Not logged in [Login - Register]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites ตั้งหัวข้อใหม่
[*] posted on 2/7/08 at 11:00 [ QUOTE ]

อิทธิฤทธิ์หรือความบังเอิญ (ตอนที่ 6 หลวงปู่คำแสน คุณาลังกาโร)






ตอนที่ ๖

หลวงปู่คำแสน คุณาลังกาโร


แห่งวัดดอนมูล และวัดป่าดอนมูล อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่



(หลวงพ่อฯ หลวงปู่คำแสน (นั่งตรงกลาง) และ หลวงปู่กล่อม วัดบุปผาราม)


องค์นี้ภายหลังหลวงพ่อฯ ของเราเปิดเผยว่า เคยเป็นพี่ชายของท่านมาหลายชาติแล้ว ท่านเป็นคนใจบุญ ได้ทรัพย์ได้สมบัติมาเท่าใดก็ไม่สะสม เทออกทำบุญจนหมดสิ้น ทำบุญจนหมดตัวเหมือนกับท่านมหาทุกขตะยังไงยังงั้น แต่จริงๆแล้วสมัยเดิมโน้น...โน้น...โน้น ท่านเคยมีชื่อว่า “ท่านทุกขิตะ หรือ ท่านทุพภิกขะ”

เพราะฉะนั้นเมื่อประสบพบกัน ทั้งสององค์ก็คุยกันกระหนุงกระหนิง แต่โน่นแน่ะเป็นเรื่องราวสมัยพระเจ้าพรหมมหาราช มีโต้มีเถียงกันกระจุ๋มกระจิ๋มบ้างเรื่องยุทธการสมัยนั้น (แล้วพวกผมจะไปรู้เรื่องเรอะ..!)

ตอนที่กำลังคุยรู้เรื่องกันเพียง ๒ องค์ ต่างองค์ก็แสดงทัศนะในเรื่องรายละเอียดของมหายุทธวิธีในยุคที่ว่านั้น หลวงปู่ว่าถ้าหลวงพ่อเชื่อท่าน ทำตามที่ท่านคิด เหตุการณ์จะเป็นอย่างนี้ หลวงพ่อฯก็ว่าท่านมีเหตุผลที่ดีกว่านั้น ถึงอย่างไรก็ต้องเป็นไปอย่างโน้น เฮ้อ ดีครับดี รู้เรื่องกันเพียง ๒ องค์ ตาเถรเณรยายชีไม่มีใครรู้เรื่อง บางตอนหลวงพ่อฯ ท่านก็หันมาถามท่าน พล.อ.ท. ม.ร.ว. เสริม ศุขสวัสดิ์ ที่พวกเรามักจะเรียกท่านว่า "ท่านเจ้ากรมเสริม" หรือ "ลุงเสริม" นั่นแหละ

(ท่านที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน จะไม่มีวันทราบเลยว่าท่านเป็นนายทหารใหญ่ครองยศถึงพลอากาศโท และเป็นเชื้อพระวงศ์ถึงหม่อมราชวงศ์ เพราะท่านวางตัวเป็นกันเอง มีเมตตาต่อพวกเราทุกคนเหมือนลูกเหมือนหลาน ไม่ถือเนื้อถือตัว ให้เกียรติและยกย่องผู้อื่น ยิ่งท่านทำตัวเป็นกันเองกับพวกเราเท่าใด พวกเราก็ยิ่งให้ความเคารพท่านมากขึ้นเท่านั้น และยิ่งท่านทำตัวเล็กลงเท่าใด ก็ดูเหมือนตัวท่านจะยิ่งโตใหญ่ขึ้นๆ เป็นทวีคูณ ท่านผู้นี้หลวงพ่อฯ ว่าเป็นเพื่อนเคียงบ่าเคียงไหล่กับท่านมาทุกยุคทุกสมัย)

สมัยนั้นหลวงปู่ฯ ท่านกำลังหนีคนไปสร้างวัดใหม่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากวัดเดิมซึ่งเริ่มไม่สงบ ท่านเรียกว่า “วัดป่าดอนมูล” ผมเคยท้วงติงโดยถามท่านว่าด้านหลังวัดอยู่ติดลำห้วย มีป่าโปร่งๆ อยู่นิดหน่อยกระหรอมกระแหรม ไหงหลวงปู่ตั้งชื่อเสียน่ากลัวว่า "วัดป่า"

ท่านว่าป่าที่เอาเป็นชื่อวัดนั้นไม่ได้หมายความตามอย่างที่ผมเข้าใจ ท่านหมายถึงป่าช้าต่างหาก เพราะเดิมที่ตรงนั้นเป็นป่าช้า ไอ๊หยา! เป็นอันว่าที่ท่านตั้งชื่อว่า “ป่า” ไม่ใช่เพื่อเพิ่มความขลังให้กับสถานที่ แต่เพราะเดิมมันเป็นป่าช้า ได้ตัดคำว่า “ช้า” ออกไปเพราะเกรงว่ามันจะน่ากลัวเกินไปต่างหาก พอรู้แล้วผมก็หมดกังขาว่าเวลาวิกาล หลวงปู่ฯจะต้องได้ความสงบวิเวกอย่างเต็มที่เพราะท่านเข้าไปจำวัดอยู่ในป่าช้า คงไม่มีใครกล้าเข้าไปรบกวนหรอกครับ บรื๊อ...!

และแล้ววันหนึ่งกรรมของผมก็มาถึง จำไม่ได้ว่าหลวงพ่อใช้ให้ไปหาเรื่องอะไร ก็ไปกันหลายคนกับรุ่นน้องๆ นี่ละครับ สมัยนั้นกำลังหนุ่มแน่น (ผมนะหนุ่มใหญ่ แต่น้องๆ เพิ่งจะสอนขัน แต่เพราะเพิ่งจะสอนขันก็เลยอยากจะขันบ่อยๆ)

ดังนั้นแทนที่พวกเราจะรีบไปทำธุระให้หลวงพ่อ เจ้าลิงพวกนี้ก็เลยแวะโน่นแวะนี่ (ไม่เห็นเจ้าเห็นหลังคาบ้านเจ้าก็ชื่นใจแท้) เที่ยวกันจนดึกดื่น พอเลี้ยวควับเข้าเข้าไปที่วัดนอก (วัดดอนมูล) กะนอนที่วัดนอก ตายแล้วหลวงพี่ที่เราคุ้นเคยก็ไม่อยู่ หลวงปู่ก็ไปจำวัดอยู่ที่วัดป่า (ก็ที่ป่าช้านั่นแหละคุณ..!)



(หลวงปู่คำแสนนั่งบนเสลี่ยง โดยมีคณะศิษย์หลวงพ่อฯ
รวมทั้งท่านเจ้าอาวาสวัดท่าซุงองค์ปัจจุบันด้วย แห่รอบพระอุโบสถวัดท่าซุง)

ใครจะกล้าตามเข้าไป หือ..ทั้งเปลี่ยวทั้งน่ากลัว หนทางก็รกชัฎไม่มีบ้านคน หาข่าวได้มาเพิ่มเติมอีกว่า รุ่งขึ้นแต่เช้าหลวงปู่ก็จะไม่อยู่จะเข้ากรุงเทพฯ แต่เช้ามืด ทำอย่างไงดี

เอาละวา..สู้ตาย มากันหลายคนนี่หว่าจะไปกลัวอะไร เอ็ม ๑๖ ในรถก็มีหลายกระบอก ผมเป็นหัวหน้ารับผิดชอบอยู่แล้วใครๆ ก็เชื่อมือ หลับกรนคร่อกๆ กันทุกคน (ก็คงจะเพลียนั่นแหละ) ผมก็เลี้ยวซ้ายขวาด้วยความชำนาญ ในใจนึกดูหมิ่นว่าป่าขนาดแค่นี้จะมีอะไร ไม่พอมือพอขี้ยา ป่าดงดิบแถมยังเต็มไปด้วยกับระเบิดพ่อยังฝ่ามาเสียหลายสมรภูมิ ป่าใกล้ๆ แค่นี้ไม่พอมือพอตีนลูกช้างหรอก (ขี้โม้ประจำเลยผมนี่)

ผมขับอยู่นาน เอ๊ะ! ไหงมันนานนักไม่ถึงเสียที มันน่าจะถึงตั้งนานแล้วนี่นา??? ง่วงก็ง่วง รำคาญเสียงกรนก็รำคาญเพราะก็อยากจะนอนเต็มแก่เหมือนกัน แต่เอ๊ะๆ นั่นรอยรถบนถนนข้างหน้าทำไมมันถึงได้เหมือนกับล้อรถเราจัง จอดลงไปดูซะหน่อย ฮี่ธ่อก็จะไม่เหมือนได้ไง๊ ก็มันคือรอยล้อรถของเราเองไม่ใช่ของใครอื่น ตาย...หลงว่ะ หลงทาง รู้ไปถึงไหนอายตาย...

