุนบ้าง อะไรบ้าง หลวงปู่ก็ให้เสียค่าอาหาร เพราะถ้าท่านจะให้จ่ายทั้งหมดไม่ไหว และว่า ๓ เทอมน้ำท่วมที่ผ่านมานี่ หลวงปู่ไม่เก็บอะไรเลยทุกอย่าง ค่าอาหารก็ไม่เก็บ ค่าน้ำ ค่าไฟไม่เก็บ ไม่เก็บทุกอย่าง แต่ทราบจากอาจารย์ใหญ่ว่า หลวงปู่ต้องจ่าย เทอมละล้านบาทเศษ ทั้งค่าครูด้วย

จุไรฟังแล้วก็ตกใจ บอก โอ้โฮ หลวงปู่ต้องจ่ายมากจริง ๆ ก็รวมความ หลังจากนั้นเธอก็ลา ลารุ่นพี่มา ตอนนี้ก็เข้า นิทานร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อกี้นี้ก็นิทานจริงบ้าง ของจริงบ้าง ของหลอกบ้าง นิทานบ้าง ของจริงบ้าง ก็ว่ากันไป ตอนนี้เมื่อเข้านิทานร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ออกจากที่นั้นแล้ว จะถึงลานต้นโพธิ์ ต้นโพธิ์ต้นนี้มีความสำคัญมาก เบื้องล่างปรากฏว่า มีที่บูชา ลานฐานต้นโพธิ์เขามีก่ออิฐ ก่อหิน ก่ออิฐล้อมแล้วก็ปูซิเมนต์ ที่ลานนะ มีเครื่องตั้งบูชา

จุไรก็ถามว่า คุณป้าเจ้าคะ ต้นโพธิ์ต้นนี้ มีความสำคัญอย่างไร จึงมีผ้าผูก มีเครื่องสักการะบูชา
ป้าน้อยก็บอกว่า ถ้าสิ่งไหน ถ้าไม่สำคัญ หลวงปู่ท่านคงไม่ทำอะไรเป็นพิเศษ ต้องมีความสำคัญ แต่ทว่าหลวงปู่เคยบอกให้ป้าฟังว่า ต้นโพธิ์ต้นนี้มีเทวดารักษาอยู่มาก พอพูดเท่านั้น จุไรก็มอง ตาเหลือก ตาตั้ง

เพราะเวลานั้น ก็ปรากฏว่า ท่านอินทกะของท้าวมหาราชทั้งสอง คือ ท่านบุเรงนอง กับ ท่านปิยะยาวี ก็มามองยิ้มอยู่ข้างหน้า
ท่านก็บอกว่า จุไรหลานรัก ที่ป้าน้อยพูดน่ะถูก แต่ป้าน้อยพูดอาจไม่ละเอียด เดี๋ยวลุงจะเล่าให้ฟัง เอาอย่างนี้ก่อนก็แล้วกัน เอาเฉพาะพวกของลุงก่อน ที่ใกล้ ๆ พวกของลุงจริง ๆ ไม่ใช่มีเฉพาะลุง ๒ คน แต่ว่าปันส่วน แบ่งหน้าที่กันคนละจุด ๆ รอบบริเวณวัด จำนวนจริง ๆ เกินกว่า ๑,๐๐๐ คน

นี่นิทานนะ แล้วพอท่านพูดจบ ปรากฏว่าบริเวณด้านบนของอาคาร ในด้านอากาศ มันกลายเป็นพื้นที่คล้าย ๆ กับพื้นสนามหญ้าเขียวชอุ่ม มีสระโบกขรณี มีน้ำใส มีคนเยอะแยะมากมาย มีทั้งผู้หญิง ทั้งผู้ชาย อยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ สำหรับผู้หญิงก็มีหน้าตาคล้ายเด็กสาวรุ่น ๆ ผู้ชายก็หนุ่มเช่นเดียวกัน เธอก็เลยบอกว่านี่ละพวกของลุง ที่อยู่กันที่นี่ทั้งหมด ก็หน้าที่อารักขาทุกอย่าง เท่าที่ท้าวมหาราชสั่งมา หนูเห็นหรือยังว่า มีใครบ้าง

จุไรบอก เห็นแล้วเจ้าค่ะ แต่ไม่ทราบว่าเป็นใคร
ท่านอินทกะท่านก็บอกว่า ท่านถามว่าที่เป็นผู้หญิง ผู้ชาย หนูรู้จักไหม
รู้เจ้าค่ะ แต่งตัวไม่เหมือนกัน ลีลาก็ต่างกัน ก็รวมความว่า เธอทราบ เธอทราบแล้ว

ท่านอินทกะท่านก็บอกว่า ต้นโพธิ์ต้นนี้นะหลานรักความจริง ต้นไม้ไม่มีความสำคัญเกินต้นไม้ แต่สิ่งที่อยู่กับต้นไม้หรืออยู่ใกล้กับต้นไม้นี่ มีความสำคัญ อย่างพวกลุงทั้งหมดนี่ อย่าไปคิดว่า เป็นนางไม้ หรือนายไม้
จุไรก็ถามว่า นายไม้เป็นอย่างไร

ลุงก็บอกว่า ตามปกติเขาจะบอกว่า นางไม้ นางไม้ คือเทวดาผู้หญิง แต่เทวดาผู้ชายไม่มีใครเรียกว่า นายไม้ ลุงเลยเรียกว่า นายไม้ ให้มันถูกต้องเสีย
เธอก็ถามว่า อย่างนั้นลุงเป็นเทวดาชั้นไหน
ลุงก็ตอบว่า ทั้งหมดที่หลานเห็นนะ เป็นเทวดาประเภทอากาศเทวดา

แล้วเธอก็ถามว่า อากาศที่อยู่กันอย่างนี้ ลานที่เห็นน่ะ เป็นลานอะไร แต่ความจริง แผ่นดินก็อยู่ข้างล่าง แต่นี่มี แผ่นดินซ้อนแผ่นดิน
ท่านบอกว่า แผ่นดินที่เห็นนี่ ความจริงนี่เป็นอากาศ แต่ทำให้หลานดูไม่อย่างนั้นหลานจะสงสัย ความจริงเทวดา นางฟ้า พรหมก็ดี ท่านเดินไปบนอากาศ ก็มีสภาพคล้ายกับคนเดินดิน ไม่ต้องกลัวอากาศยุบมันแข็งแรงแน่นหนาเหมือนกัน

แต่ลุงจะพูดย่อให้ฟังว่า สิ่งที่มีสำคัญตรงนี้ นั่นก็คือ พระพุทธรูป พระพุทธรูปนี่อยู่ใต้แผ่นดิน อยู่ในแผ่นดินลึกลงไป แต่ก็อยู่ใกล้ต้นโพธิ์ คือ อยู่ด้านหน้าของต้นโพธิ์ ที่มีเครื่องสักการะบูชาวางไว้อยู่ตรงนั้น
จุไรก็ถามว่า คุณลุงเจ้าคะ แล้วหลวงปู่ท่านทราบไหม

คุณลุงก็ตอบ ยิ้มแล้วก็ตอบว่า ท่านจะทราบ หรือไม่ทราบ ลุงก็ไม่รู้เหมือนกัน ลุงไม่ได้ถามท่าน แต่ว่า ท่านสั่งนักเรียน และครูบาอาจารย์ที่นี่ เวลาจะผ่านที่นี่ให้แสดงความเคารพ และขออภัย และท่านบอกกับเด็กนักเรียน กับครู บอกว่า มีพระพุทธรูปทองคำอยู่ใต้ดิน

จุไรก็บอกคุณลุงบอกว่า ถ้าอย่างนั้นหนูอยากจะเห็นได้ไหม
คุณลุงก็บอกว่า เรื่องไม่ยาก ถ้าหลานต้องการเห็น ลุงก็จะให้เห็น เอ้าเห็นได้เดี๋ยวนี้ทันที เพียงเท่านั้นก็ปรากฏว่า ภาพพระพุทธรูปทองคำปรากฏขึ้น หน้าตักพระพุทธรูปทองคำ จริง ๆ ยาวขนาด ๔ ศอกเศษ ลุงบอกว่า ๔ ศอก ๗ นิ้ว เป็นทองคำ สวยอร่ามมาก

กี่เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่ทราบ อาจจะเป็น ๙๐ เปอร์เซ็นต์เศษ และนอกจากองค์พระพุทธรูปแล้ว ก็มีแท่นรองด้วยทองคำ ความจริงนั้นน่ะสูง จุไรจึงถามว่า หนูเห็นชัดเหมือนไม่มีอะไรบัง
ลุงก็บอกว่า เป็นอานุภาพของเทวานุภาพอำนาจเทวานุภาพย่อมเป็นไปตามนั้น

เธอก็ถามบอกว่า พระพุทธรูปองค์นี้ อยู่ลึกมากไหม
ลุงยิ้มก็ตอบว่า ลึกมากหลาน
เธอก็ถามว่า ถ้าใครเขาอยากจะขุด
ลุงก็บอกว่า เวลานี้ขุดไม่ได้แล้ว เพราะว่า หลวงปู่มาทำอาคารพื้นที่นี้ เทคอนกูดคอนกรีตแล้ว เป็นสถานอาคารที่อยู่ โอกาสที่จะขุดไม่มี

เธอก็ถามว่า สมมุติว่าจะขุด จะต้องขุดลึกเท่าไร
ลุงก็บอกว่า ตามธรรมดาพระพุทธรูปที่จมไปนี่ ลึกไม่มาก ลึกไปเพียง ๓ วาเศษ จากผิวดิน จากเกศขึ้นมา แต่ว่าถ้าจะขุดหา ลุงคิดว่า ขุดไป ๕ กิโลเมตร ยังไม่พบ
เธอก็ถามว่า เพราะอะไร
ลุงก็บอกว่า เป็นเพราะอำนาจเทวานุภาพ เพราะพวกลุงให้พบไม่ได้ มีหน้าที่เฝ้า

ก็ในเมื่อลุงกับหลาน คุยกันไปคุยกันมา หลานสาวก็ถามว่า พระพุทธรูปองค์นี้ มีขึ้นได้อย่างไร
คุณลุงก็บอกว่า ลุงขอเรียกศัพท์สั้น ๆ ต้องขอขมาโทษท่าน ต้องขอเรียกว่า พระหนีพม่า นั่นหมายความว่า พม่าจะเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา เคลื่อนทัพมาทางนี้ ในเมื่อทางชาวบ้านทางวัดทราบเข้า ต่างคนต่างไม่รู้ว่าจะเอาพระพุทธรูปไปทิ้งที่ไหน เพราะเป็นทองคำขนาดใหญ่ ก็เกรงไปว่าพม่า ผู้มีจิตอธรรม จะนำพระพุทธรูปไป ก็ต่างคนต่างช่วยกันขุด หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไร

หลังจากนั้น ก็ปรากฏภาพคน ลุงทำภาพให้ดู เวลานั้น สภาพของบ้านเมืองเป็นอย่างนี้ แถวนี้ก็มีบ้านมาก มีมอญเยอะ มีทั้งมอญทั้งไทย มอญก็เยอะ ไทยก็มาก เมื่อทราบข่าวว่า พม่าเคลื่อนทัพมาต่างคนก็ต่างขุดหลุม เกณฑ์กันมา นำพระพุทธรูปลงฝัง เอาแท่นวางข้างหน้า พระพุทธรูปวางข้างหลัง ที่นั่งซ้อนกัน และต่างคนต่างก็กลบ เมื่อกลบแล้ว ก็นำต้นโพธิ์มาปลูก ปลูกต้นโพธิ์ทับ

