Not logged in [Login - Register]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites ตั้งหัวข้อใหม่
[*] posted on 8/7/08 at 19:51 [ QUOTE ]

หลักการปฏิบัติธุดงค์ (ตอนที่ 9 พระมหากัสสปกับพระสารีบุตร)


 « ตอนที่ 8 พระมหากัสสปกับพระอานนท์

ปรัมมรณสูตร
ว่าด้วย สัตว์ตายไปแล้วเกิดอีกหรือไม่เกิด


[๕๒๘] ...สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัสสป และ ท่านพระสารีบุตร อยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี

ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่เร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระมหากัสสปถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้วได้ปราศรัยกะท่านพระมหากัสสป ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนี่ง {น.๒๑๖}

[๕๒๙] ครั้นท่านพระสารีบุตร (สา) นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ถามท่านพระมหากัสสป (ก) ว่า

สา. ดูกรท่านกัสสป..สัตว์เมื่อตายไปแล้วเกิดอีกหรือ?
ก. ข้อนี้พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงพยากรณ์ไว้

สา. สัตว์เมื่อตายไปแลัวไม่เกิดอีกหรือ?
ก. แม้ข้อนี้ พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงพยากรณ์ไว้

สา. สัตว์เมื่อตายไปแลัว เกิดก็มี ไม่เกิดก็มี หรือ?
ก. ข้อนี้ พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงพยากรณ์ไว้

สา. สัตว์เมื่อตายไปแลัว เกิดอีกก็หามิได้ ไม่เกิดอีกก็หามิได้ หรือ?
ก. แม้ข้อนี้ พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงพยากรณ์ไว้

สา. เพราะเหตุไรหรือ ข้อที่กล่าวถึงนั้นๆ พระผู้มีพระภาคจึงมิได้ทรงพยากรณ์ไว้?

ก. เพราะข้อนั้นไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อเข้าไปสงบ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงมิได้ทรงพยากรณ์ไว้ {น.๒๑๖}

สา. ถ้าเช่นนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ไว้อย่างไรเล่า?
ก. พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ไว้ว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่งทุกข์ นี้ความ ดับทุกข์ นี้ทางให้ถึงความดับทุกข์

สา. ก็เพราะเหตุอะไร ข้อนี้พระผู้มีพระภาคจึงทรงพยากรณ์ไว้?

ก. เพราะข้อนั้นมีประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อเข้าไปสงบ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงพยากรณ์ไว้ {น.๒๑๖}

ที่มา - www.navy.mi.th/misc/budham/sut/pram.htm



กากวฬิยะเศรษฐี

สมัยที่องค์สมเด็จพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนมชีพอยู่ มีชายเข็ญใจผู้หนึ่ง ซึ่งมีนามว่า นายกากวฬิยะ ผู้มีวาสนาอาภัพ เพราะเกิดมาในตระกูลที่ยากจน เลี้ยงชีวิตอยู่ในโลกด้วยความยากลำบาก ต้องทำงานหนักตลอดทั้งวันไม่มีเวลาที่จะนึกถึงบุญกุศลสิ่งไรทั้งสิ้น

วันหนึ่งภรรยาของเขาเตรียมต้มข้าวกับผักดองรวมกันเป็นข้าวยาคูเปรี้ยว เพื่อจะให้เขากินตามประสาจน ขณะนั้น พระมหากัสสปเถระ สาวกองค์สำคัญแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านออกจากนิโรธสมาบัติอันประเสริฐพอดี จึงพิจารณาถึงบุคคลที่เข้าข่ายทุกข์ยากเข็ญใจที่ควรจักสงเคราะห์