ดีแล้วที่พวกน้องๆ มันยังหลับไม่รู้ว่าเราพาหลงทาง จอดรถข้างทางคว้าปืนคว้าไฟฉายลงไปดูลู่ทาง มองไปแต่ไกลเห็นหลอดไฟแดงๆสูงระดับยอดตาลอยู่ ๒ หลอดไม่ไกลนัก เออค่อยยังชั่วน่าจะเป็นอะไรๆสักอย่างที่มนุษย์ทำขึ้นเพื่อล่อแมงดาหรือไล่ค้างคาวหรือนกกลางคืนอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าไปที่ตรงนั้นก็คงจะได้พบคนจะได้ถามทาง

กลับมาขึ้นรถอีกคราวนี้ไม่ไปตามทางแล้ว สังเกตเอาทิศจับเอาทางที่เห็นหลอดไฟแดงแล้วมุ่งตรงเข้าไปหา พอเข้าไปใกล้ เอ้า! ไฟหายไปอีกแล้ว ลงจากรถอีก ไฟฉายท่านก็ไม่เป็นใจเหลือไฟอยู่ริบหรี่ นี่ขนาดเป็นไฟฉายในรถของท่านนายพลเอกในอนาคตนะ (รถขอยืมไปจากท่าน พล.อ. ชวาล กาญจนกูล สมัยนั้นท่านยังเป็น พ.อ.) เดินย่องเข้าไปสำรวจเห็นลำตาลคู่ทะมึนอยู่ตรงหน้า

คะเนว่าต้องเป็นเสาที่เขาแขวนหลอดสีแดงที่เห็นมาก่อนหน้านั้น เดินเข้าไปจนห่างซักประมาณ ๕ วา เอาไฟฉายส่องดู ใจหายแว้บ!!! ไอ้เวร...ไม่ใช่ลำตาลนี่หว่า ดูๆ มันคล้ายกับหน้าแข้งคน ถอยห่างมาอีก ๕ ก้าว กลั้นใจส่องไฟฉายไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ โอ๊ย...กูว่าแล้ว เปรตโว๊ย..เปรต ยืนทะมึนนัยน์ตาแดงโร่คร่อมทางอยู่ตรงหน้า โกยแน่บกลับมาที่รถแหกปากร้องเรียกน้องๆ ให้ตื่น เปรตมันจะมาเหยียบกบาลพวกมึงแล้วไม่รู้หรือ..ชุลมุนกันไปหมด

พอมีสตินึกขึ้นมาได้ยกสองมือประนมขอให้พระช่วย แล้วตัดสินใจหันหัวรถเอาไฟรถส่องดู อ้าว...หายไปแล้ว เอ๊ะ! แล้วไอ้ตรงที่เห็นว่าเป็นขาของมันยืนคร่อมอยู่นั้น แต่ถัดออกไปหน่อยคือประตูเข้าวัดป่านั่นเอง รอดตายแล้วกู..กระทืบคันเร่งเลี้ยวควั๊บ..เข้าไปเลย จอดลงตรงหน้ากุฏิ

หลวงปู่ยืนยิ้มเผล่รอรับอยู่ที่ระเบียง ไอ้ทะโมนทั้งสี่ตัวเผ่นผลุงเข้าไปในกุฏิ จับกลุ่มนั่งกอดเข่าตัวสั่นงก ไม่พูดไม่จากว่าจะตั้งสติพอมีสตังค์ได้จึงหันไปกราบหลวงปู่ฯ ท่านทำหน้าตายถามว่าไปทำอะไรมา หนาวเหรอ ธ่อ...หลวงปู่ฯ นะหลวงปู่ฯ แกล้งทำเป็นมาถาม ไม่เห็นเร๊อะ..ขี้อยู่บนหัวขมองกันทุกคน

คราวนี้ต่างคนก็ต่างอ้อนซิ คนโน้นก็เห็นคนนี้ก็เห็น กูเห็นมึงเห็น เห็นกันทุกคน ชิงกันเล่าน้ำไหลไฟแล่บ หลวงปู่ก็เอาแต่หัวเราะหึๆ ไล่ให้พากันไปอาบน้ำ แต่แหม..ทีนี้หยุดเล่าเงียบกริ๊บ อิดๆ เอื้อนๆ กลัวหนาวกันไปหมดไม่มีใครยอมไปอาบน้ำ (กลัวหนาวนะครับไม่ใช่กลัวผี) แถมเมื่อไม่ยอมอาบน้ำอ้างว่าหนาวและง่วงนอน แต่เมื่อจะนอน หลวงปู่ฯยังต้องยอมตกลงให้ไอ้พวกลิงทะโมนนอนเบียดสุมหัวกันในกุฏิหลวงปู่ฯ ทุกคน

ภายหลังหลวงปู่ฯ ท่านก็เล่าให้หายสงสัยว่า ที่เห็นนั้นน่ะ..ไม่ใช่เปรต แต่เป็นยักษ์ที่เขารักษาสถานที่วัดป่าอยู่ เอาเถิดครับหลวงปู่ฯ ไม่ว่าจะเป็นเปรตหรือไม่เปรต ยังษ์หรือไม่ยักษ์ พวกผมก็ไม่อยากได้ไม่อยากเห็นทั้งสองอย่างนั่นแหละครับ โปรดเรียกให้เขาไปอยู่ที่อันควรส่วนของเขาเถิด

ในส่วนลึกของใจผมนั้นผมคิดเอาเองนะครับว่า หลวงปู่ฯจะต้องมีส่วนร่วมหรือรู้เห็นเป็นใจอย่างแน่นอน บางทีอาจจะเป็น “ตัวการ” ทีเดียวแหละที่ส่ง “คุณตาแดง” ตนนั้นออกไปดัดสันดานพวกผมที่อยากเอาแต่เที่ยวเอาแต่เถลไถลจนเกือบจะเสียงานของหลวงพ่อฯเป็นแน่

เรื่องที่พวกเราเห็นนี้ หลวงปู่ฯ ท่านเตือนผมหลายครั้งหลายหน ห้ามไม่ให้เล่าให้ใครฟัง ท่านว่าเขาไม่เชื่อเราเขาจะหาว่าเราบ้า แต่ผมก็อดไม่ได้แอบเล่าให้พวกกันจริงๆ ฟังไปหลายคน โดยได้พยายามเลือกคนที่จะฟังเลือกแล้วเลือกอีก กลัวเขาจะหาว่าบ้าน่ะซิครับ !! (แค่ไม่ได้เล่าเรื่องนี้ พวกเขาก็ว่าอย่างนั้นอยู่แล้ว ก็ว่าบ้านะซีครับ..
ถามได้)




หลวงปู่คำแสน คุณาลังกาโร
(วัดป่าดอนมูล อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่)


นามเดิม - คำแสน เพ็งทัน เป็นบุตรของนายเป็งและนางจันทร์ตา เพ็งทัน

เกิด - วันอังคารที่ ๓o เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๖ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ เหนือ ปีมะเมีย ที่บ้านสันโค้งใหม่ ตำบลทรายมูล อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

บรรพชา - เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ อายุ ๑๗ ปี ที่วัดดอนมูล มีครูบาโพธิ วัดสันโค้ง เป็นพระอุปัชฌาย์

อุปสมบท - เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ณ วัดดอนมูล โดยมีครูบาโพธิ วัดสันโค้ง เป็นพระอุปัชฌาย์ ครูบาพิมพิสาร วัดแช่ช้าง เป็นพระกรรมวาจาจารย์

อุปนิสัย - หลวงปู่คำแสนมีอุปนิสัยเยือกเย็น อ่อนโยน ยิ้มแย้มแจ่มใส ผู้ที่ได้รับฟังธรรมจากท่านแล้วก็หายทุกข์โศก ท่านได้เสริมสร้างคุณงานความดีทั้งที่เป็นอัตประโยชน์ และปรหิตประโยชน์ไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นอเนกประการ

มรณภาพ - วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ เวลา ๑๐.๑๒ น. สิริรวมอายุได้ ๘๖ ปี พรรษา ๖๔


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 15/1/09 at 20:39 [ QUOTE ]


จากหนังสือล่าพระอาจารย์

ผู้ลอกเทป - ป่อง โกษา (พลอากาศโท ม.ร.ว.เสริม ศุขสวัสดิ์)


........วันที่ ๒๘ มกราคม เริ่มต้นด้วยการไปนมัสการหลวงปู่คำแสนเป็นวาระแรก หลวงปู่องค์นี้ความจริง ว่า จะนมัสการท่านเมื่อครั้งมานมัสการครั้งที่ ๑ แต่ว่าตารางกำหนดเวลากระชั้นเกินไป เลยต้องข้ามรายการนี้ พึ่งจะมาได้ฤกษ์ในคราวนี้แหละ ต่อไปเป็นการสนทนาถอดจากเทป และแปลงเป็นภาษาไทยกลางแล้วละ

หลวงปู่คำแสน (ค) : ตอนนี้มันป่วย จิตใจก็ไม่ค่อยดีจวนจะไปอยู่โรงพยาบาลอยู่แล้วละ
หลวงพ่อฤาษี (ฤ) : เป็นยังไงครับหลวงพ่อ
ค. : มันป่วยทางแข้งทางขา จะไปเจาะไปผ่าหมอเขาบอก ใจมันก็ไม่ค่อยสนุก เขานิมนต์ไปนั่นไปนี่ มันก็ไม่ค่อยได้ไป
ฤ. : ตัวป่วย ใจป่วยด้วยหรือเปล่าครับ?
ค. : ฮึ กายป่วย ใจก็ป่วยด้วย
ฤ. : (หัวเราะ) ฮึฮึ
ค. : กายไม่ดี จิตใจมันก็ไม่ค่อยดี บางทีก็ดีอยู่ พิจารณามันอยู่
ฤ. : แล้วยังนึกว่าร่างกายเป็นเรา เป็นของเราหรือเปล่าครับ
ค. : อือ อือ อือ ไม่เป็นหรอก มันเป็นธรรมชาติ ธรรมดาของมัน อาศัยมันอยู่
ฤ. : ครับ ๆ ๆ ๆ ร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา อาศัยมันอยู่ เวลามันจะพัง ก็ซ่อมมัน
ค. : ก็ซ่อมมัน
ฤ. : ถ้าซ่อมไม่ไหว เอาไฟเผาเลยซิครับ
ค. : ไฟเผามันก็เป็นเศษไปซิ (เสียงหัวเราะ)
ฤ. : ดีใจครับมาพบหลวงพ่อวันนี้ ติดตามาหลายวันแล้วครับ ก่อนก็มา ไม่มีโอกาส
ค. : ฮือ หลวงพ่อได้ยินข่าวมาครั้งหนึ่ง มาหาหลวงปู่แหวนหรือไงนี่
ฤ. : ครับ ๆ จะมาที่นี่เหมือนกัน ไม่มีเวลา
ค. : เวลาคราวนั้นหลวงปู่ก็ไม่อยู่ ไปเชียงราย (ยังงี้แทบทุกที พวกศิษย์เขาก็ว่าหลวงพ่อรู้ละมั้งว่าไปหาก็ไม่พบ เลยสั่งให้เลยไปเสียเฉย ๆ)
ฤ. : ไปถามหลวงพ่อสิมว่าหลวงปู่อยู่ไหม หลวงปู่แข็งแรงรึ หลวงพ่อสิมบอกว่า หลวงปู่ยังแข็งแรงครับ
ค. : อ้าว แข็งแรง ! ก็ขามันเสีย
ฤ. : ไม่ใช่ เห็นหลวงปู่แหวนท่านไม่ค่อยจะไหว
อ. : เออ นั่นเขาคนขี้โรค
ฤ. : ถามว่าหลวงปู่แข็งแรงดีหรือ บอกว่าหลวงปู่ยังแข็งแรงดีอยู่ครับ หายากครับ เวลานี้ ที่หายากก็ เพราะเขาติดกระดาษกันเสียหมด (คือกระดาษที่เป็นแบงค์) (เสียงหัวเราะ) พวกนี้เขาเบื่อพระติดกระดาษครับ หลวงปู่มาก็ไม่ติดขันธ์