ก็อยู่ข้าง ๆ ไม่ตรงทีเดียว และก็บริเวณด้านหน้า ก็ทำเป็นสวนผัก คือ บริเวณนั้น ทำเป็นสวนผัก เป็นการพรางตาพม่า เพราะเกรงว่าพม่าจะรู้ข่าวแล้วจะขุดออกไป อันนี้เป็นความหวังดีของคน ก็รวมความว่า เวลานี้พระพุทธรูปอยู่ที่นี่ แล้วก็เห็นตามที่หลานเห็นนี่ จุไรก็ถามต่อไปบอกว่า ถ้าอย่างนั้น นอกจากพระพุทธรูปทรัพย์ทั้งหลายอย่างอื่นมีไหม ลุงก็เห็นทรัพย์ทั้งหลายมากมาย ตามที่เคยปรากฏ

เธอก็บอกว่า แล้วคุณลุงจะพรรณนาได้ไหม ลุงก็บอกว่าหน้าที่การพรรณนาว่า ทรัพย์มีอะไรบ้าง ไม่ใช่หน้าที่ของลุง ลุงมีหน้าที่เฝ้า คุณลุงบอกว่าเวลาสำหรับคุยกันนะ หมดแล้ว นะหลานนะ มันจะค่ำแล้วละนะ หลานเดินทางต่อไปได้แล้ว ต่อนั้นไป เมื่อคุณลุงทั้งสองลุงหายไป บรรดาท่านทั้งหลายก็หายไป จุไรกับคุณป้าน้อยก็เดินทางต่อไป จะไปดูครัว มองไปข้างหน้า

ถามคุณป้าน้อยบอกว่า คุณป้าเจ้าคะ ด้านซ้ายนี่อะไรเป็นตึก ๔ ชั้น กว้างมาก และก็มองเข้าไปข้างใน เห็นห้องน้ำ ห้องส้วม ชั้นละ ๙ ห้อง ๒ ชั้น และชั้นล่างมี ๓ ห้อง มีอ่างน้ำเสร็จ พื้นปูกระเบื้องเคลือบ สวยงามมาก และน่าอยู่ รอบ ๆ มีมุ้งลวด ชั้นบนมีหลังคา และก็มีฝาโปร่งด้วยตาข่าย เป็นที่นั่งตากลม ป้าน้อยบอกนี่ครัว เธอก็บอก ถ้าอย่างนั้น คุณป้าขออนุญาตพาหนูไปครัวหน่อย เพราะว่าบรรดาพี่ ๆ อาจารย์อนุญาตแล้ว

ป้าน้อยก็จะเดินเข้าไป พอจะเลี้ยวเข้าไป ก็ปรากฏว่า บรรดาสุนัขทั้งหลาย มี คุณป้านาค เป็นหัวหน้า เป็นแม่ใหญ่ คือ ลุงนิล กับป้านาค ๒ ตัวนี่เป็นสุนัขดั้งเดิม คุณฉวีวรรณ สรรพกิจ ให้มา ต่อมาก็แตกลูก แตกหลานออกมา ทั้งหมดเวลานี้ ถ้าไม่ตายไปเสียบ้างก็จะมีจำนวนเกิน ๒๐๐ ตัว ใช้ชั่วเวลา ๗ ปี พอสองป้าหลานจะเข้ามา คุณป้านาคก็นำทีม เพราะในฐานะเป็นผู้รักษาครัว รักษาทรัพย์สินทั้งหมด

เมื่อคุณป้าลุกจากครัว ทั้งหมดก็กรูขึ้นมา ทำท่าจะกัด คุณป้าน้อยทัก พวกนั้นไม่ยอมฟัง คุณป้าน้อยเห็นท่าไม่ได้การ บอกจุไรถอยมา ป้าน้อยก็นึกขึ้นมาได้ว่า ถึงถอยก็ไม่พ้น เอาอย่างนี้ดีกว่า หลานรัก เข้าไปหาป้านาค อันดับแรกไปเรียกว่า ป้านาค ป้านาคนะ อย่าไปเรียก อีนาค ไอ้นาค ไอ้นิล นี่ไม่ได้ จุไรก็เข้าไป เธอเป็นเด็กมืออ่อนอาศัยความกลัวหวังความเมตตา เมื่อกี้เธอกราบครูแล้ว

ก็ยกมือไหว้ป้านาคบอก ป้านาคเจ้าคะ หนูจะมาขอชมสถานที่ ขอป้านาคอนุญาตด้วยเถอะ ดูคล้าย ๆ กับป้านาครู้ภาษาคนเป็นอย่างดี แต่ว่าคณะนี้ทั้งหมด หมาทั้งหมด รู้ภาษาคนดีมาก เมื่อพูดดี ๆ ป้านาคก็หูรี่ หน้าตาคล้ายจะยิ้ม ตาเป็นมิตร หางกระดิก เข้ามาใกล้ ๆ ยกเท้าหน้าเข้ามาสะกิดจุไร ป้าน้อยก็บอกว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น ป้านาคให้เกาหลัง เกาศีรษะ จุไรก็ทำท่าชักจะกลัว ป้านาคก็มองอย่างเป็นมิตร

จุไรจึงแข็งใจเกาศีรษะ เกาหน้า เกาหลัง พอสุนัขตัวอื่นจะเข้ามา ป้านาคก็หันไปหัวเราะ เห็นฟันขาว ๆ ทั้งหมดถอยหลังหมด จุไรบอกว่า ป้านาคเจ้าคะ หลานจะไปเที่ยวในครัว ป้านาคนำไปด้วย ไปด้วยกันนะ พูดเท่านั้น เธอก็ขยับเดิน ป้านาคก็เดินเคียงข้างไป ไปไหนป้านาคก็ไปด้วย ก็รวมความว่า อาศัยป้านาคเป็นผู้คุ้มครอง ตัวอื่นเข้ามายุ่งไม่ได้ พอใครจะเข้ามา เห็นท่าจะกัดจุไรกับป้าน้อย ป้านาคหันไปหัวเราะฟันขาวทันที แต่ไม่มีเสียง

แต่การหัวเราะของสุนัข อาจจะเป็นการแยกเขี้ยวก็ได้ จะดุ จะกัดได้ เป็นอันว่า ทุกตัวก็ตามไปหมด แต่มีความสำคัญอยู่ว่า อย่าหยิบของ ก็พอดีมีถังน้ำขวางหน้า จะเข้าห้องน้ำ จุไรจะเข้าห้องน้ำ จุไรเธอก็ไปขยับถังเข้าเท่านั้น พวกกรูจะเข้ามากัด จุไรก็รีบปล่อย หันมาหาป้านาค ป้านาคก็มองพวกนั้นแล้วก็แยกเขี้ยว หัวเราะเขี้ยวขาว พวกนั้นก็หายไป รวมความว่า จุไรปลอดภัยจากบรรดาหมู่สุนัขทั้งหลายเพราะป้านาคช่วย เมื่อเธอชมทุกชั้น ๔ ชั้นหมดแล้ว

ก็บอกคุณป้าน้อยบอกว่า ครัวทั้ง ๔ ชั้นนี่ ยังว่างอยู่มาก ถ้าหากบังเอิญหนูจะอาสาสมัครเรียนโรงเรียนนี้ ถ้าห้องหอพักไม่มี หนูขออยู่ครัวก็ได้ ป้าน้อยก็บอกว่า นั่นเป็นหน้าที่ของ ครูผู้ควบคุมโรงเรียน ครูควบคุมหอพักเขาจะจัดให้ เป็นอันว่า นักเรียนที่จะมาเรียนที่นี่ได้ ต้องไม่เกินปีละ ๑๐๐ คน เพราะ มิฉะนั้นก็ไม่มีทุนจะเลี้ยง ความจริง ทางวัดไม่ได้อะไรจากโรงเรียนเลย

ต้องหาให้ทุกอย่าง อย่างอาหารการบริโภคเดือนละ ๖๐๐ บาท เสียค่าน้ำ ค่าไฟเสียบ้าง เสียค่าแก๊สเสียบ้างทั้งหมดที่เหลือนั้น ก็เหลือประมาณวันละ ๑๖ บาท ไม่พอ ตามที่หนูเห็นแล้วว่า เวลาเดียวนะ เขากินอาหารกันตั้งกี่อย่าง และการตักอาหารมานี่ ไม่ใช่ค่อย ๆ ตัก ไม่ใช่ประเภทที่เห็นว่า มากเกินไปต้องถอยหลัง อันนี้ไม่มี กินกันแบบสบาย ๆ จุไรก็เห็นด้วย

ก็รวมความว่า โรงเรียนนี้ เป็นโรงเรียนให้ จุไรก็จำไว้ คิดว่าถ้าโอกาสมีเมื่อใด กลับไปนี่ จะขยันหมั่นเพียร จะไปโรงเรียนไม่ขาดจะทำทุกอย่าง เท่าที่วิชาความรู้จะพึงปรากฏขึ้น เอาละ ท่านทั้งหลายสัญญาณบอกหมดเวลาปรากฏแล้ว ก็ขอลาก่อน ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผล จงมีแด่ท่านผู้อ่านทุกคน

สวัสดี


ll กลับสู่สารบัญ


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 1/8/11 at 14:49 [ QUOTE ]


8
จุไรชมบริเวณ

ต่อไปนี้ขอท่านผู้อ่าน ก็คงพบกับ จุไรกับคุณป้าน้อย ต่อไปก็เป็นอันว่า วันรุ่งขึ้น คือ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๓๒ คุณป้าคุณหลานก็มาพบกันที่เดิม คุณหลานก็บอกว่า คุณป้า วันนี้เจริญกรรมฐานแล้ว ไปที่เก่านะคะคุณป้า ป้าก็ถามว่า ไปที่ไหน คุณหลาน คือ จุไร ก็บอกว่า วันนี้ไปที่ครัว เมื่อวานนี้เข้าไปในครัวชั้นบน คือขึ้นไปดูชั้นที่ ๔ ป้านาคนำหน้า แล้วก็ลงมาดูชั้นที่ ๓ ชั้นที่ ๔ เป็นห้องโถงข้าง ๆ

เป็นลูกกรง ทั้งหมด มีเครื่องขยายเสียง ถ่ายทอดเวลานาฬิกา และก็ถ่ายทอดวิทยุเวลาเช้า และพื้นทั้งหมด ก็ปูด้วยกระเบื้องเคลือบ ขาวสวย ปูกระเบื้องเคลือบแทนหินอ่อน และมีพัดลมเพดาน มีโต๊ะอาหารของหลวงปู่ ความจริงน่ารื่นรมย์ แต่ต่อมา ก็ปรากฏว่า มีพี่ตุ๊กับคุณลุงนิล มาประสานด้วย กับพวกอีกฝูงหนึ่ง ประมาณ ๑๐ ตัว ว่าหลังจากที่คุยกันแล้ว ก็ปรากฏว่า จุไรก็บอกคุณป้านาค ลุงนิล ว่า

คุณป้านาค คุณลุงนิล พาหนูไปชั้น ๓ พอได้ฟังเท่านั้น พี่ตุ๊รับอาสานำหน้า เดินนำหน้าลงจากชั้น ๔ เลี้ยวเข้าชั้น ๓ พอจะเข้าประตู พี่ตุ๊ก็หยุด หันหน้ามามองดู หันหน้ากลับ แล้วก็เดินนำไปชั้น ๓ พอถึงชั้น ๓ ชั้นนี้เป็นหินขัด อาคารหลังนี้จริง ๆ กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๔ เมตร ชั้น ๓ มีห้องส้วมทั้งหมด ๙ ห้อง ทั้งห้องส้วม ห้องน้ำ ไปดูห้องส้วม ห้องน้ำ มีชื่อหลายคน

