Not logged in [Login - Register]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites ตั้งหัวข้อใหม่
[*] posted on 8/7/08 at 17:04 [ QUOTE ]

หลักการปฏิบัติธุดงค์ (ตอนที่ 2 วิธีฝึกปฏิบัติของหลวงพ่อ)


 « ตอนที่ 1 หลักการปฏิบัติธุดงค์

วิธีฝึกปฏิบัติของหลวงพ่อ


...ผมจะเล่าให้ฟังสักนิด พระพุทธเจ้าท่านห้ามนะ..เทศน์ปรารภตัว แต่ว่าไม่ได้คุยหรอก .. ไม่ได้ปรารภ ..แค่เล่าให้ฟัง! ขณะที่ปฏิบัติขณะโน้น เมื่อผมยังเป็นเด็ก ๆ พระเด็ก ๆ เวลานี้มันแก่ .. ไม่ใช่ใหญ่ ไม่ใช่พระผู้ใหญ่ พระแก่ เป็นพระเด็ก ๆ หาบทรายดำน้ำจากก้นแม่น้ำเจ้าพระยา ดำน้ำงมทราย ดำน้ำงมกรวดเป็นประจำ บนบกก็หาบทรายหาบกรวดเป็นประจำ ขุดดิน กวนปูน แบกจอบ แบกของขึ้นหลังคาเป็นประจำ

งานประเภทนี้ผมไม่เคยหยุด มาหยุดก็ตอนปีนไม่ไหว อกไก่ อกศาลาน่ะ เดินไม่ได้ เกาะอะไร เดินสบาย ๆ คือ ทำงานได้ต่ำกว่าผิวดินลงไปถึงบนอากาศ แต่ว่าทำงานอย่างสมมุติว่า เราจะเดินบนอกไก่ทำยังไง นั่นเขาใช้สมาธิจิตช่วย เอาจิตทรงไว้ในขั้น "อุปจารสมาธิ" และ "ปฐมฌาน" ไม่ต้องไปนั่งให้ทรงตัวให้ลำบาก เลี้ยงตัวให้ลำบาก

คิดว่าเรายืนขึ้นนี่ จะเดินจากอกไก่จากนี่ไปโน่น จากโน่นไปนี่ให้กายมันทรงอยู่ ไม่ให้มันลง มันก็ไม่ลง การโงนเงนก็ไม่มี นี่เขาเล่นกันเป็นปกติ ดีไม่ดีฟันดินปั๊ก ๆ ๆ จิตตั้งอยู่อุปจารสมาธิ ขณะที่ฟันดินจิตเป็นสมาธิจับอยู่เฉพาะปลายจอบกับดิน ให้จิตมันอยู่ตรงนั้น อย่าให้มันไปไหน ภาวนาพุทโธก็ได้นะ ปั๊ก .. "พุทโธ" ปั๊ก .. "พุทโธ" ก็ได้ แต่เขาไม่ต้องการเอางานเป็นสมาธิ เอางานเป็นสมาธิฟันไปฟันมาเหงื่อออกเต็มที่ทำยังไง..

แต่ว่าสมาธิมันทรงตัวเหนื่อยยากนะ รู้สึกว่ามันทั้งเหนื่อยทั้งร้อน วางจอบเข้าฌานมันเดี๋ยวนั้น วางจอบปั๊บ..นุ่งปุ๊บ เข้าฌานสูงสุดให้มันได้ทันทีทันใด ให้มันได้ทันที นี่เขาฝึกกันอย่างนี้ ไม่ใช่ต้องไปหลบเข้าห้อง ในป่าช้า ยังไม่พ้นปากเสือ มันต้องทำให้ได้ทุกจังหวะ

เวลาเดินไปเดินมาจิตจะต้องทรงอยู่ในฌานสมาบัติเป็นปกติ นี่เขาทำกันอย่างนี้ มันถึงจะได้ดี คำว่า "ฌาน" หรือสมาธินี่ ถ้ายังหลบหาที่เงียบผมยังไม่ให้คะแนนเลย ถ้าให้ตรวจจิตจะให้สัก ๑๐๐ ศูนย์ เพราะว่ายังเหลวไหลด้วยประการทั้งปวง

วิเวก ๓

มันต้องเอาจิตเข้าไปชนกับอารมณ์ต่าง ๆ เขาไม่ให้หลบคนนี่ การฝึกจิตให้สงัดจากกิเลสด้วยอำนาจของสมาธิที่จิตสงัดเรียกอะไร .. "กายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวก"

กายวิเวก หลบเข้าไปในที่วิเวก คือ ที่สงัด
จิตวิเวก จิตเป็นฌานสมาบัติ ต้องออกมาสู้กับทุกอย่างที่มันมีอยู่ในโลก

เมื่อเข้าอยู่ในที่สงัดจิตเป็นจิตวิเวก ทรงฌานได้ดี พอออกจากที่ เข้าสู้กับคน เข้าสู้กับผลงาน เข้าสู้กับอารมณ์ที่เราไม่ต้องการ สู้ทุกอย่าง ถ้าอารมณ์ที่เราไม่ต้องการเกิดขึ้น จิตเราสามารถคุมฌานได้ดี .. อย่างนี้ใช้ได้

นี่..นักธุดงค์ในวัดก็ดี นักธุดงค์นอกวัดก็ดี เขาต้องปฏิบัติอย่างนี้ เมื่อเป็นจิตวิเวกแล้วอย่านึกว่าดีนะ ฌานสมาบัติยังไม่พ้นขุมนรก ดูท่านเทวทัตได้ฌานสมาบัติ ได้อภิญญา ๕ เหาะไปเหาะมา เหาะลงอเวจีไปเลย ต้องทำให้เป็น "อุปธิวิเวก"