ครั้นพระผู้เป็นเจ้าพิจารณาไป ก็ทราบด้วยญาณพิเศษว่า กระทาชายนายกากวฬิยะกับภรรยาของเขาซึ่งเป็นคนยากไร้ เป็นผู้สมควรจักได้รับการอนุเคราะห์มากกว่าผู้อื่น เมื่อทราบดังนั้นแล้วพระมหากัสสปเถระ ผู้มีใจกรุณา ก็จัดแจงเตรียมองค์นุ่งสบงจีวร ถือบาตรเดินมุ่งหน้าเข้าไปสู่ตัวเมือง และไปยืนอยู่แทบใกล้ประตูเรือนแห่งกากวฬิยะบุรุษนั้น

พอดีภรรยาของเขาออกมาจากประตูเรือนอันเก่าคร่ำคร่า ครั้นเห็นพระมหาเถรเจ้าผู้มีชื่อเสียงลือชา เป็นที่เคารพสักการะแห่งองค์พระมหากษัตริย์และเศรษฐีทั้งหลาย มายืนบิณฑบาตอยู่หน้าบ้านตนผู้เป็นคนเข็ญใจเช่นนั้น ก็บังเกิดความปีติใจ มีศรัทธาใคร่จะถวายบิณฑบาตทานแก่พระผู้เป็นเจ้า ด้วยข้าวยาคูเปรี้ยวที่ต้มเอาไว้เพื่อสามี ซึ่งขณะนี้ไม่อยู่ออกไปทำงานนอกบ้าน

ทันใดที่เกิดศรัทธาขึ้นอย่างแรงกล้า นางจึงรีบออกมาจากเรือนแล้วกระทำการอภิวาทและรับเอาบาตรแห่งพระมหาเถรเจ้าเข้าไปในเรือนใส่ข้าวยาคูเปรี้ยวลงจนหมดหม้อให้สมใจศรัทธา ไม่ได้แบ่งปันไว้ให้นายกากวฬิยะผู้เป็นสามีเลย

ครั้นแล้วก็น้อมนำเอาบาตรนั้นมาถวายแก่พระเถระด้วยความเลื่อมใสเป็นหนักหนา พระมหากัสสปเถรเจ้ารับเอาบาตรและกล่าวคำอนุโมทนาแล้วเดินกลับไปสู่วิหาร น้อมนำเอาข้าวยาคูเปรี้ยวนั้นไปถวายแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกต่อหนึ่ง

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรับเอาบาตรข้าวยาคูเปรี้ยวนั้นแล้วทรงมีพุทธฎีกาตรัสให้แบ่งแก่พระภิกษุทุกรูปที่อยู่ในวิหารนั้น เมื่อพระภิกษุสงฆ์ซึ่งมีองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นประธานฉันภัตตาหารและข้าวยาคูเปรี้ยวของคนเข็ญใจอยู่ด้วยความอนุเคราะห์นั้น

นายกากวฬิยะผู้รู้ข่าวว่าภรรยามีศรัทธาถวายอาหารอันเป็นส่วนของตน ให้แก่พระมหากัสสปเถรเจ้าองค์อรหันต์ ก็ดีใจสุดประมาณและติดตามมาจนถึงวิหาร ในขณะที่พระภิกษุสงฆ์ฉันเสร็จพอดี ดังนั้น เขาจึงมีโอกาสได้รับประทานอาหารอันเป็นส่วนที่เหลือจากพระฉันแล้วอีกด้วย

เพื่อที่จักยังความปรีดาปราโมทย์ให้เกิดขึ้นแก่คนเข็ญใจโดยยิ่ง พระมหากัสสปเถรเจ้าจึงกราบทูลถามสมเด็จพระบรมครูสัพพัญญูเจ้าขึ้นต่อหน้านายกากวฬิยะนั้นว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระภาค..พระพุทธเจ้าข้า ภรรยาของนายกากวฬีย์ผู้นี้ มีศรัทธาถวายบิณฑบาตทานกาลต่อมาเมื่อตัวนายกากวฬีย์เองทราบข่าว ก็มีจิตยินดีปรีดาในอาหารบิณฑบาตทานนั้นเป็นอย่างยิ่ง อานิสงส์แห่งทานของเขาทั้งสองในครั้งนี้จักมีประการใด พระพุทธเจ้าข้า ?"

สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้า จึงมีพุทธฎีกาตรัสพยากรณ์ว่า

"ดูกรกัสสปะ ! นับแต่วันนี้ไปได้ ๗ วัน กากวฬียบุรุษผู้นี้ จักได้ฉัตรสำหรับเศรษฐี เขาจักได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเศรษฐีจากองค์พิมพิสารราชาบดี ในเมื่อครบ ๗ วันนับจากนี้เป็นต้นไป"

นายกากวฬิยะคนยากไร้ เมื่อได้สดับฟังพุทธฎีกาตรัสดังนั้น ก็พลันน้ำตาไหลด้วยความดีใจ ถวายบังคมสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและถวายนมัสการแด่พระมหากัสสปะเถระผู้มีพระคุณและภิกษุทั้งหลายกลับไปบ้าน แล้วบอกความที่สมเด็จพระพุทธองค์ได้ตรัสพยากรณ์นั้นแก่ภรรยาของตน ครั้นนางได้ฟังความที่สามีบอก ก็มีจิตชื่นใจในทานบิณฑบาตที่ได้ถวายแก่พระมหากัสสปเถระเจ้าผู้เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติเป็นยิ่งนัก

ในกาลนั้น สมเด็จพระเจ้าพิมพิสารราชาธิบดีผู้เป็นใหญ่แห่งนครราชคฤห์ เสด็จราชกิจเพื่อดูขอบเขตแห่งภูเขาและประเทศอันล้อมรอบไปด้วยภูเขาน้อยใหญ่ ถัดจากภูเขานั้นไปมีป่าใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งประชากรทั้งหลายพากันขนานนามเรียกว่า "มหาเปตโลก" เป็นสถานที่ซึ่งมีคำเล่าลือกันว่า เป็นที่อาศัยอยู่ของบรรดาผีดุร้าย ยามราตรีไม่มีผู้คนใดกล้าเข้าไปที่นั่นเลย

เมื่อพระเจ้าพิมพิสารเสด็จมาถึงป่ามหาเปตโลก ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นนายโจรนักโทษประหารผู้หนึ่ง ซึ่งถูกลงโทษด้วยการเสียบเป็น ให้ได้รับทุกขเวทนาอยู่อย่างนั้นจนกว่าจะตายไปเอง พระองค์ก็ทรงเข้าไปไต่ถามความเป็นไป ขณะนั้นนายโจรได้เหลือบเห็นพระเจ้าพิมพิสารก่อนก็ตะโกนขึ้นว่า

"ข้าแต่พระเจ้าแผ่นดิน ! มีอะไรกินบ้างหรือไม่ ถ้ามีก็รีบเอามาไว ๆ ถ้าไม่มีก็อย่าได้เข้ามาใกล้ ข้านี้เป็นโจรใจร้าย ได้รับโทษตามกฎหมายของท่านในครั้งนี้แสนสาหัสฉกรรจ์นัก"

เมื่อทรงได้ยินดังนั้น องค์นฤบดีพิมพิสารโสดาบัน ก็ยิ่งทรงมีพระทัยสงสารเป็นยิ่งนัก แล้วมีพระราชดำรัสแก่นายโจรว่า

"ดูกรเจ้าโจรเอ๋ย ! การที่เจ้ารับกรรมในครานี้เป็นผลจากการกระทำของเจ้า แต่เราก็จนใจจริงๆ เพราะไม่มีอาหารสิ่งใดติดมือมาเลย เอาเถิดเมื่อเรากลับถึงเมืองแล้ว จักให้คนนำอาหารมาให้เจ้า"