แสดงว่ามีเจ้าของจองใช้และก็ดูทุกห้อง มีความสะอาดมาก ลองเข้าไปนั่ง ไม่ใช่นั่งที่หัวส้วมนั่งกับพื้น เพราะว่าบรรดาพี่ ๆ ขัดไว้สะอาด สวยสดงดงาม และก็ลองนอน เธอก็กล่าวกับคุณป้าน้อยบอก คุณป้าน้อยเจ้าคะ ส้วมนี่สะอาดกว่าบ้านหนูอีก ความจริง ที่บ้านหนู คุณแม่ก็ขัดสะอาด แต่ว่ากระเบื้องสีไม่ขาวเหมือนที่นี่ ที่นี่ใช้กระเบื้องสีขาว สวยจริง ๆ

ที่บ้านเป็นกระเบื้องสีลาย สีดอก ขาวไม่เหมือน แต่ความจริง คุณแม่ก็ทำสะอาด ถ้าบังเอิญส้วมแบบนี้ มีที่บ้านหนูสักห้องหนึ่ง หนูจะเอาไฟฟ้าสว่างประมาณ ๓ แรงเทียนมาไว้ข้างใน แล้วก็เอาเสื่อผืนหมอนใบ มานอนข้างส้วม อ่านหนังสือ
เธอก็ถามว่า คุณป้าเจ้าคะ ในส้วมนี่จะเจริญกรรมฐานได้ไหม เพราะเย็นดี

คุณป้าน้อยก็บอกว่า เรื่องสถานที่ ไม่มีความสำคัญ ที่ไหนก็ได้ ในเมื่อเรานึกถึงพระพุทธเจ้า ก็ถือว่าเป็นพุทธบูชา พุทธานุสสติ ไม่เลือกสถานที่
เธอก็ถือว่า ในส้วมเป็นสถานที่สกปรก
ป้าน้อยก็บอกว่า เรานึกถึงท่านด้วยกำลังใจ ไม่ใช่เอาพระพุทธเจ้ามาวางในส้วม นึกถึงความดีของท่าน ที่ไหนก็ได้

จุไรก็บอกว่า หนูจะจำไว้ ทีหลังหนูจะใช้ที่ทุกสถาน ข้างนอก ข้างใน ในห้อง นอกห้อง เดินไปเดินมาก็ได้ แล้วก็ต่อไป ถ้าหากว่าเข้าส้วม หนูก็จะนึกถึงพระพุทธเจ้าด้วย ตามข่าวที่หลวงปู่เคยเล่าให้ฟังว่า พระพุทธเจ้านี่มีอำนาจมาก ประเสริฐกว่าเทวดา มนุษย์ และก็พรหม และก็ผีทั้งหลายกลัวพระพุทธเจ้าด้วยใช่ไหม ป้าน้อยก็ตอบว่า ใช่

ป้าน้อยก็บอกว่า หนู หลวงปู่เคยเล่าให้ฟังว่า ผีเคยทับอกท่าน มันจะบีบคอท่าน ท่านก็มีหวายสำหรับตีผี วางอยู่ด้านหัวนอน และก็เอื้อมมือขวาจะไปหยิบหวาย ผีก็ใช้แขนซ้ายของมัน เอามือซ้ายกดแขนขวาของท่าน ท่านก็เอื้อมมือซ้ายจะไปหยิบหวาย มันก็เอามือขวามากดแขนซ้ายของท่าน ในที่สุด มันก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้าปล่อยเมื่อไรท่านก็หยิบหวายเมื่อนั้น ในเมื่อมันนั่งเฉย ๆ มันก็ไม่ไป ท่านก็ว่าคาถากันผีที่เรียนมา พอว่าจบ ปรากฏว่า เป่าไป ผีมันบอกว่า มันไม่กลัว

ต่อมาปรากฏว่า ท่านก็ว่าคาถาอีกบทหนึ่ง บอกว่า บทนี้ไม่กลัว เอาบทที่สอง พอว่าบทที่สองเสร็จ ก็ปรากฏว่า ผีบอกว่า บทนี้มึงได้ครึ่งเดียว มันมีอีกครึ่งมึงไม่ได้ มันก็เลยว่าให้ฟัง มันก็บอกว่า มึงได้ครึ่งเดียว กูไม่กลัว ท่านก็นึกในใจว่า ผีทับอกแบบนี้หายใจยากดีไม่ดี ก็อาจจะเกิดอาการเหนื่อย แล้วก็จะตายไป อาจจะตายแบบทรมาน

จึงนึกในใจว่า ในมนุษยโลกก็ดี เทวโลกก็ดี พรหมโลกก็ดี ไม่มีใครประเสริฐกว่าพระพุทธเจ้า ฉะนั้น ขอบารมีพระพุทธเจ้าช่วย ท่านก็นึกภาวนาว่า “พุทโธ” พร้อมทั้งนึกถึงบารมีพระพุทธเจ้า ก็เป่าพรวดเดียว ปรากฏว่า ผีหกคะเมน และวิ่งหนีไปเลย รวมความว่า ถ้าเรานึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่ ผีก็ทำอันตรายไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้านึกเฉย ๆ เราไม่แน่ใจ เราก็ภาวนาว่า พุทโธ ด้วย

หนูจุไรก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นหนูจะจำไว้ ความจริงศัพท์ว่า พุทโธ นี่หนูใช้เป็นปกติ และก็เห็นภาพพระพุทธเจ้าใสเป็นแก้ว ใสเป็นปกติ
ป้าน้อยก็บอกว่า นั่นดีแล้ว เพราะว่า การเห็นภาพพระพุทธเจ้า ที่หนูฝึกมโนมยิทธิ คำว่า มโนมยิทธิ แปลว่า มีฤทธิ์ทางใจ ก็มีหลายท่านสงสัยว่า มโนมยิทธิน่ะมาจากไหน ป้าฟังหลวงปู่ท่านอธิบายในวิหาร ๑๐๐ เมตร

ท่านบอกว่า มโนมยิทธิ คือ มีฤทธิ์ทางใจ เป็นหลักสูตรของอภิญญา หรือถ้าไปไม่ได้ แค่เห็นก็เป็นหลักสูตรของวิชชาสาม ได้แค่หลักสูตรของวิชชาสาม ที่เห็นด้วยไปด้วย ก็เป็นหลักสูตรของอภิญญา ท่านบอกว่า คำว่า มโนมยิทธิเป็นผลของการปฏิบัติ แต่ว่า กรรมฐานที่เป็นพื้นฐานของมโนมยิทธิ ก็คือ

๑. อานาปานุสสติ คือ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก
๒. พุทธานุสสติ นึกถึงภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง
๓. กสิณ เวลานึกถึงภาพพระพุทธรูป ถ้าพระพุทธรูปเป็นสีเหลือง ก็เป็น ปีตกกสิณ ถ้าพระพุทธรูปเป็นสีขาว ก็เป็น โอทาตกสิณ ถ้าพระพุทธรูปเป็นแก้วใส ก็เป็น อาโลกกสิณ

อย่างที่หนูเห็นพระพุทธเจ้าปัจจุบันเวลานี้ ป้าน้อยก็ย้อนถามว่า เวลานี้จุไร หลานรัก กำลังเห็นภาพพระพุทธเจ้าใช่ไหม จุไรก็บอกว่า ใช่เจ้าค่ะ ภาพพระพุทธเจ้านี่จะไม่หลุดไปจากใจของหนูเลย หนูใช้เป็นประจำวัน ถ้ายังตื่นอยู่ ว่างภารกิจนิดหนึ่ง หนูจะนึกถึงพระพุทธเจ้าและเห็นภาพท่าน แต่ภาพนี้ บางคนก็บอกว่า ไม่ใช่องค์จริง ท่านเป็นภาพนิมิต

ป้าน้อยก็บอกว่า อย่าสนใจเรื่องนั้น จะเป็นองค์จริง หรือเป็นนิมิตก็ช่าง ก็ถือว่า เราเคารพพระพุทธเจ้า มีผลเหมือนกัน คือ จิตใจของเรานึกถึงท่าน เป็น พุทธานุสสติ นึกถึงพระพุทธเจ้า พอเราเห็นท่าน จิตเราเป็นสมาธิ เห็นท่านใส ก็แสดงว่า จิตเราเป็นสมาธิสูง เมื่อใดเห็น แพรวพราวเป็นระยับ เป็นแก้ว จิตเป็นฌานในสมาธิ สมาธิส่วนนี้ ที่เป็นกสิณ ก็รวมความว่า ไม่ผิด เป็นอันว่ามโนมยิทธิ ก็คือ

๑. อานาปานุสสติ
๒. พุทธานุสสติ
๓. กสิณ แล้วก็
๔. ตอนหลังเขาจะสอนด้านวิปัสสนาญาณ ก็เป็น วิปัสสนาญาณด้วย เมื่อรับฟังวิปัสสนาญาณ จิตใจเริ่มสะอาดขึ้น อารมณ์เป็นทิพย์มันก็เกิด ก็ไม่มีอะไร เป็นของเล็ก ๆ ป้าน้อยอธิบาย

หลังจากนั้น จุไรก็บอกว่า คุณป้าเจ้าคะ นี่มันใกล้ค่ำแล้วนะ เราไปชั้น ๒ กันดีกว่าไหม ก็ถามว่า ไปทางไหน ป้าน้อยก็งงเหมือนกัน เพราะครัวนี่ป้าไม่เคยเข้ามาเลย หนูนี่ดีกว่าป้านะ ป้าเข้ามาเพราะหนู จุไรก็ถามว่า จะไปอย่างไร ลองเดินดูบันไดดีไหม ป้าน้อยก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้น ก็ถาม ลุงนิลกับป้านาค ก็แล้วกัน จุไรเธอก็บอกว่า คุณป้านาคคะ หนูจะไปชั้น ๒ ได้ไหม

ป้านาคก็หูรี่ ยิ้ม หางสะบัดไปสะบัดมา ตา เรียกว่า ตาเมตตาจิต ลุงนิลก็เหมือนกัน แต่ว่าผู้ที่นำหน้า คือ พี่ตุ๊ พี่ตุ๊ ชื่อจริง ๆ เรียก รัตนาวดี พี่ตุ๊มองดูหน้าจุไรแล้วก็เดินนำหน้าลงบันได พอถึงประตูลงบันได พี่ตุ๊ก็หยุด หันหน้ามามองแสดงว่า ชวนมาทางนี้เถอะ เมื่อจุไรกับป้าน้อยเดินตามไป คุณป้านาค พ่อนิล พร้อมคณะก็ไปด้วย ก็เดินลงบันได วนลงไปถึงชั้น ๒ พอถึงชั้น ๒ แล้ว ก็ปรากฏว่า