อุปธิวิเวก เขาทำยังไง .. ก็ทำจิตให้สงัดจากกิเลส คือเป็น พระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ ถ้าจิตเราทรงฌานได้อย่างนั้นจริง ๆ อุปธิวิเวกเป็นไม่ยาก

สังโยชน์ ๓


เป็นพระโสดาบัน เขาทำยังไง..บรรเทา สักกายทิฏฐิ คือ ยึดถือว่าร่างกายน้อยหน่อย คิดว่าร่างกายนี้มันตายแน่ แต่ว่ายังไม่พ้นจากความรักในร่างกาย .. แต่รู้ว่าตาย มีศีลบริสุทธิ์ และ ไม่สงสัย ในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

มีศีลบริสุทธิ์นี่ พระโสดากับสกิทาคา มีแค่นี้ ไม่เห็นมีอะไรของกล้วย ๆ แต่ว่าที่พูดธุดงค์เมื่อกี้ ญาติโยมอย่าลำบากใจนะ เขาไม่ต้องการธุดงค์แบบนั้น

ถ้าเราจะปฏิบัติแบบง่าย ๆ เป็นพระอริยะเลย อันดับแรก พิจารณาเสมอว่าร่างกายมันจะตาย ร่างกายมันเป็นทุกข์ เราไม่ต้องการร่างกายอีก มันป่วยไข้ไม่สบายถือเป็นเรื่องธรรมดา มันจะตายก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา
และไม่สงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้า มีศีล ๕ บริสุทธิ์ จิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ เท่านี้เป็นพระโสดาบัน นี่ปฏิบัติแบบง่าย ๆ อย่างนี้ก็ดี เมื่อกี้นี้พูดธุดงค์ก็ต้องว่ากันแบบธุดงค์

ทีนี้ถ้าหากว่าท่านที่ทรงฌานมาแล้วตามที่พูดเมื่อกี้นี้จะใช้กำลังสมาธิเมื่อไหร่ก็ได้เรื่องความเป็นพระโสดากับสกิทาคา อนาคา อรหันต์ เป็นเรื่องเล็ก ๆ ถ้าบังเอิญท่านได้ อรูปฌานในสมาบัติ ๘

สักกายทิฏฐิตัวเดียว

ถ้าได้อรูปฌาน แล้วใช้อรูปฌานเป็นพื้นฐานในการเจริญวิปัสสนาญาณ จับ สักกายทิฏฐิตัวเดียว ท่านจะเป็นอรหันต์ภายใน ๗ วัน ไม่ยากลำบากอะไร ของกล้วย ๆ หากว่าจิตของท่านทรงฌาน ๔ ได้เป็นปกติ หากวาสนาบารมีเข้มแข็ง จะเป็นอรหันต์ได้ภายใน ๗ วัน

ถ้ากำลังใจอ่อนไปนิดจะเป็นอรหันต์ได้ภายใน ๗ เดือน ถ้ากำลังใจย่อหย่อนไปอีกหน่อยหนึ่ง จะเป็นอรหันต์ได้ภายใน ๗ ปี ถ้าจิตทรงฌาน ๔ ได้แบบนั้น ใครปฏิบัติถึง ๗ เดือนก็ซวยเต็มที ไม่มีใครเขาทำกัน

เป็นอันว่า เมื่อเราได้จิตวิเวกแล้วต้องทำอุปธิวิเวกให้เกิดขึ้น มันจะไปยากอะไรไม่เห็นยาก

อุปธิวิเวก คือ ๑. พระโสดาบัน ตัด "สักกายทิฏฐิ" เห็นว่าร่างกายนี่ เราเดินธุดงค์หรือนั่งธุดงค์ ธุดงค์ในวัดก็ดี ธุดงค์ในป่าก็ดี ทำจิตเสมอกัน คิดว่าร่างกายนี้มันมีความเกิดในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงแปรปรวนในท่ามกลาง มีการตายในที่สุด

และก็คิดว่าถ้าตายเวลานี้เราจะไปไหน เขาคิดกันอย่างนี้ ไม่ได้คิดว่า อีก ๕ ปี ๑๐ ปี ๒๐ ปี คิดอย่างนั้นมันคิดลงนรก มรณานุสสติกรรมฐาน พระพุทธเจ้าเคยถามพระอานนท์ว่า

"อานันทะ! ดูก่อน..อานนท์ เธอคิดถึงความตายวันละกี่ครั้ง?"
พระอานนท์ตอบพระพุทธเจ้าว่า
"คิดถึงความตายวันละประมาณ ๗ ครั้ง พระพุทธเจ้าข้า"
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า
"อานนท์..ห่างเกินไป ตถาคตนี่คิดถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก"

นี่จำไว้ให้ดีนะ ฉะนั้น นักธุดงค์ภายในหรือภายนอกก็ตาม ต้อคิดเสมอว่าเราจะตายเดี๋ยวนี้ ถ้าอยากจะเป็นเทวดาก็ทรงจิตไว้ขั้นกามาวจร คือ ขั้นอุปจารสมาธิ อย่างนี้ตายแล้วเป็นเทวดา

ถ้าต้องการเป็นพรหม เราก็ทรงอารมณ์ไว้ตามปกติ ตายแล้วเป็นเทวดา

ถ้าเราต้องการตายแล้วไปนิพพาน ก็คิดไว้เสมอว่าโลกเป็นทุกข์ ร่างกายเป็นทุกข์ คนและสัตว์ทั้งหมดมีแต่ทุกข์ คนและสัตว์มีสภาพเหมือนอากาศ มีเกิดขึ้นในเบื้องต้น และมีการสลายตัวในที่สุด ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งที่พักพิงอะไรเลย ในที่สุดต่างคนต่างพัง คนที่คุยกับเราไม่ช้าเขาก็ตาย เราก็ตาย เกิดแล้วตาย เกิดมาทำไม เกิดแล้วตายเราไม่เกิดเสียดีกว่า ไม่เกิดไปไหน .. ตั้งใจไปนิพพาน

จะไปนิพพานเขาทำยังไง?

