Not logged in [Login - Register]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites ตั้งหัวข้อใหม่
[*] posted on 2/7/08 at 10:57 [ QUOTE ]

อิทธิฤทธิ์หรือความบังเอิญ (ตอนที่ 5 ครูบาอินทรจักรรักษา)






ตอนที่ ๕

ครูบาอินทรจักรรักษา


(หรือพระเดชพระคุณ “พระสุธรรมยานเถระ”

แห่งวัด “น้ำบ่อหลวง” อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่)




พวกเราเสร็จจากนมัสการกราบเยี่ยมท่านพระบาทตากผ้า ก็เดินทางต่อไปยัง วัดดอนมูล อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีความตั้งใจที่จะไปนมัสการกราบเยี่ยมพระอริยะที่จนเกือบจะที่สุด แต่ไม่เจอะเจอ “ท่านทุกขิตะ” หรือ "หลวงปู่คำแสนน้อย" พวกเราก็เลยเบนเข็มไปนอนก่อนสักวัน รุ่งขึ้นวันพรุ่งนี้จึงจะช่วยกันคิดว่าจะไปเที่ยวหรือไปนมัสการกราบเยี่ยมพระดีๆ ที่ไหนกันต่อไป

ดังนั้น ครั้นพอเช้ามืดวันต่อมา เราก็ปลุกพลพรรคออกไปช้อปปิ้งกันก่อนไป ระหว่างที่คณะศิษย์ส่วนใหญ่กำลังช้อปปิ้งกันนั่นเอง ได้มีศิษย์บางท่านแนะนำและชักชวนหลวงพ่อว่า น่าจะลองไปเที่ยวกันที่ วัดน้ำบ่อหลวง เพราะที่วัดนี้มีพระดีอยู่อีกองค์หนึ่งคือท่าน “ครูบาอินทจักโก” ซึ่งเป็นองค์พี่ชายของท่านครูบาพรหมจักโก แต่ไม่ทราบว่าท่านจะอยู่วัดหรือไม่ เพราะไม่ได้นัดหมายกันล่วงหน้าเอาไว้ก่อน พอมีคนชวน หลวงพ่อฯก็ตกลงอนุมัติทันทีให้เดินทางไปโดยเร็ว พวกเรารีบรวบรวมพลพรรคที่ออกไปช้อปปิ้ง โดยพากันเร่งรัดเวลาแล้วรีบออกเดินทางไปวัดน้ำบ่อหลวง

ส่วนท่านวัดน้ำบ่อหลวง พอตื่นจากจำวัดก็สั่งให้มรรคทายกจัดเตรียมศาลาและอาหาร บอกกับเหล่าทายกทายิกาว่า จะมีศรัทธาจากกรุงเทพฯ มากันมาก ไวยาวัจกรว่าไม่มีใครมาบอกอะไรไว้นะ หลวงพ่อฯท่านก็ว่า “เหอะ..เดี๋ยวจะมีมาละก็จะไม่ทัน”

ปรากฎว่าพอเลี้ยวรถเข้าวัดถามไถ่ได้ความว่า ท่านวัดน้ำบ่อหลวงไปรอรับพวกเราอยู่ที่ศาลาแล้ว จึงได้พากันเข้าไปกราบนมัสการ แหม..! แทบไม่น่าเชื่อ สำรับอาหารคาวหวานตั้งเอาไว้พร้อมแล้วยังกับรู้ล่วงหน้า พอลงจากรถก็ได้กินได้ฉันทันเพลพอดี เมื่ออิ่มหนำสำราญกันดีแล้ว หลวงพ่อฯก็พาพวกเราเข้าไปกราบนมัสการอีกทันที สอบถามเลยว่า “ท่านรู้ได้อย่างไรว่าพวกกระผมจะพากันมาหาขอรับ” ท่านก็บอกว่า “มีคนบอก” หลวงพ่อฯ ของเราซักอีกว่า “ใครบอก” ท่านก็ไม่ยอมพูดถึงว่าใครบอก ตอบสั้นๆว่า “รู้” แล้วมองหน้าหลวงพ่อของเราพูดกันด้วยภาษาสายตา

ที่ผมขอเดาเอาเองว่า แหม..ท่านก็รู้แล้วยังแกล้งมาทำเป็นมาถาม แกล้งทำเป็นไม่รู้ อะไรต่ออะไร มันก็เหมือนไก่เห็นไข่พญานาคา เอ๊ย..ไม่ใช่..ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่นั้นแหละ หลวงพ่อของเราจึงขออภัยนมัสการกราบเรียนว่า

“กระผมนั้นทราบดี แต่ทว่าลูกศิษย์ที่ติดตามมา แม้ล้วนเป็นนักบุญก็จริงแต่ยังมีความสงสัย จึงเป็นหน้าที่ของอาจารย์ที่จะต้องทำให้ข้อสงสัยข้องใจนั้นปรากฎความจริงออกมา หาได้มีจิตคิดจะลบหลู่ท่านครูบาแต่ประการใด”

ท่านก็หัวเราะและอมยิ้ม กิริยามารยาทที่พระสุปฏิปันโนสององค์ ท่านน้อมคารวะปฏิสันถารกันอย่างน่าจดจำไว้เป็นตัวอย่าง สร้างความประทับใจให้กับเหล่าศิษยานุศิษย์ยิ่งนัก เมื่อหลวงพ่อปฏิสันถารโต้ตอบกับท่านวัดน้ำบ่อหลวง จนกระทั่งท่านยอมรับแล้วว่า สำหรับท่านนั้น สังขารมันป่วยแต่ใจไม่ป่วยแล้ว พวกเราต่างก็ชื่นอกชื่นใจ ยิ่งได้ฟังสองท่านปุจฉาวิสัชนากันจนสิ้นสงสัยก็ยิ่งชื่นอกชื่นใจ แหม..องค์ปุจฉาก็ฉลาดลึก ส่วนองค์วิสัชนาก็ฉลาดล้ำ บัวก็ไม่ช้ำ..น้ำก็ไม่ขุ่น ผู้เห็นผู้ได้ยินได้ฟังต่างบังเกิดปีติยิ่งนัก

สำหรับผมเองนั้น นอกจากจะเฝ้ามองอย่างเป็นสุขแล้ว ก็ยังได้บังเกิดข้อคิดขึ้นมาในใจอีกว่า ผู้ใหญ่ที่มีบารมีจริงๆแล้ว ท่านกลับโอภาปราศรัยมีสัมมาคารวะดียิ่ง นอบน้อมถ่อมตนเหลือเกิน พูดง่ายๆ ว่าไม่เห็นท่านเบ่งหรืออวดเก่งทับถมกันเลย ผิดกับพวกลิ่วล้อซึ่งชอบวางโต..แต่ใจเล็กและแคบ ท่านที่เดินล่วงหน้าไปข้างหน้า ไม่ใช่ว่าท่านจะถึงก่อนเสมอไปนะครับ

ท่านพระสารีบุตร ท่านบรรลุพระโสดาบันก่อนท่านพระโมคคัลลาน์ แต่ท่านพระโมคคัลลาน์สำเร็จพระอรหันต์ก่อนท่านพระสารีบุตรนะครับ (หรือท่านคิดว่าจะเอาอย่างความเป็นเลิศทางปัญญา เหมือนท่านพระสารีบุตรก็ตามใจเถิดนะขอรับ ปัญญาไม่ใช่สัญญานะ)

เมื่อสนทนากันเสร็จสิ้นกระบวนความแล้ว ก็ถึงพิธีการแจกเครื่องรางของขลัง สำหรับผมเองนั้นบอกแล้วไงครับว่า สมัยนั้นน่ะอยู่หางแถวและนั่งอยู่ไกลกว่าใครเขา ไม่ว่าใครจะมาจากไหน ท่านก็แจกพระรอดให้คนละองค์ ใครตื้อดีก็ได้เพิ่มไปฝากลูกฝากหลานอีกคนละองค์สององค์ ผมนั้นตั้งจิตอธิษฐานว่าเครื่องรางของขลังนั้น กระผมอยากที่จะได้นำไปฝากพวกที่กำลังรบหนักอยู่ที่ชายแดน

ผมจากเขามาเพราะเจ็บป่วยเนื่องจากถูกยิงเสียก่อน ทิ้งพวกทิ้งเพื่อนที่กำลังรบราติดพันอยู่ ไม่ได้อยู่เคียงบ่าเคียงไหล่กับพวกเขา จึงอยากจะได้เพื่อนำไปให้เพื่อช่วยเป็นกำลังใจเขา เออ..แน่ะ! ได้ผลแฮะ..พอถึงคิวที่ผมได้เข้าไปรับปุ๊บ (ก็โหล่สุดนั่นแหละครับ) พระเดชพระคุณหลวงพ่อของเราว่าให้เองปั๊บ..เลย

“ไอ้นี่มันเป็นนักรบ อยากได้เครื่องรางของขลังไปให้กำลังใจพวกของมัน ขอให้มันเยอะๆ เถิดขอรับ พวกมันมีมาก”

ปรากฎว่ามีพระเหลืออยู่สิบกว่าองค์ในก้นถุง ท่านก็ยกให้หมดและยังบอกว่าวันหลังมาเอาใหม่ พวกเราว่าหลวงพ่อของเราท่านรู้วาระจิตไหมขอรับ หรือเห็นว่าเป็นเรื่องบังเอิญอีก (ช่างบังเอิญได้ตรงเป๊ะ..เชียวนะครับ และก็ช่างบังเอิญได้บ่อยๆ เสียด้วย แบบนี้ต้องเรียกว่า “ประจำ” มากกว่า)

ท่านวัดน้ำบ่อหลวงนั้น ก่อนหน้าที่พวกเราจะพากันไปกราบนมัสการ ท่านป่วยเป็นมะเร็งและเป็นมากแล้ว หมอเขาว่าตายแหงแบเบอร์ให้โยมนำกลับมาที่วัดเสีย เพราะอย่างไรก็รักษาไม่หายแล้ว เอามาไว้เสียที่วัดใกล้ญาติใกล้โยมจะได้ทำศพกันได้โดยสะดวก แล้วท่านก็ตายไปจริงๆ ตายไปกี่วันผมจำไม่ได้ ยังดีนะที่เขาไม่จับท่านฉีดยากันเน่า ไม่อย่างนั้นท่านก็คงจะต้องเน่าเพราะยา ดูเหมือนจะเป็นสามวันมั๊งที่ท่านตายไป

พอพ้นวันที่สามท่านก็ฟื้น โชคดีอีกที่เขาไม่เอาท่านใส่โลงปิดฝา ไม่งั้นไม่ฟื้นดีกว่าครับ เพราะถึงฟื้นก็จะต้องมาตายซ้ำเพราะขาดอากาศจะหายใจ และกว่าจะขาดใจตายก็คงจะอึดอัดทุรนทุรายน่าดูเลย

(กรุณาไปหาหนังสืออ่านเอาเองนะครับว่าตอนที่ท่านตาย ท่านไปเที่ยวที่ไหนมา ทราบว่ามี พระภิกษุท่านหมอประสาน เหตระกูล ลูกศิษย์ของท่านเขียนเล่าไว้ละเอียดแล้ว ท่านที่เคยหรือไม่เคยอ่าน ลองไปเที่ยวที่วัดน้ำบ่อหลวง แล้วแวะไปดูเจดีย์ครอบพระพุทธบาทจำลอง จะเห็นว่ามีการจำลองพระจุฬามณี นรก สวรรค์ เพียบ...ตามที่ท่านไปเห็นและจำไว้ ครั้นเมื่อกลับมาแล้วจึงได้สร้างเลียนแบบตามที่ได้ไปเห็น)

เมื่อมีการรับรองอย่างนี้แล้ว ท่านว่านรก สวรรค์ พระจุฬามณี มีไหมครับ เชื่อหรือไม่เชื่อก็ตามใจนะครับ สอนยากจริงๆ แถมดื้ออีกต่างหาก หรือพวกเราจะไปดูของจริงก็ได้นะครับ "มโนมยิทธิ" ยังไงล่ะ..พ่อคุณแม่คุณ..! อยากเห็นปุ๊บ..ได้ดูปั๊บ..หรือบางท่านอยากจะทดลองไปอยู่จริงๆ ก็ตามใจเถิดครับ แต่สำหรับเรื่องนี้ เป๋..ขอตัวก่อนครับ ธุระเยอะจริ๊ง.. (ไปไหนไปด้วย ไปนรกเห็นทีจะต้องขอป่วย แต่ถ้ากินไหนก็จะกินด้วย เที่ยวไหนก็ยินดีเที่ยวด้วย ถึงป่วยก็จะกัดฟันไปช่วยกินช่วยเที่ยว)

พอมาวันหลังผมก็ไปหาท่านอีก ท่านก็ให้พระรอดมาถุงใหญ่ เรียกให้ไปเอาที่กุฏิได้พบได้คุยเป็นส่วนตัวอยู่นาน แหม...ไม่เห็นคุยเรื่องอื่นชมแต่หลวงพ่อของเราตลอดเวลาและตักเตือนผม ให้หมั่นปฏิบัติธรรมและดูแลหลวงพ่อฯให้ดี ท่านว่าหลวงพ่อฯของเรานั้นลาพุทธภูมิแล้ว

และมีอยู่ครั้งหนึ่งซึ่งหลวงพ่อฯสั่งให้ผมไปขอสังฆาฏิจากท่าน ซึ่งท่านก็ไม่ขัดข้องให้เดินตามไปรับที่กุฏี ก่อนท่านจะมอบให้ท่านก็ยกสังฆาฏิผืนที่ดูเหมือนจะเตรียมเอาไว้ให้ขึ้นบรรจบหลับตาอธิษฐาน ผมก็ไม่ถามไม่ไถ่ ยกกล้องขึ้นถ่ายหมับ ปรากฎว่าแฟล็ชช็อตหมุบ ร้อนวาบจนต้องโยนทิ้งทั้งกล้องทั้งแฟล็ช ท่านก็ลืมตาขึ้นมาแล้วร้องดุว่า

“เดี๋ยว...จบก่อน” พอท่านบรรจบอธิษฐานเสร็จ ท่านก็ว่า

“เอ้า..ถ่ายได้แล้ว” ลูกน้องผมก็รายงานทันทีว่า

“ถ่ายไม่ได้แล้วครับ” ท่านถามว่า

“ทำไม” เรียนท่านว่า

“พังครับ พังหมดทั้งกล้องทั้งแฟล็ช” ถามอีกว่า

“แพงไหม?” น้ำเสียงแสดงความเป็นห่วง ผมตอบไปว่า

“ไม่ทราบครับ” (กล้องผมขอยืมเขาไปครับ แพงหรือไม่ผมจะไปรู้เหรอขอรับหลวงปู่ฯ แต่ในใจน่ะร้องครางว่า อิ๊บอ๋าย..หลายตังค์แล้วตู สมน้ำหน้าเหลือเกินนะหมื่นไวย..ไวตะเลน) ท่านว่าอีกว่า

“ดูใหม่ซี้” ท่านทำเสียงยานคางแถมหัวเราะหึๆ เบาๆ ผมก็เอามาลูบๆ คลำๆ ใจนั้นคิดว่าจะคลำพอเป็นพิธี เพราะก่อนที่จะรายงานว่าพังนั้นเห็นว่ามันพังแล้วจริงๆ กลไกมันติดขัดไปหมดแล้วมันจะไม่พังได้อย่างไร เอ๊ะ..พอลูบๆ คลำๆ อ้าว..ไหงไอ้บรรดากลไกต่างๆ กลับทำงานได้ตามปกติ (ตอนนั้นใช้แฟล็ชจานใส่หลอดแบบเก่าจานไหม้ไปนิดหนึ่ง ราคาไม่กี่สตางค์) เก่งจริงๆ หลวงปู่ฯนี่ ถามอีกว่า

“ห้อยพระอะไร” ตอบท่านไปว่า

“ห้อยลูกแก้วราหูของหลวงปู่ชุ่มฯครับ” ท่านก็ว่า

“ศักดิ์สิทธิ์น๊ะ..แล้วเจ็บบ้างหรือเปล่า” เรียนท่านว่า

“ไม่เจ็บครับ แต่มือชาไปหมด” ท่านขอดูมือเอาไปลูบคลำ ไม่เสกไม่เป่า แพล๊บเดียวก็หายเป็นปกติ

ความจริงก่อนจะถ่ายรูปนั้นผมอวดดีไปเอง (เป็นอย่างนี้อยู่บ่อยๆ) แม้จะระแวงอยู่แล้วว่าจะต้องเจอดีหากไม่ขออนุญาตเสียก่อน เพราะเคยฟังท่านผู้รู้เขาเล่าเขาเตือนถึงประสบการณ์แบบนี้กับพระที่ทรงอภิญญา แต่ผมขอท่านไม่ทันและใจมัน (ใจผมน่ะครับ) ก็เลยคิดง่ายๆ (มักง่ายแหละครับว่ากันตรงๆ) แบบว่าเลยตามเลยแถมอวดดีอีกต่างหาก โดยคิดว่ามีของดีอยู่กับตัวกลัวอะไร ลองซะเลย จึงแอบอธิษฐานกับลูกแก้วขอให้ช่วยคุ้มครองขณะลองดี แล้วก็เจอดีสมใจปรารถนา

แต่ว่าก็ว่าเถิดนะครับ ถ้าตอนนั้นผมไม่ยอมเสี่ยงก็คงจะไม่มีเรื่องมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้..จริงไหมขอรับ (น่าน..โม้อีก) สังฆาฏิผืนที่ว่านี้ยังมีเหลืออยู่ จะเอาไปสร้างพระ เก็บหอบหิ้วมาตั้ง ๑๗ ปี แล้วนะ...จะ บอกให้..!!!