ค. : ก็ติดกระดาษเสียก่อนเน้อ (เสียงหัวเราะ)
ฤ. : อ้าว ก็ธรรมดาครับ ตอนแรก ถ้าไม่เห็นโทษของกระดาษ มันก็ละไม่ได้
ค. : อือ อาศัยกระดาษ อาศัยละกระดาษ
ฤ. : ครับ ๆ ถ้าเราไม่มีกระดาษ เราก็ไม่รู้กระดาษมันดีหรือไม่ดี
ค. : เอ เวลาหยิบใบลานหรือกระดาษในแสนใบล้าน มันเป็นธรรมชาติ เรื่องนี้เป็นเรื่องของโลก ผู้ใดทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่วนะ
ฤ. : ครับ ๆ
ค. : เออ ปฏิบัติจนจบศาสนาแล้ว ธรรมก็มีในเรานี่ ศีลก็มีในเรานี่ ภาวนาก็มีในเรานี่ พระพุทธ พระธรรมก็มีในเรานี่นะ
ฤ. : ครับ ๆ
ค. : เออ มีในเรานี่หมดแหละ ไปเอาที่ไหนอื่นไม่ได้หรอก จะอยู่กับกระดาษ อยู่กับใบลานได้ไง
ฤ. : (หัวเราะ) ธรรมอยู่ที่ใบลาน อยู่ที่กระดาษเจ๊งเลย
ค. : เออ
ฤ. : แหม ดีใจครับ พระสายเหนือนี่ยังมีสุปฏิปันโน สำหรับไหว้อยู่หลายองค์ ชื่นใจ
ค. : ฮือ (หัวเราะ)

(บริษัท - รู้สึกว่าท่านยิ้มเก่ง..หัวเราะเก่ง..น่ารัก)

ฤ. : ตะกี้เลยขโมยไปชมกุฏิหลวงปู่ข้างในครับ
ค. : เออ..ที่นั่นมันแคบ อยู่องค์เดียวก็ทำเล็ก ๆ อยู่
ฤ. : ครับ ๆ สงัดดีครับ
ค. : เออ..คนแก่ก็งั้นแหละ อยู่ไกลไม่ได้ จะหากินอาหารไว้ใส่ปากใส่ท้องมันลำบาก
ฤ. : แต่ว่ากลางคืนสงัดดีนะครับ กลางวันก็รู้สึกว่าจะไม่มีใคร
อ. : อากาศดี อ้อ มาจากกรุงเทพฯ รึ?
ฤ. : กรุงเทพฯ ครับ
ค. : มานอนพักอยู่ไหนล่ะ
ฤ. : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครับ บ้านอาจารย์ปริญญา
ค. : ดร.ปริญญาหรือ เคยไปสวดมนต์ให้เขา ให้หลวงปู่ขึ้นไปพรมน้ำมนต์ข้างบน
ฤ. : หลวงปู่แก่แล้ว ให้ไปพรมน้ำมนต์ก็แย่
ค. : สวดกับหลวงพ่อสิม ๒ คน ประน้ำมนต์ทั้งข้างล่างข้างบนอ้า (เสียงหัวเราะ)
ฤ. : ไอ้พวกนี้มันแกล้งพระแก่
ค. : ฮือ แก่ยิ่งใช้ใหญ่
ฤ. : จะว่าเขาก็ไม่ได้ ยังงี้ เขาเรียกว่าของเก่า (เสียงหัวเราะ)
ค. : เขาว่าของเก่าดีหรือ
ฤ. : ครับ ๆ เราเก่าละลูกศิษย์แย่ เขาบอกว่าเก่าเขายิ่งใช้ใหญ่
ค. : ส่วนมากเขาหาของเก่าน่ะ ของใหม่เขาก็ไม่ชอบ ก็เป็นธรรมชาติของเขา
ฤ. : จะไปว่าเขาก็ไม่ได้
ค. : หลวงพ่อสิม อาจารย์บัวว่า เอ เขาจะตายแล้ว เขาจะใช้จนตายละ
ฤ. : เวลามันใกล้ตาย ถ้าเขาไม่ใช้เขาไม่มีโอกาสจะใช้ เพราะตายเสียแล้ว
ค. : อื่อ มันธรรมดา
ฤ. : เมื่อก่อนเคยพบพระ ท่านแก่จะเข้าป่าช้าแล้ว เขาก็นิมนต์ทาน นิมนต์ท่าน ท่านก็ไปไม่ไหว กลับมานอน บอก เออ เมื่อหนุ่ม ๆ จะให้นิมนต์ก็ไม่นิมนต์ แก่จะตายห่าแล้วมานิมนต์ ไม่ไปมันก็ไม่ยอม ก็เลยบอก หลวงปู่เดี๋ยวนี้เขาเล่นของเก่ากัน ก็ตอบ เออ จริงวะตอนหนุ่ม ๆ กำลังบ้ามาก มันก็เลยไม่เอา

ค. : ตอนหนุ่ม ๆ บ้าอยู่นะ
ฤ. : ครับ ๆ ตอนหนุ่ม ๆ มันติดกระดาษนี่ครับ ไอ้เจ้าของบ้านก็ติดกระดาษ กระดาษเขามีแล้วเขาก็เลยไม่เอา แหมที่นี่ก็เงียบ วัดนี้สร้างนานแล้วหรือยังครับ
ค. : นานครับ กว่า ๑๐๐ ปี
ฤ. : ก่อนหน้าหลวงปู่มา?
ค. : อือ องค์ที่เป็นช่างก็เสียชีวิตเสียแล้ว มรณะไป เดิม อยู่ไหน ?
ฤ. : อ้า...กระผมอยู่วัดบางนมโค อยุธยา ครับ เดิมน่ะบ้านนอก แล้วเข้ากรุงเทพฯ เดี๋ยวนี้ออกมาบ้านนอกอีกครับ จังหวัดอุทัย ในกรุงเทพมันดีมากไป เลยอยู่ไม่ไหว
ค. : อือ..มันดีเหลือเกินไป
ฤ. : ครับ..ดีเหลือเกินไป ดีเกินดี อยู่ข้างนอกสงัดกว่า
อ. : อาหารการกินก็กินง่าย กินผัก กินทั้งนั้น
ฤ. : ก็กินเท่าไรก็แก่ กินเท่าไรก็ป่วย กินเท่าไรก็ตาย อาหารแบบไหนกินแล้วก็มีค่าเท่ากัน
ค. : เออ
ฤ. : กินเพื่อตาย ไม่ใช่กินเพื่ออยู่ ใช่ไหมครับหลวงปู่
ค. : เออ กินแล้วก็ตายทั้งนั้น มันจะเที่ยงอะไรธรรมชาติมันเป็นยังงั้น ทำไปปฏิบัติไป ทำเงินก็เอาไปไม่ได้ เงินหมื่น ก็เอาไปไม่ได้ เงินแสนก็เอาไปไม่ได้ มันของโลก
ฤ. : เป็นของโลก เอาเขาไปได้ที่ไหน
ค. : อือ เป็นของโลก เอาเขาไปไม่ได้ รูปร่าง ร่างกายเอาไปไม่ได้ อาศัยปฏิบัติทำบุญทำกุศลให้ได้มรรคนิพพานดีกว่านะ
ฤ. : เอ..ทำไงจะได้มรรคผลนิพพานล่ะครับ หลวงปู่
ค. : ทำไปซี ปฏิบัติทางจิตให้มันไม่ดีน่ะ
ฤ. : เอ..เดี๋ยว ๆ ๆ ทำให้ใจมันไม่ดี?
ค. : อือ..ทำให้ใจมันไม่ดี ใจมันไม่ดี จิตมันไม่ดี
ฤ. : เอ๊ะ !
ค. : ทำให้มันดี
ฤ. : อ๋อ งั้นหรอกหรือครับ คิดว่าทำให้ใจมันไม่ดี ไอ้ทำใจให้ดี ทำไงมันจะดีได้ล่ะครับ?
ค. : สมาธิ อย่างพระคุณเจ้า...
ฤ. : อย่างชาวบ้านล่ะครับ?
ค. : โอ๊ะ..มันยากอยู่ ดีนิด ๆ หน่อย ๆ ก็ดีอยู่ ดีไม่มากหรอก
ฤ. : ถ้าหากวันละนิด ๆ ก็เต็มได้
ค. : เออ..เต็มได้ อย่างฝนตกใส่ตุ่ม ตกเรื่อยไป มันก็เต็ม ก็พระพุทธเจ้า พระอริยเจ้าก็ทำอย่างนี้ละ ท่านก็เป็นปุถุชนมาก่อนเหมือนกันนี่ มีกิเลสเหมือนกันนี่
ฤ. : เอ๊ะ...นี่พระพุทธเจ้าเกิดไหมมีกิเลสไหมครับ?
ค. : พระอริยเจ้าเขามีกิเลส เขาก็ละกิเลส พวกเราก็อย่างเดียวกัน
ฤ. : ถ้างั้นก็กินข้าวเหมือนกัน มีกิเลสเหมือนกัน
ค. : กินข้าวเหมือนกัน ทำการทำงานเหมือนกัน หาอาชีพเหมือนกัน
ฤ. : ถ้างั้นเราก็ทำได้เหมือนกัน
ค. : ทำได้เหมือน แต่ทำแต่ที่ชอบ
ฤ. : ถ้าเราทำเหมือนเขา?
ค. : ทำเหมือนเขา จะได้ดีเหมือนเขา
ฤ. : ทีนี้มันเกิดไม่ทันกันซีครับ ไม่ทราบเขาทำยังไง หลวงปู่ทราบไหมครับ ทำยังไงถึงเป็นพระอริยเจ้ากันได้?
ค. : เขาทำดี เขาทำจริง ๆ
ฤ. : วิธีทำจริง ๆ ทำไงครับ?
ค. : ก็ต้องปฏิบัติตาม กำหนดจิต กำหนดตัดสังโยชน์ให้ได้ โสดา สกิทา อนาคา
ฤ. : อีตอนที่จะได้โสดาทำไงครับ?
ค. : ละกิเลสเสียซี (เสียงฮา)
ฤ. : อันนี้ เพื่อชาวบ้านนะครับ ชาวบ้านเขาจะได้เข้าใจว่าวิธีที่จะทำให้ถึงพระโสดาบัน เอาเฉพาะโสดาบัน ปฏิบัติยังไงจะง่ายที่สุด เอาง่าย ๆ ย่อ ๆ อย่างชาวบ้านนะครับ พวกเรามันมีเวลานะครับ ชาวบ้านเขาต้องทำมาหากิน ทำไงครับ หลวงปู่จะเหนื่อยกระมังครับ ไอ้พวกนี้ คุยธรรมะแล้วมันชอบฟังครับ ไม่ชอบดูหนังกันหรอก (เสียงหัวเราะ)