จิตตัด โลภะ ไม่เห็นว่าทรัพย์สินทั้งหลายในโลกมีประโยชน์สำหรับเราต่อไปในวันหน้า วันนี้จำจะต้องอาศัยมันไม่เป็นไร มีแล้วก็แล้วกันไป แต่ว่าไม่สนใจ เราตายแล้วเราไม่ห่วง

ตักกามฉันทะ ความเป็นอยู่ในการครองคู่ไม่ได้เกิดประโยชน์ เป็นปัจจัยของความทุกข์ ไม่ต้องการมันอีก

ตัดโทสะ เห็นว่าโทษของโทสะเป็นปัจจัยของความทุกข์ มีเมตตาพรหมวิหาร เป็นเบื้องหน้าก็ไม่มีโทสะ

ตัดโมหะ เห็นว่าร่างกายเป็นเพียงธาตุ ๔ ประชุมกัน มันมีการเกิดขึ้นแล้วก็มีการตายไป ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ไม่สนใจร่างกายของเราด้วย ไม่สนใจร่างกายของคนอื่นด้วย ไม่สนในสรรพวัตถุทุกอย่างในโลกด้วย ในเมื่อตายคราวนี้แล้วขึ้นชื่อว่าโลกทั้งสาม คือ มนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก เราไม่ต้องการ เราต้องการอย่างเดียวคือ พระนิพพาน

นี่นักธุดงค์ที่เขาต้องการพระนิพพานน่ะ เขาตื่นขึ้นมาเขาใช้อย่างนี้ คุมอารมณ์ตั้งแต่ต้น ทรงพรหมวิหาร ๔ ตัดอารมณ์ปลิโพธิ ตัดนิวรณ์ แล้วก็ตัดขันธ์ ๕ นักธุดงค์..ถ้ายังต้องการฌานโลกีย์ เสียแรงเดิน ไม่ได้ประโยชน์ นักธุดงค์เขาต้องการพระนิพพาน เขาไม่ต้องการฌานโลกีย์ เราต้องเป็นผู้ชนะเลิศ ถ้าเราเดินธุดงค์ครั้งหนึ่ง ถ้าได้แค่พระโสดา สกิทาคา เราต้องนึกว่าเราเลวเต็มที ควรจะได้อนาคามี หรือ อรหันต์

เพราะอะไร เพราะเดินธุดงค์เข้าป่า มันต้องนึกถึงความตายทุกขณะลมหายใจเข้าออก เพราะเราไม่แน่ใจนี่ว่าความตายมันจะเข้ามาเมื่อไร ตายจากการมีโรค ตายจากสัตว์ร้ายที่ขบกิน อันตรายมันมีทุกด้าน เลยนั่งตัดขันธ์ ๕ มันเสียเล่นโก้ ๆ มันจะตายเมื่อไรสบายเมื่อนั้น ตายแล้วไปไหน..ฉันก็ไปนิพพาน จิตจับนิพพาน ตัดโลภะ ตัดโทสะ ตัดโมหะมันให้เกลี้ยง

พอตัดในป่าได้ก็เข้ามาในบ้าน เข้าบ้านเขาเมืองมาดูซิว่า ราคะ มันกำเริบไหม โลภะ ความโลภ อยากรวยมันยังกำเริบไหม โทสะ กำเริบหรือเปล่า โมหะ กำเริบหรือเปล่า ถ้ายังมีอยู่ในจิตแม้แต่นิดหนึ่ง จงประฌามตัวเองว่าเลวเกินไป สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ เรายังไม่สามารถจะชำระได้

ฉะนั้น เมื่อกลับมาอยู่ที่ชุมชนก็ต้องเริ่มต้นปราบปราม ราคะ โทสะ โมหะ กันใหม่ ปราบไปอีกครั้งหนึ่ง ให้มันพินาศไปด้วย อำนาจของป่า คือ "กิเลส" ป่าคือ "หมู่ชน"



นักธุดงค์ที่แท้จริง

นี่เป็นอันว่า วันนี้พูดกันถึง "ธุดงค์" ธุดงค์ของท่านพระมหากัสสป น่ะ ท่านธุดงค์แบบนี้ ไม่ใช่ "เดินดง" และ "นักธุดงค์" ที่ยังรับเครื่องสักการะที่ชาวบ้านเขาถวายอย่างนี้..อย่าไปเลย! ชาวบ้านถวายเงิน..รับเงิน ชาวบ้านถวายของ..รับของ อย่าไปเลย มันไม่ใช่ธุดงค์แล้ว มันเป็นการ "เดินดง" ไปหาลาภสักการะ มันไม่เป็นกายวิเวก ไม่เป็นจิตวิเวก ไม่เป็นอุปธิวิเวก