ขอเพิ่มเติมจากหนังสือ "ล่าพระอาจารย์"

โดย..ป่อง โกษา (พลอากาศโท ม.ร.ว.เสริม ศุขสวัสดิ์)

หลังเพล และอาหารเพลกลางวันของพวกเราแล้ว ก็ตัดทางจากลำพูนลัดไปสันป่าตอง โดยไม่ผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อไปนมัสการ ครูบาอินทจักร์รักษา (ซึ่งเป็นพี่แท้ ๆ ของ "ครูบาพรหม" หรือ พระครูพรหมจักรสังวร วัดพระบาทตากผ้า)

นัยว่าเป็นพระสำคัญองค์หนึ่งมีประวัติเล่ากันว่าท่านป่วยเป็นมะเร็ง และเป็นอัมพาตไปนอนโรงพยาบาลรักษาอย่างไรก็ไม่หาย จนกระทั่งหมอบอกว่า ไม่พ้นคืนนั้นเวลาตีสอง ก็เลยนำตัวท่านกลับไป แล้วปรากฏว่าต่อมาท่านก็หายเอง ยังแข็งแรงดีจนเดี๋ยวนี้

เมื่อเข้าไปกราบท่าน พวกเราก็ปรารภกันว่าน่าแปลก ใครมาก็มาหาพระหมอประสาน ๆ ไม่ยักมาหาหลวงพ่ออินทจักร์ (หมอประสาน คือหมอประสาน เหตระกูล เคยอยู่โรงพยาบาลกลาง ได้ยินเขาว่าว่าเป็นมะเร็งที่คอ แล้วไปรักษากับอาจารย์ที่ลาดหญ้า เกิดหายขึ้นมาก็เลยสนใจการรักษาโรคททางจิตจนได้รับความนับถือมากคนหนึ่ง ท่านผู้นี้บวชแล้วมาจำพรรษาอยู่ที่วัดน้ำบ่อหลวง แต่ไม่ได้พบกับพวกเรา)

ครูบาอินทจักร์ (อ) พระหมอน่ะ? หมอประสาน ปริญญา ตอนนี้อยู่ที่นี่หรือครับ ?
อ. : อยู่ที่นี่ เขามาพักผ่อน เป็นโรคหัวใจ พึ่งมา แล้วก็ยายชีอีก ๑ ชีสำลีเขาอยู่วัด อ้า…ธรรมมงคล

(ปรากฏว่าหลวงพ่อองค์นี้ก็เป็นหวัด พอท่านบอกว่าเป็นหวัด พวกเราก็ฮากัน เพราะหลวงปู่แหวนก็หวัด ครูบาพรหมฯ วัดพระบาทตากผ้าก็หวัด มาวัดนี้ก็หวัดอีก ท่านครูบาอินทจักร์ชักทำหน้าเลิกลั่กไม่เข้าใจ)

หลวงพ่อฤาษี (ฤ) เป็นหวัดมันกินแต่ขันธ์ ๕ หรือกินใจด้วยครับ
(เห็นไหมล่ะ ป่องบอกแล้วให้คอยจ้องคำถามนี้)
อ. : กินแต่ขันธ์ ๕
(เสียงหัวเราะ รู้กันอยู่แล้วว่าคงได้คำตอบนี้)
ฤ. : ไม่เป็นไรครับ
อ. : เอ…นี่ไม่รู้จัก อยู่เป็นอาจารย์แผนกไหนนี่ ?
ฤ. : ผมหรือครับ ? แผนกเดินไปเดินมาครับ
(เสียงหัวเราะ)
อ. : แผนกทัศนาจร
(เสียงหัวเราะ)
อ้อ อายุเท่าไร ?
(เสียงหัวเราะ)
ฤ. : ผมจวนตายแล้วครับ
อ. : อือม์
ฤ. : จวนหรือยังครับ ?
อ. : ยัง
ฤ. : ยังหรือครับ อายุช่างมันเถอะครับ
(เสียงหัวเราะ)

(สำหรับหลวงพ่ออินทจักร์ นี่มีน่าเอ็นดูอยู่อย่างหนึ่ง คือท่านมองหน้าแล้วทำท่ากลั้นยิ้ม แล้วกลั้นไม่อยู่ต้องยิ้มออกมา ทำให้พวกเราหัวเราะทุกที ทั้ง ๆ ที่ไม่มีการพูดหรือประโยคที่พูก็ไม่ได้ชวนขำอะไร)

ฤ. : หลวงพ่ออยู่นี่นานแล้วหรือครับ ?
อ. : ถามต่อไปข้างหน้า หรือถามข้างหลัง ?
(เสียงฮา)
ฤ. : ถามต่อไปครับ
อ. : ต่อไปยังไม่แน่นอน
ฤ. : เอาสัก ๓ ปี เป็นไงครับ
อ. : ข้างหลัง ๔๐ ปีเศษ
ฤ. : เขาถามข้างหน้าครับ
อ. : ข้างหน้าไม่แน่
ฤ. : ไม่แน่หรือครับ
อ. : อ้า…ถามพระ แล้วก็ถามโยม โยมหนอ รู้จักคำพูดไหม เข้าใจไหม พูดนี่
บริษัท : เข้าใจครับ

(หมายเหตุ :- จะถามว่าเข้าใจความนัยที่พูดกันนี่ไหม หรือจะถามว่าเข้าใจภาษาพื้นเมืองที่พูดนี่ไหม ป้องก็ยังคงสงสัย แต่ที่ตอบไปนั้นไม่มุสาทั้งสองทาง ถ้อยคำจากเทปนี้ได้แปลงเป็นภาษากลางแล้ว)

อ. : วัดนี้ เป็นวัดอยู่ในป่า เขาเรียกว่า วัดป่าอรัญวาสี อรัญวาสี ห่างจากหมู่บ้านหมู่บ้านใกล้ที่สุดก็ที่ทางผ่านมานี่ ทางหนี้ (ทางหลัง) ไม่มีบ้าน
ฤ. : อ้อ ครับ ๆ
อ. : กลางคืนเงียบ ไฟฟ้าก็ไม่มี ญาติโยมพาหลวงพี่มา เอาไฟฟ้ามาให้ด้วยซี
(เสียงฮา)
ฤ. : มีไฟฉายมาครับ เอาขนาดไหน
(เสียงฮา)
อ. : แหม ไฟฉายมันน้อยไป
(เสียงฮา)
ฤ. : ไฟฟ้าเหมือนกันครับ ใช้ง่ายดี
อ. : เรื่องนี้สำคัญโยม ไฟฟ้าไม่ถึง เขากะให้หลายปี
ฤ. : อ้อ ไฟฟ้าจะเดินเข้ามาหรือครับ ไกลไหมครับ?
อ. : ก็ราว ๆ ๕ ก.ม. เศษมัง
ฤ. : ซื้อเครื่องไฟฟ้า เดินสายมาดีกว่า
อ. : ขอทางการแล้ว เขาบอกว่าจะทำให้ รอมา ๆ…
สมศักดิ์ : หลวงพ่อครับ มีญาติโยมถามว่า เสียสักเท่าไรครับ ๕ ก.ม. นี่คับ เศษเท่าไรครับ?
อ. : เท่าไรจำไม่ได้ เศษ
สมศักดิ์ : จำได้แต่จำนวนเต็ม ?
ปริญญา : พวกนั้นจะมาเอาหวย หลวงพ่ออย่าไปให้
(เสียงฮา)
อ. : อ๋อ (หัวเราะ)
อัญชัน : ให้ก็ได้เจ้าค่ะ จะได้ถวายไฟฟ้า
ฤ. : ติดสินบนพระ
(ถึงตอนนี้ มีคนจะถ่ายรูปท่านครูบา)
ฤ. : คุณ บอกเสียก่อนนะ วันนี้ฟิล์มเสียนะ พวกนี้เขาชอบเจริญสมณธรรมครับ เลยพาไปหาพระที่มีความสามารถด้านนี้ ดีใจครับ พบพระที่เป็นมงคลครับ หายาก โดยมากเราก็จะพบพระที่เขาไปเมากันเสียหมด เหนื่อย เลยบอกญาติโยม มาหาพระที่ไม่เมาดีกว่า
อ. : (อ่าน) พระมหาวีระ ถาวโร วัดทุ่งสง
(เสียงฮา)
ฤ. : ไม่ใช่ครับ วัดท่าซุง ทุ่งสงนั่นอยู่ปักษ์ใต้ หลายกิโลครับ
อ. : ท่าอะไร ?
ฤ. : ท่าซุงครับ
อ. : ท่าซุง อ.เมือง จ.อุทัยธานี
ฤ. : มีพระจำพรรษามากไหมครับ หลวงพ่อ
อ. : ประมาณ ๒๕ องค์ เณร ๒๑
ฤ. : รวมเป็น ๔๖ พวกเรามาพบพระโรคกินแต่ขันธ์ ๕ อีกองค์แล้วนะ (ตอนนี้รวบรวมเงินที่จะบริจาค)
อ. : จำนวนคนเท่าไรนี่ ?
บริษัท : ๕๐ คนครับ
ฤ. : ๕๐ คนนี่ ยถาสักคนละกี่รอบดีครับ?
อ. : นับตัวอักษรซี
(เสียงฮา)
ฤ. : เราควรจะทราบว่าพระที่ถึงธรรมแล้วน่ะ อยู่ที่ไหนก็มีความฉลาดอยู่เสมอ
(รวบรวมเงินได้ ๓,๕๐๐ บาท)
ฤ. : ให้ระลึกว่า ธรรมใดที่หลวงพ่อเห็น ขอให้เราเห็นธรรมในชาตินี้นะ

(ตอนนี้สังเกตให้ดีนะครับ โดยปกติเวลาทำบุญอะไร หลวงพ่อฤาษีท่านมักจะสอนศิษย์เสมอว่า ให้อธิษฐานว่าธรรมใดที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว ขอให้ข้าพเจ้าตรัสรู้ธรรมนั้นด้วยเถิด และหากข้าพเจ้าไม่สามารถเข้าถึงพระนิพพานในชาตินี้แล้ว ขึ้นชื่อว่าความขัดข้องใด ๆ ขออย่าได้มีแก่ข้าพเจ้าเลย นี่ เป็นอย่างนี้ ก็ควรจะเปรียบเทียบดูได้)

เมื่อถวายปัจจัยค่าไฟฟ้าแก่ท่านครูบาตามที่รวบรวมได้ ท่านก็ให้พร
บริษัท : สาธุ
อ. : มามากคนต้องให้พรยาวหน่อย
(เสียงหัวเราะ)
ฤ. : ตะกี้นี้ผมนับตัวอักษรไม่ออกครับ ว่าใหม่ครับ จะได้นับ
(เสียงหัวเราะ)
อ. : ญาติโยมทนไม่ไหวหรอก
(เสียงหัวเราะ)
ฤ. : ๓,๕๐๐ บาท ถ้วนหรือ
อ. : (อ่าน) คณะลูกศิษย์ หลวงพ่อพระมหาวีระ ถาวโร วัดท่าซุง อ.เมือง จ.อุทัยธานี
ฤ. ผมคิดว่าจะลงทุ่งสงเสียอีกแล้ว
(เสียงฮา)
อ. : ถ้าอยู่นาน ๆ ค้างสักคืนก็ได้ นี่นอนเยอะ
ฤ. : โอกาสหน้าครับ คราวนี้โอกาส เขาทำงาน วันนี้วันจันทร์ ขาดเขาไปวันหนึ่งแล้ว โดยมากพวกนี้ทำงานที่กรุงเทพฯ ครับ พวกกรุงเทพฯ มา
อ. : วันนี้กลับ ? พรุ่งนี้กลับ? กลับวันเดียวกันหมด?
บริษัท : กลับพร้อมกันครับ
ฤ. : จะกลับทีหลังสักคนมั้ง คุณหญิงเยาวมาลย์น่ะ
(เสียงหัวเราะ)
อ. : คนสัก ๔๐ ?
บริษัท : ประมาณ ๕๐ ครับ
ดร. ปริญญา : หลวงพ่อจะแจกเหรียญหรือครับ
อ. : มีนิดหน่อย แต่ไม่ถึงหรอก ไม่ทั่วถึง
ฤ. : ไม่เป็นไรครับ จับฉลากกัน
(เสียงฮา)
ผมอยู่หน้าเอา ๓ เหรียญครับ
อ. : (หยิบถุงพระมาดู) เอ นี่พระลำพูน
ฤ. : พระรอดมีไหนครับ ?
อ. : (ยื่นให้) มอบเอง อาจารย์นี่เป็นผู้แจก แต่ไม่ให้เกินนะ
(เสียงฮา)
นี่เขาเอามาจากลำพูน เอามาให้ปลุกเสก เลิกแล้วมอบไว้ที่นี่ ไว้ชำร่วยให้ญาติโยม
ฤ. : นี่จำนวนไม่เกินนะครับ ?
อ. : ไม่ใช่เหมานะนี่ !
(เสียงฮา)
ฤ. : รับจากหลวงพ่อเป็นมงคล ให้เขาเข้ามากันเอง

(ท่านครูบาแจกพระ หลวงพ่อฤาษีบอกว่าแจกคนละ ๒ องค์ซี ท่านก็มองหน้าแล้วว่าสองก็สอง แล้วพวกเราก็เข้าไปรับ)

