Not logged in [Login - Register]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites ตั้งหัวข้อใหม่
[*] posted on 3/7/08 at 18:01 [ QUOTE ]

หลักการปฏิบัติธุดงค์ (ตอนที่ 1 โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน)


  « ตอนแรก "คำปรารภ"

หลักการปฏิบัติธุดงค์


"...พระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระราชพรหมยาน ท่านกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า .. "ในเวลาใกล้ที่องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์ จะเสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน

ในกาลนั้น พระมหากัสสปเถระ เข้าไปทูลลาองค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจะออกธุดงค์ สมเด็จพระพุทธองค์จึงได้ทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า

"........กัสสปะ! ดูก่อน..กัสสป เวลานี้ตถาคตก็แก่แล้ว เธอก็แก่แล้ว จงละจากการอยู่ป่าเสียเถิด จงอยู่ในสถานบ้านเมือง จงรับสักการะที่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายมีความเลื่อมใสเธอ และชีวิตของเธอกับชีวิตของตถาคตก็ใกล้อวสานแล้ว"

.........พระมหากัสสปก็ได้กราบทูลองค์สมเด็จพระประทีปแก้วว่า "ภันเต ภควา .. ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ พระพุทธเจ้าข้า การที่ข้าพระพุทธเจ้าปฏิบัติธุดงควัตรอย่างนี้ ก็มิได้หมายความว่า จะปฏิบัติเพื่อความดีของตน.."

.........( ทั้งนี้เพราะอะไร..เพราะพระมหากัสสปเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ ความดีของท่านจบกิจพระพุทธศาสนาแล้ว แต่ก็กราบทูลกับองค์สมเด็จพระประทีปแก้วว่า )

"........ที่ข้าพระพุทธเจ้าทำอย่างนี้ ก็เพื่อว่าจะให้เป็นแบบฉบับของบรรดาภิกษุทั้งหลายภายหลัง ที่เกิดมาไม่ทันองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะได้ทราบว่า ในสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ยังมีพระคณะหนึ่งนิยม "ธุดงควัตร" เป็นสำคัญ เพื่อเป็นการส่งเสริมบรรดาภิกษุสงฆ์ทั้งหลายเหล่านั้นประพฤติปฏิบัติตาม"

........ฉะนั้น ธุดงค์แท้ ๆ ตามแบบฉบับ พระมหากัสสปเถระ ก็คือ แบบของพระพุทธเจ้านั่นเอง คำว่า "ธุดงค์" แปลว่า องค์ที่ประกอบไปด้วยความดี ชาวบ้านเขาแปลว่ายังไงก็ไม่รู้ แต่ขอแปลเป็นภาษาไทยว่า "ตั้งใจทำความดี"

........ธุดงค์มีอยู่ ๑๓ ข้อด้วยกัน ปฏิบัติได้ทั้งอยู่ในป่าช้า อยู่ในป่าชัฏ อยู่ในบ้าน หรืออยู่ในวัด ธุดงค์นี่อยู่ในวัดก็ปฏิบัติได้ หรือว่าชาวบ้านจะปฏิบัติธุดงค์ก็ปฏิบัติได้ เขาไม่ห้าม การปฏิบัตินี้ไม่มีเฉพาะพระหรือไม่มีเฉพาะเณร

อันดับแรกจะถือ "สันโดษ" เป็นสำคัญ เตจีวเรนะ เราพอใจเฉพาะเครื่องนุ่งห่มที่มีอยู่ชุดเดียว อย่างนี้ฆราวาสก็ทำได้ เราจะไม่มีผ้าเกินกว่าชุดเดียว เว้นไว้แต่ผ้าผลัดอาบน้ำ พอใจเพียงเท่านี้ แต่ว่าพอใจเพียงเท่านี้ก็ยังใช้ไม่ได้ ต้องน้อมลงไปว่าที่เราพอใจผ้าผืนเดียวนี้ เป็นการตัดความรุ่มร่าม ตัดความละโมบในเครื่องอาภรณ์ เครื่องประดับ หรือเครื่องแต่งตัว