เป็นห้องโถงไม่มีอะไร มีแต่ส้วม ยังว่างอยู่มาก เมื่อเดินดูนิดเดียว ก็บอกคุณป้านาคบอกว่า อยากจะลงไปชั้น ๑ พี่ตุ๊ก็นำหน้าตามเดิม พี่ตุ๊ใจดีมาก เป็นคนนำหน้า ป้านาค ลุงนิลก็ใจดี และทุกตัวก็ใจดี พอเดินลงไปข้างล่าง ปรากฏว่า มีสุนัขเยอะ ประมาณร้อยเศษ ทุกตัวเห็นเข้า ก็ต่างวิ่งเข้ามาส่งเสียงทำท่าจะทำร้ายจุไรกับป้าน้อย จุไรก็บอก ป้านาคเจ้าคะ ลุงนิล เขามากันแล้ว ป้านาคก็หูรี่ยิ้ม ๆ แล้วก็หันไป ปรากฏว่า

ป้านาคหัวเราะฟันขาว ๆ พอพวกนั้นเห็นหน้าป้านาคหัวเราะฟันขาว ๆ และป้านาคแสดงสายตาดุ พวกนั้นก็หยุด ถอยหลังเงียบหมด ป้านาคกับลุงนิล ก็เดินไป เดินไปข้าง ๆ พี่ตุ๊ก็นำไปข้างหน้า พอไปถึงโต๊ะม้าหินสำหรับนั่งในครัวชั้นล่าง สิ่งที่ปรากฏในครั้งแรกก็คือ มีปลาร้า ๗ ปี๊ป จุไรก็ได้ถามป้าน้อยบอก คุณป้าเจ้าคะ ปลาร้านี่มาจากไหน ป้าน้อยก็บอกว่า ไม่ทราบเหมือนกัน

ก็พอดีรุ่นพี่กำลังจัดการเรื่องปลาร้าอยู่ ๒-๓ คน รุ่นพี่คือ รุ่น ม.๖ ก็บอกว่า หนู ปลาร้านี่ พระมหาถวัลย์ กับคุณลุงเพชร วัดโพธิ์ เมืองปัก อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา นำมาพร้อมด้วยคณะของท่าน แต่คณะพระมหาถวัลย์ หรือว่าคณะวัดโพธิ์เมืองปัก อ.ปักธงชัยนี่ ส่งปลาร้าเป็นปกติ อาหารอื่นก็ส่ง โดยคณะคุณลุงเพชร มีคราวหนึ่งเผาข้าวหลามเป็นร้อยกระบอก ข้าวหลามกระบอกยาวมาก เผานับร้อย ตั้งใจเผา

แล้วก็มาถวายพระ แล้วก็มาแจกนักเรียนเป็นร้อย ท่านใช้ศัพท์ว่า พี่ช่วยน้อง แต่ปรากฏว่า ข้าวหลามรุ่นแรกดิบไปหน่อย แต่ก็ไม่เป็นไร พวกพี่ก็เต็มใจกิน เพราะท่านให้ด้วยความเต็มใจ เพราะข้าวหลามดิบนิดหนึ่ง ก็ดิบไม่มาก แต่ใจของท่านดีเห็นความเมตตาปรานี ข้าวหลามก็เลยสุก ก็หมายความว่า พวกรุ่นพี่ทั้งหมดตั้งใจรับประทาน มันจะดิบ หรือจะสุก ก็ช่างมัน

มีข้าวหลามกินก็แล้วกัน เพราะท่านให้ด้วยกำลังใจ เราก็กินด้วยกำลังใจ ก็ขอขอบคุณท่าน สำหรับปลาร้านี่ ท่านคณะนี้ให้เป็นปกติ ท่านไม่ให้แต่ปลาร้า เงินทุนท่านก็ให้ มีบางคราว ท่านให้เป็นหมื่น ทุนการศึกษา ค่าอาหารการบริโภค ค่าอาหารอย่างอื่น ท่านก็ให้ ท่านให้มาก คณะนี้แล้วก็มีอีกหลายคณะ อย่างคณะคุณสุดใจ เพื่อนของคุณสุดใจ จำชื่อไม่ได้อีกเยอะ ให้รองเท้าบ้าง ให้เสื้อบ้าง ให้ผ้าบ้าง

บรรดาพี่ ป้า น้า อา ทั้งหลาย ผู้มีคุณ ต่างคนต่างให้ บางคนก็ให้หนังสือเรียนบ้าง ให้เครื่องแต่งกาย ชุดนักเรียนบ้าง อย่างอื่น ของเล่นบ้าง เป็นอันว่า โรงเรียนอุดมสมบูรณ์
จุไรก็ถามรุ่นพี่ว่า คุณพี่เจ้าคะ โรงเรียนนี้อุดมสมบูรณ์จริง ๆ หรือ
รุ่นพี่ก็บอกว่า ใช่ พี่ไม่เคยอดเลย

จุไรก็ถามว่า พี่มาอยู่โรงเรียนนี้นะ ต้องเสียอะไรบ้าง รุ่นพี่ก็บอกว่า พี่เป็นนักเรียนรุ่นแรก ที่ต้องมาพบกับความอุปสรรคในเบื้องต้นมา เวลานั้นหลวงปู่ท่านยังไม่ได้คุมเอง มีคนอื่นคุมโรงเรียน ก็กะผลกกะเผลก ๆ มา ในปีต้นหนักใจมาก ในที่สุด หลังจากเทอมสองมาแล้ว หลวงปู่ก็เข้ามาประคับประคองส่วนหนึ่ง ยังไม่เต็มอัตรา คือ รับให้ทุนทุกอย่าง และก็ให้เสื้อผ้า เครื่องใช้

ก็เป็นอันว่า รุ่นหนึ่งนี่ น้องรัก ไม่มีใครต้องเสียอะไรเลย ค่าอาหารการบริโภคก็ไม่ต้องเสีย ค่าข้าวสารก็ไม่ต้องเสีย ค่าผ้านุ่งห่มก็ไม่ต้องเสีย ค่าครูสอนก็ไม่ต้องเสีย ค่าหนังสือก็ไม่ต้องเสีย ไม่ต้องเสียหมด มีหน้าที่อย่างเดียว ก็คือ เรียน แต่ก็มีเงื่อนไขว่า นักเรียนโรงเรียนนี้ ต้องมีความประพฤติเป็นที่พอใจของหลวงปู่ท่าน ถ้าใครมีความประพฤติเป็นที่ไม่พอใจ อยู่ที่นี่ไม่ได้

จุไรก็ถามว่ามีอะไรบ้าง รุ่นพี่ก็บอกว่า
อันดับแรก สังคหวัตถุ ๔ คือ
๑. ต้องมีการรู้จักสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน
๒. พูดดี เป็นที่รักของบุคคลที่รับฟัง
๓. ช่วยเหลือการงานส่วนกลางซึ่งกันและกัน
๔. ไม่ถือตัว

และก็พยายามทรง พรหมวิหาร ๔ คือ
๑. เมตตา ความรัก
๒. กรุณา ความสงสาร
๓. มุทิตา มีจิตอ่อนโยน ไม่อิจฉาริษยากัน เห็นใครได้ดีก็พลอยยินดีด้วย
๔. อุเบกขา วางเฉย เมื่อจำใจ จำเป็นช่วยเหลือไม่ได้

ต่อไปก็ต้องมี ศีล ๕ บวก กรรมบถ ๑๐ คือ
ทางกาย ๑. ไม่ฆ่าสัตว์ ๒.ไม่ลักทรัพย์ ๓. ไม่ประพฤติผิด ในกาม ๔. ไม่ดื่มสุรา และเมรัย
ทางวาจา ไม่พูดปด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด คือไม่นินทาเขา ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล
ทางด้านจิตใจ ไม่อยากได้ทรัพย์สมบัติของใคร ไม่คิดจองล้างจองผลาญของใคร เชื่อพระพุทธเจ้าปฏิบัติตามคำสอนของท่าน

และหลังจากนั้นก็ปฏิบัติในวัตตบท ๔ สิ่งที่มีความสำคัญจริง ๆ คือ ต้องเจริญกรรมฐาน ไปซักซ้อมกรรมฐานทุกอาทิตย์ คือ ทุกวันจันทร์ วันอังคาร วันจันทร์นักเรียนหญิงในหอพัก ไปเจริญกรรมฐานร่วมกับหลวงปู่ในวิหาร ๑๐๐ เมตร และก็ร่วมกับชาวบ้าน กับพระทั้งหมด วันอังคารเด็กหอพักชาย พอสิ้นเดือน ก็ทั้งโรงเรียน นักเรียนหอพัก และนักเรียนไปกลับ ต้องซักซ้อมกรรมฐานร่วมกัน

ถ้าปฏิบัติได้ตามนี้ หลวงปู่ก็สงเคราะห์เต็มอัตรา เธอก็ถามว่า ถ้ารุ่นน้องต่อไป อันนี้หลวงปู่ก็ขอให้ช่วยเรื่องค่าอาหาร ท่านก็ให้จ่ายค่าอาหารมาเดือนละ ๖๐๐ บาท แต่ความจริง ค่าอาหารจริงวันละ ๑๖ บาท ไม่ถึง ๒๐ บาท ก็เป็นค่าไฟฟ้าเสียบ้าง ค่าน้ำประปาเสียบ้าง ค่าไฟฟ้า ๑ บาท ค่าน้ำประปา ๑ บาท มันก็ไม่พอ และก็ค่าครูคุมหอพักบ้าง ค่าเชื้อเพลิงหุงข้าวบ้าง อย่างละบาท ๆ หมดไป ๔ บาท แต่ว่าพวกเขาก็มีกำไร เพราะค่าครูผู้สอนนี่ หลวงปู่ต้องจ่ายเดือนละหลายหมื่นบาท พวกพี่และรุ่นน้องทั้งหมด

ไม่มีใครต้องจ่ายเงินเลย ค่าเสื้อผ้าคนละ ๒ ชุดต่อปี ค่าหนังสือเรียน อุปกรณ์การศึกษา ทุกอย่างน้องรัก ไม่มีใครเสียอะไรเลย รวมความว่า ไอ้วันละ ๒๐ บาทนี่ เสียโน้น เสี่ยนี่ เสียแล้ว ส่วนที่เหลือก็เป็นค่าอาหาร มันก็ไม่พอ สำหรับนักเรียนไปกลับ ไม่ต้องเสียอะไรเลย คือ มีหน้าที่มาเรียน เสื้อ กางเกง เครื่องแต่งตัวนี่คนละ ๒ ชุด หนังสือเรียนก็ไม่ต้องซื้อ อุปกรณ์การศึกษาก็ไม่ต้องซื้อ อาหารกลางวัน นักเรียนหอพัก นักเรียนไปกลับ กินฟรี

จุไรก็ถามว่า คุณพี่เจ้าคะ กินฟรีนี่ กินจำกัด หรือกินไม่จำกัด
รุ่นพี่ก็บอกว่า การกินที่นี่ ต้องจำกัด ถ้ากินเกินขอบเขต หลวงปู่ท่านไล่ไปจากที่นี่
เธอก็ถามว่า พี่เจ้าคะ การกินจำกัด หลวงปู่ให้กินคนละกี่กิโลกรัม
รุ่นพี่ก็บอกว่า ท่านไม่จำกัดแบบนั้น ท่านจำกัดแต่เพียงว่า ห้ามกินเกินอิ่ม ถ้าใครกินเกินอิ่ม หลวงปู่ท่านไล่ ถ้ายังไม่อิ่ม กินเท่าไรก็กินไป