ฤ. : ไอ้อาการหมดไป สิ้นไป ความดับไม่มีเชื้อน่ะ มันดับไปหลายปีหรือยังครับ ?
อ. (มองหน้า) : “ไม่ตอบ”
(เสียงหัวเราะ)
ฤ. : ผมรู้ครับ
(เสียงฮา)
อ. (หัวเราะ) : รู้ ถามทำไม ?
(เสียงฮา)
ฤ. : ไม่รู้ไม่พาลูกศิษย์มาครับ

(ตรงนี้ ต้องนึกถึงตำราคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐานที่หลวงพ่อแต่งเสียหน่อยว่า เราจะรู้ว่าใครเป็นระดับไหน เราต้องถึงระดับนั้นก่อน คนระดับต่ำกว่า จะรู้ระดับของคนที่สูงกว่าตัวไม่ได้)

อ. : อ.เมืองอุทัย ตำบล?
ฤ. : อ้า …ตำบลน้ำซึมครับ เขียนไม่ถูก ผมเขียนให้ครับ
ดร.ปริญญา ทวนคำ : “รู้แล้วถามทำไม” แล้วหัวเราะ
ฤ. : พระเมืองนี้ปิดเก่ง
อ. : รู้เอง ไม่บอก
(เสียงหัวเราะ)
ฤ. : เอ พระทางเหนือนี่ไม่ค่อยพูดจาตามความจริงนะ
ดร. ปริญญา : อยากจะกราบเรียนถามหลวงพ่อองค์นั้นว่า ทำไมถึงไล่ไปหาพระหมอประสานหรือแม่ชีครับ ทำไมหลวงพ่อมีดีแล้ว ทำไมถึงไม่ให้ เที่ยวได้ให้ไปหาคนอื่น ดีไม่เท่าหลวงพ่อ
ฤ. : เขาอยู่เมืองเดียวกัน
(เสียงฮา)
ฤ. : เมืองเดียวกัน กินอาหารรสเดียวกัน ใช้ได้

(แนะนำ พ.ต.อ.พิเศษ สมศักดิ์ สืบสงวน กับกมลชัย ตอนที่เข้าไปรับพระ)
เที่ยวนี้โชคดีนะ ลาต่อสัก ๒ วันก็ดีหรอกนี่ หามงคล พบพระที่เป็นมงคล เราก็ได้มงคล ถ้าไปพบพระที่อัปมงคล เราก็ได้แต่อัปมงคล ไม่ดีอะไร เสียท่าอย่างเดียว พระเมืองเหนือพูดไม่จริง

ดร. ปริญญา : หลวงพ่อครับ เปิ้นว่าอู้บ่ซื่อ
(เสียงฮา)
อ. : ยิ้ม
(เสียงฮาอีก)
นี่พลตำรวจตรี จรัส วงศ์สาโรจน์ครับ (รับแจกพระ) นี่ ร.ต.ท.อรรณพ หลวงพ่อสงเคราะห์ (แจกพระ) ไปสำหรับแจกทหารตำรวจที่กำลังรบที่เชียงของ และเชียงคำด้วย
อ. : เป็นรั้วของประเทศ
ฤ. : พวกเขาไม่ยันไว้ เราก็แย่
อ. : ญาติโยมทุกคน วันนี้จะกลับ ?
ฤ. : ไปเชียงใหม่ก่อนครับ ?
อ. : ค้างเชียงใหม่ ?
ฤ. : ไม่ค้างครับ กลับคืนนี้

(ตอนนี้ คณะพรรค เร่ไปข้างหลังไปบูชาเหรียญ และพระ แล้วเอามาให้หลวงพ่ออินทจักร์เสก)

อ. : ใจกุศล ใจเป็นบุญ มีความสุข ความเจริญได้ มีน้ำใจเป็นเหตุก่อน น้ำใจของมนุษย์เรา ต้องเข้มแข็ง เข้มแข็งต่อคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในศีลของตัวเอง ในข้อปฏิบัติ เป็นจริยา ความประพฤติ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ มีหิริ โอตตัปปะ

ความงามของหิริ โอตตัปปะ เป็นคุณของเทวดา นอกจากนั้น ก็มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา อย่างพระ ก็มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา เมื่อมีอยู่แล้ว สมบัติ ๗ ประการ เรียกว่า "อริยทรัพย์"

๑. ศรัทธาเป็นของ ๆ ตัว ๒. มีศีล ก็ของ ๆ ตัว มี "หิริ" ความละอายบาป ก็ของติดกาย มี "โอตตัปปะ" ความเกรงกลัวต่อบาป เป็นสมบัติหรือเข้าของ ข้อที่ ๔ มีการศึกษาหรือสดับตรับฟังในบทธรรมที่เป็นบาป เป็นบุญ เว้นบาป ทำบุญ ศึกษาแต่ศีล สมาธิ ปัญญา นี่สมบัติข้อที่ ๕ ข้อที่ ๖ หมั่นบริจาควัตถุภายนอก เป็นต้นว่า มีสตางค์อย่างเดียวนี่หนา บริจาคไปเป็นสมบัติ เป็นเข้าของ (บริจาคไป)

ข้อที่ ๖ มีปัญญา เป็นข้อที่ ๗ ปัญญารู้รอบ กองบุญ กองบาป เว้นจากบาปทำแต่บุญ รู้รอบในรูปนามในขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ แล้วก็สัจจธรรม ๔ ปฏิจ สมุปบาท ๑๒ มีปัญญารู้รอบ ปลงดู อนิจจัง ความไม่เที่ยงของรูปของนาม ทุกขัง ความทนอยู่ไม่ได้ของรูปของนาม อนัตตา ความไม่อยู่ในบังคับบัญชาของผู้ใด

แต่เรายังมีความยึดถือเป็นอุปาทานอยู่ ถ้าอุปทานหมดแล้ว ก็มีความสบาย ไม่ยึดนาม ไม่ยึดรูปเป็นของจริงจัง เป็นของอาศัยไปชั่วครั้งชั่วคราว เป็นของอาศัยไปชั่วครั้งชั่วคราว ชั่วชีวิต แล้วก็ดับไปแตกสลายไปถ้าเหตุมี ก็จะได้ติดต่อก่อขึ้นใหม่อีก เป็นรูป เป็นนามใหม่อีก ถ้ามีบุญมากก็ไปสู่สุคติที่ดีมีรูปนามอันสะสวย ได้อยู่สุขสบาย ถ้ามีบาปกรรมมาก รูป นามไปเกิดชั่วร้ายได้รับแต่ทุกข์ ได้รับความไม่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ เรียกอบาย หรือเปรต อสุรกาย หรือเดรัจฉาน

นี่ เราทุกคนต้องทำบุญ ต้องเว้นบาป เว้นบาปกับเว้นอบาย ๔ คือ วินิบาตนรก เปตะ เปรต อสุรกาย แล้วก็เดรัจฉาน แล้วก็ทำบุญ เปิดทางไปสวรรค์ เปิดทางมนุษย์สูงสุด ก็เปิดทางถึงพระนิพพานได้ ถ้าไม่สูงสุดก็อยู่ในวงของมนุษย์ วงของสวรรค์ หรืออย่างเก่งมีฌาน มีสมาบัติ ก็อยู่ในพรหมโลก ๒๐ ชั้น ตามฐานะหรือตามกำลังของฌาน ทั้งปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตฌาน หรืออรูปฌาน อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนะฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

คนมีฌานที่เป็นอรูปฌาน ๔ นี้ ก็เกิดเป็นพรหม ๔ ชั้น คนที่มีรูปฌานเบื้องต้นก็เกิดเป็นพรหม ๑๕–๑๖ ชั้น นี่ ที่อยู่ของบุญ ผู้มีบุญสูง ผู้มีบาปสูง ก็ไปอยู่ในนรก อเวจี นี่ทุกคน เอาหนา จำไว้หนา ขอให้ได้รับความเจริญหนา

อาตมาขอให้ หรืออาราธนาบุญคุณของพระพุทธ ของพระธรรม ของพระสงฆ์ และศีลธรรม กรรมฐานที่อาตมาได้บำเพ็ญมาก็ดีหรือที่ญาติโยมได้บำเพ็ญมาก็ดี ขอมีพละกำลัง มีฤทธิ์มีเดช ช่วยบำรุงรักษา กาย วาจา จิตใจ ของญาติโยมทุกคน มีหลวงพ่อพระมหาวีระ ถาวโร เป็นประธาน ขอให้มีความสุข ความเจริญให้ปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา และข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ขอให้เจริญ สมบูรณ์ทุกท่าน ทุกคน เทอญ

บริษัท : สาธุ
อ. : หลวงพ่อ ดื่มน้ำให้อิ่ม ๆ หน่อย ญาติโยมไม่ดื่มแล้ว ?
ฤ. : ผมดื่มแทนครับ
อ. : ดื่มแทนคนเดียว ? หลายท้องหลายปาก
(เสียงหัวเราะ)
ฤ. : ดีมากครับ แหม วันนี้บริษัทพวกนี้มีมงคลมากครับ ได้ไหว้พระดี ๆ ตลอดระยะ มาถึงหลวงพ่อนี่ ถือว่าเป็นมงคลใหญ่ นึกว่าจะไม่ทันเวลา วันนี้ ไปวัดพระบาทตากผ้ามา ทราบว่าเป็นเครือเดียวกันใช่ไหมครับ ?
อ. : ทางร่างกาย-สายใยของโลก
ฤ. : ไม่ใช่ครับ ลูกตถาคตเหมือนกันครับ
อ. : อ๋อ
(เสียงฮา)
ฤ. : ใช่ไหมครับ
อ. : จริง จริง
(ตามพระไตรปิฏก พระอริยะชั้นสูงสุด ท่านนับเป็นพระพุทธบุตร)
ฤ. : เอาละ กราบลาหลวงพ่อกันเถอะ
อ. : วันนี้สนุกกันใหญ่ (เสียงหัวเราะ)


(เป็นอันว่าจบการทัศนาจรครั้งที่ ๑ แต่เพียงนี้)


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 15/1/09 at 20:29 [ QUOTE ]


การทัศนาจรครั้งที่ ๒

สาเหตุการทัศนาจร ครั้งที่ ๒ นี้ เนื่องจาก พระอรรณพ พระอรรณพ คือ ร.ต.ท. อรรณพ กอวัฒนา(ยศสมัยนั้น) ตำรวจภูธรชายแดน ที่เคยติดตามหลวงพ่อไปทัศนาจรครั้งที่ ๑ มาแล้วนั่นเอง ต่อจากทัศนาจรแล้วท่านไปบวชอยู่กับหลวงพ่อ

ท่านไปบรรยายถึงความลำบากยากแค้นของตำรวจทหารที่ออกไปทำหน้าที่ปราบปรามผู้ก่อการร้ายอยู่ที่แถวเชียงคำ เชียงของ ว่ามีอย่างไร ๆ ซึ่งสรุปแล้ว เขาเหล่านั้นคล้ายกับถูกทอดทิ้ง ไม่มีใครสนใจ ยิ่งเมื่อถูกสงครามกลางเมืองทับถม ว่าได้ปราบปรามด้วยความทารุณ ทำกับชาวบ้านผู้ไม่มีความผิด ซึ่งเป็นเรื่องใส่ไคล้ แล้วกำลังใจของพวกเขาก็นับวันแต่จะหมดไป ๆ ด้วยคิดว่าคนที่อยู่แนวหลังไม่ได้มีเจตนาดีต่อเขาผู้พลีชีวิตพิทักษ์ชาติกันเสียเลย

บรรดาพวกเราฆราวาสที่เป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดหลวงพ่อได้ยินเช่นนี้ ก็มีจิตใจอยากจะปลอบขวัญเขาเหล่านั้นเป็นส่วนมาก แต่ผู้ที่ลงมือปฏิบัติจริงจัง ริเริ่มลงมือก่อนเพื่อนได้แก่ หลวงพ่อฤาษีลิงดำของเรานี่เอง ท่านเป็นคนออกทรัพย์ส่วนตัวของท่าน (ซึ่งบรรดาศิษย์มักถวายสำหรับใช้ตามอัธยาศัย) สั่งซื้อพริก กระเทียม กุ้งแห้ง ฯลฯ สำหรับจะตำเป็นน้ำพริกส่งให้ทหารตำรวจเหล่านั้น ของเผ็ด ๆ อย่างนี้ดี เพราะใช้จิ้มผักจิ้มหญ้าจิ้มหยวกกล้วยกินได้ มีรสดีกว่าต้องกินสิ่งเหล่านั้นเปล่าๆ กุ้งแห้งก็เป็นสิ่งที่เก็บได้นาน และมีรสดีพอสมควร

ท่านอาจจะนึกในใจว่าเป็นบรรพชิตแล้วไปยุ่งกับฆราวาสเขาทำไม เป็นเรื่องที่ผิด นี่ก็อาจจะเป็นข้อท้วงติงที่มีเหตุผล แต่ป่องก็มีคำอธิบายที่คิดว่าพอจะให้ความเข้าใจได้สักเล็กน้อย คือ

ประการแรก ท่านถือว่าเมืองไทยเป็นเมืองของพระพุทธศาสนา เป็นเมืองที่จะรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ถึง ๕,๐๐๐ ปี ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของลูกทุกคนที่จะสืบศาสนาให้พ่อ (ท่านถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นพ่อ) หากสิ้นแผ่นดินไทย ศาสนาก็จะตั้งอยู่ไม่ได้ ใครจะตำหนิว่าอะไรก็ช่างเถอะ เล็งเอาประโยชน์เป็นใหญ่

ประการที่สอง เรื่องนี้ต้องกระซิบว่า ในอดีตชาติท่านเป็นเผ่าพันธุ์ที่ช่วยกันก่อตั้งชาติไทยมาแล้วหลายสมัย เรื่องนี้ท่านก็ไม่ได้บอกตรง ๆ คุยกันไปคุยกันมา บางทีท่านก็เผลอ พวกเราแหย่ทางโน้น แหย่ทางนี้ หลาย ๆ ปีเข้าก็พอจะปะติดปะต่อได้ว่าอะไรเป็นอะไร

เพราะฉะนั้นเรื่องป้องกันชาติไทยแล้ว ก็เป็นเรื่องอยู่ในสายเลือด เรียกตามศัพท์ตำรา ว่า เป็นวิสัยของท่านก็แล้วกัน เรื่องวิสัยนี้ หลวงพ่อฤาษีท่านบอกว่าแก้ไม่หาย ไม่มีใครแก้ได้นอกจากพระพุทธเจ้าองค์เดียวที่เปลี่ยนได้ อย่างที่ยกมาอ้างกันบ่อย ๆ ที่ว่าตอนข้ามคูน้ำ พระองค์อื่นท่านก็เดินลุยไปเรื่อย ๆ แต่ ท่านพระสารีบุตร ถกเขมรกระโดดผลุง

เมื่อมีคนตำหนิ พระพุทธเจ้าก็ทรงอธิบายว่า เป็นวิสัยของท่านพระสารีบุตรเช่นนั้นเอง เพราะเคยเกิดเป็นลิงมาหลายร้อยชาติ ไม่ได้ปฏิบัติด้วยกิเลส ด้วยคะนอง แต่เป็นไปเองด้วยความเคยชินจากอดีตชาติ แต่นี่ไม่ใช่เรื่องเดียว เรื่องของ ท่านพระปิลินทวัจฉะ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ ทรงวิโมกข์ ๘ อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทา ๔ นั่นยังไง (ปิลินทวัจฉสูตรในพระสุตันตปิฏกขุทกนิกาย อุทาน ข้อ ๗๘)