และก็ต้องพิจารณาด้วยว่า การที่จะห่มผ้า การที่จะนุ่งผ้าใส่เสื้อนี่ เราไม่ต้องการความสวยสดงดงามของผิวพรรณ เราไม่ต้องการความสวยสดงดงามของเสื้อผ้า เราห่มผ้า เราใส่เสื้อ เรานุ่งผ้า เพื่อปรารถนาป้องกันความหนาว ความร้อน หรือเหลือบยุงเท่านั้น ไม่ต้องการความสวยสดงดงาม ความเรียบร้อยใด ๆ ทั้งหมด

เพราะเราคิดไว้เสมอว่า ชีวิตของเรานี้มีความตายในที่สุด เราจะแต่งให้มันดีไปยังไง .. ก็แก่ลงทุกวัน ร่างกายเป็น "โรคะนิทธัง" เป็นรังของโรค มันป่วยทุกวัน แล้วในที่สุดมันก็ตาย ผ้าผ่อนท่อนสไบที่เราแต่งกายนี่เหมือนกัน มันก็เก่าลงไปทุกวัน ในที่สุดมันก็ขาด ทั้งร่างกายก็ดี เครื่องอาภรณ์ เครื่องประดับ ผ้าผ่อนท่อนสไบก็ดี ไม่เป็นที่ถูกใจ ไม่เป็นที่ประสงค์ของเรา เพราะว่าเราไม่ได้มองเห็นว่าร่างกายเป็นของดีสำหรับเรา

เพราะร่างกายนี่มัน ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ประกอบไปด้วย ธาตุ ๔ และก็มี วิญญาณธาตุ เข้ามาอาศัยมี อากาศธาตุ มาบรรจุให้เต็ม เป็นเรือนร่างที่อาศัยของจิตชั่วคราว มันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วเสื่อมไปทุกวันและตายในที่สุด ร่างกายที่ประกอบไปด้วยทุกข์ ความทุกข์ต่าง ๆ ที่มันมีกับเรา เพราะอาศัยร่างกายเป็นสำคัญ ฉะนั้นที่เราปฏิบัติความดีนี้นั้น เราไม่ต้องการร่างกายอย่างนี้อีก

เรามุ่งศัพท์เดียวที่ พระอินทร์ ตรัสในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรินิพพานว่า "เตสัง วูปะสะโม สุโข" ซึ่งแปลเป็นใจความว่า การเข้าไปสงบกายนั้น ชื่อว่ามีความสุข

คำว่า "สงบกาย" หมายความว่า เราไม่ต้องการกาย คือ ขันธ์ ๕ อย่างนี้ต่อไป เพราะขันธ์ ๕ มันเป็นปัจจัยแห่งความทุกข์ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา ตายชาตินี้แล้ว เราก็ปล่อยขันธ์ ๕ ทิ้งไว้เป็นสมบัติของโลก เครื่องอาภรณ์ เครื่องประดับต่าง ๆ เราก็ทิ้งมันไว้ เราไม่ต้องการมันอีก จิตมีความประสงค์อย่างเดียวคือ พระนิพพาน

นี่ว่ากันถึงว่าเครื่องแต่งกาย ถือผ้า ๓ ผืนนะ อย่าถือส่งเดช ต้องถือให้มันเป็นกรรมฐาน ถือ อสุภสัญญา และ ไตรลักษณญาณ แล้วก็ สักกายทิฏฐิ ต้องถือไปถึงจุดนั้น จึงชื่อว่าเป็นธุดงค์แท้ ๆ

ทีนี้ ถ้าเราถือ เอกภาชนะ หรือ เอกา "เอกภาชนะ" กินภาชนะเดียว "เอกา" กินเวลาเดียว ถือแค่กินแค่นี้ไม่พ้นหรอก เวลาก่อนจะกินเราต้องพิจารณาเป็น อาหาเรปฏิกูลสัญญา ไม่ติดในรส อาหารอะไรก็ตาม ถ้าไม่เป็นโทษแก่ร่างกาย และก็ไม่ผิดพระวินัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติ เรากินได้ทุกอย่าง เพราะว่าการกินไม่ต้องการรส กินเพื่อยังอัตภาพให้ทรงอยู่เท่านั้น เท่านี้ยังไม่พอ ยังไม่เป็นธุดงค์แท้