แล้วพระองค์ก็เสด็จกลับสู่พระนคร ครั้นเมื่อถึงเวลาเสวยพระกระยาหาร พระองค์ก็คิดระลึกขึ้นได้ว่า ทรงรับคำจะนำอาหารไปให้นายโจร ด้วยกลัวว่าจะเสียสัตย์จึงมีพระราชโองการให้จัดหาคนที่สามารถนำเอาอาหารไปให้นักโทษโจรร้าย ในป่ามหาเปตโลกได้ภายในราตรีนั้น จะพระราชทานทรัพย์ให้จำนวน ๑,๐๐๐ ตำลึง

อย่าว่าจะไปในยามราตรีเลย เพียงแค่ได้ยินคำว่ามหาเปตโลกเท่านั้น คนทั้งหลายก็เกิดความสะดุ้งกลัว ใจคอหวาดหวั่นเหมือนกับใช้ให้ไปหาพระกาฬ

ฉะนั้น จึงยากที่จะหาผู้ใดอาสาไปกระทำการ พระองค์จึงให้อำมาตย์ทั้งหลายไปป่าวประกาศในเมือง เพื่อหาคนใจกล้าไปยังมหาเปตโลกในยามราตรีให้จงได้

ด้วยทิฏฐธัมมเวทนียกรรมฝ่ายกุศลก็เข้าดลจิตภรรยาแห่งนายกากวฬิยะคนเข็ญใจให้เกิดใจกล้าคิดจักรับอาสา จึงออกมาจากเรือนแล้วเข้าไปแจ้งความแก่อำมาตย์เหล่านั้น และรับทรัพย์ ๑,๐๐๐ ตำลึงไว้

ในกาลนั้น ยังมียักษ์ตนหนึ่งชื่อว่า ทีฆฏผลยักษ์ สิงอยู่ที่ต้นตาลภายนอกมหานครมานานแล้วเห็นภรรยาแห่งนายกากวฬิยะซึ่งแต่งกายเป็นบุรุษ แบกถาดทองใส่อาหารเดินมาในยามวิกาลเช่นนั้นก็ร้องเรียกออกไปด้วยเสียงมนุษย์ว่า

"เจ้าเป็นใคร ! เหตุใดจึงกล้าเข้ามาในอาณาเขตแห่งเรา หาไม่แล้วจะเคราะห์ร้ายรู้หรือไม่เล่า แล้ว จะตกเป็นภักษาหารของเรา"

เมื่อนางได้ยินก็เอ่ยวาจาขึ้นด้วยความตกใจว่า "ท่านเป็นใคร ?"

"เราเป็นยักษ์ เป็นบริวารแห่งท้าวเวสสุวรรณเทพบุตราธิบดี แล้วท่านเป็นใครล่ะ ?"

"เราเป็นราชทูตแห่งพระเจ้าพิมพิสาร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เราไปที่ป่ามหาเปตโลก ด้วยพระราชกิจรีบร้อน"

"อ๋อ...ถ้าเช่นนั้นก็ไม่เป็นไร เมื่อครู่ท่านว่าท่านจะไปยังป่ามหาเปตโลก เราก็มีกิจของเราอย่างหนึ่ง ใคร่ขอวานท่านผู้เป็นราชทูตให้ช่วยกิจเราอย่างหนึ่งด้วยเถิด เมื่อท่านไปใกล้ป่ามหาเปตโลก ท่านจงตะโกนร้องประกาศด้วยเสียงอันดังว่า

บัดนี้ ! นางกาลีผู้เป็นธิดาแห่งท่านสุมนะเทวราชซึ่งเป็นภรรยาแห่งทีฆฏผลยักษ์ ได้บุตรเป็นเพศชายแล้ว ! ท่านจงประกาศตามที่เราสั่งนี่แหละ

ถ้าคำป่าวประกาศของท่านรู้ไปถึงสุมนะเทวราชด้วยประการใดก็ตาม เราจะให้ขุมทรัพย์ ๗ ขุม ที่เราเฝ้าอยู่ในบริเวณนี้แก่ท่าน"