ท่านองค์นี้เรียกคนอื่น ๆ ด้วยสรรพนาม “คนถ่อย ๆ” เสมอ สมมติเอาว่าจะเรียกใครก็เรียก เฮ้ย..ไอ้ถ่อย มานี่หน่อยซี อะไรอย่างนี้เป็นต้น พอเป็นเครื่องเข้าใจความหมาย พระผู้ถูกเรียกก็ขัดเคืองเป็นกำลังแห่กันไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสั่งให้ไปเรียกตัวมาเฝ้า แล้วถามว่าไปเรียกเขาอย่างนั้นจริงหรือ ท่านก็รับว่าจริงพระพุทธเจ้าข้า

พระพุทธเจ้าท่านก็คงจะสงสัยว่า ไปยังไงมายังไงกัน ก็เลยสอบประวัติด้วยพระญาณ จึงทรงทราบว่า ท่านปิลินทวัจฉะ เกิดเป็นพราหมณ์ขนานแท้และดั้งเดิมมาถึง ๕๐๐ ชาติ ไม่มีแปลกปนเลย ยามที่จะเรียกใครที่ต่ำชั้นกว่าเป็นต้องเรียกว่า "คนถ่อย" ทุกที ท่านก็เลยบอกโจทก์ว่า ท่านปิลินทวัจฉะท่านเป็นยังงี้ ๆ คำนี้น่ะใช้มาทุกชาติจนถึงชาตินี้ ไม่ได้ตั้งใจด่าใครดูถูกใครหรอก เป็นเรื่องของความเคยปาก ก็เลยเจ๊ากันไป

"ป่อง" หวังว่าคงจะเป็นคำอธิบายที่พอไปได้ จะได้ไม่ถือเป็นข้อตำหนิ
เมื่อหลวงพ่อฤาษีเริ่มต้นของท่านอย่างนั้น แล้วบรรดาศิษย์ก็สานต่อช่วยกันซื้อโน่นซื้อนี่คนละไม้คนละมือ ฝากเงินเขาไปซื้อกุ้งแห้งที่เมืองชลจะได้ราคาถูก ๆ หน่อย อ้าว คนที่ช่วยซื้อ กลับซื้อแถมพกพามาให้อีกตั้งเท่าตัว ประมาณดูว่าของที่เอาไปแจกนี้มูลค่าก็คงจะมากกว่า ๔ หมื่นบาท

สำหรับที่วัดนั้น หลวงพ่อลงมือตำพริกเองทีเดียว เมื่อหัวหน้าลงมือ ลูกน้องก็ว่ากันกลุ้มไปทั้งวัด ได้ความว่าอีตอนนั้น ทั้งวัดมีแต่โป่งขาว คือเอาผ้าพันจมูกไว้ไม่ให้พริกเข้าจมูก ทำเสร็จแล้วก็ส่งทางรถยนต์บ้าง รถไฟบ้าง ไปพักรอไว้ที่บ้าน ดร.ปริญญา นุตาลัย ที่เชียงใหม่ เพื่อเอาขึ้นรถโดยสารใหญ่ไปแจกตามที่ต่าง ๆ ต่อไป

แต่เดิมหลวงพ่อจะเอาขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปแจกให้ถึงจุดต่าง ๆ ในสนามด้วยซ้ำไป แต่เขาจัดให้ไม่ได้หรือจัดไม่ทัน ก็เลยเปลี่ยนโปรแกรมเป็นว่า เรายกขบวนกันไปเชียงใหม่ด้วยรถยนต์ส่วนตัวหลาย ๆ คัน แล้ว พ.ต.อ.พิเศษ สมศักดิ์ สืบสงวน รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลตำรวจเป็นสปอนเซอร์ เช่ารถเมล์ใหญ่ตลอดรายการไป “ล่าพระ” บ้าง ไปแจกของขวัญ และของดีบ้าง คงทิ้งรถเล็กจอดไว้ที่บ้าน ดร.ปริญญานั่นเอง

วันที่ ๒๖ มกราคม เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปค้างที่วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี วันที่ ๒๗ มกราคม ออกเดินทางตั้งแต่ ๐๔.๐๐ น. เพื่อจะได้ไปถึงเชียงใหม่แต่วัน ๆ เมื่อไปถึง และพักผ่อนนอนหลับพอหายง่วงหายเมื่อยแล้ว ก็พากันขับรถของตนไปยังวัดวนาราม (น้ำหลวง) อ.สันป่าตอง

การมาครั้งนี้ เป็นการมาวาระที่ ๒ เมื่อคราวที่แล้ว คือการทัศนาจรครั้งที่ ๑ นั้น ท่านได้บิณฑบาตกระแสไฟฟ้าเข้าวัดไว้ ซึ่งหลวงพ่อก็รับคำ เมื่อกลับมาแล้ว ท่านพิจารณาว่า ควรจัดซื้อเครื่องยนต์ทำไฟฟ้าไปถวายดีกว่า เพราะได้ใช้เร็ว เงินน้อย แต่ ดร.ปริญญาแจ้งมาว่าทางไฟฟ้าเขาจะปักเสาไฟฟ้าเข้าไปแล้ว จึงรวบรวมเงินนำขึ้นไปถวาย พระครูภาวนาภิรัตน์ (หลวงปู่อินทจักร) วัดวนาราม (น้ำบ่อหลวง) วาระ ๒

ออกจากบ้าน ดร.ปริญญา ตอนบ่าย ไปถึงวัดไม่เย็นนัก พบหลวงปู่อินทจักรพอดี เงินที่หลวงพ่อฤาษีเอาไปถวายมีจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท ถึงแม้จะได้จากผู้บริจาคยังไม่ครบ หลวงพ่อก็รองจ่ายจากเงินส่วนอื่นไปก่อน

หลวงพ่ออินทจักร (อ) : สบายดี?
หลวงพ่อฤาษี (ฤ) : ถ้าสบายก็ดีครับ หลวงพ่อสบายดีหรือครับ
อ. : ก็พอควร ใช้ได้
ฤ. : เมื่อคืนนี้ฝันว่าไงครับ? (เสียงหัวเราะ) หลวงพ่อฝันหรือเปล่าครับ ?
อ. : มี..ฝันเรื่องผู้แทน มาถึงนี่ก็ผู้แทนฝ่ายในนะ ผู้แทนของญาติโยม มีพระมากี่องค์
ฤ. : มาด้วยกัน ๒ องค์ครับ องค์นี้นายตำรวจ คราวก่อนมาเป็นนายตำรวจครับ
อ. : บวชเป็นพระ?
ฤ. : เป็นพระเสียแล้วครับ หลวงพ่อทำไม่ได้พูดไปพูดมาเลยทำเขาเป็นพระไปเลย
อ. : อือม์…
ฤ. : สบายดีหรือครับ คราวนี้ยังดีกว่าคราวก่อน ไม่เป็นไข้
อ. : ไข้หมด
ฤ. : ไข้ตัวหมดแล้วครับ ไข้ใจหมดไหมครับ?
อ. : ใจเฉย ๆ (เสียงหัวเราะ)
ฤ. : เอางี้ครับ ไฟฟ้าจะเข้าวัดแล้ว ใช่ไหมครับ?
อ. : เขากำลังเตรียมปักเสาเข้ามาแล้ว
ฤ. : ก็เป็นอันวาไม่ต้องถวายเงิน เพราะมีแล้วนี่ครับ
อ. : แล้วแต่ (เสียงฮา)
ฤ. : ก็มีแล้วนี่
อ. : ไม่มี เขากำลังนะ จะทำเสาเข้ามาแล้ว บอกให้ทางสำนักเตรียมเงิน บอกว่าไม่มีเงิน ไม่มีเงินก็ช้าหน่อยหนึ่ง เขาว่ายังงี้ให้เตรียมเงินซื้อหม้อแปลง แล้วก็ซื้อสายบำรุงเสา เขาว่ายังงั้น เวลานี้ ก็ข่าวว่าหลวงพ่อทัศนาจร จะมาเป็นเจ้าภาพ
ฤ. : ผมไม่รู้จักเขาครับ เขาอยู่ที่ไหนครับ
อ. : พวกไฟฟ้านี่เขายังไม่เคย…
ฤ. : ไม่ใช่ครับ พวกทัศนาจรนี่เขาอยู่ที่ไหนไม่ทราบ
อ. : ไม่รู้จักว่าใคร !
ฤ. : ผมไม่รู้จักเขา ผมอยู่วัดทุ่งสง (เสียงหัวเราะ) อ้า..ทราบข่าวว่าเขามาถวายหลวงพ่อ ๗ พันแล้วใช่ไหมครับ ?
อ. : นั่นเขามาถวายไว้ก่อน ๓ พันกว่า ทัศนาจรของหลวงพ่อรึ?
ฤ. : ของคนอื่นน่ะครับ ที่เขามาทีหลังน่ะ มีไหม?
อ. : ไม่มี
ฤ. : เห็นเขาบอกว่าจะมา
อ. : ไม่มีใครมา
ฤ. : เงินนี่เขาต้องการประมาณเท่าใดครับ กระดาษนี่
อ. : เขาบอกไม่แน่ บอกว่าต้องซื้อหม้อแปลง ตั้งเสาด้วย เดินสายด้วย ว่างั้นก็ไม่จำกัดมาเลย
ฤ. : อ้อ..เขายังไม่บอกงบประมาณมา
อ. : ก็แล้วแต่หลวงพ่อจะช่วย ให้สำเร็จไปก็แล้วกัน (เสียงฮา)
ฤ. : อีท่านี้เขาเรียก “เหมา” (เสียงหัวเราะ) เอ..ถ้าโอนวัดนี้เมื่อไร สำเร็จเมื่อนั้นแหละครับ
อ. : อื้อม์ สำเร็จ ไม่สำเร็จ เอาหลวงพ่อว่า
ฤ. : ผมว่า ให้โอนวัดนี้ให้ผมครับ
อ. : ว่ายังไง ?
ปริญญา : ให้หลวงพ่อโอนวัดให้ครับ ไม่ใช่ – แกล้งไม่รู้เรื่อง (เสียงหัวเราะ) เอางี้ก็แล้วกัน ท่านเจ้ากรม ขอถวายอีก ๒ หมื่น สำเร็จ ไม่สำเร็จ ก็หาเอาต่อไปครับ ถ้าไม่สำเร็จก็…
อ. : ไม่ยอมหา เอาหลวงพ่ออุปถัมภ์ (เสียงหัวเราะ)
(ถวายเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท)
ฤ. : ตานี้ ถ้าไม่พอก็ต้องหาเอง ถ้าหาไม่ได้จำนำศาลา จำนำโบสถ์ก็พอได้
อ. : จำนำได้ แต่มาอยู่ด้วย (เสียงหัวเราะ)
ฤ. : ขอรับพรครับ
อ. : อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สมิชัญตุ สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา จันโท ปัณณระโส ยถา มณิ โชติรโส ยถา...
บริษัท : สาธุ

ฤ. : อ้า..ทำบุญค่ากระแสไฟฟ้านี่ จะได้อานิสงส์เป็นยังไงครับ ญาติโยมเขาอยากทราบ
อ. : กระแสไฟฟ้า ?
ฤ. : ครับ ช่วยไฟฟ้าเข้าวัดนี่ แสงสว่าง
อ. : แสงสว่าง เครื่องบำรุงปัญญา ผู้ให้แสงสว่างได้ปัญญา
อ. : (กับคณะหนึ่ง) กลับรึ ?
คณะ : ครับ
อ. : ไปดี มีสุข
ฤ. : อยู่ที่ไหนครับ
อ. : สงขลา
ฤ. : อ๋อ ไกลครับ ไกลกว่าผม เขาสงขลา ผมทุ่งสงครับ (เสียงหัวเราะ)
อ. : เอ๊ะ ใกล้ ๆ กันเรอะ (เสียงฮา)
ฤ. : วัดที่ยังไม่ได้ไปอยู่ครับ ที่หลวงพ่อตั้งให้
อ. : วัด?
ฤ. : ทุ่งสงครับ (เสียงหัวเราะ)
อ. : โอ๋..!
ฤ. : คราวก่อน เขาเขียนท่าซุง แล้วหลวงพ่ออ่านเป็นทุ่งสงครับ ผมยังไม่ได้ไปอยู่ครับ แต่หลวงพ่อตั้งให้ไปอยู่ ยังไม่ได้ไปอยู่
อ. : อืม..ตั้งแต่เมื่อไร ?
ฤ. : เมื่อมาเที่ยวแรกน่ะครับ เห็นอ่านไปอ่านมา ไปลงเอาทุ่งสง ไม่ใช่ท่าซุง
อ. : ความจริงนี่ก็เข้าใจผิด
ฤ. : ท่าซุงครับ
อ. : จังหวัด?
ฤ. : อุทัยธานีครับ
อ. : ท่าซุง
ฤ. : ครับ
อ. : กลายเป็นทุ่งสงรึ?
ฤ. : ครับ หลวงพ่อตั้งเป็นทุ่งสงครับ เลยไปอยู่ใกล้ ๆ สงขลา อ้อ..เดี๋ยวอธิบายอานิสงส์ทำบุญค่าไฟฟ้าครับ
อ. : ญาติโยม ทำบุญไฟฟ้า เกิดมาชาติหน้าหรือปัจจุบันนี่ ท่านว่ามีเป็นส่วนปลาย ก็จะมีปัญญาสว่างไสว เกิดความรู้แจ้งแทงตลอด ถึงธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่ปัจจุบันนี้ ตราบถึงพระนิพพาน ดับกิเลสสังขาร ดับกองทุกข์ทั้งหลาย ถึงบรมสุขอย่างยิ่งอันประเสริฐ อันเป็นที่จบของวัฏฏสงสาร ทุกท่านทุกคนทุกตัวทุกคนทุกรูปทุกนาม จงมีความสุขตามความปรารถนาทุกประการ..เทอญ
บริษัท : สาธุ

ฤ. : นี่เขาเรียกให้พรครับ ไม่ใช่ให้โอวาท
อ. : ให้พร อนุโมทนาด้วย ยินดีด้วย
ฤ. : แล้วก็พูดถึงว่า สมมติว่าพวกนี้นะครับ เขาตั้งใจเพื่อพระนิพพานนี่น่ะ ความประสงค์มันจะได้ไหม จะเป็นไปตามความประสงค์ไหม ชาตินี้?
อ. : เอ๊อ..ความปรารถนามีบุพกรรมอันใด ความพยายามก้าวไป ๆ ก็อาจสำเร็จวันหนึ่ง แต่กำหนดเวลาไม่ได้
ฤ. : นั่นแน่นอนครับ แล้วผลที่จะเดินทางให้มันใกล้ แล้วง่ายที่สุดเล่าครับหลวงพ่อ?
อ. : ก็มรรค ๘ อย่างไร
ฤ. : มรรค ๘ เป็นยังไง ผมไม่รู้หรอกครับ
อ. : อือ เอาใหญ่แล้ว (เสียงฮา)
ฤ. : ไม่ใช่ครับ อยากให้เขาฟังแบบย่อ ๆ สั้น ๆ เป็นวิธีปฏิบัติง่าย ๆ ครับ หลักปฏิบัติครับ เราพูดว่ามรรค ๘ บางทีมันยาวไป เห็นว่าสรุปให้มันง่ายสำหรับฆราวาสครับ สำหรับพระเณรเรามันง่าย มันสะดวกครับ ทีนี้ฆราวาสนี่กิจการงานมันมากนะครับหาวิธีตัดแบบฆราวาสให้เข้าจุดมรรคผล แบบง่าย ๆ