จุไรก็ถามว่า ชามที่ใส่อาหาร ใส่ข้าวน่ะ โตเท่าไหน
รุ่นพี่หยิบชามโคมขึ้นมา บอก ทุกคนนะที่เข้ามาใหม่ ชามโคมขนาดนี้ เขาใส่กันพูนเลย ข้าวและแกง หรือกับข้าวที่โปะลงไป โปะหนามาก คุณป้าจำปี เป็นหัวหน้าแม่ครัวใหญ่ เป็นแม่ครัวใหญ่ ทำอาหารก็อร่อย อาหารเช้าก็ ๓ อย่าง ตอนกลางวันก็ ๓ อย่าง ตอนเย็นก็ ๓ อย่าง และก็ยังมีอาหารพิเศษอีก

จุไรฟังแล้ว ก็ชักดูดปากเจี๊ยบ ๆ ก็เลยถามรุ่นพี่บอกว่า พี่เจ้าคะ ตอนนี้พี่จะจบแล้วใช่ไหม
รุ่นพี่ก็บอกว่า ปีนี้พี่จะจบแล้ว จบแน่
เธอก็ถามว่า พี่เรียนตั้งแต่ ม. ๑ ถึง ม. ๖ นี่เรียนกี่ปี
รุ่นพี่ก็บอว่า เรียนแค่ ๔ ปี จุไรก็งง ก็บอกว่าโรงเรียนนี้หลักสูตรพิเศษ เรียนแค่ ๔ ปี

แล้วเธอก็ถามว่า จะเรียนต่อไปไหม รุ่นพี่คนนั้น ก็บังเอิญเป็นคนอยู่ในเกณฑ์ ก็บอกว่า พี่ ๓-๔ คนนะ ไม่ไปไหนหรอกน้อง จะอยู่ที่นี่ และอาจจะอยู่หลายคนกว่านี้ คือว่า จะเรียนต่อมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช คือเรียนอยู่ที่นี่ และช่วยการงานที่นี่ พอทุนพี่ไม่มี หลวงปู่จัดทุนให้ คนละ ๑๘,๐๐๐ บาท คือ ค่าหนังสือเรียน ค่าไปรษณีย์ ค่าอะไร ๆ ท่านจัดให้ ๑๐,๐๐๐ บาท และค่าอาหารให้คนละ ๖,๐๐๐ บาท และก็ค่าใช้เบ็ดเตล็ดอีก ๒,๐๐๐ บาท รวมแล้วคนละ ๑๘,๐๐๐ บาท

และยังค่าเสื้อผ้าอีก จิปาถะอีก ท่านก็ยังให้ จุไรก็ถามว่า เสื้อผ้านอกจากชุดนักเรียนแล้ว ยังมีอะไรบ้าง รุ่นพี่ก็บอกว่า มีทุกอย่างน้อง เพราะว่า บรรดา พี่ป้า น้าอา ปู่ย่า ตายายทั้งหลาย ท่านให้กันมาเยอะ ผ้าผ่อนท่อนสไบดี ๆ ที่ท่านใช้แล้ว ท่านเลิกใช้ ยังใหม่อยู่ อย่างพี่นุ่งนี่ พี่นุ่ง จุไรก็เข้าไปจับดู ขออนุญาตจับ เนื้อดีมาก พี่บอก นี่ไม่ได้ซื้อนะ น้องนะ ผ้าที่ท่านสงเคราะห์เข้ามา ไม่ได้สงเคราะห์แต่นักเรียน คนที่ยากจนทั้งหลายภายนอกออกไป ก็มีโอกาสใช้ได้ด้วย

จุไรมองมามองไป ก็เห็นรุ่นพี่กำลังต้ม ถาม พี่ต้มอะไรอยู่เจ้าคะ
รุ่นพี่ก็บอกว่า ไอ้นี่ซี่โครงหมู และก็นี่กระดูกไก่ ซี่โครงไก่ ไม่ใช่ซี่โครง ไก่นี่ทั้งตัว
ก็ถามว่า ทำทำไม
บอกว่า ให้สุนัขเวลาประมาณ ๒ ทุ่ม

จุไรก็ถามว่า ซี่โครงหมู ซี่โครงไก่ กระดูกไก่นี่มีเนื้อติดอยู่มาก ไม่ได้ทำกับข้าวหรือ
พี่ก็บอก ไม่ใช่กับข้าวน้อง ต้มให้สุนัข
เธอก็ถามว่า สุนัขมีเท่าไร พี่ก็บอกว่า เวลานี้เหลือ ๑๐๐ ตัวกว่า มีป้านาค กับลุงนิล นะ เป็นต้นเถาใหญ่ ทีแรกก็มี ๒ ตัว ต่อมาก็ออกลูก ออกหลาน เวลานี้เหลือเกือบ ๒๐๐ ตัว

เธอก็ถามว่า กระดูกหมู กระดูกไก่นี่น้ำหนักเท่าไร
รุ่นพี่ก็บอกว่า กระดูกหมูกระดูกไก่นี่ น้ำหนัก ๒๐ กิโลเศษ ต้ม แล้วก็เลี้ยงกันตอน ๒ ทุ่ม กินฟรี
จุไรก็บอกว่า กระดูกหมู กระดูกไก่ ที่มีเนื้ออย่างนี้ ข้างบ้านหนูเขาซื้อมาแกงมาต้มกินกัน ที่นี่ให้สุนัขอย่างเดียวหรือ
รุ่นพี่ก็บอกว่า ใช่ ให้สุนัขอย่างเดียว

เธอก็ถามว่า ถ้าอย่างนั้น พี่ ๆ เคยร่วมวงบ้างไหม เคยมุบมิบบ้างไหม เคยกินหน่อย ๆ บ้างไหม
พี่ก็บอกไม่เคยกินน้อง เคยแต่ชิม ลอง ๆ ชิม คือว่า ชิมแค่ไม่มากน้องเอ๊ย ชิมแค่อิ่ม ก็รวมความว่า จุไรก็ตกใจ หันไปหารุ่นพี่ตัวสูง ๆ รูปร่างก็ไม่ใหญ่นัก แล้วก็มี ๒-๓ คน ขยำข้าว เธอไปยกมือไหว้รุ่นพี่ ก็ถามว่า รุ่นพี่เจ้าคะ กำลังทำอะไร พี่ก็บอกว่า พี่กำลังขยำ อาหารกับข้าวอาหารสุนัขตอนเย็น

เธอก็ถามว่า ใช้อะไรเป็นกับ รุ่นพี่ก็บอกว่า ใช้ตับ ต้มเป็นกับ ตับต้ม แล้วก็หั่นเป็นชิ้น ๆ เล็ก หรือบางครั้ง ป้าจำปีก็ซื้อ ไก่ย่างมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ
เธอก็ถามว่า ประมาณกี่กิโล
คุณพี่ก็กะไม่ได้แน่นอน ก็บอก ประมาณ ๒ กิโลเศษ จุไรก็ตกใจ ถามว่า ผสมเท่านั้นหรือ รุ่นพี่บอก ยัง ผสมน้ำอย่างโน้น ผสมน้ำอย่างนี้เพื่อเกิดรสอร่อย ให้แก่สุนัข ๒ เวลา

จุไรก็บอกว่า เรื่องตับนี่ หนูไม่ค่อยได้รับประทาน คุณแม่ไม่ค่อยได้ซื้อมา แต่ว่าสุนัขที่นี่ มีตับรับประทานทุกวันนะจ๊ะ รุ่นพี่บอก ต้องมีประจำ แต่บางวัน ๒-๓ วัน คุณป้าก็เปลี่ยนเป็นไก่ย่าง เธอก็ตกใจ เอ๊ะ คิดไม่ถึง เป็นไปได้ยาก
แล้วต่อไปจุไรก็มองไปมองมา ถามว่า สุนัขที่นี่ อาหารนอกจากนี้มีอะไรบ้าง

รุ่นพี่ก็บอกว่า ตอนเช้า ประมาณโมงเช้า หลวงปู่ฉันเสร็จ ก็จะไปด้านใต้ เขาก็เลี้ยงตามปกติ ท่านก็เลี้ยงขนมปลาประมาณ ๒๐ ถุง เวลานี้ท่านไม่มีเวลา พวกรุ่นพี่กับพวกป้าก็เลี้ยงแทน และก็เวลาตอนเช้าบ้าง กลางวันบ้าง ตอนเย็น ๆ นะ เอาแน่นอนเวลาเย็นก็มีขนมเม็ดของสุนัข ที่เขาผสม มีโปรตีน มีวิตามิน มีแคลเซียมเลี้ยงสุนัข ขนมนี่ไม่แน่นอน บางวันก็ ๓ เวลา ก็รวมความว่า

จุไรก็งง เรื่องอาหารของสุนัข เธอก็พูดว่า สุนัขที่นี่มีบุญจริง ๆ แล้ว อาจจะมีบุญกว่าหนูอีก เธอก็ถามรุ่นพี่ว่าเอาเงินที่ไหนมาจ๊ะ คุณป้าจำปี หรืออาจารย์พรนุช หรือหลวงปู่ท่านเอาเงินที่ไหนมา
รุ่นพี่ก็บอกว่า เงินนี่เริ่มต้นจาก คุณฉวีวรรณ สรรพกิจ ให้ทุนมาก่อน รู้สึกว่าจะเป็น ถ้าจำไม่ผิดก็ ๖,๐๐๐ บาท

เพราะ ท่านให้ ลุงนิล กับป้านาค มาเป็นคู่แรก ท่านก็ส่งอาหารเลี้ยง ต่อมาท่านก็ให้เรื่อย ๆ เมื่อคนอื่นเขารู้ข่าว ต่างคนต่างให้ ต่างคนต่างสงเคราะห์ เป็นเงินเฉพาะสุนัขโดยตรง สุนัขยิ่งมากเท่าไร ก็มีคนทำบุญเรื่องสุนัขมากขึ้นเท่านั้น เวลานี้เงินของสุนัขทั้งหมด เป็นดอกเบี้ย เอาดอกเบี้ยมาใช้บ้าง ได้จากเงินเมตตาโดยตรงบ้าง รวมความว่า สุนัขพวกนี้มีความสุข มีความอุดมสมบูรณ์ก็ถือว่า เป็นสุนัขที่มีบุญอย่างหนัก

จุไรก็ถามว่า ถ้าอย่างนั้น สุนัขทั้งหมด ถ้าตายจากความเป็นคน
รุ่นพี่ก็บอกว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกันน้องได้กรรมฐานนี่จ๊ะ น้องดูก็แล้วกัน น้องดูเองก็แล้วกัน พอพูดแค่นั้น ก็ปรากฏ ก็มีสาวเล็ก ๆ สาวน้อย ๆ มา ๒-๓ คนเข้ามา ก็บอกว่า พี่นี่ชื่อ แจ๋ว นะ แล้วก็พี่คนนี้ชื่อ จิตร และก็พี่คนนี้ชื่อ แก้ว ก็รวมความว่า ก็มีอีกเขารายงานตัว เวลามันหมด

ก็รวมความว่า ชื่อนี้ทั้งหมด เป็นชื่อของสุนัข ที่ตายไปจากที่นี่ เธอก็ยืนยันว่า พวกพี่ที่มาทั้งหมดนี่ เป็นสุนัขจากที่นี่ ตายจากที่นี่ ร่างกายเวลานี้ ไม่ใช่คนแบบนี้ ไปดูไหมล่ะ เธอก็แสดงให้ดู มีชฎา แต่งตัวแพรวพราวเป็นระยับ จุไรก็คิดว่า สุนัขที่นี่มีบุญเหมือน โฆษกเทพบุตร เอาละ บรรดาท่านทั้งหลาย เวลาเลยแล้ว ขอลาก่อน ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผล จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่าน ผู้อ่าน