เมื่อนางรับคำทีฆฏผลยักษ์แล้ว นางก็เดินไปร้องป่าวประกาศไปด้วยจนใกล้ถึงป่ามหาเปตโลก ขณะนั้น สุมนะเทวราชผู้เป็นใหญ่กว่ายักษ์ทั้งหลายในป่ามหาเปตโลก ได้ให้โอวาทแก่บริวารยักษ์จบลงแล้ว ก็มียักษ์ผู้มีศักดิ์น้อยตนหนึ่ง เข้าไปกราบเรียนว่า

"บัดนี้ ! นางมนุษย์ผู้หนึ่งเดินทางมุ่งหน้ามายังป่ามหาเปตโลกและป่าวร้องว่าพระธิดาแห่งท่านให้กำเนิดบุตรชายแล้ว"

เมื่อสุมนะเทวราชได้ทราบข่าวดังนั้น ก็ให้บริวารยักษ์เหล่านั้นไปนำนางสตรีดังกล่าวเข้ามาถามไถ่ รวมทั้งมีบัญชาให้บริวารยักษ์ไปสอบถามความจากทีฆฏผลยักษ์บุตรเขย เพื่อความแน่ใจด้วย เมื่อทราบว่าเป็นจริงดังกล่าว ก็มีใจผ่องแผ้วเป็นหนักหนาและกล่าวกับนางว่า

"ดูกรนางมนุษย์ ! ท่านผู้เป็นราชทูตแห่งพระเจ้าพิมพิสารราชาบดี อุตส่าห์นำเอาอาหารมาให้ผู้ใกล้ตายในป่ามหาเปตโลก นับว่าเจ้าเป็นบุคคลที่มีใจกล้าหาญ มิหนำซ้ำยังนำข่าวหลานชายซึ่งเป็นข่าวดีมาสู่เรา ฉะนั้นเราจึงใคร่ตอบแทนท่าน

สมบัติอื่นใดที่จะเหมาะสมแก่มนุษย์เช่นท่านนั้นเราหามีไม่ นอกเสียจากขุมทรัพย์อันเป็นของคนโบราณซึ่งฝังใต้ร่มไทรนี้ อันมีเราเป็นผู้ดูแลรักษาอยู่ซึ่งไม่มีประโยชน์ต่อเรา เราจึงใคร่ยกให้ท่านผู้เป็นมนุษย์ พรุ่งนี้จงมาขุดเอาไปเถิด เราอนุญาตให้จนหมดสิ้น"

เมื่อนางอำลาท้าวสุมนะเทวราชแล้ว ก็นำเอาถาดอาหารเดินเข้าสู่ป่ามหาเปตโลกและนำเอาอาหารป้อนสู่ปากนักโทษเสียบเป็น ให้เขาได้บริโภคตามความปรารถนาด้วยความเมตตาสงสาร และนำเอาถาดทองเปล่ากลับมาสู่พระราชวัง กราบบังคมทูลประพฤติเหตุทั้งปวง

รุ่งขึ้นสมเด็จพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นใหญ่ ตระเตรียมเกวียนหลายเล่มและออกเดินทางสู่บริเวณขุมทรัพย์ โดยมีสตรีผู้กล้าเป็นผู้นำทาง

เมื่อเจ้าพนักงานพากันขุดตามที่นางชี้บอกก็พบทรัพย์สมบัติมหาศาลของแผ่นดินดังที่นางกล่าวไว้ เมื่อขุดสมบัติเสร็จสิ้นแล้ว พระเจ้าพิมพิสารก็ได้ประชุมหมู่พฤฒามาตย์ราชปุโรหิตาจารย์ทั้งหลาย ทรงปรึกษาราชกิจว่าควรจักทำประการใด ราชปุโรหิตาจารย์ทั้งหลายลงมติกราบทูลว่า

"นางควรจักได้รับฉัตรเศรษฐี แต่ด้วยนางเป็นสตรี จึงควรพระราชทานฉัตรเศรษฐีให้แก่สามีของนางตามเยี่ยงอย่างประเพณี เพื่อที่นางจักได้เป็นใหญ่ในเรือนเสวยความสุขโดยความเป็นเศรษฐีสืบไป"