ธุดงค์แท้ต้องจับใจเข้าไปอีกว่า เวลาจะกินอาหารจะต้องพิจารณาให้เป็น อาหาเรปฏิกูลสัญญา พิจารณาว่าอาหารนี้มาจากพื้นฐานแห่งความสกปรกทั้งหมด ข้าวที่จะมีเมล็ดข้าวขึ้นมาได้ เพราะอาศัยปุ๋ย ปุ๋ยมันมาจากความสกปรก ของสกปรกเป็นปุ๋ยเลี้ยงพืช เมื่อข้าวมันโตขึ้นมาจากความสกปรก เมล็ดข้าวก็ชื่อว่าเป็นเชื้อสายของความสกปรก

ผักต่าง ๆ ที่เราบริโภค เขามาจากปุ๋ย คือ ความสกปรก บรรดาเนื้อสัตว์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมาได้ เพราะอาศัยของสกปรกเป็นพื้นฐานเป็นอาหาร และเนื้อสัตว์ทั้งหมดก็สกปรก ในเมื่อเรากินของสกปรกเข้าไป ร่างกายของเรามันก็สกปรก ร่างกายเกิดขึ้นมาจากพื้นฐานแห่งความสกปรก เราก็ต้องพิจารณาว่าร่างกายของเราเกิดขึ้นมาได้ เพราะพื้นฐานแห่งความสกปรก

อาหารที่พยุงร่างกายเข้าไปก็เป็นอาหารที่สกปรก รวมความว่า ร่างกายของเรานี้ทั้งร่างกาย เต็มไปด้วยความสกปรก ร่างกายเราก็สกปรก ร่างกายของบุคคลอื่นก็สกปรก เป็นอันว่าความผูกพันในร่างกายทั้งหมด จะเป็นร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของคนอื่นก็ดี จะไม่มีสำหรับเรา เพราะว่าคนทุกคนต้องการความสะอาด คำว่า "เรา" ในที่นี้คือ "จิต" ที่มาสิงอยู่ในร่างกาย

การที่มาได้อย่างนี้เพราะ อำนาจกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม นำเรามาเข้าสู่ร่างกายที่เต็มไปด้วยความสกปรก มันจับเข้ามาขังคุกไว้ หลงเล่ห์เหลี่ยมของ "กิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม"

กิเลส คือ จิตชั่ว ตัณหา คือ ความอยาก อยากสวย อยากรวย อยากโกรธ อยากจะสะสมทรัพย์สิน อยากทรงชีวิตอยู่ อยากเกิดใหม่ อันนี้เป็นกำลังของ "ตัณหา" อุปาทาน คิดว่าของสวยเป็นของดี ความรวยเป็นของดี โกรธชาวบ้านเป็นของดี สะสมทรัพย์สินพอกพูนไว้ หลงใหลใฝ่ฝันปรารถนาในความเกิดใหม่เป็นของดี อย่างนี้เป็น "อุปาทาน"

และก็ อกุศลกรรม เมื่อจิตมันชั่วแบบนี้ มันก็ทำในทางที่ชั่ว เพราะความไม่ฉลาด (อกุศล แปลว่า ความไม่ฉลาด) ทำด้วยความไม่ฉลาด คือ สร้างความเศร้าหมองให้เกิดขึ้น ทำกรรมสิ่งใดที่อยากจะได้ของสวย อยากจะได้ความร่ำรวย อยากจะโกรธชาวบ้าน อยากจะสะสมทรัพย์สิน

อย่างนี้เป็น "อกุศลกรรม" ที่มันเกิดขึ้นกับจิต ที่เราต้องเกิดมาเป็นทุกข์อย่างนี้เพราะความโง่ โง่ติดกับของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และ อกุศลกรรม คือ มีอวิชชา เป็นนายใหญ่

ฉะนั้น เวลานี้เรารู้แล้ว พบองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเลิกคบ กิเลส ตัณหา อุปาทาน และ อกุศลกรรม ขับไล่ อวิชชา ตัวใหญ่ คือ หัวหน้าพาลใหญ่ให้พินาศไปด้วยกำลังของ ปัญญา คือ ไม่ติดใน ขันธ์ ๕ ไม่ติดในร่างกายของเรา และไม่ติดในร่างกายของบุคคลอื่น

นี่ขอพูดแบบย่อ ๆ ธุดงค์นี่พูด ๓ ปี ไม่จบหรอก จะไปจบอะไร ธุดงค์มีตั้ง ๑๓ ข้อ ข้อหนึ่งพูดไปเป็นปียังไม่จบ เป็นอันว่าถ้าเทศน์จบแล้วก็เถอะ คนฟังนี่ตายเป็นแถว คนเทศน์ก็ตายก่อนจบพอดี..ก็ไม่ไหวใช่ไหม?