สวัสดี


ll กลับสู่สารบัญ


9
จุไรชมบริเวณ (ต่อ)


ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ต่อนี้ไปก็มาฟัง เรื่องของจุไร ก็เป็นอันว่าเรื่องของจุไรนี่ บรรดาท่านผู้อ่านโปรดทราบ มีทั้งเรื่องจริง และมีทั้งนิทาน อะไรก็ตามถ้าเกี่ยวกับผี เกี่ยวกับเทวดา หรือเกี่ยวกับปาฏิหาริย์ ทั้งหมดนั่นเป็นนิทาน ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานที่ นี่เป็นของจริง ขอได้โปรดทราบตามนี้ เพราะว่า ถ้าจะพูดเฉพาะเรื่องจริง ๆ โดยเฉพาะ ก็เป็นอันว่าจะเหงากันตาย

ต่อนี้ไป ก็ขอท่านทั้งหลายฟัง เรื่องราวของสองป้าหลานต่อไป ในเมื่อเข้าไปที่ครัวชั้น ๓ มีป้านาค มีลุงนิล แล้วก็มี พี่ตุ๊ นำหน้าป้านาค ลุงนิลคุ้มครองอันตราย ป้องกันอันตราย และนอกจากนั้นก็มีรุ่นพี่อีกหลาย ๆ ท่าน ต่อนี้ไปก็หลังจากที่ผ่านมาแล้ว ก็มี พี่แก้ว พี่แจ๋ว เป็นต้น และก็ ป้าอ้วนก็พาไปดูบ้าน ลุงหมอก ป้าอ้วน ลุงสิงห์ดอก ตอนนี้ ก็ขอยับยั้งการไปเที่ยวกันเสียก่อน ตอนนี้เป็นนิทานนะ

พี่แก้ว พี่แจ๋ว และก็ลุงสีหมอก ป้าอ้วน ลุงสิงห์ดอก พี่พิจิตร พี่จอน นี่ ทั้งหมดเป็นเรื่องนิทาน ก็ย้อนกลับมาหาจุไร จุไรเธอสนใจที่รุ่นพี่ พี่รุ่นใหญ่บอกว่า พวกพี่หลายคนก็เมื่อจบจาก ม. ๖ แล้ว ไม่ไปไหน จะอยู่ที่นี่ นั่นหมายความว่า จะเรียนต่อด้วย จะช่วยครูบาอาจารย์ หลวงปู่ ทำงานด้วย
จุไรก็ถามว่า คนที่จะอยู่ที่นี่เรียนต่อไปได้ ต้องมีคุณสมบัติอะไร รุ่นพี่ก็บอกว่า

๑. มีการขยันหมั่นเพียรในการงานดี ช่วยเหลือการงานส่วนกลางดี และก็มีความประพฤติตรง ตามที่หลวงปู่กำหนดไว้ และก็มีความกตัญญูกตเวที รู้คุณ ถ้าทำได้อย่างนี้ทั้งหมดครบถ้วน จึงจะเรียนต่อได้ แล้วจุไรก็ถามว่า การเรียนต่อ หลวงปู่ให้ทุน หรือใครให้ทุน พวกรุ่นพี่ก็ตอบว่า

ถ้าทุนจริง ๆ มาจากหลวงปู่ แต่ว่า หลวงปู่ก็ได้มาจากท่านทั้งหลาย ผู้มีพระคุณ อย่างเวลานี้ เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๓๒ ปรากฏว่า ท่าน พล.ต.ท.สมศักดิ์ สืบสงวน ท่านให้ทุน ๑ คน หรือ ๑ ทุนแรก แต่ปีแรกนี่จ่ายมาแล้ว ๑๘,๐๐๐ บาท ถ้า ๔ ปี ก็เป็น ๗๒,๐๐๐ บาท และ คุณเดือนฉาย คอมันต์ รับให้ทุนแก่ จักรกฤษณ์ คือ เด็กผู้ชาย และ วันเพ็ญ เด็กผู้หญิง รุ่นแรก

ทั้งนี้เพราะว่า ท่านให้ทุน ตั้งแต่เรียนมัธยม ต่อไป ให้ทุนอีก ๒ คน ๔ ปี ทุนละ ๗๒,๐๐๐ บาท จะให้เป็นคราว ๆ เป็นอันว่า ทุนที่ได้มาก็ได้มาจากท่านผู้มีคุณทั้งหลายสงเคราะห์มา เมื่อหลวงปู่ได้มา ก็มาแจกกับรุ่นพี่อีก ทุนทั้งหมดนี่ หลวงปู่บอกว่า ยังขาดค่าข้าวสารและค่าเครื่องแต่งกาย อันนี้หลวงปู่ท่านบอก ท่านเตรียมไว้พร้อมแล้ว เครื่องแต่งกาย แต่งตัว คือ ของธรรมดาต้องใช้ และข้าวสาร คือ คิดแต่ค่าอาหาร ค่าข้าวสารไม่ได้คิด

ก็รวมความว่า ก็คิดว่า ยังมีท่านผู้มีเมตตาสงเคราะห์ต่อไป หลังจากนั้น จุไรก็ถามรุ่นพี่ว่า แล้วพี่ตั้งใจจะเรียนวิชาอะไร รุ่นพี่ก็บอกว่า พี่ก็ยังไม่แน่นอนนัก สุดแล้วแต่สมองจะพึงไปได้ จากนั้นจุไรก็บอกว่า พี่ คุยไปคุยมานะ นี่ใครนำอะไรมา ๒ ปี๊ป มาวางข้างหน้า รุ่นพี่มองดูแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รุ่นพี่ที่เป็นคนหิ้วปี๊ปนั้นมา ก็บอกว่า น้ำมันหมู น้ำมันหมูนี่ท่านเถ้าแก่ที่ขายหมูให้เป็นประจำ ท่านสงเคราะห์ ให้เป็นน้ำมันหมูมา ๒ ปี๊ป

รวมความว่า นักเรียนโรงเรียนนี้ ได้รับการสงเคราะห์อนุเคราะห์แบบนี้ ความจริงการจ่ายค่าอาหารมาวันละ ๑๖ บาท เหลือ ๔ บาท เป็นค่าอย่างอื่นนั้นไม่พอ ถ้าดูอาหารที่บริโภคกันนี่ มันเกินกว่าเงินมาก แต่ที่เป็นไปได้เพราะว่า การสงเคราะห์ของท่านผู้มีคุณทั้งหลาย คือว่า ถ้ามีแบบนี้นะ คนนั้นให้บ้าง คนนี้ให้บ้าง อย่างนครราชสีมาก็ส่งปลาร้าเป็นประจำ ปลาร้านี่ก็สำคัญ พวกพี่ก็ชอบมาก ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่ามีวิตามิน มีโปรตีนมาก และทำให้ผิวสวย คนกินปลาร้านี่แข็งแรง ผิวก็สวย

จุไรมองยิ้ม ๆ ก็คิดว่า สักวันหนึ่งข้างหน้า เราคงอาจได้กินปลาร้ากับเขาบ้าง หลังจากนั้น เมื่อคุยกันเสร็จ จุไรก็ถามคุณป้าน้อยบอกว่า คุณป้าน้อยจะไปไหนกันดี นี่ใกล้จะค่ำแล้ว เวลาจะเริ่มค่ำ ป้าน้อยก็บอกว่า ถามพี่แจ๋วซิ ถามพี่แก้ว ถามพี่แจ๋ว ที่มาที่นี่ ถาม พี่ทั้งสองจะให้ไปไหน พี่แก้ว พี่แจ๋วก็บอกว่า จะไปไหนล่ะบอกพี่ ไปได้ทุกที่

จุไรจึงถามว่า พี่แก้ว พี่เกิดเมื่อไร พี่แก้วก็บอกว่า พี่เป็นลูกรุ่นแรก ๆ รุ่นตอนสามของ ป้านาค และถามพี่แจ๋วว่า พี่เกิดเมื่อไร แจ๋วบอกว่าพี่ เป็นรุ่นพี่ของป้านาคมาก เป็นรุ่นต้น เป็นลูกช่วงสามของพ่อสิงห์ดอก ก็รวมความว่า ทั้งพี่แก้ว ทั้งพี่แจ๋ว ก็เป็นคนรุ่นก่อน เธอจึงถามว่า พี่ ตามที่พี่พูดเมื่อกี้นี้นะ มันเป็นลักษณะที่บอกว่า พี่เกิดเป็นสุนัข ใช่ไหม ทั้งสองพี่ก็บอกว่า ใช่

และเธอถามว่า พี่อยู่ที่นี่ มีความสุขไหม เรื่องอาหารการบริโภคเป็นอย่างไร
พี่แก้วก็บอกว่า สมัยพี่อยู่ ก็มีความสมบูรณ์ บริบูรณ์ แบบนี้แหละ เพราะว่า อาจารย์พรนุชกับป้าจำปี มาอยู่แล้ว พี่ก็ได้อาศัยท่าน ท่านก็แทนหลวงปู่ หลวงปู่ให้มาจัดการแทน และก็อาจารย์กับป้า อาจารย์พรนุชกับป้าจำปี ก็จัดการ เอาใจดูหูใส่ แบบนี้ เป็นห่วงทุกอย่าง กลางคืนเวลาป่วยไข้ไม่สบาย ก็ลงไปดู และก็พาไปหาหมอ ที่จังหวัดอุทัยธานี

สำหรับพี่แจ๋วก็บอกว่า พี่เป็นรุ่นต้น น้อง เมื่อสมัยที่หลวงปู่ย้ายเข้ามาวัดนี้ใหม่ ๆ พี่เป็นคนมีลูกแล้ว และก็ระยะนั้นก็ไม่มีใครมาก มีกัน ๑๒ ท่าน แต่ว่ามีที่อื่นมาผสมอีก รวม ๕๐ ท่านกว่า ก็เป็นประมาณ ๗๐ ตัว เวลานั้น ที่วัดนี้ไม่มีอะไร กุฏิโกรงเกรง ๒-๓ หลัง เรือนก็โปร่ง พี่อยู่ที่ใต้ถุนบ้าง อยู่บนกุฏิบ้าง หลวงปู่ท่านก็อนุญาต แต่พี่ก็ต้องคอยดูเวลา นาฬิกาก็ไม่เหมือนเวลานี้ เวลานี้นาฬิกามีเครื่องขยายเสียงตี เวลานั้นนาฬิกาก็หาดูยาก

หลวงปู่ท่านมาใหม่ ๆ วันหนึ่ง ท่าน พล.อ.อ.อาทร โรจนวิภาต เวลานั้นเป็นนาวาอากาศโท บวชอยู่ ท่านหลวงปู่ กับท่าน น.ท. อาทร นั่งคุยกัน ตอนนั้นเป็นเวลาเพลพอดี แต่ปรากฏว่า ท่านไม่ลุกไปจากที่ ไปฉันภัตตาหาร พี่ก็เลยไปนั่งมอง มองหน้าท่านทั้งสอง แล้วก็มองดูนาฬิกา พอดีท่านพล.อ.อ.อาทร โรจนวิภาต ท่านเป็นพระเวลานั้น ท่านก็แหงนดูนาฬิกาตามที่พี่มอง เห็นนาฬิกาเกิน ๑๑ โมง