ธุดงค์จริง ๆ เขาจะต้องไม่รับเงินและทอง ปีนี้มาคณะหนึ่งที่วัด ปรากฏว่ามาจากอำเภอเสนา ขึ้นมาจาก พระมหาวัย คือ เจ้าคุณอดุลย์ธรรมเวที ถามว่าพวกคุณรับเงินหรือเปล่า..บอกไม่รับครับ! บอก เออ..จงรักษาปฏิปทาเดิมของเราไว้ วิธีธุดงค์เขาต้องอย่างนั้น ถ้าเดินไกล..ญาติโยมซื้อตั๋วให้เราขึ้นรถ เรายอมลงปลายทางแล้วก็เดินต่อไป

ใครเขาสงสารซื้อตั๋วให้ก็ซื้อแต่ตั๋ว..อย่ารับเงิน หมดระยะแค่ไหน..ลงแค่นั้น วันนั้นแกมาที่วัด ญาติโยมจากจังหวัดสุพรรณบุรีมาจะออกเงินค่าตั๋วรถให้ แกจะไม่ยอมรับ บอก..คุณอย่าไปปิดความดีของคนอื่น เขาส่งเราไปถึงไหน นั่นเป็นความดีของเขา

"ยานะโท สุขะโท โหติ"

การให้ยวดยานพาหนะ ชื่อว่าให้ความสุข


เราต้องสงเคราะห์ญาติโยม เมื่อหมดระยะทางเราก็เดิน นี่เห็นมีอยู่ชุดเดียว นอกจากนั้นพวกธุดงค์รับดะหมด ให้เงินก็รับ ให้ของก็รับ ให้พระพุทธรูปก็รับ อย่างนี้มันธุดงค์ลงนรกหลอกลวงชาวบ้าน

และการธุดงค์นี่ จะต้องปักกลดห่างจากบ้านไม่น้อยกว่า ๑ กิโลเมตร ถ้าใกล้กว่านั้นไม่ได้ ทั้งนี้เพราะต้องการ กายวิเวก เพื่อเป็น จิตวิเวก นักธุดงค์ที่ปักกลดใกล้ ๆ บ้าน มันไม่ใช่นักธุดงค์ มันขอทาน อย่างนี้ชาวบ้านไม่ควรจะใส่บาตรให้ เพราะทำลายแบบฉบับที่ดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สรุปอารมณ์ของนักธุดงค์

เป็นอันว่าการปฏิบัติธุดงค์ขอกล่าวโดยย่อเพียงเท่านี้ สรุปแล้วว่า
๑. จะต้องมีพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ
๒. ตัดปลิโพธิ ความกังวล
๓. พยายามระงับนิวรณ์ ๕
๔. มีอาหาเรปฏิกูลสัญญา
๕. มีมรณานุสสติกรรมฐาน
๖. มีอุปสมานุสสติกรรมฐาน คือ ถือพระนิพพานเป็นอารมณ์

จิตจะต้องทรงฌานอยู่ตลอดเวลา ทั้งเวลาว่างและไม่ว่าง ยามที่นั่งคุยกันใช้อารมณ์อยู่ใน อุปจารสมาธิ เป็นอย่างต่ำ เวลามีภาระจะพึงเกิดขึ้น ก็ต้องใช้อารมณ์อย่างน้อยก็อุปจารสมาธิ เดินไปจากที่ไม่มีใครคุย ใช้อารมณ์อย่างต่ำขั้น ปฐมฌาน นี่เฉพาะ.. "จิต"

นอกจากนั้น "จิต" จะต้องเห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเราอยู่ตลอดเวลา คิดว่าโลกนี้เป็นทุกข์ เทวโลกเป็นทุกข์ พรหมโลกเป็นทุกข์ และไม่พ้นทุกข์ เราไม่ต้องการโลกทั้งสาม เราไม่พอใจในร่างกายของเรา คือ ไม่สนใจร่างกายของเราด้วย ไม่สนใจร่างกายของบุคคลอื่นด้วย ไม่ต้องการทุกสิ่งทุกอย่างในโลกด้วย อย่างนี้เป็น "อารมณ์ของนักธุดงค์" ทั้งในวัดและในป่า..

คำสั่งพิเศษ

เป็นอันว่า พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้แนะนำวิธีฝึกไว้อย่างละเอียด เพื่อไว้เป็นแบบฉบับในการปฏิบัติ เพราะการจัด งานธุดงค์นี้ เป็นการจัดกิจกรรมหลังจากท่านมรณภาพไปแล้ว คือ เริ่มงานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ทั้งนี้ เป็นไปตามความประสงค์ของท่านทุกประการ ตามที่ท่านได้เตรียมการไว้ให้ตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่ คือ นอกจากจะมีคำแนะนำไว้แล้ว ท่านยังได้เตรียมสถานที่ไว้ฝึกธุดงค์อีกด้วย ตามที่จะได้เล่าดังต่อไปนี้

คือ..มีอยู่วันหนึ่ง..ขณะที่ท่านไปสอนพระกรรมฐานที่ บ้านสายลม เมื่อ วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๓๑ พระท่านมาบอกหลวงพ่อเมื่อ ๑๐ ปีก่อนว่า ...
"ที่วัดท่าซุงฉันสั่งให้ทำที่เดินใหญ่ ทำเป็นทางเดินรอบบนหลังคา และมีฝาด้านเดียว นั่นเป็นที่ฝึกพระธุดงค์"