อ. : พูดตัวมรรคก่อนนะ มรรค ๘ มรรคก็ทางเดิน ทางเดินของกาย วาจา ใจ มีทางเดินประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ
สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ คือ เห็นอริยสัจ ๔
สัมมาสังกัปปะ ความรำลึกชอบ คือ รำลึกจะออกจากกาม รำลึกอันไม่พยาบาท ไม่เบียดเบียน
สัมมาวาจา ความเจรจาชอบ ประกอบด้วย องค์ ๔ ประการ
สัมมากัมมันตะ ทำงานการชอบ ประกอบด้วยองค์ ๓
สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ
สัมมาวายามะ เพียรชอบ
สัมมาสติ ระลึกชอบ
สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ
นี่องค์ประกอบมี ๘ ข้อ ย่อออกมาเป็น ๓
ตอนสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ อยู่ในปัญญา
ตอนสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ อยู่ในศีล
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ อยู่ในสมาธิขันธ์
เข้ามาย่อเป็น ๓ ย่อ เป็นในกาย ในวาจา ในใจ
แล้วย่อออกมาเป็น ๒ รูป นาม
ย่อออกมาเป็น ๑ คือ กองสังขาร ที่เป็นปุญญาภิสังขาร เมื่อดับสังขารแล้ว มันก็แปลใจว่าใกล้นิพพานเต็มทีแล้ว
(เสียงหัวเราะ)

ฤ. : ดับสังขาร ความรู้สักมันเป็นยังไงครับ
อ. : มันสงบซี
ฤ. : สงบหรือครับ อารมณ์สงบ ที่เรารู้สึกก็เป็นระยะในสังโยชน์ ๑๐ คือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังโยชน์ ๓ สังโยชน์ ๕ แล้วสังโยชน์ ๑๐ เฉพาะสังโยชน์ ๓ อารมณ์สงบด้านนี้ จะมีความรู้สึกไงครับ
อ. : ความรู้สึกตอนนี้ คือ สำคัญสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพตปรามาส ๓ นี้ ความรู้สึก คือ ความล่วงเกิน หรือถือเป็นวัตถุ บุคคล ตัวตนเขา เรา เป็นสักกายทิฏฐิก็ถือในรูป ในนาม เป็นของตนเอง ตกเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา ไม่สงสัยในคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ และในศีลของตัวเอง สีลลัพตปรามาส ก็คือ ไม่หลวง ลูบ ๆ คลำ ๆ ของตัวศีล คือรู้จักสภาวศีล ปกติศีลที่บริสุทธิ์ รู้จักบัญญัติศีล มันก็ไปแค่นี้

ฤ. : นี่ตามหลักครับ คราวนี้ ความรู้สึกของใจ
อ. : ความรู้สึกของใจ
ฤ. : ครับ ๆ อยากให้ญาติโยมเขาฟังกันครับ ไม่ใช่ผมไล่หลวงพ่อหรอกครับ เราคุยกันเพื่อมีประโยชน์กับเขา
อ. : ดี ๆๆๆ เอ รู้ความรูสึกของใจ ความสามารถของผู้ดำเนิน
ฤ. : พวกเข้าถึงแล้วครับ เฉพาะพวกสังโยชน์ ๓ ครับ
อ. : พอถึงแล้ว ใจมันไม่อยากทำ ไม่อยากหลง ไม่อยากถือ
ฤ. : ไม่อยากทำงาน หรือไม่อยากอะไรครับ
อ. : งานทำ (หัวเราะ) มันไม่อยากยึดถือ ไม่ยึดถือรูป ไม่ยึดถือนาม ยึดถือเขา เรา บุคคล ตัวตน เป็นของจริงของจัง
ฤ. : คือว่ามันตายแน่นะครับ
อ. : มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หมุนอยู่เรื่อย ๆ ไป
ฤ. : นี่สังโยชน์ ๓ นะครับ

(ตำราท่านว่าตัดสังโยชน์ ๓ ได้เป็นพระโสดาบัน หรือสกิทาคามี หากตัดได้ในส่วนละเอียดลงไป)

ฤ. : ทีนี้ ถ้าจิตจะเข้าถึงสังโยชน์ ๕
(ตำราว่าอีกน่ะแหละครับ ว่า ตัดสังโยชน์ ๕ เป็นพระอนาคามี)
อ. : อ้อ..มันต้องคลายเรื่องกามราคะ แล้วผ่อนผันพยาบาท หรือดับเรื่องกามราคะ ความดำกฤษณาในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วก็หมดจากพยาบาทหมดจากความโกรธ งดโทสะ โมหะ โทสะหมดไป
ฤ. : อ้า…วิธีจะคลายกามราคะ มันคลายยังไงล่ะครับ
อ. : แหม..มันก็ต้องเล็งอสุภในร่างกาย เราไม่ยึดถือในร่างกาย ปล่อยตามสภาพ ไม่ยินดีต่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ใน ๕ ประการนี้ เขาเรียกว่า กามคุณ ไม่ปีติยินดีในรูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี โผฏฐัพพะ ความถูกต้องก็ดี เฉย ๆ มันเป็นของที่หมุนเวียน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของเขา ของเรา เป็นของเกิดตามปัจจัย วนเวียนไปตามปัจจัย มีกรรม มีกิเลส มีบาป หมุน ๆ กันเรื่อย ๆ ๆ ไป

เมื่อเราไม่ยึดถือกายแล้ว รูปนามเป็นไปตามปกติหรือตามสภาพของมันเอง แล้วก็จิตต้องเฉยปล่อยในกามคุณทุกอย่าง และความพยาบาท อาฆาต จองเวร เบียดเบียนทุกอย่าง ปล่อยต้องวางใจ ไม่ยึด เขาจะมาด่า เขาจะมาต่อยมาตี มาอย่างนั้น อดทนได้ ปล่อยได้ ตามวาสนาของ…ผู้ที่ปฏิบัติจะเป็นได้

ฤ. : ครับ
อ. : นี่ก็ต้องกำลังของวิริยบารมีด้วย วิริยอุปปบารมีด้วย วิริยปรมัตถบารมีด้วย
ฤ. : เดี๋ยวก่อนครับ วิริยบารมีมันเป็นยังไงครับ
อ. : ความเพียร ความเพียรขั้นต่ำเป็นวิริยบารมี ความเพียรขั้นกลาง เป็นวิริยอุปมารมี ความเพียรขั้นสูง เป็นวิริยปรมัตถบารมี มี ๓ ตอน
ฤ. : ทีนี้ความรู้สึกเมื่อถึงสังโยชน์ ๕ จบสังโยชน์ แล้วความรู้สึกของอารมณ์ในมันเป็นยังไงครับ? ผมไม่ได้ไล่หลวงพ่อนะครับ
อ. : ของพรรค์นี้ ผู้ใดเป็นผู้นั้นรู้ ผู้ใดไม่เป็นเขาไม่รู้
ฤ. : เปรียบเทียบให้ฟังครับ เขาจะได้จับเอาไปเป็นเครื่องวัด
อ. : เปรียบเทียบ ก็เป็นปริยัตินะ เปรียบ ๆ ปริยัติ
ฤ. : ครับ เปรียบเทียบปริยัติ
อ. : นี่เขาเรียกว่าเป็นปัจจัตตัง รู้สึกอยู่ในใจเฉพาะตนเอง จิตของอาตมาก็ยังงั้น ๆ ไม่เกี่ยวข้องยังงั้น ๆ บอกคนอื่นเขาไม่รู้หรอก
ฤ. : ไม่ใช่ครับ เขาจะได้ทราบว่าวาระอันนี้ เข้าถึงจิตของเขาแล้วนะครับ เมื่อขณะเห็นรูป มีความรู้สึกยังไง
อ. : เอ๊ย..หลวงพ่อเคยว่าให้เขาฟังแล้วนี่ (เสียงฮา)
อ. : มาบ่อยนะ
ฤ. : แล้ว ! หากินแบบนี้ ผมก็ขาดทุนซีครับ อยากจะให้เขาฟังหลาย ๆ อย่าง หลาย ๆ ท่านด้วยกัน จะได้ทราบว่าพระต่อพระ พระที่เข้าถึงความเป็นพระ และเคารพในพระพุทธเจ้าจริง ๆ มีความเห็นเสมอกัน มีความต้องการแบบนั้นนะครับ เวลานี้ ศาสนามันแซกเข้ามาหลายศาสนาแล้ว
อ. : ถูก ในปริยัติมันตรงกัน แต่ว่าวาระของจิตมันก็จะให้ตรงมันยาก
ฤ. : มันไม่ตรงกัน แต่ว่าอารมณ์จริง ๆ มันตรงนะครับ
อ. : อารมณ์ ให้ตรงกันจริงน่ะ เขาบอกกันไม่ถูก
ฤ. : บอกไม่ถูกครับ อันนี้ใช่ เป็นแต่เพียงว่า เกิดความเบื่อหน่าย ไม่เห็นสวย ไม่เห็นงามนะครับ
อ. : ใช่
ฤ. : แล้วก็อีตอนตัวท้ายล่ะครับ จะใช้อารมณ์อย่างไรจึงจะตัดอวิชชาได้ จะใช้อารมณ์อย่างไรจึงจะใกล้ ให้เขาฟังนะครับ ผมไม่ใช่มาไล่ความรู้หลวงพ่อ ไล่ก็ไม่อยู่ (เสียงหัวเราะ)
เปล่า..ให้เขาฟัง จะได้หลาย ๆ ทัศนะ นะครับ เกิดความสะดวกของจิต การปฏิบัติน่ะ ฟังจากคนนั้นบ้าง ฟังจากคนนี้บ้าง มันก็จะเป็นผลประโยชน์สำหรับผู้ฟังไว้ไปเปรียบเทียบกันครับ ของคนนั้นอาจอธิบายได้ง่ายกว่า คนนี้อาจจะง่ายกว่า เพื่อความสะดวกของพุทธบริษัท

อ. : ฟังง่ายก็อวิชชานอก อวิชชาใน
ฤ. : ครับ ๆ ดี
อ. : อวิชชานอก เราพูดกันเรื่องสมมติ เรื่องบัญญัติ เขาก็ไม่รู้สมมติเป็นอย่างไร สมบัติเป็นอย่างไร นี่เขาก็ไม่รู้อวิชชานอก
ฤ. : ครับ ๆ
อ. : ว่าเป็นแผนก ๆ ก่อน อวิชชาใน ก็ไม่รู้จักกองทุกข์ ไม่รู้จักเหตุที่เกิดทุกข์ ไม่รู้จักความดับทุกข์ ไม่รู้จักทางที่จะปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ไม่รู้จักอดีต อนาคต ปัจจุบัน และไม่รู้จักทั้งอดีต ทั้งอนาคต อวิชชามันก็ไม่รู้จริง ๆ อวิชชาตัวใน มันก็นึกว่าสูญ อวิชชาตัวนอกมันก็ปล่อย
แต่บางคนไม่รู้หรอก เขาสมมติไว้อย่างไร ความจริงเป็นอย่างไร บัญญัติเขาว่ายังไง มันเป็นตัวจริงหรือตัวปลอม เขาก็ไม่รู้ อวิชชานอก มันบัง อวิชชาในยิ่งบังใหญ่ เขาเรียกว่า ตัวเกิดบังตัวดับ สมมติบังวิมุตติ โลกบังธรรมงามบังผี ดีบังจริง หลักธรรมบังพระนิพพาน เขาว่างี้

ฤ. : ครับ แหม..นี่สวยจริง ๆ ยังงี้น่าจะให้เหลือหมื่นเดียว (เสียงหัวเราะ) เพราะได้กระดาษนี่ก็สมมตินี่ครับ (เสียงหัวเราะ) อันนี้ดีมากครับ แต่เขายังไม่ได้ฟังกัน ผมยังไม่เคยพูดให้ฟังกัน
อ. : อันที่เป็นของบัง?
ฤ. : ครับ..ถึงของบัง อันนี้มีประโยชน์เยอะ อันนี้คนโดยมากที่มาที่นี่ก็เป็นนักปฏิบัติ แต่ว่ายังจะมากันอีกนะครับ เดือนมีนา มีนานี่เขาไม่ได้ให้สตางค์หรอก เขาจะมาดูแสงไฟฟ้า
อ. : แล้วแต่
ฤ. : สมมติว่า เอางี้นะครับ สมมติกันนะครับ ว่า โดยเจตนาของพุทธบริษัทที่มาคราวนี้ก็ดี ที่มาคราวก่อนก็ดี ถ้าทุกคนหวังผลพระนิพพาน หลวงพ่อเห็นว่าจะพอมีปัจจัยไหมครับ
อ. : ปัจจัย?
ฤ. : ที่จะเข้าถึงพระนิพพาน
อ. : ตัวพระนิพพานเป็นอัพภูตธรรมเป็นปัจจัย เอาคำพูดตามตำรานะ ความจริงพระนิพพาน ถ้าผู้ใดถอนความยึดถือ ตัณหา อุปาทานได้ปล่อยไป ละไป พระนิพพานก็ใกล้เข้า ๆ มันก็ถึงเอง มันเป็นปัจจัยสืบต่อกัน ถึงจะละกิเลสเป็นตอน ๆ ไป ก็หมดไป ใกล้ไป ๆ เอง มี…เป็นปัจจัยส่ง เป็นด้วยปรารถนาจิตที่หวังส่ง ถูกไหม? ถูกไม่ถูก?
ฤ. : ผมไม่รู้หรอกครับ (เสียงหัวเราะ)
อ. : ฟังยังงี้ ไม่เข้าใจ? ไม่รู้? (เสียงหัวเราะ)
ฤ. : อันนี้ถูกครับ ไม่ใช่ไม่ถูก ไอ้ที่พูดนี่ถูก แต่อยากจะให้เขาฟังกันหลาย ๆ สำนวน คือว่าธรรมประเภทนี้มักจะไม่ค่อยได้ยินนะครับ มักจะไป…ไปที่ไหนเขาก็เทศน์ รับจ้างเทศน์กันเสียหมดนะครับ ดี มาที่หลวงพ่อนี่ดี เขามาก็ชื่นชมกันด้วยความดีของหลวงพ่อนี่ เดือนสิงหา ก็ต้องไปหาผม นี่ผมมา ๒ หนแล้วนะ
อ. : อื๊อ !

ฤ. : ต้องไปนะครับ ผมไม่ใช่นิมนต์หรอกครับ ผมอาราธนาแล้วต้องไป (เสียงหัวเราะ) ยังตายไม่ได้ครับ ยังห้ามตาย การงานของผมไม่เสร็จเพียงใด หลวงพ่อไปโปรดพุทธบริษัทที่นั่นไม่ได้เพียงใด ถึง ๓ วาระก็ห้ามตาย
อ. : ห้ามตาย? (เสียงหัวเราะ)
ฤ. : ครับ ผมมีอำนาจครับ (เสียงหัวเราะ)
อ. : ตายอะไรไม่รู้
ฤ. : ตายกายครับ ใจมันตายไปนานแล้วครับ หลวงพ่อ ผมรู้
อ. : ตายกายได้
ฤ. : ไม่ได้ครับ
อ. : เอาอะไรมาห้าม
ฤ. : ในเมื่อหลวงพ่อยังไม่ตายครับ (เสียงหัวเราะ) เสียท่า "ทุ่งสง" เสียแล้ว
นี่สำหรับผู้ที่เข้าถึงธรรมแล้ว มันเป็นเหตุอัศจรรย์ เขาบอกว่าการที่หลวงพ่อป่วยหนัก เป็นอัมพาตและเป็นมะเร็งมาก่อน ใช่ไหมครับ เขาว่ายังงั้นนะครับ แล้วหลวงพ่อก็ทรงตัวขึ้นมาได้ นี่ อำนาจของธรรม ไม่ถึงเวลามันจะพังมันก็พังไม่ได้ นี่ขนาดหมอเขาบอกไปไม่ไหวแล้ว ร่างกายมันจะพัง
ไอ้ใจน่ะ มันไม่พังหรอกครับ ใจมันพังไม่ได้ อันนี้ เอาเป็นว่ากฎของกรรมมันยังไม่เข้าถึงจุดทำลายสังขาร ทีนี้งานของผมนะครับ ถ้าหลวงพ่อไปสงเคราะห์ได้ไม่ถึง ๓ ครั้ง ผมก็ห้ามพัง นี่ผมมา ๒ แล้วนะครับ มีนามาอีกทีก็เป็น ๓ หลวงพ่อไม่ใช้หนี้ผมรึ?