ท่านก็บอกหลวงปู่บอก แจ๋วมันบอกว่า เวลาเพลแล้วครับ เมื่อหลวงปู่เห็นเวลาเข้า ก็ลุกไปฉันภัตตาหาร แล้วก็ขอบใจแจ๋ว จุไรก็ถามว่า เมื่อสมัยที่พี่แจ๋วอยู่ พี่แจ๋วชอบอะไรมาก พี่แจ๋วก็บอก พี่ชอบแต่งตัวสวย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เข็มขัดคล้องคอ เข็มขัดคลองคอด้วย ลูกกระพรวนด้วย ถ้ามีเข็มขัดคล้องคอกับลูกกระพรวน พี่ชอบใจมาก วันหนึ่ง หลวงปู่ท่านซื้อเข็มขัดมาแจกทุกตัว

และต่อมาไม่ช้า ปรากฏว่าเข็มขัดของพี่ขาด พี่ก็เหงาไปเลย หลวงปู่ท่านเห็นพี่เหงา ก็สังเกตว่า เข็มขัดที่คอไม่มี ก็เลยสั่งคนไปซื้อมาให้ พอท่านสั่งไปซื้อมาให้ พี่เห็น พี่ก็ดีใจแสดงออก แสดงล้อตัวนั้น ล้อตัวนี้ บอกว่า ฉันต่อนี้ไป ฉันก็มีเข็มขัดคล้องคอแล้วนะ มีลูกกระพรวนแล้วนะ นี่เป็นเวลาพอใจ จุไรก็ถามว่า เวลานี้พี่อยู่ที่ไหน เธอทั้งสองก็ตอบว่า พี่อยู่สวรรค์ เธอก็ถามว่า สวรรค์ชั้นไหน

เขาบอกว่า พี่มีบุญน้อย โอกาสที่จะช่วยหลวงปู่มีน้อยเกินไป ก็อยู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
จุไรก็ถามว่า ถ้าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เวลานี้พี่แต่งตัวเหมือนคนธรรมดา ที่มานี่ ดูเหมือนว่า มีเนื้อ มีหนัง ผิวพรรณก็ไม่ค่อยจะขาวนัก เครื่องประดับประดาอะไรก็ไม่มี เวลานี้ขอดูเต็มอัตราหน่อยได้ไหม

พี่ทั้งสองก็บอกว่า ไม่ยาก ไปโคนต้นโพธิ์ดีกว่า ไปนั่งที่ม้าหินที่นั่น ที่นี่เขาทำงานกัน ประเดี๋ยวเราจะแสดงอะไรออกมา จะเกะกะที่ทำงานเขา เขาจะทำงานกัน ดีไม่ดีเขาก็จะรำคาญ ถ้าไม่รำคาญเขาดูเพลินเกินไป ไม่ได้ทำงานอีก เป็นอันว่า นักเรียนรุ่นพี่ คือ รุ่นต้น ที่ฟังแล้ว ก็ต่างคนต่างยิ้มแล้วทั้ง ๒ ท่าน คือ ๔ ท่าน คน ๒ คน นางฟ้า ๒ คน ก็พากันเดินไปที่ ต้นโพธิ์

ป้านาค ท่านลุงนิล ท่านก็ไปด้วย พี่อ้วนนำหน้า พอไปถึงที่เก้าอี้ ก็ปรากฏ พี่อ้วนไปยืนก่อน ยืน แล้วก็มองหน้าจุไร แล้วก็มองหน้าเก้าอี้ เป็นอันว่า เป็นการรู้กันว่า พี่อ้วนให้นั่งที่นั่น ก็ไปนั่งกันตรงนั้น พี่อ้วนก็ยืนห่าง ๆ นั่งหมอบห่าง ๆ ทุกตัวตามไปหมด หมอบห่าง ๆ บริเวณกลางลาน หลังจากนั้น พี่แก้ว กับพี่แจ๋ว ก็เล่าให้ฟังว่า

ความจริงพี่ทั้งสองนี่ เป็นสุนัข แต่การเป็นสุนัขของพี่ทั้งสอง จะเหมือนสุนัขอื่น หรือไม่เหมือน พี่ไม่ทราบ ภาษาคนที่พูดทุกคำนี่ พี่รู้หมด เว้นไว้แต่พวกพี่พูดภาษาคนไม่ได้ เข้าใจภาษาคนทุกอย่าง คือ รู้จริง ๆ จะพูดอย่างไรรู้จริง แม้จะเป็นศัพท์ที่ไม่เคยฟังมา พอเขาพูดมาปั๊บ ก็รู้เรื่อง แต่ว่า พี่พูดภาษาคนไม่ได้ บางคนเขามีความไม่เข้าใจ แต่ว่าหลวงปู่ท่านเข้าใจดี

ทีนี้เวลาที่หลวงปู่พบกับพี่ ท่านไม่ใช้โม้ะ ไม่ใช้ติ๋งอะไรทั้งหมด ท่านพูดภาษาคนชัด พี่ก็รู้เรื่อง หลวงปู่ท่านบอกว่า แจ๋วเอ๊ย พ่อจะไปธุระนะ เฝ้าบ้าน เวลานั้น พี่เป็นหัวหน้าฝูง พี่ก็จัดหน่วยอยู่ ๔ ด้านของกุฏิ และก็มีหน่วยเดินไปเดินมา ก็เปลี่ยนกัน พักผ่อนบ้าง จุไรก็ถามว่า ถ้าขโมยมา แจ๋วก็บอกว่า ถ้าคนเข้ามา ถ้าเป็นคนแปลกหน้า พี่ก็สั่งเฉยก่อน ทุกตัวจะไม่เห่า ไม่ทำอะไรทั้งหมด ต่างคนต่างนอนนิ่ง แต่ว่า ถ้าจับประตูอาคารเมื่อไร เมื่อนั้นนะ พวกเราจะพร้อมกันเข้ากัดทันที

แล้วจุไรก็ถามว่า อาการอย่างนี้ พี่แจ๋วเคยทำบ้างหรือเปล่า แจ๋วก็เลยบอกว่า เคยทำ แต่พี่ไม่ได้ลงมือ พี่ดำใหญ่ลงมือ คราวนั้นหลวงปู่อยู่ ท่านมาเดินจงกรม ด้านพระอุโบสถเก่าเวลาตีสอง ตีสองเดินจงกรมไป จงกรมมา ถึงเวลาตีสี่ ท่านก็กลับ พระลุกขึ้นทำวัตร ท่านก็เลยกลับ แต่บังเอิญ พี่ดำไม่กลับ พวกพี่ก็แบ่งครึ่งหนึ่ง

เวลานั้นทั้งหมดมี ๗๐ เศษ หลวงปู่ก็เลี้ยงอาหารคนเดียว ต้องหุงต้มอาหารเอง ต้องทำกับข้าว ขยำเอง แต่กับข้าวพี่ก็กินไม่ยาก คณะพี่ทั้งหมด หลวงปู่ใช้กับข้าวอะไรทราบไหม เอาผักบุ้ง มาผัดกับน้ำมันหมูใส่น้ำปลาเค็ม ๆ เท่านั้น พี่กินได้เอร็ดอร่อย กินอย่างนี้ทุกวัน เพราะว่าไม่มีคนทำ เพราะเวลานั้นลูกศิษย์หลวงปู่ก็ไม่มี เด็กก็ไม่มี เณรมีบ้าง แต่เณรจากวัดอื่น ท่านก็ไปเรียนหนังสือกัน พี่ชายท่านมาอยู่ช่วย เวลาทำนาก็ต้องไป

หลวงปู่ก็อยู่คนเดียว ท่านต้องหุงข้าว หม้ออลูมิเนียม หม้อต้น ๒ หม้อ ตอนเช้า แล้วก็เอา ผักบุ้งมาผัดกับน้ำมันหมูใส่น้ำปลาเค็ม ๆ เพียงแค่นั้น คลุกข้าว พวกพี่กินเอร็ดอร่อย กินแบบสบาย ไม่ฝืดคอ แต่ก็อาศัยที่พระท่านมีเมตตา พี่ก็มีความจงรักภักดี ทั้งหมดมีความจงรักภักดีท่าน ทุกตัวของสุนัข ท่านจะใช้ภาษามนุษย์ ท่านไม่ใช้ภาษาอื่น ท่านพูดปั๊บ เราจะรู้เรื่องกันทันที เมื่อกินเสร็จ ก็คืนนั้น เมื่อหลวงปู่ท่านกลับจากจงกรม สถานที่ที่ตั้งรับแขกเวลานี้ข้างพระอุโบสถ

ยันบริเวณนั้นทั้งหมดเป็นป่า เป็นป่าช้าเก่า มีต้นไม้รก ลุงดำสมัยนั้น ก็มีความรู้สึกว่า วันนี้จะมีขโมย เข้าขโมยพระในพระอุโบสถ ลุงดำเป็นผู้ใหญ่ ก็จัดกำลังครึ่งหนึ่ง นอนอยู่รอบ ๆ แต่ห่างมาก ห่าง ๆ กัน นอนเงียบ นอนบังไม่เห็นตัว อีกครึ่งหนึ่งมากับหลวงปู่ นอนล้อมอาคารทั้งหมด พอหลวงปู่ให้หลัง ประมาณ ๒๐ นาที ก็ปรากฏว่า มีชาย ๓ คน มาถึงปั๊บ ก็ลงมืองัดกุญแจประตูพระอุโบสถ

พอเริ่มงัดกุญแจ ลุงดำก็จัดการ วิ่งเข้าปั๊บ กัดขากระชากทันที พออีก ๒ คนวิ่งมา ลุงดำก็ทิ้ง ส่งเสียงโฮก ๆ พอโฮก ทั้งหมดก็วิ่งออกเป็น ๓ สายเข้า จุดปลายทางรวมกัน ก็หมายความว่า ๓ สายนี่ ถ้าเขากันสายใดสายหนึ่ง อีก ๒ สายก็กันไม่ได้ ก็รวมความว่า เจ้าขโมยรู้ทัน วิ่งหนีเข้าป่าช้า พวกพี่ทั้งหมด ก็วิ่งกวดเข้าไปในป่าช้าไม่ละลด ในที่สุด ขโมยก็ต้องโดดน้ำไป

ในเมื่อขโมยโดดน้ำไป เราก็ไม่โดด กลับมาใหม่ กลับเข้ามาถึง ก็ไปอยู่ที่นั่นกลับมาที่เดิม นอนแบบสบาย ๆ แต่ปรากฏว่า วันรุ่งขึ้น พระผู้ใหญ่ในสมัยนั้น คือว่า ไม่ใช่พระใหญ่ที่ไหนนะ จะเอาพระเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด นี่ไม่ได้ ผู้ใหญ่ คือ พระแก่ท่านหนึ่ง ท่านจะเป็นพระ หรือไม่เป็นพระ พี่เองเป็นสุนัข พี่ไม่แน่ใจ แต่ว่าสัตว์ คือ สุนัข และสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายใช้กำลังใจ

อย่างสุนัขนี่ มีความรู้พิเศษ มีญาณเป็นเครื่องรู้ คำว่า ญาณเป็นความรู้ จะมีอะไรเคลื่อนไหวที่ไหนสุนัขจะรู้ กำลังใจจะรู้ก่อน ทีนี้ ในเมื่อเจอะพระองค์นั้นแล้ว กำลังใจของพี่และทุกตัว ก็มีความรู้สึกว่า ท่านผู้นี้ คือ หัวหน้าขโมย พอเขาเดินเข้ามา พวกเราก็ไม่ดุ ไม่ว่า ปล่อยไป แต่เรียกเท่าไร พวกเราก็ไม่เข้าหา ต่อมาได้ทราบข่าวว่า พระองค์นี้ นักบวช อย่าเรียก พระ เลย นักบวชคนนั้น