สำคัญที่ "จิตสงัด"

ทีนี้รวมความว่า ถ้าเราจะประพฤติธุดงค์ เราจะอยู่ในวัดก็ได้ อยู่ในป่าช้าก็ได้ อยู่ในป่าชัฏก็ได้ อยู่ที่ไหนก็ได้ คำว่า "ธุดงค์" เราต้องการความสงัด สงัดอะไร .. สงัดจากกิเลส

ทีนี้การสงัดจากกิเลสนี่ ถ้าเราอยู่ในป่า ถ้าจิตมันมั่วสุมกับกิเลส มันจะสงัดได้ยังไง ถ้าอยู่ป่าช้าจิตเรายังมั่วสุมในความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันจะสงัดได้ยังไงเป็นอันว่า พราหมณ์ถามองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาว่า "พระอริยเจ้าต้องการป่าช้า ป่าชัฏ บ้านร้าง เป็นที่สงัดใช่ไหม?"

องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงตรัสว่า "พราหมณะ! ดูก่อน พราหมณ์..พระอริยเจ้าต้องการที่สงัดจริง เพราะพระอริยเจ้าอยู่ป่าชัฏก็สงัด อยู่ป่าช้าก็สงัด อยู่บ้านร้างก็สงัด อยู่ในถ้ำก็สงัด อยู่ในบ้านในเมืองก็สงัด เพราะจิตท่านสงัดกิเลสเสียแล้ว"

จำตรงนี้ไว้นะ พระที่อยาก "เดินดง" ถ้าเดินเฉย ๆ เสือกินหมด อยากเดินดง ความจริงการธุดงค์น่ะ มีได้ทุกจุด ในวัดเราทำได้สบาย ๆ แล้วเวลาที่จะเดินดงเขาต้องทำ อันดับแรกต้องการ กายวิเวก กายวิเวกจริง ๆ ไม่เอาจิตไม่เอากายเข้าไปมั่วสุมกับใคร เราก็ธุดงค์เสียในห้องก็หมดเรื่อง กินแล้วก็เข้าห้อง มีภารกิจเราก็ทำไป บริหารร่างกายพอสมควร ถึงเวลาเราก็เข้าห้อง กายสงัดนี่มันยังไม่แน่ มีที่จะแน่จริง ๆ ก็ต้องทำให้ "จิตสงัด"

จิตสงัด ทำยังไง ก็คือ ทำจิตให้เข้าถึง ฌานสมาบัติ นี่สิ ตัวนี้มันเป็นธุดงค์แท้ เมื่อกายสงัด จิตต้องสงัด และ จิตสงัดไม่เลือกที่เพราะอะไร เพราะจิตจะสงัดจริงหรือไม่จริง ต้องสอบคัดเลือกกันอยู่ทุกวัน วิธีสอบคัดเลือกเขาสอบกันยังไง

เราเจริญสมาธิจิต เวลาเจริญสมาธิจิต เราใช้เวลาสงัดจากเสียงคนเป็นสำคัญ พอสงัดจากเสียงคนแล้ววันหลังใจดี พอวันหลังไม่เอาล่ะ เวลาเด็กมันเล่นกันบ้าง เสียงวิทยุบ้าง เสียงโทรทัศน์บ้าง เสียงชาวบ้านทะเลาะกันบ้าง เอะอะโวยวาย เจริญสมาธิจิตตอนนั้น พอเจริญตอนนั้น ดูซิว่าจิตสงัดพอไหม ถ้าหากว่าจิตมันพลุกพล่าน แสดงว่าเราแพ้กิเลสเสียแล้ว .. ใช้ไม่ได้ นี่ต้องสอบ..ไม่ใช่ไปนั่งอยู่ในป่าคนเดียว