ค. : ทำนิด ๆ พอมีความสุข มีความเพียร มีความอดทน ตามคำสั่งสอนพระพุทธเจ้า ทำอย่าให้ขาด
ฤ. : เอาจุดสั้น ๆ ครับ ถ้าหวังจะได้พระโสดาบัน จุดง่ายที่สุด ทำไงจะดี
ค. : หลวงปู่ก็รู้แล้ว ถามหลวงปู่ซี (เสียงฮา) เขาหมู่นี้ก็รู้กันแล้ว

(อ้าว..! หมายจะไล่ว่าโสดาน่ะ ท่านเป็นหรือยัง กลับย้อนเอาเสียได้ว่าหลวงพ่อก็รู้แล้ว พวกเราก็รู้แล้วเสียอีกน่ะ)

ฤ. : รู้แล้วหรือครับ?
ค. : รู้แล้ว
ฤ. : ก็..เพื่อความมั่นใจ ขาวแล้ว ก็ขัดให้เป็นเงาขึ้นครับ แหมเจอะพระฉลาดก็หนักใจ
ค. : หนักใจเรอะ?
ฤ. : เจอะพระโง่สบายใจ พระฉลาดนี่หนักใจครับ นี่ซี เขาเรียกสุปฏิปันโน
ค. : ก็สุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโน ก็หลัก ๔ หลัก ปฏิบัติเอาซี ก็พระอริยเข้าก็เหนือนี่ไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็เหนือนี่ไม่ได้ สุปฏิปันโน ปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ อุชุปฏิปันโน ให้ซื่อ ซื่อด้วยกาย ซื่อด้วยวาจา ซื่อด้วยใจ คนอื่นทำแทนไม่ได้นะ เอ้อ..ทำแทนกันไม่ได้ มรรค ผล นิพพาน เป็นธรรมอันเดียว

ฤ. : คือว่าของใครของมัน
ค. : ของใครของมัน ความมีศีล ก็บริสุทธิ์คนเดียว
ฤ. : เป็นปัจจัตตังนะครับ
ค. : เป็นปัจจัตตัง เฉพาะคน
ฤ. : ใครทำ ใครได้
ค. : เออ
ฤ. : ทีนี้หลวงปู่ได้แล้วหลวงปู่รู้แล้วนี่ หลวงปู่แจกชาวบ้านเขาบ้างซีครับ
ค. : ก็แจกอยู่นี่ แจกแล้ว จะเอามาก จะเอาไปถึงไหนล่ะ (เสียงฮา)
ฤ. : เอานิพพานครับ
ค. : อันนี้ก็จะหาย อันนั้นก็จะหาย
ฤ. : ไม่ใช่ ได้มาก ๆ กันรั่วครับ รั่วนิดหน่อย จะได้เหลือพอใช้ อันนี้ชื่นใจ
ค. : รู้มาก ยากนาน รู้น้อยก็พลอยรำคาญ (เสียงฮา) แหม ชอบใจหลวงปู่ ยังงี้ดี
ค. : คุยกับหลวงปู่ก็สนุก (เสียงฮา) คล้าย ๆ มาเห็นกันเดี๋ยวเดียว ก็...

(ป่องรู้สึกว่า พระที่ไปนมัสการก็มักใช้คำอย่างนี้แหละครับ หลวงปู่มา ก็หลวงปู่ไป อาจารย์มาก ก็อาจารย์ไป หลวงพ่อมา ก็หลวงพ่อไป)

ฤ. : เห็นแล้วก็คล้าย ๆ รู้จักกันหลายแสนชาติครับ
ค. : คงจะเป็นนิสัย พบเจอกันมาหลายภพหลายชาติแล้ว (เสียงหัวเราะ)
ฤ. : คงจะเคยทะเลาะกันนะครับ (เสียงฮา) คนอื่นเขามาหาใหม่ ๆ เขาไม่คุยแบบนี้หรอกครับ มาทำตุ๋ม ๆ ติ๋ม ๆ กันส่วนมากพวกนี้ เขาเรียกพวกหนุมานครับ หลวงปู่ครับ คณะนี้เขาเรียกคณะหนุมานครับ ไปไหนไม่เงียบ (เสียงหัวเราะ)

ค. : ดี คนชอบธรรม ชอบธรรมะ ชอบพระสงฆ์ดี ชอบที่อื่นไม่ดีหรอก
ฤ. : งั้นหรือครับ
ค. : เออ..ชอบอื่นไม่ดี ชอบธรรมะดี
ฤ. : หลวงปู่เป็นพระสงฆ์หรือเปล่าครับ?
ค. : เป็นพระสงฆ์
ฤ. : เป็นแล้วนะครับ?
ค. : อือ
ฤ. : ใช้ได้

(เสียงฮา... หลวงปู่เสียท่า คำจำกัดความของ "พระสงฆ์" ป่องบอกไว้แล้วตอนต้นไงครับ)

ฤ. : นี่ผมจะขอความกรุณาหลวงปู่สักหน่อยเถอะครับ หลวงปู่ครับ เดือนสิงหาคม วันที่ ๙ กับวันที่ ๑๐ จะยกช่องฟ้าอุโบสถ แล้วก็จะหล่อรูปหลวงพ่อปาน แล้วบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จะอาราธนาหลวงปู่ไปสงเคราะห์ ไปนั่งเฉย ๆ ครับ ไม่ให้สวดมนต์ ไม่ให้ทำอะไรหมด ใช้ใจได้ ฉันข้าวได้ พูดได้ ใช้เมตตาจิตเฉย ๆ จะพอสงเคราะห์ได้ไหม
ค. : ที่ไหนล่ะ?
ฤ. : จังหวัดอุทัยธานีครับ จะให้เขาเอารถมารับ
ค. : ไอ้ขามันไปไม่ได้
ฤ. : ไม่เป็นไรครับ รถมีครับ
ค. : รถมี มันไม่สบายล่ะ
ฤ. : ถ้าหากว่ามันสบายวันนั้น (เสียงหัวเราะ) ถ้าวันใกล้ ๆ มันสบาย ผมว่าหลวงปู่สบาย วันนั้นเอางี้แล้วกันครับ ถ้าหากว่าร่างกายพอจะไปไหวนะครับ ไม่ต้องสวดมนต์นะครับ ไม่ต้องทำอะไรหมด ให้นั่งอยู่แบบสบาย ขอเมตตาจิตสงเคราะห์
ค. : เออ.. ไปพรมน้ำมนต์ ไปนั่งปลุกเสกอยู่นั่น?
ฤ. : ไม่พรมหรอกครับ น้ำมนต์ก็ไม่ให้พรม ใช้ใจอย่างเดียว
ค. : อือ
ฤ. : ปลุกเสกก็ไม่ต้องครับ
ค. : ไปนั่งภาวนา?
ฤ. : ภาวนาหรือไม่ภาวนาก็ไม่ว่า นั่งเฉย ๆ (เสียงหัวเราะ)
อ. : เฉย ๆ ก็เป่า ๆ ได้
ฤ. : ครับ ก็นั่งนึก ๆ ใครมาก็คุยไป หมายความว่าต้องการพระประเภทสุปฏิปันโนให้ประชาชนที่มีความเข้าใจถึงพระศาสนา เวลานี้นะครับ เพราะภาคกลางเราหาไม่ค่อยได้
ค. : โฮ้ย ! ทางกรุงเทพฯ ก็ถมไป พระน่ะ
ฤ. : ขี้เกียจครับ มันเดินขบวนกันเก่งครับ (เสียงฮา) ประเดี๋ยวไหว้เข้า พวกนี้ไปเดินขบวนกันอีกครับ
ค. : ก็พระเดินขบวนมันเก่งดีนี่ (เสียงฮา)
ฤ. : มันเก่งมากเกินไป ไอ้นั่นเขาเดินขบวนไปนรกครับ
อ. : ฮึ
ฤ. : หลวงปู่เดินขบวนไปนิพพาน เขาต้องการอย่างนี้ครับ
ค. : เออ..เดี๋ยวเดินขบวน
ฤ. : เอางี้ครับ หลวงปู่ครับ ถ้าหากว่าขันธ์ ๕ พอจะไปไหวนะครับ อยากจะให้พวกกรุงเทพฯ ก็มี พวกต่างจังหวัดก็มี ผมบอกเขาไว้แล้ว ว่า จะหาพระสุปฏิปันโนไปอยู่สำหรับไหว้เฉยๆ สวดมนต์ก็ไม่ให้ทำนะครับ อะไรก็ไม่ทำ นั่งสงเคราะห์แต่จิตเท่านั้น
ค. : อือ
ฤ. : ถ้าเขาจะถามปัญหาธรรมะ เรียกว่าถ้าควรก็ตอบ ไม่ควรก็ไม่เอา พวกเกะกะไม่เอานะครับ
ค. : อือ
ฤ. : คนที่เข้าถึงธรรมมีอยู่ แต่ว่าพระที่จะพอมีธรรมแจกจ่ายไม่ค่อยจะมีนัก คือว่าเขามายกมือไหว้ด้วยจิตเคารพ ผมว่า มันก็ประโยชน์เยอะแล้ว ใช่ไหมครับ ก็บวชมา สุปฏิปันโนนี่ ในฐานะที่เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้แจกจ่ายธรรม ก็ต้องเอาธรรมไปแจก ม่ายงั้น พระพุทธเจ้าจะหาว่าอกตัญญูไม่รู้คุณครับ (เสียงฮา)