ออกคำสั่งจ้างว่า หมาชุดนี้ทั้งหมด ถ้าใครฆ่าได้จะให้ ตัวละ ๕๐ บาท ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะ โกรธ ที่ร่วมกับขโมยความจริง จะหาว่าร่วมก็ได้ เขาเป็นตัวขโมย เขาแกล้งแต่งตัวเป็นพระมา มาทราบกันทีหลัง บอกว่า เขาแกล้งแต่งตัวเป็นพระ พี่ก็สงสัยแล้วว่า ข้างนอกเขาห่มผ้าเหลือง แต่จิตใจเขาไม่เหมือนพระธรรมดา เมื่อแจ๋วเล่าให้ฟังดังนี้ ก็บอกว่า

อาศัยที่พวกพี่ มีความจงรักภักดีกับพระ และก็รักษาของสงฆ์ มีความรักในพระอย่างนี้ จิตก็จับพระอยู่ คือว่า จับหลวงปู่เป็นสำคัญ เมื่อตายจากความเป็นสุนัข เมื่อออกจากร่างกายสุนัข ก็เป็นนางฟ้าทันที แล้วก็ไปอยู่บนวิมาน สวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก
จุไรก็ถามว่า สุนัขของหลวงปู่ที่ตายไปแล้ว มีไหมที่ไปอยู่ชั้นอื่น นอกจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

พี่แจ๋วก็บอกว่า มีเยอะ แยกกันไป มีอยู่ในเขตชั้นจาตุมหาราชก็มี ชั้นดาวดึงส์ก็มี ชั้นยามาก็มี ที่ดุสิตก็มี ที่ปรนิมมิตวสวัตดีก็มี (อย่าลืมว่า นี่เป็นเรื่องนิทาน อ่านไปแล้วก็อย่าหลงเป็นเรื่องจริง) พี่แจ๋วก็บอกว่า ตัวอย่าง ท่านโฆษกเทพบุตร ท่านโฆษกเทพบุตร นี่ก็เป็นสุนัขเหมือนกัน ตายจากคนแล้ว เกิดเป็นสุนัข จึงได้เป็น สุนัขรู้ภาษาคนทุกอย่าง

ต่อมาก็มีความรักในพระปัจเจกพุทธเจ้า ในเมื่อ ตัวตายจากความเป็นสุนัข ก็ไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก มีวิมานทองคำเป็นที่อยู่ มีนางฟ้า ๑,๐๐๐ เป็นบริวาร เสียงดังกึกก้อง จึงมีนามว่า โฆษกเทพบุตร สำหรับพวกพี่เอง ก็มีสภาพเหมือน โฆษกเทพบุตร เหมือนกัน
จุไรจึงถามว่า พี่ ถ้าอย่างนั้นไปเที่ยวบ้านพี่ได้ไหม

พี่ทั้งสองก็บอกว่า พี่พร้อม ที่มานี่ ก็จะชวนน้องไป แต่ว่าน้องชวนพี่คุยเสียจนเพลิน ก็เป็นอันว่า วัดนี้ พี่แก้วก็บอกว่า พี่น่ะรู้เรื่องหมด เพราะว่าพี่ตายรุ่นหลัง ตายเมื่อปีที่แล้ว จากความเป็นสุนัข แต่พี่แจ๋วนี่ ตายตั้งแต่ตึกยังไม่มี หลวงปู่ยังอยู่กระต๊อบ มาอยู่ใหม่ๆ อยู่ที่โคนต้นโพธิ์ ต้นโพธิ์โน้น ที่กุฏิชายน้ำที่ครัว และประวัติต่างๆ พี่แจ๋วจะทราบ ในฐานะที่เป็นนางฟ้า แต่ว่าพี่เอง พี่จะรู้เรื่องจริง ๆ เพราะพี่เดินตามหลวงปู่อยู่ทุกวัน

หลวงปู่ไปไหน พี่จะไปหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง แวดล้อมช่วยกันดูแลป้องกันอันตราย เท่าที่สามารถจะพึงทำได้ ในที่สุด จุไรก็หันมาถามคุณป้าน้อย บอกว่า คุณป้าเจ้าคะไปเที่ยวกับพี่ทั้งสองไหม ป้าน้อยก็บอกว่า ลำบากละมั้ง ป้าก็เป็นคนแก่แล้ว เหาะก็ไม่เป็น แจ๋วกับแก้วก็เลยบอกว่า ไม่มีความจำเป็น เพราะ ป้าก็ไปตามปกติของป้าก็แล้วกัน ไม่ต้องเอาความแก่ไป เอาแต่ความเป็นสาวไป ที่นั่นเขาไม่มีคนแก่

ถ้านำความเป็นคนแก่ไป ประเดี๋ยวเทวดานางฟ้าจะวิ่งหนีไม่ไหว เดี๋ยวจะหาว่า เป็นผีหลอก ป้าน้อยก็ทำเป็นไก๋ว่า เขาทำกันอย่างไร แก้วกับแจ๋วก็บอกว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ป้าจะไป หรือไม่ไป ฉันจะให้ไป พอบอกเท่านี้สองนางฟ้า ก็มีรูปร่างเป็นนางฟ้า ครบถ้วนบริบูรณ์ หลังจากนั้นจะใช้วิธีไหนก็ไม่ทราบ กำลังของเทวดา กับนางฟ้า เป็นอันว่า ทั้งสองคนก็ลอยละลิ่วปลิวลม

แต่ว่า ไปตามกำลังของ จิต ที่เรียกว่า มโนมยิทธิ คือ มีฤทธิ์ทางใจ กายคงทิ้งไว้ คุยกับใครต่อใครข้างหลัง ซึ่งทุกคนไม่ทราบว่า สองคนนี่ไป เพราะเบื้องล่างก็คุยได้ ข้างบนก็ไป ท่านที่อ่านที่เป็นนักปฏิบัติ อย่าเพิ่งแปลกใจว่า ทำไมถึงโกหกกันขนาดนี้ นี่ความจริงมันไม่โกหก มันเรื่องนิทาน นิทาน จะหาว่าโกหก หรือไม่โกหกก็เป็นนิทาน หมดเรื่องหมดราวกันไป นิทานอย่างไรก็ได้

พอขึ้นไปถึงบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แก้ว กับแจ๋ว ทั้งสองก็บอกว่าต้องการพบ ป้าใหญ่ ไหม ป้าใหญ่ที่มีความสำคัญก็คือ ป้าอ้วน ป้าอ้วนนี่เป็นลูก ลุงสิงห์ดอก เป็นคนที่มีความสำคัญมาก เพราะในสมัยนั้น เมื่อป้าอ้วนมีชีวิตอยู่ ตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ มีความจงรักภักดีกับหลวงปู่มาก ตั้งแต่ออกมา คลานได้ เดินได้เตาะแตะ ป้าอ้วนจะไม่อยู่กับแม่ จะอยู่ข้างหลวงปู่ทุกวัน เว้นไว้แต่หลวงปู่เข้าห้องจำวัด ป้าอ้วนก็จะนอนเฝ้าหน้าประตู ถ้าหลวงปู่เปิดหน้าต่าง ป้าอ้วนจะนอนคร่อมประตู

ถ้าหลวงปู่ปิดหน้าต่าง ป้าอ้วนจะนอนหน้าประตู แต่ไม่คร่อม ทั้งนี้ป้องกันอันตราย และเมื่อเวลากลางวัน เวลามีแขกป้าอ้วนจะนอนหลับตาข้างหลวงปู่ตลอดวัน แต่ทั้งนี้ ใครอย่าหยิบของ ถ้าหยิบของเมื่อไร ป้าอ้วนเห็นเมื่อนั้น เป็นกระโจนใส่กัดทันที ถ้าเวลาเขาถวายของมา ถ้าบังเอิญมีพาน หรือขัน ใส่มา เวลาหลวงปู่เอาของออกแล้ว จะส่งพาน ส่งขันให้

ก็ต้องบอกว่า อ้วน นี่ของของพี่เขานะ นี่ของของป้าเขา เขาใส่ของมาให้ อ้วนก็รู้เรื่อง และก็ส่งคืนให้เขา อ้วนก็มองดูเขาหยิบ ไม่ว่าอะไร ก็รวมความว่า อ้วนให้ความจงรักภักดีเป็นกรณีพิเศษ แต่ว่ากลางคืน เวลาอยู่ยาม หรือให้ลูกสอง คือ เจ้าจอน กับเจ้าจิต อยู่ยามถ้าสองตัวอยู่ยาม จะอยู่ผลัดกัน ถ้าเจ้าจิตอยู่ยามตั้งแต่ตอนเย็นที่หน้าบันได ถึงหกทุ่ม จิตก็จะเข้า จอนก็จะออก เป็นอย่างนั้น

พี่สาวของอ้วนก็ออกยามสลับกัน แต่ว่า พอถึงวันที่สาม วันที่สี่ สามวันผ่านไป ทั้งหมดจะพัก อ้วนจะอยู่ยามคนเดียว ตั้งแต่เวลาตอนเย็นพระอาทิตย์ใกล้ตกดิน ถึงเวลาเช้า อยู่คนเดียวตลอดคืน นี่เป็นการรักษาความปลอดภัย ก็เป็นอันว่า ขึ้นชื่อว่า สุนัข ที่อยู่ในกรอบของสงฆ์ นี่แจ๋วอธิบายต่อไป ไม่ว่าวัดไหน ไม่ใช่แต่วัดท่าซุง ถ้าสุนัขตัวนั้นมีความจงรักภักดีต่อพระสงฆ์ ที่มีแต่ความเมตตาปรานี

แจ๋วก็บอกว่า ตามปกติพระที่มีเมตตาปรานี สุนัขไม่รัก ไม่มี ต้องรัก ในเมื่อสุนัขมีความรักในพระสงฆ์ ตามบาลีท่านเรียกว่า สังฆานุสสติกรรมฐาน คือ นึกถึงพระสงฆ์เป็นอารมณ์ อย่างนี้ สุนัขทุกตัวที่ตายแล้ว จะเป็นคนใหม่ก็แสนยาก ส่วนใหญ่ก็ไปเป็นเทวดาบ้าง นางฟ้าบ้าง สำหรับ ท่าน ลุงสิงห์ดอก เป็นรุ่นแรกที่มีความสำคัญ

เวลาหลวงปู่ลงไปเทศน์สิงห์ดอกจะนั่งข้างหน้าหูรี่ เรียกว่า หน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ฟังจนกระทั่งจะเทศน์จบ ลุงสิงห์ดอกถึงจะกลับ เวลาพระทำวัตรเย็น ลุงสิงห์ดอกจะไปหมอบข้างพระทุกเวลา พระทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็นเสร็จ สิงห์ดอกจึงกลับ ถ้าเวลาหลวงปู่ลงเจริญพระกรรมฐาน ถ้าลุงสิงห์ดอกเห็น จะนอนข้างหน้า จะลุกจากที่นั้นก็ต่อเมื่อ หลวงปู่เจริญกรรมฐานเสร็จ

เอาละ บรรดาท่านผู้รับฟัง และท่านผู้อ่าน คุยกันไปคุยกันมา ระหว่างพี่กับน้อง ก็จบ หมดเวลาเพียงเท่านี้ ขอลาก่อน ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผล จงมีแด่ท่านผู้อ่านทุกคน

สวัสดี


จบเล่ม ๙


ll กลับสู่สารบัญ


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
ตั้งหัวข้อใหม่

Go To Top