ท่านบอกวิธีธุดงค์เขาปฏิบัติตามนี้ เดี๋ยวก่อน...ฉันจดไว้นะ ยังไม่ลอกลงสมุดเลย..
๑. เอาจิตจับที่ศูนย์ ตั้ง "อานาปานุสสติ" ไว้ตลอด ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนกว่าจะหลับ คือว่าเผลอไม่ได้เลย ถ้าเผลอเมื่อไหร่ "นิวรณ์"เข้า ตัวนี้กั้นนิวรณ์ ไม่ใช่เฉพาะไปนั่งสมาธิ ต้องฝึกแม้แต่ทำงาน ไม่ใช่ธุดงค์ทำอะไรไม่ได้ ธุดงค์ต้องทำงานได้ทุกอย่าง

๒. นึกถึง บารมี ๑๐ ตั้งใจปฏิบัติให้ครบถ้วน เวลาที่จะภาวนาคู่กับลม ให้ใช้ คาถาหัวใจบารมี ๓๐ ทัศ หรือว่า "พุทโธ"ก็ได้ แต่ผลที่จะได้ต่างกัน ถ้าภาวนา "บารมี ๓๐ ทัศ" ได้คล่อง จิตจะแจ่มใสมาก มารต่าง ๆ จะไม่รบกวน สัตว์ในป่าจะเป็นมิตร ป้องกันอันตรายได้ การภาวนาจะยืน เดิน นั่ง นอน ก็ภาวนาได้ ส่วน บารมี ๑๐ ก็ให้ทรงอารมณ์ไว้ทั้งวันอย่าให้พร่อง เขียนวางไว้ข้างตัว ให้สะดุดตา แล้วตั้งใจปฏิบัติให้ครบถ้วน

๓. เมื่ออารมณ์คลาย ให้ตั้งอารมณ์ไว้ใน พรหมวิหาร ๔ คิดรัก คิดสงสาร ไม่อิจฉาริษยา พลอยยินดีด้วยและวางเฉย อันนี้ต้องทรงตัว ถ้าพรหมวิหาร ๔ ไม่ทรงตัว อย่าลืม..ทั้งศีล ทั้งภาวนา ไม่เหลือเลย!

๔. มรณานุสสติกรรมฐาน บวกกับ วิปัสสนาญาณ ๙ คือ ข้อ ๘ - ๙ (นิพพิทาญาณ - สังขารุเปกขาญาณ) แล้วมีพระนิพพานเป็นอารมณ์

๕. ค่อย ๆ เคาะ สังโยชน์ ๑ – ๑๐ แต่ให้ถือสังโยชน์ ๓ เป็นใหญ่ แล้วตัดตัวสุดท้าย คือ อวิชชา

สรุปความว่า พอลืมตาปั๊บ..จับ อานาปา ปั๊บ! คิดบารมี ๓๐ ทัศ ภาวนา ๆ ๆ จิตทรงตัว จิตมันจะเอนมาเอง จิตเลื่อนลงมาถึงอารมณ์คิดได้ อารมณ์คลายตั้งอยู่ในอารมณ์ พรหมวิหาร ๔ แล้วคิดถึง มรณานุสสติ คิดว่าเราอาจตายเดี๋ยวนี้ก็ได้ ถ้าได้ มโนมยิทธิ ให้เอาใจไปตั้งอยู่พระนิพพาน

สำหรับผู้ที่เข้าป่าลึก ให้ติดต่อกับเทวดาเป็นปกติ ระหว่างคุยกับเทวดากับพรหม กิเลสจะไม่เกาะจิต ต้องภาวนาบารมี ๓๐ ทัศ และการคุมอารมณ์ต้องเข้มแข็งจึงจะเอาตัวรอด มิฉะนั้นอาจจะถูกทดสอบอารมณ์จากภัยที่ไม่เห็นตัว..



บทสวดมนต์


การปฏิบัติธุดงค์นี้ พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านยังได้แนะนำต่อไปอีกว่า ก่อนที่จะเข้าไปอยู่ในที่ใด จะเข้าป่าก็ดี บ้านร้างก็ดี ในถ้ำก็ดี ในหุบเขาก็ดี ก่อนที่จะเข้าไปถึงที่นั่น ให้แผ่บทเมตตาจิตด้วยบท "เมตตัญจะ" ( อยู่ตอนท้ายขอบทกรณียเมตตสูตร ) แล้วตั้งใจไว้ว่า

"ขอท่านที่อยู่ที่นี้ทั้งหมด บรรดาอมนุษย์ทั้งหลาย มนุษย์ทั้งหลาย เทวดาหรือพรหมก็ดีที่รักษาที่นี้ เราขออาศัยสถานที่ท่านอยู่ เราขอยอมรับนับถือในท่าน ว่าท่านเป็นผู้มีสิทธิ์ ขอท่านได้โปรดคุ้มครองให้เรามีความสุขปลอดภัยจากอันตราย แล้วก็ช่วยส่งเสริมในการเจริญสมณธรรมด้วย.."

เมื่อเข้าไปอยู่แล้วให้สวดเป็นปกติ แต่ถ้าเป็นจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน อันนี้ต้องว่าอีกบทหนึ่ง ซึ่งเป็นบทเมตตาเหมือนกัน คือบท "วิรูปักเข" สำหรับบรรดาสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ที่ไม่มีเท้า สัตว์มีเท้าน้อย สัตว์มีเท้ามาก..รวมหมด!