อ. : อ้าว?
ฤ. : อ้าว?
อ. : ค้างหนี้ด้วยนะ! (เสียงหัวเราะ)
ฤ. : ก็ผมเป็นเจ้าหนี้ ผมไม่ต้องการเอากระดาษไปแลกกับผมนา ผมเอาแต่ตัวไปกับธรรมไปเท่านั้นนา กระดาษผมมี ไม่เอา ต้องการเอาธรรมไปสงเคราะห์เฉย ๆ ไม่สวดมนต์ ไม่เทศน์ ใครเขามา ใครเขาพูดดีด้วยธรรมก็พูดกับเขา เขาไม่พูดด้วยธรรมก็ไม่ต้องพูด นั่งหายใจได้ ไม่ใช่เฉยเลย (เสียงหัวเราะ)
อ. : อือ..เฉย !
ฤ. : หายใจได้ครับ พูดได้ สงเคราะห์ด้วยจิตเจตนาสงเคราะห์ สบาย
อ. : เอาเมตตาจิต?
ฤ. : ครับ ๆ เมตตาจิต สงเคราะห์ เพราะว่าการสงเคราะห์ด้วยการสวดมนต์ การสงเคราะห์ด้วยการเทศน์ บนธรรมาสน์ อันนี้ผลมันน้อยครับ ผลมันน้อยเพราะอะไร เพราะว่าบางทีคนฟังไม่ตั้งใจฟัง
อ. : เป็นพิธี
ฤ. : ครับ เป็น พิธีกรรมเฉย ๆ แล้วก็การสวดมนต์เขาก็ไม่รู้เรื่อง มันก็เป็นบุญเหมือนกัน แต่บุญมันน้อยเกินไป ผมว่าการสงเคราะห์ด้วยเมตตาจิตจะมากกว่า ถ้าใครเขาสงสัยโดยธรรม เราก็ให้สงเคราะห์โดยธรรม นะครับ เรียกว่าให้เป็นไปตามแบบถูกต้อง ไม่ใช่ว่า ว่ากันด๊งเด๊ง ๆ มาไล่เบี้ยกัน ไอ้แบบประเภทไล่เบี้ยกัน กระผมก็ไม่ชอบ เพราะว่าไอ้พวกนั้นมันไม่หวังผลในการปฏิบัติ มันหวังผลอีตรงได้รับ

ทีนี้ก็ งานยกช่อฟ้า แล้วก็บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ หล่อรูปหลวงพ่อปานวันที่ ๖ สิงหาคม วันที่ ๖ เป็นวันตาย วันทำบุญร้อยปี แล้ววันที่ ๑๐ เป็นวันยกช่อฟ้า หล่อรูปและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ วันนั้น ขออาราธนาหลวงพ่อไป แต่หลวงพ่อจะรับหรือไม่รับไม่สำคัญนะครับ ผมจะส่งรถมารับนะครับ

อ. : จะหามขึ้นรถได้รึ ?
ฤ. : ถ้าหามไม่ไหวก็ลากครับ (เสียงหัวเราะ)
อ. : โฮ..!
ฤ. : หายากครับ จะต้องการพบพระที่เป็นสุปฏิปันโนตามสมควรนะครับ พยายามโดยมากเราก็มักจะไปพบเอาแต่พระที่เขานิยมยศฐาบรรดาศักดิ์กันนะครับ ไอ้ยศน่ะเขาให้เรารับได้ แต่ว่าคนที่รู้จักวางยศไม่ค่อยจะมีนัก ใช่ไหมครับ
อ. : ถูก
ฤ. : หลวงพ่อนี่ ตัวสมมติเขาก็ให้ยศไว้ ใช่ไหมครับ
อ. : เขาก็ให้ยังงั้น
ฤ. : เขาสมมติมาให้ แล้วหลวงพ่อไม่ได้ติดสมมติใช่ไหมครับ หรือติด?
อ. : เขาติดชื่อให้ (เสียงหัวเราะ)
ฤ. : แหม..เข้าใจเลี่ยง ความจริงท่านอายุมากแล้ว เลี่ยงไม่เป็นก็ตายนานแล้ว เปล่าเรียนให้ทราบว่าทราบอยู่แล้ว ม่ายงั้นไม่พาบริษัทมา บ้านไกลเสียงสตางค์ก็มาก มาก็เหนื่อยเสียเวลาการงาน เสียเวลานอน เสียทรัพย์สิน ถ้าประโยชน์มันน้อยกว่าที่จะพึงได้นะครับ นี่เห็นว่าประโยชน์มันจะได้รับมากกว่าส่วนที่เสียไปจึงได้พาบริษัทมา ถึงเวลาผมจึงจะมารับหลวงพ่อไปเป็นการสงเคราะห์
หลวงพ่อไปหรือไม่ไปผมก็หามหลวงพ่อไปสบายเลยหลวงพ่อไม่ต้องลำบาก แล้วก็มีปัจฉาสมณะ พระที่สำหรับจะปฏิบัติสักองค์-สององค์ได้นะครับ จะได้สะดวกพระ เณร ก็ได้นะครับ นี่เพื่อความสะดวก

อ. : (หัวเราะ)
ฤ. : หลวงพ่อไม่ต้องบอกรับหรอกครับ ผมถืออาการรับโดยดุษณี (เสียงฮา) ตามหลักพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงรับด้วยอาการดุษณี (เสียงฮา)
อ. : หลักของพระ
ฤ. : ครับ นี่สบาย ความจริงรู้เรื่องกันพูดง่ายนะครับ
ปริญญา : พูดคำเดียว (เสียงหัวเราะ)
ฤ. : อ้าว..พูดคำเดียว ถ้าไม่ตอบละเสียท่าเรา พระพุทธเจ้าทรงรับด้วยอาการดุษณี ถ้าพระองค์ทรงปฏิเสธ ก็ปฏิเสธเลย ถ้าเงียบก็แสดงว่ารับ
อ. : กำลัง…กำลังพิจารณา
ฤ. : แต่ผมพิจารณาแล้วครับ (เสียงหัวเราะ) สภาลงมติครับ แต่ถ้าไม่ป่วยไม่ไข้สบายหนักนะครับ ก็ขอให้โปรดเขาหน่อย เพราะพุทธบริษัทซึ่งเป็นนักบุญมีมาก แบบนี้ก็ไกลไปสำหรับคนบางคนจะมาพร้อมกันไม่ได้ เมื่อรู้ว่ารู้ความก็อยากจะไหว้ อยากจะบูชา ไปเพื่อให้เขาไหว้เขาบูชากัน จะสวดมนต์ก็คนอื่นเขาหากินเยอะแยะไปแล้วนะครับ

อ. : อือ..แล้วแต่วาระไปเถอะนะ
ฤ. : ครับ..วาระก็มีว่าผมให้โอกาสอย่างเดียว ถ้าป่วยไข้ไม่สบายหนักนะครับ นี่เขาบันทึกเสียงไว้นะครับ อือม์ อันนี้รู้สึกว่าเป็นมงคลใหญ่
อ. : ญาติโยมมาวันนี้ จะค้างที่ไหน
ปริญญา : ค้างที่เชียงใหม่ครับ บ้านผม
อ. : จำนวนเท่าใด
ปริญญา : สิบกว่าคนครับ
อ. : นอนหมดรึ บ้านใหญ่รึ
ปริญญา : บ้านเล็กครับ แต่นอนเบียดกันครับ
อ. : นอนที่วัดนี่ไม่ดีรึ (เสียงหัวเราะ)
ฤ. : นอนที่วัดนี่ กลัวเสียเงินอีกครับ (เสียงหัวเราะ) ก็ไม่ใช่อะไรครับ แต่ว่าจะเดินทางต่อไปอีก อ้อ กระผมจะไปที่เชียงของ เชียงคำ ขอบารมีหลวงพ่อช่วยคุ้มครอง บรรดาบริษัทด้วยนะครับ
อ. : ไปวันไหน?
ฤ. : ไปวันที่ ๒๙ เดินทาง กว่าจะเข้าถึงเขตนั้น วันที่ ๓๐ คือว่าจะไปเยี่ยมตำรวจทหาร
อ. : อ๋อ ไปหมู่รึ
ฤ. : ครับไปทั้งหมด คราวนี้ยังมาน้อยคน ม่ายงั้นก็ยกทัพ กุฏิหลวงพ่อไม่พอ ตั้ง ๓-๔ เท่า เดือนมีนานี่มาอีก มีนาถ้าต้องการรับที่ศาลาแล้วครับ จะมารบหลวงพ่อใหม่ ที่ผมมานี่ ผมถือว่าผมเป็นเจ้าหนี้ มา ๑ เที่ยวผมก็เป็นเจ้าหนี้ ๑ เที่ยว เที่ยวที่ ๒ ผมก็เป็นเจ้าหนี้ ผมมาเที่ยวที่ ๓ ผมก็ถือเป็นเจ้าหนี้ หลวงพ่อต้องใช้หนี้ผมครบตามที่ผมมา แล้วหลวงพ่อจึงจะตายได้ (เสียงหัวเราะ)
อ. : ถ้าไม่ใช้หนี้แล้วต้องตาย?
ฤ. : ถ้าไม่ใช้หนี้ตายไม่ได้ครับ ห้ามตาย แต่ใช้หนี้เสร็จก็ยังตายไม่ได้ ถ้ายังไม่ถึงเวลา อ้าว ขันธ์ ๕ มันพังเมื่อไร เราห้ามไม่ได้ ผมก็ไม่บังคับ แต่ยัง หลวงพ่อยังอีกนาน อีกนานใช่ไหมครับ?

อ. : ฮือ..ไม่แน่ ไม่แน่ แล้วแต่ปัจจัยของสังขาร
ฤ. : เป็นไงก็ช่างมัน คิดว่าอีก ๓ วาระนี่ยังไม่พัง ค่อยย่างใกล้เข้า ๑๘,๑๙
อ. : เดือนไหนล่ะ
ฤ. : สิงหาคมครับ
อ. : สิงหาคม?
ฤ. : ครับ ในพรรษา แต่ไปได้ กิจนิมนต์นี่ครับ ไปตามกิจนิมนต์ ในพรรษานี่ไปได้ ๓ ประการ โดยเฉพาะอย่างกิจที่เป็นกิจเจริญศรัทธา พระพุทธเจ้าไม่ห้ามหลวงพ่อห้ามก็ฝ่าฝืนพุทธบัญญัติ (เสียงฮา) อ้าว..พูดตามแบบฉบับ นี่พูดตามวินัย ไม่ได้พูดนอกเหนือวินัย พระถ้ทำนอกเหนือวินัยถือว่าไม่ใช่พระใช่ไหม นี่เรานิมนต์ตามกิจนิมนต์ ไปเจริญศรัทธา ถ้าพระขัดศรัทธาก็แสดงว่าไม่เคารพพระพุทธเจ้า (เสียงฮา)
อ. : หว่าน..หว่านเอา (เสียงฮา)
ฤ. : ไม่หว่านเฉย ๆ เอาจริง ๆ ครับ
อ. : แบบนี้เขาล้อม ๆ ๆ (เสียงฮา) เก่ง เก่ง มัดเอา หว่านล้อม มัดทางอ้อม
ฤ. : อยู่หรือยังครับ ถ้าอยู่จะได้เลิกมัด ม่ายงั้นมัดต่อไปอีก (เสียงฮา) ดี..มาหาหลวงพ่อนี่ดี บริษัทสดชื่นครับ บันทึกเสียงไปกรุงเทพฯ เขาโอ๊ะ ! สนุกสนาน ชอบใจ นี่เขาจะแห่กันมาอีก หลวงพ่อแย่ ทีนี้ไปรับที่ศาลา ให้นอนสู้ได้ครับ เมื่อยก็นอนสู้

อ. : อ้าว..เมื่อกี้ไม่ได้ถาม จากไหนมา?
ฤ. : มาจากอุทัยครับ
อ. : วันนี้?
ฤ. : วันนี้ครับ ออกจากอุทัยครับเมื่อตอนเช้าตรู่ตี ๔ ครับ ไม่รู้ กุฏิหลวงพ่อนี่ก็เย็น พอหลวงพ่อรับนิมนต์ก็เย็นเฉียบเลยครับ ไฟฟ้านี่ เขายังไม่มีกำหนดแน่นอนว่าจะเข้าหรือครับ
อ. : เขาบอกว่าเดือนนี้ แต่เวลานี้ เขาว่าเขากำลังเลือกผู้แทนอยู่
ฤ. : อ๋อ..ก็ชั่วขณะหนึ่ง เขาไม่ได้ตั้งงบไว้หรือครับว่า ประมาณเท่าไร
อ. : เขาว่าในเขตนี้ เขากะให้ ๔ แสนแล้วก็มาแยกเป็นแผนก ๆ บ้านบ้าง วัดบ้าง
ฤ. : แล้วจากบ้านมาถึงวัดนี่
อ. : เขายังไม่ได้บอก
ฤ. : สี่แสนเป็นราคาเต็มหรือครับ
อ. : เต็ม
ฤ. : เต็มแล้ว เขาก็มีลดช่วย
อ. : เขาทำเอง
ฤ. : ไม่ใช่เขาลดราคาหรือครับ เขาต้องลดเหลือ ๑ ใน ๓ อะไรนี่ แบบพัฒนาหม้อแปลงเขาไม่คิด
อ. : ตอนนี้เขาคิด เขาบอกมาแล้วหม้อแปลงต้องซื้อเอง สายเขาทำมาให้ ซื้อหม้อแปลงเอง ยังไม่รู้ราคา ราคาหลวงพ่อจะเฉียดหรือไม่เฉียดไม่รู้ (เสียงฮา)
ฤ. : ไม่เป็นไรครับ ผมเริ่มต้น หลวงพ่อค่อย ๆ รดน้ำพรวนดิน ก็งอกงามขึ้นมาให้เณรเขียนป้ายไว้ว่ามีแล้วเท่านี้ ใครต่ออีกก็ต่อเป็นการรดน้ำต่อ