ค. : แหม..คุยดี (เสียงฮา)
ฤ. : ไม่ใช่ครับ มาเจอะของดี ก็เอาของดีไปใช้ อุตส่าห์บุกเบิกมามันตั้งหลายร้อยกิโลคราวก่อน ตั้งใจจะมาให้ถึง แต่บังเอิญเวลามันจำกัดนะครับ คราวนี้ยังมีอีกครับ ราว ๆ มีนานี่บริษัทจะมาอีก ห้องนี้น่ากลัวไม่พอ คือว่าเขาอยากจะรู้ว่าพระที่ไหนพอจะสักการบูชา ในกรุงเทพฯ น่ะ ยศฐาบรรดาศักดิ์มีเยอะครับ นะครับ
อ. : ฮือ ๆ
ฤ. : เขาไหว้พระมียศกันมาเยอะแล้ว ตานี้ก็อยากจะไหว้พระมีธรรม ที่นั่นก็ประกาศเขาไว้แล้วว่า จะพยายามหาพระที่เป็นสุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโนนะครับ เอาไปให้เป็นที่สักการะ แต่พระประเภทนี้ ไม่ให้ขึ้นธรรมาสน์เทศน์ ไม่ให้สวดมนต์ เพราะเกรงจะเหนื่อย ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรมากนัก มันเป็นพิธีกรรมนะครับ
ค. : ฮือ
ฤ. : ถ้าเขาจะไหว้สักการะก็เป็นเรื่องของเขา
ค. : อือม์
ฤ. : ไหว้ครั้งหนึ่งก็ดีกว่าไหว้พระติดกระดาษพันครั้ง ผมว่ายังงั้นนะครับ
ค. : ฮือ เป่าหัวมันก็จั้กกะจี้
(เสียงฮา)
ฤ. : อ้า... ไม่ต้องเป่าครับ เอาใจนึกเป่า แหม ภาคเหนือนี่ ยังดีอยู่เยอะ ผมนอนฝันไป ฝันไปว่าพระภาคเหนือนี่ ยังมีเป็นสุปฏิปันโนตลอดมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ไม่ขาดสาย ก็เลยพาลูกศิษย์หามา บอกว่าเราไปหาพระสุปฏิปันโดนกันดีกว่า

(คำว่า "ฝันไป" นี่ป่องสงสัยว่าจะเป็นโค้ดใช้แทนคำว่ารู้ด้วยญานหรือมีเทวดามาบอกเสียงกระมัง)

ค. : อือ
ฤ. : ไอ้พระกระดาษปฏิปันโนน่ะเยอะ (เสียงหัวเราะ) กระดาษไปกระดาษมา เดี๋ยวเดินขบวนซะแล้ว (เสียงฮา) มันค้างกระดาษจัด ดีไม่ดี ไปนั่งวิปัสสนาอยู่โคนอโศก ไม่ใช่ไปนั่งให้หมดโศก ไปนั่งเพิ่มโศก
ค. : อดข้าว
ฤ. : มันไม่อดจริงน่ะซีครับ ถ้าอดจริง เราจะหากินได้คล่องกว่านั่น
ค. : อดด้วยธรรมะมันดี
ฤ. : ครับ ๆ ไอ้นี่มันอดด้วยธรรม มันพาชาวบ้านไปนรก
ค. : ฮื่อ
ฤ. : ก็เป็นอันว่าตอนนั้น ถ้าหลวงปู่ร่างกายพอไปได้ ก็ขอความกรุณานะครับ
ค. : ฮือ
ฤ. : เอางั้นครับ เรื่องขันธ์ ๕ นี่ เรียกว่าเราบังคับมันไม่ได้
ค. : บังคับไม่ได้ มันจะมาเวลาไหนก็เป็นธรรมดาของมัน เวลาไปได้ก็จะไปหาเมตตาอารีของหลวงปู่นะ เวลาไปไม่ได้ ก็อนุญาตกัน
ฤ. : ครับ ๆ อันนี้ทราบอยู่ครับ กระผมเองก็เหมือนกันครับ ไม่ใช่ว่าใครนิมนต์แล้วรับทุกราย เหมือนกันครับ...ถือว่า ถ้าไปไม่ได้นะครับ ผมเข้าใจว่าสมเด็จท่านคงกรุณา (เสียงฮา)
อ. : เอาไปล่ำไปลือกันในเชียงใหม่
ฤ. : ดีครับ แหม..ได้เจอหลวงปู่แล้วชื่นใจ นี่เขากลับไปกรุงเทพฯ พวกฟังบันทึกเสียงแล้วอิจฉาครับ พวกที่ไม่ได้มานี่ แล้วก็จะมากันอีก เป็นบุญจริง ๆ ครับ
ค. : ไปหาหลวงปู่แหวนมาแล้วรึ
ฤ. : เที่ยวนี้ยังครับ เที่ยวที่แล้วไปมาแล้ว
ค. : ไปแล้ว? แล้วเดี๋ยวนี่จะไปไหน?
ฤ. : จะไปพระธาตุหริภุญไชยครับ แล้วก็บางทีถ้ามีเวลาก็จะไปหาหลวงปู่แหวนครับ คราวก่อนนี้ท่านกำลังเป็นไข้หนัก สู้อุตส่าห์ออกมารับ ท่านดีเหลือเกิน ท่านก็เป็นสุปฏิปันโน
ค. : อือ..ท่านก็เป็นเพื่อนเดียวกัน
ฤ. : งั้นหรือครับ
อ. : ก่อนไปอยู่จำพรรษาด้วยกัน อยู่ที่วัดป่าหลวงปู่มั่น หลวงปู่ตื้อ หลวงปู่แหวน พวกนี้แหละ เวลามาครั้งแรก หลวงปู่คำแสนก็ยังหนุ่มอยู่ ยังเดินเก่ง เดี๋ยวนี้มันเดินไม่ได้ ขาหักแขนหักไปแล้ว ตาก็บอด หูก็หนวก ไปไม่ได้
ฤ. : ใครครับ?
ค. : ก็พ่อเฒ่านี่แหละ หูตาแขนขามันเสีย มันเดินไม่ได้
ฤ. : ดีครับ ไม่ลงนรก ถ้าตาดี หูดี ใจดี ขาดี แขนดี มันลงนรก ตาเสีย เห็นโลกนี้มันพังหมดทั้งโลก หูเสีย เห็นเสียงนี่เป็นอนัตตา ใช่ไหม?
ค. : ใช่
ฤ. : ไอ้ขาเสียก็ เอ๊อ..ประโยชน์ทางเนื้อหนังมันไม่มี ไอ้แขนเสียก็แขนนี้ เป็นเพียงธาตุ น้ำ ดิน ลม ไฟ ใช้อะไรไม่ได้ ตายแล้วไปนิพพานส่งนะครับ อันนี้ดีครับ ไอ้คำว่าหูเสีย ตาเสีย ขาเสีย เรามันหายาก โดยมากมีแต่ตาดี หูดี ขาดี แขนดี ไอ้ของมันเสียเห็นว่าดี นี่มันผิด ใช่ไหมครับ หลวงปู่มีของอื่นเสียหมดแล้ว ทั้งหมดเสียหมด ใจมันก็ดีใช่ไหมครับ
ค. : ฮื่อ
ฤ. : เขาต้องการไหว้ใจ ดีครับ อันนี้ ทายาทที่พอจะรักษาสมบัติอันนี้ของหลวงปู่ไว้ได้ มีไหมครับ?
ค. : มี
ฤ. : พระที่ปฏิบัติตาม?
ค. : ก็มีอยู่
ฤ. : แหม ดีใจครับ
ค. : สืบอายุศาสนา ถ้ามีพระปฏิบัติ ศาสนาตายยากนะ เวลามีพระปฏิบัติ ศาสนาอยู่ พระศาสนามีลมหายใจอยู่
ฤ. : ครับ
ค. : พระปฏิบัติดี ไม่มีอยู่ ศาสนาก็ตายแล้ว
ฤ. : ครับ ๆ นี่ผมถามว่าลูกศิษย์หลวงปู่อยู่ที่นี่
ค. : นี่ก็มีอยู่
ฤ. : อ้อ..ดีครับ มีทายาท อันนี้สำคัญครับ ไม่ขาดสายจากทางภาคเหนือ ภาคเหนือเขาไม่ขาดสายจริง ๆ อันนี้แหละครับ เป็นบุญใหญ่
ค. : เออ เป็นบุญใหญ่ ของปูชนียสถานก็มีมาก เชียงใหม่นี่นะ
ฤ. : ครับ ๆ
ค. : ของเก่า ของแก่ ของบรมโบราณ
ฤ. : ครับ..เขารักษาไว้ได้ดี
ค. : เขารักษาไว้ เอาไว้เป็นที่สักการบูชาของประชาชนในภายหน้านะ หลวงปู่ก็ปฏิบัติมาตั้งแต่อายุ ๒๕ ปี จนอายุได้ ๘๒ ปี บวช ๖ เดือนถึงเดินในป่ากับหลวงปู่แหวน หลวงปู่ตื้อ หลวงปู่มั่น ชักชวนกันไป ติดตามกันไป
ฤ. : หลวงปู่นี่ คงจะถึงที่สุดของทุกข์หลายปีแล้วซีครับ?
ค. : ฮื้อ...
ปริญญา : หลวงปู่ตื้อเคยมาคุยกับหลวงปู่บ้างหรือเปล่าครับนี่
ค. : โอ๊ะ ก็ที่นอนที่อยู่ท่านก็วัดนี้ หลวงปู่ตื้อนะ
ปริญญา : อ้า...วันสองวันนี้นะครับ
ค. : เอ๊อ วัดนี้ของหลวงปู่ตื้ออยู่ชั้นแรก ศาลาหลังเก่าน่ะ นอนอยู่ที่นี่แหละ เทศน์อยู่ที่นี่แหละ หลวงปู่ตื้อ
ปริญญา : แล้วเดี๋ยวนี้ยังมาอยู่หรือเปล่าครับ?