ส่วนบท "วิปัสสิส" ( ที่เขาสวดเวลาทำพิธีภาณยักษ์กัน ) อันนี้ไปที่ไหนไม่ควรใช้นะ ถ้าเผลอเมื่อไหร่ เทวดาเขาตีพังเมื่อนั้นแหละ เอาไปเป็นบทขับผีขับเทวดาไม่ควรอย่างยิ่ง บทที่เป็นศัตรูกับเขาอย่าใช้ ใช้แต่บทที่เป็นมิตร

ทีนี้การปักกลดของพระธุดงค์ จงอย่าให้ใกล้บ้านเข้ามาน้อยกว่า ๑ กิโลเมตร อันนี้ต้องถือเป็นปกติ เพราะว่าเวลากลางคืน ชาวบ้านเขาคุยกัน เราไม่ได้ยินเสียง เด็กเล็กมันร้อง เราไม่ได้เสียง เสียงจะได้ไม่รบกวนเราจะปฏิบัติสมณธรรมได้แบบสงัด..แบบสบาย แล้วก็ไม่ห่างเกินไป เวลาเข้ามาบิณฑบาตก็ไม่ไกลเกินไป

แล้วการปักกลดก็ต้องดูสถานที่เสียก่อน ว่าเราควรจะปักตรงไหน มันเป็นที่เขาหวงห้ามหรือเปล่า ถ้าที่เขาหวงห้ามก็อย่าปัก เพราะว่าถ้าปักแล้วมันถอนไม่ได้ ปักกลดลงไปแล้ว ฝนจะตก สัตว์ร้ายจะพึงมี นี่ถอนไม่ได้เด็ดขาด ตายให้มันตายไปเลย ต้องตัดสินใจตามนั้น คือ แทนที่เราไม่ชอบใจตรงนี้ เราจะหนีไปตรงโน้น..อันนี้ไม่ได้!

เวลาจะปักกลดนี่ ท่านให้นึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน เขาให้ว่า คาถาบารมี ๓๐ ทัศ ไปเรื่อย ๆ กี่จบก็ได้ จนกว่าจะปักเสร็จ พระคาถาว่าดังนี้...
อิติ ปาระมิตตา ติงสา อิติ สัพพัญญู มาคะตา
อิติ โพธิมะนุปปัตโต อิติปิ โส จะ เต นะโม


ถ้าปักเสร็จแล้ว เวลาจะตอกหลักขึงสายอัพโภกาส ( สายเชือกที่ขึงกลด ) ท่านให้ว่าคาถาบทนี้ "ภะสัมสัม วิสะเทภะ" ว่าไปเรื่อย ตอกไปเรื่อยจนกว่าจะแน่น เวลาผูกก็เหมือนกัน ให้ว่าคาถาบทนี้จนกว่าจะผูกเสร็จ คาถาบทนี้เขาเรียก "คาถาตวาดป่าหิมพานต์" เขาตวาดช้างหนีนะ เป็นคาถามหาอำนาจไล่ช้างหนีได้ สัตว์ไม่กล้าเข้า สัตว์จะมาวนได้แค่หลักนะ เข้ามาในหลักไม่ได้

บทเมตตัญจะ

เมตตัญจะ สัพพะโลกัสมิง มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณัง อุทธัง อะโธ จะ ติริยัญจะ อะสัมพาธัง อะเวรัง อะสะปัตตัง ติฏฐัญจะรัง นิสินโน วา สะยาโน วา ยาวะตัสสะ วิคะตะมิทโธ
เอตัง สะติง อะธิฏเฐยยะ พรัหมะเมตัง วิหารัง อิธะมาหุ ทิฏฐิญจะ อะนุปะคัมมะ สีละวา ทัสสะเนนะ สัมปันโน กาเมสะ วิเนยยะ เคธัง นะ หิ ชาตุ คัพภะเสยยัง ปุนะเรตีติฯ

บทวิรูปักเข

วิรูปักเขหิ เม เมตตัง เมตตัง เอราปะเถหิ เม ฉัพยาปุตเตหิ เม เมตตัง เมตตัง กัณหาโคตะมะเกหิ จะ อะปาทะเกหิ เม เมตตัง เมตตัง ทิปาทะเกหิ เม จะตุปปะเทหิ เม เมตตัง เมตตัง พะหุปปะเทหิ เม มา มัง อะปาทะโก หิงสิ มา มัง หิงสิ ทิปาทะโก มา มัง จะ ตุปปะโท หิงสิ มา มัง หิงสิ พะหุปปะโท
สัพเพ สัตตา สัพเพ ปาณา สัพเพ ภูตา จะ เกวะลา สัพเพ ภัทรานิ ปัสสันตุ มา กิญจิ ปาปะมาคะมา
อัปปะมาโณ พุทโธ อัปปะมาโณ ธัมโม อัปปะมาโณ สังโฆ ปะมาณะวันตานิ สิริงสะปานิ อะหิ วิจฉิกา สะตะปะที อุณณานาภี สะระพุ มูสิกา กะตา เม รักขา กะตา เม ปะริตตา ปะฏิกกะมันตุ ภูตานิ โสหัง นะโม ภะคะวะโต นะโม สัตตันนัง สัมมาสัมพุทธานังฯ

(หมายเหตุ : ก่อนที่จะสวด ๒ บทนี้ ควรตั้งนะโม ๓ จบ แล้วสวด "อิติปิ โส" ก่อน )