อ. : เวลานี้เขียนไม่ได้
ฤ. : ทำไมล่ะครับ
อ. : คนที่เขาอยากจะให้มาก เขาจะว่ามีทุนมากแล้ว
ฤ. : เปล่า มีทุนบ้างนิดหน่อย ยังไม่พอ ใครจะต่ออีกก็ต่อ
อ. : อ๋อ..ศรัทธา ไปที่ไหน ๆ ก็แจ้งเขาอยู่นา พอบอกมีทุนอยู่แล้ว ก็บอกขอให้เป็นค่าน้ำมัน เดือดร้อนทุกที แต่มีก็บอกว่ามี
ฤ. : มีบ้าง แต่จะพอหรือไม่พอก็ไม่รู้ ถ้าเหลือส่งมาให้ผมบ้างก็ได้ครับ
อ. : พระที่มานี่บวชใหม่รึ?
ฤ. : ครับ
อ. : มีกี่องค์ ที่วัด
ฤ. : เดี๋ยวนี้มีไม่ถึง ๑๐ องค์ครับ วัดเก่ากำลังโทรมไปนาน กำลังจะรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่
อ. : ที่กว้างขวางรึ?
ฤ. : ไม่กว้างครับ ต้องซื้อที่ขยายไปอีก ๒ จุด ที่มันแคบ
อ. : อือ บ้านญาติโยมอยู่ใกล้ ๆ รึ?
ฤ. : ญาติโยมนี่อยู่ไกลครับ อยู่กรุงเทพฯ
อ. : ห่างไกลกัน?
บริษัท : ๒๐๐ กิโลค่ะ
ฤ. : นิดหน่อย นึกพั๊บเดียว ไปดาวดึงส์เร็วกว่า (เสียงหัวเราะ)
อ. : ทางรถดี? สะดวก?
ฤ. : สะดวกครับ ไม่ต้องหลีกรถ
ปริญญา : ทางไปดาวดึงส์หรือไงครับ
อ. : นึกก็ถึง ไม่ต้องขี่หรอก

(นี่องค์นี้ก็ยืนยัน ว่าไปดาวดึงส์ด้วยทางจิตได้ ช่วยเป็นพยานกันหลาย ๆ องค์)

ฤ. : สบาย เอ๊ ผมฝันไปบอก หลวงพ่อบอก เอ๊อ ราคามันไม่มาก ขาดนิดหน่อย เอามานี่มากกว่าคงมีแล้ว
อ. : ยังไม่ถูก (เสียงหัวเราะ)
ฤ. : ขาดอีกเท่าไรครับ โดยประมาณ
อ. : เขาไม่บอกมาให้แน่
ฤ. : กะคร่าว ๆ เผื่อมันจะตรงกับหงกับหวยบ้าง
อ. : กะไม่ถูกหรอกฯลฯ
ฤ. : ผมคิดจะเอาตู้มาให้หลวงพ่อ พอดี ดร.ปริญญาบอกว่าไม่ต้องการตู้ ต้องการตังค์ กระดาษ
อ. : ถูก
ฤ. : ทีนี้กระดาษหนังสือพิมพ์ในรถมีเยอะ
อ. : ญาติโยมของหลวงพ่อวีระ กระดาษเยอะไป (เสียงหัวเราะ)
ฤ. : กระดาษห่อหนังสือห่อของ พอมี
อ. : กระดาษแบบนี้? (ชี้ห่อเงิน) (เสียงหัวเราะ)
ฤ. : หลวงพ่อไปวัดผมนะครับ ทีหลังกระดาษมามากอีกเยอะ
อ. : ยังงั้นไม่ถูก โลภมาก ไม่อยากไป
ฤ. : แบบนี้หลบ ไม่มีทาง ไม่มีทาง ไอ้นี่ผมแกล้งยั่ว ดูซิว่าจะหลุดจริงหรือไม่จริง (เสียงหัวเราะ)

(คือหลุดจากกิเลส หลุดจากทุกข์กระมัง..ป่องว่า)

เสียท่า เสียท่าแล้ว ใช่ไหมล่ะ หลบไปหลบมา ไปโผล่ทางโน้น ไอ้นี่ ที่เขาตั้งใจคือว่าพระที่เป็นสุปฏิปันโนมีอยู่ เราพยายามจะหามาไหว้กัน ใครรู้จักไหว้พระก็ไหว้พระ ใครรู้จักไหว้ยศก็ไหว้ยศ เลือกไหว้ตามชอบใจ หามาให้แล้วนะครับ
อ. : เขาไหว้แต่มือ ใจเขาไม่ไหว้
ฤ. : ครับ พวกไหว้ด้วยมือ ไหว้ด้วยใจก็มี แต่เวลานี้ พวกไหว้ด้วยใจก็มี แต่เวลานี้ พวกไหว้ด้วยใจก็มีเยอะแล้วครับ ยังไม่ทันถึงหลวงพ่อ ย่อง ๆ ดูบ้างหรือเปล่า
(ไม่ตอบ)
ไอ้ที่นิ่งนี่ไม่ใช่ดูนาน ๆ นะ แกล้งนิ่ง
(เสียงหัวเราะ)
พวกนี้เขาไม่ได้ดูกันนานหรอก ดูปี๊บเขาก็รู้อยู่แล้วแกล้งนิ่ง ใคร ๆ เขาก็รู้ เขาไม่รู้เขาไม่มากันหรอกครับ
(เสียงหัวเราะ)
อ. : เก่ง
ฤ. : ยัง ยังไม่เก่งเท่าหลวงพ่อครับ หลวงพ่อเก่งกว่าผม ผมต้องมาหาหลวงพ่อ
(เสียงหัวเราะ)
อ. : เก่งกว่า มาได้
ฤ. : งั้นหรือครับ ผู้แล้วว่าหลวงพ่อออกท่านี้ ผมเปิดไว้ให้ครับ
(เสียงหัวเราะ)
กลัวจะออกไม่ได้
อ. : พูดอย่างนี้ โยมเข้าใจรึ?
(รับว่าเข้าใจ)
ฤ. : พวกนี้เขาเข้าใจครับ แล้วยังอีกหลายคนที่อยากจะมา มาไม่ได้นะครับ ตั้งใจว่า เดือนมีนา ถ้าไม่มีอุปสรรคจะมากันอีก ภาษิตโบราณเขาว่าน้ำถึงไหน ปลาถึงนั่น แต่ว่าน้ำในลูกมะพร้าวก็ไม่มีปลาเหมือนกัน
(เสียงหัวเราะ)
คราวนี้ผมไม่เปิดให้ละครับ
สายเหนือนี่ยังดีครับ พระยังสนใจในธรรมปฏิบัติกันมากนะครับ ถึงจะมีน้อยองค์ แต่ว่าที่ตั้งใจจริงนะครับ ยังมีอยู่ ฯลฯ

ฤ. : ที่วัดนี่ ยังมีทายาทต่ออีกหรือเปล่าครับ ทายาทแบบหลวงพ่อ
อ. : กำลังฝึก
ฤ. : พอเห็นท่าจะมีไหมครับ?
อ. : กำลัง ท่าทางจะรับไว้ได้บ้าง
ฤ. : นั่นซีครับ ๆ ไม่ถึงกับเต็มอัตรา แต่ต่อไปอาจจะเต็มก็ได้?
อ. : อาจจะมี
ฤ. : อาจจะมีนะครับ ดี ทายาทแบบนี้หายาก ก็ต้องค่อย ๆ คือว่าในระหว่างที่หลวงพ่อยังไม่ทิ้งขันธ์ไป เขายังรับช่วงไว้ได้ไม่เต็มที่ ก็ยังพอได้บ้าง เป็นพื้นฐานนะครับ พอมีทางไม่ถอยหลังเขาก็ไปเอง ฯลฯ
ฤ. : ต้องขออภัยนะครับ หลวงพ่อ เพราะอาวุโส ที่พูดนี่ ล่วงล้ำ ล่วงเกินไปบ้าง บางทีก็พูดเป็นที่ตีเสมอบ้างก็ขอประทานอภัยด้วย

อ. : อ๋อ..พูดไปมันก็เป็นลมไป ไม่ถือ
ฤ. : แค่นี้พอแล้วครับ หลวงพ่อเสียท่าผมแล้ว (เสียงหัวเราะ) ดีจริง ๆ หาไม่ได้ หายาก เออดี พวกเรานี่น่ะ ที่ยังไม่ตายเสียก่อน แล้วยังไม่หลงผิด ก็ยังคลานมาหาท่านเหล่านี้ได้ หลวงพ่อน่ะ ไม่พูด ผมพูดคนเดียวพอครับ ไม่ใช่หน้าที่หลวงพ่อจะพูดครับ

อ. : ถึงพูดก็พูดไม่ถูก
ฤ. : ครับ พูดไม่ถูก
อ. : เป็นพระ พระไม่พูด
ฤ. : พระพูดไม่ได้
อ. : พระอื่น ๆ พูดได้
ฤ. : ครับ ตัวเองไม่พูด ให้กี่แสนล้านก็ไม่พูด เหมือนคนที่รวยแล้ว ไปบอกให้บอกเองว่ารวยแล้วก็ไม่พูด
อ. : (หัวเราะ)

ฤ. : อย่างสุปปะพุทธะ จำได้ไหมครับ ที่เป็นขอทานโรคเรื้อน แกหาว่าพระอินทร์ถ่อย พระอินทร์หาว่าแกเป็นคนจน เป็นคนขอทาน บอกแกว่าสุปปะพุทธะ เธอจงบอกว่าพระพุทธเจ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ เธอพูดเพียงเท่านี้เราจะบันดาลให้เขาเป็นมหาเศรษฐี เป็นคนสวย แกเป็นโสดาบันแล้ว
พอนึกออกนะครับ แกฟังเทศน์แล้วเป็นโสดาบัน พระโสดาบันนี่ก็รวยแล้ว แกเลยชี้หน้าพระอินทร์ว่า ถ่อย! หนอยแน่ะ หาว่าเราเป็นคนจนรึ ไอ้ทรัพย์ภายนอกของเราจนจริง แต่รามีอริยทรัพย์ รวยแล้วใช่ไหม นี่แค่พระโสดาบันนะ

อ. : มีโลกุตตรธรรม
ฤ. : ครับ มีโลกุตตรธรรม อริยทรัพย์ แกบอกรวยอริยทรัพย์ ไอ้สิ่งนี้ซีมันหายาก แต่ดินแดนเชียงใหม่ยังเป็นดินแดนอยู่ ดีมาก คือไม่ไปติดกระดาษ แหมไอ้ในกรุงเทพฯ ภาคกลาง มันติดกระดาษกันจริงเลย กระดาษมันเลยติดผมมาหาหลวงพ่ออีก (เสียงหัวเราะ) มันติดผมมา ผมเลยเหวี่ยงไปหาหลวงพ่ออีก

อ. : ติดกระดาษ หรือกระดาษติด
ฤ. : ไม่รู้ว่าใครติดใคร แต่เปล่าที่ว่าติดกระดาษ เขาติดกระดาษตราตั้งกันมากกว่า เขาติดกระดาษกันมาก ที่นี้ไอ้ส่วนลึกมันก็ไปติดอยู่แค่สมมตินะครับ ถ้าละสมมติไม่ได้วิมุตติมันก็ไม่มา ที่หลวงพ่อบอกแล้วว่าไอ้สมมติมันปิดวิมุตตินะครับ
อ. : ปิดบัง
ฤ. : ครับ ปิดบังวิมุตติเสีย คือว่ามันมุดไม่หลุด มันจอดไม่ไหว อ้าหลวงพ่อครับ ต้องขอพรหลวงพ่ออีกวาระหนึ่งครับ จะไปเชียงของ ญาติโยมพวกนี้จะไปด้วย ขอบารมีคุ้มครอง ช่วยส่งจิตใจตามไปด้วยนะครับ

อ. : ทุกคน บรรดาที่มากับหลวงพ่อทัศนาจร ได้เป็นหัวหน้า เป็นมัคคุเทศก์นำมาแล้วจะนำต่อไป จะเดินทางต่อไป ขอให้มีโชคชัย มีความชนะ คลาดแคล้วภยันตรายทุกประการ เรื่องการเดินทาง ขอให้ปลอดภัยจากยวดยาน และจากอันธพาลต่าง ๆ ขอได้รับความสว่าง ความสุขความสบาย ทางกาย ทางจิตต่อไปทุกท่านทุกคนเทอญ

บริษัท : สาธุ..!!!


[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
[*] posted on 15/1/09 at 20:32 [ QUOTE ]


หลวงปู่วัดน้ำบ่อหลวงเทศน์

อ. : ๑. ให้มีศรัทธาความเชื่อ ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย มีความเชื่อ ความเลื่อมใสในปฏิปทา คือ ทางปฏิบัติที่จะให้เป็นคนดี ที่จะให้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นฟ้าเป็นเบื้องต้น ให้มีศรัทธาความเชื่อ ความเลื่อมใสจริง ๆ การทำคุณงามความดีทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าหากศรัทธาแล้วก็เป็นไป ดังนั้นเราต้องมีศรัทธาความเชื่อปสาทะ ความเลื่อมใสเสียก่อน

ท่านเปรียบไว้ศรัทธานี้ เสมือนกับมือของเรา เราจะจับถือเอาสิ่งใดที่ไหนก็ดี เราต้องใช้มือ ถ้าเราไม่มีมือแล้ว ก็ยากแก่การที่จะจับเอาสิ่งของอะไรที่ไหนมาใส่ตัว ใส่ปากของเรา ฉะนั้น ท่านทั้งหลาย เมื่อต้องการเหตุของคุณงามความดี จงปลูกศรัทธาความเชื่อ ปสาทะ ความเลื่อมใส ดิ่งลงในพระรัตนตรัยเป็นที่ตั้งเสียก่อน แล้วจึงค่อยทำไป

ข้อต่อไป เป็นข้อ ๒ คือศีล ท่านทั้งหลายปรารถนาหาความสุข ท่านทั้งหลายจงสร้างปกติแห่งกาย วาจา และใจ ที่เรียกกันว่า ศีล คือว่าให้เกิดขึ้นในจิตในใจของตัวเอง คือ จงพยายามรักษากายของเราไว้ให้ดี สิ่งใดที่มันผิด เป็นภัยทุกชนิดด้วยทางกาย ท่านทั้งหลายจงเว้นให้เด็ดขาด อาทิ เป็นต้นว่า การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ของคนอื่น ประพฤติผิดในกาเมสุมิจฉาจาร นี่เป็นต้น

ท่านทั้งหลายจงรักษา ยิ่งกว่านี้ก็ต้องรักษาปากของเราไว้ ปากของเรานี้สำคัญ ธรรมดาคนเรา ถ้าปิดปากไม่ได้ ก็เกรงว่าปิดประตูอบายไม่ได้ ถ้าใครไม่อยากไปตกอบายทั้งสี่จงปิดปาก นี่เป็นปากของอบาย ปิดปากไว้ให้ดี คือ สำรวมปาก พูดจาปราศรัยแต่คำดี เป็นคำสัตย์คำจริง เป็นวาจาที่อ่อนหวาน เป็นวาจาที่จะนำประโยชน์โสตถิผลมาให้แก่ตนเองและคนอื่น อย่างนี้เป็นต้น

ยิ่งกว่านี้ ท่านทั้งหลายจงรักษาใจของตนเองไว้ให้ดี สิ่งใดที่ไหนมันจะผิดศีล มันจะผิดธรรม ถ้าท่านทั้งหลายจะนึกจะคิด จงคิดไปในทางที่ดีที่เป็นบุญเป็นกุศล ที่จะนำประโยชน์สุขมาให้แก่ตนเองและคนอื่น นี่เป็นฝ่ายศีล เลยไปถึงฝ่ายสมาธิด้วย

อันดับต่อไป ขอให้ท่านทั้งหลาย จงเป็นผู้มีความเสียสละเรียกว่าจาคะ ถือความสละ ทำบุญสุนทาน ช่วยเหลือเผื่อแผ่แก่คนอื่น ช่วยเหลือเผื่อแผ่แก่ประเทศ ชาติ ศาสนา สาธารณประโยชน์ ท่านทั้งหลายจงนึกไว้ คิดไว้ให้ถูกทางตามโอกาส เวลา ตามฐานะ และตามจะเห็นสมควร อย่าเป็นคนตระหนี่เหนียวแน่นจนเกินไป ตลอดถึงสละความไม่ดีที่มีในจิตใจของเรา