อย่าง หลวงพ่อควายเขาอ่อน น่ะ ได้อภิญญาสมาบัติ แหม..ข้าวปลา.. แกงบง..แกงบอน ..เราฉะอร่อย ท่านเก่งกว่าเรามาก แต่ไม่ช้าหรอก ที่ไหนได้ "ควายเขาอ่อน" ขวิดสบงจีวรหายหมด

การสงัดอยู่คนเดียวในป่านั่นมันไม่จริง ถ้าจริงต้องสงัดอยู่ในฝูงกลุ่มคน เป็นที่เกลื่อนกล่นไปด้วยประชาชนและก็ต้องสัมผัสอารมณ์ต่าง ๆ ในเมื่อสัมผัสอารมณ์ต่าง ๆ แล้วฌานสมาบัติเราไม่เคลื่อน..อย่างนี้ใช้ได้ ต้องให้มันได้จริง ๆ แบบนี้ จิตสงัด ก็หมายถึงว่า ได้ฌานสมาบัติ

ฌานสมาบัติ สำหรับพระที่เข้าป่านี่ เขาทำกันยังไง อยู่ในวัดเหมือนกัน ป่ากิเลส..วัดถือว่ามีป่ากิเลส ป่าชัฏก็มีป่ามีต้นไม้ แล้วแถมป่ากิเลสมันติดใจไปด้วย มีป่าเสือป่าสางเสร็จ..!



อารมณ์ของนักธุดงค์


นักธุดงค์จริง ๆ เขามีอารมณ์ยังไง ในด้านสงัดจิต.. อันดับแรก จิตของเราจะต้องทรงอยู่ใน พรหมวิหาร ๔ อยู่ตลอดเวลา คำว่า "ตลอดเวลา" นี่ต้องทุกลมหายใจเข้าออก นี่ไม่ใช่นั่งนึก เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไม่ใช่อย่างนั้น ให้จิตมันทรงตัวอยู่เสมอว่า เราต้องการให้ชาวโลกและสัตว์โลกทั้งหมดมีความสุข

ชาวโลกและสัตว์โลกผู้ใดมีความทุกข์ ถ้าไม่เกินวิสัยที่เราจะช่วยได้ เราจะช่วยให้มีความสุข เราจะไม่อิจฉาริษยาใคร คนอื่นได้ดีพลอยยินดีด้วย เราจะวางเฉยในเมื่อกฎของกรรมมันเข้ามาถึง อารมณ์ของเราจะไม่ดิ้นรน ในเมื่อกฎของกรรมเข้ามาถึง หนาวจัด..เฉย ร้อนจัด..เฉย เมื่อย..เฉย ป่วย..เฉย คำว่า "เฉย" หมายความว่า "ใจเฉย" ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เขาชมก็เฉย..อารมณ์อย่างนี้จะต้องมีกับนักธุดงค์

คำว่า ธุดงค์ นี่หมายความว่า ผู้เจริญสมถวิปัสสนา ทั้งหมดเรียกธุดงค์ ทั้งนั้น คนที่เจริญสมถวิปัสสนาทั้งหมด ทั้งผู้หญิงผู้ชายเวลานี้เราทำกันน่ะ เป็นธุดงค์อย่างดี ที่เราทำกันนี้ไม่ต้อง "เดินดง" ก็ได้ แต่ว่าท่านเฉยกันได้หรือยัง เข้าในป่านี่มันเฉยได้เพราะมันอยู่คนเดียว แต่ไม่แน่นะ บางทีคนเดียวมันก็โกรธตัวเองเหมือนกัน

ดีไม่ดีเอาอะไรวางไว้ตรงไหนก็ไม่รู้ เดินไปเดินมาลืมเสียแล้วหาไม่พบ โมโหตัวเอง นี่โทสะเกิด ไม่สงัดเสียแล้ว ไม่ใช่เมตตา เป็นอันว่า ธุดงค์จะต้องมีอารมณ์อย่างนี้ทรงตัว เมื่อทรงตัวแล้ว การปฏิบัติต้องเป็นไปตามนั้น ไม่มีการถือตัวถือตน ไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก ไม่มีการถือเราถือเขา ความเมตตาปรานีมีแล้ว มันจะแบ่งพรรคแบ่งพวก ถือเราถือเขายังไง