เสขิยวัตร หรือข้อวัตรที่ควรศึกษา


สำหรับอุบาสกอุบาสิกา

ตามที่ได้เกริ่นไว้ในตอนแรกแล้วว่า จะแนะนำเรื่อง "ข้อวัตรที่ควรศึกษา" ในตอนท้าย เพื่อนำมาประยุกต์กับ อุบาสกอุบาสิกา ขณะที่ร่วมปฏิบัติธุดงค์ เป็นการฝึกจริยามารยาทให้เรียบร้อยตามพุทโธวาท เพื่อให้สมภาคภูมิกับที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่า เป็นหนึ่งในพุทธบริษัททั้ง ๔ ของพระองค์

สำหรับ "เสขิยวัตร" หรือ "ข้อวัตรที่ควรศึกษา" นั้น พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้พระภิกษุสามเณรควรศึกษาไว้เป็นธรรมเนียมเพื่อควรปฏิบัติต่อไป จัดเป็น ๔ หมวด ดังนี้

๑. สารูป ว่าด้วยธรรมเนียมควรประพฤติในเวลาเข้าบ้าน

๒. โภชนปฏิสังยุต ว่าด้วยธรรมเนียมรับบิณฑบาตและฉันอาหาร

๓. ธัมมเทสนาปฏิสังยุต ว่าด้วยธรรมเนียมไม่ให้แสดงธรรมแก่บุคคลผู้แสดงอาการไม่เคารพ

๔. ปกิณกะ ว่าด้วยธรรมเนียมถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ

ในที่นี้จะนำมาแนะนำเพียง ๒ หมวดแรกเท่านั้น ที่พอจะอนุโลมนำมาปฏิบัติได้ในขณะที่ "บวชพราหมณ์" กันนั่นก็คือ ..

หมวดสารูป

๑. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักนุ่งห่มให้เรียบร้อย สำหรับผู้ที่บวชพราหมณ์ ชายและหญิง ก็ปฏิบัติในข้อนี้อยู่แล้ว ด้วยการแต่งการแบบสุภาพ คือ "ชุดขาว" โดยเฉพาะ "ชีพราหมณ์" ถ้าจะให้เรียบร้อยจริง ๆ ควรจะนุ่งเป็นผ้าถุงก็จะดี ถือเป็นการอนุรักษ์ธรรมเนียมของหญิงไทย "เวลาไปวัด" ด้วย

๒. เราจักปกปิดกายด้วยดี , จักไม่เวิกผ้า ขณะที่ไปในบ้านหรือนั่งในบ้าน ข้อนี้สำหรับฆราวาสควรระมัดระวังเสื้อผ้าของตัวเองให้เรียบร้อยอยู่เสมอ ในขณะที่ปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัด

๓. เราจักระวังมือเท้าด้วยดี , จักมีตาทอดลง , จักไม่หัวเราะ , จักไม่พูดเสียงดัง , จักไม่โคลงกาย , จักไม่ไกลแขน เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ ท่านหมายเอาอาการรักษา "กาย วาจา" ให้เรียบร้อย คือ ไม่คะนองมือคะนองเท้า ไม่มองเลิ่กลั่ก ไม่หัวเราะสรวลเสเฮฮา หรือกระเซ้าเย้าแหย่กัน จะยิ้มหรือหัวเราะก็แต่เพียงเบา ๆ เวลาจะพูดกันก็พูดเรื่องเฉพาะกิจจริง ๆ อย่าใช้เสียงดังจนเกินไป เมื่อหมดธุระแล้ว ก็พยายามปลีกตัวไปอยู่แต่ผู้เดียว

ไม่คลุกคลีกับหมู่คณะ จะเป็นเพื่อนหรือญาติมิตรที่มาด้วยกัน (ชั่วคราว) เวลาเดินก็เดินโดยอาการปกติ ไม่โคลงกาย และแกว่งแขนจนเกินพอดี ข้อสารูปนี้นำมาโดยเพียงแค่นี้ พอที่ฆราวาสจะนำมาประพฤติปฏิบัติได้ในขณะที่บวชพราหมณ์ ชายและหญิง เพื่อให้สมกับที่เป็นพระเช่นกัน ตามที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็น "พระโยคาวจร" นั่นเอง

หมวดโภชนปฏิสังยุต

หมวดนี้ จะขอนำมาโดยย่อ พอที่จะปฏิบัติได้ดังนี้...
๑. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักรับบิณฑบาตโดยเคารพ ในข้อนี้ พระองค์ทรงสอนให้แสดงความเอื้อเฟื้อให้บุคคลผู้ให้ ไม่ใช่รับด้วยการดูหมิ่น

๒. เราจักแลดูแต่ในบาตร , จักรับแกงพอควรแก่ข้าวสุก , จักฉันบิณฑบาตโดยเคารพ , เมื่อฉันบิณฑบาตจักแลดูแต่ในบาตร เป็นต้น ในข้อนี้ผู้บวชพราหมณ์ทั้งหลายก็เช่นกัน เวลาที่เดินเข้าแถวต่อจากพระภิกษุสามเณร ในขณะที่เข้าไปตักอาหารไม่ควรมองสอดส่องเพื่อเลือกหาอาหารที่ตนเองชอบ หรือเดินแทรกแซงเข้าไปยื้อแย่งกัน จนบางครั้งมีเสียงจานหล่นบ้างช้อนหล่นบ้าง เป็นต้น

เมื่อจะตักข้าวและกับ ควรจะตักให้พอประมาณแล้วเดินไปด้วยอาการสำรวม ควรหาที่นั่งรับประทานให้เรียบร้อย ( ไม่ควรยืน ) เวลาจะกินควรจะพิจารณา อาหาเรปฏิกูลสัญญา ไปด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องนั่งคุยกันมากเกินไป และประการสำคัญ อย่าติดรสอาหารจนเกินไป ข้อนี้หมายถึงตักอาหารมากินแล้วไม่ชอบใจ กลับตำหนิติเตียนผู้ทีทำอาหาร หรือเพ่งโทษผู้ที่ตักอาหารที่ตนเองชอบไปหมด อย่างนี้เป็นต้น ท่านถือว่า "ฉันบิณฑบาตโดยไม่เคารพ"