พระราชาทรงเห็นด้วยกับคำกราบทูลนั้น จึงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้นายกากวฬิยะเป็นเศรษฐีประจำแผ่นดิน มีพระราชทินนามว่า "ธนเศรษฐี" แล้วทรงพระราชทานฉัตรเศรษฐีให้แก่เขาเป็นเกียรติยศ สมดังคำทำนายขององค์สมเด็จพระบรมสุคตกล่าวไว้ก่อนนั้นทุกประการ.

ด้วยความตั้งใจที่จะบริจาคทานแม้จะทุกข์ใจยากเข็ญสักเพียงใด ท่านทั้งสองก็ยังเลื่อมใสศรัทธายึดมั่นในคุณแห่งพระพุทธองค์ นับเป็นตัวอย่างของพุทธศาสนิกชนอันดี

ดังนั้นในฐานะที่เราท่านทั้งหลายก็เป็นลูกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เราควรร่วมมือร่วมใจกันประสานสามัคคี ประกอบความดีให้เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองต่อไป.

ที่มา -www.kmitl.ac.th/buddhism/webpatji/chadok/chadok/kakavilaya.html



ลูกศิษย์พระมหากัสสป

ดังนิทานที่มีมาว่า ยังมีบุรษผู้หนึ่ง เป็นลูกศิษย์ของพระมหากัสสป บวชเป็นภิกษุได้ฌานโลกีย์ ครั้นเห็นรูปหญิงที่งามก็มีความยินดี

ฌานโลกีย์ก็เสื่อมจากสันดาน จึงสึกออกไปคบกับพวกโจร เที่ยวกระทำโจรกรรมด้วยโจรทั้งหลาย ราชบุรุษเขาจับมัดมาเพื่อจะประหาร

ตัง ทิวะสัง..ในวันนั้นพระมหากัสสปเข้าไปบิณฑบาต เห็นบุรุษที่เป็นลูกศิษย์ก็มิจิตกรุณา จึงมีเถรวาจาว่า ท่านจงเจริญพระกรรมฐานที่ท่านได้เล่าเรียนมาแต่กาลก่อน

บุรุษลูกศิษย์นั้นก็ทำตามคำพระอาจารย์ เจริญพระกรรมฐานยังฌานให้บังเกิดขึ้น ราชบุรุษทั้งหลายจึงนำบุรุษนั้นไปสู่ที่ฆ่า

ให้บุรุษนั้นนั่งบนไม้เสียบแล้วก็คุกคามด้วยอาวุธ บุรุษโจรนั้นก็มิได้ตกใจกลัวแก่ความตาย ราชบุรุษทั้งหลายเห็นอัศจรรย์ จึงไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร พระองค์รับสั่งให้ปล่อยโจรนั้นไป

ตัสสะมิง ขะเณ..ในขณะนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่ในพระเวฬุวันมหาวิหาร แผ่รัศมีสว่างไปถึงบุรุษนั้นแล้วก็ตรัสเทศนา

บุรุษโจรนั้นนั่งอยู่เหนือไม้เสียบ ได้ฟังธรรมเทศนา ก็พิจารณาในพระไตรลักษณ์ ก็เห็นแจ้งประจักษ์ในสังขาร สำเร็จพระอริยมรรคญาณ ก็เหาะไปสู่เวฬุวันบวชในพระพุทธศาสนา ก็สำเร็จพระอรหัตตัดกิเลสจากสันดาน ดังรับประทานวิสัชนามาฉะนี้ ฯ



พระเกียรติคุณของพระมหากัสสปเถระ

พระมหากัสสปะเถระ ได้รับการยกย่องให้เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ของพระพุทธองค์ ว่าโดยลำดับแล้วก็จัดอยู่ในลำดับที่ ๓ ของหมู่พระมหาสาวก