(ท่านคงจำได้นะครับ ว่า ตอนนี้หลวงปู่ท่านมรณภาพไปแล้ว)

ค. : มาอยู่ โน่น..อยู่พรหมโลกโน่น ยังไม่ไปนิพพานเลย เขายังมาอยู่
ฤ. : มาหรือครับ?
ค. : มา
ฤ. : มาทำไม
ค. : มาเยี่ยม...ตาทิพย์
ฤ. : ดีมาก หลวงปู่ตื้อนี่ดีมาก นักเลงดีครับ พูดตรงไปตรงมา
ค. : อ้าว หลวงปู่ตื้อเป็นคนดุมากนะ
ฤ. : ผมว่าไม่ดุครับ ผมว่าเป็นคนดีนะ ตรงไปตรงมา
ค. : ดุ ดุในธรรมะไง
ฤ. : ครับ ๆ (เสียงหัวเราะ)
ค. : ดุคนบาป ด่าบาป
ฤ. : แหม น่ารักครับ อ้อ ผมเคยบันทึกเสียงท่านนะครับ ท่านตายแล้ว ผมนอนฝันไปเจอท่านเข้า โอ้โฮ เก่งมาก


(ตอนนี้เทปหมด กลับเทปใหม่)

ค. : เวลาก่อนเป็นคณะธรรมยุติ ธรรมยุตหานิกายเขาไม่ถูกกัน จะไปเยี่ยมวัดนั้น เขาก็ไม่ให้อยู่ จะไปเยี่ยมนี่เขาก็...แต่นั้นมาก็เป็นมหานิกาย ที่หลวงปู่นี่ไม่เคยสะสม เขาก็มาที่นี่แหละ มาหยุดอยู่นี่
ฤ. : หลวงปู่เป็นมหานิกาย?
ค. : มหานิกาย แล้วเขาธรรมยุติ...กับจะไปธรรมยุติมหานิกาย
ฤ. : อ๋อ.. คณะเดิมนะครับ เวลานี้หลวงปู่เป็นธรรมยุติหรือมหานิกาย
ค. : เป็นมหานิกาย ถ้าว่ากันแล้วอันเดียวกันละ ธรรมยุติ มหานิกาย พระเจ้าองค์เดียวกัน วินัยองค์เดียวกัน เอ้อ ปฏิบัติดีละก็เป็นธรรมยุติหมด เป็นมหานิกายหมด
ฤ. : ผมไม่ใช่ ผมเป็นพุทธนิกายครับ
ค. : เออ..ดี นี่เขาสมมติกัน เขาจะว่ายังไงก็สุดแท้แต่เขาเถอะ เขาแต่งกัน
ฤ. : นิกายมันก็แค่ตั้งขึ้นมา แท้จริงก็ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าด้วยกันทั้งนั้น
ค. : ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าทั้งนั้นละ
ฤ. : มัวไปถือคณะ ก็ถือว่ามีมานะ แบกกิเลส
ค. : แบกกิเลสอยู่ หากิเลสใส่ตัวอยู่ หาว่าตัวดี เขาไม่ดี ว่าไป ดีไม่ดีช่างมันเถอะ
ฤ. : ช่างมัน แค่ตายแหละ
ค. : ก็ตายแหละ
ฤ. : ถ้าตายแล้วไม่กลับมาทุกข์ใหม่ ก็สบายใจนะครับ เอ้า เจ้ากรมมา…เป็นเจ้าภาพใหญ่
ค. : เจ้าภาพไหน?
ฤ. : เจ้ากรมสื่อสารทหารอากาศครับ
ค. : เออ หัวหน้ารึ ทหารอากาศก็มาบ่อยนะที่นี่…เอาใส่พานแน่ะ


(ถวายปัจจัย)

อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ชิปปะเมวะ สมิชฌะตุ สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา จันโท ปัณณรโส ยถา มณิ โชติโรส ยถา อายุวัฑฒะโก ความเจริญไปในอายุ ธะนะวัฑฒะโก ความเจริญไปในทรัพย์ สิริวัฑฒะโก ความเจริญไปในศิริ ยะสะวัฑฒะโก ความเจริญไปในยศ พะละวัฑฒะโก ความเจริญไปในกำลังกายกำลังใจ วัณณะวัฑฒะโก ความเจริญไปในวรรณะ สุขะวัฑฒะโก ความสมบูรณ์ไปด้วยความสุขกายสุขใจ

โหตุ สัพพะทา จงมีแก่ท่านในการทั้งปวง (เทปไม่ชัด) ชีวะสิทธิ ภะวันตุ เต ความสำเร็จกิจจงมีแก่ท่าน ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง ขอสรรพมงคลจงมีแก่ท่านทั้งหลาย รักขันตุ สัพพะเทวตา ขอเทพเจ้าคุ้มครองท่านทั้งหลาย
สัพพะพุทธานุภาเวนะ โดยอานุภาพพระพุทธเจ้าทั้งปวง สัพพะธัมมานุภาเวนะ โดยอานุภาพพระธรรมทั้งปวง สัพพะสังฆานุภาเวนะ โดยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ทั้งปวง

พุทธะระตะนัง ธัมมะระตะนัง สังฆะระตะนัง ติณณัง ระตะนานัง อานุภาเวนะ จะตุราสีติสะหัสสะธัมมักขันธานุภาเวนะ ปิฏะกัตตะยานุภาเวนะ ชินะสาวกานุภาเวนะ สัพเพ เต โรค สัพเพ เต ภะยา สัพเพ เต อันตรายา สัพเพ อุปปัทวา สัพเพ เต ทุนนิมิตตา สัพเพ เต อะวะมังคลา วินัสสันตุ …(เทปไม่ชัด)…ภวันตุ เต

ฤ. : บรรดาบริษัททั้งหลายรวบรวมจตุปัจจัยสงเคราะห์พระสงฆ์ที่นี่ ๑,๘๐๐ บาทนะครับ
ค. : โอ สาธุ..อนุโมทนา
ฤ. : นี่หลวงปู่เป็นหนี้ผมแล้วนะครับ ต้องไปใช้หนี้ผม (เสียงฮา) แต่ผมไม่เอากระดาษหรอกครับ ผมเอาตัวหลวงปู่ เอากระดาษไปชำระผมไม่เอา ผมต้องการเอาบุญ
ค. : หลวงปู่มีดีแท้ ๆ
ฤ. : เคยรบกันมานานแล้วนี่ครับ ผมทราบว่าหลวงปู่รู้จักผมมานานแล้ว (เสียงหัวเราะ)
ค. : มาหาหลวงปู่ พอใจดีนะ?
ฤ. : โฮ๊..ชื่นใจครับ คราวก่อนไม่มีโอกาสมา ตั้งใจว่ามาธุระอื่น ต้องมาหาหลวงปู่ให้ได้ ตั้งใจไว้
ค. : อ้อ ครับ ๆ ได้ยินเสียงข่าวเมื่อคราวที่แล้วครับ ไปถามหลวงปู่สิม ถามหลวงปู่สิมว่ามีองค์ไหนบ้าง หลวงปู่สิมก็ว่าองค์นั้น ๆ พอบอกชื่อหลวงปู่ก็จับใจ เอ๊ะ แต่ตามหมายกำหนดการมันมาไม่ได้ เวลาจำกัด ว่าตั้งใจจะมารบหลวงปู่ให้ได้
ฤ. : จะตั้ง? ตั้งมาตั้งแต่กรุงเทพฯ รึ?
ฤ. : ไม่ใช่ จะ
ค. : คราวหน้าถ้ามีโอกาสจะไปหานะ
ฤ. : ครับ ๆ แหม ดีครับ แต่ไม่เป็นไร ถ้าหลวงปู่ไม่ไปผมก็มา
ค. : ที่ว่าเมื่อตะกี้น่ะ เดือน…?
ปริญญา : เดือนสิงหาคมครับ
ฤ. : ในพรรษา แต่ว่าต้องขออนุญาต ศรัทธา ครับ
ค. : พรรษาหน้านี่รึ?
ฤ. : พรรษาที่ถึงนี่แหละครับ
ค. : ฮือ..อีกนานอยู่นะ
ฤ. : เดือน ๘ จะขึ้นเดือน ๙ เดือน ๙ ใต้นะครับ ก็ไปวันที่ ๘ ที่ ๙ วันที่ ๙ ก็เริ่มงาน วันที่ ๑๐ นะครับ วันที่ ๑๑ กลับได้นะครับ จะให้ ดร.ปริญญาจัดรถมารับนะครับ
ค. : ตอนนั้นเข้าพรรษา จะปลุกเสกในพรรษานะ
ฤ. : นี่ไม่ได้ปลุกเสกอะไรครับ คือว่ายกช่อฟ้า บรรจุพระบรมธาตุ แล้วหล่อรูปหลวงพ่อปานนะครับ
ค. : อ๋อ
ฤ. : แล้วหลวงปู่ก็ไม่ต้องไปนั่งในพิธีอะไร อยู่ที่พักอย่างเดียวครับ ใช้จิตเมตตาเฉย ๆ ไม่ต้องไปนั่งประชุมเครียด อันนี้ไม่เอานะครับ
ค. : แต่หลวงปู่ก็ทำซี?
ฤ. : อีตอนนั้นหลวงปู่ต้องทำครับ (เสียงฮา) ไปนั่งเครียด มันไม่สบายครับ ผมหากินแบบสบาย ๆ อีตอนที่ไปนั่งเป๋ง เครียดนั่นมันเบื่อครับ หลวงปู่อยู่กับที่อันเดียวนะครับ สบายกว่า ผมว่าประโยชน์มันดีกว่าไปนั่งเป๋ง
ค. : หลวงปู่สบาย เขาเหล่านั้นก็สบาย (เสียงหัวเราะ)
ฤ. : ก็ผมรู้มาอย่างนั้นนี่ครับ คือว่าไปถึง แต่ละองค์ก็ให้เข้าที่พักโดยเฉพาะ ไม่ใช่เดินไปเดินมากับใครเขาครับ
ค. : อือ