กิจการงานทุกอย่างที่เกิดขึ้น ในระหว่างท่ามกลางสงฆ์เป็นส่วนกลางเราพร้อมทำ เพราะอะไร เมตตา กรุณา และ ความกตัญญู ในพระพุทธเจ้าท่าน ถ้าไม่ทำก็เป็นคนอกตัญญู ไม่รู้คุณพระพุทธเจ้า สมบัติของพระพุทธเจ้านี่

นี่นักธุดงค์ เขาต้องทำอย่างนี้ อันดับแรก..จิตใจจะต้องทรงพรหมวิหาร ๔ ให้ครบถ้วน ถ้าขาดพรหมวิหาร ๔ เสือกินหมด เข้าป่าตาย .. ไม่ต้องห่วง พระที่เข้าในป่าบอกว่ากลัวเสือ กลัวช้างน่ะ มันไม่ได้ความ แสดงว่าจิตมันเลว มันถึงได้กลัว ถ้าจิตประกอบไปด้วยพรหมวิหาร ๔ ต้องไปกลัวอะไร สัตว์ในป่าทั้งหมด มันเป็นมิตรที่ดีสำหรับบุคคลผู้มีจิตทรงพรหมวิหาร ๔

เคยเล่าให้ฟังไว้เสมอว่าเจอะช้าง ช้างเป็นมิตรที่ดี เสือมันนั่งคุยกันทุกวันไม่เห็นมันว่าอะไร ไม่มีคาถาอะไร จะไปมัวนั่งว่าคาถา เสือกินตาย ถ้าจิตทรงพรหมวิหาร ๔ ไม่มีสัตว์ตนใดมันกลัวเรา และก็ไม่มีสัตว์ตนใดที่มันจะฆ่าเราด้วย อย่างกับ "ไก่ป่า" นี่เป็นสัตว์ที่เปรียวไม่ต้องการให้คนพบ จิตเราทรงพรหมวิหาร ๔ ไก่ป่าไม่หนี นั่ง ๆ อยู่ดีไม่ดีไก่ป่ามาเล่นด้วย

อย่างนี้ นักธุดงค์ เข้าป่าไม่ต้องหา คาถา มัวหาคาถามันยังมีกิเลส หาคาถาอาคมนี่แสดงว่าจิตยังมีกิเลสมาก ยังไม่พ้นปากเสือ

เสือตัวใหญ่

ทีนี้หากว่าเราอยู่ในบ้าน อยู่ในวัด อยู่ในวัดถ้าเรายังหา คาถาอาคม ขาดพรหมวิหาร ๔ ก็แสดงว่าเราก็ไม่พ้นปากเสือเหมือนกัน เสือตัวใหญ่ คือ โลภะ หรือว่า ราคะ โทสะ โมหะ เสือตัวใหญ่ ๔ ตัวนี่ได้แก่ "กิเลส" รากเหง้าของกิเลสมันจะกินเอา เป็นอันว่าธุดงค์ในป่าก็ดี ธุดงค์ในบ้านก็ดี ธุดงค์ในเมืองก็ดี ก็เหมือนกัน จะต้องมีอารมณ์ทรงพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ

ประการที่สอง ต้องตัด ปลิโพธิ ปลิโพธิ คือ ความกังวล ห่วงทรัพย์ ห่วงสิน ห่วงบ้าน ห่วงช่อง ห่วงโน่น ห่วงนี่ ตัวห่วงทั้งหมดนี่โยนมันทิ้งไป ซึ่งเป็นของส่วนตัว ห่วงผัวห่วงเมีย ห่วงลูกห่วงเต้า ห่วงนั่นห่วงนี่ ถ้ายังมีจิตห่วงอยู่ ไม่มีทาง..เสือกิน! เสือในป่าไม่เป็นไร เสือกิเลสมันกิน ต้องตัดปลิโพธิอื่นทั้งหมด แม้แต่ร่างกายเราก็ไม่ห่วง เราจะทำแต่ความดี ความดีอย่างต่ำก็คือ

ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน
สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการภาวนา

ทานมัย ไม่มีของให้ ทำกิจการงานเป็นการสงเคราะห์จัดเป็นทาน ให้แรงเป็นทาน ให้ปัญญาเป็นทาน นี่เขาต้องทำอย่างนี้ ตัดปลิโพธิคือความกังวลทั้งหมด แม้แต่ร่างกายก็ไม่ห่วง มันจะพังก็เชิญพังไป มันตายเสียเวลานี้เราจะไปนิพพาน