รองจาก พระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาและเบื้องซ้าย สมดังที่ท่านได้รับพุทธพยากรณ์จาก พระปทุมุตตระพุทธเจ้า ท่านจะเป็นพระสาวกที่ ๓ ของพระโคดมพุทธเจ้า

แต่ในทางปฏิบัติ ในสมัยพุทธกาลนั้น พระอัครสาวกทั้งสองต่างก็ได้นิพพานไปก่อนพระพุทธองค์ทั้งสิ้น ส่วนพระมหากัสสปะมีอายุยืนต่อมาหลังพุทธปรินิพพาน จึงนับได้ว่าท่านเป็นประธานของเหล่าภิกษุหลังพุทธปรินิพพาน

ท่านได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์เป็นอันมาก รวมทั้งการสถาปนาเป็นเอตทัคคะ เป็นยอดของภิกษุผู้ทรงธุดงค์ ๑๓

ซึ่งตามอรรถกถาได้กล่าวไว้ว่า โดยปกติมหาสาวกผู้จะได้รับการแต่งตั้งเป็นเอตทัคคะทางด้านใดด้านหนึ่งนั้น ก็ย่อมจะต้องได้มาด้วยเหตุ ๔ ประการคือ

๑. โดยเหตุเกิดเรื่อง
๒.โดยการมาก่อน
๓. โดยเป็นผู้ช่ำชองชำนาญ และ
๔. โดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ


ในเหตุ ๔ อย่างนั้น พระเถระบางรูป ย่อมได้ตำแหน่งเอตทัคคะ โดยเหตุอย่างเดียว บางรูปได้โดยเหตุ ๒ อย่าง บางรูปได้โดยเหตุ ๓ อย่าง บางรูปได้ด้วยเหตุ ทั้ง ๔ อย่าง ท่านพระมหากัสสปเถระก็เป็นท่านหนึ่งที่ได้ตำแหน่งดังกล่าวด้วยเหตุครบทั้ง ๔ อย่าง

๑. โดยเหตุเกิดเรื่อง เรื่องที่เป็นเหตุก็คือเรื่องพระศาสดาทรงทรงเปลี่ยนจีวรกับพระมหาเถระ ด้วยทรงพิจารณาว่า

อันว่าจีวรที่เก่าเนื่องเพราะใช้ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ ถึงเก่าแล้วคนที่มีคุณเพียงนิดหน่อยไม่อาจครองได้ จีวรเก่าดังกล่าวนี้

เฉพาะบุคคลผู้อาจสามารถในการบำเพ็ญข้อปฏิบัติ ผู้ถือผ้าบังสุกุลมาแต่เดิม เช่นพระมหาเถระจึงจะควรรับเอา และไม่เคยมีการประทานจีวรที่ทรงห่มแล้วแก่พระสาวกองค์ใดเลย

๒. โดยการมาก่อน ก็คือ ท่านพระเถระนี้มิใช่เป็นผู้ทรงธุดงคคุณมาก แต่ในปัจจุบันเท่านั้น ถึงในอดีต แม้ท่านบวชเป็นฤาษี ท่านก็เป็นผู้บำเพ็ญบารมีในทางทรงธุดงคคุณมาก มาถึง ๕๐๐ ชาติ

๓. โดยเป็นผู้ช่ำชองชำนาญ ก็คือ เมื่อท่านอยู่ท่ามกลางบริษัท ๔ เมื่อแสดงธรรม ย่อมไม่ละเว้นที่จะแสดงกถาวัตถุ ๑๐

ซึ่งเป็นธรรมที่ชักนำให้พุทธบริษัท มีความปรารถนาน้อย มีความสันโดษ มีความสงัดกาย สงัดใจ ชักนำให้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ชักนำให้ปรารภความเพียร ฯลฯ ซึ่งเป็นคุณของการทรงธุดงควัตรทั้งสิ้น

๔. โดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ ก็คือ เว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสีย สาวกอื่นผู้เสมอเหมือนพระมหากัสสปะ ด้วยธุดงคคุณ ๑๓ ไม่มี เพราะฉะนั้นพระเถระได้โดยยิ่งด้วยคุณอย่างนี้.