เป็นต้นว่า ความโลภจัด โลภเกินไป หรือโลภไม่สม่ำเสมอ เป็นอภิชชาวิสสมะโลภะก็ดี ความโกรธ ความหึง ความหวง ทิฏฐิมานะ และความหลง หลงรัก หลงชัง หลงศักดิ์ หลงสังขาร หลงถือว่าตัวเราของเรา ตัวกูของกู นั่น ๆ นี่ ๆ ออกจากจิตจากใจนี่เป็นจาคะ คือความสละของภายนอกตัว และของในจิตในในที่เป็นกิเลสหมักหมม คือหมักดองอยู่ในสังขาร ชำระสะสางให้มันออกไปเสียให้จิตใจ ใจบริสุทธิ์

ข้อต่อไป ซึ่งเป็นข้อสุดท้ายก็คือปัญญา ปัญญาความรอบรู้ท่านทั้งหลาย ปัญญานี้ถึงจะเป็นสิ่งสุดท้ายก็ตาม แต่เป็นสิ่งสำคัญ สำคัญที่สุด เพราะปัญญาความรอบรู้นี้ เป็นเสมือนประทีปทองสำหรับส่องทางเดินของเรา ความรอบรู้เป็นยอดของธรรม ในที่นี้ก็คือให้รู้จักบาปรู้จักบุญ ว่าอะไรเป็นบาป อะไรเป็นบุญ อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ ให้รู้ รู้แล้วต้องพิจารณาสืบต่อ

อะไรเป็นบาปจงพยายามเลิกละ หลีกเว้นให้ห่างไกล อะไรเป็นบุญจงพยายามบำเพ็ญให้เกิดขึ้น มีขึ้นในจิตใจของเรา อะไรเป็นบุญ คุณงามความดี ก็จงพยายามสร้างขึ้นในจิตของเรา อะไรเป็นโทษ ก็จงพยายามรักษากาย วาจา ใจของเราอย่าได้ไปทำสิ่งที่เป็นโทษให้มีความเกลียดเป็นที่สุด

เรื่องโทษ เรื่องบาป เรื่องกรรม เรื่องการทำไม่ดี นี่คือปัญญา จัดว่าธรรมเหล่านี้เป็นตัวเหตุ ตัวปัจจัยที่จะบำรุงส่งเสริม ซึ่งผู้ปฏิบัติให้มีความสุข ความเจริญในโลกปัจจุบัน และสัมปรายภพที่จะต้องเกิด ต้องตายต่อไปในชาติหน้า

ยิ่งกว่านี้ ท่านทั้งหลายซึ่งเป็นนักศึกษา และนักปฏิบัติควรจะสนใจ ซึ่งธรรมะทั้งหลายให้ยิ่งๆ ขึ้นไป อย่าสนใจแต่เฉพาะปัจจุบันทันด่วน อย่าสนใจแต่ความสุขในภพนี้ และภพหน้าอย่างเดียว ท่านทั้งหลายควรจะสนใจต่อประโยชน์สูงสุดที่หลุดพ้นจากเกิด แก่ เจ็บ ตาย หลุดพ้นจากภยันตราย ภัยพิบัติ หลุดพ้นจากกิเลสสาสวธรรมทั้งหมด ประโยชน์นั้นท่านเรียกว่า "นิพพาน"

นิพพาน คือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ แห่งกิเลส หรือกิเลสแห่งกองทุกข์ นิพพานเป็นความเย็น เพราะกิเลสและกองทุกข์เป็นความร้อน เมื่อใดดับความร้อนจากกิเลสและกองทุกข์ได้ เมื่อนั้น นับว่าผู้นั้นได้ถึงพระนิพพาน
พระนิพพานนั้น ท่านจำแนกเป็น ๓ ประการด้วยกัน

ประการแรก คือ ตทังคนิพพาน เป็นความสงบ ความดับ ความเย็นชั่วครั้งชั่วคราว

ที่สอง เรียก วิขัมปนะนิพพาน เป็นความดับ เย็นตัดกิเลส และกองทุกข์ได้ตามกำลังฌานสมาบัติที่ยังผู้ปฏิบัติได้แล้วถึงแล้ว ย่อมมีความสงบ ความดับความเย็นนานกว่าตทังคนิพพาน

อันดับที่ ๓ ซึ่งเป็นนิพพานอันสุดยอด ท่านเรียกว่า สมุจเฉทนิพพาน เป็นนิพพานที่ดับ ที่เย็น ที่สงบจากกิเลสาสวธรรม จากกองทุกข์โดยเด็ดขาด ไม่เกิดกิเลสและกองทุกข์ต่อไปอีก

อันนี้เป็น ปรมัตถประโยชน์ คือประโยชน์อย่างยิ่ง ได้แก่ พระนิพพาน ประโยชน์ในปัจจุบันก็ดี สัมปรายภพคือชาติหน้าก็ดี ได้ประโยชน์อย่างยิ่งก็ดี จะเกิด จะเป็น จะมีขึ้นได้ก็ต้องอาศัยต้นเหตุ คือ ปัจจัตธรรมปฏิบัติ

ฉะนั้น ท่านผู้ฟังทั้งหลาย เมื่อท่านได้ฟังแล้วจงเก็บกำใส่ใจ น้อมนำไปนึกไปคิดไปปฏิบัติตาม โดยที่เราทั้งหลายปรารถนาแต่ความสุขความเจริญ ก็จงตั้งใจประกอบเหตุแห่งความสุขความเจริญอันเป็นในปัจจุบัน ในอนาคตตลอดถึงประโยชน์อย่างยิ่ง คือพระนิพพานอย่างที่กล่าวแล้ว

อีกประการหนึ่ง ท่านทั้งหลายในฐานะที่ท่านทั้งหลายเป็นนักศึกษา และปฏิบัติเป็นชาวพุทธผู้มีความจงรักภักดีต่อพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นเจ้าของศาสนา เป็นผู้ที่แน่ใจหนักแน่นในเหตุในผล ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอให้ท่านทั้งหลายจงเก็บกำข้อธรรมะไว้ประจำจิตประจำใจ ธรรมะที่ควรตั้งไว้ในจิตในใจนั้น

ท่านแสดงไว้ถึง ๔ ประการด้วยกัน
ข้อ ๑. ปัญญา ความรอบรู้
ข้อ ๒. สัจจะ ความจริงใจ คือ ประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้จริง
ข้อ ๓. จาคะ สละสิ่งเป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ และ
ข้อ ๔. อุปปสมะ สงบใจจากสิ่งเป็นข้าศึกแก่ความสงบรวมเป็น ๔ ประการด้วยกัน


ท่านทั้งหลาย ธรรมะ ๔ ประการนี้ ท่านเรียกว่า อธิษฐานธรรม คือ ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ มี ๔ อย่างตามใจความที่ได้กล่าวมานี้ ท่านทั้งหลายจงเก็บกำรักษาไว้ในจิตในใจ เสมือนของดีวิเศษของตนแต่ละคน ๆ อย่าให้ตกเรี่ยเสียหาย ท่านทั้งหลายก็จะเป็นผู้ที่เรียกว่า เป็นนักบุญหรือเป็นนักศีลนักบุญ เป็นนักธรรม มีศีล มีบุญ มีธรรมะมากเก็บฝังไว้ในจิตในใจเสมอไป

ท่านทั้งหลายจะอยู่ที่ไหน จะไปอย่างไร จะเป็นหรือตายอย่างไร ถ้าท่านทั้งหลายมีธรรมะทั้ง ๔ ประการนี้ ตั้งอยู่ในจิตในใจแล้ว ท่านทั้งหลายจะได้อยู่เย็นเป็นสุข ถึงแม้จะดับจิตถึงจุดจบไป ท่านทั้งหลายก็จะได้ไปสู่สุคติที่ดี ที่นับว่าเป็นโอวาท คำสอนของพระพุทธเจ้าที่อาตมาได้จำมา นำมาถ่ายเทให้แก่ท่านทั้งหลายที่เดินทางมาแต่ไกล ต้องการสัจจะ

อาตมาได้นำเอาโอวาทของพระพุทธเจ้า และคุณธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ ประการ มาอธิบายพอเป็นใจความให้ท่านทั้งหลายได้ยินได้ฟัง ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา

ฉะนั้น ในอวสานกาลเป็นที่สุดนี้ อาตมาขอแสดงความขอบคุณท่านทั้งหลายที่ได้ตั้งจิตตั้งใจมา ทั้งขออาราธนาคุณพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันสถิตอยู่ในสากลโลกทั้งหมดจงช่วยดลบันดาลให้ท่านทั้งหลายได้นิราศ ปราศจากเสียซึ่งความทุกข์เศร้าโศก โรคภัยไข้เจ็บ อุปสรรคภยันตรายพิบัติในชีวิตทุกประการตั้งแต่บัดนี้ วันนี้เป็นต้นไป

ขอให้ท่านทั้งหลายจงมีความสุขกายสบายจิต แม้แต่นึกคิดปรารถนาสิ่งใดที่เป็นไปโดยชอบแล้ว ขอให้ความปรารถนาของท่านทั้งหมด จงเป็นผลสำเร็จตามจุดประสงค์มุ่งหมายของท่านทั้งหลายทุก ๆ ประการ และทุก ๆ ท่าน..เทอญ

บริษัท : สาธุ

ไพเราะ..วิจิตร ! ท่านเคยได้ยินได้ฟังโอวาทที่จับใจอย่างนี้ไหม พึงระลึกไว้ด้วยว่าโอวาทนี้ไม่ได้แต่งได้เตรียมไว้ก่อนเลย ยังสละสลวย นุ่มนวล เยือกเย็น ผิดกับวาทะของพวกพระเดินขบวนเป็นไหน ๆ อย่างนี้ให้ "ป่อง" นั่งประดิษฐ์ถ้อยคำอยู่สัก ๓ ปี เห็นจะสวยงามไม่ถึงครึ่งของท่าน เอ๊ะ หรือว่าท่านเป็นปฏิสัมภิทาญาณด้วย ถึงเทศน์ได้เก่ง น่าจะเป็นไปได้น่ะ อย่างนี้กระมังที่เขาเรียกว่า "อาเทศนาปาฏิหาริย์"

เมื่อมาถึงวัดนี้ สังเกตได้ว่าหลวงพ่อลิงดำท่านเปลี่ยนลีลาไปจาก ๒ วัดแรก ซึ่งท่านใช้วิธีถามตอบด้วยปฏิภาณอย่างเดียว มาถึงที่นี่เปลี่ยนเป็นขอให้ท่านสอน "ป่อง" เดาเอาว่า เนื่องจากความก่อนโน้น หลวงพ่อฤาษีท่านเล่าไว้ว่าครูบาพรหมนี้เทศน์แต่สังโยชน์ ๕ คราวนี้เลยอยากจะดูว่าเทศน์แค่ไหน ได้คำตอบมาสมความประสงค์คือเทศน์ถึงพระนิพพาน เมื่อเสร็จโอวาทแล้วคณะก็ถวายปัจจัยทำบุญ ท่านก็ให้พรอีก

“บัดนี้..วันนี้เป็นวันมงคลอันสูงส่ง บัดนี้คณะสามัคคี จังหวัดอุทัยธานี ทั้งหญิง ทั้งชาย ทั้งใหญ่ ทั้งเด็ก ด้วยการนำของท่านพระมหาวีระ ถาวโร วัดท่า….อะไรวะ? (เสียงฮา)

ทั้งคณะกรุงเทพมหานคร ก็ได้มาเป็นสามัคคีกัน ได้พร้อมใจบริจาคจตุปัจจัยไทยธรรม เป็นจำนวน ๔,๑๒๐ บาทใช่ไหม? โดยที่มีจุดประสงค์มุ่งหมายจะสมทบทุนในการก่อสร้างพระอุโบสถ วัดพระพุทธบาทตากผ้า ซึ่งกำลังทำอยู่นี้ บัดนี้ อาตมาภาพก็ได้รับเอาไว้แล้ว จึงขออนุโมทนาด้วยกุศลเจตนาอันดีของท่านทั้งหลายในโอกาสนี้

โดยผลานิสงส์ที่ท่านทั้งหลายต่างก็มานมัสการ ได้สังสรรสนทนาสดับโอวาทคำสอน ไม่เพียงแต่เท่านั้น ยังได้บริจาคปัจจัยเงิน ๆ ทอง ๆ ซึ่งเป็นของรัก ของชอบใจ ของหวงแหนที่สุดของท่านทั้งหลาย ออกบริจาคช่วยในการก่อสร้างครั้งนี้ด้วย นับว่าท่านทั้งหลายเป็นผู้ดำเนินตามวิสัยของนักปราชญ์ชาติบัณฑิตที่ได้ทำมาแล้ว

ฉะนั้น จึงขออานุภาพคุณพระศรีรัตนตรัย บุญกุศลแห่งการบริจาคของท่านทั้งหลายในกาลวันนี้ จงเป็นปัจจัยค้ำจุนท่านทั้งหลายไปทุกลมหายใจเข้าออก ขอให้ท่านทั้งหลายจงมีความสุข แม้จะประกอบกิจการงานในหน้าที่ก็ดี จะทำนา จะค้าขาย จะทำไร่ ทำสวน ทำราชการหรือทำอะไร สารพัดอย่าง ตามหน้าที่ของท่านทั้งหลาย

ขอให้มีความเจริญ มีความสุข มีกำไร เป็นคนมั่งมีขึ้นทุกวันทุกคืน ในประโยชน์ปัจจุบัน ขอให้สมดังความประสงค์ แม้ประโยชน์ชาติหน้าหรือประโยชน์อย่างยิ่ง คือ นิพพาน ก็ขอบุญกุศลอันนี้ จงเป็นปัจจัยส่งเสริมไปตลอดทุกภพ ทุกชาติ สิ้นกาลนานทุก ๆ ท่าน..เทอญ

เห็นไหม..ไพเราะจริง ๆ หลวงพ่อฤาษีบอกว่ายั้งงี้แหละ ทีแรกออกท่าทางก่อน ต่อมาก็ค่อยๆ ขยาย ๆ ลงท้ายคุยกันสนุกไม่ยอมให้กลับ มาเที่ยวนี้ก็เช่นเดียวกัน เริ่มขยาย “วัดท่า….อะไรวะ?” ออกมาแล้ว แล้วก็เริ่มจับไม้จับมือหลวงพ่อของเรา นัยว่าชักสนุกแล้ว แต่เสียดายจะเพลอยู่แล้วก็เลยต้องนมัสการลาออกมาที่ตลาดลำพูน ถวายเพลหลวงพ่อหัวหน้าคณะ

พูดถึงหลวงพ่อฤาษีลิงดำ หัวหน้าคณะ และอาจารย์ของเรานี้ ความจริงท่านก็มีลักษณะเหมือนท่านพระครูพรหมจักรสังวรอยู่ ในเรื่องของการพูดโดยไม่ต้องเขียนเป็นหนังสือไว้ก่อน ยกเว้นแต่หนังสือ “คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน” เล่มเดียว นอกนั้นว่าปากเปล่าโดยตลอด (หนังสือบางเล่มก็ ๒๐๐ กว่าหน้า) เรียกว่าไม่เบาเหมือนกัน สำหรับท่านองค์นี้ หลวงพ่อบอกว่าอภิญญาไวมาก..

ตอนที่ 6 หลวงปู่คำแสน คุณาลังกาโร วัดป่าดอนมูล จ.เชียงใหม่ » 

[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
ตั้งหัวข้อใหม่

Go To Top