(สังเกตนิดหนึ่งนะครับ หลวงพ่อฤาษีไม่ได้เป็นผู้กำหนดเองว่าพิธีให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านใช้คำว่าผมรู้มาอย่างนั้น ทีนี้รู้มาจากไหน รับคำสั่งมาจากไหน ก็ต้องเชิญไปถามตัวท่านเอง ป่องไม่กล้าถาม)

ฤ. : ให้อยู่กับที่เฉย ๆ เวลาเขาจะยกช่อฟ้า บรรจุพระธาตุหรือหล่อรูป เขาก็มากราบเรียนให้ทราบ
ค. : เออ
ฤ. : แล้วก็ใช้จิตช่วยไปเฉย ๆ ไม่ต้องเดินไปไหน
ค. : ใช้กระแสจิตไป?
ฤ. : เหลือแหล่ครับ
ค. : เออ
ฤ. : โดยมากเขามักจะนั่งเกณฑ์ไปโน่นไปนี่ มันไม่ถูกหรอกครับ ไปนั่งทรมานก็เขาจะเอาตัว ไม่ได้เอาใจนี่ นี่ต้องการใจอย่างเดียว
ค. : ต้องการใจอย่างเดียว เอาความบริสุทธิ์อย่างเดียว
ฤ. : ครับ ความบริสุทธิ์ จิตใจสบายกว่า ปกติเขาจะต้องเกณฑ์ว่าต้องไปนั่งตรงนั้น ต้องไปนั่งตรงนี้นะครับ
ค. : แน่
ฤ. : นั่นเอาตัว ไม่ได้เอาใจ ไม่ได้เอาของดี
ค. : (หัวเราะ)
ฤ. : แต่หลวงปู่วัดน้ำบ่อหลวงท่านหาว่านั่งเฉย ๆ หนักกว่าสวดมนต์อีก ท่านบอกว่าสวดมนต์แล้วก็เลิกกัน นั่งเฉย ๆ หนัก เลยบอกว่า อ้าว หนักหรือไม่หนักก็แล้วแต่หลวงปู่
ค. : หลวงปู่ชุ่มวัดวังมุย หลวงปู่อินทจักรวัดน้ำบ่อหลวง หลวงปู่แสน พระครูวัดสวนดอก แก่นะ เคยนั่งปลุกเสก แล้วก็หลวงปู่ทืม นี่หลายองค์ นี่เป็นกรรมการนั่งปรก พระอื่น ๆ ก็เป็นพระสวด มีกันไปก็ไปนั่งหลับตา เอาความบริสุทธิ์ไปปลุกเสก
ดร.ปริญญา : หลวงปู่ทืมอยู่ไหนครับ
ค. : หา...! หลวงปู่ทืม อยู่วัดจามเทวีของครูบาศรีวิชัย อยู่วัดนั้น
ฤ. : อ๋อ
ค. : จามเทวีนะ วัดที่หลวงปู่ศรีวิชัยมรณภาพ เผาท่านน่ะ เป็นรองเจ้าคุณ เป็นพระแก่
ฤ. : หลวงปู่ทืมเป็นพระสุปฏิปันโนหรือครับ?
ค. : เออ.. เป็นพระสุปฏิปันโน พวกนี้แหละเป็นผู้ปลุกเสพระ สาม-สี่-ห้าองค์
ฤ. : แล้วหลวงปู่คำแสนอีกองค์? เดี๋ยวผมบุกรุกอีกครับ
ค. : ฮือ.. ถ้าไปหา ก็ไปหาหลวงปู่ทืมอีกซี
ฤ. : หลวงปู่ทืมหรือครับ
ค. : เออ.. หลวงปู่ทืม อยู่วัดจามเทวี ก็ลำพูนนั่นแหละ ออกจากลำพูนไปนิดเดียว
ฤ. : รู้จักครับ
ค. : วิหารโบสถ์นั่น ของครูบาศรีวิชัยสร้าง ตอนนี้กำลังเสื่อมโทรมอยู่
ฤ. : แล้วก็ถนัดในด้านไหนครับ เตวิชโช ฉฬภิญโญ?
ค. : ก็…ก็ เขาก็ได้…(ไม่ชัด) อยู่ในวัดบ้าน ไม่ได้ออกอยู่ป่า
ฤ. : ไม่สำคัญครับ อารมณ์จิต
ค. : ดี ดี
ฤ. : ดีมากหรือครับ แล้วเป็นสุปฏิปันโนแล้ว?
ค. : สุปฏิปันโน ก็อย่างนั้นแหละ เคยเจอ ๆ กันเขา…
ฤ. : สำเร็จแล้วไม่บอก แหมดีจริง ๆ ขอบคุณครับ เดี๋ยวผมรบกวนอีก (เสียงหัวเราะ)
ฤ. : เดี๋ยวผมจะบอกไปว่า หลวงปู่สั่ง (เสียงหัวเราะ)
ก็เป็นความดีของพุทธบริษัทครับ รู้สายเป็นสาย ๆ เราไปไหว้พระทั้งที พระนักบวชน่ะ เยอะแยะ
ค. : มี ๆ มีเยอะ
ฤ. : นักบวชน่ะ มันเยอะครับ แต่สุปฏิปันโนมันหากันไม่ค่อยได้เจอะ ดีไม่ดีก็ชนเสียตายไปเลย ไม่รู้เรื่อง (เสียงหัวเราะ)
ค. : เสาะหาของดีก็ต้องหาจากคนที่รู้ดี
ฤ. : ต้องต่อกันครับ ต้องต่อ เชื่อมกันตามสายไป อ้า…หลวงปู่ทืมกับหลวงปู่อะไร…คำแสนวัดสวนดอกนี่แก่
ค. : วัดสวนดอกนั่นแก่ อายุแก่ ๘๙
ฤ. : อันนี้ก็เห็นจะไล่เรี่ยกันนะครับ
ค. : ไล่เรี่ยกัน…สมโภชพระ…ของขลัง
ฤ. : เรื่องของคลัง ไม่สำคัญครับ สำคัญใจใส ถ้าใจใสแล้วก็ขลังมากนะครับ
ค. : เสกดี ของมันก็ดีเหมือนกัน
ฤ. : ครับ ๆ ๆ ๆ มันมีตรงนี้แหละครับ ถ้าคนเสกไม่ดีของมันก็ดีไม่ได้ ไอ้คนขัดไม่ดี ของมันก็ไม่หายสกปรกอะไร ปริญญา?
ปริญญา : เขาจะหาเหรียญหลวงปู่กันครับ
ฤ. : อ๋อ.. เหรียญหลวงปู่ ก็มารวมกันทีเดียวเลยพร้อม ๆ กัน
ค. : ให้หลวงปู่มอบให้
ฤ. : ใช่ครับ
ค. : เป็นสิริมงคล
ฤ. : เอามาพร้อม ๆ กัน ไม่ใช่คนละเหรียญ ๒ เหรียญ และหลวงปู่มอบรวมกันเลย ไอ้แบบนี้เคยครับ กระผมเองเหนื่อยเกือบตาย มากันทีละอัน ๒ อัน ไอ้เราก็อาน คือถ้าใช้ใจคราวเดียวละกำลังใจมันสูง พอหลาย ๆ หนเข้าชักขี้เกียจ
ปริญญา : หลวงปู่เคยเจอหลวงพ่อมากี่ชาติแล้วครับ?
ค. : หลายชาติแล้ว
ฤ. : คงเป็นแสน ๆ ละมั้ง
ปริญญา : เจอะกันได้อยู่ดีแหละครับ
ค. : คงจะเกิดอยู่แถวไหน?
ปริญญา : เห็นว่าเลิกแล้วครับ หลวงปู่ลองดู เห็นว่า เลิกแล้วครับ
ค. : ฮื่อ
ฤ. : ไม่ใช่ ถามว่าเกิดจังหวัดไหน ว่างั้น
ค. : จังหวัดไหน
ฤ. : กระผมหรือครับ เกิดจังหวัดสุพรรณครับ
ค. : สุพรรณรึ อยู่แถวไหน กรุงเทพฯ รึ?
ฤ. : อ้า..เลยกรุงเทพฯ ลงไปครับ
ค. : เลยกรุงเทพฯ ลง
ฤ. : ครับ เลยไปหน่อยครับ มาทางด้านตะวันตกของกรุงเทพฯ ครับ
ค. : อือ นครปฐมนี่มันอยู่ทางไหน
ฤ. : อ้อ อยู่ใกล้ ๆ กันครับ
ค. : ใกล้กันเรอะ เออ กาญจนบุรีใกล้กันไหม
ฤ. : ใกล้กันครับ เขตติดต่อกันครับ กาญจนบุรี นครปฐม สุพรรณบุรีติดต่อกัน
ค. : ติดต่อกัน? อ้อ
ปริญญา : คุ้นเคยกับหลวงพ่อดีอยู่หรือครับ หลวงปู่ (เสียงหัวเราะ)
ฤ. : ลองถามซี ใครเคยโกงใคร (เสียงฮา)
ปริญญา : ใครเคยโกงใครครับ
ค. : (หัวเราะ)
ฤ. : ต่างคนต่างเป็นโจทก์ ต่างคนต่างเป็นจำเลย หลวงปู่เป็นคนมีบุญ มีบุญมาเรื่อย เป็นคนมีบุญมาเรื่อย
ค. : ฮึ ๆ
ฤ. :ไม่ต่ำกว่าใคร โกงก็เก่ง
ค. : (หัวเราะ)
ฤ. : โกงก็ไม่แพ้ใคร ใจดีก็ไม่แพ้ใคร ให้ทานก็ไม่แพ้ใคร สงเคราะห์ก็ไม่แพ้ใคร โกงก็ไม่แพ้ใคร มือดี มือดีเก่ง คำว่า แพ้ไม่มีในชีวิต นี่แหละจำไว้เถอะ องค์ตื้อว่าเก่งแล้ว ไม่ใช่ว่าเก่งหรอกนะ ปัดโท่ (เสียงหัวเราะ)
ปวดกบาลครับ เดี๋ยวก็สาวไส้เก่ามาให้เขาดูจนได้
ค. : หลวงปู่ใครว่าดีก็ยิ้มเสีย ใครว่าร้ายก็ยิ้มเสีย
ฤ. : หมดเรื่อง ไง ๆ ก็ช่างมัน หมดเรื่องกันไป
(กับศิษย์ นี่ เรื่องแพ้ไม่มีหรอก มือก็ไม่แพ้ใคร สมองก็ไม่แพ้