อะไรที่เป็นทรัพย์สมบัติทั้งหลายที่มีอยู่ไม่เกี่ยว ร่างกายเรายังไม่ห่วงนี่ ถ้ายังมีห่วงอยู่นิดหนึ่งอย่าไปเลยธุดงค์ แม้การปฏิบัติกรรมฐานธุดงค์ในวัดก็ไม่มีประโยชน์ ถ้ายังบอกว่าห่วงหน้าห่วงหลัง ห่วงบ้านห่วงช่อง ห่วงลูกห่วงเต้า ไม่มีประโยชน์ เวลาที่ปฏิบัติจิตในสมาธิจิต จิตจะต้องไม่ห่วงอะไรทั้งหมดแม้แต่ชีวิตของตัวเอง นี่เป็นอันดับที่สองนะ นักธุดงค์จะต้องจำ

อันดับที่สาม จะไม่ยอมเป็นทาสของ นิวรณ์ ๕ ประการ คือ จะไม่ติดอยู่ใน กามฉันทะ รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ จะไม่มีในอารมณ์ของนักธุดงค์ ปฏิฆะ คือ ความโกรธ ความพยาบาท จองล้างจองผลาญต้องไม่มี ความง่วงในขณะที่ปฏิบัติ ความดีเราไม่ยอมมัน และจะไม่ยอมให้จิตใจคลายออกจากอารมณ์ของความดีที่เราตั้งไว้ ไม่สงสัยคุณธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

อันนี้เป็นอันดับที่สาม ที่นักธุดงค์จะต้องทำประจำจิตให้มันทรงตัว สามอย่างนี้ทิ้งอะไรไม่ได้เลย อย่าไปทิ้งนะ..ทิ้ง..ตาย! ต่อจากนั้นไปก็เจริญสมาธิ ความจริงแค่นี้พอแล้ว พออารมณ์จิตทรงได้แค่นี้มันเป็น ปฐมฌาน แล้ว สามอย่างถ้าทรงได้นี่เป็นปฐมฌานแล้ว ก็เหลือแต่ว่าจะทำฌานที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ให้มันเกิดขึ้น

จะทำ "อรูปฌาน" คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ มันเกิดขึ้นเป็นอรูปฌาน ในเมื่องจิตทรงฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ได้ก็ต้องตั้งจิตให้มันทรงจริง ๆ เป็นประจำวัน เวลาใดที่นั่งอยู่ ทำจิตสงัดทรงกำลังสมาธิ ให้มันถึงที่สุดของอารมณ์สมาธิที่มีอยู่ เวลาที่เราจะเดินไปไหนทำกิจธุระ จิตจะตั้งไว้อย่างน้อยอยู่ใน "อุปจารสมาธิ" หรือ "ปฐมฌาน"

อุปจารสมาธิก็ดี ปฐมฌานก็ดี สองอย่างนี้เวลาทำงานเราใช้ได้ จิตทรงอยู่ได้ ต้องฝึก..อย่าไปนั่งฝึกเงียบอยู่ในห้อง ออกมาได้ยินใครเขาคุยกัน..พังแล้ว อันนี้ใช้ไม่ได้ มันต้องต่อสู้ทั้งเวลาสงัด เวลาเสียงจ๊อกแจ๊กจอแจ ทำกิจการงานทุกอย่างใช้จิตทรงฌานได้ด้วย

ฌานนี่เขาไม่ได้ไปนั่งทรงอยู่ในห้องเวลาดึก ๆ ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าทรงอยู่อย่างนั้น ยังไม่พ้นปากเสือ คือ "นรก" เราจะรู้ได้ยังไงว่าเราจะตายเวลาไหน ดีไม่ดีเราเดินไปถูกงูกัดตาย รถชนตายว่าไง จิตทรงฌานไม่ได้ ฌานมันจะต้องทรงได้ทุกขณะจิตที่เรากำลังทำงานอยู่.

ตอนที่ 2 วิธีฝึกปฏิบัติของหลวงพ่อ » 



[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
ตั้งหัวข้อใหม่

Go To Top