นอกจากจะได้รับการสถาปนาเป็นเอตทัคคะแล้ว ท่านยังได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์อีกหลายประการ

ดังที่ท่านได้ปรารภเมื่อครั้ง สุภัททะภิกษุ กล่าวจาบจ้วงพระพุทธองค์เมื่อทราบข่าวการเสด็จดับขันธปรินิพพานว่าและปรารถนาจะกระทำสังคายนาว่า

“ทรงยกย่องเราเป็นกายสักขี (มีวิหารธรรมเสมอด้วยพระองค์) ทรงมอบความเป็นสกลศาสนทายาท ๓ ครั้ง” (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑)

ตัวเราอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

ดูก่อนกัสสปะ เธอจักห่มได้หรือไม่ ซึ่งผ้าป่านบังสุกุลที่ใช้เก่าแล้วของเรา ดังนี้ ทรงอนุเคราะห์ด้วยสาธารณบริโภคในจีวร

และด้วยการสถาปนาไว้เสมอกับพระองค์ในธรรมอันยิ่งของมนุษย์ ต่างโดยอนุปุพพวิหาร ๙ และอภิญญา ๖ เป็นต้น โดยนัยเป็นต้นอย่างนี้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราต้องการสงัดจากกาม ทั้งหลาย สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌานอยู่เพียงใด ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย แม้กัสสปะต้องการสงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากอกุศลธรรม ทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌานอยู่เพียงนั้น ดังนี้ (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑)

ยิ่งกว่านั้นยังสรรเสริญ ด้วยความเป็นผู้มีจิตไม่ติดอยู่ในตระกูล เหมือนสั่นมือในอากาศ และด้วยปฏิปทาเปรียบด้วยพระจันทร์ ว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กัสสปะเปรียบเหมือนดวงจันทร์ เข้าไปหาตระกูล ไม่คะนองกายไม่คะนองจิต เป็นผู้ใหม่เป็นนิตย์ ไม่ทะนงตัวในตระกูล” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔)

และในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่พราหมณ์ว่า

“ในหมู่มนุษย์ทั้งปวง ผู้ใดเป็นกษัตริย์ หรือเป็นพราหมณ์สืบวงศ์ตระกูลมาเป็นลำดับ ๆ ตั้ง ๑๐๐ ชาติ ถึงพร้อมด้วยไตรเพท

ถึงแม้จะเป็นผู้เล่าเรียนมนต์ เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งเวท ๓ การกราบไหว้ผู้นั้นแม้บ่อย ๆ ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ซึ่งจำแนกออก ๑๖ ครั้ง ของบุญที่ไหว้พระกัสสปะนี้เพียงครั้งเดียวเลย”


เกิดร่วมสมัยกับพระโพธิสัตว์

ท่านพระมหากัสสปได้เคยเกิดร่วมชาติกับพระโพธิสัตว์อยู่หลายชาติ ดังที่ปรากฎในชาดกต่าง ๆ เช่น

๑. เกิดเป็น พระสูระ พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น พระเจ้าจันทราช ใน "จันทกุมารชาดก"

๒. เกิดเป็นน้องชายหนึ่งใน ๖ คน พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น มหากัญจนดาบส ใน "ภิงสจริยาชาดก"

๓. เกิดเป็น ทุกูละดาบส พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น สุวรรณสาม ใน "สุวรรณสามชาดก"

๔. เกิดเป็น บิดาของมาณพ ผู้เสาะหาวิชา พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น อาจารย์ ใน "อสาตมันตชาดก" ดังนี้


ตอนที่ 10 พระมหากัสสปได้รับหน้าที่อันสำคัญ » 



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
ตั้งหัวข้อใหม่

Go To Top