ชาลินี : เคยทะเลาะกันหรือคะ
ฤ. : ไม่หรอก พวกเดียวกัน ถ้าทะเลาะก็เรื่องธรรมดา ๆ ฮ่อ โกงอะไรน่ะหรือ ไม่ได้เอาเปรียบใครหรอก โกงเขาไม่ได้โกงทรัพย์โกงสิน หลวงปู่มาอยู่ที่วัดนี้นานแล้วหรือครับ
ค. : ๖๐ พรรษา เดิมเป็นเจ้าอาวาส สร้างแล้วก็เดินธุดงค์ สร้างแล้วเดินธุดงค์จนไปไม่ไหว ก็ออกไปอยู่ที่อยู่เดี๋ยวนี้ บริกรรมภาวนา เวลาเช้า ๖ โมง ก็มาฉันข้าว ฉันเช้าแล้ว ถ้าแขกมาก็รับแขก ว่างแขกก็ออกไปอยู่วัดป่านอนพัก นอนบริกรรม นั่งสมาธิอยู่โน่น บางทีแขกก็ไปหาเยี่ยมหา ก็ดีหรอก
ฤ. : ขอลาหลวงปู่ละครับ
ค. : ไปลำพูนละไปหาหลวงปู่ทืมด้วยนะ ไม่ไกลหรอกโชคดี
ฤ. : ไปแน่ครับ ขอธรรมใดที่หลวงปู่เห็นแล้วนะครับ ขอให้บริษัททั้งหมดเห็นด้วยนะครับ
ค. : เอ้อ..เอาอนุโมทนา หลวงปู่ปฏิบัติมายังไง ให้ญาติโยมอนุโมทนาทุกผู้ทุกคน ขอให้ได้สำเร็จ โสดา สกิทา อนาคา ตามความปรารถนาทุกผู้คน เทอญ

(ทั้งหมด) : สาธุ

ฤ. : อ้า…หลวงปู่ครับ ไอ้กรรมใดที่เคยล่วงเกินกันมาแต่อดีตชาตินะครับ กรรมนั้น ถ้าจะมีก็ขอประทานอโหสิกรรม
ค. : เออ...
ฤ. : เคยล้อเลียนพี่มานานแล้ว
ค. : เออ...


เป็นอันว่ากราบลาหลวงปู่คำแสนออกมา ในขณะที่ขึ้นรถ เห็นหลวงพ่อคำแสนท่านนั่งอมยิ้มชะเง้อมองคล้าย ๆ มีความอาลัย จนกระทั่งเราพ้นเขตวัดออกมา ก่อนจะออกเดินทางไปที่อื่น ป่องขอเสนอข้อสังเกตนิดหนึ่ง คือ

๑. หลวงปู่คำแสน ซึ่งไม่เคยรู้จักกับหลวงพ่อฤาษีลิงดำของเราเลย ท่านรับรองยืนยันว่าได้เจอะกันมากับหลวงพ่อของเราในอดีตชาติ นับเป็นโชคดีของเราที่ได้เป็นพยานในเหตุการณ์ครั้งนี้

เรื่องตายแล้วเกิดอีกเรื่องระลึกอดีตชาตินี้ความจริงพวกเราก็เชื่อกันอยู่แล้ว ถึงคนอื่น ๆ ก็ออกจะเชื่อ ๆ เหมือนกัน แต่ไม่ค่อยแน่ใจ ถัดออกไปก็ไปถึงคนพวกที่ไม่เชื่อเลย นั่นก็สุดแต่บุญแต่กรรมของเขา ตำราท่านบอกไว้ชัดเจนว่า ฝึกได้อตีตังสญาณก็จะรู้ได้ แต่ท่านผู้เก่งท่านว่าเรื่องยังงี้ไม่มี เป็นไปไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่กระดิกหูเลยในญาณอะไรต่อญาณอะไร แม้แต่ชื่อก็ไม่เคยได้ยิน ก็ต้องยกให้เป็นของท่านผู้เก่งไป

ข้างพวกเราเองนั้น ถือตามพระบรมครูว่าสิ่งใดที่เราไม่รู้ เราก็ต้องเชื่อว่าท่านผู้รู้ก่อนเพราะฉะนั้นเราก็เชื่อมาเรื่อย แต่คราวนี้ น่าชื่นใจที่ความเชื่อของเรา ปรากฏว่าเป็นจริง

๒. พรของหลวงปู่คำแสนนั้น ขอให้สังเกตว่าไปหยุดอยู่แค่อนาคามี เท่านั้นไม่ไปถึงอรหันต์ อันนี้เป็นเคล็ดที่หลวงพ่อฤาษีได้สอนไว้ว่าใครได้แค่ไหน เขาก็จะพูดแค่นั้น ไม่พูดเลยไปกว่านั้น เพราะเขายังไม่รู้

พอออกมานอกวัด ก็เลยกระซิบถาม หลวงพ่อก็กระซิบตอบมา (เคราะห์ดีท่านลืมห้ามไม่ให้กระซิบต่อจึงจำเป็นถือโอกาสกระจายเสียก่อน)

ท่านบอกว่า พอโผล่เข้าไปเจอะหน้าหลวงปู่คำแสนก็ต๊กกะใจ คนรู้จักมาก่อนนี่หนา แล้วเลยอธิบายต่อไปว่าท่านเคยเป็นพี่มาหลายชาติ ทุก ๆ ชาติก็เป็นยังงี้แหละ ช่างยิ้ม ช่างคุย แม้แต่เวลากำลังรบก็ยิ้ม ยิ้มไป ชวนคุยไปได้ท่าฟันคอขาด ถึงได้บอกว่า โกง คือโกงฟันเขาตอนเขาเผลอตัวฟังคุย

ตานี้ ถึงคราวป่องกระซิบท่านบ้างเป็นการตอบแทน กระซิบถามท่านไป “หลวงพ่อจำได้ไหมครับตอนทัศนาจรครั้งที่ ๑ น่ะ หลวงพ่อบอกไว้ว่าสมเด็จท่านสั่งว่า ถ้าพบพระชื่อทืม ก็นิมนต์มางานได้ พระองค์นี้ใช้ได้”

หลวงพ่อร้อง เออ..จริงซี ลืมไปสนิทนึกไม่ออกเลย ท่านบอกไว้ด้วยว่าเป็นพระไม่เอาไหน ชาวบ้านไม่รู้เรื่องเลยใช่ไหม ป่องก็รับว่าใช่ เรื่องนี้ป่องบันทึกไว้ แล้ว พ.ท. ศรีพันธ์ วิชชุพันธ์ ก็บันทึกไว้

หลวงพ่อให้ความเข้าใจแก่เรา หลวงพ่อคำแสนเป็นพระอนาคามี ยังติดอยู่นิดเดียว คล้าย ๆ ว่าจะตัดไปเลยเมื่อไรก็ได้ นี่ก็ตรงกับข้อสังเกตของพวกเรา แต่เราขาดความรู้ที่ท่านไม่ใช่พระอนาคามีธรรมดา เป็นพระอนาคามีมีอภิญญาเสียด้วย มิน่าล่ะหลวงพ่อฤาษีถึงได้บอกว่าไม่แพ้หลวงปู่ตื้อ

ออกมาจากวัดดอนมูล คณะก็เดินทางไปนมัสการพระธาตุหริภุญไชย ประวัติของพระธาตุนี้มีปรากฏอยู่แล้วในหนังสือ “ฤาษีทัศนาจร” สำหรับวันนี้เมื่อนมัสการเสร็จหลวงพ่อก็เดินดูบริเวณอยู่ครู่หนึ่ง ซึ่งป่องเห็นว่าความจริงเราควรที่จะรีบไป เพราะเวลามีน้อย

วัดจามเทวีที่เราจะไปนี้ มีชื่อเสียงมาก ท่านที่เล่น พระรอดลำพูน มักจะเจาะจงเอาพระรอดกรุจามเทวี กับกรุวัดมหาวัน (หรือว่าพระรอดจากจามเทวีมาจากกระวัดมหาวันก็ไม่แน่ใจ) วันก่อนโน้น ไปที่วัดสวนดอก ปากบอนไปถามว่าไม่มีใครเขามีพระรอดกรุจามเทวีบ้างรึ

คนแถวนั้นเขาบอกว่ามีอยู่องค์หนึ่ง เจ้าของเขาจะเอา ๖ หมื่นบาท เลยต้องบอกว่า “ไม่สน” ว่าแล้วก็เตร่มาอวดหลวงพ่อฤาษีถึงพระองค์นี้ ท่านฟังแล้วก็บอกว่า “ปลอมว่ะ” โอ้โฮ..ขนาดพระปลอมยังหกหมื่น พระแท้มิตักเข้าไปตั้งล้านรึ?

ตอนที่ 7 ครูบาบุญทืม พรหมเสโน วัดจามเทวี จ.ลำพูน » 

[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
ตั้งหัวข้อใหม่

Go To Top