๓. เราจักไม่ฉันโปรยเมล็ดข้าว , จักไม่ฉันแลบลิ้น , จักไม่ฉันดังจับ ๆ หรือดัง ซูด ๆ , จักไม่ฉันเลียมือ , จักไม่ฉันขอดบาตร , จักไม่ฉันเลียริมฝีปาก , จักไม่เอามือเปื้อนจับแก้วน้ำ เป็นต้น ข้อนี้ท่านสอนให้ฉันด้วยอาการสำรวม ไม่ฉันมูมมามสกปรก เป็นที่น่ารังเกียจต่อผู้อื่น ผู้บวชพราหมณ์ทั้งหญิงและชาย ควรถือเป็นข้อปฏิบัติด้วย ก็จะแลดูกิริยาสวยงามเช่นกัน

สรุปความ

เสขิยวัตร เป็นข้อวัตรที่ควรศึกษา เพื่อนำไปปฏิบัติสำหรับพระภิกษุสามเณร ส่วนฆราวาสจะนำไปปฏิบัติด้วยก็ได้ เพราะเป็นเรื่องของจริยามารยาท อันเป็นธรรมเนียมที่ควรปฏิบัติในเรื่อง การแต่งกาย การเดิน การนั่ง การกินอาหาร และการพูด ให้อยู่ในอาการสำรวมระวัง

เพื่อเป็นการรักษาความสงบทางกายวาจาใจ อันเป็นบันไดเข้าสู่มรรคผลนิพพานต่อไป ควรที่พระภิกษุสามเณร และอุบาสกอุบาสิกา จะนำมาประพฤติปฏิบัติให้เหมาะกับที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่า เป็นพุทธบริษัท ๔ อันมีเชื้อสายมาจากศากยบุตรชิโนรส ควรนำมาปฏิบัติให้พอดีพองามคือ.. ไม่เคร่งหรือไม่หย่อนจนเกินไป ให้ถูกกับกาลเทศะ เพื่อไม่ให้คนภายนอกพระศาสนาปรามาสว่า

หลังจากพระองค์ปรินิพพานแล้ว สาวกทั้งหลายของพระองค์ ต่างพากันเหยียบย่ำทำลายพระพุทธศาสนาด้วยการนุ่งห่มไม่เรียบร้อย การกินการอยู่ไม่มีอาการสำรวม เป็นต้น ฉะนั้น เมื่อเราหลีกเร้นออกมาจากการครองเรือนชั่วคราว เพื่อมาปฏิบัติ เนกขัมมะบารมี ก็ต้องสังวรณ์ไว้เสมอว่า เราเป็นนักบวชประเภทหนึ่ง ที่แต่งกายไม่เหมือนกับชาวบ้าน ธรรมดาแล้ว จะทำอะไรก็ต้องสำรวมระวังไว้เสมอ

แต่ก็ทำแค่พอดีนะ ถ้าไม่หลับนอน ไม่พูดจากับใครหลายวัน โรคประสาทกินแน่ มีตัวอย่างมาแล้ว ฉะนั้น จงทำตนเป็นผู้เลี้ยงง่าย มีความเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ อย่าเป็นคนเรื่องมาก เป็นต้น สุดท้ายนี้ ขอให้เจ้าภาพผู้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้และท่านผู้อ่านทั้งหลาย จงตั้งใจประพฤติจรรยามารยาทแต่พอประมาณ อย่านำข้อปฏิบัติไปเพื่ออวด หรือยกตนข่มท่าน และเพ่งโทษผู้อื่น เป็นอาทิ

ข้อสำคัญจะต้องรักษา กฎระเบียบ ทั้งหมดของสำนัก อีกประการหนึ่ง ถ้าตั้ง สัจจะอธิษฐาน ในข้อวัตร หรือการปฏิบัติธุดงค์อย่างไร ก็ควรจะปฏิบัติให้ได้ตามที่ตั้งใจไว้ แต่อย่าตั้งใจทำเพื่อทรมานตัวเองนะ มันจะไม่เกิดผล จะบกพร่องในตัวของเรามีอะไรบ้าง เมื่อมาปฏิบัติที่วัดแล้วมันจะเริ่มออกมาให้เราเห็น เพราะความเห็นแก่ตัวเป็นต้น พยายามปรับปรุงแก้ไขให้ได้

ครั้นกลับไปถึงบ้านแล้ว ความประพฤติที่ดีที่เปลี่ยนแปลงไป จะทำให้เกิดความสุขกับคนรอบข้าง จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้สืบเชื้อสายของ ศากยวงศ์ คือ วงศ์ของ "เจ้าศากยะ" นั่นเอง เพื่อที่จะได้เรียกพระนามของพระพุทธองค์ว่าทรงเป็น "พุทธบิดา" อย่างแท้จริง เหมือนกับผู้ที่อุบัติในกรุงกบิลพัสดุ์ ฉะนั้น จึงไม่ควรประพฤติให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่วงศ์ตระกูลของพระองค์... สวัสดี

ตอนที่ 3 ประวัติพระมหากัสสปเถระ » 



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
ตั้งหัวข้อใหม่

Go To Top